Saturday, 17 May 2025
ECONBIZ NEWS

รมว.เฮ้ง อนุมัติปล่อยกู้ 5 ล้านบาท ให้กองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ช่วยเหลือผู้รับงานไปทำที่บ้าน ลดดอกเบี้ยเหลือ 0% 12 งวด ต่อเนื่องปีที่ 3 ยื่นกู้ได้ตั้งแต่บัดนี้ ถึง 31 สิงหาคม 2565

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานมีนโยบายเร่งด่วน ในการกระตุ้น ส่งเสริมและรักษาการจ้างงาน พัฒนาฝีมือแรงงาน รวมถึงทางเลือกอาชีพอิสระ และการรับงานไปทำที่บ้านแก่ผู้ว่างงาน โดยในปีงบประมาณ 2565 กระทรวงแรงงานได้อนุมัติวงเงินกู้ยืม จำนวน 5,000,000 บาท พร้อมมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0 ต่อปี (จากเดิมร้อยละ 3) ในงวดที่ 1 -12 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับแรงงานนอกระบบที่เป็นผู้รับงาน/กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนถูกกฎหมาย บรรเทาความเดือดร้อนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) 

“นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรองนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญและห่วงใยพี่น้องแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบที่ต้องการทำงาน มีรายได้ และยังมีศักยภาพ แต่ไม่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยกำชับกระทรวงแรงงานดูแลช่วยเหลืออย่างเท่าเทียม ทั่วถึงเพื่อให้สามารถก้าวต่อไปได้ภายใต้สถานการณ์โควิด – 19” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กองทุนผู้รับงานไปทำที่บ้าน มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับให้กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านกู้ยืมไปซื้อวัตถุดิบหรืออุปกรณ์ในการผลิตหรือใช้ขยายการผลิต สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของกรมการจัดหางาน ในการส่งเสริมการจ้างงานและการประกอบอาชีพแรงงานกลุ่มเปราะบางเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ครม. ไฟเขียวขึ้นภาษีรถใช้น้ำมันยกแผง บีบคนหันใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

ครม. เห็นชอบปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ครั้งใหญ่ บีบขึ้นภาษีรถยนต์น้ำมันยกแผง เพื่อให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยผลการประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 65 เห็นชอบปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ทั้งระบบ โดยมีสาระสำคัญ ประกอบด้วย ดังนี้

1.) การปรับลดเกณฑ์การปล่อย CO2 เพื่อส่งเสริมให้รถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน รถยนต์กระบะ และรถจักรยานยนต์ มีการลดการปล่อย CO2 และประหยัดพลังงานเพิ่มมากขึ้น

2.) การกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประเภท HEV และ PHEV ให้มีความแตกต่างกัน เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่สูงขึ้นของ PHEV และการพัฒนาไปสู่รถยนต์ BEV ซึ่งมีการพิจารณาถึงสมรรถนะของเทคโนโลยี PHEV ในเรื่องระยะทางการวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Range : ER) โดยสามารถวิ่งได้ไม่น้อยกว่า 80 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง และขนาดถังบรรจุน้ำมัน (Oil Tank) เพื่อลดการใช้พลังงานจากน้ำมัน

3.) การทยอยปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประเภท ICE, HEV และ PHEV ให้เหมาะสม โดยกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได 3 ช่วง ได้แก่ ปี พ.ศ. 2569 พ.ศ. 2571 และ พ.ศ. 2573 ตามลำดับ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์/ชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ และปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประเภท BEV จากอัตราร้อยละ 8 เหลืออัตราร้อยละ 2 เพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และสร้างแรงจูงใจในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นตามมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ

4.) การส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของรถยนต์กระบะ และอนุพันธ์ของรถยนต์กระบะ (Product Champion) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตต่อไป โดยคำนึงถึงการลดการปล่อย CO2 และสนับสนุนพลังงานเชื้อเพลิงทดแทน Biodiesel และยังส่งเสริมให้เกิดการใช้และผลิตรถยนต์กระบะไฟฟ้า (BEV) ในประเทศโดยกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 0 เป็นการชั่วคราวจนถึงปี พ.ศ. 2568

5.) การกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ทุกประเภท ยังสนับสนุนมาตรฐานด้านความปลอดภัย โดยให้มีการติดตั้งระบบ Advanced Driver - Assistance Systems (ADAS) มาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ต้องมีการติดตั้งระบบ ADAS อย่างน้อย 2 ระบบจาก 6 ระบบ ยกเว้น BEV ต้องมีอย่างน้อย 4 จาก 6 ระบบ และรถยนต์กระบะ ต้องมีการติดตั้งระบบ ADAS อย่างน้อย 1 ระบบจาก 6 ระบบ ยกเว้น BEV ต้องมีอย่างน้อย 2 จาก 6 ระบบ

ไฟเขียว! ครม. อนุมัติร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต  ปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บภาษีรถยนต์และรถจักรยานยนต์ รวม 27 ประเภท กระตุ้นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ พัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูง  เพื่อไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในภูมิภาคอาเซียน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้  มีมติอนุมัติหลักการ ร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่..) พ.ศ.  ....   ซึ่ง การปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้ารถยนต์ประเภทต่าง ๆ รวม 27 ประเภท โดยจะมีรถยนต์ ต้องจัดเก็บภาษีตามอัตราในร่างกฎกระทรวงนี้เมื่อกฎกระทรวง มีผลใช้บังคับ (วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา)  รวม 6 ประเภท ดังนี้  

1. รถยนต์นั่งกึ่งบรรทุก (Pick-up Passenger Vehicle: PPV)  แบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้าที่สามารถเสียบปลั๊ก ประจุไฟฟ้าได้ (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 10 ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค. 78 กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขจัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 50  

2. รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท ประหยัดพลังงาน แบบพลังงานไฟฟ้า (Electric Powered Vehicle) จัดเก็บ ภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 2 กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข แบ่งเป็น 2 ช่วงระยะเวลา คือ ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวง มีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค. 68 และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 69 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 8 - 10 

3.รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท ประหยัดพลังงานแบบมาตรฐานสากล (Eco car)  ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า ร้อยละ 14 ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค. 66     และตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค. 68 พิจารณาจากความจุกระบอกสูบ อัตราการปล่อย CO2  และการติดตั้งมาตรฐานความปลอดภัย ให้จัดเก็บภาษีในอัตรา ตามมูลค่าร้อยละ 10 - 12   ถ้าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ฯ อัตราภาษีจะเป็นไปตามอัตราของรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน  

4. รถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) แบบผสมที่ใช้ พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้าที่สามารถเสียบปลั๊กประจุไฟฟ้าได้ (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 5 ตั้งแต่กฏกระทรวงมีผลบังคับใช้ 

5. รถยนต์กระบะแบบพลังงานไฟฟ้า (Electric Powered Vehicle)  แบ่งเป็น 2 ช่วงระยะเวลา คือ ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึง วันที่ 31 ธ.ค. 68  ให้จัดเก็บภาษี ในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 0  และตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 78  ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 2  กรณีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์   มีการจัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 10 ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึง วันที่ 31 ธ.ค. 68 และ 1 ม.ค. 69- 31 ธ.ค. 78 

6. รถยนต์กระบะแบบเซลล์เชื้อเพลิง [Fuel Cell Powered Vehicle  ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 0   กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ แบ่งเป็น 2 ช่วง ตั้งแต่วันที่ กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค.68 และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 78  ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 5 

สำหรับรถยนต์ที่เหลืออีก 21 ประเภท จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่ปี  69 - 78 ตามลำดับ ได้แก่  

7. รถยนต์นั่ง   ความจุกระบอกสูบ ไม่เกิน 3,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร แบ่งเป็น 3 ช่วง  คือ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 70 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 71 - 31 ธ.ค. 72 และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 73 เป็นต้นไป  ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 13 - 38   กรณี ที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์แบ่งเป็น 2 ช่วงคือ วันที่ 1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 72 และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 73 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตรา ตามมูลค่าร้อยละ 25 - 40 สำหรับรถยนต์นั่งความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร ตั้งแต่  1 ม.ค. 69 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า ร้อยละ 50 

8. รถยนต์นั่งกึ่งบรรทุก (Pick-up Passenger Vehicle: PPV)   ความจุกระบอกสูบ 250 ลูกบาศก์เซนติเมตร ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตาม มูลค่าร้อยละ 18 - 50  ที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทไบโอดีเซล (B20) ร้อยละ 16 - 50 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 78    

9. รถยนต์นั่งที่ผลิตจากรถยนต์กระบะหรือแชสซีส์และกระจก บังลมหน้า (Chassis With Windshield) ของรถยนต์กระบะ หรือดัดแปลงจากรถยนต์กระบะ    ที่ผลิตหรือดัดแปลงโดยผู้ประกอบอุตสาหกรรม ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 2.5 - 40  ที่ดัดแปลงโดยผู้ดัดแปลง จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 25   ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 เป็นต้นไป   

10. รถยนต์สามล้อชนิดรถสกายแลป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 0  ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69  เป็นต้นไป  

11. รถยนต์อื่น ๆ นอกเหนือจากข้อ 1 - 5 ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 50 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69  เป็นต้นไป 

12. รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน  แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ตั้งแต่  1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 70 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 71 - 31 ธ.ค. 72 และตั้งแต่ 1 ม.ค. 73 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตรา ตามมูลค่าร้อยละ 13 - 38 กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ แบ่งเป็น 2 ช่วงระยะเวลา คือ ตั้งแต่  1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 72 และตั้งแต่ 1 ม.ค. 73 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บ ภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 25 - 40    สำหรับรถที่มีความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า ร้อยละ 50 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 69 เป็นต้นไป

13. รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่ใช้ เป็นรถพยาบาล และรถยนต์ต้นแบบที่ผลิตหรือนำเข้ามาโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อนำไปวิจัย พัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะที่ไม่เคยมีการจำหน่าย ในท้องตลาดเป็นการทั่วไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 0 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 69 เป็นต้นไป  

14. รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภทประหยัดพลังงานแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า (Hybrid Electric Vehicle)     แบ่งเป็น 3 ช่วงระยะเวลา คือ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 70 ตั้งแต่  1 ม.ค. 71 - 31 ธ.ค. 72 และตั้งแต่ 1 ม.ค. 73 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 6 - 28  กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 72 และตั้งแต่ 1 ม.ค. 73 เป็นต้นไป มีการจัดเก็บ ภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 15 - 30  กรณีที่มีความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า ร้อยละ 40 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 69 เป็นต้นไป 

15. รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภทประหยัดพลังงานแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า ที่สามารถเสียบปลั๊กประจุไฟฟ้าได้ (Plug-in Hybrid Electric Vehicle)  ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า ร้อยละ 5 - 10  ตั้งแต่  1 ม.ค. 69 เป็นต้นไป  กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข แบ่งเป็น 2 ช่วง  คือ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 72 และตั้งแต่ 1 ม.ค. 73 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษี ในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 15 - 20   สำหรับความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า ร้อยละ 30  ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 เป็นต้นไป 

16. รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภทประหยัดพลังงาน แบบเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Powered Vehicle) ให้จัดเก็บภาษี ในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 1 กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ให้จัดเก็บภาษี ในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 5  ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 เป็นต้นไป 

17. รถยนต์นั่งสามล้อ และรถยนต์นั่งที่ผลิตขึ้นโดยใช้เครื่องยนต์ ของรถจักรยานยนต์ขนาดไม่เกิน 250 ลูกบาศก์เซนติเมตร   รถยนต์สามล้อ  ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 2 - 4  รถยนต์นั่งที่ผลิตขึ้นโดยใช้เครื่องยนต์ของ รถจักรยานยนต์ขนาดไม่เกิน 250 ลูกบาศก์เซนติเมตร ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 4 ตั้งแต่ 1 ม.ค 69 เป็นต้นไป 

18. รถยนต์กระบะที่ออกแบบสำหรับให้มีน้ำหนักรถรวม น้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กก. ที่ไม่มีพื้นที่ใส่สัมภาระด้านหลัง ที่นั่งคนขับ (No Cab) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 3 - 5 ตั้งแต่ 1 ม.ค 69 - 31 ธ.ค. 78  

19. รถยนต์กระบะที่ออกแบบสำหรับให้มีน้ำหนักรถรวม น้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กก. ที่ไม่มีพื้นที่ใส่สัมภาระด้านหลัง ที่นั่งคนขับ (No Cab) ที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทไบโอดีเซล (B20)ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 2 - 4 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 78 

20. รถยนต์กระบะที่ออกแบบสำหรับให้มีน้ำหนักรถรวม น้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กก. ที่มีพื้นที่ใส่สัมภาระด้านหลัง ที่นั่งคนขับ (Space Cab) ที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทไบโอดีเซล (B20) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 3 - 7 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 78 

21. รถยนต์กระบะที่ออกแบบสำหรับให้มีน้ำหนักรถรวม น้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กก. ที่มีพื้นที่ใส่สัมภาระด้านหลัง ที่นั่งคนขับ (Space Cab) ให้จัดเก็บภาษี ในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 5 - 8  ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 78  

22. รถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตาม มูลค่าร้อยละ 8 - 13  ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69  - 31 ธ.ค. 78 

23. รถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ที่ใช้เชื้อเพลิง ประเภทไบโอดีเซล (B20) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า ร้อยละ 6 - 12 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 78   

24. รถยนต์กระบะแบบพลังงานไฟฟ้า (Electric Powered Vehicle)   ให้จัดเก็บภาษี ในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 0 -2   ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 78 

25. รถยนต์กระบะแบบเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Powered Vehicle)  ให้จัดเก็บภาษีในอัตรา ตามมูลค่าร้อยละ 0 - 1   ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 78 

26. รถยนต์ต้นแบบที่ผลิตหรือนำเข้ามาโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อนำไปวิจัย พัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะที่ไม่เคยมีการจำหน่าย ในท้องตลาด จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 0 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 69  

27. รถยนต์ประเภทอื่น ๆ นอกจากข้อ 15 - ข้อ 26  ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 15 - 50  ตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค. 69 เป็นต้นไป โดยจะพิจารณาจากความจุกระบอกสูบ อัตรา การปล่อย CO2  

'นายกฯ' พอใจ 'ยางพาราปี 65' แนวโน้มราคาสูงขึ้น  คาดไทยส่งออกยางพาราทั่วโลกกว่า 4.218 ล้านตัน 

เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กระตุ้นทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ติดตามการดำเนินงานตามโครงการของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ดูแลประชาชนทุกสาขาอาชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขับเคลื่อนพืชเกษตรและเศรษฐกิจภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน อาทิ  ยางพาราไทย ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย

ซึ่งข้อมูลจากการยางแห่งประเทศไทย ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกยางพาราอันดับ 1 ของโลก มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 38.65  คิดเป็นการส่งออกยางพาราประมาณ 3.7 ล้านตันต่อปี ตลอดจน ในปี 2565 คาดการณ์ไทยส่งออกยางพาราไปทั่วโลกกว่า 4.218 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.03 จากปีก่อนที่ส่งออก 4.134 ล้านตัน สืบเนื่องมาจากปริมาณความต้องการใช้ยางพาราของโลกมีมากขึ้นและตัวเลขดัชนีภาคการผลิตสูงขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลกภายหลังสถานการณ์โควิด – 19 จะส่งผลสถานณ์ยางพาราเป็นไปในทิศทางที่ได้ดีขึ้น 

นายธนกร กล่าวว่า การที่ราคายางมีเสถียรภาพมากขึ้นนี้ ทำให้โครงการประกันราคายางของรัฐบาลมีความสามารถจ่ายค่าชดเชยส่วนต่างให้ประชาชนลดลง แม้ว่าจากการศึกษาพบว่าเกษตรกรสวนยางมีความพอใจในโครงการนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำกับ สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินโครงการควบคู่กับโครงการประกันราคา เพื่อแก้ไขปัญหา ผลกระทบที่ส่งถึงประชาชนให้ครอบคลุมทุกมิติ และเพื่อความยั่งยืน เนื่องจากยางพารามีผลผลิตตลอดทั้งปี เมื่อผลผลิตออกเยอะจะมีผลถึงราคายาง อาทิ เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด คือการสนับสนุนการปลูกพืชผสมผสาน ควบคู่กับการวางแผนการขาย การให้เงินอุดหนุนกับเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อเสริมสภาพคล่อง การบริหารจัดการปริมาณผลผลิตและปริมาณการใช้งานให้พอดีกัน สินเชื่อสนับสนุนชาวสวนยางเพื่อขยายกำลังการผลิตของผู้ประกอบการ 

สภาพัฒน์ฯ เผยจีดีพี ปี 64 โต 1.6% ชี้ ศก.ไทยเริ่มฟื้น คาดปีนี้โต 3.5 - 4.5%

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 4 ทั้งปี 2564 และแนวโน้มปี 2565 ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 ขยายตัว 1.9% โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจปรับเพิ่มขึ้นเกือบทุกตัว ทั้งนี้การขยายตัวของเศรษฐกิจไตรมาสดังกล่าว เป็นผลมาจากตัวเลขการส่งออกที่ยังคงขยายตัวได้ในระดับสูง โดยเฉพาะปริมาณการส่งออกสินค้าขยายตัว 16.6% รวมถึงปริมาณส่งออกบริการขยายตัว 30.5% ยกเว้นการลงทุนรวมที่ยังติดลบอยู่ 0.2% 

ดันสหกรณ์ช่วยกระจายสินค้าเกษตรในปี 65

น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ว่าโครงการปรับโครงสร้างการผลิต การรวบรวม และการแปรรูปของสถาบันเกษตรกรรองรับผลผลิตทางการเกษตร ขณะนี้สามารถเบิกจ่ายได้ 1,583 ล้านบาท หรือร้อยละ 93.5 ของงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล 1,629 ล้านบาท 

สำหรับสหกรณ์ที่เข้าโครงการ 240 แห่ง ใน 59 จังหวัด โดยขณะนี้เกือบทุกแห่งสามารถที่จะรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรได้เพิ่มขึ้น ในฤดูกาลผลิตปี 2565 นี้ จะใช้ระบบสหกรณ์เหล่านี้เข้าไปช่วยขับเคลื่อนเสริมกลไกตลาดที่สำคัญในการกระจายผลผลิตและเป็นแก้มลิงชะลอผลผลิตทางการเกษตรกรณีผลผลิตล้นตลาด ซึ่งในปีที่ผ่านมาการใช้ระบบสหกรณ์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

ราคาข้าวโพดพุ่ง รัฐโล่งไม่ต้องจ่ายค่าส่วนต่างประกันรายได้

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการประกันรายได้เกษตรกรในส่วนของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้มีการประกาศเรื่อง การกำหนดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2564/65 มติไม่ต้องจ่ายเงินส่วนต่างสำหรับงวดที่ 4 ของโครงการประกันรายได้ปีที่ 3 เพราะราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขณะนี้สูงทะลุราคาประกันรายได้

เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยมีวันเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2564 และระบุวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.-19 ก.พ.2565 เมื่อคำนวณส่วนต่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เมล็ดความชื้นไม่เกิน 14.5% สำหรับงวดที่ 4 อยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 9.72 บาท สูงกว่าราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ กก.ละ 8.50 บาท หรือสูงกว่าราคาประกันรายได้ 1.22 บาท ทำให้ไม่ต้องจ่ายชดเชยเป็นงวดที่ 4 ติดต่อกัน หลังจากราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการคำนวณปริมาณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ได้ใช้วิธีการเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี คือปี 2562/63 , 2563/64 และ 2564/65 ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 700 กก. ต่อไร่ คูณด้วยจำนวนไร่ตามที่เกษตรกรได้ขึ้นทะเบียนไว้ แต่ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่

AIS แจงหลังข้อมูลลูกค้าหลุดแสนราย ยัน ไม่กระทบการดำเนินธุรกิจของบริษัท

AIS แจ้งพบเหตุคอมพิวเตอร์ของพนักงานที่ทำหน้าที่ในช่วง Work from Home ถูกบุกรุกด้วยมัลแวร์ และคนร้ายนำข้อมูลออกไปเผยแพร่ใน Dark Web ประมาณ 100,000 รายการ

18 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 15.05 น. นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าทั่วไป เอไอเอส เปิดเผยว่า บริษัท ได้ตรวจสอบพบว่า มีผู้ละเมิดข้อมูลผู้ใช้บริการ ประมาณ 100,000 รายการ อันประกอบด้วย ชื่อ-นามสกุล, เลขบัตรประจำตัวประชาชน, วัน-เดือน-ปีเกิด และหมายเลขโทรศัพท์

โดยไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินใดๆ และนำไปเผยแพร่อยู่บน Dark Web ซึ่งหลังจากพบกรณีนี้ บริษัทฯ ก็ได้ร่วมกันกับผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เร่งตรวจสอบหาสาเหตุอย่างเร่งด่วน พร้อมกับแจ้งไปยัง สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) และ กสทช. รวมถึงแจ้งไปยังลูกค้ากลุ่มดังกล่าวผ่านทาง SMS เพื่อให้รับทราบและระมัดระวังต่อไป โดยกรณีดังกล่าว ไม่กระทบกับระบบรักษาความปลอดภัยและการดำเนินธุรกิจของบริษัท”

คาดตลาดอสังหาฯ ปีนี้ มีเปิดใหม่เพิ่ม

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยถึงสถานการณ์ธุรกิจที่อยู่อาศัย ว่า แนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยปี 65 ด้านอุปทานจะขยายตัวเพิ่มขึ้น จะมีการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินประมาณ 8.5 หมื่นหน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 28  ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนจะมีประมาณ 1.05 แสนหน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.3 ส่วนด้านอุปสงค์คาดว่า จะมีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ 3.32 แสนหน่วย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 25.1  การโอนกรรมสิทธิ์แนวราบเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.6 การโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.1

“จากการประเมินสถานการณ์ภาพรวมปี 65 จะมีการเปิดตัวโครงการใหม่ ๆ เพิ่มมากกว่าปี 64 โครงการแนวราบจะมีสัดส่วนมากกว่าอาคารชุด ขณะที่อาคารชุดจะค่อยๆฟื้นตัว จากสต็อกที่ลดลง  ผู้ประกอบการบ้านใหม่จะยังมีโปรโมชั่น ส่วนลดและของแถมเพื่อจูงใจผู้ซื้อแต่จะไม่ลดลง เท่าปี 64 โดยตลาดยังเป็นของผู้ซื้อ จะมีการขยายตัวในกลุ่มการโอนกรรมสิทธิ์บ้านมือสอง ฐานลูกค้าต่างชาติจะไม่ใช่ลูกค้าหลักของห้องชุด แต่จะเป็นคนไทยที่เป็นกลุ่ม gen y และ gen z ลงมา”

สกพอ. ถกผู้แทนทูตฮังการี-รัสเซีย ชักชวนลงทุน อุตฯ เป้าหมาย

สกพอ. เร่งแผนการลงทุนระยะ 2 (ปี 2565 - 2569) เดินหน้าสานความร่วมมือนานาชาติ ถกผู้แทนทูตฮังการี และรัสเซีย จูงใจผู้ประกอบการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ อีอีซี 

นายเพ็ชร ชินบุตร รองเลขาธิการฯ สำนักงานคณะกรรมการเขตพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี เปิดเผยว่า ปัจจุบัน สกพอ. ได้มีการขับเคลื่อนแผนการลงทุนระยะ 2 (ระหว่างปี 2565 - 2569) ตั้งเป้าหมายให้เกิดการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท หรือปีละ 5 แสนล้านบาทต่อเนื่อง 5 ปี มุ่งเน้นดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ การแข่งขันของประเทศ โดยตั้งแต่ต้นปี 2565 สกพอ. ได้มีการผลักดันให้มีการเจรจาทางธุรกิจระหว่างนักลงทุนต่างประเทศทั้งจากภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และนักลงทุนไทย และเร่งนำเสนอแผนการลงทุน ให้คณะผู้แทนทางทูตประเทศกลุ่มเป้าหมายและประเทศที่มีความสนใจเข้ามาลงทุนในอีอีซี ได้รับทราบถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ และชักจูงให้เกิดการลงทุนร่วมกันต่อไป

โดยที่ผ่านมา สกพอ. ได้ให้การต้อนรับและหารือกับนายชานโดร์ ชีโปช เอกอัครราชทูตฮังการีประจำประเทศไทย นำเสนอข้อมูลความก้าวหน้าในการพัฒนาโครงการอีอีซี โอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนและการอำนวยความสะดวกการลงทุนในพื้นที่ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งได้หารือถึงแนวทางการชักจูงการลงทุนจากภาคธุรกิจของฮังการีมายังพื้นที่อีอีซี ซึ่งมีความสนใจในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตฮังการีประจำประเทศไทย ได้แสดงความสนใจในการสร้างความร่วมมือกับ สกพอ. ในการชักจูงการลงทุนบริษัทเป้าหมายจากฮังการี และการจับคู่ทางธุรกิจกับภาคเอกชนไทย โดยทางสถานทูตฮังการีประจำประเทศไทยและ สกพอ. จะกำหนดสาขาความร่วมมือที่สนใจร่วมกันและชักจูงการลงทุนจากภาคเอกชนจากฮังการีต่อไป 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top