Sunday, 11 May 2025
LITE TEAM

วันนี้เมื่อ 240 ปีก่อน ‘วิลเลียม เฮอร์เชล’ นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ ค้นพบ ‘ดาวยูเรนัส’ ดาวเคราะห์ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า

วันนี้เมื่อ 240 ปีก่อน ได้มีการค้นพบที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้น เมื่อนักดนตรีอาชีพ ผู้หลงใหลในดาราศาสตร์ จนทำให้งานอดิเรกของเขา สร้างการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ และกลายเป็นผู้ค้นพบ ‘ดาวยูเรนัส’ ในที่สุด เขาคนนั้น ก็คือ ‘วิลเลียม เฮอร์เชล’ นักดาราศาสตร์มือสมัครเล่นชาวอังกฤษ เชื้อสายเยอรมัน ได้ค้นพบ ‘ดาวยูเรนัส’ ดาวเคราะห์แก๊สที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 7 ของระบบสุริยะโดยบังเอิญ ในขณะที่เขากำลังส่องกล้องโทรทรรศน์เพื่อสำรวจดาวฤกษ์

โดยการค้นพบของเขานั้น เกิดจากการที่เฮอร์เชลนั้นได้มองเห็นดาวดวงหนึ่งเคลื่อนที่ผ่านไปอย่างช้าๆ ในตอนแรกเขาคิดว่ามันเป็นเพียงดาวหาง แต่เมื่อเฝ้าติดตามสังเกตอยู่หลายสัปดาห์ เฮอร์เชลจึงได้คำนวณวงโคจรของวัตถุที่เขาค้นพบ และพบว่าวัตถุดังกล่าว คือดาวเคราะห์ดวงใหม่ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ และไกลจากวงโคจรของดาวเสาร์ออกไปถึง 2 เท่า 

18 ปี อุ้มหายกลางเมือง ‘ทนายสมชาย นีละไพจิตร’ ทนายและนักสิทธิมนุษยชนมุสลิมชาวไทย

ทนายสมชาย นีละไพจิตร เป็นนักกฎหมายและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนมุสลิมชาวไทย ที่มักเข้าไปมีบทบาทเป็นทนายให้ความช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะคดีที่ประชาชนถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับการก่อการร้ายจนจำเลยพ้นจากข้อหาได้เกือบทุกคดี ทำให้เขานั้นกลายเป็นที่รู้จักในฐานะ ‘ผู้ที่ทวงคืนความยุติธรรมให้แก่ชาวบ้านชายแดนใต้’ หรือในอีกแง่หนึ่งที่บางคนอาจรู้จักเขาในฐานะ ‘ทนายโจร’

ไม่ว่าเขาจะถูกเรียกขานอย่างไรก็ตาม จุดมุ่งหมายหลักของเขานั้นก็คือการช่วยเหลือคนเพื่อให้ได้รับความ ‘ยุติธรรม’ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนแม้แต่น้อย หากแต่การเป็นทนายน้ำดีของเขาที่เข้าไปมีบทบาทพัวพันกับคดีความมั่นคงมากมาย อาจไปขัดต่อความคิดเห็นหรือขัดขาคนบางกลุ่ม จนทำให้เขาต้องประสบกับเหตุไม่คาดฝันที่ทำให้เขาต้องกลายเป็น ‘บุคคลสูญหาย’ ในที่สุด 

โดยย้อนกลับเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2547 ทนายสมชายได้เดินทางไป โรงแรมชาลีน่า เพื่อรอพบเพื่อน หลังจากนั่งรอที่ล็อบบี้ของโรงแรม แต่เพื่อนมาช้ากว่ากำหนดมาก บวกกับความอ่อนเพลีย และอยากพักผ่อน จึงทำให้ทนายสมชายตัดสินใจเดินทางกลับ 

ในระหว่างเดินทางกลับด้วยรถยนต์ส่วนตัว ทนายสมชายได้ใช้เส้นทางถนนรามคำแหง เพื่อมุ่งหน้าไปค้างคืนที่บ้านเพื่อน แต่ระหว่างทางนั้นกลับมีรถยนต์ที่บรรทุกชายฉกรรจ์จำนวน 5-6 คน ตามมาอย่างกระชั้นชิด จนชนท้ายรถยนต์ของทนายสมชาย

ทำให้ต้องหยุดรถเพื่อลงมาพูดคุย หากแต่ว่าทนายสมชายกลับถูกทำร้ายและผลักเข้าไปในรถยนต์ของชายฉกรรจ์ และมีชายอีกคนขับรถของทนายสมชายขับหลบหนีออกไปพร้อมกัน และนั่นจึงกลายเป็น ‘ครั้งสุดท้าย’ ที่มีผู้คนเห็นทนายสมชาย

11 มีนาคม พ.ศ. 2473 ระลึกถึง ‘อาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ’ ผู้ให้กำเนิดแบบเรียน ‘มานะ มานี ปิติ ชูใจ’

หากพูดถึงชั่วโมงเรียนภาษาไทยในวัยประถม หลายคนคงนึกถึงตัวละคร ‘มานะ มานี ปิติ ชูใจ’ แบบเรียนที่เด็กไทยหลายคนต้องเคยได้สัมผัสและในวันที่ 11 มีนาคม ก็นับว่าเป็นวันเกิดของผู้ให้กำเนิดแบบเรียนในความทรงจำ ‘อาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ’

โดยแบบเรียน ‘มานะ มานี ปิติ ชูใจ’ เคยใช้เป็นแบบเรียนวิชาภาษาไทย ในโรงเรียนระดับประถมศึกษาทั่วประเทศ ตามหลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ. 2521-2537 แน่นอนว่าสำหรับใครที่อายุเลข 3 ขึ้นไป ต้องเคยได้สัมผัสและเติบโตไปพร้อมกับเรื่องราวของมานะ มานี จนเขียนอ่านได้คล่อง ถึงแม้ว่าอาจารย์รัชนี ได้จากโลกนี้ไปแล้ว แต่ตัวละครต่างๆ ก็ได้กลายเป็นความทรงจำสีจางให้กับหลายคน

‘อาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ’ เกิดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2473 นับได้ว่าท่านเป็นผู้สร้างคุณูปการยิ่งใหญ่ต่อการศึกษาไทยในวิชาภาษาไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งขณะรับราชการเป็นศึกษานิเทศก์ครูภาษาไทย ท่านได้รับมอบหมายจากสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เขียนเรื่องประกอบหนังสือแบบเรียนภาษาไทย ตามหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘มานะ มานี ปิติ ชูใจ’ โดยนำมาใช้เป็นแบบเรียนตามหลักสูตรจวบจนถึงปี 2537 และเป็นผลงานที่ทำให้ท่านได้รับการยกย่องมาจวบจนถึงทุกวันนี้ 
 

10 มีนาคม ค.ศ. 1879 กำเนิด ‘นายแพทย์ วู ลีน เทห์’ เชื้อสายจีน ผู้คิดค้น ‘หน้ากากอนามัย’ 

นายแพทย์ วู ลีน เทห์ เกิดในครอบครัวชาวจีน ที่มาตั้งรกรากอยู่ในเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย ซึ่งปีนังในขณะนั้นยังเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร

เมื่อเรียนจบประถมที่โรงเรียนในปีนัง นายแพทย์ วู ลีน เทห์ ก็ได้รับทุนการศึกษาของพระบรมราชินีนาถ สำหรับอาณานิคมอังกฤษ ที่มลายู และสิงคโปร์ เพื่อเข้าศึกษาแพทยศาสตร์ ต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในปี 1896 

การได้รับทุนการศึกษาของ นายแพทย์ วู ลีน เทน์ ในครั้งนี้นับว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เนื่องจากเขาคือนักเรียนเชื้อสายจีนคนแรกที่คว้าปริญญาสาขาแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ 

ต่อมาในปี ค.ศ. 1910 นายแพทย์ วู ลีน เทห์ ได้รับการเชื้อเชิญ จากรัฐบาลชิง ในการเป็นหัวหน้าคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา “โรคระบาดแมนจูเรีย” ในเมืองฮาร์บิน 

ซึ่งเมื่อนายแพทย์ วู ลีน เทห์ ได้ศึกษาผู้ป่วยและการระบาดอยู่ช่วงหนึ่ง เขาก็พบว่าการระบาดครั้งนี้เกิดจากการติดต่อระหว่างคนสู่คนผ่านฝอยละอองขนาดเล็ก จากการที่ผู้ป่วยไอหรือจาม

เปิดตัว ‘ตุ๊กตาบาร์บี้’ ตุ๊กตาที่มี ‘ยอดขายมากที่สุดในโลก’ 

เชื่อว่าของเล่นในวัยเด็กของใครหลายๆ คน คงไม่พ้นตุ๊กตา แต่นอกจากนี้ก็ยังมีตุ๊กตาที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก นั่นก็คือ ‘ตุ๊กตาบาร์บี้’ ตุ๊กตาที่จำลองมาจากคนจริงๆ โดยย่อขนาดให้เล็กลงมาถึง 6 เท่า ซึ่งในวันนี้ก็นับว่าเป็นวันคล้ายวันเกิดของบาร์บี้ก็ว่าได้ โดยเราจะพามาย้อนอดีต รู้จักที่มา กว่าจะมาเป็น ‘ตุ๊กตาบาร์บี้’ กัน 

ตุ๊กตาบาร์บี้ของเล่นในวัยเด็กของผู้หญิงหลายๆ คน สิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นมาจากคนเป็น ‘แม่’ โดยเธอคนนั้นก็คือ ‘แฮนเลอร์’ เธอได้รับแรงบันดาลใจที่จะประดิษฐ์ตุ๊กตาบาร์บี้ หลังจากเธอสังเกตเห็นว่า บาร์บาร่า ลูกสาวของเธอชอบเล่นตุ๊กตากระดาษ และชอบให้ตุ๊กตาเหล่านั้นทำสิ่งต่างๆ เหมือนที่ผู้ใหญ่ทำ เธอจึงเริ่มความคิดที่จะสร้างตุ๊กตาสาวที่มีรูปร่างเป็นผู้ใหญ่ 

ต่อมา เมื่อแฮนเลอร์มีโอกาสได้เดินทางไปท่องเที่ยวในยุโรปในปี 1956 เธอก็ไปสะดุดตากับตุ๊กตา "ไบล์ด ลิลลี" ของเยอรมนี ซึ่งเป็นตุ๊กตารูปหญิงสาววัยทำงานที่วางจำหน่ายครั้งแรกในเยอรมนีปี 1955 โดยเป้าหมายทางการตลาดในตอนแรกต้องการ เจาะกลุ่มผู้ใหญ่ แต่กลับได้รับความนิยมในหมู่เด็กๆ มากกว่า ซึ่งวางขายอยู่ในร้าน ขายของของสวิตเซอร์แลนด์

เธอจึงได้เริ่มการประดิษฐ์ตุ๊กตาขึ้น โดยได้ซื้อกลับบ้านมา 3 ตัว โดยที่ตัวหนึ่งให้ลูกสาว ส่วนที่เหลือนำมาเป็นต้นแบบในการผลิตตุ๊กตาบาร์บี้ จากนั้น แฮนเลอร์ก็ได้ดัดแปลงเปลี่ยนโฉมตุ๊กตาลิลลีใหม่หมด พร้อมกับตั้ง ชื่อให้ว่า "บาร์บี้" ตามชื่อของลูกสาวเธอ หรือในชื่อเต็มว่า บาร์บี้ มิลลิเซ็น โรเบิร์ท (Barbie Millicent Roberts) ด้วยความช่วยเหลือของแจ๊ค ไรอัน (Jack Ryan) 

7 มีนาคม พ.ศ. 2563 สิ้น ‘คณากร เพียรชนะ’ ผู้ทวงคืน ‘ความยุติธรรม’ ให้กับ ‘กระบวนการยุติธรรม’ ด้วยปลายกระบอกปืน

‘คณากร เพียรชนะ’ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา เป็นที่รู้จักจากการกระทำ อัตวินิบาตกรรม เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม ให้แก่กระบวนการยุติธรรม โดยความพยายามในการปลิดชีพตัวเองของเขานั้น เกิดขึ้นถึง 2 ครั้งด้วยกัน โดยครั้งแรกเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 คณากร ยิงตัวเองจนบาดเจ็บสาหัส หลังพิพากษายกฟ้องคดียิงชาวบ้านใน อ.บันนังสตา จ.ยะลา เสียชีวิต 5 ราย ณ ห้องพิจารณา 4 ศาลจังหวัดยะลา

หลังจากนั้นได้มีการเปิดเผยจดหมายของ คณากร จำนวน 25 หน้า บนเฟซบุ๊กส่วนตัว ที่สะท้อนถึงความยากลำบากในการทำงาน พร้อมลงท้ายด้วยถ้อยคำว่า “คำแถลงของผม อาจมีน้ำหนักเบาบางเหมือนขนนก แต่หัวใจผู้พิพากษาหนักแน่นปานขุนเขา จึงมอบหัวใจชั่งบนตราชู ยืนยันคำแถลง ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกท่าน” และ “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรม ให้ประชาชน”

การเปิดเผยจดหมายสร้างความสนใจให้คนในสังคมไม่น้อย หากแต่ว่าความพยายามปลิดชีพ พร้อมจดหมายที่กล่าวถึงความอัดอั้นใจ ในการทำงานในครั้งนี้ ทำให้ คณากร ถูกตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 68 คือเป็นกรณีที่ถูกกล่าวหาหรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัย และมีมติให้นายคณากรไปช่วยทำงานชั่วคราวในกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่

5 มีนาคม ของทุกปี ตรงกับ ‘วันนักข่าว’ หรือ ‘วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ’

วันที่ 5 มีนาคม ของทุกปี ตรงกับวันสำคัญวันหนึ่ง นั่นก็คือ ‘วันนักข่าว’ หรือ ‘วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ’ ซึ่งตรงกับวันก่อตั้ง สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2498 โดยนักข่าวรุ่นบุกเบิก จำนวน 15 ท่าน ได้แก่ โชติ มณีน้อย, เท่ห์ จงคดีกิจ, ประจวบ อัมพะเสวต, วิเชียร โรจนวงศานนท์, ถาวร มุ่งการดี, สนิท เอกชัย, เชาว์ รูปเทวินทร์, จรัญ โยบรรยงค์, กุศล ประสาร, ชลอ อาภาสัตย์, อนงค์ เมษประสาท, วิสัย สุวรรณผาติ, นพพร ตุงคะรักษ์, วิภา สุขกิจ และเลิศ อัศเวศน์ 

ซึ่งในครั้งนั้นได้มีการนัดหมายกันที่ศาลานเรศวร ในสวนลุมพินี โดยมีชาญ สินศุข จากสยามนิกร เป็นประธานการประชุม

แน่นอนว่าวันสำคัญของวงการสื่อสารมวลชนเช่นนี้ หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ ต่างก็ให้ความสำคัญกับวันสำคัญของพวกตนเป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่มีประเพณีที่ทราบกันดี ระหว่างหนังสือพิมพ์และผู้อ่านว่า ในวันที่ 6 มีนาคม ของทุกปี จะไม่มีหนังสือพิมพ์วางจำหน่าย เนื่องจากเป็นวันหยุดงานประจำปีของบรรดานักหนังสือพิมพ์ทั้งหลาย 

แต่แล้วประเพณีนี้ก็ไม่สามารถทำได้นาน เพราะสุดท้ายหนังสือพิมพ์ก็ต้องออกวางจำหน่ายในวันที่ 6 มีนาคม เนื่องจากประชาชนในฐานะผู้อ่านต่างเกิดความตื่นตัว และมีความต้องการที่จะบริโภคข่าวสารที่มากขึ้น จึงทำให้หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นต้องเลิกประเพณีดังกล่าวไป

ดังนั้น สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ได้กำหนดให้ วันที่ 4 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันที่จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อให้วันรุ่งขึ้นเป็นวันหยุดเฉลิมฉลองกันอย่างเต็มที่ ในงานเลี้ยงสังสรรค์ประจำปี 

ยกย่อง ‘ผศ.เกื้อพันธุ์ นาคบุปผา’ ทำงานด้วยใจ อาจารย์สอนภาษาไทย ผู้กุมหัวใจนักศึกษาจีน

หากคุณมีโอกาสเยือนมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง (BFSU) คุณอาจจะได้เดินสวนกับหญิงสูงวัย ร่างเล็ก ผมสีดอกเลา เจ้าของดวงตาคู่เล็กและรอยยิ้มใจดีท่านนี้ สำนักข่าวซินหัวชวนอ่านเรื่องราวของอาจารย์ชาวไทยผู้ได้รับการขนานนามว่า “คุณย่าไว่เจี้ยว” (คุณย่าผู้เป็นอาจารย์ต่างชาติ)

“ฉันฟังภาษาจีนไม่เข้าใจ ฉันเป็นคนไทยจ้ะ” เป็นคำตอบที่ผู้ถามมักได้รับกลับมาเมื่อพยายามสร้างบทสนทนาด้วยภาษาจีนกับ “ผศ. เกื้อพันธุ์ นาคบุปผา” อาจารย์สูงอายุวัย 77 ปี ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทย ซึ่งมีประสบการณ์สอนภาษาไทยในประเทศจีนมานานกว่า 20 ปี

ผศ.เกื้อพันธุ์ เป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ซึ่งเคยเดินทางมาสอนหนังสือที่ภาควิชาภาษาไทยของมหาวิทยาลัยฯ หลายต่อหลายครั้ง นับตั้งแต่ปี 1992 และตัดสินใจสอนภาษาไทยในจีนเรื่อยมาหลังจากเกษียณอายุงานเมื่อปี 2005 จนลูกศิษย์ลูกหาต่างยกย่องให้ท่านเป็นดัง “ร่มโพธิ์ร่มไทร” ของวงการการสอนภาษาไทยในประเทศจีน

ผศ. เกื้อพันธุ์ไม่เข้าใจภาษาจีน ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือ และไม่ใช้คอมพิวเตอร์ อาวุธคู่กายในการสอนของท่านมีเพียงแค่ “ชอล์ก” กับ “กระดานดำ” ส่วนการสื่อสารกับนักศึกษาในชีวิตประจำวัน ท่านอาศัยการพูดคุยแบบเจอหน้าและใช้โทรศัพท์บ้านเท่านั้น อาจารย์สูงอายุผู้มีนิสัยถ่อมตน สมถะ เรียบง่าย และตั้งใจจริงท่านนี้ คือผู้ที่อบรมบ่มเพาะบุคลากรผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยจำนวนมากให้กับวงการการศึกษา การทูต การค้า และสื่อสารมวลชน นับเป็นผู้มีคุณูปการต่อการสานสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างจีนกับไทย 

อาจารย์จากแดนไกล ทำงานได้แม้ไม่เข้าใจภาษาจีน

ปี 2022 นี้นับเป็นปีที่ 30 แล้วที่ ผศ.เกื้อพันธุ์มีความผูกพันกับประเทศจีน 

“ปักกิ่งเป็นเหมือนบ้านเกิดหลังที่ 2 ของดิฉัน และดิฉันตั้งใจจะทำงานที่นี่เป็นแห่งสุดท้าย” ท่านกล่าวพร้อมเผยว่าเวลากลับมาถึงห้องพักก็จะรู้สึกเหมือนกลับมาบ้าน

เมื่อวันจันทร์ (28 ก.พ.) นับเป็นวันแรกของการสอนในภาคการศึกษาใหม่ ผศ. เกื้อพันธุ์ตื่นนอนตั้งแต่ตีสามและสอนช่วงเช้าติดต่อกัน 4 ชั่วโมงโดยไม่หยุดพัก แต่ท่านกลับบอกว่าต่อให้ไม่ได้ดื่มน้ำเลยสักอึกเดียวก็ไม่รู้สึกเหนื่อย เพราะรักการสอนหนังสือมาก

“ซานเยว่อีเฮ่าเต้าเป่ยจิงไหล” คือประโยคภาษาจีนที่ ผศ.เกื้อพันธุ์จำได้ขึ้นใจจนถึงทุกวันนี้ โดยมีความหมายว่า “ฉันมาถึงปักกิ่งวันที่ 1 มีนาคม” ท่านเล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้นว่า “ดิฉันยังจำได้ดี ตอนเดินทางมาถึงปักกิ่งเป็นช่วงปลายฤดูหนาวแล้ว ซึ่งอากาศยังหนาวกว่าช่วงที่หนาวที่สุดของเชียงใหม่มาก แต่เพื่อนชาวจีนเขาบอกว่าตอนนี้เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิแล้ว”

จากเชียงใหม่ถึงปักกิ่ง คิดเป็นระยะทางเกือบ 3,000 กิโลเมตร นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่สำหรับผศ. เกื้อพันธุ์ ซึ่งขณะนั้นมีอายุ 47 ปี “กลัวก็กลัวนะ ที่กลัวเพราะไม่เคยคิดจะออกนอกประเทศนอกจากเที่ยว เพราะฉะนั้น กินก็ไม่ได้ นอนไม่หลับ ผอมลงๆ”

แต่ถึงกระนั้นความวิตกกังวลใดๆ ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อหัวใจที่รักในการสอนและความรับผิดชอบที่มีต่อนักศึกษา ผศ. เกื้อพันธุ์ ผู้ตั้งฉายาให้ตนเองว่า “อาจารย์โลว์เทค” จึงตั้งใจทำทุกวิถีทางเพื่อให้ทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง เช่น เรียนภาษาจีนไม่ทันก็เรียนพินอินแทน สื่อสารกับนักศึกษาไม่เข้าใจก็ใช้ภาษาอังกฤษและหน้าตาท่าทางเข้าช่วย เป็นต้น

ผศ. เกื้อพันธุ์เล่าว่าท่านประสบปัญหาหลายอย่างเลี่ยงไม่ได้ตอนมาถึงปักกิ่งครั้งแรก ซึ่งรวมทั้งอุปสรรคทางภาษา แต่โชคดีที่มีคนคอยยื่นมือช่วยเหลือท่านอยู่เสมอ “ที่ดิฉันอยู่มาได้หลายปีขนาดนี้ ต้องขอบคุณคณาจารย์และลูกศิษย์ที่คอยช่วยเหลือ”

ไม่หยุดสอนแม้เกษียณ

หลังจากเกษียณในปี 2005 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ได้ชักชวนให้ผศ. เกื้อพันธุ์ สอนหนังสือในจีนต่อไป ท่านจึงตอบตกลงไปแม้ขณะนั้นกำลังเศร้าเสียใจกับการจากไปของพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด “ดิฉันสัญญากับพ่อแม่ว่าเกษียณแล้วจะไปอยู่กับพวกท่าน แต่พอท่านทั้งสองจากไปแล้ว ดิฉันก็ไม่มีที่ไป อยู่ก็ไม่เป็นสุข ไม่อยู่เสียเลยดีกว่า ก็เลยมาที่นี่”

ในสายตาของนักศึกษา ผศ.เกื้อพันธุ์เปรียบเสมือน “เครื่องจักรนิรันดร์” เพราะท่านมักมาถึงห้องเรียนเร็วกว่าเด็กเสมอ ทั้งยังสามารถสอนหนังสือแบบไม่หยุดพักตลอด 2 ชั่วโมง และถึงแม้จะไม่ใช่เวลาเรียนหรือค่ำมืดแค่ไหน ท่านก็ยินดีจะสละเวลาส่วนตัวมาติวให้ เพราะต้องการให้เด็กๆ เรียนรู้และพูดภาษาไทยได้ไวและเก่งขึ้น และเป็นเช่นนี้ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา “เวลาของครูไม่ค่อยสำคัญ ถ้าสอนแล้วเด็กๆ ได้ ครูก็ดีใจด้วย”

มีครั้งหนึ่งที่นักศึกษาเคยพูดติดตลกว่า “อาคารเรียนของภาควิชาภาษาไทยมีสองแห่ง แห่งแรกคืออาคารเรียนในมหาวิทยาลัย แห่งที่สองคือตึกจวนเจีย (ตึกบ้านพักของผศ. เกื้อพันธุ์)” เนื่องจากท่านจะให้นักศึกษาผลัดกันมานั่งเรียนที่ตึกนี้ 

เริ่มตั้งแต่การสอนออกเสียงและการประกอบคำให้นักศึกษาปีหนึ่ง สอนโครงสร้างประโยคและบทสนทนาให้นักศึกษาปีสอง อบรมด้านการพูดสุนทรพจน์และเขียนเรียงความให้นักศึกษาปีสาม และให้คำปรึกษาด้านการเขียนวิทยานิพนธ์แก่นักศึกษาปีสี่ จนนักศึกษาทุกคนต่างเรียกท่านด้วยคำสนิทชิดเชื้อว่า “คุณย่า” และท่านเองก็มองว่าลูกศิษย์ชาวจีนทุกคนนั้นเป็นเหมือนลูกเหมือนหลาน

73 ปี สังหารกลางกรุง ‘4 อดีตรัฐมนตรี’ โดยตำรวจอ้างว่าเกิดการปะทะชิงตัวกับ ‘โจรมลายู’

วันนี้เมื่อ 73 ปีที่แล้ว ได้เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่กลางกรุงอย่างอุกอาจ เมื่อผู้ถูกลอบสังหารหมู่นั้น เป็นถึง “4 อดีตรัฐมนตรี” ซึ่งประกอบด้วย รองอำมาตย์ตรี ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ เป็นนักการเมือง ภาคอีสาน จังหวัดอุบลราชธานี ผู้เป็นที่รู้จักกันดีในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ในกรณี “พระราชบัญญัติปักป้ายข้าวเหนียว” ต่อมาได้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาล นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับการยกย่องว่าเป็น นักการเมืองผู้ต่อสู้เพื่อชาวอีสานอย่างแท้จริงคนหนึ่ง

นายถวิล อุดล เป็นนักการเมือง หนึ่งใน “สี่เสืออีสาน” ซึ่งประกอบด้วย ตัวนายถวิลเอง นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายเตียง ศิริขันธ์ และนายจำลอง ดาวเรือง

นายถวิล ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดร้อยเอ็ด 2 สมัย เป็นหัวหน้าเสรีไทย จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเคยเดินทางไปติดต่อขอความร่วมมือจาก ประเทศจีน แนวคิดทางการเมืองที่สำคัญ คือ เงินภาษีที่เก็บจากประชาชน ต้องเป็นประโยชน์กลับคืนสู่ประชาชนทั้งหมด

ดร.ทองเปลว ชลภูมิ ศิษย์เก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ อดีตรัฐมนตรี และเป็นคณะราษฎร อดีตส.ส.จังหวัดนครนายก และเลขาธิการพรรคแนวรัฐธรรมนูญ

นายจำลอง ดาวเรือง ขุนพลเมืองมหาสารคาม ผู้นำเสรีไทยหน่วยมหาสารคาม เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 อดีตส.ส.ตัวแทนชาวไร่ชาวนาเมื่อปี 2480 อยู่ในกลุ่ม “สี่เสืออีสาน”

โดยเหตุสังหารหมู่อย่างอุกอาจ “4 อดีตรัฐมนตรี” หลายคนเชื่อว่าเป็นจุดจบแบบอำพราง เนื่องจากช่วงค่ำวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2492 ตำรวจได้เคลื่อนย้ายผู้ต้องหาทั้ง “4 อดีตรัฐมนตรี” ไปไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน โดยอ้างเหตุความปลอดภัย ด้วยรถของตำรวจหมายเลขทะเบียน กท. 10371 โดยมี “พ.ต.อ.หลวงพิชิต ธุรการ” เป็นผู้ควบคุม โดยรับ “ดร.ทองเปลว” ที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน  “นายจำลอง” ที่สถานีตำรวจนครบาลยานนาวา “นายถวิล” ที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง และ “นายทองอินทร์” ที่สถานีตำรวจนครบาลสามเสน

เมื่อวิ่งมาถึงหลักกิโลเมตรที่ 12 ถนนพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร เวลาประมาณ 03.00 น. ของวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2492 ใกล้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตด้วยกระสุนไม่ต่ำกว่า 10 นัดจนร่างเละ ทั้งหมดอยู่ในสภาพที่ทุกคนยังสวมกุญแจมืออยู่ โดยได้ส่งศพไปชันสูตรที่โรงพยาบาลกลาง

ต่อมาตำรวจแถลงว่า ในที่เกิดเหตุกลุ่มโจรมลายูพร้อมอาวุธครบมือได้ดักซุ่มยิงเพื่อชิงตัวผู้ต้องหา และได้มีการปะทะกับตำรวจ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ตำรวจทั้งหมดราว 20 นายไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเลย

ว่ากันว่าญาติของผู้ต้องหากว่าจะทราบเรื่องการเสียชีวิต ก็เมื่อได้ไปเยี่ยมที่สถานีตำรวจเดิมที่คุมขังแล้วไม่พบตัว ต้องไปตามหาตามที่ต่างๆ เช่น วังปารุสกวัน ซึ่งในขณะนั้นเป็น “กองบัญชาการตำรวจนครบาล” และได้รับคำบอกต่อให้ไปดูที่โรงพยาบาลกลาง จึงได้ทราบเรื่อง

ศพของ “4 อดีตรัฐมนตรี” ตั้งบำเพ็ญกุศลที่ “วัดมกุฎกษัตริยาราม” กระนั้นในงานศพก็ยังมีตำรวจสายสืบและสันติบาลมาติดตามเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของผู้ที่เข้าร่วมงานศพ “4 อดีตรัฐมนตรี” อยู่เสมอ

จากความผิดปกติในครั้งนี้ ทำให้สังคมโดยทั่วไปไม่เชื่อว่าทั้งหมดเสียชีวิตเพราะถูกกระสุนของโจรมลายูจริง แต่เชื่อว่าเป็นการกระทำของตำรวจเอง ภายใต้การบัญชาการของ “พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์” ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในการปราบกบฏและมีตำแหน่งเป็น “รองอธิบดีกรมตำรวจ” ในเวลานั้น

หลังจากนั้นไม่นาน ก็ได้มีการฆาตกรรมนักการเมืองและบุคคลฝ่ายที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นผู้ที่อยู่ตรงข้ามอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี เช่น นายเตียง ศิริขันธ์, นายหะยีสุหรง อับดุลกาเดร์, นายอารีย์ ลีวีระ

ย้อนรอยเหตุลอบสังหาร อดีตนายกรัฐมนตรี ‘ทักษิณ ชินวัตร’

หากย้อนกลับไปเมื่อ 21 ปีที่แล้ว หนังสือพิมพ์ทุกฉบับต่างเสนอข่าวอย่างครึกโครม เมื่อในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2544 เครื่องบินโบอิง 737 ของการบินไทยเกิดระเบิดขึ้นที่ลานจอด แต่ความน่าสนใจที่มากกว่านั้นคือ 1 ในรายชื่อของผู้โดยสารเครื่องบินลำดังกล่าวคือ ‘พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร’

โดยในวันเกิดเหตุเครื่องบินลำดังกล่าว เที่ยวบินที่ 114 โบอิง 737-4D7 ของการบินไทย ซึ่งเป็นเที่ยวบินที่จะเดินทางจากท่าอากาศยานดอนเมืองไปยังท่าอากาศยานเชียงใหม่ในเวลา 14.48 น. หากแต่ว่าก่อนเวลากำหนดการบิน 35 นาที เครื่องบินลำดังกล่าวกลับระเบิดขึ้น ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งขณะเกิดเหตุนั้นยังไม่มีผู้โดยสารอยู่บนเครื่อง มีเพียงเจ้าหน้าที่จำนวน 8 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิต 1 คน

โดยหลังเกิดเหตุ ทักษิณ แถลงว่าการระเบิดครั้งนี้เป็นการก่อวินาศกรรมเพื่อหวังลอบสังหารตนเอง โดยฝีมือของผู้เสียผลประโยชน์ชาวต่างชาติ (ว้าแดง) เนื่องจากนโยบายปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาล หลังจากที่เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานของไทยตรวจพบหลักฐานที่เชื่อว่าอาจเป็นร่องรอยของระเบิดซีโฟร์หรือเซมเท็กซ์ (Semtex) และช่วงหนึ่งของคำแถลงนั้นระบุว่า

“เป็นการปองร้าย ไม่ใช่การก่อการร้าย ไม่ทราบว่าปองร้ายใคร ส่วนคนที่ทำนั้นสิ้นคิด ไม่ต้องทำกับนายกรัฐมนตรี ทำกับใคร ประเทศชาติก็เสียหาย”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top