Monday, 2 December 2024
COLUMNIST

กล่าวหา 'สมเด็จย่า' ทรงอยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหาร 10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ

‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’

กรณีการกล่าวว่า ‘สมเด็จย่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร 2490’ และ ‘ในหลวงทรงทราบแผนการรัฐประหาร 2490 ล่วงหน้า 2 เดือน’ ของ ณัฐพล ใจจริง

กรณีที่พวกเราทุ่นดำทุ่นแดงจะกล่าวถึงในตอนนี้ น่าจะเป็นประเด็นหลักสุดท้ายที่พวกเราจะกล่าวถึง (หากยังไม่มีการตรวจสอบและพบจุดผิดพลาดเพิ่มเติมอีก) ซึ่งประเด็นนี้สำคัญไม่น้อยต่อการวิเคราะห์และประเมินการใช้หลักฐานในการอธิบายประวัติศาสตร์ซึ่งได้ส่งผลมาสู่การพยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์และสร้างกระแสความรู้สึกเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์มาจนถึงปัจจุบัน 

ซึ่งต้นเรื่องดังกล่าวพบว่ามีที่มาจากการที่ณัฐพล ใจจริง ได้กล่าวในวิทยานิพนธ์และหนังสือของเขาเรื่อง ‘สมเด็จย่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร 2490’ และ ‘ในหลวง ร.9 ทรงทราบแผนการรัฐประหาร 2490 ล่วงหน้า 2 เดือน’ จนเกิดการนำไปสู่การอ้างอิงต่อ ๆ กันอย่างกว้างขวาง โดยไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเสียก่อน โดยพวกเราจะแยกโพสต์ออกเป็นสองโพสต์ โพสต์แรกคือกรณีสมเด็จย่า และโพสต์ที่สองคือกรณีในหลวงทรงรู้การรัฐประหารก่อนล่วงหน้า 2 เดือน

1. ข้อความของณัฐพลในวิทยานิพนธ์ การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ.2491-2500) หน้า 64 

ณัฐพล ได้ระบุข้อความว่า “สถานทูตอังกฤษได้รายงานผู้อยู่เบื้องหลังรัฐประหารครั้งนี้ [พ.ศ. 2490] ว่า คือ พระราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล” (โดยส่วนนี้ ณัฐพล อ้างอิงจาก Nicholas Tarling, “Britain and the Coup 1947 in Siam,” Paper presented to International Association of Historians of Asia, Chulalongkorn University, Bangkok 20-24 May 1996, p. 3.) 

และได้ระบุข้อความต่อจากประโยคข้างต้นว่า “โดยหนังสือพิมพ์ไทยร่วมสมัยได้พาดหัวข่าวขณะนั้นว่า ‘ในหลวงรู้ปฏิวัติ 2 เดือนแล้ว’ ทั้งนี้ พล ท.กาจ กาจสงคราม ให้คำสัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ต่อมาว่า เขาได้เคยส่งโทรเลขลับรายงานแผนรัฐประหารให้พระองค์ทรงทราบล่วงหน้า 2 เดือนก่อนลงมือรัฐประหาร” (ณัฐพล อ้างจาก หนังสือพิมพ์เอกราช, 10 พฤศจิกายน 1947)

ส่วนในหนังสือ ขุนศักดินา และพญาอินทรี (2563) ซึ่งหากพิจารณาจากเนื้อหาแล้วก็ควรไปปรากฏอยู่ที่หน้า 61 ซึ่งมีเนื้อหาส่วนเดียวกันกับในวิทยานิพนธ์ แต่ ณัฐพล กลับได้ตัดทิ้งข้อความในทั้ง 2 ประเด็นนี้ออกไป! ซึ่งพวกเราขอให้จำส่วนนี้ไว้ให้ดีเพราะมันจะกลับมามัดการใช้หลักฐานของณัฐพลเสียเอง

2. ข้อค้นพบในหลักฐานชิ้นแรกที่ณัฐพลอ้าง คือ Nicholas Tarling, “Britain and the Coup 1947 in Siam,” หน้าที่ 3 พวกเราได้ตรวจสอบงานชิ้นดังกล่าว โดยในงานชิ้นนี้ได้ระบุข้อความว่า…

“If, as it appeared, the coup was backed by the Princess Mother, Allen noted, ‘it behaves us to be doubly careful in condemning it – since one of its consequences may be something we have all along hoped for, namely the return of the young king […] his absence having been a serious factor in the instability of the country during the last eighteen months’.”

ซึ่งแปลได้ว่า “อย่างไรเสีย, มันดูเหมือนว่า, การรัฐประหารได้รับการสนับสนุนโดยพระราชชนนี, อัลเลนได้บันทึกไว้ว่า, ‘เราเองก็ควรจะระมัดระวังในการประณามการรัฐประหาร เพราะอาจจะทำให้สิ่งที่เราคาดหวังมาตลอด, คือการเสด็จนิวัตพระนครของยุวกษัตริย์ […] การที่พระองค์ไม่ได้ทรงประทับอยู่ในประเทศเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อที่ความไร้เสถียรภาพตลอด 18 เดือนที่ผ่านมา” โดยในข้อความนี้ Tarling อ้างมาจากเอกสาร F.O.371/65911 [F15065/1565/40] 

พวกเราจึงได้ไปตามเอกสารต้นฉบับดังกล่าวซึ่งเก็บไว้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติประเทศอังกฤษ และพบข้อความในเอกสารชิ้นนี้ ซึ่งระบุว่า…

“Siamese revolution, which appears to be not merely a stroke of ambition [of] … Pibul, but a concerted move supported by the more conservative members of the Royal Family (including no doubt the Princess Mother who controls the King).”

แปลได้ว่า “การปฏิวัติในครั้งนี้ ดูเหมือนว่าจะมิใช่เป็นเพียงความทะเยอทะยานของหลวงพิบูลอย่างเดียว แต่ยังได้รับการสนับสนุนจากพระบรมวงศานุวงศ์ที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมมากกว่าด้วย (ซึ่งไม่น่าแปลกใจว่าหมายรวมถึงพระราชชนนี ซึ่งเป็นผู้ปกครองดูแลยุวกษัตริย์ด้วย)”

เมื่อได้ทำการประมวลพร้อมกับหลักฐานอื่น ๆ ที่ได้ไปสืบค้นเพิ่มเติมมา พวกเราจึงตั้งข้อสังเกตต่อการกล่าวอ้างของญัฐพล ดังนี้

1. ในรายงานของอังกฤษฉบับดังกล่าวเป็นรายงานลงวันที่ 8 Jan 1948 (8 มกราคม 2491) โดย Allen ซึ่งทราบจาก Thompson ทูตอังกฤษ

ซึ่งเป็นการรายงานย้อนหลังหลังการเกิดรัฐประหารได้ 2 เดือนแล้ว และหากสมเด็จย่าทรง ‘อยู่เบื้องหลัง’ ดังที่ณัฐพลกล่าวอ้างจากรายงานฉบับนี้ ก็ควรจะปรากฏรายงานเช่นนี้ออกมาให้เร็วกว่านี้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันรัฐประหารหรือหลังจากนั้นไม่นานนัก) 

อีกทั้ง การ ‘support’ ในที่นี้ยังหมายถึงการ ‘ยอมรับ’ ในสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วได้อีกด้วย (de facto) เพราะลองนึกภาพตามจะพบว่าเพียงพระราชชนนีลำพังทำอะไรได้ ในขณะที่อีกฝ่ายของจอมพล ป. มีทั้งปืนและทรัพยากรต่างๆ ? 

อีกทั้งยังพบข้อมูลเพิ่มเติมอีกด้วยว่า ก่อนหน้านี้แม้แต่ Thompson ยังเคยได้รายงานไปยังกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษในลอนดอนเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2490 (ก่อนการรัฐประหารหลายเดือน) ว่าการกลับมาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตอาชญากรสงครามในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น “ไม่ใช่จะเป็นไปไม่ได้เลย” (Geoffrey F. Thompson, The British Minister in Bangkok, believed that the prospect of Pibul’s return was by no means unlikely.) 

และทูตอังกฤษยังได้วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจด้วยว่า “พวกรอยัลลิสต์ยังคงหวาดกลัวจอมพล ป. มิเสื่อมคลาย” (The very fear of him still endures in influential [including Royalists] circles here.) จากเอกสาร F.O. 371/63910, Thompson to Bevin 6 April 1947 อ้างใน Nik Mahmud, The November 1947 Coup: Britain, Pibul Songgram and The Coup, p. 9.

นั่นหมายความว่า การกลับมาของจอมพล ป. (ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม) “ไม่ใช่สิ่งที่พวกรอยัลลิสต์ไทยพอใจนัก” สอดคล้องกับพฤติกรรมของคณะรัฐประหารที่ได้กระทำการบีบบังคับด้วยกำลังแก่กรมขุมชัยนาทฯ ให้ลงพระนามในรัฐธรรมนูญฉบับ 2490 (ที่พวกเรา ทุ่นดำ-ทุ่นแดง ได้ชี้ให้เห็นในการตรวจสอบประเด็นดังกล่าวนี้ที่อาจารย์ไชยันต์ได้โพสต์ไปก่อนหน้านี้แล้ว) 

2. เมื่อได้ทำการตรวจสอบเอกสารชิ้นอื่น ๆ ที่เป็นรายงานทั้งของสหรัฐอเมริกาและของอังกฤษ 

พวกเรากลับไม่พบรายงานอื่น ๆ ที่ระบุว่าพระราชชนนีหรือสมเด็จย่า ‘อยู่เบื้องหลัง’ การรัฐประหารที่จะมาให้น้ำหนักหรือสอดคล้องกับเอกสารชิ้นนี้เลย 

โดยปกติแล้วการทดสอบหลักฐานด้วยการทดสอบไขว้เพื่อยืนยันความถูกต้อง (crossed check) มักย่อมถูกใช้เพื่อวิเคราะห์ว่ามีเอกสารใดบ้างกล่าวตรงกัน และได้รับข้อมูลมาจากแหล่งข่าวเดียวกันหรือไม่ มีการประเมินความน่าเชื่อถืออย่างไร เช่น กรณีที่กรมขุนชัยนาทฯถูกบังคับให้ลงนามรับรองการรัฐประหารที่พวกเรา (ทุ่นดำ-ทุ่นแดง) ได้เอาหลักฐานชั้นต้นของทั้งของไทย อังกฤษและอเมริกามาให้ดูเป็นขวัญตาว่ากล่าวตรงกันว่าทรงถูกบังคับจริง ๆ 

จึงกล่าวได้ว่า รายงานนี้เป็นรายงานฉบับเดียวที่ระบุข้อความที่ว่าสมเด็จย่ามีส่วนเกี่ยวข้อง 

ดังนั้น ผู้ใดมีใจเป็นนักวิชาการก็ควรจะชั่งน้ำหนักให้มาก เพราะหากหากสมเด็จย่าอยู่เบื้องหลังจริง ก็ควรจะมีรายงานฉบับอื่น ๆ ให้รายละเอียดมาด้วยว่าเกิดอะไรขึ้นต่อจากนั้น 

แต่เรากลับไม่พบหลักฐานต่อเนื่องเหล่านั้นแม้แต่ชิ้นเดียว นอกจากเอกสารในช่วงหลังวันปฏิวัติ/รัฐประหาร สด ๆ ร้อน ๆ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2490 ที่ทางกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้จัดทำรายงานสรุปสถานการณ์การรัฐประหารของไทยในปี 2490 อย่างเป็นภาพรวม โดยระบุว่า “ในความเห็นเบื้องต้น [ของเอกอัครราชทูตอังกฤษในไทย - Thompson] เชื่อว่า การรัฐประหารครั้งนี้ เป็นการเคลื่อนไหวของพวกฝ่ายขวาที่ได้รับการสนับสนุนจากพระบรมวงศานุวงศ์” (His preliminary opinion is that coup d’etat is a right-wing movement supported by Royal Family)  (ที่มา F15065/1565/40, 15 November 1947)

จึงกล่าวได้ว่า ข้อมูลชุดที่ทางกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้รับมานี้ ล้วนแล้วแต่มาจาก Thompson เพียงคนเดียวนั่นเอง และข้อมูลในชุดเดียวกันนี้ก็ได้ไปปรากฏซ้ำในรายงาน F.O.371/65911 [F15065/1565/40] ของ Thompson ในวันที่ 8 มกราคม 2491 หรือเกือบ 2 เดือนหลังจากเอกสารวันที่ 15 พฤศจิกายน 2490 นั้นเอง กล่าวคือ เป็นเอกสารคำพูดแทบจะ copy เลยทีเดียว หากแต่รอบหลังมีการอ้างถึงสมเด็จย่ามาด้วยเท่านั้น!

3. จะเห็นได้ว่าในงานเขียน Tarling ซึ่งได้อ้างอิงจากเอกสารอังกฤษชิ้นเดียวกันนั้น ทาง Tarling เองก็ได้จงใจใส่อนุประโยคว่า “as it appeared” ซึ่งแปลได้ว่า 

“มันดูเหมือนว่า/ดูราวกับว่า” เข้ามาด้วย ซึ่งถ้าหาก Tarling มั่นใจว่าสมเด็จย่ายู่เบื้องหลังจริง เขาก็ไม่จำเป็นต้องเติมประโยคนี้เข้ามาเพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือในข้อมูลนี้เลย 

ทั้งนี้ น่าเชื่อว่า Tarling ก็น่าจะเห็นข้อความจากเอกสารชิ้นเดียวกับเรา ที่ระบุเพียงข้อคิดเห็นส่วนตัวของ Thompson (ทูตอังกฤษผู้เขียนรายงานชิ้นนี้ที่ Tarling นำมาอ้าง และณัฐพลเอามาอ้างต่อ ) ที่สันนิษฐานว่าพระราชชนนีทรงมีส่วนสนับสนุน ด้วยการเลือกใช้คำว่า ‘no doubt’ ที่แปลได้ว่า ‘ซึ่งไม่น่าแปลกใจว่า…’

4. ควรต้องกล่าวด้วยว่าในเอกสารของอังกฤษเองก็ได้บอกถึงการสนับสนุนหรือการ ‘รับรอง’ ของพระบรมวงศานุวงศ์ไม่ใช่แค่พระราชชนนีเพียงพระองค์เดียว แต่ทำไม ณัฐพล จึงเจาะไปที่พระองค์ (ซึ่งรวมไปถึง Tarling ด้วย)

ซึ่งหากติดตามการอธิบายของณัฐพลให้ดี ก่อนหน้านี้เขาพยายามโยนความผิดในการรับรองรัฐประหารไปให้กรมขุนชัยนาทฯ มาโดยตลอด แต่ในประเด็นนี้ณัฐพลกลับจงใจเลือกที่จะพูดถึงสมเด็จย่าเท่านั้น 

5. ในความเป็นจริงแล้ว พระราชชนนีหรือสมเด็จย่าในขณะนั้น ทรงประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไร้อำนาจและเครือข่ายทางการเมืองใด ๆ (เดิมทรงเป็นสามัญชน) จะให้พระองค์สนับสนุนหรืออยู่เบื้องหลังการรัฐประหารอย่างไร? 

และข้อมูลการสนับสนุนให้พระราชวงศ์เกี่ยวข้องกับการเมืองนี้ กลับย้อนแย้งกับความพยายามของสมเด็จย่าที่พยายามที่จะหลีกเลี่ยงการเมืองมาตลอด (โปรดอ่าน ‘เจ้านายเล็ก ๆ ยุวกษัตริย์’ ประกอบ)

กรณีในหลวงทรงรู้การรัฐประหาร อ่านต่อไปในโพสต์ถัดไป!!

บทเพลงพระราชนิพนธ์แห่งความสุข  จากองค์พระมหากษัตริย์สู่พสกนิกรชาวไทย 

ประเทศไทยของเราเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่จากเดิมที่นับเอาวันที่ ๑ เมษายนของทุกปีเป็นวันปีใหม่แบบของไทยเรา โดยนับเนื่องกันมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งเรามีเพลงประจำปีใหม่ไทยของเราหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ซึ่งแต่งทำนองและเรียบเรียงโดย 'พระเจนดุริยางค์' (ปิติ วาทยะกร) แต่งคำร้องโดย 'ขุนวิจิตรมาตรา' (สง่า กาญจนพันธุ์) โดยมีชื่อเพลงว่า 'เถลิงศก' และเริ่มใช้ขับร้องต้อนรับปีใหม่แบบไทยในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๗ โดยระบุชัดในเนื้อร้องท่อนนึงว่า...

“วันที่หนึ่งเมษายน ตั้งต้นปีใหม่
แสงตะวันพร่างพรายใส สว่างแจ่มจ้า
เสียงระฆังเหง่งหง่างก้อง ร้องทักทายมา
ไตรรงค์ร่าระเริงปลิว พลิ้วพลิ้วเล่นลม.....” 

แต่ร้องกันได้เพียงแค่ ๖ ปีก็มาถึงยุค ‘เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย’ … ‘จอมพล ป.พิบูลสงคราม’ ที่มีความต้องการให้ประเทศไทยมีความเป็นสากลเหมือนอารยประเทศในทุก ๆ เรื่อง โดยเฉพาะ ‘วันปีใหม่’ ซึ่งน่าจะนับเอาตามหลักสากล จึงได้ออกกฎหมายและประกาศ ‘พระราชบัญญัติ ปีปฏิทินพุทธศักราช ๒๔๘๓’ โดยยกเลิกปีใหม่แบบเดิมและให้เริ่มนับเอาวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นปีแรกแห่งการนับปีใหม่ตามหลักสากล เพลง 'เถลิงศก' เพลงปีใหม่เดิมก็เป็นอันเลิกใช้ โดยมีเพลงที่อาจจะอนุมานในการร้องหรือเปิดในช่วงปีใหม่ในช่วงของท่านจอมพลก็คือเพลงประกอบการเต้นลีลาศหรือรำวงมาตรฐานโดยวงสุนทราภรณ์ เช่น ‘รื่นเริงเถลิงศก’ / ‘รำวงปีใหม่’

ส่วนบทเพลงสำคัญที่เปรียบเสมือนพรจากฟ้า เป็นของขวัญของปวงชนชาวไทยในทุกวันขึ้นปีใหม่ เกิดขึ้นเมื่อวันส่งท้ายปี พ.ศ. ๒๔๙๔ นั่นก็คือบทเพลงพระราชนิพนธ์ ‘พรปีใหม่’

‘พรปีใหม่’ เป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๑๓ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นบทเพลงที่ส่งต่อความสุขใจ ความปรารถนาดี จากพระองค์ท่าน สู่พสกนิกรชาวไทยของพระองค์ 

หลังจากที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จนิวัตประเทศไทยและประทับในประเทศไทยเป็นการถาวร ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ จนถึงวาระขึ้นปีใหม่ครั้งนั้น พระองค์มีพระราชประสงค์จะพระราชทานพรปีใหม่แก่พสกนิกรด้วยเพลง 

สำหรับบทเพลง ‘พรปีใหม่’ นี้ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ไม่ได้เริ่มต้นแต่งใหม่ทั้งหมดในคืนวันก่อนปีใหม่ปี ๒๔๙๔ - ๒๔๙๕ แล้วนำไปบรรเลงเลยอย่างที่ทุกคนเข้าใจ แต่จริง ๆ แล้วพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองมานานก่อนหน้านั้นแล้วบางส่วน ก่อนจะมาปรับปรุง เพิ่มเติมจนจบ จากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทยซึ่งเป็นคำอวยพรปีใหม่ ลงไปจนครบซึ่งก็พอดีกับการจะพระราชทานในค่ำคืนวันนั้นพอดี ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำรัสเล่าเบื้องหลังการพระราชนิพนธ์เพลง ‘พรปีใหม่’ พระราชทานแก่คณะกรรมการโครงการ ‘ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์’ ที่เข้าเฝ้าฯ เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ ความว่า...

“...เพลงพรปีใหม่ คนก็ว่าแต่งในวันปีใหม่ หรือวันก่อนวันปีใหม่ แท้จริงแต่งมานาน ก่อนที่จะออกปีใหม่เป็นปีหรือสองปี แล้วก็แต่งแบบทุลักทุเล ตอนนั้นไม่สบาย คืออยู่ที่เมืองนอก ไปมีอุบัติเหตุ หมอบอกว่าห้ามเล่นแซกโซโฟน แต่ว่าท่านจักรพันธ์อยู่ด้วย ก็ให้ท่านเป่าแซกโซโฟน ท่านก็เป่ามีเสียงออกมาได้ แต่ท่านไม่รู้ว่านิ้วจะวางอย่างไร ลงท้ายก็เอานิ้วของเราใส่บนแซกโซโฟน แล้วท่านก็เป่า ลงท้ายท่านก็เล่นแซกโซโฟนได้ และเมื่อหมออนุญาตให้เป่าแซกโซโฟน ก็เลยเริ่มเล่นเป็นเพลงที่แต่งเอาเอง คนหนึ่งเล่นส่วนหลัก แล้วอีกคนก็เล่นต่อสลับกันไปอย่างนี้แล้วจดเอาไว้มาถึงปลายปี ก็เลยนึกว่าเอ๊ะ...เราแต่งเพลงสำหรับให้พรปีใหม่ ก็เอาอันนี้ที่แต่งไว้แล้วมีคนแต่งสองคนไม่รู้ว่าเป็นเพลง ก็มาปรับปรุงให้เป็นเพลงได้…”

เพลงพระราชนิพนธ์เพลงใหม่ที่ได้รับพระราชทานชื่อว่า ‘พรปีใหม่’ เดินทางไปถึงวงดนตรี ๒ วง ในคืนวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ ซึ่งทั้ง ๒ วงกำลังบรรเลงดนตรีส่งท้ายปีเก่ารับปีใหม่อยู่ ๒ แห่ง โดยวงแรกคือวงดนตรีของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งแสดงอยู่ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

อีกวงคือวงสุนทราภรณ์ ซึ่งกำลังแสดงอยู่ที่ศาลาเฉลิมไทย เมื่อทั้ง ๒ วงได้รับบทเพลงพระราชนิพนธ์ ก็ได้นำไปเรียบเรียงเพื่อใช้สำหรับการบรรเลงเป็นวงและเตรียมการขับร้องอยู่สักพักก่อนที่จะนำไปบรรเลงและขับร้องเมื่อเข้าสู่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๕ ซึ่งนอกจากจะสร้างความประหลาดใจจากบทเพลงใหม่ที่ได้รับพระราชทานมาแล้วนั้น ผู้ที่ได้รับชม รับฟัง บทเพลงพระราชนิพนธ์ ‘พรปีใหม่’ ในครั้งนั้น ล้วน ตื่นเต้น ตื้นตัน และปลาบปลื้มไปกับความสุขที่ได้รับพรจากฟ้า จากพระเจ้าแผ่นดินผู้รักผสกนิกรของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง (ผมพิมพ์ไปนึกภาพตามไปยังขนลุกเลย) 

“สวัสดีปีใหม่พา ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์
ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม ต่างสุขสมนิยมยินดี
ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาเราท่านสุขศรี
โปรดประทานพรโดยปรานี ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย
ให้บรรดาเราท่านสุขสันต์ ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมหฤทัย
ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่ ผองชาวไทยจงสวัสดี
ตลอดปีจงมีสุขใจ ตลอดไปนับแต่บัดนี้
ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์ สวัสดีวันปีใหม่เทอญ”

นับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๕ มาถึงปัจจุบัน กว่า ๗๑ ปี ที่ชาวไทยได้ร้องเพลง ‘พรปีใหม่’ ในทุกช่วงเทศกาลฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความสุขและการเดินหน้าต่อไปในทุก ๆ ปีแล้วนั้น เพลงพระราชนิพนธ์เพลงนี้ยังแสดงถึงน้ำพระราชหฤทัยของพระมหากษัตริย์ไทยของเรา ที่อยากเห็นปวงชนชาวไทยมีความสุข อยู่ดีกินดี มีความสุขในบ้าน ในเมือง ที่ร่มเย็นด้วยพระบารมี ตลอดทั้งปีใหม่และตลอดไป

‘ยุทธการใต้พิภพ’ ปฏิบัติการลับทางทหาร ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ ‘กองทัพสหรัฐฯ’ ต้องร่วมมือกับ ‘มาเฟีย’ เพื่อต่อกรกับฝ่ายอักษะ

‘ยุทธการใต้พิภพ’ (Operation Underworld)
เมื่อกองทัพสหรัฐฯ ต้องร่วมมือกับมาเฟียในการทำสงคราม

‘ยุทธการใต้พิภพ’ (Operation Underworld) เป็นชื่อรหัสลับของปฏิบัติการทางทหาร โดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ร่วมมือกับกลุ่มมาเฟีย (อิตาเลียน-อเมริกัน) และกลุ่มอาชญากรชาวยิว ตั้งแต่ปี 1942 – 1945 ปฏิบัติการนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อตอบโต้สายลับและนักก่อวินาศกรรมของฝ่ายอักษะ ที่ปฏิบัติการตามท่าเรือชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา เพื่อหลีกเลี่ยงการนัดหยุดงานของสหภาพแรงงานในภาวะสงคราม และเพื่อจำกัดการขโมยเสบียงและอุปกรณ์สงครามที่สำคัญโดยกลุ่มพ่อค้าในตลาดมืด

ความสงสัยเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการก่อวินาศกรรมของกลุ่มมาเฟีย นำไปสู่ปฏิบัติการ ‘Underworld’ ด้วยในช่วง 3 เดือนแรกหลังการโจมตีของญี่ปุ่นที่อ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1941 สหรัฐฯ ต้องสูญเสียเรือสินค้า 120 ลำ จากเรือดำน้ำและเรือผิวน้ำของเยอรมันในสมรภูมิทางทะเล ในมหาสมุทรแอตแลนติก

ต่อมา ในช่วงบ่ายของวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 1942 เรือเดินสมุทร ‘SS Normandie’ ซึ่งเป็นเรือเดินสมุทรของ ‘ฝรั่งเศส’ ที่ถูกฝ่ายสัมพันธมิตรยึดได้และดัดแปลงเป็นเรือลำเลียงทหารอเมริกัน ซึ่งถูกระบุว่า มีการวินาศกรรมและจมลงด้วยการลอบวางเพลิงในท่าเรือนิวยอร์ก โดย Albert ‘Mad Hatter’ Anastasia หัวหน้ามาเฟีย เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้รับผิดชอบต่อการก่อวินาศกรรมครั้งนี้

สภาพของเรือเดินสมุทร ‘SS Normandie’ หลังจากไฟไหม้และจมลง

รัฐบาลสหรัฐฯ ออกข่าวว่า การสูญเสียเรือเดินสมุทร SS Normandie เป็นอุบัติเหตุ และไม่มีหลักฐานใดที่เชื่อมโยงสายลับฝ่ายอักษะกับการสูญเสียเรือเดินสมุทร SS Normandie บันทึกของฝ่ายอักษะหลังสงครามอ้างว่า “ไม่เคยมีปฏิบัติการก่อวินาศกรรมเรือเดินสมุทร SS Normandie เกิดขึ้น และฝ่ายสัมพันธมิตรเองก็ไม่เคยมีหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่า มีการก่อวินาศกรรมเรือเดินสมุทร SS Normandie ในปี 1954” รายงานการติดต่อระหว่างหน่วยข่าวกรองกองทัพเรือสหรัฐฯ และกลุ่มมาเฟียนิวยอร์ก โดย ‘William B. Herlands’ ก็ไม่ได้กล่าวถึงบทบาทของ Anastasia ในการก่อวินาศกรรมครั้งนั้นแต่อย่างใด

ตลาดปลา Fulton นครนิวยอร์ก ในปี 1936

อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับการก่อวินาศกรรมที่อาจเกิดขึ้นได้ หรือการหยุดชะงักของการทำงานในพื้นที่ท่าเรือ ทำให้นาวาเอก ‘Charles R. Haffenden’ จากสำนักงานข่าวกรองของกองทัพเรือสหรัฐฯ (ONI) เขตกองทัพเรือที่ 3 ในมหานครนิวยอร์ก ต้องจัดตั้งหน่วยรักษาความปลอดภัยพิเศษ เขาจึงได้ขอความช่วยเหลือจาก ‘Joseph Lanza’ ผู้ดูแลตลาดปลา Fulton เพื่อขอรับข่าวกรองต่างๆ เกี่ยวกับบริเวณพื้นที่ท่าเรือนิวยอร์ก เพราะ Lanza ต้องการควบคุมสหภาพแรงงาน และสามารถระบุการดำเนินการเติมเชื้อเพลิงรวมถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการแอบสนับสนุนเรือดำน้ำเยอรมันด้วยความช่วยเหลือจากอุตสาหกรรมประมงตามแนวชายฝั่งแอตแลนติก

‘Meyer Lansky’

เพื่อให้ครอบคลุมกิจกรรมของ Lanza นาวาเอก Haffenden ยังได้เข้าไปพบ ‘Meyer Lansky’ เจ้าของฉายา ‘Mob's Accountant’ หนึ่งในแกนนำของกลุ่ม ‘Jewish Mob’ กลุ่มอาชญากรอเมริกันเชื้อสายยิวของนครนิวยอร์ก ซึ่งก่อนหน้านี้ Lansky เป็นผู้นำการต่อต้านกระทั่งเกิดการปะทะจนสามารถสลายการชุมนุมของ ‘สมาพันธ์เยอรมัน-อเมริกัน’ (German American Bund) ที่สนับสนุนนาซีได้สำเร็จ ซึ่งรวมถึงการชุมนุมครั้งหนึ่งในย่าน Yorkville ถิ่นที่อยู่ของชาวอเมริกันเชื้อสายเยอรมันในเขตแมนฮัตตัน ที่เขาดำเนินการก่อกวนด้วยตัวเอง ร่วมกับผู้ร่วมอุดมการณ์อีก 14 คน

นาวาเอก Haffenden ขอความช่วยเหลือจาก Lansky ในการเข้าถึงตัว ‘Charles ‘Lucky’ Luciano’ แกนนำกลุ่มมาเฟียคนสำคัญ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของ Lansky อีกด้วย โดย ‘Lucky’ Luciano ถูกพิจารณาและตัดสินลงโทษในปี 1936 ในข้อหาบังคับหญิงให้ค้าประเวณีและจัดให้มีการค้าประเวณี หลังจากที่ ‘Thomas E. Dewey’ อัยการเขตได้ติดตามและสอบสวนคดีของ Luciano มาหลายปี ทำให้ Luciano ต้องได้รับโทษจำคุก 30 – 50 ปี ในเรือนจำที่เมือง Dannemora

‘Lucky’ Luciano ตกลงที่จะร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ด้วยความหวังว่า จะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำก่อนกำหนด นอกจาก Lansky และพวกแก๊งชาวยิวที่ต้องการแก้แค้นการกดขี่ชาวยิวของนาซีแล้ว ‘Lucky’ Luciano และกลุ่มมาเฟียยังต้องการแก้แค้น ‘Benito Mussolini’ และระบอบฟาสซิสต์ในอิตาลี หลังจากที่ Mussolini สั่งการให้ ‘Cesare Mori’ ผู้ว่าการเมืองปาแลร์โม กำจัดกลุ่มมาเฟียซิซิลีให้สิ้นซาก ภายในปี 1928 พวกฟาสซิสต์ได้จับกุมสมาชิกกลุ่มมาเฟียที่ต้องสงสัยได้กว่า 11,000 คน และขับไล่กลุ่มมาเฟียให้ออกจากซิซิลีอีกเป็นจำนวนมาก รวมถึง ‘Joseph Bonnano’ และ ‘Carlo Gambino’ 2 นายใหญ่ของ 5 ตระกูลมาเฟียด้วย

‘ปฏิบัติการ Husky’ (Operation Husky) ยกพลขึ้นบกซิซิลีของกองกำลังพันธมิตร ในปี 1943

‘Lucky’ Luciano มีส่วนช่วยใน ‘ปฏิบัติการ Husky’ (Operation Husky) การยกพลขึ้นบกซิซิลีของกองกำลังพันธมิตร ในคืนวันที่ 9 กรกฎาคม 1943 โดยกลุ่มมาเฟียซิซิลีได้มีการจัดทำแผนที่ท่าเรือของเกาะ ภาพถ่ายแนวชายฝั่ง และรายชื่อของผู้ติดต่อที่เชื่อถือได้ ภายในกลุ่มมาเฟียซิซิลี ด้วยความปรารถนาอันแรงกล้าที่ต้องการจะเห็น Mussolini ถูกโค่นล้ม ‘Lucky’ Luciano จึงสั่งให้ ‘Calogero Vizzini’ ช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตรในการบุกอิตาลีอย่างเต็มที่

Calogero Vizzini จึงกลายเป็นตัวหลักในประวัติศาสตร์ของการสนับสนุนมาเฟียโดยตรงต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ระหว่างปฏิบัติการ Husky นั้น Vizzini ใช้เวลา 6 วันบนรถถังอเมริกัน เพื่อนำทางกองกำลังพันธมิตรผ่านภูเขา และสั่งการให้บรรดากลุ่มมาเฟียซิซิลีของเขาจัดการกำจัดสไนเปอร์ทหารอิตาลีบนภูเขา เพียง 2 สัปดาห์หลังจากปฏิบัติการ Husky เริ่มขึ้น Mussolini ก็ถูกขับออกจากตำแหน่งในวันที่ 25 กรกฎาคม 1943

Charles ‘Lucky’ Luciano ถูกเนรเทศกลับไปยังอิตาลี

และสำหรับความร่วมมือของ ‘Lucky’ Luciano เขาถูกย้ายไปที่เรือนจำ Great Meadow ที่สะดวกและสะดวกสบายมากขึ้น ในเดือนพฤษภาคม 1942 แม้ว่าอิทธิพลของ ‘Lucky’ Luciano ในการหยุดการก่อวินาศกรรมยังไม่มีความชัดเจน แต่เจ้าหน้าที่ของ ONI สังเกตว่า การนัดหยุดงานที่ท่าเทียบเรือหยุดลงหลังจากที่ ‘Moses Polakoff’ ทนายความของ ‘Lucky’ Luciano ได้ติดต่อกับบุคคลลึกลับบางคนที่เชื่อว่า มีอิทธิพลเหนือสหภาพแรงงาน

แม้ว่า Charles ‘Lucky’ Luciano และเหล่ามาเฟียให้การสนับสนุนกองทัพสหรัฐฯ แต่ผลการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้ กลับทำให้นักประวัติศาสตร์บางส่วนต้องละทิ้งตำนานบทบาทของ ‘Lucky’ Luciano ในการบุกซิซิลี ตามที่นักประวัติศาสตร์ ‘Salvatore Lupo’ สรุปว่า…

“เรื่องราวเกี่ยวกับมาเฟียที่สนับสนุนกองทัพสัมพันธมิตรในการรุกรานซิซิลี เป็นเพียงตำนานที่ไม่มีรากฐานใด ๆ ในทางตรงกันข้ามมีเอกสารของอังกฤษและอเมริกา เกี่ยวกับการเตรียมการบุกที่สามารถหักล้างการคาดเดานี้ ด้วยอำนาจทางการทหารของกองทัพสัมพันธมิตร ที่มากจนไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการดังกล่าว” นั้นก็เพราะว่า กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ทำการเผาทำลายหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความร่วมมือกับกลุ่มอาชญากรทันที

และในวันเดียวกับวันที่สงครามยุติลง Charles ‘Lucky’ Luciano ได้ยื่นขอผ่อนผันโทษต่อรัฐบาลสหรัฐฯ อันเนื่องมาจากความร่วมมือของเขากับกองทัพเรือสหรัฐฯ และคำขอของเขาได้รับอนุมัติ และในวันที่ 9 มกราคม 1946 อาชญากรวัยชราคนนี้ ก็ได้รับการปล่อยตัวและถูกเนรเทศออกสหรัฐฯ กลับไปยังอิตาลี และเสียชีวิตลงในปี 1962 ที่เมืองเนเปิลส์

เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

‘Akku Yadav’ ชายโฉดชั่วผู้ถูกสตรีนับร้อยรุมประชาทัณฑ์ จนเสียชีวิตคาศาล ผลจากความล้มเหลวของกฎหมาย สู่การแก้แค้นที่โหดที่สุดของอินเดีย


เรื่องราวนี้เกิดขึ้นใน ‘ประเทศอินเดีย’ เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ด้วยอินเดียเป็นประเทศที่มีปัญหาทางสังคมอันเนื่องมาจากวิถีชีวิตผู้คนในประเทศนี้ ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากความเชื่อและความศรัทธาในศาสนาฮินดู โดยจะยึดถือระบบวรรณะอย่างเคร่งครัด และจะไม่มีการข้ามวรรณะกันเด็ดขาด วรรณะทั้ง 4 นั้นได้แก่ พราหมณ์, กษัตริย์, แพศย์ และศูทร นอกจากนี้ ยังมีคนนอกวรรณะ ซึ่งถือว่าเป็นชนชั้นที่ต่ำที่สุดในสังคม นั่นคือ ‘จัณฑาล’

ระบบวรรณะในสังคมของอินเดียนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเหลื่อมล้ำของลำดับชนชั้น โดยส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับอาชีพ ซึ่งบางอาชีพจะถือว่าต่ำต้อยมาตั้งแต่ดั้งเดิม เช่น คนกวาดถนนหรือคนเก็บขยะ ซึ่งจะอยู่ในชนชั้นที่ต่ำที่สุดทางสังคม ตามคำสอนเก่าแก่ที่ตกทอดกันมาในอินเดีย ถ้าชาวฮินดูแต่งงานกับคนนอกวรรณะ หรือกินอาหารร่วมกับคนที่วรรณะต่างจากตัวเองจะถือว่าเป็นเรื่องที่บาป ดังนั้น คนอินเดียจึงปฏิบัติและยึดถือเรื่องของวรรณะอย่างเคร่งครัด


ในสลัม ‘Kasturba Nagar’ ซึ่งอยู่นอกเมืองนาคปุระ รัฐมหาราษฏระทางตอนกลางของประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นที่อยู่ของ ‘ครอบครัวชาวทลิต’ (Dalit) วรรณะที่ต่ำที่สุดในอินเดีย (ต่ำกว่าจัณฑาล) เป็นชนชั้นของอินเดียที่ถูกตีตราชนิดที่ว่า ‘ห้ามเข้าไปจับต้องยุ่งเกี่ยว’ (Untouchable) โดยชาวทลิตเป็นกลุ่มที่ถูกแยกออกจากวรรณะทั้ง 4 ในศาสนาฮินดู และถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของอวรรณะ หรือ ‘วรรณะที่ 5’ ที่เรียกว่า ‘ปัญจม’ (Panchama)

และในสลัมแห่งนี้ที่มีทรชนขาใหญ่ที่ชื่อ ‘Akku Yadav’ (Bharat Kalicharan) เป็นนักเลง ขโมย โจร นักลักพาตัว นักข่มขืนต่อเนื่อง นักกรรโชกทรัพย์ และเป็นฆาตกรต่อเนื่องอีกด้วย ซึ่งเคยทำร้ายและข่มขืนผู้หญิงมากกว่า 200 คนในสลัมดังกล่าว โดยผู้หญิงเหล่านี้ ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวชาวทลิต Dalit จึงถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเพิกเฉยละเลย


ตัว Akku Yadav เองก็เกิดและเติบโตขึ้นมาในสลัม Kasturba Nagar แห่งนี้ เป็นลูกชายของคนส่งนม ซึ่งต่อมาเขาได้ก้าวไปสู่ภัยคุกคามในท้องถิ่น โดยเริ่มต้นจากการเป็นอันธพาลตัวเล็ก ๆ มาเป็นมาเฟีย จนในที่สุดก็ได้เป็น ‘ราชาแห่งสลัม’

Yadav ปกครองกลุ่มอาชญากรที่ควบคุมสลัม Kasturba Nagar ด้วยการ ปล้น ทรมาน และฆ่าผู้คนโดยไม่ต้องรับโทษ Yadav ก่ออาชญากรรมเป็นเวลาหลายปีด้วยการสร้างอาณาจักรธุรกิจมืดขนาดเล็ก เขาและสมาชิกแก๊งมักคุกคามและข่มขู่ผู้คนเพื่อกรรโชกทรัพย์ และการขู่กรรโชก รีดไถ รีดไถเงิน ทำร้าย และข่มขู่ผู้ที่ต่อต้านเขา จนกลายเป็นแหล่งรายได้หลักของ Yadav และสมุน ซึ่งมักจะทำร้ายผู้คนหากพวกเขาไม่ได้จ่ายเงินให้แก่เขา

ในช่วงชีวิตของเขาในฐานะอาชญากร Yadav ได้สังหารบุคคลอย่างน้อย 3 คน ได้ทรมานและลักพาตัวผู้คน บุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้คน และข่มขืนหญิงสาวและเด็กผู้หญิงนับร้อยคน หรือหากพวกเขาทำให้ Yadav โกรธในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เขาก็จะขู่ว่า จะข่มขืนใครก็ตามที่ต่อต้านเขาเป็นพิเศษ

เป็นที่ทราบกันดีว่าเหยื่อข่มขืนของ Yadav จำนวนมากคือ ชาวทลิตซึ่งต้องเผชิญกับความยากลำบาก จากความอยุติธรรมสำหรับคดีล่วงละเมิดทางเพศ โดย Akku Yadav ได้ติดสินบนเพื่อจูงใจให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ เพื่อให้มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเหล่านั้นจะปกป้องเขา Yadav ยังคงทำร้ายผู้หญิงต่อไปโดยไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ จากการกระทำที่ชั่วร้ายและป่าเถื่อนเลย แม้ว่าเหยื่อจะแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะถูกข่มขู่ และ Yadav ก็สามารถรอดพ้นจากการจับกุมได้เสมอ


‘Usha Narayane’ หญิงผู้กล้าหาญคนหนึ่ง รายงานพฤติการณ์และพฤติกรรมของ Yadav ต่อรองผู้บัญชาการตำรวจของเมืองนาคปุระ ด้วยหวังว่าจะได้รับความยุติธรรม แต่กลับมีข่าวที่ชี้ให้เห็นว่า Yadav อาจหลบหนีการลงโทษได้อีกครั้ง วันที่ 6 สิงหาคม 2004 ฝูงชนก็พากันไปที่บ้านของ Yadav แล้วเผาบ้านทิ้ง จนทำให้ Yadav ต้องรีบไปมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อขอความคุ้มครอง หลังจากที่ตำรวจจับกุม Yadav เพื่อปกป้องตัวเขาเอง ก็มีกำหนดการพิจารณาคดีของเขาในวันที่ 13 สิงหาคม 2004 ในศาลแขวง Nagpur ของอินเดีย ข่าวลือแพร่สะพัดไปทั่วละแวกใกล้เคียง ว่าเขาจะได้รับการปล่อยตัว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงวางแผนที่จะควบคุมตัวเขาไว้ จนกว่าเหตุการณ์จะสงบลงแล้วจึงจะปล่อยตัวเขาไป


วันที่ 13 สิงหาคม 2004 เมื่อการพิจารณาคดีเกิดขึ้นในศาลแขวงนาคปุระหมายเลข 7 ในใจกลางเมืองนาคปุระ ห่างออกไปจากสลัม Kasturba Nagar หลายกิโลเมตร มีผู้หญิงหลายร้อยคนเดินขบวนจากสลัมไปยังศาลโดยถือมีดหันผักและพริกป่น เดินเข้าไปในห้องพิจารณาคดี และนั่งเก้าอี้แถวหน้า Yadav เดินเข้าสู่ศาลอย่างมั่นใจและไม่หวาดหวั่น

เวลาประมาณ 14.30-15.00 น. เมื่อ Yadav ปรากฏตัว เขาเห็นผู้หญิงคนหนึ่งที่เขาข่มขืน Yadav ก็แสดงท่าทีเยาะเย้ยเธอ แล้วเรียกเธอว่า ‘โสเภณี’ และบอกว่าเขาจะข่มขืนเธออีกครั้ง บรรดาเจ้าหน้าที่ตำรวจก็พากันหัวเราะ แต่ผู้หญิงคนนั้นก็เอารองเท้าของเธอตี Yadav เข้าที่ศีรษะ เธอบอก Yadav ว่าเธอจะฆ่าเขา หรือไม่เขาก็จะต้องฆ่าเธอ โดยพูดว่า “เราทั้งคู่ไม่สามารถอยู่บนโลกนี้ด้วยกันได้ ถ้าไม่เป็นฉัน ก็ต้องเป็นตัวแกเอง” และผลการพิจารณาคดีคือ ‘การยกฟ้อง Yadav’


จากนั้น Yadav ก็ถูกรุมประชาทัณฑ์ทันที่ โดยกลุ่มผู้หญิงหลายร้อยคนที่ปรากฏตัวขึ้นในห้องพิจารณาคดี เขาถูกแทงไม่ต่ำกว่า 70 ครั้ง พริกป่นและก้อนหินถูกปาใส่หน้า อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เฝ้าอยู่ก็ถูกปาพริกป่นใส่หน้าด้วย บรรดาเจ้าหน้าที่ตำรวจต่างพากันตกใจกลัวจึงรีบหนีไปจนหมดในทันที หนึ่งในเหยื่อของเขายังตัดอวัยวะเพศของเขาจนขาดด้วย

การรุมประชาทัณฑ์เกิดขึ้นบนพื้นหินอ่อนของห้องพิจารณาคดี ขณะที่เขาเริ่มถูกประชาทัณฑ์ Yadav ซึ่งถูกผงพริกปาใส่หน้าก็ตกใจกลัวมากและตะโกนขึ้นว่า “ยกโทษให้ฉันด้วย ฉันจะไม่ทำแบบนั้นอีก!!” พวกผู้หญิงส่งมีดต่อกันไปรอบ ๆ เพื่อผลัดกันแทงเขา ผู้หญิงแต่ละคนตกลงที่จะแทง Yadav อย่างน้อยคนละ 1 แผล เลือดของเขานองอยู่บนพื้นและกระเซ็นไปทั่วผนังห้องพิจารณาคดี ภายใน 15 นาที Yadav วัย 32 ปี ก็ถึงแก่ความตาย หลังการชันสูตรพลิกศพพบว่า กลุ่มผู้หญิงเหล่านี้ยังคงทำร้ายศพของเขาต่อ


กลุ่มผู้หญิงเหล่านั้นอ้างว่า การฆาตกรรมนั้นไม่ได้วางแผนไว้ ผู้หญิงคนหนึ่งกล่าวว่า “เราไม่เคยมีการประชุมพูดคุยอย่างเป็นทางการใด ๆ แต่เป็นการบอกปากต่อปาก ว่าเราจะต้องจัดการร่วมกัน” และอวัยวะเพศของเขาก็ถูกตัดออก ผู้หญิงทุกคนอ้างว่าจะรับผิดชอบต่อการฆาตกรรมนี้ และถึงแม้บางคนจะถูกจับกุม แต่ในที่สุดพวกเขาก็พ้นผิด แม้ว่าผู้หญิงหลายร้อยคนจะมีส่วนร่วมในการรุมประชาทัณฑ์

Usha Narayane และคนอื่นๆ ถูกจับในข้อหาฆาตกรรม แต่ต่อมาได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากขาดหลักฐาน ผู้พิพากษา ‘Bhau Vahane’ ยอมรับสถานการณ์ที่ยากลำบากที่ผู้หญิงต้องเผชิญ และความล้มเหลวของตำรวจในการปกป้องพวกเธอ

การตายของ Akku Yadav กลายเป็นหนึ่งในเรื่องราวการแก้แค้นที่โหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์อินเดีย และมีการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ Netflix ในชื่อ ‘Murder In a court room’

เมื่อ ‘กม.สูงสุด’ ถูกคณะราษฎรเสกเป็น ‘ของขลัง’ แห่งยุคสมัย อุปโลกน์ให้สูงส่งกว่ากษัตริย์ ทั้งที่สถานะเป็นเพียง ‘กฎหมาย’

การเกิด ‘ลัทธิบูชารัฐธรรมนูญ’ นั้นเกิดขึ้นโดยการรังสรรค์ของคณะราษฎร ด้วยการสร้างรัฐธรรมนูญให้มีรูปลักษณ์จับต้องได้ กลายเป็นของขลัง มีพิธีกรรมประกอบ มีพิธีรีตองเฉพาะ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ควรบูชา มีสถานะที่สูงส่งกว่ากษัตริย์ เพื่อรองรับฐานอำนาจของระบอบใหม่ ทำทุกๆ อย่าง เพื่อให้ประชาชนได้รู้จักรัฐธรรมนูญ

แต่ไม่ทำอย่างเดียวคือ ทำให้ประชาชนได้รู้ว่ารัฐธรรมนูญคือ ‘กฎหมาย’ 

นับจากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ มาจนถึงวันที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ความพยายามต่างๆ ของคณะรัฐบาลและคณะราษฎรในการเผยแพร่ ให้ความรู้ เกี่ยวกับการปกครองในระบอบใหม่ โดยมีกฎหมายสูงสุดคือ “รัฐธรรมนูญ” ยังเป็นไปอย่างอิหลักอิเหลื่อ ทั้งนี้เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั้งภายในคณะราษฎร และระหว่างคณะราษฎรกับคณะรัฐบาล จนนำมาสู่การยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงผู้นำรัฐบาลจาก ‘พระยามโนปกรณ์นิติธาดา’ มาเป็น ‘พระยาพหลพลพยุหเสนา’ 

รัฐบาลคณะนี้โดยการผลักดันของ ‘หลวงวิจิตรวาทการ’ ที่ต้องการเผยแพร่รัฐธรรมนูญจึงเกิดขึ้นมาอีกครั้ง

คณะทำงานนำโดย ‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’ ได้ร่างแผนการที่จะเผยแพร่แนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญ รวมถึงการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ การส่งหน่วยโฆษณาการลงพื้นที่ทุกตำบล เพื่อประชาสัมพันธ์ อย่างเป็นรูปธรรม ก่อนจะถูกเร่งให้เกิดเร็วขึ้นด้วย ‘กบฏบวรเดช’ 

เนื่องจากวิธีการให้ความรู้แบบเดิมก่อนเกิดกรณี ‘กบฏบวรเดช’ นั้น ไม่สามารถเข้าถึงและสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับประชาชนได้ การนำเสนอรัฐธรรมนูญแบบใหม่ของคณะราษฎรจึงเกิดขึ้น 

การปรับให้ ‘รัฐธรรมนูญ’ กลายเป็น ‘สิ่งศักดิ์สิทธิ์’ คุ้มบ้าน ป้องเมือง ควรค่าแก่การเคารพบูชามีสถานะไม่แตกต่างจาก ‘ของขลัง’ เอาง่ายๆ คือ ‘ความรู้ไม่ต้องมี’ เน้น ‘ความงมงาย’ เข้าไว้ จูงใจคนได้ง่ายกว่า และเมื่อมีความศักดิ์สิทธิ์ก็ต้องได้รับการปกป้อง คุ้มครอง ไม่ให้ใครมาทำลาย 

สร้างให้ ‘รัฐธรรมนูญ’ มีค่าเท่ากับ ‘พระมหากษัตริย์’ เป็นสิ่งที่จับต้องได้ และเป็นหน้าที่ของชาติและประชาชนที่ต้องปกป้อง

ในเดือนธันวาคม พ.ศ ๒๔๗๖ รัฐบาลได้จัดตั้ง ‘สมาคมคณะรัฐธรรมนูญ’ โดยมีจุดประสงค์ดำเนินการในด้านการธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ สร้างความสามัคคี อบรมสมาชิก และดำเนินการด้านต่างๆ อันเป็นประโยชน์ต่อการปกครองด้วยระบอบใหม่ ไม่ให้ใครมาโค่นล้มได้ 

โดย ‘สมาคม’ ประกอบด้วย ๒ องค์กรคือ ‘ชุมนุมใหญ่’ และ ‘คณะกรรมการกลาง’ ซึ่งสมาคมนี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของ ‘รัฐธรรมนูญ’ !!! 

หลังจากงานงานฉลองรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ซึ่งบรรดาสมาคมฯ ภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะแม้แต่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ยังต้องทรงเสด็จฯ ทอดพระเนตรงาน ซึ่งก็ตรงกับเจตนารมณ์ที่ชัดแจ้งว่าความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญนั้น แม้แต่พระมหากษัตริย์ยังต้องทรงมาร่วมงานฉลองให้

‘ลัทธิบูชารัฐธรรมนูญ’ โดยเฉพาะการสร้างสิ่งยึดเหนี่ยวเกิดขึ้นจากแนวความคิดของ จำรัส มหาวงศ์นันทน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน ด้วยการเสนอให้มีการสร้าง ‘รัฐธรรมนูญจำลอง’ เป็นสมุดข่อย อัญเชิญไปยังศาลากลางจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ประชาชนใช้ยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นการเผยแพร่รัฐธรรมนูญไปด้วย ซึ่งถ้าจบตรงแค่นี้ก็น่าจะไม่เป็นไรมาก 

แต่คุณจำรัส แกไปเพิ่มมูลค่าความศักดิ์สิทธิ์ด้วยการเสนอให้ ‘รัฐธรรมนูญจำลอง’ นั้นต้องวางอยู่บน “พานแว่นฟ้า” ซึ่งใช้สำหรับวางของสูง แล้วคณะรัฐบาลขณะนั้นก็เอาด้วย เพราะอยากจะทำยังไงก็ได้ให้รัฐธรรมนูญคือสัญลักษณ์สำคัญแทนพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว

รัฐธรรมนูญจำลองจำนวน ๗๐ ชุด เป็นสมุดไทยลงรักปิดทองเป็น ‘รัฐธรรมนูญ’ วางบนพาน 2 ชั้น เป็น ‘พานรัฐธรรมนูญ’ โดยในวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ณ พระราชอุทยานสราญรมย์ ได้มีพิธีสมโภช ‘พานรัฐธรรมนูญ’ ก่อนที่จะการส่งมอบให้กับผู้แทนราษฎรแต่ละจังหวัด 

พิธีในครั้งนั้น มีสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการ เป็นประธานในพิธี ทรงเจิมพานรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ ประกอบเสียงมโหรีปี่พาทย์ เสียงสวดอำนวยจากพระสงฆ์ ๗๐ รูป มีพิธีเวียนเทียนสมโภช ก่อนจะนำไปประดิษฐานร่วมกับพระพุทธสิหิงค์ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ ก่อนที่จะ ‘อัญเชิญ’ เพื่อไป ‘ประดิษฐาน’ ยังจังหวัดต่าง ๆ จำนวน ๖๙ ชุดและอีก ๑ ชุด จะประดิษฐานไว้ ณ ที่ทำการใหญ่ของ “สมาคมคณะรัฐธรรมนูญ” พระราชอุทยานสราญรมย์

การอัญเชิญ ‘พานรัฐธรรมนูญ’ ก็เป็นไปอย่างเอิกเกริก ราวกับเป็นสิ่งสำคัญของชาติบ้านเมือง พอไปถึงจังหวัดต่าง ๆ ก็มีการนำขึ้นบุษบกแห่แหนให้ชมกันรอบเมือง ก่อนจะนำไปประดิษฐาน ณ ศาลากลางของจังหวัดนั้นๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าสักการะบูชา ด้วยดอกไม้ ธูป เทียน และมีการปฏิญาณตนต่อหน้าพานรัฐธรรมนูญ 

จากความ ‘ขลัง’ ระดับจังหวัด ก็กระจายลงไปถึงความ ‘ขลัง’ ระดับอำเภอ ดังที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงเห็นว่า “พานรัฐธรรมนูญนี้ถือว่าขลัง เผยแพร่ไปมากเก๊งตามจิตต์วิทยาว่าขลัง หรือสงวนไว้ขลัง ถ้าถือว่าแพร่หลายไปทำให้คนรู้จัก และเลื่อมใสยิ่งขึ้น ก็ควรทำให้แพร่หลายไป” 

‘พานรัฐธรรมนูญ’ ที่ได้รับไปนั้นจะต้องผ่านพิธีกรรม มีพิธีการที่สมเกียรติ เพราะถือเป็นของสูง เวลานำไปจัดงานหรือเพื่อให้ประชาชนสักการะก็ต้องมีพลับพลาสำหรับประดิษฐานอย่างโอ่โถง 

ทั้งหมดเพื่อหวังผลบั้นปลายให้ ‘รัฐธรรมนูญ’ กลายเป็นแหล่งที่มาของอำนาจอันชอบธรรมในระบอบใหม่ เทียบเคียงกับสถานะบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบเก่านั่นเอง 

นอกจากพานที่กล่าวมาแล้ว ‘ลัทธิบูชารัฐธรรมนูญ’ ยังมีมิติครอบคลุมออกไปอย่างหลากหลาย ลึกซึ้ง อย่างเช่น อนุสาวรีย์ก็ไม่ได้มีแค่ ‘อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย’ ถนนราชดำเนินกลาง ก็ยังมี ‘อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ’ ที่ก่อสร้างตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่ ๖ แห่ง เช่นที่ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ฯลฯ อย่างวัด ก็มี ‘วัดประชาธิปไตย’ (ปัจจุบันคือวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน) 

ยังไม่รวมสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ปรากฏในงานปั้น งานเครื่องหมาย โดยเป็นศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ สื่อถึงระบอบใหม่ ควบคู่ไปกับงานฉลอง ‘รัฐธรรมนูญ’ ที่ยิ่งใหญ่กว่างานฉลองของระบอบเก่า 

จนกระทั่ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้นำบ้านเมืองของเราเข้าสู่ยุค ‘เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย’ การยึดเอา ‘รัฐธรรมนูญ’ เป็นของขลัง ของสำคัญ ของชาติจึงค่อยๆ มลายหายไป 

จาก ๑๐ ธันวาคม พ.ศ ๒๔๗๕ มาจนถึง ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ ผ่านไปแล้ว ๙๑ ปี 

ปัจจุบันประชาชนได้รู้แล้วว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ คือ ‘กฎหมาย’ ไม่ใช่ ‘ของขลัง’ ไม่จำเป็นต้อง ‘บูชา’ แต่ถึงกระนั้น มันก็ยังไม่ได้ฝังรากลึกให้ประชาชนได้ยึดถืออย่างมีสำนึกและเข้าใจอย่างที่มันควรจะเป็น นับเนื่องมาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ 

ทำไมนะ ? 

‘เด็กหมาป่า’ เด็กกำพร้าเยอรมันที่ถูกลืม ผลพวงของสงครามโลกครั้งที่ 2 กับชะตากรรมอันโหดร้ายจากความหิว ความหนาว และการสูญเสียตัวตน

‘เด็กหมาป่า’ (Wolf children) เด็กกำพร้าเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

‘เด็กหมาป่า’ ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเด็กที่เคยอาศัยอยู่กับฝูงหมาป่าตามที่ปรากฏเป็นข่าวอย่างในอินเดีย แต่เป็นเรื่องราวของเด็กกำพร้าเร่ร่อนชาวเยอรมันและชาวเยอรมันเชื้อสายลิทัวเนีย ซึ่งมีอยู่ใน ‘ปรัสเซียตะวันออก’ (‘ปรัสเซีย’ คือชื่อเดิมของ ‘เยอรมนี’ ซึ่งในอดีตมีพื้นที่กว้างขวางกว่าในปัจจุบัน) เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เด็กหมาป่าส่วนใหญ่เป็นเด็กกำพร้าที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังจากการอพยพของพลเมืองปรัสเซียตะวันออก เพื่อหลบหนีการบุกของ ‘กองทัพแดง’ (สหภาพโซเวียต) เมื่อต้นปี 1945 โดยหลายคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย จึงต้องไปอาศัยอยู่ในป่าของปรัสเซียตะวันออกหรือถูกรับเลี้ยงโดยครอบครัวชาวลิทัวเนีย

การรุกปรัสเซียตะวันออกของกองทัพแดงในช่วงปลายปี 1944 ถึงต้นปี 1945 ทำให้ประชาชนชาวเยอรมันทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กหลายล้านคนต้องอพยพหลบหนี แต่เมื่อผู้ใหญ่จำนวนมากเสียชีวิตหรือบาดเจ็บระหว่างการโจมตีด้วยระเบิด หรือความหนาวเย็นในช่วงฤดูหนาวที่รุนแรงโดยไม่มีอาหารและที่พักพิง เด็กกำพร้าหลายพันคนจึงถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และต้องหลบหนีเข้าไปในป่าโดยรอบ ถูกบังคับให้ดูแลตัวเองและต้องเผชิญกับการตอบโต้ที่รุนแรง หากถูกทหารโซเวียตจับได้ โดยเด็กโตมักพยายามรวบรวมพี่น้องไว้ด้วยกัน และเอาชีวิตรอดด้วยการค้นหาอาหารและที่พักพิง กลายเป็นความสำคัญอันดับหนึ่งของพวกเขา

เด็กหมาป่าจำนวนมากเดินทางไปหาอาหารในป่าของลิทัวเนียที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งต่อมาเด็กส่วนหนึ่งได้รับการรับเลี้ยงโดยเกษตรกรชาวลิทัวเนียในชนบท และเรียกพวกเด็กหมาป่าเหล่านี้ว่า ‘Vokietukai’ (เยอรมันตัวน้อย) และมักจะแบ่งปันอาหารและที่พักให้พวกเด็กหมาป่า

เด็กหมาป่าเหล่านี้ส่วนใหญ่เดินทางไปกลับมาหลายครั้ง เพื่อหาอาหารให้แม่หรือพี่น้องที่ป่วย โดยเดินทางไปตามรางรถไฟ บางครั้งก็นั่งบนรถหรือระหว่างตู้รถไฟ และกระโดดลงก่อนถึงสถานีที่ควบคุมโดยโซเวียต หลังทศวรรษ 1990 เด็ก ๆ ถูกเรียกว่าเป็น ‘เด็กหมาป่า’ เพราะพวกเขาใช้ชีวิตเหมือนหมาป่าที่เดินเตร่อยู่ในป่า

เกษตรกรชาวลิทัวเนียที่ขายผลิตภัณฑ์ของตนในเมืองเล็ก ๆ ของปรัสเซียตะวันออกในปี 1946 ได้พากันมองหาเด็กหมาป่าเพื่อให้มาช่วยพวกเขาในการทำงานประจำวัน และด้วยเหตุนี้ เด็กหมาป่าจำนวนมากจึงหลั่งไหลไปยังภูมิภาคบอลติกตะวันออกเป็นประจำ เพื่อรับอาหารแลกกับแรงงานหรือข้าวของต่าง ๆ ที่พวกเขาสามารถหามาได้ เกษตรกรชาวลิทัวเนียรับเลี้ยงเด็กที่อายุน้อยบางส่วน และเด็กหลายคนก็อยู่ในฟาร์มที่ลิทัวเนียเป็นการถาวร ตามการประมาณการคร่าว ๆ มีเด็กเยอรมันราว 45,000 คนอาศัยอยู่ในลิทัวเนียในปี 1948 แต่ไม่ปรากฏสถิติที่แน่นอน

ชาวลิทัวเนียที่ช่วยเหลือเด็ก ๆ ชาวเยอรมันต้องพยายามซ่อนเด็ก ๆ จากทางการโซเวียต เพราะการรับเลี้ยงเด็กเยอรมันนั้นเสี่ยงต่อการถูกลงโทษอย่างรุนแรง หากถูกตรวจพบ โดยพวกเขาได้ทำการเปลี่ยนชื่อของเด็กชาวเยอรมันจำนวนมาก และหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1990 พวกเขาจึงสามารถเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงได้ เด็กหมาป่ามากมายได้รับชื่อและนามสกุลใหม่และกลายเป็นชาวลิทัวเนียโดยไม่มีทางเลือก เนื่องจากถูกห้ามไม่ให้เลือกเป็นเยอรมัน ไม่มีรายงานเหตุการณ์ของเด็กหมาป่าในสื่อเลย และเหตุการณ์เหล่านี้เป็นที่รู้จักต่อสาธารณชนเมื่อปี 1990 หลังจากการล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก

คำแถลงอย่างเป็นทางการของรัฐบาลโซเวียตและโปแลนด์ในขณะนั้นคือ “ไม่มีชาวเยอรมันในพื้นที่เหล่านี้ และนี่เป็นตำแหน่งอย่างเป็นทางการของพวกเขาตั้งแต่ต้นตาม ‘ข้อตกลงพ็อทซ์ดัม’ (Potsdam Declaration) ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488”

ต่อมา ‘Ruth Kibelka’ เด็กหมาป่าคนหนึ่งได้ทำการค้นคว้าและตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับ ‘Wolfkinder’ ซึ่งมีบันทึกทางประวัติศาสตร์บางส่วนที่เด็กหมาป่าหลายคนจากปรัสเซียตะวันออกได้มอบให้ โดยบรรยายว่า ครอบครัวของพวกเขาถูกกดดันโดยกองกำลังโซเวียตที่กำลังรุกคืบในขณะที่พวกเขาพยายามหลบหนี พวกเขาถูกส่งกลับไปยังบ้านเกิดในปรัสเซียตะวันออก และพบว่าบ้านของพวกเขาถูกทำลายจนเสียหายหมด บางคนถูกไล่ออกจากบ้าน และบางคนก็เสียชีวิตจากความอดอยาก เจ็บป่วย และเป็นไข้ไทฟอยด์ เด็กกำพร้าต้องหาทางเอาชีวิตรอดจนกลายเป็นเด็กหมาป่า

เด็กหมาป่าหลายร้อยคนถูกค้นพบในลิทัวเนียหลังจากที่แยกตัวออกจากรัสเซีย ปัจจุบันมีเด็กหมาป่าเกือบ 100 คนที่ยังคงอาศัยอยู่ที่นั่น ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา เหล่าเด็กหมาป่าได้ต่อสู้เพื่อสัญชาติเยอรมันของพวกเขา โดยพวกเขามีสมาคมของตัวเอง แต่สำนักงานบริหารกลางภายในกระทรวงมหาดไทยของเยอรมนี ยึดถือแนวคิดที่ว่า “บุคคลที่ออกจากดินแดน ‘Königsberg’ (ปรัสเซียตะวันออกเดิม ปัจจุบันคือ ‘Kaliningrád’ ของรัสเซีย) หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ได้สละสัญชาติเยอรมันของตนแล้ว”

นับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต บรรดาเด็กหมาป่าได้เดินทางไปค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับตัวตนของพวกเขา เพื่อกลับคืนมาเป็นชาวเยอรมันอีกครั้ง สภากาชาดเยอรมันช่วยค้นหาและระบุสมาชิกในครอบครัวของเด็กหมาป่าที่ขาดการติดต่อระหว่างกัน นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ชะตากรรมของผู้สูญหายอีกประมาณ 200,000 คนได้รับการชี้แจงแล้ว แต่ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับชะตากรรมของชาวเยอรมันที่ถูกจับเข้าคุกและเสียชีวิตยังคงไม่ได้รับการเปิดเผย ปัจจุบันรัฐบาลเยอรมันได้ให้ความสนใจและให้ความสนับสนุนในการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องของเด็กหมาป่ามากขึ้น เพื่อให้คนเหล่านี้ได้รับสัญชาติเยอรมันกลับคืน

เด็กกำพร้าชาวญี่ปุ่นที่ถูกทิ้งไว้ในจีน : หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เด็กกำพร้าชาวญี่ปุ่นในประเทศจีนส่วนใหญ่ถูกครอบครัวชาวญี่ปุ่นทิ้งไว้ หลังจากการส่งชาวญี่ปุ่นออกจากหูหลู่เต่า ตามตัวเลขของรัฐบาลจีนเด็กชาวญี่ปุ่นประมาณ 4,000 คนถูกทิ้งไว้ข้างหลังในจีน หลังสงคราม เด็กชาวญี่ปุ่น 90% ในมองโกเลียในและจีนตะวันออกเฉียงเหนือ (แมนจูกัวในขณะนั้น) ถูกรับเลี้ยงโดยครอบครัวชาวจีนในชนบท

ในปี 1980 เด็กกำพร้าเริ่มเดินทางกลับไปยังประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพวกเขา แต่กลับต้องเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติ เนื่องจากพวกเขาขาดทักษะภาษาญี่ปุ่น และประสบปัญหาในการหางานที่มั่นคงทำ

ณ เดือนสิงหาคม 2004 มีเด็กกำพร้าญี่ปุ่นที่เติบโตในจีนจำนวน 2,476 คน ได้ตั้งถิ่นฐานในญี่ปุ่น ตามตัวเลขของกระทรวงแรงงานของญี่ปุ่น พวกเขาได้รับเงินรายเดือนจำนวน 20,000-30,000 เยนจากรัฐบาลญี่ปุ่น ในปี 2003 มีเด็กกำพร้า 612 คนยื่นฟ้องรัฐบาลญี่ปุ่น โดยอ้างว่ารัฐบาลญี่ปุ่นต้องรับผิดชอบต่อการที่พวกเขาถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โจทก์แต่ละคนขอเงินจำนวน 33 ล้านเยน

นอกจากเด็กกำพร้าแล้ว ยังมีผู้หญิงชาวญี่ปุ่นส่วนหนึ่งก็ถูกทิ้งไว้ในจีนอีกด้วย ผู้หญิงญี่ปุ่นเหล่านี้ส่วนใหญ่ต่อมาได้แต่งงานกับชายชาวจีน และกลายเป็นที่รู้จักในนาม ‘ภรรยาที่ตกค้างในสงคราม’ เนื่องจากพวกเขามีลูกกับผู้ชายชาวจีน ผู้หญิงเหล่านี้จึงไม่ได้รับอนุญาตให้พาครอบครัวชาวจีนของพวกเธอ กลับมาอาศัยอยู่ที่ญี่ปุ่นเหมือนผู้ชายญี่ปุ่นที่สามารถพาภรรยาต่างชาติกลับญี่ปุ่นพร้อมกับพวกเขาได้ ทำให้ส่วนใหญ่ยังคงต้องตกค้างอยู่ในจีน เนื่องจากญี่ปุ่นมีกฎหมายที่อนุญาตให้เฉพาะเด็กที่มีพ่อเป็นชาวญี่ปุ่นเท่านั้นที่จะสามารถขอสมัครเพื่อเป็นพลเมืองของญี่ปุ่นได้

เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

ปิดทาง ‘มรดกเลือด’ คงสัมพันธ์ครอบครัวให้เหนียวแน่น แค่ทายาททุกฝ่าย หันหน้ามาคุยกันด้วยความเข้าใจ

ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว มักจะมีที่มาจากเรื่องของทรัพย์สินหรือปัญหาการแบ่งมรดก ไม่ลงตัว 

ปัญหาเล็ก ๆ ที่อาจลุกลามไปเป็นปัญหาใหญ่ จนไม่สามารถแก้ไขได้ทันเวลา หากทุกคนเข้าใจและยอมรับกติกาที่กฎหมายได้ระบุไว้ ปัญหาดังกล่าวอาจจะสามารถคลี่คลายลงได้

โดยเมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นจะตกทอดแก่ทายาท

หากผู้ตายมีหนี้ ผู้รับมรดกไม่ต้องรับผิดชอบหนี้เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตนเองได้รับ

ทายาทที่มีสิทธิรับมรดก มี 2 ประเภทคือ ทายาทโดยธรรม และทายาทตามพินัยกรรมเรียกว่า ‘ผู้รับพินัยกรรม’

ทายาทโดยธรรมมี 6 ชั้น ได้แก่ 1.ผู้สืบสันดาน 2.บิดามารดา 3.พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4.พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน 5.ปู่ ย่า ตา ยาย 6.ลุง ป้า น้า อา 

คู่สมรสของเจ้ามรดกก็ถือเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับมรดก

พินัยกรรม คือ การแสดงเจตนาของบุคคลในเรื่องทรัพย์สินของตน ว่าหากตายไปแล้วทรัพย์สินนั้นจะยกให้ใคร อาจเป็นทายาทโดยธรรม หรือบุคคลที่ไม่ใช่ทายาทก็ได้

ผู้ทำพินัยกรรมต้องมีอายุ 15 ปีขึ้นไปและเป็นบุคคลที่มีความสามารถตามกฎหมาย

พินัยกรรมต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด เช่น ทำเป็นหนังสือลงวัน เดือน ปี และลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคน, พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ, พินัยกรรมฝ่ายเมืองซึ่งต้องไปทำต่อหน้าเจ้าหน้าที่รัฐ, พินัยกรรมแบบเอกสารลับ 

ผู้ทำพินัยกรรมจะเพิกถอนพินัยกรรมทั้งหมดหรือบางส่วนในเวลาใดก็ได้

การแบ่งทรัพย์มรดกนั้น หากผู้ตายทำพินัยกรรมไว้ก็ให้แบ่งตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในพินัยกรรม หากไม่มีพินัยกรรมก็แบ่งให้ทายาทโดยธรรม ตามลำดับชั้น หากทายาทลำดับก่อนยังอยู่ ลำดับถัดมาจะไม่มีสิทธิได้รับมรดก เรียกว่า ญาติสนิทตัดญาติห่าง เช่น หากผู้ตายยังมีบุตรและพ่อแม่ที่มีชีวิตอยู่ พี่น้องของผู้ตายจะไม่มีสิทธิรับมรดก 

การแบ่งมรดกให้ทายาทแต่ละคนที่มีสิทธิได้รับมรดกในสัดส่วนที่เท่ากัน โดยพิจารณาจากมูลค่าของทรัพย์มรดกทั้งหมด แต่ทายาทอาจตกลงกันเองในการแบ่งมรดกได้ โดยไม่จำเป็นต้องแบ่งมรดกให้เท่าเทียมกันทุกประการ

ถ้าบุคคลใดตายโดยไม่มีทายาทรับมรดก ให้ทรัพย์มรดกนั้นตกเป็นของแผ่นดิน

ในการแบ่งปันทรัพย์มรดก แม้อาจจะดูเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่หากทายาททุกฝ่าย หันหน้ามาคุยกัน โดยยึดถือความสัมพันธ์อันดีในสถาบันครอบครัวเป็นสำคัญ ปัญหามรดกเลือดจะไม่มีทางเกิดขึ้น และจะยังสามารถรักษาครอบครัวไว้ได้ต่อไปอีกยาวนาน 

‘Hsiao Bi-khim’ ว่าที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งรอง ปธน.ไต้หวัน ปี 2024 สตรีผู้มีความตั้งมั่นอันแน่วแน่ในการนำพา ‘ไต้หวัน’ สู่ความรุ่งเรือง

‘Hsiao Bi-khim’ สตรีลูกครึ่งจีน (ไต้หวัน)-อเมริกัน 
ว่าที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีไต้หวัน ปี 2024

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ‘Hsiao Bi-khim’ หัวหน้าสำนักงานผู้แทนเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป (ในช่วงสามปีที่ผ่านมา) ได้ทำหน้าที่เสมือนเป็นเอกอัครรัฐทูตไต้หวันประจำสหรัฐฯ โดยพฤตินัย (เนื่องจากสรัฐฯ รับรองสถานภาพของสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวัน) ได้รับการเสนอชื่ออย่างเป็นทางการ ให้เป็นผู้สมัครในตำแหน่งรองประธานาธิบดีของ ‘พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า’ (DPP) ของ ‘Lai Ching-te’ ผู้สมัครในตำแหน่งประธานาธิบดีของการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน ปี 2024

Hsiao เกิดที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น มีบิดาเป็นชาวไต้หวัน คือ ‘Hsiao Tsing-fen’ อดีตประธานวิทยาลัยศาสนศาสตร์และเซมินารีไถหนาน และมารดาเป็นชาวอเมริกัน คือ ‘Peggy Cooley’ ครอบครัวของเธอนับถือศาสนาคริสต์ นิกายเพรสไบทีเรียน เธอเติบโตในเมืองไถหนาน ประเทศไต้หวัน โดยสามารถใช้ภาษาจีนกลาง ฮกเกี้ยน และภาษาอังกฤษ จากนั้น เธอได้ย้ายไปสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น และสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมมอนต์แคลร์ ในเมืองมอนต์แคลร์ มลรัฐนิวเจอร์ซีย์

Hsiao สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาเอเชียตะวันออกศึกษาจากวิทยาลัย Oberlin และปริญญาโท สาขารัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในสหรัฐอเมริกา

Hsiao เริ่มร่วมงานกับสำนักงานตัวแทนพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ในสหรัฐอเมริกา โดยทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกิจกรรม เมื่อเดินทางกลับไต้หวัน Hsiao ก็กลายเป็นผู้อำนวยการฝ่ายกิจการระหว่างประเทศของพรรค และเป็นตัวแทนของพรรคในการประชุมระหว่างประเทศต่าง ๆ มานานกว่าทศวรรษ

หลังจากที่ ‘Chen Shui-bian’ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจีนในปี 2000 Hsiao รับหน้าที่เป็นล่ามและที่ปรึกษาของเขามาเกือบสองปี โดยสถานะสองสัญชาติของเธอทั้งสหรัฐฯ และสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในขณะที่เธอดำรงตำแหน่งในรัฐบาลกลายเป็นประเด็นทางการเมือง จึงทำให้เธอสละสัญชาติสหรัฐฯ ของเธอ ตามที่กฎหมายการจ้างงานข้ารัฐการพลเรือนของไต้หวันกำหนดไว้ในปี 2000

ในเดือนมกราคม ปี 2000 Hsiao ได้ประกาศความตั้งใจที่จะลงสมัครรับตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติไต้หวัน (สภาหยวน) ในนามตัวแทนของพรรค DPP ในฐานะสมาชิกเสริมที่เป็นตัวแทนของเขตเลือกตั้งในต่างประเทศ โดยอ้างถึงประสบการณ์ของเธอในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ต่อมาเธอได้รับเลือกในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติในเดือนธันวาคม ปี 2004 Hsiao ได้รับเลือกเข้าสู่สภานิติบัญญัติไต้หวันอีกครั้ง ครั้งนี้เธอเป็นตัวแทนของเขตเลือกตั้งของไทเป ครอบคลุมเขตทางตอนเหนือของ Xinyi, Songshan, Nangang, Neihu, Shilin และ Beitou ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติ เธอดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศ คณะกรรมาธิการโครงการต่าง ๆ และคณะกรรมาธิการวินัยของรัฐสภา

Hsiao ทำงานในประเด็นต่าง ๆ ในสภานิติบัญญัติไต้หวัน โดยเฉพาะสิทธิสตรี สิทธิของชาวต่างชาติในไต้หวัน และสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ Hsiao สนับสนุนการแก้ไขกฎหมายสัญชาติ เพื่อให้บุคคลที่เกิดมาจากบิดามารดาที่มีสัญชาติไต้หวันอย่างน้อยหนึ่งคน สามารถมีสัญชาติไต้หวันได้โดยไม่คำนึงถึงอายุ และยังได้เสนอและสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายคนเข้าเมือง เพื่อต่อต้านการเลือกปฏิบัติและต่อต้านความรุนแรงในครอบครัว นอกจากนี้ เธอยังเป็นผู้สนับสนุนสิทธิสัตว์ โดยเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์ และยังผลักดันให้มีการผ่านพระราชบัญญัติป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศในเดือนมกราคม ปี 2005 อีกด้วย

ในเดือนพฤษภาคม ปี 2005 Hsiao เป็นตัวแทนของพรรค DPP ในการประชุมประจำปีของ ‘Liberal International’ ในกรุงโซเฟีย ประเทศบัลแกเรีย ซึ่งในระหว่างนั้นเธอได้รับเลือกเป็นรองประธานของ Liberal International ด้วย Hsiao ได้กล่าวว่า เธอและตัวแทนของพรรค DPP คนอื่น ๆ ถูกติดตามตลอดการเยือนบัลแกเรีย โดยบุคคลสองคนที่สถานทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนในกรุงโซเฟียส่งมา

ในเดือนเดียวกันนั้นเอง Hsiao ยังได้เริ่มรณรงค์เพื่อสนับสนุนให้แฟนเบสบอลชาวไต้หวัน เขียนอีเมลถึงทีม ‘New York Yankees’ เพื่อขอให้เก็บผู้เล่นชาวไต้หวัน ‘Chien-Ming Wang’ ไว้ในทีม

Hsiao เป็นหนึ่งในผู้ร่างกฎของพรรค DPP และตกเป็นเป้าหมายของผู้สนับสนุนพรรคบางคน ซึ่งระบุว่า “มีความภักดีไม่เพียงพอ” โดยมีรายการวิทยุที่สนับสนุนเอกราช พากย์เสียงเธอว่า ‘ไชนีสคิม’ ในเดือนมีนาคม ปี 2007 โดยกล่าวหาว่าเธอมีความใกล้ชิดกับอดีตฝ่ายปฏิรูปของพรรค DPP บางคน หลังจากได้รับการปกป้องโดยสมาชิกของพรรค DPP คนอื่น ๆ แต่ Hsiao ไม่ได้รับการเสนอชื่อให้ลงสมัครรับการเลือกตั้งใหม่โดยพรรค DPP ในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติไต้หวัน ในเดือนมกราคม ปี 2008 ด้วยสาเหตุมาจากความขัดแย้งครั้งนั้น

Hsiao ออกจากสภานิติบัญญัติหยวน หลังจากวาระของเธอหมดลงในวันที่ 31 มกราคม 2008 เธอทำหน้าที่เป็นโฆษกของการรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2008 ซึ่งเป็นปีที่พรรค DPP ไม่ประสบความสำเร็จ อีกทั้ง เธอยังเป็นรองประธานมูลนิธิแลกเปลี่ยน ‘ทิเบต-ไต้หวัน’ เป็นสมาชิกของคณะกรรมการมูลนิธิไต้หวันเพื่อประชาธิปไตย และเป็นสมาชิกของคณะกรรมการบริหารของสภาเสรีนิยมและเดโมแครตแห่งเอเชีย และสมาชิกผู้ก่อตั้งสมาคมสตรีกีฬาแห่งไต้หวัน ตั้งแต่ปี 2010

Hsiao ใช้เวลาหนึ่งทศวรรษในการเป็นตัวแทนของพรรค DPP ในเทศมณฑลฮัวเหลียน ซึ่งเป็นภูมิภาคอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนพรรคก๊กมินตั๋งอย่างเข้มแข็ง ในปีเดียวกันนั้น เธอพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งซ่อมด้วยคะแนนเสียงที่น้อยกว่าไม่มาก แต่ก็ยังถือว่าได้ทำลาย ‘คะแนนเสียงเหล็ก’ ของพรรคก๊กมินตั๋ง จากนั้นเธอก็ตั้งสำนักงานในฮัวเหลียน และเดินทางไปมาระหว่างไทเปและฮัวเหลียนทุกสัปดาห์

Hsiao กลับมาสู่สภานิติบัญญัติไต้หวันในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2012 โดยได้รับเลือกผ่านการเป็นตัวแทนตามสัดส่วนของบัญชีรายชื่อพรรค ในปี 2016 Hsiao สืบทอดตำแหน่งต่อจาก ‘Wang Ting-son’ ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติของเทศมณฑลฮัวเหลียน ในปี 2018 มีการจัดให้รณรงค์เพื่อต่อต้าน Hsiao เนื่องจากเธอได้รับการสนับสนุนอย่างมาก ในการทำให้การแต่งงานของคนเพศเดียวกันถูกต้องตามกฎหมาย

Hsiao ไม่ยอมแพ้ต่อความกดดัน และยังคงหาเสียงในฮัวเหลียนต่อ ในเดือนสิงหาคม 2019 เธอได้รับการเสนอชื่อจากพรรค DPP เพื่อลงสมัครรับตำแหน่ง สส.ต่อไปในเทศมณฑลฮัวเหลียน เธอเสียที่นั่งให้กับ ‘Fu Kun-chi’ ในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติปี 2020

Hsiao ออกจากสภานิติบัญญัติไต้หวันเมื่อหมดวาระในปี 2020 และต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของสภาความมั่นคงแห่งชาติในเดือนมีนาคม 2020 ในเดือนมิถุนายนปีเดียวกันนั้นเอง Hsiao ได้รับแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนของไต้หวัน (หัวหน้าสำนักงานผู้แทนเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป) ประจำสหรัฐอเมริกา โดยเธอรับช่วงต่อจาก ‘Stanley Kao’ และเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับบทบาทนี้

โดย Hsiao สาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2020 Hsiao ได้รับเชิญอย่างเป็นทางการ และเข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ‘Joe Biden’ ของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2021 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ตัวแทนของไต้หวันประจำสหรัฐฯ ได้เข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการนับตั้งแต่สหรัฐฯ ยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันเมื่อปี 1979 เธอยืนอยู่หน้ารัฐสภาสหรัฐฯ (The US Capitol) ในพิธีสาบานตน และกล่าวว่า “ประชาธิปไตยเป็นภาษากลางของเรา และเสรีภาพคือเป้าหมายร่วมกันของเรา”

ในเดือนพฤศจิกายน 2000 เดอะเจอร์นัลลิสต์ ซึ่งเป็นนิตยสารแท็บลอยด์ท้องถิ่นได้เสนอข่าวซึ่งอ้างอย่างผิด ๆ ว่า ได้ข่าวจากรองประธานาธิบดี ‘Annette Lu’ ว่า Hsiao มีความสัมพันธ์กับประธานาธิบดี ‘Chen Shui-bian’ ซึ่งไม่มีหลักฐานสนับสนุนการกล่าวอ้างที่เป็นเท็จนี้ และรองประธานาธิบดี Annette Lu ได้ ฟ้องนิตยสารดังกล่าวในข้อหาหมิ่นประมาทในศาลแพ่ง จนในที่สุด นิตยสารก็ได้รับคำสั่งให้ขอโทษและแก้ไขประเด็นดังกล่าว โดยยอมรับว่าเป็นการสร้างเรื่องราวขึ้น

ในระหว่างอาชีพทางการเมืองของเธอ Hsiao และเพื่อนสมาชิกสภานิติบัญญัติ ‘Cheng Li-chun’ และ ‘Chiu Yi-ying’ ได้รับฉายาว่า ‘S.H.E ของ DPP’ Hsiao เป็นผู้สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิ LGBT ในไต้หวันมายาวนาน Hsiao เป็นคนรักแมว โดยเธอกล่าวในเดือนกรกฎาคม 2020 ว่า เธอวางแผนจะพาแมวทั้ง 4 ตัว ติดตามไปด้วยเมื่อเธอย้ายไปที่สหรัฐอเมริกา ในฐานะหัวหน้าสำนักงานผู้แทนเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปของไต้หวันประจำประเทศนี้ ในฐานะทูตของไต้หวัน เธอกล่าวว่า เธอจะต่อสู้กับการทูตที่ถูกกล่าวหาว่าก้าวร้าวแบบ ‘นักรบหมาป่า’ ของจีน โดยใช้การทูตแบบ ‘นักรบแมว’ (cat warrior) ที่เป็นแบรนด์ของเธอเอง

ในวันที่ 17 สิงหาคม 2022 หลังจากการเยือนไต้หวันของ ‘Nancy Pelosi’ ประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น ระหว่างวันที่ 2–3 สิงหาคม จีนได้ขึ้นบัญชีดำเจ้าหน้าที่ไต้หวัน 7 คน รวมทั้ง Hsiao เนื่องจากถูกกล่าวหาว่า ‘สนับสนุนเอกราชของไต้หวัน’ โดยบัญชีดำสั่งห้ามไม่ให้พวกเขาเข้าไปในจีนแผ่นดินใหญ่ และเขตบริหารพิเศษของฮ่องกง รวมถึงมาเก๊า และจำกัดไม่ให้ทำงานกับเจ้าหน้าที่จีนอีกด้วย หนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ของรัฐบาลจีน โกลบอลไทมส์ ตราหน้า Hsiao และเจ้าหน้าที่ทั้ง 6 คนว่าเป็น ‘คนหัวแข็งที่แบ่งแยกดินแดน’

ในเดือนเมษายน 2022 Hsiao ถูกจีนคว่ำบาตรเป็นครั้งที่สอง ภายหลังการประชุมระหว่างประธานาธิบดี ‘Tsai Ing-wen’ แห่งไต้หวัน และ ‘Kevin McCarthy’ ประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกา ในสหรัฐอเมริกา มาตรการคว่ำบาตรชุดที่สองยังรวมถึงการป้องกันไม่ให้นักลงทุน และบริษัทที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่ถูกคว่ำบาตร ความร่วมมือกับองค์กรและบุคคลในจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย

และวันที่ 20 พฤศจิกายน 2023 พรรค DPP ได้เสนอชื่อเธอให้เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน ปี 2024 โดยเธอได้ประกาศว่า “ฉัน Hsiao Bi-khim กลับมาแล้ว ฉันจะแบกรับความรับผิดชอบอันแน่วแน่ในการสนับสนุนไต้หวัน” หลังจากเดินทางกลับจากกรุงวอชิงตันไม่ถึงหนึ่งวัน ในงานแถลงข่าวที่จัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ (20 พ.ย.) ที่ผ่านมา เพื่อเปิดตัวผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวัน ที่สำนักงานใหญ่หาเสียงของ Lai Ching-te ในกรุงไทเป

ด้วยบทบาทหน้าที่ของ Hsiao Bi-khim ที่ผ่านมา เชื่อว่า เธอสนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชของไต้หวันอย่างแน่นอน และมีความเป็นไปได้สูงที่เธอน่าจะเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรค DPP ต่อจาก Lai Ching-te ด้วย ซึ่งท้ายที่สุดจะสร้างความขุ่นเคืองใจอย่างมากมายแก่รัฐบาลปักกิ่ง

เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

พระแก้วมรกต ถูกอัญเชิญออกจากที่ประดิษฐานกี่ครั้ง ครั้นสมัยรัตนโกสินทร์ และด้วยเหตุอันใด

ในช่วงสักเดือนกว่า ๆ มานี้ ผมได้พูดคุยและสัมภาษณ์นักวิชาการหลายต่อหลายท่านในเรื่อง ‘เมืองมรดกโลกเมืองศรีเทพ’ จังหวัดเพชรบูรณ์ แต่ในระหว่างที่พูดคุยผมก็เกิดนึกถึงเรื่องอื่น ๆ ของจังหวัดเพชรบูรณ์ไปด้วย โดยเฉพาะเรื่องของการตั้งนครบาลเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวงใหม่เพื่อหนีสงคราม และเรื่องการขนทรัพย์สินอันมีค่าหลาย ๆ อย่างของชาติไปเตรียมไว้ ณ ถ้ำฤาษีสมบัติ ซึ่งทรัพย์สินมีค่านั้น มี ‘พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร’ หรือ ‘พระแก้วมรกต’ รวมอยู่ด้วย 

การอัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐาน ณ สถานที่ต่าง ๆ เคยเกิดขึ้นนับเนื่องเป็นร้อย ๆ ปีแล้ว ผมไม่ขอเล่าซ้ำ แต่ถ้าจำเพาะมาในยุครัตนโกสินทร์ของเรานี้ ‘พระแก้วมรกต’ เคยถูกอัญเชิญออกจากที่ประดิษฐานภายในพระอุโบสถ ‘วัดพระศรีรัตนศาสดาราม’ สักกี่ครั้ง? เคยถูกอัญเชิญออกจากพระบรมมหาราชวังสักกี่ครา? เรื่องนี้แหละ ที่ผมกำลังจะเล่าให้อ่านเพลิน ๆ กัน 

ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ‘พระแก้วมรกต’ นั้นแกะสลักมาจากแท่งหินหยกทั้งก้อน ซึ่งไม่ได้มีแต่เพียงองค์พระที่เราเห็นเพียงอย่างเดียว แต่ด้านล่างขององค์พระที่ไม่ได้แกะสลักนั้น เป็นแท่งหินขนาดกว้างใกล้เคียงกับองค์พระคือประมาณ ๔๘ เซนติเมตร ลึกลงไปประมาณ ๒๙ เซนติเมตร สวมลงไปในฐานกลีบบัวคว่ำบัวหงายที่มีทองคำหุ้มอยู่ ถ้าจะอัญเชิญไปไหนก็ต้องเป็นการเฉพาะ เพราะไม่สามารถนำไปตั้งบนพื้นเรียบ ๆ ได้เลย 

การอัญเชิญ ‘พระแก้วมรกต’ ออกจากที่ประดิษฐานภายในพระอุโบสถแต่ไม่ได้นำออกจากพระบรมมหาราชวังนั้นเกิดขึ้นทั้งสิ้น ๕ ครั้ง ดังนี้...

ครั้งแรก ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มความสูงของบุษบกโดยนำพระแท่นเบญจาสามชั้นหุ้มด้วยทองคำ ที่เคยใช้ประดิษฐานรองรับพระบรมโกศ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ มาถวายเป็นพุทธบูชา เสริมหนุนองค์บุษบกที่ทรงพระแก้วมรกตให้สูงขึ้นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ครั้งที่สอง ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ‘พระพุทธปรางค์ปราสาท’ เพื่อประดิษฐานพระแก้วมรกตในปีพ.ศ. ๒๓๙๘ ครั้นก่อสร้างแล้วเสร็จในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระองค์มีพระบรมราชวินิจฉัยว่าปราสาทแห่งนี้มีขนาดเล็กไม่เพียงพอแก่การพระราชพิธีต่าง ๆ จึงนำไปประดิษฐานไว้ภายในพระอุโบสถตามเดิม พระพุทธปรางค์ปราสาทนี้คือ ‘ปราสาทพระเทพบิดร’ นั่นเอง 

ครั้งที่สาม ในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ คือในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ เกิดไฟไหม้พระพุทธปรางค์ปราสาทลุกลามไฟโหม เกรงไฟจะไหม้พระอุโบสถวัดพระแก้วไปด้วย จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐาน ณ พระมหามณเฑียร ชั่วคราว 

ครั้งที่สี่ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ในโอกาสครบ ๑๕๐ ปีแห่งการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ในปีพ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นครั้งที่ ๓ ตามรอบการบูรณะคือ ๕๐ ปี จะบูรณะใหญ่ ๑ ครั้ง จึงได้มีการอัญเชิญพระแก้วมรกตออกจากที่ประดิษฐานและทำการถ่ายภาพองค์พระแก้วมรกตเป็นครั้งแรก 

ครั้งที่ห้า ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ในคราวบูรณะวัดพระแก้วครบ ๒๐๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ มาแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ซึ่งเป็นการบูรณะซ่อมแซมโครงสร้างบุษบก ซึ่งทรุดตามพื้นอุโบสถจึงต้องอัญเชิญองค์พระแก้วมรกตลงจากบุษบก โดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นแม่กองบูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่ในครั้งนั้น 

ส่วนการอัญเชิญ ‘พระแก้วมรกต’ ออกจากที่ประดิษฐานสู่ภายนอกนั้นมีสองเหตุการณ์ที่พอจะเล่าให้อ่านกันได้ ดังนี้...

เหตุการณ์แรก เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๖๓ ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ บ้านเมืองของเราได้เกิด “โรคห่า”ระบาด ผู้คนล้มตายไปกว่า ๓๐,๐๐๐ คน วัดต่างๆ มีซากศพของผู้ป่วยโรคห่าทับถมเหมือนกองฟืน ถนนเงียบไร้คนเดิน แม่น้ำก็ไม่สามารถดื่มกินเนื่องจากปนเปื้อน เพราะสมัยนั้นยังไม่รู้วิธีป้องกันหรือกำจัดโรคอย่างเป็นรูปธรรม 

รัชกาลที่ ๒ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบ ‘พระราชพิธีอาพาธพินาศ’ เพื่อปลอบประโลมจิตใจราษฎรและเป็นการปัดรังควานแก่พระนคร ด้วยความเชื่อที่ว่า ‘ห่า’ คือผีร้ายที่ทำให้เกิดโรคระบาด ซึ่งพิธีดังกล่าวประกอบด้วย การยิงปืนใหญ่รอบพระนครตลอดคืนยันฟ้าสาง การอัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบรมสารีริกธาตุธาตุออกแห่ไปรอบพระนคร พระภิกษุทรงสมณศักดิ์ร่วมเจริญพระพุทธมนต์ โปรยทราย ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ทั้งทางบกและทางเรือ ในหลวงรัชกาลที่ ๒ ทรงรักษาศีล ทรงไถ่ชีวิตสัตว์ ทรงปล่อยนักโทษ ห้ามประชาชนฆ่าสัตว์ตัดชีวิตและให้อยู่แต่ในบ้าน ลดการติดต่อ เว้นระยะห่าง จนเชื้อลดลงและหายไปในที่สุด 

เหตุการณ์ที่สอง ซึ่งเล่ากันว่าเกิดขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ตรงกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ ‘พระแก้วมรกต’ ไม่ได้ถูกอัญเชิญออกจากที่ประดิษฐานโดยพระมหากษัตริย์ แต่ถูกอัญเชิญตามคำสั่งลับของนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งต้องการย้ายเมืองหลวงไปยังนครบาลเพชรบูรณ์เพื่อหนีสงคราม 

คำสั่งลับ ‘ปฏิบัติการทองคำ’ ระบุให้ ขนทรัพย์สินของชาติ ทองคำ และ ‘พระแก้วมรกต’ เพื่อหนีสงคราม ปฏิบัติการนี้ไม่มีการบันทึกหรือออกข่าวเป็นทางการ แต่กลับมีพบเห็นเหตุการณ์และบันทึกเรื่องราวที่สามารถปะติดปะต่อกันเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่การขนทรัพย์สินออกจากหัวลำโพงโดยทางรถไฟ จนกระทั่งไปถึงเพชรบูรณ์จึงต่อรถ และขนขึ้นเขาโดยเท้า ไปยัง ถ้ำฤาษี ต.บุ่งน้ำเต้า อ.หล่มสัก โดยอัญเชิญพระแก้วมรกต ใส่ลังไม้สักเดินทอง ขนาดกว้าง ๑ เมตร ยาว ๑.๕๐ เมตร 

ส่วนการอัญเชิญ ‘พระแก้วมรกต’ กลับกรุงเทพฯ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ โดยเป็นเรื่องเล่าจากความทรงจำของ ‘พระอุดมญาณโมลี’ (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) ซึ่งท่านได้รับพระบัญชาจาก สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ให้ไปเป็นสักขีพยานอัญเชิญพระแก้วมรกตจากถ้ำแห่งหนึ่งที่เมืองเพชรบูรณ์กลับไปยังกรุงเทพมหานคร โดยท่านเล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า...

“…การอัญเชิญพระแก้วมรกตในครั้งนี้มีทรัพย์สินอย่างอื่นด้วย คือ ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ และสมบัติอื่น ๆ อันมีค่าของชาติ โดยมีพิธีการอัญเชิญ มีทหารยืนเข้าแถวเป็นระเบียบ ตั้งแถวเป็นแนวยาวรอรับ มีนายทหาร มีทหารฝรั่งต่างชาติด้วย และมีทหารผิวดำคล้าย ๆ ทหารจากแอฟริการ่วมในพิธีด้วย โดยการอัญเชิญกลับในครั้งนั้น บรรทุกเดินทางโดยขบวนรถยนต์ของทางการทหารกลับกรุงเทพฯ ซึ่งหลวงพ่อก็ไม่ได้กลับพร้อมขบวนรถนั้น โดยในระหว่างนั้นหลวงพ่อได้ไปพักที่วัดมหาธาตุ ในตัวเมืองเพชรบูรณ์ พักอยู่เป็นเวลาประมาณ ๗ วัน…” 

แม้ว่าหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรของเหตุการณ์ในครั้งนั้นไม่ได้มีบันทึกอยู่อย่างเป็นทางการ มีเพียงหนังสือแจ้งราชการทางทหารของ พันเอก หาญ อุดมสรยุทธ์ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการพื้นที่ จากพยานแวดล้อมที่เป็นชาวบ้าน ตอกย้ำด้วยคำบอกเล่าของพระเถระสายวิปัสสนากรรมฐานหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ก็น่าจะช่วยอนุมานเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้พอสังเขป 

แต่อย่างไรก็ดี เราอาจจะต้องให้ความเป็นธรรมในเหตุการณ์ครั้งหลังสุด เพราะถือว่าเป็นเพียงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและประวัติศาสตร์กระซิบ ที่ยังคงต้องหาหลักฐานประกอบให้เกิดความเชื่อมากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อความกระจ่างชัดสมบูรณ์มากขึ้นต่อไป

หยุดอวดเครดิตทางสังคมด้วย ‘การสร้างหนี้’ เพราะ ศก.ยุคนี้ ‘ไม่มีหนี้ = ลาภอันประเสริฐ’

ความเชื่อที่กล่าวว่า การเป็นหนี้ เป็นการแสดงถึงการมีเครดิตที่ดี อาจใช้ไม่ได้กับสภาพเศรษฐกิจ และสังคมในยุคปัจจุบัน

เดือนมิถุนายน 2566 มีข้อมูลจาก บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ระบุว่าหนี้ครัวเรือนของไทย มีจำนวนสูงถึง 15.96 ล้านล้านบาท

สำหรับการกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือ บุคคลกับสถาบันการเงิน อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน โดยการกู้ยืมเงินกันเกินกว่า 2,000 บาท หากมิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ยืมภายหลัง หากมีการผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้จะฟ้องร้องบังคับคดีกันไม่ได้

แต่หากมีการ ส่งข้อความทางแอปพลิเคชันต่าง ๆ มีข้อความการพูดคุย ยืมเงินกัน และสามารถระบุตัวตน ผู้ยืมได้ โดยเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีลักษณะ เข้าถึงได้ นำกลับมาใช้ได้ และความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ก็สามารถนำมาฟ้องร้องกันได้ 

ดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินกัน ห้ามคิดเกินร้อยละ 15 ต่อปี หรือร้อยละ 1.25 ต่อเดือน แต่หากเป็นสถาบันการเงิน อาจจะสามารถคิดดอกเบี้ยได้เกินกว่านี้

ในส่วนของ ‘หนี้นอกระบบ’ คือ หนี้ที่เจ้าหนี้ไม่ใช่สถาบันการเงิน อาจมีการคิดดอกเบี้ยเป็นรายวันมากถึงร้อยละ 20 และมีการทวงหนี้กันแบบรุนแรง 

ทว่า การทวงหนี้มีกฎหมายควบคุม ต้องทวงกับตัวลูกหนี้เท่านั้น วันธรรมดาทวงได้ตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงสองทุ่ม วันเสาร์และอาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ ทวงได้ตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงหกโมงเย็น ห้ามข่มขู่ ห้ามใช้ความรุนแรงหรือดูหมิ่น จดหมายทวงหนี้ห้ามเป็นไปรษณียบัตรหรือเป็นจดหมายเปิดผนึก และห้ามทวงหนี้เกินวันละ 1 ครั้ง

การทวงหนี้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย มีโทษจำคุก ตั้งแต่ไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสน หรือสูงสุดจำคุกไม่เกินห้าปี ปรับไม่เกินห้าแสน หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความจำเป็นในการใช้ชีวิต อาจเป็นเหตุผลสำคัญให้เราต้องยินยอมเป็นหนี้ อย่างไรก็ตามหากเราสามารถบริหารจัดการความจำเป็นให้พอดีกับการใช้ชีวิตได้ เราจะพบว่า การไม่เป็นหนี้นั้น เป็นลาภอันประเสริฐอย่างยิ่ง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top