Thursday, 8 May 2025
ECONBIZ NEWS

'แบงก์ชาติ' จ่อยกร่างกฎหมายให้แบงก์พาณิชย์รับผิดชอบ 100% หากลูกค้าถูกมิจฉาชีพหลอกโอนเงินจากช่องโหว่ในระบบ

(5 ก.ย. 67) ไม่นานมานี้ น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบชำระเงิน และคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้ แบงก์ชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างยกร่างกฎหมายกำหนดสถาบันการเงิน พัฒนาและออกแบบระบบ ที่สามารถปิดช่องโหว่ ป้องกันแอปพลิเคชันแปลกปลอมบนโมบายแบงก์กิ้ง รวมทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติของสถาบันการเงินที่ชัดเจนมากขึ้น หากเกิดความเสียหายจากกรณีแอปฯ ดูดเงิน

หากแบงก์ไม่สามารถทำได้หรือมีช่องโหว่ในระบบแล้วเกิดความเสียหาย แบงก์ต้องเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหาย คืนเงินแก่เจ้าของบัญชี 100% จากปัจจุบัน เป็นการเฉลี่ยเงินคืน ตามสัดส่วน จากเงินกองทุนเยียวยาผู้เสียหาย ที่ยึดคืนจากผู้กระทำความผิด

พร้อมยกกรณีศึกษา ของสิงคโปร์ หากมีเงินโอนออกจากบัญชี โดยไม่มีข้อความ SMS แจ้งเตือนไปยังมือถือเจ้าของบัญชี ธนาคาร ต้องรับผิดชอบ ใช้เงินคืนตามจำนวน หากแต่แจ้งเตือนไปแล้ว แบงก์ก็ไม่ต้องรับผิดชอบ เป็นต้น

ผู้บริหารแบงก์ชาติกล่าวอีกว่า มิจฉาชีพ ปรับตัวหลบเลี่ยงมาตรการป้องกันต่างๆ อยู่ตลอดเวลา จึงเห็นว่าทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือ แก้ปัญหาอย่างจริงจัง เช่น การป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพ ส่งข้อความ SMS ถึงประชาชนได้เหมือนทุกวันนี้

‘Stellantis’ ตั้ง ‘PNA’ เป็นตัวแทนจำหน่าย ‘Leapmotor’ ในไทย พร้อมวางแผนเปิดโชว์รูม-เพิ่มช่องทางการขายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

(5 ก.ย. 67) ‘Stellantis’ บริษัทผู้ผลิตยานยนต์และผู้ให้บริการด้านการคมนาคมชั้นนำระดับโลก ประกาศแต่งตั้ง ‘บริษัท พระนครยนตรการ จำกัด  (PNA)’ เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ‘Leapmotor’ อย่างเป็นทางการในประเทศไทย ด้วยความร่วมมือกับ PNA นี้ นับเป็นก้าวแรกสำหรับการเปิดตัวแบรนด์ Leapmotor ให้ลูกค้าในประเทศไทยได้สัมผัส

PNA และเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้ง จะเปิดโชว์รูมและศูนย์บริการแห่งใหม่ ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่าง ๆ ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มช่องทางการนำเสนอและการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของ Leapmotor ให้กับลูกค้าในไทย

Stellantis และ Leapmotor ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุน Leapmotor International B.V. เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 ในสัดส่วน 51:49 เพื่อขยายตลาดในต่างประเทศ โดย Leapmotor International ได้รับสิทธิ์ในการจำหน่ายและส่งออก รวมถึงการผลิต Leapmotor นอกประเทศจีนแต่เพียงผู้เดียว บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างนิยามใหม่ของยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย โดยได้รับการสนับสนุนจากทีมงานที่มีความสามารถภายในองค์กรเอง

นายแดเนียล กอนซาเลซ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการอาเซียนและผู้จัดจำหน่ายทั่วไปของ Leapmotor International B.V.  กล่าวว่า “เรามีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับพระนครยนตรการ พันธมิตรของเราเพื่อขยายแบรนด์ Leapmotor มายังประเทศไทย ด้วยเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยของ Leapmotor เราเชื่อว่าลูกค้าของเราในประเทศไทยจะชื่นชอบรถยนต์ของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มองหาประสบการณ์การขับขี่ที่ยอดเยี่ยมและชาญฉลาด”

คุณธวัชชัย จึงสงวนพรสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท พระนครยนตรการ จำกัด กล่าวว่า “PNA มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายแบรนด์ที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย ประกอบกับ Leapmotor มุ่งมั่นที่จะมอบรถยนต์อัจฉริยะ พร้อมพื้นที่กว้างขวางและสะดวกสบายให้กับลูกค้า เรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้ช่วยให้ลูกค้าของเราในประเทศไทยได้เป็นเจ้าของรถยนต์ที่ยอดเยี่ยมเหล่านี้ รวมทั้งยกระดับไลฟ์สไตล์ให้กับลูกค้าของเรา”

สำหรับ Stellantis N.V. (NYSE / MTA / Euronext Paris: STLA) เป็นบริษัทผู้ผลิตยานยนต์และผู้ให้บริการด้านการคมนาคมชั้นนำระดับโลก แบรนด์ของบริษัทถือเป็นตำนานและเป็นที่รู้จัก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความหลงใหลของผู้ก่อตั้งบริษัทที่มีวิสัยทัศน์และกลุ่มลูกค้าในปัจจุบัน ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นนวัตกรรม ซึ่งรวมถึง Abarth, Alfa Romeo, Chrysler, Citroën, Dodge, DS Automobiles, Fiat, Jeep®, Lancia, Maserati, Opel, Peugeot, Ram, Vauxhall, Free2move และ Leasys

ด้วยพลังแห่งความหลากหลาย บริษัทเป็นผู้นำในเรื่องการคมนาคมของโลก บริษัทมุ่งมั่นที่จะเป็นบริษัทเทคโนโลยีด้านการคมนาคมอย่างยั่งยืนและยิ่งใหญ่ที่สุด รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่ายและชุมชนที่บริษัทได้เข้าไปทำธุรกิจ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาเยี่ยมชมเว็บไซต์ www.stellantis.com

ส่วน Leapmotor จัดตั้งขึ้นในปี 2558 และเป็นบริษัทยานยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี โดยมี มร.จู เจียงหมิง เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทและยังเป็นวิศวกรไฟฟ้าที่มีประสบการณ์ด้านเทคนิคมาเป็นเวลากว่า 30 ปี

Leapmotor มีสำนักงานใหญ่ที่เมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน บริษัทมีธุรกิจในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่การออกแบบยานยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะ การวิจัยและพัฒนา การผลิต การขับขี่อัจฉริยะ การควบคุมมอเตอร์ไฟฟ้า การพัฒนาระบบแบตเตอรี่ และโซลูชันเครือข่ายยานยนต์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของคลาวด์คอมพิวติ้ง

ในฐานะที่เป็นบริษัทด้านเทคโนโลยี ชิ้นส่วนหลักของ Leapmotor จึงถูกพัฒนาและผลิตขึ้นเองภายในบริษัท ซึ่งรวมถึงระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าและระบบอัจฉริยะ โดยสัดส่วนของชิ้นส่วนที่พัฒนาและผลิตขึ้นเองคิดเป็นสัดส่วน 60% ของต้นทุนยานพาหนะทั้งหมด บริษัทยังได้เปิดตัวเทคโนโลยีไฟฟ้าอัจฉริยะชั้นนำอย่างต่อเนื่อง เช่น ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า Eight-in-One เทคโนโลยี Cell-to-Chassis ที่ผลิตในระดับอุตสาหกรรมเป็นรายแรก รวมทั้งการออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (E/E) แบบรวมศูนย์ที่เรียกว่า 4 โดเมนในหนึ่งเดียว (Four-Domain-in-One) ซึ่งเป็นครั้งแรกของวงการ

Stellantis ได้ลงทุนใน Leapmotor เมื่อปี 2566 และช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2567 Stellantis และ Leapmotor ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมาในชื่อ Leapmotor International B.V. เพื่อขยายตลาดในต่างประเทศ

ส่วน บริษัท พระนครยนตรการ จำกัด (PNA) เป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย และทำธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2502บริษัทมีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมยานยนต์มาเป็นเวลากว่า 60 ปี 

กลุ่ม PNA ได้ให้บริการด้านยานยนต์แบบครบวงจร ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การนำเข้าและจัดจำหน่ายรถยนต์ การรับจ้างประกอบรถยนต์ การปรับแต่งรถ การบริหารจัดการฟลีทรถยนต์ การให้เช่ารถยนต์สำหรับองค์กร การให้สินเชื่อสำหรับผู้ซื้อรถ การบริหารจัดการศูนย์ PDI (Pre-Delivery Inspection) และการจัดการคลังอะไหล่

'กพช.' ไฟเขียว!! ต่อเวลาชดเชยราคาน้ำมันผสมเชื้อเพลิงชีวภาพอีก 2 ปี อุ้ม!! 'กลุ่มเกษตรกร-รง.เอทานอล-ผลิตน้ำมันปาล์ม' ให้มีเวลาปรับตัว

(5 ก.ย. 67) ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 4 ก.ย.2567 มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาชดเชยราคาน้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปอีก 2 ปี จากเดิมที่จะหมดอายุลงในวันที่ 24 กันยายน 2567 นี้ โดยจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 17 กันยายน นี้เป็นลำดับต่อไป 

ทั้งนี้ พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งกลุ่มน้ำมันแก๊สโซฮอล์ต่างๆ และน้ำมันดีเซล B7 และดีเซล B20 มาตั้งแต่ปี 2565 แต่กฎหมายเปิดโอกาสให้ขอยืดเวลาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 2 ปี ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ขอขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวไปแล้วหนึ่งครั้ง โดยจะสิ้นสุดในวันที่ 24 ก.ย. 2567 นี้ ดังนั้นจะเหลือโอกาสในการขอขยายเวลาได้อีก 1 ครั้ง ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย โดยจะไปสิ้นสุดในวันที่ 24 ก.ย. 2569 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไปอีก 2 ปี เพื่อให้เวลาอย่างจริงจังในการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มโรงงานเอทานอล รวมถึงน้ำมันปาล์ม ให้มีระยะเวลาในการปรับตัวไปจำหน่ายผลผลิตในตลาดส่วนอื่นๆ แทนการนำมาผสมในน้ำมัน เช่น จำหน่ายในตลาดเครื่องสำอาง เวชภัณฑ์สุขภาพต่างๆ เป็นต้น

BDMS ขยายความร่วมมือกลุ่มเฮลท์แคร์ยักษ์ใหญ่จากรัสเซีย เพิ่มการเข้าถึงการแพทย์คุณภาพสูงระหว่างสองประเทศ

(4 ก.ย. 67) ณ กรุงมอสโก บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด มหาชน (BDMS) และ MEDSI Group ร่วมกันลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อขยายความร่วมมือระหว่างสองผู้ให้บริการด้านสุขภาพเอกชนรายใหญ่ที่สุดของไทยและรัสเซีย ณ MEDSI Group สำนักงานใหญ่ กรุงมอสโก โดยมี มร. เอ จี โซโคลอฟ (Mr. A.G. Sokolov) ประธาน MEDSI Group และนายบุรณัชย์ ลิมจิตติ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส ส่วนการตลาดต่างประเทศ โฆษณาและประชาสัมพันธ์ของ BDMS เป็นตัวแทนลงนามในข้อตกลง

MOU ฉบับนี้ ขยายขอบเขตความร่วมมือทั้งด้านทางการแพทย์ การให้บริการคำปรึกษาทางไกล การให้บริการความเห็นที่สอง การดูแลอย่างต่อเนื่อง และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์คุณภาพสูงระหว่างทั้งสองประเทศ สำหรับผู้ป่วยชาวรัสเซียทั้งที่พำนักอยู่ในประเทศไทย และเมื่อกลับไปรัสเซีย

ในฐานะผู้ให้บริการด้านสุขภาพเอกชนรายใหญ่ที่สุดของไทย ด้วยจำนวนโรงพยาบาลในเครือฯ ถึง 58 แห่ง พร้อมคลินิกสุขภาพและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง BDMS มีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยชาวรัสเซียทั้งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และกลุ่มนักท่องเที่ยว ด้วยมาตรฐานของเครือข่ายที่แข็งแกร่งในจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของชาวรัสเซีย ทั้งกรุงเทพฯ, ภูเก็ต, พัทยา และเกาะสมุย

นอกจากการดูแลกลุ่มผู้ป่วยที่รอการรักษาแล้ว BDMS ยังมีเครือข่ายศูนย์ช่วยเหลือฉุกเฉินเอกชนที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งหมายถึงความพร้อมทั้งด้านความต้องการทางการแพทย์เร่งด่วน และกรณีฉุกเฉินที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ผู้ป่วยจึงสามารถมั่นใจได้ว่า BDMS สามารถให้บริการได้ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใดก็ตาม 

นอกจากนี้ BDMS ยังมีศูนย์เคลื่อนย้ายฉุกเฉิน (BDMS Medevac Center) ที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง โดยสามารถติดต่อได้ที่หมายเลข 1724 ซึ่งไม่เพียงแต่ดูแลประสานงานเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น แต่ยังสามารถดำเนินการส่งตัวผู้ป่วยกลับไปยังภูมิลำเนาได้ในกรณีที่จำเป็น

MEDSI Group เป็นเครือข่ายโรงพยาบาลและคลินิกเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศรัสเซีย โดยให้บริการทางด้านสุขภาพแบบครบวงจร ตั้งแต่การดูแลทางการแพทย์เบื้องต้น เคสฉุกเฉิน ตลอดจนการวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง การรักษาด้วยศัลยกรรมที่ซับซ้อน และการฟื้นฟูทางการแพทย์ MEDSI Group ประกอบด้วยโรงพยาบาลและคลินิกจำนวน 148 แห่งในประเทศรัสเซีย โดยตั้งอยู่ในกรุงมอสโกและพื้นที่ใกล้เคียงจำนวน 69 แห่ง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยหลัก ศูนย์วินิจฉัยทางคลินิก คลินิกเด็ก โรงพยาบาลคลินิก คลินิกดิจิทัล SmartLab นอกจากนั้น อีก 79 แห่งตั้งอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ของรัสเซีย และมีบริการให้คำปรึกษาทางไกล ปัจจุบัน MEDSI Group มีพนักงานมากกว่า 15,000 คน และมีบุคลากรทางการแพทย์กว่า 5,000 คน

'สถานทูตจีน' เผย!! บทสรุปการลงทุนในประเทศไทยช่วง 2 ปีหลัง ลงทุน 7 พันล้านเหรียญ-รายได้ท่องเที่ยวเข้าไทย 3.5 แสนล้านบาท

(4 ก.ย. 67) สถานทูตจีนประจำประเทศไทย เปิดเผยถ้อยแถลงการณ์เกี่ยวกับประเด็นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศจีนกับประเทศไทย มีทั้งหมด 5 ข้อ ระบุว่า...

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สื่อมวลชนไทยติดต่อกับสถานทูตจีนประจำประเทศไทยเพื่อสัมภาษณ์ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-ไทย โดยทางสถานทูตจีนได้รวบรวมประเด็นและตอบคำถามต่าง ๆ ที่น่าสนใจไว้ดังนี้...

1.นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนในปัจจุบันเป็นอย่างไร?

จีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และเป็นตลาดหลักและประเทศที่มีอุตสาหกรรมการผลิตใหญ่ของโลก ประเทศจีนดำเนินตามยุทธศาสตร์การเปิดประเทศที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของกว่า 140 ประเทศทั่วโลก ที่สำคัญจีนมีส่วนร่วมต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกอยู่ที่ประมาณ 30% มานานกว่า 10 ปีติดต่อกัน

จีนมุ่งมั่นที่จะสร้างระบบเศรษฐกิจตลาดสังคมนิยมที่มีคุณภาพสูง และเปิดกว้าง เพื่อบรรลุถึงความทันสมัยอย่างครอบคลุม โลกในปัจจุบันอยู่ในภาวะสับสนวุ่นวาย จีนยินดีที่จะเพิ่มเสถียรภาพให้กับโลกด้วยการพัฒนาอย่างสันติ และเสนอโอกาสใหม่ ๆ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของโลกด้วยการพัฒนาแบบเปิดกว้างของตัวเอง โดยทำงานร่วมกับประเทศอื่น ๆ เพื่อสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันสำหรับมนุษยชาติ

2. ท่านประเมินผลความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-จีนอย่างไร?

จีนและไทยเป็นเพื่อนบ้านที่ดี เปรียบเหมือนเป็นญาติที่ดีที่มีความใกล้ชิดทางสายเลือด เป็นหุ้นส่วนที่ดีที่มีอนาคตร่วมกัน ประชาชนทั้งสองประเทศมีความใกล้ชิดดุจพี่น้อง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน

ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย เป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรของไทยที่สำคัญ โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยมากกว่า 40% เฉพาะทุเรียนเพียงรายการเดียวก็มีมูลค่า 4,566 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่ผ่านมา

กิจการต่าง ๆ ของจีนยังเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง จากสถิติเบื้องต้นพบว่า บริษัทจีนลงทุนในไทยมากกว่า 1,000 แห่ง โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการยื่นโครงการการลงทุน 588 โครงการ มูลค่าการลงทุนเกือบ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เศรษฐกิจดิจิทัล พลังงานใหม่ และการผลิตสมัยใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับแผนการพัฒนาของประเทศไทยเป็นอย่างมาก มีส่วนสนับสนุนที่สำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในไทย การจ้างงาน การเก็บภาษี การฝึกอบรมบุคลากร สวัสดิการสังคม และด้านอื่น ๆ

ไทยยังเป็นจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวจีน ก่อนการระบาดของโควิด-19 นักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาเยือนประเทศไทยสูงถึง 11 ล้านคน ในปีนี้ทางการไทยคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวน่าจะสูงถึง 8 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 350,000 ล้านบาท

จีนมีความเชื่อมั่นว่า การพัฒนาของจีนจะยังประโยชน์ให้ไทย โดยจีนยังคงตั้งเป้าหมายที่จะสร้างความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนความทันสมัยอย่างครอบคลุม จีนกลายเป็นตลาดหลักของโลก ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ไทย-จีนมีการเชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการปรับปรุง แก้ไข กฎระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับระบบเศรษฐกิจ และการค้า เราเชื่อว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและไทย จะมีอนาคตขยายตัวมากยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองมากยิ่งขึ้น

3. ท่านมองความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างไทยและจีนในปัจจุบันอย่างไร?

การค้าระหว่างจีนและไทยมีโครงสร้างที่ชดเชยซึ่งกันและกัน เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันและได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยก่อนปี 2562 จีนขาดดุลและไทยเกินดุล แต่หลังจากปี 2563 ได้เปลี่ยนเป็นจีนเกินดุลและไทยขาดดุล เป็นผลมาจากโครงสร้างเศรษฐกิจและการผลิตที่เปลี่ยนแปลงไป

แต่การขาดดุลหรือเกินดุลไม่สามารถมองอย่างง่าย ๆ ว่า ใครได้เปรียบ ใครเสียเปรียบ สิ่งสำคัญคือ ขึ้นอยู่กับว่าการค้าที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับความต้องการ และโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่ จีนมีตลาดที่ใหญ่มาก แต่ไม่เคยตั้งเป้าว่าจะต้องเกินดุลการค้ากับไทย จีนยินดีเปิดตลาดให้ไทยส่งออกไปยังจีนมากขึ้น และได้อำนวยความสะดวก ออกมาตรการการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากจากสื่อท้องถิ่นและในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับการส่งออกสินค้าจีนมายังประเทศไทย ความจริง เกือบ 80% สินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีน เป็นสินค้าทุน สินค้าขั้นกลาง ซึ่งถูกนำมาผลิต เพิ่มมูลค่า ก่อนการส่งออกในท้ายสุด

ส่วนสิ่งที่เรียกว่าสินค้าราคาถูกที่ดึงดูดความสนใจของประชาชน ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อาหาร สินค้าเพื่อสุขภาพ เสื้อผ้าและเครื่องประดับ เป็นต้น ซึ่งมีสัดส่วนไม่ถึง 10% ของยอดมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากจีน หรืออีกแง่สินค้าเหล่านี้มีมูลค่าแค่ครึ่งเดียวของสินค้าเกษตรของไทยที่ส่งออกไปจีน โดยสินค้าเกษตรเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เสริมความต้องการของประชาชนในแต่ละประเทศ เช่น ทุเรียนไทย ส่งออกไปจีน ส่วนส้มและผลไม้เขตอบอุ่นของจีนบางชนิดส่งเข้ามาไทย

จากรายงานของสื่อ สินค้าจีนในบางส่วนมีปัญหาไม่ได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์อาหารและยาของไทย (อย.) หรือไม่ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของไทย (สมอ.) รวมถึงไม่ได้มาตรฐานอื่น ๆ เป็นต้น รัฐบาลจีนเรียกร้องให้บริษัทจีนและชาวจีนดำเนินกิจการตามกฎหมาย ข้อบังคับในต่างประเทศอย่างเคร่งครัดโดยตลอด เราสนับสนุนรัฐบาลไทยให้เข้มงวดในการกำกับดูแลตามกฎหมาย แก้ไข ปราบปรามการละเมิดกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ที่ผ่านมากิจการขนาดกลาง ขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอีของไทย เผชิญกับการแข่งขันจากสินค้าจีน โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อประกอบกับปัจจัยเชิงลบอื่น ๆ ทำให้กิจการเอสเอ็มอี ประสบความยากลำบาก เราตระหนักดีถึงความสำคัญของกิจการเหล่านี้ เข้าใจถึงความยากลำบากที่เกิดขึ้น เราเชื่อว่ากิจการเหล่านี้ควรได้รับการสนับสนุน ช่วยเหลือ และเรายินดีที่จะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ช่วยเหลือ พัฒนา ภายใต้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างยั่งยืนระหว่างจีนและไทย

4. ท่านมองบทบาทของวิสาหกิจจีนในไทยต่อการพัฒนาของประเทศไทยอย่างไร?

บริษัท หัวเว่ย เป็นบริษัทไฮเทคของจีนที่เพื่อนชาวไทยคุ้นเคย เมื่อท่านเดินเข้าไปในอาคารบริษัท หัวเว่ย ในประเทศไทย จะได้เห็นข้อความสะดุดตาว่า ‘Grow in Thailand, Contribute to Thailand’ หรือ ‘เติบโตในไทย และมีส่วนช่วยเหลือประเทศไทย’ ปรากฏอยู่ในสายตา สะท้อนให้เห็นแนวความคิดร่วมกันของบริษัทจีนมากกว่า 1,000 แห่งที่มาลงทุนและตั้งโรงงานในประเทศไทย เพื่อสร้างเครือข่ายการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ ในอีกด้านก็เป็นความปรารถนาดีของกิจการของจีนที่ต้องการช่วยเหลือ ยกระดับการพัฒนาของไทย ตอบสนองต่อความสัมพันธ์จีน-ไทยที่ว่า ‘จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน’

เรามั่นใจว่าการลงทุนของวิสาหกิจจีนช่วยให้ไทยพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นำ 5G มาใช้เชิงพาณิชย์ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอยู่ในแนวหน้าในภูมิภาค ซึ่งทั้งหมดได้รับการสนับสนุนจากบริษัทสื่อสารและเทคโนโลยีดิจิทัลของจีนหลายแห่ง เช่น หัวเว่ย, ZTE และ China Mobile ไทยกำลังพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานใหม่และผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว จีนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและมีบทบาทสำคัญในกระบวนการการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แผงโซลาร์เซลล์ การผลิตพลังงานแสงอาทิตย์  มูลค่าผลผลิตรวมของนิคมอุตสาหกรรมระยองไทย-จีนมีมูลค่ามากกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย 80% ของผลผลิตเหล่านั้นส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ

วิสาหกิจจีนที่มาลงทุนในไทย มุ่งมั่นที่จะพัฒนาแบบบูรณาการ เชื่อมโยงกับกิจการของไทย ในการสร้างห่วงโซ่การผลิต ห่วงโซ่อุปทานโดยใช้วัตถุดิบ ปัจจัยการผลิตในไทย เพื่อส่งเสริมพัฒนากิจการของคนไทย โดยสินค้าที่ผลิตและส่งออก มีการใช้ปัจจัยการผลิตของไทยมากกว่า 40% และมีการขยายสัดส่วนการใช้ปัจจัยการผลิตของไทยอย่างจริงจัง บริษัท Xinyuan Energy Thailand มีซัพพลายเออร์ในไทย 459 ราย บริษัท China Resources Thailand มีซัพพลายเออร์ในไทยมากกว่า 700 ราย และบริษัท SAIC Motor-CP มีซัพพลายเออร์ในไทยมากกว่า 100 ราย รวมถึงวิสาหกิจจีนในประเทศไทยยังปฏิบัติตามกฎระเบียบว่าด้วยใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าอย่างเคร่งครัด

วิสาหกิจจีนยังช่วยเพิ่มการจ้างงานและอบรมบุคลากร ไทยยังมีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยต้องจ้างพนักงานไทย 4 คน ถึงจะยื่นขอใบอนุญาตทำงานพนักงานต่างชาติได้ 1 คน บริษัทจีนที่ลงทุนในไทยทำเกินกว่ากฎระเบียบเหล่านี้มาก สัดส่วนของพนักงานคนไทยของบริษัท SAIC Motor-CP อยู่ที่ระดับ 97.5% ของบริษัท Haier Thailand คือ 94% และของบริษัท Zhongce Rubber Thailand อยู่ที่ 92% คาดว่าบริษัทจีนได้สร้างงานกว่า 300,000 ตำแหน่ง พนักงานเหล่านี้ไม่เพียงแต่มีค่าจ้างที่ค่อนข้างมั่นคง แต่ยังได้รับการฝึกอบรมทักษะที่ดี เป็นบุคลากรที่มีทักษะเพิ่มขึ้นอีกด้วย การอบรมเพิ่มศักยภาพเหล่านี้ยังเปิดกว้างให้คนไทย ให้สังคมไทยอีกด้วย บริษัทหัวเว่ยได้จัดตั้ง Huawei ASEAN Academy (Thailand) ซึ่งเปิดสอนหลักสูตรการอบรมแก่คนไทยไปแล้ว 96,200 คน

วิสาหกิจจีนในไทยมีความกระตือรือร้นกับสวัสดิการสาธารณะ ดำเนินการการกุศล และสนับสนุนการศึกษาสายอาชีพ การแพทย์และการดูแลสุขภาพ เพื่อทำประโยชน์ต่อสังคมไทย ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) ให้ทุนสนับสนุนการศึกษาอักษรเบรลล์ สำหรับผู้พิการทางสายตา SANY Heavy Industry (Thailand) บริจาคทุนทรัพย์ให้กับสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า Sinohydro (Thailand) บริจาคกองทุนป่าชายเลนให้กับกรุงเทพมหานคร และ Haier Thailand ให้การสนับสนุนทางการเงินก่อสร้างโรงเรียนประถมศึกษาในท้องถิ่น วิสาหกิจจีนหลายแห่งได้รับรางวัลที่มอบโดยหน่วยงานรัฐบาลไทย เช่น รางวัลความสำเร็จด้านความรับผิดชอบต่อสังคมดีเด่น / รางวัลสถานประกอบการด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการดีเด่น และ รางวัลนายจ้างดีเด่น

จากรายงานของสื่อและคดีที่เกี่ยวข้องที่ทางตำรวจไทยสอบสวน ชาวจีนบางคนได้เข้าร่วมในธุรกิจการบริการในประเทศไทย โดยมีคนเป็นจำนวนน้อยเกี่ยวข้องกับธุรกิจสื่อลามก การพนัน และยาเสพติด และบางคนได้หลีกเลี่ยงข้อจำกัดทางกฎหมายโดย ‘ให้คนอื่นถือหุ้นแทน’ สำหรับปัญหาการละเมิดกฎหมายของท้องถิ่นที่ต้องสงสัยเหล่านี้ จีนสนับสนุนไทยในการสืบสวนและปราบปรามการกระทำเหล่านี้ตามกฎหมาย และรักษาความสงบเรียบร้อยของตลาดที่มีความเป็นธรรม และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมาย ความจริงแล้ว หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของทั้งสองประเทศได้ดำเนินการความร่วมมือที่ดีในการป้องปราบธุรกิจสีดำและสีเทามาโดยตลอด

5. ท่านมองปัญหาใหม่ที่เกิดจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติอย่างไร?

แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเป็นรูปแบบธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ประเทศต่าง ๆ ต่างก็กำลังเผชิญกับปัญหาในการพัฒนาแพลตฟอร์มเหล่านี้ โดยอีคอมเมิร์ซช่วยลดขั้นตอนทางธุรกิจ ประหยัดต้นทุนการทำธุรกรรม และนำเสนอทางเลือกที่สะดวกมากขึ้นแก่ผู้บริโภค ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบพิเศษของตนเอง ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น ทำให้รูปแบบธุรกิจแบบดั้งเดิมต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านการแข่งขันที่รุนแรง และเกิดความท้าทายใหม่ ๆ โดยเฉพาะการควบคุมดูแลด้านการบริหาร คุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ การคุ้มครองสิทธิผลประโยชน์ของร้านค้าและผู้บริโภค 

ดังนั้น เราต้องมีมาตรการรับมือ เพื่อเพิ่มจุดแข็งและหลีกเลี่ยงจุดอ่อน แสวงหาข้อได้เปรียบ หลีกเลี่ยงข้อเสีย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาของเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือการใช้ประโยชน์จากอีคอมเมิร์ส โดยก่อนหน้านี้ไทยได้การถ่ายทอดสดอีคอมเมิร์ซเพื่อนำสินค้าไปขายให้จีน ซึ่งขายได้สำเร็จถึง 4,000 ล้านบาทภายในสองวัน และยังได้ใช้การถ่ายทอดสดทางอีคอมเมิร์ซเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งมีผู้เข้าชมมากกว่า 20 ล้านคน มียอดการทำธุรกรรมถึง 100 ล้านบาท จีนยินดีและส่งเสริมให้ไทยใช้ประโยชน์จากรูปแบบอีคอมเมิร์ซใหม่ ๆ เพื่อขยายตลาดจีน ยินดีที่จะกระชับความร่วมมือในการพัฒนาความสามารถด้านดิจิทัล แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการกำกับดูแลตลาดอีคอมเมิร์ซ และร่วมกันใช้โอกาสใหม่ของยุคอินเทอร์เน็ต

‘พีระพันธุ์’ ชี้!! ประเทศไทยไม่มีการสํารองน้ำมันในระดับ 90 วัน เป็นเหตุให้ราคาน้ำมัน ‘ขึ้น-ลง’ กันได้ง่าย

🔎ตามติด 1 ปี ‘พีระพันธุ์’ ใต้หมวกเจ้ากระทรวงพลังงาน
📔อ่านบทสัมภาษณ์เต็มได้ที่ : https://thestatestimes.com/post/2024082922 

'รมว.ปุ้ย' เผยตัวเลขการผลิตน้ำตาลทรายของไทยปี 67 กำชับ!! 'สอน.' ดูแลปริมาณให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ

(4 ก.ย. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้รับข้อมูลการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยปี 2567 จากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) โดยในฤดูการผลิตปี 2566/67 ที่ผ่านมา มีปริมาณอ้อยเข้าหีบจำนวน 82.17 ล้านตัน มีผลผลิตน้ำตาลทราย 8.80 ล้านตัน โดยในครึ่งปีแรกของปี 2567 (มกราคม - มิถุนายน 2567) ไทยใช้น้ำตาลเพื่อบริโภคภายในประเทศ 1.27 ล้านตัน แบ่งออกเป็น น้ำตาลที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม 0.52 ล้านตัน และน้ำตาลที่ใช้ในการบริโภคโดยตรง (รวมร้านยี่ปั๊วและห้างโมเดิร์นเทรด) 0.75 ล้านตัน 

โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2567 ไทยมีน้ำตาลเพื่อบริโภคภายในประเทศคงเหลือ 1.77 ล้านตัน และ สอน. ได้คาดการณ์ว่าระหว่างเดือนกันยายน - ธันวาคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตถัดไป ไทยจะใช้น้ำตาลเพื่อบริโภคภายในประเทศ 0.8 ล้านตัน ซึ่งตนได้กำชับให้ สอน. ดูแลปริมาณน้ำตาลให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ

นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า สอน. ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลในการดูแลปริมาณน้ำตาลให้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ โดย สอน. ได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่ประจำโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรงทั่วประเทศ รายงานปริมาณน้ำตาลคงเหลือส่งให้ สอน. เป็นประจำทุกวัน 

ปัจจุบัน ราคาขายหน้าโรงงานอยู่ที่ 21 - 22 บาท/กิโลกรัม (ไม่รวมค่าโลจิสติกส์และ VAT) ราคาขายปลีกตามห้างโมเดิร์นเทรดอยู่ที่ 27 - 28 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่เป็นไปตามกลไกการตลาดที่จะต้องมีการบวกเพิ่มค่าการตลาดและค่าบรรจุภัณฑ์

"ถือว่าเป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องการรักษาเสถียรภาพความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากน้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่ง สอน. จะบริหารจัดการการจำหน่ายเพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าจะมีปริมาณน้ำตาลทรายเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ" นายวิฤทธิ์กล่าวปิดท้าย

'เทลสกอร์' ชี้!! ยอดรวมอินฟลูฯ-คอนเทนต์ครีเอเตอร์ไทย แตะ 9 ล้านคน ในจังหวะตลอดคอนเทนต์ครีเอเตอร์ไทยขยายตัว 25-30% แตะ 4.5 หมื่นล้านบาท

(4 ก.ย.67) นางสาวสุวิตา จรัญวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทลสกอร์ จำกัด เปิดเผยว่า เทลสกอร์ ได้ประเมินภาพรวมตลาดคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในประเทศไทยในปีนี้มีมูลค่าประมาณ 4.50 หมื่นล้านบาท มีการเติบโต 25-30% เนื่องจากกลุ่มลูกค้าภาคเอกชนได้มุ่งทำตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์และคอนเทนต์ครีเอเตอร์อยู่ในระดับสูง

“ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้หลายฝ่ายประเมินว่าอาจไม่สดใสมากนัก แต่ภาคเอกชนไทยยังรุกทำการตลาด เนื่องจากการเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์และครีเอเตอร์ยังมีความสำคัญในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ซึ่งภาพรวมตลาดมีการขยายตัวในระดับดังกล่าวต่อเนื่องมา 3 ปีแล้ว” 

สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่ยังทุ่มงบการตลาดระดับสูง จะเป็นกลุ่มเพื่อสุขภาพและความงาม กลุ่มไลฟ์สไตล์ และกลุ่มการเงิน ส่วนกลุ่มที่ชะลอการใช้งบจะเป็น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และรถยนต์ตามภาพรวมตลาดที่หดตัวลง 

ทั้งนี้แนวโน้มการทำตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์และครีเอเตอร์ที่มีการขยายตัวสูง โดยในประเทศไทยมีจำนวนอินฟลูเอนเซอร์และคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ประมาณ 9 ล้านคน ส่วนในทั่วโลก จากสถิติของ Linktree ระบุว่ามีจำนวนคอนเทนต์ครีเอเตอร์ประมาณ 200 ล้านคนทั่วโลก หรือประมาณ 3% จากประชากรโลก อีกทั้ง ภาพรวมตลาด คอนเทนต์ครีเอเตอร์ในไทย มีมูลค่าประมาณ 5.5 ล้านล้านบาท

สำหรับตลาดไทยกลุ่มลูกค้าที่ใช้งานมีจำนวนสูงขึ้น มีความสอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียและการใช้เวลาบนโลกออนไลน์ของคนไทย ที่อยู่ในระดับสูงอันดับต้นในโลก อีกทั้ง จากการประเมินของ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ระบุว่า ประชากรไทยมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ประมาณ 89.5% และมีช่องทางโซเชียลมีเดียมากถึง 50 ล้านคน คิดเป็น 71.5% ของประชากรทั้งหมด

ทั้งนี้ บริษัท เทลสกอร์ ที่ดำเนินธุรกิจในด้านอินฟลูเอนเซอร์ มาร์เก็ตติ้งแพลตฟอร์ม ได้ร่วมมือกับ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด จัดงาน The Mall Lifestore Presents Thailand Influencer Awards 2024 by Tellscore งานประกาศรางวัลสุดยอดอินฟลูเอนเซอร์ และสุดยอดอินฟลูเอนเซอร์แคมเปญที่ใหญ่สุดแห่งปี โดยจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 รวมทั้งสิ้น 59 สาขา

สำหรับงานจัดอยู่ในแนวคิด The Future is Yours! เพื่อร่วมแสดงถึงศักยภาพอินฟลูเอนเซอร์และนักการตลาดที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางและสร้างสรรค์อนาคตของเศรษฐกิจไทย พร้อมเน้นหาอินฟลูเอนเซอร์คุณภาพ การร่วมสร้างมาตรฐานและคอมมูนิตี้อินฟลูเอนเซอร์ของประเทศไทยให้แข็งแกร่ง

ขณะที่กำหนดการจัดงาน มีขึ้นในวันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม 2567 ณ เอ็มซีซี ฮอลล์ ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top