Sunday, 4 May 2025
TODAY SPECIAL

21 สิงหาคม พ.ศ. 2411 ‘ในหลวงรัชกาลที่ 5’ ประกาศใช้หน่วย ‘สตางค์’ เป็นครั้งแรกในไทย กำหนด 100 สตางค์เท่ากับ 1 บาท กลายเป็นมาตรฐานเงินบาทในปัจจุบัน

ย้อนกลับไปในวันนี้เมื่อ 156 ปีที่แล้ว ซึ่งตรงกับวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีการออกประกาศให้ใช้หน่วย ‘สตางค์’ เป็นครั้งแรก

โดยก่อนหน้านี้ ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาจนถึงช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ประเทศไทยใช้หน่วยเงินเป็น ทศ พิศ พัดดึงส์ ชั่ง ตำลึง บาท สลึง เฟื้อง ไพ ซีก เสี้ยว อัฐ และโสฬส ซึ่งถือเป็นระบบที่ยากต่อการคำนวณและการแลกเปลี่ยนในการใช้จ่ายต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม 100 สตางค์ มีการกำหนดค่าให้เท่ากับ 1 บาท และนั่นถือเป็นจุดกำเนิดของหน่วยสากลที่นิยมใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน

‘ชรินทร์ นันทนาคร’ เสียชีวิตด้วยโรคชรา ในวัย 91 ปี พร้อมเป็นผู้ริเริ่มร่วมสร้างสรรค์เพลง ‘สดุดีมหาราชา’

(20 ส.ค. 67) รายงานข่าวแจ้งว่า ‘ชรินทร์ นันทนาคร’ เกิดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 เป็นศิลปินนักร้อง นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ และผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชาวไทย ได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็น ‘ศิลปินแห่งชาติ’ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล - ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. 2541 สมรสกับนางเพชรา เชาวราษฎร์ ได้เสียชีวิต วันที่ 20 สิงหาคม 2567 ด้วยโรคชรา สิริอายุ 91 ปี

สำหรับผลงานของ ‘ชรินทร์ นันทนาคร’ ที่สร้างชื่อเสียงเป็นที่นิยมสูงสุด ได้แก่ เพลงเรือนแพ, มนต์รักดอกคำใต้, หยาดเพชร, อาลัยรัก, ทาษเทวี, เด็ดดอกรัก, ผู้ชนะสิบทิศ, ที่รัก, นกเขาคูรัก, แสนแสบ, ท่าฉลอม, สักขีแม่ปิง, ทุยจ๋าทุย, เพราะขอบฟ้ากั้น ฯลฯ

โดย ‘ชรินทร์ นันทนาคร’ ได้รับรางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำจากเพลง ‘อาลัยรัก’ ก่อนจะผันไปเป็นผู้กำกับและผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ เมื่อ พ.ศ. 2508 มีผลงานในฐานะผู้ผลิตภาพยนตร์ทั้งหมดกว่า 19 เรื่อง โดยมีภาพยนตร์เรื่อง รักข้ามคลอง ที่ทำรายได้สูงที่สุด

ทั้งนี้ ‘ชรินทร์ นันทนาคร’ ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่ขับร้องเพลงไทยสากลผสมผสานกับเพลงไทยเดิม มีท่วงทำนองสูงต่ำเอื้อนด้วยน้ำเสียงที่มีเสน่ห์ชวนฟัง ออกเสียงอักขระได้ชัดเจน มีผลงานบันทึกแผ่นเสียงประมาณ 1,500 เพลง

นอกจากนี้ ‘ชรินทร์ นันทนาคร’ เป็นผู้ริเริ่มร่วมสร้างสรรค์เพลง ‘สดุดีมหาราชา’ ซึ่งส่งผลให้ได้รับรางวัลกิตติคุณสัมพันธ์ ‘สังข์เงิน’ สาขาใช้ศิลป์สร้างสรรค์ให้เกิดความรักชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์

20 สิงหาคม พ.ศ. 2447 ประหาร ‘นางล้วน’ นักโทษหญิง คดีฆ่าสามีแล้วเผาทั้งบ้าน ด้วยวิธีการ ‘ตัดศีรษะ’ เป็นรายสุดท้ายของประเทศไทย

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2447 มีการประหารชีวิตนักโทษหญิง ด้วยการตัดศีรษะเป็นครั้งสุดท้ายในประเทศไทย ที่วัดหนองจอก ริมคลองแสนแสบ อำเภอมีนบุรี จังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานคร)

โดยมีการบันทึกไว้ว่า มีการประหารชีวิตนักโทษหญิง ชื่อ ‘นางล้วน’ ด้วยวิธีตัดหัวเป็นรายสุดท้ายของประเทศไทย แต่เป็นรายสุดท้ายสำหรับผู้หญิง ส่วนรายสุดท้ายที่ถูกประหารด้วยวิธีตัดหัวเป็นผู้ชาย ก็คือนายบุญเพ็ง นักโทษผู้โด่งดัง เจ้าของฉายา ‘บุญเพ็งหีบเหล็ก’ ที่ได้ก่อคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญ ฆ่าชิงทรัพย์ตั้งแต่ขณะอยู่ในผ้าเหลือง สุดท้ายถูกประหารที่วัดภาษี คลองตัน เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2462

สำหรับนางล้วน นักโทษหญิงรายสุดท้ายที่ถูกตัดหัวนั้น ไม่มีเรื่องราวที่พูดถึงกันมากนัก จึงถูกบันทึกไว้เพียงสั้น ๆ ว่า ต้องโทษด้วยข้อหาว่าฆ่าผัวตายแล้วเผาทั้งบ้าน ถูกประหารที่วัดหนองจอก ริมคลองแสนแสบ มีนบุรีหลังจากเพิ่งคลอดลูกในคุกได้เพียง 1 เดือน ก่อนเข้าหลักประหาร นางล้วนได้มีโอกาสให้นมลูกเป็นครั้งสุดท้ายที่ท่าน้ำวัดหนองจอก ส่วนลูกของนางนั้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งได้รับไปอุปการะ

19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 'พสกนิกรไทย' ร่วมส่งเสด็จฯ 'ในหลวง ร.9' พร้อมตะโกนก้อง ขออย่าละทิ้งพวกเขา พระองค์ทรงนึกตอบในใจ “ถ้าปชช.ไม่ทิ้งข้าพเจ้า แล้วข้าพเจ้าจะทิ้งปชช.อย่างไรได้”

เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สวรรคตกะทันหัน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ในวันเดียวกัน รัฐสภาลงมติเป็นเอกฉันท์อัญเชิญ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สืบต่อไป

แต่เนื่องจากยังมีพระราชกิจด้านการศึกษา จึงเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม แต่เปลี่ยนสาขาจากวิทยาศาสตร์ ไปเป็นสาขาสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์

เดิมทีรัชกาลที่ 9 ทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าจะทรงครองราชสมบัติ แค่ในช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระบรมเชษฐาธิราชเท่านั้น เพราะยังทรงพระเยาว์และไม่เคยเตรียมพระองค์ในการเป็นพระมหากษัตริย์มาก่อน แต่ก็เกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้น ที่ทรงจดจำไม่มีวันลืม คือ…

พระราชนิพนธ์บันทึกประจำวันบางส่วนของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ระหว่างวันเสด็จพระราชดำเนิน จากสยามสู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คงพอจะสะท้อนให้เห็นถึงความรักของประชาชน ที่พร้อมใจส่งเสด็จอย่างมืดฟ้ามัวดิน เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 

“...วันนี้ถึงวันที่เราจะต้องจากไปแล้ว พอถึงเวลาก็ลงจากพระที่นั่งพร้อมกับแม่ ลาเจ้านายฝ่ายใน ณ พระที่นั่งชั้นล่างนั้นแล้ว ก็ไปยังวัดพระแก้วเพื่อนมัสการลาพระแก้วมรกต และพระภิกษุสงฆ์ ลาเจ้านายฝ่ายหน้า ลาข้าราชการทั้งไทยและฝรั่ง แล้วก็ไปขึ้นรถยนต์ ตลอดทางที่รถพระที่นั่งแล่นผ่านฝูงชนที่มาส่งเสด็จอย่างล้นหลาม ได้ทอดพระเนตรเห็นประชาชนที่แสดงความจงรักภักดี บางแห่งใกล้จนทอดพระเนตรเห็นดวงหน้าและแววตาชัด ที่บ่งบอกถึงความเสียขวัญอย่างใหญ่หลวง ทั้งเต็มไปด้วยความรักและห่วงใย อันเป็นภาพที่ทำให้อยากรับสั่งกับเขาทุกคน ถึงความหวังดีที่ทรงเข้าพระทัย และขอบใจเขาเช่นกัน ขวัญของคนเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าขาดกำลังใจ ถ้าขวัญเสียมีแต่ความหวาดระแวง ประเทศจะมีแต่ความอ่อนแอและแตกสลาย

พอรถแล่นออกไปได้ไม่ถึง 200 เมตร มีผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามาหยุดรถแล้วส่งกระป๋องให้เราคนละใบ ราชองครักษ์ไม่แน่ใจว่าจะมีอะไรอยู่ในนั้น บางทีจะเป็นลูกระเบิด เมื่อมาเปิดดูภายหลังปรากฏว่าเป็นทอฟฟี่ที่อร่อยมาก ตามถนนผู้คนช่างมากมายเสียจริง ๆ ที่ถนนราชดำเนินกลาง ราษฎรเข้ามาใกล้จนชิดรถที่เรานั่ง กลัวเหลือเกินว่าล้อรถของเราจะไปทับแข้งทับขาใครเข้าบ้าง รถแล่นฝ่าฝูงชนไปได้อย่างช้าที่สุด ถึงวัดเบญจมบพิตร รถแล่นเร็วขึ้นได้บ้าง ตามทางที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงโห่ร้องถวายพระพรได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดัง ๆ เข้าพระกรรณ์ ว่า…”

“ในหลวง อย่าละทิ้งประชาชน...”

พระองค์จึงทรงนึกตอบในพระราชหฤทัยว่า “...ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้...”

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตระหนักในหน้าที่พระมหากษัตริย์ของพระองค์ ดังที่ได้ตรัสตอบชายคนเดิมนั้นในอีก 20 ปีต่อมา หลังจากที่จบการศึกษาจากสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์เสด็จเยือนกรุงปารีส ทรงพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร (พระอิสริยยศ ขณะนั้น) ซึ่งเป็นธิดาของเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นครั้งแรก

18 สิงหาคม ของทุกปี กำหนดให้เป็น ‘วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ’ น้อมรำลึก ‘ในหลวง ร.4’ พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย

ในวันที่ 18 สิงหาคม ของทุก ๆ ปี ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งในวันสำคัญของวงการวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ และการศึกษาของไทย เนื่องจากตรงกับวันที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง ที่ ต.หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังพระองค์ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาไว้อย่างแม่นยำ ล่วงหน้า 2 ปี ด้วยพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์ของพระองค์ จึงได้มีการถวายพระราชสมัญญานามให้ทรงเป็น ‘พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย’ และด้วยพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์นี้ คณะรัฐมนตรีจึงกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคมของทุกปี เป็น ‘วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ’

เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งสำคัญทางวิทยาศาสตร์ดังกล่าว และเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงเป็น ‘พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย’ ไปพร้อมกัน

สำหรับความเป็นมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระราชโอรส พระราชธิดา รวมทั้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ (รัชกาลที่ 5) ขณะพระชนมายุ 16 พรรษา ได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงที่ ตำบลบ้านหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411

ด้วยทรงตั้งพระปณิธานแน่วแน่ที่จะพิสูจน์ผลการคำนวณของพระองค์ หลังจากที่ทรงใช้กล้องโทรทรรศน์คำนวณการเกิดสุริยุปราคาครั้งแรกได้อย่างแม่นยำ ล่วงหน้า 2 ปี ซึ่งพระองค์คำนวณไว้ว่า สุริยุปราคาจะเกิดขึ้นในวันอังคาร ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10 ปีมะโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช 1230 โดยจะเห็นหมดดวงและชัดเจนที่สุด ที่หมู่บ้านหัววาฬ ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่บริเวณเกาะจาน ขึ้นไปถึงปราณบุรี และลงไปถึงเมืองชุมพร และโปรดฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุญนาค) ไปสร้างค่ายหลวงและพลับพลาที่ประทับ พร้อมกับเชิญคณะนักดาราศาสตร์จากประเทศฝรั่งเศส และเซอร์แฮรี ออด เจ้าเมืองสิงคโปร์เดินทางมาเข้าเฝ้าฯ และร่วมในการสังเกตการณ์ ซึ่งเมื่อถึงวันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 เหตุการณ์ก็เป็นไปตามที่ทรงพยากรณ์ไว้ทุกประการ ไม่คลาดเคลื่อนแม้แต่วินาทีเดียว

องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่ง สหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องพระเกียรติคุณของพระองค์ให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้วยพระราชกรณียกิจและพระเกียรติคุณนานัปการ โดยเฉพาะพระราชกรณียกิจด้านดาราศาสตร์

17 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญกลางกรุงเทพมหานคร คนร้ายวางระเบิดบริเวณ ‘ศาลท้าวมหาพรหม’ คร่าชีวิต 20 ราย

เหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อเวลา 18.50 น. ของวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ในขณะที่เหตุการณ์ดำเนินไปอย่างปกติ จู่ ๆ ก็เกิดเสียงระเบิดดังสนั่นหวั่นไหว บริเวณรอบศาลท้าวมหาพรหม หน้าโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ แรงระเบิดส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 130 คน และมีผู้เสียชีวิต 20 คน เป็นชาวไทย 6 คน และชาวต่างชาติอีก 14 คน

ภายหลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ได้เก็บวัตถุพยานในที่เกิดเหตุ ประกอบด้วย ชิ้นส่วนเป้, ชิ้นส่วนลูกเหล็กกลม และชิ้นส่วนของท่อเหล็ก ซึ่งตกอยู่ในที่เกิดเหตุจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีหลักฐานชิ้นสำคัญ นั่นคือ ภาพจากกล้องวงจรปิด ยืนยันว่าผู้ต้องสงสัยเป็นชายใส่เสื้อสีเหลือง

วันต่อมา 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ยังมีระเบิดเกิดขึ้นอีกครั้งบริเวณท่าเรือย่านสาทร ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถแกะรอยเพิ่มเติม จนเข้าทำการจับกุม นายอาเดม คาราดัก และนายเมียไรลี ยูซุฟู ชายชาวอุยกูร์ พร้อมหลักฐาน อาทิ อุปกรณ์ประกอบระเบิด สารเคมีเอทีพี รวมทั้งเสื้อผ้าที่สวมใส่ในวันเกิดเหตุ

ในเวลาต่อมา ยังมีการออกหมายจับผู้ต้องหาเพิ่มเติมอีกกว่า 17 คน ในจำนวนนั้นมีคนไทยร่วมขบวนการด้วยอยู่สองคน โดยการก่อเหตุรุนแรงถูกเชื่อมโยงไปยังเรื่องการก่อการร้ายข้ามชาติ แต่ต่อมามีประเด็นเรื่องความขัดแย้งในธุรกิจค้ามนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ปัจจุบัน ผ่านมาแล้วกว่า 9 ปี เหตุการณ์สะเทือนขวัญนี้ควรเป็นบทเรียนครั้งสำคัญต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในเรื่องการดูแลความปลอดภัย ทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนต่อไป

16 สิงหาคม ของทุกปี คนไทยร่วมรำลึกถึงการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยวันนี้ถูกกำหนดให้เป็น ‘วันสันติภาพไทย’ ด้วย

‘วันสันติภาพไทย’ คือ วันที่ 16 สิงหาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่ระลึกถึงการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ประเทศไทย โดยนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ได้ออกประกาศสันติภาพในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ให้การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 เป็นโมฆะ เนื่องจากเป็นการกระทำอันขัดต่อเจตจำนงของประชาชนและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งประชาชนชาวไทยทั้งในและนอกประเทศได้ร่วมกันแสดงเจตจำนงไม่ยอมรับคำประกาศดังกล่าวด้วยการจัดตั้งขบวนการเสรีไทยช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตรในการต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นที่ยึดครองประเทศไทยอยู่ในระหว่างสงคราม (ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484) โดยที่ประเทศไทยประกาศว่าจะร่วมมือเต็มที่ทุกทางกับสหประชาชาติในการสถาปนาเสถียรภาพในโลกนี้ ประกาศสันติภาพนี้มีนายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

เพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงตั้งชื่อถนนภายในศูนย์ท่าพระจันทร์ ที่เชื่อมระหว่างประตูถนนพระอาทิตย์กับประตูท่าพระจันทร์และผ่านหน้าตึกโดมว่า ถนน 16 สิงหาคม

15 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ‘อร-อุดมพร พลศักดิ์’ คว้าเหรียญทองยกน้ำหนัก ในโอลิมปิก ครั้งที่ 28 นับเป็นนักกีฬาหญิงไทยคนแรกที่สามารถคว้าเหรียญอันทรงเกียรตินี้ได้

พันโทหญิง อุดมพร พลศักดิ์ หรือชื่อเล่น อร เป็นอดีตนักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทย และเป็นนักกีฬาหญิงคนแรกของราชอาณาจักรไทย ที่ได้เหรียญทองในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ฤดูร้อน โดยได้จากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ครั้งที่ 28 ณ กรุงเอเธนส์ สาธารณรัฐเฮลเลนิก เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ในการแข่งขันยกน้ำหนัก รุ่นไม่เกิน 53 กก. โดยยกในท่าสแนชได้ 97.5 กก. ท่าคลีนแอนด์เจิร์กได้ 125 กก. รวม 222.5 กก. โดยเป็นการทำลายสถิติโอลิมปิก ในท่าคลีนแอนด์เจิร์กของประเภทนี้ด้วย

ก่อนขึ้นยกน้ำหนักและคว้าเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน น้องอรตะโกนคำว่า "สู้โว้ย" ออกมาดัง ๆ เพื่อปลุกขวัญกำลังใจ จนกลายเป็นฉายาประจำตัว และเป็นวลีติดปากคนไทยมาจนปัจจุบัน ซึ่งเวลาผ่านมา 20 ปีเต็มพอดิบพอดี

อุดมพร เกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2524 ที่จังหวัดนครราชสีมา เริ่มเข้ารับการศึกษาในชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนสวนหม่อน และศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนบุญวัฒนา และโรงเรียนเทพลีลา ก่อนจะมาศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่วิทยาลัยพลศึกษากรุงเทพจนจบปริญญาตรี

สำหรับในการแข่งขันยกน้ำหนักชิงแชมป์โลก 2003 ที่เมืองแวนคูเวอร์ รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา อุดมพรทำได้สองเหรียญทอง โดยทำน้ำหนักได้ 100 กก. ในท่าสแนช และ 222.5 กก. ในน้ำหนักรวม

14 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ‘สงครามโลกครั้งที่ 2’ ยุติลงอย่างเป็นทางการ หลัง ‘ญี่ปุ่น’ ประกาศยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตร

วันนี้เมื่อ 79 ปีก่อน ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ส่งผลให้ ‘สงครามโลกครั้งที่ 2’ (World War II) ในแปซิฟิก-เอเชีย ยุติลงอย่างเป็นทางการ

14 สิงหาคม พ.ศ. 2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 (World War II) ในแปซิฟิก-เอเชีย ยุติลงอย่างเป็นทางการ (หากนับตามเวลาในญี่ปุ่นจะเป็นวันที่ 15) โดย พระจักรพรรดิ ฮิโรฮิโต (Emperor Hirohito) แห่งญี่ปุ่นทรงประกาศยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตรผ่านทางวิทยุกระจายเสียงทั่วญี่ปุ่น (นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นกว่าพันปี ที่คนญี่ปุ่นได้ยินเสียงจักรพรรดิของตน) ภายหลังจากที่สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูสองลูกเมื่อวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม ที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ส่งผลให้ฝ่ายญี่ปุ่นบาดเจ็บและเสียชีวิตนับล้านคน บ้านเมืองเสียหายยับเยิน

พระจักรพรรดิ ฮิโรฮิโต ทรงเรียกร้องให้คณะรัฐบาลญี่ปุ่นยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อรักษาชาติพันธุ์ญี่ปุ่น ให้ยอมรับ ‘ข้อตกลงพอตสดัม’ (Potsdam Declairation) และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มาโมรุ ชิเกะมึทซึ (Mamoru Shigemitsu) กับ นายพล โยชิจิโร คุเมซุ (Yoshijiro Umezu) ลงนามในสัญญาสงบศึก (Japanese Instrument of Surrender) กับ นายพล แมคอาเธอร์ (Douglas MacArthur) ท่ามกลางสักขีพยานจากประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรอื่น ๆ บนดาดฟ้าเรือประจัญบาน มิสซูรี (USS Missouri) เหนืออ่าวโตเกียวในวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2488 ซึ่งได้มีการเผยแพร่ภาพไปทั่วโลกด้วย

13 สิงหาคม พ.ศ. 2536 โศกนาฏกรรม ‘โรงแรมรอยัลพลาซ่า’ จ.โคราช พังถล่ม หนึ่งในภัยพิบัติร้ายแรงที่สุดของประเทศไทย

‘โรงแรมรอยัลพลาซ่า’ เป็นโรงแรมขนาด 6 ชั้นในจังหวัดนครราชสีมา ที่ถล่มลงมาภายในเวลาไม่ถึงสิบวินาที เมื่อวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2536 เวลา 10.12 น. ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 137 ราย และบาดเจ็บ 227 ราย โดยอาคารทั้ง 6 ชั้นพังทลายหมด เหลือเพียงโถงลิฟท์โดยสารซึ่งสร้างแยกออกมาจากโครงสร้างอาคารที่เหลือที่ไม่ถล่มลงมาเท่านั้น 

สำหรับสาเหตุเกิดจากการถล่มของโครงสร้างอาคารอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเกิดจากการคืบของดิน จนเสารับน้ำหนักในชั้นดินเกิดถล่มตาม ๆ กันจนหมด อันเป็นผลให้อาคารเกือบทั้งหมดถล่มลงมา ผู้รอดชีวิตบางส่วนได้รับการกู้ภัยหลังติดอยู่ภายใต้ซากอาคารจากการโทรศัพท์มือถือติดต่อ ผลสรุปเหตุการณ์ระบุความผิดเกิดจากการฝ่าฝืนข้อบังคับในการก่อสร้างและความไม่เป็นมืออาชีพของวิศวกรโครงสร้าง 

ภายหลังเหตุการณ์ เจ้าของอาคารและบุคคลอื่นอีก 5 คนถูกตำรวจจับกุม ปฏิบัติการกู้ภัยดำเนินไปเป็นเวลา 20 วัน จนกระทั่งสิ้นสุดในวันที่ 3 กันยายน เหตุการณ์นี้เป็นหนึ่งในภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุดของประเทศไทย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top