Tuesday, 20 May 2025
Hard News Team

ททท. จัด Workshop 12 StartUp แลกเปลี่ยนแนวคิดพัฒนาอุตฯ ท่องเที่ยว

(31 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ 22 ต.ค. 67 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยฝ่ายส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ได้จัดกิจกรรม Founder First Date ภายใต้โครงการ TAT TRAVEL TECH STARTUP 2024 ณ ท่าเรือ ICONSIAM คลองสาน กรุงเทพฯ โดยมีนางจิระวดี คุณทรัพย์ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ททท. เป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมทั้งคุณกิตติ พรศิวะกิจ กรรมการ ททท. ร่วมแสดงความยินดีและกล่าวเปิดงาน

กิจกรรมนี้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ Travel Tech Startup ทั้ง 12 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกจากผู้สมัครทั้งหมด 76 ทีม ได้ทำความรู้จักและแลกเปลี่ยนไอเดียร่วมกัน โดยได้รับคำแนะนำจากองค์กรพันธมิตรด้านการสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวหลากหลายภาคส่วน

รายชื่อทีมผู้ผ่านคัดเลือกทั้ง 12 ทีมได้แก่
1. AAppoint (บริษัท แอพพ้อยท์เม้นท์ เอนี่แวร์ จำกัด)
2. Ascend Travel (บริษัท แอสเซนด์ แทรเวิล จำกัด)
3. Carbonwize (บริษัท คาร์บอนไวซ์ จำกัด)
4. CARMEN (บริษัท คาร์เมน ซอฟต์แวร์ จำกัด)
5. CERO (บริษัท เวคิน (ประเทศไทย) จำกัด)
6. CFoot (บริษัท แพลนเน็ตซี จำกัด)
7. Giant Stride (บริษัท ไจแอนท์ สไตรด์ จำกัด)
8. HAUP (บริษัท ฮ๊อปคาร์ จำกัด)
9. SHIN Platform (บริษัท ชิบะรูม จำกัด)
10. Socialgiver (บริษัท โซเชียลโมชั่น วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด)
11. YACHT ME Platform (บริษัท ยอร์ช มี คอร์เปอเรชั่น จำกัด)
12. สะอาดทริป (นายสิทธิเดช เฑียรแสงทอง)

ในงานยังมีผู้แทนจากองค์กรพันธมิตรเข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA), ธนาคาร SME D BANK, สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย, บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด, บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด, SCBx NEXT TECH, The Able By KING POWER, ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC), บริษัท เดนท์สุ (ประเทศไทย) จำกัด, สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย, Mission To The Moon, Greenery Media และ THE STATES TIMES

ทีมที่ผ่านเข้ารอบจะเข้าร่วมกิจกรรม TAT Startup Bootcamp 1-2 เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันรอบสุดท้ายซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ณ SCBX Space สยามพารากอน ชิงเงินรางวัลรวม 350,000 บาท พร้อมสิทธิประโยชน์จากพันธมิตรในโครงการ

‘รองนายกฯ ภูมิธรรม’ ให้การต้อนรับ ‘ทูตรัสเซีย’ ร่วมหารือทั้งเศรษฐกิจ - การค้า – การลงทุน - ความมั่นคง

‘ภูมิธรรม’ ต้อนรับ นาย Evgeny Tomikhin (เยฟเกนี โตมีฮิน) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย พร้อมร่วมหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งด้านเศรษฐกิจ - การค้า – การลงทุน - ความมั่นคง

(30 ต.ค.67) ที่กระทรวงกลาโหม นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้การต้อนรับ นาย Evgeny Tomikhin (เยฟเกนี โตมีฮิน) เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้าแนะนำตัวและแสดงความยินดีในโอกาสได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม 

โดยรมว.กลาโหม ได้กล่าวต้อนรับและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้พบกับ เอกอัครราชทูต สหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อแสวงหาแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน

ทั้งนี้ ไทยและรัสเซียมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งความสัมพันธ์ของทั้งสอง ประเทศได้ก้าวเข้าสู่ปีที่127 ในปีนี้(เริ่มตั้งแต่ 3 ก.ค.2440) ซึ่งทั้งสองฝ่ายยึดถือการเสด็จประพาสรัสเซีย ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ โดยทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในทุกมิติทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงความร่วมมือที่ใกล้ชิด ในด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ทั้งยินดีที่ปี 2567 เป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ไทย - รัสเซีย ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีในการส่งเสริมพลวัตความร่วมมือที่สร้างสรรค์ อันเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจ และความใกล้ชิดในระดับประชาชนของทั้งสองประเทศ 

นอกจากนี้ รมว.กลาโหม ยังได้กล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ทางทหารระหว่าง ไทย - รัสเซีย ที่มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายหลังจากที่มีการลงนามความตกลงระหว่าง รัฐบาลไทยกับรัสเซียว่าด้วยความร่วมมือด้านการทหาร เมื่อปี 2559 ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการขยายขอบเขตกิจกรรมความร่วมมือระหว่างกันให้มีพลวัตมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ในห้วงที่ผ่านมา กองทัพไทยและกองทัพ รัสเซียได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนและกิจกรรมความร่วมมือที่สำคัญต่าง ๆ ทั้งด้านการฝึก ศึกษาทางทหาร ด้านการส่งกำลังบำรุงและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ การประชุมระดับฝ่ายเสนาธิการของกองบัญชาการ กองทัพไทยและเหล่าทัพ การแลกเปลี่ยนระหว่างผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ การเยี่ยมเยือนเมืองท่า ตลอดจน กิจกรรมแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ซึ่งสะท้อนถึงการมีพลวัตมากขึ้นของความสัมพันธ์ระหว่างกัน

‘กรณ์’ ออกปากชมรัฐบาลแพทองธาร ยัน! การให้สัญชาติไทยลอตนี้ถูกต้อง

(30 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงการให้สัญชาติไทยตามมติคณะรัฐมนตรี ว่า...

ผมเห็นนโยบายนี้ของรัฐบาลแล้วชื่นชมนะครับ เหตุผลที่ให้ฟังขึ้นหมด ไม่ว่าจะเป็นมิติความมั่นคง เศรษฐกิจ ความเป็นธรรม และสิทธิมนุษยชน 

ผมอยากจะเสริมว่านี่คือ Soft Power ของสังคมเราด้วย ที่พร้อมให้โอกาสคนต่างด้าวมาผสมผสานเติมพลังความเป็นไทยมาหลายยุคหลายสมัย เรากี่คน (ผมด้วย) ที่คงไม่มีวันนี้หากสังคมไทยในอดีตไม่ให้โอกาสบรรพบุรุษเรา

เอาละ แต่ละประเทศก็มีบริบทที่ต่างกันไป แต่ท่าทีของเราวันนี้ต้องบอกว่าสวนทางกระแสการเมืองหลักของโลก โดยเฉพาะโลกตะวันตก ที่บางประเทศถึงขั้นมีการหาเสียงว่าจะขับต่างด้าวออกนอกประเทศแม้ว่าบางคนได้เข้ามาอยู่ในประเทศเขานานแล้ว 

แนวของเรากลับเป็นตัวยืนยันความมั่นใจในตัวเราเอง เราไม่มีปมด้อยที่จะทำให้เราต้องมากลัวหรือรังเกียจผู้ที่มาพึ่งพาอาศัย และทำมาหากินอย่างสงบอยู่กับเรา

โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่าวานนี้นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า ประชุม ครม.เห็นชอบตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนออนุมัติหลักเกณฑ์ เพื่อเร่งรัดแก้ไขปัญหาสัญชาติ และสถานะของกลุ่มบุคคลที่อพยพเข้ามาในไทยเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทย ซึ่งจากการสำรวจตั้งแต่ พ.ศ. 2527 จนถึง 2542 มีกลุ่มผู้อพยพเข้ามาเป็นเวลานานประมาณ 120,000 คน และเป็นอีกหนึ่งกลุ่มอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน ซึ่งมีการสำรวจตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปี 2554 มีประมาณ 215,000 คน กลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักรของชนกลุ่มน้อย 29,000 คน และกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักรของบุคคลที่ไม่มีสถานะตามทะเบียนประมาณ 113,000 คน รวมทั้งหมดประมาณ 483,000 คน

โดยการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันนี้เป็นการลดขั้นตอนมอบสัญชาติให้กับบุคคลเหล่านี้ ที่ต้องใช้ระยะเวลาถึง 44 ปี ปัจจุบันการให้สัญชาติไทยกับบุคคลข้างต้นจะเป็นการยกเลิกขั้นตอนต่าง ๆ จำนวนมาก โดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้ข้อสังเกต 2-3 ข้อ หากให้สัญชาติไทยกับบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานาน จะเกิดผลกระทบใดตามมาหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ครม.เห็นชอบตามที่ สมช.เสนอ และส่งให้กระทรวงมหาดไทยประกาศบังคับใช้ในรายละเอียดไม่น้อยกว่า 30 วันไม่เกิน 60 วัน

สำหรับประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจำนวนกว่า 400,000 คนที่อยู่ในไทย ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่มานานและมีบ้านอาศัย สามารถทำงานได้ตามปกติ เมื่อทำให้ถูกต้อง บุคคลเหล่านี้ก็จะสามารถสัญจรไปมาได้ กระตุ้นเศรษฐกิจได้ และรู้ถิ่นฐานที่อยู่ของบุคคลเหล่านี้ได้ ซึ่งที่ประชุมของคณะรัฐมนตรี เล็งเห็นว่าเป็นประโยชน์และมีการสอบถามความรอบคอบจากหลายหน่วยงานมาก่อนแล้ว

CEO HYBE ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่แดนกิมจิ รุด ขอโทษ หลังเอกสารบูลลี่ศิลปิน-อุตสาหกรรม K-Pop หลุด

(30 ต.ค. 67) CEO ของ HYBE Lee Jae-Sang ได้ออกมาขอโทษต่อสาธารณชนหลังจากที่รายงานภายในของบริษัท 'Weekly Music Industry Report' ได้รั่วไหลออกมาบางส่วน ซึ่งรายงานดังกล่าวได้อวดอ้างถึงสิ่งที่บางคนเรียกว่าคำพูดที่ดูหมิ่นอุตสาหกรรม K-pop ซึ่งรวมถึงศิลปินรุ่นใหม่ด้วย

จดหมายดังกล่าวมีที่มาจากการพิจารณาคดีในวันพฤหัสบดี (24 ต.ค.) เกี่ยวกับการตรวจสอบของ HYBE ที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวของสมัชชาแห่งชาติเกาหลีใต้ The Korea Herald รายงานว่า Min Hyung-bae ได้เปิดเผยเอกสารรายสัปดาห์ดังกล่าวในระหว่างการประชุม โดยมีรายงานว่าเอกสารดังกล่าวมีความยาวประมาณ 18,000 หน้า 

สส. Min ตั้งข้อสังเกตว่าเอกสารดังกล่าวมีข่าวลือที่ไม่ได้รับการยืนยันและบางครั้งก็มีการวิจารณ์ที่รุนแรงต่อศิลปินที่อายุน้อยมาก รวมถึงผู้เยาว์ โดยมีคำกล่าวอ้างว่า “พวกเขาเดบิวต์ในช่วงอายุที่พวกเขาไม่น่าดึงดูดที่สุด” และ “น่าแปลกใจที่ไม่มีใครสวยเลย” 

เพื่อตอบสนองต่อการรั่วไหลของจดหมาย ลีได้โพสต์บนเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของบริษัทในวันอังคาร (29 ต.ค.) เสนอคำขอโทษ "ถึงศิลปิน ผู้ถือผลประโยชน์ในอุตสาหกรรม และแฟน ๆ" ที่ไม่พอใจต่อการเปิดเผยดังกล่าว

"เอกสารนี้ถูกสร้างขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการในการรวบรวมปฏิกิริยาย้อนหลังและความคิดเห็นของสาธารณชนเกี่ยวกับแนวโน้มและปัญหาในอุตสาหกรรม" ลีเขียนชี้แจงว่ามีการแบ่งปันเอกสารนี้กับ 'ผู้นำจำนวนจำกัด' เท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า "ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง" ที่เอกสารจะมี "การแสดงออกที่ยั่วยุและชัดเจนที่มุ่งเป้าไปที่ศิลปินเคป๊อป" และเสริมว่า "ในฐานะตัวแทนของบริษัท ผมยอมรับข้อผิดพลาดทั้งหมดและรับผิดชอบเต็มที่"

ลีกล่าวเสริมว่า HYBE "กำลังติดต่อแต่ละบริษัทต้นสังกัดโดยตรงเพื่อขอโทษ" และกล่าวต่อว่า "ผมขอแสดงความขอโทษอย่างเป็นทางการอย่างจริงใจต่อศิลปินทุกคนของ HYBE Music Group ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เนื่องจากบริษัท" 

นอกจากนี้ ลียังสัญญาว่า “จะกำหนดแนวทางปฏิบัติและเสริมการควบคุมภายในเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นอีก” และเสริมว่าบริษัทได้หยุดการจัดทำเอกสารดังกล่าวแล้ว เมื่อใกล้จะสิ้นสุด เขาได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของ HYBE ต่อความเป็นอยู่ที่ดีของศิลปินทุกคนและการเคารพแฟนๆ โดยมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปเพื่อมีส่วนสนับสนุนอุตสาหกรรม K-pop ในเชิงบวก

อ่านคำชี้แจงฉบับเต็ม (พร้อมคำแปลที่จัดทำโดย Soompi) ด้านล่างนี้:
ในฐานะซีอีโอของ HYBE ฉันขอแสดงความเสียใจอย่างจริงใจเกี่ยวกับเอกสารการตรวจสอบของ HYBE เกี่ยวกับเอกสารการตรวจสอบของเราที่ได้รับการเน้นย้ำในระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ฉันขอโทษอย่างสุดซึ้งต่อศิลปิน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรม และแฟน ๆ

เอกสารนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเพื่อรวบรวมปฏิกิริยาและความคิดเห็นของสาธารณชนเกี่ยวกับแนวโน้มและปัญหาในอุตสาหกรรมย้อนหลัง แม้ว่าจะตั้งใจให้แบ่งปันกับผู้นำจำนวนจำกัดเท่านั้นเพื่อทำความเข้าใจความรู้สึกของตลาดและแฟน ๆ แต่เนื้อหาดังกล่าวไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง 

เอกสารดังกล่าวมีเนื้อหาที่ยั่วยุและชัดเจนที่มุ่งเป้าไปที่ศิลปิน K-pop รวมถึงความคิดเห็นส่วนตัวและการประเมินของผู้เขียน และถูกเก็บรักษาไว้ในรูปแบบลายลักษณ์อักษร ในฐานะตัวแทนของบริษัท ฉันยอมรับข้อผิดพลาดทั้งหมดและรับผิดชอบอย่างเต็มที่ ฉันรู้สึกเสียใจและวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่งกับความสงสัยที่ไม่มีมูลความจริงเกี่ยวกับการตลาดแบบไวรัลย้อนกลับ ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและอันตรายต่อศิลปินและบุคคลที่บริสุทธิ์

ฉันขอโทษอย่างเป็นทางการและด้วยความเคารพต่อศิลปินภายนอกที่กล่าวถึงในเอกสารซึ่งได้รับความเสียหายและความทุกข์ยาก นอกจากนี้ เรายังติดต่อแต่ละเอเจนซี่เป็นรายบุคคลเพื่อขอโทษโดยตรง นอกจากนี้ ฉันยังขอโทษอย่างเป็นทางการอย่างจริงใจต่อศิลปินทุกคนของ HYBE Music Group ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เนื่องจากบริษัท

ฉันยอมรับว่าผู้บริหารที่ได้รับเอกสารดังกล่าวขาดความตระหนักรู้ และในฐานะซีอีโอ ฉันได้หยุดการสร้างเอกสารตรวจสอบดังกล่าวทันที ฉันสัญญาว่าจะกำหนดแนวทางปฏิบัติและเสริมการควบคุมภายในเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นอีก 

ฉันขอโทษศิลปิน ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม แฟน ๆ และทุกคนที่รักและสนับสนุน K-pop สำหรับความเจ็บปวดที่เกิดจากเหตุการณ์นี้ ในฐานะตัวแทนของบริษัท ฉันมุ่งมั่นที่จะไตร่ตรองและตรวจสอบตัวเองอย่างถี่ถ้วนเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดในอดีตและให้ความสำคัญกับสิทธิของศิลปิน K-pop ทุกคนและการเคารพแฟน ๆ เราจะทำอย่างสุดความสามารถเพื่อมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาอย่างแข็งแรงของอุตสาหกรรม K-pop

ขอบคุณ
อีแจซัง ซีอีโอ HYBE

คาดผู้โดยสารปี 67 แตะ 120 ล้าน AOT ยกระดับการให้บริการ นำระบบไบโอเมตริกมาใช้ทดแทนการเช็กอินใน 6 สนามบิน

(30 ต.ค. 67) นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ทอท. สร้างประสบการณ์การให้บริการท่าอากาศยานที่ทันสมัย นำระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (Automated Biometric Identification System: Biometric) ด้วยเทคโนโลยี Facial Recognition มาใช้ในการระบุตัวตนของผู้โดยสาร 

โดยพัฒนาและทดสอบระบบฯ ให้มีความพร้อมใช้งานเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็ว รวมทั้งช่วยลดระยะเวลาในการรอคิวของแต่ละจุดบริการภายในท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท. ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) ซึ่งในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เปิดให้ใช้งานสำหรับผู้โดยสารภายในประเทศ และในวันที่ 1 ธันวาคม 2567 พร้อมใช้งานสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ผู้โดยสารจำเป็นต้องยินยอมให้ใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล

สำหรับผู้โดยสารที่ต้องการใช้งานระบบ Biometric สามารถลงทะเบียนใช้งานเมื่อมาเช็กอินที่สนามบินโดยมี 2 วิธี ได้แก่ 

1) เช็กอินที่เคาน์เตอร์เช็กอิน ผู้โดยสารแจ้งเจ้าหน้าที่สายการบินให้ลงทะเบียนใบหน้าในระบบBiometric ผ่านเครื่องตรวจบัตรโดยสาร (เครื่อง CUTE) โดยระบบฯ จะดำเนินการจัดเก็บข้อมูลใบหน้าและข้อมูลเอกสารการเดินทางของผู้โดยสารในรูปแบบของ Token ไว้ในระบบฯ 

2) เช็กอินที่เครื่องเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (เครื่อง CUSS) โดยหลังจากเช็กอินเสร็จแล้ว ให้ผู้โดยสารเลือกสายการบินที่เดินทาง ต่อด้วยเลือก “Enrollment” จากนั้นสแกน barcode จากบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง (Boarding Pass) เสียบหนังสือเดินทาง (Passport) หรือบัตรประชาชน และสแกนใบหน้าเป็นขั้นตอนสุดท้าย ถือเป็นการเสร็จสิ้นการลงทะเบียน ซึ่งระบบฯ จะดำเนินการจัดเก็บข้อมูลใบหน้าและข้อมูลเอกสารการเดินทางของผู้โดยสารในรูปแบบของ Token ไว้ในระบบฯ เช่นเดียวกัน ซึ่งเมื่อดำเนินการเรียบร้อยแล้วถือว่าผู้โดยสารได้ให้ความยินยอมให้ใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลแล้ว เมื่อผู้โดยสารจะโหลดกระเป๋าสัมภาระผ่านเครื่องรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (เครื่อง CUBD) ตลอดจนผ่านจุดตรวจค้น รวมทั้งขั้นตอนขึ้นเครื่อง ไม่ต้องแสดง Passport และ Boarding Pass อีกต่อไป ทั้งนี้ เป็นการยินยอมให้ใช้ข้อมูล Biometric สำหรับการเดินทางเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

นายกีรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบ Biometric จะช่วยเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วให้กับผู้โดยสารตั้งแต่การเช็กอินจนถึงการขึ้นเครื่อง โดยผู้โดยสารสามารถลงทะเบียนใบหน้าผ่านเครื่องเช็กอินและจุดบริการต่าง ๆ ทำให้ไม่จำเป็นต้องแสดงพาสปอร์ตและบัตรโดยสารในแต่ละจุดอีกต่อไป เนื่องจากระบบ Biometric สามารถรองรับและเชื่อมต่อกับระบบบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่อง หรือ CUPPS (Common Use Passenger Processing System) ที่ ทอท. ได้ติดตั้งและใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ทั้ง 5 ระบบ ได้แก่ 

1) เครื่อง CUTE หรือเครื่องตรวจบัตรโดยสารซึ่งใช้งานโดยเจ้าหน้าที่สายการบิน 

2) เครื่อง CUSS หรือ เครื่องเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ 

3) เครื่อง CUBD หรือเครื่องรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ 

4) ระบบ PVS (Passenger Validation System) สำหรับตรวจสอบยืนยันตัวตนผู้โดยสาร 

5) ระบบ SBG (Self-Boarding Gate) หรือระบบประตูทางออกขึ้นเครื่อง ทำให้ข้อมูลต่าง ๆ ถูกเชื่อมโยงเข้าสู่เครือข่ายอย่างสมบูรณ์

นายกีรติ ได้กล่าวถึงปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท. ว่า ในปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566 - กันยายน 2567) มีผู้โดยสารมาใช้บริการรวมกว่า 119.29 ล้านคน เพิ่มขึ้น 19.22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 72.67 ล้านคน เพิ่มขึ้น 34.82% และผู้โดยสารภายในประเทศ 46.62 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.01% และมีเที่ยวบินรวม 732,690 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 14.5% แบ่งเป็น เที่ยวบินระหว่างประเทศ 416,190 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 29.63% และเที่ยวบินภายในประเทศ 316,500 เที่ยวบิน ลดลง 0.73% โดยเฉพาะที่ ทสภ. มีผู้โดยสาร 60 ล้านคน เพิ่มขึ้น 24.04% และมีเที่ยวบิน 346,680 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 17.88% ทดม. มีผู้โดยสาร 29.15 ล้านคน เพิ่มขึ้น 13.25% และมีเที่ยวบิน 197,250 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 11.47% ทชม. มีผู้โดยสาร 8.82 ล้านคน เพิ่มขึ้น 13.14% และมีเที่ยวบิน 57,780 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 9.68% ทชร. มีผู้โดยสาร 1.9 ล้านคน ลดลง 1.96% และมีเที่ยวบิน 12,260 เที่ยวบิน ลดลง 3.37% ทภก. มีผู้โดยสาร 16.40 ล้านคน เพิ่มขึ้น 25.94% และมีเที่ยวบิน 98,710 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 19.97% และ ทหญ. มีผู้โดยสาร 3.03 ล้านคน ลดลง 5.14% และมีเที่ยวบิน 19,730 เที่ยวบิน ลดลง 5.84% ทั้งนี้ มีผู้โดยสารแยกตามสัญชาติ 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ รัสเซีย และญี่ปุ่น

ทั้งนี้ จากข้อมูลการจัดสรรตารางบินฤดูหนาว 2024/2025 (W2024/2025) ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง มีเที่ยวบินได้รับการจัดสรรเวลารวม 370,239 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากฤดูหนาวในปีที่ผ่านมา (W2023/2024 ) 22.1% แบ่งเป็น เที่ยวบินระหว่างประเทศ 222,780 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 33.1% เที่ยวบินภายในประเทศ 147,459 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 8.5% มีแนวโน้มจำนวนผู้โดยสารรวมทั้งระหว่างประเทศและในประเทศเพิ่มขึ้น 23% และเส้นทางระหว่างประเทศที่มีผู้โดยสารเดินทางเข้าประเทศไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน มาเลเซีย อินเดีย สิงคโปร์ และฮ่องกง

สำหรับในปีงบประมาณ 2568 (ตุลาคม 2567 - กันยายน 2568) ทอท. คาดว่าจะผู้โดยสารมาใช้บริการท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง รวมกว่า 129.97 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.95% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ ประมาณ 78.61 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.17% และผู้โดยสารภายในประเทศ ประมาณ 51.36 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10.18% ขณะที่คาดว่าจะมีเที่ยวบินรวมประมาณ 808,280 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 10.32% แบ่งเป็น เที่ยวบินระหว่างประเทศประมาณ 453,750 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 9.02% และเที่ยวบินภายในประเทศประมาณ 354,530 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 12.02% โดยเฉพาะที่ ทสภ. คาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 64.44 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.40% และมีเที่ยวบินประมาณ 376,820 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 8.69% ทดม. มีผู้โดยสารประมาณ 33.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 13.91% และมีเที่ยวบินประมาณ 223,200 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 13.00%

ทอท. มุ่งพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในท่าอากาศยานให้ทันสมัยทันต่อความต้องการของผู้ใช้บริการท่าอากาศยาน เพื่อสร้างประสบการณ์การเดินทางที่น่าประทับใจ ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ ทอท. ที่จะเป็นผู้ดำเนินการและจัดการท่าอากาศยานที่ดีระดับโลก

สาวจีนโดนเจ้าหน้าที่โทรจี้ ถามเมื่อไหร่จะมีลูกเพิ่ม!!

(30 ต.ค. 67) สาวจีนรายหนึ่ง แชร์ประสบการณ์ถูกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจีนโทรศัพท์จี้ถามถึงแผนการมีลูก ตามนโยบายสนับสนุนการมีบุตรเพื่อเพิ่มอัตราเด็กเกิดใหม่ของรัฐบาลจีน ผ่านโซเชียล ปรากฏว่ามีหญิงสาวที่เจอประสบการณ์เดียวกันเพียบ 

สาวจีน ผู้ใช้ชื่อบัญชี 'Guo Guo' ในแพลตฟอร์ม Xiaohongshu ได้เล่าว่าเธอได้รับโทรศัพท์แปลกๆ จากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรัฐ ที่โทรเข้ามาถามเรื่องการวางแผนครอบครัว และตอนนี้ได้ตั้งครรภ์อยู่หรือไม่ แม้เธอจะเป็นคุณแม่ที่มีลูกอยู่แล้ว 2 คน แต่เจ้าหน้าที่ยังรุกถามต่อว่า แล้ววางแผนจะมีลูกคนที่ 3 เมื่อไหร่ 

สาวจีนเริ่มรู้สึกอึดอัดใจกับคำถามที่ละลาบละล้วงในเรื่องส่วนตัวเกินงาม แต่ยังตอบปลายสายอย่างสุภาพว่า ตอนนี้เธอมีภาระมากพอแล้ว และไม่ว่างที่จะมีลูกคนที่ 3 อีก แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่ยอมแพ้ที่จะหว่านล้อมให้เธอมีลูกเพิ่ม ถ้าแม่สามีช่วยเลี้ยงไม่ได้ ลองถามแม่ของเธอให้ช่วยเลี้ยงก็ได้

หลังจากหญิงสาวแชร์เรื่องราวลงในโซเชียลจีน ปรากฏว่าโพสต์ของเธอมียอดวิวสูงถึง 11,000 วิว กับความเห็นของชาวเน็ตจีนอีกหลายพัน แถมบางคนยังยืนยันว่าเคยได้รับโทรศัพท์สอบถามแผนการตั้งครรภ์จากเจ้าหน้าที่รัฐเช่นเดียวกัน

และกลายเป็นประเด็นถกเถียงถึงเรื่องสิทธิส่วนบุคคล และความชอบธรรมทางกฎหมายของการสอบถามข้อมูลส่วนตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ หลายคนแสดงความเห็นว่า นึกไม่ออกว่าการโทรมาจี้ถามราวกับสอบสวนจะส่งเสริมให้แต่ละครอบครัวมีบุตรเพิ่มขึ้นที่ตรงไหน และบางคนยังเห็นว่า เป็นการโทรที่แปลกยิ่งกว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์เสียอีก

แต่ทว่า นี่ไม่ใช่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่เป็นส่วนหนึ่งในแคมเปญรณรงค์เรื่องการมีบุตรอย่างเข้มข้นของรัฐบาลจีนจริง ๆ

โดย Caixin Global สื่อจีน รายงานว่ามีการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นระดับรากหญ้า เก็บรวบรวมข้อมูลสถิติการแต่งงาน และการคลอดบุตรของชาวบ้าน ส่งเข้าสู่ฐานข้อมูลของรัฐบาลกลาง เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุว่าทำไมหลายครอบครัวจึงลังเลที่จะมีบุตร 

ซึ่งการสำรวจครั้งนี้ เจาะกลุ่มสตรีที่อยู่ในช่วงวัยที่มีความสามารถในการตั้งครรภ์อายุตั้งแต่ 15 - 49 ปี ในหัวเมืองใหญ่ 150 เมืองทั่วประเทศ เพื่อทำความเข้าใจถึงปัญหา และปัจจัยที่จำเป็นในการตั้งครรภ์และเลี้ยงดูบุตรของครอบครัวจีน ที่จะนำไปสู่การปรับปรุงสวัสดิการ และนโยบายส่งเสริมการมีบุตรของรัฐบาลในอนาคต 

เนื่องจากปัจจุบัน จีนกำลังเผชิญปัญหาอัตราเด็กเกิดใหม่น้อยลงมาก จากข้อมูลของสำนักสถิติแห่งชาติพบว่าในปี 2023 จีนมีเด็กแรกเกิดที่ 9 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่ลดลงกว่าครึ่ง จากเมื่อปี 2014 ที่จีนมีเด็กแรกเกิดถึง 17 ล้านคน

แต่ความกระตือรือร้นที่หาเหตุ-ปัจจัย ที่จะกระตุ้นการมีบุตรของรัฐบาลจีนเป็นเรื่องดี จะผิดก็แต่เรื่องวิธีการเข้าถึงแหล่งข้อมูล ที่ดูจะขาดจิตวิทยาและความนุ่มนวลไปหน่อย ที่อาจทำให้หญิงสาวบางคนจากเดิมที่คิดจะมี กลายเป็นคิดหนักได้เหมือนกัน

'ผู้ช่วยอ้อ' สั่งประชุม พนง.สืบสวน คดีทองแม่ตั๊ก เร่งรัดสำนวนพร้อมส่งไม้ต่อ พนง.อัยการ

ที่ห้องประชุมรังสิพราหมณกุล ชั้น 2 กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร.(ปป 4) (สส 2) ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน เป็นประธานการประชุมคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนตามคำสั่ง ตร. ที่ 500/2567 ลง 11 ต.ค.67 เพื่อเร่งรัดติดตามความคืบหน้าการดำเนินคดีบริษัท เคทูเอ็น โกลด์ จำกัด (คดีทอง น.ส.กรกนก หรือตั๊ก สุวรรณบุตร กับพวก) ซึ่งเป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจและมีผู้เสียหายจำนวนมาก

โดยมี พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป., พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.สรัลพัฒน์ ยศสมบัติ รอง ผบก.กต.7, พ.ต.อ.ศราวุธ สวัสดิชัย รอง ผบก.ภ.จว.ปทุมธานี พร้อมคณะพนักงานสอบสวนสังกัด บช.ก. และ บก.ปคบ. เข้าร่วมประชุม

ซึ่งในการประชุมในครั้งนี้ เป็นการรายงานความคืบหน้าในการดำเนินคดีบริษัท เคทูเอ็น โกลด์ จำกัด กับพวก โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาพยานหลักฐานที่รวบรวมมาได้และร่วมกันกำหนดประเด็นการสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความถูกต้อง รัดกุมและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย จากนั้นจะได้สรุปสำนวนการสอบสวนพร้อมมีความเห็นทางคดีส่งพนักงานอัยการตามกฎหมายต่อไป

‘พิชัย’ เผย ขอไทยเตรียมความพร้อม 5 ปี ก่อนเข้าร่วม OECD เน้นภาษีเงินได้นิติฯ

(30 ต.ค. 67) นายมาทีอัส คอร์มันน์ เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) เข้าพบหารือกับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก่อนจะเดินทางเข้าพบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.คลัง กล่าวภายหลังการหารือว่า จากการหารือประเทศไทยยังมีงานต้องทำอีกหลายอย่างให้เสร็จสิ้นภายในช่วงเวลา 5 ปี ก่อนที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิก OECD อย่างเป็นทางการ ทั้งเรื่องกฎหมาย และแนวทางการปฏิบัติด้านต่าง ๆ ที่จะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD โดยเฉพาะเรื่องของนโยบายทางด้านภาษี 

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อยู่ระหว่างการจัดทำมาตรการทางด้านภาษี เพื่อให้สอดคล้องกับกติกาภาษีใหม่ของ OECD ซึ่งได้ประกาศการบรรลุข้อตกลงเรื่องอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) จากบริษัทข้ามชาติทั่วโลก ในอัตรา 15% ซึ่งคาดว่าอย่างเร็วที่สุดในการประชุมคณะกรรมการบีโอไอ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 นี้ จะมีการหารือถึงมาตรการดังกล่าว

“เรื่องของภาษีเป็นความจำเป็น เพราะไทยจะต้องทำตามกติกาภาษีใหม่ที่ให้เก็บ 15% กับบริษัทขนาดใหญ่ เพราะมาตรการเดิมของบีโอไอ ให้สิทธิประโยชน์ด้านการยกเว้นภาษี แต่ท้ายที่สุดบริษัทเหล่านั้นก็ต้องเสียภาษีต้นทาง ดังนั้นจึงอยากเซตกติกาใหม่กับบีโอไอ เช่น ถ้าลงทุนพัฒนาทักษะคน หรือใช้เทคโนโลยีสีเขียว ก็มีมาตรการออกมาช่วยโดยจะออกมาเป็นกฎหมายที่จ่ออยู่แล้ว เพื่อให้มีผลใช้บังคับได้ในปี 2568” นายพิชัย ระบุ

นายพิชัย กล่าวว่า ในส่วนประเด็นด้านการเติบโต และด้านศักยภาพของเศรษฐกิจไทยนั้น จากการหารือก็เห็นว่าเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้นการฟื้นตัวในระยะต่อไปต้องฟื้นตัวอย่างมีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพ ซึ่ง OECD ก็มีตัวอย่างของประเทศพัฒนาแล้ว ที่ประเทศไทยสามารถนำวิธีคิด และวิธีทำงานมาแลกเปลี่ยนกันต่อไป 

“วันนี้จะอยู่แบบเดิมไม่ได้ต้องอยู่แบบประสิทธิภาพ และคุณภาพ ซึ่งวิธีคิด และวิธีทำงานที่สอดคล้องกันของประเทศสมาชิกจะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันได้ง่ายขึ้น และเป็นผลดีกับไทยที่มีปัญหาการทำงาน มีปัญหาซ้ำซ้อนเรื่องค่าใช้จ่ายภาครัฐมาก โดยเรื่องทั้งหมดนั้น เรามีงานต้องทำอีกมากตามเป้าหมายการทำงานในช่วง 5 ปีจากนี้” นายพิชัย ระบุ

สศอ. เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมทรุด จากอุตสาหกรรมหนักส่งออกน้อย แนะ เตรียมปรับตัวรับนโยบายผู้นำสหรัฐคนใหม่ ผ่านปฏิรูปอุตสาหกรรม

(30 ต.ค. 67) นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน 2567 อยู่ที่ระดับ 92.44 หดตัวร้อยละ 3.51 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 57.47 ส่งผลให้ดัชนี MPI ไตรมาส 3 ปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 94.74 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.23 และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 58.29 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 0.11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการผลิตยานยนต์ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ทั้งตลาดภายในประเทศและการส่งออก จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้ออ่อนแอ หนี้ครัวเรือนสูง และสถานการณ์หนี้สงสัยจะสูญ (NPL) ยังอยู่ในระดับที่สูง ทำให้สถาบันการเงินยังเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อและยอดปฏิเสธสินเชื่ออยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกันต้นทุนพลังงานอยู่ในระดับสูง และปัญหาสินค้านำเข้าราคาถูกมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาถูกกว่าสินค้าของไทย 

โดยเฉพาะการเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์กระทบผู้ประกอบการไทย ซึ่งสินค้านำเข้าที่ทะลักเข้ามามาก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ และเสื้อผ้า เป็นต้น ขณะที่ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) ขยายตัวร้อยละ 2.86 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาส 3 ปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 7.05

ด้านการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทยเดือนตุลาคม 2567 'ส่งสัญญาณเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น' โดยปัจจัยภายในประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น ตามการลงทุนภาคเอกชนและความเชื่อมั่นทางธุรกิจใน ภาคการผลิตที่ลดลง ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากกำลังซื้อที่อ่อนแอ และผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น จากภาคการผลิตของสหภาพยุโรปที่ยังคงหดตัว รวมถึงสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา และความกังวลต่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี

“สำหรับประเด็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐมีผลต่ออุตสาหกรรมไทยนั้น มองว่ามีทั้งได้รับอานิสงส์และอาจจะได้รับผลกระทบ ดังนั้น สศอ. จึงมีข้อเสนอแนะแก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยเพื่อให้สามารถปรับตัวและบริหารจัดการทรัพยากรอย่างเหมาะสม ได้แก่ 

1. ปรับตัวสู่เทคโนโลยีพลังงานสะอาด และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน 

2. พัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต โดยตรวจสอบและปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดการใช้พลังงาน หรือการสูญเสียพลังงานในแต่ละขั้นตอนเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต 

3. นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล 

4. ผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดโลก โดยต้องมีความเข้าใจความต้องการและสามารถจัดการกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และ 

5. พัฒนาแรงงานโดยสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นให้สอดคล้องกับความต้องการขององค์กร (Reskill) พัฒนาเพื่อยกระดับทักษะที่มีอยู่เดิมให้ดียิ่งขึ้น (Upskill) เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ นำมาประยุกต์ใช้กับการทำงาน (Newskill) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะของแรงงานให้ตรงตามความต้องการของตลาดโลก” นายภาสกร กล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนกันยายน 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.54 จากน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันเบนซิน เป็นหลัก จากการผลิตกลับมาเป็นปกติในปีนี้หลังผู้ผลิตบางรายหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในปีก่อน

สัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 49.96 จากปลาทูน่ากระป๋อง เป็นหลัก ตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย เพื่อสต็อกสินค้าไว้รองรับความต้องการในช่วงเทศกาลและวันหยุดปลายปี ส่งผลให้ตลาดส่งออกขยายตัว

เครื่องจักรอื่นๆ ที่ใช้งานทั่วไป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.73 จากเครื่องปรับอากาศ เป็นหลัก ตามสภาพอากาศทั่วโลกที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น ลูกค้าจากสหรัฐอเมริกาเร่งให้ส่งมอบสินค้า และผู้ผลิตพัฒนาสินค้าได้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนกันยายน 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.48 จากรถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก รถยนต์ไฮบริดขนาดมากกว่า 1800 ซีซี เป็นหลัก ตามการหดตัวของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้ออ่อนแอ หนี้ครัวเรือนสูง และสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ

ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.54 จาก Integrated circuits (IC) เป็นหลัก ตามคำสั่งซื้อที่ลดลงและบริษัทแม่ในต่างประเทศยังไม่ฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจ ต่างจากสินค้าเซมิคอนดักเตอร์ที่ค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

คอนกรีต ปูนซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.96 จากพื้นสำเร็จรูปคอนกรีตและเสาเข็มคอนกรีต เป็นหลัก ตามการชะลอตัวของโครงการก่อสร้างของภาครัฐและอสังหาริมทรัพย์ในภาคเอกชน ตามภาวะเศรษฐกิจหนี้ครัวเรือนสูง สถาบันการเงินเข้มงวดอนุมัติสินเชื่อ ขณะที่ราคาที่อยู่อาศัยและวัสดุก่อสร้างปรับตัวเพิ่มขึ้น

‘หมอสุภัทร’ ปธ.ชมรมแพทย์ชนบท โพสต์แรง!! งดเข้าร้านดังชุมพร เหตุมีป้ายสนับสนุนแลนด์บริดจ์

(30 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา และประธานชมรมแพทย์ชนบท ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึง การขึ้นป้ายสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์ ว่า..

ปิดบัญชีร้านที่จะแวะทานแถวชุมพรอีกร้าน 
“งดเข้าห้องอาหารคุณสาหร่ายที่เปิดมายาวนาน“ 
จนกว่าป้ายข้างๆ จะเอาออก แล้วค่อยคิดทบทวนใหม่
ชีวิตต้องเลือกข้าง ไม่มีเป็นกลาง เป็นกลางคือ ignorance


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top