Thursday, 15 May 2025
ECONBIZ NEWS

น่าห่วง! เปิดผลสำรวจเอสเอ็มอีซมพิษโควิดปิดกิจการเพียบ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานภาพธุรกิจไทยหลังโควิด-19 ปัญหาอุปสรรค และแนวทางการแก้ไข จากกลุ่มตัวอย่างเอสเอ็มอีจำนวน 625 รายทั่วประเทศ พบว่า แม้ปัจจุบัน รัฐบาลจะมีการคลายล็อกกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยแล้วก็ตาม

แต่กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 40.1% ยอมรับว่าได้รับผลกระทบมากและมีโอกาสปิดกิจการ ถึงแม้ว่ารัฐจะออกมาตรการต่างๆ เพื่อมาลดผลกระทบ แต่ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงมาตรการได้ โดยเฉพาะการเพิ่มสภาพคล่องเนื่องจากประสบปัญหาในเรื่องของการขาดหลักทรัพย์ค้ำประกันและเงื่อนไขของสถาบันการเงิน

ทั้งนี้ รวมถึงยังมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามามีส่วนทั้งต้นทุนประกอบการที่สูงขึ้นจากการผลิตสินค้าและต้นทุนที่สูงขึ้นจากมาตรการโควิด-19 จึงต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยในเรื่องของการเพิ่มสภาพคล่องอย่างเร่งด่วน ด้วยการปล่อยสินเชื่อโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อให้มีโอกาสเข้าถึงเงินทุนได้ดีขึ้น การลดหย่อนภาษี สำหรับอนาคต และการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคการท่องเที่ยว และขอให้รัฐบาลผ่อนคลายให้ธุรกิจกลางคืนสามารถเปิดกิจการได้ เนื่องจากมี สัดส่วนต่อจีดีพี ถึง 20% คิดเป็นเงิน 2-3 ล้านล้านบาทต่อปี 

นายกฯ ปลื้ม!! หารือผู้ก่อตั้ง 'หัวเว่ย' ร่วมมือพัฒนานวัตกรรมเพื่อคนไทย

25 พ.ย. 64 ที่ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเหริน เจิ้งเฟย (Mr. Ren Zhengfei) ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี จำกัด ได้เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล ซึ่งนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสรุปสาระสำคัญของการหารือว่า

นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบหารือกับนายเหริน เจิ้งเฟย ชื่นชมการดำเนินกิจการของบริษัทหัวเว่ยฯ ผู้ผลิตและผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารชั้นนำของโลก ขอบคุณบริษัทฯ ที่ได้สนับสนุนรัฐบาลในการรับมือสถานการณ์โควิด-19 ทั้งการบริจาคหน้ากากอนามัยและการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี ขอบคุณความร่วมมือที่มีให้รัฐบาลไทย และขอบคุณที่เลือกทีมงานที่มีศักยภาพและความพร้อมมาประจำการที่ประเทศไทย ซึ่งมีส่วนสำคัญในการร่วมงานกับรัฐบาลไทยเสมอมา 

นายธนกร กล่าวว่า ด้านนายเหรินฯ กล่าวยินดีที่ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี แม้ว่าจะเป็นการพบกันผ่านระบบออนไลน์ เชื่อมั่นในความตั้งใจจริงของนายกรัฐมนตรีในการบริหารประเทศซึ่งไทยสามารถบริหารสถานการณ์ให้ดีขึ้นจนประกาศการเปิดประเทศ ขอบคุณสำหรับความร่วมมือที่รัฐบาลไทยมีให้หัวเว่ยตลอดมา ทั้งนี้หัวเว่ยต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยอย่างแท้จริง 

คลังหนุนรถยนต์ไฟฟ้า เล็งลดภาษี-ตั้งกองทุน หวังดึงราคาต่ำลงคนจับต้องได้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เตรียมพิจารณามาตรการส่งเสริมการใช้และการลงทุนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในทุกมิติ เพราะปัจจุบันราคารถไฟฟ้ายังมีราคาสูง อาจไม่จูงใจให้คนมาใช้ จึงต้องทำให้กลไกราคาใกล้เคียงกับรถยนต์ที่ใช้พลังงานน้ำมัน ส่วนของสถานีชาร์จไฟฟ้า อาจต้องใช้กลไกของสถาบันการเงินรัฐ เข้าไปช่วยปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสนับสนุนให้มีการลงทุนมากขึ้น 

ทั้งนี้ในส่วนของกระทรวงการคลัง พร้อมสนับสนุน ทั้งด้านภาษีสรรพสามิต ผ่านการปรับลดโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ว่าจะสามารถเข้าไปช่วยอย่างไรได้บ้าง รวมทั้งการหากลไกเข้าไปสนับสนุนราคารถยนต์ไฟฟ้าให้ราคาถูกลง ผ่านการสนับสนุนของภาครัฐ เช่น การจัดตั้งกองทุน ซึ่งขณะนี้ภาครัฐอยู่ระหว่างการพิจารณา และเรื่องการส่งเสริมลงทุนสถานีชาร์จไฟฟ้า  ให้มีสถานีชาร์จกระจายทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น 

นับหนึ่งลงทุนท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 หลังช้ามานาน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ได้เป็นประธาน ในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ระหว่าง การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทพ.) และ บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่เสนอผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ภาครัฐได้รับดีที่สุด เป็นไปตามเอกสารการคัดเลือกเอกชน และมติ ครม. ได้อนุมัติไว้

สำหรับ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ถือเป็นหนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบัง รองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยก่อสร้างท่าเทียบเรือ สำหรับรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ รวมทั้งพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง ก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่งระหว่างประเทศ ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรภายในท่าเรือ โครงข่ายและระบบการขนส่งต่อเนื่องที่จำเป็นในเขตพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังที่จะเชื่อมต่อกับภายนอกให้เพียงพอ รองรับการขยายตัวของปริมาณเรือและสินค้าประเภทต่าง ๆ

ทั้งนี้ คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างท่าเรือ F1 แล้วเสร็จ สามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568 ส่วนท่าเทียบเรือ F2 จะแล้วเสร็จปี 2572 และเมื่อโครงการในระยะที่ 3 แล้วเสร็จจะสามารถรองรับความจุตู้สินค้าจาก 11 ล้านตู้/ปี เป็น 18 ล้านตู้/ปี หรือเพิ่มตู้สินค้าไม่ต่ำกว่า 7 ล้านตู้/ปี รับการขยายตัวของปริมาณเรือขนส่งสินค้าทางทะเลเพิ่มขึ้น เชื่อมต่อการพัฒนาสู่ท่าเรือบก เป็นศูนย์กลางการค้าบริการขนส่ง ยกระดับไทยเป็นประตูการค้าเชื่อมภูมิภาคเอเชียไปสู่ระดับโลกโดยผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ภาครัฐจะได้รับจากโครงการเป็นค่าสัมปทานคงที่ คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อ TEU (หน่วยนับตู้คอนเทนเนอร์ที่มีขนาด 20 ฟุต) มีระยะเวลาร่วมลงทุน 35 ปี 

"จุรินทร์" สั่งลุย "ตลาดข้าวส่งออก" เร่งส่งเสริมการขายในต่างประเทศ เน้นเชิงรุก ทั้ง "เจรจา-โปรโมชั่น-OBM"

นางมัลลิกา บุญมีตระกูลมหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ติดตามรายงานสถานการณ์ตลาดข้าวโซนใกล้ โดยสำนักพัฒนาตลาดและธุรกิจไทยในต่างประเทศ 1 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศรายงาน พร้อมนายจุรินทร์ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เร่งดำเนินการตามแผนโครงการและกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกสินค้าข้าวประจำปี 2565 เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563-2567 โดยยึดหลักการ “ตลาดนำการผลิต” โดยอาศัยเครือข่ายของทูตพาณิชย์ในฐานะเซลส์แมนประเทศที่กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก เพื่อให้การส่งออกข้าวไทยบรรลุเป้าหมายปริมาณ 6 ล้านตันตลอดปี 2564

นางมัลลิกา ระบุว่า ทั้งนี้ตลาดส่งออกข้าวไทยบางประเทศที่ประสบความสำเร็จในการขยายตลาด เห็นได้จากอัตราการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ตลาดญี่ปุ่น นำเข้าข้าวจากไทยช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ปริมาณ 215,580 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 คิดเป็นมูลค่า 3,364 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 23.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ญี่ปุ่นนำเข้าข้าวขาว 100% เป็นหลัก รองลงมา ได้แก่ ข้าวเหนียวและข้าวหอมมะลิ ตามลำดับ ส่วนใหญ่นำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น ขนมเซมเบ้ ผลิตเหล้าอาวาโมริ ซึ่งเป็นเหล้าพื้นเมืองของจังหวัดโอกินาวา ข้าวหอมมะลิของไทยเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคญี่ปุ่นที่นิยมอาหารไทย และชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในญี่ปุ่นซึ่งนิยมบริโภคข้าวเมล็ดยาวมากกว่าข้าวเมล็ดสั้น

รวมทั้งข้าวเหนียวจากไทยยังได้รับการยอมรับจากชาวญี่ปุ่นว่า มีคุณภาพดีและสามารถนำมาผลิตเหล้าสาเกได้รสชาติดีเยี่ยมอีกด้วย โดยทีมเซลส์แมนที่โตเกียวได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายข้าวหอมมะลิและข้าวไรซ์เบอรี่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ Rakuten การร่วมกับทีมเซลส์แมนจังหวัดจัดเจรจาการค้าออนไลน์ การประชาสัมพันธ์ร้านอาหาร Thai SELECT โดยใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียง รวมทั้งแพลตฟอร์มแนะนำร้านอาหาร “Tabelog” ซึ่งเป็นที่นิยมมากในญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับซูปเปอร์มาเก็ต Beisia ในเมืองรอง การใช้การ์ตูนคาแรคเตอร์มาประชาสัมพันธ์ข้าวไทย การส่งเสริมการจำหน่ายอาหารไทยผ่านรถอาหารเคลื่อนที่หรือฟู้ดทรัค เป็นต้น

ตลาดจีน นำเข้าข้าวจากไทยปริมาณ 339,177 ตันในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ 89.15 คิดเป็นมูลค่า 5,716.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ39.19 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยทีมเซลส์แมนประเทศที่จีนได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสินค้าข้าวไทยทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ อาทิ การจำหน่ายข้าวไทยผ่านร้านขายสินค้าไทยบนแพลตฟอร์มเถาเป่า การจัดกิจกรรม In-Store Promotion การร่วมมือกับร้านอาหารที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ส่งเสริมการใช้ข้าวไทยในเมนูอาหารและให้ Key Opinion Leader (KOL) รีวิว รวมถึงการจัดทำคลิปวิดีโอสั้นเพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ข้าวไทยให้เพิ่มขึ้น

ตลาดมาเลเซีย นำเข้าข้าวจากไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 (ก.ค. - ก.ย. 64) มูลค่ารวม 30.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 5,239.66 และเพิ่มขึ้นจากช่วงไตรมาสที่ 2 ร้อยละ 594.39 ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้การนำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นจากความต้องการซื้อเพื่อกักตุนหรือสำรองไว้ที่บ้านช่วงที่มีมาตรการ Lockdown รวมถึงการได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในหลายรัฐซึ่งแหล่งปลูกข้าวสำคัญของประเทศ อาทิ เคดาห์ กะลันตัน ตรังกานู (ฝั่งตะวันตก) ซาบาห์ และซาราวัก (ฝั่งตะวันออก)ตลาดฟิลิปปินส์ ปริมาณนำเข้าข้าวจากไทย 95,999 ตันในช่วง 3 ไตรมาสของปี 2564 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 51.09 และคาดการณ์ว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีโดยมีปัจจัยบวกทั้งจากผลผลิตข้าวไทยในปีนี้ที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาข้าวไทยที่มีแนวโน้มลดลงในระดับที่แข่งขันได้ รวมทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง โดยที่ผ่านมา ทีมเซลส์แมนประเทศที่กรุงมะนิลาได้จัดกิจกรรมขยายตลาดข้าวไทยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจัดประชุมหารือกับผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ และจัดกิจกรรมส่งเสริมข้าวไทยผลิตภัณฑ์ข้าวไทยภายใต้แคมเปญ Think Rice Think Thailand ร่วมกับซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ ซึ่งช่วยกระตุ้นการจำหน่ายและการบริโภคข้าวไทยในตลาดฟิลิปปินส์เป็นอย่างดี เป็นต้น 

สมอ. เตือนอย่าลืมติด QR code ย้ำต้องแสดงคู่เครื่องหมาย มอก. ให้เช็กได้ 

สมอ. ย้ำเตือนผู้รับใบอนุญาต มอก. กว่า 10,000 ราย ต้องแสดง QR code รายละเอียดสินค้าคู่กับเครื่องหมาย มอก. ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ พร้อมทั้งร้องเรียนในกรณีสงสัยในคุณภาพของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน หลังจากมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ฝ่าฝืนปรับ 3 แสนบาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศเป็นนโยบายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการทำงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการและประชาชนให้มากยิ่งขึ้น ตามนโยบาย Ease of Doing Business ของรัฐบาล โดยเฉพาะภารกิจด้านการอนุญาตที่ต้องดำเนินการด้วยความรวดเร็ว เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันประชาชนก็สามารถตรวจสอบได้ เช่น รายละเอียดข้อมูลของสินค้าที่ได้มาตรฐาน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้ประกาศให้ผู้รับอนุญาตทุกรายต้องแสดง QR Code คู่กับเครื่องหมายมาตรฐานที่สินค้าด้วย ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 

และกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดลักษณะ การทำ วิธีแสดง และการใช้เครื่องหมายมาตรฐานกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2563 ที่กำหนดให้ผู้รับอนุญาตทุกราย ต้องแสดงรายละเอียดข้อมูลในใบอนุญาต และข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่ได้รับใบอนุญาตในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ คู่กับเครื่องหมายมาตรฐานที่สินค้า หรือสิ่งบรรจุ หีบห่อ สิ่งหุ้มห่อด้วยก็ได้ โดยให้เห็นได้ง่ายและชัดเจน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและร้องเรียนได้ว่า สินค้าดี มีคุณภาพ และเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลเพื่อคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า

ด้าน นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. มีผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต ทั้งที่เป็นผู้ทำในประเทศ และผู้นำเข้ากว่า 10,000 ราย จำนวนใบอนุญาตกว่า 80,000 ฉบับ ครอบคลุมกว่า 800 มาตรฐาน ซึ่งตาม พ.ร.บ.มาตรฐานฯ และกฎกระทรวงฉบับใหม่ กำหนดให้ผู้รับอนุญาตทุกรายจะต้องแสดงรายละเอียดข้อมูลในใบอนุญาต และข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่ได้รับใบอนุญาตในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ คู่กับเครื่องหมายมาตรฐานที่สินค้าด้วย สมอ. จึงได้จัดทำเป็น QR Code เพื่อให้ผู้รับอนุญาตนำไปแสดงบนสินค้าที่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบรายละเอียดของสินค้าได้ง่าย ๆ เพียงสแกน QR Code ก่อนตัดสินใจซื้อ รวมทั้งเป็นข้อมูลในการตรวจสอบหรือร้องเรียนในกรณีที่สินค้าไม่เป็นไปตามมาตรฐานตามที่ระบุไว้

“สมอ. ขอย้ำเตือนผู้รับใบอนุญาตทุกราย รีบดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย หาก สมอ. ตรวจพบจะตักเตือนก่อนในครั้งแรก และหากยังพบการกระทำผิดซ้ำ จะดำเนินการตามกฎหมายทันที ซึ่งต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 3 แสนบาท และต้องถูกพักใช้ใบอนุญาตอีกด้วย โดยสามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.tisi.go.th และ www.facebook.com/tisiofficial หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองตรวจการมาตรฐาน 1 โทร. 02-430-6822, กองตรวจการมาตรฐาน 2 โทร. 02-430-6823 และกองตรวจการมาตรฐาน 3 โทร. 02-430-6824” เลขาธิการ สมอ. กล่าวทิ้งท้าย

‘อรรถวิชช์’ คาใจ!! ผุด Sandbox ‘ชะอำ-หัวหิน’ แต่กลับดื่มในร้านไม่ได้ กระทบนักท่องเที่ยวหด

‘อรรถวิชช์’ คาใจ รัฐบาลลืมปลดล็อก ‘ชะอำ-หัวหิน’ แม้ประกาศเป็น Sandbox แต่กลับดื่มในร้านไม่ได้ ทำนักท่องเที่ยวไม่มา วอนขอมาตรฐานเดียวกับกรุงเทพฯ 

นายอรรถวิชช์ สุวรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กว่า... 

วันนี้ผมมาร่วมแถลงข่าวงาน ‘หัวหินวินเทจคาร์พาเหรด’ จัดขบวนรถโบราณหาชมยากกว่า 50 คัน ขับจากกรุงเทพ - หัวหิน ในวันที่ 17 - 19 ธ.ค. 64 ช่วยโปรโมตการท่องเที่ยว หัวหิน-ชะอำ 

ผมทำมาติดต่อกันเป็นปีที่ 19 จนอยู่ในปฏิทินการท่องเที่ยวของ ททท. และปฏิทินกิจกรรมผู้รักรถโบราณและรถคลาสสิกทั่วโลก 

มีเรื่องคาใจผมมาก คือ หัวหิน - ชะอำ ถูกประกาศเป็นเขต Sandbox ท่องเที่ยว แต่กลับดื่มสุราในร้านอาหารในโรงแรมไม่ได้ ทำแบบนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติหนีหมด 

'พงศ์พรหม' แนะ!! ปั้นหัวลำโพง ต้องสร้างสรรค์ อย่าฉาบฉวยและประเคนที่ดินสวยๆ ให้นายทุน

นายพงศ์พรหม ยามะรัต ได้โพสต์ข้อความลงเพจส่วนตน Pongprom Yamarat สะท้อนมุมมองการพัฒนาสถานีรถไฟหัวลำโพง ว่า 

เช้านี้ขอเสนอแนวทางการพัฒนา “หัวลำโพง” สู่การเป็น 
“ASEAN new Iconic Destination”

ต่อ รมว.คมนาคม คุณศักดิ์สยาม ชิดชอบ (ขออภัยที่ไม่เรียกว่าท่านนะครับ ผมว่าเราควรยุติการใช้สรรพนามว่า “ท่าน” กับนักการเมือง และข้าราชการได้แล้ว แต่ขอใช้คำว่า “คุณ” บนความเคารพแทน)

ยาวนิดนะครับ แต่เปลี่ยนประเทศได้เลย ผมยืนยัน

ผมมานั่งอ่านรายละเอียดแผนการพัฒนาหัวลำโพงฉบับกระทรวงคมนาคม ผมไม่รู้สึกผิดหวังอะไรเลย เพราะเจอมาตั้งแต่แนวทางการพัฒนามักกะสันสมัยนายกยิ่งลักษณ์ ที่จะเอามักกะสันไปทำศูนย์ประชุมเชย ๆ

เกือบ 10 ปี แนวคิดกระทรวงเมืองไทยก็ยังเป็นแบบเดิม คือ “ตัดป่าสัก ไปปลูกพืชมูลค่าต่ำเช่นข้าวโพด” อยู่เสมอ 

เช้านี้ผมขอเสนอบ้างนะครับ

1.) ท่านต้องเก็บการเดินรถไฟบางสาย โดยเฉพาะสายชานเมืองที่วิ่งเข้าหัวลำโพงครับ แค่ตัดรถไฟสายหลักออกไปอยู่บางซื่อ เส้นที่เก็บไว้ก็เหลือไม่ถึง 10% ของทั้งหมดแล้ว ไม่กระทบการจราจรมากมายเหมือนที่ท่านพูดหรอก

แต่จะช่วยค่าครองชีพให้คนได้อีก 5,000-10,000 คน ทีเดียว คนเหล่านี้หากมีค่าเดินทางเพิ่มขึ้นอีกวันละเป็นร้อยบาท มันเยอะครับท่าน ชีวิตล่มสลายเลยนะ ยิ่งในสภาวะเศรษฐกิจห่วยแบบนี้ 

2.) ผมเสนอพัฒนาหัวลำโพงทั้งผืนภายใต้คอนเซปต์
“Gateway to ASEAN”

ท่านเห็นมั้ยครับว่าหัวลำโพงอยู่ “กึ่งกลาง” ระหว่างเมืองเก่า และเมืองใหม่พอดี

หัวลำโพงควรเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ที่สามารถเป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ในอาเซียน และเป็นแหล่งบ่มเพาะ Creative Economy ให้คนไทยได้

ใครพูดว่า Soft power ผมด่าหัวแตกเลยนะครับ

จำไว้นะครับ Soft power คือของสำเร็จรูป คือ Event base คือ Service base

แต่การจะทำให้ครบ ต้องสร้าง “Ecosystem” เราเรียกเศรษฐกิจแบบนั้นว่า “Creative Economy” ครับ ช่วยอย่าโง่ใช้คำว่า “Soft power” จนพร่ำเพรื่อแบบนี้

แล้วสังเกตมั้ยครับ ทำไมผมจึงใช้คำว่า “ASEAN” แทนคำว่า “Bangkok”?

จุดนี้สำคัญ

นี่คือสิ่งที่กระทรวงคมนาคม ไม่ได้ทำการบ้าน

นอกจากการเดินทางโดยเรือแล้ว หัวลำโพงนี่แหละครับ เคยเป็น “ชุมทาง” การเดินทางของพี่น้องชาวไทย ชาวจีน ชาวมลายู ชาวพม่า ชาวลาว ชาวเขมร ชาวเวียดนาม ไปสู่ทั่วภูมิภาค

นี่แหละครับ “Super Soft power hub of ASEAN”!! ที่มีองค์กรร่วมสร้าง Creative Economy มาอยู่ด้วย

นักการเมือง-ข้าราชการ ต้องคิดแบบนี้ให้เป็นครับ อย่าเอาแต่จะทำอะไรฉาบฉวย พวกคุณกินเงินภาษีประชาชนอยู่นะครับ

รมว.สุชาติ มอบกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ฝึกทักษะอาชีพชายแดนใต้

กระทรวงแรงงาน มุ่งฝึกทักษะอาชีพขับเคลื่อนชายแดนใต้ เปิดฝึกอบรมกว่า 10 หลักสูตร ตั้งเป้า 800 คน
เมื่อเร็วๆ นี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้นายประทีป ทรงลำยอง  อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นประธานพิธีมอบชุดเครื่องมือประกอบอาชีพให้แก่ผู้สำเร็จการฝึกอบรม โครงการพัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมศักยภาพพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปี 2564 เพื่อนำไปเป็นอุปกรณ์เครื่องมือในการเริ่มต้นประกอบอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัว ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 25 นราธิวาส

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวภายหลังจากการเป็นประธานว่าพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานโดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เร่งบูรณาการพัฒนาทักษะฝีมือในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งต่อยอดการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง และยั่งยืน โดยน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการขับเคลื่อนภารกิจต่างๆ

ซึ่งกระทรวงแรงงานได้สั่งการให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเร่งดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ทั้งนี้จังหวัดชายแดนใต้ทั้งจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และส่วนหนึ่งของจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอเทพา เป็นพื้นที่มีเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ จึงเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการลงทุนประกอบธุรกิจในหลายๆ ด้าน กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจึงดำเนินโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมศักยภาพพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ และส่งเสริมแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อีกด้วย

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินโครงการจัดให้มีการฝึกอบรมสาขาอาชีพต่างๆ กว่า 10 หลักสูตร  ตามความต้องการของแรงงานและประชาชนในพื้นที่ สอดรับกับวัฒนธรรมและการประกอบอาชีพในชุมชน เช่น การตัดเย็บเสื้อผ้า ช่างซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า ช่างเชื่อมไฟฟ้า ช่างเดินสายไฟภายในอาคาร ช่างปูกระเบื้อง เทคนิคงานปูน (ผลิตภัณฑ์ไม้เทียม) ช่างไม้เครื่องเรือน ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ การทำขนมไทย การทำขนมอบ เป็นต้น ใช้ระยะเวลาการฝึกอบรม 60 ชั่วโมง

ครม.ไฟเขียว ออมสินปล่อยกู้รายละ 3 แสน ดอกเบี้ย 3.99% กลุ่มไหนเข้าเกณฑ์ เช็กเลย!

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ธนาคารออมสิน ดำเนินมาตรการสินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ อนุมัติงบประมาณ 1,500 ล้านบาท ในส่วนที่ธนาคารออมสิน ขอชดเชยความเสียหายที่เกิดจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด 5,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อดำเนินมาตรการสินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพเพื่อช่วยเหลือประชาชน เป็นเงินทุนเริ่มต้นในการประกอบอาชีพ ลดการพึ่งพาสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง หรือสินเชื่อนอกระบบ บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่

1.) ผู้เริ่มประกอบอาชีพและผู้ประกอบการรายย่อย เช่น ผู้ผ่านการอบรมอาชีพช่างทุกประเภท เช่น ช่างปูน ช่างแอร์ ช่างไฟฟ้าช่างเชื่อม ช่างซ่อมอุปกรณ์ เป็นต้น และผู้ที่ไม่ใช่ช่าง เช่น เสริมสวยหรือตัดผมชาย คนขายของออนไลน์ เป็นต้น โดยมีใบประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตร ที่ผ่านการอบรมจากหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน หรือเอกสาร อื่น ๆ ตามประเภทของอาชีพหรือมีประสบการณ์ ในการประกอบอาชีพดังกล่าว

2.) ผู้ประกอบการขนาดย่อม ที่มีสถานที่จำหน่ายแน่นอน เช่น ค้าปลีก ค้าส่ง โชห่วย แฟรนไชส์ เป็นต้น โดยมีทะเบียนพาณิชย์ ทะเบียนการค้า สัญญาแฟรนไชส์ หรือเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของอื่น ๆ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top