Wednesday, 26 June 2024
TODAY SPECIAL

'ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล' ผู้บุกเบิกด้านการพยาบาลสมัยใหม่ เป็นที่มาของ ‘วันพยาบาลสากล’

ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) สตรีชาวอังกฤษผู้บุกเบิกด้านการพยาบาลสมัยใหม่ เกิดวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2363 ในครอบครัวเศรษฐีชาวอังกฤษที่กรุงฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี

ด้วยความศรัทธาต่อพระเจ้า ซึ่งเธอกล่าวว่าได้ยินเสียงจากพระองค์ให้เธอช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ในปี พ.ศ. 2380 ซึ่งสมัยนั้นสังคมยังกำหนดบทบาทให้ผู้หญิงเป็นเพียงแม่บ้านและภรรยาเท่านั้น เธอปฏิเสธความเชื่อดังกล่าว เริ่มออกช่วยรักษาคนป่วยที่ยากจน ในปี พ.ศ. 2389 เธอเดินทางไปศึกษาพยาบาลที่เมืองไคเซอร์เวิร์ธ (Kaiserswerth) ประเทศเยอรมนี และเริ่มอาชีพพยาบาลตั้งแต่ปี 2394

ในช่วง สงครามไครเมีย (Crimean War) ประเทศตุรกี ระหว่างรัสเซียกับฝรั่งเศสและอังกฤษ หลังจากพบว่ามีทหารล้มตายและบาทเจ็บจำนวนมาก โดยไม่มีหน่วยงานเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง เธอจึงรวมตัวกับเพื่อน 38 คนเป็นพยาบาลอาสาตั้งโรงพยาบาลชั่วคราวในสนามรบ โดยใช้มาตรฐานอย่างเข้มงวด ทั้งการรักษา สุขภาพอนามัย และอาหาร เธอดูแลคนป่วยอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยแม้ในยามมืดค่ำ เธอยังคงรักษาคนไข้ใต้แสงตะเกียง จนได้รับการยกย่องว่า “สตรีผู้ถือตะเกียง” (The Lady with the Lamp)

วันนี้เมื่อ 211 ปีก่อน คือ วันถือกำเนิดของแฝดสยามคู่แรกของโลก

ย้อนไปเมื่อ 211 ปีก่อน ในวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2354 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ฝาแฝดอิน-จัน ได้ถือกำเนิดในครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีน ที่จังหวัดสมุทรสงคราม โดยมีบิดาเป็นชาวจีนอพยพแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ชื่อ นายที มารดาเป็นคนไทยชื่อ นางนาก (บันทึกของชาวตะวันตกเรียกว่า นก (Nok)) ซึ่งฝาแฝดคู่นี้สามารถเติบโตและใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ แตกต่างไปจากแฝดติดกันคู่อื่น ๆ ที่มักเสียชีวิตหลังคลอดได้ไม่นาน 

เนื่องด้วยเกิดที่ประเทศสยาม แฝดอิน-จัน จึงได้รับการขนานนามว่า “แฝดสยาม (Siamese Twins)” ซึ่งมีชื่อเสียงไปทั่วโลก และยังเป็นคำเรียกฝาแฝดที่เกิดมามีตัวติดกันอีกด้วย 

โดยในปี พ.ศ. 2367 นายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ พ่อค้าชาวอังกฤษ หรือที่คนไทยสมัยนั้นเรียกว่า "นายหันแตร" ได้พบแฝดคู่นี้กำลังว่ายน้ำเล่นอยู่ ด้วยความประหลาดและน่าสนใจ นายฮันเตอร์จึงคิดที่จะนำฝาแฝดคู่นี้ไปแสดงโชว์ตัวที่สหรัฐอเมริกา จึงเข้าทำความสนิทสนมกับครอบครัวของฝาแฝดอยู่นานนับปี จนพ่อแม่ของทั้งคู่ไว้วางใจ ในที่สุดนายอาเบล คอฟฟิน กัปตันเรือสินค้า เดอะ ชาเคม (The Sachem) ซึ่งขณะนั้นได้เข้ามาทำการค้าในประเทศไทย ได้เป็นผู้นำตัวคู่แฝดออกเดินทางจากประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2372 ขณะนั้นอิน-จัน อายุได้ 18 ปี จากนั้นเมื่อถึงอเมริกา คู่แฝดได้ออกเดินทางแสดงทั่วอเมริกาและยุโรปนานนับ 10 ปี 

กระทั่ง เมื่ออายุได้ 28 ปี ใน พ.ศ. 2382 (ค.ศ. 1839) ทั้งคู่ก็ได้ลงหลักปักฐานที่หมู่บ้านแทรปฮิลล์ (Traphill) เขตชานเมืองวิลส์โบโร (Wilkesboro) เคาน์ตีวิลส์ ในรัฐนอร์ทแคโรไลนา โดยลงทุนซื้อที่ดิน 11 เอเคอร์ พร้อมกับได้เปลี่ยนชื่อและเปลี่ยนสัญชาติเป็นอเมริกัน โดยใช้ชื่อว่า เอ็ง-ชาง บังเกอร์ (Eng and Chang Bunker) พร้อมกับได้แต่งงานกับหญิงชาวอเมริกัน อินสมรสกับ Sarah Ann Yates (1822 - 1905) และจันสมรสกับ Adelaide Yates Bunker (1823 - 1917) และมีลูกด้วยกันหลายคน จัน 10 คน อิน 11 คน ซึ่งระหว่างที่ทั้งคู่ใช้ชีวิตในต่างประเทศนั้น มีความพยายามหลายครั้งจากหลายบุคคลที่จะทำการผ่าตัดแยกร่างทั้งคู่ออกจากกัน แต่ท้ายที่สุดก็มิได้มีการดำเนินการจริง ๆ

วันนี้เมื่อ 38 ปีก่อน ‘สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2’ ได้เสด็จมาเยือนประเทศไทย

วันนี้เมื่อ 38 ปีก่อน เป็นอีกวันสำคัญไม่เพียงกับ ‘คริสตชนไทย’ แต่ยังหมายรวมถึงชาวไทยทั้งประเทศในมิติที่ว่า ‘สมเด็จพระสันตะปาปา นักบุญ จอห์น ปอล ที่ 2’ หรือ ‘ประมุขแห่งวาติกัน’ ได้เสด็จมาเยือนประเทศไทยครั้งแรกและอย่างเป็นทางการ อันนับเป็นหน้าประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทยกับนครวาติกัน ครั้งสำคัญอีกด้วย

ทั้งนี้ ชาวไทยยุคสมัยหนึ่งคงจำกันได้กับภาพประวัติศาสตร์ในครั้งนั้น นับแต่ที่คนไทยได้ทราบข่าวการเสด็จเยือนประเทศในแถบเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทยนั้น สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ได้มีวาระการเสด็จเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรกระหว่างวันที่ 10-11 พฤษภาคม พ.ศ. 2527

ย้อนอดีต 93 ปี รัชกาลที่ 7 เสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงที่ปัตตานี

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระราชินีนาถ ได้เสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงพร้อมกับทีมนักดาราศาสตร์จากประเทศอังกฤษ ที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ซึ่งคณะนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษได้จัดกล้องส่องดาวไว้เป็นพิเศษเฉพาะให้ทอดพระเนตร ในครั้งนั้นได้มีข้าราชการผู้ใหญ่และประชาชนมาถวายการต้อนรับ และชมสุริยุปราคากันจำนวนมาก

การเกิดสุริยุปราคาครั้งนั้น “เซอร์ เอฟ. ดับเบิลยู. ไดสัน” (Sir F. W. Dyson) นายกกรรมการร่วมประจำในเรื่องสุริยุปราคาของสมาคมนักดาราศาสตร์แห่งประเทศอังกฤษ ได้มีหนังสือแจ้งรัฐบาลไทย โดยคำนวณและพยากรณ์ไว้ว่าในวันนี้จะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ปรากฏให้เห็นบริเวณมหาสมุทรอินเดีย เกาะสุมาตรา ภาคใต้ของไทย และประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งในไทยจะเห็นได้ชัดเจนที่สุดบางบริเวณของจังหวัดปัตตานี

ย้อนไปเมื่อ 136 ปีที่แล้ว 8 พฤษภาคม เป็นวันถือกำเนิด เครื่องดื่ม 'Coca-Cola' หรือ 'Coke'

8 พฤษภาคม พ.ศ. 2429 หรือ 136 ปีที่แล้ว เครื่องดื่ม 'Coca-Cola 'หรือ 'Coke' สูตรต้นตำรับถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา โดยเภสัชกร ดร.จอห์น สติชท์ เพมเบอร์ตัน โดยเภสัชกรรายนี้เป็นผู้ผลิตหัวเชื้อน้ำหวาน

มีเรื่องเล่ากันต่อมาว่า เมื่อ ดร.เพมเบอร์ตัน ปรุงหัวเชื้อน้ำหวานขึ้นมาได้สำเร็จในหม้อทองเหลืองสามขา ซึ่งตั้งอยู่ในสนามหญ้าหลังบ้านของเขา ก็รีบถือเหยือกที่บรรจุน้ำหวานรสชาติใหม่ มุ่งตรงไปยังร้านขายยาชื่อ ‘จาค็อป’ และ ณ ที่นั่นเอง หลายต่อหลายคน ได้ลิ้มลองน้ำหวานของ ดร.เพ็มเบอร์ตัน ต่างก็ชมเป็นเสียงเดียวกันว่ารสชาติเยี่ยม หลังจากนั้นไม่นาน ดร.เพมเบอร์ตัน ก็เริ่มปรุงเครื่องดื่มชนิดนี้ขายที่ร้าน ‘จาค็อป’ โดยคิดราคาแก้วละ 5 เซ็นต์ และโฆษณาว่าเป็นยาบำรุงสมองและประสาท แก้ปวดหัวและอาการเมาค้าง ในครั้งนั้นยังไม่มีส่วนผสมของโซดา ปรากฏว่าขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

วันนี้ เมื่อ 8 ปีก่อน 'ศาล รธน.' วินิจฉัย ‘ยิ่งลักษณ์’ พ้นนายกฯ

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ได้พ้นจากเก้าอี้รักษาการนายกฯ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ขัดรัฐธรรมนูญ โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ้นเก้าอี้รักษาการนายกฯ พร้อมกับ 9 รัฐมนตรี ที่ร่วมลงมติเห็นชอบให้ย้ายนาย ถวิล เปลี่ยนศรี  

กรณีดังกล่าว สืบเนื่องจากนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภาในขณะนั้น ได้ร้องขอให้ศาลพิจารณาว่า สถานภาพความเป็นรัฐมนตรีของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 182 (7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่ จากกรณีการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

6 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 ในหลวง ร.9 เสด็จฯ พร้อมด้วยกรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดสระสุวรรณชาด ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

"สระสุวรรณชาด" โครงการจากทุนพระราชทานของในหลวง รัชกาลที่ 9 เพื่อรักษาสุนัขป่วย
.
สระสุวรรณชาด สระว่ายน้ำสำหรับบำบัดและฟื้นฟูร่างกายสุนัขที่ป่วยด้วยโรคกระดูกและโรคระบบประสาท สร้างโดยคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากทุนพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9

สำหรับสระสุวรรณชาดนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานเงินรายได้จากการจำหน่ายเสื้อคุณทองแดง ให้เป็นทุนในการก่อสร้าง ซึ่งคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2548 และแล้วเสร็จในช่วงปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2548

5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 พระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 เป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี

5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 เป็นวันที่รำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี และราชอาณาจักรไทย ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ต่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 และดำรงพระอิสริยยศเป็น "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช" เนื่องจากยังมิได้ทรงผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ก็เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาอยู่ ณ ทวีปยุโรป จนกระทั่งทรงบรรลุนิติภาวะ จึงได้เสด็จนิวัติประเทศไทย

ดังนั้นรัฐบาลไทยและพสกนิกร จึงได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อม จัดงานพระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร หรือรัฐพิธีฉัตรมงคล หรืออาจเรียกว่าพระราชพิธีฉัตรมงคล ซึ่งกระทำในวันบรมราชาภิเษก ถวายเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เฉลิมพระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร" ในโอกาศนั้นได้ทรงพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี 

วันฉัตรมงคล ตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันที่รำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรีและราชอาณาจักรไทย

ในหลวงรัชกาลที่ 10 โปรดให้ตั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ณ พระบรมมหาราชวัง มีการเฉลิมพระปรมาภิไธยตามพระสุพรรณบัฏว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว" และมีพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป"

ทั้งนี้ คำว่า “ฉัตรมงคล” หมายความว่า พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร จะกระทำในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษก สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้ถูกต้องสมบูรณ์ โดยพระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะไม่ใช้คำว่า “พระบาท” นำหน้า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และคำสั่งของพระองค์ก็ไม่เรียกว่า “พระบรมราชโองการ” และอีกประการหนึ่งคือ ยังไม่มีการใช้ นพปฎลเศวตฉัตร หรือฉัตร 9 ชั้น

ยูเนสโกเสนอให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีเป็น 'วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก'

3 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้เสนอให้สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ (UN) ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีเป็น 'วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก' (World Press Freedom Day) เพื่อย้ำเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลก คือเสรีภาพในการคิดและการแสดงออก เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้เสนอข้อเท็จจริงโดยเสรี และปลอดภัย เพราะในระยะหลัง ๆ นักข่าวที่ลงพื้นที่ภาคสนามได้มีจำนวนผู้เสียชีวิต ถูกจับเป็นตัวประกัน และถูกจับกุมเพิ่มมากขึ้น 

ต่อมาจึงได้ถือเอาวันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีเป็น 'วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก' เพื่อระลึกถึงข้อปฏิบัติว่าด้วยเสรีภาพสื่อ และเพื่อเป็นการปกป้องนักข่าวที่ถูกโจมตีเพียงเพราะพวกเขาทำหน้าที่ของตัวเองเท่านั้น การปกป้องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกนั้นถือเป็นงานที่หนักพอสมควร


ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top