???? รอบรู้แบบรู้ลึก ในรายการ ‘Knowledge Times’
????จุดยุทธศาสตร์ระดับโลก!! ‘ช่องแคบฮอร์มุซ’ สู่จุดเดือด World War III
.เมื่อพูดถึงจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของโลกในการขนส่งสินค้า ล้วนมีหลากหลายเส้นทางด้วยกัน ซึ่งในแต่ละเส้นทางล้วนมีความสำคัญในการเชื่อมทวีปแต่ละทวีปเข้าถึงกัน หรือแม้แต่มีบทบาทในการขับเคลื่อนโลกด้วยทรัพยากรต่างๆ ที่มีในแต่ละทวีป
แต่เมื่อถามถึงจุดยุทธศาสตร์ที่เรียกได้ว่า ‘สำคัญที่สุดของโลก’ สำคัญถึงขั้นที่สามารถเป็นชนวนที่อาจก่อให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ได้ นั่นก็คือ ‘ช่องแคบฮอร์มุซ’ ที่หากใครได้ครอบครองก็เปรียบเสมือนได้กุมโลกใบนี้
โดยช่องแคบฮอร์มุซนั้น เป็นช่องแคบที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ มีความกว้างเพียง 30 ไมล์ ตั้งอยู่ระหว่างอ่าวโอมานทางตะวันออกเฉียงใต้กับอ่าวเปอร์เซียทางตะวันตกเฉียงใต้ ฝั่งทางตอนเหนือเป็นประเทศอิหร่าน ทางตอนใต้เป็นสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และแหลมมุซันดัม (Musandam) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศโอมาน
แล้วอะไรที่ทำให้ช่องแคบฮอร์มุซกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของโลก?
อย่างที่รู้กันดีว่าในปัจจุบันมีพลังงานรูปแบบใหม่เกิดขึ้นมากมาย ที่เข้ามาแทนที่น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือพลังงานทดแทนเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ในช่วงของการพัฒนา ดังนั้น ‘น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ’ จึงยังคงเป็นสิ่งจำเป็นที่โลกใบนี้ยังคงต้องพึ่งพาไปอีกหลายสิบปี
และหากย้อนกลับมาดูจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในโลกใบนี้ ก็มีอยู่หลายจุดด้วยกัน ทั้งคลองปานามาที่เป็นเส้นทางเชื่อมต่อทางการค้าระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกกับแปซิฟิก ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันจีนได้เข้าไปแทรกซึมในลาตินอเมริกาหลายๆ ประเทศ
ต่อมาคือคลองสุเอซ ที่เชื่อมต่อระหว่างทะเลแดงและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ที่เรียกได้ว่าเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าที่สำคัญ เห็นได้จากการที่เรือเอเวอร์กิฟเวนติดขวางการจราจรเพียงไม่กี่วันก็สร้างความเสียหายไปมหาศาล
ต่อมาคือแหลมกู๊ดโฮป ซึ่งเป็นเส้นทางทางการค้าที่สำคัญของแอฟริกา และช่องแคบยิบรอลตาร์ ที่เชื่อมการค้าระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
รวมไปถึงช่องแคบเดนมาร์ก ที่เชื่อมระหว่างแอตแลนติกและทะเลเหนือ และช่องแคบมะละกา ช่องแคบสำคัญที่เชื่อมโยงภูมิภาคระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก
ฟังดูแล้วเส้นทางต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่องแคบหรือจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในโลกใบนี้ก็คือ ‘ช่องแคบฮอร์มุซ’ เพราะ เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่ใช้ขนส่งน้ำมันหรือก๊าซ ที่จำเป็นผ่านเส้นทางที่สำคัญนี้
อีกทั้งที่ตั้งของช่องแคบฮอร์มุซ ที่เชื่อมระหว่างอ่าวเปอร์เซียและอ่าวโอมาน โดยบริเวณรอบอ่าวเปอร์เซีย ประกอบไปด้วยประเทศที่สำคัญถึง 8 ประเทศด้วยกัน ตั้งแต่ อิหร่าน อิรัก คูเวต ซาอุดีอาระเบีย บาร์เรน กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และโอมาน ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างต้องร่วมกันใช้ทะเลอาณาเขต ในเขตเศรษฐกิจเฉพาะ บริเวณอ่าวเปอร์เซีย
แน่นอนว่าการที่มีหลายประเทศใช้อ่าวเปอร์เซียร่วมกัน ซึ่งเป็นจุดกำเนิดการเดินทางออกจากช่องแคบฮอร์มุซ จึงกลายเป็นจุดเปราะบางจุดแรกที่ง่ายต่อการเกิดปัญหาแย่งชิงทรัพยากร
จุดต่อมาต้องยอมรับว่าเมื่อช่องแคบฮอร์มุซเป็นทางผ่านอ่าวเปอร์เซียและอ่าวโอมาน ซึ่งมีความสำคัญมากกว่าแค่ทางผ่านเพราะ พื้นที่รอบอ่าวเปอร์เซีย ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งขุดเจาะน้ำมันที่มากที่สุดในโลก
โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันสูงถึง 6% ของโลก และในบริเวณอ่าวเปอร์เซีย ที่ชิดทางด้านอิหร่าน เป็นที่สำรองก๊าซถึง 40% ของโลกและส่งอิหร่านให้กลายเป็นประเทศที่มีก๊าซสำรองมากที่สุดในโลกอีกด้วย