Saturday, 4 May 2024
TODAY SPECIAL

28 พฤศจิกายน...วันแห่งการประดิษฐ์หัวตัวเอง

อ่านชื่อวันกันไม่ผิดหรอก วันนี้เป็นวันแห่งการประดิษฐ์หัวตัวเอง หรือ Make Your Own Head Day วันชื่อแปลกนี้ถูกคิดขึ้นมา เพื่อให้เราได้ย้อนกลับมามองตัวเอง ได้มองเห็นข้อดีและข้อเสียของตัวเรา

 

ถามว่ามองย้อนยังไง? วันนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีกิจกรรมให้เด็กๆ ได้ประดิษฐ์ศรีษะหรือ ‘หัวตัวเอง’ ในรูปแบบใดก็ได้ ตามแต่ความถนัด เช่น วาด ปั้น หรือแกะสลัก สุดแล้วแต่จะสร้างสรรค์กันออกมา

 

แม้จะเป็นกิจกรรมที่มีความสนุก เพราะจู่ๆ ได้ลุกขึ้นมาประดิษฐ์หัวตัวเอง ก็เป็นความรู้สึกแปลกใหม่ดี แต่อย่างที่บอกไป มันแฝงให้เห็นถึงการได้มองตัวเอง สังเกตตัวเอง เรียกว่าเป็นการเรียนรู้ตัวเองไปในทางอ้อม พอพูดถึงการประดิษฐ์หัวตัวเอง เราเลยขอใช้ภาพประกอบการ์ตูนในตำนาน ‘ดร.สลัมป์กับหนูน้อยอาราเล่’ เพราะถ้าขึ้นชื่อเรื่องการเอาหัวตัวเองออกมาถอดดูแล้ว คงต้องยกให้แม่หนูน้อยอาราเล่คนนี้นี่เองงงง!

27 พฤศิจกายน พ.ศ. 2535...เบิร์ธเดย์ ปาร์ค ชานยอล แห่งวง EXO

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา หากจะหาวงบอยด์แบนด์ในเอเชียที่ประสบความสำเร็จ และขึ้นไปยืนอยู่แถวหน้าของวงการเพลงระดับโลก ชื่อวง EXO ต้องเป็นหนึ่งในนั้น และหนึ่งในสมาชิกที่เปรียบเสมือนแม่เหล็กให้กับวง เขาคนนั้นคือ ปาร์ค ชานยอล

 

ชานยอลเข้าสู่แวดวงดนตรีเมื่อปี พ.ศ. 2551 โดยได้รับคัดเลือกจากการประกวดของค่ายเอสเอ็ม ในเกาหลีใต้ ก่อนที่จะใช้เวลาฝึกฝนการเป็นศิลปินอีกกว่า 4 ปี ในที่สุดเขาก็ได้มาเป็นศิลปินในนาม EXO ซึ่งตำแหน่งในวงของเขา คือการเป็นแร็พเปอร์ รับผิดชอบท่อนแร็พให้กับวง

 

เส้นทางดนตรีก็ว่าโด่งดังจัดๆ แล้ว แต่ชานยอลยังมุ่งหน้าสู่แวดวงการแสดง ที่ผ่านมา เขามีผลงานซีรี่ส์และภาพยนตร์ อาทิ So I Married Anti-fan, Secret Queen Makers และเมื่อ 2 ปีก่อนก็เพิ่งได้รับบทโปรแกรมเมอร์ผู้พัฒนาเกมอันสุดพิสดาร ในซีรี่ส์เรื่อง Memories of the Alhambra

 

ชานยอลถือเป็นนักแสดงและศิลปินที่มีผลงานต่อเนื่อง แถมกระแสความแรงของเขาก็ไม่มีตกเลยจริงๆ จนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เขากลายเป็นคนดังชายชาวเกาหลีใต้คนแรกที่มียอดฟอลโลเวอร์ใน IG ทะลุ 20 ล้านคน วันนี้เจ้าตัวมีอายุครบ 28 ปี เราขอแฮปปี้เบิร์ธเดย์ อวยพรให้สุขภาพแข็งแรง สร้างสรรค์ผลงานมาให้พวกเราได้กรี้ดกันต่อไปนานๆๆๆๆ

26 พฤศจิกายน...วันขนมเค้ก (แผลบๆ)

ถ้าพูดถึง ‘วันเกิด’ หรือวันพิเศษๆ ขึ้นมา มีขนมชนิดหนึ่งที่มักจะกลายเป็นพระเอกของงานอยู่เสมอ นั่นคือ ‘ขนมเค้ก’

 

ขนมเค้ก เป็นเมนูขนมหวานที่ผู้คนทั่วโลกต่างรู้จักและโปรดปราน หากย้อนเวลากลับไป มันถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรีกและอียิปต์โบราณโน่นแล้วล่ะ ขนมเค้กถูกปรุงขึ้นเพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา รวมถึงงานวัฒนธรรมในท้องถิ่นของผู้คนยุคก่อน

 

แรกเริ่มเดิมที ขนมเค้กหน้าตาคล้ายขนมปัง และมีรสหวานของน้ำผึ้งนำ ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นวงกลม เพราะขึ้นรูปด้วยมือ แถมยังค่อนข้างจะมีน้ำหนัก มันมักถูกนำมาเสิร์ฟหลังจากจบมื้ออาหารหลักไปแล้ว

 

แม้จะเป็นสัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลอง รวมไปถึงการมีวาระพิเศษต่างๆ แต่ในช่วงศตวรรษที่ 13 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจทั้งโลกตกต่ำ ชาวอเมริกันหลายล้านคน ก็ได้อาศัยขนมเค้กเป็นหนึ่งในเมนูสำคัญ เนื่องจากเป็นอาหารที่หาได้ไม่ยาก และมีราคาถูก เมื่อเวลาผ่านไป ขนมชนิดนี้ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตผู้คนทั้งโลก

 

วันนี้ถูกยกให้เป็น ’วันขนมเค้กโลก’ หลายสถานที่มีการเชิญชวนให้แต่ละครอบครัวทำขนมเค้กเพื่อเฉลิมฉลอง ถือเป็นวันพิเศษแบบเบาๆ แต่ก็อย่ากินเยอะเกินไปล่ะ เพราะน้ำหนักตัวจะไม่เบาตามเค้กเอานะ

 

25 พฤศจิกายน...วันประถมศึกษาแห่งชาติ

ตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464 ขึ้น โดยกำหนดให้เด็กที่มีอายุ 7 ปีบริบูรณ์ทุกคน ต้องเรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียนจนอายุครบ 14 ปีบริบูรณ์ โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน พระราชบัญญัติประถมศึกษานี้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2464

 

กระทรวงศึกษาธิการจึงได้กำหนดให้วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันประถมศึกษาแห่งชาติ ต่อมาในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2523 ได้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาขึ้น โดยกำหนดให้เปลี่ยนจากวันที่ 1 ตุลาคม มาเป็นวันที่ 25 พฤศจิกายน ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวแทน

 

เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นผู้ให้การสนับสนุนการประถมศึกษาและพระราชทานตราพระราชบัญญัติ อีกทั้งเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระองค์ในคราเดียวกันกับวันวชิราวุธที่ตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีอีกด้วย

 

ถึงตรงนี้ ถามว่า วันประถมศึกษาแห่งชาติ มีความสำคัญอย่างไร ตอบได้โดยง่ายว่า เป็นวันที่ให้คนไทยได้ตระหนักถึงเรื่อง ‘การศึกษากับเยาวชน’ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างบุคลากรของชาติ การมีการศึกษาที่ดีย่อมส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ แต่ ‘การศึกษา’ ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่ทำให้คนฉลาด หลักแหลม แต่ต้องทำให้คนมีคุณภาพ และคิดเป็นอีกด้วย

เรื่องไอ...ไอ

ช่วงนี้ ‘เรื่องไอ’ มาแรงค่ะ ใครบอก? คุณครูบอกเองฮ่ะ

 

ไล่ไปตั้งแต่เด็กนักเรียนในห้องที่ไอค้อกแค้ก เพราะอากาศเปลี่ยน เป็นหวัดกันเป็นแถ้ว หรือเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จบสิ้นไปเรียบร้อย แต่ก็มีคนออกมาบอกว่า ‘ไอไม่รับผลการตัดสินเฟร้ย!’ แหม่ เรื่องนี้ก็คาราคาซังกันอยู่ 

 

กลับมาที่สภาบ้านเรา เมื่ออาทิตย์ก่อนก็เพิ่งมีการประชุมสภาวาระสำคัญ เรื่องการโหวตรับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ    ปรากฎว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือที่เรียกว่า ฉบับร่าง iLaw ก็ถูกตีตกไป

 

เห็นม้ะคะ เชื่อครูยัง ว่าเรื่อง ‘ไอ’ มาจริงไรจริง งั้นคุณครูขอสอนเรื่องไอ...ไอ มีไออะไรน่ารู้บ้าง เปิดคลาสค่ะ!

24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553...ครบ 10 ปี ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์

วันนี้เมื่อ 10 ปีก่อน ถือเป็นวันสำคัญของเมืองไทย เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ รวมถึง สะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2 ทั้งหมดเป็นโครงการในพระราชดำริที่ทรงตั้งใจแก้ปัญหาให้กับประชาชน

 

โดยที่มาของการสร้างประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ เกิดขึ้นจากการทรงเห็นว่า สภาพของแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมมีลักษณะไหลวนคดเคี้ยว โดยเฉพาะบริเวณรอบพื้นที่บางกระเจ้า ที่มีความยาวถึง 18 กิโลเมตร ส่งผลให้การระบายน้ำที่ท่วมพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครเป็นไปได้ช้า ไม่ทันเวลาน้ำทะเลหนุน

 

จึงมีพระราชดำริให้พัฒนาใช้คลองลัดโพธิ์ ซึ่งเดิมมีความตื้นเขินและมีความยาวราว 600 เมตร ให้เป็นประตูระบายน้ำที่หลากและน้ำที่ท่วมสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้ลงสู่ทะเลทันที และจะปิดคลองลัดโพธิ์เมื่อน้ำทะเลหนุน เพื่อหน่วงน้ำทะเลไม่ให้ขึ้นลัดเลาะไปตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาที่คดโค้งถึง 18 กิโลเมตรด้วยกัน

 

ในส่วนของสะพานภูมิพล 1 และ 2 ทรงมีพระราชดำริให้จัดสร้างเพื่อรองรับการขนถ่ายและลำเลียงสินค้าจากท่าเรือกรุงเทพ ไปยังพื้นที่อุตสาหกรรมใน จ.สมุทรปราการ และพื้นที่อื่นๆ ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาการจราจร โดยเฉพาะรถบรรทุกขนาดใหญ่จากแหล่งอุตสาหกรรม เพื่อให้มีช่องทางเลี่ยงออกจากใจกลาง กทม. สู่ต่างจังหวัดได้ทันที

 

ทั้งหมดคือพระราชประสงค์เพื่อแก้ปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดียิ่งขึ้น จากวันนี้และในอนาคตสืบไป...

 

23 พฤศจิกายน...วันแห่งการฉลองความสามารถพิเศษของตัวเอง

เพราะคนทุกคนล้วนมีความสามารถ และมีศักยภาพเป็นของตัวเอง เพียงแต่ความสามารถนั้นจะถูกได้รับการชื่นชม หรือถูกนำไปให้ผู้อื่นรับรู้ในวงกว้างหรือไม่

 

แต่สาระสำคัญของความสามารถจริงๆ นั้น อาจไม่ใช่แค่ต้องเป็นที่ยอมรับของคนอื่น แต่ความสามารถที่เรามี ควรที่จะต้องนำไปพัฒนาตัวเอง แม้เป็นเรื่องเพียงน้อยนิด แต่อย่างน้อย...มันก็ทำให้เราได้ ‘ภูมิใจ’ ในความสามารถของตนเอง

 

เกริ่นมาเยิ่นยาว เพราะกำลังจะบอกคุณว่า วันนี้ 23 พฤศจิกายน (ของทุกปี) ถูกกำหนดให้เป็น ‘วันแห่งการฉลองความสามารถพิเศษของตัวเอง’ ฟังชื่อวันคงรู้สึกแปลกหู วันอะไรแบบนี้ก็มีด้วยเหรอ? ก็มีดิคร้าบ! วันนี้ถูกตั้งขึ้นมาในปี ค.ศ. 2005 ด้วยจุดประสงค์ของการให้ความสำคัญกับทักษะความสามารถของมนุษย์นั่นเอง

 

ไม่ว่าคุณจะกลั้นหายใจดำน้ำได้นานสุดๆ หรือคิดเลขได้เร็วปานรถไฟความเร็วสูง หรือถักนิตติ้งได้เร็วและนานเป็นวันๆ แม้แต่แค่เป่านกหวีดทางจมูกได้ ทุกอย่างล้วนเป็นความสามารถเฉพาะตัว ที่ในวันนี้ เราสามารถบอกกับคนทั้งโลกได้ว่า เฮ้ย! ข้าก็มีของดีนะเฟ้ยยย!

 

กิจกรรมในวันนี้ยังเชิญชวนให้ทุกๆ คนได้ถ่ายภาพความสามารถของตัวเอง แล้วอัพโหลดลงยูทูบเพื่อให้คนอื่นๆ ได้เห็นถึงความสามารถของเราอีกด้วย เอาล่ะ เขียนมาขนาดนี้แล้ว ถ้าวันนี้มีเวลาว่าง ลองมองหาความสามารถของตัวเอง แล้วโชว์ให้คนอื่นดูสักหน่อย บอกโลกให้รู้ว่า เราเองก็มีดี จัดไป!

 

อ้างอิง: https://www.daysoftheyear.com/days/celebrate-your-unique-talent-day/

21 พฤศจิกายน...วันแห่งจอตู้

ถ้าถามผู้คนในวันนี้ ว่าของชิ้นไหนในโลกที่สามารถรวมความสนใจคนเอาไว้ในที่เดียวกันได้ คำตอบคือ สมาร์ทโฟน รวมถึงโซเชี่ยลมีเดีย แต่หากย้อนกลับไปราวปี ค.ศ.1925 มีอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งกำเนิดขึ้นมา แถมมันยังสามารถรวมผู้คนให้มาอยู่ที่หน้าจอเดียวกันได้ เราเรียกมันว่า โทรทัศน์

โทรทัศน์เครื่องแรกของโลก เป็นผลงานการประดิษฐ์ของ จอห์น โลกี้ เบียร์ด ชาวสกอตแลนด์ เขาได้ทดลองส่งสัญญาณภาพวัตถุไปยังเครื่องรับภาพอีกเครื่องได้เป็นผลสำเร็จ ต่อมาก็กลายเป็นโทรทัศน์ที่ยังไม่มีสี (ขาว-ดำ) กระทั่งพัฒนาไปสู่โทรทัศน์สี

จนถึงวันนี้มีทั้งแบบจอแบน จอทัชสกรีน สมาร์ททีวี มาไกลจนหากว่านายจอห์น โลกี้ เบียร์ด ได้มาเห็น คงต้องทึ่งในพัฒนาการสิ่งที่ตัวเองคิดค้นอย่างแน่นอน

วันนี้เป็น ‘วันโทรทัศน์โลก’ เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงเรื่องการสื่อสารและการเผยแพร่ข่าวสารของผู้คนทั่วโลก รวมทั้งยังรณรงค์เรื่องความปลอดภัยในการบริโภคสื่อ แม้ว่าปัจจุบันจะมี ‘สื่อต่าง ๆ’ เกิดขึ้นอีกมากมาย แต่โทรทัศน์ก็ยังคงเป็นสื่อพื้นฐานหลัก และยังเป็นจุดศูนย์รวมผู้คนทั้งโลกเอาไว้ได้อยู่เหมือนเดิม

.

อ้างอิง: https://th.wikipedia.org/wiki/โทรทัศน์

20 พฤศจิกายน พ.ศ.2340...223 ปี ‘รามเกียรติ์’ ยังอินเทรนด์

‘โขน’ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แถมยังกลายเป็นความร่วมสมัย โดยเฉพาะกับโขนเรื่องสำคัญที่คนไทยรู้จักกันดี ‘รามเกียรติ์’

ย้อนกลับไป วันนี้เมื่อกว่า 223 ปีก่อน ถือเป็นวันแรกที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงเริ่มพระราชนิพนธ์วรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ โดยตั้งแต่ต้นเรื่องไปจนจบเรื่อง ทรงนิพนธ์ลงในสมุดไทยไปถึง 102 เล่ม ซึ่งหากพิมพ์เป็นหนังสือขนาด 8 หน้ายกอย่างในปัจจุบัน จะมีความหนากว่า 2,976 หน้าเลยทีเดียว

รามเกียรติ์ เป็นเรื่องราวการทำศึกสงครามระหว่างฝ่ายพระราม (มนุษย์) กับฝ่ายทศกัณฐ์ (ยักษ์) เนื่องจากทศกัณฐ์ได้ลักพาตัวนางสีดา มเหสีของพระรามไป โดยฝ่ายพระรามมีทหารเอกชื่อ หนุมาน เป็นลิงเผือก พร้อมด้วยพรรคพวกอีกมากมายคอยช่วยเหลือ

โดยสาเหตุที่รัชกาลที่ 1 ทรงนิพนธ์รามเกียรติ์ขึ้นนี้ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่บ้านเมืองเพิ่งผ่านศึกสงคราม จึงมีพระราชประสงค์ให้วรรณคดีเรื่องนี้เป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูด้านศิลปวัฒนธรรมของบ้านเมืองนั่นเอง

รามเกียรติ์ ถุกเล่าผ่านยุคผ่านสมัยมามากมาย ถึงวันนี้ รามเกียรติ์ยุค 2020 ก็ยังถูกเล่าขานต่อไป แต่มาด้วยภาพลักษณ์อันร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นภาพลายเส้นการ์ตูน หรือแม้แต่สติกเกอร์ไลน์ เป็นวรรณคดีอมตะที่ยังคงมีลมหายใจ และทรงคุณค่าให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป

19 พฤศจิกายน...วันส้วมส้วม

‘เรื่องส้วม...เรื่องใหญ่’ ใครว่าไม่ใหญ่ ลองอั้นฉี่ ไม่เข้าห้องส้วมให้ได้ครึ่งวัน เราจะมอบเหรียญทองโอลิมปิกด้านกลั้นฉี่ให้ไปเลย

วันนี้ถูกยกให้เป็น 'World Toilet Day' หรือภาษาไทยแบบตรงไปตรงมาก็คือ 'วันส้วมโลก' เกิดขึ้นจากองค์การสหประชาชาติอยากให้ผู้คนทั่วโลก ตระหนักถึงปัญหาการสุขาภิบาล เนื่องจากมีสถิติบ่งชี้ว่า ผู้คนทั่วโลกในวันนี้กว่า 4.5 พันล้านคน มีส้วมหรือห้องน้ำที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ตลอดจนการที่ต้องประสบกับโรคภัยด้านทางเดินอาหารมากมาย

ด้วยเหตุนี้ จึงมีการกำหนดให้วันที่ 19 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันรณรงค์ให้ผู้คนได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ร่วมกัน แถมยังตั้งเป้าว่า ในปี ค.ศ.2030 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า ปัญหาการสุขาภิบาลของโลกจะต้องหมดไป หรืออย่างน้อย ผู้คนต้องมีสุขอนามัยเรื่องการขับถ่ายที่ดีขึ้นกว่านี้

.

อ้างอิง: https://innovativeplumbingpros.com/world-toilet-day-sanitation-awareness/


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top