Saturday, 29 June 2024
TODAY SPECIAL

วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ร่วมเชิดชูเกียรติเกษตรกรไทย

ทุกวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี กำหนดให้เป็น วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ เนื่องด้วยข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศไทย

ตามมติคณะรัฐมนตรีรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ วันที่ 23 มิถุนายน 2552 เห็นชอบกำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี เป็น “วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ” ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

ทั้งนี้ การกำหนดให้มี “วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ เนื่องจากข้าวเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อประเทศและสังคมไทยอย่างยิ่ง นอกจากนี้ข้าวยังมีความสำคัญต่อวัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตของคนไทย รวมทั้งเป็นความมั่นคงทางอาหารดังนั้น นโยบายหรือมาตรการใดที่เกี่ยวกับข้าวย่อมส่งผลกระทบต่อสภาวะความเป็นไปของสังคมไทยอย่างมาก

4 มิถุนายน พ.ศ.2532 เหตุการณ์นองเลือด ‘จัตุรัสเทียนอันเหมิน’ เรื่องเศร้าในหน้าประวัติศาสตร์ประเทศจีน

เหตุการณ์นองเลือดจัตุรัสเทียนอันเหมิน ในปีค.ศ. 1989 ที่เพิ่งครบรอบ 30 ปีไปเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2019 นับเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่เพิ่งผ่านมาไม่นาน ผู้ประท้วง และผู้ที่สูญเสียจากเหตุการณ์ในวันนั้นทุกคนต่างยังจำโศกนาฏกรรมครั้งนี้ได้อย่างไม่ลืมเลือน จนทุกวันนี้ก็ยังไม่แน่ชัดว่ามีผู้เสียชีวิตกี่รายกันแน่ เนื่องจากรัฐบาลจีนไม่เคยออกมาเปิดเผย รวมถึงมาตรการที่มุ่งเซนเซอร์ทุกอย่างที่กล่าวถึงเหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมินในโลกไซเบอร์ทั้งหมด ไม่เคยมีการจัดงานรำลึกอย่างเป็นทางการ เหตุการณ์ในวันนั้นถูกตัดออกจากหนังสือประวัติศาสตร์ในจีนโดยสิ้นเชิง และใครก็ตามที่ถูกมองว่าพยายายามปลุกปั่น ประท้วง และรื้อฟื้นเหตุการณ์นี้ขึ้นมา ก็สามารถถูกจับไปจำคุกได้ถึง 3 ปีครึ่ง

จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ จัตุรัสเทียนอันเหมิน - ช่วงปี 1988 ประเทศจีนประสบวิกฤตทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อสูงกว่า 30% ในหลายเมือง ผู้คนต่างไม่พอใจกับผลงานของรัฐบาลในช่วงนั้นเป็นอย่างมาก ถัดมาอีก 1 ปี หู เย่าปัง อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ถือได้ว่าเป็นนักปฏิรูปในพรรคคอมมิวนิสต์ ถึงแก่อสัญกรรมไปวันที่ 15 เม.ย. 1989 กลุ่มผู้สนับสนุนเขาจึงพร้อมใจกันออกมาไว้อาลัย และประท้วงการปฏิรูปในจีนที่เป็นไปอย่างล่าช้า

พร้อม ๆ กันกับที่นักศึกษาจำนวนมากที่ออกมาเรียกร้องเสรีภาพออกมาชุมนุมพร้อมกันใจกลางกรุงปักกิ่งในวันนี้
การชุมนุมจัตุรัสเทียนอันเหมินที่เริ่มขยายวงกว้าง

การประท้วงเริ่มขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ มีการประท้วงใหญ่เกิดขึ้นในเมืองซีอาน และฉางซา รวมถึงนักศึกษาจากกว่า 20 มหาวิทยาลัยในกรุงปักกิ่งประกาศชุมนุมต่อเนื่องอย่างไม่มีกำหนด และเริ่มมีการอดอาหารประท้วงเกิดขึ้น

โดยหลักแล้วการชุมนุมครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มสิทธิเสรีภาพประชาชน เรียกร้องประชาธิปไตย ยุติอำนาจเผด็จการ นอกเหนือจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องสภาพเงินเฟ้อ การปรับค่าจ้างแรงงาน และการปฏิรูปที่อยู่อาศัยประชาชน จนถึงจุดที่มีประชาชนกว่า 1 ล้านคน ชุมนุมกันใจกลางกรุงปักกิ่ง

๓ มิถุนายน ๒๕๖๕ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

พลเอกหญิง สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2521 ณ ตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีพระนามเดิมว่า สุทิดา ติดใจ ครอบครัวของพระองค์เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ทรงเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกันยา จากนั้นจึงทรงเข้าศึกษาหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต ณ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จนจบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2543

หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ในช่วงเวลานั้นพระองค์ทรงเข้าเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัท แจลเวย์ จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2543 - พ.ศ. 2546 และทรงเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อปี พ.ศ. 2546 - พ.ศ. 2551 ทรงใช้ชีวิตแบบสามัญชนทั่วไป

ต่อมาทรงเข้ารับราชการทหารในหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ทรงดำรงตำแหน่งสูงสุด เป็นรองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตรา พลเอกพิเศษ) ทั้งยังทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ให้ทรงดำรงตำแหน่งเป็นราชองครักษ์เวรในพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์

ย้อนกลับไปในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2557 สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ (ในเวลานั้นคือพลเอกหญิงสุทิดา วชิราลงกรณ์) ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในพิธีพระราชทานธงชัยเฉลิมพล

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ได้ตามเสด็จในพิธีสังเวยพระป้ายในเทศกาลตรุษจีน ณ พระที่นั่งอัมพรสถานฯ และปรากฏตัวอีกครั้งในวันประสูติพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ในปีเดียวกัน

ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ทางกองพระราชพิธี สำนักพระราชวังได้เผยแพร่รายงานการเสด็จพระราชดำเนินที่พระองค์ได้ตามเสด็จพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติไปทอดพระเนตรพระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพลเอกหญิงสุทิดา วชิราลงกรณ์ ได้รับพระราชทานพระอิสริยยศเพิ่มเติมเป็น วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา (มีหมายกำหนดการระบุชื่อสกุลดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีเดียวกัน)

2 มิถุนายน ของทุกปี วันส้มตำสากล – International Somtum Day เมนูแซ่บของไทยที่นานาชาติยอมรับ

วันที่ 2 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันส้มตำสากล (International Somtum Day) วันที่นานาชาติให้การยอมรับว่าส้มตำไทยอร่อย และยกย่องให้ส้มตำเป็นอาหารสากล

รู้หรือไม่ วันที่ 2 มิถุนายนของทุกปีเป็น “วันส้มตำสากล” (International Somtum Day) เป็นวันที่นานาชาติให้การยอมรับว่าส้มตำไทยอร่อย และยกย่องให้ส้มตำเป็นอาหารสากล

“ส้มตำ” เป็นอาหารปรุงมาจากการทำตำส้ม คือการทำให้เปรี้ยว ในลาวเรียกว่า “ตำหมากหุ่ง” โดยนำมะละกอดิบที่สับแล้วฝานหรือขูดเป็นเส้นมาตำในครกเป็นหลัก พร้อมด้วยวัตถุดิบอื่น ๆ เช่น มะเขือเทศลูกเล็ก,มะเขือสีดา,มะเขือเปราะ,พริกสดหรือพริกแห้ง,ถั่วฝักยาวมกระเทียม และปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ น้ำปลา และมะนาว

โดยส่วนผสมและเครื่องปรุงต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ส้มตำมีรสเผ็ด เค็ม และเปรี้ยว โดยในภาคอีสานนิยมส้มตำรสเผ็ดเค็ม ส่วนไทยภาคกลางนิยมรสเปรี้ยวหวาน ซึ่งนิยมรับประทานกับข้าวเหนียวและไก่ย่าง โดยในบางครั้งรับประทานกับขนมจีน เส้นเล็กลวก เส้นหมี่ และแคบหมู 
 

1 มิถุนายน พ.ศ.2544 ย้อนอดีต 21 ปี ตำนานล็อกหวย ‘113311’ เหตุการณ์ทุจริตออกสลากฯ สุดลือลั่น

ย้อนอดีตเมื่อ 21 ปีก่อน เกิดการทุจริตในการออกรางวัลที่ 1 ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เลขที่ออก ‘113311’

วันนี้ในอดีต 1 มิถุนายน พ.ศ. 2544 ได้เกิดการทุจริตในการออกรางวัลที่ 1 ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลและต่อมาได้มีการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สำนักงานสลากกินแบ่งฯ ปรับปรุงการออกรางวัลใหม่

เหตุการณ์ทุจริตการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลเมื่อปี 2544 เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดวันที่ 1 มิถุนายน 2544  ซึ่งกรรมการออกรางวัลภาคประชาชน 3 คนที่ยืนอยู่ในตำแหน่งหลักหมื่น หลักสิบ และหลักหน่วย มีพิรุธขณะออกรางวัลที่ 1 ทำให้ผลการออกรางวัลที่ 1 ของการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลในงวดดังกล่าว คือ 113311 ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนทั่วไป สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนในเหตุการณ์ดังกล่าว ปรากฎว่า ไม่พบเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ ร่วมกระทำการทุจริตการออกรางวัลแต่อย่างใด คงมีแต่ภาคประชาชนเท่านั้นที่พยายามกระทำการทุจริตการออกรางวัลในงวดดังกล่าว 

ต่อมา สำนักงานสลากกินแบ่งฯ ได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองปราบปราม ได้ร่วมตรวจสอบเทปการออกรางวัลในงวดดังกล่าวและได้ข้อสรุปว่า มีการซ้อมการทุจริตการออกรางวัล โดยการตักลูกบอล และบ้วนของเหลวโดยการกัดหลอดพลาสติก ณ ไร่กุสุมารีสอร์ต อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไปตรวจที่ไร่ดังกล่าว พบว่า มีหลอดพลาสติก ซึ่งบรรจุสารเคมีสีขาวเป็นจำนวนมากฝังไว้ในดินบริเวณโดยรอบบ้านพักหลังหนึ่งที่อยู่ห่างไกลจากการสังเกตของประชาชน ส่วนใหญ่ถูกเผาเพื่อทำลายหลักฐาน แต่มีบางส่วนที่ไม่ถูกเผาและยังพบหลอดบรรจุสารดังกล่าวบริเวณกองขยะ ซึ่งมีความยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ใหญ่กว่าหลอดกาแฟเล็กน้อย ปะปนอยู่กับเศษฝ้าเพดาน มีรอยถูกฟันกัดบริเวณปลายหลอด อีกด้านเป็นรูเล็ก ๆ เพื่อให้สารเคมีไหลออก จึงเก็บหลอดบรรจุสารทั้งหมดให้กองพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบ 

นอกจากนี้ยังพบคราบสารเคมีบนผนังห้องโถงของบ้านพักดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรีสอร์ทรายหนึ่งให้การว่า คนกลุ่มดังกล่าวได้เข้ามาเช่าบ้านพักถึง 2 ครั้ง โดยอ้างว่าใช้เป็นสถานที่จัดประชุม จากนั้นจะนำกลุ่มคนที่ได้รับการคัดเลือก 20 คน เข้ารับการฝึกซ้อม โดยมีผู้ฝึกสอน 2 คน สอนกลวิธีต่างๆ ในการทุจริตดังกล่าว โดยเปิดเทปการออกรางวัลรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลให้ผู้เข้ารับการฝึกซ้อมรับชมประกอบการฝึกซ้อมด้วย ซึ่งมีการฝึกซ้อมทั้งวันทั้งคืน จนกว่าผู้ฝึกสอนจะพอใจ

และเมื่อถึงวันก่อนวันออกรางวัล 1 วัน ได้มีการว่าจ้างคน 50-100 คน เพื่อซ้อมการทุจริต โดยสับเปลี่ยนหางบัตรเข้าชมการออกรางวัล ตักลูกบอล และบ้วนของเหลว ซึ่งมีการใช้ลูกบอลหมายเลขที่ใช้ในการออกรางวัลของสำนักงานฯ มาซ้อมตักลูกบอล รวมทั้งเข้าชมการออกรางวัลในงวดดังกล่าว โดยเช่าโรงแรมใกล้ที่ทำการของสำนักงานฯ เป็นที่ซ้อมการทุจริตดังกล่าว โดยจะได้รับค่าจ้าง คนละ 200 บาท และหากได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการออกรางวัล จะได้รับค่าจ้างเพิ่มเป็น 500 บาท และเมื่อสามารถทุจริตได้ตามแผนการที่ได้ซักซ้อมเอาไว้ก่อนหน้า จะมีรางวัลตอบแทนเป็นเงินรางวัลที่ได้รับจากการซื้อสลากกินรวบตามเลขดังกล่าว

31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 วันคล้ายวันสวรรคต สมเด็จพระนางเรือล่ม พระนางผู้เป็นที่รักยิ่งของพระพุทธเจ้าหลวง

31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 ย้อนรอยโศกนาฏกรรม พระนางเรือล่ม อัครมเหสีผู้เป็นที่รักยิ่งของพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5

สมเด็จพระนางเรือล่ม มีพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ประสูติเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2403 ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา ลำดับที่ 50 ในจำนวนทั้งหมด 82 พระองค์

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระขนิษฐาอีก 2 พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) และ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง)

ครั้นเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พระชนมายุได้ 19 พรรษา ทรงมีพระราชธิดาพระองค์แรก ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์ เพชรรัตน์ และเสด็จทิวงคตพร้อมกันกับ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ที่ขณะนั้นทรงพระครรภ์ได้ 5 เดือน 

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 เหตุการณ์อันน่าเศร้าสลดใจก็เกิดขึ้น ก่อนเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมขึ้นนั้น มีเรื่องเล่าว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ได้ทรงพระสุบินว่า พระราชธิดาของพระองค์ตกลงไปในน้ำ ด้วยความตกพระทัยจึงรีบคว้าพระราชธิดาจนตกลงไปในน้ำด้วยกัน แล้วได้ตื่นจากบรรทม ท่านก็ทรงครุ่นคิดถึงการเสด็จฯ ไปพระราชวังบางปะอิน แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงชะตากรรมได้ 

ในวันเกิดเหตุวิปโยค เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงกำหนดเสด็จพระราชดำเนินไปประทับพักผ่อนพระอิริยาบถที่พระราชวังบางปะอิน ในเวลา 2 โมงเช้าทรงมีพระราชดำรัสให้ปล่อยขบวนเรือพระประเทียบ หรือเรือฝ่ายในล่วงหน้าไปก่อน ส่วนพระองค์เสด็จไปทอดพระเนตรการซ่อมบำรุงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จน 2 โมงเศษ จึงประทับเรือพระที่นั่งโสภณภควดี ซึ่งเป็นเรือกลไฟฝีจักรเร็วที่สุดในขณะนั้นตามไป เมื่อไปถึงบางตลาดจะเข้าปากเกร็ด ทอดพระเนตรเห็นเรือกลไฟราชสีห์ล่องแม่น้ำสวนมาอย่างรีบร้อนและเข้าเทียบเรือพระที่นั่ง กราบทูลว่า เรือพระประเทียบของพระนางเจ้าสุนันทาฯ ที่ล่วงหน้าไปแต่เช้าได้เกิดล่มขึ้นที่บางพูด ทำให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์สิ้นพระชนม์ แต่ไม่ได้กราบทูลให้ทรงทราบว่าสมเด็จพระอัครมเหสีก็สิ้นพระชนม์ด้วย

เหตุการณ์นี้ปรากฏรายละเอียดอยู่ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มีความตอนหนึ่งว่า

“...จึงรีบแล่นเรือพระที่นั่งไปถึงบางพูดเช้า 5 โมง เห็นเรือไฟและเรือพระประเทียบทอดอยู่กลางน้ำที่เขาดำทราย เหนือบ้านพระเกียรติหน่อย ประทับเรือพระที่นั่งเข้าที่เรือปานมารุต ไล่เลียงกรมอดิสรกับพระยามหามนตรีด้วยเรื่องเรือล่ม พระมหามนตรีทูลว่าเรือราชสีห์ซึ่งจูงเรือพระองค์เจ้าสุขุมาลนั้นไปหน้า ใกล้ฝั่งตะวันออก เรือโสรวารซึ่งพระยามหามนตรีไปจูงเรือพระองค์เจ้าเสาวภาตามไปเป็นที่สองแนวเดียวกัน เรือยอร์ชสมเด็จกรมหลวงซึ่งจูงเรือกรมสมเด็จพระสุดารัตน์ราชประยูรไปทางฝั่งตะวันตกตรง แล่นตรงกับเรือราชสีห์ แล้วเรือปานมารุตแล่นขึ้นมาช่องกลางระหว่างเรือ ห่างเรือโสรวารสัก 10 ศอก พอเรือปานมารุตแล่นขึ้นไปใกล้เรือราชสีห์ก็เบนหัวออก 

เรือพระประเทียบเสียท้ายปัดไปทางตะวันออก ศีรษะเรือโดนข้างเรือโสรวารน้ำเป็นระลอกประทะกัน กดศีรษะเรือพระประเทียบจมคว่ำลง พระยามหามนตรีว่าได้ดำน้ำลงไปถึงในเก๋ง เชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอออกมาก็สิ้นพระชนม์เสียแล้ว แต่กรมหมื่นอดิสรซัดพระยามหามนตรีว่า เป็นเพราะเรือโสรวารหนีตื้นออกมา จึงเป็นเหตุเรือปานมารุตแล่นห่างกว่า 10 ศอก ต่างคนต่างซัดกัน จึงโปรด้เกล้าฯให้เจ้านายขึ้นไปไล่เลียงดูที่คนอื่นๆทีละคนสองคน แยกกันถามจึงได้ความว่า พระองค์เจ้าสุนันทาสิ้นพระชนม์ด้วย กับแก้ว พระพี่เลี้ยงอีกคนหนึ่งตาย และคนที่อยู่ในเก๋งออกมาไม่ทันบ้าง ที่สลบก็แก้ฟื้นขึ้นได้หลายคน จึงไล่เลียงได้ความว่า เมื่อเรือล่มคว่ำนั้น พระองค์เจ้าสุนันทาอยู่ในเก๋งออกมาไม่ได้ จึงช่วยกันหงายเรือขึ้น 

30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 เสด็จสู่สวรรคาลัย

30 พ.ค. ของทุกปี เป็น ‘วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว’ น้อมรำลึกวันสวรรคตของล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 กษัตริย์นักประชาธิปไตย 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชสมภพเมื่อวันพุธที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 ทรงเป็นพระราชโอรสองค์สุดท้องในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงศึกษาในระดับมัธยมที่วิทยาลัยอีตัน ประเทศอังกฤษ

จากนั้นทรงศึกษาต่อด้านวิชาการทหารที่โรงเรียนนายร้อยเมืองวูลิช และทรงอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ เมื่อพ.ศ. 2461 เสด็จขึ้นครองราชย์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบพระราชสันตติวงศ์เมื่อพุทธศักราช 2467 

ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 (นับตามปฏิทินปัจจุบัน คือ พ.ศ. 2469) และทรงสละราชสมบัติขณะประทับที่ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 (พ.ศ. 2478 ตามปฏิทินปัจจุบัน) เนื่องด้วยความคิดเห็นที่ขัดแย้งทางการเมืองบางประการ

หลังจากนั้นได้ประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษจนกระทั่งสวรรคตเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พุทธศักราช 2484 ขณะมีพระชนมายุ 48 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพเป็นการส่วนพระองค์อย่างเรียบง่าย ปราศจากพิธีการใด ๆ ที่สุสานโกลเดอร์ส กรีน (Golders Green)

กระทั่งในในปี พ.ศ. 2492 รัฐบาลได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ขอพระราชทานให้ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับสู่ประเทศไทย เพื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ร่วมกับสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าในพระบรมมหาราชวัง ในการนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีทักษิณานุปทานอุทิศถวายตามพระราชประเพณี

หลังจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ หอพระบรมอัฐิ ซึ่งอยู่ชั้นบนของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ส่วนพระบรมสรีรางคารนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุไว้ที่พระพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรสภายในพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
 

29 พฤษภาคม พ.ศ. 2528 โศกนาฏกรรมเฮย์เซล ฝันร้ายโลกฟุตบอล บนสังเวียนนัดชิงเจ้ายุโรป ‘ลิเวอร์พูล - ยูเวนตุส’

ย้อนอดีต 37 ปีก่อน ณ เฮย์เซล สเตเดียม สังเวียนนัดชิงชนะเลิศ ยูโรเปียน คัพ ระหว่าง ลิเวอร์พูล กับ ยูเวนตุส ที่แฟนบอลหัวร้อนจนทำให้มีคนตายถึง 39 คน 

วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2528 หรือหลายคนอาจจะเรียกว่า “วันแห่งความอื้อฉาวที่สุด” ของทีมฟุตบอลลิเวอร์พูล นั่นคือ การปะทะกันของแฟนบอลของทั้งสองทีมที่ฟาดแข้งกันในสนาม แต่ผู้ชมที่ตายส่วนใหญ่กลับเป็นผู้ชมชาวอิตาลี ที่ค่อนข้างเป็นกลางแทบทั้งสิ้น!

ทั้งนี้ ข้อมูลจากข่าวสารระบุตรงกันว่า เหตุการณ์นั้นเริ่มต้น 1 ชั่วโมงก่อนจะเริ่มเกมด้วยซ้ำ โดยแฟนบอลทั้งสองฝ่ายต่างพากันตะโกนยั่วโมโหกันไปมาผ่านรั้วลวดที่กั้นอยู่

แต่คงด้วยความหัวร้อน ปรากฏว่าต่างฝ่ายต่างออกลีลาเชียร์ทีมของตัวเองมากไปหน่อย ทันทีที่เกิดมีเหตุที่แฟนบอลมีการหยิบสิ่งของที่คว้ามาได้ เช่น ขวดน้ำหรือก้อนหินขว้างใส่อีกฝ่าย ฝ่ายแฟนบอลหงส์แดงลิเวอร์พูล ไม่รอช้า กรูกันวิ่งเข้าใส่รั้วกั้นและทำลายมันลง ทำให้แฟนบอลยูเวนตุสต่างต้องถอยร่นไป จนไปติดอยู่ริมกำแพงในด้านตรงข้าม รวมถึงมีแฟนบอลที่พยายามจะปีนกำแพงหนี

และทันใดนั้น เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อกำแพงเกิดถล่มลงมาทำทับแฟนบอลที่หนีไปรวมกันบริเวณนั้น ยังผลให้มีผู้เสียชีวิตภายใต้ซากปรักหักพังทั้งสิ้น 39 คน!! โดยแบ่งเป็น ชาวอิตาลี 32 คน, ชาวเบลเยี่ยม 4 คน, ชาวฝรั่งเศส 2 คน และชาวไอร์แลนด์เหนือ 1 คน รวมถึงมีบาดเจ็บอีกกว่า 600 คน!

28 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 ‘แดนเนรมิต’ ปิดฉากอย่างเป็นทางการ อวสานสวนสนุกกลางกรุง

28 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 อวสาน ‘แดนเนรมิต’ ปิดฉากสวนสนุกกลางกรุงอย่างเป็นทางการ หลังหมดสัญญาเช่าที่

แดนเนรมิตเป็นสวนสนุกกลางแจ้ง มีเนื้อที่ 33 ไร่ ตั้งอยู่เยื้องกับศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ริมถนนพหลโยธิน แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เริ่มเปิดให้บริการเป็นครั้งแรกในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2518 มีเครื่องเล่นจากต่างประเทศกว่า 30 ชนิด โดยมีจุดเด่นคือ ‘บ้านผีสิง’ และ ‘ปราสาทเทพนิยาย’ ซึ่งตั้งอยู่ตรงส่วนหน้าของพื้นที่ โดยออกแบบให้มีการผสมผสานระหว่างปราสาทเทพนิยายของสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ กับปราสาทนอยชวานสไตน์ของประเทศเยอรมนี 

ภายในมีเครื่องเล่นต่างๆ เช่น รถไฟเหาะ เครื่องเล่นรถไฟรางเดี่ยว เรือไวกิ้ง ส่วนจัดแสดงสัตว์โลกล้านปี เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีพาเหรดแฟนตาซี ซึ่งออกเดินไปตามถนนโดยรอบบริเวณนั้นอีกด้วย
 

27 พฤษภาคม พ.ศ.2552 วันเกิดแพนด้า ‘หลินปิง’ แพนด้าตัวแรกที่เกิดบนแผ่นดินไทย

วันนี้ เมื่อ 13 ปีก่อน หลินปิง เป็นแพนด้ายักษ์เพศเมีย ได้ถือกำเนิดที่สวนสัตว์เชียงใหม่

27 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 หลังจากเจ้าหน้าที่สวนสัตว์เชียงใหม่ ได้สังเกตพบพฤติกรรมผิดปรกติของหลินฮุ่ยที่แสดงอาการกระวนกระวาย เดินไปมา เลียบริเวณอวัยวะเพศถี่มากขึ้นหลังเที่ยงคืนวันที่ 26 จึงติดต่อไปที่ศูนย์วิจัยแพนด้า ประเทศจีน ปรึกษาจากผู้รู้ จึงได้รับคำตอบว่า หลินฮุ่ยกำลังจะคลอด คำยืนยันทำให้ทีมงานตื่นเต้นและกระวนกระวายอย่างมาก แพนด้าน้อยคลอดออกมา โดยถูกบันทึกภาพด้วยกล้องวิดีโอของทีมงานสวนสัตว์ฯ หลังจากอุ้มท้อง 97 วัน มีน้ำหนักแรกเกิด 235 กรัม

หลินปิง เป็นแพนด้ายักษ์เพศเมีย ที่เกิดจากการผสมเทียม ระหว่างช่วงช่วงและหลินฮุ่ย นับเป็นแพนด้าตัวแรกของโลกที่เกิดในประเทศเขตศูนย์สูตรในเดือนนอกฤดูผสมพันธุ์ของหมีแพนด้า


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top