Saturday, 20 April 2024
IMPACT

ฝืนต่อไม่ไหว!!  ‘เซ็นทรัล’ ประกาศปิด ‘เซ็นทรัลป่าตอง’ ชั่วคราว ตั้งแต่ 1 ก.พ.นี้ จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น หลังเจอพิษโควิด กระหน่ำการท่องเที่ยวภูเก็ตชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ผู้บริหารห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ได้ทยอยส่งจดหมายถึงผู้เช่าพื้นที่และผู้เกี่ยวข้อง โดยหนังสือดังกล่าวมีเนื้อหา เป็นการแจ้ง การปิดห้างเซ็นทรัลป่าตอง ชั่วคราว

พร้อมระบุสาเหตุว่าเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิด-19 กระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตจนชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริษัท ฝ่ายบริหารจึงมีความเห็นให้ปิดกิจการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

 

 

'บรรพบุรุษ' กด Like!! 'บอนชอน' ขอแจมช่วงตรุษจีน ส่ง ‘ไก่ไหว้เจ้า’ ทอดทั้งตัว รสซอยการ์ลิค

บอนชอน ร้านไก่ทอดชื่อดังเปิดให้พรีออเดอร์ ‘ไก่ไหว้เจ้า’ ต้อนรับเทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะมาถึง โดยรายละเอียดระบุว่า เป็นไก่บอนชอนทอดทั้งตัว (ไม่มีเครื่องใน) ทาเคลือบด้วยซอสซอยการ์ลิค รสเข้มข้น

รายละเอียดระบุว่า ผู้ที่สนใจสามารถสั่งจองไก่ได้ถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ และรับสินค้าในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ โดยราคาไก่ไหว้เจ้าทอดดังกล่าวมีราคาอยู่ที่ตัวละ 688 บาท

แต่มันก็จะแปลกๆ นิด ไก่อะไรไม่มีตา!!

‘บิ๊กตู่’ สั่งด่วนกำหนดแนวทางให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางเรือ ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งด้านปริมาณการค้าที่ลดลง ตู้สินค้าขาดแคลน และค่าระวางการส่งออกที่เพิ่มขึ้น

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณากำหนดแนวทางให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางเรือ ซึ่งได้รับผลกระทบการประกอบกิจการในช่วงภาวะวิกฤตจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

แนวทางช่วยเหลืออย่างเช่น การอนุญาตให้เรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่กว่าที่กำหนดไว้เดิมสามารถเข้าเทียบท่าได้เพื่อขนส่งสินค้าในปริมาณที่มากขึ้น การผ่อนปรนการเรียกเก็บค่าบริการท่าเทียบเรือ

“กระทรวงพาณิชย์ได้สะท้อนปัญหาของผู้ส่งสินค้าทางเรือและผู้ส่งออกต่อที่ประชุม ครม. ล่าสุดนายกรัฐมนตรีจึงมีข้อสั่งการให้หาทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ และได้มอบหมายให้ให้กระทรวงคมนาคมกำกับติดตามการดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว”

ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐบาลได้ทยอยออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือทั้งประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ตามแนวนโยบายของ นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้การช่วยเหลือครอบคลุมประชาชนมากที่สุด

และล่าสุดรัฐบาลได้รับทราบถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการกลุ่มผู้ส่งสินค้าทางเรือ ซึ่งเป็นกลุ่มกลไกสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในภาคการนำเข้าและส่งออก ว่า ขณะนี้ได้รับผลกระทบหลายด้านโดยเฉพาะจากปริมาณการค้าที่ลดลงจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน ผู้ส่งออกเองก็ประสบปัญหาค่าระวางของการส่งออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกในระยะยาว

กรมส่งเสริมการค้าฯ วิเคราะห์นโยบายด้านการค้าของสหรัฐฯ ยุค ‘โจ ไบเดน’ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ คาดสร้างโอกาสการร่วมมือทางการค้าการลงทุนของธุรกิจสหรัฐฯ ในไทย และช่วยเพิ่มให้ไทยเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ ได้ดีขึ้น

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภายหลังจากนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ได้เข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการและลงนามในคำสั่งบริหารและคำสั่งอื่นๆ รวม 15 ฉบับ

ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการประเมินนโยบายด้านการค้าของสหรัฐฯ หลังจากนี้ น่าจะส่งผลดีทำให้ความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับกลุ่มประเทศเอเชียดีขึ้น สร้างโอกาสการร่วมมือทางการค้าการลงทุนของธุรกิจสหรัฐฯ ในไทย และช่วยเพิ่มให้ไทยเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ ได้ดีขึ้น

ด้วยเหตุนี้ กระทรวงพาณิชย์ จึงได้มีการวางแผนการทำงานในปี 2564 โดยเดินหน้าขยายตลาดส่งออกในสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเน้นไปที่สินค้าที่มีศักยภาพ คือ อาหารสำเร็จรูป อาหารเสริม สินค้าที่เกี่ยวกับการทำงานที่บ้าน เช่น เฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน วัสดุแต่งสวน สินค้าสัตว์เลี้ยง เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ออกกำลังกาย เกมส์และความบันเทิงภายในบ้าน และสินค้าป้องกันส่วนบุคคลที่จะมีความต้องการจนกว่าโควิด-19 จะคลี่คลาย โดยตั้งเป้าหมายปีนี้จะขยายตัวที่ 4%

แต่อย่างไรก็ตามยังต้องระวังผลกระทบจากนโยบายของสหรัฐฯ ที่เน้นพึ่งพาการผลิตในประเทศมากขึ้น ทำให้อาจมีการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีเพิ่มขึ้นตามมา เช่นเดียวกับกลุ่มสินค้าต่างๆ เช่น สินค้ากลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า รวมไปถึงการติดตามนโยบายด้านการเงินการคลังของสหรัฐฯ ที่จะมีผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่มีผลต่อค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดด้วย

กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้ายุทธศาสตร์ ตลาดนำการผลิต ส่งทัพการ์ตูนคาแรกเตอร์ - แอนิเมชันไทย เจาะตลาดญี่ปุ่น ปูทางขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ของไทยได้รับความนิยมมากขึ้นในตลาดญี่ปุ่นประกอบด้วยนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ในการเดินหน้ายุทธศาสตร์ "ตลาดนำการผลิต”และแผนงานการพัฒนาศักยภาพทางการตลาดให้กับการบริการและอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ สำนักพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการ ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว"

ได้จัดโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการรับรู้คาแรกเตอร์การ์ตูนและแอนิเมชันของไทย (Cartoon Characters & Animation) ในเขตพื้นที่ภายในกรุงโตเกียวและนอกเขตกรุงโตเกียว หรือโครงการ Thai Cartoon Project ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เดือนกันยายน 2564 โดยเปิดรับสมัครผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่วันที่ 11 - 27 มกราคม 2564 เพื่อส่งเสริม Thai Licensing Character และ Animation ไทย

โดยในปี 2564 มีกิจกรรมจัดขึ้นภายใต้โครงการฯ ดังกล่าว อาทิ การจัดกิจกรรม Pop up Exhibition เพื่อจัดแสดงคอนเทนท์และสินค้าการ์ตูนคาแรคเตอร์ไทย ในโตเกียว 1 แห่ง และเมืองรอง 1 แห่ง การกิจกรรมประชาสัมพันธ์โครงการและคาแรคเตอร์ไทยผ่านสื่อออนไลน์ เช่น สื่อ SNS (Instagram /Twitter @thaicharatokyo) และสื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อเผยแพร่คอนเทนท์ การ์ตูนคาแรคเตอร์ไทยเป็นภาษาญี่ปุ่นเพื่อให้เข้าถึงชาวญี่ปุ่นได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้ง กิจกรรมพิเศษต่างๆ เช่น การวาดภาพสด (Live Drawing) ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อเป็นเวทีให้ผู้ประกอบการการ์ตูนคาแรคเตอร์ไทยได้พบปะกับชาวญี่ปุ่นโดยตรง

สำหรับ โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการรับรู้ Cartoon Characters และ Animation ไทย ได้จัดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้อุตสาหกรรม Digital Contents ซึ่งรวมถึง Cartoon Characters และ Animation ไทยในประเทศญี่ปุ่น เป็นการ

ปูทางในการบุกเบิกตลาด เนื่องจากมีกลุ่มชาวญี่ปุ่นที่ชื่นชอบการ์ตูนคาแรคเตอร์ไทยติดตามโครงการผ่านสื่อ SNS เพิ่มขึ้นทุกปี และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นหนึ่งในโครงการของกรมฯ ที่เปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการการ์ตูนคาแรคเตอร์ไทยได้เข้าตรงถึงตลาดกลุ่มเป้าหมาย เพื่อขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศต่อไป

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ควบคุมสินค้า หน้ากากอนามัย ถุงมือสำหรับใช้ทางการแพทย์ น้ำเย็น เครื่องเล่นสนามสาธารณะ ยกระดับจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ภาคทั่วไป เป็นภาคบังคับ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ได้มีมติเห็นชอบให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ควบคุมสินค้า 7 รายการ คือ หน้ากากอนามัย ถุงมือสำหรับใช้ทางการแพทย์ น้ำเย็น เครื่องเล่นสนามสาธารณะ ทั้งชิงช้า กระดานลื่น ม้าหมุน และอุปกรณ์โยก ยกระดับจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือมอก. ภาคทั่วไป ไปเป็นมอก. ภาคบังคับ เพื่อให้ผู้ผลิต และผู้นำเข้าทุกราย จะต้องจำหน่าย หรือนำเข้าสินค้าที่มีตราสัญลักษณ์มอก.ภาคบังคับเท่านั้น

ทั้งนี้ในการออกมาควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมครั้งนี้ เป็นเพราะในปัจจุบันที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้ประกอบการได้นำหน้ากากอนามัย และถุงมือสำหรับใช้ทางการแพทย์ออกมาขายเป็นจำนวนมาก และพบว่า มีสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานปะปนอยู่ในท้องตลาดเป็นจำนวนมาก ส่งผลต่อความปลอดภัยของประชาชนที่ซื้อไปใช้

ขณะเดียวกันได้เห็นชอบมาตรฐานอื่นๆ อีกรวม 76 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานอุปกรณ์ป้องกันดวงตาและใบหน้าสำหรับป้องกันหยดและละอองของเหลว หรือเฟสชิลด์ ผ้าป้องกันแบคทีเรีย ยางล้อรถยนต์และยางล้อจักรยานยนต์ เสื้อชูชีพ อาหารกระป๋อง หัวฝักบัวอาบน้ำ สายฝักบัวอาบน้ำ และเครื่องสำอางด้วย

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เผยโควิด-19 ระบาด ระลอกใหม่ ฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมร่วงครั้งแรกในรอบ 8 เดือน วอนรัฐบาลใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้น พร้อมเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นผู้บริโภคและคู่ค้า

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค.63 อยู่ที่ระดับ 85.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 87.4 ในเดือนพ.ย.63 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน และความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงในทุกองค์ประกอบ ทั้งคำสั่งซื้อโดยรวม, ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต, ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

โดยมีปัจจัยลบจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่มีความรุนแรงกว่ารอบแรก และขยายวงกว้างไปในหลายจังหวัด ส่งผลให้ภาครัฐออกคำสั่งปิดสถานที่บางแห่ง และกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดในจังหวัดที่มีการระบาดสูง รวมทั้งงดจัดกิจกรรมปีใหม่และขอความร่วมมือประชาชนชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด อีกทั้งขอให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนและข้าราชการทำงานที่บ้าน (Work From Home) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

ด้านภาคการส่งออก ผู้ประกอบการยังคงประสบปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้ส่งออกสินค้าได้น้อยลงและสูญเสียรายได้จากการส่งออก ขณะที่การแข็งค่าของเงินบาทยังเป็นปัจจัยเสี่ยงกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการส่งออก นอกจากนี้ ในเดือนธันวาคมมีวันทำงานน้อย เนื่องจากมีวันหยุดในช่วงเทศกาลปีใหม่ ทำให้ภาคการผลิตลดลงจากเดือนก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม สินค้าที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์เพื่อป้องกันโควิด-19 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่การก่อสร้างโครงการภาครัฐและการลงทุนใน EEC ส่งผลดีต่อสินค้าวัสดุก่อสร้าง

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 92.7 จากระดับ 94.1 ในเดือนพ.ย.63 เนื่องจากผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวช้า ทำให้ผู้ประกอบการมีการปรับแผนการดำเนินกิจการเพื่อรับมือสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการขอให้ภาครัฐเร่งควบคุมสถานการณ์โควิด-19 โดยเร็วและเร่งออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งผู้ประกอบการและประชาชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม

ประธาน ส.อ.ท. ยังได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ให้เร่งควบคุมการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการบังคับใช้มาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวด, เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและประเทศคู่ค้า เกี่ยวกับความปลอดภัยในสินค้าอาหารของไทย และเร่งออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ทั้งผู้ประกอบการและประชาชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม

มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ อาทิ มาตรการเสริมสภาพคล่องจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดกิจการชั่วคราวตามคำสั่งของแต่ละจังหวัด หรืออาจให้พักชำระหนี้ชั่วคราว รวมทั้งให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพิ่มวงเงินค้ำประกัน SMEs เป็น 50% หรือมาตรการอื่นๆ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ

มาตรการช่วยเหลือประชาชน อาทิ เพิ่มวงเงินใช้จ่ายโครงการคนละครึ่ง เป็น 5,000 บาท พร้อมขยายระยะเวลาโครงการฯ และสนับสนุนให้มีโครงการคนละครึ่งเฟส 3 พร้อมขยายฐานจำนวนผู้ได้รับสิทธิ

รวมทั้งสนับสนุนให้มีโครงการช้อปดีมีคืน ในปี 2564 เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชนในกลุ่มที่ต้องเสียภาษี โดยคืนภาษีจากเดิมสูงสุด 30,000 เป็น 50,000 บาท เพื่อนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปี 2564

‘โครงการบ้านผีเสื้อ’ ของประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 32 หลังสหภาพยุโรปประกาศแพลตฟอร์ม โครงการต้นแบบด้านไฮโดรเจน ชูจุดเด่นกลุ่มอาคารบ้านพักแห่งแรกของโลกที่ผลิตไฟฟ้าใช้เอง

โครงการบ้านผีเสื้อของประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 32 โครงการต้นแบบด้านไฮโดรเจนทั่วโลกบนแพลตฟอร์ม Hydrogen Valley ของ Mission Innovation ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่นำเสนอโครงการชั้นนำที่เรียกว่า "Hydrogen Valleys" เพื่อกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้พัฒนาโครงการที่ส่งไปถึงผู้กำหนดนโยบายทั่วโลก

จากการประกาศโครงการไฮโดรเจนชั้นนำของโลกโดยคณะกรรมาธิการยุโรป มีโครงการบ้านผีเสื้อที่พัฒนาโดย Enapter หนึ่งในบริษัทไฮโดรเจนที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกในขณะนี้ ติดอันดับด้วย

สำหรับโครงการนี้สร้างขึ้นในปี 2015 เป็นกลุ่มอาคารบ้านพักแห่งแรกของโลกที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ควบคู่กับระบบกักเก็บพลังงานไฮโดรเจน ผลิตไฟฟ้าใช้เองทั้งหมด ที่สำคัญโครงการบ้านผีเสื้อเป็นเพียงโครงการเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น Hydrogen Valley และเป็นหนึ่งในไม่กี่โครงการที่มีการใช้งานจริง จาก Hydrogen Valley อื่น ๆ ที่ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา

ทั้งนี้ แนวคิด Mission Innovation ริเริ่มจากการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 21 (COP21) ที่กรุงปารีส เมื่อปี 2015 เพื่อกระตุ้นและขับเคลื่อนนวัตกรรมพลังงานสะอาดในระดับโลก การเปิดตัวแพลตฟอร์มในวันนี้ถือเป็นการเริ่มต้นการแก้ไขปัญหาความท้าทายด้านนวัตกรรม 1 ใน 8 ด้าน นำโดยประเทศออสเตรเลีย เยอรมนี และสหภาพยุโรป ในฐานะผู้นำร่วมของเป้าหมายด้านพลังงานทดแทนและไฮโดรเจนสะอาด

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า “ประเทศไทยตั้งเป้าให้มีสัดส่วนพลังงานทดแทน 30% ภายในปี 2037 ทั้งนี้ ความท้าทายไม่ใช่แค่การผลิตพลังงานสะอาดเพียงอย่างเดียว แต่ประเทศไทยเห็นว่าการกักเก็บพลังงานมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้เราจึงยินดีที่ทราบว่าประเทศไทยมีโครงการบ้านผีเสื้อ อยู่ในแพลตฟอร์ม Hydrogen Valley ของ Mission Innovation และหวังว่าบ้านผีเสื้อจะไม่เป็นเพียงโครงการเดียวแต่เป็นโครงการแรกของอีกหลาย ๆ โครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต"

นายจอร์จ ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย ระบุว่า "ประเทศไทยเป็นที่ตั้งของโครงการเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นคือ โครงการบ้านผีเสื้อ อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นโครงการที่แสดงให้เห็นว่าพลังงานไฮโดรเจนสามารถนำมาใช้ได้แล้วในวันนี้ เป็นต้นแบบของ Enapter บริษัทสัญชาติเยอรมันที่เป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือระหว่างไทย-เยอรมัน"

โครงการบ้านผีเสื้อ เป็นกลุ่มอาคารบ้านพักที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ควบคู่กับระบบกักเก็บพลังงานแบบไฮบริดไฮโดรเจนร่วมกับแบตเตอรี่และเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน โครงการต้นแบบนี้พัฒนาโดยนายเซบาสเตียน ยุสตุส ชมิดท์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Enapter ผู้ผลิตอิเล็กโทรไลเซอร์เทคโนโลยี AEM ที่ติดตั้งอยู่ในโครงการบ้านผีเสื้อ ทำงานโดยการผลิตไฮโดรเจนจากน้ำและพลังงานแสงอาทิตย์

ธ.ก.ส. ออกมาตรการช่วยเกษตรกรรับมือปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ พักชำระหนี้ 6 เดือน - 1 ปี ให้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ 28 จังหวัดเขตควบคุมสูงสุดและที่ภาครัฐจะประกาศเพิ่ม พร้อมขยายเวลาเปิดรับคำขอสินเชื่อฉุกเฉิน

รายละไม่เกิน 10,000 บาท และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อฟื้นฟูและปรับโครงสร้างธุรกิจ

นายสุรชัย รัศมี รองผู้จัดการ รักษาการแทนผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เอสเอ็มอี สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 และอยู่ในพื้นที่ 28 จังหวัดที่อยู่ในเขตควบคุมสูงสุดและที่รัฐบาลประกาศเพิ่มเติม โดยจะพักชำระต้นเงินสำหรับเกษตรกร 1 ปี และพักชำระต้นเงินเอสเอ็มอี สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้าน ระยะเวลา 6 เดือน กรณีเป็นสินเชื่อใหม่ที่มีหนี้ถึงกำหนดชำระในเดือนธ.ค. 2563 ถึงพ.ค. 2564 ให้พักชำระต้นเงินสินเชื่อฉุกเฉินโควิด-19 ที่ถึงกำหนดชำระออกไปอีก 6 เดือน รวมถึงพักชำระต้นเงินสินเชื่อผู้ที่เข้าร่วมโครงการแก้หนี้นอกระบบออกไปอีก 1 ปี

พร้อมทั้งเตรียมวงเงินสนับสนุนรวมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นในครัวเรือน ผ่านโครงการสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงิน 20,000 ล้านบาท ให้กับเกษตรกรและครอบครัวของเกษตรกร ในอัตราดอกเบี้ยคงที่เพียง 0.1% ต่อเดือน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท กำหนดชำระคืนไม่เกิน 2 ปี 6 เดือนนับจากวันกู้ มีระยะเวลาปลอดการชำระ 6 เดือน ไม่ต้องใช้หลักประกัน และสามารถแบ่งงวดชำระได้ตามความสามารถในการชำระคืน โดยขยายเวลาในการขอสินเชื่อดังกล่าวได้ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2564

นอกจากนี้ยังช่วยลดภาระหนี้ผ่านโครงการชำระดีมีคืน สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะหนี้ปกติ ที่มีหนี้คงเหลือ ณ 31 ต.ค.2563 ยกเว้นสัญญาเงินกู้ตามโครงการที่ได้รับชดเชยดอกเบี้ยตามนโยบายรัฐบาล โดยกรณีเป็นเกษตรกร ทันทีที่ชำระหนี้จะได้รับคืนดอกเบี้ยในอัตรา 20% ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง ไม่เกินรายละ 5,000 บาท กรณีเป็นกลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ นิติบุคคล และกองทุนหมู่บ้าน จะได้รับเงินคืนในอัตรา 10% ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง แต่ไม่เกินแห่งละ 50,000 บาท วงเงินงบประมาณ 3,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2563 – 31 มี.ค. 2564 หรือจนกว่าจะเต็มวงเงินงบประมาณ

กรมการขนส่งทางราง ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึง ปลัด กทม. ขอให้ทบทวนการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสีเขียวตลอดเส้นทางไม่เกิน 104 บาท ชี้สามารถทำได้ถูกกว่า 65 บาทตลอดสาย เชื่อทำให้คนใช้บริการมากขึ้น

นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) รักษาการอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้ลงนามในหนังสือด่วนที่สุดถึงปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตามประกาศกรุงเทพมหานคร ที่ให้มีการจัดเก็บอัตราค่าโดยสารตลอดเส้นทางไม่เกิน 104 บาท ซึ่งให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.64 เป็นต้นไป เนื่องจาก กรมการขนส่งทางราง พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อสาธารณชน จึงขอให้ กทม. พิจารณาอย่างรอบคอบและรัดกุม

โดยขอให้ทบทวนการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารตามประกาศดังกล่าว และขอให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 61 ที่กำหนดให้กระทรวงคมนาคม และ กทม. บูรณาการร่วมกันในการกำหนดอัตราแรกเข้า อัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรม และไม่เป็นภาระแก่ประชาชน

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางราง จะเสนอกระทรวงคมนาคมในฐานะหน่วยงานที่ ครม. มอบหมาย หารือร่วมกับ กทม. โดยเร็วต่อไป เพื่อหาทางออกร่วมกันโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นสำคัญ

สำหรับที่ผ่านมา ได้มีข้อเสนอแนะในการขยายสัญญาสัมปทาน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว กรณีอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวไว้อย่างชัดเจนว่า สามารถกำหนดได้ถูกกว่า 65 บาทตลอดสาย และควรกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ถูกที่สุดสำหรับประชาชนที่ใช้บริการ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมาใช้บริการ ซึ่งจะทำให้การจราจรใน กทม. เบาบางลง โดยปัจจุบันพบว่าผู้มีรายได้น้อยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า คิดเป็น 35% ของค่าแรงขั้นต่ำ

ดังนั้น การกำหนดอัตราค่าโดยสารควรวิเคราะห์จากต้นทุนที่แท้จริง และหากถูกลงจาก 65 บาทตลอดสาย ในอนาคตจะทำให้ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top