4 ตุลาคม พ.ศ. 2313 ‘พระเจ้าตากสินมหาราช’ สถาปนาราชธานีแห่งใหม่ ทรงพระราชทานนามว่า ‘กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร’
ย้อนกลับไปเมื่อที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2313 ‘เมืองธนบุรี’ ได้ถูกสถาปนาเป็น ‘ราชธานีแห่งใหม่’ หลังจาก ‘สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี’ หรือ ‘สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช’ สามารถกู้เอกราชคืนมาจากพม่า
ในเวลานั้นสภาพบ้านเมืองของกรุงศรีอยุธยาทรุดโทรมมาก ไม่เหมาะสมที่จะใช้เป็นเมืองหลวง เนื่องจากกรุงศรีอยุธยาถูกทำลายและยากแก่การบูรณะ นอกจากนี้กรุงศรีอยุธยายังมีพื้นที่กว้างขวางยากแก่การรักษาบ้านเมือง และอยู่ห่างจากปากแม่น้ำไม่สะดวกในการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ ทำให้ต้องสถาปนาราชธานีแห่งใหม่
สำหรับสาเหตุที่พระเจ้าตากสินมหาราชเลือก ‘กรุงธนบุรี’ เพราะเป็นเมืองขนาดเล็ก เหมาะสมกับกำลังป้องกันทั้งทางบกและทางน้ำ โดยตั้งอยู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะดวกในการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ และยังสะดวกในการควบคุมการลำเลียงอาวุธและเสบียงต่าง ๆ ไปตามหัวเมืองเมื่อเกิดศึกสงคราม
นอกจากนี้ หากข้าศึกยกกำลังมามากเกินกว่ากำลังจะต้านทานก็ยังสามารถย้ายไปตั้งมั่นที่จันทบุรีได้โดยอาศัยทางเรือ อีกทั้งยังมี 2 ป้อมปราการทั้งป้อมวิไชยประสิทธิ์ และป้อมวิไชเยนทร์ อยู่ทั้งสองฟากแม่น้ำที่สร้างไว้ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชใช้ป้องกันข้าศึกที่จะเข้ามารุกรานโดยยกกำลังมาทางเรือ
โดยเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2313 พระราชทานนามว่า ‘กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร’ และทรงสร้างพระราชวังขึ้นทางทิศใต้ของกรุงธนบุรี ขนาบข้างด้วยวัดแจ้ง หรือวัดมะกอก (ปัจจุบันคือ วัดอรุณราชวรารามราชวรวิหาร) และวัดท้ายตลาด (ปัจจุบันคือวัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร)
อย่างไรก็ดี ‘อาณาจักรธนบุรี’ เป็นอาณาจักรเพียงแค่ช่วงสั้น ๆ ระหว่างปี 2310 - 2325 หรือเพียง 15 ปี มีพระมหากษัตริย์ปกครองเพียงพระองค์เดียว คือ ‘สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี’ และต่อมาสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ และทรงย้ายเมืองหลวงไปยังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา คือ กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน
ที่มา: Komchadluek / มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม