‘ดร.ดนุวัศ’ สรุป ‘10 เทคโนโลยีเกิดใหม่มาแรงปี 2023’ ส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคม ใน 3-5 ปีข้างหน้า

เมื่อไม่นานมานี้ รศ.ดร.ดนุวัศ สาคริก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาการศึกษา อาจารย์คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ‘Danuvas Sagarik’ ถึง 10 เทคโนโลยีเกิดใหม่ที่มาแรงสุดในปี 2023 โดยระบุว่า…

😀10 อันดับ เทคโนโลยีเกิดใหม่สุดปัง ที่มาแรงสุดในปี 2023🌈

🎉 World Economic Forum ได้เผย 10 เทคโนโลยีเกิดใหม่ที่น่าจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคม ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า ได้แก่

📌 1. แบตเตอรี่แบบยืดหยุ่นได้ (Flexible Batteries)

ในอนาคต อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น จะเห็นได้จากพัฒนาการของอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น หน้าจอคอมพิวเตอร์พับได้ สมาร์ทโฟนพับได้

ทำให้แบตเตอรี่แบบแข็งอาจถูกแทนที่ด้วยแบตเตอรี่ที่ทำจากวัสดุน้ำหนักเบา บาง สามารถบิด งอ หรือยืดหยุ่นได้ง่าย 

📌 2. ปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI)

เป็นปัญญาประดิษฐ์ที่มีความสามารถในการ ‘สร้างใหม่’ จากชุดข้อมูลที่มีอยู่ด้วยอัลกอริทึม 

Generative AI กำลังได้รับความนิยม จากการปรากฏตัวของ ChatGPT และถูกนำไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในหลากหลายอุตสาหกรรม

📌 3. เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel)

เป็นอีกเทคโนโลยีที่ทั่วโลกให้ความสนใจ ท่ามกลางกระแสการคมนาคมสีเขียว (Green Transportation) ซึ่งรวมไปถึงความนิยมการใช้รถ EV 

แม้ปัจจุบัน Sustainable Aviation Fuel ถูกใช้ในสัดส่วนไม่ถึง 1% ของความต้องการเชื้อเพลิงเครื่องบินทั่วโลก 

แต่สัดส่วนดังกล่าวจำเป็นจะต้องเพิ่มขึ้นเป็น 13-15% ภายในปี 2040 เพื่อให้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050

📌 4. ไวรัสที่ถูกออกแบบ และปรับแต่งเพื่อใช้ทางการแพทย์ (Designer Phages)

เช่น สามารถใช้รักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับไมโครไบโอม เช่น กลุ่มอาการฮีโมไลติกยูรีมิก ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้ยาก แต่ร้ายแรง ซึ่งส่งผลต่อไตและการแข็งตัวของเลือด ซึ่งเกิดจากเชื้ออีโคไลบางชนิด

📌 5. Metaverse เพื่อสุขภาพจิต (Metaverse for Mental Health)

Metaverse หรือโลกเสมือนที่เปิดให้ผู้คนเข้าไปทำกิจกรรมหรือมีปฏิสัมพันธ์กัน ผ่านการใช้เทคโนโลยี AR และ VR

ปัจจุบัน Metaverse ถูกนำไปใช้ในการรักษาสุขภาพจิตในหลายวิธี ซึ่ง Metaverse ช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยผ่านการรักษาทางไกล

เช่น บริษัท DeepWell Therapeutics ที่สร้างวิดีโอเกมเพื่อรักษาอาการซึมเศร้าและความวิตกกังวล

และบริษัท TRIPP ซึ่งสร้าง ‘Mindful Metaverse’ ซึ่งช่วยเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนผ่านการเจริญสติ และการทำสมาธิ 

📌 6. เซ็นเซอร์ติดที่พืช (Wearable Plant Sensors)

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า การผลิตอาหารของโลกจะต้องเพิ่มขึ้น 70% เพื่อเลี้ยงประชากรทั้งโลกให้เพียงพอ ภายในปี 2050 

นวัตกรรมทางเทคโนโลยีด้านการเกษตรจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะเสริมความแกร่งด้านความมั่นคงด้านอาหารของโลก

เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ติดที่พืชกำลังกลายเป็นวิธีตรวจสอบสุขภาพและคุณภาพของพืชที่ทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้สุขภาพของพืชผลต่าง ๆ ดีขึ้น และมีผลผลิตมากขึ้น

อุปกรณ์มีขนาดเล็ก และไม่รบกวนพืช ใช้ติดเข้ากับพืชต่าง ๆ เพื่อการตรวจสอบอุณหภูมิ ความชื้น และระดับสารอาหารได้อย่างต่อเนื่อง 

ทำให้เกษตรกรควบคุมการใช้น้ำ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และตรวจหาสัญญาณเริ่มต้นของโรคได้ดีขึ้น

📌 7. เทคโนโลยีที่ใช้วิเคราะห์โมเลกุลในพื้นที่ที่เซลล์หรือโครงสร้างชีวภาพต่าง ๆ อยู่ (Spatial Omics)

Spatial Omics จึงอาจให้คำตอบแก่นักวิจัยได้เพิ่มขึ้น ด้วยการรวมเทคนิค ‘การถ่ายภาพขั้นสูง’ เข้ากับความเฉพาะเจาะจงและความละเอียดของการจัดลำดับ DNA 

วิธีการที่เกิดขึ้นใหม่นี้ช่วยทำให้นักวิจัยค้นพบความลึกลับของสิ่งมีชีวิตได้มากขึ้น และดูรายละเอียดเซลล์ และเหตุการณ์ทางชีววิทยาที่ไม่สามารถสังเกตได้ก่อนหน้านี้

📌 8. อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สื่อระบบประสาทแบบยืดหยุ่นได้ (Flexible Neural Electronics)

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีการสื่อสารระหว่างคลื่นสมองและคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ภายนอก อื่น ๆ หรือ Brain-Machine Interfaces (BMI) เป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อย ๆ 

และถูกนำมาใช้ในหลายกรณี เช่น การรักษาผู้ป่วยโรคลมบ้าหมู และแขนขาเทียมที่เชื่อมต่อกับระบบประสาท ทำให้เกิดการจินตนาการเกี่ยวกับศักยภาพในการควบคุมเครื่องจักรด้วยความคิดมากขึ้นเรื่อย ๆ

📌 9. คลาวด์คอมพิวติงแบบยั่งยืน (Sustainable Computing)

ขณะที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายลง มนุษย์จำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็กำลังพึ่งพาข้อมูลมากขึ้น 

ทำให้การใช้พลังงานไฟฟ้าและการปล่อยความร้อนของศูนย์ข้อมูล (Data Center) สำหรับเทคโนโลยี Cloud Computing มากขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางการขยายตัวของ Metaverse AI และเทคโนโลยีอื่นๆ 

แต่คาดว่าในทศวรรษหน้า ศูนย์ข้อมูลที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ และ Sustainable Computing จะมีความก้าวหน้ามากขึ้นอย่างมาก 

📌 10. การดูแลสุขภาพที่ใช้ AI (AI-Facilitated Healthcare)

จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสร้างระบบสาธารณสุขที่น่าเชื่อถือมากขึ้น 

ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กลายเป็นหนึ่งแนวทางสำคัญในการจัดการกับความท้าทายต่าง ๆ เช่น ลดความล่าช้าที่ผู้ป่วยจำนวนมากต้องเจอเมื่อพยายามเข้ารับการรักษาพยาบาลผ่านระบบ 

เช่น บริษัท Medical Confidence ที่ใช้ AI เพื่อจัดการความต้องการในการรักษาของผู้ป่วยให้เหมาะสมกับความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวก ทำให้ช่วยลดเวลารอการรักษาได้อย่างมาก บางกรณีช่วยลดเวลารอจากหลายเดือนเหลือเพียงไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น

นอกจากนี้ AI ยังสามารถอำนวยความสะดวกในการระบุรายละเอียดที่สำคัญทางรังสี หรือภาพ CT ที่แพทย์อาจมองข้ามได้ และการรวบรวมข้อมูลที่มีคุณภาพ ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างข้อมูลเชิงลึกต่อไปได้อีกด้วย


อ้างอิงจาก อ้างอิงจาก World Economic Forum, MidJourney, Studio Miko, The Standard

ที่มา: https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid02V7WpdvBCVZ8j7QeMutJAkzphz18y8gA6nAQVsCiH4iVxZi8GhudnSBWqubh2QxRkl&id=100050508008118&mibextid=Nif5oz