Monday, 1 July 2024
TODAY SPECIAL

7 กรกฎาคม พ.ศ.2510 ‘สะพานสารสิน’ เปิดใช้งานครั้งแรก ครบ 55 ปี แลนด์มาร์คเชื่อมพังงา-ภูเก็ต

วันนี้เมื่อ 55 ปีก่อน เป็นวันเปิดใช้งาน สะพานสารสิน เป็นครั้งแรก เป็นสะพานแรกที่สร้างเพื่อข้ามจากจังหวัดพังงาไปจังหวัดภูเก็ต

สะพานสารสิน เปิดใช้ครั้งแรกเมื่อ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2510 หรือเมื่อ 55 ปีที่แล้ว เป็นสะพานแรกที่สร้างเพื่อข้ามจากจังหวัดพังงาไปจังหวัดภูเก็ต โดยเชื่อมต่อระหว่างบ้านท่านุ่นของจังหวัดพังงาและบ้านท่าฉัตรไชยของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งสะพานสารสินมีความยาวทั้งหมด 660 เมตร รับผิดชอบดูแลโดย กรมทางหลวง

สะพานแห่งนี้ตั้งชื่อตามนามสกุลของ นายพจน์ สารสิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งในขณะนั้น เริ่มสร้างครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2494 โดยเปิดให้บริษัทรับเหมาทำการก่อสร้าง แต่ปรากฏว่าการก่อสร้างในระยะแรกมีปัญหาเพราะขาดความชำนาญ ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 จึงเริ่มทำการก่อสร้างสะพานอีกครั้งจนสำเร็จ และเปิดทำการได้ในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2510 โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 28,770,000 บาท

ปัจจุบัน สะพานสารสิน ไม่ให้รถยนต์สัญจรไปมาแล้ว โดยให้รถยนต์ใช้สะพานสารสิน 2 และ สะพานท้าวเทพกระษัตรีแทน

สะพานสารสินเดิม หรือ สะพานสารสิน 1 นั้นจึงถูกปรับปรุงให้เป็นสะพานคนเดินและสร้างหอชมวิวทิวทัศน์ สะพานแห่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัด

ทั้งนี้ สะพานสารสิน เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะเป็นสถานที่ที่เป็นตำนานความรักของหนุ่มสาวสองคนที่ไม่สมหวัง คือ โกดำ (ดำ แซ่ตัน) กับ กิ๊ว (กาญจนา แซ่หงอ) ที่มีความแตกต่างกันทางฐานะ ด้วยโกดำเป็นเพียงคนขับรถสองแถวรับจ้างและรับจ้างกรีดยาง

6 กรกฎาคม พ.ศ.2561 รำลึก 4 ปี สูญเสีย ‘จ่าแซม’ วีรบุรุษถ้ำหลวง จากภารกิจช่วยเหลือ 13 ชีวิตทีมหมูป่าอะคาเดมี

วันนี้ เมื่อ 4 ปีก่อน จ.อ.สมาน กุนัน หรือ จ่าแซม วีรบุรุษถ้ำหลวง เสียชีวิตจากภารกิจช่วยชีวิต 13 หมูป่า ที่ติดในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน

ครบรอบ 4 ปี เหตุการณ์สุดช็อก สำหรับการสูญเสีย จ.อ.สมาน กุนัน หรือ จ่าแซม อดีตนักทำลายใต้น้ำจู่โจม หรือ หน่วยซีล รุ่น 30 ซึ่งเสียชีวิตในถ้ำหลวงฯ ขณะปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือ 13 ชีวิตทีมหมูป่าอะคาเดมี ภายในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน

จ่าแซม ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตระเวนระงับเหตุฝ่าย รปภ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บ.ท่าอากาศยานไทย ตระเวนระงับเหตุฝ่าย รปภ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บ.ท่าอากาศยานไทยในขณะนั้น ได้อาสาเข้าร่วมปฏิบัติการค้นหาทีมหมูป่า โดยเป็นภารกิจพิเศษ ในนามทีม AOT special team และได้โพสต์คลิปวิดีโอก่อนขึ้นเครื่องบิน โดยระบุว่า "ขอให้โชคดีอยู่กับเรา พาน้องๆ กลับบ้าน"

5 กรกฎาคม พ.ศ.2503 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จเยือนนิวยอร์ก ปชช.กว่า 7 แสนคน รอรับเสด็จบนถนนบรอดเวย์

วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2503 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯโดยรถยนต์พระที่นั่งเปิดประทุนไปบนถนนโลเวอร์บรอดเวย์ (Lower Broadway) นครนิวยอร์ก ท่ามกลางประชาชนรอรับเสด็จเนืองแน่น

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 1960 (พ.ศ.2503) ประชาชนกว่า 7.5 แสนคน (จากการประเมินของเจ้าหน้าที่ตำรวจ) ได้มาเฝ้ารอรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ซึ่งประทับรถยนต์พระที่นั่งเปิดประทุนมาพร้อมกับขบวนพาเรด บนถนนโลเวอร์บรอดเวย์ (Lower Broadway) นครนิวยอร์ก โดยมีแถบกระดาษขนาดเล็กจำนวนมากโปรยปรายลงมาระหว่างการเคลื่อนขบวนเสด็จ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของการต้อนรับขบวนพาเรดในนครนิวยอร์ก

ขบวนพาเรดดังกล่าวกินเวลาประมาณ 20 นาที นำเสด็จจากถนนโลเวอร์บรอดเวย์ ไปถึงศาลาว่าการนครนิวยอร์ก เมื่อเวลาประมาณ 12.25 นาฬิกา
 

๔ กรกฎาคม วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้าคณะผู้บริหารและพนักงาน สำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIME

4 กรกฎาคม วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประสูติเมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2500 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์เล็กในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

พระนาม จุฬาภรณ์ หมายถึง การอัญเชิญพระนาม "จุฬา" ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาเป็นคำต้นพระนามของพระองค์ เนื่องด้วยในวันประสูตินั้น เป็นวันมหาปีติของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา

ทรงเริ่มศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ทรงได้รับการปลูกฝังทางศิลปะ นาฏศิลป์และดนตรี จากพระอาจารย์ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ทั้งยังทรงสนพระทัยวิชาคำนวณและวิทยาศาสตร์ ขณะเดียวกันโปรดศึกษาวิชาภาษาต่างประเทศ และวิชาศิลปะควบคู่กันไป โดยทรงเลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์ ในระดับมัธยมปลาย เพื่อนำความรู้มาต่อยอดทำประโยชน์เพื่อความสุขของประชาชน

เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย ทรงเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีคณะวิทยาศาสตร์ สาขาอินทรีย์เคมี เกียรตินิยมอันดับ 1 จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทรงสอบได้ที่ 1 ในวิชาเคมีและชีววิทยา ทั้งยังทรงได้รับรางวัลเรียนดีจากมูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ

พ.ศ.2528 ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาอินทรีย์เคมี มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งนี้ยังทรงสำเร็จการอบรมระดับหลังปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยอูล์ม สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

พ.ศ.2550 ทรงสำเร็จการศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พ.ศ.2557 ทรงสำเร็จการศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพสัตวแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อนำความรู้ไปช่วยเหลือสัตว์ต่างๆ

ทรงมีพระธิดา 2 พระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ ทรงอุทิศพระวรกายเพื่ออาณาประชาราษฎร์ให้มีความสุข อยู่ดีกินดี และร่วมพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ ไม่ว่าจะในแขนงใด

3 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเปิดการเดินรถ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล อย่างเป็นทางการ

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดการเดินรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศไทย "โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (หัวลำโพง-บางซื่อ)" อย่างเป็นทางการ 

โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล หรือสายสีน้ำเงิน เดินทางช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ ระยะทาง 20 กม. จำนวน 18 สถานี โดย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ได้รับสัมปทานในการลงทุนในระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้า รวมทั้งให้บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษาตามมาตรฐานการให้บริการที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขสัญญา และมีสิทธิ์ในรายได้ค่าโดยสาร รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมและการพัฒนาเชิงพาณิชย์ภายในสถานีและภายในขบวนรถไฟฟ้า

2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 วันประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ปฐมบทสู่ ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’

วันนี้เมื่อ 25 ปีก่อน ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท หลังจากถูกโจมตีค่าเงินบาทอย่างหนัก ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนจาก 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ พุ่งขึ้นไปที่ 40 บาททันที

วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 วันอีกหนึ่งวันที่คนไทยหลายคนยังจดจำไม่ลืม เมื่อรัฐบาลไทยในสมัย พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างหนัก จากอัตราแลกเปลี่ยน 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นไปทันทีที่ 40 บาท และไต่ขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึง 52 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลกระทบอย่างหนักกับหลายบริษัทที่ไปกู้เงินดอลลาร์สหรัฐมาลงทุน

จากภาวการณ์ลดลงของค่าเงินบาทได้ส่งผลต่อภาระหนี้ต่างประเทศเป็นอันมาก เพราะดอกเบี้ยที่ต้องชำระคืนเพิ่มสูงเป็นอันมาก (ก่อนเกิดวิกฤต กู้มาในอัตราเพียง 1 ดอลลาร์เท่ากับ 25 บาท) ในปี 2533 ประเทศไทยเป็นหนี้ต่างประเทศ 29,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มเป็น 82,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2539 และเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในปี 2540 ไทยเป็นหนี้ต่างประเทศสูงถึง 109,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จำแนกเป็นหนี้ภาครัฐ 24,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หนี้ภาคเอกชน 85,200 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นภาครัฐเท่ากับร้อยละ 22.5 และหนี้ภาคเอกชนเท่ากับ 77.5 ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด

1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทรงสถาปนากิจการลูกเสือไทย

วันนี้ เมื่อ 111 ปีก่อน เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงสถาปนากิจการลูกเสือไทยขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 จึงได้ยึดถือวันที่ 1 กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ

โดยเป็นวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ ซึ่งได้จัดให้มีการเดินสวนสนามของลูกเสือ ณ สนามศุภชลาศัย สนามกีฬาแห่งชาติ เป็นประจำทุกปี ในแต่ละปีจะมีลูกเสือทั้งในส่วนกลางและปริมณฑลมาร่วมเดินสวนสนาม ประมาณ 10,000 คน เพื่อแสดงความเคารพและกล่าวทบทวนคำปฏิญาณ ต่อองค์พระประมุขคณะลูกเสือแห่งชาติ เพื่อประกาศความเป็นลูกเสืออย่างแท้จริง

ลูกเสือได้กำเนิดครั้งแรกในประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2450 โดยท่านลอร์ดบาเดน เพาเวลล์ กิจการลูกเสือในยุคแรกมีจุดประสงค์เพื่อเตรียมคนไว้เป็นทหาร หลายประเทศที่ไม่มีพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร จึงได้จัดให้มีลูกเสืออย่างประเทศอังกฤษบ้าง หลังจากนั้นไม่นานกิจการลูกเสือก็ได้แพร่หลายเข้าไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา

ต่อมาใน พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกองเสือป่าขึ้น เพื่อให้ข้าราชการพลเรือนได้เข้ารับการอบรม โดยมีจุดประสงค์ที่จะมุ่งอบรมจิตใจให้คนไทยรู้จักรักชาติมีมนุษยธรรม มีความเสียสละ สามัคคี และมีความกตัญญู

30 มิถุนายน ของทุกปี วันโซเชียลมีเดีย (Social Media Day) สะท้อนความสำคัญต่อการสื่อสารทั่วโลก

รู้หรือไม่ ทุกวันที่ 30 มิถุนายนเป็น ‘วันโซเชียลมีเดีย’ ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยเว็บไซต์ Mashable.com เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองและรำลึกถึงโลกโซเชียลมีเดีย ที่มีอิทธิพลต่อการสื่อสารและคนทั่วโลกในปัจจุบัน

ทั้งนี้ จากรายงาน Global Digital Report 2021 ของ We Are Social และ Hootsuite แพลตฟอร์มบริหารจัดการสื่อสังคมออนไลน์ ได้ออกมาเปิดเผยถึงสถิติตัวเลขล่าสุดของผู้ใช้โซเชียลที่พบว่า ในปีที่ผ่านมาการใช้งานโซเชียลมีเดียทั่วโลก มีผู้ใช้งาน 4.48 พันล้านคน เพิ่มขึ้นกว่า 500 ล้านคน ในเวลาเพียง 1 ปี 

29 มิถุนายน พ.ศ. 2481 เรือดำน้ำชุดแรก 4 ลำ ที่รัฐบาลไทยสั่งซื้อ เดินทางจากประเทศญี่ปุ่นมาถึงประเทศไทย

รู้หรือไม่ ในอดีตประเทศไทยเคยมีเรือดำน้ำที่สั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่น มาแล้ว เมื่อปี พ.ศ.2481 

29 มิถุนายน พ.ศ. 2481 เรือหลวงสินสมุทร, เรือหลวงพลายชุมพล, เรือหลวงมัจจาณุ (ลำที่ 2) และ เรือหลวงวิรุณ ซึ่งเป็นเรือดำน้ำชุดแรกที่รัฐบาลไทยสั่งต่อมาจากประเทศญี่ปุ่น ได้เดินทางมาถึงประเทศไทย 

เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ได้รับการต่อที่อู่ต่อเรือ บริษัท มิตซูบิชิ ที่เมืองโกเบ เมื่อปี 2479 ในสนนราคาลำละ 882,000 บาท วางกระดูกงูและปล่อยลงน้ำไล่เลี่ยกันคือระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม 2479  ดังนี้ 

พิธีวางกระดูกงู ร.ล.มัจฉาณุ และ ร.ล.วิรุณ โดยพระมิตรกรรมรักษา เมื่อ 6 พฤษภาคม 2479

พิธีวางกระดูกงู ร.ล.สินสมุทร และ ร.ล.พลายชุมพล โดยพระมิตรกรรมรักษา เมื่อ 1 ตุลาคม 2479

ปล่อยลงน้ำ ร.ล.มัจฉาณุ และ ร.ล.วิรุณ โดยนางมิตรกรรมรักษา เมื่อ 24 ธันวาาคม 2479

ปล่อยลงน้ำ ร.ล.สินสมุทร และ ร.ล.พลายชุมพล โดยพระมิตรกรรมรักษา เมื่อ 14 พฤษภาคม 2480 (มีการถ่ายทำภาพยนตร์โดย ร.ท.นิตย์ สุขุม)

28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ครบรอบ 90 ปี กำเนิด ‘รัฐสภาไทย’ วันเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก

28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 วันนี้ เมื่อ 90 ปีก่อน เป็นวันเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก ณ ห้องโถงชั้นบนของพระที่นั่งอนันตสมาคม ถือเป็นวันกำเนิด ‘รัฐสภาไทย’

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปีพุทธศักราช 2475 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ประเทศไทย (สยาม) ได้เปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ นับแต่นั้นมา ประเทศไทยก็ขับเคลื่อนไปด้วยกลุ่มบุคคลซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนที่เรียกว่า “ผู้แทนราษฎร” ทำหน้าที่ใช้สิทธิออกเสียงในการบริหารปกครองบ้านเมืองแทนประชาชน

เวลา 14 นาฬิกา ของวันที่ 28 มิถุนายน 2475 สภาผู้แทนราษฎรได้มีการประชุมเป็นครั้งแรก ณ ห้องโถงชั้นบนของพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยจัดห้องประชุมเป็นลักษณะครึ่งวงกลมตามระนาบพื้นห้อง การประชุมเริ่มขึ้นเมื่อหลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) อ่านรายนามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง จำนวน 70 คน และเป็นผู้กล่าวนำสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปฏิญาณตนในที่ประชุม จากนั้น เจ้าพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ได้อัญเชิญพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาอ่านเปิดประชุม เสร็จแล้วจึงได้ดำเนินการประชุมต่อไป จึงถือว่าวันนั้นเป็นวันก่อกำเนิดของรัฐสภาไทยมาจนถึงทุกวันนี้

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนั้น ที่ประชุมมีมติเลือกเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรก และเห็นชอบให้หลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนแรก รวมทั้งมีมติเลือกพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธานกรรมการราษฎร (นายกรัฐมนตรี) คนแรก จึงถือว่าคณะรัฐมนตรีได้ถือกำเนิดขึ้นในวันเดียวกันด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top