Tuesday, 29 April 2025
Hard News Team

'พิธา' แถลงก่อนการประชุมผู้นำอาเซียนสมัยพิเศษ ย้ำผู้นำอาเซียนต้องไม่ให้การประชุมเป็นเวทีรับรองความชอบธรรมของเผด็จการทหารเมียนมา รัฐบาลประยุทธ์ต้องปกป้องผลประโยชน์ของประเทศและภูมิภาคไม่ใช่รักษาความสัมพันธ์ส่วนตัว

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้แถลงออนไลน์ถึงสถานการณ์ในเมียนมา บทบาทของอาเซียนในการหาทางออกให้กับสถานการณ์ในเมียนมา และบทบาทของไทยในการประชุมผู้นำอาเซียนที่กรุงจาการ์ตาในวันที่ 24 เมษายน 2564

พิธา กล่าวว่า ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาทั้งโลกได้ติดตามสถานการณ์ในเมียนมาด้วยความสะเทือนใจ เนื่องจากมีผู้ถูกทหารเมียนมาสังหารแล้วกว่า 700 คน เป็นเด็กถึง 50 คน บางคนอายุเพียง 7 ขวบเท่านั้น คนนับพันคนถูกจับกุมหรืออุ้มหาย ซึ่งนี่เป็นปฏิบัติการอย่างเป็นระบบของทหารเมียนมาเพื่อปราบปรามประชาชนให้สยบด้วยความหวาดกลัว

“ถ้าไม่มีการยับยั้ง ทหารเมียนมาก็จะเดินหน้าปราบปรามสังหารประชาชนมือเปล่าและชนกลุ่มน้อยต่อไป ถ้าไม่มีใครทำอะไร คนอีกนับพันอาจถูกสังหาร คนนับแสนอาจต้องพลัดถิ่น และวิกฤติทางมนุษยธรรมที่ตามมาก็จะสร้างผลสะเทือนไปทั้งภูมิภาค”

พิธากล่าวต่อไปว่า เมื่ออาเซียนก่อตั้งขึ้นมาในปี 2510 ด้วยปฏิญญากรุงเทพฯ ก็ได้มีระบุไว้ถึงวัตถุประสงค์ของอาเซียนในปฏิญญาว่าก่อตั้งขึ้นเพื่อรักษาสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาคผ่านหลักนิติธรรมและหลักการของสหประชาชาติ

นอกจากนี้พิธายังกล่าวถึงในกฎบัตรอาเซียนที่เน้นย้ำถึงหลักการสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ในอดีตอาเซียนเคยแสดงบทบาทเป็นตัวกลางเจรจาหาทางออกให้กับความขัดแย้งในภูมิภาคมาแล้วหลายครั้ง และวิกฤติของเมียนมาในครั้งนี้ก็เป็นบททดสอบอีกครั้งหนึ่งของอาเซียน

ในโอกาสของการประชุมผู้นำอาเซียนสมัยพิเศษ ที่กรุงจาการ์ตา ในวันที่ 24 เมษายนนี้ พรรคก้าวไกลเรียกร้องให้ผู้นำอาเซียนจัดตั้งกระบวนการสันติภาพที่นำโดยอาเซียน เพื่อยุติการสังหารประชาชนและนำเมียนมากลับคืนสู่เส้นทางประชาธิปไตย โดยกระบวนการสันติภาพก็มีหลายกลไกที่อาเซียนสามารถใช้ได้ เช่น จัดตั้ง กลุ่มผู้ประสานงานอาเซียน (ASEAN Troika) จัดตั้งทูตพิเศษของอาเซียน (Special Envoy) หรือจัดตั้งกลุ่มเพื่อนประธาน (Friends of the Chair)

พรรคก้าวไกลเชื่อว่าเป็นความจำเป็นทางมโนสำนึกที่กระบวนการสันติภาพจะมีเป้าหมาย ได้แก่ การทำให้เมียนมากลับคืนสู่สภาวะปกติที่ สิทธิ เสรีภาพ ความเป็นอยู่ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ได้รับการคุ้มครอง และทหารเมียนมาต้องยุติการใช้ความรุนแรงและปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข นี่คือเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรมขั้นต่ำที่ประชาชนอาเซียนควรเรียกร้องจากผู้นำของตนเอง

พิธาย้ำว่า ผู้นำอาเซียนต้องไม่ปล่อยให้การประชุมผู้นำอาเซียนเป็นเวทีที่ให้การยอมรับและความชอบธรรมกับเผด็จการทหารเมียนมา ผู้นำอาเซียนควรผลักดันผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มได้มีโอกาสหาทางออกร่วมกันในกระบวนการจะเปิดรับทุกฝ่าย ดังนั้นผู้นำอาเซียนจึงควรยื่นคำเชิญให้กับทุกฝ่ายในการหาทางออกร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนจากพรรค NLD คณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ (CRPH) ไปจนถึงกองทัพ และกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เพื่อให้กระบวนการสันติภาพที่เปิดกว้างและมีความจริงใจเกิดขึ้นได้

นอกจากนี้อาเซียนควรยืนยันในหลักการ “ความเป็นแกนกลางของอาเซียน” โดยตระหนักว่าถึงเวลาแล้วที่จะเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ดำเนินการตามอำนาจในหมวด 6 และจัดตั้งคณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริงของสถานการณ์ในเมียนมา และเพื่อรับมือกับวิกฤติด้านมนุษยธรรม พิธาเรียกร้องให้ผู้นำอาเซียนจัดตั้งคณะทำงานเพื่อประเมินสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในเมียนมา และเรียกร้องให้ทหารเมียนมายอมเปิดให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสามารถเข้าไปถึงได้ในทุกพื้นที่ของประเทศ

พิธากล่าวว่า ประเทศไทยในฐานะเพื่อนบ้านที่มีความใกล้ชิดและเป็นประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียนควรมีบทบาทเชิงรุกในการหาทางออกให้กับสถานการณ์ในเมียนมา แต่รัฐบาลของ พล.อ ประยุทธ์ ก็แสดงออกให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่าว่าไม่ได้มีสำนึกที่จะปกป้องผลประโยชน์ของชาวไทยและชาวเมียนมาในช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดเช่นนี้ ซึ่งผลประโยชน์ของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนนั้นอยู่บนหลักการของความเจริญผาสุกร่วมกันที่จำเป็นต้องมีเมียนมาที่มั่นคงทางการเมืองและเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ถ้าเมียนมาเกิดวิกฤติ ก็จะเป็นวิกฤติของประเทศไทยที่มีชายแดนติดต่อกับเมียนมาถึง 2,400 กิโลเมตร เช่นเดียวกัน

“ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาล พล.อ ประยุทธ์ จะต้องทำตามหลักการ “การคำนึงถึงผลประโยชน์ของตนเองในระยะยาวโดยรู้แจ้งถึงสิ่งที่ถูกต้อง” (Enlightened self-interest) และแสดงออกให้เห็นว่าประเทศไทยยืนอยู่ข้างประชาชนชาวเมียนมา ไม่ได้เป็นสหายในสงครามร่วมหัวจมท้ายกับทหารเมียนมา” พิธากล่าวทิ้งท้าย

ที่มา : https://www.facebook.com/timpitaofficial/videos/544792376534565


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

“สมศักดิ์” แจงร่วมงานเลี้ยง คนติดโควิด ยัน ไม่ใช่ปาร์ตี้ โวย บางภาพไม่ใช่งานนี้ อย่าเอามารวมทำคนเข้าใจผิด

เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2564 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม กล่าวกรณีการเดินทางไปร่วมรับประทานอาหารกับกลุ่มคนสนิทแล้วมีการติดเชื้อโควิด-19 ว่า ในช่วงวันหยุดยาวได้เร่งทำงานมอบนโยบายปราบปรามยาเสพติด พื้นที่จ.เชียงใหม่และลำปาง และได้พักทำบุญที่บ้านเกิดจ.สุโขทัย ในวันที่ 12 เม.ย. จากนั้นเป็นประธานมอบนโยบายยาเสพติดภาคเหนือแก่ตำรวจภาคเหนือตอนล่างในการตัดวงจรยาเสพติด หลังจากจบภารกิจ ข้าราชการและผู้ติดตามทุกคนในคณะ ได้ตรวจโควิดและผลออกมาไม่มีใครติดเชื้อ 

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับในงานเลี้ยงอาหารที่ร้าน คาเฟ่ เดอ ทรี ที่ตนเดินทางไปร่วมนั้นไม่ทราบว่ามีการจัดรดน้ำดำหัว และไม่ทราบว่าใครเป็นคนแพร่เชื้อ ไม่สามารถหาต้นตอได้ว่าใครเป็นผู้ติดเชื้อบ้างเพราะคนร่วมงานมีหลายคน ทั้งนี้ต้องขอโทษที่มีภาพหลุดออกมาจนเป็นประเด็นในสังคม แต่การไปรับประทานอาหารครั้งนี้ไม่ใช่ปาร์ตี้ตามที่เข้าใจผิดกัน เพราะ ไม่มีดนตรีและการแสดง แต่พูดคุยรับฟังปัญหาชาวบ้านจากกลุ่มคนที่ช่วยทำงานในพื้นที่ และกิจกรรมดังกล่าวใช้เวลาไม่นาน 

แต่ในโซเชียลมีเดีย บางแห่ง นำภาพบุคคลที่ร่วมรับประทานอาหารในวันที่ 12 เม.ย.ที่ติดเชื้อโควิด-19 มาเผยแพร่ ทั้งที่บางภาพไม่ใช่งานที่ตนไปร่วมรับประทานอาหาร โดยไม่ชี้แจงให้ชัดว่าเป็นวันใดซึ่งอาจทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิด ยืนยันว่าทุกครั้งที่จะไปร่วมงาน จะระมัดระวังป้องกันตัวเองอย่างเข้มงวด ใส่หน้ากากและเว้นระยะเวลาพูดคุยกับใครๆเสมอ และที่ออกมาชี้แจงเพื่อยืนยันว่าไม่ได้ติดโควิด เพราะมีข้อมูลบางส่วนยังไม่ตรงจนเกิดความเข้าใจผิดกลายเป็นความแคลงใจ

“จตุพร”บอกอย่ากระพริบตา!! ยก 2 ไล่ “ประยุทธ์” ออนไลน์ แฉทุกปมบกพร่องผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เผย 24 เม.ย. “ธีระชัย” อดีต รมว.คลัง เตรียมชำแหละ ศก.ระบอบประยุทธ์ 25 เม.ย.คิว “ไพศาล พืช” ถลกปมโควิด ลั่นภาพรวม 7 ปีสิ่งที่ รบ.เด่นชัดมีแต่ยโส โอหัง อวดดี ห่วยแตก

เมื่อ 22 เมษายน พ.ศ.2564 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เฟชบุ๊คไลฟ์ peace talk ถึงรูปแบบการปราศรัยออนไลน์ เวทีไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย ในหัวข้อ “24 เมษา ยก 2 ประยุทธ์ออกไป”  
 
นายจตุพร กล่าวว่า การจัดรูปแบบชุมนุมผ่านโซเชียลมีเดีย ในนัยยะหนึ่งเกี่ยวกับมาตรการโควิด-19 ซึ่งมีการระบาดไปทั่วประเทศนั้นจะต้องมีการวิพากษ์ถึงความล้มเหลว และชี้ให้เห็นว่าพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีนั้น ไม่สมควรที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปแม้แต่เพียงวันเดียว  
  
ในวันที่ 24 เมษายนนี้ จะเริ่มต้นกิจกรรมปราศรัยในเวลา 13.00 น.เป็นต้นไป โดยจะมีผู้ปราศรัยร่วมเเสดงความคิดเห็นเพิ่มขึ้น โดยไฮไลท์หลักของวันแรกจะอยู่ที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล  อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะพูดถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในแง่มุมต่างๆ  ทั้งเศรษฐกิจของประเทศ การเงินการคลัง หรือกรณีเรื่องทุนผูกขาด จึงอยากให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้รับรู้อย่างเท่าเทียมกันว่าเรากำลังอยู่ในสถานการณ์ไหน   
 
ดังนั้นอยากให้พี่น้องประชาชนได้รับฟังว่าอย่างน้อยที่สุดในฐานะที่เราเป็นเจ้าของประเทศร่วมกันนั้นเราควรมีสิทธิ์ที่จะรับรู้ถึงสถานการณ์ที่เป็นความจริงของประเทศไทย หรือแม้กระทั่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาก็ควรจะรับฟัง   
  
พร้อมเปรียบเปรยว่า ขณะนี้ ใครเข้ามามีอำนาจ หูก็จะเริ่มหาย ก็คือเป็นเหมือนกับโดเรมอนแต่ว่าเป็นมนุษย์ที่ไร้หูซึ่งหมายความว่าใครพูดอะไร เสียงจะไม่เข้าหู แต่จะเข้าจมูกเป็นหลัก ก็จะมีการอาละวาดไปตอบโต้ไม่รับฟัง  
 
อีกทั้ง ข้อเสนอแนะใดๆในการหาทางออกให้กับชาติบ้านเมืองทั้งที่ตัวเองก็ไม่มีปัญญาในการแก้ไขปัญหาชาติแต่อย่างใด สภาพผู้นำที่ไร้หูนั้นเป็นภาวะวิกฤตของประเทศ ซึ่งในยามที่บ้านเมืองเป็นปกติ ผู้นำที่ไม่ฟังใครนั้นก็คนอาจจะไม่รู้สึกถึงผลกระทบ แต่ความล้มเหลวในทุกมิติโดยเฉพาะการบริหารการจัดการเรื่องวัคซีน ซึ่งต้องโทษคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีว่าเมื่อประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นอำนาจมาอยู่ที่นายกรัฐมนตรีและ ศบค.ก็ต้องฟังนายกรัฐมนตรี เพราะตอนนี้เป็นมาตรการเหมือนกับการใช้มาตรา 44 แต่อยู่ในรูปแบบ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  
  
ดังนั้นจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าแม้กระทั่งการจัดหาวัคซีน นายกรัฐมนตรีก็ยังไม่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขหรือรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุขเข้าไปเป็นกรรมการร่วมรับผิดชอบ แปลความว่าปัญหาทั้งหมดที่พยายามยกมาอธิบายว่ามีการประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาดคิดว่าควบคุมโควิด-19 ได้ทำให้การบริหารการจัดการเรื่องวัคซีนไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ซึ่งเป็นการอธิบายความล้มเหลวได้อย่างทุเรศ แต่ปัญหาหลักวันนี้ ที่อยากให้นายกรัฐมนตรีได้ทบทวนคือ สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีกหรือไม่  
 
ส่วนกิจกรรมต่อเนื่องในวันที่ 25 เมษายนนี้ ไฮไลท์จะอยู่ที่นายไพศาล พืชมงคล อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นคนที่ติดตามในเรื่อง สถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่เริ่มต้น จนกระทั่งถึงปัจจุบัน รัฐบาลรับมือบกพร่องผิดพลาดกันอย่างไร อยากให้ติดตามกัน  
  
นายจตุพร กล่าวด้วยว่า ในสถานการณ์การที่บริหารประเทศจนกระทั่งไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ โควิด-19 ได้ หลายคนก็ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมพลเอกประยุทธ์ จึงไม่ทำเรื่องขอเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงขอคำปรึกษาหรือฟังข้อเสนอแนะจากในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งปกติแล้วในสถานการณ์ที่บ้านเมืองวิกฤตคนที่เป็นผู้นำประเทศต้องทำเรื่องขอเข้าเฝ้าเพื่อขอพระราชทานคำปรึกษาในการแก้ไขปัญหาวิกฤตินี้  ซึ่งหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าทำไมพลเอกประยุทธ์ไม่กระทำ  เพราะสถานการณ์ที่มันเลยเถิดจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้มีหลากหลายเรื่องราวที่เดินเข้ามาสู่จุดนี้และนายกรัฐมนตรีก็ยังไม่กระทำการในเรื่องนี้  
  
นอกจากนี้การพยายามที่จะปั่นกระแสใดๆก็ตาม ซึ่งจะไม่เป็นผลดี ซึ่งหลายเรื่องราว บุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นมืองานของรัฐบาลตัวจี๊ดจ๊าดทั้งหลาย ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่ชำนาญการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาด แต่เป็นผู้ชำนาญการในอีกเรื่องหนึ่ง ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรคระบาด ก็กลายเป็นหน่วยปฏิบัติการจิตวิทยา ของรัฐบาลชุดนี้ ในการสร้างความหวาดวิตกให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน  
 
ดังนั้นเรื่องนี้ภายหลังจากสถานการณ์โควิด 19 ก็ควรจะได้รับการสะสาง และส่วนตัวมองว่าการจะอยู่โดยกล่าวอ้างสถานการณ์โควิด-19 โดยแก้ไขปัญหาชาติไม่ได้ หรือ จะอยู่โดยอ้างว่า รอฉีดวัคซีนคนให้ครบนั้น หากเป็นคนที่มีประสิทธิภาพปีนี้ทุกอย่างจะจบหมด แต่เพราะเรามีรัฐบาลที่ด้อยประสิทธิภาพ ยโส โอหัง อวดดี และห่วยแตก  ไม่รับฟังใคร   
  
อีกอย่าง ตนอยากเรียกร้องให้ผู้ที่มีความรู้ กล้าที่จะลุกขึ้นมาอธิบายเพราะหลากหลายเรื่องราวมันผิดปกติเป็นที่น่าสงสัย เพราะอย่างน้อยจะได้แลเห็นว่าในสถานการณ์ที่คนไทยได้รับโชคชะตากันอย่างนี้นั้นก็มีคนได้ประโยชน์กันอยู่มากมายและที่สำคัญที่สุดก็คือ ประโยชน์อันนี้มันคือความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งหลาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ค้างคาที่ต้องการจะสื่อความให้เห็นว่าทำไมเราไม่สามารถที่จะให้พลเอกประยุทธ์บริหารประเทศชาติบ้านเมืองได้ต่อไป   
  
“7 ปีที่ผ่านมานั้นถ้ามันมีความสำเร็จเป็นรูปธรรมเพียงแค่เรื่องเดียวให้เห็น คนอาจจะมีความรู้สึก แต่นี่ลองอธิบายถึงความสำเร็จว่า ตั้งแต่ 22 พฤษภาคมซึ่งกำลังจะครบ 7 ปีในเดือนหน้านี้ มีอะไรที่เป็นความสำเร็จ มีอะไรที่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาบ้าง”  
  
พร้อมย้ำว่า หากพลเอกประยุทธ์ออกไปตนเชื่อว่า เราจะได้สถาปนารัฐธรรมนูญโดยประชาชน การอยู่หรือไปของพลเอกประยุทธ์นั้นตนขอย้ำอีกครั้งว่า จะเคียงคู่กับรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญปี 60 นั้นอย่างที่ตนเคยบอกว่าเป็นมรดกบาปเป็นพินัยกรรมของคนที่ได้รับประโยชน์คือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเพราะฉะนั้นการแก้ไขพินัยกรรมเพื่อให้ประโยชน์ตกเป็นของคนอื่นนั้นคนที่ได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมไม่มีวันจะทำให้ดังนั้น มันจึงเป็นหน้าที่ของประชาชน  
  
ขณะเดียวกันในปรากฏการของคณะสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทยนั้นเป็นเพียงแค่การเริ่มต้น แต่ไปตรงกับความรู้สึกของประชาชนที่เขามีความทุกข์ยาก  ดังนั้นแม้ว่าเป็นเรื่องที่ยากของการเปิดประตูให้กับคู่ขัดแย้งที่จะต้องวางเรื่องของตัวเองไว้ชั่วคราวสามัคคีกันเฉพาะหน้าเอาพลเอกประยุทธ์ออกไปนั้นยังเป็นภารกิจที่มีความสำคัญจะต้องทำจิตใจให้กว้างขวาง ต้องทำจิตใจให้ผ่องโต ต้องทำจิตใจให้ใหญ่มากเพื่อแลกกับสิ่งที่ประเทศไทยจะต้องได้รับความเชื่อมั่นกลับคืนมานั่นคือการเอาพลเอกประยุทธ์ออกไป

หอหารค้าฯ ชี้โควิดรอบ 3 ฉุดเงินในระบบศก.หาย 3 แสนล.

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ศูนย์ฯ ประเมินผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ระลอกใหม่ทำให้อัตราการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจลดหายไปกว่า 200,000-300,000 ล้านบาท ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะเติบโตได้เพียง 1.2-1.6% ลดลงจากเป้าหมายเดิม ที่ประเมินเอาไว้ว่า หากไม่มีการระบาดโควิด-19 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ถึง 2.8% อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ตัวเลขนี้ยังไม่ใช่การปรับประมาณการทั้งปีของหอการค้าไทย เพราะเป็นตัวเลขการประเมินผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่เท่านั้น
 
ทั้งนี้ ได้มีข้อเสนอแนะถึงภาครัฐให้เร่งแก้ไขปัญหา บริการจัดการ และควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ โดยร่วมมือทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องเดินหน้าแก้ไขไปด้วยกัน โดยเฉพาะเร่งหาและฉีดวัคซีนร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยรวม และสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนและคนในสังคมให้มีความชัดเจน พร้อมทั้งพยายามเปิดประเทศให้เร็วที่สุด 

นอกจากนี้ภาคธุรกิจต้องการให้รัฐบาลรีบดำเนินการหรือช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด โดยเฉพาะภาคการเงินจะต้องเร่งเสริมสภาพคล่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การพักชำระหนี้ในกลุ่มภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ พร้อมทั้งเร่งกระตุ้นภาคธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศ ผ่านโครงการต่าง ๆของรัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

'ดร.สามารถ' ติงข้อเสนอคมนาคม ชง กทม.เก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 50 บาท สร้างกำไรถึง 380,200 ล้านบาท ได้จริงหรือ?

'ดร.สามารถ' ติงข้อเสนอคมนาคม ชง กทม.เก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 50 บาท สร้างกำไรถึง 380,200 ล้านบาท ได้จริงหรือ? พร้อมวิเคราะห์เจาะลึกสูตรคำนวณ พบจากที่มองเห็นเป็นกำไร อาจขาดทุนถึง 7.4 หมื่นล้าน อีกทั้งยังเสี่ยงถูก ‘บีทีเอส’ ฟ้องผิดสัญญา

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte ถึงข้อเสนอของกระทรวงคมนาคม ในการกำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงสุด 50 บาท และจะได้กำไรถึง 380,200 ล้านบาท โดยระบุว่า

คมนาคมชงค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีเขียว 50 บาท ฟุ้งกำไร 3.8 แสนล้าน! จริงหรือราคาคุย?

เมื่อไม่นานมานี้กระทรวงคมนาคมเสนอแนะค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงสุด 50 บาท คุยว่าจะได้กำไรถึง 380,200 ล้านบาท ถ้าได้กำไรจริงก็น่าสน แต่จะได้กำไรหรือจะขาดทุนต้องอ่านบทความนี้

เป็นข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมที่น่าติดตาม โดยอ้างว่าถ้า กทม. จ้างเอกชนให้เดินรถตั้งแต่ปี 2573-2602 เก็บค่าโดยสารสูงสุด 50 บาท ให้ กทม.รับภาระหนี้เองทั้งหมด จะทำให้ กทม. มีกำไรถึง 380,200 ล้านบาท ดีกว่าขยายเวลาสัมปทานให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส เป็นเวลา 30 ปี ตั้งแต่ปี 2573-2602 โดยมีเงื่อนไขให้บีทีเอสเก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาท และแบ่งรายได้ให้ กทม.ไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงวิเคราะห์เจาะลึกถึงวิธีการคิดกำไรของกระทรวงคมนาคม ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

1.) รายรับ

กระทรวงคมนาคมคิดรายรับได้ 714,000 ล้านบาท ซึ่งคลาดเคลื่อนเพราะไม่ได้คิดรายรับในช่วงปี 2564-2572 ด้วย หากคิด จะได้รายรับประมาณ 1,047,000 ล้านบาท โดยให้ผู้โดยสารเพิ่มปีละ 2% รายรับนี้ได้หักค่าชดเชยกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางรางบีทีเอสโกรท (BTSGIF) ประมาณ 17,000 ล้านบาท ออกไปแล้ว

2.) รายจ่าย

(2.1) หนี้

กระทรวงคมนาคมคิดหนี้ที่ กทม. จะต้องจ่ายถึงปี 2572 ได้ 76,000 ล้านบาท ไม่ได้คิดหนี้ในช่วงปี 2573-2602 และไม่ได้คิดหนี้ครบทุกรายการ ถ้าคิดหนี้ให้ถูกต้องตั้งแต่ปี 2564-2602 จะได้หนี้รวมประมาณ 121,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยงานโยธา 90,650 ล้านบาท หนี้เงินต้นและดอกเบี้ยงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 20,768 ล้านบาท และหนี้ค่าจ้างเดินรถค้างจ่าย 9,602 ล้านบาท

(2.2) ปันผล

กระทรวงคมนาคมเสนอแนะให้จัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้าสายสีเขียว และระดมทุนจากผู้ร่วมลงทุนมาจ่ายหนี้ ผู้ร่วมลงทุนจะได้เงินปันผลปีละ 5% ทุกปี ในช่วงปี 2573-2585 รวมเป็นเงิน 9,800 ล้านบาท แต่ในความเป็นจริงจะไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ เพราะเป็นกองทุนที่ขาดทุน คงยากที่จะมีผู้สนใจมาร่วมลงทุน จึงไม่สามารถจัดตั้งกองทุนฯ ได้

(2.3) ค่าจ้างเดินรถ

กระทรวงคมนาคมคิดค่าจ้างเดินรถเฉพาะส่วนต่อขยายในช่วงปี 2573-2602 ได้ 248,000 ล้านบาท ซึ่งคลาดเคลื่อนเพราะ

- ไม่ได้คิดค่าจ้างส่วนต่อขยายในช่วงปี 2564-2572

- ไม่ได้คิดค่าจ้างส่วนหลักซึ่งประกอบด้วยช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ในช่วงปี 2573-2602

หากคิดให้ครบถ้วน จะได้ค่าจ้างรวมทั้งหมดประมาณ 841,000 ล้านบาท

(2.4) ค่าซ่อมบำรุงรักษาใหญ่

กระทรวงคมนาคมไม่ได้คิดค่าซ่อมบำรุงรักษาใหญ่ในช่วงปี 2573-2602 เช่น ค่าเปลี่ยนขบวนรถไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งใช้งานมานานหลายปี หากคิดจะต้องใช้เงินประมาณ 93,000 ล้านบาท

3.) การคิดกำไรหรือขาดทุน

กระทรวงคมนาคมคิดกำไรได้ถึง 380,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากใช้รายรับ (ในข้อ1) ลบด้วยรายจ่าย (ในข้อ2.1-2.4) โดยไม่ได้แปลงให้เป็นมูลค่าในปีปัจจุบัน (Present Value) หรือปี 2564 ก่อน ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่มีกำไรถึง 380,200 ล้านบาท ซึ่งไม่ถูกต้อง หากคิดรายรับและรายจ่ายให้ถูกต้อง พร้อมทั้งแปลงให้เป็นมูลค่าในปี 2564 จะพบว่า กทม. จะขาดทุนถึงประมาณ 74,000 ล้านบาท

ดังนั้น หากลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหลือ 25 บาท ตามที่สภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอแนะ โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นค่าโดยสารราคาเดียวตลอดสายหรือค่าโดยสารสูงสุด กทม. จะขาดทุนไม่น้อยกว่าหนึ่งแสนล้านบาท ไม่ใช่ได้กำไร 23,200 ล้านบาท แต่ผมไม่ตำหนิสภาองค์กรของผู้บริโภคที่คำนวณได้ผลลัพธ์เช่นนี้ เนื่องจากใช้วิธีคำนวณของกระทรวงคมนาคมซึ่งสมควรใช้อ้างอิง แต่เมื่อวิธีคำนวณของกระทรวงคมนาคมคลาดเคลื่อนก็ย่อมทำให้ผลลัพธ์ของสภาองค์กรของผู้บริโภคคลาดเคลื่อนตามไปด้วย

 

สรุป

1.) หากเก็บค่าโดยสารสูงสุด 50 บาท กทม. จะขาดทุนประมาณ 74,000 ล้านบาท ไม่ใช่ได้กำไร 380,200 ล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคมคิด

2.) หากเก็บค่าโดยสาร 25 บาท กทม. จะขาดทุนไม่น้อยหนึ่งแสนล้านบาท ไม่ใช่ได้กำไร 23,200 ล้านบาท ตามที่สภาองค์กรของผู้บริโภคคิด

3.) นอกจากจะขาดทุนจำนวนมากแล้ว หาก กทม. จะจ้างเอกชนรายอื่นให้มาเดินรถในช่วงปี 2573-2602 จะมีปัญหาดังนี้

(3.1) บีทีเอสอาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก กทม. เนื่องจาก กทม.ได้ทำสัญญาจ้างบีทีเอสให้เดินรถทั้งส่วนหลักและส่วนขยายถึงปี 2585 ไว้ก่อนแล้ว

(3.2) กทม. จะต้องหาเงินสำหรับจ่ายหนี้และค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายช่วงปี 2564-2572 รวมทั้งค่าชดเชยกองทุน BTSGIF เป็นเงินประมาณ 135,000 ล้านบาท จะหาได้หรือ?

ผมเห็นด้วยที่จะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสายถูกลง ไม่เฉพาะสายสีเขียวเท่านั้น แต่ในกรณีสายสีเขียวเมื่อได้รับทราบข้อมูลดังกล่าวข้างต้นแล้ว กระทรวงคมนาคมจะแก้ปัญหาได้อย่างไร?

ที่มา : https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=2349710735173816&id=232025966942314


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

รัฐบาลจีนเอาจริง ขู่ลบบัญชี ดาว Tiktok ที่มีผู้ติดตามหลักล้าน โชว์พฤติกรรมอวดรวย กินหรู อู้ฟู่จนเกินวิสัย ที่อาจเป็นการสร้างค่านิยมในสังคมในทางที่ผิด

รัฐบาลจีนเอาจริง ขู่ลบบัญชี ดาว Tiktok ที่มีผู้ติดตามหลักล้าน โชว์พฤติกรรมอวดรวย กินหรู อู้ฟู่จนเกินวิสัย ที่อาจเป็นการสร้างค่านิยมในสังคมในทางที่ผิด ให้ติดกับวัตถุนิยม และความโก้หรูจนขาดสติ จนเหล่าเซเลปโซเชียลจีนนับร้อยต้องออกมาโพสต์คลิปขอโทษประชาชนเพราะกลัว Account ปลิว

Big Logo หนึ่งในดาว Tiktok ของจีนที่มียอดผู้ติดตามสูงถึง 27 ล้านคน จากการโพสต์คลิปตระเวนชิมอาหารตามภัตตาคารหรูหรา และพักโรงแรมห้องสูทคืนละหลายแสนเป็นประจำ ต้องออกมา 'ยกการ์ด' รู้เท่าไม่ถึงการณ์ โพสต์คลิปขอโทษชาวจีนที่ทำพฤติกรรม อวดรวยโดยไม่คิด และพร้อมรับคำวิจารณ์สังคม เขาเพียงแค่ต้องการแชร์ประสบการณ์แปลกใหม่ ไม่ได้ต้องการให้ผู้ชมนิยมบริโภคของแพง ๆ หรือใช้เงินเกินตัวแต่อย่างใด

ขณะที่ดาวโซเชียลอีกคนของจีนอย่าง Xiaoyu ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 6 ล้านคนใน Tiktok ซึ่งมักอวดไลฟ์สไตล์หรู ใช้เงินเดือนละล้าน ตัดผมครั้งละหลายหมื่น และคลิปที่เป็นที่วิจารณ์อย่างมากคือ การรีวิวบริการห้องพักหรูหลังคลอดให้คุณแม่ที่มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 2 ล้านหยวนต่อเดือน ก็ยอมลบคลิปและออกมากล่าวขอโทษเช่นกัน

สาเหตุที่เหล่าเซเลปโซเชียลของจีนต้องรีบออกมาแก้ต่างเรื่องคอนเท้นท์ที่เป็นการอวดไลฟ์สไตล์หรูหรา เนื่องจากเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางการจีนมีการออกมาตรการกวาดล้างเนื้อหาที่แพร่กระจายในแอปพลิเคชันโซเชียลของจีน ทั้ง Douyin, Tiktok, Kuaishou, Baidu และอื่น ๆ ที่มีเนื้อหาอวดรวยจะเกินขอบเขต เช่น การซื้อข้าวของหรูหราราคาแพงมาอวดในโซเชียล เอาเงินจำนวนมากมากองแล้วถ่ายรูป เข้าภัตตาคาร โรงแรมหรู ที่เข้าข่ายสร้างค่านิยมบูชาเงิน ที่เหมือนเป็นการดูหมิ่น ทรยศต่อคุณธรรมของจีนที่ 'ปลูกฝังให้ลูกหลานมีความขยัน มัธยัสถ์ อดออม'

และเริ่มมีการลบบัญชีของผู้ใช้ที่เผยแพร่เนื้อหาการใช้เงิน บริโภคสินค้าอย่างขาดสติมากกว่า 4,000 บัญชีตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา พร้อมขึ้นคำเตือนเนื้อหาที่เข้าข่ายบริโภคนิยมกว่าหมื่นคลิป

นโยบายเรื่องความประหยัด ใช้เงินอย่างรู้คุณค่าเป็นสิ่งที่ สี จิ้นผิง ผู้นำจีนเน้นย้ำมาตลอดตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง ที่ประกาศกวาดล้างการคอรัปชั่นในระบบราชการจีน งดการจัดเลี้ยงต้อนรับหรูหรา งดงานพิธีที่ไม่จำเป็นของรัฐบาล รณรงค์ให้ชาวจีนสั่งอาหารแต่พอดี ไม่ให้มีอาหารเหลือทิ้งโดยไม่จำเป็น สั่งแบนดารา เซเลป คนดังที่โอ้อวดความร่ำรวยเกินฐานะออกสื่อ รวมถึงการกวาดล้างเนื้อหา และคลิปที่ประกาศความรวยด้วยข้าวของหรูหราออกโซเชียลอย่างในครั้งนี้

แม้นโยบายของจีนอาจฟังดูแปลกแตกต่างจากประเทศโลกเสรีอื่น ๆ ที่มองว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล เงินของเขา ไม่เกี่ยวกับเรา แต่สำหรับประเทศจีน ที่มองสังคมเป็นองค์รวม การส่งผ่านค่านิยมที่หลงใหลในเงินตรา และวัตถุนิยมจนเกินขอบเขตก็อาจมีผลกับเยาวชนที่เสพสื่อ และสร้างนิสัยในการใช้เงินอย่างไม่ระมัดระวังได้

ดังนั้น ท่านประธานสี จึงสั่งสอยชาวโซเชียลที่ถือคติ 'เงินเรา ใช้ซะ' หรือ 'ของมันต้องมี' ก็อาจโดนปิดบัญชี ไม่ก็ FC หายแบบไม่รู้ตัวเช่นกัน

 

อ้างอิง:

https://m.koreatimes.co.kr/pages/article.asp?newsIdx=307467

https://www.ndtv.com/world-news/china-rich-kids-learn-to-avoid-being-target-as-xi-targets-billionaires-2336944

https://nypost.com/2016/04/19/china-is-banning-rich-kids-from-appearing-on-reality-tv/


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

.

เกิดเหตุระเบิดฆ่าตัวตายกลางเมืองเควตต้า จุดเกิดเหตุอยู่ที่ด้านหน้าโรงแรม Serera เครือโรงแรมหรูอันดับต้น ๆ ของประเทศ ด้วยระเบิด Car bomb พบผู้เสียชีวิตแล้ว 4 ราย บาดเจ็บอีก 12 ราย

เหตุระเบิดฆ่าตัวตายมักเกิดขึ้นบ่อยในแคว้นที่มีชายแดนติดกับอัฟกานิสถาน แต่สำหรับเหตุการณ์ในครั้งนี้ น่าจะมีนัยยะซ่อนเร้นมากกว่าแค่การก่อความไม่สงบ เพราะในวันเกิดเหตุ โรงแรมกำลังต้อนรับแขกบ้าน แขกเมืองคนสำคัญของรัฐบาล นั่นคือ เอกอัครราชทูตจีน และคณะผู้ติดตามรวม 4 คน

ทั้งนี้ ผู้ก่อการร้ายได้ติดตั้งระเบิดภายในรถ และนำเข้ามาจอดที่ลานจอดรถหน้าโรงแรม จนถึงช่วงหัวค่ำ ก็เกิดระเบิดสนั่นจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งต่อมากลุ่มตาลีบันในปากีสถานได้ออกมาประกาศว่าเป็นฝีมือของตน และเป็นการก่อเหตุระเบิดพลีชีพ

ส่วนคณะทูตจีน ไม่ได้อยู่ภายในโรงแรมขณะที่เกิดเรื่อง แต่ได้เดินทางออกจากโรงแรมไปประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด แจม คามัล จึงไม่มีใครในคณะได้รับบาดเจ็บ

ชีค ราชิค อาห์หมัด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของปากีสถาน กล่าวว่า ควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว และท่านเอกอัครราชทูต หนง หลง พร้อมคณะปลอดภัยดี และไม่ได้เสียขวัญอะไร พร้อมจะปฏิบัติหน้าที่จนแล้วเสร็จ จึงค่อยเดินทางกลับ

ถึงกระนั้น ข้อสันนิษฐานเรื่องการโจมตีโรงแรม Serena เพื่อหวังผลโจมตีคณะทูตจีน ก็ยังมีความเป็นไปได้สูง เพราะเคยมีการบุกโจมตีโรงแรม Pearl Continental ที่เมืองกวาดาร์ แคว้นบาลูจิสถานในปี 2019 และโจมตีสถานฑูตจีนในกรุงอิสลามาบัด โดยกลุ่มกองกำลังแบ่งแยกดินแดนบาลูจิสถาน เพื่อขัดขวางโครงการยักษ์ใหญ่ของจีน CPEC หรือ ระเบียงเศรษฐกิจ 'จีน- ปากีสถาน' ที่เป็นส่วนหนึ่งของเมกะโปรเจกต์เส้นทางสายไหมยุคใหม่ของจีน (Belt and Road Initiative) ซึ่งแคว้นบาลูจิสถาน ถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของจีน ที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึกกวาดาร์ ที่จะเป็นประตูออกสู่ทะเลอาหรับ

แคว้นบาลูจิสถาน นับเป็นแคว้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของปากีสถาน เป็นแคว้นที่มีประชากรน้อย และยากจนที่สุดของประเทศ แต่ก็มีทรัพยากรธรรมชาติมากที่รอการสำรวจ ต่อมาแคว้นนี้ ก็กลายเป็นที่จับตามองเป็นพิเศษเมื่อจีนเข้ามาลงทุน สร้างถนนเชื่อมตรงจากจีนสู่ท่าเรือน้ำลึกกวาดาร์ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์

แต่โครงการนี้ ก็ถูกต่อต้านโดยคนในพื้นที่ ที่มองว่าจีนเข้ามาแย่งทรัพยากรในดินแดนของพวกเขา และรัฐบาลปากีสถานก็ยังมีปัญหากับกลุ่มก่อการร้าย และกองกำลังแบ่งแยกดินแดน ที่มีอยู่หลายกลุ่มในแคว้นบาลูจิสถานแห่งนี้

ดังนั้นหากจีนจะสานฝันโครงการ CPEC ให้สำเร็จก็คงต้องฝ่าดงระเบิดอีกหลายลูก และต้องทุ่มงบประมาณด้านความมั่งคงให้กับปากีสถานอีกหลายปีทีเดียว

 

ที่มา: หรรสาระ By Jeans Aroonrat https://www.facebook.com/104132041212023/posts/286100319681860/

แหล่งข้อมูล:

https://www.theguardian.com/world/2021/apr/21/four-killed-in-bomb-explosion-at-pakistan-hotel-hosting-chinese-ambassador

https://www.theguardian.com/world/2019/may/11/armed-militants-storm-luxury-hotel-in-gwadar-pakistan

https://www.bbc.com/news/world-asia-56834937

https://timesofindia.indiatimes.com/world/pakistan/pakistan-tightens-security-in-balochistan-to-protect-cpec-projects/articleshow/81227467.cms

https://thediplomat.com/2020/06/how-cpec-left-behind-the-people-of-gwadar/


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

'เสรีพิศุทธ์' ชี้ 'บิ๊กตู่' หมดเวลาแล้ว หลังบริหารจัดการโรคระบาดและล่าช้าในการจัดหาวัคซีน

ที่รัฐสภา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวถึงการฉีดวัคซีนของประเทศไทยว่า การฉีดวัคซีนล่าช้ากว่าประเทศอื่น ฉีดได้เพียงร้อยละ 1 เปอร์เซนต์ แต่ประเทศอื่นฉีดไปแล้วร้อยละ 70 เปอร์เซ็นต์ เพราะการสั่งซื้อล่าช้า ตนขอตั้งข้อสังเกตถึงการทุจริตจัดซื้อวัคซีนที่มีผลประโยชน์ นำเงินทอนไปใช้ทางการเมืองสำหรับการเลือกตั้ง แม้จะยังไม่มีข้อมูลหลักฐานชี้ชัด แต่ด้วยประสบการณ์ของตัวเองแค่มองก็รู้แล้ว หากมีพยานหลักฐานที่พบว่ามีการทุจริตการจัดซื้อวัคซีน ก็จะหยิบขึ้นมาเป็นวาระในที่ประชุมคณะกรรมาธิการ

(กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร แน่นอน

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวสะท้อนว่าไทยยังมีความเหลื่อมล้ำชนชั้นทางสังคมในการเข้าถึงวัคซีน เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือแม้แต่ในรัฐสภาที่มีความเหลื่อมล้ำ ส.ว.ได้ฉีดก่อนและมีรถมารับ แต่ ส.ส. ได้ฉีดทีหลังและต้องเดินทางไปเอง และส่วนตัวตนยังไม่ได้ฉีดวัคซีนซึ่งรัฐสภาแจ้งให้ ส.ส.ไปฉีดภายในสิ้นเดือน เม.ย.นี้ ที่สถาบันบำราศนราดูร

“หากผมเป็นนายกรัฐมนตรีจะสั่งปลดนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่ติดโควิด-19 ไปแล้ว และมุมการบริหารต้องใช้คนให้ถูกกับงาน ไม่ใช่ตามโควต้าพรรคร่วมรัฐบาล เพราะต่างก็คิดแต่อำนาจของตัวเองเป็นหลัก” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าว

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังฝากไปถึงนายกรัฐมนตรี ว่าหมดเวลาแล้ว 1-2 ปีเป็นเครื่องพิสูจน์ได้แล้วว่าสามารถบริหารได้หรือไม่ แม้ในขณะที่เป็นหัวหน้าพรรคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็บังคับอะไรไม่ได้ แต่ตอนนี้กฎหมายต้องผ่านสภา ทุกอย่างก็ยิ่งยากขึ้น สิ่งที่ควรแก้ก็ไม่แก้ อย่างเช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ขณะเดียวกัน ทาง กมธ.ป.ป.ช. เตรียมที่จะเชิญรมว.คมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตการบินพลเรือน และหากไม่มาชี้แจงภายในเดือนนี้ จะสรุปคำร้องว่ากระทำผิดกฎหมาย เพราะส่งผลกระทบความเดือนร้อนต่อประชาชน

ที่มา: https://siamrath.co.th/n/237658


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

2 สหภาพแรงงานฯ การบินไทย แท็กทีมเดินหน้าร้องรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน แจงเงื่อนไขที่การบินไทยขอสนับสนุนจากกระทรวงแรงงาน ขัด พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ทั้งร้องคัดค้านเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานโดยไม่เป็นธรรม

สหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทยจับมือสหภาพแรงงานการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ แท็กทีมเดินหน้าร้องรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน แจงเงื่อนไขที่การบินไทยขอสนับสนุนจากกระทรวงแรงงาน ขัด พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ทั้งร้องคัดค้านเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานโดยไม่เป็นธรรม ผิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ทำโครงสร้างใหม่ ลดพนักงาน ลดคนแต่ไปจ้างเอ้าท์ซอร์ทเพิ่ม ผิดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ รวมทั้งข้อตกลงสภาพการจ้างที่มีอยู่ในปัจจุบัน วอนขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้แจ้งต่อคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการฯ เพื่อยกเลิกการดำเนินการดังกล่าวโดยด่วนที่สุด

นายสรยุทธ หอมสุคนธ์ ประธานสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย พร้อมด้วยนายไพบูลย์ กันตะลี ตัวแทนสหภาพแรงงานการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ ได้ยื่นหนังสือถึงนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

โดยระบุว่าเนื่องด้วยสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย (สร.พบท.) ได้พบเห็นเอกสารของคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย ฯ วันที่ 25 ธ.ค. พ.ศ.2563 ที่การบินไทยได้ขอการสนับสนุนจากกระทรวงแรงงาน และสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย (สร.พบท.) ได้วิเคราะห์และพบประเด็นข้อสงสัยบางประเด็นซึ่งนำมาเพื่อเรียนขอคำวินิจฉัยจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเนื่องจากในเอกสารดังกล่าวได้ระบุว่า เป็นการขอความช่วยเหลือจากทางกระทรวงแรงงานและเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518

1.) ประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย ตามที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ขอความร่วมมือจากกระทรวงแรงงาน ใจความว่า “การออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 (พรบ.คุ้มครองแรงงานฯ) เพิ่มเติมโดยกำหนดยกเว้นมิให้นำ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาใช้บังคับกับกรณีที่นายจ้างที่อยู่ระหว่างกระบวนการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลให้ความเห็นชอบแล้วเลิกจ้างลูกจ้าง

โดยยกเว้นให้ผ่อนจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายได้ภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนดทั้งนี้ เพื่อให้การบินไทยสามารถเลิกจ้างพนักงาน และสามารถกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมในการจ่ายค่าชดเชยหรือเงินอื่น ๆ ได้” และ “ออกพระราชกฤษฎีกาตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ) โดยกำหนดยกเว้นมีให้ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ มาใช้บังคับกับนายจ้างที่อยู่ในระหว่างกระบวนการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลให้ความเห็นชอบแล้ว และกำหนดวิธีการเฉพาะมุ่งเน้นไปที่การยกเลิกความคุ้มครองให้เลิกจ้างในกรณีต่าง ๆ

เช่น คณะกรรมการลูกจ้าง/การเลิกจ้างในระหว่างมีการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อเรียกร้อง/การเลิกจ้างในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลบังคับ ทั้งนี้ตามความเหมาะสม การกระทำดังกล่าวของบริษัทการบินไทย ที่นำเสนอให้กระทรวงแรงงานกระทำสิ่งที่ผิด ขัดหรือแย้งต่อ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ซึ่งร่างขึ้นโดยมีเจตนารมณ์คุ้มครองลูกจ้างเนื่องจากลูกจ้างมีอำนาจทางเศรษฐกิจด้อยกว่านายจ้าง และโดยกระทรวงแรงงานมีหน้าที่ต้องคุ้มครองแรงงานตามเจตนารมณ์ของการจัดตั้งกระทรวง

สร.พบท. เห็นว่าไม่สามารถทำการยกเว้นแก่นายจ้างที่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการให้กระทำการที่ ผิด ขัด หรือแย้งต่อกฎหมายได้ ดังนั้น การที่กระทรวงแรงงานจะออกกฎกระทรวงหรือออกพระราชกฤษฎีกาที่ ขัดหรือแย้ง กฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นการกระทำที่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เพื่อประโยชน์ขององค์กรใดองค์กรหนึ่งย่อมเป็นการกระทำที่เข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ดังนั้นสหภาพแรงงานจึงขอคัดค้านการกระทำดังกล่าว

2.) ประเด็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย ข้อบังคับการทำงานที่บริษัทการบินไทยฯ และพนักงานบริษัทการบินไทยฯ ต้องยึดถือว่ามีผลใช้บังคับเกี่ยวกับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ตามข้อตกลงสภาพการจ้าง คือ ระเบียบบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล รวมทั้งสิ้น 21 ตอน ตามบันทึกการประชุมหารือร่วมกัน ณ สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2563 ระหว่างฝ่ายลูกจ้างสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย กับ ฝ่ายนายจ้าง

ทั้งสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย (สร.พบท.) ได้ยื่นเรื่องเกี่ยวกับข้อตกลงสภาพการจ้างเดิมอย่างต่อเนื่องไว้กับกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานไว้และได้ทำการหารือกับตัวแทนฝ่ายนายจ้างแล้วถึงสองนัด ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเมื่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับแล้ว ห้ามมิให้นายจ้างทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างขัดหรือแย้งกับข้อตกลงสภาพการจ้าง เว้นแต่สัญญาจ้างแรงงานนั้นจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่า

ดังนั้นการที่บริษัทการบินไทยฯ ได้มีการประกาศรายชื่อพนักงานที่ได้ร่วมงานกับบริษัทการบินไทยฯ ในโครงสร้างองค์กรใหม่ หรือที่เรียกว่า “การคัดเลือกพนักงานเข้าทำงานในโครงสร้างองค์กรใหม่ หรือ Relaunch” โดยให้พนักงานสมัครใจยอมรับระดับตำแหน่งงาน หรือ Level ที่ต่ำลง (หรือสูงขึ้นในบางคนส่วนน้อย) และยอมรับเงินเดือนที่ลดลง

รวมทั้งข้อตกลงสภาพการจ้างตามข้อบังคับที่ยังไม่มีพนักงานคนใดเห็นและทําการศึกษา เนื่องจากจะมีการออกข้อบังคับการทำงานใหม่สำหรับพนักงานที่ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2554 โดยจะเปลี่ยนแปลงไปจากระเบียบบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล รวมทั้งสิ้น 21 ตอนหรือแม้แต่ฉบับลงวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2553 ที่บริษัทการบินไทยฯ พยายามอ้างถึงอย่างแน่นอนที่สุด และเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่า

ฉบับวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2558 และในขั้นตอนการคัดเลือก ก็ได้มีมาตรฐานในการคัดเลือกเป็นหนึ่งเดียวกันและเหมือนกันทั้งองค์กรและมีการเปลี่ยนแปลงในข้อตกลงที่บริษัทการบินไทยฯ เสนอแก่พนักงานก่อนการตัดสินใจเข้าร่วมโครงสร้างองค์กรใหม่และหลังจากการประกาศผลรายชื่อผู้ได้เข้าร่วมเรียบร้อยแล้ว เช่น พนักงานในฝ่ายปฏิบัติการบินในส่วนของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เป็นต้น

นอกจากนี้พนักงานยังมีการกล่าวถึงระบบอุปถัมภ์และเส้นสายในการคัดเลือกครั้งนี้ มีการกล่าวด้วยวาจาในทำนองให้สละสิทธิ์เรียกร้อง เช่น หากพนักงานต้องการเข้าร่วมสมัครงานกับโครงสร้างองค์กรไหม ต้องสละสิทธิ์ในการเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในหนี้สินค่าจ้าง (ค่าชดเชยวันลาหยุดพักร้อน) เป็นต้น ทั้งที่สิทธิการเรียกร้องดังกล่าวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เจ้าหนี้พึงกระทำได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 อีกทั้งยังมีข่าวว่ามีบุคคลที่ถูกตั้งกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยได้รับการคัดเลือกเป็นต้น

นอกจากนี้บริษัทการบินไทยฯ ได้แจ้งแก่พนักงานว่าเมื่อพนักงานสมัครเข้าร่วมโครงสร้างองค์กรใหม่ ข้อบังคับ/ข้อกำหนดใหม่ที่บริษัทการบินไทยฯ ได้จัดทำขึ้น “ห้ามพนักงานเรียกร้อง/โต้แย้งสิทธิใดใดทางกฎหมาย บริษัทการบินไทยฯ อ้างถึงเหตุผลการปรับโครงสร้างองค์กรในการยุบฝ่าย/หน่วยงาน (บางฝ่าย/บางหน่วยงานเพื่อความคล่องตัวและลดจำนวนพนักงาน เพื่อดำเนินการตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการ

แต่การปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อความคล่องตัวจะต้องมีการลดอัตราส่วน พนักงานบริหารประดับ 8 ขึ้นไป ต่อพนักงานระดับปฏิบัติการ (ระดับ 1-7) แต่จากอัตราส่วนเดิมประมาณ 1 ต่อ 27.0 (หรือระดับบริหาร 740 คนต่อระดับปฏิบัติการ 20,000 คน เมื่อต้นปี 2563) เป็นอัตราส่วน 1 ต่อ 20.8 (หรือระดับบริหาร 500 คนต่อระดับปฏิบัติการ 10,400 คน หลังมีการปรับโครงสร้างองค์กรอย่างสมบูรณ์) ซึ่งเห็นได้ว่าอัตราส่วนมิได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญที่จะทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงานเพิ่มขึ้น และการลดจำนวนพนักงานจะต้องสามารถทำให้บริษัทการบินไทยฯ สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดิม

แต่ข้อเท็จจริงจะยังมีการจ้างงานโดยใช้การจ้างแรงงานภายนอกหรือ Outsource และในอุตสาหกรรมการบินการมีมาตรฐานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย รวมถึงงานบางประเภทต้องใช้ความชำนาญที่สั่งสมและเรียนรู้รวมทั้งประสบการณ์และความรับผิดชอบสูง จึงสมควรต้องจ้างพนักงานประจำที่เป็นผู้มีประสบการณ์และความรู้ความชำนาญในงานเท่านั้น แต่บริษัทการบินไทยฯ เลือกที่จะเลิกจ้างพนักงานเพื่อลดจำนวนพนักงานประจำ ผ่านการอ้างถึงการปรับโครงสร้างองค์กร

มีแผนที่จะจ้างแรงงานภายนอกเนื่องจากมีความต้องการใช้แรงงานภายนอกถึง 2,072 ตำแหน่งมาทดแทนพนักงานที่จะถูกเลิกจ้างจากการปรับโครงสร้างองค์กร ซึ่งการกระทำเช่นนี้ย่อมเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

สร.พบท. และเพื่อนสหภาพแรงงานฯ ร่วมอุดมการณ์ขอเรียนท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานว่า การให้พนักงานสมัครเข้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ หรือที่เรียกว่า “การคัดเลือกพนักงานเข้าทำงานในโครงสร้างองค์กรใหม่ หรือ “Relaunch” เมื่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับแล้ว ห้ามมิให้นายจ้างทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างขัดหรือแย้งกับข้อตกลงสภาพการจ้าง เว้นแต่สัญญาจ้างแรงงานนั้นจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่า และการทำสัญญาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่ละเมิดกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ เป็นการกระทำที่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

พนักงานที่ไม่แสดงความจำนงเข้ากระบวนกลั่นกรองสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ 2564 หรือเรียกว่า“การคัดเลือกพนักงานเข้าทำงานในโครงสร้างองค์กรใหม่ หรือ Relaunch” และไม่เข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กร (พนักงานที่เรียกตนเองว่ากลุ่มไทยรักษาสิทธิ หรือ ไทยเฉย) ยังคงเป็นพนักงานของบริษัทการบินไทยฯ ภายใต้สภาพการจ้างเดิมต่อไป เพราะการปรับโครงสร้างองค์กรไม่ตอบโจทย์พนักงาน พนักงานไม่สามารถเลือกที่เข้าไปเลือกได้เพราะไม่มีอัตราที่จะให้เลือก หรือ พนักงานกลุ่มดังกล่าวต้องการรักษาสิทธิตามสภาพการจ้างเดิม

เนื่องจากเห็นว่านายจ้าง/บริษัทการบินไทยฯ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างได้เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่ผ่านกระบวนการแรงงานสัมพันธ์ เป็นต้น และพนักงานที่แสดงความจำนงเข้ากระบวนกลั่นกรองสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ 2564 แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก และไม่ต้องการแสดงความจำนงเลือก relaunch #2 และ/หรือไม่เข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กรหรือ MSP (กลุ่มฟ้าใหม่) ยังคงเป็นพนักงานของบริษัทการบินไทยฯ ภายใต้สภาพการจ้างเดิม และขอให้กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานคุ้มครองสิทธิพนักงานกลุ่มนี้ด้วย ตำแหน่งงานหรือหน่วยงานที่พนักงานสังกัดอยู่ถูกปรับหรือลดจำนวนพนักงานในหน่วยงาน แต่มีแผนที่จะจ้างแรงงานภายนอกมาใช้ทดแทนพนักงานที่ลดลง ข้อเท็จจริงปรากฏว่าบางหน่วยงานคนขาดเพราะการบินไทยไม่ได้รับพนักงานมาเป็นเวลาร่วมสิบกว่าปีและยังมีพนักงานที่ MSP และเกษียณอายุไปอีกจำนวนมาก

จึงขอให้กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานคุ้มครองสิทธิของพนักงาน 2 กลุ่มนี้ สหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย (สร.พบท.) และเพื่อนสหภาพแรงงานฯ เห็นว่ากระบวนการเงื่อนไข และขั้นตอนของการคัดเลือกพนักงานเข้าทำงานในโครงสร้างองค์กรใหม่ หรือ Relaunch เข้าสู่องค์กรเดิม บริษัทการบินไทยฯ เป็นการดำเนินการที่ผิดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ รวมทั้งข้อตกลงสภาพการจ้างที่มีอยู่ในปัจจุบัน จึงขอให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้แจ้งต่อคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการฯ เพื่อยกเลิกการดำเนินการดังกล่าวโดยด่วนที่สุด

 

ที่มา : https://www.thansettakij.com/content/business/476774


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top