Wednesday, 14 May 2025
NEWS FEED

กอ.รมน.จังหวัดฉะเชิงเทรา มอบอุปกรณ์การแพทย์ป้องกัน โควิด-19 ให้หน่วยกู้ภัยฉะเชิงเทราและกู้ภัยบางคล้า สนับสนุนบุคคลากรด่านหน้าที่มีความเสี่ยงสัมผัสเชื้อ

วันนี้ (15 ก.ย.64) ที่สมาคมสงเคราะห์การกุศลฉะเชิงเทรา อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา พันเอกเฉลิม เนียมช่วย รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดฉะเชิงเทรา มอบอุปกรณ์การแพทย์ป้องกัน โควิด-19 ให้แก่หน่วยกู้ภัยฉะเชิงเทรา และหน่วยกู้ภัยบางคล้า โดยมีนายปัญญา หลำประเสริฐ นายกสมาคมสงเคราะห์การกุศลหน่วยกู้ภัยฉะเชิงเทรา เป็นผู้แทนรับมอบ ประกอบด้วย ชุดกาวน์ CPE จำนวน 300 ชุด / หมวกตัวหนอน จำนวน 300 ชิ้น / Face Shield จำนวน 300 ชิ้น / แอลกอฮอล์ ขนาด 5 ลิตร จำนวน 10 แกลลอน / ถุงครอบรองเท้า จำนวน 300 คู่ / แมส KN 95 จำนวน 180 แพ็ค รวมมูลค่ากว่า30,000 บาท

ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ได้กระจายแพร่ไปวงกว้างและรุนแรง  หน่วยกู้ภัยฉะเชิงเทราและกู้ภัยบางคล้า เป็นองค์กรที่เป็นจิตอาสา อาสาสมัคร ผู้เสียสละ ทุ่มเท และมุ่งมั่น เพื่อช่วยเหลือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปโรงพยาบาล และเคลื่อนย้ายผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ไปบำเพ็ญกุศล แต่ยังขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์เป็นจำนวนมาก  วันนี้ ทางกอ.รมน.จังหวัดฉะเชิงเทรา จึงได้รวบรวบอุปกรณ์ทางการแพทย์ป้องกัน โควิด-19 สิ่งที่หน่วยกู้ภัยฯ บุคคลากรด่านหน้าที่ต้องการนำมามอบให้ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและปฏิบัติหน้าที่ให้มีความปลอดภัย

วิทยาลัยสารพัดช่างบรรหาร-แจ่มใส จังหวัดสุพรรณบุรี จัดโครงการอาชีวศึกษาเพื่อ "คนพิการ" และพัฒนาทักษะวิชาชีพ

วันที่ 15 กันยายน 2564 ณ.วิทยาลัยสารพัดช่างบรรหาร- แจ่มใส จังหวัดสุพรรณบุรี "นายไพบูลย์ คำภาพักตร์ " ผู้อำนวยการฯ ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมประสานงานกิจการนักศึกษา และกิจการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา  ได้จากโครงการอาชีวศึกษาเพื่อคนพิการและพัฒนาทักษะวิชาชีพสำหรับผู้เรียนคนพิการทางสติปัญญาระหว่างวันที่ 13-17 กันยายน 2564 ได้รับเกียรติ จาก "นายวีระ ทวีสุข" ศึกษาธิการจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานซึ่งโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนที่มีความบกพร่องทางร่างกาย และสติปัญญา มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะอาชีพ มีอาชีพ มีฝีมือและส่งผลการสร้างอาชีพการมีรายได้ และมีงานทำโดยจัดอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น วิชาการทำขนมและอาหารว่าง / วิชากาแฟเพื่ออาชีพและวิชาตัดผมชาย

ในการนี้ "นายชัยพร ภูผารัตน์" ผู้อำนวยการสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ได้ให้เกียรติลงพื้นที่ให้กำลังใจ ครูผู้สอนวิชาชีพ และนักศึกษาคนพิการที่เข้าร่วมรับการฝึกอบรม อีกทั้งยังได้มีการพูดคุยกับ "นายสนธยา รอสูงเนิน" รองผู้อำนวยการฝ่ายแผน และ "นางวัชราภรณ์ มาหนู" รองผู้อำนวยการฝ่ายยริการทรัพยากรเพื่อ ให้ความรู้ความเข้าใจการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการ และ Universal Design

"นายชีวานนท์ พรรัตน์ธนิกกุล" นายกสมาคมสหพันธ์แรงงานคนพิการไทย และตำแหน่ง คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการด้านแรงงาน ได้ให้กำลังใจกับครูผู้สอนและนักศึกษาคนพิการที่เข้ารับการฝึกอบรม อีกทั้งยังมีการพูดคุยหารือในการส่งเสริมให้คนพิการมีอาชีพที่สามารถทำงานได้จากที่บ้าน ภายในชุมชน ในเขตพื้นที่ที่คนพิการอยู่อาศัย จะเป็นการสร้างรายได้อีกช่องทางหนึ่ง และยังมีการหารือ การส่งเสริมและเพิ่มทักษะ การพัฒนาฝีมืออาชีพด้านแรงงานต่าง ๆ ที่คนพิการอาจจะมีความถนัดและเหมาะสมกับทางกายภาพของคนพิการเพื่อเข้าสู่ระบบสังคมการมีงานทำได้ในวันข้างหน้า และใช้นี้ยังได้กล่าวขอบคุณวิทยากรสารพัดช่างบรรหาร- แจ่มใสสุพรรณบุรี และ นายลงไปวันเสาร์นายกสมาคมคนพิการภาคตะวันออก ที่เป็นหัวเรี่ยว หัวแรง ในการผลักดันให้คนพิการมีโอกาส การเข้าถึงอาชีพของคนพิการต่อไป

มหาวิทยาลัยนางาซากิร่วมกับมหาวิทยาลัยเสฉวน ทำการทดลองวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่น-จีนครั้งแรกในการทดลองวัคซีนโควิด

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า วัคซีนที่คิดค้นโดยมหาวิทยาลัยเสฉวนเป็นวัคซีนที่ผลิตจากการตัดต่อโปรตีน (recombinant protein vaccine) ซึ่งเป็นการตัดต่อส่วนหนึ่งของยีนไวรัส เข้าให้กับสิ่งมีชีวิต เช่น แบคทีเรีย ยีสต์เพื่อสร้างโปรตีนขึ้นมา เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกาย โปรตีนนี้จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้น

มหาวิทยาลัยนางาซากิและศูนย์วิจัยเวชศาสตร์ปริวรรต (translational medicine) ที่ตั้งอยู่ที่เมืองโกเบ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเสฉวนทำการทดลองทางคลินิกวัคซีนของประเทศจีน และได้รับการอนุมัติจากกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นเมื่อเดือนสิงหาคม

การทดลองจะฉีดวัคซีนให้กับอาสาสมัคร 240 คน เพื่อวิจัยประสิทธิผลและความปลอดภัยของวัคซีน
.
วัคซีนจากการตัดต่อโปรตีนเป็นเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง เพราะวัคซีนประเภทนี้มีผลข้างเคียงน้อย มีความปลอดภัยมาก เหมาะกับการใช้ในเด็ก

วัคซีนประเภทนี้กำลังทดลองในหลายประเทศ เช่น Novavax ของสหรัฐ, วัคซีนที่บริษัท Sanofi ของฝรั่งเศสพัฒนาร่วมกับ GlaxoSmithKline บริษัทยาสัญชาติอังกฤษ-อเมริกัน และ ซิโนฟาร์ม ของจีนก็กำลังทดลองวัคซีนประเภทนี้เป็นวัคซีนตัวที่ 2 เช่นกัน นอกจากนี้ วัคซีนเกาตวน (Medigen) ของไต้หวันที่มีการใช้งานแล้ว ก็ผลิตด้วยเทคโนโลยีการตัดต่อโปรตีน


ที่มา : https://mgronline.com/japan/detail/9640000091381

'หมอยง' แจงชัด 3 ข้อ ที่ 'หมอธีระ' ควรต้องรู้ ติง ไม่ควรสร้างความสับสนให้คนไทย

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Yong Poovorawan' ระบุว่า... 

หนึ่งในหน้าที่ของอาจารย์มหาวิทยาลัย นอกจากการเรียนการสอน งานบริการแล้ว จะต้องทำงานวิจัยให้เกิดองค์ความรู้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ประเทศชาติ 

การศึกษาวิจัยเรื่อง Covid-19 จึงเป็นหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในภาวะวิกฤต

การติดเชื้อแล้วกระตุ้นภูมิต้านทาน เป็นวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่ต้องเรียนรู้ และต่อยอดงานวิจัยเพื่อนำมาใช้เป็นประโยชน์ ในการดูแลประชาชน 

ตอบคำถาม “วาทกรรม” หมอธีระ วรธนารัตน์ 

1.) ตกลงฉีด 2 เข็มนั้นไปทำไม? 

>> วัคซีนทุกชนิดลดการป่วยตาย และความรุนแรงของโรคได้ การให้วัคซีน 2 เข็มในประเทศไทย ลดความรุนแรง การป่วยตาย โปรดศึกษาการติดเชื้อของทั่วโลก เช่น อเมริกา อิสราเอล ฉีดวัคซีนครอบคลุม ก็ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้แบบสมบูรณ์ 

2.) หาตัวที่ฉีด 1-2 เข็ม แล้วลดโอกาสติดเชื้อได้ ลดป่วยลดตายได้ จะดีกว่าไหม? 

>> วัคซีนทุกตัวที่ใช้อยู่ในประเทศไทยขณะนี้ สามารถลดการติดเชื้อ ลดป่วย ลดตาย ภูมิต้านทานจะลดลงตามกาลเวลา ไม่ว่าวัคซีนตัวไหน ลดความรุนแรงของโรคได้ ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้สมบูรณ์ 

โรค Covid-19 ระยะฟักตัวสั้น ดังนั้นการลดโอกาสติดเชื้อ จึงเป็นไปได้ยาก แต่สามารถลดการตาย และอาการหนักได้ 

3.) ถ้าฉีดแล้วติดเชื้อ คนติดเชื้อคงไม่หวังอยากได้ภูมิสูงปรี๊ดหรอก แต่คนติดเชื้อคงอยากรู้ว่าเขาป่วยแค่ไหน จะตายหรือไม่ตายต่างหาก และหากเลือกได้เขาคงไม่อยากติดเชื้ออย่างแน่นอน? 

>> แน่นอนคงไม่มีใครอยากติดเชื้อ ทุกคนจึงมีความต้องการวัคซีน การฉีดวัคซีนแล้ว จะต้องปฏิบัติตนในการป้องกันการติดเชื้อ มากกว่าที่จะหวังผลจากวัคซีนไม่ให้ติดเชื้อ 

การศึกษาผลของภูมิต้านทานหลังการติดเชื้อ เพื่อประโยชน์ในการวางแผนป้องกันการติดเชื้อซ้ำ และความจำเป็นในการให้วัคซีนหลังการติดเชื้อ   

การตอบสนองภูมิต้านทานและการคงอยู่ของภูมิต้านทาน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษา เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ  

โรคอุบัติใหม่จำเป็นต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดด้วยงานวิจัย 

>> การสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้วยการวิจัย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่ไม่ควรทำ คือ การสร้างความสับสนให้กับประชาชน ควรบอกสิ่งที่มีประโยชน์และแนวปฏิบัติตามองค์ความรู้ทางการแพทย์ที่มีอย่างถูกต้อง ทันกับเหตุการณ์

#หมอยง


ที่มา: https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=6292175444158353&id=100000978797641

“สัณหพจน์” ลุยแก้ปัญหา “ปาล์มน้ำมัน” ภาคใต้ ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมเบรกผลศึกษากรมการค้าภายใน

ดร.สัณหพจน์ ประธานอนุกมธ.ปาล์มน้ำมัน พร้อมคณะกมธ.ที่มีนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ เป็นประธาน ลงพื้นที่ ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ ตรวจสอบข้อเท็จจริงการขาดทุน และการบริหารจัดการหนี้กว่า 1,000 ล้านบาท หวั่นส่งผลกระทบเกษตรกรชาวสวนปาล์มภาคใต้ พร้อมติดเบรกผลการศึกษาโครงสร้างราคาปาล์มน้ำมัน ของกรมการค้าภายใน ตั้งข้อสงสัยช่วยโรงงาน หรือเกษตรกร

ดร.สัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.เขต 2 จ.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาโครงสร้างราคาการตรวจสอบการลักลอบการนำเข้าน้ำมันปาล์ม และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันอย่างเป็นระบบ (กมธ.ปาล์มน้ำมัน) เปิดเผยว่า ตนได้ลงพื้นที่จ.กระบี่ พร้อมคณะกมธ. เพื่อตรวจสอบกระบวนการและโครงสร้างการรับซื้อปาล์มน้ำมันดิบ และปัญหาหนี้สินของชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด

ทั้งนี้ความคืบหน้า กรณีปัญหาขาดทุนของชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด ซึ่งอยู่ในระหว่างการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ถึงเรื่องความโปร่งใสในการบริหาร

สำหรับกรณีปัญหาดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสหกรณ์ปาล์มน้ำมันจำนวน 13 แห่ง ในพื้นที่ภาคใต้รวม 5 จังหวัดได้แก่ จ.กระบี่ ตรัง พังงา สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ซึ่งมีสมาชิกกว่า 20,000 คน รวมไปถึง เจ้าหน้าที่และแรงงาน ของชุมนุมสหกรณ์ฯ เอง และเจ้าหนี้ซึ่งเป็นสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนอีก 17 แห่ง ซึ่งชุมนุมสหกรณ์ฯ ได้ค้างชำระหนี้ค่าผลปาล์มสดกว่า 31 ล้านบาท

“ปัญหาเรื่องการจัดการหนี้สินของชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด ซึ่งมีหนี้สินกว่า 1,000 ล้านบาท จึงทำให้ต้องมีการขายโรงงานสกัดปาล์มน้ำมันเพิ่ม เป็นแห่งที่ 2 แต่ก็ปรากฏว่า กรรมการฯ ยังไม่ความเข้าใจในส่วนกฎหมาย พ.ร.บ.สหกรณ์ มาตรา 20 ถ้าที่ประชุมใหญ่หรือที่ประชุมคณะกรรมการดําเนินการสหกรณ์ ลงมติอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ข้อบังคับระเบียบของสหกรณ์ ระเบียบหรือคําสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์ ให้นายทะเบียนสหกรณ์ หรือรองนายทะเบียนสหกรณ์มีอํานาจสั่งยับยั้งหรือเพิกถอนมตินั้นได้

กมธ.จึงได้เชิญ นายประกอบ เผ่าพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ มาให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อที่จะได้ข้อมูลและดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง โดยมีประเด็นเรื่อง การเป็นกรรมการ มีหน้าที่กำหนดราคาซื้อขายโรงงานเอง และซื้อขายให้กับบริษัทที่ตนเองเป็นกรรมการมีอำนาจลงนามเอง โดยไม่ผ่านมติของที่ประชุมใหญ่ที่มีสมาชิกกว่า 20,000 คน ซึ่งผิดหลักการตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้เป็นอำนาจของอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่จะต้องเข้าไปดูแล และให้ความเป็นธรรมกับพี่น้องเกษตรกร

ในส่วนของการจ่ายหนี้สินพบว่า ชุมนุมสหกรณ์ มีหนี้สินที่ค้างชำระให้กับ ธ.ก.ส. เกือบ 700 ล้านบาท ที่สำคัญยังเป็นหนี้ค้างชำระค่าผลปาล์มสด  กับสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนอีก 17 แห่งมูลค่ากว่า 31 ล้านบาท รวมทั้งเจ้าหน้าที่และแรงงานอีก 323 คน กว่า 63 ล้านบาท โดยเฉพาะหนี้ของชาวสวนปาล์มน้ำมัน เจ้าหน้าที่และแรงงานนั้น ผมได้ให้ความคิดเห็นว่าควรจะต้องได้รับการเยียวยาก่อนเป็นอันดับแรก” ดร.สัณหพจน์ กล่าว

กรณีนี้ทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง เนื่องจากมีผู้เสียหายทั้งในส่วนของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ 13 แห่ง ในชุมนุมสหกรณ์ฯ และสหกรณ์-วิสาหกิจชุมชนซึ่งเป็นเจ้าหนี้อีก 17 แห่ง รวมผู้ได้รับผลกระทบอาจสูงถึง 20,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร เจ้าหน้าที่และแรงงาน ที่มีรายได้หลักของครอบครัวจากส่วนนี้ ดังนั้นหน่วยงานที่รับผิดชอบจำเป็นที่จะต้องเข้ามาตรวจสอบดูแลอย่างจริงจัง

ด้านเรื่องของการปรับโครงสร้างราคาปาล์มน้ำมัน แม้ว่าปัจจุบันราคาปาล์มทะลายจะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจาก อนุกมธ. ตรวจสอบการลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศอย่างจริงจัง รวมถึงนโยบายการส่งเสริมการใช้น้ำมันปาล์มของรัฐบาล แต่คณะอนุกมธ.เห็นว่า ยังต้องมีการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันปาล์มทั้งระบบ เพื่อให้คงราคาในต่ำกว่า 5 บาท ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้อย่างยั่งยืน

กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ “มาเลเซียโมเดล” ที่พบว่ามีการวิเคราะห์และจัดทำโครงสร้างราคาผลผลิตจากปาล์มน้ำมันทั้งระบบ โดยใช้เปอร์เซ็นต์การให้น้ำมัน (Oil Extraction Rate : OER) ซึ่งเป็นค่าที่บอกถึงความสามารถการให้น้ำมันปาล์มของผลปาล์ม และจ่ายราคาในแต่ละส่วน เช่น ชั้นเนื้อปาล์ม (Mesocarp) มี %OER ที่ 24% ชั้นกะลา (Shell) มี %OER เฉลี่ยที่ 7% และชั้นเมล็ดใน (Kernel) มี %OER ที่เฉลี่ย 6%  แต่ต้องไม่ใช่การศึกษาและจัดทำโครงสร้างจากข้อมูลต้นทุนการผลิตของโรงงานผลิตน้ำมันปาล์ม

“ที่ผ่านมากรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ทำการศึกษาข้อสรุปของโครงสร้างราคาน้ำมันปาล์มทั้งระบบในประเทศ โดยวิเคราะห์จากข้อมูลต้นทุนการผลิตของโรงงานบีบสกัดน้ำมันปาล์มกว่า 30 แห่ง แล้วเอามาหาค่าเฉลี่ย เพื่อคิดเป็นต้นทุนค่าผลิต ซึ่งผิดต่อหลักการที่จะเอามาใช้เป็นสูตรในการคำนวณโครงสร้างราคา โดยค่าบีบน้ำมัน โรงงานของไทยที่เสนอมาอยู่ที่ 3-5 บาท ในขณะที่มาเลเซีย มีราคาค่าบีบน้ำมันอยู่ที่ประมาณ 1.50 บาท/กก.

กมธ.ตั้งข้อสังเกตว่าในขณะที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย หรือสถาบันการศึกษาอื่นๆ ในภาคใต้ ซึ่งอยู่ในพื้นที่และมีผลงานการศึกษาวิจัยเรื่องของปาล์มน้ำมัน เป็นจำนวนมาก เหตุใดจึงไม่ว่าจ้างให้ทำการศึกษา โดยที่กรมการค้าภายในไม่ยอมเข้าให้ข้อมูลในกรณีดังกล่าว และอ้างว่า จะต้องให้คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) อนุมัติเสียก่อน จึงเป็นที่น่าสงสัย ถึงความโปร่งใส และความจริงใจในการทำงานของกรมการค้าภายใน ต่อการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน

ดังนั้นเมื่อนำโครงสร้างราคาที่ตั้งต้นมาจากต้นทุนผลิตของโรงงาน มาใช้ในการรับซื้อผลปาล์มดิบ ผลประโยชน์จะตกอยู่ที่โรงงาน ทำให้โรงงานน้ำมันปาล์มในไทย คืนทุนเร็วภายใน 4 ปี มีกำไรกว่า 100 ล้านในทุกปี แต่พี่น้องเกษตรกรกลับไม่ได้รับความเป็นธรรม เมื่อพี่น้องเกษตรกรอยู่ไม่ได้ เลิกทำสวนปาล์ม เพราะต้นทุนการปลูกสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาปุ๋ย และค่าจ้างแรงงาน บวกกับโรงงานกดราคารับซื้อ ก็จะไม่มีผลผลิตเข้าไปป้อนโรงงาน ซึ่งจะกระทบต่ออุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร แรงงาน โรงงานน้ำมันปาล์ม รวมทั้งประชาชนทั้งประเทศซึ่งเป็นผู้บริโภค” ดร.สัณหพจน์ กล่าวในตอนท้าย

‘พันธมิตรจิตอาสา’ แท็กทีม! ส่งกำลังใจให้ POLICE ผ่านข้าวกล่องปันอิ่ม พบตำรวจนครบาลติดเชื้อโควิดกว่า 1,200 ราย เสียชีวิตแล้ว 12 นาย

วันที่ 14 กันยายน ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผบช.น. รับมอบข้าวกล่องอุ่นร้อนพร้อมรับประทานโครงการ “ครัวปันอิ่ม ร้อยเรียงใจสู้ภัยโควิด-19” พร้อมเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ สมุนไพรฟ้าทะลายโจร หน้ากากอนามัย น้ำเสริมภูมิต้านโควิดร่างกาย จากสมาคมโฮมีโอพาธีย์ ประเทศไทย ข้าวสาร และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

จากเครือข่ายพันธมิตรจิตอาสา ประกอบด้วย สมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทย มูลนิธิสหชาติ กลุ่มบริษัทในเครือ เวิลด์เมดิคอลซัพพลาย ตัวแทนนักศึกษาสถาบันพระปกเกล้า หลักสูตรประกาศนียบัตรสิทธิมนุษยชนสำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่น 1 (ปสม.) หลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่น 11-12 (สสสส.) นำโดย นายสมชาย จรรยา ผศ.ดร.ภูริวัจน์ ปุณยวุฒิปรีดา นายสมิษฐิ์ มหาปิยศิลป์ นายธนนนท ตุลาวสันต์ นางสาวพรทิพย์ เตชะสมบูรณากิจ และนายยิ่งยศ จิตเพียรธรรม ตัวแทนหลักสูตร บรอ.รุ่น 4 ส่งมอบเพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับข้าราชการตำรวจที่พักรักษาตัวอยู่ที่โรงแรม “เดอะ ทวิน ทาวเวอร์” ถนนรองเมือง นอกจากยังมอบอาหารพร้อมทานให้กับสื่อมวลชนภาคสนาม ที่ปักหลักรายงานข่าวใน บช.น. ด้วย

นายสมชาย จรรยา เปิดเผยว่า กลุ่มพันธมิตรจิตอาสา มีความห่วงใยข้าราชการตำรวจ เพราะทุกหน้างานมีความเสี่ยง มีตำรวจติดเชื้อโควิด-19 หลายนาย ลุกลามไปถึงครอบครัว และคนใกล้ชิด นั่นคือผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทุกอาชีพ ด้วยความห่วงใย ได้รวบรวมสิ่งของนำมาแบ่งปัน เพื่อสร้างรอยยิ้ม เติมความสุข เพราะเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

สำหรับโครงการ “ครัวปันอิ่ม” ของเครือซีพี ที่กลุ่มพันธมิตรจิตอาสา ทำหน้าที่เป็นสะพานบุญ นำมอบอาหารปรุงสำเร็จพร้อมทาน ส่งถึงมือชาวบ้านในยามหิว ดำเนินการต่อเนื่องทุกวัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคมเป็นต้นมา โดยลงพื้นที่ตามชุมชนต่าง ๆ ในลักษณะกระจายเพื่อให้ครอบคลุม ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และต่างจังหวัด ที่มีการแพร่ระบาดในระดับดพื้นที่สีแดงเข้ม

ด้านพล.ต.ต.สมนึก น้อยคง รองผบช.น. กล่าวว่า จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเขตพื้นที่ของกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พบมีข้าราชการตำรวจในสังกัดติดเชื้อแล้ว 1,236 ราย หายป่วยแล้ว 882 ราย เสียชีวิต 12 ราย คงเหลือรักษาตัว 342 คน โดยมีกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง 2,044 ราย ทำการกักตัว 277 ราย โดยมีการแยกกักตัวและรักษา ทั้ง ในโรงพยาบาลตำรวจ โรงแรม “เดอะ ทวิน ทาวเวอร์” แฟลตตำรวจ และตามบ้านพัก

'จีน' พบเดลตาระบาดในโรงเรียนฝูเจี้ยน รัฐสั่งสกัดด่วน ก่อนลามช่วงไหว้พระจันทร์

สำนักข่าว Global Time ของจีนรายงานว่า พบการระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 สายพันธุ์เดลตาในโรงเรียนประถมหมายเลข 1 ที่เมืองผูเถียน ในมณฑลฝูเจี้ยน ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พบศูนย์กลางการระบาดในโรงเรียนของจีน

ล่าสุดพบว่ามีผู้ติดเชื้อภายในมณฑลแล้วถึง 102 คน แต่ยังไม่พบการแพร่ระบาดข้ามมณฑล ทางการจีนออกคำสั่งด่วนให้ปิดโรงเรียนชั่วคราว เพื่อตรวจเชื้อครู และนักเรียนทุกคนในโรงเรียนทันที 

การแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 สายพันธุ์เดลตารอบล่าสุดนี้ เชื่อมโยงกับพ่อของนักเรียนคนหนึ่งที่พบว่าติดเชื้อหลังจากเดินทางกลับจากสิงคโปร์ และอยู่ในขั้นตอนการกักตัวถึง 21 วัน แต่การระบาดในโรงเรียนครั้งนี้ทำให้จีนวิตกถึงระยะฟักตัวของเชื้อ Covid สายพันธุ์ใหม่ที่นานกว่าเดิม และเตรียมเร่งฉีดวัคซีนให้กับเด็กอายุตั้งแต่ 3-12 ปีทั่วประเทศ

เมืองผูเถียน มีประชากรประมาณ 3.2 ล้านคน และอาจกลายเป็นเมืองล่าสุดที่ต้องได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดรอบใหม่นี้ และอาจจะรุนแรงกว่าการระบาดที่เมืองหนานจิงเมื่อไม่นานมานี้ 

ตอนนี้ยังไม่มีคำสั่งให้ล็อกดาวน์เมือง แต่ผู้ว่าราชการสั่งให้หยุดโรงเรียนทั้งเมือง ให้เรียนออนไลน์ที่บ้านตั้งแต่สัปดาห์นี้ พนักงานให้ Work from Home และงดออกจากบ้านหากไม่มีธุระจำเป็น สำหรับผู้ที่ต้องเดินทางออกนอกเมืองจำเป็นต้องแสดงผลตรวจเชื้อเป็นลบจึงได้รับอนุญาตให้เดินทางได้

สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ อีกไม่นานจีนจะเข้าสู่เทศกาลไหว้พระจันทร์ ที่เป็นวันหยุด (21 กันยายน) ซึ่งจะมีชาวจีนทั่วประเทศเดินทางไปท่องเที่ยว และเยี่ยมครอบครัวมากมายหลายล้านคน หากยังไม่สามารถควบคุมการระบาดในมณฑลฝูเจี้ยนได้ในระยะอันใกล้ ก็อาจทำให้การแพร่ระบาดขยายวงกว้างข้ามมณฑลได้ 

สำหรับวัคซีนที่ทางการจีนอนุมัติให้ฉีดในกลุ่มเด็กเล็กมีเพียง 2 ชนิดคือ Sinovac และ Sinopharm และตอนนี้ บริษัทยา Sinopharm กำลังอัปเกรดวัคซีนป้องกัน Covid-19 รุ่นใหม่ที่จะสามารถป้องกันสายพันธุ์ใหม่ ๆ อย่างเดลตาได้ และอยู่ในขั้นตอนการทดสอบเฟส 2 แล้ว คาดว่าจะสามารถพัฒนาได้เสร็จ พร้อมใช้ได้ไม่เกินกลางปี 2023 นี้


เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์
อ้างอิง: Global Times / CNN / Aljazeera

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นำเข้าโมเดอร์นา 8 ล้านโดส เปิดจองต.ค. คาดการจัดส่งครั้งแรกจะส่งมอบวัคซีนได้ในช่วงปลายเดือนก.พ. ถึงต้นมี.ค. ปีหน้า

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 64 เพจโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เผยแพร่รายละเอียดถึงการลงนามสัญญากับ ซิลลิค ฟาร์มา นำเข้าวัคซีนโควิด-19 “โมเดอร์นา” จำนวน 8 ล้านโดส ใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันในปี 2565

รายงานข่าวระบุว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประกาศความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับ แซดพี เทอราพิวติกส์ (ZP Therapeutics) หน่วยงานธุรกิจภายใต้ ซิลลิค ฟาร์มา ผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพชั้นนำในเอเชีย ในการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นา (Covid-19 Vaccine Moderna) จำนวน 8 ล้านโดส (100 ไมโครกรัม/โดส) สำหรับการใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับประชาชนในปีหน้า โดยจะจัดสรรวัคซีนผ่านองค์กรนิติบุคคลประเภทต่าง ๆ ตามนโยบายข้อกำหนดของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คาดว่าการจัดส่งครั้งแรกจะส่งมอบได้ในช่วงไตรมาสแรกปี 2565 และจะทยอยส่งจนถึงไตรมาสที่ 3

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นหนึ่งใน 5 หน่วยงานที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าวัคซีนโควิด-19 ตามประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และได้ทำงานอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสนับสนุนภารกิจสำคัญในการยับยั้งและลดการแพร่ระบาดของโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคือการช่วยเพิ่มโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและได้รับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ได้โดยเร็วที่สุด ผ่านการนำเข้า จัดสรร และกระจายวัคซีนตัวเลือกไปสู่กลุ่มองค์กรนิติบุคคล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานพยาบาลเพื่อกระจายฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมถึงกลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาสทั่วทุกภูมิภาค นอกจากนี้ ยังได้มุ่งเน้นด้านการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยอย่างเป็นระบบอีกด้วย”

วัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นา ที่ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ลงนามสัญญานำเข้ามาเป็นวัคซีนตัวเลือกชนิดที่ 2 โดยเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อจากการทดลองทางคลินิกในระยะที่ 3 สูงถึง 94.1% อาการข้างเคียงอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ เช่น อาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง การแพ้รุนแรง พบประมาณ 2.5 ราย ต่อ 1 ล้านโดส หรือรายงานการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบของวัคซีนชนิด mRNA พบได้น้อย อยู่ที่ 12 ราย ต่อ 1 ล้านโดสในประเทศสหรัฐอเมริกา และส่วนมากสามารถรักษาได้

นอกจากนี้ ผลการศึกษาเบื้องต้นของการใช้วัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นา เป็นเข็มกระตุ้น (Booster Dose ปริมาณขนาด 50 ไมโครกรัม) ต่อสายพันธุ์เบตา แกมมา และเดลตา สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงถึง 32 เท่า, 43.6 เท่า และ 42.3 เท่า ตามลำดับ ส่วนการวิจัยในประเทศไทยทางราชวิทยาลัยฯ จะทำควบคู่กันไปเพื่อยืนยันผลกระตุ้นอย่างเป็นระบบในสภาพแวดล้อมของประเทศตั้งแต่ปลายปีนี้

ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีแผนที่จะจัดสรรและกระจายวัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นาให้แก่กลุ่มองค์กรนิติบุคคล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงสถานพยาบาล ตลอดจนกลุ่มเปราะบางทางสังคมที่เคยได้รับการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มจากทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นกลุ่มแรกก่อน เนื่องจากประชาชนในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มตั้งแต่ช่วงเดือนก.ค.-ส.ค.เป็นต้นมา โดยเป็นทางเลือกอีกตัวหนึ่งที่จะใช้วัคซีนโมเดอร์นาเป็นเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และฉีดเพียง 1 เข็ม (ปริมาณ 50 ไมโครกรัม) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ซึ่งจัดเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น

โดยจะเปิดให้องค์กรนิติบุคคลประเภทต่าง ๆ ได้ยื่นจองขอรับการจัดสรรวัคซีนโมเดอร์นาในช่วงเดือนต.ค. เป็นต้นไป ซึ่งจะมีการกำหนดราคาขาย พร้อมประกันภัยคุ้มครองผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาในราคาเดียวกันทั่วประเทศต่อไป และคาดว่าการจัดส่งครั้งแรกจะส่งมอบวัคซีนได้ในช่วงปลายเดือนก.พ. ถึงต้นมี.ค. ปีหน้า

“สำหรับความร่วมมือกับ ซิลลิค ฟาร์มา ในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญและความมุ่งมั่นในการสนับสนุนการกระจายวัคซีนให้เป็นไปอย่างทั่วถึง เพื่อช่วยให้ประชาชนได้รับวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เร็วที่สุด และขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการให้บริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพแก่ประชาชนทุกกลุ่มวัยอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อประเทศชาติ ตามพระปณิธานในศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์”ศ.นพ.นิธิ กล่าว


ที่มา : https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_6619672

'กรมอนามัย' ชี้ ครูฉีดวัคซีนแล้วกว่า 8.9 แสนราย เผยสถิติเด็กติดเชื้อ 1.2 แสนคน ตาย 15 ราย

เมื่อวันที่ 14 กันยายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงมาตรการแซนด์บอกซ์ (Sand Box) ในโรงเรียนว่า สถานการณ์โควิด-19 ในกลุ่มเด็กวัยเรียน วัยรุ่น ที่อยู่ในช่วงอายุ 6-18 ปี ข้อมูลตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เม.ย. - 11 ก.ย.64 มีผู้ติดเชื้อสะสม 129,165 ราย แบ่งเป็น เดือน เม.ย. พบ 2,426 ราย, พ.ค. เพิ่มขึ้น 6,432 ราย, มิ.ย. 6,023 ราย, ก.ค. 31,377 ราย และ ส.ค. สูงถึง 69,628 ราย จำนวนนี้เป็นคนไทย 90% และชาวต่างชาติ 10% ผู้เสียชีวิตสะสม 15 ราย ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว 

โดยจังหวัดที่พบการติดเชื้อสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร รองมาเป็นปริมณฑล และจังหวัดชายแดนใต้ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มผู้ติดเชื้อในกลุ่มเด็กวัยเรียนวัยรุ่น แม้ว่าไม่เปิดเรียน แต่ยังพบการติดเชื้อ นั่นหมายถึงส่วนหนึ่งเกิดการติดเชื้อในครอบครัว และการสัมผัสผู้ติดเชื้อยืนยัน รวมถึงการค้นหาเชิงรุกด้วย

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า การรับวัคซีนโควิด-19 ในบุคลากรทางการศึกษา เช่น ครู บุคลากรอื่นในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ข้อมูลรายงานเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 64 พบว่า มีผู้รับวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็ม 2 รวมกันทั้งสิ้น 897,423 ราย คิดเป็น 88.3% โดยผู้ยังไม่รับวัคซีนอีก 118,889 รายคิดเป็น 11.7% ขณะที่เด็กอายุ 12-18 ปี ในกลุ่มที่มีโรคประจำตัว ข้อมูลรายงานเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 64 ได้รับวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 1 จำนวน 74,932 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 3,241 ราย

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า กรมอนามัย ร่วมกับ ศธ. ดำเนินมาตรการแซนด์บอกซ์ เซฟตี้ โซน อิน สคูล (Sand Box Safety zone in School) ที่นำร่องในโรงเรียนประจำ สามารถจัดเรียนแบบไฮบริดจ์ ด้วยการเรียนออนไซต์ร่วมกับออนไลน์ คัดเลือกโรงเรียนโดยคำนึงถึง 3 ด้านสำคัญ คือ 

1.) การบริหารจัดการ ที่มีความพร้อมจากโรงเรียน ผู้ปกครองและชุมชนโดยรอบ รวมถึงได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กำหนดว่าต้องเตรียมสถานที่แยกกักตัวในโรงเรียน (School Isolation) จัดแบ่งโซนในโรงเรียนเป็น (1.) โซนคัดกรอง (2.) โซนกักกันผู้ที่มีความเสี่ยง และ (3.) โซนเซฟตี้ เพื่อทำกิจกรรม ทั้งนี้ ทีมตรวจราชการบูรณาการร่วมกัน 2 กระทรวง ต้องติดตามผลการดำเนินการผ่านระบบของกระทรวงศึกษาฯ หรือ MOECOVID และ Thai Stop COVID Plus 

2.) ด้านบุคลากรและนักเรียน หากจะเรียนออนไซต์ นักเรียนต้องมีผลการตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท  (ATK) เป็นลบ ทำกิจกรรมร่วมกันเป็นกลุ่มและแต่ละกลุ่มต้องไม่สัมผัสกัน การควบคุมกำกับเรื่องการเดินทาง รวมถึงการประเมินความเสี่ยงทั้งประวัติ พฤติกรรมและอาการเสี่ยง เป็นระยะผ่านแอปพลิเคชัน ไทยเซฟไทยและอื่น ๆ ส่วนสำคัญ คือ ทุกคนต้องป้องกันตัวเองเคร่งครัด ครูและบุคลากรต้องฉีดวัคซีนครอบคลุมมากกว่า 85% สุ่มตรวจด้วย ATK เป็นระยะ หากพบผู้ติดเชื้อ จำเป็นต้องปิดเรียนต้องปฏิบัติตามแผนเผชิญอย่างเคร่งครัด โดยต้องเน้นย้ำเรื่องการบริการอาหารตามหลักสุขาภิบาล

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ผลการดำเนินงาน มาตรการแซนด์บอกซ์ เซฟตี้โซนอินสคูล เป็นได้อย่างดี แม้ว่าจะพบผู้ติดเชื้อแต่ไม่ได้เกิดจากปัจจัยของโรงเรียน แต่เป็นการสัมผัสผู้ติดเชื้อนอกโรงเรียน จึงเป็นที่มาของการหารือร่วมกันระหว่าง สธ.และศธ. เพื่อกำหนดแนวทางจัดให้มีมาตรการแซนด์บอกซ์ เซฟตี้โซนอินสคูล ในโรงเรียนไป-กลับ โดยคำนึงเรื่องการระบาดในพื้นที่ตามจังหวัดกลุ่มสี ต้องสอดรับกับมาตรการที่ ศบค. และรัฐบาลกำหนด ได้แก่ 

1.) จังหวัดสีเขียว เน้นให้เข้ม 6 มาตรการหลักและเสริม โดยมี 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา ครูและบุคลากรต้องฉีดวัคซีนมากกว่า 85% มีการประเมินความเสี่ยงนักเรียน ครู บุคลากรที่เกี่ยวข้องอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

2.) จังหวัดสีเหลือง ให้เพิ่มการสุ่มตรวจด้วยชุดตรวจ ATK สัปดาห์ละ 1 ครั้ง 

3.) จังหวัดสีส้ม ให้เพิ่มการตรวจ ATK และประเมินความเสี่ยงบุคคลให้ถี่มากขึ้น อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

4.) จังหวัดสีแดง จำเป็นต้องกำหนดมาตรการเพิ่ม 3 ข้อ คือ ให้สถานประกอบการรอบสถานศึกษาในระยะ 10 เมตร ต้องผ่านการประเมินจาก Thai Stop COVID Plus ตามแนวทาง COVID Free Setting มีการทำ School Pass ของบุคคลในโรงเรียน เพื่อประเมินความเสี่ยงของบุคคลผ่านไทยเซพไทย สัปดาห์ละ 3 วัน ผลตรวจ ATK ประวัติรับวัคซีนหรือประวัติการติดเชื้อโควิดใน 1-3 เดือน และต้องจัดกลุ่มนักเรียนห้องละไม่เกิน 25 คน สุ่มตรวจ ATK ใน 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ 

และ 5.) จังหวัดสีแดงเข้ม ให้ทำเหมือนจังหวัดสีแดงโดยเพิ่มการประเมินความเสี่ยงบุคคลผ่านแอป ไทยเซฟไทย ให้ถี่ขึ้นเป็นทุกวัน ด้วยสุ่มตรวจ ATK สัปดาห์ละ 2 ครั้ง

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับ 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษาโรงเรียนไป-กลับ ได้แก่ 

1.) สถานศึกษาประเมินความพร้อมผ่าน Thai Stop COVID Plus และรายงานผลผ่าน MOECOVID 
2.) ให้ทำกิจกรรมในโรงเรียนเป็นกลุ่มย่อย ลดการสัมผัสข้ามกลุ่ม 
3.) เน้นสุขาภิบาลอาหาร 
4.) จัดการสิ่งแวดล้อมให้เป็นตามมาตรฐาน เนื่องจากพบการติดเชื้อของรักเรียนเพราะไปอยู่แออัดในห้องเรียน โดยเฉพาะห้องปรับอากาศ และต้องมีการจัดให้มีห้องแยกกักในโรงเรียน 
5.) มีแผนเผชิญเหตุร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ และมีการซักซ้อมกรณีพบการติดเชื้อในโรงเรียน 
6.) โรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนต้องควบคุมการเดินทางจากบ้านมาโรงเรียน ให้มีความปลอดภัย
และ 7.) จัดให้มี School Pass

“โดยรวมของมาตรการเป็นไปตามที่ ศธ.และสธ. กำหนดร่วมกันโดยต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เน้นย้ำว่าหากจำเป็นต้องเปิดเรียนอีกครั้ง การจำกัดคนเข้าออก การคัดกรองด้วยชุดตรวจ ATK การจัดกิจกรรมเป็นกลุ่มย่อย การประเมินความพร้อม การสุ่มตรวจหาเชื้อบุคลากรเป็นระยะ ก็จะเป็นการหารือกันระหว่างหน่วยงานสาธารณสุขและโรงเรียน” นพ.สุววรณชัยกล่าว

เมื่อถามถึงเหตุการณ์ติดเชื้อในโรงเรียนประจำ และสิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษ นพ.สุวรรณชัย กล่าว รายงานดังกล่าวเกิดจากบุคคลส่วนหนึ่งที่ไปกลับ แล้วมีการติดเชื้อจากภายนอก ดังนั้น เราจึงให้ความสำคัญกับมาตรการและเข้มข้นว่าต้องคัดกรองความเสี่ยง ได้รับวัคซีน สุ่มตรวจด้วย ATK และการจัดการสิ่งแวดล้อมให้มีความเสี่ยงน้อยลง รวมถึงการเดินทางแบบซีลรูท (Seal Route)

เมื่อถามถึงการสนับสนุนการตรวจ ATK นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า การตรวจจะถี่ตามสถานการณ์ระบาด ซึ่งการสนับสนุนจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 8.5 ล้านชุด ที่แจกผ่านสถานพยาบาลในพื้นที่โดยเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลประชาชน ดังนั้น ครู นักเรียน สามารถติดต่อรับชุดตรวจได้ และ กองทุนสุขภาพระดับพื้นที่ท้องถิ่น สามารถจัดหาเพื่อแจกประชาชนได้ รวมถึงระดับโรงเรียนที่หารือร่วมกันกับประชาชน ผู้ปกครองเพื่อจัดหาชุดตรวจได้

ศอ.ปส.ตร. มอบโล่ประกาศเกียรติคุณ! แก่ข้าราชการตำรวจและหน่วยงานที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น ด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ของ ตร. ประจำปีงบประมาณ 2564

วันอังคารที่ 14 กันยายน 2564 พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ข้าราชการตำรวจและหน่วยงานที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น ด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ประจำปีงบประมาณ 2564 

โดยมี พล.ต.อ.มนู  เมฆหมอก รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ศอ.ปส.ตร., พร้อมด้วย พลตำรวจโท ชินภัทร สารสิน ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  ในฐานะ รอง ผู้อำนวยการ ศอ.ปส.ตร. ในพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ข้าราชการตำรวจและหน่วยงานที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่นด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2564 ณ ห้องศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 ตร. ด้วย

ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกข้าราชการตำรวจ และหน่วยงานในสังกัด ตร. ที่มีผลงานการปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามยาเสพติด ดีเด่น เพื่อรับมอบโล่ประกาศเกียรติคุณดังกล่าว ซึ่งพิจารณาโดยใช้เกณฑ์จากปริมาณยาเสพติดที่จับกุมได้ ความยากลำบากในการสืบสวนสอบสวน การทำลายเครือข่ายและยึดอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องจากการกระทำความผิดได้จำนวนมาก รวมถึงการใช้ความรู้ความสามารถในการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ขยายผลจับกุมผู้ต้องหา ทั้งนี้ มีผู้ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก 19  ราย และ 17 หน่วยงาน

ข้าราชการตำรวจที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่นมีดังนี้

1. พันตำรวจเอก ประสงค์ อานมณี  รอง ผบก.สปพ.บช.น.

2. พันตำรวจโท สิทธิพร  มีอาษา   สว.กก.3 บก.ป.บช.ก.

3. พันตำรวจโท ฐานิตย์ นามบ้าน  ผบ.ร้อย.ตชด.315 อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก

4. พันตำรวจเอก วีระพันธ์  ณ ลำปาง   ผกก.3 บก.ปส.2.บช.ปส.

5. พันตำรวจเอก กฤษดา  ศรีอิสาณ   ผกก.2 บก.ปส.3.บช.ปส.  

6. พันตำรวจโท มงคล  ออมทรัพย์  รอง ผกก.1 บก.สกส.บช.ปส. 

7. ว่าที่ พันตำรวจตรี วรวัตต์  อุดรรัตนา  สว. บก.ขส.บช.ปส.

8. พันตำรวจตรี สมพร ลอยกระโทก  สว. กก.สส.ภ.จว.นนทบุรี ภ.1 

9. พันตำรวจตรี ภาณุวิทย์ เพชรแทน  สว. กก.สส.2 บก.สส.ภ.2 

10. ร้อยตำรวจเอก ธนาชัย นามวาท  รอง สว.กก.สส.ภ.จว.อำนาจเจริญ ภ.3

11. พันตำรวจโท ภัควัฒน์  วันสนุก  รอง ผกก.ป สภ.บ้านเดื่อ จังหวัดหนองคาย ภ.4

12. พันตำรวจโท ฐตภณ ทองวิภาวรรณ์   สว.ป สภ.ห้วยไร่ จังหวัดแพร่ ภ.5

13.พันตำรวจเอก ประยุทธ์ เจ๊กภู่  ผกก.(สอบสวน) ภ.จว.อุตรดิตถ์ ภ.6

14. พันตำรวจโท ศุภกิจ มหาโชคธรณี  สว.ป สภ.เมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ภ.7

15. พันตำรวจเอก เชิดพงษ์  ชิวปรีชา  รอง ผบก.สส.ภ.8

16. พันตำรวจเอก ฉลาด พลนาการ  ผกก.สภ.หลังสวน จังหวัดชุมพร ภ.8

17. พันตำรวจเอก นิรันดร์ กันจู   ผกก.สภ.มาบอำมฤตจังหวัดชุมพร ภ.8

18. พันตำรวจเอก พรชัย  สุวรรณวงศ์  ผกก.สส. 2 บก.สส.จชต. ภ.9

19. พันตำรวจเอก ธนวัต เส้งสุย  ผกก.สส. ภ.จว.สงขลา ภ.9

หน่วยงานที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่นมีดังนี้

1. กองกำกับการสืบสวนสอบสวน 2 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการ

ตำรวจนครบาล

2. กองบังคับการตำรวจทางหลวง กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

3. กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 ค่ายเสนีย์รณยุทธ จังหวัดอุดรธานี กองบัญชาการ

ตำรวจตระเวนชายแดน 

4. กองบังคับการสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติด กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด

5. กองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 2 กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด

6. กองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 3 กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด

7. กองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี ตำรวจภูธรภาค 1

8. กองบังคับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรภาค 2

9. กองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดอำนาจเจริญ ตำรวจภูธรภาค 3

10. กองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดหนองคาย ตำรวจภูธรภาค 4

11. สถานีตำรวจภูธรแม่พริก จังหวัดลำปาง ตำรวจภูธรภาค 5 

12. กองบังคับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรภาค 6

13. ตำรวจภูธรจังหวัดกาญจนบุรี ตำรวจภูธรภาค 7 

14. ตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตำรวจภูธรภาค 8

15. ตำรวจภูธรจังหวัดชุมพร ตำรวจภูธรภาค 8

16. ตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ตำรวจภูธรภาค 9

17. ตำรวจภูธรจังหวัดยะลา ตำรวจภูธรภาค 9

ซึ่งการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ข้าราชการตำรวจ และ หน่วยงาน เพื่อให้มีการขับเคลื่อนและเดินหน้าปราบปรามยาเสพติดอย่างเต็มกำลังความสามารถทั้งร่างกายและจิตใจ ห้วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีนโยบายในการปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มข้น ซึ่งมีการตรวจยึดของกลางยาเสพติดจำนวนมาก และสามารถยึดอายัดทรัพย์สินจากนักค้ายาเสพติดรายใหญ่ได้สูงกว่า 6,577 ล้านบาท


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top