Tuesday, 7 May 2024
ECONBIZ NEWS

ผลการดำเนินงาน ปตท. 9 เดือนแรกของปี 2565 ปรับตัวลดลง รวมกลุ่ม ปตท. นำเงินส่งรัฐกว่า 64,461 ล้านบาท

ผลการดำเนินงาน ปตท. 9 เดือนแรกของปี 2565 ปรับตัวลดลง รวมกลุ่ม ปตท. นำเงินส่งรัฐกว่า 64,461 ล้านบาท พร้อมช่วยเหลือต้นทุนค่าพลังงานต่อเนื่อง

เมื่อ (10 พ.ย. 65) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงาน ปตท. และบริษัทย่อย ใน 9 เดือนแรกของปี 2565 ทั้งในและต่างประเทศ มีรายได้ 2,570,029 ล้านบาทและมีกำไรสุทธิจำนวน 73,303 ล้านบาท ลดลง 9% จากช่วงเดียวกันของปี 2564 เนื่องจากขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ ภาษีเงินได้ และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้หากมองกำไรสุทธิจำนวน 73,303 ล้านบาท ที่มาจากผลการดำเนินงานของ ปตท. จะคิดเป็น 13% ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลการดำเนินงานของธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ที่ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติปรับสูงขึ้นมาก และอีก 87% มาจากผลการดำเนินงานของบริษัทในเครือ ปตท. ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 49% ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและบริษัทย่อยอื่นๆ 24% ธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก 11% ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นมีสัดส่วนเพียง 3% 

โดยผลการดำเนินงานได้รับผลกระทบจากขาดทุนสต็อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้นมาก ตามทิศทางราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย 

กรุงเทพฯ ขึ้นแท่น เมืองไมซ์พัฒนามากสุด หลังมีคะแนนเพิ่มจากปีก่อนอย่างก้าวกระโดด

กรุงเทพฯ คว้ารางวัล 2022 Most Improved Award เมืองไมซ์ทำคะแนนปรับปรุงการพัฒนายั่งยืนเพิ่มสูงสุด

เฟซบุ๊กเพจ MICE in Thailandโพสต์ข้อมูลว่าข่าวดีสำหรับประเทศไทยอีกครั้ง 'กรุงเทพฯ' ได้รับรางวัลจาก Global Destination Sustainability Index (GDS-Index)ในหมวด Most Improved Award 2022 ในฐานะเมืองที่มีคะแนนปรับปรุงการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมไมซ์และท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปีก่อนหน้ามากที่สุด (73.66%)

ทั้งนี้ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและนายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการเป็นตัวแทนเข้ารับรางวัลในงาน ICCA Annual Congress 2022 ซึ่งเป็นงานประชุมประจำปีของสมาคมอุตาหกรรมการประชุมนานาชาติหรือ International Congress and Convention Association ที่จัดขึ้นในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 ณ เมืองคราโคว ประเทศโปแลนด์

'ก.อุตฯ' เดินหน้าขับเคลื่อน EV ชงมาตรฐานเข้ม 'แบตเตอรี่-สถานีชาร์จ' เป็นสินค้าควบคุมต้องได้มาตรฐาน

กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย EV เร่งรัด สมอ. ชงมาตรฐาน 'แบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า - รถยนต์ไฟฟ้า' และ 'สถานีชาร์จ' เป็นสินค้าควบคุมต้องได้มาตรฐาน พร้อมนำทีมลงพื้นที่พบผู้ผลิตและจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของไทย เพื่อศึกษาข้อมูลประกอบการทำมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง รองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในอนาคต

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย EV อย่างต่อเนื่อง โดยเร่งรัดให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) นำมาตรฐานแบตเตอรี่ไฟฟ้า ทั้งมอเตอร์ไซค์ และรถยนต์ รวมทั้งสถานีชาร์จ เสนอบอร์ดเพื่อขอความเห็นชอบในการบังคับใช้มาตรฐาน โดยกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค 

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและที่เกี่ยวข้องออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยประกาศใช้แล้วจำนวน 128 มาตรฐาน เช่น จักรยานยนต์ไฟฟ้า, รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า, ระบบการสื่อสารระหว่างรถยนต์ไฟฟ้ากับโครงข่ายไฟฟ้า  ระบบขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้า, ระบบเบรกของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า, เต้าเสียบและเต้ารับสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า, เซลล์และแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า, ชิ้นส่วนสำหรับดัดแปลงรถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า, ระบบจอดอัตโนมัติของรถยนต์, สมรรถนะของยานยนต์ไฟฟ้ามอเตอร์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้าในรถยนต์ EV เป็นต้น  

ซึ่งในการกำหนดมาตรฐานดังกล่าว อ้างอิงมาจากข้อกำหนดและมาตรฐานระหว่างประเทศ ครอบคลุมทั้งด้านความปลอดภัย และด้านการใช้พลังงาน และทั้ง 128 มาตรฐานนั้นยังเป็นมาตรฐานภาคสมัครใจที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการยื่นขอการรับรอง แต่เนื่องจากปัจจุบันแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามกระแสโลก ขณะเดียวกันแนวคิดการยกเลิกการใช้ยานยนต์ที่เป็นเครื่องยนต์สันดาป รวมถึงกระแสการตื่นตัวต่อภาวะโลกร้อนที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้รถยนต์ไฟฟ้าเข้ามามีบทบาทมากขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงต้องมีการพิจารณาบังคับใช้มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นตามไปด้วย

'ชัยวุฒิ' โชว์เน็ตประชารัฐ ลดช่องว่างการเข้าถึงดิจิทัลของไทย ในการประชุมรัฐมนตรีดิจิทัลภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ชัยวุฒิ เข้าร่วมประชุม เอสเเคป รัฐมนตรีดิจิทัลภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่เกาหลีใต้ ส่งเสริมการเชื่อมโยงดิจิทัลคุณภาพสูงราคาเข้าถึงได้ เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจอทัลอย่างเท่าเทียม โชว์เน็ตประชารัฐลดช่องว่างการเข้าถึงดิจิทัลของไทย

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เข้าร่วมการประชุม รัฐมนตรีดิจิทัลของภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก Asia - Pacific Digital Ministerial Conference สมัยที่ 1 ที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี จัดโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Ministry of Science and ICT) ของสาธารณรัฐเกาหลี ร่วมกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific - ESCAP) มี Dr. Lee Jong - Ho (ดร. ลี จอง โฮ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของสาธารณรัฐเกาหลี ทำหน้าที่ประธานการประชุม 

โดยมีรัฐมนตรี ผู้แทนระดับสูงจากประเทศสมาชิกเอสแคป ที่รับผิดชอบด้านดิจิทัล ร่วมด้วย Ms. Armida Salsiah Alisjahbana (อาร์มิดา ซัลเซียะฮ์ อาลิสจะฮ์บานา) เลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) เข้าร่วมการประชุมฯ

โดยในการประชุมฯ ได้มีการหารือสถานะ ความท้าทาย และแนวทางการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล การลดความเหลื่อมล้ำ และเสริมสร้างความร่วมมือดิจิทัลในระดับภูมิภาค ตามเจตจำนงที่ประเทศสมาชิกเอสแคปให้ไว้ในปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการเฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปี การก่อตั้งเอสแคป รวมทั้งการรับรองปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือทางดิจิทัลเพื่อกำหนดอนาคตร่วมกัน (Ministerial Declaration on Digital Cooperation for Shaping Our Common Future) ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์การประชุมในครั้งนี้

นอกจากนี้ รัฐมนตรี/ผู้แทนระดับสูงจากประเทศสมาชิกเอสแคป ได้มีการกล่าวถ้อยแถลงในประเด็นเกี่ยวกับความท้าทายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นโยบายและการดำเนินการที่ประเทศของตนดำเนินการเพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงทางดิจิทัลที่มีคุณภาพสูงและราคาเข้าถึงได้ เพื่อมุ่งไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลให้เป็นสังคมดิจิทัลที่ครอบคลุมและเท่าเทียม

ชาวบ้านแห่สมัครงาน 'เหมืองทองอัครา' หลังหยุดกิจการไปเกือบ 6 ปี

เหมืองแร่ทองคำอัคราพิจิตรที่หยุดกิจการไปเกือบ 6 ปี วันนี้ประกาศรับสมัครพนักงานระดับปฏิบัติการกว่า 160 ตำแหน่ง เปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ขอรับใบสมัคร ปรากฏว่าแห่กันมาเป็นพันคน หวังมีงานทำมีรายได้อยู่ใกล้บ้าน ในขณะที่เหมืองทองพร้อมเดินเครื่องปลายปี 65 หรือต้นปี 66 เชื่อมั่นเศรษฐกิจชุมชนที่เงียบเหงาจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง

(10 พ.ย. 65) นายวรงค์ สราญฤทธิชัย ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายบริหารองค์กร บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงความคืบหน้าของการดำเนินกิจการว่าขณะนี้ภายในโรงงานเริ่มดำเนินการซ่อมแซมโรงงานครั้งใหญ่ที่เรียกว่า MAJOR OVERHAUL เครื่องจักร รวมถึงอาคารสถานที่สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภายในโรงงาน ซึ่งดำเนินการมาแล้วเกือบ 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งการซ่อมแซมเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ 

ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมการเปิดดำเนินกิจการฝ่ายบุคคลจึงได้ประกาศรับสมัครพนักงงานใน 11 แผนก 166 อัตรา โดยเชิญชวนผู้ที่สนใจมาขอรับใบสมัครได้ด้วยตนเองที่สำนักงานอัคราเพื่อชุมชน ในช่วงระหว่างวันที่ 7-16 พ.ย. 65 (เว้นวันเสาร์-อาทิตย์) หรือ จะสมัครผ่านเว็ปไซต์ ออนไลน์ หรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่บริษัทอัคราได้ประกาศอย่างเปิดเผย

ปรากฏว่าได้รับความสนใจ มีผู้แห่กันมาขอรับใบสมัครในช่วง 3 วันที่ผ่านมา มากกว่า 1 พันราย โดยมาขอใบสมัครแล้วนำเอกสารไปกรอกข้อความที่บ้านและให้นำมายื่นในวันที่ 14-16 พ.ย. 65 โดย คุณสมบัติหลัก ๆ ของผู้ที่สมัครมี 4 ข้อด้วยกันคือ 

1. เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ 
2. มีทัศนคติที่ดีต่อการทำเหมืองแร่ 
3. ถ้าเป็นคนในพื้นที่จะได้รับพิจารณาเป็นพิเศษ 
4. ต้องเป็นผู้ที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด

นายวรงค์ สราญฤทธิชัย ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายบริหารองค์กร บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ตอบคำถามถึงงบประมาณที่ใช้ในการ MAJOR OVERHAUL เครื่องจักร รวมถึงอาคารสถานที่สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภายในโรงงาน ว่า ใช้ทุนดำเนินการมากถึง 500 ล้านบาท สาเหตุเนื่องจากโรงงานหยุดกิจการมาเกือบ 6 ปีแล้ว 

'สุริยะ' สั่งกรมโรงงานฯ เดินหน้าตรวจโรงงานเชิงรุก ช่วยรับมือ PM 2.5 ย้ำ!! ไม่ปรับปรุง สั่งปิดทันที

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมรับมือในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) มอบนโยบายดำเนินการต่อเนื่องตาม 3 มาตรการ คือ 1. มาตรการเร่งด่วน เข้มงวด กรณีตรวจพบโรงงานปล่อยเกินมาตรฐาน ให้ออกคำสั่งปรับปรุงแก้ไขทันที 2. มาตรการระยะกลาง พัฒนาระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษทางอากาศระยะไกล (Pollution Online Monitoring System: POMS) และ 3. มาตรการระยะยาว ทบทวนและปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล โดยมอบหมายกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันนโยบายสู่การดำเนินการอย่างบูรณาการ และให้เน้นตรวจเชิงรุกด้านฝุ่นละอองโรงงานที่มีกระบวนการเผาไหม้ โรงงานที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง โรงงานที่มีการใช้หม้อน้ำ โรงงานหลอมเหล็กหรือโลหะ โรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ และโรงงานผลิตแอสฟัลติก ที่มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 896 โรงงาน แบ่งเป็นโรงงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 260 โรงงาน โรงงานในเขตปริมณฑล (สมุทรปราการ ปทุมธานี นครปฐม และนนทบุรี) จำนวน 636 โรงงาน หากพบการกระทำผิด จะให้สั่งปรับปรุงแก้ไขหรือหยุดประกอบกิจการทันที

‘บิ๊กป้อม’ เร่งผลักดัน ‘Smart Cities’ เมืองอัจฉริยะอาเซียน ขยายเพิ่ม 'เชียงใหม่, ขอนแก่น, ฉะเชิงเทรา, ระยอง'

พล.อ.ประวิตร ประชุมเร่งผลักดัน 'Smart Cities' พัฒนาเมืองให้น่าอยู่ ปลอดภัย มีมติพิจารณา ‘เชียงใหม่, ขอนแก่น, ฉะเชิงเทรา, ระยอง’ เป็นเมืองอัจฉริยะอาเซียน เพิ่มศักยภาพการลงทุน ตามนโยบายรัฐบาล

(9 พ.ย. 65) พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษก รอง นรม. เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ครั้งที่ 1/2565 ณ ห้องประชุม มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ที่ประชุมได้รับทราบ รายงานความคืบหน้าการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ประจำปี 65 ซึ่งเมื่อ 5 ส.ค. 65 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ ได้มีมติให้ประกาศมอบตราสัญลักษณ์ เพื่อรับรองการเป็นพื้นที่พัฒนาเมืองอัจฉริยะ ประจำปี 65 จำนวน 15 เมือง ใน 14 จังหวัด

KKIC ผนึก 'มิตรผล' ดึง 50 พันธมิตร 'รัฐ-เอกชน' ผุด Isan BCG Expo 2022 ดันศก.อีสานโตยั่งยืน

KKIC จับมือกลุ่มมิตรผล รวมพลัง 50 พันธมิตร ภาครัฐและเอกชน จัดงาน Isan BCG Expo 2022 สร้าง ‘อีสาน’ ศูนย์กลางขับเคลื่อน BCG ทั่วอาเซียน เร่งพัฒนานวัตกรรมยั่งยืน ผสานอัตลักษณ์ท้องถิ่นดันเศรษฐกิจฐานรากโตยั่งยืน 

เมื่อวานนี้ (8 พ.ย. 65) KKIC หรือ Khon Kaen Innovation Center จับมือกลุ่มมิตรผล ประสานความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชน ผนึกพลังขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG จัดงาน Isan BCG Expo 2022 งานมหกรรมนวัตกรรมยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอีสานและครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมเดินหน้าผลักดัน ‘อีสาน’ ให้เป็นศูนย์กลางสร้างเศรษฐกิจไทยสู่ภูมิภาคอาเซียน พร้อมเร่งพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรม และเกษตรกรรมให้ทัดเทียมระดับสากลผสานจุดแข็งชูอัตลักษณ์ในท้องถิ่น มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจ ควบคู่กับการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด ‘ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ’ 

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กรรมการ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า เมื่อโลกกำลังเผชิญความท้าทายกับวิกฤตซ้ำซ้อนและใกล้ตัวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโลกรวน วิกฤตพลังงาน ภาวะเงินเฟ้อ ขาดแคลนอาหาร และสังคมเหลื่อมล้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตคนไทยอย่างมาก ดังนั้น การปรับโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ ​และความต่อเนื่อง​ในการแก้ปัญหาเป็นเป้าหมายสำคัญ ​คือ การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของระบบเศรษฐกิจ​ควบคู่กับการลดความเหลื่อมล้ำ​ทางสังคม​ โดยส่งเสริมให้ภาคการผลิต​ การค้า​ การลงทุนให้มีความเข้มแข็ง​ และสามารถกระจายโอกาสสู่ภูมิภาคซึ่งจะเป็นการพัฒนา​ที่ยั่งยืน ดังนั้น การพัฒนา​เชิงพื้นที่​ (Area-based development) เป็นเป้าหมาย​ที่สำคัญ​ในการกระจายความเจริญ​ โดยเฉพาะในภาคอีสาน​ที่มีศักยภาพ​ ในภาคการเกษตร​ อุตสาหกรรม​ และบริการ​ รวมทั้งเป็นแหล่งแรงงาน และการค้าชายแดนที่สำคัญ​

“หนึ่งในเป้าหมายหลักที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอีสาน คือการประยุกต์ใช้นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี​ชีวภาพ​ เทคโนโลยี​หมุนเวียน​ และ​เทคโนโลยี​เขียว​ (BCG)​ เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน​ แต่อย่างไรก็ตาม การประสานสามความร่วมมือ​ทุกภาคส่วนระหว่าง​ภาครัฐ​ ภาคเอกชน​ และภาคประชาสังคม จะเป็นพลังร่วมที่จะขับเคลื่อน​อีสานให้หลุดพ้นจากความยากจนและก้าวสู่ความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน”

นายกวิน ว่องกุศลกิจ กรรมการ ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ (KKIC) กล่าวเสริมว่า “KKIC ร่วมมือกับพันธมิตร ภาครัฐและภาคเอกชน กว่า 50 ราย อาทิ กลุ่มมิตรผล, ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด, บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ส จำกัด, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA), สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB), สมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย หรือ TOCA, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, บริษัท โตโยต้าขอนแก่น ผู้จำหน่ายโตโยต้า จำกัด, โรงพยาบาลกรุงเทพขอนแก่น และ เทศบาลนครขอนแก่น เป็นต้น จัดงาน Isan BCG Expo 2022 งานมหกรรมนวัตกรรมยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอีสานและครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อขยายพลังความร่วมมือการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ครั้งแรกในภาคอีสาน ซึ่งเป็นทางรอดเดียวที่จะช่วยแก้วิกฤตเศรษฐกิจที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ พร้อมผลักดัน และสร้างให้ภาคอีสานเป็นศูนย์กลางสร้างเศรษฐกิจไทยสู่ภูมิภาคอาเซียน จากศักยภาพและความพร้อมของภาคอีสานที่เหมาะสมในการพัฒนาเทคโนโลยี และสังคมสีเขียวตาม BCG model เนื่องจาก มีความหลากหลายทางชีวภาพ ทรัพยากร และความพร้อมของแรงงาน รวมถึง เป็นพื้นที่เชื่อมต่อเศรษฐกิจกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง และจีนตอนใต้ผ่าน ASEAN Highway และรถไฟความเร็วสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นจังหวัดศูนย์กลาง และเป็นประตูสู่ภาคอีสานที่เป็นเมืองแห่งการศึกษา และเป็นศูนย์รวมโรงพยาบาลและสถาบันการแพทย์ที่ล้ำสมัยที่สุดในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง

“Khon Kaen Innovation Center หรือ (KKIC) ศูนย์รวมความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรม ที่มุ่งเน้นพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ อาหาร และการเกษตร รวมไปถึงดำเนินแนวทางตามเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยการนำวัสดุเหลือใช้สร้างเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงทางอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังเปิดกว้างด้านความร่วมมือในด้านต่าง ๆ กับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันวิจัย เพื่อร่วมกันพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน และสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติต่อไป และเป็นส่วนหนึ่งในการเดินหน้าสนับสนุนพัฒนาชุมชน และสร้างความเข้มแข็งจากจุดแข็งที่มีของชุมชน โดยเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการชูอัตลักษณ์ท้องถิ่น และการนำนวัตกรรมมาช่วยพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทำให้ยกระดับชุมชน มีอาชีพ มีรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดี”  

'NRPT' ดึง 'Wicked Kitchen' แพลนต์เบสดังระดับโลก รับโปรตีนจากพืชมาแรง ขายแล้วเฉพาะที่ 'ท็อปส์'

ครั้งแรกในเอเชีย 'NRPT' ดึง 'Wicked Kitchen' แพลนต์เบสชื่อดังอังกฤษ เปิดตัวในไทย พร้อมจำหน่ายเฉพาะที่ 'ท็อปส์' / 'ท็อปส์ ฟู้ด ฮอลล์' และท็อปส์ ออนไลน์

'NRPT' ผู้พัฒนาและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช หรือ แพลนต์เบส ดึงสตาร์ตอัปแบรนด์อาหารโปรตีนจากพืชชื่อดังจากอังกฤษ พร้อมจับมือ 'ท็อปส์' เบอร์ 1 ฟู้ดรีเทลของไทย เปิดตัว 'Wicked Kitchen' แบรนด์อาหารแพลนต์เบสชื่อดังระดับโลกจากอังกฤษ จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุดเอ็กซ์คลูซีฟครั้งแรกในประเทศเฉพาะร้านท็อปส์ (Tops) และ ท็อปส์ ฟู้ด ฮอลล์ (Tops Food Hall) 50 สาขา ทั่วประเทศ และท็อปส์ ออนไลน์ พร้อมเปิดตัวสินค้าใหม่ทั้งหมด 17 รายการ ได้แก่ สินค้ากลุ่ม Frozen Ready meals และของหวาน ที่พร้อมวางจำหน่ายในช่วงแรกของการเปิดตัว ส่วนกลุ่ม Frozen pizza และไอศกรีม จะพร้อมวางจำหน่ายในช่วงต้นเดือนธันวาคม โดยตั้งเป้าเพิ่มจำนวนสินค้าเป็น 30 รายการ ในช่วงต้นปีหน้า เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์กลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ มุ่งเป็นโมเดลต้นแบบการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายสเตฟาน คูม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มฟู้ด เซ็นทรัล รีเทล กล่าวว่า 'ท็อปส์' ในฐานะผู้นำฟู้ด รีเทลเมืองไทย เราให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดในทุกวันตามแนวคิด 'Every Day DISCOVERY' พร้อมตอบสนองทุกความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปในทุกช่วงเวลาจากพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันพบว่า ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น ลดการบริโภคเนื้อสัตว์และหันมาเลือกรับประทานเนื้อจากพืชซึ่งดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้สินค้ากลุ่มแพลนต์เบสในไทยเติบโต 

ขณะเดียวกันในกลุ่มลูกค้าท็อปส์พบว่า มีความนิยมซื้อสินค้าแพลนต์เบสเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากท็อปส์มีสินค้ากลุ่มแพลนต์เบสที่หลากหลาย มีรสชาติที่อร่อย ทำให้ผู้บริโภครับประทานได้ง่าย จากผลตอบรับที่ดีดังกล่าวทำให้ท็อปส์เล็งเห็นการเติบโตของเทรนด์ความต้องการสินค้าแพลนต์เบส เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้เชี่ยวชาญตัวจริงด้านการคัดสรรสินค้าคุณภาพจากแหล่งผลิตที่ดีที่สุดทั่วโลก เราจึงนำสินค้าชื่อดังจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า 

ล่าสุดได้ร่วมกับ บริษัท เอ็นอาร์พีที ผู้นำทางด้านนวัตกรรมอาหารแพลนต์เบสและอาหารแห่งอนาคต ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง อินโนบิก (เอเซีย) และ เอ็นอาร์เอฟ เปิดตัว Wicked Kitchen แบรนด์อาหารแพลนต์เบส 100% ระดับโลกจากประเทศอังกฤษจำหน่ายครั้งแรกในประเทศไทย เอ็กซ์คลูซีฟเฉพาะ ร้าน Tops และ Tops Food Hall  50 สาขาทั่วประเทศ และ ช่องทางท็อปส์ออนไลน์ ทำให้ลูกค้าท็อปส์จะได้เลือกซื้อสินค้าแพลนต์เบสไอเทมใหม่ที่หลากหลาย เป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการรับประทานอาหารแพลนต์เบส ตลอดจนเป็นการขยายฐานลูกค้าซึ่งจะทำให้ตลาดสินค้ากลุ่มแพลนต์เบสในประเทศไทยเติบโตเพิ่มมากขึ้น

นายพีท สเปอเรนซาร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Wicked Kitchen กล่าวว่า "บริษัทมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้าทำการตลาดในเอเชีย โดยเริ่มต้นที่ประเทศไทยเป็นที่แรก ซึ่งได้จับมือกับ 'ท็อปส์'  ผู้นำธุรกิจด้านฟู้ด รีเทล และมีเจตนารมย์ร่วมกันในการปฏิวัติวงการอาหารโปรตีนจากพืช พร้อมด้วยพันธมิตรทางธุรกิจอย่าง NRPT และ อินโนบิก ที่จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งและร่วมสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้บริโภคชาวไทย ได้เข้าใจถึงความสำคัญของการทานอาหารโปรตีนจากพืช ที่ไม่ใช่เพียงเพื่อการบริโภคเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับโลกเพื่อคนรุ่นต่อไปอีกด้วย"

'PTT – OR – TOYOTA – BIG' ผนึกกำลังดัน Future Energy ผุดต้นแบบสถานีเติมไฮโดรเจนแห่งแรกในไทย

4 ยักษ์ใหญ่ 'PTT – OR – TOYOTA – BIG' ผนึกกำลังเสริมแกร่ง Future Energy เปิดสถานีต้นแบบเติมไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงแห่งแรกของประเทศไทย จับมือเดินหน้าสู่ผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด พร้อมรองรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) อนาคตใหม่ของการเดินทางเติมเต็มความยั่งยืนให้กับระบบนิเวศยานยนต์แห่งอนาคต 

มอบประสบการณ์การเดินทางรูปแบบใหม่ ด้วยรถยนต์ โตโยต้า มิไร (Toyota Mirai) รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน ในรูปแบบรถรับส่งระหว่างสนามบินอู่ตะเภา จ.ชลบุรี (U-Tapao Limousines) ให้บริการนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจในพื้นที่พัทยา - ชลบุรี ตอบรับแผนภาครัฐ สู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) เพื่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย

(8 พ.ย. 65) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) นายวิศาล ชวลิตานนท์ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG) นายปาซานา กาเนซ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (TDEM) และ นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (TMT) ร่วมเปิดสถานีนำร่องทดลองใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle: FCEV) แห่งแรกของประเทศไทย (Hydrogen Station) ณ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยการนำรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง รุ่นมิไร (Mirai) ของโตโยต้า มาเพื่อทดสอบการใช้งานในประเทศไทย ให้บริการในรูปแบบรถรับส่งระหว่างสนามบินอู่ตะเภา จ.ชลบุรี (U-Tapao Limousines) สำหรับนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารในพื้นที่พัทยา - ชลบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง โดยจะทำการเก็บข้อมูลเชิงเทคนิคที่ได้จากการใช้งานจริง เพื่อสร้างการรับรู้และเป็นข้อมูลรองรับการขยายผลใช้งานในอนาคต

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า ปตท. ตระหนักถึงความสำคัญเร่งด่วนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก จึงมุ่งผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ พร้อมทั้งส่งเสริมการสร้างความร่วมมือกับภาคีต่าง ๆ เพื่อร่วมกันผลักดันประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าว ทั้งนี้ ปตท. เล็งเห็นว่าการลงทุนด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาดอย่างไฮโดรเจน ซึ่งเป็นพลังงานที่มีศักยภาพ จะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามการนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ เป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับประเทศไทยที่จำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และการลงทุนมูลค่าสูง ความร่วมมือของ 5 พันธมิตรชั้นนำในกลุ่มพลังงานและยานยนต์ครั้งนี้ จึงเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ทั้งในด้านมาตรฐานระดับสากล และความปลอดภัยสูงสุดที่จะส่งมอบให้กับผู้ใช้บริการในอนาคต โดย ปตท. ได้ร่วมสนับสนุนการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานของระบบอัดบรรจุก๊าซไฮโดรเจน และข้อมูลเชิงเทคนิคที่จำเป็น ร่วมผลักดันการใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาด เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เติบโตไปด้วยกันในทุกมิติอย่างสมดุลและยั่งยืน

นายวิศาล ชวลิตานนท์ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) กล่าวว่า จากแนวโน้มการใช้พลังงานในการเดินทางและการขนส่งในปัจจุบันที่รถไฟฟ้าเริ่มได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากขึ้น และหนึ่งในพันธกิจของ OR คือการสร้าง Seamless Mobility โดยมุ่งตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะต้องการพลังงานชนิดใดสำหรับการเดินทาง เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ รวมทั้งมุ่งมั่นผลักดันการใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับการเดินทางและการขนส่งให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในประเทศ ตลอดจนพัฒนาธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) อย่างครบวงจร ซึ่งการสร้างสถานีบริการไฮโดรเจนเพื่อเติมไฮโดรเจนในรถยนต์ FCEV ครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญซึ่งจะช่วยเติมเต็มศักยภาพของโออาร์ในการมุ่งสู่การเป็นผู้นำ EV Ecosystem ในทุกมิติ โดยผู้บริโภคที่ใช้รถยนต์ FCEV ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเติมเชื้อเพลิง เนื่องจากการเติมไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ รูปแบบ Passenger Car ใช้เวลาเพียง 5 นาที ซึ่งตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ ที่ชอบการบริการที่สะดวกรวดเร็ว อีกทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคผู้ใช้หรือมีแผนที่จะใช้รถ FCEV และพันธมิตรผู้ค้าในคุณภาพและมาตรฐานการบริการ ซึ่งเป็นผลดีกับการเติบโตของตลาดรถยนต์ EV และในอนาคตจะมีการพัฒนาการใช้พลังงานไฮโดรเจนในกลุ่มรถ FCEV ขนาดใหญ่ เช่น รถบัสและรถบรรทุก ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดเวลาในการเติมเชื้อเพลิง สามารถเพิ่มรอบการขนส่ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำไรให้แก่ธุรกิจอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับเป้าหมายปี 2030 ของ โออาร์ ในมิติด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ (Healthy Environment) เพื่อมุ่งสู่การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon-neutrality) ภายในปี 2030 ซึ่งจะเป็นรากฐานที่นำไปสู่เป้าหมายการเป็นองค์กรที่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Carbon Zero) ในปี 2050 ต่อไปอีกด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top