Tuesday, 13 May 2025
ECONBIZ

‘Swap & Go - OR’ รุกขยายสถานีสลับแบตฯ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เชื่อมต่อการเดินทางทุกรูปแบบ ตั้งเป้า 100 แห่ง ภายในปี 67

เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 66 ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย นายสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ นายพิมาน พูลศรี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (โออาร์) และนางสาวอาวีมาศ สิริแสงทักษิณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สวอพ แอนด์ โก จำกัด ตอกย้ำโปรเจกต์ความร่วมมือ ‘Swap & Go - Universal Battery Swapping Network Expansion Empowered by OR’ การขยายเครือข่ายแพลตฟอร์มสถานีสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าของสวอพ แอนด์ โก ที่ใช้ได้กับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าทุกรูปแบบ (Universal Swapping) ภายในสถานีบริการ PTT Station ของโออาร์ ตอบโจทย์การเดินทางที่ต้องการความสะดวกและรวดเร็ว 

เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ (Seamless Mobility) ตั้งเป้าขยายจุดให้บริการสถานีสลับแบตเตอรี่ครอบคลุมกรุงเทพฯ ปริมณฑลกว่า 100 แห่งในปี 2567 และบริการดูแลรักษาและซ่อมบำรุง ผ่านเครือข่ายสถานีบริการ PTT Station เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้นวัตกรรมพลังงานสะอาดและเป็นทางเลือกของผู้บริโภคในการประหยัดค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงาน โดยสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าทุกมิติ เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเติบโตไปพร้อมกัน

‘ดร.ดนุวัศ’ สรุป ‘10 เทคโนโลยีเกิดใหม่มาแรงปี 2023’ ส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคม ใน 3-5 ปีข้างหน้า

เมื่อไม่นานมานี้ รศ.ดร.ดนุวัศ สาคริก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาการศึกษา อาจารย์คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ‘Danuvas Sagarik’ ถึง 10 เทคโนโลยีเกิดใหม่ที่มาแรงสุดในปี 2023 โดยระบุว่า…

😀10 อันดับ เทคโนโลยีเกิดใหม่สุดปัง ที่มาแรงสุดในปี 2023🌈

🎉 World Economic Forum ได้เผย 10 เทคโนโลยีเกิดใหม่ที่น่าจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคม ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า ได้แก่

📌 1. แบตเตอรี่แบบยืดหยุ่นได้ (Flexible Batteries)

ในอนาคต อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น จะเห็นได้จากพัฒนาการของอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น หน้าจอคอมพิวเตอร์พับได้ สมาร์ทโฟนพับได้

ทำให้แบตเตอรี่แบบแข็งอาจถูกแทนที่ด้วยแบตเตอรี่ที่ทำจากวัสดุน้ำหนักเบา บาง สามารถบิด งอ หรือยืดหยุ่นได้ง่าย 

📌 2. ปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI)

เป็นปัญญาประดิษฐ์ที่มีความสามารถในการ ‘สร้างใหม่’ จากชุดข้อมูลที่มีอยู่ด้วยอัลกอริทึม 

Generative AI กำลังได้รับความนิยม จากการปรากฏตัวของ ChatGPT และถูกนำไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในหลากหลายอุตสาหกรรม

📌 3. เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel)

เป็นอีกเทคโนโลยีที่ทั่วโลกให้ความสนใจ ท่ามกลางกระแสการคมนาคมสีเขียว (Green Transportation) ซึ่งรวมไปถึงความนิยมการใช้รถ EV 

แม้ปัจจุบัน Sustainable Aviation Fuel ถูกใช้ในสัดส่วนไม่ถึง 1% ของความต้องการเชื้อเพลิงเครื่องบินทั่วโลก 

แต่สัดส่วนดังกล่าวจำเป็นจะต้องเพิ่มขึ้นเป็น 13-15% ภายในปี 2040 เพื่อให้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050

📌 4. ไวรัสที่ถูกออกแบบ และปรับแต่งเพื่อใช้ทางการแพทย์ (Designer Phages)

เช่น สามารถใช้รักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับไมโครไบโอม เช่น กลุ่มอาการฮีโมไลติกยูรีมิก ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้ยาก แต่ร้ายแรง ซึ่งส่งผลต่อไตและการแข็งตัวของเลือด ซึ่งเกิดจากเชื้ออีโคไลบางชนิด

📌 5. Metaverse เพื่อสุขภาพจิต (Metaverse for Mental Health)

Metaverse หรือโลกเสมือนที่เปิดให้ผู้คนเข้าไปทำกิจกรรมหรือมีปฏิสัมพันธ์กัน ผ่านการใช้เทคโนโลยี AR และ VR

ปัจจุบัน Metaverse ถูกนำไปใช้ในการรักษาสุขภาพจิตในหลายวิธี ซึ่ง Metaverse ช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยผ่านการรักษาทางไกล

เช่น บริษัท DeepWell Therapeutics ที่สร้างวิดีโอเกมเพื่อรักษาอาการซึมเศร้าและความวิตกกังวล

และบริษัท TRIPP ซึ่งสร้าง ‘Mindful Metaverse’ ซึ่งช่วยเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนผ่านการเจริญสติ และการทำสมาธิ 

📌 6. เซ็นเซอร์ติดที่พืช (Wearable Plant Sensors)

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า การผลิตอาหารของโลกจะต้องเพิ่มขึ้น 70% เพื่อเลี้ยงประชากรทั้งโลกให้เพียงพอ ภายในปี 2050 

นวัตกรรมทางเทคโนโลยีด้านการเกษตรจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะเสริมความแกร่งด้านความมั่นคงด้านอาหารของโลก

เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ติดที่พืชกำลังกลายเป็นวิธีตรวจสอบสุขภาพและคุณภาพของพืชที่ทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้สุขภาพของพืชผลต่าง ๆ ดีขึ้น และมีผลผลิตมากขึ้น

อุปกรณ์มีขนาดเล็ก และไม่รบกวนพืช ใช้ติดเข้ากับพืชต่าง ๆ เพื่อการตรวจสอบอุณหภูมิ ความชื้น และระดับสารอาหารได้อย่างต่อเนื่อง 

ทำให้เกษตรกรควบคุมการใช้น้ำ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และตรวจหาสัญญาณเริ่มต้นของโรคได้ดีขึ้น

📌 7. เทคโนโลยีที่ใช้วิเคราะห์โมเลกุลในพื้นที่ที่เซลล์หรือโครงสร้างชีวภาพต่าง ๆ อยู่ (Spatial Omics)

Spatial Omics จึงอาจให้คำตอบแก่นักวิจัยได้เพิ่มขึ้น ด้วยการรวมเทคนิค ‘การถ่ายภาพขั้นสูง’ เข้ากับความเฉพาะเจาะจงและความละเอียดของการจัดลำดับ DNA 

วิธีการที่เกิดขึ้นใหม่นี้ช่วยทำให้นักวิจัยค้นพบความลึกลับของสิ่งมีชีวิตได้มากขึ้น และดูรายละเอียดเซลล์ และเหตุการณ์ทางชีววิทยาที่ไม่สามารถสังเกตได้ก่อนหน้านี้

📌 8. อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สื่อระบบประสาทแบบยืดหยุ่นได้ (Flexible Neural Electronics)

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีการสื่อสารระหว่างคลื่นสมองและคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ภายนอก อื่น ๆ หรือ Brain-Machine Interfaces (BMI) เป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อย ๆ 

และถูกนำมาใช้ในหลายกรณี เช่น การรักษาผู้ป่วยโรคลมบ้าหมู และแขนขาเทียมที่เชื่อมต่อกับระบบประสาท ทำให้เกิดการจินตนาการเกี่ยวกับศักยภาพในการควบคุมเครื่องจักรด้วยความคิดมากขึ้นเรื่อย ๆ

📌 9. คลาวด์คอมพิวติงแบบยั่งยืน (Sustainable Computing)

ขณะที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายลง มนุษย์จำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็กำลังพึ่งพาข้อมูลมากขึ้น 

ทำให้การใช้พลังงานไฟฟ้าและการปล่อยความร้อนของศูนย์ข้อมูล (Data Center) สำหรับเทคโนโลยี Cloud Computing มากขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางการขยายตัวของ Metaverse AI และเทคโนโลยีอื่นๆ 

แต่คาดว่าในทศวรรษหน้า ศูนย์ข้อมูลที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ และ Sustainable Computing จะมีความก้าวหน้ามากขึ้นอย่างมาก 

📌 10. การดูแลสุขภาพที่ใช้ AI (AI-Facilitated Healthcare)

จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสร้างระบบสาธารณสุขที่น่าเชื่อถือมากขึ้น 

ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กลายเป็นหนึ่งแนวทางสำคัญในการจัดการกับความท้าทายต่าง ๆ เช่น ลดความล่าช้าที่ผู้ป่วยจำนวนมากต้องเจอเมื่อพยายามเข้ารับการรักษาพยาบาลผ่านระบบ 

เช่น บริษัท Medical Confidence ที่ใช้ AI เพื่อจัดการความต้องการในการรักษาของผู้ป่วยให้เหมาะสมกับความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวก ทำให้ช่วยลดเวลารอการรักษาได้อย่างมาก บางกรณีช่วยลดเวลารอจากหลายเดือนเหลือเพียงไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น

นอกจากนี้ AI ยังสามารถอำนวยความสะดวกในการระบุรายละเอียดที่สำคัญทางรังสี หรือภาพ CT ที่แพทย์อาจมองข้ามได้ และการรวบรวมข้อมูลที่มีคุณภาพ ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างข้อมูลเชิงลึกต่อไปได้อีกด้วย

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 18 - 22 ก.ย. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ ชี้แนวโน้ม 25 - 29 ก.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบทุกชนิดเฉลี่ยสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 ก.ย. 66 เพิ่มขึ้นจากอุปทานน้ำมันสำเร็จรูปตึงตัว หลังกระทรวงพลังงานรัสเซียประกาศห้ามส่งออก Gasoline และ ดีเซลไปยังทุกประเทศ ยกเว้นอดีตรัฐโซเวียต 4 ประเทศ ได้แก่ เบลารุส คาซัคสถาน อาร์เมเนียและคีร์กีซสถาน เป็นการชั่วคราว มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย. 66 เพื่อสร้างเสถียรภาพตลาดภายในประเทศ 

วันที่ 22 ก.ย. 66 บริษัทผู้ดำเนินการท่อขนส่งน้ำมัน Transneft ของรัสเซียหยุดลำเลียงดีเซลทางท่อสู่ท่าส่งออก Primorsk ชายฝั่งทะเล Baltic ปริมาณ 400,000 บาร์เรลต่อวัน และท่าส่งออก Novorossiysk ชายฝั่งทะเลดำ ปริมาณ 180,000 บาร์เรลต่อวัน (รวมคิดเป็น 60% ของปริมาณส่งออกดีเซลของรัสเซีย) ซึ่งในช่วงปี 2566 รัสเซียส่งออกดีเซลเฉลี่ยประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ส่งออก Gasoline ประมาณ 160,000 บาร์เรลต่อวัน และอุปทานน้ำมันโลกตึงตัวจากมาตรการควบคุมการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC+

วันที่ 20 ก.ย. 66 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee: FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25 - 5.50% อย่างไรก็ตาม ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) นาย Jerome Powell ส่งสัญญาณอาจปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นสู่ระดับ 5.50 - 5.75% ภายในสิ้นปี 2566 (การประชุม FOMC ครั้งถัดไปวันที่ 31 ต.ค. - 1 พ.ย. 66) และจะเริ่มปรับลดในปี 2567 และ 21 ก.ย. 66 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (Monetary Policy Committee) ของธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England: BoE) มีมติ 5-4 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 5.25%  

คาดการณ์ราคา ICE Brent สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 90-97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

‘รัฐบาลไทย’ หารือ ‘ทูตอินเดีย’ เตรียมฟื้นฟู FTA-เปิดตลาดเสรี หนุนการค้า-ลงทุนทุกมิติ ดันไทยสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจภูมิภาค

(28 ก.ย. 66) นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้หารือกับ นายนาเคศ สิงห์ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินเดียประจำประเทศไทย โดยอินเดียพร้อมฟื้นฟูความตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) ไทย-อินเดีย อีกครั้ง และพร้อมแก้ไขปัญหาอุปสรรคร่วมกันอย่างเข้มแข็งและรวดเร็วที่สุด

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยและอินเดียได้ทำความตกลงการค้าเสรี หรือ ‘FTA’ โดยได้เปิดตลาดสินค้าส่วนแรก (Early Harvest Scheme) จำนวน 83 รายการ ครอบคลุมทั้งสินค้าผลไม้สด ธัญพืช อาหารปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์แร่ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

โดยได้ยกเลิกภาษีตั้งแต่ปี 2549 ทำให้การค้าทั้ง 2 ฝ่ายขยายตัว และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า แต่ได้หยุดชะงักไปเมื่อปี 2559 เนื่องจากอินเดียได้หันมาผลักดันการเจรจา FTA ระหว่างอาเซียน-อินเดียแทน เพื่อขยายตลาดมายังกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ

นางนลินี กล่าวว่า อินเดียให้ความสำคัญกับไทยในฐานะประเทศที่มีศักยภาพด้านการค้าการลงทุนของอาเซียนและเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค โดยวันนี้ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกกลายเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลก ซึ่งไทยคือหนึ่งในนั้น โดยการพูดคุยหารือครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่อินเดียต้องการจะฟื้นฟู FTA

รวมทั้งยังอยากเห็นผลการดำเนินงานของคณะกรรมการร่วมทางการค้า หรือ ‘JTC’ ไทย-อินเดีย และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ ‘RCEP’ ที่เติบโตขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ในการหารือทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันว่า ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ หรือ ‘BIMSTEC’ จะเป็นเวทีที่จะช่วยขจัดอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อให้ความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเป็นไปอย่างราบรื่น โดยนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ตั้งใจอย่างมากที่จะมาร่วมการประชุมระดับผู้นำ BIMSTEC ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้

รวมทั้งยังหวังว่าจะมีโอกาสเดินทางเยือนระดับผู้นำอย่างเป็นทางการในโอกาสต่อไป สำหรับนโยบาย Startups India ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาประเทศภายใต้แนวคิดอินเดียใหม่ (New India) เพื่อให้สอดคล้องกับที่อินเดียกำลังก้าวสู่ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2568 นั้น อินเดียได้แสดงความจำนงที่จะยกระดับความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ Startup รุ่นใหม่ของไทยและอินเดียให้เกิดผลสำเร็จ

“มิติการเจรจาหารือทางการค้าวันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต เพราะครอบคลุมหลายด้าน โดยทูตอินเดียได้พูดถึงความต้องการส่งออกสินค้าเกษตรมายังไทย เช่น กุ้งหรือเนื้อสัตว์อื่น สินค้ายาและเวชภัณฑ์โดยเฉพาะยารักษาโรคเบาหวาน หรือแม้กระทั่งความร่วมมือด้านความมั่นคงหรือยุทโธปกรณ์ที่อินเดียมีศักยภาพ ได้แก่ เฮลิคอปเตอร์หรือเรือดำน้ำ ผ่านนโยบาย Offset Policy หรือการชดเชยในกรณีซื้อจากต่างประเทศของกระทรวงกลาโหม สำหรับมิตรประเทศอีกด้วย” นางนลินี ระบุ

ข้อมูลการค้า ไทย-อินเดีย 
จากข้อมูลรายงานการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจำปี 2565 ของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า อินเดีย ขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 7 จากอันดับที่ 10 ในปีก่อน โดยขยายตัวถึง 22.5% โดย การค้าระหว่างไทยและอินเดีย มีมูลค่า 17,702.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 18.06%

โดยไทยส่งออกไปอินเดีย มูลค่า 10,524.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากอินเดีย มูลค่า 7,178.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ เม็ดพลาสติก ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เคมีภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของอินเดีย อาทิ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะ เคมีภัณฑ์ และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช

‘GISTDA’ เตรียมส่ง 'THEOS-2' ฝีมือคนไทยพิชิตอวกาศ 7 ต.ค.นี้ ชี้ เป็นดาวเทียมสำรวจโลกรายละเอียดสูงมากดวงแรกของประเทศ

(27 ก.ย.66) น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า-GISTDA) นายเรมี ล็องแบร์ อุปทูตรักษาการเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย และนายโอลิวิเย่ร์ ชาร์ลเวท จากบริษัท AIRBUS ร่วมแถลงข่าวความพร้อมของดาวเทียม THEOS-2 (ธีออส2) ก่อนขึ้นสู่อวกาศ

น.ส.ศุภมาสกล่าวว่า ประเทศไทย มีกำหนดการส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศในวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม 2566 เวลา 08.36 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ณ ท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา (Guiana Space Center) ในทวีปอเมริกาใต้ โดยดาวเทียม THEOS-2 เป็นดาวเทียมสำรวจโลก หรือ Earth observation satellite หนึ่งในสองดวงที่อยู่ภายใต้โครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา ที่ดำเนินการโดยจิสด้า ซึ่งมีศักยภาพถ่ายภาพและผลิตภาพสีรายละเอียดสูงมากในระดับ 50 เซนติเมตร สามารถถ่ายภาพและส่งข้อมูลกลับมายังสถานีภาคพื้นดินได้ไม่ต่ำกว่า 74,000 ตารางกิโลเมตรต่อวัน และข้อมูลจากดาวเทียมจะถูกใช้ในการปรับปรุง (Update) ข้อมูลในทุกพื้นที่ของไทยให้เป็นปัจจุบันอย่างละเอียดและถูกต้อง ช่วยให้การวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำมาใช้ในการจัดการเกษตร การบริหารจัดการน้ำ การจัดการภัยธรรมชาติ การจัดการเมือง และทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงยังช่วยพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอวกาศของประเทศ โดยเฉพาะด้านทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

รัฐมนตรี อว.กล่าวว่า สำหรับข้อมูล THEOS-2 นี้ GISTDA จะเปิดโอกาสให้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ได้เข้าถึงข้อมูล เพื่อจะได้นำไปต่อยอดหรือการบริการเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงจะเป็นแรงผลักดันเพื่อขับเคลื่อนด้านการศึกษา การวิจัยและนวัตกรรมในการใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ และเทคโนโลยีอวกาศในการพัฒนาองค์ความรู้ สร้างนักพัฒนานวัตกรรมทุกระดับตั้งแต่ระดับเยาวชน startup SMEs และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ตามนโยบายของ อว. ที่มุ่งเน้นในการสร้างคน สร้างความรู้ สร้างนวัตกรรม เพื่อพัฒนาประเทศ

น.ส.ศุภมาสกล่าวอีกว่า สำหรับการนำส่งดาวเทียม THEOS-2 ในครั้งนี้ เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำหรับอนาคตของประเทศไทย เพราะเป็นการนำส่งดาวเทียมที่จะนำมาสู่การยกระดับรูปแบบการพัฒนาประเทศด้วยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งในฐานะผู้แทนของรัฐบาลที่กำกับดูแลหน่วยงานกิจการอวกาศของประเทศและคนไทย จะร่วมเดินทางไปปล่อยดาวเทียม THEOS-2 ในครั้งนี้ด้วย เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากกับความสำเร็จในการนำดาวเทียมความละเอียดสูงมากของไทยดวงนี้ขึ้นสู่อวกาศ ในโอกาสนี้จึงขอเชิญชวนชาวไทยทุกคนร่วมส่งกำลังใจให้กับทีมงาน GISTDA และประเทศไทยในการส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ เพราะการนำส่งดาวเทียมสำรวจโลกครั้งนี้ถือเป็นการส่งดาวเทียมความละเอียดสูงมากครั้งแรกของประเทศไทย

เมื่อดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศแล้วจะใช้เวลาอีกประมาณ 5-7 วัน ในการปรับตัวเองให้เข้าสู่วงโคจรที่แท้จริง และจะใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือน ที่จะทดสอบระบบต่างๆ ก่อนเปิดให้บริการ ทั้งนี้ ดาวเทียม THEOS-2 จะมีส่วนช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศไทยในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ โดยกระทรวง อว. จะผลักดันนโยบายเรื่องเศรษฐกิจอวกาศของประเทศไทยให้เป็นจริงโดยเร็ว

ด้าน ดร.ปกรณ์กล่าวว่า ดาวเทียม THEOS-2 จะเป็นเครื่องมือสำคัญให้กับรัฐบาลในการบริหารจัดการประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทางด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ อีกด้วย สำหรับการนำข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 มาใช้ในการพัฒนาประเทศ สามารถเป็นไปได้ในหลากหลายมิติ อาทิ การจัดทำแผนที่ เนื่องจากดาวเทียม THEOS-2 สามารถบันทึกภาพและความละเอียดสูงถึง 50 เซนติเมตรต่อ pixel และพัฒนาให้เป็นข้อมูลสามมิติได้ จึงสามารถนำไปผลิตแผนที่มาตราส่วนใหญ่ได้ถึง มาตราส่วน 1:1000

“การจัดการเกษตรและอาหาร ดาวเทียม THEOS-2 สามารถใช้ในการวิเคราะห์ และประเมินพื้นที่เพาะปลูก การจำแนกประเภทพืชเกษตร สุขภาพพืช และการคาดการณ์ผลผลิตที่จะเกิดขึ้น คุณสมบัติเหล่านี้จะนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรที่ครอบคลุมพืชเศรษฐกิจหลักอย่างน้อย 13 ชนิด ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ตลอดจนการคาดการณ์ผลผลิตล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ครอบครัวเกษตรกร เป็นต้น”

ดร.ปกรณ์ยังกล่าวอีกว่า การส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศในครั้งนี้ถือเป็นการส่งดาวเทียมระดับปฏิบัติการที่สามารถนำไปใช้งานได้จริงตามภารกิจของประเทศดวงที่ 2 ของไทยในรอบ 15 ปี หลังจากส่งไทยโชตเมื่อปี 2551 ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยมีดาวเทียม THEOS-2 จะเป็นการตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ เพราะ ‘เศรษฐกิจ’ คือปากท้องของประชาชน จะเป็นกลไกหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ GISTDA ในฐานะหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. พร้อมสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียมดวงนี้ในการแก้ไขปัญหา ทั้งในมิติของการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่และมิติของการพัฒนาพื้นที่เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืนของประเทศไทยต่อไป

‘แกร็บ’ จับมือ ‘เอเชีย แค็บ’ เปิดให้บริการแอปฯ เรียกรถ ‘CABB’ ต้นฉบับแบบแท็กซี่ลอนดอน หวังเจาะกลุ่มลูกค้าระดับพรีเมียม

‘แกร็บ’ ผนึกพันธมิตร ‘เอเชีย แค็บ’ ผู้ผลิตและผู้ให้บริการ CABB รถแท็กซี่วีไอพีต้นฉบับแบบลอนดอนแท็กซี่ เปิดตัวบริการ ‘Taxi VIP’ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเรียกใช้บริการรถแท็กซี่ CABB ผ่านแอปพลิเคชัน Grab นำร่องให้บริการแล้วในกรุงเทพฯ และภูเก็ต เล็งขยายพื้นที่การให้บริการในเมืองท่องเที่ยว อาทิ พัทยาและเชียงใหม่

(27 ก.ย. 66) นางสาวเมธิณี อนวัชกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจการเดินทางและบริหารพาร์ตเนอร์คนขับ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า “ในฐานะผู้นำแพลตฟอร์มเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน แกร็บมุ่งพัฒนาบริการและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง พร้อมนำเสนอบริการการเดินทางผ่านยานพาหนะที่หลากหลายเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้โดยสารในแต่ละกลุ่ม ซึ่งรวมถึงลูกค้าพรีเมียม โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลักที่จะช่วยสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจการเดินทางของแกร็บในปีนี้ โดยในช่วงที่ผ่านมาเราได้ปรับปรุงบริการ ตลอดจนดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อยกระดับการให้บริการกับลูกค้ากลุ่มนี้ อาทิ การปรับโฉมบริการเดินทางแบบพรีเมียมเพื่อสร้างความประทับใจผ่าน 5 ประสาทสัมผัส และการเพิ่มช่องทางการชำระเงินเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าชาวต่างชาติ”

“สำหรับการผนึกความร่วมมือกับ CABB ซึ่งถือเป็นผู้นำในตลาดแท็กซี่ระดับพรีเมียมในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มตัวเลือกที่หลากหลายในการเดินทาง ถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะช่วยเติมเต็มประสบการณ์การเดินทางให้กับลูกค้าในกลุ่มพรีเมียมของแกร็บให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ด้วยรูปลักษณ์ของรถแท็กซี่ที่มีดีไซน์โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ บริการและฟังก์ชันเหนือระดับภายในรถ รวมถึงมาตรฐานของคนขับที่ได้รับการอบรมเป็นพิเศษ โดยผู้ใช้บริการ Grab สามารถเรียกรถ CABB ได้แล้วผ่านเมนู Taxi VIP ในแอปพลิเคชันของเรา ซึ่งได้นำร่องให้บริการในจังหวัดภูเก็ตตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา และเริ่มขยายการให้บริการในกรุงเทพฯ ในเดือนสิงหาคม ซึ่งคาดว่าจะเชื่อมต่อระบบและสามารถให้บริการได้เต็มรูปแบบภายในไตรมาส 4 ของปีนี้”

นายภาสกร ดารารัตนโรจน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย แค็บ จำกัด กล่าวว่า “CABB เปิดให้บริการในประเทศไทยครั้งแรกในปี 2563 ปัจจุบันเรามีรถแท็กซี่ CABB ให้บริการในกรุงเทพฯ และภูเก็ตรวมกว่า 400 คัน โดยลูกค้าหลักของเราคือกลุ่มลูกค้าพรีเมียมที่ต้องการความเป็นส่วนตัว ความสะดวกสบาย และเชื่อมั่นในบริการที่มีความปลอดภัย ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ที่ผ่านมาเราให้บริการผ่านทั้งช่องทางออฟไลน์ โดยลูกค้าสามารถเรียกรถ CABB ได้ตามจุดให้บริการต่างๆ และช่องทางออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน CABB ซึ่งมีสัดส่วนราว 40%”

“เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงฐานลูกค้าใหม่ เราจึงได้ร่วมมือกับ แกร็บ ซึ่งถือเป็นผู้นำแพลตฟอร์มเรียกรถผ่านแอปฯ เพื่อขยายฐานลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเราจะเปลี่ยนช่องทางการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน CABB ไปอยู่ที่แอปพลิเคชัน Grab เพียงช่องทางเดียว ทั้งนี้ เราตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวนรถแท็กซี่ CABB เป็น 600 คันภายในสิ้นปี พร้อมเตรียมขยายบริการไปยังเมืองท่องเที่ยวสำคัญ อาทิ พัทยา และเชียงใหม่ โดยเราเชื่อมั่นว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้บริการของ CABB สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น และช่วยส่งมอบบริการขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพให้กับคนไทยและชาวต่างชาติ”

‘มนุษย์เงินเดือน’ โอด ‘ข้าวของแพง-ค่าครองชีพพุ่ง’ แถมรายรับสวนทางกับรายจ่าย วอนภาครัฐช่วยดูแลด่วน

(27 ก.ย.66) ทีมข่าวลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นมนุษย์เงินเดือนบอกว่าค่าใช้จ่ายทุกวันนี้ส่วนใหญ่หมดไปกับค่าเดินทาง รวมๆ แล้ววันละ 200-300 บาท รวมถึงค่าอาหารที่แพงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ถึงแม้ราคาต้นทุนจะลดลงบ้าง แต่ราคาที่ปรับขึ้นไปแล้วไม่ได้ปรับลดลง ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ก็ยังแพงเช่นเดียวกัน อยากให้ภาครัฐออกมาตรการดูแลประชาชนให้มากกว่านี้โดยเร็ว

ผลสำรวจ นีลเส็น ล่าสุดระบุว่า คนไทยยังกังวลกับภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้กระทบต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า และยังพบว่าคนไทย 57% กังวลเรื่องรายรับที่ไม่เพียงพอกับรายจ่ายด้วย ซึ่งตัวแปรที่กระทบต่อค่าครองชีพพุ่ง มาจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

‘WeTV’ เปิดแผนธุรกิจปี 67 ‘ลุยปั้นคอนเทนต์-เพิ่มฟีเจอร์ใหม่’ พร้อมดึง ‘จ้าวลู่ซือ’ เมกะสตาร์จีนขึ้นแท่นแบรนด์แอมบาสเดอร์

(27 ก.ย.66) นางสาวกนกพร ปรัชญาเศรษฐ ผู้จัดการ WeTV ประจำประเทศไทย บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมการดำเนินงานของเทนเซ็นต์ วิดีโอมีการเติบโตสอดคล้องกับ WeTV ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลมาจากการแข่งขันอย่างดุเดือดของตลาดวิดีโอสตรีมมิง หรือ Over-the-top (OTT) จากผู้เล่นมากมายในตลาด อีกทั้งคอนเทนต์จีนและศิลปินจีนกำลังได้รับความนิยมจากกลุ่ม Gen X, Y และ Z ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ WeTV มีจำนวนผู้ใช้งาน MAU (Monthly-active user) เพิ่มขึ้นกว่า 20% และมีการเติบโตของรายได้จากการให้บริการสมาชิกแบบ Subscription เพิ่มขึ้น 40%

“รายได้จากการสมัครสมาชิกแบบ Subscription ของ WeTV ประเทศไทย เติบโตขึ้นถึง 62% มียอดการดาวน์โหลด 45 ล้านครั้ง จำนวนผู้ใช้งาน MAU 13.5 ล้านคน ทำให้เราเป็นผู้นำอันดับหนึ่งของแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานแบบรับชมโฆษณา (Advertising Video On Demand หรือ AVOD) และผู้นำอันดับสองในส่วนผู้ใช้งานแบบสมัครสมาชิก (Subscription Video On Demand หรือ SVOD) รวมถึงคนไทยยังนิยมรับชมคอนเทนต์ของ WeTV ผ่านอุปกรณ์ Home Entertainment มากขึ้น โดยมีสัดส่วนเติบโตขึ้น 30% เมื่อเทียบกับปีก่อน”

โดยรายละเอียดแผนธุรกิจของ WeTV ประเทศไทย ในปี 2567 จะเน้นไปที่การเชื่อมโยงอีโคซิสเต็ม แบ่งเป็น 2 กลยุทธ์หลัก ได้แก่

>> 1.กลยุทธ์ด้านออริจินัลคอนเทนต์

WeTV ORIGINAL จะเจาะไปที่คอนเทนต์กลุ่มซีรีส์วาย และรายการไอดอลเซอร์ไววัล CHUANG ASIA ที่เป็นเรือธงในการทำตลาด รวมถึงการนำเสนอออริจินัล คอนเทนต์ที่มีความหลากหลายจากเทนเซ็นต์ วิดีโอ

โดยในปี 2566 WeTV จะส่งท้ายปีด้วยการส่งซีรีส์ ‘เด็กฝึกหน้าใส เติมหัวใจนายหญิง’ (Intern in My Heart) ผลิตโดย บราโว่ สตูดิโอส์ ในเครือ จีเอ็มเอ็ม สตูดิโอส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ไปออกอากาศพร้อมกันกับประเทศจีน และในปีหน้า WeTV เตรียมผลิตซีรีส์วายที่เป็น WeTV ORIGINAL 6-8 เรื่อง ร่วมกับผู้ผลิตชั้นนำ เช่น Kongthup Production, Dee Hup House และ Mandeework ฯลฯ

อีกทั้ง WeTV ยังแต่งตั้ง ‘จ้าวลู่ซือ’ นักแสดงดาวรุ่งจากจีนที่มีผลงานมากมาย และมีฐานแฟนคลับทั่วโลกเป็น ‘Global Ambassador’ มาช่วยสร้างการรับรู้ของแบรนด์ WeTV ไปยังผู้บริโภคในวงกว้างยิ่งขึ้น

“ไฮไลต์สำคัญของ WeTV ในปี 2024 คือการเปิดตัวเมกะโปรเจกต์อย่าง CHUANG ASIA รายการไอดอลเซอร์ไววัลจากเทนเซ็นต์ วิดีโอ เพื่อเฟ้นหาไอดอลเกิร์ลกรุ๊ปกลุ่มแรกที่จะแจ้งเกิดจากประเทศไทย โดยมี ‘แจ็คสัน หวัง’ เข้ามารับบทบาท ‘Lead Mentor’ และได้ค่าย RYCE Entertainment มารับหน้าที่ดูแลการเดบิวต์เกิร์ลกรุ๊ปกลุ่มแรกจากรายการ ซึ่ง CHUANG ASIA ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ Have Fun Media, RYCE Entertainment, one31, GMMTV, และ 411 Entertainment ที่เข้าร่วมเสริมความแข็งแกร่งในด้านการผลิตรายการ และการพัฒนาศักยภาพศิลปินที่ได้เดบิวต์ภายใต้มาตรฐานระดับโลก โดยรายการ CHAUNG ASIA จะเริ่มออกอากาศในช่วงเดือน ก.พ. 2567 รับชมพร้อมกันทั่วโลกได้ทาง WeTV และออกอากาศทางโทรทัศน์ผ่านช่อง one31 รวมทั้งยังเตรียมออกอากาศทางช่องโทรทัศน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย” นางสาวกนกพรทกล่าว

>> 2.กลยุทธ์การสร้างประสบการณ์ให้กับผู้ใช้งาน

เชื่อมบริการจากโลกออนไลน์สู่โลกออฟไลน์ และสร้างคอมมูนิตี้ให้แข็งแกร่ง เช่น การเปิดตัวฟีเจอร์ ‘Bubble’ ที่ให้แฟน ๆ สามารถแชตพูดคุยกับศิลปินและดาราที่ชื่นชอบอย่างใกล้ชิด โดยมีแผนเปิดตัวฟีเจอร์นี้ในปีหน้า และเชื่อมโยงประสบการณ์ระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคในรูปแบบใหม่ รวมถึงมีฟีเจอร์สำหรับนักโฆษณาอย่าง New VDO Splash Screen ที่จะช่วยเพิ่ม CTR ได้ถึง 100% เป็นต้น

นางสาวกนกพร กล่าวทิ้งท้ายว่า จากแผนกลยุทธ์ทั้งการผลิตออริจินัล คอนเทนต์กับพันธมิตรผู้ผลิตชั้นนำ รวมถึงการเฟ้นหาศิลปินและนักแสดงมาร่วมงานในโปรเจกต์ของ WeTV โดยจะร่วมมือกับ ‘เฮดไลเนอร์ ไทยแลนด์’ (HEADLINER THAILAND) ธุรกิจบริหารจัดการและพัฒนานักแสดง-ศิลปินแบบครบวงจรที่เปิดโอกาสให้เป็นศิลปินทำงานในวงการบันเทิงไทย

‘โลตัส’ ปูพรม ‘Pet Friendly Mall’ 100 แห่ง ให้เจ้าของสามารถพาสัตว์เลี้ยงมาช้อปปิ้งได้

(27 ก.ย.66) นางสาวเบญจวรรณ อ่องศรี ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานบริหารพื้นที่ศูนย์การค้า โลตัส อธิบายว่า โมเดล Pet Friendly Mall นี้ จะเป็นสาขาที่เจ้าของสามารถนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาใช้บริการพร้อมกันได้ในส่วนโซนศูนย์การค้า ร้านค้าและร้านอาหารบางร้านที่มีความเหมาะสม รวมถึงมีโซนที่สัตว์เลี้ยงสามารถเข้าได้

ทั้งนี้จะมีเงื่อนไขการพาสัตว์เลี้ยงเข้าศูนย์การค้าเพื่อยังคงมาตรฐานด้านคุณภาพและการควบคุมเรื่องสุขอนามัย ประกอบด้วย

- สัตว์เลี้ยงต้องอยู่ในกระเป๋า หรือรถเข็นของตัวเองเท่านั้น
- ลูกค้าต้องนำอุปกรณ์สำหรับใส่สัตว์เลี้ยงมาเอง และต้องปิดมิดชิด
- ไม่สามารถอุ้ม หรือจูงสัตว์เลี้ยงเดินในบริเวณห้างได้
- ไม่อนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงเข้าโซนซูเปอร์มาร์เก็ต
- ไม่อนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงเข้าร้านอาหารได้ (บางร้านอาหารสามารถนำสัตว์เลี้ยงเข้าได้ โดยจะมีป้าย Pet Welcome Restaurant หรือสอบถามหน้าร้านอีกครั้ง)

โมเดล Pet Friendly Mall จะนำร่องในโลตัส ไฮเปอร์มาร์เก็ต จำนวนกว่า 100 สาขาทั่วประเทศ อาทิ โลตัส นอร์ธ ราชพฤกษ์, โลตัส พัฒนาการ, โลตัส รามอินทรา, โลตัส เลียบคลองสอง, โลตัส ลาดกระบัง, โลตัส บางนา-ตราด, โลตัส เชียงใหม่ (คำเที่ยงและหางดง), โลตัส ชลบุรี, โลตัส จันทบุรี, โลตัส โคราช, โลตัส อุบลราชธานี, โลตัส สุราษฎร์ธานี, โลตัส ภูเก็ตและอื่น ๆ

ทั้งนี้สามารถเช็ครายชื่อสาขาได้ที่ https://corporate.lotuss.com/en/news/corporate/pet-friendly-mall1-en/

นางสาวเบญจวรรณ เสริมว่า โมเดลนี้มุ่งรับเมกะเทรนด์ ‘Pet Humanization’ ปรากฏการณ์ที่คนรักสัตว์เลี้ยงมองน้อง 4 ขาเป็นเสมือนคนในครอบครัว ดูแลเป็นลูกหลาน ซึ่งกำลังเติบโตทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย

“Pet Friendly Mall จะช่วยเติมเต็มการเป็น SMART Community Center ศูนย์รวมการใช้ชีวิตแบบสมาร์ทของคนในชุมชน ที่มีพื้นที่รองรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของสมาชิกในครอบครัวทุกเพศ ทุกวัย รวมทั้งสัตว์เลี้ยงแสนรักด้วย”

‘สภาอุตฯ’ เปิด 10 อาชีพตลาดแรงงานต้องการสูงในอนาคต ‘ผู้เชี่ยวชาญ AI - เทคโนโลยีการเงิน - วิเคราะห์ข้อมูล’ เนื้อหอม

(27 ก.ย. 66) รายงานข่าวจาก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แจ้งว่า World Economic Forum เปิดเผยข้อมูล 10 อาชีพด้านเทคโนโลยี ที่จะตอบรับกับความต้องการของตลาดในอนาคตไปจนถึงปี 2570 โดยหลังจากนี้จะเร่งประสานสมาชิก ส.อ.ท ตลอดจนหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาข้อมูล ตลอดจนวางแผน รองรับการความต้องการแรงงานที่จะเกิดขึ้น

โดย 10 อาชีพที่มาแรง ประกอบด้วย

1.ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และ Machine Learning
2.ผู้เชี่ยวชาญด้าน Sustainability
3.ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจอัจฉริยะ
4.นักวิเคราะห์ความปลอดภัยข้อมูล
5.วิศวกรเทคโนโลยีทางการเงิน
6.นักวิเคราะห์ข้อมูล นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล
7.วิศวกรหุ่นยนต์
8.ผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data
9.ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องจักรกลการเกษตร
10.ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล จากการที่เทคโนโลยี และระบบอัตโนมัติ จะถูกนำเข้ามาใช้ในการทำงานมากขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ยังพบว่า มีอาชีพ 5 อันดับแรก ที่ได้รับการจัดอันดับว่ามีแนวโน้มการเติบโตมากที่สุด ได้แก่

1.ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และ Machine Learning
2.ผู้เชี่ยวชาญด้าน Sustainability
3.ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจอัจฉริยะ
4.นักวิเคราะห์ความปลอดภัยข้อมูล
5.วิศวกรเทคโนโลยีทางการเงิน

‘Vokkee’ ผนึก ‘Omise’ ผุดแพลตฟอร์มเช่ารถแนวใหม่ ชู!! ระบบความปลอดภัย ‘คุณภาพรถ-การชำระเงิน’

(27 ก.ค.66) นายณัฐวุฒิ อรรถประสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Vokkee (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเป็นสตาร์ตอัปน้องใหม่ที่ทำธุรกิจเช่ารถแบบแชร์ริ่ง ผ่านแพลตฟอร์ม Vokkee.Com ซึ่งให้บริการแชร์รถแบบเจ้าของสู่เจ้าของ

โดยจะนำเสนอทางเลือกในการเชื่อมต่อ ระหว่างผู้เช่ารถกับเจ้าของรถ ที่ต้องการนำรถยนต์ที่ไม่ได้ใช้งาน มาสร้างรายได้ ผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าว

สำหรับผู้ที่ต้องการเช่ารถสามารถเช่าได้ง่ายๆ และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น พร้อมมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติรถยนต์แต่ละรุ่น โดยแพลตฟอร์มนี้มีความสำคัญในการยืนยันสภาพรถยนต์และการตรวจสอบเจ้าของรถยนต์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความรับผิดชอบในการให้บริการ

ทั้งนี้ในปัจจุบัน Vokkee มีรถให้เช่าราว 50 คัน และอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลอีก 70 คัน ตั้งแต่รถเล็กขนาดกะทัดรัด จนถึงรถซีดานหรู สำหรับผู้บริหารระดับสูง หรือ สำหรับลูกค้าเช่าเพื่อใช้ในการไปเจรจาธุรกิจ ประชุมสำคัญที่ต้องการความภูมิฐาน รวมทั้งรถตู้ขับพาครอบครัวเที่ยวพักผ่อนต่างจังหวัด ซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุด

นอกจากนี้ยังมี รถ SUV ไปจนถึงรถ Off road ไว้บริการผู้ที่ต้องการผจญภัย ซึ่งมีทั้งรถญี่ปุ่นจนถึงรถยุโรปราคาแพงลูกค้าสามารถเลือกได้หลายสไตล์ตามต้องการ

ส่วนราคานั้นทางบริษัทให้เจ้าของรถสามารถตั้งราคาเองได้ ซึ่งบริษัทไม่ได้กำหนด แต่จะมีรายได้จากการเพิ่มราคารถให้เช่าจากราคาที่เจ้าของรถกำหนดไว้ 10-15% เท่านั้น

“แพลตฟอร์มนี้เพิ่งดำเนินการ มา 1 เดือน โดยได้รับความสนใจทั้งลูกค้า และเจ้าของรถเกินความคาดหมาย เพราะธุรกิจรูปแบบนี้เป็นบริษัทแรกในเมืองไทย ที่บริษัทไม่ได้ซื้อรถมาให้เช่าแต่เป็นคนกลางระหว่างเจ้าของรถที่บางบ้านมีหลายคัน ปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ สามารถนำมาสร้างรายได้ ส่วนผู้เช่าอาจจะมีความฝันอยากขับรถในฝันแต่ไม่อยากเป็นเจ้าของก็มาเช่าผ่านแพลตฟอร์ม Vokkee” นายณัฐวุฒิ กล่าว

นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า ทาง Vokkee ให้ความสำคัญมากที่สุดคือ เรื่องของความปลอดภัย โดยลงทุนพัฒนาระบบเทคโนโลยี สำหรับลูกค้าที่เป็นผู้เช่ารถ ในการทำธุรกรรมอย่างปลอดภัยผ่านระบบชำระเงินทางออนไลน์ที่ทันสมัย

โดยมี OMISE บริษัทที่มีชื่อเสียง และมีความเชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยในการทำธุรกรรมการเงินระดับโลกเข้ามาช่วยดูแลในฐานะพันธมิตรธุรกิจ ทำให้ผู้เช่ารถไม่ต้องกังวล

ในส่วนของเจ้าของรถที่นำรถมาปล่อยเช่าผ่านแพลตฟอร์มนี้ ทาง Vokkee เน้นในเรื่องความปลอดภัยเช่นกัน ได้ทำการปิดความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทุกจุด โดยได้ออกแบบการรักษาความปลอดภัยด้วยความรอบคอบทุกขั้นตอนตั้งแต่ ขั้นตอนในการเลือกรถ การจอง จนถึงการคืนรถ มีการออกแบบอย่างละเอียดที่สำคัญรถที่รับคืนจะต้องมีสภาพเหมือนเดิมทุกอย่าง

“เราได้จัดทำคู่มือฉบับสมบูรณ์แนะนำวิธีการถ่ายภาพรถยนต์เพื่อใช้เป็นเอกสารยืนยัน โดยคู่มือนี้รับประกันว่า ทั้งเจ้าของรถและผู้เช่ารถจะมีรายละเอียด ของสภาพรถทั้งก่อนและหลังการเช่า มีภาพถ่ายชัดเจนจะเป็นหลักฐานสำคัญทั้งนี้ก่อนจะเริ่มเดินทางด้วยรถเช่าผู้ใช้งานจำเป็นต้องยอมรับและปฏิบัติตามเงื่อนไขของบริษัท รวมถึงขั้นตอนการจองรถ การตรวจสอบรถยนต์ การรับรถยนต์ และการคืนรถยนต์ ความเข้าใจและการยอมรับข้อกำหนดและเงื่อนไขนี้ ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดจะทำให้การเช่ารถเป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัย” นายณัฐวุฒิ กล่าวเสริม

อย่างไรก็ตามแม้ว่าธุรกิจให้เช่ารถจะมีการแข่งขันสูง เรื่องภาพลักษณ์ และความหลากหลายของรถ จึงมีผลต่อเว็บไซต์และแพลตฟอร์ม การเป็นพันธมิตรกับบริษัทประกันภัย และการเสนอโปรโมชันพิเศษ การให้บริการที่ดี มีความรับผิดชอบต่อและความน่าเชื่อถือลูกค้า จึงเป็นสิ่งสำคัญในการจะช่วยดึงดูดลูกค้า

นอกจากนี้ในอนาคต Vokkee จะมีการทำข้อมูล GPS จากรถยนต์ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการตลาด การโฆษณาข้อมูลการเดินทาง และระยะทางทำให้เข้าใจแนวโน้ม และพฤติกรรมของผู้บริโภค ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางธุรกิจ

‘ททท.’ จับมือพันธมิตร นำเสนอจุดเด่นการท่องเที่ยวภาคตะวันออก ผ่านซีรีส์วาย 6 เรื่อง หวังปลุกกระแสรับนทท.รุ่นใหม่ หนุนเที่ยวยั่งยืน

เมื่อวานนี้ (26 ก.ย.66) นายอัครวิชย์ เทพาสิต ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท. ร่วมกับ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ฮาล์ฟ โทสท์ จำกัด เปิดตัวโครงการ ‘Y JOURNEY (STAY LIKE A LOCAL)’ ยกคอนเซปต์ ‘Amazing 5F and More’ โดยเฉพาะ F-Food และ F-Film กำลังได้รับความนิยมจากกลุ่มนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ Gen X Y และ Millennial และ SDGs ถ่ายทอดผ่านมินิซีรีส์ 6 เรื่อง นำแสดงโดย 12 นักแสดงวัยรุ่นชื่อดังที่จะชวนทุกคนไปสัมผัสเสน่ห์และอัตลักษณ์ของการท่องเที่ยวภาคตะวันออกอย่างยั่งยืน พร้อมสร้างแรงบันดาลใจสู่การท่องเที่ยวจริง

นายอัครวิชย์ กล่าวว่า เราจะนำเสนอจุดเด่นของการท่องเที่ยวภาคตะวันออก อาทิ แหล่งท่องเที่ยว อาหาร สินค้าและกิจกรรมท่องเที่ยว ผนวกเข้ากับแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการออกเดินทางท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ (Experience-based-Tourism) ตามรอยภาพยนตร์ สร้าง Meaningful Relationship รับประสบการณ์ท่องเที่ยวที่มีคุณค่าและความหมาย และนำไปสู่การกระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนต่อไป

นายอัครวิชย์ กล่าวว่า โครงการประชาสัมพันธ์ ‘Y JOURNEY (STAY LIKE A LOCAL)’ ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ฮาล์ฟ โทสท์ จำกัด เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานมินิซีรีส์ทั้ง 6 เรื่อง โดยมี 12 นักแสดงวัยรุ่นชื่อดังร่วมถ่ายทอดเรื่องราวการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัดในภาคตะวันออก ทั้ง 6 จังหวัด โดยแต่ละเรื่องจะมีรูปแบบการท่องเที่ยวที่แตกต่างกันออกไป โดยมีรายละเอียดดังนี้

มินิซีรีส์ 1 เรื่อง ‘เพื่อนรักแอบรักเพื่อน’ นำแสดงโดย ‘แฟรงค์-ธนัตถ์ศรันย์ ซําทองไหล’ และ ‘หล่งซื่อ ลี’ ถ่ายทอดเรื่องราวการท่องเที่ยวสายมู เส้นทางแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดฉะเชิงเทราและสมุทรปราการ วัดหงษ์ทอง วัดอโศกการาม วัดจีนประชาสโมสร ตลาดบ้านใหม่ ผสมผสานกับวัฒนธรรมอาหารถิ่น เช่น ข้าวห่อใบบัว ขนมเกสรลำเจียก ขนมเปี๊ยะสดนายเล้ง ผัดไทนายแกละ ออกอากาศเป็นตอนแรกในวันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม 2566

มินิซีรีส์ 2 เรื่อง ‘คำสารภาพ’ นำแสดงโดย ‘เน็ต-สิรภพ มานิธิคุณ’ และ ‘เจมส์-ศุภมงคล วงศ์วิสุทธิ์’ ถ่ายทอดเรื่องราวการลดขยะอาหาร Zero Food Waste ด้วยการแปรรูป ผ่านเส้นทางท่องเที่ยวจังหวัดจันทบุรี ชุมชนตลาดเก่าริมน้ำจันทบูร น้ำตกพลิ้ว ศาลเจ้าตั้วเล่าเอี๊ย และเพ็ญทิวาทุเรียนทอด และอาหารท้องถิ่น เช่น ยำมังคุดกุ้งสด กวยจั๊บป้าไหม แกงหมูใบชะมวง ไอติมจรวด แกงมัสมั่นทุเรียน ออกอากาศในวันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม 2566

มินิซีรีส์ 3  เรื่อง ‘เฮียไม่ปลื้ม’ นำแสดงโดย ‘ฟลุ้ค-ณธัช ศิริพงษ์ธร’ และ ‘ยูโด-ธรรม์ธัช ธารินทร์ภิรมย์’ ถ่ายทอดเนื้อหาวิถีชีวิตและการจ้างงานชุมชนท้องถิ่น ผ่านเส้นทางท่องเที่ยวจังหวัดตราด ชุมชนท่าระแนะ ประภาคารแหลมงอบ หาดตาลคู่ สะพานวัดใจ พร้อมสอดแทรกอาหารท้องถิ่น เช่น ข้าวผัดพริกเกลือ อาหารซีฟู้ด ปลาโคกหว่น ปลาทราย-ปลาซิวทอด  เป็นต้น ออกอากาศในวันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม 2566

มินิซีรีส์ 4 เรื่อง ‘คู่กัดออกทริป’ นำแสดงโดย ‘แม้ก-กรธัสส์ รุจีรัตนาวรพันธุ์’ และ ‘ณฐ-ณฐสิชณ์ เอื้อเอกสิชฌ์’ ถ่ายทอดเนื้อหาการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ผ่านเรื่องราวของเส้นทางท่องเที่ยวจังหวัดนครนายก อ่างเก็บน้ำทรายทอง-เขาช่องลม และจังหวัดปราจีนบุรี น้ำตกเขาอีโต้-วัดพระใหญ่-ศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่าปราจีนบุรี ผสมผสานอาหารท้องถิ่น ได้แก่ ไผ่ตงหวาน ต้มหน่อไม้ ส้มตำไผ่บงหวาน ออกอากาศในวันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม 2566

มินิซีรีส์ 5 เรื่อง ‘สมมติว่าเป็นแฟน’ นำแสดงโดย ‘มอส-ภาณุวัฒน์ โสประดิษฐ’ และ ‘แบงค์-มณฑป เหมตาล’ ถ่ายทอดเนื้อหาของการรีไซเคิลพลาสติกที่มาจากทะเล ผ่านเส้นทางท่องเที่ยวจังหวัดระยอง เขาแหลมหญ้า สะพานคู่หาดแม่รำพึง วิสาหกิจชุมชนแยกขยะวัดชากลูกหญ้า และอาหารท้องถิ่น เช่น ยำผักกระชับ แกงส้มปู แกงคั่วเล เส้นหมี่น้ำแดงโบราณ ต้มหมูชะมวง เป็นต้น  ออกอากาศในวันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม 2566

มินิซีรีส์ 6 เรื่อง ‘ตามหาความทรงจำ’ นำแสดงโดย ‘ยุ่น-ภูษณุ วงศาวณิชชากร’ และ ‘ดิว-นิติกร ปานคร้าม’ ถ่ายทอดเนื้อหาการใช้พลังงานทดแทน ผ่านเรื่องราวจังหวัดชลบุรี ในแหล่งท่องเที่ยวสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ม.บูรพา หาดบางแสน อ่างเก็บน้ำบางพระ แกรนด์แคนยอนชลบุรี และอาหารถิ่น เช่น ข้าวหลามหนองมน ข้าวเกรียบอ่อน ไก่ย่างบางแสน เป็นต้น ออกอากาศในวันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม 2566

ทั้งนี้ มินิซีรีส์ดังกล่าว มีกำหนดเผยแพร่ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 17.00 น. เริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม 2566 ผ่านช่องทาง แอปพลิเคชัน AIS PLAY, YouTube ของ AIS และ YouTube Channel : Amazing Thailand

'ก.คมนาคม' เผย สะพานข้ามทางรถไฟประจวบฯ เสร็จสมบูรณ์ ช่วยแก้ปัญหาอุบัติเหตุยั่งยืน ยกระดับความปลอดภัย ปชช.

(27 ก.ย. 66) กรมทางหลวงชนบท สร้างสะพานข้ามทางรถไฟบนถนนสาย ปข.1003 จ.ประจวบคีรีขันธ์ เสร็จสมบูรณ์ เพิ่มศักยภาพการแก้ปัญหาอุบัติเหตุอย่างยั่งยืน ยกระดับความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน พร้อมรองรับรถไฟทางคู่ในอนาคต ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ จุดตัดทางรถไฟกับ
ถนนทางหลวงชนบทสาย ปข.1003 แยก ทล.4 - บ้านโพธิ์เรียง อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เสร็จสมบูรณ์ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยกระดับความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน แก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุในระยะยาว รวมทั้งเป็นการสนับสนุนโครงการรถไฟทางคู่ของกระทรวงคมนาคมในอนาคต ตามนโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ปัจจุบันถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทช. ที่มีจุดตัดผ่านทางรถไฟมี จำนวน 153 แห่ง สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ จุดตัดทางรถไฟกับถนนทางหลวงชนบทสาย ปข.1003 แยก ทล.4 - บ้านโพธิ์เรียง อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นหนึ่งในโครงการที่อยู่บนถนนที่มีจุดตัดผ่านทางรถไฟ ซึ่งในอดีตบริเวณถนนทางหลวงชนบทสาย ปข.1003 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทช. จึงได้ดำเนินการปรับปรุงจุดตัดผ่านทางรถไฟดังกล่าวให้สอดคล้องกับมาตรการความปลอดภัยของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่กำหนดให้บริเวณจุดตัดผ่านทางรถไฟที่มีค่าคูณควบจราจร (Traffic Moment หรือ T.M.) มากกว่า 100,000 ให้ก่อสร้างทางผ่านเป็นทางต่างระดับในรูปแบบของสะพานหรืออุโมงค์ ซึ่งเป็นการสนับสนุนนโยบายของกระทรวงคมนาคมในการรองรับโครงการพัฒนาการขนส่งระบบราง (โครงการรถไฟทางคู่)

โครงการก่อสร้างสะพานดังกล่าว ใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 288.700 ล้านบาท มีจุดเริ่มต้นโครงการ เชื่อม ทล.4 (กม.ที่ 278) จุดสิ้นสุดเชื่อมถนนองค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (กม.ที่ 1+450) ซึ่งก่อสร้างเป็นสะพานข้ามทางรถไฟ จำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย

- สะพานแห่งที่ 1 ยาว 310 เมตร พื้นสะพานกว้าง 10 เมตร และก่อสร้างถนนต่อเชื่อมแบบคอนกรีตเสริมเหล็กกว้าง 7 เมตร ไหล่ทางกว้าง 1.5 เมตร รวมความยาวถึงจุดสิ้นสุดโครงการ 1,246 เมตร พร้อมก่อสร้างทางกลับรถใต้สะพานผิวทางคอนกรีตเสริมเหล็ก 

- สะพานแห่งที่ 2 ยาว 449.95 เมตร พื้นสะพานกว้าง 8 เมตร และก่อสร้างถนนต่อเชื่อมแบบคอนกรีตเสริมเหล็กกว้าง 6 เมตร ไหล่ทางกว้าง 1 เมตร รวมความยาวถึงจุดสิ้นสุดโครงการ 195 เมตร พร้อมสะพานลอยคนเดินข้าม 1 แห่ง มีผนังกันราวตกและมีหลังคาคลุมตลอดทางเดิน

‘มูราตะ’ ทุ่ม 2,900 ล้าน ขยายโรงงานในนิคมอุตฯ ลำพูน เดินหน้าผลิตชิ้นส่วน MLCC ป้อนตลาดโลก

‘มูราตะ’ ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น ปักหมุดนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ลำพูน ทุ่ม 2,900 ล้านบาท ขยายโรงงานแห่งใหม่ เพิ่มศักยภาพการผลิตตัวเก็บประจุแบบเซรามิกหลายชั้น - MLCC ป้อนตลาดโลก

ปัจจุบันความต้องการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ขณะเดียวกันการเติบโตของสมาร์ตโฟน และอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นปัจจัยเร่งทำให้อุตสาหกรรมนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ล่าสุด บริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นฐานการผลิตในเครือของบริษัท มูราตะ แมนูแฟ็คเจอริ่ง จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ได้เปิดโรงงานผลิตชิ้นส่วนแห่งใหม่เพิ่มเติม พื้นที่อาคารรวม 35,088 ตรม. ซึ่งตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ จังหวัดลำพูน

นายฮิโรคะซุ ซาซาฮาร่า กรรมการผู้จัดการ บริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงการขยายโรงงานแห่งใหม่ว่า อย่างที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันมีความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะตัวเก็บประจุแบบเซรามิกหลายชั้น (Multilayer Ceramic Capacitors - MLCC) เพื่อนำไปประกอบในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งเติบโตพร้อมกับตลาดสมาร์ตโฟน ซึ่งหากเป็นระดับไฮเอ็นด์สามารถติดตั้งคาปาซิเตอร์ชนิดนี้ได้มากถึง 1,000-1,200 ตัว ทำให้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา อุปกรณ์ MLCC มีอัตราการเติบโตถึง 3 เท่า

และแน่นอนว่าชิ้นส่วน MLCC ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ระดับเรือธงของมูราตะ และครองส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกสูงถึง 40% โดยโรงงานแห่งใหม่นี้ จะเน้นผลิต MLCC เป็นหลัก เพื่อป้อนสินค้าไปยังผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก 

นายฮิโรคะซุ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โรงงานแห่งใหม่นี้ได้ใช้งบประมาณในการลงทุนเฉพาะตัวอาคารอยู่ที่ 2,900 ล้านบาท ซึ่งภายในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า หากเดินกำลังการผลิตได้เต็มระบบ จะสามารถผลิต MLCC ได้ราว 30,000 ล้านชิ้นต่อเดือน และจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2,000 อัตรา จากปัจจุบันที่มีอยู่กว่า 600 อัตรา

ด้านนายโนริโอะ นากาจิมา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท มูราตะ แมนูแฟ็คเจอริ่ง จำกัด จากญี่ปุ่น กล่าวว่า ปัจจุบัน มูราตะ เป็นเป็นผู้นำระดับโลกในการออกแบบ ผลิต และจัดจำหน่ายโซลูชั่นและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์พื้นฐานเซรามิกแบบพาสซีฟ โมดูลการสื่อสารและโมดูลจ่ายไฟ โดยได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 100 บริษัทนวัตกรรมชั้นนำของโลกติดต่อกัน 2 ปีซ้อน จาก Clarivate (Thomson Reuters เดิม) 

ทั้งนี้ มูราตะ ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดทั่วโลกสูงถึง 40 % มาจากกลยุทธ์การรักษาผู้นำตลาดด้วยระบบการทำงานแบบบูรณาการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่การออกแบบ การพัฒนาเครื่องจักรการผลิต วัสดุ และกระบวนการทำงาน รวมไปถึงเทคโนโลยีที่เป็นเอกลักษณ์ภายในองค์กร ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันในระดับสูง ขณะเดียวกัน มูราตะ ยังได้จัดสรรงบวิจัยและพัฒนา (R&D) อีกราว 7% ของยอดขาย ซึ่งในปีที่ผ่านมา บริษัทฯมียอดขายสูงถึง 1,686,796 ล้านเยน หรือราว 4.2 แสนล้านบาท 

ขณะที่ การขยายโรงงานเพิ่มขึ้นในประเทศต่าง ๆ จะช่วยขยายศักยภาพการผลิตและทำให้ มูราตะ เป็นผู้นำตลาดได้อย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะโรงงานในประเทศไทยแห่งใหม่แล้วเสร็จสมบูรณ์จะเสริมให้มูราตะ มีฐานการผลิตคาปาซิเตอร์ในต่างประเทศเพิ่มเป็น 4 แห่ง (นครอู๋ซี เซินเจิ้น ประเทศจีน ประเทศสิงคโปร์ และประเทศไทย) และอีกสองแห่งในประเทศญี่ปุ่น (นครฟูกูอิ และนครอิซูโมะ) รองรับการขยายกำลังการผลิตตัวเก็บประจุแบบเซรามิกหลายชั้นเพิ่มขึ้นอีกปีละ 10% เพื่อตอบสนองต่อการขยายตัวในวงการอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นทุกปี

อนึ่ง สำหรับ มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) ได้เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย ที่จังหวัดลำพูน ตั้งแต่ปี 2531 ทุนจดทะเบียน 6,093,731,000 บาท มีจำนวนพนักงานทั้งสิ้น 6,167(เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566) 

โอกาส ‘ไทย’ หลังขึ้นแท่น ‘คลัสเตอร์ PCB’ รายใหญ่ที่สุดในอาเซียน ภายใต้ ‘ไต้หวัน’ ผู้นำแห่งอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โลก

เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 66 เพจเฟซบุ๊ก ‘BOI News’ ได้โพสต์ข้อความ เกี่ยวกับ ‘อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์’ ในไทย ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการลงทุนตั้งฐานการผลิต ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยระบุว่า…

เมื่อพูดถึงผู้นำใน ‘อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์’ ของโลก 🌏

ประเทศไต้หวัน คือคำตอบอย่างไม่ต้องสงสัย แล้วปัจจัยใดที่ผลักดันให้ไต้หวันผงาดขึ้นเป็นผู้นำในตลาดผู้ผลิตชิปของโลก?

ย้อนไปในปี 2516 รัฐบาลไต้หวันได้จัดตั้งสถาบัน ‘Industrial Technology Research Institute’ (ITRI) โดยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชิปขั้นสูงจากต่างประเทศ ทำให้ ITRI สามารถพัฒนากระบวนการผลิตชิปได้เป็นของตัวเอง ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ให้กับไต้หวันได้อย่างมั่นคงในระยะต่อมา

🔹 โดยในปี 2530 มีการก่อตั้งบริษัทผู้ผลิตชิป ‘Taiwan Semiconductor Manufacturing Company’ หรือ ‘TSMC’ ขึ้น ซึ่งต่อมากลายมาเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่มีส่วนผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างระบบสาธารณูปโภค การสุขาภิบาล ระบบพลังงาน และการคมนาคม ในไต้หวันขึ้นอย่างรวดเร็ว ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานนี้ส่งผลให้การผลิตชิปเช็ตของไต้หวันมีคุณภาพสูง จนทำให้ไต้หวันก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำระดับโลกของอุตสาหกรรมผลิตชิป

ในช่วงเวลาดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2530-2543 ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของไต้หวัน เนื่องจากมีการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ หรือการผลิตชิปซึ่งเป็นหัวใจของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างก้าวกระโดด 💻

กลยุทธ์ของผู้ผลิตชิปจากไต้หวันนั้นแตกต่างจากที่อื่น ๆ ตรงที่บริษัทของไต้หวันจะเป็นผู้รับจ้างผลิตสินค้าให้กับบริษัทที่จะไปขายในแบรนด์ของตัวเอง หรือเป็นที่รู้จักในรูปแบบที่เรียกว่า ‘OEM’ เนื่องจากการลงทุนในโรงงานผลิตชิปที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ทำให้หลาย ๆ บริษัทเลือกทำเพียงขั้นตอนการออกแบบชิปแล้วมอบหมายให้กับ TSMC หรือบริษัทอื่นในไต้หวันทำหน้าที่ผลิตแทน

🔹 ปัจจุบัน ไต้หวันเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของโลก โดยครองส่วนแบ่งทางการตลาดกว่า 65% ของการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ของโลก โดยมีบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Corporation (TSMC) เป็นผู้ผลิตรายใหญ่

‘เซมิคอนดักเตอร์’ เป็นส่วนสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ อีกทั้งความต้องการใช้งานชิปก็ยังเพิ่มขึ้นในอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่เน้นการผลิตยานพาหนะที่มีความสามารถด้านการเชื่อมต่อ (Connectivity) และความเป็นอัจฉริยะ (Intelligence) ส่งผลให้ความต้องการชิปขั้นสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างไม่มีทีท่าว่าจะลดลง

ประเทศไทยขึ้นแท่น ‘คลัสเตอร์ PCB’ รายใหญ่ที่สุดในอาเซียน
ปัจจัยสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ของไทยมาจากการมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ทั้งระบบไฟฟ้าที่มีความเสถียร พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่พร้อมรองรับการลงทุนได้อีกมาก อีกทั้งบุคลากรยังมีทักษะและความเชี่ยวชาญในด้านอิเล็กทรอนิกส์ หรือการที่ไทยมี Supply Chain ของอุตสาหกรรมนี้อย่างครบวงจร รวมไปถึงการที่ภาครัฐมีมาตรการและนโยบายสนับสนุนให้ธุรกิจสามารถแข่งขันและเติบโตได้ ปัจจัยเหล่านี้เป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก โดยเฉพาะจากไต้หวัน ตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักเพื่อส่งออกไปยังตลาดโลก 

🔹 สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ซึ่งเป็นหัวใจของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ บริษัทจากไต้หวันยังถือเป็นผู้ผลิตอันดับหนึ่งของโลกอีกด้วย โดยครองส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 35% 

โดยปัจจุบัน ผู้ผลิต PCB ของไต้หวันรายใหญ่ 20 อันดับแรกของโลก ได้ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้วจำนวน 10 ราย ไม่ว่าจะเป็น WUS PCB, APEX, Dynamic Electronics, Gold Circuit, APCB และถ้ารวมกับผู้ผลิต PCB จากประเทศอื่น ๆ อย่างจีนและญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้เช่นกันด้วยแล้ว ก็จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นคลัสเตอร์ PCB ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

นี่คือสัญญาณแห่งโอกาสในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ที่ไม่เพียงแต่จะกลายเป็นฮับของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาค แต่ยังเป็นการต่อยอดสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำ ได้แก่ การผลิตเวเฟอร์ และการออกแบบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมไปถึงการพัฒนาสู่การเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ยานยนต์, ดิจิทัล, อุปกรณ์การแพทย์, ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ ซึ่งจะช่วยยกระดับ Supplier ไทยให้ได้เข้าไปอยู่ใน Supply Chain อิเล็กทรอนิกส์ของโลกด้วยเช่นกัน

🎗️ บีโอไอพร้อมสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ หรืออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ ด้วยการให้สิทธิประโยชน์พิเศษทางภาษี และสิทธิประโยชน์และบริการด้านอื่น ๆ อีกจำนวนมาก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ตลอดจนสร้างแรงจูงใจในการวิจัยและพัฒนาให้สามารถก้าวพร้อมไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับโลกได้ต่อไป

#บีโอไอส่งเสริมการลงทุนทั้งคนไทยและต่างชาติทุกขนาดการลงทุน
📱 0-2553-8111 
📧 [email protected]
🌐 www.boi.go.th
🔰ไม่มีค่าใช้จ่ายในการติดต่อ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top