Friday, 9 May 2025
ECONBIZ NEWS

'บางจาก' แทงสวน!! กระแสพลังงานยุคใหม่ เลี่ยมทอง 'ปิโตรเลียม-SAF' แง้ม!! เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน พาอนาคต 'รายได้-กำไร' พุ่ง

ในช่วงบ่ายของวันที่ (2 ก.ย. 67) ที่ผ่านมา กลุ่มบางจากได้จัดแถลงกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทบางจาก 'Bangchak Group Way Forward to 2030' นำโดย นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้นำแต่ละกลุ่มธุรกิจของเครือบางจาก 

หลักใหญ่ใจความของการแถลงหนนี้ มุ่งเน้นไปที่เป้าหมายในปี 2573 ของกลุ่มบางจากที่ตั้งเป้าจะต้องมีตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่แท้จริงของธุรกิจ ซึ่งไม่รวมค่าดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในระดับทะลุ 1 แสนล้านบาทให้ได้ (เป้ารายได้รวมทะลุ 1 ล้านล้านบาท)

แผนการสู่เป้าหมายระดับนี้จะต้องทำอย่างไร ?

>> การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
หากพิจารณาจากแผนการลงทุนระหว่างปี 2568-2573 ที่ปักไว้ที่ 1.2 แสนล้านบาท จะเป็นเม็ดเงินเพื่อขยายการลงทุนในทุก ๆ กลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ โดยงบลงทุนจะมาจากกระแสเงินสดในบริษัทบวกกับการกู้เงินเข้ามาเสริมศักยภาพ

เรื่องนี้น่าสนใจ เพราะในขณะที่บริษัทพลังงานอื่น ๆ เริ่มวางแผนการลงทุนสเตปต่อไป ด้วยการ 'ลด' การพึ่งพาของทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะ 'น้ำมัน' แต่ 'บางจาก' กลับสวนกระแสผ่านความเชื่อที่ว่า..

“ทรัพยากรธรรมชาติ ยังคงมีความจำเป็นต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ จะต้องมีการพัฒนาผ่านการเพิ่มศักยภาพของทรัพยากรเดิม ให้สะอาดขึ้น ควบคู่กับประสิทธิภาพที่สูงขึ้น"

เมื่อปักธงเช่นนี้ บางจาก จึงเลือกขยายการลงทุนในธุรกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ E&P (Exploration and Production) โดยปัจจุบัน OKEA ผู้ผลิตปิโตรเลียมในนอร์เวย์ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบางจาก สร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ ถึง 2.8 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ยังเตรียมขยายการลงทุนในแหล่งปิโตรเลียมแห่งอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยอาศัยจุดแข็งผ่านการนำองค์ความรู้จาก OKEA มาต่อยอดความสำเร็จ โดยเฉพาะการยืดอายุแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นความเชี่ยวชาญหลัก เพื่อการ 'แก้มือ' จากที่เคยลงทุนล้มเหลวกับแหล่งทรัพยากรธรรมชาติในประเทศอินโดนีเซียมาก่อน 

ทั้งนี้กลุ่มบางจากตั้งเป้ากับแผนการในกลุ่มธุรกิจ E&P โดยจะต้องสร้างกำลังการผลิตปิโตรเลียมทั้งจาก OKEA และกลุ่มบริษัทที่จะไปลงทุนในภูมิภาคอาเซียนนี้ให้ได้ไม่น้อยกว่า 100,000 บาร์เรลต่อวัน 

>> เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน 
อีกหนึ่งธุรกิจบางจากปักธง คือ การผลิต SAF (Sustainable Aviation Fuel) หรือ 'เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน' เพราะมองว่าในอนาคตข้างหน้า ธุรกิจการบินจะยังมีความต้องการใช้พลังงานน้ำมันอย่างต่อเนื่องต่อไป 

"ขนาดการพกพาวเวอร์แบงก์ขึ้นเครื่องบิน ยังเป็นเรื่องต้องห้าม ดังนั้นเครื่องบินที่ใช้พลังงานแบตเตอรี ก็น่าจะยังต้องใช้เวลาเดินทางอีกยาวไกล" คุณชัยวัฒน์ เปรียบเทียบให้เข้าใจ

คุณชัยวัฒน์ เผยอีกว่า ในอนาคต SAF จะมีความจำเป็นต่ออุตสาหกรรมการบิน เนื่องจากมีคุณสมบัติที่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 80% เมื่อเทียบกับน้ำมันอากาศยานทั่วไป สอดคล้องกับเทรนด์โลก ที่ปัจจุบันสหภาพยุโรป (EU) กำหนดให้เครื่องบินที่จะบินเข้าไปในพื้นที่จะต้องมีการผสม SAF เข้าไปในเชื้อเพลิงไม่น้อยกว่า 2% และในปี 2,593 ทาง EU กำหนดให้ต้องมีส่วนผสมของ SAF ไม่น้อยกว่า 65%

"ปัจจุบันบางจากได้มีการลงทุนสร้างหน่วยผลิตน้ำมันอากาศยานยั่งยืน (SAF) ในพื้นที่ 8.9 ไร่ ภายในพื้นที่โรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนง ภายใต้งบลงทุน 8.5 พันล้านบาท มีกำลังการผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน" คุณชัยวัฒน์ เสริม

ด้านนายธรรมรัตน์ ประยูรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบางจาก กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน ให้ข้อมูลถึงความได้เปรียบของบริษัทฯ จากการที่มีโรงกลั่นน้ำมันหลักเป็นของตนเอง จะทำต้นทุนการผลิต SAF ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยได้ถึง 3 เท่า 

โดยเบื้องต้นคาดว่า หน่วยการผลิตดังกล่าวจะแล้วเสร็จในวันที่ 31 มีนาคม 2568 ซึ่งได้มีการเจรจาซื้อขายไปแล้วประมาณ 30-40% ของกำลังการผลิต 

"ปัจจุบันทางกลุ่มบางจากอยู่ระหว่างการรวบรวมน้ำมันใช้แล้ว เพื่อเป็นสต๊อกในการผลิต SAF โดยสามารถรวบรวมได้ประมาณวันละ 5 แสนลิตรจากอัตราการใช้น้ำมันพืชของไทยที่มีการใช้วันละ 3 ล้านลิตร" คุณชัยวัฒน์เสริม พร้อมทั้งยังเปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า "ในอนาคตจะต้องมีการจัดหาวัตถุดิบอย่างน้ำมันใช้แล้วในประเทศข้างเคียงด้วย"

บางจาก เผยอีกว่า สำหรับภาพรวมในไตรมาสแรกของปี 2567 โดยกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน รายงานว่ามีปริมาณการใช้น้ำมันอากาศยานอยู่ที่เฉลี่ย 16.7 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งยังไม่กลับเข้าสู่ปริมาณการใช้งานปกติแบบช่วงก่อนโควิดที่มีการใช้น้ำมันอากาศยานในไทยเฉลี่ย 20 ล้านลิตรต่อวัน และทาง บางจาก คาดว่า SAF ที่ผลิตได้จะเข้าไปเสริมในช่องว่างของปริมาณการใช้น้ำมันอากาศยานดังกล่าว 

สำหรับกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ นอกจาก E&P และ SAF ก็ยังมีอุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่บางจากมีการลงทุนผ่าน บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG ซึ่งมีการลงทุนโรงไฟฟ้าใน 7 ประเทศ มีกำลังการผลิต 1,183.2 MW และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 776.2 MW

โดยในกลุ่มธุรกิจส่วนนี้ บางจากได้มีการปรับกลยุทธ์ เพื่อดำเนินการพัฒนาโครงการให้แล้วเสร็จ จากนั้นจะนำระดมทุนสู่ตลาด เพื่อนำกระแสเงินสดมาลงทุนเพิ่มในพื้นที่อื่น ๆ อีก โดย BCPG ตั้งเป้าว่าจะเข้าสู่ SET50 ในปี 2573 

นอกจากในกลุ่มอุตสาหกรรมดั้งเดิมของบางจากแล้ว อีกหนึ่งธุรกิจของบางจากที่มีความน่าสนใจ คือ ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง (Contract Development and Manufacturing Organization - CDMO) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานแห่งแรกของภูมิภาคอาเซียน โดยคาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องผลิตได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 

โดยในช่วงแรกธุรกิจนี้ จะมีกำลังการผลิต 200,000 ลิตรต่อปี ซึ่งระยะแรกจะผลิตเอนไซม์ และขยายการผลิตไปยังผลิตภัณฑ์ด้านชีววิทยาสังเคราะห์ (Synbio) ที่ล้ำสมัยอื่น ๆ ต่อไป โดยมีการตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตเป็น 1 ล้านลิตรต่อปีในปี 2571

‘พีระพันธุ์’ ชี้!! ปัญหาด้านพลังงาน (น้ำมัน) หมักหมมมามากกว่าก่อนเกิดกระทรวงฯ ไม่ต่ำกว่า 40-50 ปี

🔎ตามติด 1 ปี ‘พีระพันธุ์’ ใต้หมวกเจ้ากระทรวงพลังงาน
📔อ่านบทสัมภาษณ์เต็มได้ที่ : https://thestatestimes.com/post/2024082922 

‘พีระพันธุ์’ จ่อออกกฎหมายลดความยุ่งยากติดตั้ง-ขออนุญาต ‘โซลาร์รูฟท็อป’ หนุน ‘เงิน-ลดภาษี’ ช่วยคนไทยหลุดพ้นภาระค่าไฟหลักที่ต้องปรับทุก 4 เดือน

เมื่อวานนี้ (2 ก.ย. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานเตรียมออกกฎหมายฉบับใหม่เพื่อที่จะกํากับดูแลให้การติดตั้งระบบโซลาร์บนหลังคาบ้าน เพื่อติดตั้งได้สะดวกและง่ายขึ้น และมีมาตรการสนับสนุนเงินทุนในการติดตั้ง การหักค่าใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษี  

ทั้งนี้ คาดว่าจะเสร็จพร้อมกับกฎหมายน้ำมันภายในปลายปี 2567 นี้ เพื่อมีส่วนช่วยให้ประชาชนหลุดพ้นจากภาระค่าไฟหลักที่ต้องปรับทุก 4 เดือน

รวมถึงเตรียมสนับสนุนการประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีและอุปกรณ์สำหรับการติดตั้งระบบ Solar Rooftop แบตเตอรี่สำหรับกักเก็บพลังงานไว้ใช้ในเวลากลางคืนในราคาถูก

ซึ่งอยู่ระหว่างการทดลอง เบื้องต้นก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยระบบดังกล่าวนี้สามารถใช้กับเครื่องแอร์ได้ 3 เครื่อง ตู้เย็น 1 เครื่อง ประกอบด้วยแผงโซลาร์ เครื่องอินเวอร์เตอร์ และแบตเตอรี่ ทั้งหมดจะอยู่ในวงเงินประมาณ 30,000 บาท

โดยจะเป็นราคาต้นทุนการผลิตไม่รวมค่าบริหารจัดการ สามารถใช้ไฟได้ทั้งกลางวันและกลางคืน 

“เชื่อว่าในรอบปีที่ 2 จะมีผลิตภัณฑ์เหล่านี้ออกมาจำหน่ายในราคาถูก ซึ่งจะลดภาระให้ประชาชนหลุดพ้นจากปัญหาค่าไฟแพงได้"

นายพีระพันธุ์ กล่าวอีกว่า การดำเนินการดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงค่าไฟที่ถูกลงโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้จากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา และขจัดปัญหาความยุ่งยากในการติดตั้งและการขออนุญาต

'กรมเจ้าท่า' ลุย 'ท่าเรือสำราญ' 3 จังหวัด หวังดันรายได้ท่องเที่ยวทางทะเล ตั้งเป้าเป็นศูนย์รับเรือสำราญใหญ่ที่สุดในโลก ชง 'เกาะสมุย' พิกัดแรก

เมื่อวันที่ (1 ก.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ‘กรมเจ้าท่า’ ได้เริ่มว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ และได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2563 - 2566 ภายใต้แผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว วงเงินรวม 156.15 ล้านบาท เนื่องจากโอกาสทางการเติบโตของการท่องเที่ยวทางทะเลผ่านเรือสำราญขนาดใหญ่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

โดยแผนพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ มีจำนวน 3 โครงการ ได้แก่

1. โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

โครงการนี้จะใช้พื้นที่ในการพัฒนาประมาณ 47 ไร่ แยกเป็นพื้นที่บนฝั่ง 15 ไร่ และพื้นที่นอกชายฝั่ง 32 ไร่ รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 12,172 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุน 6,414.41 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา 5,757.19 ล้านบาท รูปแบบการลงทุนในลักษณะ PPP Net Cost โดยให้เอกชนเป็นผู้ร่วมลงทุนในการก่อสร้างและการดำเนินงานทั้งหมด โดยรัฐจะชำระค่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคืนให้ในระยะเวลา 10 ปี

โดยโครงการนี้จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2568 จนถึงปี 2604 โดยเริ่มก่อสร้างในปี 2572 และจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี  2575 ซึ่งมีระยะเวลาการให้บริการยาวนานถึง 30 ปี คาดการณ์ว่าหลังจากเปิดให้บริการจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ตั้งแต่ 200,000 ถึง 400,000 คนต่อปี และรองรับเรือสำราญได้ 240 เที่ยวต่อปี

จากการศึกษาโครงการฯ คาดว่าโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ที่เกาะสมุยจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจตลอดระยะเวลา 30 ปี ประมาณ 46,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์สูงกว่า 15%

สถานะโครงการปัจจุบันกรมเจ้าท่าได้ส่งรายงานผลการศึกษา ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาแล้ว คาดว่าจะสามารถนำโครงการเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ก่อนสิ้นปี 2567 และจะเริ่มก่อสร้างในปี 2572 เมื่อโครงการนี้เสร็จสิ้นจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพการท่องเที่ยวของประเทศไทยในระดับโลก ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

2. โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต เพื่อรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal)

โครงการนี้จะปรับปรุงท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตให้สามารถรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ บริเวณชายฝั่งอันดามัน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายปี 2567 โดยจะดำเนินการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ด้วยการขยายความยาวหน้าท่าเทียบเรือ ขุดลอกความลึกของร่องน้ำเท่ากับ -10.5 เมตร จากระดับน้ำลงต่ำสุด หรือ -12.8 เมตร เทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง

นอกจากนี้ จะขุดลอกเพื่อขยายแอ่งกลับลำเรือให้มีความเหมาะสม ก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นและติดตั้งไฟหัวเขื่อน และก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารและเครื่องมืออุปกรณ์ที่เป็นมาตรฐานของท่าเทียบเรือสำราญที่เป็นท่าเรือต้นทาง (Home Port) โดยเมื่อท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตได้รับการปรับปรุงตามแผนดังกล่าว จะทำให้ท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตมีศักยภาพเป็นท่าเรือแบบ Hybrid ที่เป็นทั้ง Home Port รองรับเรือ Cruise ขนาดกลางถึงเล็ก และเป็นท่าเรือแวะพัก (Port of call) รองรับเรือ Cruise ขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียที่บรรทุกผู้โดยสารได้ถึง 4,200 - 4,900 คน

3. โครงการพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) บริเวณอ่าวไทยตอนบน บริเวณแหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี

โครงการจะพัฒนาบริเวณแหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี โดยท่าเรือเป็นลักษณะผสมผสาน (Hybrid) โดยจะเป็นท่าเรือต้นทาง (Home Port) สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 1,500 คนต่อชั่วโมง และท่าเรือแวะพัก (Port of Call) จะสามารถรองรับผู้โดยสาร จำนวน 3,500 - 4,000 คนต่อชั่วโมง

อีกทั้งท่าเรือนี้จะพัฒนาให้สามารถรองรับเรือสำราญที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ รองรับเรือสำราญเข้าเทียบท่าได้พร้อมกัน 2 ลำ ความยาวท่าเทียบเรือ 300 เมตร พร้อมก่อสร้างอาคารพักผู้โดยสาร อีกทั้งจะพัฒนาที่จอดรถยนต์ เพื่อรองรับการเชื่อมต่อทางบกไปยังแหล่งท่องเที่ยว พัฒนาที่จอดเรือโดยสาร และเรือเร็ว เพื่อเชื่อมต่อการท่องเที่ยวไปยังเกาะแก่งต่าง ๆ

สำหรับผลการศึกษาเบื้องต้น ประเมินวงเงินลงทุนอยู่ที่ 7,412 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าลงทุนก่อสร้าง 5,934 ล้านบาท และค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) 1,478 ล้านบาท โดยกรมเจ้าท่าจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost สัญญาสัมปทาน 30 ปี คาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลภายในปี 2568 ก่อนดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2569 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2572

'ดร.กอบศักดิ์' เผยข่าวดี MIT ตั้งสถาบันสอนบริหารธุรกิจในไทย เชื่อ!! ช่วยดันไทยก้าวสู่สังคมแห่งเทคโนโลยีอีกขั้นได้เร็วขึ้น

เมื่อวานนี้ (2 ก.ย.67) ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

การตัดสินใจก่อตั้งสถาบัน MIT แห่งที่สองของโลกที่ประเทศไทยนั้นจะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสในหลาย ๆ ด้าน โดยจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้และการวิจัยทางด้านนวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ ๆ กับนักวิจัยของไทย บริษัทไทย มหาวิทยาลัยไทย หน่วยงานภาครัฐไทย และในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้ไทยและอาเซียน ตอบโจทย์สำคัญ ทำให้เราสามารถก้าวขึ้นไปบน Technological Ladder หรือก้าวขั้นบันไดของเทคโนโลยีได้เร็วยิ่งขึ้น

นับเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย เมื่อสถาบันบริหารธุรกิจเอ็มไอที สโลน (MIT Sloan School of Management) ซึ่งเป็นสถาบันสอนบริหารธุรกิจระดับโลกได้ตัดสินใจเปิดสถาบันแห่งที่สองนอกสหรัฐอเมริกา ที่ใจกลางกรุงเทพมหานครฯ ประเทศไทย ภายใต้ชื่อ ‘สถาบันบริหารธุรกิจเอ็มไอที สโลน แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (MIT Sloan Office for Southeast Asian Nations – MSAO)’ หลังจากที่ได้ถูกก่อตั้งขึ้นที่ประเทศชิลี สำหรับภูมิภาคลาตินอเมริกา เมื่อปี 2556 

โดย สถาบัน MIT ที่ก่อตั้งขึ้นในกรุงเทพฯ นั้นจะเริ่มเปิดดำเนินการในช่วงปลายเดือนตุลาคม ปี 67 ที่กำลังจะมาถึง โดยจะเป็นการเปิดตัวโดยจัดสัมมนาเรื่อง ‘Beyond Years : the Future of Longevity’ รวมทั้งมีกิจกรรมที่น่าสนใจอื่น ๆ อาทิเช่น การแสดงเทคโนโลยีใหม่, Chimate Change, เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI), การทำธุรกิจในอนาคต และโอกาสทางด้านธุรกิจอีกมากมาย

'ต่างชาติ' วิเคราะห์!! 'กาสิโนไทย' จะเป็นคู่แข่งรายใหญ่สุดของ 'มาเก๊า-สิงคโปร์' ชี้!! ภายในสิ้นทศวรรษ 2030 อาจโตแซงสิงคโปร์ ทั้งในแง่ 'รายได้-ความนิยม'

(3 ก.ย. 67) สำนักข่าว CNBC (ซีเอ็นบีซี) รายงานว่า ‘รัฐบาลไทย’ กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติเข้าประเทศ และกระตุ้นการใช้จ่ายในการท่องเที่ยว ด้วยการออกมาตรการและนโยบายมากมาย เช่น การยกเว้นวีซ่า และยังมีอีกหนึ่งความพยายามในการดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ตกเป็นข้อถกเถียงอย่างมากคือ การสร้าง ‘เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์’ (Entertainment Complex) หรือ ‘บ่อนกาสิโนเสรี’ เนื่องจากนักวิชาการบางส่วนกังวลว่า ‘กาสิโน’ อาจไม่ได้ช่วยหนุนเศรษฐกิจในระยะยาว

จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ ‘ร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. ....’ เมื่อเดือน ส.ค. พบ คนไทยมากกว่า 50% ไม่เห็นด้วยกับกาสิโนถูกกฎหมาย และอีก 30% เห็นด้วย และที่เหลือยังตัดสินใจไม่ได้ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายมองว่ายังมีข้อกังวลและผลกระทบทางเศรษฐกิจหลายประการ

อย่างไรก็ตาม ในมุมของผู้สังเกตการณ์อุตสาหกรรมกาสิโนต่างชาติและผู้เชี่ยวชาญ มองว่า กาสิโนอาจสร้างรายได้ให้กับไทยได้มาก หนุนให้กาสิโนเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวแห่งใหม่ และประเทศไทยอาจกลายเป็นคู่แข่งรายใหญ่ที่สุดของ ‘มาเก๊า’ และ ‘สิงคโปร์’ ภายในสิ้นทศวรรษ 2030

ย้อนกลับไปเมื่อเดือน มิ.ย. เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีไทยสั่งให้มีการร่างกฎหมายเพื่อทำให้ ‘เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์’ ถูกกฎหมายในไทย โดยซีเอ็นบีซี ระบุ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในการท่องเที่ยว เพิ่มการจ้างงาน และฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง และแม้ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของไทยแทนที่ ‘เศรษฐา’ แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะยังคงดำเนินการต่อไป

หยิน เชา หยาง นักวิเคราะห์จากเมย์แบงก์ อินเวสเมนต์ แบงก์ บอกว่า “สถานการณ์การเมืองไทยไม่แน่นอน แต่ไม่ได้ทำให้แผนการสร้างกาสิโนถูกปัดตก” และผลวิจัยจากเมย์แบงก์ พบว่า หากร่างกฎหมายนี้ผ่าน กาสิโนของไทยอาจสร้างรายได้มากถึง 187,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

>>กาสิโนดึงดูดนักท่องเที่ยว

เบน ลี หุ้นส่วนผู้จัดการ IGamiX Management and Consulting กล่าวว่า “ไทยได้เห็นแล้วว่าการสร้างกาสิโนส่งผลอย่างไรต่อสิงคโปร์ และเห็นอำนาจของเงินพนันในมาเก๊า ถ้าไทยทำให้มันถูกกฎหมาย อาจหนุนให้กาสิโนกลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว”

ซีเอ็นบีซีระบุ การท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่การท่องเที่ยวไทยยังคงเติบโตชะลอตัว นักท่องเที่ยวที่มาเยือนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 และแนวโน้มการเติบโตอาจไม่ดีขึ้น จนกว่านักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาท่องเที่ยวได้เต็มที่

ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนราว 28 ล้านคนในปี 2566 ซึ่งยังคงห่างไกลจากยอดนักท่องเที่ยวที่มาเยือนไทยเมื่อปี 2562 ที่ระดับ 40 ล้านคน

“ประเทศไทยเป็นยักษ์ใหญ่ด้านการท่องเที่ยว เป็นหนึ่งในตลาดท่องเที่ยวของภูมิภาคที่ใคร ๆ ก็กลัว แต่ประเทศยังคงประสบกับปัญหาฟื้นเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดโควิด-19” ลีกล่าว

แกรี โบเวอร์แมน ผู้อำนวยการฝ่ายข้อมูลเชิงลึกด้านการท่องเที่ยวและลูกค้า จากบริษัทเช็ก-อิน เอเชีย กล่าวว่า “การท่องเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการแข่งขันสูง และหลายประเทศในภูมิภาคพยายามหาวิธีวางให้การท่องเที่ยวเป็นเสาหลักของการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ” 

อย่างไรก็ดี โบเวอร์แมนมองว่า เมื่อกาสิโนถูกกฎหมายจะทำให้ไทยมีสถานะที่แข็งแกร่งมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจท่องเที่ยวของไทยมีนักท่องเที่ยวมาเยือนจำนวนมาก และภาคส่วนนี้พร้อมขยายตัวได้อีก

>>ทิศทางกาสิโนไทย
คำถามส่วนใหญ่จากนักสังเกตการณ์อุตสาหกรรมกาสิโน คือ ประเทศไทยจะสร้างกาสิโนในจังหวัดใด แม้รัฐบาลยังไม่เปิดเผยจังหวัดเป้าหมายอย่างเป็นทางการ แต่นักวิเคราะห์คาดว่า ไทยอาจจะไม่ตั้งกาสิโนใจกลางกรุงเทพมหานคร

“กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่พัฒนาแล้ว และไม่มีที่ให้พัฒนามากกว่านี้ ผมไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่ายังมีที่ดินว่างในกรุงเทพฯ" หยิน จากเมย์แบงก์กล่าว และว่า กาสิโนอาจสร้างในพื้นที่ที่มีประชากรน้อย เช่น ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทยอย่าง ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่อื่น ๆ ในไทยที่เป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ และพัทยา ที่คาดว่าอาจเป็นที่ตั้งของกาสิโนได้เช่นกัน

ด้าน ‘อัลแลน เซแมน’ ประธานกรรมการบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ‘หลานไกวฟง กรุ๊ป’ เผยกับซีเอ็นบีซีว่า โมเดลกาสิโนไทยไม่เหมือนกับโมเดลของมาเก๊า ซึ่งเป็นเมืองที่มีคลัสเตอร์กาสิโนอยู่รวมกันจำนวนมากเหมือนกับลาสเวกัส และตนไม่เชื่อว่า กาสิโนไทยจะประสบความสำเร็จในอนาคต

เซแมนเตือนว่า “หลายรัฐบาลชอบสร้างกาสิโนในพื้นที่ด้อยพัฒนา เพราะมองว่าจะช่วยให้เกิดการพัฒนา แต่หากคุณมีกาสิโนเพียงแห่งเดียวในเมืองที่พัฒนาแล้ว ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเช่นกัน”

ขณะที่โบเวอร์แมนจากเช็ก-อิน เอเชีย มองว่า ไทยมีแนวโน้มทำตามโมเดลของสิงคโปร์ โดยการสร้างกาสิโนพร้อมรีสอร์ตที่มีกิจกรรมสันทนาการเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่ไม่ใช่นักพนัน

“ที่มารีนาเบย์แซนด์ มีทั้งบาร์สุดอลังการชั้นบน มีสระว่ายน้ำ โรงแรม พิพิธภัณฑ์ ร้านอาหาร คนหนุ่มสาวที่ไม่ได้มาเล่นพนันก็สามารถสนุกไปกับบริการในส่วนนี้ได้”

ซีเอ็นบีซีอ้างอิงรายงานร่างกฎหมายเอ็นเตอร์แทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ระบุว่า ประชาชนคนไทยที่ต้องการเข้ากาสิโนในประเทศ ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 5,000 บาท ส่วนต่างชาติอาจได้เข้าฟรี ซึ่งซีเอ็นบีซีเผยว่า โมเดลนี้มีความคล้ายกับกาสิโนในสิงคโปร์ที่คนท้องถิ่นต้องจ่ายเงินเข้ากาสิโน 150 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 4,000 บาท)

นอกจากนี้ กาสิโนของไทยยังต้องได้รับใบอนุญาตดำเนินงานอย่างถูกกฎหมายซึ่งรัฐบาลไทยอนุญาตดำเนินธุรกิจนานสุดที่ 30 ปี และมีเงื่อนไขผู้ให้บริการต้องจ่ายเงิน 5,000 ล้านบาท สำหรับเปิดกาสิโนครั้งแรก และจ่ายรายปีอีก 1,000 ล้านบาท

โบเวอร์แมนย้ำว่า รัฐบาลไทยอาจกำหนดให้ผู้ประกอบการสหรัฐฯ ที่ต้องการลงทุนอุตสาหกรรมกาสิโนในไทย ต้องทำงานร่วมกับบริษัทไทยด้วย เพื่อให้บริษัทในท้องถิ่นมีส่วนร่วมและได้ประโยชน์

>>กาสิโนไทยแซงหน้าสิงคโปร์?

แม้ยังไม่ชัดเจนว่าเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ของไทยจะเกิดขึ้นจริงไม่ แต่ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกาสิโนหลายคนมีความคิดเห็นในทิศทางเดียวกันว่า หากไทยสร้างกาสิโนได้สำเร็จ 5 - 8 แห่งทั่วประเทศ ไทยอาจแซงหน้าตลาดกาสิโนของสิงคโปร์ได้ ในแง่ของความนิยมและรายได้ของกาสิโน แต่กาสิโนของมาเก๊าจะยังคงเป็นแหล่งกาสิโนเบอร์หนึ่งต่อไป

จากรายงานผลประกอบการของผู้ประกอบการแต่ละรายในมาเก๊า แสดงให้เห็นว่า รายได้จากกาสิโนในเมืองนี้มีมูลค่า 114,000 ล้านปาตากามาเก๊า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ขณะที่สองกาสิโนในสิงคโปร์สร้างรายได้ราว 2,530 ล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาเดียวกัน

ลีจาก IGamiX บอกว่า “หากกาสิโนไทยถูกกฎหมาย ไทยจะมีศักยภาพแซงหน้าแหล่งการพนันอื่น ๆ ในเอเชียได้แน่นอน ยกเว้น มาเก๊า” และเสริมว่า กาสิโนไทยอาจยกระดับเทียบเท่ากาสิโนมาเก๊าได้ ถ้ามีการบริหารจัดการที่ดี

‘สุริยะ’ แง้ม!! ‘DP World’ ประสานตั้งคณะทำงานร่วมไทย ศึกษาข้อมูล-รายละเอียดการลงทุน ‘โครงการแลนด์บริดจ์’

(2 ก.ย. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (ชุมพร - ระนอง) หรือโครงการแลนด์บริดจ์ โดยระบุว่า กระทรวงฯ ยังคงมีเป้าหมายเดินหน้าผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในรัฐบาลนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ รวมถึงผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

โดยแผนการดำเนินงานในขณะนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างการทำหนังสือบรรจุวาระการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ พ.ศ. .... หรือ พ.ร.บ. SEC เข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) เพื่อพิจารณา ก่อนเสนอไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือน ก.ย. 2568

อย่างไรก็ดี เมื่อ พ.ร.บ.SEC มีผลบังคับใช้แล้ว จะมีการจัดตั้งสำนักงาน SEC และเข้าสู่แผนงานอื่น ๆ โดยในส่วนการออกแบบทางรถไฟ และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) รวมถึงการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และคาดว่าสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณา EIA แล้วเสร็จในปี 2568 สอดคล้องกับการออกแบบท่าเรือ และการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และส่งให้ สผ. พิจารณาแล้วเสร็จในปี 2568

ในส่วนของกระบวนการคัดเลือกเอกชน การจัดทำร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ (RFP) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1/2569 ก่อนที่จะคัดเลือกผู้ลงทุนแล้วเสร็จในไตรมาส 2/2569 จากนั้นจะออก พ.ร.ฎ. เวนคืนที่ดิน ก่อนเสนอ ครม. อนุมัติโครงการภายในไตรมาส 2/2569 จากนั้นจะสามารถลงนามสัญญากับผู้ชนะการประกวดราคา และเริ่มดำเนินการก่อสร้างระยะที่ 1 ในไตรมาส 3/2569 แล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 2573

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทางบริษัท Dubai Port World (DP World) ประสานต้องการที่จะให้ สนข.ช่วยให้ข้อมูลในเรื่องต่าง ๆ ของโครงการอย่างละเอียด จึงมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง สนข.และ DP World ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโครงการนี้มีเอกชนพร้อมลงทุน 

อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการเอกชนรายใด ต้องการจะตั้งคณะทำงานร่วมกับประเทศไทย ก็สามารถแสดงความประสงค์มาได้ทันที โดยยืนยันว่ากระทรวงคมนาคม และรัฐบาลไทย มีความยินดีต้อนรับนักลงทุนจากทั่วทุกมุมโลก และไม่ได้ผูกมัด หรือกีดกันรายใดรายหนึ่ง

'ททท.' คาด โค้งสุดท้ายปี 67 นทท.แห่เข้าไทย 12.22 ล้านคน หนุนยอดทั้งปีนี้เฉียด 36 ล้านคน สร้างรายได้ประเทศ 1.8 ลลบ.

(2 ก.ย. 67) ช่วงเวลาที่ผ่านมา นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศ 4 เดือนสุดท้ายของปี 2567 (ก.ย.-ธ.ค.) เดินทางเข้าประเทศไทย มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว คาดว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 12,226,500 คน หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 20% สร้างรายได้ 652,826 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% เทียบช่วงเดียวกันของปี 2566 ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายที่กำหนด 4 เดือนสุดท้ายของปี 2567 คิดเป็นสัดส่วน 97% ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งปีที่รายได้ 673,738 ล้านบาท

สำหรับ คาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยในช่วง 4 เดือนสุดท้าย ยังคงเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวตลาดหลักจากเอเชียตะวันออก รองลงมาคือกลุ่มภูมิภาคยุโรป และเอเชียใต้ ส่วนที่เหลือจากตลาดในภูมิภาคอื่นๆ เช่น โดย 10 อันดับแรกของประเทศที่เดินทางเที่ยวไทยมากที่สุด ได้แก่ จีน 2.03 ล้านคน มาเลเซีย 1.83 ล้านคน อินเดีย 7.07 แสนคน เกาหลีใต้ 7.4 แสนคน รัสเซีย 6.98 แสน ลาว 4.34 แสนคน สิงคโปร์ 4.28 แสนคน ไต้หวัน 3.77 แสนคน ญี่ปุ่น 3.46 แสนคน และสหรัฐ 3.41 แสนคน

“แนวโน้มปี 2567 คาดมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยจำนวน 35.99 ล้านคน เพิ่มขึ้น 28% ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ ททท. กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 35 ล้านคน ส่วนรายได้ทางการท่องเที่ยวคาดประมาณ 1.818 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% เมื่อเทียบปีก่อนหน้า”

สำหรับปัจจัยบวกต่อภาคการท่องเที่ยวไทย มีทั้งนโยบายผลักดันการเดินทางผ่านมาตรการ Ease of Traveling ของประเทศไทย อาทิ การผ่อนคลายวีซ่าประเภทท่องเที่ยว การขยายเวลาพำนักในไทยนานขึ้น การยกเว้นยื่นใบ ตม.6 บริเวณด่านชายแดนทางบกทั่วประเทศ เพื่อจูงใจและอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่กำลังวางแผนจะเดินทางให้สามารถตัดสินใจเดินทางมาเที่ยวไทยง่ายขึ้น
รวมถึงปัจจัยจำนวนที่นั่งโดยสาร (Seat Capacity) เส้นทางระหว่างประเทศ มีจำนวนรวม 46 ล้านที่นั่ง คิดเป็นการฟื้นตัว 82% ของจำนวนที่นั่งโดยสารระหว่างประเทศเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด และเติบโตขึ้น 24% เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีจำนวนที่นั่งโดยสารประมาณ 37 ล้านที่นั่ง

สอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการการเดินทางท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเทศกาลและกิจกรรมสำคัญ อาทิ วันชาติจีน (1 ต.ค.) เทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ และการเดินทางท่องเที่ยวตามรอยอินฟลูเอนเซอร์ ศิลปินชื่อดังของชาวไทยและต่างชาติ ผ่านการนำเสนอคอนเทนต์ สถานที่ถ่ายทำซีรีส์ คอนเสิร์ต หรือแฟนมีตติงศิลปินไทยและต่างชาติ

ส่วนปัจจัยท้าทายที่คาดว่าจะกระทบต่อการท่องเที่ยวของไทย อาทิ การส่งเสริมตลาดเชิงรุกของคู่แข่งในตลาดเอเชียแปซิฟิก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และเวียดนาม ที่จัดโปรโมชันดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มเดียวกับไทย รวมถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงเศรษฐกิจขนาดใหญ่ชะลอตัว ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ได้แก่ สงครามอิสราเอลกับปาเลสไตน์ อิหร่านกับอิสราเอล รัสเซียกับยูเครน หากยืดเยื้ออาจส่งผลกระทบต่อราคาบัตรโดยสารเครื่องบินแพงขึ้น

นอกจากนี้ ภัยคุกคามจากภัยพิบัติธรรมชาติและภัยก่อการร้าย มีแนวโน้มเพิ่มความถี่เกิดบ่อยครั้งหรือรุนแรง โดยเฉพาะอุณหภูมิโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นจากผลของวิกฤติคลื่นความร้อน (เอลนีโญ) แผ่นดินไหว น้ำท่วมใหญ่ จนอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน แผนการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวออกต่างประเทศ หรือมาตรการความปลอดภัยในการเดินทาง

นางสาวฐาปนีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับภาพรวมสถานการณ์ท่องเที่ยวตลาดในประเทศ 4 เดือนสุดท้ายของปี 2567 (ก.ย.-ธ.ค.) มีการเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือน 72.47 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 6% หรือคิดเป็น 92% ซึ่งเข้าใกล้เป้าหมายจำนวน 4 เดือนสุดท้ายของปี 2567 ที่ตั้งไว้ และมีรายได้รวม 335,240 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็นสัดส่วน 83% ของเป้าหมายรายได้ 4 เดือนสุดท้ายของ ปี 2567 ที่ตั้งไว้

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มทั้งจำนวนและรายได้ตลาดในประเทศปี 2567 จะยังคงเป็นไปตามคาดการณ์ไว้ โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ มาตรการการกระตุ้นท่องเที่ยวจัดผ่านอีเวนต์ การท่องเที่ยวโดยซอฟต์พาวเวอร์ อาทิ อาหาร ภาพยนตร์และซีรีส์ แฟชั่น มวยไทย และเฟสติวัล โดยนโยบายส่งเสริมท่องเที่ยวในประเทศภายใต้แคมเปญ “สุขทันที...ที่เที่ยวไทย” และโครงการ “365 วันมหัศจรรย์เมืองไทย ...เที่ยวได้ทุกวัน” 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top