Monday, 17 June 2024
TODAY SPECIAL

14 เมษายน ของทุกปี ตรงกับ ‘วันครอบครัว’ เพื่อให้ประชาชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัว

‘สถาบันครอบครัว’ จัดว่าเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดในสังคม ทั้งยังเป็นผู้สร้างและกำหนดสถานภาพ สิทธิ หน้าที่ของบุคคลอันพึงปฏิบัติต่อกันในสังคม นับได้ว่าเป็นสถาบันแห่งแรกในการถ่ายทอดวัฒนธรรมและพัฒนา ผู้ร่วมครัวเรือน โดยการที่ทางราชการกำหนด ‘วันครอบครัว’ ขึ้นมานั้น เนื่องจากต้องการให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัวให้มากขึ้น เพราะการที่วิถีชีวิตของคนในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป ย่อมทำให้ครอบครัวมีความขัดแย้ง และห่างเหินกันมากขึ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมาทีหลังได้

โดยประวัติความเป็นมาของ ‘วันครอบครัว’ เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2532 คณะรัฐมนตรี ซึ่งมีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรีได้เสนอมติโดยคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้เสนอ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยและอนุมัติให้วันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็นวันแห่งครอบครัว ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ของไทย เพราะโดยส่วนใหญ่ในวันนี้เป็นวันที่สมาชิกในครอบครัวมีโอกาสพบปะกันได้โดยสะดวก

13 เมษายน ของทุกปี ตรงกับ ‘วันสงกรานต์’และ ‘วันผู้สูงอายุ’ 

ในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี นับว่าเป็นวันแรกเริ่มของเทศกาลสำคัญของไทยอย่าง ‘เทศกาลวันสงกรานต์’ แต่นอกจากนี้แล้ววันนี้ยังมีวันสำคัญอีกวันหนึ่งซึ่งจัดตั้งขึ้นมาควบคู่ไปกับวันปีใหม่ไทย นั่นก็คือ ‘วันผู้สูงอายุแห่งชาติ’ เพื่อร่วมรณรงค์ให้ประชาชนทุกกลุ่มให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ เห็นถึงคุณค่าและตระหนักถึงความสำคัญกับผู้สูงอายุ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ตามศักยภาพของตนเองอย่างมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี ส่งเสริมการเรียนรู้และการเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้สูงอายุ

โดยความเป็นมาของวันผู้สูงอายุ เกิดขึ้นเมื่อในอดีตสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีนโยบายดูแล ส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี และดำรงชีวิตในสังคมได้ จึงจัดสถานสงเคราะห์เพื่อให้คนชราได้มีที่พักพิง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการดูแลผู้สูงอายุอย่างจริงจัง โดยกรมประชาสงเคราะห์เป็นหน่วยงานที่ดูแล และได้จัดตั้ง ‘สถานสงเคราะห์คนชราบางแค’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘บ้านบางแค’ เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2496

ยุคต่อมาเมื่อองค์การสหประชาชาติได้เล็งเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ จึงจัดประชุมสมัชชาเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่ประเทศออสเตรเลีย ในปี พ.ศ. 2525 และพิจารณาประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ ‘ผู้สูงอายุ’ ไว้ 3 ประการ ได้แก่ ด้านมนุษยธรรม, ด้านการพัฒนา และด้านการศึกษา โดยกำหนดนิยามผู้สูงอายุว่า คือ บุคคลเพศชาย หรือ เพศหญิง ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป

12 เมษายน ค.ศ. 1961 ประวัติศาตร์หน้าใหม่ของมนุษยชาติ ‘ยูริ กาการิน’ มนุษย์คนแรกผู้โคจรรอบโลกเป็นครั้งแรก

ยูริ อเล็กซิเยวิช กาการิน (Yuri Alekseyevich Gagarin) เกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 1934 เขาเป็นลูกชายของช่างไม้ชาวรัสเซีย จบการศึกษาจากโรงเรียนอาชีวะใกล้กับกรุงมอสโกก่อนศึกษาต่อในวิทยาลัยอุตสาหกรรมที่เมืองซาราตอฟพร้อมกับศึกษาวิชาการบินไปด้วยในเวลาเดียวกัน หลังจบการศึกษาเขาได้เข้าเรียนต่อในโรงเรียนเตรียมทหารของกองทัพอากาศโซเวียตจนจบการศึกษาในปี ค.ศ. 1957

4 ปีให้หลังเข้าสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับมนุษยชาติ ด้วยการทำภารกิจที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้มีการแจ้งล่วงหน้า ซึ่งภารกิจในครั้งนี้ทำให้เขากลายเป็นนักบินอวกาศคนแรกที่ได้สัมผัสชั้นบรรยากาศนอกโลก โดยยานวอสตอก 1 (Vostok 1) ของเขาได้ทะยานออกจากพื้นดินเมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1961 เวลา 9.07 นาฬิกา ตามเวลาในกรุงมอสโก และได้โคจรรอบโลกเป็นเวลา 1 ชั่วโมง 29 นาที ที่ระดับความสูงสูงสุด 301 กิโลเมตร ก่อนลงจอดบนผิวโลกอีกครั้งเมื่อเวลา 10.55 นาฬิกา

อะพอลโล 13 ‘ตำนานความล้มเหลวที่สำเร็จ’ หลังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายภารกิจ แต่นักบิน 3 คน รอดชีวิตกลับมายังพื้นโลกได้อย่างปลอดภัย 

ในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2513 ‘ยานอะพอลโล 13’ ถูกส่งไปเยือนดวงจันทร์ด้วยจรวด Saturn V โดยมีภารกิจหลักคือ ส่งมนุษย์ไปเยือนดวงจันทร์และเก็บข้อมูลตัวอย่างกลับมาศึกษาอย่างปลอดภัย มีนักบินสามคนได้แก่ เจมส์ โลเวลล์, แจ็ค สไวเกิร์ท และเฟรด ไฮส์ 

ระหว่างการเดินทางถังออกซิเจนบนยานระเบิดทำให้ยานส่วนหนึ่งเกิดความเสียหาย จึงต้องยุติภารกิจสำรวจดวงจันทร์ และเปลี่ยนเป็นภารกิจกู้ชีพนักบินแทน โดยใช้ยานลงจอดดวงจันทร์ (Lunar Module) เป็นเรือชูชีพ แต่ท้ายที่สุดนักบินทั้งสามก็เดินทางกลับมาโลกอย่างปลอดภัย โดยใช้เวลาเดินทางทั้งหมด 5 วัน 22 ชั่วโมง 54 นาที เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในภารกิจที่ล้มเหลวของนาซา แต่ยิ่งกว่าภารกิจคือการนำตัวนักบินเดินทางกลับมาได้อย่างปลอดภัย จึงเรียกโครงการนี้ว่า “ความล้มเหลวที่ประสบความสำเร็จ”

10 เมษายน ค.ศ. 1912 การออกเดินทาง ‘เรือไททานิก’ เที่ยวปฐมฤกษ์

ในวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1912 ไททานิค (RMS Titanic) เรือยักษ์ใหญ่ที่มีความหรูหรา ใหญ่โต และแข็งแรงที่สุดในต้นศตวรรษที่ 20 ขนาดที่คนเชื่อกันว่าเรือลำนี้ ‘ไม่มีวันอับปาง’ ได้ออกเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์จากท่าเรือเซาแธมป์ตัน ประเทศอังกฤษ มุ่งหน้าสู่เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา 

หลังเดินทางออกจากเซาแธมป์ตันในวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1912 ไททานิก แวะจอดรับ-ส่งผู้โดยสารที่เมืองเชอร์บูร์ก ที่เชอร์บูร์ก (Cherbourg) ในฝรั่งเศส และควีนส์ทาวน์ (ปัจจุบันคือ โคฟ, Cobh) ในไอร์แลนด์ ก่อนมุ่งหน้าไปทางตะวันตกมุ่งสู่นิวยอร์ก วันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1912 ห่างจากเซาแธมป์ตันไปทางใต้ราว 600 กิโลเมตร ไททานิก ชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็ง การชนแฉลบทำให้แผ่นลำเรือไททานิก เกิดความเสียหาย น้ำได้ทะลักเข้าไปในเรือ แล้วได้เปิดห้องกั้นน้ำทั้งหมด แต่ทว่า ผนังกั้นน้ำชั้นที่ 4 ได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้จากห้องเก็บถ่านหิน ทำให้ผนังกั้นน้ำชั้นที่ 4 ไม่สามารถทนทานแรงดันน้ำได้ จึงส่งผลให้น้ำทะลักเข้ามาภายในตัวเรือ

โดยน้ำค่อยๆ ไหลเข้ามาในเรือและจมลง ผู้โดยสารและสมาชิกลูกเรือบางส่วนถูกอพยพในเรือชูชีพ โดยมีเรือชูชีพจำนวนมากถูกปล่อยลงน้ำไปทั้งที่ยังบรรทุกไม่เต็ม ผู้ชายจำนวนมาก กว่า 90% ในที่นั่งชั้นสอง ถูกทิ้งอยู่บนเรือ เพราะระเบียบ “ผู้หญิงและเด็กก่อน” ตามด้วยเจ้าหน้าที่ซึ่งบรรทุกเรือชูชีพนั้น ก่อน 2.20 น. เล็กน้อย ไททานิกแตกและจมลงโดยยังมีอีกกว่าพันคนอยู่บนเรือ คนที่อยู่ในน้ำเสียชีวิตภายในไม่กี่นาทีจากภาวะตัวเย็นเกิน (hypothermia) อันเกิดจากการแช่อยู่ในมหาสมุทรที่เย็นจนเป็นน้ำแข็ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,500 คน จากผู้โดยสารราว 2,300 คน เนื่องจากเรือมีเสื้อชูชีพไม่พอและมีเรือกู้ภัยเพียง 20 ลำ นับเป็นหนึ่งในอุบัติเหตุทางเรือที่ร้ายแรงที่สุดของโลก
 

วันนี้เมื่อ 45 ปีที่แล้ว ‘บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด’ เปลี่ยนฐานะเป็น ‘องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.)’

วันนี้เมื่อ 45 ปีที่แล้ว ซึ่งตรงกับวันที่ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด เปลี่ยนฐานะเป็น องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) โดยย้อนกลับไป บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 ซึ่งได้บริหาร สถานีวิทยุโทรทัศน์ ไทยทีวี ช่อง 4 (บางขุนพรหม) เป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย และได้มีการเผยแพร่ภาพครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2498 

โดยในภายหลังรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้ออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) ขึ้น เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 เพื่อดำเนินกิจการสื่อสารมวลชนของรัฐให้มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นที่น่าเชื่อถือต่อสาธารณชน 

135 ปี วันสถาปนา ‘กระทรวงกลาโหม’

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนากรมยุทธนาธิการขึ้นที่โรงทหารหน้า เมื่อวันที่ 8 เมษายน พุทธศักราช 2430 นับแต่นั้นจึงถือเป็นวันแห่งการเปิดศักราชใหม่ของกิจการทหารไทยยุคใหม่ โดยในวันดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศพระบรมราชโองการ ชื่อว่า ประกาศจัดการทหารเพื่อสถาปนากรมยุทธนาธิการขึ้นที่โรงทหารหน้า หรือศาลาว่าการกลาโหมในปัจจุบัน 

โดยมีพระราชประสงค์ที่จะรวมกรมทหารบกและกรมทหารเรือไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างเอกภาพและศักยภาพในการบังคับบัญชาและบริหารจัดการทหารให้มีรูปแบบเป็นสากล ทัดเทียมนานาอารยประเทศ จึงนับได้ว่าเป็นวันเริ่มต้นและเป็นก้าวแรกแห่งกิจการทหารไทยที่ทันสมัย ถือเป็นนวัตกรรมของกิจการทหารไทยตั้งแต่ประเทศไทยเคยมีมา นอกจากนี้ยังได้ถือเอาวันที่ 8 เมษายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงกลาโหม อีกด้วย

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมถือเป็นสถาบันหลักในการพิทักษ์รักษาเอกราชอธิปไตยของชาติ รักษาความมั่นคง และสร้างเสริมพระเกียรติยศแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำนุบำรุงสืบสานพระศาสนาตลอดจนร่วมสร้างสรรค์พัฒนาประเทศ และดำเนินกิจกรรมโครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” ในการช่วยเหลือประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงกลาโหมดำเนินการได้อย่างสอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย และปฏิบัติงานในความรับผิดชอบบรรลุผลสำเร็จตามนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเป็นกลไกสำคัญ ที่สนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลในการรักษาความสงบเรียบร้อยและแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติ 

7 เมษายน ของทุกปี ตรงกับ ‘วันอนามัยโลก’

วันที่ 7 เมษายน ของทุกปีเป็น "วันอนามัยโลก" (World Health Day) เป็นวันที่ประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลก ใช้เป็นโอกาสรณรงค์ให้ประชาชนและทุกภาคส่วนของสังคม ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพ ทั้งในเรื่องการควบคุม ป้องกัน แก้ปัญหาสุขภาพ และส่งเสริมด้านสุขภาพประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน “สุขภาพดีถ้วนหน้า” หรือ “Health for All” เป็นเป้าหมายสำคัญขององค์การอนามัยโลกเสมอมานับ ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491)

โดยความเป็นมาของ “วันอนามัยโลก” เกิดขึ้นเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการจัดตั้งองค์การอนามัยโลก นับเป็นองค์กรระหว่างประเทศองค์กรหนึ่ง โดยการดำเนินงานของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ซึ่งได้อาศัยแนวความคิดและการดำเนินงานขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการอนามัยที่มีมาก่อน อย่าง คณะมนตรีด้านอนามัย สำนักงานสาธารณสุขระหว่างประเทศและองค์การอนามัยแห่งสันนิบาตชาติ

6 เมษายน ‘วันจักรี’ ย้อนรำลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์

ในวันที่ ๖ เมษายน ของทุกปี นับว่าเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของประเทศไทยซึ่งตรงกับ ‘วันจักรี’ โดยความเป็นมาเริ่มต้นจากในวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษก ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และทรงสร้างกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงของไทย มาจนทุกวันนี้

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูป พระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๔ พระองค์ ( ร.๑ - ๔ ) เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมา พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ เป็นธรรมเนียมปีละครั้ง และโปรดเกล้าให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และมีการย้ายที่หลายครั้ง เช่นพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาท และพระที่นั่งศิวาลัยปราสาทเป็นต้น

ในรัชกาลที่ ๖ โปรดให้ย้ายพระบรมรูปทั้ง ๔ ( ร.๑ - ๔ ) มาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ ๕ พระชนกนาถ พระที่นั่งองค์นี้ รัชกาลที่ ๖ โปรดให้ซ่อมจากพุทธปรางค์ปราสาทเพื่อเรื่องนี้โดยเฉพาะ และได้พระราชทานนามดังกล่าว การซ่อมแซมก่อสร้างและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง ๕ รัชกาล สำเร็จลุล่วงในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑ จึงได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ ๖ เมษายนปีนั้น และต่อมา โปรดฯ ให้เรียกวันที่ ๖ เมษายนว่า ‘วันจักรี’

วันที่ระลึกมหาจักรี หรือที่เรียกกันโดยย่อว่าวันจักรีนั้น สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชดำริว่าพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีทรงหล่อพระบรมรูปลักษณะเหมือนพระองค์จริงฉลองพระองค์แบบไทย ณ โรงหล่อหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (บริเวณศาลาสหทัยสมาคมในปัจจุบัน) เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระปฐมบรมราชบุพการี แล้วโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เชิญพระบรมรูปทั้ง ๔ รัชกาลนั้น ประดิษฐานเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ สำหรับถวายบังคมสักการะในงานพระราชพิธีฉัตรมงคลและพระราชพิธีพระชนมพรรษา 

ครั้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสืบราชสันติวงศ์ ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบรมชนกนาถ จากต่างประเทศ แล้วอัญเชิญขึ้นประดิษฐานร่วมกับพระบรมรูปทั้ง ๔ รัชกาลนั้น ต่อมาทรงพระราชดำริว่าพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทยังไม่เหมาะสมที่จะมีงานถวายบังคมสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแปลงพระพุทธปรางค์ปราสาทในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชทั้ง ๕ รัชกาล 

โดยได้พระราชทานนามใหม่ว่า ปราสาทพระเทพบิดร โดยทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งได้ประดิษฐานพระบรมราชวงศ์จักรี ทรงมีพระเดชพระคุณต่อประเทศ เมื่อมีโอกาสก็ควรแสดงความเชิดชูและระลึกถึง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีเชิญพระบรมรูปจากพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทมาประดิษฐานที่ปราสาทพระเทพบิดร เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑ อันเป็นดิถีคล้ายวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จกรีธาทัพถึงพระนคร ได้รับอัญเชิญขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบรรจุพระกรัณฑ์ทองคำลงยาราชาวดีซึ่งบรรจุพระบรมทนต์ (ฟัน) พระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธย พระดวงพระบรมราชสมภพ พระดวงบรมราชาภิเษก พระดวงสวรรคต ลง ณ เบื้องสูงของพระเศียรพระบรมรูปทั้ง ๕ รัชกาลครั้นถึงวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ (สมัยนั้นขึ้นปีใหม่วันที่ ๑ เมษายน)

๕ เมษายน วันคล้ายวันประสูติ ‘ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี’

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2494 ณ โรงพยาบาลมองชัวซีส์ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเป็นพระโสทรเชษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

เมื่อทรงพระเยาว์ ทรงเข้ารับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนจิตรลดา ก่อนจะเสด็จไปประทับ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อทรงเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีจนสำเร็จ ณ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ เมืองเคมบริดจ์ สหรัฐอเมริกา ในสาขาวิชาคณิตศาสตร์ และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ ชีวเคมี (Bachelor of Science Degree in Bio-Chemistry) จากนั้น ทรงเข้ารับการศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ในสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ (Statistics and Public Health) จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจเพื่อประชาชนมากมาย ที่ผ่านมา ทรงตั้งมูลนิธิ Miracle of Life เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาต่าง ๆ ทั้งด้านการศึกษา ด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านการศาสนา


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top