Thursday, 27 March 2025
ECONBIZ

ลุ้น "บิ๊กตู่" ประชุมศบศ. เคาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ-การลงทุน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. มีวาระที่น่าสนใจ โดยที่ประชุมจะพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย เช่นเดียวกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจการคลาวด์เชอร์วิส มาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย และมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับธุรกิจด้านเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพ

นอกจากนี้ยังเตรียมรับทราบรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุดและแนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจไทย จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งติดตามความคืบหน้าการจัดงานสภาอุตสาหกรรมเอ็กซ์โป หรือ FTI Expo 2022 Made in Thailand จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ด้วย 

กนอ. ขานรับนโยบาย ‘สุริยะ’ ดันโรงงานมุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียว คิกออฟ ‘นิคมฯ หนองแค โมเดล’ ที่แรก

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ชู ‘นิคมฯหนองแค โมเดล’ พัฒนาตามแนวทางส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม สอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาล เน้นพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ภายใต้การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปลอดภัยเพื่อชุมชน เตรียมปรับเกณฑ์การประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Efficiency) ปี 2565 พร้อมผลักดันสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียวให้เป็นไปตามเป้าที่กำหนดไว้! 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ รวมทั้งส่งเสริมให้ การประกอบกิจการต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามแนวทางอุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 สอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาล หรือ BCG Model ที่เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม 3 มิติไปพร้อมกัน ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลเกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน

“กระทรวงฯมุ่งมั่นผลักดันโรงงานสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) โดยตั้งเป้าทุกแห่งภายในปี 2568 แบ่งเป็น เป้าหมาย 60% ในปี 2565 เป้าหมาย 80% ในปี 2566 เป้าหมาย 90% ในปี 2567 และเป็น 100% ในปี 2568 ซึ่งเป็นไปตามแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว 2564 - 2580 เน้นเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ส่งเสริมและกำกับดูแลคุณภาพสิ่งแวดล้อมของสถานประกอบการ” นายสุริยะ กล่าว

‘คลัง’ สั่งเพิกถอนใบอนุญาต บจ.บิทคอยน์ หลังชำระทุนจดทะเบียนไม่ถึง 50 ลบ.

เว็บไซต์ราชกิจจาฯ เผยแพร่ คำสั่งกระทรวงการคลัง เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัลประเภทการเป็นศูนย์ซื้อขาย คริปโทเคอร์เรนซี และใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ ดิจิทัลประเภทการเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล ของบริษัท บิทคอยน์ จำกัด

วันที่ 1 ธ.ค. 64 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ คําสั่งกระทรวงการคลังที่ 1904/2564 เรื่อง เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัท บิทคอยน์ จํากัด เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 64 ที่ผ่านมา

ความว่า ด้วยปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัท บิทคอยน์ จํากัด (“บริษัท”) ในฐานะผู้ได้รับใบอนุญาต ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทการเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี และใบอนุญาตประกอบ ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทการเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล ตามพระราชกําหนดการประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561

ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการได้รับใบอนุญาตตามข้อ 2 (3) ประกอบกับ ข้อ 3 (2) ของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การอนุญาตการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 (“ประกาศกระทรวงการคลัง”)

โดยเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2563 และวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 บริษัทได้ลดทุนจนทําให้ทุนจดทะเบียน ซึ่งชําระแล้วของบริษัทเหลือเพียง 12.5 ล้านบาท และ 3.125 ล้านบาท ตามลําดับ ซึ่งข้อ 2 (1) ของประกาศคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 20/2561 เรื่อง การกําหนด ทุนจดทะเบียนซึ่งชําระแล้วของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ประกอบกับข้อ 3 (1) ของประกาศคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 32/2563 เรื่อง การกําหนดทุนจดทะเบียนซึ่งชําระแล้วของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ที่กําหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ต้องมีทุนจดทะเบียนซึ่งชําระแล้วไม่น้อยกว่าจํานวน 50 ล้านบาท

เกษตรฯ บี้ ยกระดับทำเกษตรแปลงใหญ่ลดต้นทุน สั่งสิ้นปีต้องเสร็จ

นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินงานโครงการยกระดับแปลงใหญ่ ว่า ที่ประชุมได้สั่งการให้หน่วยงานเจ้าของสินค้าที่มีปัญหาในการดำเนินการที่คาดว่าจะแล้วเสร็จช้ากว่าแผนที่กำหนด ให้ติดตามเร่งรัดอย่างใกล้ชิด และรายงานความก้าวหน้าให้ทราบอย่างต่อเนื่อง และส่งรายงานเอกสารบัญชีกลุ่มแปลงใหญ่ที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ให้ตรวจสอบบัญชีสหกรณ์เข้าไปตรวจสอบให้ทันตามแผน ซึ่งทุกกิจกรรมต้องเสร็จภายในเดือนธ.ค. 2564 

สำหรับการเบิกจ่ายเงินของกลุ่มแปลงใหญ่ โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาดโครงการส่วนใหญ่ถือได้ว่าเป็นไปตามแผนเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 3,044 แปลง คงเหลือ 220 แปลง กลุ่มแปลงใหญ่ดำเนินการเบิกจ่ายเงินแล้ว จำนวน 3,269 แปลง จากเป้าหมาย 3,379 แปลง โดยผลการเบิกจ่ายดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ จำนวน 110 แปลง ซึ่งมีกำหนดเสร็จตามแผนส่วนใหญ่ 

ขณะเดียวกันที่ประชุมได้รับทราบผลจากการลงพื้นที่จังหวัดสระบุรีเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มแปลงใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการฯ สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดหาปัจจัย วัสดุอุปกรณ์การผลิต เครื่องจักรกล เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตของกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ตามแผนการบริหารจัดการกลุ่ม 

เซ็นทรัลรีเทล ทุ่ม 4,500 ล้าน ซื้อหุ้น Grab สตาร์ทอัพระดับ Decacorn ตัวแรกอาเซียน

บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (CRC) ประกาศปิดดีลใหญ่ เข้าซื้อหุ้น Grab ประเทศไทย ซึ่งเป็นเบอร์ 1 Super app ของอาเซียน ด้วยเงินลงทุน 4,500 ล้านบาท

CRC เข้าซื้อหุ้น Porto Worldwide Limited (“Porto W2W”) ในสัดส่วน 67% ซึ่งลงทุนในเซ็นทรัลซื้อแกร็บแท็กซี่ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด

การปิดดีลในครั้งนี้ถือเป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญเพื่อต่อยอดให้ เซ็นทรัล รีเทล เป็น Digital Retail ที่สมบูรณ์แบบที่สุดของประเทศไทย และตอบโจทย์ลูกค้าได้ครบวงจรตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง

สำรวจซีอีโอ ส.อ.ท. กังวลต้นทุนพลังงานพุ่ง คาดกดรายได้ลง 20% วอนรัฐลดค่าน้ำ-ไฟ 

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll จากผู้บริหาร ส.อ.ท. 160 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด หัวข้อ “สินค้าแพง ต้นทุนพุ่ง กระทบเศรษฐกิจไทยแค่ไหน?” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่า ปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อราคาสินค้านั้น มาจากราคาน้ำมันและพลังงานโลกปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้ง ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือที่อยู่ในระดับสูง ทำให้รายได้ผู้ประกอบการลดลง 10-20% และคาดการณ์ว่าแนวโน้มต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมใน 3-6 เดือนข้างหน้า จะยังคงปรับเพิ่มขึ้นอีก 10-20%

โชห่วยยังครองใจรากหญ้านิยมซื้อของคู่ร้านสะดวกซื้อ

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน ในช่วงเดือนต.ค.2564 จากจำนวนตัวอย่าง 8,428 คน ทุกอำเภอทั่วประเทศ เกี่ยวกับความจำเป็นของร้านจำหน่ายสินค้า ทั้งร้านโชห่วย ร้านสะดวกซื้อ ห้างค้าปลีกค้าส่งและซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ พบว่า ร้านสะดวกซื้อและร้านโชห่วยยังมีความจำเป็นต่อบริโภคในระดับใกล้เคียงกัน โดย 88.02% เห็นว่าร้านสะดวกซื้อมีความจำเป็นมากที่สุด 

ขณะที่อีก 87.53% ได้เลือกร้านโชห่วย โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 20,000 บาท และอาชีพเกษตรกร ยังนิยมซื้อสินค้าที่ร้านโชห่วย โดยระบุว่า ร้านโชห่วยมีความจำเป็นมาก ส่วนอีก 77.65% เลือกซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ส่วนระดับภูมิภาคที่นิยมซื้อสินค้าจากร้านโชห่วยมากที่สุด คือ ภาคเหนือ ขณะที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ได้รับความนิยมน้อยที่สุด

รัฐตั้งกองทุนคุ้มครองแรงงานนอกระบบ-เพิ่มสิทธิ ม.40

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ เช่น การรณรงค์ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ การช่วยเหลือกลุ่มแรงงานนอกระบบหรือองค์กรแรงงานนอกระบบ 

รวมถึงการให้แรงงานนอกระบบสามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนทั้งแบบรายบุคคลและรายกลุ่ม เพื่อเป็นทุนประกอบอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิต และมีหลักประกันทางสังคมสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ เช่น ประกันทรัพย์สิน ประกันชีวิต ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์นอกเหนือจากที่ผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้รับจากกองทุนประกันสังคม สำหรับแหล่งรายได้ของกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบมาจาก เช่น ค่าสมาชิกรายปีคนละ 360 บาท ทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ครั้งเดียววงเงิน 100 ล้านบาท และเงินดอกผลของกองทุน

ครม.เคาะประกันรายได้ ข้าว-ยางพารา จ่ายเงินถึงมือเกษตรกร ธ.ค.นี้

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมครม. ว่า ที่ประชุมเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรพืชเกษตรตามนโยบายรัฐบาล ทั้งโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพิ่มเติม วงเงิน 76,080 ล้านบาท, โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 วงเงิน 54,972 ล้านบาท และโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 วงเงิน 10,065 ล้านบาท รวมวงเงิน 1.4 แสนล้านบาท 

ส่วนโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการฯ นั้น ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดหาแหล่งเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามโครงการ โดยโครงการนี้มีกลุ่มเป้าหมาย คือ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/65 ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรประมาณ 4.69 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ จะได้รับการช่วยเหลือเป็นเงินจ่ายขาด ในอัตราไร่ละ 1,000 บาทไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท โดยระยะเวลาจ่ายเงินตั้งแต่เดือนก.ย.64 – เม.ย.65

‘จุรินทร์’ ชงครม. จ่ายเงินประกันราคา กลุ่ม ‘ข้าว-ยางพารา’ เอาใจเกษตรกร

(30 พ.ย. 64) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า สำหรับเงินประกันรายได้ข้าว ได้จ่ายให้ชาวนาแล้ว 2 งวด เป็นเงินประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 31 งวดก่อนหน้านี้ยังไม่ได้จ่ายไป เพราะต้องรอขยับเพดานหนี้รัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำจาก 30 เปอร์เซ็นต์ เป็น 35 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเพิ่งดำเนินการไปเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 

“บิ๊กตู่”สั่งผลักดันการท่องเที่ยว Wellness Tourism และ Medical Tourism รองรับการท่องเที่ยวในยุคโควิด-19

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หนึ่งในแนวนโยบายของรัฐบาลภายใต้การกำกับดูแลของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ การส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว โดยสั่งการให้ต้องดำเนินควบคู่ไปกับการปรับกลยุทธ์ของภาคการท่องเที่ยว เพื่อให้สอดรับกับความปลอดภัยทางมาตรการสาธารณสุข การลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย และความต้องการของนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ 

“โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รับลูกจากการสั่งการของนายกรัฐมนตรี เตรียมส่งเสริมและการขยายการท่องเที่ยวในรูปแบบ Medical Tourism (การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์) และ Wellness Tourism (การท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ) เพื่อเป็นการปรับกลยุทธ์การท่องเที่ยวในปี 2565 ให้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน จากที่ให้ความสำคัญกับปริมาณนักท่องเที่ยวเป็นหลัก เปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่สร้างมูลค่าสูง หรือมีค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวที่สูงแทน อาทิ การท่องเที่ยวในรูปแบบ Medical Tourism และ Wellness Tourism ที่มีค่าใช้จ่ายต่อหัวอยู่ที่ 80,000-120,000 บาท

รวมถึงให้ความสำคัญกับคุณภาพของการท่องเที่ยวที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value added) ให้กับสินค้าและบริการ ในขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขพร้อมตอบรับเตรียมดำเนินการคู่ขนานตาม ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medial Hub) พ.ศ. 2560-2569 สนับสนุนการใช้สมุนไพรไทย เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมสุขภาพ (Wellness) ให้กับนักท่องเที่ยวให้ได้รับความผ่อนคลายจากผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยในแต่ละท้องถิ่น อาทิ บริการนวดไทยเพื่อสุขภาพ ซึ่งยังช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่การท่องเที่ยวต่างๆ ด้วย “ นายธนกรกล่าว

 

‘ดีพร้อม’ ยกระดับกาแฟภาคเหนือตอนบนไทย ปั้น ‘แลนด์มาร์กอาราบิก้า’ ชิงแชร์ 4 หมื่นล้าน 

ดีพร้อม ติดสปีดผู้ประกอบการ “กาแฟอาราบิก้าภาคเหนือตอนบน” โตทะลุ 5 พันล้าน พร้อมปรับแนวทางธุรกิจรับยุคชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) - เทรนด์โลกกับคาเฟ่ครบวงจร 

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม ต้อนรับเปิดประเทศ และสอดรับนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรมในการยกระดับกาแฟอาราบิก้าอย่างครบวงจรจากต้นสู่แก้ว (Coffee to Cup : C2C) ภายใต้อัตลักษณ์กาแฟภาคเหนือ โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน ได้ทำให้มูลค่าของตลาดกาแฟในภาคเหนือตอนบนเติบโตมากขึ้นถึง 5,000 ล้านบาท พร้อมเผยแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว รับการเติบโตของธุรกิจร้านเครื่องดื่ม (คาเฟ่) รวมถึงพฤติกรรมการเว้นระยะห่าง และการปรับรูปแบบการเลือกซื้อสินค้า อาทิ การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานเมล็ดกาแฟ การเพิ่มโอกาสในการขยายตลาด พร้อมยกระดับกาแฟอาราบิก้าภาคเหนือตอนบนให้มีมาตรฐาน และเป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญในระดับโลก

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ขับเคลื่อนนโยบายเปิดประเทศ และในช่วงที่ประเทศไทยเริ่มกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้มอบนโยบายให้ดีพร้อมเร่งฟื้นฟูภาคส่วนสำคัญทั้งด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว รวมทั้งการเข้าถึงวิสาหกิจชุมชนในหลาย ๆ พื้นที่ โดยนโยบายที่สำคัญด้านหนึ่งคือการยกระดับกาแฟอาราบิก้าให้เกิดขึ้นอย่างครบวงจร ภายใต้อัตลักษณ์กาแฟภาคเหนือ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟที่มีคุณภาพและทำให้ภาคเหนือตอนบนเป็นแหล่งผลิตเมล็ดกาแฟที่มีชื่อเสียง ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวในปี 2562 จนถึงปัจจุบันได้ผลักดันทักษะของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกาแฟในภาคการผลิตและภาคบริการให้ก้าวสู่ทิศทางที่ดีขึ้น

การพัฒนาดังกล่าว ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มูลค่าของตลาดกาแฟของภาคเหนือตอนบน เติบโตมากขึ้นถึง 5,000 ล้านบาท พร้อมทั้งเป็นแรงผลักดันให้การเติบโตของอุตสาหกรรมกาแฟในประเทศไทยเฉลี่ยปีละ 10-15% โดยตลาดกาแฟในประเทศไทยปี 2562 มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ราว 37,000 - 38,000 ล้านบาท ส่วนในปี 2563 ที่ผ่านมา มูลค่าของตลาดกาแฟในประเทศไทยอยู่ที่ 42,537 ล้านบาท แบ่งเป็นกาแฟสด 4,119 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.7 อัตราขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 5.8% ต่อปี ส่วนกาแฟสำเร็จรูปอยู่ที่ 38,418 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90.3 และมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 3.8% ต่อปี นอกจากนี้ เมื่อศึกษามูลค่าในระดับโลกยังมีการคาดการณ์ว่าตลาดกาแฟในช่วงระหว่างปี 2564 - 2566 จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องปีละ 9% และมีมูลค่าที่สูงมากถึง 191.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ดีพร้อมยังได้มีการศึกษาภาพรวมในตลาดกาแฟซึ่งพบว่ามีหลายปัจจัยที่เป็นตัวเร่งให้ผู้ประกอบการต้องปรับรูปแบบในการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของธุรกิจร้านเครื่องดื่ม (คาเฟ่) ที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ การลดบริโภคเครื่องดื่มนอกบ้านจากมาตรการล็อกดาวน์ ภายใต้สถานการณ์การระบาดโควิด-19 และเปลี่ยนพฤติกรรมมาสู่ยุคชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) การดื่มกาแฟสด - เลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากช่องทางออนไลน์และดิลิเวอรี่เพิ่มมากขึ้น จากปัจจัยดังกล่าว ดีพร้อมจึงได้มีแนวทางเพิ่มโอกาสการเติบโตของผู้ผลิตกาแฟในพื้นที่ภาคเหนือผ่านโครงการยกระดับศูนย์กลางการพัฒนาอัตลักษณ์กาแฟอะราบิก้าภาคเหนือ ด้วยแนวทางที่สำคัญดังนี้...

นายกฯ หารือร่วมกับคณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน  โชว์วิสัยทัศน์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ Next Normal ภาคเอกชนสหรัฐฯ ยืนยันเดินหน้าสนับสนุนและร่วมมือกับไทยทุกด้าน 

ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมกับคณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (U.S. - ASEAN Business Council: USABC) ผ่านรูปแบบผสมระหว่างการเข้าพบหารือและการประชุมทางไกล (hybrid) โดยมีนาย Michael Heath อุปทูตรักษาราชการชั่วคราว สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย นาย Ted Osius ประธาน USABC พร้อมด้วยผู้แทนจาก USABC และผู้บริหารภาคเอกชนสหรัฐฯ จำนวน 49 บริษัท เข้าร่วมการประชุมฯ โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ 

นาย Michael Heath อุปทูตรักษาราชการชั่วคราว สอท. สหรัฐฯ ประจำประเทศไทย การหารือครั้งนี้สะท้อนถึงความเป็นพันธมิตรที่ยาวนานและเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ ไทยเป็นตลาดที่สำคัญแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งการประชุมในครั้งนี้จะให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงานและความมั่นคงอย่างยั่งยืนเป็นประเด็นหลัก พร้อมชื่นชมการทำงานของรัฐบาลไทยที่บริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถนำคณะธุรกิจสหรัฐฯ มาได้ในครั้งนี้ ซึ่งสภาธุรกิจสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับประเทศไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยืนยันว่าต้องการจะขยายการลงทุนในไทย และยินดีที่จะสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีหน้า

นายกรัฐมนตรียินดีอย่างยิ่งที่ได้พบหารือกับผู้บริหารและผู้แทนบริษัทสมาชิก USABC ซึ่งถือเป็นคณะที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ในการเยือนภูมิภาคประจำปีของ USABC และถือเป็นมิตรของไทยที่พบกันเป็นประจำทุกปี รวมทั้งจะเป็นโอกาสในการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นถึงทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทย เชื่อมั่นว่าร่วมกันขับเคลื่อนความร่วมมือเชิงธุรกิจระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ให้เติบโตยิ่งขึ้น โดยการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่ารวมกว่า 29,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และขยายตัวร้อยละ 6.19 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว รวมทั้งในทางนโยบายทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องกันในประเด็นสำคัญ การส่งเสริมพลังงานสะอาด การพัฒนา เทคโนโลยี EV และการเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคง ยั่งยืน และหลากหลาย ซึ่งล้วนเป็นพื้นฐานที่ดีในการสานต่อความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยรัฐบาลไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกบริษัทอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเสริมสร้างบทบาทของภาคเอกชนสหรัฐฯ เพื่อยกระดับการค้าและการลงทุนระหว่างกัน 

นายกรัฐมนตรีนำเสนอ 3 ประการหลักที่ไทยให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ Next Normal อย่างยั่งยืน มั่งคั่ง และเข้มแข็ง ดังนี้

1. การเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความสมดุลและยั่งยืน โดยมีโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (BCG) เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจโดยมุ่งดูแลฐานทรัพยากร และการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งด้านพลังงานสะอาด ไทยจะเพิ่มความร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐฯ ด้านการผลิตและใช้พลังงานสะอาด ส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล และการพัฒนาอุตสาหกรรม EV และชิ้นส่วนระบบที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนให้ไทยเป็นฐานการผลิต EV ของโลก    

2.  การเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน ยืดหยุ่น หลากหลาย และมั่นคง ในภูมิภาค โดยเฉพาะในสาขาแบตเตอรี่ความจุสูง สำหรับ EV และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์เพื่อสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุขให้กับไทยและภูมิภาคในระยะยาว ผ่านการพัฒนาความร่วมมือ ถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรมให้ไทยมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 และเป็นจุดหมายปลายทางของ Medical Tourism อันดับต้นของโลก

3. ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อยกระดับขีดความสามารถและศักยภาพของเศรษฐกิจไทย และรับมือกับความท้าทายในยุค Next Normal มุ่งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลาง data center และศูนย์กลางคลาวด์ในระดับภูมิภาค โดยเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เศรษฐกิจแบบแบ่งปันและบริการคลาวด์ ส่งเสริม e-commerce ธุรกิจ digital startups และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 15 แห่งทั่วประเทศ ตลอดจนพัฒนากำลังพลด้านดิจิทัลด้วยการเสริมทักษะแก่บุคลากร ขณะเดียวกันได้เชิญชวนให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ ร่วมมือกันขับเคลื่อน Digital Thailand ผ่านการลงทุน ณ Digital Valley และ IoT Institute ใน EEC อาทิ การรักษาแบบ Telemedicine    

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมถึงการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ภายใต้แนวทางหลัก “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” เพื่อสร้างประชาคมเอเชีย-แปซิฟิก ให้เข้มแข็งและเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและทุกภาคส่วน จึงหวังว่าภาคเอกชนสหรัฐฯ จะร่วมทำงาน และสนับสนุนประเด็นที่ให้ความสำคัญร่วมกันเพื่อส่งต่อวาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคจากไทยไปสู่วาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคของสหรัฐฯ ในปี 2566 อย่างมีประสิทธิภาพไร้รอยต่อ

ด้านนาย Ted Osius ประธาน USABC กล่าวว่าไทยเป็นตลาดส่งออกหลักของสหรัฐฯ และยืนยันความร่วมมือในการส่งเสริมและขยายการส่งออกต่อไป โดยเฉพาะด้านสุขภาพและสาธารณสุข ยินดีจะยืนเคียงข้างไทย รวมทั้งชื่นชมการเปิดประเทศและความมุ่นมั่นของไทยที่จะเพิ่มเติมบทบาทด้านการสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน ตลอดจนสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล อีกทั้งยินดีที่จะสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีหน้า ซึ่งทางคณะนักธุรกิจสหรัฐฯ ยินดีที่จะสร้างความร่วมมืออย่างมีความรับผิดชอบและใกล้ชิดในการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจท่ามกลางการต่อสู้สถานการณ์โควิด-19 ร่วมกัน และจะติดตามการทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ของไทยต่อไป ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณสำหรับข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์จากทุกภาคส่วน ซึ่งขอให้เชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทยและเศรษฐกิจไทย รวมทั้งความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจากวิกฤตโควิด-19 เพื่อการพัฒนาแห่งอนาคตที่เปิดกว้าง เชื่อมโยง สมดุล และยั่งยืน พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกันภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดเพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการร่วมมือกันมากยิ่งขึ้นต่อไป

กนอ.- GPSC - TTM ลงนามศึกษาโรงไฟฟ้า เล็งใช้พลังงานสะอาด หนุนภาคการผลิต

กนอ. ลงนามร่วม GPSC - TTM ศึกษาและวิจัยพัฒนาโรงไฟฟ้าป้อนภาคการผลิตในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จ.สงขลา เล็งสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้า หนุนพลังงานสะอาด มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ดึงความเชื่อมั่นการลงทุนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ 

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาเสถียรภาพทางพลังงานไฟฟ้าและเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเพื่ออุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ระหว่าง กนอ. บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC และบริษัท  ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย ) จำกัด หรือ TTM เพื่อศึกษา วิจัย และพัฒนาโครงการสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานไฟฟ้าและเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติให้กับภาคอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จ.สงขลา เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการลงทุนของในพื้นที่ภาคใต้ โดยโครงการนี้ มีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี (ปี 2565 - ปี 2566) 

ทั้งนี้ กนอ. เลือกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จ.สงขลา เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ และมีความเหมาะสมต่อการพัฒนาด้านพลังงานหลากหลายรูปแบบให้มีประสิทธิภาพ และมีเสถียรภาพมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งเป็นต้นแบบการพัฒนาระบบไฟฟ้าและพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งสามารถขยายไปยังพื้นที่ที่มีศักยภาพอื่น ๆ ได้

“ความร่วมมือครั้งนี้ กนอ. จะจัดหาข้อมูลรายละเอียดเชิงพื้นที่ เกี่ยวกับความต้องการไฟฟ้าทั้งในปัจจุบันและแผนในอนาคต รวมถึงกฎระเบียบและข้อกำหนดต่าง ๆ ในการพัฒนาโครงการเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านระบบไฟฟ้าในพื้นที่ และรองรับการขยายการลงทุนสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตในอุตสาหกรรมยางพาราครบวงจร ซึ่งจะมีความเชื่อมโยงในระบบห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะเกษตรกรสวนยางพาราของไทย ที่จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ยางของประเทศในอนาคต” ผู้ว่าการ กนอ. กล่าว

น่าห่วง! เปิดผลสำรวจเอสเอ็มอีซมพิษโควิดปิดกิจการเพียบ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานภาพธุรกิจไทยหลังโควิด-19 ปัญหาอุปสรรค และแนวทางการแก้ไข จากกลุ่มตัวอย่างเอสเอ็มอีจำนวน 625 รายทั่วประเทศ พบว่า แม้ปัจจุบัน รัฐบาลจะมีการคลายล็อกกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยแล้วก็ตาม

แต่กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 40.1% ยอมรับว่าได้รับผลกระทบมากและมีโอกาสปิดกิจการ ถึงแม้ว่ารัฐจะออกมาตรการต่างๆ เพื่อมาลดผลกระทบ แต่ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงมาตรการได้ โดยเฉพาะการเพิ่มสภาพคล่องเนื่องจากประสบปัญหาในเรื่องของการขาดหลักทรัพย์ค้ำประกันและเงื่อนไขของสถาบันการเงิน

ทั้งนี้ รวมถึงยังมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามามีส่วนทั้งต้นทุนประกอบการที่สูงขึ้นจากการผลิตสินค้าและต้นทุนที่สูงขึ้นจากมาตรการโควิด-19 จึงต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยในเรื่องของการเพิ่มสภาพคล่องอย่างเร่งด่วน ด้วยการปล่อยสินเชื่อโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อให้มีโอกาสเข้าถึงเงินทุนได้ดีขึ้น การลดหย่อนภาษี สำหรับอนาคต และการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคการท่องเที่ยว และขอให้รัฐบาลผ่อนคลายให้ธุรกิจกลางคืนสามารถเปิดกิจการได้ เนื่องจากมี สัดส่วนต่อจีดีพี ถึง 20% คิดเป็นเงิน 2-3 ล้านล้านบาทต่อปี 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top