Thursday, 2 May 2024
TODAY SPECIAL

ส่องคำขวัญวันเด็กและลายมือของ "นายกฯ ลุงตู่"

นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพิ่งมอบคำขวัญ เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2564 ซึ่งตรงกับวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2564 มีประโยคว่า "เด็กไทยวิถีใหม่ รวมไทยสร้างชาติ ด้วยภักดีมีคุณธรรม"

สำหรับคำขวัญปีล่าสุดนี้ ถือเป็นการมอบคำขวัญครั้งที่ 7 ที่ "นายกฯ ลุงตู่" ได้มอบให้กับเด็กไทย โดย 6 ครั้งก่อนหน้านี้ มีประโยคและการสื่อความหมายที่แตกต่างกันออกไป เรามาย้อนให้อ่านกัน พร้อมเทคนิคการตั้งคำขวัญ ดังนี้...

ปี พ.ศ. 2563 "เด็กไทยยุคใหม่ รู้รักสามัคคี รู้หน้าที่พลเมืองไทย"

ปี พ.ศ. 2562 "เด็ก เยาวชน จิตอาสา ร่วมพัฒนาชาติ"

ปี พ.ศ. 2561 "รู้คิด รู้เท่าทัน รู้สร้างสรรค์เทคโนโลยี" 

ปี พ.ศ. 2560 "เด็กไทยใส่ใจศึกษา พาชาติมั่นคง"

ปี พ.ศ. 2559 "เด็กดี หมั่นเพียร เรียนรู้ สู่อนาคต"

ปี พ.ศ. 2558 "ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต"

จะสังเกตได้ว่า คำขวัญของ "นายกฯ ลุงตู่" จะมีคำว่า "เด็ก" ขึ้นต้นเสียเป็นส่วนใหญ่ และมีคำว่า "อนาคต" ผสมผสานอยู่ในคำขวัญอีกด้วย และในระยะ 3-4 ปีให้หลัง คำขวัญจะเน้นย้ำในเรื่องเทคโนโลยี ยุคใหม่ แต่ทั้งหมดทั้งมวล คือต้องรู้หน้าที่ และมีความสามัคคี สร้างชาติ

ส่วนลายมือของนายกฯ ลุงตู่ ค่อนข้างอ้วน ตัวใหญ่ แต่อ่านไม่ยาก มีหางยาวฉวัดเฉวียน ดูสวยงาม (จบการรายงาน...นะจ้ะเด็ก ๆ)

 

 

วัคซีนต้านโควิด - 19 เริ่มออกปฏิบัติการแล้วจ้า!

เมื่อวานผู้คนทั้งโลกต่างพากันจับจ้องไปยังข่าวการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 โดสแรกของ "มาร์กาเรต คีแนน" คุณยายชาวอังกฤษวัย 90 ปี ซึ่งการฉีดวัคซีนครั้งนี้ เป็นไปตามเจตนารมย์ของประเทศในเครือสหราชอาณาจักร ที่ต้องการจะเริ่มการฉีดวัคซีนในกลุ่มประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นแนวหน้าในการรักษาผู้ป่วยโควิด - 19

ถึงตรงนี้ เริ่มเป็นสัญญาณที่ดี ที่การเดินหน้าการผลิตวัคซีนจากบริษัทต่าง ๆ เริ่มมีประสิทธิผล พร้อมทั้งถูกนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น หลังจากที่เป็นเพียงแค่ข่าวคราวมาได้ระยะใหญ่ คาดว่าหลังจากกลางเดือนธันวาคมนี้ เลยข้ามไปจนถึงกลางปีหน้า การอนุมัติการสั่งซื้อวัคซีนต่าง ๆ รวมไปถึงการทดลองตัวยาที่มีประสิทธิภาพสูขึ้น จะเริ่มทยอยตามออกมา

ช่วงนี้หลายประเทศเริ่ม "พรีออเดอร์" หรือมีการสั่งซื้อวัคซีนกันมากขึ้น ประเทศในอียูสั่งไปแล้วกว่า 700 ล้านโดส ส่วนสหรัฐฯ ประเทศเดียวก็สั่งไปกว่า 700 ล้านโดสเช่นเดียวกัน เนื่องจากยังเป็นประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสะสมสูงที่สุดในโลกอยู่ที่เกือบๆ 15 ล้านคน ส่วนประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อตามมาเป็นอันดับสองและสาม อย่างอินเดียและบราซิล ก็พรีออเดอร์วัคซีนไปประเทศละ 500 ล้านโดส และ 100 ล้านโดส 

ล่าสุดประเทศแคนาดา เพิ่งมีข่าวสั่งจองวัคซีนต้านโควิด - 19 จำนวนมากพอต่อประชากรแล้ว (ราว 38 ล้านคน) โดยเป็นการสั่งจองวัคซีนจากผู้ผลิตและทดสอบรายต่างๆ ไปมากกว่าจำนวนประชากรทั้งประเทศเกือบ 4 เท่า อันนี้ก็ถือเป็นเรื่องโชคดีของพลเมืองแคนาดา แต่ในมุมกลับกัน หลายฝ่ายก็แสดงความกังวลว่า การกระจายของวัคซีนต้านโควิด - 19 นี้ จะไม่แพร่หลายไปยังผู้คนทั่วโลก หรือพูดง่าย ๆ ว่า เกรงจะเกิดความเหลื่อมล้ำในการแจกจ่ายวัคซีนขึ้น เนื่องจากประเทศที่ไม่ได้มั่งคั่ง อาจจะเข้าถึงตัวยาเหล่านี้ได้ยากกว่า

ด้วยเหตุนี้จึงมีพันธมิตรวัคซีนที่เรียกว่า "เกวี" เป็นการร่วมมือกันระหว่างองค์กรใหญ่ระดับนานาชาติ เช่น องค์การอนามัยโลก และมูลนิธิเกตส์ ได้ทำโครงการเข้าถึงวัคซีนโลก (โคแวกซ์) เพื่อช่วยกระจายวัคซีนไปทั่วโลก ถึงขณะนี้ได้รับการบริจาคจากประเทศ บุคคล และองค์กรการกุศลไปแล้วกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ แต่ยังต้องการอีก 5 พันล้านดอลลาร์ เพื่อกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมไปทั่วโลก

เอาเป็นว่า ถ้าจะป้องกัน ก็อยากให้ป้องกันทั่วโลก เพราะหากทำไม่ได้ 100 เปอร์เซนต์ ถึงวันหนึ่ง โควิด - 19 ก็อาจวนกลับมายังประเทศของเรา หรือตัวเราได้อยู่ดี...

 

9 ธันวาคม วันต่อต้านการทุจริตสากล

น้ำร้อนน้ำชา หลบไป! เงินใส่ซอง หลบไป! เงินใต้โต๊ะ หลบไป! เงินกินเปล่า แป๊ะเจี๊ยะ กระเช้าของขวัญ ข้าวของอภินันท์ เอ้ย! ก็บอกให้หลบไป! ไม่รู้หรือไง วันนี้เป็น วันต่อต้านทุจริตสากล

วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันต่อต้านทุจริตสากล หรือ International Anti-Corruption Day วันนี้เกิดขึ้นในที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติ (UN) มีมติเห็นชอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต พ.ศ. 2546 อย่างเป็นเอกฉันท์

จากนั้นประเทศภาคีสมาชิก UN 191 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ได้เข้าร่วมลงนามในอนุสัญญาดังกล่าว ระหว่างวันที่ 9-11 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ณ เมืองเมอริด้า ประเทศเม็กซิโก ด้วยเหตุนี้ UN จึงประกาศให้วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันต่อต้านการทุจริตสากล

โดยเจตนารมย์ที่ทำให้เกิดวันนี้ขึ้นมา ก็เพื่อสร้างความตระหนักรู้ของผู้คนในเรื่องการทุจริต ซึ่งส่งผลกระทบไปในทุกๆ มิติของประเทศ รวมทั้งยังเป็นตัวถ่วงการพัฒนาเศรษฐกิจ กิจกรรมในวันนี้ ผู้นำทางการเมือง รัฐบาล หรือองค์กรสำคัญๆ ของประเทศทั่วโลก จะร่วมใจกันตีแผ่ถึงปัญหาการคอรัปชั่นที่เกิดขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการต่อต้านการทุจริตในทุกรูปแบบ

เอาเป็นว่า วันนี้จะไม่มีใครติดสินบนใคร จะไม่มีประโยคทำนอง ‘พี่ช่วยหน่อย’ แต่หากอยากให้สังคมเจริญก้าวหน้าไปมากกว่านี้ เราต้องมีวันที่ 9 ธันวาคมอยู่ในใจ ในทุกๆ วัน แล้วอะไรๆ ก็จะดีขึ้น

แล้วคำว่าน้ำร้อนน้ำชา สินบน เงินใต้โต๊ะ ฯลฯ จะกลายเป็นแค่คำโบราณที่อยู่แค่ในพจนานุกรมเท่านั้น สักวัน! สาธุ!

 

 

ลาทีปี 2020...คุณอยากให้อะไรหายไปพร้อมกับปีนี้บ้าง?

ปังเว่อร์! เมื่อนิตยสาร TIMES ฉบับล่าสุด ประจำเดือนธันวาคม จัดปกได้เจ็บปวด นำเครื่องหมายกากบาทมาขีดฆ่าตัวเลข 2020 แถมโปรยด้วยตัวหนังสือ The Worst Year Ever หรือประมาณว่า "แด่ปีที่แย่ฝุดๆ ตลอดกาล"

ชัดเจน! แจ๋มแจ๋ว! ตรงประเด็น! ไม่มีอ้อมค้อม! อะไรแย่บอกแย่! แฮ่! จะใส่เครื่องหมายอัศเจรีย์ทำไมเยอะแยะ มาเหลากันต่อกับตัวนิตยสาร TIMES ทางทีมงานได้ขยายความเพิ่มเติมถึง "ไอเดีย" ในการเอากากบาทมาขีดฆ่าปี ค.ศ. แบบนี้ เนื่องด้วยที่ผ่านมา เคยมีเหตุการณ์ร้าย ๆ เกิดขึ้นกับโลกมากมาย เช่น สงครามโลกครั้งที่ 1 หรือโรคระบาดในปี ค.ศ. 1918 แต่ในชั่วชีวิตของคนทั่วไปในยุคนี้ เชื่อว่า ปี 2020 น่าจะเป็นปีที่แย่ที่สุดแล้วล่ะ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ TIMES เคยนำสัญลักษณ์ X ขีดฆ่าลงบนปกเช่นนี้ แต่เคยทำมาแล้วถึง 4 ครั้ง เช่น ในกรณีการเสียชีวิตของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์, ซัดดัม ฮุสเซน, อาบู มูซาบ อัล-ซากาวี (ผู้นำกลุ่มอัลกออิดะห์) และ โอซามา บินลาเดน ซึ่งปกหนล่าสุดนี้ก็ได้นำกลับมาทำอีกครั้ง แถมยังสร้างกระแสให้พูดถึงกันไปทั่วโลก

เพราะลึก ๆ ในใจของผู้คน คงคิดไม่ต่างกันว่า "ปี 2020 ถึงเลขจะสวย แต่โห๊ดโหด!" อะไร ๆ มันช่างดูเลวร้ายมาตั้งแต่ต้นปี เรื่องแย่ ๆ ที่มาวินไม่มีกล้าเถียง นั่นคือ การระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งถึงวันนี้ก็ยังคงหนักหนาอยู่เหมือนเดิม ย้อนกลับมาที่เมืองไทยเอง ปี 2020 ก็จัดหนักกันหลายเรื่อง The States Times LITE ลองเช็กเสียงจากทีมงานกองบรรณาธิการ (คนใกล้ตัวนี่เอง) โดยตั้งโจทย์ว่า "ถ้าจะขีดฆ่าเรื่องราวใดให้หายไปจากปีนี้ อยากจัดการกับเรื่องอะไร?"

อาร์ตไดเรกเตอร์ประจำกองฯ บอกว่า : "ผมขอขีดฆ่าม็อบทั้งหลายที่เกิดขึ้นในตอนนี้ เบื่อความขัดแย้งมาก"

โซเชี่ยลแอดมินประจำกองฯ บอกเช่นกันว่า "คงเป็นเรื่องโควิด-19 อยากให้มันหายไปจากโลกนี้เสียที เบื่อ!!!"

นักเขียนกองฯ การเมือง ก็เห็นคล้ายๆ กับอาร์ตไดฯ "อยากให้ม็อบหายไป เพราะยืดเยื้อก็ไม่ส่งผลดีต่อใคร"

กราฟิกดีไซน์ ประจำกองฯ มาแนวแปลก บอกว่า "อยากกากบาทให้โจ ไบเดน หายไปครับ" (อ๋อ เป็นแฟนคลับโดนัลด์ ทรัมป์)

บก.โต๊ะข่าวธุรกิจ ใคร่ครวญอยู่แป๊บนึง แล้วฟันธงออกมาว่า "ขอขีดฆ่าปี 2020 แบบที่ TIMES ทำนี่แหละครับ เหมือนล้างไพ่ ว่ากันใหม่ปีหน้า"

นี่เป็นแค่เสียงส่วนหนึ่งจากกองบรรณาธิการ The States Times อีกไม่กี่สัปดาห์ปี 2020 ก็จะผ่านไปแล้ว ถามใจคุณว่า อยากขีดฆ่ากากบาทให้อะไรหายไป แล้วมาเริ่มต้นกันใหม่ปีหน้า...

 

8 ธันวาคม พ.ศ. 2501 ครบรอบวันเกิด ธงไชย แมคอินไตย์ 62 ปี

หนึ่งในศิลปินเมืองไทยที่มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน และยังคงครองตำแหน่ง ‘ซูเปอร์สตาร์อันดับหนึ่ง’ ของเมืองไทยมาได้หลายพ.ศ. ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปีๆ ธงไชย แมคอินไตย์ ก็ยังเป็น ‘พี่เบิร์ด’ของทุกคนอยู่เสมอ

 

ธงไชย แมคอินไตย์ เกิดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2501 หรือวันนี้เมื่อ 62 ปีที่แล้ว กรุณาอย่าเอามือทาบอก-แสดงอาการตกใจ แม้วัยจะเขยิบมาถึง 62 ปี แต่พี่เบิร์ดของทุกๆ คน ก็ยังเต็มไปด้วยพลัง ยังร้อง เล่น เต้น โชว์ สร้างสีสันให้คนไทยได้แบบสบายสบาย

 

จากพนักงานธนาคารย่านท่าพระเมื่อกว่า 40 ปีก่อน วันหนึ่ง ธงไชย แมคอินไตย์ ก็ได้ก้าวเข้าสู่วงการบันเทิง ด้วยการเป็นนักแสดงสมทบ ก่อนจะเดินหน้าไปประกวดร้องเพลงในเวทีสยามกลการ แล้วคว้ารางวัลนักร้องยอดเยี่ยมมาครอง กระทั่งในปี พ.ศ. 2529 เขาก็ได้ออกอัลบั้มเพลงเป็นของตัวเองครั้งแรกในชื่อชุด ‘หาดทราย สายลม สองเรา’ และประสบความสำเร็จอย่างมาก

 

จากวันนั้นถึงวันนี้ ธงไชยมีอัลบั้มเพลงออกมาชนิดนับไม่ถ้วน พร้อมกับมีโชว์คอนเสิร์ตอีกมากมาย มากที่สุดที่ศิลปินไทยสักคนหนึ่งจะเคยมี ไม่นับรางวัลต่างๆ ที่ได้รับมาแบบนับไม่ถ้วนเช่นกัน ความยิ่งใหญ่เหล่านี้ส่งให้ชื่อของผู้ชายคนนี้ กลายเป็น ‘ดาวค้างฟ้า’ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ชื่อ ธงไชย แมคอินไตย์ ก็ยังคงอยู่ในความนึกคิดของแฟนๆ ชาวไทยเสมอ

 

วันนี้วันเกิด ‘พี่เบิร์ด’ ทางเราก็ขออวยพรให้ผู้ชายมากความสามารถคนนี้ มีความสุขแบบล้นๆ ตลอดไป HBD ซุป'ตาร์ของพวกเรา

 

 

7 ธันวาคม วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา

วันนี้ถือเป็นวันสำคัญของปวงชนชาวไทยอีกวันหนึ่ง โดยเป็นวันคล้ายวันประสูติของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ซึ่งปีนี้ทรงเจริญพระชันษา 42 ปี

 

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจในหลากหลายด้าน ทางด้านกฎหมาย ทรงส่งเสริมหลักการยุติธรรมในสังคม โดยเฉพาะสตรีและผู้ต้องขังหญิง อีกทั้งส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมในระดับนานาชาติ โดยทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตสันถวไมตรีด้านการส่งเสริมหลักนิติธรรมและระบบงานยุติธรรมทางอาญา สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ

 

อีกหนึ่งพระราชกรณียกิจอันเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อประชาชนชาวไทย โดยทรงเป็นองค์ประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ด้วยวัตถุประสงค์ในการบรรเทาความเดือดร้อน ตลอดจนช่วยเหลือประชาชนคนไทย ทั้งในยามประสบภัยพิบัติ และส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

 

เนื่องด้วยเป็นวันคล้ายวันประสูติ ขอพระองค์ทรงมีพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง เป็นมิ่งขวัญของประชาชนคนไทยสืบไป ทรงพระเจริญ

 

อ้างอิง: https://th.wikipedia.org/ , http://friendsofpa.or.th/TH/home

 

 

ทำความรู้จักกับ 'เทียน' ในหลากหลายความหมาย

5 ธันวาคม วันนี้คงเป็นอีกวันที่ ‘แสงเทียน’ จะสว่างไสว แต่รู้หรือไม่ ว่าแสงเรืองรองจากปลายเทียนที่เราจุดกันนี้ มีที่มาและความหมายอย่างไร ตามไปทำความรู้จักกันดีกว่า...

 

ที่มาของ ‘เทียน’

เทียน เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นมากว่า 2,000 ปีก่อน ทำจากไขมันสัตว์ ไขมันพืช และขี้ผึ้ง โดยใช้แก่นของพืชมาเป็นไส้เทียนเพื่อให้ความส่องสว่าง ในยุโรป นิยมทำเทียนจากขี้ผึ้ง เพราะควันน้อย กลิ่นไม่เหม็น และมีความสะอาด แต่ราคาค่อนข้างแพง จึงนิยมใช้เทียนขี้ผึ้งนี้ในหมู่คนมีฐานะเสียมากกว่า ส่วนประเทศไทยเรานั้น ประเมินได้ว่า มีการใช้เทียนมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เนื่องจากมีประเพณีการถวายเทียนเข้าพรรษา ซึ่งเป็นประเพณีใหญ่มาตั้งแต่สมัยนั้น

 

ความหมายและสัญลักษณ์การจุดเทียน

ในทางพุทธศาสนา เรามักจุดเทียนไขคู่กัน 2 เล่มเสมอ โดยนัยยะเพื่อเป็นการบูชา ‘พระธรรม’ และ ‘พระวินัย’ ที่เป็นเสมือนดวงประทีปส่องสว่าง ทำให้คนมองเห็น ทำให้เกิดปัญญา มีความรู้ ความเข้าใจ แล้วรู้จักดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง

 

ในวัฒนธรรมของประเทศอื่น นอกจากจะให้แสงสว่าง เทียนยังเปรียบเสมือนการช่วยขับไล่ความมืด เป็นสัญลักษณ์ของการบูชา ความหวัง กำลังใจ ความรัก การระลึกถึง และการผ่อนคลาย

 

เทียนยังใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา อาทิ การจุดเทียนในโบสถ์คริสต์ รวมไปถึงการจุดเทียนในงานแต่งงาน เพื่อแสดงให้เห็นถึงการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของบ่าวสาว ว่าแต่ละคนเกิดมามีชีวิตของตัวเอง (ถือเทียนคนละเล่ม) เมื่อมาแต่งงานกันก็มาเริ่มต้นชีวิตใหม่ร่วมกันเป็นครอบครัว (นำเทียนของตัวเองไปจุดเทียนชีวิตคู่ ในพิธีจึงมีเทียนทั้งหมด 3 เล่ม) 

 

การจุดเทียนยังแสดงถึงความอาลัยเด็กๆ ที่เสียชีวิต โดยมีความเชื่อว่า แสงเทียนจะช่วยส่องทางให้แก่ดวงวิญญาณดวงน้อยที่จากไป ที่ผ่านมา มีองค์กรชื่อ The Compassionate Friends ในสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดให้ทุกๆ วันอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนธันวาคมของทุกปี เป็น ‘วันจุดเทียนโลก’ (Worldwide Candle Lighting Day) เริ่มมาตั้งแต่ปี 1997 โดยผู้คนจะพร้อมใจกันออกมาจุดเทียนในเวลา 1 ทุ่มตรงตามเวลาท้องถิ่น เพื่อไว้อาลัยแก่เด็กๆ ที่เสียชีวิตจากการเจ็บป่วย และเหตุการณ์ต่างๆ ทั่วโลก

 

แม้โลกจะก้าวไปสู่ความทันสมัย แต่ ‘เทียน’ ก็ยังคงถูกนำมาใช้ในหลากหลายบริบท โดยเฉพาะการระลึกถึงบุคคลที่จากไป เป็นสัญลักษณ์ของความพร้อมใจกันระลึกถึงสิ่งดีงาม ดังเช่นเปลวแสงแห่งการส่องสว่างที่ได้จากเทียนนั่นเอง

 

อ้างอิง: https://mgronline.com/dhamma/detail/9590000065682

 

 

5 ธันวาคม วันคล้ายวันพระราชสมภพ ในหลวงรัชกาลที่ 9

5 ธันวาคมของทุกๆ ปี ถือเป็นพิเศษของประเทศไทย โดยเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งหากย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2470 พระองค์ทรงประสูติที่โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น รัฐแมสซาซูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนี และมีพระเชษฐาคือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และพระเชษฐภคินี คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  

 

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นกษัตริย์ที่ครองสิริราชสมบัติยาวนานที่สุดในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมเวลากว่า 70 ปี โดยตลอดรัชสมัยที่ครองราชย์ ได้ทรงทำนุบำรุงบ้านเมือง ตลอดจนมีโครงการในพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ ทั้งนี้เพื่อยกระดับและพัฒนาให้ประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าเรื่อยมา

 

เนื่องด้วยวันนี้เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ ประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าจึงขอร่วมใจกันน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และทรงสถิตในใจตราบนิรันดร์

 

ปี 2020 World so heat!

ปี 2020 ไม่ใช่จะมีแค่ โควิด-19 ที่เป็นเรื่องหนักหนา แต่โลกของเรายังมีความร้อนระอุมากขึ้นกว่าเดิม โดยมีรายงานจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ว่าด้วยสภาพภูมิอากาศโลกปี 2020 (States of the Global Climate in 2020) ระบุว่า ความร้อนของมหาสมุทรอยู่ในระดับสูงมากเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคม ยังสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยช่วงปีค.ศ.1850 - ค.ศ.1900 อยู่ที่ราว ๆ 1.2 องศาเซลเซียสอีกด้วย จุดนี้เองที่ส่งผลให้ปี 2020 มีแนวโน้มว่าจะเป็นปีที่มีความร้อนสูงสุดติด 1 ใน 3 ปีที่เคยบันทึกเอาไว้

.

ยังมีรายงานเพิ่มเติมอีกว่า ในช่วงที่แทบทั้งโลกต้องล็อกดาวน์ปิดประเทศเพื่อป้องกันโควิด-19 แทนที่การก่อตัวของมลภาวะต่าง ๆ จะลดลง เพราะทุกอย่างหยุดชะงัก แถมทุกคนต้องเก็บตัวอยู่กับบ้าน แต่กลายเป็นว่า ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ กลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นไปอีกหลายชั่วอายุคนเลยทีเดียว

แน่นอนว่า เมื่อโลกร้อนขึ้นอีกเช่นนี้ เหล่าภัยธรรมชาติต่าง ๆ ก็จะเกิดขึ้นเป็นผลของกันและกัน ปีนี้ทั้งปี เฉพาะในอเมริกา เกิดภัยพิบัติทั้งพายุเฮอริเคน Eta และ Iota หรือในแอฟริกาใต้และเอเชียตะวันออกฉียงใต้ ก็เกิดน้ำท่วมฉับพลันขึ้นหลายๆ แห่ง ทั้งหมดเป็นผลพวงของสภาวะที่โลกเปลี่ยนแปลงไปนั่นเอง 

หลายคนภาวนาให้ปี 2020 นี้ผ่านไปเร็ว ๆ เพื่อจะได้พบกับปีใหม่ที่ดีกว่า แต่เอาเข้าจริง ไม่ว่าจะปีนี้ หรือปีไหน โลกจะดีขึ้นได้ มันอยู่ที่พวกเรานี่ล่ะ ถึงเวลาที่ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังเสียที


อ้างอิง

: https://www.xinhuathai.com/inter/158054_20201203

ภาพจาก

https://www.insurancejournal.com/news/international/2015/02/27/358802.htm

4 ธันวาคม..วันเสื้อกั๊กสากล

มี ‘เสื้อกั๊ก’ อยู่ในตู้เสื้อผ้ากันไหม? เอาเป็นว่า ถ้าใครที่มี วันนี้หยิบมาสวมใส่ให้เท่ๆ คูลๆ กันไปเลย เพราะวันนี้ถูกยกให้เป็น ‘วันแห่งเสื้อกั๊ก’

 

ตามประวัติศาสตร์ ‘เสื้อกั๊ก’ ถูกเผยแพร่มาตั้งแต่ราวปี ค.ศ. 1666 โดยในสมัยนั้น ผู้คนเรียกมันว่า เสื้อผ่าอกที่ผูกปมเงื่อนอย่างแน่นหนา หรือ Vest กระทั่งต่อมา รูปแบบการสวมเสื้อกั๊กไว้ใต้เสื้อคลุมก็กลายเป็นแฟชั่นอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ 17-18 จนในที่สุด มันก็พัฒนาเป็นแอคเซสเซอรี่ชิ้นหนึ่งของการแต่งตัวในยุคปัจจุบัน

 

เหตุที่มาที่ยกให้วันนี้เป็น ‘วันเสื้อกั๊กสากล’ เกิดขึ้นจากนักข่าวคนหนึ่งที่ชื่อ แคโรลีน จอห์นสัน ที่นึกสนุกจัดเทศกาลการใส่เสื้อกั๊กขึ้นในช่วงเริ่มต้นฤดูหนาว โดยรณรงค์ให้ผู้คนใส่เสื้อกั๊กไปทำงานกัน ก่อนที่จะยกให้ทุกๆ วันที่ศุกร์ที่ 2 หลังวันขอบคุณพระเจ้า เป็นวันเสื้อกั๊กสากลในเวลาต่อมา

 

เอาเข้าจริง ช่วงนี้ทั่วโลกก็เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวกันแล้ว วันเสื้อกั๊กนี้ก็ดูจะเข้าบรรยากาศดีไม่ใช่เล่น ใส่เท่ๆ สวยๆ รับลมหนาว ก็ดูจะเข้ากั๊นเข้ากัน แต่สำหรับเมืองไทย ถ้าคุณเป็นคนทนร้อนได้ดีสักหน่อย ก็จัดเสื้อกั๊กสักตัวใส่เดินพลิ้วๆ ในวันนี้ แต่ถ้าเมื่อไรแอบร้อนขึ้นมา จะถอดออกระหว่างวัน อันนี้ก็ไม่ว่ากันหรอกนะ เอาที่สบายใจ (อิอิ)

 

อ้างอิง: https://anydayguide.com/calendar/1385


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top