Tuesday, 13 May 2025
Hard News Team

'พิธา' ไม่หวั่นแม้ถูกตัดสิทธิ์การเมือง 10 ปี หวังกลับมาเป็นแคนดิเดตนายกฯอีกครั้ง

(19 ธ.ค. 67) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ว่าเขาคาดหวังว่าจะได้กลับมาเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยอีกครั้ง หลังจากถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี

“ผมกำลังรอวันที่จะได้กลับมา ถ้าพรรคสนับสนุนและประชาชนต้องการ ผมพร้อมที่จะกลับมาเป็นผู้สมัครนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง” พิธากล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเมื่อวันอังคาร (17 ธ.ค.) ระหว่างเดินทางไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยโตเกียว โดยเน้นว่านี่ไม่ใช่การตัดสินใจส่วนตัว แต่เป็นทางเลือกที่เกี่ยวข้องกับสังคมส่วนรวม

เว็บไซต์นิกเกอิเอเชียรายงานว่า ระหว่างการบรรยายที่มหาวิทยาลัยโตเกียว พิธา ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Senior Research Fellow ที่ Harvard Kennedy School กล่าวว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีพรรคการเมืองในประเทศไทยถูกยุบถึง 34 พรรค และนักการเมือง 250 คนถูกตัดสิทธิทางการเมือง "การยุบพรรคและการจำกัดสิทธิทางการเมืองกลายเป็นเรื่องปกติในประเทศไทย" เขากล่าว "มันเป็นวงจรร้ายที่ควรยุติ"

เมื่อถูกถามเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในปี 2570 พิธาแสดงความเชื่อมั่นว่าพรรคประชาชนมีโอกาสชนะการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม เขาเน้นว่าพรรคควรจัดตั้งรัฐบาลผสมเพื่อสร้างการบริหารประเทศที่มีประสิทธิภาพ “การมีรัฐบาลที่ดีไม่ควรยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ” เขากล่าว

ในประเด็นความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พิธาเตือนว่ารัฐบาลไทยต้องระวังไม่ให้สหรัฐฯ มองไทยเป็นทางลัดสำหรับการลงทุนจากจีน โดยคาดว่าจีนอาจถูกเก็บภาษีนำเข้า 60% สำหรับการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้จีนเลือกใช้เม็กซิโกหรือไทยเป็นฐานการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ

“พิชัย”  เร่งช่วยเกษตรกรชาวไร่มัน ประสานจีนรับซื้อมันสำปะหลัง ดันผู้ประกอบอาหารสัตว์ใช้มันเส้นเพิ่ม พร้อมสั่งการทูตพาณิชย์เปิดตลาดใหม่

(19 ธ.ค. 67) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ท่านนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีหลายท่านได้ให้ความห่วงใยต่อปัญหาราคามันสำปะหลังอย่างมาก ตนจึงได้สั่งการไปยังกรมการค้าภายใน และกรมการค้าต่างประเทศ ให้เร่งช่วยเหลือพี่น้องเกษตรชาวไร่มันผ่านหลายมาตรการ  และตนยังได้เร่งประสานให้ทางการจีนเข้ามาช่วยรับซื้อผลผลิตจากมันสำปะหลังเป็นการเร่งด่วน พร้อมขอให้สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยเพิ่มจำนวนรับซื้อมันเส้น และสั่งการทูตพาณิชย์ให้หาตลาดล่วงหน้า เน้นเปิดตลาดใหม่ให้แก่ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ได้รับรายงานจากกรมการค้าภายในว่าสัปดาห์หน้า ช่วงก่อนปีใหม่ ทางกรมฯ เตรียมของบประมาณกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร สำหรับโครงการชะลอการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง ปี 2567/68 เพื่อให้เกษตรกรชะลอการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังไปก่อน ในช่วงที่ผลผลิตกำลังจะออกสู่ตลาดมาก สนับสนุนให้ใช้สินเชื่อจาก ธ.ก.ส. และรัฐบาลจะรับภาระดอกเบี้ยให้ส่วนหนึ่ง รวมทั้งได้เตรียมหารือร่วมกับสมาคมมันสำปะหลังทั้ง 4 สมาคม กลุ่มผู้ประกอบการอาหารสัตว์ ผู้เลี้ยงสุกร เพื่อให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ หรือผู้เลี้ยงปศุสัตว์ช่วยดูดซับปริมาณมันสำปะหลังในประเทศ ผลักดันการใช้มันเส้นในประเทศในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ปริมาณไม่น้อยกว่า 5 แสนตัน ซึ่งมากกว่าปริมาณการใช้ในอดีตที่ผ่านมา

ในส่วนของกรมการค้าต่างประเทศ ตนได้รับแจ้งว่า ได้เร่งเดินหน้าขยายตลาดส่งออกมันสำปะหลังไปต่างประเทศ โดยมีการหารือร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง ซี่งเมื่อวันที่ 4 และ17 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมาได้หาแนวทางการจัดกิจกรรมขยายตลาดร่วมกัน พร้อมกำหนดตลาดเป้าหมายที่มีศักยภาพในการนำเข้ามันสำปะหลังเพิ่มเติม อาทิ เม็กซิโก ชิลี ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียรวมทั้งให้เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มการส่งออกสินค้าให้สูงขึ้น

ทั้งนี้ จะมีแผนงานจัดกิจกรรมขยายตลาดมันสำปะหลังร่วมกับภาคเอกชน เช่นที่ จีน ระหว่างวันที่ 5 – 9 มกราคม 2568 จะนำคณะเดินทางทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไปจัดกิจกรรมขยายตลาดผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทยในอุตสาหกรรมขั้นปลายที่มีศักยภาพต่างๆ ที่หลากหลาย ณ นครเซี่ยงไฮ้ และ นครเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยคาดว่าจะสามารถสร้างความต้องการล่วงหน้าในตลาดก่อนเทศกาลตรุษจีนให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทยได้กว่า 1 ล้านตัน และเร่งผลักดันผลผลิตมันสำปะหลังสู่ตลาดจีน โดยดึงผู้ค้ารายใหม่ที่ไม่เคยใช้มันสำปะหลังมาก่อน เข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆนอกเหนือจากอุตสาหกรรมเดิมของจีน อาทิ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ กาว กระดาษ สารให้ความหวาน กรดซิตริก ให้นำเข้ามันสำปะหลังไทย 

นายพิชัย เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ตนได้หารือกับนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ขอให้ผู้นำเข้าจีนช่วยรับซื้อมันสําปะหลังของไทยที่ผลผลิตกำลังออกสู่ตลาดมากในช่วงนี้ และได้ประสานไปยัง นายอู๋ จื้ออู่ อัครราชทูตจีนให้เร่งช่วยดำเนินการในขั้นตอนและกระบวนการต่างๆ ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อดูแลพี่น้องเกษตรกรชาวไร่มันให้ทันต่อสถานการณ์ รวมทั้งได้ประสานขอให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในไทย ให้ช่วยกันใช้ส่วนผสมจากมันสำปะหลังในการผลิตเยอะขึ้นด้วย ซึ่งทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ยินดีช่วยรับซื้อมันเส้นตามที่กรมการค้าภายในขอความร่วมมือ โดยพี่น้องเกษตรกรชาวไร่มันสามารถติดต่อกับโรงงานอาหารสัตว์แต่ละแห่งได้โดยตรง และให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลกช่วยประชาสัมพันธ์และเดินหน้าหาตลาดล่วงหน้าให้สินค้ามันสำปะหลัง ตลอดจนผลักดันให้มีการนำเข้าสินค้าแปรรูปจากมันสำปะหลังที่มีมูลค่าสูง เพื่อกระตุ้นตลาดและยกระดับการสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศให้กับอุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทยโดยเร็วต่อไป

มสส.ร่วมกับ สสส.ประชุมความเสี่ยงและสถานการณ์สุขภาพสื่อมวลชน ปี 67

(19 ธ.ค. 67) มสส.ร่วมกับ สสส.ประชุมความเสี่ยงและสถานการณ์สุขภาพสื่อมวลชน ปี 67 เห็นตรงกันอาชีพสื่อไม่มีความมั่นคง ถูกเลิกจ้าง คนที่ยังอยู่ทำงานหนักเกิดความเครียด ซึมเศร้า เสนอตั้งคณะทำงานหาแนวทางแก้ปัญหาและผลกระทบ มสส. เปิดผลสำรวจสุขภาพสื่อไทยปี 67 พบคนทำสื่อทำงานหนักพักผ่อนน้อยมีความเครียดสูง โรคประจำตัวมากขึ้นทั้งความดันและเบาหวาน แต่ยังมีข่าวดีดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าลดลง บอร์ดสสส.ห่วงปี 2568 สื่อออนไลน์เกิดภาวะฟองสบู่เพราะแข่งขันสูง ด้านเทวฤทธิ์ มณีฉาย สว.สายสื่อเสนอแก้ปัญหา 4 ส.คือ เสรีภาพ สวัสดิภาพ สวัสดิการและสหภาพแรงงาน ส่วนนักวิชาการห่วงอุตสาหกรรมบันเทิงที่มีความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม 2567 มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.)  โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)  ได้จัด ประชุมโฟกัส กรุ๊ป เรื่อง  “ความเสี่ยงและสถานการณ์สุขภาวะสื่อมวลชนไทย ปี 2567 ” เพื่อนำเสนอผลการสำรวจสถานการณ์สุขภาวะของสื่อมวลชน ณ ห้องไดมอน 4 ชั้น 3 โรงแรมอวานี  รัชดา กรุงเทพฯ
นายวิเชษฐ์  พิชัยรัตน์ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ด้านการสื่อสารมวลชน  กล่าวเปิดการประชุมว่าภาพรวมการทำงานของสื่อมวลชนไทยในปี 2567เต็มไปด้วยความยากลำบากแค่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน 2567 มีธุรกิจสื่อปลดออกพนักงานไปแล้วไม่ต่ำกว่า 300 คน เช่น Voice TV เลิกจ้างพนักงาน 200 กว่าคน PP TV เลิกจ้างพนักงาน 90 คน ส่วนครึ่งปีหลังล่าสุดสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เพิ่งเลิกจ้างพนักงานกว่า 300 คน แม้จะมีการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแต่ในอนาคตก็ยังยากลำบาก ส่วนคนที่ยังอยู่ก็มีความไม่แน่นอนเนื่องจากรายได้สปอนเซอร์น้อยลงทุกสื่อต้องแย่งเม็ดเงินโฆษณากัน นอกจากนั้นในอนาคตอันใกล้ภาวะฟองสบู่ของวงการสื่อออนไลน์กำลังจะแตกเพราะปริมาณมากเกินจนล้นตลาด สื่อที่ยังอยู่ก็ปรับลดขนาดองค์กรทำให้คนทำงานสื่อต้องทำงานหนักขึ้นค่าล่วงเวลาไม่ได้เบี้ยเลี้ยงไม่มี วันหยุดก็น้อยจนเกิดความเครียดแทบไม่มีเวลาพักผ่อน สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อสุขภาพของสื่อมวลชนอย่างมาก จึงหวังว่าผลการสำรวจสถานการณ์สุขภาวะสื่อมวลชนไทยปี 2567 ที่ทางมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะโดยการสนับสนุนของสสส.จะนำมาเป็นข้อมูลร่วมกันแสวงหาแนวทางในการดูแลสุขภาพของสื่อมวลชน และในเวทีการประชุมครั้งนี้มีนายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภาสายสื่อมวลชนมาร่วมเสนอแนะมุมมองด้วยจะได้นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายระดับชาติต่อไป

​รศ.ดร.ณัฐนันท์  ศิริเจริญ  เลขาธิการมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจสถานการณ์ ปัญหาสุขภาวะของสื่อมวลชนไทย ปี 2567 โดยมีการสอบถามกลุ่มตัวอย่างสื่อมวลชนประเภทหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน  372 คน แบ่งเป็นเป็นเพศชาย 61% เพศหญิง 38.0% เพศทางเลือก 1 % คำถามแรกสื่อมวลชนทำงานหนักมากน้อยแค่ไหนพบว่าส่วนใหญ่ 44.09%ทำงาน 6-8 ชั่วโมงต่อวัน แต่จำนวน 19.35%ไม่มีความแน่นอนในชั่วโมงทำงาน ขณะที่ 13.98% ทำงาน 9-10 ชั่วโมงต่อวันและที่มากกว่านั้นมีสื่อมวลชน 8.60%ต้องทำงานมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน สรุปว่าเกินครึ่งทำงานหนักมากกว่าวันละ 8 ชั่วโมง นอกจากนั้นยังพบว่าส่วนใหญ่ 41.94%ไม่มีวันหยุดที่แน่นอน 31.18% หยุด 2 วันต่อสัปดาห์ 10.75% หยุด 1 วันต่อสัปดาห์ และ8.60 % ไม่มีวันหยุดเลย ส่วนเรื่องโรคประจำตัวส่วนใหญ่ 56.99% ไม่มีโรคประจำตัว 43.01%มีโรคประจำตัว คนที่มีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูงและเบาหวานในสัดส่วนที่พอๆกันคือ 24.14% โดยภาพรวม 77.58% เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือNCDs ส่วนการตรวจสุขภาพประจำปีส่วนใหญ่ 74.19%มีการตรวจสุขภาพประจำปี อีก25.81%ไม่ได้ตรวจ  ประเด็นสุดท้ายเรื่องปัญหาความเครียดจากการทำงานพบว่าสื่อมวลชนส่วนใหญ่41.13%มีความเครียดสูงกว่าปกติเล็กน้อย รองลงมา 23.39%มีความเครียดปานกลาง ตามมาด้วยปกติไม่เครียด 18.28% และสุดท้ายเครียดมาก 5.38% เมื่อดูโดยภาพรวมมีความเครียดสูงถึง 69.9%

ส่วนพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพสื่อมวลชนส่วนใหญ่ 83.60% ไม่สูบบุหรี่ ส่วนอีก16.40%ยังสูบบุหรี่อยู่ สำหรับเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่ 96.77%ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีเพียง 3.23%เท่านั้นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า สำหรับคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 58.33%ซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ส่วนอีก41.67%ซื้อจากร้านค้าทั่วไป ส่วนเหตุผลของคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้านั้นระบุว่ากลิ่นไม่เหม็นและคิดว่าเลิกได้ง่าย ประเด็นพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์นั้นพบว่า 43.01%ยังดื่มแอลกอฮอล์อยู่ ส่วนอีก 48.12% ไม่ดื่มแอลกอฮอล์  ส่วนเหตุผลที่ดื่มแอลกอฮอล์ส่วนใหญ่ 43.66% เพราะยังสังสรรค์และเข้าสังคมอยู่ รองลงมา26.76% ดื่มเพื่อความสนุกสนาน  สำหรับสื่อมวลชนที่ยังดื่มแอลกอฮอล์อยู่นั้น 58.55% มีความเสี่ยงต่ำ 22.80%มีความเสี่ยงสูงหรือเสพติดแอลกอฮอล์แล้วและ18.65% เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายได้  คนที่ดื่มแอลกอฮอล์ 57%ไม่คิดจะเลิก ส่วนอีก43%คิดจะเลิกดื่ม

ด้านความปลอดภัยทางถนน ปรากฏว่าสื่อมวลชนมีการสวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง 60.22%   สวมบางครั้ง 35.48% และไม่สวมเลย 4.30% ในขณะที่การคาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับขี่รถยนต์ 84.95% คาดทุกครั้ง มีเพียง 15.05%ที่คาดบางครั้ง  สื่อส่วนใหญ่ 42.53%ไม่เคยประสบเหตุจากการดินทาง 23.54%เคยประสบอุบัติเหตุจากรถยนต์และ 24.81% เคยประสบอุบัติเหตุจากรถจักรยายนต์  ในขณะที่พฤติกรรมฝ่าฝืนกฎจราจร 51.08% ไม่เคยฝ่าฝืน ส่วน48.92% นั้นเคยฝ่าฝืนส่วนใหญ่เป็นการฝ่าฝืนสัญญาณไฟและการขับรถเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนด ด้านปัจจัยเสี่ยงเรื่องการพนันและการพนันออนไลน์นั้นพบว่าสื่อมวลชนส่วนใหญ่ 65.59% เคยเล่นการพนัน ส่วนอีก34.41%ไม่เคยเล่นการพนัน  สำหรับคนที่เคยเล่นการพนันส่วนใหญ่ 80.47% เล่นในสถานที่ที่จัดให้มีการเล่น ส่วนอีก 17.19%เล่นผ่านออนไลน์ เมื่อถามถึงประเภทการพนันที่เล่นว่าเล่นพนันชนิดไหน ส่วนใหญ่ 46.84% ตอบว่าซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล รองลงมา 20.53%ซื้อหวยใต้ดินและอีก20.53 % เล่นไพ่

เลขาฯมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) กล่าวสรุปและวิเคราะห์ผลการสำรวจในปี 2567ว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อทำให้สื่อมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงในการทำงานและต้องทำงานหนักขึ้น วันหยุดต่อสัปดาห์ลดน้อยลงส่งผลให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ สื่อมวลชนมีโรคประจำตัวเพิ่มขึ้น16.01%เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 โรคประจำตัวที่เป็นกันมากที่สุดคือเป็นความดันโลหิตสูงและเบาหวาน การเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีปริมาณที่สูงขึ้น และยังพบว่าส่วนใหญ่มีความเครียดจากการทำงานสูงมาก ดังนั้นผู้บริหารองค์กรสื่อควรให้ความสำคัญในการป้องกันปัญหานี้โดยเร่งด่วน ส่วนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ มีการสูบบุหรี่น้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 ลดลงไป7.13%  และพบว่าสื่อมวลชนที่ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2566  เช่นเดียวกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พบว่าดื่มลดลง8.99%เมื่อเปรียบกับปี 2566   ส่วนความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยทางถนนพบว่ามีการสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งนั้นมีตัวเลขเพิ่มขึ้น 2.82% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566   ส่วนการคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งลดลง2.26% เมื่อเทียบกับปี 2566  พฤติกรรมการพนัน ยอมรับว่าเคยเล่นพนันซึ่งเป็นอัตราที่สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับปี 2566  ประเภทการพนันที่เล่นมากที่สุดคือสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่แตกต่างไปจากปี 2566 ซึ่งเป็นไปได้ว่าสื่อมวลชนมองว่าสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ได้เป็นการพนันแต่เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายเพราะรัฐบาลเป็นเจ้าของ ดังนั้นการปรับมุมมองของสื่อว่าสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นการพนันจึงไม่ใชเรื่องง่าย

นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย  สมาชิกวุฒิสภา  กลุ่ม18 สายสื่อสารมวลชน อดีตบรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท กล่าวว่าผลจากการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อทำให้สื่อมวลชนต้องทำงานหนักมาก เกิดความเครียดมีภาวะซึมเศร้าจำนวนมาก ควรจะมีทีมที่ปรึกษาเข้าไปช่วยเหลือโดยเฉพาะคนทำงานที่อยู่เบื้องหลังต้องได้รับการดูแลมากเป็นพิเศษ จากประสบการณ์การทำงานด้านสื่อสารมวลชนของตัวเอง สรุปได้ว่ามีประเด็นที่สื่อมวลชนไทยต้องเผชิญขอเรียกว่า 4 ส. คือ เสรีภาพที่สื่อมวลชนไทยยังคงมีข้อจำกัดในการแสดงความคิดเห็นหรือการนำเสนอข่าวสาร เพราะยังมีการฟ้องร้องปิดปากโดยใช้กฎหมายความมั่นคงและกฎหมายหมิ่นประมาทอยู่ ส.ที่สองคือสวัสดิภาพของคนทำงานด้านสื่อสารมวลชนมีอยู่หลายครั้งนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมากลับถูกข่มขู่คุกคามจากผู้มีอิทธิพล ส.ที่3 คือ สวัสดิการในการทำงาน ในอดีตการจ้างงานของธุรกิจสื่อจะเป็นพนักงานประจำมีสวัสดิการดูแลแต่ทุกวันนี้มีการแข่งขันสูงทำให้ต้องลดต้นทุน ลดสวัสดิการลง จากพนักงานประจำเป็นการทำงานชั่วคราวทำให้ไม่มีความมั่นคงในการทำงาน สื่อต้องทำงานหนักมากขึ้น มีความเสี่ยงทั้งด้านสุขภาพเพราะพักผ่อนไม่เพียงพอ และส.สุดท้ายคือสหภาพแรงงาน ปัจจุบันมีองค์กรธุรกิจสื่อจำนวนไม่มากนักที่มีสหภาพแรงงานซึ่งเป็นองค์กรที่ลูกจ้างรวมตัวกันจัดตั้งขึ้นมาเพื่อปกป้องเรียกร้องสวัสดิการและสวัสดิภาพต่อนายจ้าง

ดร.กฤษฎา  ธีระโกศลพงศ์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากการศึกษารูปแบบการจ้างการงานของคนที่ทำงานในวงการสื่อมวลชนพบว่าเป็นรูปแบบการจ้างงานที่ผิดปกติ มีการจ้างงานที่ไม่มีมาตรฐานการทำงานมากขึ้น เช่น จ้างทำงานบางเวลาหรือจ้างทำงานแค่ 11 เดือน มีการต่อสัญญาการทำงานเป็นรายปีหรือการจ้างงานเหมาช่วง เป็นสถานการณ์ที่มีการแปรสภาพจากการทำงานมั่นคงไปสู่ความไม่มั่นคง ส่งผลกระทบต่อปัญหาความเครียดและสุขภาพจิตมีผลต่อพลังของสื่อจากเดิมที่มีพลังมากไปสู่การมีพลังน้อยลงเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อ เรื่องนี้ ไม่ใช่เฉพาะสื่อดั้งเดิมที่จะได้รับผลกระทบเท่านั้นแม้แต่คนรุ่นใหม่ Gen Z หรือ Gen Alpha ที่ต้องการเป็น Youtuber Tiktoker ที่มุ่งหารายได้และเห็นว่าเป็นงานชนิดหนึ่ง ก็จะได้รับผลกระทบเพราะไม่มีความมั่นคงในการทำงานและไม่มีระบบสวัสดิการต่างๆในการดูแลเช่นเดียวกัน 
จากข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ธุรกิจสื่อ วัฒนธรรมและกราฟฟิก เป็นภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนรูปของรูปแบบธุรกิจใหม่ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ การแสดง และสื่อสิ่งพิมพ์ รวมทั้งมีประเด็นที่น่ากังวลในอุตสาหกรรมบันเทิง เช่น ความรุนแรงและล่วงละเมิดทางเพศ ขาดการทำงานที่มีคุณค่า และการเข้าไม่ถึงระบบการคุ้มครองทางสังคม  ส่งผลให้ต้องมีการประเมินผลกระทบของการจ้างงานใหม่

ด้านสื่อมวลชน นายเสด็จ บุนนาค ผู้จัดการสภาการสื่อสารมวลชนแห่งชาติ ยอมรับว่ามีการจ้างงานหลายรูปแบบแต่สรุปว่าไม่ว่าจ้างงานแบบไหนการทำงานก็เหนื่อยเหมือนกันหมด เพราะทำงานเหมือนเป็นพนักงานประจำทุกอย่างแต่ไม่ค่อยมีลูกจ้างลุกขึ้นมาเรียกร้อง เคยมีการตั้ สหภาพแรงงานสื่อมวลชนการแห่งประเทศไทยแต่เจ้าของธุรกิจสื่อก็ไม่ให้ความร่วมมือ ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้มากนัก ขณะที่สื่อมวลชนอื่นๆต่างได้แสดงความคิดเห็นสอดคล้องกันและเห็นร่วมกันว่า สภาการสื่อสารมวลชนแห่งชาติ สมาคมวิชาชีพสื่อ นักวิชาการ สมาชิกวุฒิสภา และมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะควรจะจับมือกันเพื่อหาข้อสรุปในการผลักดันแนวทางแก้ปัญหาทั้งเรื่องสภาพการจ้างในการทำงาน สวัสดิภาพ สวัสดิการ และการช่วยเหลือสื่อมวลชน ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อโดยการตั้งเป็นคณะทำงานเพื่อเร่งรัดผลักดันเรื่องนี้ต่อไป

‘พีระพันธุ์’ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วมวันเดียว 9 จุด สั่งเร่งฟื้นฟูความเป็นอยู่ประชาชนให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

เมื่อวันที่ (18 ธ.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดทางภาคใต้ซึ่งส่งผลให้ประชาชนในหลายพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน  ตนในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้รับผิดชอบดูแลเขตตรวจราชการที่ 5 ซึ่งประกอบด้วย จ.ชุมพร  จ.สุราษฎร์ธานี จ.นครศรีธรรมราช จ.พัทลุง และ จ. สงขลา จึงลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและรับฟังปัญหาจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.ชุมพร  จ.สุราษฎร์ธานี จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งอยู่ในเขตตรวจราชการที่ได้รับมอบหมาย

ทั้งนี้  นายพีระพันธุ์ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่าง ๆ ของทั้ง 3 จังหวัด รวม 9 แห่ง ได้แก่  1.โรงเรียนวัดปากด่าน ต. สะพลี อ.ปะทิว จ.ชุมพร 2.โรงเรียนครนพิทยาคม ต.ครน อ.สวี จ.ชุมพร 3. เทศบาลบ้านนาโพธิ์ ต.นาโพธิ์ อ.สวี จ.ชุมพร  4.โรงเรียนทุ่งตะโก ต.ทุ่งตะไคร อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร 5.ศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยชั่วคราว บ้านบ่อน้ำร้อน ม.5 ต.กรูด อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี 6.วัดปากคู ต.ช้างซ้าย จ.สุราษฎร์ธานี 7.โรงครัวชั่วคราว สี่แยกกาญจนดิษฐ์ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี 8.โรงเรียนบ้านเผียน ต.เทพราช อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช 9.วัดคงคาเลียบ ต.ฉลอง อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช  โดยได้สั่งการให้หน่วยงานราชการต่าง ๆ รวมทั้งหน่วยงานในกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน เร่งประสานงานให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง

นายพีระพันธุ์กล่าวว่า  นอกจากการทำหน้าที่รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแล้ว  ตนยังได้รับมอบหมายให้ดูแลเขตตรวจราชการที่ 5 ซึ่งประกอบด้วย 5 จังหวัด และขณะนี้ทุกจังหวัดกําลังประสบเหตุน้ำท่วมใหญ่จากฝนที่ตกกระหน่ำอย่างหนัก โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนก็ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัด พัทลุง และสงขลา และได้พบปะเยี่ยมเยียนประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

“มาลงพื้นที่ครั้งนี้ ผมก็ได้เห็นสถานการณ์อย่างที่ได้รับรายงานมา  น้ำท่วมคราวนี้หนักมากนะครับ แม้จะเป็นลักษณะมาเร็วไปเร็ว แต่ก็มาหนัก มาแรง มาเยอะ  และมีปริมาณน้ำมากกว่าทุก ๆ ปี  ไล่ตั้งแต่ชุมพรลงไป  พื้นที่บางแห่งแม้วันนี้จะไม่มีน้ำท่วมแล้ว แต่ก็ทิ้งความเสียหายไว้มาก ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง บ้านเรือนที่อยู่อาศัย  รวมทั้งโรงเรียนของเด็กๆ  ที่ไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ และที่สำคัญคือมีผู้เสียชีวิต ซึ่งต้องขอแสดงความเสียใจกับพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบและสูญเสียในครั้งนี้ด้วย” นายพีระพันธุ์กล่าว

นายพีระพันธุ์กล่าวอีกว่า สิ่งที่เราต้องช่วยกันวันนี้ก็คือ การฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน  และขอขอบคุณทุก ๆ ฝ่ายที่ให้ความช่วยเหลือ ทั้งทางด้านกองทัพที่ส่งทหารมาช่วยฟื้นฟู และ ทาง อบต. ที่พยายามจัดงบประมาณเร่งด่วนมาทําความสะอาดโรงเรียน ตลอดจน สส.ในพื้นที่และผู้ประกอบการหลายรายที่ได้จัดหาเครื่องอุปโภคบริโภค รวมไปถึงวัตถุดิบในการทําอาหารมาดูแลประชาชน

“ ในส่วนของกระทรวงพลังงานที่ผมรับผิดชอบอยู่ ก็ต้องขอบคุณทาง ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่ได้กรุณาจัดถุงยังชีพไปช่วยพี่น้องประชาชน น้ำท่วมครั้งนี้ก็ต้องยอมรับว่าหนักมาก ในหลายพื้นที่ก็เคยรุนแรง แต่ก็ไม่รุนแรงเท่านี้ ถึงแม้จะไปเร็ว แต่สร้างความเสียหายทิ้งไว้เยอะ เหล่านี้เป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนต้องช่วยกันคนละไม้ละมือ และขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่บริจาคสิ่งของมา  รวมทั้งหน่วยราชการทุกภาคส่วนที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือ อย่างน้อยก็ทำให้พี่น้องชาวภาคใต้ก็รู้สึกมีขวัญกําลังใจ  ซึ่งก็ต้องช่วยดูแลกันต่อไปครับ” นายพีระพันธุ์กล่าว

เชียงใหม่-สัมมนาสื่อมวลชนกรมประชาสัมพันธ์ เขต 3 และ 4 เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า

(19 ธ.ค.67) มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ (มสบ.) ร่วมกับ กรมประชาสัมพันธ์ และ ศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ (พศย.) สนับสนุนโดย สสส. จัดสัมมนาสื่อมวลชนสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ เขต 3 และ 4 เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า โดยมี นางปาญณิสา ไชยพรหม ผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 กรมประชาสัมพันธ์ กล่าวเปิดการสัมมนา ณ โรงแรมเชียงใหม่ แกรนด์วิว อ.เมือง จังหวัดเชียงใหม่

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความตระหนักและร่วมกันสื่อสารเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าให้กับกลุ่มสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และเพื่อเชื่อมประสานองค์กรสื่อของภาครัฐเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนสังคมปลอดบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง  มีกลุ่มเป้าหมาย นักจัดรายการ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย สังกัดสำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 และ 4 นักจัดรายการ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย สังกัดสำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 และ 4 ผู้อำนวยการ ส่วนข่าวและรายการภูมิภาค สังกัดสำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 และ 4

นางปาญณิสา ไชยพรหม ผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 กรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า สื่อมวลชนทุกท่าน มีภารกิจที่ยิ่งใหญ่  ที่จะช่วยกันปกป้องเด็กและเยาวชนไม่ให้เสพติดบุหรี่ไฟฟ้า หรือแม้แต่บุหรี่ธรรมดา เพราะสารพิษ นิโคติน ในบุหรี่ทำลายระบบประสาทและสมอง และมีสารก่อมะเร็งจำนวนมาก

และปัจจุบันนี้ ได้มีการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งถือว่าเป็นอนาคตของชาติที่น่าเป็นห่วง เราพบกลุ่มผู้เสพหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชนอายุเพียง 13 ปี และยังสืบทราบมาว่ามีการนำไปขายในโรงเรียน สถานศึกษา โดยเด็กและเยาวชนเป็นคนรับไปจำหน่ายเอง ซึ่งรูปลักษณ์ตัวการ์ตูนที่หลากหลาย สีสันสดใส มีกลิ่นหอม ราคาถูกและหาซื้อง่ายผ่านออนไลน์ เป็นสาเหตุของการเข้าถึงในเด็กและเยาวชนได้ง่าย

ดังนั้น รัฐบาลจึงให้ความสำคัญถือเป็นปัญหาในระดับประเทศ และมีข้อสั่งการ แจ้งในที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2567 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดปราบปรามผู้ที่ลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าในช่องทางต่าง ๆ บูรณาการความร่วมมือ เพื่อกวาดล้างอย่างจริงจัง รวมทั้งให้กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เผยแพร่ความรู้และรณรงค์เรื่องโทษและอันตรายอย่างรุนแรงของบุหรี่ไฟฟ้า

กรมประชาสัมพันธ์ ได้ร่วมกับ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ศูนย์พัฒนา ศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ (พศย.) และภาคีเครือข่ายด้านการควบคุมยาสูบแต่งตั้งคณะทำงานด้านการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ เพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนจากการเสพติด บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญของพลังการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ ในรูปแบบ ต่าง ๆ ทั้งสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ สื่อออนไลน์ และสื่อบุคคล อย่างเป็นรูปธรรม และต่อเนื่องเพื่อสร้างการรับรู้ถึง มหันตภัยพิษร้ายจากบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยเป็นเกราะป้องกันได้อีกทางหนึ่ง 

การจัดสัมมนาครั้งนี้ ต่อเนื่องจากการสัมมนาคณะทำงานด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ข้อมูล ความรู้กับบุคลากรและสื่อมวลชนใน สังกัดของกรมประชาสัมพันธ์ ในส่วนภูมิภาค ภาคเหนือ เพื่อเป็นกลไกสำคัญนำข้อมูลสื่อสารเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ส่งต่อถึงเด็กและเยาวชน ผู้ปกครอง รวมถึงประชาชนในพื้นที่ ที่จะเป็นพลังสำคัญ ในการขับเคลื่อนร่วมกันปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า 

ศาลฎีกาสหรัฐฯ เตรียมเปิดไต่สวน ติ๊กต๊อก สู้กม.แบนกิจการ ลุ้นชี้ชะตา10 ม.ค.นี้

เมื่อวานนี้ (18 ธ.ค.67) ศาลสูงสุดสหรัฐฯ เห็นพ้องจะทบทวนคำร้องจากติ๊กต็อก (TikTok) และไบต์แดนซ์ (ByteDance) บริษัทแม่ของติ๊กต็อก เพื่อระงับกฎหมายที่กำหนดการจำหน่ายกิจการของแอปพลิเคชันแบ่งปันคลิปวิดีโอยอดนิยมนี้ภายในวันที่ 19 ม.ค. 2025 หรือเผชิญการลงโทษแบนด้วยเหตุผลความมั่นคงของชาติ

รายงานระบุว่าศาลสูงสุดสหรัฐฯ กำหนดรับฟังข้อโต้แย้งในวันที่ 10 ม.ค. 2025 เพื่อตัดสินว่ากฎหมายดังกล่าวจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกอันขัดกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ของสหรัฐฯ หรือไม่ โดยศาลสูงสุดสหรัฐฯ ออกกำหนดการนี้หลังจากติ๊กต็อกยื่นคำร้องเป็นเวลาสองวันแล้ว

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนเมษายน โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกกฎหมายที่ให้เวลากับไบต์แดนซ์เพียง 270 วันในการจำหน่ายกิจการของติ๊กต็อก โดยอ้างอิงประเด็นความมั่นคงของชาติที่ไม่มีมูลความจริง ซึ่งหากไบต์แดนซ์ไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว ผู้ให้บริการร้านค้าแอปพลิเคชันอย่างแอปเปิลและกูเกิลต้องถอดติ๊กต็อกออกจากแพลตฟอร์ม

ต่อมาเดือนพฤษภาคม ติ๊กต็อกยื่นฟ้องร้องรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อระงับคำสั่งแบนที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง และเมื่อต้นเดือนธันวาคม ศาลอุทธรณ์สหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ยกฟ้องคำกล่าวอ้างของติ๊กต็อกที่ว่าคำสั่งแบนขัดต่อรัฐธรรมนูญและละเมิดสิทธิตามการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ของผู้ใช้งานในสหรัฐฯ 170 ล้านราย

เมื่อวันจันทร์ (16 ธ.ค.) ติ๊กต็อกเรียกร้องศาลสูงสุดสหรัฐฯ ระงับกฎหมายนี้ ชี้ว่าจะเป็นการปิดหนึ่งในแพลตฟอร์มแสดงออกทางคำพูดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของอเมริกาก่อนวันสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดี และปิดปากชาวอเมริกันจำนวนมากที่ใช้แพลตฟอร์มนี้สื่อสารเกี่ยวกับการเมือง การค้า ศิลปะ และประเด็นอื่น ๆ ที่สาธารณชนสนใจ

สื่อนอกปูดรัฐบาลทหารเตรียมจัดเลือกตั้งปีหน้า ส่ง 'ตาน ฉ่วย' หารือคุยรัฐบาลไทยก่อนถกมาเลย์

(19 ธ.ค. 67) ช่วงระหว่างวันที่ 19-20 ธันวาคมนี้ กระทรวงการต่างประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคเกี่ยวกับเมียนมาจำนวน 2 การประชุมด้วยกัน โดยการประชุมแรกมีชาติเพื่อนบ้านของเมียนมาเข้าร่วมรวมถึงจีน บังกลาเทศและอินเดีย ส่วนอีกการประชุมเป็นการประชุมในกรอบอาเซียน

รอยเตอร์รายงานว่า ในการประชุมดังกล่าวรัฐบาลทหารเมียนมาได้ส่งนาย ตาน ฉ่วย มาเข้าร่วมประชุมที่กรุงเทพฯในวงการประชุมทั้งสองวัน โดยแหล่งข่าวทางการทูตเผยว่า เมียนมามีแผนจะจัดการเลือกตั้งในประเทศขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมของรัฐบาลทหารผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้

ความคืบหน้าดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่ปี 2025 มาเลเซียเตรียมรับตำแหน่งประธานอาเซียนในปีหน้า ซึ่งอาเซียนยังล้มเหลวในการผลักดันให้เมียนมาปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ เพื่อลดความขัดแย้งภายในประเทศที่เกิดขึ้นตั้งแต่กองทัพทำรัฐประหารในปี 2021 ส่งผลให้เกิดการสู้รบอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ

แม้เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจและแรงกดดันจากหลายฝ่าย แต่รัฐบาลทหารเมียนมายังคงเดินหน้าจัดการเลือกตั้งในปี 2025 ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นการสร้างภาพทางการเมือง

จีนซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารเมียนมา ได้แสดงการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและการเลือกตั้งปี 2025 ขณะที่ผู้นำไทยเรียกร้องให้มีการมีส่วนร่วมที่กว้างขวางขึ้นกับเมียนมา

นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศไทย เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการหารือด้านความมั่นคงชายแดนและอาชญากรรมข้ามชาติ โดยสมาชิกอาเซียนจะพบกันเพื่อพิจารณาฉันทามติ 5 ข้อ ซึ่งถือเป็นแผนสันติภาพสำหรับวิกฤตเมียนมา

นอกจากนี้ นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ซึ่งจะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปีหน้า ได้แต่งตั้งนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวด้านอาเซียน เนื่องจากมีประสบการณ์ในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในเมียนมา ซึ่งถือเป็นความพยายามที่เมียนมาหารือกับรัฐบาลไทยก่อนที่จะหารือกับรัฐบาลมาเลเซียซึ่งจะเป็นเจ้าภาพอาเซียน

ทั้งนี้ ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ นักรัฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นว่าการประชุมครั้งนี้เต็มไปด้วยความตึงเครียดและขาดความโปร่งใส เนื่องจากกลุ่มกบฏในเมียนมาไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมวงหารือ ซึ่งอาจทำให้การเจรจาแก้ไขปัญหายุ่งยากมากขึ้น

รรท.ผบช.สตม. บินด่วนตรวจความพร้อมสนามบินภูเก็ต ถก ผอ.ท่าอากาศยาน เตรียมรับนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเที่ยวเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ คาดผู้โดยสารสูงถึงวันละ 23,000 คน มั่นใจเจ้าหน้าที่มีความพร้อม ทั้งด้านการอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัย

(19 ธ.ค.67) เวลา 12.00 น. พล.ต.ต.ภาณุมาศ บุญญลักษม์ รรท.ผบช.สตม., พร้อมคณะ เดินทางมาตรวจความพร้อมการปฏิบัติงานของ ด่าน ตม.ท่าอากาศยานภูเก็ต มอบนโยบายแก่ผู้ปฏิบัติงาน พร้อมหารือแนวทางการบริหารงานร่วมกับ นายมนต์ชัย ตะโหนด ผอ.ท่าอากาศยานภูเก็ต เน้นการอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยวที่จะหลั่งไหลเข้ามาในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ 2568 

พล.ต.ต.ภาณุมาศ กล่าวว่า ภูเก็ตเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวหลักในภาคใต้ตอนบนที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ประกอบกับ รัฐบาลโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีนโยบายเร่งด่วนเรื่องส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อยอดมาจากการยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยว (Visa Free) ให้กับ 93 ประเทศและดินแดนทั่วโลก ทำให้มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญ ซึ่งส่งผลดีให้เศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของไทยเป็นอย่างมาก

ปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานภูเก็ตมากเป็นอันดับสาม รองจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง โดยคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศช่วง High season คือ ต.ค.-มี.ค. เฉลี่ยต่อวันสูงสุด 23,000 คน โดยในช่วงเดือน พ.ย.67 นักท่องเที่ยวสัญชาติที่เดินทางเข้ามามากอันดับแรกยังคงเป็น รัสเซีย เฉลี่ย 4,100 คนต่อวัน รองลงมา จีน วันละ 1,800 คน อินเดีย เฉลี่ยวันละ 1,790 คน ออสเตรเลีย 780 คน และสหราชอาณาจักร 730 คนต่อวัน ตามลำดับ เฉลี่ยทั้งเดือนมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประมาณ 520,000 ราย เปรียบเทียบปริมาณนักท่องเที่ยวเฉลี่ยช่วงเวลาเดียวกันกับในปี62 ก่อนโควิด พบว่ามีปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง 6%

ด้าน นายมนต์ชัย ฯ ผอ.ท่าอากาศยานภูเก็ต กล่าวว่า ในห้วงเวลาเทศกาลคริสต์มาส ถึงปีใหม่ มีผู้โดยสารจองตั๋วเข้ามาแล้ว มีเที่ยวบินเฉลี่ย 355 เที่ยวบินต่อวัน เป็นเที่ยวบินภายในประเทศ 210 เที่ยว และเที่ยวบินระหว่างประเทศ 144 เที่ยวบิน จำนวนผู้โดยสารเข้าและออกประมาณ 60,000 คน ต่อวัน  ซึ่งคิดเป็น 110% ของก่อนสถานการณ์โควิด โดยเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ ประมาณ 40,000 คน และเป็นผู้โดยสารภายในประเทศประมาณ 20,000 คน ในอดีตก่อนช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด สัญชาติที่เดินทางมากที่สุดได้แก่ จีน รัสเซีย อินเดีย แต่ปัจจุบันกลับกัน โดยมีสัญชาติรัสเซีย จีน อินเดีย สูงที่สุดตามลำดับ 

รรท.ผบช.สตม.กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้อำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว สตม.จึงต้องเตรียมความพร้อมรองรับ โดยมีแนวทางลดขั้นตอนการตรวจเข้าราชอาณาจักร อาทิ ลดขั้นตอนการสแกนเอกสารขาเข้า งดการลงลายมือชื่อกำกับในตราประทับขาเข้า การบริหาร Snake line เพื่อลดระยะเวลาการตรวจที่อาจเกิดจากเหตุปัจจัยอื่น มีการเพิ่มกำลังในวันหยุดราชการ เสริมกำลังพลระหว่างงานแบบ SWING โดยใช้ตราประทับกลาง ระดมอุปกรณ์เครื่องมือ ยานพาหนะ เพื่อให้เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน ควบคู่ไปกับการคัดกรองกลุ่มคนต้องห้าม ไม่ให้แฝงตัวเข้ามารวมกลุ่มแก๊งก่ออาชญากรรมในประเทศได้ 

ทั้งนี้ได้กำชับให้เพิ่มความเข้มในการตรวจโดยเฉพาะบุคคลที่เดินทางมาจากประเทศเป้าหมาย จะต้องมีความเข้มงวดเป็นพิเศษ โดยได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อเฝ้าระวังเหตุและสืบสวนหาข่าวโดยเฉพาะในสนามบิน โดยไม่ให้กระทบต่อการอำนวยความสะดวกในการตรวจหนังสือเดินทางแก่นักท่องเที่ยว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าออกในช่วงเวลาดังกล่าว

รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันตามคำเชิญของเอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย

 

เมื่อวันที่ (18 ธ.ค.67) เวลา 12.00 นาฬิกา ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย พลเอก เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันตามคำเชิญของนายเปโดร สวาห์เลน (H.E Mr. Pedro Zwahlen) เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อคิดเห็นประเด็นการเรียนการสอนภาษาท้องถิ่นในภาคใต้และกลุ่มวัฒนธรรมที่หลากหลายของไทย กับการจัดการศึกษาแบบ

พหุภาษาโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐานของสวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมผ่านภาษาท้องถิ่นควบคู่กับหลักแนวคิดทางความเชื่อและศาสนาที่แตกต่างกัน ในโอกาสนี้ นายวรวิทย์ บารู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะตัวแทนประธานสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมรับประทานอาหารกลางวันและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย

เหตุแผ่นดินไหว 7.3 เขย่าวานูอาตู สถานทูตไทยในออสเตรเลียเร่งช่วยเหลือ

(19 ธ.ค.67) กระทรวงการต่างประเทศแถลงการณ์ว่า ตามที่ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวในวานูอาตูเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 17 ธ.ค. 2567 ตามเวลาท้องถิ่น ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวระดับ 7.3 ห่างจากกรุงพอร์ตวิลา ประมาณ 30 กม. และมีแผ่นดินไหวต่อเนื่อง (aftershock) ที่จุดเดิมอีกครั้งระดับ 5.5 ส่งผลให้เกิดดินถล่ม รถยนต์ และอาคารบ้านเรือนได้รับความเสียหายอย่างมาก และท่าอากาศยานนานาชาติกรุงพอร์ตวิลาได้ปิดทำการชั่วคราวเนื่องจากเกิดความเสียหายบริเวณรันเวย์ นั้น

นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้คนไทยเสียชีวิต 1 ราย และได้รับบาดเจ็บ 3 ราย

กระทรวงการต่างประเทศขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวผู้เสียชีวิต โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งรับผิดชอบดูแลวานูอาตู ได้ติดต่อผู้แทนชุมชนคนไทยตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ และได้ประสานกรมการกงสุลเพื่อติดต่อประสานกับญาติผู้เสียชีวิตแล้ว สถานเอกอัครราชทูตฯ จะประสานทางการท้องถิ่น เพื่อดำเนินกระบวนการที่เกี่ยวข้องต่อไป รวมถึงได้ติดต่อสอบถามอาการผู้บาดเจ็บทั้ง 3 คนแล้ว ทราบว่ามีอาการบาดเจ็บเล็กน้อย และดีขึ้นแล้วเป็นลำดับ

ชุมชนไทยในวานูวาตูมีประมาณ 40 คน แต่มีหลายคนที่ได้เดินทางกลับภูมิลำเนาในประเทศไทยในช่วงปลายปีไปบ้างแล้ว ในชั้นนี้ยังไม่ประสบปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนอาหารและน้ำ โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ จะติดตามสถานการณ์ และให้ความช่วยเหลือชุมชนไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top