Thursday, 25 April 2024
IMPACT

รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ ‘สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์’ ยก 8 ประเด็นคาใจแจงฝ่ายค้าน ยืนยันเศรษฐกิจไทยไม่ได้แย่อย่างที่ฝ่ายค้านอภิปรายในสภา

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 64 ในหัวข้อ “เรื่องจริงเศรษฐกิจไทย” โดยชี้แจง 8 ประเด็นข้อสงสัยของพรรคฝ่ายค้าน เรื่องการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล ยืนยันไม่ได้แย่อย่างที่อภิปรายในสภา มีเนื้อหาดังนี้...

#เรื่องจริงเศรษฐกิจไทย

จบลงไปแล้วนะครับสำหรับการอภิปรายที่รัฐสภาในญัตติไม่ไว้วางใจท่านนายกฯ และรัฐมนตรีอีก 5 ท่าน ซึ่งผมได้เตรียมชี้แจงข้อสงสัยและข้อกล่าวหาของพรรคฝ่ายค้าน เรื่องการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่ก็ไม่มีโอกาสได้พูดในสภา เนื่องจากเวลาไม่พอ ผมจึงขอสรุปสาระสำคัญซึ่งเป็นข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่จะทำให้มองเห็นการบริหารจัดการเศรษฐกิจของรัฐบาล และข้อเท็จจริงของสถานการณ์เศรษฐกิจไทยขณะนี้ ว่าไม่ได้แย่อย่างที่อภิปรายกันในสภาครับ

1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19

ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ผู้อภิปรายหลายท่านบอกว่าประเทศไทยย่ำแย่ที่สุดในรอบหลายสิบปี ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ย่ำแย่ของทุกประเทศ จุดต่ำสุดของไทยอยู่ที่เดือน เม.ย. ปีที่แล้ว หลังรัฐบาลค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ดัชนีชี้วัดทุกตัวจึงดีขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งเดือน ธ.ค. มีการระบาดระลอกใหม่ ดัชนีบางตัวก็ยังดีกว่าเดือน เม.ย. ด้วยเรามีประสบการณ์และข้อมูลจากการระบาดครั้งแรก จึงไม่จำเป็นต้องล็อกดาวน์ แต่คุมเข้มบางจังหวัด ตัวเลขเศรษฐกิจดูจะลดลง แต่สัญญาณบวกได้ปรากฏอยู่ในไตรมาสที่ 4 โดยมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งการบริโภค การลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงการลงทุนและบริโภคของรัฐ

ข้อมูลของสภาพัฒน์ ปี 63 เราติดลบ 6.1% แต่ถ้าติดตามข้อมูลมาตั้งแต่ต้นปี หลายสถาบันเห็นว่าไทยจะติดลบ 10 %, 8.5% บ้าง แต่ประเทศไทยเราร่วมมือกันและควบคุมได้ ถือว่าบอบช้ำไม่มาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน ไม่มีใครไม่ลบ แต่ที่ต่ำที่สุดคือฟิลิปปินส์ มีเพียงเวียดนามที่เป็นประเทศที่เพิ่งเติบโต แต่ก็เติบโตน้อยกว่าอัตราที่เคยเติบโตอยู่มาก ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเราไม่ได้แย่ที่สุด เราเกาะกลุ่มอยู่ในประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้

2. การว่างงาน

ผู้อภิปรายหลายท่านบอกว่ามีคนว่างงาน 10 ล้านคน แต่คงเป็นประมาณการตั้งแต่ช่วงแรกที่เกิดการระบาด เพราะเขาไม่รู้ว่าการระบาดอย่างนี้ มีผลกระทบให้เกิดการว่างงานกันเท่าไร ก็คงมองในกรณีเลวร้ายที่สุดถึง 10 ล้านคน แต่ตัวเลขจริงที่ปรากฎออกมาคือ 1.9% ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนสูงกว่านี้ แสดงให้เห็นถึงความบอบช้ำที่มีทั่วโลก แต่ประเทศไทยเราทำได้ดี

3. ความน่าเชื่อถือในสายตานานาชาติ

3 สถาบันจัดอันดับเครดิต คือ มูดี้ส์ ฟิทช์เรตติ้ง และสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส ประเมินให้ไทยอยู่ในอันดับเท่าเดิม ในขณะที่หลายประเทศถูกปรับลดอันดับลง สำหรับความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการของประเทศไทยที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจหรือการควบคุมการแพร่ระบาด ปรากฏว่าอยู่ในการจัดอันดับต่างๆ หรือการยอมรับจากนานาชาติ ล่าสุดเราติดอันดับ 1 ใน 4 ประเทศที่ควบคุมการระบาดของโควิด-19 ดีที่สุดในโลก ในขณะที่ความเข้มแข็งทางการเงิน การคลัง ติดอันดับต้นๆ ของประเทศเกิดใหม่ที่น่าลงทุนที่สุด นี่คือการประเมินเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมานี้เอง

4. รัฐบาล Very กู้ จริงหรือเปล่า

ปี 63 หนี้สาธารณะของเราอยู่ที่ราว 52% ของจีดีพี ตัวเลขกลมๆ ของหนี้สาธารณะคือ 8.1 ล้านล้านบาท ตอนที่ท่านนายกฯ รับตำแหน่งใหม่ๆ หนี้สาธารณะมีอยู่ 5.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6 ล้านล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับรัฐบาลก่อนหน้านั้น ซึ่งอยู่ในตำแหน่ง 2 ปี 8 เดือน หนี้ของเขาเพิ่ม 1.3 ล้านล้านบาท รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ อยู่ 6 ปี 9 เดือน หนี้เพิ่มขึ้น 2.6 ล้านล้านบาท เฉลี่ยกู้ต่อเดือนไม่ต่างกัน แต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ยังกู้น้อยกว่าด้วยซ้ำไป เงินกู้เหล่านี้ได้ถูกกระจายไปใช้ในการลงทุนโครงการสำคัญๆ ตั้งแต่ปี 59-63 จำนวน 162 โครงการ เป็นโครงการทางด้านคมนาคม สาธารณูปโภค และพลังงานเกือบทั้งหมด นี่คือการสร้างพื้นฐานให้ประเทศไทยเติบโตต่อไปในอนาคต และเป็นการกู้ที่ไม่เกินเลยจากรัฐบาลก่อนหน้านี้

5. รัฐบาลนี้ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงที่สุด

รัฐบาลนี้ไม่ใช่รัฐบาลที่ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงที่สุด เพราะสูงมาตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว และสูงมาเรื่อยๆ ตอนที่ท่านนายกฯ เข้ามาเมื่อกลางปี 57 เรามีหนี้ครัวเรือนประมาณ 80% ท่านพยายามประคับประคองไม่ให้เพิ่ม มีปีหนึ่งลดลงไปที่กว่า 70% พอมาเกิดวิกฤต จีดีพีลดลงจาก 80% ที่พยายามรักษาไว้ กลายเป็น 86% เราพยายามบริหารจัดการให้เป็นหนี้มีคุณภาพ ประมาณ 65% ของหนี้ครัวเรือนจึงเป็นหนี้ที่กู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ใช้ประกอบธุรกิจ ซื้อพาหนะ ที่เหลือเป็นเรื่องการอุปโภคบริโภค ซึ่งในไตรมาสที่ 3 ของปีที่ผ่านมา ตอนนั้นเกิดโควิด-19 แล้ว เรามีหนี้ครัวเรือนเป็นหนี้เสียที่อยู่ในระบบธนาคารเพียง 3% อยู่ในเกณฑ์ค่าเฉลี่ยของหนี้เสียของระบบธนาคาร

6. แบงก์จะล้มไหม

ความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินดูที่ทุนที่มีความเพียงพอต่อสินเชื่อที่ปล่อยออกไป ซึ่งวันนี้อยู่ในสัดส่วน 20% มากกว่าอัตราขั้นต่ำที่ ธปท. กำหนด คือประมาณ 11% นับว่าสูงกว่าราว 2 เท่า เอ็นพีแอลหรือหนี้เสียในระบบ 3.1% ถ้าเรากลัวกันว่าเศรษฐกิจดิ่งแล้วแบงก์จะล้ม ก็ไปดูกันตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง ตอนนั้นทุนของสถาบันการเงินมีเพียง 9.5% ซึ่งต่ำกว่าปัจจุบันมากกว่าครึ่งหนึ่ง ต้องถือว่าสถาบันการเงินเข้มแข็งมาก สินเชื่อก็โตขึ้นในปีที่ผ่านมา กำไรยังมีอยู่ สถาบันการเงินยังมีความเข้มแข็งที่จะดูแลลูกหนี้

7. ธุรกิจหนี้ท่วมจนต้องปิดกิจการมากที่สุด

วันนี้ 21 สถาบันการเงินมีการปรับโครงสร้างหนี้จำนวนที่อยู่ในวิสัยที่ลูกหนี้จะดำเนินกิจการต่อไปได้ และในปี 63 มีการจัดตั้งใหม่ 63,340 ราย เช็กเด้งน้อยลง 23% การขอใบอนุญาตส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ มีผู้ขอมากกว่าปี 62 สำหรับเรื่องที่บอกว่าประชาชนหนี้ท่วมจนอยู่ไม่ได้นั้น ที่ผ่านมาเราให้ไป 50,000 ล้านบาท เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ มีจำนวนคนหลายล้านคนที่ได้รับการช่วยเหลือเรื่องดอกเบี้ยและการพักชำระหนี้ จนถึงสิ้นปี มีมาตรการเยียวยาครอบคลุมคน 42.3 ล้านคน และรัฐบาลยังได้มีมาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟ และเงินสมทบประกันสังคม พร้อมเสริมสภาพคล่อง สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเป็นเงิน 2 แสน 9 หมื่นกว่าล้านบาท

ก่อนโควิด-19 ระลอกใหม่เมื่อเดือน ธ.ค. ครม. อนุมัติการช่วยเหลือผ่านการค้ำประกันของ บยส. ให้ธุรกิจที่มีปัญหา โดยเฉพาะที่เป็นเอสเอ็มอีในวงเงิน 1 แสน 5 หมื่นล้านบาท กลุ่มที่เป็นรายย่อยไมโครเอสเอ็มอีอีก 2.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้การคิดดอกเบี้ยผิดนัด ธปท. ปรับการคิดดอกเบี้ยผิดนัดใหม่เป็นอัตราดอกเบี้ยปกติ และคิดดอกเบี้ยผิดนัดตามจำนวนที่ผิดนัด ตรงนี้เป็นการบรรเทา ลดค่าใช้จ่ายทางการเงินจะมีผลตั้งแต่เดือน เม.ย. 64

8. ประเทศไทยไม่ได้เหลื่อมล้ำมากที่สุด

มีคนพูดว่าประเทศไทยเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก นั่นเป็นแค่มิติเดียว คือความมั่งคั่ง ถ้าจะดีต้องดูให้ครบทุกมิติ ต้องดูโอกาส การเข้าถึงระบบสาธารณสุข สิทธิประโยชน์ต่างๆ การดูแลโดยภาครัฐบาล รวมกันแล้ว ไทยเราเป็นประเทศอันดับต้นๆ ในอาเซียนที่มีความเหลื่อมล้ำน้อย ยิ่งหากดูเรื่องความยากจน เราน้อยที่สุด ถ้าไม่นับสิงคโปร์ เพราะรัฐบาลสร้างโอกาส มีสวัสดิการด้านสาธารณสุข และมีสวัสดิการที่ดูแลประชาชนที่มีความเปราะบาง


เครดิตเพจ : https://www.facebook.com/supattanapongp/photos/pcb.175498857710644/175479794379217/

อพท. เผยโควิดกระทบท่องเที่ยวชุมชนฉุดรายได้ร่วง 46% พร้อมเร่งผลักดันเมืองเก่า จ.สุโขทัย ติดอันดับแหล่งท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลก 100 แห่ง

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า อพท. ได้จัดทำการประเมินระดับความอยู่ดีมีสุขของประชาชนในพื้นที่พิเศษในปี 2563 ที่ผ่านมาพบว่า ในภาพรวมประชาชนในพื้นที่พิเศษ มีระดับความอยู่ดีมีสุขอยู่ที่ 78.44% เมื่อเทียบกับเกณฑ์ความเพียงพอ(Sufficiency threshold) โดยอ้างอิงตามมาตรฐานในการวัด GNH ของประเทศภูฏานอยู่ในระดับ Deeply happy หรือมากที่สุด

ขณะที่รายได้เสริมจากการท่องเที่ยวในปี 2563 ใน 20 ชุมชนเป้าหมาย มีรายได้รวมเฉลี่ยลดลง 46.54% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยรายได้รวมทั้งหมดลดลงจาก 1,524,109.16 บาทต่อปี ลงมาอยู่ที่ 814,775.60 บาทต่อปี ในปี 63

สำหรับในปี 2564 อพท. ดำเนินการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ มุ่งเน้นพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อสร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria: GSTC) ในพื้นที่พิเศษจำนวน 6 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ตำบลเกาะหมาก จ.ตราด พื้นที่ตำบลนาเกลือ จ.ชลบุรี พื้นที่ตำบลเมืองเก่า จ.สุโขทัย พื้นที่ตำบลเชียงคาน จ.เลย พื้นที่ตำบลในเวียง จ.น่าน และพื้นที่เทศบาลตำบลอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป้าหมายสำคัญในปี 2564 คือ อพท. จะผลักดันให้พื้นที่ตำบลเมืองเก่า จ.สุโขทัย ให้เป็น Global Sustainable Destinations Top 100 หรือแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนที่ดีที่สุดในโลก 100 แห่ง

นอกจากนี้ ยังต้องการขับเคลื่อนเมืองตามแนวทางเครือข่ายเมืองท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (The UNESCO Creative Cities Network-UCCN) 2 แห่ง ได้แก่ จ.น่าน และ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ประจำปี 2564 ให้ได้ 75% และจัดทำใบสมัครในการเสนอเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก

อย่างไรก็ดี ยังมีเป้าหมายการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยการสร้างต้นแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน จากการใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนหรือ CBT Thailand เพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขันโดยมีเป้าหมายในการผลักดันชุมชนเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ได้อย่างน้อย 8 ชุมชน และยังได้จับมือกับหน่วยงานชั้นนำในระดับโลก เพื่อต่อยอดความสำเร็จสู่การเป็นต้นแบบในระดับสากลในหลายๆ ด้านอีกด้วย

รมว.คลัง เผยครม.ไฟเขียว ยืดเวลาจ่ายหนี้สินเชื่อฉุกเฉินอาชีพอิสระ ออกไปไม่เกิน 12 เดือน จากเดิม 6 เดือน พร้อมออกสินเชื่อช่วยธุรกิจท่องเที่ยวดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 10,000 ล้านบาท ผ่านโครงการ ‘SMEs มีที่ มีเงิน’ ผ่านธนาคารออมสิน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่ นำไปสู่การออกประกาศพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด มีการสั่งปิดสถานที่และระงับการให้บริการของสถานบริการ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนและการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Supply Chain)

เนื่องจากเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบ เรื่อง มาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพิ่มเติม เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินของประชาชนและช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยมีด้วยกัน 2 โครงการ คือ

1.) การปรับปรุงการดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท แห่งละ 20,000 ล้านบาท ให้แก่ประชาชนที่มีอาชีพอิสระหรือเกษตรกรรายย่อย อัตราดอกเบี้ยคงที่ ไม่เกิน 0.10% ต่อเดือน

โดยขยายระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยออกไปเป็นไม่เกิน 12 เดือน จากเดิม 6 เดือน ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. กำหนด พร้อมทั้งขยายระยะเวลากู้ออกไปเป็นไม่เกิน 3 ปี จากเดิม 2 ปี 6 เดือน ทั้งนี้ รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิ.ย.2564

2.) โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในภาคธุรกิจการท่องเที่ยว โดยใช้ที่ดินว่างเปล่า หรือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินเป็นหลักประกัน

และไม่ต้องผ่านการตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโร วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 70% ของราคาประเมินที่ดินของทางราชการ สูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท ระยะเวลากู้ 3 ปี ดอกเบี้ย 0.10% ต่อปีในปีแรก 0.99% ต่อปีในปีที่ 2 และ 5.99% ต่อปีในปีที่ 3 รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิ.ย.2564

จับตา น้ำมันปาล์มขวดเริ่มขาดตลาด - ขายแพง จี้กรมการค้าภายใน เช็คสต็อกน้ำมันปาล์มขวดในโมเดิร์นเทรด พร้อมช่วยตรวจสอบ ใครกักตุนจนทำให้ของขาดตลาดหรือไม่

นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง - ปลีกไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำมันปาล์มในประเทศ ว่า ขณะนี้ร้านค้าส่งได้รับผลกระทบปัญหาน้ำมันปาล์มขวดขาดตลาด โดยเมื่อสั่งสินค้าไปแต่ได้รับของมาขายลดลงไป 60 - 70% เนื่องจากโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มหลายยี่ห้อได้ลดสัดส่วนการส่งสินค้าลงโดยให้เหตุผลว่าผลผลิตปาล์มมีน้อย เพราะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

ทั้งนี้ ในช่วงปกติร้านจะสั่งสินค้าเข้ามารอบละ 200 - 300 ลัง แต่ขณะนี้สั่งไป 300 ลัง แต่รับมาแค่รอบละ 50 - 100 ลังเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นเหมือนกันในหลายพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพราะสมาชิกร้านค้าส่งในต่างจังหวัดก็เล่าให้ฟังว่า ปกติเคยสั่งซื้อยกคันรถ 1,000 ลัง ก็ได้ของเข้ามาขายแค่ 400 - 500 ลังเท่านั้น

อย่างไรก็ตามราคาขายปลีก - ขายส่งตอนนี้ขยับสูงขึ้นมาตั้งแต่ต้นทาง โดยปัจจุบันต้นทุนราคาส่งตกลังละ 580 บาท หรือตกขวดละ 48 บาทเศษ หากขายให้ร้านโชห่วยนำไปขายต่อจะบวกเป็นลัง 590-595 บาท เพื่อให้ไปทำกำไรขายต่อได้ที่ 52 บาท

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยากให้กรมการค้าภายใน เข้าไปช่วยเช็คสต็อกน้ำมันปาล์มขวดในร้านค้าปลีกสมัยใหม่ว่า มีปัญหาขาดหรือไม่ รวมถึงดูด้วยว่าใครกักตุนจนทำให้ของขาดตลาดหรือเปล่า แต่ก็ได้แจ้งว่าในเดือนมี.ค.64 ปัญหาน่าจะคลี่คลายลงเพราะจะเริ่มมีผลปาล์มฤดูใหม่ออกสู่ตลาด ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนได้

รมว.คลัง สั่ง ก.ล.ต. คุมเข้มเทรดบิทคอยน์ ย้ำต้องเติมความรู้ให้นักลงทุนรู้เท่าทัน เหตุมีความเสี่ยงสูง พร้อมระบุเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังมีหวัง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะบิทคอยน์ อย่างใกล้ชิด เพราะถือเป็นสินทรัพย์ใหม่ และมีความเสี่ยง จึงต้องดูแลเรื่องนี้ให้ดี

พร้อมทั้งให้คำแนะนำ และความรู้กับผู้ลงทุนด้วย โดยเฉพาะในเรื่องการบริหารความเสี่ยงกับผู้มีเงินออมและเข้ามาอยู่ในตลาดตรงนี้ ต้องให้มีความรู้เท่าทัน ป้องกันไม่ให้ได้รับความเสี่ยงมากเกินไป

ทั้งนี้ยังขอให้ ก.ล.ต.ช่วยอำนวยความสะดวกให้กิจการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เช่น การเปิดโอกาสให้บริษัท หรือผู้ประกอบรายใหม่เข้าถึงตลาดทุน ยกระดับความเชื่อมั่นเสริมศักยภาพตลาดทุน และการพัฒนาการเงินที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

"สถานการณ์เศรษฐกิจในปีนี้โดยเฉพาะผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 มีผลกระทบที่แตกต่างออกไปจากปีก่อน เพราะมีปัจจัยเสริมคือเรื่องวัคซีน หากทำได้เร็วก็ช่วยลดการแพร่ระบาดได้ ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีความหวังว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจจะน้อยลงเมื่อเทียบกับปีก่อน"

อย่างไรก็ตาม ในส่วนการบริหารเศรษฐกิจปี 2564 รัฐบาลต้องดำเนินการ 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่

1.) การเยียวยาและฟื้นฟู ต้องทำให้ทันสถานการณ์ โดยปี 63 ที่ผ่านมา มีการเยียวยาประชาชนในโครงการเราไม่ทิ้งกัน สำหรับปีนี้ก็ได้ดำเนินการต่อเนื่อง ทั้งโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ และโครงการ ม33 เรารักกัน อย่างไรก็ดี มาตรการเยียวยาทำได้แค่ระยะสั้นเท่านั้น ไม่สามารถเยียวยาโดยการแจกเงินไปได้ตลอด ดังนั้นรัฐบาลต้องทำการฟื้นฟู ช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านนโยบายการเงินการคลัง ไปพร้อมกันด้วย

2.) การกำหนดทิศทางเศรษฐกิจในอนาคตให้มีความชัดเจน ซึ่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พูดชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยต้องเน้นเรื่องนโยบายโมเดลเศรษฐกิจใหม่ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ, เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG)

3.) การดูแลการระบาดของโควิด-19 และการดูแลรองรับสังคมผู้สูงอายุ ที่ตอนนี้ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 12% และอีก 10 ปี จะเพิ่มเป็น 24% ต้องเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับในส่วนนี้

นอกจากนี้ ประเทศไทยต้องมีวัคซีนเศรษฐกิจ 3 ตัว เพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน และมีเสถียรภาพ ประกอบด้วย

1.)วัคซีนเศรษฐกิจระดับประเทศ GDP ต้องเติบโตมั่นคง ต่อเนื่องมีคุณภาพ เศรษฐกิจต้องมีความมั่นคง ทุนสำรองสูง ฐานะการคลังแข็งแรง และหนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้

2.) วัคซีนเศรษฐกิจระดับภาคการผลิต ภาคบริการ ต้องมีภูมิคุ้มกัน มีการบริหารความเสี่ยง และมีธรรมาภิบาล

และ 3.) วัคซีนระดับประชาชน ส่งเสริมให้มีการออมเงินมากขึ้น และสร้างทางเลือกการออมยามเกษียณให้กับประชาชน

สะเทือนวงการเงินดิจิทัล และอาจจะรวมถึงโลกการเงินเลยก็ได้ เมื่อ Tesla ได้ยื่นข้อมูลต่อคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ว่า บริษัทได้ซื้อ Bitcoin มูลค่า 45,000 ล้านบาท

โดยบริษัทได้กล่าวว่าการซื้อ Bitcoin ในครั้งนี้ เป็นการกระจายเงินสดสำรองของบริษัทไปลงทุนใน สินทรัพย์ดิจิทัล ทองคำ และ ETF ทองคำ

ทั้งนี้ในเดือนที่แล้ว บริษัท Tesla ได้อัปเดตนโยบายการลงทุน ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และเพิ่มผลตอบแทนของเงินสดสำรองซึ่งเป็นส่วนเกินจากเงินสำรองเพื่อสภาพคล่องในการดำเนินงานปกติ โดยบริษัทบอกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ และBitcoin อาจเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้เงินสดของบริษัทในระยะยาวได้

แต่อีกเรื่องที่น่าทึ่งต่อเนื่องจากข่าวนี้ คือTesla กล่าวว่า จะเริ่มรับชำระเงินค่าซื้อผลิตภัณฑ์ของ Tesla ด้วยBitcoin ได้ในอนาคต ซึ่งหลังจาก Tesla ประกาศข่าวเรื่องดังกล่าวออกไป ก็ทำให้ราคาของ Bitcoin พุ่งทะลุ 42,000 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตรา +9% และถือเป็นจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ทันที

หลังจากข่าวนี้ออกมา ก็ดูท่าจะไปกระตุกต่อมคันของ เจ้าพ่อสตาร์ทอัพเมืองไทยอย่าง กระทิง พูนผล ที่ออกมาให้มุมมองต่อสินทรัพย์แห่งการแลกเปลี่ยนใหม่ ที่มีโอกาสเกิดขึ้น โดยมี Tesla เป็นตัวเร่งว่า…

“มันส์มาก ๆ ช่วงนี้ จากเหรียญหมา (Dogecoin) มา Tesla <> BTC ต่อไปสงสัยจะมีเงินสกุล Musk เอาไว้ใช้จ่ายในนิคมบนดาวอังคารในอีก 15 ปีข้างหน้า”

เรื่องนี้กำลังจะบอกอะไรเรา?

ทรัพย์สินที่เรียกว่า ‘เงินสด’ อาจจะค่อยๆ ด้อยค่าลงหรือไม่?

เพราะหากผู้ผลิตที่มีสินค้า พร้อมจะลงเอยกับทรัพย์สินบางประเภทที่มิใช่เงินตรามากขึ้น อาจจะเปลี่ยนระบบการเงินโลกแบบครั้งใหญ่กันเลยทีเดียว

อย่างในประเทศไทยเอง หากยังพอจำกันได้เกือบๆ 10 ปีก่อน ก็เคยมีกรณี 'พระสมเด็จแลกรถเบนซ์' ของ นายวสันต์ โพธิพิมพานนท์ เจ้าของเบนซ์ทองหล่อ ซึ่งยินดีที่จะรับพระสมเด็จแท้ๆ พระเครื่องชุดเบญจภาคี รวมทั้งพระเครื่องยอดนิยมชุดอื่นๆ มาแลกกับรถเบนซ์ได้ แต่ย้ำว่าต้องเป็นพระแท้เท่านั้น เพียงแต่ตั้งแต่แผนการตลาดครั้งนั้นเกิดขึ้น ก็ยังไม่มีใครนำพระชุดเบญจภาคีที่ขึ้นชื่อว่าสวยสมบูรณ์แลกรถเบนช์ไปได้ทั้งคัน หรือต้องให้ทั้งรถและเพิ่มทั้งเงินก็ยังไม่เคยมี

อนาคตการแลกเปลี่ยน ด้วยเงินตรา อาจจะหายไปหรือไม่? ต้องติดตามดู…


ที่มา:

https://www.komchadluek.net/news/lifestyle/206384

https://www.sec.gov/.../00015645902.../tsla-10k_20201231.htm

https://seekingalpha.com/.../3659395-bitcoin-flirts-with...

https://u.today/breaking-tesla-gets-15-billion-worth-of…

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=10158699084935609&id=648910608

รมว. คลัง ปลื้มสินค้า OTOP ศรีสะเกษ มียอดขายกว่า 6 พันล้านบาท โดยสินค้าประเภทผ้ามีเป้าหมายการจำหน่าย 1 พันล้านบาท สามารถจำหน่ายได้ถึง 978,342,747 ล้านบาท พร้อมเปิดรับออเดอร์สั่งซื้อออนไลน์ ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง พร้อมด้วย น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปเป็นประธานเปิดศูนย์ OTOP จ.ศรีสะเกษ โดยมี นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ เป็นผู้กล่าวรายงาน และมีนายสำรวย เกษกุล นายวิชัย ตั้งคำเจริญ นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิต รอง ผวจ.ศรีสะเกษ พล.ต.ต.สันติ เหล่าประทาย ผบก.ภ.จว.ศรีสะเกษ นายวิทยา วิรารัตน์ ประธานสภาวัฒนธรรม จ.ศรีสะเกษ นายจรินทร์ รอบการ พัฒนาการ จ.ศรีสะเกษ และหัวหน้าส่วนราชการ นำกลุ่มผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP จ.ศรีสะเกษ ให้การต้อนรับ และร่วมจำหน่ายสินค้า OTOP เป็นจำนวนมาก

นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า จ.ศรีสะเกษ ได้ดำเนินการส่งเสริม สนับสนุนการผลิตและจำหน่ายสินค้า OTOP เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก แก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และสืบสานรักษาต่อยอด ให้ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ในการขับเคลื่อนงาน จ.ศรีสะเกษ ได้มีการพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน และการสร้างแบรนด์สินค้าใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค เช่น การฝึกอบรมทักษะการแส่ว การนำวัสดุธรรมชาติมาย้อมผ้า ภายใต้แนวคิด "ศรีสะเกษธานี ผ้าศรี...แส่ว" ซึ่งการจำหน่ายสินค้า OTOP ในปี 2563 มียอดการจำหน่าย จำนวน 6,125,553,509 บาท โดยสินค้าประเภทผ้ามีเป้าหมายการจำหน่าย 1 พันล้านบาท จำหน่ายได้ 978,342,747 ล้านบาท และในปี 2564 ได้นำยุทธศาสตร์การพัฒนา ย้อม ทอ แส่ว ออกแบบ แปรรูปและจำหน่าย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายพันล้านบาท โดยใช้ศูนย์ OTOP เป็นสถานที่บริการนักท่องเที่ยวทั้งภายในและภายนอกจังหวัด รวมถึงเป็นสถานที่รับออเดอร์ออนไลน์ และเป็นที่รวบรวมการสั่งซื้อออนไลน์อีกช่องทางหนึ่ง

ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า การดำเนินงานมีการบูรณาการขับเคลื่อนกับทุกภาคส่วนทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมถึงการนำนโยบายของรัฐบาลมาใช้ในระบบการซื้อขาย เช่น โครงการช้อปดีมีคืน โครงการคนละครึ่ง และโครงการไทยชนะ ถึงแม้ว่าจะอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ยอดการผลิต และจำหน่ายสินค้า OTOP ทุกประเภท มีการหมุนเวียนซื้อ-ขาย ลดลงเพียงเล็กน้อย ดังนั้น ทางศูนย์ OTOP จ.ศรีสะเกษ จึงทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการซื้อขายสินค้า OTOP ของ จ.ศรีสะเกษ อย่างครบวงจร โดยเปิดให้บริการประชาชนผู้สนใจทั่วไป ภายใต้แนวคิด "มาหน้าร้านเราขาย สั่งออนไลน์เราส่ง" อันเป็นการสร้างช่องทางการกระจายสินค้า เพื่อเพิ่มมูลค่าและรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนชาวศรีสะเกษอย่างยั่งยืน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า นับว่าเป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชมเป็นอย่างมาก ที่ยอดการจำหน่ายสินค้า OTOP จ.ศรีสะเกษ มียอดการจำหน่ายสูงถึง 6,125,553,509 บาท ทำให้เศรษฐกิจของ จ.ศรีสะเกษดีขึ้นมากกว่าเดิม อีกทั้งมีการผลิตผ้าเบญจศรี ภายใต้แนวคิด"ศรีสะเกษธานี ผ้าศรี...แส่ว" จะเป็นการสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนชาวศรีสะเกษให้มีความอยู่ดีกินดี มีความสุข สนองนโนบายของรัฐบาลเป็นอย่างดียิ่ง

สำหรับโครงการเราชนะ มีการลงทะเบียนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ร้านค้าที่เข้าไปร่วมก็มีมาก ได้รับการตอบรับที่ดีมาก โครงการเราชนะ เราตั้งเป้าครอบคลุมเอาไว้ 31.1 ล้านคน ถ้าบวกโครงการประกันตนตามมาตรา 33 เข้ามาอีกประมาณ 9 ล้านกว่า รวมแล้วจะประมาณ 41 ล้าน นั่นคือเป้าหมายในการครอบคลุมให้ทั่วถึง ส่วนร้านค้านั้นได้มีการหารือกับกระทรวงมหาดไทยก็จะมีการเชิญชวนร้านค้าเข้ามาให้ได้อีกประมาณ 1 ล้านราย

ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ รัฐบาลนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคนเป็นอย่างมาก ขอฝากในเรื่องมาตรการ การ์ดไม่ตก เนื่องจากว่าการแพร่ระบาดยังไม่จบ พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงก็ยังมีการตรวจเชิงลึกอยู่ จึงต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงก็คงจะต้องงดกิจกรรมในการเดินทาง เรื่องการเข้มงวดกับตนเองในเรื่องการสวมหน้ากากเมื่อออกไปในที่ชุมชนและหมั่นล้างมืออยู่เสมอ จะเป็นการช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้


ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ศรีสะเกษ

‘สามารถ ราชพลสิทธิ์’ ผิดหวังรฟม. ไม่สู้ต่อในชั้นศาลปกครองสูงสุด ชิงล้มประมูลคัดเลือกชนร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้ม อ้างถ้าสู้ต่อทำให้เสียเวลา หลังถูกบีทีเอสฟ้องใช้เกณฑ์คัดเลือกใหม่ ส่อไม่เป็นธรรม เอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางราย

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบขนส่งมวลชน โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ – Dr.Samart Ratchapolsitte’ โดยระบุว่า
ล้มสายสีส้ม
สู้ไม่สุดซอย ถอยดีกว่า
น่าเสียดายที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สู้ไม่สุดซอย ถอยเสียก่อน ไม่รอฟังคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด สร้างความผิดหวังให้กับผู้เกาะติดการประมูลคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้ไม่รู้ว่าใครจะแพ้ ใครจะชนะ
ในที่สุด รฟม. ได้ประกาศล้มการประมูลคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มอย่างไม่เกรงกลัวต่อข้อครหาของผู้ติดตามการประมูลที่ต้องบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการประมูลไทย
รฟม. ประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มีผู้ซื้อเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชน (RFP) 10 ราย หลังจากปิดขาย RFP แล้ว มีเอกชนเพียงรายเดียวร้องขอให้เปลี่ยนเกณฑ์การคัดเลือกจากเดิมที่จะต้องพิจารณาความสามารถด้านเทคนิคก่อน หากสอบผ่านก็จะพิจารณาข้อเสนอผลตอบแทนให้แก่ รฟม. ใครให้มากที่สุดจะเป็นผู้ชนะการประมูล เป็นเกณฑ์ใหม่ที่จะพิจารณาความสามารถด้านเทคนิคพร้อมกับข้อเสนอผลตอบแทน ใครได้คะแนนรวมสูงสุดก็จะเป็นผู้ชนะการประมูล ซึ่งอาจทำให้ผู้เสนอผลตอบแทนสูงสุดไม่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะการประมูลก็ได้ ทำให้ รฟม.ไม่ได้รับผลตอบแทนสูงสุดที่ควรจะได้
เกณฑ์ใหม่ทำให้ประชาชนและประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุดจริงหรือ?
รฟม. อ้างว่าเกณฑ์ใหม่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติ กล่าวคือการคัดเลือกผู้ชนะการประมูลด้วยการพิจารณาความสามารถด้านเทคนิคพร้อมกับข้อเสนอผลตอบแทนให้แก่ รฟม. จะทำให้สามารถคัดเลือกผู้ชนะการประมูลที่มีความสามารถด้านเทคนิคสูง เนื่องจากโครงการนี้ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เพราะต้องก่อสร้างอุโมงค์ใต้พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์และอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา รฟม. ไม่ได้พิจารณาแค่เพียงข้อเสนอผลตอบแทนเท่านั้น
แต่ผมมีความเห็นว่าเกณฑ์ใหม่สู้เกณฑ์เดิมไม่ได้ เนื่องจากเกณฑ์ใหม่ไม่ได้กำหนดคะแนนขั้นต่ำด้านเทคนิคไว้ นั่นหมายความว่าผู้ที่ได้คะแนนด้านเทคนิคไม่ว่าจะต่ำเพียงใดก็จะได้รับการพิจารณา และอาจได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะถ้าเขาเสนอผลตอบแทนให้แก่ รฟม. สูงมาก เป็นผลให้ รฟม. ไม่ได้ผู้ชนะการประมูลที่มีความสามารถด้านเทคนิคสูงตามที่ รฟม. ต้องการ
นอกจากนี้ เกณฑ์ใหม่จะเปิดโอกาสให้กรรมการคัดเลือกช่วยเอกชนรายใดรายหนึ่งให้เป็นผู้ชนะก็ได้ กล่าวคือเมื่อกรรมการฯ เห็นข้อเสนอด้านเทคนิคพร้อมๆ กับข้อเสนอผลตอบแทน ทำให้รู้ว่าจะต้องให้คะแนนอย่างไรจึงจะทำให้เอกชนรายนั้นเป็นผู้ชนะ เช่น หากต้องการช่วยเอกชน A ซึ่งเสนอผลตอบแทนต่ำกว่า ให้ชนะเอกชน B ซึ่งเสนอผลตอบแทนสูงกว่า กรรมการฯ ก็อาจให้เอกชน A ได้คะแนนด้านเทคนิคสูงกว่าเอกชน B เพื่อทำให้เอกชน A ได้คะแนนรวมสูงกว่า ซึ่งจะได้รับเลือกให้เป็นผู้ชนะทั้ง ๆ ที่เสนอผลตอบแทนต่ำกว่า ทำให้ รฟม. ไม่ได้รับผลตอบแทนสูงสุดที่ควรจะได้
ต่างกับเกณฑ์เดิมที่ให้ความสำคัญกับความสามารถด้านเทคนิคเป็นอย่างมาก โดยจะพิจารณาความสามารถด้านเทคนิคก่อน ซึ่งจะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า 85% ถ้าได้น้อยกว่าก็ถือว่าสอบตก รฟม. จะไม่พิจารณาข้อเสนอผลตอบแทนต่อไป ทำให้ผู้ชนะการประมูลเป็นผู้ที่มีความสามารถด้านเทคนิคสูงสามารถทำการก่อสร้างในพื้นที่ใดก็ได้ และในขณะเดียวกัน ก็จะทำให้ รฟม. ได้ผู้ชนะการประมูลที่เสนอผลตอบแทนสูงที่สุดด้วย
สรุปได้ว่า เกณฑ์ใหม่จะไม่ทำให้ประชาชนและประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุด สู้เกณฑ์เดิมไม่ได้ รฟม. จึงต้องใช้เกณฑ์เดิมในการประมูลโครงการที่ต้องการผู้ชนะการประมูลที่มีความสามารถด้านเทคนิคสูง ดังเช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ผมขอย้ำว่าเกณฑ์เดิมมีความเหมาะสมกับโครงการของ รฟม. มากกว่าเกณฑ์ใหม่อย่างแน่นอน
คงเป็นเหตุผลนี้กระมังที่ทำให้ผู้แทนสำนักงบประมาณซึ่งร่วมเป็นกรรมการฯ “ยืนหนึ่ง” ค้านการใช้เกณฑ์ใหม่ตลอดมา
รฟม. เคยใช้เกณฑ์พิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคพร้อมกับข้อเสนอผลตอบแทนมาก่อน!
อันที่จริง รฟม. เคยใช้เกณฑ์พิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคพร้อมกับข้อเสนอผลตอบแทนมาก่อน แต่เป็นเวลานานกว่า 20 ปีแล้ว โดยใช้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ หลังจากนั้น รฟม. ไม่ใช้เกณฑ์นี้อีกเลย เพราะรู้ว่าเกณฑ์นี้ลดความสำคัญของข้อเสนอด้านเทคนิค ไม่เหมาะสมกับโครงการที่มีความซับซ้อน ดังนั้น ในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าต่อมา รฟม. จึงเลือกพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคก่อน หากสอบผ่านจึงจะพิจารณาข้อเสนอผลตอบแทน หากสอบตกก็จะไม่พิจารณาข้อเสนอผลตอบแทน ซึ่งถือว่าเป็นการให้ความสำคัญต่อข้อเสนอด้านเทคนิคอย่างแท้จริง ทำให้ได้ผู้ชนะการประมูลที่มีความสามารถด้านเทคนิคสูง และให้ผลตอบแทนแก่ รฟม.สูงที่สุดด้วย แต่อะไรทำให้ รฟม. ต้องกลับไปใช้เกณฑ์ที่ไม่เหมาะสมกับโครงการที่มีความซับซ้อนดังเช่นโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มอีก?
บีทีเอสฟ้องศาลปกครองกลาง
บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสเห็นว่าการเปลี่ยนเกณฑ์การประมูลทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใดรายหนึ่ง จึงฟ้องศาลปกครองกลางโดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนเกณฑ์ใหม่ หรือไม่ให้ รฟม. ใช้เกณฑ์ใหม่ และขอให้ศาลทุเลาการใช้เกณฑ์ใหม่ก่อนที่จะมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง หรือไม่ให้ รฟม. ใช้เกณฑ์ใหม่ในระหว่างที่รอการพิจารณาของศาล ในที่สุดศาลได้มีคำสั่งให้ทุเลาการใช้เกณฑ์ใหม่ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น โดยศาลได้ระบุไว้ในคำพิพากษาตอนหนึ่งว่า การเปลี่ยนเกณฑ์การประมูล “จึงเป็นคำสั่งที่น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมาย” รฟม. ไม่เห็นด้วย จึงเดินหน้าสู้ด้วยการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดโดยขอให้ศาลมีคำสั่งระงับคำสั่งทุเลาของศาลปกครองกลาง
รฟม. สู้ไม่สุดซอย
แต่ยังไม่ทันที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งลงมา รฟม. ได้ชิงล้มการประมูลไปก่อน น่าเสียดายที่ รฟม. สู้ไม่สุดซอย โดยอ้างว่าถ้าสู้ต่อไปจะทำให้เสียเวลานาน แต่ถ้าล้มประมูลจะเสียเวลาน้อยกว่า แต่ผมเห็นว่าถ้าสู้ให้สุดซอยก็จะทำให้รู้ว่าการที่ รฟม. เปลี่ยนเกณฑ์การประมูลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่? และเกณฑ์ใหม่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติจริงหรือไม่?
อันที่จริง ถ้า รฟม. ทนรอคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดต่อไปอีกสักหน่อย ซึ่งคาดว่าในอีกไม่นานศาลน่าจะมีคำสั่งลงมา และถ้าศาลมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลาง นั่นหมายความว่า รฟม. ไม่สามารถใช้เกณฑ์ใหม่ได้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ในกรณีศาลปกครองสูงสุดมีความเห็นเหมือนกับศาลปกครองกลางเช่นนี้ โอกาสที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่นคงยากมาก ดังนั้น รฟม. จึงสามารถเดินหน้าประมูลต่อไปโดยใช้เกณฑ์เดิมได้ ซึ่งสามารถประหยัดเวลาได้เมื่อเปรียบเทียบกับการล้มประมูลแล้วเปิดประมูลใหม่
แต่อย่างไรก็ตาม ถ้า รฟม. ไม่เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลก็จะไม่เสียเวลาเลย ใช่ไหม?
ข้อสงสัยและข้อสังเกตดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง



Cr : เพจ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์

สยบดราม่า!! 'ปาท่องโก๋'​ ขาลง!! >> 'การบินไทย'​ แจง!! เหตุภาพร้านไร้คนว่อนเน็ต​ เพราะพื้นที่ขายในห้างจำกัด พนักงานจึงต้องเตรียมกล่องวางเรียงไว้ล่วงหน้า​ ลดกระบวนการหน้างาน​ ช่วยลูกค้าไม่ต้องเสียเวลาในการเข้าคิวรอ

หลังเพจ "ผู้บริโภค" ได้เผยภาพเมนูปาท่องโก๋การบินไทย บรรจุใส่กล่อง ที่วางขายในห้างสรรพสินค้าชื่อดัง ในราคา 100 บาทพร้อมน้ำจิ้ม แต่กลับไม่มีใครต่อคิวซื้อแบบตอนช่วงแรกๆ​ จนของตั้งเหลืออยู่จำนวนมาก โดยผู้โพสต์ระบุว่า...

"แรก ๆ​ กระแสแรง ตอนนี้ไม่มีคิวเลย ที่ห้างสรรพสินค้า (100 บาท พร้อมน้ำจิ้มด้วยนะ) มีใครเคยกินแล้วบ้าง อร่อยไหม?" ขณะเดียวกันชาวเน็ตก็ได้มีการคอมเม้นต์ว่า อาจจะเป็นเพราะราคาสูงเกินไป

ล่าสุด​ “การบินไทย” ได้ออกมายืนยันว่าปาท่องโก๋ยังเป็นสินค้าขายดีเหมือนเดิม ลูกค้ายังให้การตอบรับสูง และตามจุดจำหน่ายแต่ละสาขาต่างๆ ก็ยังมีลูกค้าแน่นตามเป็นปกติ และแจงเกี่ยวกับภาพสื่อออนไลน์ที่ถูกโพสต์ก่อนหน้า​ จนทำให้เห็นว่าเหมือนไม่มีลูกค้าแล้วนั้น​ เป็นภาพกล่องปาท่องโก๋ที่เตรียมพร้อมเพื่อขายไว้ล่วงหน้าเท่านั้น

นางวรางคณา ลือโรจน์วงค์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายครัวการบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ปาท่องโก๋การบินไทยยังได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี นอกจากสาขาร้านปัจจุบันที่ยังเปิดจำหน่ายปกติและขยายเวลาจำหน่ายแล้ว

ฝ่ายครัวการบิน การบินไทย ยังได้นำไปทอดจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างทั่วถึง ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม 2564 เช่น ท็อปส์ซุปเปอร์มาร์เก็ต ในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพระราม 3 เซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต เซ็นทรัลลาดพร้าว เซ็นทรัลรัตนาธิเบศร์ โรบินสันฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต โรบินสันแฟชั่นไอร์แลนด์ ท็อปส์ซุปเปอร์มาร์เก็ต สุขาภิบาล 3 และเปิดจุดขายเพิ่มตามสาขาต่างจังหวัดทั้งเชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ รวมถึงเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่าน delivery services ที่โทร. 0-2356-1666

ส่วนกรณีที่มีภาพกล่องปาท่องโก๋การบินไทยวางตั้งเหลืออยู่จำนวนมากที่เผยแพร่ในสื่อออนไลน์นั้น เนื่องจากพื้นที่จำหน่ายปาท่องโก๋ในห้างสรรพสินค้ามีจำกัด พนักงานจึงเตรียมกล่องไว้ล่วงหน้า​เพื่อความรวดเร็ว​ ลูกค้าจะได้ไม่ต้องมาเสียเวลาในการเข้าคิวรอ

ทั้งนี้ ปาท่องโก๋การบินไทยยังได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และลูกค้ายังให้ความสนใจเหมือนเดิม


ที่มา: https://mgronline.com/business/detail/9640000011835

‘กรอ.พาณิชย์’ ไฟเขียว เรือใหญ่ ขนาด 400 เมตร เทียบท่าแหลมฉบัง รับสินค้าไทยส่งออกได้ สู่ประเทศปลายทาง ไม่ต้องถ่ายสินค้าลงเรือใหญ่ที่สิงคโปร์ โดยใช้เวลาขออนุญาต 1 วัน และมีอายุ 2 ปี คาดส่งออกไทยปีนี้ขยายตัวได้ถึง 4%

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและะเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ครั้งที่ 1/2564 ว่า ที่ประชุมได้มีการติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาอุปสรรคการส่งออก โดยในเรื่องการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่เป็นปัญหากระทบไปทั่วโลก สามารถแก้ไขปัญหาได้แล้ว โดยเรื่องที่ภาคเอกชนเรียกร้องให้เปิดโอกาสเรือขนาด 400 เมตร

ซึ่งเป็นเรือขนาดใหญ่ และมีสายการเดินเรืออยู่ประมาณ 6 สายการเดินเรือ เข้ามาเทียบท่าที่แหลมฉบังได้โดยไม่ต้องขออนุญาต หรือไม่ต้องอนุญาตโดยใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ ภาคเอกชน ได้หารือร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะอนุญาตให้เรือที่มีขนาดใหญ่ 400 เมตร สามารถเข้ามาเทียบท่าและรับสินค้าไทยเพื่อการส่งออกได้ โดยการขออนุญาตใช้เวลาแค่ 1 วัน และใบอนุญาตจะมีอายุ 2 ปี จะช่วยให้การส่งออกสินค้าสามารถขึ้นเรือใหญ่และไปสู่ประเทศปลายทางได้เลย จากที่จะต้องไปถ่ายลงเรือใหญ่ที่สิงคโปร์หรือท่าอื่นๆ ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่จากนี้จะเป็นการลดต้นทุนไปในตัว

ส่วนการแก้ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ สำหรับสินค้าที่ไม่จำเป็นต้องส่งออกโดยการใช้ตู้ จะหลีกเลี่ยงการใช้ตู้ โดยจะใช้เรือที่ขนสินค้าส่งออกแทน เช่น ผลไม้ มะพร้าว พืชเกษตรชนิดอื่น และไม้ยางพารา เป็นต้น โดยมีการเตรียมเรือไว้จำนวนหนึ่ง จะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ก.พ.2564

เพื่อลดการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ และจะส่งเสริมให้มีการนำให้เรือบรรทุกสินค้านำตู้เปล่าเข้ามา โดยมีมาตรการจูงใจ เช่น ลดค่าธรรมเนียมนำเข้าตู้เปล่า ซึ่งการท่าเรือฯ จะเป็นผู้ดำเนินการต่อไป โดยจะเป็นผู้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบ คาดว่าจากเร็วที่สุดอาจเป็นวันที่ 9 ก.พ.2564

สำหรับสินค้าที่ส่งออกไปยังจีน จะเน้นการขนส่งทางรถหรือทางบกให้มากขึ้น โดยเร่งเจรจาการขนส่งผ่านด่านของไทยไปสปป.ลาว เวียดนาม และจีน ให้ได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความจำเป็นในการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ลงได้

นอกจากนี้ จะเร่งรัดการเปิดด่านชายแดนเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีด่านชายแดนทั้งหมด 97 ด่าน เปิดแล้ว 39 ด่าน ล่าสุดจากการเจรจาของกระทรวงพาณิชย์สามารถเปิดได้อีก 1 ด่าน คือ ด่านถาวรที่บึงกาฬ รวมเป็น 40 ด่าน และตั้งเป้าจะเร่งรัดเปิดอีก 3 ด่าน คือ 1.) ด่านป่าแซง จ.อุบลราชธานี 2.) ด่านเชียงคาน จ.เลย 3.) ด่านท่าเรือหายโศก จ.หนองคาย โดยจะนำเข้าหารือในที่ประชุม ครม. เพื่อให้ท่านนายกรัฐมนตรีสั่งการเป็นนโยบาย เพื่อเร่งรัดการส่งออกสินค้าได้สะดวกยิ่งขึ้นต่อไป

ส่วนปัญหาการส่งออกรถยนต์ไปเวียดนาม ซึ่งเดิมเคยติดขัดในเรื่องกฎระเบียบในการนำรถตัวอย่างไปตรวจสอบแทบทุกล็อต ต่อไปนี้ปัญหายุติแล้ว หลังจากที่อาเซียนได้ลงนามความตกลงยอมรับร่วมสินค้ายานยนต์ (MRA) โดยได้ลงนามครบทั้ง 10 ประเทศแล้ว เหลือขั้นตอนการให้สัตยาบัน โดยไทยจะเร่งนำเข้าสภาผู้แทนราษฎรให้เร็วที่สุด คาดว่าจะทันในสมัยประชุมนี้ หากบังคับใช้ จะส่งผลต่อการส่งออกรถยนต์ไปเวียดนามได้ง่ายขึ้น และปัญหาการขนส่งรถยนต์จากโรงงานไปท่าเรือเพื่อส่งออก ที่เดิมติดปัญหารถไม่มีป้ายทะเบียน ทำให้ถูกเจ้าหน้าที่จับกุม ล่าสุดหลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อยุติว่าจะไม่มีการจับกุม เพราะเป็นข้อยกเว้นตามกฎหมายที่สามารถทำได้

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้ติดตามสถานการณ์ในเมียนมา พบว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบที่มีนัยสำคัญต่อภาคการค้าและภาคธุรกิจของไทย ยังดำเนินธุรกรรมได้ตามปกติ การค้าขายระหว่างกันยังสามารถดำเนินการได้ การค้าชายแดนก็ไม่ได้รับผลกระทบ โดยด่านสำคัญ 3 ด่าน ที่เป็นด่านถาวรในการส่งออกสินค้าของไทยทั้งด่านแม่สาย แม่สอด หรือระนอง สามารถส่งออกสินค้าได้ตามปกติ

และด่านสังขลาบุรี ที่กาญจนบุรี ที่ปิดไป คาดว่าจะสามารถเปิดด่านได้ในเร็ววันนี้ และกระทรวงพาณิชย์ยังได้สั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ที่เมียนมา ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และรายงานกลับมาทุกวัน และจะอัพเดตสถานการณ์ในเมียนมาที่เกี่ยวข้องกับการค้า การลงทุน การทำธุรกิจ ให้ทราบผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์ทุกวัน

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังได้มีการประเมินสถานการณ์ส่งออกในปี 2564 โดยภาคเอกประเมินว่าการส่งออกในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5-4% ส่วนกระทรวงพาณิชย์ประเมินว่ามีโอกาสที่การส่งออกจะขยายตัวได้ถึง 4% เพราะการส่งออกของไทยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้วในปี 2563 กำลงจะฟื้นตัวดีขึ้นในปี 2564


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top