Thursday, 3 July 2025
Hard News Team

สมาคมกุ้งไทย บุกทำเนียบฯ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี

วันที่ 9 สิงหาคม 2565 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล ได้มีกลุ่มสมาคมกุ้งไทย ได้เข้ายื่นหนังสือเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี โดยมี นายสมหมาย เอี่ยมสะอาด ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล พร้อมนางสุภิญกัลย์ พิภพสิทธิโภคิณ เลขานุการฯ / คณะทำงานศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ฯ ร่วมเข้ารับหนังสือจากนายเอกพจน์ ยอดพินิจ นายกสมาคมกุ้งไทย โดยทางกลุ่มมีข้อเรียกร้องดังนี้ 
1. ขอให้สินค้ากุ้งเป็นวาระแห่งชาติ 
2. การแก้ไขปัญหาเรื่องโรค ให้พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง 
3. กุ้งเป็นสินค้าสำคัญของประเทศ จำเป็นต้องได้รับการปกป้องดูแลจากภาครัฐฯ  โดยนายสมหมายได้รับปากทางกลุ่มว่าจะรีบนำเรื่องดังกล่าวนี้ไปกราบเรียนให้ พณฯนายกรัฐมนตรีได้รับทราบ และจะประสานส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ช่วยหาทางแก้ไขปัญหานี้ และขอให้พี่น้องทุกท่านได้โปรดสบายใจได้ จากนั้นทางกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก็ได้แยกย้ายการชุมนุม


โกสินธ์ จินาอ่อน ผู้ช่วยหัวหน้าคณะทำงาน รายงาน

‘บิ๊กตู่’ ลั่น ยังไม่สรุปขึ้นค่าไฟฟ้างวดใหม่ ชี้ หากปรับขึ้น ก็แค่หน่วยสตางค์เท่านั้น

‘บิ๊กตู่’ ยันยังไม่ขึ้นค่าไฟ แต่ถ้าจะขึ้นก็เป็นแค่หน่วยสตางค์ อ้างราคาต่อหน่วยปัจจุบันก็ 3 บาทกว่าอยู่แล้ว วอน เข้าใจเหตุผลและความจำเป็น เผย กรรมการฯหารือแล้ววานนี้

เมื่อเวลา 12.30 น.วันที่ (9 ส.ค. 65) ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ ถึงความคืบหน้าการพิจารณาขึ้นค่าไฟฟ้าว่า วานนี้ (8 ส.ค. 65) ได้มีการหารือกันซึ่งเป็นการวางแผนล่วงหน้าที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งเขาต้องดำเนินการกันอยู่แล้ว ก็จะต้องมีการพิจารณากันในช่วงต่อไป ในเดือน ก.ย.-ธ.ค.เป็นระยะเวลา 4 เดือนซึ่งก็ต้องพิจารณาว่าทำอย่างไรจะให้เดือดร้อนน้อยที่สุดก็ต้องคำนึงถึงเหตุผลและความจำเป็นต่าง ๆ

“ขอยืนยันเนื่องจากมีหลายคนเอาไปพูดว่าในเรื่องของค่าไฟ จะขึ้นไปหน่วยละ 4 บาท ก็ปัจจุบันราคาก็อยู่ที่ 3 บาทกว่าอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการขึ้นในตรงนี้ ซึ่งจะขึ้นหรือไม่ขึ้นยังไม่รู้ แต่ถ้าจะขึ้นก็จะขึ้นเป็นสตางค์เท่านั้น เพราะฉะนั้นอย่าไปบิดเบือนว่าค่าไฟจะขึ้นเป็น 4 บาทต่อหน่วย เพราะปัจจุบันราคาก็ 3 บาทกว่าอยู่แล้ว และถ้าจำเป็นต้องขึ้นก็ต้องดูว่าขึ้นเพราะอะไรต้องหาสาเหตุให้เจอ วันนี้เราก็ใช้เงินกองทุนพลังงานมาอุดหนุนเกือบทุกส่วน ทั้ง ไฟฟ้า พลังงาน แก๊ส ใช้เงินเป็นแสนล้านบาทไปแล้ว ก็ต้องไปดูว่าจะดูแลช่วยเหลือได้อย่างไรมากน้อยกันแค่ไหน ก็ขอให้เข้าใจในภาพรวมด้วย  อะไรก็ตามที่ประชาชนเดือดร้อน ผมก็ไม่อยากที่จะทำให้ทุกคนเดือดร้อน แต่ก็ขอให้รับฟังเหตุผลและความจำเป็นกันบ้าง ยืนยันว่าจะทำให้ดีที่สุด” นายกรัฐมนตรีกล่าว

‘Apple’ ขอซัปพลายเออร์ไต้หวันติดฉลาก ‘ผลิตในจีน’ เหตุหวั่นถูกปรับ - ปฏิเสธการนำเข้าสินค้า

แอปเปิล (Apple) ได้แจ้งไปยังซัปพลายเออร์ในไต้หวันให้ติดฉลากบนผลิตภัณฑ์ที่จะส่งไปจำหน่ายในจีนแผ่นดินใหญ่ว่า ‘ผลิตในประเทศจีน’ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหากับด่านศุลกากรจีน หลังการไปเยือนไทเปของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ทำให้ประเด็นข้อพิพาทไต้หวันกลับมาร้อนระอุหนัก

หนังสือพิมพ์นิกเกอิของญี่ปุ่นรายงานว่า แอปเปิล ได้แจ้งกำชับไปยังซัปพลายเออร์ในไต้หวันให้ปฏิบัติตามระเบียบของจีนอย่างเคร่งครัด โดยระบุแหล่งผลิตสินค้าที่จะส่งไปจีนว่ามาจาก 'Chinese Taipei’ หรือ ‘Taiwan, China’ เนื่องจากการติดฉลาก ‘Made in Taiwan’ นั้นอาจจะทำให้สินค้าถูกกัก ถูกสั่งปรับ หรือแม้กระทั่งถูกปฏิเสธการนำเข้าจีน

ในส่วนของไต้หวันเองนั้นกำหนดให้ผู้ส่งออกสินค้าระบุแหล่งผลิตว่ามาจาก ‘Taiwan’ หรือ ‘Republic of China’ ซึ่งเป็นชื่อทางการของเกาะแห่งนี้

นโยบายล่าสุดของแอปเปิลเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากพอสมควร โดย GreatFire.org ซึ่งรณรงค์ต่อต้านมาตรการเซ็นเซอร์สื่อออนไลน์ของจีน ระบุว่า แอปเปิลใช้มาตรการที่หนักข้อขึ้นเรื่อย ๆ โดยก่อนหน้านี้ก็เคยเอา emoji รูปธงไต้หวันออกจากคีย์บอร์ดสำหรับผู้ใช้สินค้าแอปเปิลในจีนและฮ่องกงมาแล้ว

'ผบ.ตร.' บรรยายพิเศษ นรต.76 – 79 พี่สอนน้อง เล่าบทเรียนชีวิตตำรวจ ฝากข้อคิด “การรับราชการตำรวจอย่างมีคุณค่า”

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) บรรยายพิเศษแก่นักเรียนนายร้อยตำรวจ ชั้นปีที่ 1 – 4  (นักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 76 – 79 ) จำนวน 806 นาย ในหัวข้อ “การรับราชการตำรวจอย่างมีคุณค่า”  ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อำเภอสามพราน จว.นครปฐม เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา 

พล.ต.อ.สุวัฒน์ฯ เริ่มบรรยายโดยเล่าเกร็ดชีวิตการรับราชการตำรวจของตนเอง ตั้งแต่เข้าเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 20 เข้าเรียนนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 36 บรรจุในตำแหน่ง รองสารวัตรสอบสวน สน.หัวหมาก เลื่อนตำแหน่งเป็นสารวัตร รองผู้กำกับการ ผู้กำกับการ รองผู้บังคับการ ผู้บังคับการ รองผู้บัญชาการ ผู้บัญชาการ ผู้ช่วย ผบ.ตร. รอง ผบ.ตร. กระทั่งได้รับการแต่งตั้ง เป็น ผบ.ตร. 

ผบ.ตร.ถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิต โดยเล่าว่า ทุกช่วงชีวิตรับราชการตำรวจ ต้องมุ่งมั่นทำงาน ทำหน้าที่ในตำแหน่ง ทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด ยกตัวอย่าง เช่น การจัดระเบียบภายในสถานีตำรวจ ขับเคลื่อนให้ผู้ใต้บังคับบัญชาตั้งด่านตรวจค้น จับกุมสิ่งผิดกฎหมาย ในช่วงดำรงตำแหน่ง สวป.สน.หนองแขม ต่อมาครั้งดำรงตำแหน่ง ผกก.สน.ลุมพินี จัดระเบียบใน สน. การกวาดล้างจับกุมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ในพื้นที่ สน.ลุมพินี ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่กระทบต่อประเทศทำให้อาจถูกกีดกันทางการค้า การปฏิบัติอย่างจริงจังส่งผลให้ประเทศไทยผ่านการประเมินจากนานาชาติ รอดพ้นจากการติดบัญชีประเทศเฝ้าระวัง ขณะเดียวกันก็มุ่งมั่นทำงานสืบสวนซึ่งเป็นงานที่ชอบ ถนัด และมีทักษะอย่างมุ่งมั่น ตั้งใจ จนเป็นที่ยอมรับ และมักได้รับมอบหมายให้สืบสวนคลี่คลายคดีสำคัญ เช่น คดีระเบิดในกทม. คดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คดีฆ่านักท่องเที่ยวที่เกาะเต่า จว.สุราษฎร์ธานี และยังริเริ่มทำหลักสูตรฝึกอบรมด้านการสืบสวน พัฒนานักสืบ จนกลายเป็นต้นแบบหลักสูตรการสืบสวนในปัจจุบัน สร้างตำรวจที่เชี่ยวชาญด้านการสืบสวนจำนวนมาก

ทั้งนี้ ผบ.ตร. ได้ฝากข้อคิดการรับราชการตำรวจ แก่นักเรียนนายร้อยตำรวจ ดังนี้

1. อยากจะเจริญก้าวหน้า ต้องหาเรื่องยาก ๆ ทำ อย่าทำเรื่องง่าย ๆ

2. ทุกการเดินทางในแต่ละช่วงชีวิต มีบทเรียนให้เราเรียนรู้เสมอ เช่น การทำคดีเกาะเต่า คดีการเสียชีวิตของแตงโม ดาราสาว ที่โซเชียลมีเดีย และอินฟลูเอนเซอร์ เข้ามามีบทบาท แสดงความคิดเห็นไหลไปตามกระแสสังคม ตำรวจซึ่งเป็นเจ้าพนักงานกระบวนการยุติธรรม ต้องยึดหลักให้ได้ แม้จะสวนกระแสสังคม ดังนั้นต้องเรียนรู้ ปรับตัว ยอมรับ เอาตัวรอดให้ได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง 

3. ชีวิตขึ้นต้นมาเรื่องหนึ่ง เราไม่รู้ตอนลงท้ายเป็นอย่างไร อาจมีคนเขียนบทละครไว้ อย่าไปตั้งเป้ายศถาบรรดาศักดิ์ หรือตำแหน่ง เด็กบางคนมีเป้าหมายมีฐานะ ติดยศเร็ว คิดแบบไหนก็ไม่มีใครผิด แล้วแต่จริตของแต่ละคน 

4. ชีวิตเดินคนเดียวไม่ได้ การทำงานต้องมีผู้บังคับบัญชา และต้องรักษาลูกน้องให้ดี “ผมเป็นแบบนี้ถ้าจะเลือก ระหว่างงาน ผู้บังคับบัญชา ประโยชน์ จะด้วย เกียรติยศ ชื่อเสียงเงินทอง ผมเลือกงาน กับผู้บังคับบัญชาก่อน ผมเลือกงานที่ชอบและมีผู้บังคับบัญชาที่ดี เพราะประสบการณ์ชีวิต สอนเราว่า ชีวิตนี้เราเดินคนเดียวไม่ได้ เราต้องหาคนไปกับเรา หาผู้บังคับบัญชา หาเพื่อนร่วมงาน หาลูกน้อง โดยเฉพาะลูกน้องที่ดีต้องรักษาไว้ยิ่งชีพ เป็นของขวัญที่พระเจ้าประทานมา ไม่ต้องคบคนเยอะ ดูแลลูกน้องที่เขาเดินตามเรา เราดูแลเขา เขาดูแลเรา เรื่องความเจริญก้าวหน้า เงินทอง เอาไว้ทีหลัง ผมไม่เคยเอามาเป็นตัวพิจารณาในการรับราชการ” ผบ.ตร.กล่าว

เมียนมาส่งตัวครูแดนกลับไทยแล้ว ให้การบอกไปเขตว้าแดงไม่ได้ถูกหลอก

เวลา 09.30 น. วันที่ (9 ส.ค. 65) พ.อ.สุทธิ์เขตต์ ศรีนิลทิน ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 3 กองกำลังผาเมือง มอบหมายให้ พ.อ.ทรงภพ ชาญเดช รอง ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 3 กองกำลังผาเมือง เดินทางมาที่ สะพานมิตรภาพไทยเมียนมาแห่งที่ 2 อำเภอแม่สายจังหวัดเชียงราย เพื่อรับมอบตัว นายระม้าย โมริพันธ์  หรือ "แดนนี่ "หรือ "ครูแดน"  อายุ 40 ปี ชาว อ.ภูพาน จ.สกลนคร ผู้กำกับละครและครูสอนศิลปะการต่อสู้ให้กับดารานักแสดง จากทางการเมียนมา 

หลังจากก่อนหน้านี้ได้ถูกคุมขังอยู่ในคุกเมืองโต๋น ประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นเขตปกครองของรัฐว้า โดยเจ้าหน้าที่รัฐว้าได่นำตัวมาส่งให้เจ้าหน้าที่ทหารเมียนมาที่ จ.ท่าขี้เหล็ก ตรงกันข้าม อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. 65 ที่ผ่านมา โดยทางเจ้าหน้าที่เมียนมาได้สอบปากคำครูแดนแล้วเสร็จแล้วโดยใช้เวลาประมาณ 1 วัน จากนั้นได้ติดต่อมายังฝั่งไทยผ่านกลไกลชายแดนทางคณะกรรมการชายแดนไทย-เมียนมา ระดับท้องถิ่น หรือทีบีซ๊ เพื่อขอส่งมอบตัวครูแดนกลับสู่ประเทศไทยแล้ว โดยจะใช้ช่องทางตรงจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 2

'ส.ว.สมชาย' กางรธน. ชี้ 8 ปีนายกฯ นับถึงวันไหน!! ทางกฎหมายเป็นได้แค่ 2 ทาง นับถึง 2568 และ 2570

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ '8 ปีนายกลุงตู่นับถึงวันไหน' ระบุว่า...

ความเห็นทางกฎหมายเป็นได้แค่ 2 ทาง คือ...

1) แบบที่ 1 คือนายกลุงตู่ พลเอกประยุทธ หัวหน้าคสช. ที่มาจากรัฐประหารและขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในฐานะรัฐถาธิปัตย์ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เมื่อ 24 ส.ค. 2557 ไม่อาจนับเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาตามกรอบมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ เพราะไม่ได้มาจากการเลือกกันในรัฐสภาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

แต่หากยังต้องนำบทเฉพาะกาล มาตรา 264 มานับวันที่ให้ ครม. ที่บริหารราชการแผ่นดินก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ทำหน้าที่เป็นครม.ได้ต่อไป ซึ่งรวมถึงนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ด้วย  

>> ดังนั้นการนับครบ 8 ปีแบบนี้ จึงต้องนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ2560 ใช้บังคับคือ 6 เม.ย. 2560 และนับตามบทเฉพาะกาลมาตรา 264 

>> #นายกลุงตู่จะครบ 8 ปี วันที่ 5 เม.ย. 2568...

‘ลุงตู่’ เอ็นดูน้องวงโยธวาทิต ถึงขั้นจัดหมวกให้ แนะ ตอนแสดงให้ยิ้มแย้ม อย่าทำหน้าเครียด

‘นายกลุงตู่’ ปลื้มวงโยธวาทิตไทยไปแสดงนานาชาติ ให้กำลังใจประสบความสำเร็จ ‘แนะ’ ยิ้มแย้มแจ่มใสอย่าเครียด ขอขยันเป็น 2 เท่าการเรียนต้องไม่เสีย

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 9 ส.ค.ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยก่อนประขุม เมื่อเวลา 08.30 น. ที่บริเวณด้านหน้าตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายโกสินทร์ สืบประสิทธิ์วงศ์ นายกสมาคมวงโยธวาทิตแห่งประเทศไทย นำวงโยธวาทิตที่จะเข้าร่วมการแสดงในเทศกาลวงโยธวาทิตนานาชาติ ณ กรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และทำการแสดง ให้นายกฯรับชม ได้แก่นักเรียนโรงเรียนบุญวัฒนา จ.นครราชสีมา และโรงเรียนประชามงคล จ.กาญจนบุรี

รัสเซีย จัดทำประชามติผนวกดินแดน 'ซาปอริซห์เซีย' เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซียในเร็วๆ นี้

ผู้ว่าการแคว้นซาปอริซห์เซียของยูเครน เตรียมจัดประชามติ ผนวกดินแดนกับรัสเซีย

รัสเซียเตรียมเดินเกมสุดซอยอีกครั้ง เมื่อเยฟเกนี บาลิทสกี ผู้ว่าการแคว้นซาปอริซห์เซีย (Zaporizhzhia) ที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลรัสเซีย ได้ออกกฎหมายให้จัดทำประชามติในการผนวกดินแดนเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซียในเร็ว ๆ นี้

ซาปอริซห์เซีย เป็นหนึ่งในแคว้นทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน อยู่ระหว่างแคว้นโดเนสค์ และเคอร์ชอน และยังติดกับทะเลอาซอฟด้วย เศรษฐกิจหลักของเมืองนี้ คือการผลิตอลูมิเนียม เหล็ก เครื่องจักร รถยนต์ เครื่องยนต์อากาศยาน นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ซาปอริซห์เซีย ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป 

และเช่นเดียวกันกับแคว้นโดเนสค์ และเคอร์ชอน ซาปอริซห์เซียเป็นพื้นที่แรก ๆ ที่อยู่ในแผนการบุกของรัสเซียตั้งแต่เริ่มเปิดศึก และยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองไว้ได้ รวมถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซห์เซีย และทางรัสเซียก็ได้จัดตั้งองค์กรบริหารท้องถิ่นของตนเข้าไปดูแลแทน ซึ่ง เยฟเกนี บาลิทสกี ได้รับเลือกให้ดูแลพื้นที่ส่วนยึดครองของรัสเซีย

แต่ทั้งนี้การตัดสินใจที่จะเร่งให้มีการผนวกดินแดน ซาปอริซห์เซีย เกิดขึ้นหลังจากที่มีการโจมตีโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซห์เซีย ซึ่งทั้งฝ่ายยูเครน และรัสเซีย ต่างกล่าวโทษกันและกันว่าเป็นฝีมือของอีกฝ่ายเป็นผู้โจมตี 

เรื่องร้อนถึง อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เรียกร้องให้ส่งหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบให้ และหลังจากมีข่าวว่าทาง UN จะส่งคนเข้ามา จึงมีข่าวลือว่าฝ่ายรัสเซียจะทำประชามติเพื่อผนวกดินแดนโดยเร็ว

ด้านโวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ผู้นำยูเครน จึงออกมาแถลงออกสื่อว่า หากรัสเซียจะทำประชามติเพื่อผนวกดินแดนในพื้นที่ยึดครองของกองกำลังรัสเซียเมื่อใด ก็จะไม่มีการเจรจาเพื่อยุติสงครามใดๆ อีก ซึ่งเซเลนสกี้ย้ำว่า ยูเครนจะไม่ยอมยกดินแดนที่เป็นของเราให้ใครเป็นอันขาด  

ฝนถล่ม 'เกาหลีใต้' น้ำท่วมกรุงโซล รุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี

ฝนถล่มเกาหลีใต้ น้ำท่วมหนักกรุงโซล และพื้นที่อื่น ๆ ทางตอนกลางของประเทศ บางจุดน้ำท่วมสูงมิดหลังคารถ และยังมีน้ำทะลักรถไฟใต้ดินด้วย

(9 ส.ค. 65) สื่อต่างประเทศรายงานว่า หลายพื้นที่ในกรุงโซล เมืองหลวงเกาหลีใต้ ถูกน้ำท่วมหลังฝนถล่มลงมาอย่างหนัก เมื่อวันจันทร์ (8 ส.ค.) โดยน้ำท่วมรถยนต์หลายคันที่จอดอยู่ ขณะที่ประชาชนต้องอพยพหนีน้ำท่วม

หลายพื้นที่ในกรุงโซลของเกาหลีใต้ เผชิญฝนตกอย่างหนักตั้งแต่ช่วงบ่ายวานนี้ หลังมีปริมาณน้ำฝนมากสุดถึง 170 มิลลิเมตรทางตอนกลางของประเทศ ถือว่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ 

ส่วนกรุงโซลเผชิญฝนตกหนักกว่า 90 มิลลิเมตรเมื่อถึงช่วงค่ำ โดยช่วงเวลา 20.00 น. วัดปริมาณน้ำฝนได้ 90.5 มิลลิเมตร ส่วนเขตดองจัค ตอนใต้ของกรุงโซล วัดได้ 137 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งถือว่าหนักที่สุดในรอบหลายสิบปี 

กรมประมงฯ ยันนำเข้ากุ้งจาก 'อินเดีย-เอกวาดอร์' เป็นมติร่วมกันของบอร์ดกุ้งภายใต้แผนพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งไทย

กรมประมง สมาคมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งและภาคเอกชนร่วมแถลงยืนยันการนำเข้ากุ้งจากอินเดียและเอกวาดอร์เป็นมติร่วมกันของบอร์ดกุ้งภายใต้แผนพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งไทย มั่นใจไม่กระทบผลผลิตและราคาเพราะมีระบบประกันราคากุ้งโดยภาคเอกชนเป็นโมเดลแรกของประเทศ

(8 ส.ค.65) นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมงแถลงวันนี้ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) ว่า จากการที่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลและผู้ประกอบการแปรรูปและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ได้จับมือร่วมกันเพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก โดยตั้งเป้าหมายให้ได้ผลผลิต 400,000 ตัน ในปี 2566 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ หรือ Shrimp board ซึ่งประกอบด้วย ภาครัฐ ได้แก่ กรมประมง และกรมการค้าภายใน ผู้แทนผู้ประกอบการแปรรูปและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รวมถึงผู้แทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล รวม 21 ท่าน ร่วมกันวางแผนเพื่อบริหารจัดการผลผลิตกุ้งทะเลตลอดห่วงโซ่การผลิต ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งนี้ การดำเนินงานต้องสร้างความมั่งคงด้านการตลาดตามนโยบายการตลาดนำการผลิตของรัฐบาล ซึ่งภายใต้ข้อตกลงร่วมกันของ Shrimp Board ได้มีการดำเนินการรักษาเสถียรภาพราคาของกุ้งขาวแวนนาไม โดยมีระยะเวลาการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 ถึง 31 ธันวาคม 2565 ทำให้ราคาจำหน่ายกุ้งขาวฯ เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมา

พันธกิจที่สำคัญ คือ กรมประมงจัดทำแผนการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเล โดยในปี 2565 มีเป้าหมาย 320,000 ตัน และ ปี 2566 มีเป้าหมาย 400,000 ตัน ภายใต้แนวทางการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทย 11 แนวทาง โดยมีแนวทางหลัก ดังนี้  การบริหารเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ ผ่านกลไกคณะทำงานแก้ไขปัญหาการเลี้ยงกุ้งทะเล ระดับพื้นที่ ๓๕ จังหวัด การแก้ไขปัญหาด้านโรคกุ้งทะเล ซึ่งเป็นปัญหาหลักและเป็นต้นทุนแฝงของการเลี้ยงกุ้ง มีการจัดคลินิกเคลื่อนที่ (Mobile clinic) และสายด่วนปรึกษาปัญหาโรคสัตว์น้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรได้อย่างทันท่วงที  การจัดการการเลี้ยง มีการถอดบทเรียนและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร ส่งเสริมให้มีปราชญ์เลี้ยงกุ้งหรือฟาร์มเลี้ยงกุ้งต้นแบบในแต่ละพื้นที่ มีการสนับสนุนการใช้จุลินทรีย์และส่งเสริมให้ชมรมหรือกลุ่มเกษตรกรผลิตจุลินทรีย์ ปม.๒ การปรับปรุงพันธุ์กุ้งทะเล กรมประมงได้พัฒนาพันธุ์กุ้งขาวฯ สายพันธุ์สิชล 1 ผลิตและจำหน่ายเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกร  การจัดหาแหล่งทุน โดยการจัดทำโครงการเสริมสภาพคล่องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล ปี 2565 ระยะที่ 1 เพื่อเป็นแหล่งสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยให้กับเกษตรกร ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานข้างต้นมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมาย กรมประมงจึงกำหนดให้มีการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลเป็นประจำทุกเดือน  

ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานตั้งแต่เดือนมกราคม - กรกฎาคม 2565 ประเทศไทยมีผลผลิตกุ้งทะเลจากการเพาะเลี้ยงรวมทั้งสิ้น 138,733.18 ตัน จำแนกเป็นกุ้งขาวแวนนาไม 129,100.44 ตัน (ร้อยละ 93.06) และกุ้งกุลาดำ 9,632.74 ตัน (ร้อยละ 6.94) โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค. - ก.ค. 64) ผลผลิตลดลงร้อยละ 3.09 ซึ่งถึงแม้ว่ากรมประมงจะมีนโยบายในการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเล และลงพื้นที่ดูแลพี่น้องเกษตรกรอย่างใกล้ชิด แต่การขาดความเชื่อมั่นด้านราคาเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรไม่ปล่อยกุ้งลงเลี้ยงอย่างเต็มศักยภาพ ทำให้ผลผลิตกุ้งทะเลในภาพรวมลดลง ดังนั้น เพื่อรักษาตลาดและผู้ประกอบการส่งออกสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ Shrimp Board จึงมีข้อตกลงร่วมกันในการนำเข้าวัตถุดิบกุ้งทะเลจากต่างประเทศเฉพาะช่วงเวลาและปริมาณผลผลิตภายในประเทศมีปริมาณน้อย ภายใต้เงื่อนไขที่ห้องเย็นและโรงงานแปรรูปจะรับซื้อผลผลิตกุ้งทะเลจากเกษตรกรโดยประกันราคาซื้อ - ขายขั้นต่ำ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาของกุ้งทะเลภายในประเทศไว้ โดยเริ่มดำเนินการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ส่งผลให้ราคากุ้งทะเลภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ผลการดำเนินโครงการดังกล่าวทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไม่ประสบปัญหาราคากุ้งตกต่ำเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

โดยในปี 2565 Shrimp Board กำหนดแผนการนำเข้าวัตถุดิบกุ้งทะเลจากสาธารณรัฐเอกวาดอร์และสาธารณรัฐอินเดีย ปริมาณรวม 10,501 ตัน ทั้งนี้ ตั้งแต่มีการอนุญาตให้นำเข้าฯ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2565 มีการนำเข้ากุ้งขาวฯ จากสาธารณรัฐเอกวาดอร์ในเดือนมิถุนายน 2565 จำนวน 41.95 ตัน คิดเป็นมูลค่า 10.24 ล้านบาท แต่ยังไม่พบการนำเข้ากุ้งขาวฯ จากสาธารณรัฐอินเดีย

ถึงแม้ว่ากรมประมงจะมีการอนุญาตให้นำเข้ากุ้งจากสาธารณรัฐเอกวาดอร์และสาธารณรัฐอินเดีย แต่กรมประมงให้ความสำคัญกับการควบคุมโรค โดยดำเนินการอย่างรัดกุมก่อนการอนุญาตให้นำเข้ากุ้งทะเลจากสาธารณรัฐเอกวาดอร์และสาธารณรัฐอินเดีย โดยได้ประเมินระบบการควบคุมโรคของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งมีข้อกำหนดในการพิจารณาหลายมิติครอบคลุมทั้งห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลแช่แข็งสำหรับการส่งออกมายังประเทศไทย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดการแพร่กระจายเชื้อก่อโรคข้ามพรมแดนผ่านการนำเข้ากุ้งทะเลแช่แข็งอย่างเด็ดขาด ซึ่งประเทศต้นทางที่ไทยจะนำเข้าสินค้ากุ้งทะเลนั้นจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กรมประมงกำหนดอย่างเข้มงวด และและเมื่อสินค้ามาถึงประเทศไทย จะต้องถูกดำเนินการควบคุมโรคภายใต้พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 โดยสินค้าจะต้องเข้าสู่ระบบการกักกันเพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมประมงดำเนินการสุ่มตรวจเชื้อก่อโรคกุ้งทะเลที่สำคัญ ได้แก่ โรคไอเอ็มเอ็น (IMN) โรคตัวแดงดวงขาว (WSD) โรคหัวเหลือง (YHD) โรคทีเอส (TS) โรคไอเอชเอชเอ็น (IHHN) โรคเอ็นเอชพี (NHP) และโรคดีไอวี วัน (DIV 1) ตามบัญชีรายชื่อของ OIE รวมทั้งมีการสุ่มตรวจสารตกค้าง เช่น Chloramphenicol Nitrofurans และ Malachite green ภายใต้พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 โดยการสุ่มตัวอย่างทั้งหมดสอดคล้องตามหลักการสากลตามที่ OIE และ CODEX กำหนดไว้ และหากมีการตรวจพบเชื้อก่อโรคและ/หรือตรวจพบสารตกค้างเกินเกณฑ์มาตรฐาน สินค้าเหล่านั้นจะถูกทำลายหรือตีกลับประเทศต้นทางทันที จึงมั่นใจได้ว่าสินค้ากุ้งทะเลที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาในประเทศไทยนั้น ได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มงวดทั้งจากต้นทางและเมื่อถึงประเทศไทย อีกทั้งสินค้าเหล่านั้นจะถูกนำไปแปรรูปเพื่อการส่งออกเท่านั้น

นายครรชิต เหมะรักษ์ นายกสมาคมเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย กล่าวถึง ความร่วมมือของเกษตรกรและผู้แปรรูปผ่านกลไก Shrimp Board ว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลประสบปัญหาทั้งด้านราคาตกต่ำและต้นทุนการผลิตที่สูง ส่งผลให้ประสบปัญหาภาวะขาดทุน แรงจูงใจที่สำคัญของเกษตรกรในการประกอบอาชีพการเลี้ยงกุ้งทะเล คือ ปัจจัยด้านราคา ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา เกษตรกรต้องแก้ไขปัญหาด้านราคาตกต่ำด้วยวิธีการของตนเอง ผ่านกลไกการร้องขอจากรัฐบาล ซึ่งการจัดตั้ง Shrimp Board ในครั้งนี้ เป็นการจับมือของเกษตรกรและผู้แปรรูปเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ของอุตสาหกรรมกุ้งทะเลไทย

การผลักดันให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก ปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ ผลผลิตต้องเพียงพอเพื่อสามารถต่อรองในตลาดโลกได้ จากการหารือร่วมกันใน Shrimp Board การนำเข้ากุ้งขาวฯ เพื่อมาทดแทนในช่วงที่ผลผลิตภายในประเทศมีปริมาณลดน้อยลงเพื่อรักษาตลาดมีความจำเป็น และขณะเดียวกันทำอย่างไรเกษตรกรภายในประเทศต้องไม่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้า Shrimp Board จึงตกลงร่วมกันให้มีการรักษาเสถียรภาพราคา เพื่อไม่ให้เกษตรกรภายในประเทศประสบปัญหาราคาตกต่ำเหมือนในอดีตที่ผ่านมา และยังเป็นแรงจูงใจที่สำคัญในการเลี้ยงกุ้งทะเลต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นการตอบโจทย์ที่แท้จริง เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก

นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย กล่าวถึงการพัฒนาศักยภาพการผลิตกุ้งทะเลของเกษตรกรไทย ว่า ปัจจุบันผลผลิตกุ้งทะเลของไทยอยู่ในปริมาณ 250,000 ถึง 350,000 ตัน เท่านั้น ผลผลิตที่ได้ไม่แน่นอน ซึ่งในแต่ละพื้นที่มีความพร้อมของเกษตรกรไม่เท่ากัน และมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันทั้งภูมิประเทศและภูมิอากาศ ซึ่งจากข้อมูลของกรมประมงพบว่า มีเกษตรกรผู้ประกอบกิจการการเลี้ยงกุ้งทะเลประมาณ 30,000 กว่าราย โดยมีพื้นที่ประมาณ 600,000 กว่าไร่ ซึ่ง Shrimp Board ร่วมกันคิดเพื่อให้แนวทางการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลให้ได้ 400,000 ตัน ในปี 2566 บรรลุเป้าหมาย โดยหลักการที่สำคัญ คือ เกษตรกรสามารถเลี้ยงกุ้งได้ตามศักยภาพของตัวเองในแต่ละพื้นที่ ผ่านกลไกการสร้างปราชญ์ชาวบ้านหรือผู้รู้ในพื้นที่ โดยสรรหาผู้ที่สามารถเลี้ยงกุ้งได้ในภาวะวิกฤตหรือในภาวะที่เกษตรกรรายอื่นเลี้ยงกุ้งไม่ได้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top