Wednesday, 3 July 2024
TODAY SPECIAL

19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 ในหลวง ร. ทรงหมั้นกับ ม.ร.ว.สิริกิติ์ ด้วยพระราชพิธีที่เรียบง่าย แต่งดงาม

วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 หรือ วันนี้เมื่อ 73 ปีที่แล้ว สัญญะแห่งความรักอมตะได้เกิดขึ้นกับบุคคลอันเป็นที่รักของเราชาวไทยทั้ง 2 พระองค์ เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงหมั้นกับ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ โดยจัดพิธีเป็นการภายในเรียบง่ายที่ต่างแดน

ย้อนไปในวันวาน เรื่องราวความรักของ องค์ในหลวงภูมิพล และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ผู้เป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

ในปี พ.ศ.2489 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์สืบราช สันตติวงศ์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลนั้น

ต่อมาช่วงปี 2491 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะเสด็จฯ เยี่ยมโรงงานต่อรถยนต์ในประเทศฝรั่งเศสและการแสดงดนตรีของคณะดนตรีที่มีชื่อเสียง

และเวลานั้น ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร เป็นบุตรีของ ม.จ.นักขัตมงคล ท่านทูตประจำกรุงปารีส ได้มาร่วมเฝ้ารับเสด็จฯ ด้วย

ฝ่ายสมเด็จพระราชชนนี ได้ทรงรับสั่งกับว่าให้พระองค์ไปทอดพระเนตรบุตรีของ ม.จ.นักขัตรมงคลด้วยว่า “สวยน่ารักไหม” และยังทรงกำชับว่า “เมื่อถึงปารีสแล้วให้โทรบอกแม่ด้วย”

ที่สุดเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินถึงปารีสแล้ว จึงโทรศัพท์ตอบคำถามสมเด็จพระบรมราชชนนีว่า “เห็นแล้ว น่ารักมาก”

แน่นอน นั่นคือจุดเริ่มต้นแรกแห่งความรัก ซึ่งเกิดขึ้น ณ เมือง Fontainebleau ชานกรุงปารีส ในปีพ.ศ.2491 นั้นเอง

ต่อมา วันที่ 4 ตุลาคม ปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์

เรื่องนี้ ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เขียนเล่าใน “บันทึก เป็น อยู่ คือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ตอนหนึ่งเล่าว่า สิ่งแรกเมื่อรู้สึกพระองค์คือทรงหยิบรูป ม.ร.ว.สิริกิติ์ออกจากพระกระเป๋า

โดยเป็นรูปแรกที่ทรงถ่าย ซึ่งเป็นรูปหมู่ที่ถ่ายตอนบุคคลเข้าเฝ้าฯ ณ สถานทูต ม.ร.ว.สิริกิติ์อยู่เป็นคนสุดท้าย เห็นหน้าไม่ชัด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า “ยู้ฮู คนข้างหลังโผล่หน้ามาหน่อยสิ” รูปนั้นทรงตัดเฉพาะหน้าม.ร.ว.สิริกิติ์ไว้ในพระกระเป๋า

จนกระทั่ง ม.ร.ว.สิริกิติ์ได้เข้าเฝ้าฯ เยี่ยมพระอาการ และถวายการพยาบาลอย่างใกล้ชิดเป็นประจำ ที่สุดความรักความเข้าพระราชหฤทัยซึ่งกันและกัน ก็ได้สืบสานได้ถักทอเป็นความผูกพันแน่นแฟ้น

ที่สุด ผ่านมาราว 1 ปี ราวเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2492 ในหลวงได้มีรับสั่งให้หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร ไปเฝ้าที่สวิตเซอร์แลนด์ โดย ม.จ.นักขัตรมงคล ประทับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ 3 วัน คือ วันที่ 17-19 กรกฎาคม พ.ศ.2492

ในวันที่ 18 ในหลวงเสด็จฯ ไปพบหม่อมเจ้านักขัตรมงคล ที่โรงแรมที่พัก ทรงมีรับสั่งถึงเรื่องการหมั้นกับหม่อมเจ้านักขัตรมงคลด้วยพระองค์เอง เมื่อพระองค์ทรงเจรจาเสร็จแล้ว สมเด็จพระราชชนนีจึงได้เสด็จตามเข้าไป

ทั้งนี้ สมเด็จพระราชชนนีได้รับสั่งขอ ม.ร.ว.สิริกิติ์ต่อ ม.จ.นักขัตรมงคล ในระหว่างการเจรจาเรื่องการหมั้น ทรงรับสั่งว่า “ขอให้ทำกันเฉพาะในครอบครัวเท่านั้น เมื่อคราวฉันเองก็ทำอย่างนี้ จะมีอะไรขัดข้องไหม?”

ม.จ.นักขัตรมงคลทูลตอบว่า “ตามแต่จะมีพระราชประสงค์”

จากนั้นในวันที่ 19 กรกฎาคม 2492 จึงได้มีการประกอบพระราชพิธีหมั้นเป็นการภายใน ณ โฮเตลวินเซอร์ในเมืองโลซานน์ อันเป็นที่พักของหม่อมเจ้านักขัตรมงคลและครอบครัว

18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จสวรรคต

18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ ‘สมเด็จย่า’ เสด็จสวรรคตที่โรงพยาบาลศิริราช รวมพระชนม์มายุ 95 พรรษา 

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ‘สมเด็จย่า’ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2443 ทรงเป็นบุตรคนที่ 3 ใน พระชนกชู และ พระชนนีคำ พระนามเดิมคือ สังวาลย์ ตะละภัฏ ในวัยประมาณ 7-8 ขวบ ครอบครัวได้นำพระองค์ไปฝาก คุณจันทร์ แสงชูโต ซึ่งเป็นพระพี่เลี้ยงในพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ ทรงเข้าเรียนมัธยมที่โรงเรียนสตรีวิทยา จากนั้นเข้าโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์ และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช ซึ่งเป็นโรงเรียนพยาบาลแห่งเดียวในประเทศไทยในขณะนั้น

ทรงเป็นนักเรียนที่มีอายุน้อยที่สุดในรุ่นของพระองค์ซึ่งมีจำนวนเพียง 14 คน พระองค์ทรงเรียนได้ดีและทรงศึกษาสำเร็จภายในสามปี และทรงทำงานต่อที่โรงพยาบาลศิริราช ตามข้อผูกพันของการเป็นนักเรียนหลวง

ในปี พ.ศ. 2460 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงได้รับทุนให้ไปเรียนวิชาพยาบาลเพิ่มเติมที่สหรัฐอเมริกา ในระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้น ได้ทรงพบกับ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ (พระบรมราชชนก) ซึ่งได้ทรงถูกพระทัย และขอพระราชทานพระราชานุญาตหมั้นกับ นางสาวสังวาลย์ 

17 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 พระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 ถูกปลงพระชนม์ จุดสิ้นสุดราชวงศ์สุดท้ายของรัสเซีย

ราชวงศ์โรมานอฟ เป็นราชวงศ์สุดท้ายของรัสเซีย ปกครองจักรวรรดิรัสเซียตั้งแต่ปี 1613-1917 และมีจุดสิ้นสุดของราชวงศ์เมื่อวันที่ 17 ก.ค.1918 หรือ 104 ปีที่แล้ว

17 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 พระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 (Tsar Nicholas II) กษัตริย์พระองค์สุดท้ายของรัสเซีย ถูกปลงพระชนม์พร้อมพระราชวงศ์อีกหลายพระองค์ที่ไซบีเรีย โดยทหารคณะปฏิวัติของกลุ่มมาร์กซิสม์หัวรุนแรงบอลเชวิก (Bolsheviks) ซึ่งนำโดย เลนิน (Vladimir Lenin)

สำหรับ พระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 ทรงเป็นพระโอรสของ พระเจ้าซาร์ อเล็กซานเดอร์ ที่ 3 แห่ง ราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov Dynasty) พระนามเดิมคือ พระเจ้านิโคลัสที่ 2 (Nicholas II) ขึ้นครองราชย์ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2437 ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2439 พระองค์ทรงเป็นจักรพรรดิที่อ่อนแอ ไม่สามารถจัดการกับสถานการณ์ของประเทศที่กำลังปั่นป่วน หลังจากพ่ายแพ้ต่อญี่ปุ่นใน สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo–Japanese War) ระหว่างปี 2447-2448

16 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 ทดลองระเบิดนิวเคลียร์ครั้งแรกของโลก ภายใต้รหัส ‘Trinity’ ของกองทัพสหรัฐฯ

Trinity เป็นชื่อรหัสของการทดสอบการระเบิดของอุปกรณ์นิวเคลียร์ครั้งแรกของโลก โดยฝ่ายกองทัพสหรัฐฯ เมื่อเวลา 5.29 น. ของวันที่ 16 กรกฎาคม 2488 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแมนฮัตตัน ซึ่งเป็นการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ

การทดสอบมีขึ้นที่ทะเลทราย Jornada del Muerto ห่างจากเมือง  Socorro รัฐนิวเม็กซิโกราว 56 กิโลเมตร ซึ่งในสมัยนั้นถูกใช้เป็นสนามสำหรับการซ้อมการทิ้งระเบิดและซ้อมยิงของกองทัพอากาศสหรัฐ แต่ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของสนามทดสอบขีปนาวุธ White Sands Missile Range 

สิ่งปลูกสร้างเดียวในพื้นที่ เป็นบ้านหลังเล็ก ๆ ชื่อ  McDonald Ranch House ที่นักวิทยาศาสตร์เป็นห้องปฏิบัติการณ์สำหรับทดสอบอุปกรณ์ของระเบิด จึงมีการตั้งเบสแค้มป์ขึ้นที่นั่น โดยขณะที่มีการทดลองระเบิด มีผู้คนมารวมตัวกันอยู่ที่นี่ 425 คน

ชื่อ Trinity กำหนดให้ใช้โดย J. Robert Oppenheimer ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการลอส อลามอส  โดยได้แรงบันดาลใจมาจากบทกวีของ John Donne  อุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบเป็นระเบิดพลูโตเนียมที่มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า The Gadget มันมีการออกแบบ แบบเดียวกับระเบิด  Fat Man ที่ต่อมาถูกนำไปถล่มใส่เมืองนางาซากิของญี่ปุ่นเมื่อ 9 สิงหาคม 2488 การทดสอบวางแผนและอำนวยการโดย Kenneth Bainbridge และมีการซักซ้อมกันก่อนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2488 โดยการระเบิดวัตถุระเบิดขนาด 98 ตันพร้อมด้วยไอโซโทปกัมมันตรังสีการระเบิดของ The Gadget ปล่อยแรงระเบิดออกมา 22 กิโลตันทีเอ็นที


ที่มา : https://www.nationtv.tv/news/378785495

15 กรกฎาคม พ.ศ. 2410 ประเทศไทย สูญเสียดินแดนครั้งที่ 7 ยกเขมรและเกาะ 6 เกาะ ให้ฝรั่งเศส

เมื่อ 155 ปี ประเทศไทยสูญเสียดินแดนเขมรและเกาะ 6 เกาะ ให้ฝรั่งเศส ในยุคล่าอาณานิคม อีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่คนไทยทุกคนต้องศึกษาและจดจำ

วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2410 เป็นอีกวันที่คนไทยทั้งชาติควรศึกษาและจดจำไว้เป็นบทเรียน กับเหตุการณ์หน้าประวัติศาสตร์ที่อันสำคัญในการรักษาอำนาจอธิปไตย ให้รอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นในยุคล่าอาณานิคมจากชาติตะวันตก กับความเจ็บปวดที่แลกมากับการต้องสูญเสียดินแดน เขมรและเกาะ 6 เกาะ เป็นพื้นที่ 124,000 ตร.กม. ให้แก่ฝรั่งเศส ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 เป็นการเสียดินแดนครั้งที่ 7 จากทั้งหมด 14 ครั้ง นับตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2325 จวบจนปัจจุบัน

สำหรับการเสียดินแดนเขมรและเกาะ 6 เกาะ นั้น สืบเนื่องจากการทำสงครามระหว่างไทยกับญวนหลายปี เพื่อแย่งชิงเขมรส่วนนอก หรือที่เรียกว่า "อานามสยามยุทธ" ซึ่งภายหลังได้มีการตกลงกันว่า จะให้เขมรเป็นประเทศราชของสยามต่อไป แต่ก็ต้องส่งบรรณาการไปให้ญวนเสมือนประเทศราชของญวนด้วย แต่ไทยมีสิทธิ์ในการสถาปนากษัตริย์เขมรดั่งเดิม 

โดยในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้ นักองด้วง เป็นกษัตริย์แห่งเขมร สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี หรือ สมเด็จพระหริรักษ์รามสุริยะมหาอิศวรอดิภาพ แต่ในปี 2397 เขมรได้แอบส่งสารลับไปยังฝรั่งเศส ขอให้ฝรั่งเศสช่วยกู้ดินแดนที่เสียให้ญวณกลับมาอยู่กับเขมรอีกครั้ง และมาช่วยคุ้มครองเขมรให้พ้นจากทั้งอำนาจของสยามและญวน 

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ รัชการที่ 4 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นักองราชาวดี หรือ สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ ขึ้นเป็นกษัตริย์เขมรองค์ต่อจาก สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี ที่เสด็จสวรรคต โดยในช่วงก่อนปี 2406 นั้น ฝรั่งเศสได้เข้ามามีอำนาจในดินแดนแถบอินโดจีนหรือญวนมากขึ้น และได้เข้ามาบีบบังคับโดยใช้กำลัง ทั้งทางกองเรือและทางการทูต

14 กรกฎาคม พ.ศ. 2332 วันทลายคุก ‘บาสตีย์’ สัญลักษณ์การปฏิวัติฝรั่งเศส


14 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันชาติฝรั่งเศส และเป็นวันที่เกิดเหตุทลายคุกบาสตีย์ (Storming of the Bastille) เมื่อประชาชน ลุกฮือกันเดินขบวนประท้วงและตรงเข้าไปบุกทลายคุกบาสตีย์ที่คุมขังนักโทษการเมือง

ย้อนไปเมื่อ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 (พ.ศ.2332) วันนี้เป็นวันที่เกิดเหตุ ทลายคุกบาสตีย์ (Storming of the Bastille) เมื่อประชาชนฝรั่งเศส ทั้งปัญญาชน พ่อค้า และพลเมือง ลุกฮือกันเดินขบวนประท้วงและตรงเข้าไปบุกทลายคุกบาสตีย์ที่คุมขังนักโทษการเมือง เป็นจุดเริ่มต้นของ การปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution) ถือเป็นวันประกาศอิสรภาพของประชาชนฝรั่งเศสที่ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของระบอบเก่า เหตุการณ์นั้นตรงกับรัชสมัย พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งราชวงศ์บูร์บอง  (Bourbon)

13 กรกฎาคม วันคล้ายวันประสูติ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ มีพระนามเดิมว่า หม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 ณ โรงพยาบาลกายส์ เขตเซาท์วาร์ก กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ 

พระองค์เป็นธิดาของหม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร พระเชษฐาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กับท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี กิติยากร เหตุที่หม่อมหลวงโสมสวลีเกิดที่ลอนดอนสืบเนื่องมาจากบิดา คือ หม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ ได้ไปศึกษากฎหมายในอังกฤษหลังพระราชทานน้ำสังข์แล้ว จนเมื่อหม่อมหลวงโสมสวลีมีอายุได้ 2 ปี จึงได้กลับมายังประเทศไทย

นาม โสมสวลี แปลว่า "ผู้สืบเชื้อสายมาจากพระจันทร์" คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ เป็นนามที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ครอบครัวและสหายในโรงเรียนราชินีมักเรียกสั้นๆ ว่า "คุณโสม" ส่วนพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียกว่า "โสม" เฉยๆ มีน้องสาวเพียงคนเดียวคือหม่อมหลวงสราลี กิติยากร หรือ "คุณน้ำผึ้ง" ซึ่งเป็นนักแสดงและพิธีกร

หม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เข้าศึกษาในระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา รุ่นที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2504 รุ่นเดียวกับสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี แต่เมื่อสำเร็จการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 หม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ ย้ายไปเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2510 พระองค์ก็ทรงลาออกจากโรงเรียนเดิมและย้ายไปประทับที่เชียงใหม่ โดยเข้าเรียนที่โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย เป็นเวลา 2 ปี และเมื่อบิดาได้ย้ายกลับมายังกรุงเทพมหานคร ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระยะหนึ่ง แต่ด้วยมิสะดวกต่อการรับส่ง จึงได้ย้ายมาศึกษาอยู่ที่โรงเรียนราชินี เนื่องจากเป็นเส้นทางเดียวกับเส้นทางที่ไปยังที่ทำงานของบิดา

หม่อมหลวงโสมสวลีและน้องสาว เติบโตในวังเทเวศร์และได้รับการเลี้ยงดูอย่างสามัญ มีพระบิดาไปรับส่งที่โรงเรียน ในวัยเยาว์พระองค์ทรงปฏิบัติหน้าที่งานบ้านด้วยพระองค์เอง เช่น จัดที่นอนให้เป็นระเบียบ กวาดบ้านถูพื้น รวมไปถึงการปลูกผักและตัดหญ้า ทั้งนี้โปรดการประกอบอาหาร และวิชาภาษามากกว่าวิชาใดๆ แต่พระองค์ไม่ถูกกับวิชาคำนวณ เมื่อพระองค์สำเร็จการศึกษาระดับ ม.ศ. 2 พระองค์ก็ขอร้องกับบิดามารดา เพื่อขอออกมาศึกษาวิชาที่พระองค์ชอบ

พระองค์ชื่นชอบงานฝีมือ ฝึกฝนด้านหัตถกรรมอย่างการร้อยพวงมาลัย, จัดดอกไม้ และเย็บปักถักร้อย โดยโปรดงานนิตติ้งมากที่สุด โปรดเลี้ยงสัตว์ คือ ปลาทอง หากพระองค์จะเสด็จไปประทับที่ใดก็ต้องเอาปลาทองที่ทรงเลี้ยงไปด้วย โปรดการเล่นเครื่องดนตรี คือ กีตาร์ และเปียโน ดังคำให้สัมภาษณ์ของท่านผู้หญิงพันธุ์สวลีตอนหนึ่งว่า "คุณโสมชอบเล่นกีตาร์ ดิฉัน [ท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี] ให้ท่านผู้หญิงอรุณ กิติยากร มาสอนเปียโนอยู่เป็นประจำ" 

วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประกอบพิธีหมั้นระหว่างพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร กับหม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต

12 กรกฎาคม พ.ศ. 2450 รัชกาลที่ 5 ทรงจารึกพระปรมาภิไธย จปร. บนก้อนหินที่นอร์เวย์ ขณะประพาสยุโรปครั้งที่สอง

12 กรกฎาคม พ.ศ. 2450 รัชกาลที่ 5 ทรงจารึกพระปรมาภิไธย จปร. บนก้อนหินที่นอร์เวย์ ขณะประพาสยุโรปครั้งที่สอง 

วันนี้ เมื่อ 115 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสแหลมเหนือ (North Cave) ประเทศนอร์เวย์ ทรงจารึกพระปรมาภิไธย ‘จปร.1907’ ไว้บนก้อนหินที่ยังอยู่จนถึงทุกวันนี้ 

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2450 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสแหลมเหนือ (North Cave) ประเทศนอร์เวย์ ระหว่างที่พระองค์เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เพื่อผ่อนคลายพระราชภารกิจและรักษาตัวอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสแหลมเหนือ (North Cave) ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีทางรถยนต์ขึ้นถึง ต้องเสด็จโดยเรือและทรงปีนไปบนหน้าผา พร้อมทั้งทรงสลักพระปรมาภิไธย ‘จปร. 1907’ ซึ่งเป็นปี ค.ศ.ที่เสด็จถึงไว้บนก้อนหิน และทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับพระยาชลยุทธโยธิน อดีตผู้บังคับการเรือชาวเดนมาร์ก พร้อมกะลาสีเรือที่ตามเสด็จไว้เป็นที่ระลึกด้วย 

ซึ่งภาพดังกล่าว กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ยืนยันถึงการเสด็จประพาส และแสดงถึงความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของสยามประเทศ รวมถึงพระอัจฉริยภาพ และพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 องค์พระประมุขของชาติเล็กๆ ที่แม้จะอยู่ห่างไกลในซีกโลกตะวันออก แต่ทรงสามารถประกาศศักดิ์ศรีให้ชาวตะวันตก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรปเหนือได้รู้จักจนทุกวันนี้

ต่อมาในปี พ.ศ.2513 รัฐบาลนอร์เวย์จะก่อสร้างอาคารเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ได้พบศิลาจารึกพระปรมาภิไธยย่อ ‘จปร. 1907’ ซึ่งปกคลุมไปด้วยหญ้า ตอนแรกก็ไม่เข้าใจว่าคืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร เกือบจะมีการระเบิดทิ้งเพื่อมิให้กีดขวางการสร้างอาคาร แต่ในที่สุดได้มีการเก็บรักษาไว้ตามที่มีผู้แจ้งว่าอักษรย่อบนศิลาจารึกนั้นเป็นพระปรมาภิไธยย่อของในหลวงรัชกาลที่ 5 ที่ได้เคยเสด็จมาเยือนที่นี่ โดยเปรียบเทียบจากภาพถ่ายที่ทรงฉายไว้  

โดยทางการนอร์เวย์ได้นำพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์มาตั้งแสดงคู่กับศิลาจารึกพระปรมาภิไธยย่อ ‘จปร. 1907’ ภายในอาคาร เพื่อให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้ทราบว่า มีอะไรเกิดขึ้นที่ตรงนี้เมื่อ 100 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวจะต้องมาชม เพราะอยู่ใจกลางแหลมเหนือ และมักจะโยนเหรียญบ้าง ธนบัตรบ้าง ไปที่ศิลาจารึกพระปรมาภิไธยนั้น เพื่อขออธิษฐานให้ได้กลับมาเยือน ณ ที่แห่งนี้อีก ซึ่งทางการนอร์เวย์ได้เก็บรวบรวมเงินเหล่านี้มอบเป็นรางวัลให้กับผู้ทำประโยชน์ให้กับเด็กๆ ทั่วโลก มีชื่อว่ารางวัล The Children of the Earth

11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231 ครบรอบ 334 ปี วันสวรรคต สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

11 กรกฎาคม วันคล้ายวันสวรรคต สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์องค์ที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยา

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 27 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ทรงมีหลายพระนาม คือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 หรือ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสรรเพชรญ์ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททองกับพระราชเทวีสิริกัลยาณี พระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2175

ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เล่าว่าเมื่อแรกเสด็จพระบรมราชสมภพนั้น พระญาติเห็นพระโอรสมีสี่กร พระราชบิดาจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "พระนารายณ์ราชกุมาร" ส่วนในคำให้การชาวกรุงเก่าและคำให้การขุนหลวงหาวัด เล่าว่าเมื่อเพลิงไหม้พระที่นั่งมังคลาภิเษก พระโอรสเสด็จไปช่วยดับเพลิง ผู้คนเห็นเป็นสี่กร จึงพากันขนานพระนามว่า พระนารายณ์ พระราชประวัติของสมเด็จพระนารายณ์นั้นเกี่ยวกับเรื่องปาฏิหาริย์อยู่มาก แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของพราหมณ์ เมื่อเทียบกับกษัตริย์องค์ก่อน ๆ ด้วยเหตุนี้เองพระราชประวัติของพระองค์จึงกล่าวถึงปาฏิหาริย์มหัศจรรย์ตามลำดับ คือ

เมื่อพระนารายณ์มีพระชนม์ได้ 5 พรรษา ขณะเล่นน้ำ พระองค์ทรงถูกอสนีบาต พวกพี่เลี้ยง นางนม สลบหมดสิ้น แต่พระองค์ไม่เป็นไรแม้แต่น้อย

เมื่อพระนารายณ์มีพระชนม์ได้ 9 พรรษา พระองค์ทรงถูกอสนีบาตที่พระราชวังบางปะอิน แต่พระองค์ก็ปลอดภัยดี

สมเด็จพระนารายณ์ทรงรับการศึกษาจากพระโหราธิบดี ซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงในพระราชวัง และพระอาจารย์พรหม พระพิมลธรรม รวมทั้งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์และพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์ระดับสูงในพระนคร

สมเด็จพระนารายณ์มีส่วนสำคัญในการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา โดยพระองค์ได้ร่วมมือกับสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาในการชิงราชสมบัติจากสมเด็จเจ้าฟ้าไชย ซึ่งเป็นพระเชษฐาของพระองค์ โดยหลังจากที่พระองค์ช่วยสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาขึ้นครองราชสมบัติได้แล้วนั้น สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาทรงแต่งตั้งให้พระองค์ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชและให้เสด็จไปประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคล หลังจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาขึ้นครองราชสมบัติได้ 2 เดือนเศษ พระองค์ทรงชิงราชสมบัติจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา

10 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 บอมบ์เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ของ ‘กรีนพีซ’ ฝีมือผู้ก่อการร้ายชาวฝรั่งเศส

คงมีแต่ผู้ติดตามตัวจริงเท่านั้นที่จะนึกถึงเหตุโศกนาฎกรรมครั้งนี้ได้ว่ามัน เกิดขึ้นกับ "เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์" (The Rainbow Warrior) แต่คนไทยวงนอก จะจดจำได้ว่าครั้งหนึ่ง "เรือของกรีนพีซ" เคยถูกบอมบ์จนยับเยินมาแล้ว

เหตุเศร้านี้เกิดขึ้นเมื่อวันนี้ของเมื่อ 37 ปีก่อน ตรงวับวันที่ 10 กรกฎาคม 2528 เรือลำนี้ถูกสายลับก่อการร้ายชาวฝรั่งเศสวางระเบิดยับจนจมดิ่งมหาสมุทร ที่น่าเศร้าคือมีผู้สูญหายหรือเสียชีวิตอีกด้วย

แน่นอน คนไทยทั่วไปอาจคุ้นเคยแต่ว่า องค์กรกรีนพีซนั้นทำเรื่องสิ่งแวดล้อม โลกสวยในทุ่งลาเวนเดอร์และผืนมหาสมุทร หากแท้จริงแล้ว องคาพยพขององค์กรนี้ยิ่งใหญ่และแข็งแกร่งกว้างขวางกว่าที่คิด

เฉกเช่นกับเรื่องราวของ “เรนโบว์ วอร์ริเออร์” อันเป็นเรือลำแรกในกองเรือ ที่ออกแบบและสร้างขึ้นเพื่อภารกิจของกรีนพีซโดยเฉพาะ

เว็บไซต์ www.greenpeace.org/thailand เล่าไว้ว่า เรนโบว์ วอร์ริเออร์” ไม่เพียงแต่เป็นเรือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุดลำหนึ่งแล้ว เรือลำนี้ยังเป็นดั่งความฝันของเหล่านักรณรงค์ที่ยังคงต่อสู้เพื่ออนาคตสีเขียวและสันติภาพ

เรนโบว์ วอร์ริเออร์ เดิมมีชื่อว่า “เซอร์ วิลเลียม ฮาร์ดีย์” เรืออวนลากสำหรับงานวิจัยด้านการประมงของกระทรวงเกษตร ประมง และ อาหารของสหราชอาณาจักร สร้างขึ้นเมื่อปี 2498 เป็นเรือเครื่องยนต์ดีเซลไฟฟ้าลำแรกที่สร้างขึ้นในสหราชอาณาจักรด้วย

ภายหลัง กรีนพีซต้องการนำมาใช้ จึงระดมทุนเพื่อซื้อเรือลำนี้มา แต่มันไม่ง่ายเลย เพราะหลายเดือนกรีนพีซก็ยังไม่มีเงินพอ

จนที่สุดกองทุนสัตว์ป่าโลก สำนักงานเนเธอร์แลนด์ จึงให้ความช่วยเหลือทางการเงิน เพื่อช่วยรณรงค์ปกป้องวาฬ กรีนพีซจึงได้กรรมสิทธิ์เรือลำแรกในยุโรป

ได้เรือมาอย่างสวยงามแล้ว กรีนพีซจัดแจงเปลี่ยนชื่อเรือเอาฤกษ์เอาชัย ได้ชื่อมาว่า “เรนโบว์ วอร์ริเออร์” ตามคำทำนายของนักรบอินเดียนแดง ชนเผ่าครีในอเมริกาเหนือ ที่เชื่อว่า “เมื่อโลกป่วยและกำลังดับสูญ ผู้คนจะลุกขึ้นสู้ประหนึ่งนักรบแห่งสายรุ้ง…”

วันที่ 29 เมษายน 2521 เรนโบว์วอร์ริเออร์ ได้ทำงานเที่ยวแรกในชีวิต ออกจากท่าเรือในลอนดอน มีลูกเรือ 24 คน จาก 10 ประเทศ

ดังที่เกริ่นไว้ พวกมีภารกิจสำคัญ คือการขัดขวางการล่าวาฬเพื่อการค้าที่ไอซ์แลนด์ ชาวกรีนพีซแห่งเรนโบว์วอร์ริเอร์ ราวกับนักรบที่ไร้อาวุธ แต่พวกเขาก็ท้าลุยกับปัญหาต่างๆ จนพิสูจน์ให้เห็นว่า เป็นเรือที่ทรงคุณค่าในการเดินทะเลอย่างแท้จริง

3 ปีต่อมา อาสาสมัครกรีนพีซเปลี่ยนเครื่องยนต์ดีเซลไฟฟ้าขนาด 45 ตัน และติดตั้งเครื่องยนต์ดีทรอยท์ เข้าไปแทน จนถึงปี 2528 มีการติดตั้งใบเรือเพื่อความพร้อมสำหรับการเดินทางไปมหาสมุทรแปซิฟิก

ที่นั่นมีชาวเกาะรองเกลัป 320 คน ที่ได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนรังสี และได้เรียกร้องความช่วยเหลือจากเรือเรนโบว์วอร์ริเออร์ให้ช่วยอพยพผู้คน เพื่อไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่เกาะเมจาโต

รังสีนี้ มาจากการทดลองนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษที่ 1950 หลายคนเป็นมะเร็ง ลูคิเมียและพิการแต่กำเนิด

ใครจะคาดคิดว่า ในวันที่สวยงามของเดือนกรกฎาคมปีนั้น (2528) เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ซึ่งทอดสมอไหวเอนตามลมคลื่นเบาๆ ในผืนน้ำที่เมืองโอคแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ เพื่อเตรียมความพร้อมออกปฏิบัติการต่อต้านการทดลองนิวเคลียร์ของรัฐบาลฝรั่งเศศที่หมู่เกาะปะการังโมรูรัว

เวลาเกือบเที่ยงคืน ขณะที่ทุกๆ คน กำลังจะเข้านอน หากแต่ยังมีลูกเรือสองสามนาย หนึ่งในนั้นคือ เฟอร์นานโด เปเรรา ช่างภาพประจำเรือชาวโปรตุเกส พวกเขานั่งคุยและดื่มเบียร์อยู่บนเรือลำนี้

อยู่ๆ ก็มีแสงสว่างวาบขึ้น ตามด้วยเสียงกระจกแตก และเสียงโครมที่ลงกระแทกผืนน้ำเข้าอย่างจัง หะแรก ทุกคนคิดว่าเรืออาจถูกเรือโยงชน แต่มารู้ว่าไม่ใช่เมื่อได้เกิดระเบิดลูกที่สอง!

ลูกเรือที่อยู่บนดาดฟ้าเรือ พากันหนีตายจ้าละหวั่น ที่กระโดดหลบในที่ปลอดภัยบนท่าเรือได้ก็ทำ ที่กระโดลงน้ำได้ก็ทำ เปลวไฟจากระเบิดทำให้เสากระโดงเรือที่เป็นเหล็กบิดงอไปต่อหน้าต่อตา


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top