Friday, 29 March 2024
IMPACT

‘สุริยะ’ จี้ สมอ. คุมเข้มสินค้า 43 รายการ เสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิต ให้เร่งประกาศเป็นสินค้าควบคุม ทั้งไฟฟ้า ยานยนต์ เคมี วัสดุก่อสร้าง เครื่องมือแพทย์ และสินค้าอุปโภคบริโภค ภายในปีนี้

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพที่เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันจากที่เป็นอยู่ให้สูงขึ้น เพื่อให้สามารถดึงความสนใจของนักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาในประเทศไทยได้

ซึ่งเป็นประเด็นท้าทายที่ภาคอุตสาหกรรมและกระทรวงอุตสาหกรรมต้องเร่งดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นใจภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกดิ่งลงเป็นประวัติการณ์ และในการผลักดันการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำเป็นต้องมีมาตรการเสริมนอกเหนือจากการส่งเสริมการลงทุนโดยปกติ ซึ่งมาตรฐานก็เป็นหนึ่งในมาตรการที่มีความสำคัญต่อ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะยกระดับคุณภาพสินค้าให้สามารถแข่งขันทางการค้าในตลาดโลกได้

“ผมได้เร่งรัดให้ สมอ. เร่งดำเนินการกำหนดมาตรฐานเพื่อให้ทันกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า ตลอดจนคุ้มครองประชาชนผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้เข้มงวด และควบคุมสินค้าที่เสี่ยงต่อความปลอดภัยของประชาชน โดยให้เร่งประกาศเป็นสินค้าควบคุมด้วย” นายสุริยะฯ กล่าว

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ได้ขออนุมัติบอร์ด สมอ. กำหนดมาตรฐานสินค้าทั้งสิ้นจำนวน 361 เรื่อง ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve จำนวน 117 เรื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve จำนวน 60 เรื่อง เช่น หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิตอล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร กลุ่มอุตสาหกรรมเชิงนโยบายและอื่นๆ จำนวน 113 เรื่อง ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ เกษตรแปรรูป พลาสติก ยาง สมุนไพร นวัตกรรม เป็นต้น และกลุ่มผลิตภัณฑ์พื้นฐานตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม จำนวน 71 เรื่อง ได้แก่ เครื่องกล เหล็ก คอนกรีต วัสดุก่อสร้าง และโภคภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งก็เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ไตรมาส 2 สมอ. กำหนดมาตรฐานแล้วทั้งสิ้นกว่า 250 เรื่อง และคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมด ภายในไตรมาสที่ 4 อย่างแน่นอน

“ขณะนี้ สมอ. อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำมาตรฐานใหม่ที่จะประกาศเป็นสินค้าควบคุมอีกทั้งหมด 43 รายการ เช่น ยางหล่อดอกซ้ำ เหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อนเคลือบสังกะสี หน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว ถุงมือสำหรับการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ชนิดใช้ครั้งเดียว กระดาษสัมผัสอาหาร ภาชนะพลาสติกสำหรับบรรจุน้ำบริโภค เครื่องฟอกอากาศ ถุงพลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร เก้าอี้นวดไฟฟ้า และเครื่องเล่นสนาม ได้แก่ ชิงช้า กระดานลื่น ม้าหมุน อุปกรณ์โยก เป็นต้น และนำมาตรฐานเดิมมาทบทวนและเสนอบังคับต่อเนื่องอีกจำนวน 21 รายการ เช่น

มาตรฐานในกลุ่มสีย้อมสังเคราะห์ เหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อน สำหรับงานโครงสร้างเครื่องจักรกล เตารีดไฟฟ้า กระทะไฟฟ้า เตาไมโครเวฟ ท่อไอเสียรถจักรยานยนต์ เครื่องดับเพลิง และแบตเตอรี่มือถือ เป็นต้น โดยทั้งหมดจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2564 นี้ จึงขอแจ้งไปยังผู้ประกอบการที่จะทำสินค้าดังกล่าว ให้เตรียมตัวดำเนินการตามมาตรฐาน ทั้งที่ทำในประเทศ และนำเข้า เพราะท่านจะต้องขออนุญาตจาก สมอ. ก่อนทำหรือนำเข้า พร้อมทั้งให้เตรียมตัวยื่นขอใบอนุญาตก่อนวันที่มาตรฐานแต่ละรายการจะมีผลบังคับใช้ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถติดต่อได้ที่ สมอ. หรือจะยื่นขอ มอก. ออนไลน์ผ่านระบบ E-license ได้ที่ https://itisi.go.th/e-license/ ตลอด 24 ชั่วโมง” เลขาธิการ สมอ. กล่าว

ไอเดียกระฉูด! รัฐบาล สั่งปั้นแอปฯ ‘เป๋าตัง’ ต่อยอดระบบอี-เพย์เมนต์ เล็งเปิดให้ประชาชนกู้เงินกันเองผ่านแอปพลิเคชั่น

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลกำลังศึกษาแนวทางการต่อยอดการทำธุรกรรมของประชาชนผ่านระบบอี-เพย์เมนต์ ให้มากขึ้น โดยในอนาคตอาจให้ประชาชนสามารถปล่อยกู้ระหว่างกันเองผ่านแอพพลิเคชันเป๋าตัง ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น และประชาชนที่มีเงินออมเพียงพอที่จะสามารถปล่อยกู้และรับความเสี่ยงได้ก็ใช้ช่องทางนี้ปล่อยเงินกู้ได้ตามกฎหมายที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งเชื่อว่าในอีกไม่นานจากนี้จะเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น

สำหรับรูปแบบการดำเนินการในลักษณะนี้พบว่ามีต้นแบบการดำเนินการแล้วในต่างประเทศ เช่น ในประเทศจีนมีการดำเนินการโดยบริษัท อาลีบาบา ที่มีบริษัทลูกที่ดำเนินการในเรื่องนี้ โดยใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยวิเคราะห์เครดิตของผู้กู้เงินทำให้การปล่อยกู้เงินผ่านระบบแอพพลิเคชั่นสามารถทำได้

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า การช่วยเหลือประชาชนผ่านระบบอีเพย์เมนต์ที่รัฐบาลโอนเงินช่วยเหลือให้ประชาชนผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตังหลายโครงการในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและเรียนรู้การใช้จ่ายเงินผ่านระบบอีเพย์เมนต์ได้รวดเร็วโดยความสำเร็จในเรื่องนี้รวมทั้งข้อมูลที่รัฐบาลได้รับในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลกำลังพัฒนาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

โฆษกรัฐบาล ยืนยัน รัฐบาล คงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ 7% ต่อ ย้ำชัด ยังไม่คิดปรับเพิ่ม ซ้ำเติมความเดือดร้อนประชาชนช่วงวิกฤติ

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันรัฐบาลยังไม่มีแนวคิดในการปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมคงเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ GDP ปีนี้ที่ร้อยละ 4

ทั้งนี้ ประเทศไทย ได้กำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ไว้ที่ร้อยละ 10 ตามประมวลรัษฎากร ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงจากระบบภาษีการค้ามาเป็นระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อปี 2535 แต่ได้มีการบรรเทาลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีจะออกพระราชกฤษฎีกาลดภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือร้อยละ 7 เป็นระยะๆ จะมีเพียงก็แต่เพียงในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 เท่านั้น ที่มีการขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นร้อยละ 10

โดย คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 ให้คงการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณีที่เข้าลักษณะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับรายการที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 30 กันยายน 2564 เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ซึ่งอัตราส่วน 1 ใน 9 ของภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นจะถูกโอนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมาย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในแต่ละประเทศมีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่แตกต่างกันไป อาทิ อินโดนีเซีย เวียดนาม และญี่ปุ่นจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่อัตราร้อยละ 10 สิงคโปร์จัดเก็บที่ร้อยละ 7 มาเลเซียจัดเก็บที่ร้อยละ 6 ซึ่งไทยมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ร้อยละ 7 เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ด้านเศรษฐกิจ ไม่เป็นภาระแก่ประชาชนเกินจำเป็น และช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งด้วย


สนับสนุนข่าวโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

ศบศ. ไฟเขียวเปิดประเทศเร็วขึ้น นำร่องภูเก็ต จังหวัดแรก ให้เปิดรับต่างชาติที่ฉีดวัคซีนโควิดแล้ว 1 เม.ย.นี้ ระบุ ไม่ต้องกักตัว แต่ให้ท่องเที่ยวในเส้นทางที่กำหนดช่วง 7 วันแรก คาดจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยราว 1 แสนคน

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) หรือ ศบศ.ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้ว และมีผลการตรวจโควิด-19 เป็นลบ

โดยจะเริ่มนำร่องตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้ ที่จังหวัดภูเก็ตก่อน โดยไม่ต้องกักตัว แต่ให้ท่องเที่ยวในเส้นทางที่กำหนดไว้ 7 วัน จากนั้นจึงเดินทางออกไปเที่ยวได้ทั่วประเทศ เบื้องต้นประเมินว่า จะทำมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยได้ประมาณ 1 แสนคน

ทั้งนี้ที่ประชุม ศบศ. ได้มอบหมายให้ ททท.ไปหารือในรายละเอียดร่วมกับ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานให้ชัดเจน เช่นเดียวกับแผนการกระจายวัคซีน เพื่อให้เกิดความแน่ใจให้กับประชาชนและบุคลากรในพื้นที่

รวมไปถึงการยกระดับภูเก็ตเป็นจังหวัดท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ จากนั้นจึงนำเสนอ ศบค. ชุดใหญ่เห็นชอบแนวทางการดำเนินงาน ภายใน 1 เดือน จากนั้นจึงเสนอที่ประชุมครม.เห็นชอบตามขั้นตอนต่อไป

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า "ภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยวยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นข่าวดีที่สุดสำหรับธุรกิจท่องเที่ยว หลังจากได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิดมานานกว่า 1 ปี ซึ่งการเปิดประเทศได้เร็ว จะทำให้อย่างน้อยประเทศไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น ธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัดที่พึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ได้รับประโยชน์ไปด้วย ซึ่งขั้นตอนจากนี้ สทท. จะไปหารือกับสมาชิก เพื่อหาทางขับเคลื่อนการทำงานต่อไป"


สนับสนุนข่าวโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

ออมสิน ร่วมกับ SAWAD เปิดตัว บจ. เงินสดทันใจ ลุยธุรกิจจำนำทะเบียนรถ ดีเดย์เริ่มปล่อยกู้ 25 มีนาคม 2564 กดดอกเบี้ยต่ำสุด 14.99% ต่อปี ตั้งเป้าช่วยผู้มีรายได้น้อยลดภาระจ่ายดอกแพง

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวถึงการร่วมทุนกับ SAWAD เปิดตัวบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด เดินหน้าทำธุรกิจจำนำทะเบียนรถเป็นครั้งแรก ว่า บริษัท เงินสดทันใจ จะเริ่มด้วยการเปิดรับจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ พร้อมข้อเสนอดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ 14.99% ต่อปี หรือเท่ากับ 0.69% ต่อเดือน โดยธนาคารมีเป้าหมายที่จะผลักดันภารกิจธนาคารเพื่อสังคม หรือ Social Bank เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ง่าย ด้วยต้นทุนที่เป็นธรรมหรือถูกลง ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากการแบกรับค่าใช้จ่ายดำรงชีพ

เงินสดทันใจ ซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 14.99% ต่อปี ทั้งที่เป็นสินเชื่อใหม่และรีไฟแนนซ์ จึงเชื่อมั่นว่าจะสร้างแรงกระเพื่อมในตลาดทำให้คู่แข่งขันของธุรกิจ Non-Bank ทยอยลดอัตราดอกเบี้ยลง จากปกติที่ส่วนใหญ่คิดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถอยู่ที่ระดับ 24% - 28% ต่อปี โดยท้ายที่สุดสามารถลดโครงสร้างดอกเบี้ยทั้งระบบ เกิดผลลัพธ์เชิงบวกที่เป็นรูปธรรม ตอบโจทย์การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และแก้ปัญหาความยากจน ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล และขณะเดียวกันธนาคารยังสามารถทำกำไรทางธุรกิจเชิงพาณิชย์หล่อเลี้ยงกิจการและสนับสนุนภารกิจเพื่อสังคมไปพร้อมกันด้วย

ด้าน นางสาวธิดา แก้วบุตตา ผู้ถือหุ้น และ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร SAWAD เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป ลูกค้าสามารถนำรถจักรยานยนต์พร้อมเล่มทะเบียนรถ มาติดต่อขอสินเชื่อด่วนได้ที่สาขาของเงินสดทันใจในเครือศรีสวัสดิ์ จำนวนกว่า 5,000 สาขาทั่วประเทศ และที่บูธให้บริการของเงินสดทันใจ ภายในธนาคารออมสิน 35 แห่งซึ่งเป็นสาขานำร่อง โดยบริษัทฯ รับจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ รวมถึงรับรีไฟแนนซ์จากที่อื่นในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 0.69% ต่อเดือน (หรือ 14.99% ต่อปี) มีเงื่อนไขคือรถจักรยานยนต์ต้องมีอายุการใช้งานไม่เกิน 15 ปี จุดเด่นของบริการคืออนุมัติเงินกู้ไวให้ลูกค้ารับเงินได้ภายใน 15 นาที เลือกผ่อนชำระได้นานถึง 48 เดือน พร้อมฟรีค่าธรรมเนียม ไม่ต้องโอนเล่มทะเบียน ไม่ต้องใช้บุคคลค้ำประกัน และไม่ต้องใช้สลิปเงินเดือน

ทั้งนี้ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ “เงินสดทันใจ” ในเฟสถัดไป เตรียมขยายบริการเปิดรับจำนำทะเบียนรถยนต์ภายในระยะเวลา 2 เดือนนับจากนี้ โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 14.99% - 18% รวมถึงขยายจุดให้บริการเพิ่มเติมภายในสาขาธนาคารออมสินอีก 500 สาขาภายในไตรมาส 2 และเพิ่มเป็น 800 สาขาในไตรมาส 4 คาดว่าภายในปี 2564 นี้จะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ถึง 20,000 ล้านบาท และช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้ผู้มีรายได้น้อยเป็นจำนวนกว่าล้านคน


สนับสนุนข่าวโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

รัฐบาล เตือนผู้กระทำผิดโครงการเยียวยาผลกระทบโควิด ทั้ง ‘เราชนะ’ ‘คนละครึ่ง’ และมาตรการอื่น ๆ ด้าน ‘บิ๊กตู่’ สั่งฟันคนทุจริตแลกเงินสิทธิโครงการรัฐอย่างจริงจัง ลั่นให้หยุดพฤติกรรมโกง ก่อนถูกระงับสิทธิ และถูกดำเนินคดี

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ผ่านมายังมีประชาชนและผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจที่กระทำการทุจริต ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงได้มีการจัดตั้งคณะทำงานพิจารณาตรวจสอบข้อมูลเรื่องอุทธรณ์สำหรับโครงการคนละครึ่ง และคณะทำงานพิจารณาตรวจสอบข้อมูลเรื่องร้องเรียนสำหรับโครงการเราชนะอย่างจริงจัง

ในกรณีที่มีพฤติกรรมการใช้จ่ายวงเงินตามสิทธิ์ที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ เช่น การแลกวงเงินสิทธิ์เป็นเงินสด เป็นต้น โดยเปิดช่องทางให้ประชาชนสามารถร้องเรียนผ่าน e-mail หรือไปรษณีย์ เพื่อตรวจสอบ รวมทั้งร่วมมือกระทรวงพาณิชย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากพบว่ากระทำความผิดจริงจะดำเนินการระงับสิทธิแอปพลิเคชันถุงเงิน เครื่องรูดบัตรอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังเปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการและกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ติดตาม ตรวจสอบพฤติกรรมดังกล่าวอย่างจริงจัง

เนื่องจากการกระทำผิดดังกล่าวขัดต่อวัตถุประสงค์ของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือเยียวยา ลดภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ควบคู่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ที่ผู้ค้ารายย่อยและผู้บริการทั่ว ๆ ไปจะได้ดำเนินกิจกรรมต่อไปได้

ครม.คลอด 2 มาตรการ 3.5 แสนล้านบาท ต่อลมหายใจธุรกิจ คาดว่าจะช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจได้ 6 หมื่นราย พร้อมสามารถรักษาการจ้างงานได้ 8.2 แสนตำแหน่ง

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 รวม 2 มาตรการ รวมวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท คือ มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท และมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นคืนในภายหลัง หรือ มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 1 แสนล้านบาท คาดว่าจะช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจได้ 6 หมื่นราย และสามารถรักษาการจ้างงานได้ 8.2 แสนตำแหน่ง

มาตรการแรก กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท สามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 30% ของวงเงินสินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธ.ค.62 หรือ ณ วันที่ 28 ก.พ.64 แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า แต่ต้องไม่เกิน 150 ล้านบาท และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแห่งหนึ่งแห่งใด ณ วันที่ 28 ก.พ.64 สามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท โดย 6 เดือนแรกไม่คิดดอกเบี้ย โดยสถาบันการเงินจะคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรกของสัญญา และเฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปี ในช่วง 5 ปีแรก

ขณะเดียวกันในการดำเนินมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูครั้งนี้ยังกำหนดให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)เข้ามาค้ำประกันสินเชื่อครั้งนี้เป็นการชั่วคราวได้ด้วย จากเดิมจะช่วยค้ำประกันให้เฉพาะผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีเท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ประกอบธุรกิจ โดยมีระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี ภาระชดเชยค้ำประกันสูงสุด 40% ของวงเงินสินเชื่อภายใต้โครงการค่าธรรมเนียมการค้ำประกันโดยเฉลี่ยไม่เกิน 1.75% ต่อปี และรัฐบาลชดเชยค่าธรรมเนียมดังกล่าวโดยเฉลี่ยไม่เกิน 3.5% ต่อปี ตลอดสัญญาได้

ขณะที่มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ กำหนดให้สถาบันการเงินรับโอนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันของผู้ประกอบธุรกิจ หรือเจ้าของทรัพย์สิน เพื่อเอามาชำระหนี้เงินกู้ที่มีอยู่เดิมกับสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นการเอาทรัพย์สินมาวางไว้กำหนดระยะเวลา 5 ปี โดยผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องการเข้าร่วมโครงการต้องไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อรายได้ก่อนเดือนธ.ค.62 และถ้าเจ้าของทรัพย์สินต้องการจะทำธุรกิจต่อก็สามารถเช่าทรัพย์สินนี้ได้ และเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวก็สามารถมาซื้อคืนทรัพย์สินได้โดยมีข้อตกลงว่าไม่มีการเอากำไรมาก

สภาพัฒน์ฯ เผย ตัวเลขแรงงานไทยกว่า 14.5 ล้านคน ไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกประกันสังคม ระบุ คนกลุ่มนี้แก่ไปจะลำบาก เหตุบั้นปลายชีวิตมีแค่เบี้ยยังชีพจากรัฐบาลเท่านั้น

น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช. มีความเป็นห่วงเรื่องของรายได้ของผู้สูงอายุหลังเกษียณจะไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตให้อยู่รอดต่อไปได้ หลังจากพบข้อมูลว่าในปัจจุบันมีแรงงานอีกกว่า 14.5 ล้านคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบ หรือไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกประกันสังคม

ดังนั้นเมื่อเป็นแรงงานกลุ่มนี้มีอายุถึง 60 ปี แล้ว จะได้รับสิทธิประโยชน์เพียงอย่างเดียว คือ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เพียงแค่เดือนละ 600 บาทต่อคนเท่านั้น สวนทางกับค่าใช่จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง

ทั้งนี้แม้ปัจจุบันแรงงานจะมีช่องทางในการสร้างหลักประกันทางรายได้ เช่น การจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคม ตามมาตรา 40 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3.5 ล้านคน และสมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งมีอยู่ 2.4 ล้านคน

แต่สัดส่วนนี้ไม่สมัครเข้าสู่กองทุนการออมที่มีอยู่ อาจเป็นเพราะไม่มีแรงจูงใจพอ เพราะกองทุนยังไม่สามารถจ่ายสิทธิประโยชน์ให้อย่างเพียงพอ ซึ่งรายได้หลังเกษียณที่เหมาะสมควรมีอัตราการทดแทนรายได้หลังเกษียณระหว่าง 50 - 60% แต่ประเทศไทยมีค่าเพียง 37.5% เท่านั้น โดยมีเพียงกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเท่านั้นที่มีอัตราการทดแทนรายได้ในระดับที่เพียงพอ

กระทรวงคมนาคม ปักเข็ม 64 เดินหน้าดันโปรเจ็กต์มอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง มูลค่าโครงการรวมกว่า 8.3 หมื่นล้านบาท

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในปี 64 กระทรวงคมนาคมจะผลักดัน 3 โครงการวงเงินรวมประมาณ 83,520 ล้านบาทให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย

1.) โครงการทางหลวงระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) ช่วงเอกชัย - บ้านแพ้ว ระยะทาง 16.4 กม.วงเงินก่อสร้าง 19,700 ล้านบาท ซึ่งครม. อนุมัติให้กรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการโดยใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์อยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ทล.วางเป้าหมายเปิดประมูลกลางปีนี้ จะเชื่อมต่อทางยกระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ระยะทางประมาณ 10 กม. วงเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ที่ทล. กำลังก่อสร้าง และจะแล้วเสร็จภายในเดือนส.ค. 65

2.) โครงการมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 18 กม. วงเงินก่อสร้าง 28,135 ล้านบาท จะเชื่อมต่อมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน - นครราชสีมา (M6) โดยสั่งการให้ ทล. เร่งศึกษาเพื่อขออนุมัติกระทรวงคมนาคมรวมทั้งครม.ภายในปีนี้

และ 3.) โครงการมอเตอร์เวย์ทางยกระดับช่วงศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (M7) ระยะทาง18.5 กม. วงเงิน 35,685 ล้านบาท จะเร่งเสนอครม.ภายในปีนี้เช่นกัน โดยใช้หลักการให้ภาครัฐร่วมลงทุนกับเอกชน( PPP ) คาดว่าจะผลักดันให้เดินหน้าได้และตอบโจทย์การจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้บริหารงานประเทศไทยตั้งแต่ครม. ยุคก่อน (ประยุทธ์ 1) จนถึงปัจจุบันรวมเวลา 6 - 7 ปีแล้ว ต้องการให้เร่งดำเนินโครงการที่ได้ลงทุนไปแล้ว และสามารถเปิดบริการได้

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดรายได้จากการเก็บค่าผ่านทางกลับเข้ามาซึ่งในส่วนของกระทรวงคมนาคม ดำเนินหลายโครงการตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี อาทิ โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต และช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน ที่เตรียมเปิดบริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบช่วงเดือน พ.ย.64 รวมถึงโครงการมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายพัทยา - มาบตาพุด ที่เปิดให้บริการและเก็บค่าผ่านทางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ธปท.ยันยังไม่มีธนาคารกลางใดในโลกที่รับรอง cryptocurrency ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ลั่น ‘ไทยบาทดิจิทัล -THT’ ผิดกฎหมาย เตือนประชาชนอย่ายุ่งเกี่ยว อาจถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ เสี่ยงถูกใช้เป็นเครื่องมือการฟอกเงิน

จากกรณีที่ Terra Platform เตรียมออก Stablecoin ซึ่งเป็น cryptocurrency อีกชนิดหนึ่ง ในชื่อ THT เปรียบเทียบราคา 1 หน่วยของมูลค่า THT เท่ากับ 1 บาท เพื่อใช้เป็นค่าเงินแลกเปลี่ยนในรูปแบบดิจิทัล

ล่าสุด นายพฤทธิพงศ์ ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกฎหมาย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ภาคเอกชนมีความพยายามในการพัฒนาคริปโทเคอร์เรนซีด้วยการอิงมูลค่ากับสินทรัพย์หรือเงินตรา เพื่อให้มูลค่าผันผวนน้อยลง ซึ่งคริปโทเคอร์เรนซีประเภทนี้ รู้จักในชื่อว่า "Stablecoin"

ต่อมา ได้มีการพัฒนา Stablecoin ชนิดใหม่ที่ประยุกต์ใช้กลไกสัญญาอัจฉริยะ (Smart contract) ในการเทียบมูลค่าให้เท่ากับสกุลเงินตราต่าง ๆ โดยเริ่มมีกระแสข่าวการออก Stablecoin ชนิดหนึ่ง ชื่อ THT บน Terra Platform ที่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งระบุให้ 1 หน่วยของมูลค่า THT เป็น 1 บาท

แม้ในปัจจุบัน THT จะยังไม่ได้ถูกใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน แต่ถ้า THT หรือ stablecoin ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันถูกนำมาใช้ทดแทนเงินบาทในวงกว้าง จะทำให้เกิดการแบ่งแยกระบบเงินตราของประเทศไทยออกไปมากกว่าหนึ่งระบบ และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและความมั่นคงของระบบเงินตราของประเทศ อันเป็นรากฐานสำคัญของการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น จึงถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากเป็น การทำ จำหน่าย ใช้ หรือนำออกใช้ วัตถุหรือเครื่องหมายแทนเงินตราที่เป็นความผิดตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501

ทั้งนี้ ประชาชนควรระมัดระวังและไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกรรม THT เนื่องจากไม่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย รวมทั้งอาจมีความเสี่ยงที่จะถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการฟอกเงิน

อย่างไรก็ตาม Do Kwon ผู้ร่วมก่อตั้ง Terra Blockchain ได้โพสข้อความบนทวิตเตอร์ส่วน โดยกล่าวถึงการที่ ธปท.ออกมาเตือนเรื่อง “ไทยบาทดิจิทัล (THT)” โดยระบุว่า “พวกเขามักจะกลัวคุณ ก่อนที่จะเข้าร่วมกับคุณ และตอนนี้ก็ทำให้ธนาคารกลางต้องเฝ้าระวัง”

อย่างไรก็ตาม Do Kwon ย้ำว่า THT จะมีการนำไปใช้งาน ไม่ว่า ธปท. จะชอบหรือไม่ก็ตาม

สำหรับ THT Stablecoin จะออกบนแพลตฟอร์ม Terra ที่มีการผลิตเหรียญ stablecoin อื่น ๆ ออกมาแล้วก่อนหน้านี้ รวมถึง TerraUSD ซึ่งออกครั้งแรกในเดือนกันยายน 2020 และ TerraKRW

Terra นั้นก่อตั้งขึ้นในปี 2018 ในเกาหลีใต้ โดยได้รับเงินสนับสนุน 32 ล้านดอลลาร์จาก Binance และ Polychain ในเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top