‘Operation Solomon’ ปฏิบัติการ ‘อพยพชาวยิว’ จากเอธิโอเปียสู่อิสราเอล สร้างสถิติขนส่งผู้โดยสารทางอากาศมากที่สุดในโลก

สวัสดีปีใหม่นักอ่านทุกท่านของ THE STATES TIMES หวังว่าปีนี้จะเป็นปีที่สดใสและทุกท่านจะมีความสุข ร่ำรวย และแข็งแรงกันทุกคนนะครับ

สำหรับปีใหม่นี้ ผม อาจารย์โญธิน มานะบุญ ก็ยังคงมีเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมาเล่าให้ทุกท่านได้อ่านกันเช่นเคย เรื่องราววันนี้เกี่ยวกับการขนส่งผู้โดยสารบนเครื่องบินที่มากที่สุดในโลกครับ

การขนส่งผู้โดยสารบนเครื่องบินภายในหนึ่งเที่ยวบิน และขนคนได้มากที่สุดในโลก จนโด่งดังและเป็นสถิติโลก เกิดขึ้นในภารกิจปฏิบัติการโซโลมอน หรือ Operation Solomon ซึ่งถือว่าเป็นปฏิบัติการที่เหนือขีดจำกัดของมนุษยชาติเลยทีเดียว

แต่ก่อนจะเกิดปฏิบัติการโซโลมอน เคยมีปฏิบัติการคล้าย ๆ แบบนี้เกิดขึ้นมาแล้วถึง 2 ครั้ง ซึ่งคือ ‘ปฏิบัติการ Moses’ และ ‘ปฏิบัติการ Joshua’ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือให้ชาวยิวในเอธิโอเปีย หรือที่เรียกว่า Beta Israel ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภูมิภาค Gondar ของที่ราบสูงเอธิโอเปีย มีอาชีพชาวนาและช่างฝีมือ อพยพไปยังอิสราเอล ซึ่งการอพยพทั้ง 2 ครั้งนั้นรัฐบาลเอธิโอเปียยินยอมให้เกิดขึ้นเพื่อแลกกับอาวุธและการช่วยเหลือเล็ก ๆ น้อย ๆ และมีชาวยิวไม่มากที่สามารถอพยพไปได้ 

สำหรับ Operation Solomon (מבצע שלמה, Mivtza Shlomo) นั้น เป็นปฏิบัติการลับทางทหารของอิสราเอลเกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 24 ถึง 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1991 เพื่อส่งชาวยิวในเอธิโอเปียไปยังอิสราเอลโดยขนส่งทางอากาศ ด้วยเที่ยวบินตรงของเครื่องบินอิสราเอลจำนวน ๓๕ ลำ เช่น C-130 ของกองทัพอากาศอิสราเอล และเครื่องบิน Boeing 747 ของสายการบิน El Al ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติของอิสราเอล ในครั้งนั้นได้ทำการขนย้ายชาวยิวเอธิโอเปียจำนวน ๑๔,๓๒๕ คนไปยังอิสราเอลภายใน ๓๖ ชั่วโมง 

โดยเครื่องบิน Boeing 747 ของสายการบิน El Al ลำหนึ่งได้บรรทุกคนอย่างน้อย ๑,๐๘๘ คน รวมถึงทารกแรกเกิดอีกสองคน (เกิดระหว่างการขนส่ง) และถือเป็นสถิติโลกที่มีผู้โดยสารมากที่สุดบนเครื่องบินโดยสาร ทั้งนี้มีเด็กแปดคนถือกำเนิดในระหว่างกระบวนการขนส่งทางอากาศในปฏิบัติการครั้งนี้ด้วย

Mengistu Haile Mariam อดีตประธานาธิบดีของเอธิโอเปีย

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ปฏิบัติการโซโลมอนต้องเริ่มขึ้นก็เพราะในปี ค.ศ. 1991 รัฐบาลเอธิโอเปียของ Mengistu Haile Mariam เริ่มเสื่อมอำนาจและใกล้จะถูกโค่นล้มโดยกลุ่มกบฏ Eritrean และ Tigrayan ซึ่งทำลายเสถียรภาพทางการเมืองของเอธิโอเปียอย่างมาก ทำให้องค์กรชาวยิวทั่วโลก เช่น American Association for Ethiopian Jewish (AAEJ) รวมทั้งรัฐบาลอิสราเอลเป็นกังวลเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของชาวยิวเอธิโอเปีย บวกกับอำนาจที่น้อยลงเรื่อย ๆ ของรัฐบาล Mengistu จึงได้เปิดโอกาสให้ชาวยิวในเอธิโอเปียสามารถอพยพไปยังอิสราเอลได้

โดยก่อนหน้านี้ ในปี ค.ศ. 1990 รัฐบาลอิสราเอลและกองกำลังป้องกันประเทศอิสราเอล (IDF) ตระหนักถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่เลวร้ายลงของเอธิโอเปีย จึงได้วางแผนการลับ ๆ เพื่อขนส่งชาวยิวทางอากาศไปยังอิสราเอล 

สหรัฐอเมริกาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนปฏิบัติการโซโลมอนในครั้งนี้ด้วย โดยหลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้รับการเรียกร้องจากผู้นำชาวยิวอเมริกันจากองค์กร American Association for Ethiopian Jewish (AAEJ) ที่ระบุว่า “ชาวยิวเอธิโอเปียกำลังตกอยู่ในอันตราย” 

สหรัฐอเมริกามีผลต่อการตัดสินใจในเรื่องการอพยพชาวยิวเอธิโอเปียของรัฐบาลเอธิโอเปียอย่างมาก โดยรัฐบาลเอธิโอเปียได้รับแรงกระตุ้นจากจดหมายของประธานาธิบดี George H. W. Bush (ผู้ซึ่งเคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการ Moses และปฏิบัติการ Joshua ก่อนหน้านี้ในครั้งนั้นประธานาธิบดี Mengistu ตั้งใจจะอนุญาตให้มีการอพยพเพื่อแลกกับอาวุธเท่านั้น)

Rudy Boschwitz วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ที่เป็นผู้มีบทบาทสำคัญ

นอกจากนี้ ทางสหรัฐฯ ยังส่งกลุ่มนักการทูตอเมริกันเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการแก่รัฐบาลอิสราเอลและเอธิโอเปีย นำโดย Rudy Boschwitz วุฒิสมาชิก, Irvin Hicks รองผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงกิจการแอฟริกา, Robert Frasure ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการแอฟริกาแห่งสภาความมั่นคงแห่งชาติจากทำเนียบขาว และ Robert Houdek อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ณ กรุงแอดดิสอาบาบา 

Boschwitz ถูกส่งไปเป็นทูตพิเศษของประธานาธิบดี Bush เขาและทีมงานได้พบกับรัฐบาลเอธิโอเปียเพื่อช่วยเหลืออิสราเอลในการจัดการขนส่งทางอากาศ 

นอกจากนี้ Herman Cohen ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแอฟริกายังมีบทบาทสำคัญ เนื่องจากเขาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศของสงครามกลางเมืองในเอธิโอเปีย 

Cohen ได้ทำข้อตกลงต่าง ๆ กับ Mengistu เอาไว้ และเพื่อตอบสนองต่อความพยายามของนักการทูตอเมริกัน รักษาการประธานาธิบดีแห่งเอธิโอเปีย Tesfaye Gebre Kidan ได้ตัดสินใจที่จะอนุญาตให้มีการอพยพชาว Beta Israel ทางอากาศ 

การเจรจารอบปฏิบัติการนำไปสู่การอภิปรายโต๊ะกลมในลอนดอนในที่สุด ซึ่งจัดทำคำประกาศร่วมโดยนักรบเอธิโอเปียซึ่งตกลงที่จะจัดประชุมเพื่อเลือกรัฐบาลเฉพาะกาล 

ชุมชนชาวยิวระดมเงิน 35 ล้านดอลลาร์เพื่อมอบให้กับรัฐบาลในเอธิโอเปียเพื่อให้ชาวยิวเอธิโอเปียสามารถอพยพไปยังอิสราเอลได้ เงินที่ได้ไปเป็นค่าใช้จ่ายที่สนามบินในกรุงแอดดิสอาบาบา

ในช่วงเวลาก่อนหน้าที่จะมีปฏิบัติการโซโลมอน ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนระหว่างคนอิสราเอลด้วยกัน โดยมีข้อถกเถียงกันว่าจะยอมรับชาวยิวเอธิโอเปียหรือไม่? นอกจากนี้ยังมีการยกเหตุผลต่าง ๆ ขึ้นมาต่อต้าน โดยชาวยิวบางคนในอิสราเอลกลัวว่าจะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘Shanda fur di goyim’ (שאנדע פֿאר די גויים : ความลำบากใจต่อผู้ที่ไม่ใช่ชาวยิวแท้) ด้วยความกลัวนี้จึงมีบางคนออกมาชุมนุมคัดค้านปฏิบัติการนี้

และเนื่องจากความแตกต่างกันของชาวอิสราเอลและชาวเอธิโอเปียในด้านวัฒนธรรม ทำให้หลายคนนำเรื่องนี้ขึ้นมาอ้างว่า จะทำให้เกิดการแบ่งแยก โดย Yehuda Dominitz อธิบดีกรมตรวจคนเข้าเมืองฯ ได้เปรียบการย้ายถิ่นฐานนี้ว่าเป็นการ ‘เอาปลาขึ้นจากน้ำ’ ยังมีคนอื่น ๆ อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวคิดที่คลุมเครือนี้ด้วยการกล่าวอ้างที่สร้างความขัดแย้งมากขึ้น เช่น Malkah Raymist นักเขียนขององค์การไซออนิสต์โลก ได้โต้แย้งว่า ‘ทัศนคติทางจิตใจของชาวยิวเอธิโอเปียคือ เด็ก...ซึ่งต้องใช้เวลาหลายปีกว่าที่พวกเขาจะผ่านการศึกษาขั้นต่ำจนเข้าใจความคิดที่ก้าวหน้า’

แต่อย่างไรก็ตาม ข้อโต้แย้งเหล่านี้ก็ไร้ผล เนื่องจากรัฐบาลอิสราเอลเดินหน้าและดำเนินการอพยพชาวยิวเอธิโอเปียทางอากาศต่อไป และชาวยิวเอธิโอเปียต่างก็มีความสุขที่ได้รับการต้อนรับเมื่อพวกเขาออกจากเครื่องบินโดยชาวอิสราเอลจำนวนมาก


ชาวยิวเอธิโอเปียก้าวออกจากเครื่องบินลำเลียงแบบ C-130 Hercules ของ IAF เมื่อ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1991

ปฏิบัติการนี้อยู่ภายใต้การสั่งการของ Yitzhak Shamir นายกรัฐมนตรีอิสราเอลในขณะนั้น และถูกเก็บเป็นความลับโดยการตรวจสอบของ IDF ปฏิบัติการ Solomon ได้รับความช่วยเหลืออย่างมากจาก AAEJ (สมาคมอเมริกันสำหรับชาวยิวเอธิโอเปีย) และในปี ค.ศ. 1989 AAEJ ได้เร่งกระบวนการของภารกิจ Aliyah เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างเอธิโอเปียกับอิสราเอลอยู่ในจุดที่เหมาะสม 

Susan Pollack ผู้อำนวยการของ AAEJ ในกรุงแอดดิสอาบาบา พยายามต่อสู้เพื่อให้ปฏิบัติการ Solomon เกิดเร็วขึ้นกว่าเดิม โดยอิสราเอลมีแผนปฏิบัติการอย่างค่อยเป็นค่อยไป และสหรัฐฯ ได้รับรายงานจาก Pollack ซึ่งแจ้งให้ทั้งสองประเทศทราบถึงสภาพเลวร้ายที่ชาวยิวในเอธิโอเปียกำลังเผชิญอยู่ โดยองค์กร AAEJ ได้จัดหารถสำหรับการอพยพขนส่ง เช่น รถบัส และรถบรรทุก เพื่อให้ผู้คนใน Gondar มาถึงกรุงแอดดิสอาบาบาได้อย่างรวดเร็ว 

ในการมากรุงแอดดิสอาบาบา ชาวยิวเอธิโอเปียจำนวนมากที่มาจาก Gondar ต้องเดินทางหลายร้อยไมล์ด้วยรถยนต์ ม้า และเดินเท้า บ้างก็ถูกปล้นระหว่างทาง บ้างก็ถูกฆ่าตาย ภายในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1989 ชาวยิวเอธิโอเปียราว ๒,๐๐๐ คนเดินเท้าจากหมู่บ้านของพวกเขาในที่ราบสูง Gondar ไปยังกรุงแอดดิสอาบาบา เมืองหลวง และอีกจำนวนมากมาร่วมกับพวกเขาภายหลังในปี ค.ศ. 1991

เพื่อให้รองรับผู้คนได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เครื่องบิน Boeing 747 ของสายการบิน El Al ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติของอิสราเอล จึงถูกถอดที่นั่งออก และเนื่องจากน้ำหนักร่างกายที่ต่ำ และสัมภาระที่น้อยที่สุดของผู้ลี้ภัย จึงสามารถบรรทุกผู้โดยสารมากถึง ๑,๐๘๖ คนบนเครื่องบินลำเดียว 

ผู้อพยพจำนวนมากเดินทางมาโดยไม่มีอะไรติดตัวเลยนอกจากเสื้อผ้าและอุปกรณ์ทำอาหาร และถูกขนย้ายโดยรถพยาบาล โดยมีผู้โดยสารที่อ่อนเพลียมากถึง ๑๔๐ คนได้รับการรักษาพยาบาลบนพื้นยางมะตอย ส่วนหญิงมีครรภ์หลายคนคลอดบุตรบนเครื่องบิน พวกเธอและทารกของพวกเธอถูกนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว 

ก่อนที่ปฏิบัติการ Solomon จะเริ่มขึ้น ชาวยิวเอธิโอเปียจำนวนมากมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อจากโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะ HIV ชาวยิวเอธิโอเปียที่ถูกทิ้งไว้มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อเพราะอัตราการติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้น หลังจากนั้นไม่กี่เดือน ชาวยิวประมาณ ๒๐,๐๐๐ คนได้เดินทางมายังอิสราเอล เมื่อมาถึงเหล่าบรรดาผู้อพยพต่างโห่ร้องและดีใจ 

Mukat Abag วัย ๒๙ ปีกล่าวว่า "เราไม่ได้เอาเสื้อผ้าของเรามาด้วย เราไม่ได้นำสิ่งของใด ๆ ของเราติดมาเลย แต่เราดีใจมากที่ได้มาที่นี่"

ปฏิบัติการโซโลมอนสามารถอพยพชาวยิวเอธิโอเปียไปยังอิสราเอลทางอากาศได้มากเป็นเกือบสองเท่าของปฏิบัติการ Moses โดยระหว่างปี ค.ศ. 1990 ถึง ค.ศ. 1999 ชาวยิวเอธิโอเปียกว่า ๓๙,๐๐๐ คน อพยพเข้าสู่อิสราเอล 

ปฏิบัติการนี้สร้างสถิติโลกสำหรับผู้โดยสารมากที่สุดบนเครื่องบิน เมื่อเครื่องบิน Boeing 747 ของสายการบิน El Al 747 บรรทุกคนกว่า ๑,๐๐๐ คนไปยังอิสราเอล สถิตินี้ไม่มีใครโต้แย้ง แต่จำนวนผู้โดยสารไม่ชัดเจน 

โดย Guinness World Records ระบุตัวเลขไว้ที่ ๑,๐๘๘ คน รวมทั้งทารกสองคนที่เกิดบนเที่ยวบินนี้ด้วย โดยสังเกตว่า รายงานร่วมสมัยอ้างอิงตัวเลขระหว่าง ๑,๐๗๘ ถึง ๑,๑๒๒

แต่น่าเศร้าที่เมื่อชาวยิวเอธิโอเปียอพยพมาแล้ว ส่วนใหญ่ประสบปัญหาในการหางานทำในประเทศอิสราเอล ประมาณการในปี ค.ศ. 2006 ระบุว่า ผู้อพยพวัยผู้ใหญ่จากเอธิโอเปียมากถึงร้อยละ 80 ตกงาน และถูกบังคับให้ต้องดำรงชีพด้วยเงินสวัสดิการของรัฐ ตัวเลขการว่างงานดีขึ้นอย่างมากภายในปี ค.ศ. 2016 โดยมีผู้ชายเพียง 20% และผู้หญิง 26% เท่านั้นที่ตกงาน 

ซึ่งสาเหตุของการว่างงานนั้นสามารถอธิบายได้ เช่น การเปลี่ยนจากดินแดนชนบทที่ส่วนใหญ่ไม่รู้หนังสือของเอธิโอเปียไปเป็นแรงงานในเมืองใหญ่ในอิสราเอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่า ชาวยิวเอธิโอเปียส่วนใหญ่ไม่พูดภาษาฮิบรู และต้องแข่งขันกับแรงงานอพยพชาติอื่น ๆ ที่มีทักษะสูงกว่า 

อย่างไรก็ตาม ชาวยิวเอธิโอเปียที่เติบโตและได้รับการศึกษาในอิสราเอล มีวุฒิการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา บวกกับการฝึกอบรมในรูปแบบอื่น ๆ ก็ยังคงประสบปัญหาการว่างงานอยู่ นี่จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่าสาเหตุการว่างงานของชาวยิวเอธิโอเปียนั้นไม่ได้มีแค่การไม่รู้หนังสือ แต่อาจแฝงไปด้วยความอคติทางเชื้อชาติหรือศาสนา จนทำให้เกิดการถกเถียงกันว่า ชาวยิวเอธิโอเปียต้องได้รับการพิจารณาว่าเป็นชาวยิวหรือไม่?

Fig Tree (2018) ภาพยนตร์กำกับโดย Alamork Marsha เล่าเกี่ยวกับประสบการณ์ของเธอระหว่างปฏิบัติการ Operation Solomon


👍 ติดตามผลงาน อาจารย์โญธิน มานะบุญ เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.โญธิน%20มานะบุญ