Tuesday, 6 May 2025
TODAY SPECIAL

กำเนิดฟุตบอลประเพณี ‘จุฬาฯ - ธรรมศาสตร์’ 2 มหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดของประเทศในขณะนั้น! ได้ร่วมสร้างสรรค์ประโยชน์ให้ประเทศชาติ

ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ ก่อกำเนิดครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2477 โดยแนวความคิดของนิสิตนักศึกษาทั้งสองสถาบันกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเคยเรียนอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน ได้หารือกันว่าควรจะมีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างสถาบันเพื่อเสริมสร้างความสามัคคีระหว่างนิสิตนักศึกษาทั้งสองสถาบัน และควรจัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกปี ผู้ริเริ่มฝ่ายธรรมศาสตร์มีพล.ต.ท. ต่อศักดิ์ ยมนาค, บุศย์ สิมะเสถียร และฝ่ายจุฬาฯ มี ประสงค์ ชัยพรรค, ประถม ชาญสันต์ และประยุทธ สวัสดิ์สิงห์ การแข่งขันครั้งแรกนั้นทางฝ่ายธรรมศาสตร์คือ ดร. เดือน บุนนาค เลขาธิการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองสมัยนั้นรับจัดการแข่งขัน และได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบเนื่อง มาจนถึงปัจจุบัน

การแข่งขันทุกปีนั้น ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่า รายได้ที่เหลือจากการหักค่าใช้จ่ายแล้ว จะมีการมอบการกุศลทุกครั้งโดยในครั้งแรกซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2477 ณ สนามหลวง ท้องทุ่งพระสุเมรุ มีการเก็บเงินค่าผ่านประตูบำรุงสมาคมปราบวัณโรค ซึ่งถือว่าเป็นโรคที่ร้ายแรงที่สุดของไทยขณะนั้น หลังจากนั้นก็มีการเก็บเงินบำรุงการกุศลเรื่อยมา เช่น ในช่วงแรก ๆ มีการเก็บ เงินบำรุงทหาร สมทบทุนสร้างเรือนพักคนไข้วัณโรค ช่วยเหลือผู้ประสบอัคคีภัยบำรุงสภากาชาด บำรุงมูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก สมทบทุนอานันทมหิดล สร้างโรงเรียนชาวเขา ฯลฯ นอกจากนี้ก็ยังมีการเก็บเงินเพื่อบำรุงการศึกษาของทั้งสองสถาบัน และตั้งแต่การแข่งขันครั้งที่ 34 (พ.ศ. 2521) จนถึงปัจจุบัน คณะกรรมการจัดการแข่งขันได้นำเงินรายได้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย

ครบ 34 ปี ‘ศรินทิพย์ ศิริวรรณ’ ดาราที่หายสาบสูญ ระหว่างถ่ายทำภาพยนตร์ “อีจู้กู้ปู่ป้า” จนปัจจุบันยังไม่มีการพบตัว!!

ย้อนกลับไปเมื่อ 34 ปีที่แล้ว ประเทศไทยเคยมีนักแสดงลูกครึ่งผมดำ ที่สร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการบันเทิงไทยในฐานะนักแสดงแถวหน้า การันตีรางวัลตุ๊กตาทองในปี 2525 และรางวัลตลกหญิงยอดเยี่ยมในปี 2529

ชื่อของเธอคือ “ศรินทิพย์ ศิริวรรณ” หรือ ไพลิน คอลลิน สาวมากความสามารถที่ผู้คนรู้จักเธอในฐานะนักร้องของวงดนตรีกรมสรรพสามิต และนักแสดงคู่บุญของ รัตน์ เปสตันยี จากภาพยนตร์เรื่อง “โรงแรมนรก” และ “แพรดำ” ซึ่งต่อมาได้สร้างชื่อและผลักดันให้เธอได้รับบทหม่อมแม่ ในละครบ้านทรายทอง (1979) ซึ่งถือเป็นช่วงขาขึ้นในอาชีพการแสดงของเธอ

การแสดงดี ดนตรีก็ไม่แพ้กัน เพราะในอีกด้าน ศรินทิพย์ก็ยังเป็นนักร้องของวงดนตรีกรมสรรพสามิต และที่นั่น เธอได้พบรักกับ ชาลี อินทรวิจิตร ครูเพลงมากความสามารถที่ช่วยกันฝ่าอุปสรรคในชีวิตต่าง ๆ ด้วยกันตลอด โดยเฉพาะในช่วงที่ศรินทิพย์ถูก จำเนียร รัศมี สามีเก่า ฟ้องร้องหลังนำเรื่องราวที่คล้ายคลึงกับชีวิตคู่ครั้งก่อนไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ที่หลังจากเหตุการณ์นั้น ชาลี อินทรวิจิตร ได้แต่งเพลงชื่อ “ไม่อยากให้โลกนี้มีความรัก” เพื่อเตือนใจว่า ในโลกของความรักไม่มีทุกข์หรือสุขที่จะอยู่จีรังในความสัมพันธ์ไปตลอด

22 ปีที่แล้ว เกิดเหตุเพลิงไหม้!! ‘โรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์’ นับว่าเป็นเหตุการณ์เพลิงไหม้คลังเก็บน้ำมัน ที่ร้ายแรงที่สุดในประเทศไทย!! 

จุดเริ่มต้นของการสูญเสียในครั้งนี้ เริ่มมาจากการเกิดเพลิงลุกไหม้ขึ้นบริเวณถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิง หมายเลข T-3003 ซึ่งมีความจุทั้งสิ้น 3 ล้านลิตร (แต่ในขณะนั้นมีเพียง 1.5 ล้านลิตร) และต่อมาได้ลุกลามไปยังถังเก็บน้ำมันข้างเคียงอีก 3 ถัง คือ T-3004, T-3005 และ T-3006 ซึ่งในขณะนั้นพนักงานอยู่ในช่วงพักผ่อน นันทนาการ จึงทำให้ไม่มีใครสนใจเสียงสัญญาณเตือนภัยที่ดังขึ้น 

จนกระทั่งทุกคนเริ่มรู้สึกตัวเพราะได้กลิ่นน้ำมันที่โชยออกมา ทำให้ยามที่รักษาการณ์อยู่ รวมถึงเจ้าหน้าที่อีก 4 คนตัดสินใจเข้าไปตรวจสอบความผิดปกติ ซึ่งพอดีกับที่เสียงระเบิดดังขึ้น และตามมาด้วยเปลวไฟที่ลุกโหม แรงระเบิดที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายให้กับโรงกลั่นไทยออยล์เท่านั้น แต่แรงสั่นสะเทือนยังส่งไปไกลถึงชุมชนที่อยู่รอบข้าง ทำให้ชาวบ้านหลายรายได้รับบาดเจ็บ บ้านเรือนถูกแรงอัดของระเบิดพังเสียหาย แล้วทุกอย่างก็ได้ตกอยู่ในความชุลมุนทันที

ซึ่งน้ำมันเบนซินที่อยู่ที่โรงกลั่นไทยออยล์ ก็เป็นเชื้อเพลิงได้อย่างดี ทำให้ไฟยิ่งโหมแรงขึ้น และไม่มีท่าทีว่าจะดับได้ง่าย ๆ และไม่สามารถดับได้ด้วยน้ำอย่างเดียวอีกต่อไป จึงต้องมีการนำโฟมมาใช้ในการดับไฟร่วมด้วย แต่ท่อส่งโฟมของโรงกลั่นถูกแรงระเบิดอัดจนเสียหาย ทำให้ต้องระดมหน่วยงานดับเพลิงจากที่ต่าง ๆ กว่า 70 แห่งมาช่วย ทำให้กว่าจะดับไฟได้ก็กินเวลาไปกว่า 48 ชม.หรือ 2 วันเต็ม ๆ

ซึ่งสร้างความเสียหายครั้งใหญ่ และยังสร้างความตื่นตระหนกหวาดผวาให้กับชาวบ้านรอบข้างจำนวนมาก หลายร้อยครอบครัวต้องอพยพหนีตาย โดยเฉพาะหมู่บ้านทุ่งที่ได้รับความเสียหายจากแรงระเบิดโดยตรง จนมีผู้บาดเจ็บหลายราย ส่วนบ้านแหลมฉบังซึ่งอยู่ไกลออกไปราว 3 กิโลเมตร แม้จะไม่ได้รับความเสียหายจากแรงระเบิดโดยตรง แต่เศษถังน้ำมันที่ปลิวร่อนมาตกบนหลังคาบ้าน ก็สร้างความหวาดผวาให้ไม่น้อย และต้องอพยพไปอาศัยอยู่ที่บริเวณสวนสัตว์เปิดเขาเขียวและเทศบาลเมืองชั่วคราว

“พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” มีพระราชดำรัสทรงตอบรับ ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชทานพระราชวโรกาส ให้พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา, พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา เข้าเฝ้าฯ ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เพื่อกราบบังคมทูลอัญเชิญ ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่

โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระราชดำรัสว่า ตามที่ประธาน สนช. ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานรัฐสภา ได้กล่าวในนามของปวงชนชาวไทย เชิญข้าพเจ้าขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ และรัฐธรรมนูญนั้น ข้าพเจ้าขอตอบรับเพื่อสนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยทั้งปวง หลังจากนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้กราบบังคมทูลต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อขึ้นทรงราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10

หลังจากนั้นนายพรเพชร แถลงต่อประชาชนว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 โดยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาตรา 2 วรรค 2 ประกอบรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง บัญญัติเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สถาปนาพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นพระรัชทายาท เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 โดย สนช. ทำหน้าที่รัฐสภาตามรัฐธรรมนูญปี 2557 ได้รับทราบกรณีสวรรคตดังกล่าวด้วยความโทมนัสยิ่ง ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 สนช. ได้ประชุมเพื่อรับทราบการแต่งตั้งพระรัชทายาท และประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานรัฐสภา นำความกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาตรา 2 วรรคสอง ประกอบรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง จึงขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559

พล.อ.ประยุทธ์ แถลงต่อประชาชนว่า ประกาศให้ประชาชนชาวไทย ทั้งที่อยู่ในไทย และต่างประเทศทราบว่า วันนี้ประเทศไทยมีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ ตามการกราบบังคมทูลเชิญขึ้นทรงราชย์ของประธาน สนช. ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต โดยมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายกรัฐมนตรี และประธานศาลฎีกา ร่วมเป็นสักขีพยานในพระราชพิธีประวัติศาสตร์นี้ และประธาน สนช. มีประกาศแจ้งต่อประชาชนแล้ว

การดำเนินการดังกล่าว เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎมณเฑียรบาล และโบราณราชประเพณีทุกประการ ที่สนองพระราชดำริของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชทานไว้ตั้งแต่แรกว่า ระหว่างที่พระองค์เอง และประชาชนทุกข์โศกใหญ่หลวงจากกรณีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต และยังไม่ควรสืบราชสมบัติ แต่ควรรอพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล เปิดโอกาสให้ประชาชนเคารพพระบรมศพระยะหนึ่ง บัดนี้ถึงพระราชพิธีปัญญาสมวาร (ครบ 50 วัน) ประชาชนได้มีโอกาสได้ถวายบังคมพระบรมศพแล้ว ขอพระราชทานพระราชานุญาตดำเนินการตามกฎหมายต่อไป อนึ่งเป็นไปตามพระราชประเพณี ไม่ขัดต่อกฎหมาย และสอดคล้องกับนานาประเทศที่ราชอาณาจักรไม่ว่างเว้นขาดตอนจากพระมหากษัตริย์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ณ บัดนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงสถิตราชสถานะ องค์พระรัชทายาท ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 เป็นเวลา 44 ปี เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10

30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 รำลึก ‘สุรินทร์ พิศสุวรรณ’ อดีตเลขาธิการอาเซียน ถึงแก่อนิจกรรม จากภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน

ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ เกิดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2492 เป็นคนบ้านตาล ต.กำแพงเซา อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ในเรื่องการศึกษานั้น ดร.สุรินทร์ ศึกษาระดับปริญญาตรีที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเรียนปี 1-2 และได้รับทุน Frank Bell Appleby ไปศึกษาต่อ ปี 3-4 ด้านรัฐศาสตร์ที่ Claremont Men’s College, Claremont University และศึกษาในระดับปริญญาโทและเอกที่ Harvard University ด้านรัฐศาสตร์ โดยได้รับทุนจาก Rockefeller

ซึ่งหลังจากจบการศึกษาปริญญาเอกจาก Harvard University ดร. สุรินทร์ ต้องกลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตามเงื่อนไขของทุนการศึกษาที่ได้รับไปศึกษาในระดับปริญญาโทและเอก โดยเป็นอาจารย์เมื่อปี พ.ศ. 2525 

ต่อมาใน พ.ศ. 2529 ชีวิตการเป็นนักการเมืองของ ดร. สุรินทร์จึงได้เริ่มต้นขึ้น จากการชักชวนของ ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราชจากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในตอนแรกนั้น ดร.สุรินทร์ ไม่ได้ตอบรับในทันที แต่ในเวลาต่อมาก็ตอบรับคำที่จะลงสมัครและก็ได้รับเลือกตั้งในที่สุด

เมื่อได้เป็น ส.ส. ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ชักชวนให้ ดร. สุรินทร์ มารับหน้าที่เป็นเลขานุการประธานสภาฯ หลังจากนั้นเมื่อมีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ในปี พ.ศ. 2531 ดร. สุรินทร์ ก็ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. อีกครั้งและได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขานุการให้กับ ไตรรงค์ สุวรรณคีรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 

ด้วยเหตุที่ ดร. สุรินทร์ ศึกษามาทางด้านรัฐศาสตร์อยู่แล้ว ทางผู้ใหญ่ในพรรคจึงเห็นว่าน่าจะเหมาะสมที่จะไปช่วยงานในกระทรวงมหาดไทย หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2535 เมื่อชวน หลีกภัยได้รับการเลือกตั้งจากสภาฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดร. สุรินทร์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย 1 พ.ศ. 2535 - 2538) 

 

29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงปลูกต้นนนทรี 9 ต้น ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้เสด็จพระราชดำเนินยังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญเสด็จของคณะกรรมการสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

และได้ทรงปลูกต้นนนทรี 9 ต้น ณ บริเวณหน้าหอประชุม มก. ทั้งยังมีพระราชดำรัสถึงบุคลากรและนิสิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในคราวนั้นว่า

“ขอฝากต้นไม้นี้ให้มหาวิทยาลัยและนิสิตช่วยกันรักษาให้ดี อย่าให้หงอย ขอฝากนิสิตทั้งหลาย ขอให้ช่วยกันรักษาตัวเองให้ดี และอย่าลืมว่าตัวเองนั้นจะอยู่กันได้ก็ด้วยแผ่นดินไทย ขอให้ช่วยรักษาแผ่นดินไทยไว้ด้วย คนไทยถ้าไร้แผ่นดินก็จะหงอยกันหมด อยู่กันไม่ได้ และเราก็ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น”

นอกจากนี้ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระมหากรุณาธิคุณร่วมการแสดงดนตรีที่หอประชุมของมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก อันนำไปสู่การเสด็จ "เยี่ยมต้นนนทรี" ที่ทรงปลูกและ "ทรงดนตรี" สืบเนื่องมาจนถึงปี พ.ศ. 2515

โดย ต้นนนทรี เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 เพราะต้นนนทรีเป็นไม้ยืนต้น มีอายุยืนยาวนาน มีใบเขียวตลอดทั้งปี ลักษณะใบเป็นฝอยคล้ายใบกระถิน ดอกสีเหลืองประปรายด้วยสีขาว ช่อดอกเป็นพวงระย้า ฝักไม่ยอมทิ้งต้น ทนทานในทุกสภาพอากาศของเมืองไทย 

28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 วันเลือกตั้ง อบต. หลังถูกแช่แข็งมานาน นับ 7 ปี

องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง เป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น มีฐานะเป็นนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และแก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562

โดย อบต. เป็นหนึ่งในความพยายามปฏิรูปการเมือง การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในนาม อบต. เปรียบเสมือนการตั้งองค์กรประชาธิปไตยขนาดเล็ก ที่ประชาชนมีส่วนร่วมได้ง่าย ในพื้นที่ขนาดเล็ก และมีความเป็นชุมชนตามธรรมชาติ สังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย 

หลังจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่ใกล้ชิดประชาชนที่สุดถูก ‘แช่แข็ง’ หลังรัฐประหาร 2557 ปลายปี 2564 ก็จะมีการเลือกตั้ง อบต. ผู้บริหารท้องถิ่นอีกครั้ง หลังจากเว้นว่างการใช้สิทธิ์โดยประชาชนมานานหลายปี 

ทั้งนี้ เนื่องจากวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 คสช. ได้ออกประกาศ คสช.ที่ 85/2557 งดการจัดเลือกตั้งท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น และให้ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งยังอยู่ในตำแหน่งต่อไป

“วันสาธารณสุขแห่งชาติ” โดย ‘พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว’ รัชกาลที่ 6 ทรงประกาศตั้งกรมสาธารณสุขในวันนี้ 

วันสาธารณสุขแห่งชาติ 27 พฤศจิกายน ของทุก ๆ ปี เป็นวันสถาปนาการสาธารณสุข ความเป็นมาของวันสาธารณสุขแห่งชาติ สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งกรมสาธารณสุข โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร อธิบดีกรมมหาวิทยาลัย เป็นอธิบดีกรมสาธารณสุขคนแรก 

ในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 นับเป็นวาระแรกที่มีการใช้คำว่า "สาธารณสุข" จึงทำให้กรมสาธารณสุขอยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทยเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2485 ก็ได้มีการสถาปนาขึ้นเป็น "กระทรวงสาธารณสุข" โดยถือเอาวันที่ 10 มีนาคม เป็นวันสถาปนา "กระทรวงสาธารณสุข"

‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ และ ‘สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ’ เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยรามคำแหงรุ่นแรก 

‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ และ ‘สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ’ เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยรามคำแหงรุ่นแรก 

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ดำเนินการขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตร พร้อมพิธีเปิดพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราชด้วย ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 เป็นวันเสด็จพระราชดำเนินในพิธี โดยใช้สถานที่จัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก คือ บริเวณหน้าสำนักหอสมุดกลาง

หลังจากพิธีเปิดพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งไปทางด้านหลังสำนักหอสมุดกลาง เสด็จขึ้นหอสมุดกลางทางประตูด้านหลัง เสด็จเข้าห้องรับรอง อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ทูลเกล้าฯ ถวายครุยปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และรองอธิการบดีทูลเกล้าฯ ถวายครุยปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ทางสังคมวิทยา แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงฉลองพระองค์ครุย แล้วทรงลงปรมาภิไธยและพระนามาภิไธยในสมุดเยี่ยมของมหาวิทยาลัย เมื่อถึงหมายกำหนดการพิธีพระราชทานปริญญาบัตร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเข้าเวทีที่ประทับ ทรงบูชาพระรัตนตรัย แล้วเสด็จประทับพระราชอาสน์ ที่หน้าสำนักหอสมุดกลาง

‘วันวชิราวุธ’ ถือกำเนิดขึ้น เพื่อเทิดพระเกียรติ “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” ผู้ทรงริเริ่มกิจการลูกเสือในประเทศไทย

“วันวชิราวุธ” ตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี หรือเดิมเรียกกันว่า ‘วันวชิราวุธานุสรณ์’ เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในลำดับที่ 6 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 24 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เมื่อทรงพระชนมายุได้ 8 พรรษา ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเทพทวาราวดี ทรงมีพระเกียรติยศเป็นชั้นที่ 2 รองจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ปี 2453 จนถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 จึงเสด็จสวรรคตด้วยโรคพระโลหิตเป็นพิษ ขณะทรงมีพระชนมายุ 45 พรรษาเศษ เสด็จดำรงสิริราชสมบัติรวม 15 ปี อย่างไรก็ตาม ในภายหลังมีหลักฐานปรากฏชัดว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในช่วงเช้ามืดล่วงเข้าวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 แต่วันวชิราวุธยังคงเป็นวันเดิมไม่เปลี่ยนแปลง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top