Friday, 26 April 2024
IMPACT

ครม. เห็นชอบเร่งร่างกฎหมายล้มละลายฉบับใหม่ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ทุกกลุ่มยื่นคำร้องฟื้นฟูกิจการได้

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย ฉบับใหม่ โดยในส่วนกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ โดยผลักดันให้เป็นกฎหมายที่ต้องปฏิรูปในระยะเร่งด่วน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีหลักการสำคัญในการสร้างกลไกให้ลูกหนี้ที่เป็นเอสเอ็มอี สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้เช่นเดียวกับการฟื้นฟูกิจการปกติ ลดขั้นตอนและใช้ระยะเวลาที่สั้นกว่า

สำหรับสาระสำคัญ คือ

1.) เพิ่มเติมจำนวนหนี้ของลูกหนี้ ซึ่งเป็นบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด หรือนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ที่สามารถร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการได้ จาก “จำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท” เป็น “ไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท” เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งการเพิ่มจำนวนหนี้อ้างอิงจากข้อมูลเชิงสถิติระหว่างปี 2560-2563 คดีที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอลูกหนี้มีจำนวนหนี้มากกว่า 50 ล้านบาท กว่า 90% ของคดีทั้งหมด

2.) กำหนดกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่มีลักษณะเป็นเอสเอ็มอี ดังนี้

(2.1.) ยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดให้ลูกหนี้ที่เป็นเอสเอ็มอี ต้องขึ้นทะเบียนกับ สสว. หรือที่จดทะเบียนกับหน่วยงานอื่นของรัฐ จึงจะสามารถร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการได้

(2.2.) กำหนดให้ลูกหนี้สามารถยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้ โดยที่ยังไม่ต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเสนอศาลเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และให้มีการพักชำระหนี้เมื่อศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ โดยลูกหนี้สามารถยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการได้

3.) กำหนดให้มีกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการแบบเร่งรัด ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการ ได้แก่ ลูกหนี้ที่เป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ และลูกหนี้ที่เป็นเอสเอ็มอี สามารถเลือกยื่นคำร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการแบบเร่งรัดได้ โดยแนบแผนพร้อมหลักฐานแสดงว่าเจ้าหนี้ได้มีมติยอมรับแผนแล้วต่อศาล

โดยให้ศาลพิจารณาคำร้องขอดังกล่าวเป็นการด่วน แต่หากศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอเพราะแผนไม่เข้าหลักเกณฑ์ ลูกหนี้อาจยื่นคำร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการอีกได้ โดยไม่ติดเงื่อนไขข้อห้ามเรื่องระยะเวลา 6 เดือนนับแต่วันที่ศาลยกคำร้องขอกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการแบบเร่งรัด


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!

A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!!

>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท

>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ

>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต

>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย

***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

‘กกร’ หั่นจีดีพีปี 2564 อีกระลอก หลังประเมินโควิด-19 รุนแรงจากเดิมคาดจะโต 1.5-3% เหลือ 0.5-2% พร้อมหนุนรัฐกู้ 7 แสนล้านบาท อัดฉีดเศรษฐกิจ แนะเพิ่มวงเงินโครงการคนละครึ่ง เป็น 6,000 บาท ดันกำลังซื้อ ภายในมิ.ย. ชี้เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะทำหน้าที่ประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยหลังการประชุมกกร.ประจำเดือนพ.ค. ว่า การระบาดของโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายนมีแนวโน้มรุนแรงกว่าที่คาด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศมากกว่า 3 เดือน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้ช้ากว่าเดิม โดยธุรกิจบริการดำเนินกิจการได้อย่างจำกัดจากมาตรการควบคุมโรค ส่งผลกระทบต่อทั้งการจ้างงานและกำลังซื้อในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 อย่างมาก

ดังนั้นกกร.จึงปรับกรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 ใหม่จากเดิมในเดือนเม.ย. คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะโต 1.5 -3% เป็นขยายตัว 0.5-2% ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวโดยจากสหรัฐจึงปรับการส่งออกจากเดิม โต 4-6% เป็น 5- 7% ขณะที่เงินเฟ้อคงเดิมที่ 1-2%

“ประเมินว่าโควิดที่ระบาดรอบใหม่จะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 และไตร 3 เป็นอย่างมาก เห็นได้ชัดจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก็ปรับลดประมาณการจีดีพีในปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ต่ำกว่าระดับ 2% ดังนั้นการเร่งแจกกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีและปีหน้ากลับมาฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง การประชาสัมพันธ์แผนการบริหารจัดการวัคซีนที่มีความชัดเจน ไปพร้อมกับการเร่งสร้างความเข้าใจเพื่อเสริมความเชื่อมั่นในการเข้ารับการฉีดวัคซีน “นายสุพันธุ์กล่าว

สำหรับเศรษฐกิจโลกยังมีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง เป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย โดยเศรษฐกิจและมูลค่าการนำเข้าของคู่ค้าหลักในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ฟื้นตัวได้ตามคาด เช่นเดียวกับอุปสงค์ในประเทศเศรษฐกิจหลักที่มี Momentum ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งส่งผลดีมายังการส่งออกของไทยในไตรมาสแรกให้ขยายตัวได้ถึง 8.2% (ไม่รวมการส่งออกทองคำ) อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยังเผชิญปัญหาขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้าและค่าระวางเรือที่ทรงตัวในระดับสูง รวมถึงการเร่งตัวขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ นอกจากนี้ การระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียที่กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ เป็นความเสี่ยงต่อภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกในระยะต่อไป

ทั้งนี้กกร.ได้ขอให้ภาครัฐเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจใน 4 เรื่อง โดยเสนอ

1.) เร่งฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย โดยปรับปรุงการสื่อสารกับประชาชนเพื่อลดความสับสน และบริหารจัดการมาตรการควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ เร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่ที่เป็นยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว เพื่อให้สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ในไตรมาสที่ 4

2.) เร่งผลักดัน พรก เงินกู้ 7 แสนล้านบาท เพื่อให้รัฐบาลมีเม็ดเงินเพียงพอ และดำเนินโครงการด้านสาธารณะสุข ด้านการเยียวยา ชดเชยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจ ได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ภาวะสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและมีความไม่แน่นอนสูง

3.) เร่งรัดมาตรการช่วยเหลือด้านกำลังซื้อภาคประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง ให้เข้ามาพยุงกำลังซื้อได้ในเดือนมิถุนายน และพิจารณาเพิ่มวงเงินสนับสนุนการใช้จ่ายจาก 3,000 บาทเป็น 6,000 บาท ซึ่งจะช่วยให้มีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจาก 9 หมื่นล้านบาท เป็น 1.8 แสนล้านบาท เมื่อรวมเม็ดเงินของประชาชนที่นำออกมาใช้จ่ายคู่กับเม็ดเงินจากโครงการคนละครึ่ง

4.) เสริมมาตรการดึงกำลังซื้อจากประชาชนที่มีเงินออม โดยสนับสนุนมาตรการนำรายจ่ายจากการซื้อสินค้าไปหักภาษีเงินได้ในวงเงิน 3-5 หมื่นบาทต่อราย ซึ่งจะจูงใจให้ประชาชนในกลุ่มนี้นำเงินฝากมาใช้จ่าย


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

เศรษฐกิจต้องไม่หยุดชะงัก! ‘บิ๊กตู่’ สั่งชงมาตรการฟื้นเศรษฐกิจ 5 พ.ค.นี้ ทั้งมาตรการเยียวยาประชาชน และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้เชิญคณะที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจเข้าพบเพื่อหารือเรื่องมาตรการดูแล เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19ในรอบล่าสุดนี้ โดยนายกรัฐมนตรี ย้ำในที่ประชุมว่า ตอนนี้มีความจำเป็นที่ต้องพิจารณามาตรการรอบใหม่ด้วยความรวดเร็วและรอบคอบ โดยมาตรการใดที่สามารถดำเนินการได้ทันที นายกฯ ได้ขอให้หน่วยงานต้นสังกัดนำเสนอเข้าที่ประชุมครม.วันที่ 5 พ.ค. 64 นี้โดยด่วน

นายอนุชา กล่าวว่า ในการหารือครั้งนี้ที่ประชุมได้พิจารณาถึงความคืบหน้าของมาตรการต่าง ๆ ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ทั้งในส่วนของมาตรการด้านการเงินผ่านการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการออก พ.ร.ก. ด้านการเงินต่าง ๆ ที่ดำเนินการอยู่ รวมถึงมาตรการด้านภาษี ทั้งการลดภาษีและการขยายกำหนดเวลาต่างๆ อีกทั้งมาตรการด้านการคลังผ่านโครงการเยียวยา และมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อต่างๆ ซึ่งมีทั้งโครงการที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว เช่น โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 1-2 โครงการเพิ่มกำลังซื้อบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการที่ยังดำเนินการอยู่ เช่น โครงการเราชนะ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การระบาดของโรคโควิด-19 ในรอบล่าสุดนี้ ได้กระจายไปทั่วประเทศ และมีผลกระทบในวงกว้างกว่ารอบที่ผ่านมา จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณามาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม เพื่อดูแลและเยียวยาประชาชนอย่างเร่งด่วน และฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเร็ว โดยจะพิจารณามาตรการที่สามารถดำเนินการได้ทันที อาทิ มาตรการด้านการเงิน มาตรการด้านสินเชื่อ มาตรการพักชำระหนี้ รวมถึงมาตรการลดค่าใช้จ่ายของประชาชน มาตรการการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ และมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วย

โควิดระลอกใหม่พ่นพิษใส่เศรษฐกิจไทยอย่างหนัก สศค. หั่นจีดีพีเหลือ 2.3% ต่อปี จาก 2.8% ส่วนนักท่องเที่ยว คาดลดเหลือแค่ 2 ล้านคน จาก 5 ล้านคน หันพึ่งพาส่งออกที่คาดว่าสามารถขยายตัวได้ที่ 11%

29 เม.ย. พ.ศ.2564 นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.3% ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 1.8% ถึง 2.8%) ปรับตัวลดลงจากประมาณการครั้งก่อน ณ เดือนมกราคม 2564 ที่ 2.8% ต่อปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19) ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย การเดินทางระหว่างประเทศ และจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยอย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากมาตรการทางการคลังและการเงินที่ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการ เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยจะขยายตัวที่ 11.0% ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 10.5%ถึง 11.5%)นอกจากนี้ การดำเนินมาตรการทางการคลังของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ โครงการ ม33เรารักกัน และมาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ประกอบกับการใช้จ่ายเงินกู้จากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ที่คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายในส่วนที่เหลือได้อย่างต่อเนื่อง จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภค ประคับประคองภาคธุรกิจ และรักษาระดับการจ้างงานให้สูงขึ้น

โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 2.3% ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 1.8% ถึง 2.8%) และ 4.8% ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่4.3% ถึง 5.3%) ตามลำดับ ขณะที่ การบริโภคภาครัฐและการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวที่ 5.0% ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 4.5% ถึง 5.5%) และ 10.1% ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 9.6% ถึง 10.6%) ตามลำดับสำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 จะอยู่ที่ 1.4% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 0.9% ถึง 1.9%) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันดิบดูไบที่ปรับตัวสูงขึ้น

ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 0.2% ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ -0.3% ถึง 0.7% ของ GDP) ปรับลดลงจากปีก่อน จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และมูลค่าสินค้านำเข้าที่ปรับตัวสูงขึ้นทั้งนี้ โฆษกกระทรวงการคลังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่

1.) การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาระลอกใหม่ในหลายประเทศที่ยังมีความรุนแรงและยืดเยื้อ

2.) ข้อจำกัดในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

3.) ราคาน้ำมันดิบที่อาจปรับเพิ่มขึ้นได้ หากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในหลายประเทศรุนแรงขึ้น รวมทั้งการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงาน และ

4.) ความผันผวนของระบบการเงินโลกและเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังมีฐานะการคลังที่มั่นคงและมีเสถียรภาพ ทำให้กระทรวงการคลังมีความพร้อมในการดำเนินมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ประกอบกับนโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่เน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการลงทุนด้านดิจิทัล และนโยบายการยกระดับปรับทักษะแรงงาน จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

‘บิ๊กตู่’ รับข้อเสนอเอกชน ตั้ง 4 ทีมบริหารวัคซีน รัฐจัดหาวัควีน 100 ล้านโดส ลุ้นเปิดประเทศต้นปี 65

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะนักธุรกิจของหอการค้าไทย ว่า รัฐบาลได้รับข้อเสนอของภาคเอกชนเกี่ยวกับการสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน การจัดหาวัคซีน และการวางระบบการกระจายวัคซีนโควิด-19 โดยจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน 4 คณะ คือ

1.) ทีมสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีนในระยะแรกได้มีการจัดเตรียมพื้นที่นำร่องเสนอกทม. 66 แห่ง โดยผ่านการคัดเลือก 14 แห่งกระจายทั่วกรุงเทพฯ แบ่งเป็น 5 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพเหนือ 2 จุด กรุงเทพใต้ 4 จุด กรุงเทพตะวันออก 3 จุด กรุงธนเหนือ 2 จุด และกรุงธนใต้ 3 จุด ซึ่งจะมีทั้งสถานที่ที่เป็นศูนย์การค้า สำนักงาน และสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งสถานที่ทั้ง 14 แห่งดังกล่าว จะรองรับประชาชนได้ประมาณ 1,000-2,000 คนต่อวัน รวมแล้วสามารถให้บริการได้วันละ 20,500 คน ซึ่งจะเป็นส่วนเสริมการให้บริการของกรุงเทพมหานคร

สำหรับทีมนี้ในระยะถัดไป จะหารือในการจัดทำหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ไปยังจุดต่าง ๆ ตามชุมชน และบริษัทต่าง ๆ เพื่อลดการเคลื่อนย้ายของประชาชน โดยมีภาคเอกชนสนใจให้การสนับสนุนหลายแห่ง จะนำต้นแบบของพื้นที่เอกชนร่วมกับกรุงเทพฯ กระจายผ่านหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ในการช่วยบริหารจัดการสถานที่ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ

2.) ทีมการสื่อสาร สนับสนุนการทำงานด้านการสื่อสารของภาครัฐเพื่อสร้างความเข้าใจและส่งเสริมให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน ซึ่งจะเน้นความสำคัญของการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง

3.) ทีมเทคโนโลยีและระบบเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการลงทะเบียนและลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ ในศูนย์ปฏิบัติการของภาคเอกชน และ

4.) ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม เป็นทีมสำรวจความต้องการภาคเอกชน โดยทำแบบสอบถาม โดยให้บริษัทเอกชนแสดงความประสงค์ในการได้วัคซีน ซึ่งนายจ้างจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง ปัจจุบันมีผู้แจ้งความต้องการ 2,629 บริษัท จำนวนพนักงาน 921,817 คน

นอกจากนี้ ทางรัฐบาลยังให้ความสบายใจว่า ภายในปี 2564 ประชาชนคนไทย ผู้ที่มาทำงาน หรือคนต่างชาติ ที่อาศัยในประเทศไทยหรือแรงงานที่มาอยู่ประเทศไทยจะได้รับการฉีดวัคซีนแน่นอน

ขณะนี้ รัฐบาลสามารถจัดหาวัคซีนได้ 100 ล้านโดส จะครอบคลุมประชากร ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเป็นลักษณะนี้เราสบายใจได้ว่าจะสามารถเปิดประเทศได้ในต้นปี 2565 ส่วนภาคเอกชน ตั้งใจให้การสนับสนุนการทำงานร่วมกับภาครัฐ และขอบคุณที่ภาครัฐให้ความไว้วางใจที่จะทำงานร่วมกัน ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ซึ่งความร่วมมือเหล่านี้จะทำให้ทุกอย่างและเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ หากเป็นไปในลักษณะนี้ แนวทางภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ โมเดล (เปิดประเทศโดยไม่กักตัว) ก็จะเกิดขึ้นได้ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ ตามที่รัฐบาลตั้งธงไว้ก็ไม่น่าจะพลาด ทั้งนี้ การร่วมมือทำงานครั้งนี้ถือเป็นการตั้งไทยแลนด์ทีมเกิดขึ้นแล้ว

สมอ. เตรียมออกมาตรฐานควบคุม “อะแดปเตอร์” ชาร์จโทรศัพท์มือถือ/แท็บเล็ต และอุปกรณ์ไฟฟ้า ที่มีแรงดันไฟฟ้าไม่เกิน 600 โวลต์รวม 20 รายการ ต้องได้มาตรฐาน มอก. หลังมีข่าวประชาชนถูกไฟดูดเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง เร่งบังคับใช้ภายในกลางปีนี้

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรม และการคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้า โดยกำหนดเป็นนโยบายสำคัญและได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. ดำเนินการเนื่องจากเป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินงานด้านการมาตรฐานของประเทศ ทั้งการกำหนดมาตรฐาน การควบคุมและกำกับติดตามการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาดให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน

“การดำเนินงานด้านการกำหนดมาตรฐานของ สมอ. มีบทบาทสำคัญโดยเฉพาะการคุ้มครองประชาชนที่ต้องได้รับการดูแลด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพัฒนาควบคู่กันไป เพื่อให้การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของประเทศ สามารถแข่งขันทางการค้าได้อย่างยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ซึ่งผมได้กำชับกับบอร์ด สมอ. ให้เร่งรัดดำเนินการ โดยเฉพาะมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชนให้ดำเนินการเป็นอันดับแรก” นายสุริยะ กล่าว

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมบอร์ด สมอ. เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบให้ สมอ. ควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับเสียง วีดิทัศน์ และการสื่อสาร ที่มีแรงดันไฟฟ้าไม่เกิน 600 โวลต์ได้แก่ เครื่องรับวิทยุ เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องขยายสัญญาณ เครื่องเล่นแผ่นดิสก์ เครื่องเล่นวีดีโอเกมส์เครื่องรับสัญญาณไมโครโฟนไร้สาย เครื่องรับสัญญาณวิทยุ เครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ เครื่องรับสัญญาณดาวเทียม ลำโพงพร้อมขยายสัญญาณ เครื่องแปลงสัญญาณ เครื่องปรับแต่งสัญญาณ เครื่องผสมสัญญาณเสียง เครื่องจ่ายไฟฟ้าสำหรับเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจ่ายไฟฟ้าสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่และแท็บเล็ต (อะแดปเตอร์) เครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องเล่นเสียงและภาพ เครื่องรับสัญญาณภาพและเสียงผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เครื่องรับสัญญาณเคเบิลทีวี และเครื่องแปลงสัญญาณเสียงและภาพ รวม 20 รายการ เป็นสินค้าควบคุมต้องได้มาตรฐาน มอก. 62368-2563 หลังมีผู้ใช้อะแดปเตอร์ไม่ได้มาตรฐานชาร์จโทรศัพท์มือถือ ถูกไฟดูดเสียชีวิต

โดยจะเร่งดำเนินการประกาศบังคับใช้มาตรฐานภายในกลางปีนี้ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยแก่ประชาชนจากอันตรายที่เกิดจากไฟฟ้า โดยข้อกำหนดในมาตรฐานจะควบคุมด้านความปลอดภัย มีการทดสอบเกี่ยวกับการบาดเจ็บที่เกิดจากไฟฟ้า การทดสอบเกี่ยวกับไฟไหม้ที่เกิดจากไฟฟ้า การทดสอบความร้อน การทดสอบการแผ่รังสี และการทดสอบเกี่ยวกับสารอันตราย เป็นต้น

“การประชุมบอร์ด สมอ.ในครั้งนี้ นอกจากจะเห็นชอบให้ สมอ. ควบคุมอะแดปเตอร์สำหรับชาร์จโทรศัพท์มือถือ/แท็บเล็ต อุปกรณ์ไฟฟ้า และเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังได้เห็นชอบในเรื่องสำคัญ ๆ ดังนี้

1.) ให้ สมอ. จัดทำมาตรฐาน ทั้งที่เป็นมาตรฐานใหม่ และมาตรฐานเดิมที่นำมาทบทวนรวม 9 มาตรฐาน ได้แก่ สีอิมัลชันใช้งานทั่วไป สีอิมัลชันทนสภาวะอากาศ สีอิมัลชันลดความร้อนจากแสงอาทิตย์ และเครื่องทำน้ำร้อนแบบฮีตปั๊ม เป็นต้น

2.) ให้ สมอ. ควบคุมสินค้าอีก 5 รายการ ที่เสี่ยงต่อความปลอดภัยของประชาชน ได้แก่ ถุงพลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับอาหาร และถุงพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับอุ่นในไมโครเวฟ เป็นต้น

3.) ให้ สมอ. ทำลายผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐานของผู้ประกอบการจำนวน 4 ราย ที่คดีถึงที่สุดแล้ว ได้แก่ ของเล่น เหล็กเส้นกลม หมวกนิรภัยและสับปะรดกระป๋อง มูลค่ารวมกว่า 1,050,000 บาท อีกด้วย” เลขาธิการ สมอ. กล่าวทิ้งท้าย

‘อลงกรณ์’ เร่งพัฒนาเกลือทะเลทั้งระบบ ยกระดับมาตรฐานเกลือทะเลภายใต้ ‘5ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย’

‘อลงกรณ์’ เร่งพัฒนาเกลือทะเลทั้งระบบ ยกระดับมาตรฐานเกลือทะเลภายใต้ ‘5ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย’ ผนึก ‘อพท.’ เดินหน้าโครงการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ‘เกลือเม็ดสุดท้าย ทรายเม็ดแรก’ เส้นทาง ‘คลองโคน-บ้านแหลม-ชะอำ’ 100 กิโลเมตร พร้อมจับมือ ‘พาณิชย์’ ช่วยพัฒนาผู้ประกอบการและแก้ปัญหาการตลาด เตรียมประกาศขึ้นทะเบียนผู้นำเข้าเกลือนอกเดือนหน้า

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย (Salt Board) เปิดเผยว่า ว่าการประชุมบอร์ดเกลือ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 64 ที่ผ่านมาได้พิจารณาวาระสำคัญหลายวาระด้วยกันได้แก่

1.) ความก้าวหน้าการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ทำนาเกลือทะเล

2.) สถิติการนำเข้าเกลือ

3.) การสร้างมาตรฐานเกลือทะเล

4.) เกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ สำหรับเกษตรกรผู้ทำนาเกลือ

5.) งานวิจัยด้านเกลือทะเล

6.) การขอขยายระยะเวลาชำระหนี้กองทุนสงเคราะห์เกษตรกรของสหกรณ์นาเกลือ

7.) การกระจายผลผลิตเกลือทะเล

8.) การส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่นาเกลือ

9.) การส่งเสริมการแปรรูปเกลือทะเล

10.) การตรวจเยี่ยมเยือนหน่วยงานภาคีภายใต้คณะกรรมการฯ ณ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาเกลือทะเลค้างสต็อกจากฤดูกาลผลิต2562/2563 และการแก้ไขปัญหาราคาเกลือตกต่ำ

11.) การขึ้นทะเบียนผู้นำเข้าเกลือจากต่างประเทศ และ ร่างกฎหมายว่าด้วยการนำเข้าเกลือ

12.) แผนการพัฒนายกระดับผู้ประกอบการด้านเกลือทะเล

“การยกระดับมาตรฐานเกลือทะเลมีความก้าวหน้าอย่างจากโดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้จัดทำ (ร่าง) คู่มือการปฏิบัติงาน Standard Operating Procedure (SOP) การตรวจรับรองแหล่งผลิต GAP นาเกลือทะเล และเกลือทะเลธรรมชาติเสร็จสิ้นแล้ว และจัดอบรมให้แก่เกษตรกรผู้ทำนาเกลือทั้ง 7 จังหวัด จำนวน 262 คน โครงการนำร่องพัฒนาแปลงนาเกลือต้นแบบซึ่งได้คัดเลือกเกษตรกรต้นแบบเป็นที่เรียบร้อย พร้อมจัดฝึกอบรมที่ปรึกษาเกษตรกร และผู้ตรวจประเมินตามมาตรฐานเกลือทะเล ครบทั้งระบบโดยคาดกรมวิชาการ กรมประมงและกรมปศุสัตว์จะออกประกาศกรมแล้วเสร็จในสิ้นเดือนเมษายนนี้ ขณะที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้เตรียมความพร้อมเปิดรับการขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว”

ทั้งนี้ตามข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2564 มีเกษตรกรผู้ทำนาเกลือขึ้นทะเบียนในระบบจำนวน 650 ครัวเรือน 1,150 แปลง เนื้อที่ 25,707.88 ไร่

สำหรับเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ อยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินช่วยเหลือร่วมกับกรมบัญชีกลาง ในขณะที่งานวิจัยด้านเกลือโดยสถาบันเกลือทะเลไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ซึ่งเป็นศูนย์AIC เพชรบุรีได้รับการอนุมัติงบประมาณแล้ว 2 โครงการจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติพร้อมดำเนินการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาลดสิ่งปนเปื้อนในเกลือและการลดความชื้นในเกลือเพื่อพัฒนาคุณภาพของผลผลิตและผลิตภัณฑ์เกลือ

ด้านการขอขยายระยะเวลาชำระหนี้กองทุนสงเคราะห์เกษตรกรของสหกรณ์นาเหลือนั้นคณะอนุกรรมการกองทุนฯ ได้มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาการชำระหนี้ และงดเว้นค่าปรับ โครงการสร้างระบบการผลิตและการตลาดเกลือทะเลของสถาบันเกษตรกร ด้วยวิธีการยกระดับราคาให้ยั่งยืนเป็นระยะเวลา 2 ปี โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์จัดทำรายละเอียดแผนการชำระเงินคืน งบกระแสเงินสด (cash flow) เพื่อเสนอให้คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรพิจารณาต่อไป

ที่ประชุมยังรับทราบรายงานขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ซึ่งได้นำเสนอรายงานการพัฒนาและบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลภาคตะวันตก (Thailand Riviera) เรียบชายฝั่งทะเลจากจังหวัดสมุทรสงครามถึงอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ในการพัฒนาพื้นที่นาเกลือเป็นแหล่งท่องเที่ยวตามแผนโครงการพัฒนาการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเพื่อความยั่งยืนบนเส้นทางสายเกลือ (Salt Road) งบประมาณกว่า 615 ล้านบาท ซึ่งจะมีการพัฒนาพื้นที่ตามเส้นทางตั้งแต่ถนนพระราม 2 ที่คลองโคนผ่านบ้านแหลมท่ายางถึงชะอำระยะทาง 100 กิโลเมตรเป็นเส้นทางสาย ‘Salt Road’ เช่นพิพิธภัณฑ์เกลือที่บ้านแหลม จุดชมวิวที่สะพานบางตะบูน จุดเช็คอินที่ปากทะเล บางแก้วและแหลมผักเบี้ยภายใต้คอนเซ็ปท์ เกลือเม็ดสุดท้าย ทรายเม็ดแรก ยิ่งกว่านั้นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็พร้อมให้การสนับสนุนกิจกรรมท่องเที่ยวและการโปรโมทโดยจะมีการประชุมร่วมกับที่ อพท. และจะเชิญสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติและมหาวิทยาลัยศิลปากรร่วมในการพัฒนาแบบแปลนเชิงอัตลักษณ์ในเดือนหน้า”

นอกจากนี้ที่ประชุมยังรับทราบความก้าวหน้าการส่งเสริมการแปรรูปเกลือทะเล ได้มีกิจกรรมการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีในการผลิต แปรรูปสินค้า พร้อมทั้งหลักการคำนวณต้นทุนการผลิต กิจกรรมการทดสอบตลาดจำนวน 2 ครั้ง พร้อมทั้งสรุปผลการทดสอบตลาด และกิจกรรมการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

สำหรับการแก้ปัญหาราคาเกลือทะเลตกต่ำ และปัญหาผลผลิตเกลือทะเลค้างสต็อก ใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี สมุทรสาคร และจังหวัดสมุทรสงคราม มีปริมาณเกลือคงค้างฤดูการผลิต ปี 2562/63 ปริมาณ 212,608 ตัน และ ปี 2563/64 ปริมาณ 197,000 ตัน โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอแผน ได้แก่

1.) การกระจายและเชื่อมโยงสินค้าเกลือทะเลไปยังอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

2.) การกระจายเกลือขาวและดอกเกลือเพื่อจำหน่ายในร้านธงฟ้า

3.) เสนอให้จัดทำโครงการกระจายเกลือทะเลค้างสต็อก ผ่านทางคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คบท.)ใช้งบประมาณของกองทุน แนวทางเดียวกับสินค้าเกษตรอื่นๆโดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการ

สำหรับ ร่างกฎหมายว่าด้วยการขึ้นทะเบียนผู้นำเข้าเกลือจากต่างประเทศ ขณะนี้กรมการค้าต่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ ได้ส่งร่างดังกล่าวให้คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติพิจารณา โดยให้รับความคิดเห็นของกระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาดำเนินการต่อไป

ทางด้านการพัฒนาผู้ประกอบการด้านเกลือทะเล กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีหลักสูตรเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการได้แก่ หลักสูตรการบริหารจัดการด้านการตลาด จำนวน 7 หลักสูตร ได้แก่ (1.) การเริ่มต้นธุรกิจ (2.) การเงินบัญชี (3.) วิชาบัญชี (4.) การตลาด E-Commerce (5.) การพัฒนากลยุทธ์การตลาด E – Commerce (6.) การพัฒนาธุรกิจใน AEC (7.) การพัฒนาระบบบริหารจัดการธุรกิจโลจิสติกส์ สมัครได้ที่ http://dbdacademy.dbd.go.th/

2.) หลักสูตรการพัฒนาทักษะทางดิจิทัล จำนวน 2 หลักสูตร ได้แก่ (1.) หลักสูตรร้านค้าออนไลน์ (E-Commerce) (2.) หลักสูตรการพัฒนาหน้าร้านสู่โลกออนไลน์ (Digitize Storefront) ผู้สนใจสามารถสมัครได้ที่ https://saphandigital.moc.go.th/ ภายในวันที่ 30 เมษายน 2564

“นับเป็นครั้งแรกที่มีการพัฒนาเกลือทะเลทั้งระบบครบวงจรตั้งแต่การวิจัยพัฒนา การผลิต การแปรรูป การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างแบรนด์และการตลาดผสมผสานการค้าสินค้าและบริการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงเกษตรภายใต้5ยุทธศาสตร์ของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และโมเดล” เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาดซึ่งเป็นความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์และทุกภาคีภาคส่วนแบบบูรณาการใกล้ชิด” นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

อินเตอร์ลิ้งค์​ ทดสอบระบบ 'APM' รถไฟฟ้าไร้คนขับ 'รับ-ส่ง' คนในสุวรรณภูมิ พร้อมใช้ เม.ย. 65 รันยาวตลอด 24 ชั่วโมง

วันนี้ (22 เมษายน 2564) ที่อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT-1) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK ได้เปิดเผยว่า หลังจากที่ ILINK ได้ชนะการประกวดราคางานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) ภายใต้ความร่วมมือของคณะนิติบุคคลร่วมทำงานไออาร์ทีวี (IRTV) และบริษัท ซีเมนส์ โมบิลิตี้ จำกัด ในการจัดหารถไฟฟ้าไร้คนขับ (APM) ยี่ห้อ SIEMENS รุ่น Airval สำหรับ “โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2” นั้น

ล่าสุดรถไฟฟ้าไร้คนขับ (APM) ได้ถูกส่งมอบให้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. แล้ว จำนวน 4 ขบวน และจะทยอยส่งมอบรถไฟฟ้า APM จนครบทั้ง 6 ขบวนภายในสิ้นปีนี้

ปัจจุบันรถไฟฟ้าไร้คนขับที่จะนำมาให้บริการภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทั้ง 4 ขบวน ได้ทดสอบวิ่งบนรางในอุโมงค์ใต้ดินระหว่างอาคารผู้โดยสารหลักกับอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT-1) ระยะทางวิ่ง 1 กิโลเมตร โดยผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท ซีเมนส์ โมบิลิตี้ จำกัด ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา และผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยจากบริษัทผู้ผลิต SIEMENS เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ภาพรวมของโครงการรถไฟฟ้าไร้คนขับ APM คืบหน้ากว่า 80% ไม่พบปัญหาในการทดสอบระบบ สามารถเดินรถได้ตามมาตรฐาน หลังจากนี้จะเป็นการทดสอบระบบควบคุมการเดินรถอัตโนมัติ (Automatic Train Control : ATC) เพื่อให้มีความเสถียร แม่นยำ และตรงต่อเวลา คาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการประชาชนภายในเดือนเมษายน ปี 2565 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ใช้ระบบรถไฟขับเคลื่อนแบบไร้คนขับ รับ-ส่งผู้โดยสารในสนามบินสุวรรณภูมิ

สำหรับรถไฟฟ้าไร้คนขับ (APM) รับ-ส่งผู้โดยสารระหว่างสถานีอาคารผู้โดยสารหลัก กับ อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) มี 2 สถานี ระยะทางวิ่ง 1 กิโลเมตร วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลา 2 นาทีต่อเที่ยว วิ่งบริการทุก ๆ 3 นาที ตลอด 24 ชั่วโมง รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 3,590 คนต่อชั่วโมง ส่วนชั่วโมงเร่งด่วนสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 5,960 คนต่อชั่วโมง

โดยรูปแบบรถเป็นระบบอัตโนมัติ (Automatic Train Control : ATC) เป็นระบบการควบคุมการขับเคลื่อนอยู่ที่ศูนย์กลางผ่านห้องปฏิบัติการ OCC (Operation Control Center) พร้อมด้วยระบบอาณัติสัญญาณ Communication Based Train Control system (CBTC) แบบ Moving Block ระบบรางวิ่งเป็นแบบ central rail-guided APM ช่วยให้รถไฟฟ้าเดินทางไปมาในทิศทางที่กำหนดได้อย่างแม่นยำ ซึ่งเป็นการทำงานแบบไร้คนขับโดยสมบูรณ์

“ขณะนี้งานระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ APM มีความคืบหน้าไปกว่า 80% อินเตอร์ลิ้งค์ฯ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาทดสอบการเดินระบบรถไฟฟ้าไร้คนขับอย่างต่อเนื่อง เพื่อความเสถียร ปลอดภัย แม่นยำ ตรงต่อเวลา เพื่อส่งมอบรถไฟฟ้าไร้คนขับที่ทันสมัยและดีที่สุดแก่ผู้ใช้บริการ เรามีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดั่งวิสัยทัศน์ของอินเตอร์ลิ้งค์ฯ ที่ต้องการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาประเทศไทย” นายสมบัติกล่าวทิ้งท้าย


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

กรมการค้าภายในส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจเข้มต่อเนื่อง ย้ำห้ามผู้ประกอบการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้าช่วงโควิดระบาด ชี้โทษหนักคุก 7 ปี ไม่ติดป้ายราคาปรับไม่เกิน 1 หมื่น

นายอาวุธ วงศ์สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบและติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด หลังจากเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่เดือนเมษายน โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ และสินค้าที่ใช้ป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด ทั้ง หน้ากากอนามัย หน้ากากทางเลือก เจลแอลกอฮอล์ และสินค้าเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน และป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการฉวยโอกาส

ขณะเดียวกันยังได้แจ้งให้ร้านค้าต่าง ๆ ต้องติดป้ายแสดงราคาสินค้าให้ชัดเจน ห้ามฉวยโอกาสปรับขึ้นราคา หากตรวจพบว่าใครฝ่าฝืน จะถูกดำเนินการตามกฎหมาย คือ กรณีไม่ติดป้ายแสดงราคาจะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และกรณีที่มีการฉวยโอกาสจำหน่ายสินค้าแพงเกินสมควร กักตุนสินค้าหรือปฏิเสธการจำหน่ายต้องโทษจำคุก 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ ยังประสานไปยังร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ต้องปฏิบัติตามกฎเหล็กอย่างเคร่งครัด ห้ามขายบุหรี่ สุรา เบียร์ให้แก่ผู้ถือบัตร ห้ามยึดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ห้ามรับ แลกเป็นเงินสด ห้ามเอาเปรียบฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาและขายเกินราคาที่กำหนด และห้ามบังคับการซื้อ/ขายสินค้า ถ้าหากมีการตรวจพบการกระทำผิด จะถูกเพิกถอนสิทธิ์การเข้าร่วมโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและแจ้งกรมบัญชีกลางในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการเพื่อเรียกคืนเครื่องอีดีซี หรือยกเลิกการใช้แอพพลิเคชั่น และถูกดำเนินคดีตามกฎหมายด้วย

สกัดบริษัทประกันพลิ้ว! คปภ. ออกคำสั่งด่วน ‘รักษาในรพ.สนาม – โรงแรม’ เคลมประกันได้

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ที่ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว ประชาชนยังคงให้ความสนใจในการทำประกันภัยโควิด-19 มาช่วยบริหารความเสี่ยงภัยที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลวันที่ 31 มี.ค. 2564 มียอดทำประกันภัยโควิด-19 รวม 11 ล้านฉบับ ซึ่งเป็นยอดกรมธรรม์ประกันภัยที่เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีที่แล้ว 1 ล้านฉบับ และมียอดการจ่ายค่าสินไหมทดแทน รวมทั้งสิ้น 171 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสิ้นปีที่แล้ว ณ วันที่ 31 ธ.ค.2563 เกือบ 100 ล้านบาท

สำหรับกรณีที่โรงพยาบาลหลายแห่ง มีเตียงไม่เพียงพอในการรองรับผู้ติดเชื้อ รวมทั้งมาตรการของรัฐบาลที่มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามและโรงแรมเป็นโรงพยาบาลกักตัวในหลายพื้นที่ ซึ่งอาจเกิดประเด็นการตีความว่า การที่ผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งทำประกันภัยไว้ และเข้ารับการรักษาในสถานที่เหล่านั้น จะสามารถเคลมประกันได้หรือไม่ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ สำนักงาน คปภ. จึงได้ประชุมหารืออย่างเร่งด่วนกับสมาคมประกันชีวิตไทยและสมาคมประกันวินาศภัยไทย และได้ข้อสรุปเป็นที่ยุติว่าให้สามารถเคลมประกันได้

ล่าสุด คปภ. ได้ออกคำสั่งนายทะเบียน 2 ฉบับ เรื่อง การรักษาพยาบาลตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือสัญญาเพิ่มเติม เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับบริษัทประกันชีวิต และคำสั่งนายทะเบียน เรื่อง การรักษาพยาบาลตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือเอกสารแนบท้าย สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่า หากต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล จะยังได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย เช่นเดียวกับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลทั่วไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top