Sunday, 27 April 2025
ECONBIZ

ผลไม้จีนทะลัก ‘ด่านหนองคาย’ ไม่จริง!! ยัน!! ไม่เคยให้นำเข้าจากจีน แม้แต่ตู้เดียว 

‘เฉลิมชัย’ สั่งการทูตเกษตรเร่งหารือจีน แก้ปัญหาด่านส่งออกผลไม้ติดขัดเพราะมาตรการซีโร่โควิดของจีน ด้าน ‘อลงกรณ์’ ประชุมสมาพันธ์โลจิสติกส์เดินหน้าประสานจีนส่งออกกล้วยไม้และยางพาราใช้เส้นทางรถไฟไทย-ลาว-จีน ส่วนผลไม้รอหลังตรุษจีน ‘ด่านหนองคาย’ ยืนยันไม่มีผลไม้จีนเข้าไทยเพราะยังไม่ให้นำเข้า

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยวันนี้ว่า จากมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เข้มงวดของด่านนำเข้าจีน ส่งผลต่อการส่งออกผลไม้ของไทยเป็นอย่างมาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.กษ. ในฐานะประธานคณะกรรมการและบริหารการจัดการผลไม้ (Fruit Board) ได้สั่งการทูตเกษตร เร่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและหารือฝ่ายจีนเพื่อแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกการขนส่งผลไม้ไทย

นายอลงกรณ์ฯ กล่าวว่า ล่าสุดได้รับรายงานจากกงสุล (ฝ่ายเกษตร) ประจำนครกว่างโจว ว่าจากการที่ด่านของจีนมีมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโควิด (Zero Covid) ที่อาจติดมากับการขนส่งสินค้าผ่านห่วงโซ่ความเย็นที่เข้มงวด ส่งผลต่อการบริหารจัดการรถบรรทุกสินค้านำเข้าและส่งออกผ่านด่านโหย่วอี้กวน และด่านตงซิง เขตฯ กว่างซีจ้วง ทำให้ปริมาณรถผ่านเข้าออกลดลงจากเดิมมาก และมีรถติดสะสมหน้าด่านจำนวนมาก ทั้งนี้ จากมาตรการของด่านทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการผ่านด่านมากกว่าช่วงปกติ ส่งผลให้ปริมาณรถเข้า-ออกด่านลดลงจากช่วงปกติกว่า 50% 

นอกจากนี้ฝ่ายเกษตรฯ กว่างโจว ได้ประสานงานด่านรถไฟผิงเสียงในการเร่งกลับมาเปิดบริการ เพื่อช่วยในการกระจายสินค้าผลไม้ไทยจากด่านโหย่อี้กวนและด่านตงซิง ซึ่งปัจจุบันมีปัญหารถติดสะสมจำนวนมาก และได้นัดหมายประชุมหารือกับนายกเทศมนตรีเมืองตงซิงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมืองตงซิงในวันที่ 16 ธันวาคมนี้ เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหารถติดที่ด่านตงซิง และการอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าผ่านด่านตงซิง 

สำหรับด่านโม่ฮาน มณฑลยูนนาน ฝ่ายเกษตรฯ กว่างโจว ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พบว่า ปัจจุบันอยู่ในช่วงทดลองการเดินรถ โดยด่านบ่อเต็น ฝั่งสปป.ลาว อนุญาตให้ทดลองปล่อยรถขนส่งผลไม้ไทยเข้าจีนได้วันละ 5 คัน หากไม่พบปัญหาการตรวจพบเชื้อโควิด-19 ด่านโม่ฮานจะกลับมาเปิดให้บริการตามปกติ

'โฆษกรัฐบาล' เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก ปี 65 ส่งสัญญาณดี เอกชนขานรับนโยบาย 'บิ๊กตู่' มั่นใจแรงหนุนจากมาตรการรัฐ  ขณะที่ ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจไทยปี 65 เติบโต 3.9% 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เอกชนเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2565 เติบโตต่อเนื่อง จากการเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 เติบโตร้อยละ 3.9  เพิ่มสูงขึ้นจากการเติบโตร้อยละ 1 ในปีนี้  สอดคล้องกับผลวิจัยกรุงศรีโดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)  รายงานแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนในปี 2565 จะเติบโตที่ 3.6% จากที่ในปี 64 เติบโตอยู่ที่ 1.1% 

นายธนกร กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยและความเชื่อมั่นภาคเอกชนสูงขึ้นในปีหน้าเป็นผลมาจาก แรงหนุนจากมาตรการภาครัฐ และการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ประกอบกับการฟื้นตัวของธุรกิจบริการ เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของเศรษฐกิจไทย อีกทั้งการกระจายการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นไปได้รวดเร็วและทั่วถึง และจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ในระดับต่ำ

บสย.เปิดผลค้ำเงินกู้ช่วยเอสเอ็มอีเจอพิษโควิดทะลุ 2.4 แสนล.

นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผย บสย. ได้ค้ำประกันสินเชื่อ ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งทุนต่อเนื่อง โดยคาดว่าผลดำเนินงาน บสย. ณ สิ้นสุดปี 2564 จะปิดยอดค้ำประกันสินเชื่อมากกว่า 240,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลการดำเนินงานที่สร้างสถิติใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ก่อตั้ง บสย.

ล่าสุดผลการดำเนินงาน บสย. ณ 13 ธ.ค. 2564 มียอดอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ 234,992 ล้านบาท ช่วยเอสเอ็มอี 207,537 ราย และอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ 224,104 ฉบับ โดยมีโครงการที่โดดเด่น 3 โครงการได้แก่ 1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อตาม พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟู วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 124,912 ล้านบาท 2.โครงการ PGS-9 วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 78,799 ล้านบาท และ 3. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro 4 วงเงิน 19,257 ล้านบาท 

ข้าวหอมมะลิ 105 คว้าแชมป์โลก 2 ปีซ้อน คาดดันส่งออกข้าวปีนี้ทะลุเป้า 6 ล้านตัน

‘จุรินทร์’ เผยข้าวหอมมะลิไทย 105 ชนะการประกวดข้าวดีที่สุดในโลกของปี 2021 คว้าแชมป์โลกมาครอง 2 ปีซ้อน ส่งผลส่งออกข้าวปีนี้ทะลุเป้า 6 ล้านตัน

วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ผลการประกวดข้าวโลก หรือ “World’s Best Rice Award 2021” ซึ่งเป็นการจัดงานครั้งที่ 13 โดยผู้ค้าข้าวของสหรัฐอเมริกาเป็นผู้จัดตั้งแต่วันที่ 7-9 ธันวาคม 64 ที่เมืองดูไบโดยจัดแบบไฮบริด หรือรูปแบบผสมผสานเป็นครั้งแรก มีผู้ส่งข้าวเข้าประกวด 6 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย เวียดนาม เมียนมาและไทย

รวมจำนวน 11 ตัวอย่าง ผลการตัดสินปรากฏว่าข้าวหอมมะลิจากประเทศไทย คือ ข้าวหอมมะลิ 105 ซึ่งปลูกในภาคอีสาน ที่ส่งเข้าประกวดโดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้รับรางวัลชนะเลิศ

กนอ.ประกาศแผนปี’65 เดินหน้ากระตุ้นลงทุนในนิคมฯ ดันขึ้นแท่นฮับฐานผลิตในอาเซียน

กนอ. ครบรอบ 49 ปี พร้อมเปลี่ยนเพื่ออนาคต ประกาศแผนปี’65 เดินหน้าพัฒนานิคมฯ ครบวงจร ตอบรับนโยบาย BCG มุ่งสู่ศูนย์กลางฐานการผลิตของภูมิภาคอาเซียน 

นายนรินทร์ กัลยาณมิตร ประธานกรรมการ กนอ. ร่วมเป็นเกียรติในงานฉลองครบรอบ 49 ปี กนอ. โดยระบุว่า ภารกิจหลักของ กนอ.คือ การพัฒนา จัดตั้ง และบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม สร้างฐานการผลิตเพื่อรองรับการลงทุนด้านอุตสาหกรรมของประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากร มุ่งเน้นนวัตกรรมนำการเปลี่ยนแปลง และสร้างการเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อให้เกิดการเติบโตในทุกภาคส่วนของประเทศ ทั้งนี้จากสถานการณ์และสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในปัจจุบัน ทำให้ กนอ. ต้องปรับตัวเพื่อให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยผ่านการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีมาตรฐานจริยธรรม จรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจ และกรอบการบริหารจัดการความยั่งยืน 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้การดำเนินงานขององค์กรเพื่อให้เป็นรัฐวิสาหกิจชั้นนำของประเทศ จำเป็นต้องใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแนวนโยบาย BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม มีการพัฒนาในทิศทางที่สมดุล และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก

นายสมเจตน์ ทิณพงษ์ อดีตผู้ว่าการ กนอ. (ปี 2532 - 2542) กล่าวว่า กว่า 49 ปี ที่ กนอ. ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานบนฐานของพันธกิจ ปรัชญาในการดำเนินงาน และหล่อหลอมเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ระบบคุณค่า 5E’s ประกอบด้วย มุ่งสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economy) มุ่งกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคอย่างทั่วถึง เท่าเทียม (Equitability) มุ่งรักษาสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย อาชีวอนามัย (Environment) สร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ ชุมชน และสังคม (Education) และการเสริมสร้างจริยธรรม คุณธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ (Ethics) ซึ่ง กนอ. ได้ยึดถือเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานมาโดยตลอด จนทำให้ กนอ. เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ที่สำคัญยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ที่วางกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ นำไปปฏิบัติให้บรรลุผลสำเร็จและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

อดีตผู้ว่าการ กนอ. กล่าวต่อว่า ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ส่งผลต่อการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมให้มีความก้าวหน้า โดยปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น มุ่งเน้นสร้างมูลค่าเพิ่ม ต่อยอดทางธุรกิจ ด้วยการจัดการบนพื้นฐานของเทคโนโลยี ผสานองค์ความรู้และนวัตกรรมแห่งอนาคต เพื่อให้องค์กรเติบโตยั่งยืน และมุ่งมั่นเป็นองค์กรที่ดีของสังคม สร้างการมีส่วนร่วมเพื่อวางรากฐานให้ชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ ตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนควบคู่กับการดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการเติบโตทางธุรกิจ และตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ควบคู่กับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เปรียบเสมือนรากฐานที่มั่นคงในการพัฒนาอุตสาหกรรม ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศให้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างยั่งยืน

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า ความสำเร็จของ กนอ. ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันพิสูจน์ให้เห็นว่า บนรากฐานของความร่วมมืออย่างดีจากพันธมิตรทางธุรกิจ และนโยบายของผู้บริหารที่มุ่งมั่นพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในแต่ละช่วงสมัย ส่งผลให้ กนอ. เติบโตอย่างต่อเนื่องและมีศักยภาพ จนกลายเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในระดับภูมิภาค เห็นได้จากปัจจุบันมีนิคมอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 65 แห่ง 16 จังหวัด ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ. ดำเนินงานเอง 14 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน 51 แห่ง และท่าเรืออุตสาหกรรม 1 แห่ง มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ประมาณ 178,891 ไร่ มูลค่าเงินลงทุนสะสม 5.27 ล้านล้านบาท มีผู้ใช้ที่ดินสะสม 5,019 โรงงาน มีแรงงานสะสม 815,804 คน โดยมีนักลงทุนทั้งจากในประเทศ และต่างประเทศร่วมลงทุนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง 

รูดม่าน 'มอเตอร์เอ็กซ์โป' ยอดจองทะลุ 3 หมื่นคัน!!

รูดม่านปิดฉากไปเรียบร้อย สำหรับงาน มอเตอร์เอ็กซ์โป 2021 โดยผู้จัดงาน เผยยอดขายรถทะลุเป้า มียอดจองรถยนต์ 31,583 คัน จักรยานยนต์ 3,253 คัน ส่วนผู้เข้าชมงานอยู่ที่ 1,151,540 คน โดยจำนวนนี้มีผู้ชมงานผ่าน MOTOR EXPO ONLINE PLATFORM 139,110 คน เรียกดู 1,819,123 คลิป

และจากข้อมูลผู้ร่วมกิจกรรม “ซื้อรถ...ชิงรถ” พบว่า รถยนต์ที่ผู้ซื้อเข้าร่วมกิจกรรมสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ HONDA, MAZDA และ MG โดยรถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) ได้รับความสนใจสูงสุด สัดส่วน 49.8% รถเก๋ง สัดส่วน 35.1% รถกระบะ สัดส่วน 10.6 % และอื่น ๆ 4.5% ด้านรถจักรยานยนต์ที่ผู้ซื้อเข้าร่วมกิจกรรม “ซื้อมอเตอร์ไซค์...ชิงบิกไบค์” สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ROYAL ENFIELD, HONDA และ TRIUMPH

‘สุริยะ’ เผยอุตฯ ยานยนต์ไทยเริ่มฟื้น คาดปี’65จะผลิตรถยนต์ได้ 1.7 ล้านคัน

สุริยะ ปลื้มอุตฯ ยานยนต์ไทยมีสัญญาณการเติบโตดี หลังเปิดประเทศ ผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ทุ่มทุนอัปเกรดโรงงาน เตรียมผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ปีหน้า สนองนโยบายส่งเสริมอุตฯ ยานยนต์สมัยใหม่ คาดปี’ 65 การผลิตจะอยู่ที่ 1.7 ล้านคัน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วิกฤตโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกทำให้การผลิตชะลอตัว นักลงทุนจึงมีการทบทวนแผนการลงทุน และปรับแผนการผลิตในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยมีค่ายรถยนต์หลายบริษัท หันมาให้ความสนใจเพิ่มการลงทุนในประเทศไทย แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนมีความเชื่อมั่นศักยภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนในประเทศไทย และนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงอุตสาหกรรมในการขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) ของประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทย ยกระดับการเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนสมัยใหม่ 

ธ.ก.ส.กางแผนจ่ายเงินช่วยชาวนา 4.69 ล้านครัวเรือน

นายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี และมติคณะกรรมการ ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร วงเงินรวมกว่า 160,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 4.69 ล้านครัวเรือน ประกอบด้วย

1. โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 รอบที่ 1 (เพิ่มเติม) เป้าหมายเกษตรกร 4.69 ล้านครัวเรือน โดย ธ.ก.ส. ได้โอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรโดยตรงตามข้อมูลที่ได้รับจากกรมส่งเสริมการเกษตร และผ่านการประชุมของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงฯ งวดที่ 3 - 7 ในช่วงระหว่างวันที่ 9 – 13 ธ.ค. 2564 รวมทั้งสิ้น 3.58 ล้านครัวเรือน เป็นเงินจำนวนกว่า 64,000 ล้าน

2. โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 โดยรัฐจ่ายเงินสนับสนุนให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 รอบที่ 1 กับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาทต่อครัวเรือน วงเงินงบประมาณจำนวน 53,871.84 ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกรจำนวน 4.69 ล้านครัวเรือน โดยจะเริ่มโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรในวันที่ 13 – 17 ธ.ค.2564 ทั้งนี้ เฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ จะเริ่มโอนวันที่ 14-17 ธ.ค. 2564 โดยมีเกษตรกรได้รับเงินจำนวน 4,452,805 ครัวเรือน เป็นเงิน 51,988 ล้านบาท

ดึงนักท่องเที่ยว 'ออสเตรเลีย' เที่ยวไทยเพิ่ม ลุยเปิดบินตรงมาภูเก็ตแล้ว

นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชีย และแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ ททท. สำนักงานซิดนีย์ ได้ร่วมทำกิจกรรมส่งเสริมการขายต่าง ๆ ร่วมกับสายการบินไทย เพื่อกระตุ้นการเดินทางมาประเทศไทย ในกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ และร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวในพื้นที่เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ เช่น กลุ่มนักกอล์ฟ กลุ่มแต่งงานและฮันนีมูน ล่าสุดได้มีเที่ยวบินปฐมฤกษ์ของสายการบินไทย เที่ยวบินที่ ทีจี 478 บินตรงจากสนามบินคิงส์ฟอร์ด สมิธ นครซิดนีย์ ออสเตรเลีย ถึงสนามบินภูเก็ต เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถือเป็นโอกาสดีในการดึงนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งภาคใต้ของไทย 

สำหรับเส้นทางบินเส้นทางนี้ จะให้บริการ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ออกเดินทางจากสนามบินคิงส์ฟอร์ด สมิธ เวลา 9.30 น. ถึงสนามบินภูเก็ต เวลา 14.40 น. ทุกวันอังคาร พฤหัสบดี และเสาร์ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประเทศไทยระหว่างเดือนธ.ค.64 – ม.ค.65 ประมาณ 90-140 ที่นั่งต่อเที่ยวบิน อีกทั้ง สายการบินไทยได้เพิ่มเที่ยวบินเส้นทาง ซิดนีย์-กรุงเทพฯ-ซิดนีย์ จาก 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ให้บริการทุกวันจันทร์ อังคาร พฤหัสบดี และเสาร์ พร้อมทั้งมีแผนที่จะเปิดเส้นทางบินเมลเบิร์น-กรุงเทพฯ-เมลเบิร์น ในเดือนม.ค.65 ด้วย

‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ รวย 1.7 แสนลบ. ครองแชมป์เศรษฐีหุ้นไทย 3 ปีซ้อน

ตลาดหุ้นไทยฟื้นหลังโควิด-19 คลี่คลาย หนุนความมั่งคั่งเศรษฐีหุ้นไทยปี 2564 พุ่ง 3.3 แสนล้านบาท “สารัชถ์ รัตนาวะดี” ครองหุ้นกัลฟ์ ขึ้นแท่นแชมป์เศรษฐีหุ้นไทย 3 สมัย รวย 1.7 แสนล้านบาท “นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” นั่งเศรษฐีหุ้นอันดับ 2 ถือหุ้นบางกอกแอร์เวย์ส-โรงพยาบาลกรุงเทพ/นนทเวช รวมมูลค่า 5.8 หมื่นล้านบาท “นิติ โอสถานุเคราะห์” ทายาทโอสถสภา โชว์พอร์ตหุ้นมูลค่า 5.6 หมื่นล้านบาท ติดอันดับ 3

วารสารการเงินธนาคาร ร่วมกับอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทยติดต่อกันปีนี้เป็นปีที่ 28 แล้ว โดยวัดจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ประเภทบุคคลธรรมดาในประเทศที่ถือหุ้นสูงสุด 10 อันดับแรกของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาด mai ตามการปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นล่าสุดก่อนวันที่ 30 กันยายน 2564

สำหรับผลการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทยปี 2564 ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนธันวาคม 2564 ปรากฏว่า แชมป์เศรษฐีหุ้นไทยปี 2564 ยังคงเป็นของ สารัชถ์ รัตนาวะดี กรรมการ รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF ซึ่งเป็นการครองแชมป์ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 โดยถือหุ้นมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 1 รวม 173,099.73 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น 57,809.73 ล้านบาท หรือ 50.14% ซึ่งสารัชถ์ เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ของ GULF ในสัดส่วน 35.55%

มูลค่าความมั่งคั่งของ สารัชถ์ เศรษฐีหุ้น 3 สมัย เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 ที่ได้ก้าวเข้ามาเป็นแชมป์เศรษฐีหุ้นไทยเป็นปีแรก โดยสารัชถ์ ผู้ถือหุ้นมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 1 มีความมั่งคั่งรวม 120,959.99 ล้านบาท ต่อมาในปีที่ 2 ความมั่งคั่ง 115,289.99 ล้านบาท และทะยานสู่ 173,099.73 ล้านบาท ในปีนี้ จากราคาหุ้นของ GULF ที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปี 2560

เศรษฐีหุ้นอันดับ 2 ได้แก่ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ หรือหมอเสริฐ เจ้าของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพและสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส โดยถือครองหุ้นมูลค่ารวม 58,217.83 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น 8,138.52 ล้านบาท หรือ 16.25%

เศรษฐีหุ้นอันดับ 3 ในปีนี้ยังคงเป็นของ นิติ โอสถานุเคราะห์ นักลงทุนรายใหญ่ ทายาทอาณาจักรโอสถสภา โดยถือครองหุ้นมูลค่ารวม 56,253.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,071.53 ล้านบาท หรือ 16.75% จากการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้นที่อยู่ในพอร์ตลงทุนที่มีชื่อนิติเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10 อันดับแรกในปีนี้

เศรษฐีหุ้นอันดับ 4 ได้แก่ สมโภชน์ อาหุนัย เจ้าของ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) กิจการธุรกิจพลังงาน จำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล และจำหน่ายกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หลังจากหล่นไปอยู่ในอันดับ 8 เมื่อปีที่แล้ว โดยมีมูลค่าหุ้น EA ที่ถือครองในสัดส่วน 23.21% มูลค่า 53,026.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18,613.93 ล้านบาท หรือ 54.09%

เศรษฐีหุ้นอันดับ 5 และ 6 ได้แก่ 2 เจ้าของ บมจ.เมืองไทยแคปปิตอล (MTC) หรือชื่อเดิมคือ เมืองไทยลิสซิ่ง โดย ดาวนภา เพ็ชรอำไพ ขึ้นมาอยู่ในอันดับ 5 จากอันดับ 6 เมื่อปีที่แล้ว โดยถือหุ้น MTC ในสัดส่วน 33.96% มูลค่า 41,940 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,480 ล้านบาท หรือ 18.27% ส่วนชูชาติ เพ็ชรอำไพ ขึ้นจากอันดับ 7 มาอยู่อันดับ 6 โดยถือครองหุ้นรวมมูลค่า 41,631.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,354.06 ล้านบาท หรือ 18.01%

เศรษฐีหุ้นอันดับ 7 ได้แก่ วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท ทีโอเอ ทายาทคนโตของอาณาจักรสี TOA หล่นมาอยู่อันดับ 7 จากอันดับ 4 เมื่อปีที่แล้ว โดยถือครองหุ้นรวมมูลค่า 35,100.85 ล้านบาท ลดลง 6,112.30 ล้านบาท หรือ 14.83%

ก.อุตฯ ผนึกภาคเอกชน ช่วยหนุน SMEs ไทย ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันยุค 4.0

นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังพิธีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม และบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในครั้งนี้ ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 รวมถึงการเชื่อมโยงระหว่างอุปกรณ์เครื่องจักรต่าง ๆ เข้ากับโลกดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของผู้ประกอบการ ประกอบกับที่บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด (ปราจีนบุรี) มีเป้าหมายที่ตรงกันที่อยากจะช่วยพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมของภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อพัฒนาเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 
.

“การลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ในวันนี้ ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมมือกันช่วยยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมไทย โดยมีสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และสถาบันไทย-เยอรมัน ร่วมเป็นกลไกในการขับเคลื่อนกิจกรรมความร่วมมือใน 3 ด้าน ได้แก่... 

1.) ด้านการเพิ่มศักยภาพและพัฒนาบุคลากร โดยจะให้ความร่วมมือด้านวิชาการและเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการพัฒนาศักยภาพโรงงานอุตสาหกรรม ส่งเสริมการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสนับสนุนในกระบวนการทำงาน ตลอดจนการส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปให้คำแนะนำในสถานประกอบการผ่านหลักสูตรที่เน้นการสร้างและพัฒนาบุคลากรให้สามารถถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ขององค์กรสู่บุคลากรได้ 

2.) ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี โดยให้ความร่วมมือในการสนับสนุนด้านกลยุทธ์การใช้เทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ในการวางแผนและปฏิบัติการ (Strategic Planning and Operating) การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ที่เหมาะสมในการปรับปรุงการบริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพ 

และ 3.) ด้านการเผยแพร่ความรู้สู่สังคม โดยให้ความร่วมมือในการจัดกิจกรรม นิทรรศการวิชาการ และเผยแพร่ให้ความรู้ทางวิชาการ ผ่านการประชาสัมพันธ์และการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ เพื่อเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรม 4.0 และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน และประชาชนทั่วไป รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคเอกชนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ด้านต่าง ๆ ในสถานประกอบการได้อย่างเหมาะสม 

‘ซิตี้แบงก์’ เลือก ‘กรุงศรีฯ’ ชนะประมูล คว้าพอร์ตธุรกิจสินเชื่อรายย่อยในไทย

บลูมเบิร์กเผย ซิตี้แบงก์เลือกแบงก์กรุงศรีฯ คว้าประมูลสินทรัพย์ธุรกิจลูกค้ารายย่อยในไทย ตามแผนถอนกิจการลูกค้ารายย่อย 13 ชาติเอเชีย

วันที่ 7 ธันวาคม 26564 สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ซิตี้กรุ๊ป ซึ่งมีแผนถอนตัวธุรกิจลูกค้ารายย่อย ออกจากในหลายชาติของเอเชีย รวมถึงประเทศไทย ได้เลือกผู้เสนอราคาสำหรับการรับช่วงต่อธุรกิจลูกค้ารายย่อยของซิตี้แบงก์ในแต่ละชาติแล้ว โดยบลูมเบิร์กอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดว่า “ซิตี้กรุ๊ป” (Citigroup) สถาบันการเงินระดับโลก ได้เลือก บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ชนะประมูลเข้าซื้อสินทรัพย์รายย่อยในไทย

โดยเบื้องต้นยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดการซื้อขาย ระบุเพียงว่ายังอยู่ในช่วงการเจรจาเงื่อนไขข้อตกลงซึ่งอาจมีความชัดเจนขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ประเมินว่ามูลค่าการซื้อขายสินทรัพย์ในไทยอาจมีมูลค่าประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์

เปิดดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมฟื้นตัว 3 เดือนติดต่อกัน

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม โดยสำรวจผู้ประกอบการ 1,381 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ในเดือนพ.ย. 2564 พบว่า ดัชนีอยู่ที่ระดับ 85.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 82.1 ในเดือนก่อน ปรับตัวเพิ่มเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในประเทศที่มีแนวโน้มคลี่คลายลง 

ขณะที่การฉีดวัคซีนมีความคืบหน้าอย่างชัดเจน ส่งผลให้ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมีการปรับลดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ยกเลิกมาตรการห้ามออกนอกเคหะสถาน (เคอร์ฟิวส์) และอนุญาตให้สถานที่หรือกิจการบางประเภทสามารถเปิดดำเนินการได้ รวมทั้งการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กระบี่ พังงา และภูเก็ต เพื่อรองรับการเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ส่วนดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 97.3 จากระดับ 95.0 ในเดือนต.ค. 2564  

'Omicron' เขย่าเศรษฐกิจ หลายฝ่ายเชื่อระบบสาธารณสุขเอาอยู่

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีการตรวจพบผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนรายแรกของไทย ว่า ไม่อยากให้ทุกฝ่ายต้องตื่นตระหนก จนถึงขนาดต้องกลับมาปิดประเทศอีกครั้ง เนื่องจากหากมีการปิดประเทศอีก เศรษฐกิจที่กำลังค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้น จะกลับมาอยู่ในภาวะช็อกได้ ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นจะยิ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง เพราะการปิดประเทศ ไม่ถือเป็นการตอบโจทย์แล้ว ต้องหาวิธีที่ทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกันได้ 

ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า นโยบายการเปิดประเทศรับต่างชาติมาไทยก็ยังไม่ได้สะดุด แม้จะพบรายงานว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเข้ามาในประเทศไทยเป็นรายแรกแล้ว แต่ก็เชื่อว่าระบบสาธารณสุขของไทย สามารถรับได้ เพราะในกรณีนี้ พบว่ามาจากนักท่องเที่ยวที่มาในรูปแบบ Test & Go ก็ได้รับการคัดกรอง พร้อมกับตรวจหาเชื้อตั้งแต่วันแรกด้วยวิธี RT-PCR จึงมั่นใจว่า การดำเนินการทั้งหมดเป็นไปด้วยความรอบคอบเฝ้าระวังสูงสุด และไม่ได้มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในช่วงปลายปีมากนักหากบริหารจัดการได้ดี

กลุ่มคนกลางคืน นักร้อง นักดนตรี เฮ! นายก สั่ง รมว.เฮ้ง คลอดมาตรการเยียวยาจ่าย 5,000 ม.33 รับ 2 ต่อ 

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับ นางสาวสุนทราลักษณ์ เพ็ชรกูล ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน จากสภาพัฒน์ และผู้แทนกลุ่มคนกลางคืน นำโดย คุณธเนส สุขวัฒน์ ตัวแทนนักดนตรี ผู้จัดงานคอนเสิร์ต คุณวรพจน์ นิ่มวิจิตร ตัวแทนผู้จัดงานคอนเสิร์ต อีเว้นท์ จากสมาพันธ์เครือข่ายคนบันเทิงอาชีพแห่งประเทศไทย ถึงแนวทางการเยียวยานักร้อง นักดนตรี นักแสดง และผู้ประกอบการสถานบันเทิง คลับ ผับ บาร์ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยมี นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย 

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการช่วยเหลือ จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 นายจ้าง ให้ลงทะเบียนโครงการ SME (โครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงาน) ต่ออีก 1 เดือน เพื่อช่วยเหลือนายจ้างกลุ่มนี้ 3 เดือน โดยไม่มีภาษี กลุ่มที่ 2 ลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม จะให้ประกันสังคมเยียวยาว่างงานจากเหตุสุดวิสัยจ่าย 50 เปอร์เซ็นต์ และจ่ายอีก 5,000 บาท จากรัฐบาล (ม.33 เรารักกัน) กลุ่มที่ 3 ลูกจ้างที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม จะได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล โดยใช้เงินกู้จากรัฐบาล แต่ต้องให้สมาคม/สมาพันธ์รับรอง ทั้งนี้ ได้ตรวจสอบตัวเลขในระบบพบว่า ทั้งประเทศคาดว่าอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 1.5 แสนราย ซึ่งจะต้องใช้เม็ดเงินกู้จากรัฐบาลเยียวยาประมาณ 750 ล้านบาท ส่วนผู้ที่เกินอายุเกิน 65 ปี ซึ่งไม่เข้าข่ายมาตรา 40 ของประกันสังคม จะประสานให้กระทรวงวัฒนธรรมสำรวจตัวเลขและเป็นผู้ดูแลเยียวยาต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top