Wednesday, 30 April 2025
Hard News Team

“เสกสกล”ย้ำ ฝ่ายค้าน อย่าใช้การเมืองกล่าวหารัฐบาล อย่าเพิ่งไล่ลาออก-ยุบสภาฯ ชี้ เป็นต้องช่วยกันให้สถานการณ์คลี่คลาย ขอบคุณพรรคการเมืองตั้งศูนย์ประสานงาน หนุนช่วยผู้ป่วยติดเชื้อโควิด

เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2564 นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ว่า นายกรัฐมนตรี ศบค.บุคลากรทางการแพทย์ เตรียมความพร้อมและทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็วที่สุด ดังนั้นทุกภาคส่วนร่วมถึงฝ่ายการเมืองต้องร่วมมือกัน และต้องขอบคุณหลายพรรคการเมืองที่ตั้งศูนย์ประงาน และนำข้อเสนอที่ดีให้กับนายกฯและรัฐบาลนำไปปรับใช้ เพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชน เชมั่นใจว่านายกฯพร้อมรับฟัง 

นายเสกสกล กล่าวว่า ขอร้องฝ่ายการเมืองว่าในขณะที่บ้านเมืองกำลังวิกฤต ควรให้กำลังใจซึ่งกัน อย่ากล่าวโจมตี กล่าวหา นายกฯ รัฐบาล และบุคลากรทางการแพทย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะคนเหล่านี้ทำงานหนักตลอดเวลาเพื่อช่วยเหลือประชาชน อย่านำประเด็นทางการเมืองมาตีกิน เรียกร้องให้นายกฯลาออก หรือยุบสภาฯเพราะอาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสนได้ และในต่างประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโควิด ไม่เห็นมีประชาชน ส.ส.ในประเทศ ขับไล่นายกฯ หรือประธานาธิบดี  หรือไล่รัฐบาล เหมือนพรรคฝ่ายค้านในประเทศไทย เวลานี้ช่วยกันทำให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้  เอาชีวิตความปลอดภัยประชาชนเป็นตัวตั้งจากนั้นค่อยว่ากัน อย่าหาเสียงหาคะแนนให้พรรคตนเอง แต่นักการเมืองทุกคนควรเสียสละ ใส่ใจความเดือดร้อนประชาชน ในภาวะเช่นนี้ต้องการกำลังใจ อย่าไล่นายกฯอย่าเรียกร้องให้มีการยุบสภา แต่ต้องจับมือกันความสุขคืนกลับสู่คนไทยทุกคน

กองบัญชาการตำรวจนครบาล ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. ได้เชิญรถตรวจโควิด-19 พระราชทาน มาให้บริการตรวจฟรีแก่ข้าราชการตำรวจในสังกัด สร้างความพร้อมทำงานเพื่อประชาชน

วันนี้ (27 เม.ย.64) พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น., พล.ต.ต.สหรัฐ ศักดิ์ศิลปชัย รอง ผบช.น. และ พ.ต.อ.อภิสัณห์ หว้าจีน รอง ผบก.อก.บช.น. ได้นำข้าราชการตำรวจในสังกัด จำนวน 1,200 นาย เข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) โดยใช้รถตรวจหาเชื้อชีวนิรภัยพระราชทาน จากสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ณ.ลานฝึกอบรม วังปารุสกวัน โดยจะเริ่มตรวจตั้งเเต่ เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป จำนวน 2 วัน วันละ 600 นาย เพื่อป้องกันการติดเชื้อของข้าราชการตำรวจในสังกัด

นอกจากนี้ ทาง ผบช.น. ยังได้เปิดเผยอีกว่า กรณีข่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลติดเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) นั้น เป็นเพียงบางส่วนไม่ใช่จำนวนมาก ขอยืนยันว่าตำรวจนครบาลยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ดูแลพี่น้องประชาชนได้ตามปกติ และขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ให้ความร่วมมือในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) เป็นอย่างดี

กองบัญชาการตำรวจนครบาล ขอเรียนพี่น้องประชาชนว่า แม้จะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (Covid-19) เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมและยาเสพติดอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันหากพบเห็นหรือมีเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับบุคคลและสถานที่เสี่ยงที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อ โปรดแจ้งสายด่วน 191 หรือสถานีตำรวจท้องที่ได้ทันที

​​​


ที่มา: ทีมงานประชาสัมพันธ์ บช.น.

'ไบเดน' ไฟเขียว!! ปล่อย AstraZeneca 60 ล้านโดสสู่ตลาดต่างแดน หลังหวงแหนวัคซีน เพราะยึดนโยบาย American First จนถูกด่า

หลังจากที่โดนกระแสวิจารณ์อย่างมากมาย เรื่องนโยบาย American First ของ 'โจ ไบเดน' ที่จะเร่งฉีดวัคซีน 100 ล้านโดส ภายใน 100 วันที่เข้ารับตำแหน่ง และกลายเป็นที่มาของคำสั่งประธานาธิบดี ระงับการส่งออก 'วัคซีน Covid-19' และ 'วัตถุดิบ' ที่ใช้ผลิตวัคซีนออกนอกประเทศ เพื่อสงวนไว้ผลิตวัคซีนเฉพาะในสหรัฐอเมริกา จนผู้ผลิตวัคซีนต่างประเทศขาดแคลน ไม่สามารถเร่งผลิตวัคซีนได้ตามกำหนดเวลา

โดยหนึ่งในนั้นคือบริษัท The Serum Institute of India (SII) โรงงานผู้ผลิตวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย ซึ่งได้ยิง Twitter ตรงถึงประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขอร้องให้ยกเลิกคำสั่งระงับการส่งออกวัตถุดิบ เพื่อจะได้เร่งผลิตวัคซีน AstraZeneca เนื่องจากตอนนี้อินเดียกลายเป็นประเทศที่เจอวิกฤติการแพร่ระบาดของ Covid-19 ระลอกใหญ่ที่สุดในโลกไปแล้ว

เมื่อมีการนำเสนอข่าวทวิตเตอร์ของ SII ออกไป ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงนโยบายของสหรัฐฯ และ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่มุ่งแต่จะเอานโยบายของตนเป็นที่ตั้ง โดยไม่สนใจความเดือดร้อนของประเทศอื่น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ยากจนที่ยังไม่มีโอกาสเข้าถึงวัคซีน

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จึงได้ต่อสายตรงถึงนายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดิ เพื่อยืนยันว่าสหรัฐฯ จะรีบส่งความช่วยเหลือถึงอินเดียด่วนที่สุด รวมถึงจัดส่งวัคซีน ถังออกซิเจน และอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นไปให้ด้วย

เจ้าหน้าที่อาวุโสของทำเนียบขาวได้โพสต์ทวิตเตอร์ว่า สหรัฐฯ จะอนุมัติการส่งออกวัคซีน AstraZeneca จำนวน 60 ล้านโดสไปต่างประเทศ แต่ยังไม่มีรายละเอียดว่าวัคซีนล๊อตนี้จะถูกส่งไปที่ไหน จำนวนเท่าไหร่บ้าง ซึ่งเป็นหน้าที่รับผิดชอบขององค์การอาหารและยาที่จะเป็นผู้จัดการ และย้ำว่า วัคซีนในสหรัฐก็ยังมีอยู่อย่างจำกัด ไม่ได้มีอย่างเหลือเฟือดังที่เข้าใจ

โดยก่อนหน้านี้ทางสหรัฐได้ให้ประเทศแคนาดา และ เม็กซิโก ยืมวัคซีน AstraZeneca ไปแล้ว 4 ล้านโดส แต่ทั้งนี้ วัคซีนของ AstraZeneca ยังไม่ได้รับการรับรองให้ใช้อย่างเป็นทางการในสหรัฐฯ รับรองเพียงวัคซีนของ Pfizer Moderna และ Johnson & Johnson เท่านั้น

ปัจจุบันมีชาวสหรัฐฯ กว่า 140 ล้านคน ได้รับวัคซีน Covid-19 ไปแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม จนถึงตอนนี้โครงการฉีดวัคซีนในสหรัฐฯ ก็ยังคงเดินหน้าต่อไปอย่างเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐบาล และบริษัทผู้ผลิตวัคซีนเจ้าใหญ่ในสหรัฐฯ ทั้ง Pfizer และ Moderna ที่มีกำหนดส่งมอบวัคซีนจำนวน 600 ล้านโดสให้รัฐบาลกลางภายในเดือนกรกฎาคม 2021 นี้

ในวิกฤติมหาโรคระบาดระดับโลกเช่นนี้ หากประเทศมหาอำนาจคิดจะเอารอดตัวเพียงลำพัง คงไม่ดีนัก เพราะการพ้นวิกฤติแบบชัดและแท้จริง คือ การรอดไปทั้งโลก และการช่วยเหลือเผื่อแผ่ประเทศร่วมโลกที่ยากลำบาก จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง


อ้างอิง:

https://www.channelnewsasia.com/news/world/us-export-of-up-to-60-million-astrazeneca-covid-19-vaccine-14700318

https://www.express.co.uk/news/world/1420452/why-is-astrazeneca-not-approved-in-US-evg

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Wiroj Lakkhanaadisorn - วิโรจน์ ลักขณาอดิศร เกี่ยวกับเสียงสะท้อนจากหมอหน้างาน 4 ประเด็นที่รัฐบาลควรรับฟังว่า...

เมื่อคืนนี้ (26 เม.ย. 64) ผมได้ประชุมหารือกับคุณหมอที่มีปฏิบัติงานอยู่หน้างาน เพื่อสรุปปัญหา และความกังวลต่อชีวิตของประชาชน ในมุมมองของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่หน้างานอย่างเต็มกำลัง เต็มความสามารถ

ทุกเรื่องที่ได้หารือ ล้วนเป็นสิ่งที่รัฐบาล ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข ควรเร่งนำไปพิจารณา และปรับปรุงอย่างเร่งด่วน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุข และลดอัตราการป่วยหนัก และเสียชีวิตของประชาชนลง ซึ่งผมได้จัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงบวก เสนอต่อรัฐบาลโดยเปิดผนึก ดังนี้

 

ประเด็นที่ 1: ปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยข้ามสังกัด

ถ้าพิจารณาเรื่องปัญหาการหาเตียงให้กับผู้ป่วยที่เป็นปัญหาอยู่ ณ ขณะนี้ จะพบว่า “กรุงเทพมหานคร” จะเป็นพื้นที่ที่มีปัญหามากที่สุด จนประชาชนรู้สึกเดือดดาลต่อรัฐบาล ทั้ง ๆ ที่ กทม. ดูเหมือนจะเป็นพื้นทีที่มีบุคลากรทางการแพทย์ต่อประชากร เครื่องมือแพทย์ โรงเรียนแพทย์ ซึ่งมีศักยภาพด้านระบบสาธารณสุขสูงกว่าต่างจังหวัดมาก

ปัญหาการจัดการเตียงที่เกิดขึ้นที่ กทม. เป็นเพราะ โรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ กทม. มีอยู่หลากหลายสังกัด ทั้งของ กทม. เอง (เช่น รพ.กลาง รพ.ตากสิน รพ.วชิรพยาบาล ฯลฯ) ของกรมการแพทย์ (รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน ฯลฯ) ของมหาวิทยาลัย (รพ.จุฬาฯ รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี ฯลฯ) ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (รพ. ตำรวจ) กรมแพทย์ทหารบก (รพ.พระมงกุฎ) กรมแพทย์ทหารเรือ (รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า) กรมแพทย์ทหารอากาศ (รพ.ภูมิพล) ฯลฯ และในแต่ละเขตทั้ง 50 เขต ของ กทม. ก็ไม่มี รพ. ในทุก ๆ เขต

ปัจจุบัน รพ.แต่ละแห่งใน กทม. ต้องรับมือกับการระบาดของโรค โดยเน้นการจัดการภายในสังกัดของตัวเองเป็นหลัก ทั้งการจัดหาเตียงให้กับผู้ป่วย การส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีสมรรถนะในการรักษามากกว่า

อย่างบริการรถพยาบาลกู้ชีพฉุกเฉิน ก็ยังต้องจัดการกันเองภายในสังกัดของตัวเอง อย่าง ศูนย์เอราวัณ ของ สำนักการแพทย์ กทม. ก็จะเน้นส่งผู้ป่วยให้กับ รพ. ในสังกัดของ กทม. เป็นหลัก หรือศูนย์นเรนทร ของกรมการแพทย์ ก็จะเน้นส่งผู้ป่วยให้กับ รพ. ในสังกัดของกรมการแพทย์ หากเตียงของ รพ. ในสังกัดเต็ม ก็จะเน้นการหาเตียงใน รพ. อื่นในสังกัดเป็นหลัก การหาเตียงให้กับผู้ป่วยใน รพ. อื่นข้ามสังกัด ทำได้ยากมาก ๆ ไม่มีระบบในการประสานงานเพื่อให้เกิดการจัดการอย่างบูรณาการ

การส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการหนักขึ้น ก็จะเน้นส่งต่อไปยัง รพ. ในสังกัดเท่านั้น ต่อให้คุณหมอรู้ทั้งรู้ว่า รพ. อีกแห่งหนึ่งมีสมรรถนะในการรักษาที่สูงกว่า และพอที่จะรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักได้ แต่การส่งต่อก็เป็นเรื่องที่ยากทั้ง รพ. ที่จะส่ง และ รพ. ที่จะรับ หากว่าอยู่กันคนละสังกัด

ขนาด รพ. ในสังกัดกรมการแพทย์ หากเกิดปัญหาเตียงเต็ม จะส่งผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ไปยัง รพ.ประจำจังหวัดที่อยู่ติดกับ กทม. ก็ยังยาก ทั้ง ๆ ที่สังกัดภายใต้กระทรวงสาธารณสุขเหมือนกัน เพราะ รพ.ประจำจังหวัด นั้นไม่ได้สังกัดกรมการแพทย์ แต่สังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ต้องยอมรับว่า การบริหารการจัดสรรเตียงใน รพ. ในต่างจังหวัดวันนี้ แม้ว่าจะมีอุปสรรคในด้านความพร้อม แต่มีระบบในการจัดการที่ดีกว่า กทม. มาก โดยแต่ละจังหวัดจะใช้วิธีบริหารโดยสาธารณสุขจังหวัด โดยมีผู้ตรวจการประจำเขตสุขภาพ ซึ่งครอบคลุมประมาณ 4-5 จังหวัด ทำหน้าที่จัดหาเตียงให้กับผู้ป่วย โดยกระจายผู้ป่วยไปยัง รพ.อำเภอ และ รพ.ประจำจังหวัด ในเขตสุขภาพอย่างบูรณาการ ถึงแม้จะมีปัญหาบ้าง แต่ก็ไม่มีความอลหม่าน จัดการอย่างลำดับความสำคัญผิด และให้ รพ. แต่ละแห่งจัดการกันเองอย่างเดียวดาย อย่างที่เกิดขึ้นในพื้นที่ กทม.

ข้อเสนอแนะ:

1.) ควรจะให้มี “ศูนย์กลางในการประสานงานจัดหาเตียง และส่งต่อผู้ป่วย” ที่ รพ. ทุกสังกัดใน กทม. บูรณาการร่วมกัน มี Call Center กลางเพียงเบอร์เดียว ที่ทำหน้าที่ประสานงานได้ทุกสังกัด เพื่อไม่ให้ประชาชนสับสน และพะว้าพะวงกับการโทรไปหลายๆ เบอร์ โดยให้กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีความรู้ความสามารถในการควบคุมการระบาดของโรค เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการตัดสินใจ โดยลดบทบาทของ ศบค. ลง

2.) ควรจัดหา และดัดแปลงพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ ที่มีที่จอดรถจำนวนมาก เช่น ศูนย์จัดการแสดงสินค้า หรือ รัฐสภา เพื่อจัดตั้งเป็น “โรงพยาบาลแรกรับ” ที่มีขีดความสามารถในการตรวจวินิจฉัย และดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเบื้องต้น ก่อนที่จะส่งต่อผู้ติดเชื้อไปยัง รพ. ที่มีสมรรถนะเหมาะสมกับอาการของผู้ติดเชื้อแต่ละคน ถ้า รพ. ไหน เตียงเต็ม ก็ให้ส่งผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาลแรกรับก่อน แล้วค่อยส่งต่อในภายหลัง ไม่จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยไปรอคอยเตียงอย่างสิ้นหวังที่บ้าน โดยที่ทำได้แค่บอกให้ผู้ติดเชื้ออย่าหมดหวังในการโทร ในขณะที่อาการของผู้ป่วยทรุดลงทุกวัน

3.) เร่งจัดหาเครื่องช่วยหายใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรเร่งจัดหาเครื่อง High Flow Oxygen Cannular (HFNC) เพิ่มเติม จากที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้กรุณาพระราชทานให้กับ รพ. ต่างๆ ไว้แล้วในเบื้องต้น เครื่อง High Flow Oxygen Cannular (HFNC) ได้รับการยอมรับจากแพทย์ผู้ปฏิบัติงานว่า มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งในการช่วยชีวิตประชาชน โดยสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เคยให้คำแนะนำเอาไว้ว่า การใช้เครื่อง High Flow Oxygen Cannular (HFNC) สามารถช่วยรักษาและประคับประคอง อาการหายใจเหนื่อยจากโควิด-19 ลงปอดได้ โดย หาก ICU ยังเต็มอยู่ ไม่สามารถใส่ท่อช่วยหายใจได้ อาจจะใช้เครื่อง High Flow Oxygen Cannular (HFNC) ในการรักษาไปก่อน ซึ่งสามารถลดอัตราการเสียชีวิต และอัตราการเข้านอนไอซียูลงได้ ส่งผลให้ผู้ป่วย ICU น้อยลง และที่สำคัญสามารถใช้งานนอกห้อง Isolation room ได้ เพราะไม่ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อการฟุ้งกระจาย (High Risk Aerosol Generating Procedure)

 

ประเด็นที่ 2: ผลตรวจช้า เบิกยาไม่ได้ พอรู้ผล อาการก็ลุกลามแล้ว

ปัจจุบัน อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยที่ใส่เครื่องช่วยหายใจลดต่ำลง สะท้อนว่าจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการหนักมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่บุคลกรทางการแพทย์กำลังรับภาระอย่าง Overload

สาเหตุหนึ่งมาจาก ปัจจุบันการส่งตรวจ RT-PCR มีจำนวนเพิ่มขึ้น กว่าจะทราบผลว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ ในบางกรณี ต้องรอถึง 2 วัน ระหว่างที่รอผลตรวจจากห้องปฏิบัติการ แม้ว่าแพทย์จะมีดุลยพินิจจากอาการ ที่เชื่อได้ว่าผู้ป่วยน่าจะติดเชื้อโควิด-19 แต่ก็ไม่สามารถจ่ายยา Favipiravir ได้ กว่าจะทราบผลตรวจ ก็พบว่า อาการของผู้ติดเชื้อแย่ลง ทำให้การรักษายากขึ้น ผู้ป่วยบางรายพบเชื้อลามไปที่ปอด จนมีโอกาสเสียชีวิตสูง

ข้อเสนอแนะ:

1.) ควรที่จะปรับปรุงกระบวนการให้ออกผลตรวจจากห้องปฏิบัติการให้เร็วขึ้น หรืออาจเปิดทางเลือกให้ตรวจหาเชื้อในรูปแบบอื่น ที่ออกผลตรวจได้เร็วขึ้น เช่น Rapid Antigen Test ในระหว่างที่การตรวจแบบ RT-PCR ยังคงล่าช้าอยู่

2.) ควรพิจารณาอนุญาตให้แพทย์ สั่งจ่ายยา Favipiravir ได้ เมื่อวินิจฉัยจากอาการ หรือผลตรวจแบบ Rapid Antigen Test แล้วเชื่อว่าผู้ป่วยน่าจะติดเชื้อโควิด-19

3.) กระทรวงสาธารณสุข ควรจะสำรองยาทางเลือกอื่นนอกจาก Favipiravir เพื่อให้แพทย์ได้เลือกใช้ในการรักษาให้กับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับประชาชน อาทิ Remdesivir (เป็นยาฉีดที่ขึ้นทะเบียน อย. แล้วแต่ขาดแคลนสต๊อก) Monoclonal (ยาที่มีการวิจัยยืนยันว่า สามารถลดการแบ่งตัวของไวรัสได้ และป้องกันภาวะไวรัสลงปอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ) Bamlanivimab ของ Eli Lilly (ขึ้นทะเบียนกับ FDA ที่อเมริกาแล้ว แต่ยังไม่ขึ้นทะเบียน อย. ที่ประเทศไทย) นอกจากกระทรวงสาธารณสุขควรจะกระจายความเสี่ยงในการรจัดหารวัคซีนแล้ว ยังควรต้องกระจายความเสี่ยงในการจัดหายารักษาด้วย

 

ประเด็นที่ 3: ถ้าละเลยชุมชนแออัดใน กทม. การระบาดจะแพร่กระจายต่อเนื่องเกินควบคุม ต้องยอมรับว่าในพื้นที่ กทม. มีชุมชนแออัด อยู่เป็นจำนวนมาก และ ณ ขณะนี้ การระบาดของโรคโควิด-19 ได้ระบาดเข้าไปในพื้นที่ชุมชนแออัดหลายแห่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็เข้าใจดีอยู่แล้ว่า การอยู่อาศัยของประชาชนในชุมชนแออัด หนึ่งหลังคาเรือมีผู้อยู่อาศัยร่วมกันหลายคน นอนติดกันโดยไม่มีฉากกั้น ใช้ห้องน้ำร่วมกัน ซึ่งมีความเสี่ยงขั้นสุดต่อการแพร่ระบาด

และอีกปัญหาหนึ่ง ที่จะละเลยไม่ได้ก็คือ ปัญหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เป็นแรงงานต่างชาติ ซึ่งมักจะอยู่อาศัยรวมกันอย่างแออัด ที่วันนี้ถูกละเลย และหากยังคงปล่อยปละละเลยต่อไป ไม่เข้าไปดูแลรักษา และกักกันโรค ก็มีโอกาสสูงมาก ที่จะนำมาซึ่งการแพร่ระบาดที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

ข้อเสนอแนะ:

1.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) การเคหแห่งชาติ และ กทม. ควรร่วมกันจัดหาพื้นที่ให้กับประชาชนในชุมชนแออัด ที่พบการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ออกมาจากในชุมชน เพื่อกักตัวรักษา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

2.) กทม. ควรต้องเร่งจัดสรรพื้นที่ในการกักตัวรักษาให้กับแรงงานต่างชาติ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

ประเด็นที่ 4: ถ้าไม่แก้กฎหมาย ไม่ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ฉีดวัคซีน อาจฉีดวัคซีนไม่ได้ตามเป้า ด้วยข้อจำกัดของกฎหมายในปัจจุบัน ได้กำหนดให้บุคลากรทางการแพทย์ 3 ประเภทเท่านั้น ที่จะสามรรถปักเข็มฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้ ซึ่งได้แก่ แพทย์ พยาบาล และหมออนามัย (ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์) ซึ่งต้องยอมรับว่า ณ ปัจจุบัน ทั้งแพทย์ และพยาบาล ต้องรับภาระอย่างหนักมาก ในการตรวจวินิจฉัย และรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้น ถ้าหากไม่แก้ไขกฎหมายข้อนี้ เมื่อวัคซีนมาแล้ว รัฐบาลจะมีบุคลากรที่เพียงพอต่อการฉีดวัคซีนให้เป็นไปตามเป้าหมาย 10 ล้านโดสต่อเดือน ได้อย่างไร และต่อให้มีการแก้ไขกฎหมายเมื่อวัคซีนมาถึง แล้วจะฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่อื่นมีทักษะในการฉีดวัคซีนทันได้อย่างไร

ข้อเสนอแนะ:

1.) ควรแก้ไขกฎหมาย โดยอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ หรือบุคลากรประเภทอื่นที่ได้รับการฝึกอบรม ให้สามารถทำหน้าที่ฉีดวัคซีนได้

2.) ควรเร่งจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ฉีดวัคซีน เพื่อเตรียมความพร้อม ระหว่างที่รอการส่งมอบวัคซีน เพื่อให้เมื่อวัคซีนมาถึง จะได้มีบุคลากรที่มีความพร้อมในการฉีดวัคซีนได้ทันที

3.) รัฐบาลควรวางระบบในการจองคิวฉีดวัคซีน โดยให้ประชาชนจองคิวเข้าฉีดวัคซีนที่ทั้งระบุวัน และช่วงเวลา มีการทำ Online Checklist มาก่อนล่วงหน้า เพื่อไม่ให้ประชาชนผู้ยังไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ ต้องมาที่สถานที่ฉีดวัคซีนแบบเสียเที่ยว เมื่อมาถึงมีระบบในการจัดแถวคอยที่มีประสิทธิภาพ พยายามวางจุดบริการที่ให้ประชาชนบริการตนเองให้มากที่สุด เช่น การลงทะเบียนผ่านบัตรประชาชน การรับบัตรคิว การชั่งน้ำหนัก การวัดความดันโลหิต เพื่อลดภาระของบุคลกรทางการแพทย์ลง เป็นการทำให้กระบวนการฉีดวัคซีนเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ต้องเร่งเตรียมการไว้ตั้งแต่วันนี้ได้แล้ว จะรอให้วัคซีนมาก่อนแล้วค่อยเตรียมไม่ได้

4.) ปัจจุบันคาดว่ามีประชาชนจำนวนไม่ต่ำกว่า 140,000 คน ที่ได้รับการฉีดวัคซีน Sinovac ครบ 2 โดสเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กระทรวงสาธารณสุขควรสรุปให้ประชาชนทราบว่า จากผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดส ทั้งหมด ประเมินได้ว่า มีผู้ที่มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นหลังจากที่ได้รับวัคซีนครบ คิดเป็นร้อยละเท่าใด เพื่อเป็นการประเมินประสิทธิภาพของวัคซีน Sinovac จากการฉีดจริง

ข้อเสนอแนะทั้ง 4 ประเด็นนี้ เป็นเสียงสะท้อนจากคุณหมอหน้างาน ที่มีความหมายมากๆ ผมพยายามที่จะเขียนสรุปด้วยข้อความเชิงบวก พยายามหลีกเลี่ยงการติติงโดยไม่จำเป็น เว้นแต่เป็นประเด็นที่จำเป็นต้องสะท้อนความรู้สึกให้รัฐบาลได้รับทราบถึงความเดือดร้อนของประชาชน และความกังวลของบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าจริง ๆ

ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลจะเล็งเห็นถึงความปรารถนาดีของผม และเปิดใจรับฟังเสียงสะท้อนของคุณหมอด่านหน้า ที่ผมได้อาสาสรุปเป็นข้อเสนอแนะเพื่อนำเสนอรัฐบาล โดยเปิดผนึกให้ประชาชนทั่วไปได้ร่วมรับทราบด้วย

นักแสดงหนุ่ม เอ พศิน เรืองวุฒิ เปิดเผยคำทำนายของหมอดูชื่อดังที่ได้ทำนายเรื่องราวของโควิด-19 ในประเทศไทย

นักแสดงหนุ่ม เอ พศิน เรืองวุฒิ เปิดเผยคำทำนายของหมอดูชื่อดังที่ได้ทำนายเรื่องราวของโควิด-19 ในประเทศไทย เอาไว้ก่อนจะมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดระลอกที่ 3 ซึ่งไทม์ไลน์นั้นตรงกับสถานการณ์ปัจจุบันเป๊ะ

พร้อมระบุแคปชั่นว่า “#คำทำนาย ขอให้เป็นจริงตามนั้น อ.พรหมญาณ ทำนายไว้ก่อนโควิดระบาด รอบนี้ #covid19 ไม่ได้งมงาย แต่ คำทำนายเชิงบวก มี Timeline ชัดเจน ก็อยากให้เป็นจริง #ขวัญและกำลังใจ สำคัญมาก ช่วยกันดูแลกันดี ๆ นะครับ ” โดยหมอดูชื่อดังได้ทำนายเอาไว้ว่า

เมษายน (ทำนายไว้เมื่อ 23 ธ.ค. 63) โควิดจะกลับมาระบาดหนักกว่าเดิม แพร่จากแหล่งอโคจรกิน ดื่ม เที่ยว

พฤษภาคม-มิถุนายน (ทำนายไว้เมื่อ 23 ธ.ค. 63) ไทยจะเจอวัคซีนที่ได้ผลดีมาก อาจเป็นไปได้ว่าไทยผลิตได้เอง

กรกฎาคม มีความผันผวนจากต่างประเทศ มีการถกเถียงเรื่องการรักษา

สิงหาคม-กันยายน การรักษาได้ผลดีมาก เริ่มนิ่ง มีวัคซีนตัวหนึ่งที่โดดเด่นได้ผลเกือบ 100%

ตุลาคม ควบคุมสถานะการณ์ได้ดีเกือบทั้งหมด

พฤศจิกายน มีความขัดแย้งทางวิชาการในการรักษา ทำให้วัคซีนไปไม่ทั่วโลก

ธันวาคม ทุกอย่างราบรื่น โลกเริ่มนับหนึ่งใหม่

มกราคม เปิดการเดินทางทั่วโลก


ที่มา : https://www.matichon.co.th/entertainment/news_2692094

https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=4503287796353073&id=100000156922776

‘ธนกร’ ซัด ‘ธนาธร’ บิดเบือนงบเยียวยาฟื้นฟูสู้โควิด หลังโบ้ย ‘บิ๊กตู่’ แจกงบให้รัฐมนตรีไปคุมฐานเสียง

หลังจากวันก่อน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า “เรื่องนี้เรื่องใหญ่จริง ๆ นะครับ เวลาที่ประเทศต้องการทุกกำลัง ทุกทรัพยากร มาแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน มาหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด รัฐบาลกลับนำงบที่ขออนุมัติสภา ด้วยเหตุผลเพื่อการเยียวยาและฟื้นฟู มาให้รัฐมนตรีไปดูแลฐานเสียงตามแต่ละจังหวัดของตนเอง โดยอำพรางว่าเป็นงบฟื้นฟูที่ลงไปแต่ละจังหวัด”

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงได้ออกมากล่าวถึงกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โจมตี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ใช้งบแจกรัฐมนตรีคุมฐานเสียง ทั้งที่ประเทศเจอวิกฤติโควิดยังแจกพวกพ้องว่า...

ประเทศเจอวิกฤติโควิด นายธนาธรยังตั้งหน้าตั้งตาเอาเรื่องเท็จมาใส่ร้าย พล.อ.ประยุทธ์ ตนขอยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยจัดสรรงบประมาณไปให้กับรัฐมนตรี เพื่อไปดูแลฐานเสียง แต่เป็นการจัดสรรงบประมาณฟื้นฟูให้กับทุกจังหวัด ซึ่งงบดังกล่าวยังไม่ผ่านครม. ที่สำคัญตนมองว่า นายธนาธรแกล้งโง่ บิดเบือนข้อมูลโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ แสดงว่านายธนาธรไม่รู้ขั้นตอนการใช้เงิน ตนขอทำความเข้าใจให้เข้าใจขั้นตอนการใช้เงินโดย...

1.) สภาพัฒน์ฯ ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด

2.) จากนั้นจะเสนอโครงการผ่านรัฐมนตรีที่ดูแลกลุ่มจังหวัดนั้น ๆ แค่ให้ดูโครงการ

3.) ส่งต่อให้กระทรวงมหาดไทยตรวจสอบ

4.) ส่งต่อให้สภาพัฒน์ฯ วิเคราะห์โครงการ

5.) เสนอครม.อนุมัติ

6.) ผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัดจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบราชการ

7.) เบิกจ่ายตามระเบียบกรมบัญชีกลาง และ

8.) ตรวจสอบโครงการโดย สตง. / ป.ป.ช. / ผู้ตรวจการแผ่นดิน

ไม่มีตรงไหนเลยที่จะให้รัฐมนตรีไปจัดการ หรืองบอยู่ในมือรัฐมนตรี ทุกอย่างมีขั้นตอน มีการตรวจสอบ การอวดฉลาดของนายธนาธรครั้งนี้จึงไม่ฉลาดเท่าไหร่นัก

นายธนกร กล่าวอีกว่า ตนบอกหลายครั้งแล้วว่า นายธนาธรเป็นบุคคลที่ล้มเหลวทางด้านความน่าเชื่อถือ จงใจทำลายรัฐบาลอย่างเดียวโดยไม่ได้สนใจความทุกข์ร้อนของประชาชน การที่พล.อ.ประยุทธ์ให้รัฐมนตรีแต่ละคนดูแลกลุ่มจังหวัด ก็เพื่อทำงานในเชิงรุกให้กับประชาชน มีการรับผิดชอบพื้นที่ เพื่อสร้างความเจริญให้ทุกจังหวัด ซึ่งมีการดูแลทั้งประเทศ นายธนาธร กล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ไม่เอาเงินไปดูแลประชาชน แต่เอาไปแบ่งให้รัฐมนตรีใต้อาณัติ ตนขอประนามนายธนาธร หากเล่นการเมืองแบบนี้ระวังจะสูญพันธุ์ และระวังว่าแกล้งโง่บ่อย ๆ จะสมองกลวงเอาเข้าจริงสักวัน พล.อ.ประยุทธ์ดูแลประชาชนทุกคนเสมอภาค เท่าเทียม ไม่จัดสรรงบให้จังหวัดที่เลือกพรรคตัวเองเหมือนนักการเมืองบางคน อย่างไรก็ตาม นายธนาธรได้แสดงธาตุแท้ออกมาให้เห็นแล้ว ดังนั้น ประชาชนอย่าไปให้ค่าคนแบบนี้

สถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยและอาเซียน ประจำวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2564

สถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยและอาเซียน ไทยยอดติดเชื้อใหม่พุ่งกว่า 2,179 ราย! ขณะที่ในอาเซียนยอดยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง!

วิกฤตโควิด คนตัวเล็กโคม่า “วรวุฒิ อุ่นใจ” จี้รัฐตั้ง “สภา SME" แนะใช้ “อสม.โมเดล” เป็นต้นแบบ ดึงจิตอาสารายย่อยทั่วประเทศ เฟ้นหาตัวจริงรับการเยียวยา ก่อนเกิด “โดมิโน่เอฟเฟกต์” พังทั้งระบบ

นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคกล้า และ อดีตประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เรียกร้องให้รัฐบาลตั้ง "สภา SME" เพื่อรวบรวมคนตัวเล็ก ซึ่งมีเกือบ 4 ล้านรายหรือราว 20 ล้านคน ถือเป็นฐานที่มั่นหลักทางเศรษฐกิจของประเทศ ให้ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาแบบตรงคนตรงจุด ดีกว่าโปรยเงินจากฟ้าแล้วปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งขณะนี้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสาม สร้างความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง เสียงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ทั้งร้านค้าปลีก โชห่วย โอท็อป เกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบ เริ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นที่น่ากังวลว่าหากสถานการณ์ยืดเยื้ออาจพังทั้งระบบ

นายวรวุฒิ กล่าวว่า การช่วยเหลือเอสเอ็มอี เป็นปัญหามาเกือบ 30 ปี จนถึงวันนี้ความช่วยเหลือก็ยังลงไม่ถึงตัวจริง แม้เวลานี้หลายหน่วยงานทำหน้าที่ช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอี แต่เอสเอ็มอีก็ยังไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร วิกฤตโรคระบาดรอบนี้ เอสเอ็มอีตัวจริงได้เงินช่วยเหลือมาตรการเยียวยาผ่านแอพเป๋าตังก์เหมือนประชาชนทั่วไป แต่มาตรการเงินกู้เพื่อเอสเอ็มอีกลับไปตกอยู่กับเอสเอ็มอีขนาดกลาง ซึ่งพอมีเงินอยู่แล้ว แต่ไม่กล้าให้รายเล็กเพราะกลัวเกิดหนี้เสีย (NPL) ดังนั้นหากไม่ตั้งสภาเอสเอ็มอีขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ ไม่มีทางแก้ปัญหาได้

“ถึงเวลาแล้วที่เราจะมีสภาเอสเอ็มอี จริง ๆ จัง ๆ เทียบเท่ากับ สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สภาดิจิทัล ทุกวันนี้ถูกแบ่งอยู่ในกลุ่มของทั้งสองสภาก็จริง แต่ถ้าไปดูในรายละเอียดจะรู้ว่าการช่วยเหลือไม่ค่อยถึง ซึ่งตอนนี้มีการรวมตัวกันเป็นสภาเอสเอ็มอีอยู่แล้ว แต่ยังเป็นรูปแบบที่ยังไม่ได้รับการยกระดับมีกฎหมายรองรับ และยังไม่รวมศูนย์ การดำเนินการจึงเป็นเหมือนเบี้ยหัวแตก เราควรทำให้มันเป็นองค์กรเดียว ไม่กระจัดกระจาย ปัญหาของประเทศไทยตอนนี้คือ มีกระทรวงและหน่วยงานมากมาย เหมือนจะพร้อมให้การช่วยเหลือ แต่การประสานงานทำได้อย่างยากเย็น โครงสร้างในองค์กรภาครัฐไม่เอื้อต่อการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ภาคเอกชนต่อสู้มาตลอดว่าควรปฏิรูประบบราชการ และแม้จะมีความพยายามทำมาหลายครั้ง แต่ก็กลับไปเพิ่มความยิ่งใหญ่ให้กับภาครัฐ จนเป็นรัฐราชการ” นายวรวุฒิ กล่าว

นายวรวุฒิ กล่าวด้วยว่า วันนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จำนวนไม่น้อยที่ต้องหยุดกิจการ เนื่องจากคนไม่กล้าเดินทางไปจับจ่าย เมื่อเอสเอ็มอีซึ่งมีจำนวนถึง 1 ใน 4 ของประชากรทั่วประเทศ (ราว 20 ล้านคน) เป็นผู้เดือดร้อนด่านแรก มันก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งระบบ และเสียดายเวลาหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมา ไม่ได้ใช้วิกฤตให้เป็นโอกาเท่าที่ควร เช่น ควรสอนให้เกษตรกรตัวเล็กทำธุรกิจผ่านออนไลน์ แม้จะพอมีทำอยู่บ้าง แต่เป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก รัฐควรตั้งศูนย์เทคโนโลยีชุมชน สอนให้ชาวบ้านใช้เทคโนโลยีให้เป็น ซึ่งถ้ามีสภาเอสเอ็มอีมันจะช่วยได้ หลักการคือให้ยึดต้นแบบ อสม.ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งผู้ประกอบการรายย่อยก็กระจายอยู่ทุกหมู่บ้านเช่นเดียวกัน ให้เป็นจิตอาสา สำรวจ ประสาน คัดกรอง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการตัวเล็กอย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้ระบบมันมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการก่อนเกิดเป็น โดมิโน่เอฟเฟกต์ พังทั้งระบบ

นายวรวุฒิ กล่าวด้วยว่า อยากให้รัฐบาลยึดแนวที่ 45 ซีอีโอ เสนอเพื่อแก้ปัญหาการฉีดวัคซีนล่าช้า และอยากให้ใช้โอกาสนี้ ทะลุทะลวง กติกา กฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหา ในภาวะวิกฤต รัฐบาลมีเป้าหมาย ฉีดวัคซีน 50 ล้านโดสครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งหมายถึงต้องฉีดให้ได้ราว 300,000 คนต่อวันนับตั้งแต่เข็มแรกที่ฉีดคือเดือนมิถุนายน จนถึงสิ้นปี เวลานี้ยังไม่เห็นการจัดระเบียบ วางระบบการฉีดวัคซีน ว่าจะฉีดที่ไหน การขนส่งวัคซีนที่ต้องควบคุมอุณหภูมิจะต้องทำอย่างไร ถ้าไม่จัดระบบให้ดีจะเกิดความโกลาหลอย่างแน่นอน

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือ ศบค. กล่าวถึงปัญหาการบริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ป่วยว่า..

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือ ศบค. กล่าวถึงปัญหาการบริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ป่วย ว่า วันนี้มีการประชุมของคณะทำงาน 2 ชุด คือ ชุดของปลัดกระทรวงสาธารณสุข และชุดของเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ รายงานว่า วันที่ 25 เม.ย. 2564 สามารถนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้ว 1,182 คน แบ่งเป็นการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ดังนี้

- จากระบบสายด่วน 1668 และ 1330 แอดมิทได้ 155 คน ยังรอเตียง 69 คน และอื่น ๆ 3 คน (ติดต่อผู้ป่วยไม่ได้ , ปฎิเสธเข้ารับการรักษา)

- โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย แอดมิทได้ 135 คน รอเตียง 88 คน

- กรุงเทพมหานคร แอดมิทได้ 347 คน รอเตียง 37 คน

- โรงพยาบาลเอกชน แอดมิทได้ 545 คน รอเตียง 7 คน และอื่น ๆ 44 คน

ดังนั้น ข้อมูลในวันที่ 26 เม.ย. มีผู้ป่วยที่ยังรอเตียงอีก 201 คน ซึ่งทุกหน่วยงานกำลังเร่งประสานรับผู้ป่วยมาโรงพยาบาลและจัดหาเตียงให้อย่างเต็มที่

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณทุก ๆ ท่านที่มีส่วนร่วม การช่วยเหลือ ทั้งเพจดัง ๆ อินฟูเอ็นเซอร์ ดารา พรรคการเมืองผู้ที่มีศักยภาพทุกองค์กรอาสามาช่วยพี่น้องประชาชนมาเข้าสู่การรักษา ทั้งในเรื่องของโลจิสติกส์ และอาหารการกิน ขอกราบขอบพระคุณแทนพี่น้องประชาชน และกราบขอบพระคุณแทนคนไข้ที่รออยู่ ทำให้เราหันมาเห็นใจกันยามทุกข์ยาก ไม่มีใครเจตนาทำให้ใครเจ็บใครป่วย หรือใครเสียชีวิตรออยู่ที่บ้าน

"ผมเชื่อว่าพี่น้องประชาชนและบุคคลากรทุกคนทำงานอย่างหนัก ในความเครียดนี้ มีอารมณ์ หรือมีเรื่องของการระบายอารมณ์หรือแสดงปฏิกิริยา ตรงนี้มาบ้าง ผมเองยังต้องดูแลจิตใจตัวเองในฐานะที่เรียนรู้ด้านจิตวิทยามา ก็ขอฝากพี่น้องประชาชนทุกท่าน กำลังใจเท่านั้น และการมีจิตอาสา ในยามทุกข์ยาก จำได้มั๊ยครับตอนน้ำท่วม ที่อุบลฯ ผมเห็นการช่วยเหลือกัน หรือกรณีหมูป่าที่ติดถ้ำ มีคนเก่งๆมาช่วยกัน บรรยากาศอย่างนี้ ต้องการคนเก่งต้องการคนดี และผมเชื่อว่าท่านเองก็มีศักยภาพอย่างนั้น พวกเราต้องช่วยกันเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ครับ"

เริ่ม 28 เม.ย.นี้ รถเมล์ ขสมก. ลดเที่ยววิ่ง พร้อมขอความร่วมมือยืนห่าง 30 ซม. ลดใช้เงินสดจ่ายตั๋ว

27 เม.ย. 64 นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ตามที่กรมการขนส่งทางบก ได้ออกประกาศ เรื่อง “การปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19)” เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2564 โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการขนส่ง พิจารณาปรับลดจำนวนเที่ยวการเดินรถ ในการให้บริการขนส่งผู้โดยสารระหว่างจังหวัดในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดเท่าที่สามารถจะทำได้ โดยให้พิจารณาจัดการเดินรถตามความจำเป็น ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมทั้ง ปรับลดการให้บริการ ในช่วงเวลา 23.00-04.00 น. ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2564 เป็นต้นไป ซึ่งในส่วนของการปรับลดจำนวนเที่ยววิ่งรถกะสว่าง ขสมก. ได้ดำเนินการไปแล้ว

ทั้งนี้ขสมก. จึงเตรียมปรับลดจำนวนเที่ยววิ่งรถโดยสารทุกประเภท ในช่วงเวลาการให้บริการปกติ ทั้งรถโดยสารธรรมดา และรถโดยสารปรับอากาศ ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2564 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศดังกล่าว และเพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ใช้บริการในปัจจุบันที่มีจำนวนลดลง เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นการทำงานอยู่ที่บ้าน (Work From Home) และสถานศึกษาหลายแห่ง ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์

อย่างไรก็ตาม ขสมก. จะปรับลดจำนวนเที่ยววิ่ง เฉพาะเส้นทางที่มีผู้ใช้บริการลดลง ส่วนเส้นทางที่มีจำนวนผู้ใช้บริการเท่าเดิม จะไม่มีการปรับลดจำนวนเที่ยววิ่งแต่อย่างใด นอกจากนี้ ขสมก. ยังได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด เพื่อลดผลกระทบและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผู้ใช้บริการรถโดยสารของ ขสมก. โดยแบ่งเป็น 3 ด้าน ดังนี้

ด้านพนักงานประจำรถ

1.) ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของพนักงานขับรถ และพนักงานเก็บค่าโดยสารทุกครั้งก่อนขึ้นปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสาร หากตรวจพบว่าพนักงานมีอุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส จะไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่และให้รีบไปพบแพทย์ทันที

2.) กำชับพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง ขณะปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสาร และ

3.) ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือผู้ใช้บริการ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ขณะใช้บริการรถโดยสาร กรณีมีผู้ใช้บริการบนรถมากพอสมควร ควรรอใช้บริการรถโดยสารคันถัดไป

สำหรับด้านรถโดยสารประจำทาง

1.) เพิ่มความถี่ในการล้างทำความสะอาดระบบปรับอากาศ และการทำความสะอาดผ้าม่าน

2.) ใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 70% ฉีดพ่นทำความสะอาดภายใน รถโดยสาร และใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ผู้ใช้บริการต้องสัมผัส เช่น เบาะที่นั่ง ราวจับ กริ่งสัญญาณ เป็นต้น พร้อมทั้งติดตั้งขวดเจลแอลกอฮอล์ สำหรับให้ผู้ใช้บริการล้างมือบริเวณประตูทางขึ้น

3.) กำหนดจุดนั่ง (เบาะที่ไม่มีเครื่องหมายกากบาท) และจุดยืนภายในรถโดยสาร

4.) ติดตั้ง QR Code แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” บริเวณหลังเบาะที่นั่ง และบริเวณผนังด้านข้าง ภายในรถโดยสาร สำหรับให้ผู้ใช้บริการสแกนผ่านโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟน เพื่อเก็บข้อมูลการเดินทาง กรณีตรวจพบผู้ติดเชื้อใช้บริการรถโดยสารคันเดียว และเวลาเดียวกันกับผู้ใช้บริการ จะมีการแจ้งเตือน ผ่านระบบ SMS ว่าผู้ใช้บริการ มีความเสี่ยงให้รีบไปพบแพทย์ และ

5.) ติดตั้ง QR Code แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” บริเวณผนังด้านข้างภายในรถโดยสาร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ ในการใช้โทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนดาวน์โหลดแอปพลิเคชันดังกล่าว

ด้านผู้ใช้บริการ

1.) ผู้ใช้บริการจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ขณะใช้บริการรถโดยสาร

2.) ล้างทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ที่ติดตั้งบริเวณประตูทางขึ้น

3.) เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการ ควรสแกน QR Code แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” บนรถโดยสาร เพื่อเช็คอินเมื่อขึ้นรถ และเช็คเอาท์ก่อนลงจากรถ สำหรับผู้ถือบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ของ ขสมก.ทุกประเภท ควรลงทะเบียนบัตรที่ www.bmta.co.th เพื่อให้บัตรดังกล่าว สามารถเช็คอิน – เช็คเอาท์ โดยอัตโนมัติ เมื่อนำบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์มาแตะที่เครื่อง EDC เพื่อชำระค่าโดยสาร

4.) เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการ ควรดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” เพื่อตอบแบบสอบถามประเมินความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 และลงทะเบียน

5.) ขอความร่วมมือนั่งบนเบาะที่กำหนด (เบาะที่ไม่มีเครื่องหมายกากบาท) และยืนบนจุดที่กำหนด หรือยืนห่างกันอย่างน้อย 30 เซนติเมตร กรณีมีผู้ใช้บริการบนรถมากพอสมควร ควรรอใช้บริการรถโดยสารคันถัดไป

6.) ผู้ใช้บริการจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของพนักงานเก็บค่าโดยสาร นายตรวจ และเจ้าหน้าที่สายตรวจพิเศษอย่างเคร่งครัด และ

7.) ขอความร่วมมือผู้ใช้บริการ ชำระค่าโดยสารแบบไร้เงินสด ผ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทของ ขสมก. บัตรเดบิต-เครดิตที่มีสัญลักษณ์คอนแทคเลส บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโมบายแบงก์กิ้ง เพื่อลดการสัมผัสธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ ที่อาจเป็นสื่อกลางในการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19)


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top