Sunday, 11 May 2025
LITE TEAM

เกาะยอในความทรงจำ (๓)

นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว นักเขียนเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงความทรงจำเมื่อครั้งทำงานเก็บข้อมูลชีวิตชาวบ้านที่เกาะยอ จังหวัดสงขลา ว่า...

#ผักกาดดองกับยายเลี่ยนเห้ง เก้าลิ่ม
ยายเล่าไว้เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๔๔

เมื่อก่อนคนแก่เกาะยอโดยเฉพาะแถบบ้านท้ายเสาะจะปลูกผักกาดกันมากทั้งผักกาดเขียวปลี ผักคะน้า ผักชายคิ้ม (ผักกวางตุ้ง) ผักกาดเขียวปลีเอามาดองขายได้ เกาะยอเคยมีชื่อทางทำผักกาดดองขาย แต่เมื่อราว ๕๐ ปีมานี้ชาวบ้านหันไปปลูกสวา (ละมุด) กันมาก เลยเลิกปลูกผักกาดไป 

ผักกาดดองและแตงดองจะเริ่มทำขายกันช่วงเดือน ๕-๕ เพราะเป็นช่วงหมดฝน แดดจัด ดองผักได้สบาย และจะหยุดทำในช่วงเดือน ๑๒-๓ เพราะฝนชุก มรสุมลง ปลูกผักไม่ได้ ปกติผักกาดจะหว่านเมล็ดได้ต้นกล้าแข็งแรงราว ๑ เดือน ปลูกลงหลุมอีก ๒ เดือน ก้นหลุมใส่หญ้าเผาเป็นปุ๋ย ดูแลจับหนอนถอนหญ้าไม่นานก็ได้กินแล้ว เดี๋ยวนี้ในปีพ.ศ. ๒๕๔๔ คนเกาะยอยังปลูกผักทำผักกาดดองแตงดองอยู่ ๒ เจ้า ที่บ้านสวนใหม่ คือยายเฒ่าเลี่ยนเห้ง เก้าลิ่ม อายุ ๘๕ ปี และพี่อำไพ พันธ์มโน อายุ ๕๓ ปี

ยายเลี่ยนเห้งเป็นแม่ของป้าหนูเจ้าของสูตรข้าวยำใบยอ คนแถวบ้านสวนใหม่เรียกยายว่า "ยายเฒ่ากระดูกเหล็ก" เพราะยายแก่งั่กแล้ว แต่ยังควงจอบคลานขึ้นชายเขาไปปลูกผักกาดและถอนหญ้าอยู่ทุกวัน จอบประจำตัวของยายเรียก "จอบคุณนาย" เป็นจอบด้ามเล็กเหมาะมือคนเฒ่า 

ยายเล่าว่า ยายคลานไปถอนหญ้า เอาม้านั่งตัวเตี้ยนั่ง (กระ)ถดไปทีละน้อย งุ่มง่ามใช้จอบจวกดิน ยืนจวกนั่งจวกจนผ้านุ่งเปิด ของข้างในโผล่ออกมาล่อไม่มีใครเห็น ยายปลูกผักดองผักขายมาตั้งแต่ราคา ๓ ถ้วยแกง ๕ บาท ใส่เรือยนต์พาไปขายบ่อยาง (สงขลา) ขายดิบขายดีล้วงผักดองหยิบผักดองขายจนมือเปื่อย ตอนหลังใส่หม้อบรรทุกหลังคารถสองแถวออกไปจากเกาะ น้ำดองผักหกราดหัวรดหน้าลูกน้องรถ (เด็กท้ายรถ) อยู่ประจำ ตอนนั้นผักดองถ้วยละ ๑๐ บาท ราคาดีแต่ยายทำไม่รอด ทำมากไม่ไหว ยายบอก -เสียดายเหลือเกิ๊น มาพบไม้งามตอนขวานแหว่ง เราหมดแรงเสียแล้ว!-

ผักกาดดองเกาะยอเป็นผักดองหวาน ต้องใช้ผักแก่ถ้าผักอ่อนดองแล้วสีดำไม่สวย มีวิธีทำตามลำดับขั้นตอนดังนี้

๑.) ล้างผักกาดเขียวปลีให้สะอาด ผึ่งลมให้แห้ง แล้วฝานเป็นชิ้นขนาดประมาณ ๒ นิ้ว

๒.) เอาน้ำใส่เนียง (โอ่งเล็ก) ให้น้ำท่วมผัก หากไม่ท่วมผักลอยเหนือน้ำผักจะเปื่อย แล้วขัดปากเนียงด้วยไม้ไผ่สาน ไม่ให้ผักลอย หากทำขายต้องคอยพลิกผักวันละ ๒-๓ ครั้ง จะได้จมน้ำทั่ว ผักไม่เปื่อย

๓.) ผสมเกลือลงในน้ำแช่ผัก ชิมรสให้พอเค็ม กลางวันเอาออกตากแดด ให้โดนแดดจัดผักกาดจะสีสวย กลางคืนปิดฝาไว้ ไม่ให้ฝนลงไปโดน เพราะจะเสียได้

๔.) แช่ผักไว้ ๒ คืน แล้วเปลี่ยนน้ำใหม่ ใส่เกลือใหม่ไม่ต้องมาก ให้พอเค็มนิดๆ 

๕.) แช่ผักไว้อีก ๒ คืน เคี่ยวน้ำตาลโตนดจนเดือดพลุ่งเป็นน้ำเชื่อม ทิ้งให้เย็น ใส่ลงในผัก ผักน้อยใส่น้อย ผักมากใส่มาก ชิมให้ได้รสหวานทิ้งไว้ ๑ คืน เช้าจะออกรสเปรี้ยว ใส่น้ำเชื่อมโตนดลงอีกนิดให้พอมีรสหวานแล้วขายได้เลย

ผักกาดดองหวานนี้เอามาต้มกับหมู หรือบีบน้ำออกผัดกับไข่ หรือกินเล่นก็ได้

135 ปี วันสถาปนา ‘กระทรวงกลาโหม’

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนากรมยุทธนาธิการขึ้นที่โรงทหารหน้า เมื่อวันที่ 8 เมษายน พุทธศักราช 2430 นับแต่นั้นจึงถือเป็นวันแห่งการเปิดศักราชใหม่ของกิจการทหารไทยยุคใหม่ โดยในวันดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศพระบรมราชโองการ ชื่อว่า ประกาศจัดการทหารเพื่อสถาปนากรมยุทธนาธิการขึ้นที่โรงทหารหน้า หรือศาลาว่าการกลาโหมในปัจจุบัน 

โดยมีพระราชประสงค์ที่จะรวมกรมทหารบกและกรมทหารเรือไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างเอกภาพและศักยภาพในการบังคับบัญชาและบริหารจัดการทหารให้มีรูปแบบเป็นสากล ทัดเทียมนานาอารยประเทศ จึงนับได้ว่าเป็นวันเริ่มต้นและเป็นก้าวแรกแห่งกิจการทหารไทยที่ทันสมัย ถือเป็นนวัตกรรมของกิจการทหารไทยตั้งแต่ประเทศไทยเคยมีมา นอกจากนี้ยังได้ถือเอาวันที่ 8 เมษายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงกลาโหม อีกด้วย

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมถือเป็นสถาบันหลักในการพิทักษ์รักษาเอกราชอธิปไตยของชาติ รักษาความมั่นคง และสร้างเสริมพระเกียรติยศแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำนุบำรุงสืบสานพระศาสนาตลอดจนร่วมสร้างสรรค์พัฒนาประเทศ และดำเนินกิจกรรมโครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” ในการช่วยเหลือประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงกลาโหมดำเนินการได้อย่างสอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย และปฏิบัติงานในความรับผิดชอบบรรลุผลสำเร็จตามนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเป็นกลไกสำคัญ ที่สนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลในการรักษาความสงบเรียบร้อยและแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติ 

States TOON EP.54

คุณพ่อนักประชาธิปไตย 

ติดตามการ์ตูนอัปเดตได้ทุกสัปดาห์ใน…

7 เมษายน ของทุกปี ตรงกับ ‘วันอนามัยโลก’

วันที่ 7 เมษายน ของทุกปีเป็น "วันอนามัยโลก" (World Health Day) เป็นวันที่ประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลก ใช้เป็นโอกาสรณรงค์ให้ประชาชนและทุกภาคส่วนของสังคม ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพ ทั้งในเรื่องการควบคุม ป้องกัน แก้ปัญหาสุขภาพ และส่งเสริมด้านสุขภาพประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน “สุขภาพดีถ้วนหน้า” หรือ “Health for All” เป็นเป้าหมายสำคัญขององค์การอนามัยโลกเสมอมานับ ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491)

โดยความเป็นมาของ “วันอนามัยโลก” เกิดขึ้นเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการจัดตั้งองค์การอนามัยโลก นับเป็นองค์กรระหว่างประเทศองค์กรหนึ่ง โดยการดำเนินงานของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ซึ่งได้อาศัยแนวความคิดและการดำเนินงานขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการอนามัยที่มีมาก่อน อย่าง คณะมนตรีด้านอนามัย สำนักงานสาธารณสุขระหว่างประเทศและองค์การอนามัยแห่งสันนิบาตชาติ

6 เมษายน ‘วันจักรี’ ย้อนรำลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์

ในวันที่ ๖ เมษายน ของทุกปี นับว่าเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของประเทศไทยซึ่งตรงกับ ‘วันจักรี’ โดยความเป็นมาเริ่มต้นจากในวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษก ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และทรงสร้างกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงของไทย มาจนทุกวันนี้

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูป พระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๔ พระองค์ ( ร.๑ - ๔ ) เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมา พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ เป็นธรรมเนียมปีละครั้ง และโปรดเกล้าให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และมีการย้ายที่หลายครั้ง เช่นพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาท และพระที่นั่งศิวาลัยปราสาทเป็นต้น

ในรัชกาลที่ ๖ โปรดให้ย้ายพระบรมรูปทั้ง ๔ ( ร.๑ - ๔ ) มาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ ๕ พระชนกนาถ พระที่นั่งองค์นี้ รัชกาลที่ ๖ โปรดให้ซ่อมจากพุทธปรางค์ปราสาทเพื่อเรื่องนี้โดยเฉพาะ และได้พระราชทานนามดังกล่าว การซ่อมแซมก่อสร้างและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง ๕ รัชกาล สำเร็จลุล่วงในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑ จึงได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ ๖ เมษายนปีนั้น และต่อมา โปรดฯ ให้เรียกวันที่ ๖ เมษายนว่า ‘วันจักรี’

วันที่ระลึกมหาจักรี หรือที่เรียกกันโดยย่อว่าวันจักรีนั้น สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชดำริว่าพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีทรงหล่อพระบรมรูปลักษณะเหมือนพระองค์จริงฉลองพระองค์แบบไทย ณ โรงหล่อหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (บริเวณศาลาสหทัยสมาคมในปัจจุบัน) เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระปฐมบรมราชบุพการี แล้วโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เชิญพระบรมรูปทั้ง ๔ รัชกาลนั้น ประดิษฐานเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ สำหรับถวายบังคมสักการะในงานพระราชพิธีฉัตรมงคลและพระราชพิธีพระชนมพรรษา 

ครั้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสืบราชสันติวงศ์ ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบรมชนกนาถ จากต่างประเทศ แล้วอัญเชิญขึ้นประดิษฐานร่วมกับพระบรมรูปทั้ง ๔ รัชกาลนั้น ต่อมาทรงพระราชดำริว่าพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทยังไม่เหมาะสมที่จะมีงานถวายบังคมสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแปลงพระพุทธปรางค์ปราสาทในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชทั้ง ๕ รัชกาล 

โดยได้พระราชทานนามใหม่ว่า ปราสาทพระเทพบิดร โดยทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งได้ประดิษฐานพระบรมราชวงศ์จักรี ทรงมีพระเดชพระคุณต่อประเทศ เมื่อมีโอกาสก็ควรแสดงความเชิดชูและระลึกถึง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีเชิญพระบรมรูปจากพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทมาประดิษฐานที่ปราสาทพระเทพบิดร เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑ อันเป็นดิถีคล้ายวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จกรีธาทัพถึงพระนคร ได้รับอัญเชิญขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบรรจุพระกรัณฑ์ทองคำลงยาราชาวดีซึ่งบรรจุพระบรมทนต์ (ฟัน) พระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธย พระดวงพระบรมราชสมภพ พระดวงบรมราชาภิเษก พระดวงสวรรคต ลง ณ เบื้องสูงของพระเศียรพระบรมรูปทั้ง ๕ รัชกาลครั้นถึงวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ (สมัยนั้นขึ้นปีใหม่วันที่ ๑ เมษายน)

๕ เมษายน วันคล้ายวันประสูติ ‘ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี’

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2494 ณ โรงพยาบาลมองชัวซีส์ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเป็นพระโสทรเชษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

เมื่อทรงพระเยาว์ ทรงเข้ารับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนจิตรลดา ก่อนจะเสด็จไปประทับ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อทรงเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีจนสำเร็จ ณ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ เมืองเคมบริดจ์ สหรัฐอเมริกา ในสาขาวิชาคณิตศาสตร์ และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ ชีวเคมี (Bachelor of Science Degree in Bio-Chemistry) จากนั้น ทรงเข้ารับการศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ในสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ (Statistics and Public Health) จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจเพื่อประชาชนมากมาย ที่ผ่านมา ทรงตั้งมูลนิธิ Miracle of Life เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาต่าง ๆ ทั้งด้านการศึกษา ด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านการศาสนา

เกาะยอในความทรงจำ (๒)

นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว นักเขียนเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงความทรงจำเมื่อครั้งทำงานเก็บข้อมูลชีวิตชาวบ้านที่เกาะยอ จังหวัดสงขลา ว่า 

กุฏิวัดท้ายยอ เรื่องเล่าจากพ่อหลวง-พระครูมานพ อคฺคธมโม เจ้าอาวาสวัดท้ายยอ ต.เกาะยอ อ.เมือง จ.สงขลา เล่าไว้เมื่อกลางปี พ.ศ. ๒๕๔๒ 

“หมู่กุฏิที่วัดท้ายยอขึ้นทะเบียนกรมศิลปากรตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ กุฏิอายุกว่าสองร้อยปี เจ้าอาวาสองค์ที่ผ่านๆ มาท่านเก่งทางช่าง ทั้งสร้างทั้งซ่อมกันเอาไว้ พ่อหลวงเองได้วิชาช่างปลูกเรือนจากย่า พ่อของย่าเป็นช่าง ย่าจดจำมาถ่ายทอดให้ฟังหมด พอโตขึ้นมาก็มาเป็นลูกมือของพระอธิการเส้า ท่านให้ความรู้เรื่องเรือน ช่วยท่านยกไม้ ส่งไม้ อยู่หลายปี

เรือนคือมงคลวัตถุที่เป็นที่อยู่อาศัย เรือนโบราณจะมีสูตรในการสร้างเรียก “เรือนสูตร” ประกอบด้วย “มาตราสูตร” คือการวัดเป็นคืบเป็นศอกเพื่อออกสัดส่วนระยะเรือน และ “มงคลสูตร” คือศาสนธรรมคำสอน เป็นปริศนาธรรมควบคุมการออกสัดส่วนเรือน

อย่างพวกสัมมาอาชีวะจะปลูกเรือน ต้องตั้งจั่วก่อน คือออกสัดส่วนเรือนจากความสูงของจั่ว แต่ถ้าเป็นพวกนักเลงต้องตั้งเสาขึ้นก่อนให้มั่นคง แล้วชีวิตก็จะรุ่งเรืองไปตามแนวของแต่ละคน

โดยมากขนาดของเรือนจะใช้ร่างกายเจ้าของเรือนเป็นตัวกำหนดสัดส่วน อย่างพวกสัมมาอาชีวะตั้งจั่วก่อนนั้น จะต้องหาดั้ง (ความสูงของจั่ว) ก่อน เพราะดั้งเปรียบได้กับจมูกเป็นลมหายใจ ต้องเอาดั้งเจ้าของเรือน เพราะเจ้าเรือนจะต้องรักบ้านเท่าชีวิตตัว การหาดั้งใช้วิธีเอาไม้วัดตั้งบนหัวแม่โป้งนิ้วเท้าให้สูงขึ้นถึงหัวคิ้ว นั่นคือขนาดของดั้ง จากนั้นเอาดั้งเข้าสูตรทำจั่ว “หักดั้งตั้ง ๒ หนให้ชนกัน จันทันนั้นดั้งบวกคืบสืบสอดใส่”

เรือนคนแต่ละลักษณะก็ไม่เหมือนกัน อย่างเรือนกำนันกระดานพื้นหน้าห้องต้องมีสัญญาณเตือนภัย เหยียบปุ๊บต้องลั่นให้ได้ยิน จะได้รู้ตัว ป้องกันคนมาร้ายเพราะคนมาดีมักจะเรียกก่อน ส่วนเรือนเจ้าอาวาสกระดานหน้าห้องเหยียบแล้วต้องเงียบกริบ เพื่อชาวบ้านจะได้แอบดูได้ว่าพระทำอะไรอยู่ในห้อง

พ่อหลวงเกิดที่นี่ เกาะยอสมัยก่อนผลไม้อุดมสมบูรณ์มาก พวกขนมจากในเมืองขนมเปี๊ยะคนที่นี่ไม่กิน เพราะอาหารสมบูรณ์ กินข้าวกับน้ำผึ้งแล้ว เป็นคำพื้นของคนเฒ่าแก่ที่พูดติดปาก เพราะคนอิ่ม ไม่หิว ของกินบริบูรณ์ ขนาดไม้สร้างบ้านยังเป็นไม้ผล

เกาะยอทำอ่างดินเผามีชื่อ เขาพูดเป็นคำคล้องจองว่า สทิ้งทำหม้อ เกาะยอทำอ่าง หัวเขาค้าโพงพาง บ่อยางขายเคย เกาะยอทำกระเบื้องหลายแบบมีกระเบื้องหางแหลมมุงหลังคา กระเบื้องตีนเชิงชาย กระเบื้องกาบกล้วย กระเบื้องอกไก่สันหลังคา อิฐมีหลายขนาด เรียกอิฐหน้าวัว ของเกาะยอมีเอกลักษณ์ คือมีลายน้ำในเนื้ออิฐ เพราะเอาดินหลายที่มาผสมทำอิฐ เตาเผาอิฐสมัยเด็กๆ เห็นถึง ๘ เตา เด็กเกาะยอเมื่อก่อนไม่เล่นลงเลก็ขึ้นเขา เอาลูกหมากมาเล่นซัดราว 

สมัยก่อนเรือโดยสารคือนาฬิกาบอกเวลาของคนเกาะยอ ตี ๕ (๐๕.๐๐ น.) เรือยนต์ติดเครื่องวิ่งเกาะยอ-สงขลา เด็กตื่น พ่อแม่ลุกตั้งข้าวให้ลูกไปโรงเรียน ตี ๖ (๐๖.๐๐ น.) เรือออกจากท่า เด็กนักเรียนชายนั่งบนหลังคา นักเรียนหญิงนั่งในท้องเรือ พร้อมผลไม้จำนวนมาก จนต้องพ่วงเรือ ถึงสงขลาส่งเด็กแล้วก็รับครูมาสอนนักเรียนที่วัดท้ายยอ สองโมงเช้า (๐๘.๐๐ น.) พอดีโรงเรียนขึ้นเรือออกจากเกาะยออีกเที่ยว คราวนี้บรรทุกกุ้งปลาเต็มลำเรือไปส่งสงขลา จะสวนกับเรือที่ออกจากสงขลาตอนตี ๙ (๐๙.๐๐ น.) ถึงเกาะยอตี ๑๐ (๑๐.๐๐ น.) ได้พักเที่ยง บ่ายโมงเรือติดเครื่องไปสงขลา เด็กนักเรียนที่พักเที่ยงแล้ววิ่งเล่นอยู่ตามป่าได้ยินเสียงต้องรีบกลับห้องเรียน จากนั้นมีเรือออกตี ๓ (๑๕.๐๐ น.) จากสงขลามาเกาะยอ รับครูกลับไปสงขลา พอตี ๕ (๑๗.๐๐ น) เรือกลับมา พาเด็กนักเรียนจากสงขลามาส่งบ้าน เด็กเกาะยอต้องรีบขึ้นบ้าน เดิมมีแต่ป่า มืดเร็วกว่าเดี๋ยวนี้

เกาะยอในความทรงจำ (๑) 

นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว นักเขียนเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงความทรงจำเมื่อครั้งทำงานเก็บข้อมูลชีวิตชาวบ้านที่เกาะยอ จังหวัดสงขลา ว่า 

ดิฉันเข้าไปทำงานเก็บข้อมูลชีวิตชาวบ้านรอบทะเลสาบสงขลากับอ.เขมานันทะ น้องกิ๋ว-คุณปรัศนันท์ กังศศิเทียม และทีมงานคนอื่นๆ เป็นครั้งแรกเมื่อกลางปีพ.ศ. ๒๕๔๒ เขียนเป็นหนังสือ “ทะเลสาบสงขลา” และ “อนุทินทะเลสาบ” ให้กับ สำนักพิมพ์สุขภาพใจ แล้วหลังจากนั้น ในปีพ.ศ. ๒๕๔๔ ดิฉันก็ยังได้เข้าไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตผู้คนและวัฒนธรรมชาวบ้าน ที่เกาะยอ เมืองสงขลา ให้กลุ่มบริษัทแปลน เป็นช่วงที่ดิฉันและน้องกิ๋วพักอยู่สงขลาหลายเดือน นับเป็นความทรงจำที่ยิ้มได้เสมอเมื่อรำลึกถึง

หลังจากนั้น...นานครั้ง ดิฉันถึงมีโอกาสเข้าไปที่เกาะยออีกบ้าง หลักๆ คือไปที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เกาะยอ ที่จำได้และถ่ายภาพเก็บไว้ก็คือช่วงปีพ.ศ. ๒๕๔๘ และปีพ.ศ. ๒๕๕๙

มีเรื่องเกี่ยวกับเกาะยอ ที่ดิฉันเขียนไว้ในหนังสือ “อนุทินทะเลสาบ : บันทึกจากแผ่นดินของปู่-ทะเลของย่า” พิมพ์เผยแพร่ในปีพ.ศ. ๒๕๔๔ พลิกดูวันนี้มีหลายเรื่องที่เห็นว่ามีค่า สำหรับคนเกาะยอ-สงขลา รุ่นหลัง จึงนำมาขึ้นเพจ ให้ได้อ่านกัน

สำหรับภาพประกอบนั้น ดิฉันตั้งใจนำมาให้ได้ดูเปรียบเทียบ ๒ ช่วงในห้วงเวลาที่เปลี่ยนไป ภาพเก่านั้นถ่ายไว้เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๔๘ ภาพสีสดใสบันทึกไว้เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๕๙ 
ซึ่งบัดนี้ คงเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ในช่วงปัจจุบัน
ดูภาพ และอ่านเรื่องเกาะยอกันนะ
#เกาะยอ

"ผ้าดำดี ลูกสาวสวย" คือคำพังเพยที่ชาวสงขลาระบุกันถึงภาพของเกาะยอในวันวาน ผ้าที่ทอขึ้นจาก "ด้ายกุหลี" หรือเส้นไหมละเอียดสีดำ ด้วยฝีมือของสาวเกาะยอ ตาคม ผิวขาวนวล ตามเชื้อสายจีนฮกเกี้ยนของบรรพบุรุษ ได้สร้างชื่อให้เกาะยอเป็นสถานที่อันโดดเด่นในบริเวณปากอ่าวทะเลสาบสงขลา ทั้งยังเป็นแหล่งของผลไม้อร่อยนานาพันธุ์ กระเบื้องดินเผามุงหลังคา และมาตุภูมิของอิงอร-นักเขียนผู้ใช้สำนวนภาษาประดุจปลายปากกาจุ่มหยาดน้ำผึ้ง

ธานี ไพโรจน์ภักดิ์ ชาวเกาะยอ กำนันวัย ๖๗ ปี เล่าว่า ๒-๓ ชั่วอายุคนก่อนนี้ คนเกาะยอส่วนใหญ่เป็นจีนฮกเกี้ยนอพยพมาจาก ต.น้ำน้อย อ.หาดใหญ่ และ ต.ทุ่งหวัง อ.เมืองสงขลา จีนสมัยนั้นแล่นเรือใบมาเห็นเกาะแห่งนี้ร่มรื่นน่าอยู่ มีที่ว่างไร้เจ้าของมากมาย จึงชวนกันมาตั้งรกราก พบว่ามีต้นยอขึ้นอยู่มาก ถึงเรียกกันว่า "เกาะยอ" มาแต่บัดนั้น

จีนเริ่มต้นชุมชนบนเกาะขึ้นที่บ้านนาถิ่น ได้เมียคนไทย พากันทำสวน ปลูกฝ้าย ปลูกครามย้อมผ้าตามถนัด สาวเกาะยอทอผ้าทุกครัวเรือน คิดค้นลายผ้าขึ้นอย่างมีแบบฉบับของตนเอง พื้นดำ น้ำเงินขัดลายยกดอกเป็นลายราชวัตร ลายลูกแก้ว ลายข้าวหลามตัด ลายดอกพริก ลายดอกก้านแย่ง ฯลฯ ทอทั้งผ้าพื้นสีเขียว สีน้ำเงิน เป็นโสร่งทั้งของหญิงและชาย จากฝ้ายเป็นด้ายกุหลีที่ละเอียดกว่าเส้นไหม จนมาถึงไหมเทียมโทเรในปัจจุบัน

ลักษณะโดดเด่นของผ้าเกาะยอก็คือ ความหนาคงทน สวยด้วยลายเฉพาะถิ่น ส่งขายไกลทั่วเมืองไทย เดี๋ยวนี้สาวเกาะยอยังทอผ้ากันอยู่กว่า ๒๐๐ ครอบครัว เสียงกี่กระตุกกึงกังยังกังวานอยู่ยามบ่าย เมื่อเดินผ่านลัดเลาะไปตามถนนคดเคี้ยวในเกาะ

ถนนที่เพิ่งลาดยางช่วงปีพ.ศ. ๒๕๒๗-๒๕๒๘ วกเวียนทับเส้นทางเดินโบราณที่เลี้ยวเลาะเข้าไปตามสวนผลไม้นานา เกาะยอเลื่องชื่อเรื่องผลไม้อร่อย เป็นที่โจษจันกันมานานแล้ว ดังหลักฐานในบันทึกของสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษี คราวเสด็จออกตรวจราชการภาคใต้ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ว่า "อนึ่งที่ปากช่องทะเลสาบนั้นมีเกาะๆ หนึ่งชื่อเกาะยอ...มีสวนเรียงรายอยู่ในเกาะและรอบเกาะเป็นสวนผลไม้ หมาก มะพร้าว จำปาดะ ขนุน สะตอ พุมเรียง ละมุด ทุเรียน และมีสวนมัน ผักและพลูต่างๆ บริบูรณ์ มีบ้านราษฎรเจ้าของสวนเรียงราย" 

คุณตาประวิทย์ นพคุณ วัย ๘๖ ปี คนย่านถนนนครนอก อำเภอเมืองสงขลา ยืนยันด้วยรอยยิ้มและดวงตาเป็นประกายสดใสเมื่อเล่าถึงเกาะยอครั้งคุณตายังหนุ่มว่า "คนเกาะยอทำสวนทอผ้า ผู้หญิงเกาะยอตัวขาว เชื้อจีนสวยมากๆ ผลไม้เกาะยอขึ้นชื่อ มีทั้งสวา(ละมุด) จำปาดะ มะพร้าว ทุเรียน"

ร้อยกว่าปีหลังบันทึกของเจ้าฟ้าภาณุฯ ผลไม้เกาะยอยังอุดม ผ้าเกาะยอยังดี ลูกสาวชาวเกาะยอยังสวย กระเบื้องเกาะยอเท่านั้นที่กลายไปเป็นตำนาน

เรือนไทยใต้ซ่อนตัวอยู่หลังแมกไม้ครึ้ม แดดสว่างจับหลังคากระเบื้องดินเผา คือภาพงามยามเย็น บ่งบอกถึงวิถีชีวิตสงบเนิบช้า เรือนปั้นหยาทุกหลังที่ผ่านตา ล้วนมุงกระเบื้องเกาะยอ นอกจากจะให้ความงามอันกลมกลืนกับเรือกสวนรอบข้างแล้ว กระเบื้องเกาะยอยังแข็งแกร่ง คงทนอยู่ได้ถึง ๔๐-๕๐ ปี ขึ้นชื่อว่ามุงแล้วร่มเย็นอยู่สบาย ช่วงรุ่งเรืองคนเกาะยอตั้งเตาเผากระเบื้องกันราว ๑๐ เจ้า ขุดดินจากทุ่งนาปั้นกระเบื้อง อิฐ โอ่ง อ่าง กันตั้งแต่เดือนยี่ถึงเดือน ๑๑ มาหยุดเอาหน้ามรสุม ยามฝนชุก ชื้นแฉะจนตากกระเบื้องไม่ได้ คนเกาะยอเล่าว่า เคยบรรทุกกระเบื้องเป็นหมื่นๆ แผ่น ลงเรือใบ รอนแรมไปในเวิ้งทะเลสาบสงขลาแถบเมืองนครศรีธรรมราช พัทลุง ขายไกลถึงเมืองตรัง ยะลา ปัตตานี นราธิวาส รุ่งเรืองมีชื่อเสียงโด่งดังถึงกลันตัน ตรังกานู ปีนัง สิงคโปร์ จนพวกพ่อค้าพากันเอาเรือสำเภา ๒ หลักขนาดใหญ่ออกทะเลลึก มาบรรทุกกระเบื้องไปขายเอง

กิจการกระเบื้องดินเผาเกาะยอเพิ่งมาสิ้นสูญไปเมื่อราว ๒๐ ปีนี้เอง วันเวลาเคลื่อนไป หากบ้านเก่าที่เคยใช้กระเบื้องเกาะยอกลับอยู่กันยาวนาน มุงหลังคามากว่า ๕๐ ปีไม่มีพัง แทบไม่ต้องซ่อมแซม บ้านใหม่ก็ถูกกระเบื้องโรงงาน ที่แม้จะมุงแล้วร้อนอบอ้าว ทั้งไม่คงทนเท่า แต่ราคาที่ถูกกว่า เบากว่า ใช้ไม้โครงหลังคาน้อยกว่าที่เข้ามาแทน ก็ทำให้ชาวบ้านสมัครใจหันไปใช้ของใหม่ที่ผลิตออกมาตีตลาด จนกระเบื้องเกาะยอค่อยๆ สูญสิ้นความนิยมไปโดยปริยาย คงเหลือเพียงกระเบื้องดินเผาของเมืองสงขลาก็แต่ที่บ้านท่านางหอม นอกเกาะยอห่างไกลออกไป ให้นึกถึงตำนานของบ้านหลังคากระเบื้องดินเผา สวยสงบในดงไม้ จารึกไว้ถึงวันวานอันรุ่งเรืองของ "เบื้องเกาะยอ" ในวันเวลานี้

๒ เมษายน วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต โดยเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ทรงเริ่มการศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา ก่อนจะทรงเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาทรงสำเร็จการศึกษาและได้รับปริญญามหาบัณฑิตจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2529
 

‘สิว - ดำ - คล้ำ - หมอง’ ต้อง... ‘GLYCOLIC BRIGHT INSTANT GLOWING SERUM’ by L'Oréal ขวดเดียวอยู่!!

ปัญหาผิวกวนใจอันดับต้น ๆ ของสาว ๆ ยังไงก็คงหนีไม่พ้น ‘สิว’ ตัวการปัญหาผิวไม่เรียบเนียน และต่อให้มันจะหายไปแล้ว ก็ยังทิ้งรอยให้เจ็บกระดองใจเล่น เรียกว่าปวดใจตั้งแต่เริ่มผุดบนหน้า จนยุบแห้งไปแล้วก็ยังฝากรอยไว้ให้เป็นที่ระทึกอยู่เรื่อย ๆ 

ครั้นเห็นหน้าตัวเองทีไร ก็ได้แต่ภาวนาว่า เมื่อไร จุดด่างดำจากสิวสุดกวนใจเหล่านี้ จะหายไปจากชีวิตเสียที 

เวลามีใครหาสูตรดูแลที่โปรโมตโม้กันว่าดีๆๆ พี่ลองมาหมดแล้ว แต่โป๊ะ!! ผลลัพธ์กลับได้รอยเพิ่มขึ้นมาซะอีก เคราะห์ซ้ำกรรมซัดบางทีโดนยาแรงผื่นแพ้ขึ้นมาเบียด จนแทบไม่เหลือที่ให้สิวผุด

แต่ว่าวันนี้ปัญหาปวดใจเหล่านี้ ก็ไม่มาก่อกวนใจอีกต่อไป เพราะในที่สุดก็ได้เจอเนื้อคู่วววววว อย่างน้อง ‘GLYCOLIC BRIGHT INSTANT GLOWING SERUM’ by L'Oréal เซรั่ม ไกลโคลิค ไบรท์ -57% จุดด่างดำใน 4 สัปดาห์ ด้วยพลังผิวดูใสไกลโคลิคเข้มข้น 1.0% บอกเลยว่า กู้หน้าผุ คืนหน้าใส หน้าสว่างเหมือนติดหลอดไฟให้ผิวกันไปเลยจ้าาา

ความเลิศของน้อง อยู่ที่การช่วยงัดผิวโทรมขึ้นมาได้ทันตา เพราะน้องมี ‘ไกลโคลิค แอซิด’ ตัวช่วยผิวดูโกลว์ กระจ่างใส ขอบอกก่อนว่าเจ้าตัวนี้เนี่ยไม่ได้โบเบ้มามั่ว ๆ นะจ๊ะ เพราะเขามีการทดลองกันจริง ๆ มีผลลัพธ์ทางคลินิกรับรอง ขอบอกเลยว่า ทาไปปุ๊ป จุดด่างดำต้องมีกระเด็นออกกันไปบ้างแหละ!


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top