Saturday, 12 October 2024
Y WORLD

มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชีย ประจำปี 2021 จัดอันดับโดย QS World University Rankings

การจัดอันดับ มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก โดย QS หรือ Quacquarelli Symonds ซึ่งเป็นผู้ให้บริการการวิเคราะห์และข้อมูลเชิงลึกชั้นนำของโลกสำหรับภาคการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วโลก ซึ่งครั้งนี้เป็นการรวบรวมรายชื่อมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชีย ประจำปี 2021 มีมหาวิทยาลัยไหนบ้าง ไปดูกัน!

1.) อันดับ 11 ของทั้งโลก National University of Singapore (NUS

2.) อันดับ 13 ของทั้งโลก Nanyang Technological University, Singapore (NTU)

3.) อันดับ 15 ของทั้งโลก Tsinghua University

4.) อันดับ 22 ของทั้งโลก The University of Hong Kong

5.) อันดับ 23 ของทั้งโลก Peking University

6.) อันดับ 24 ของทั้งโลก The University of Tokyo

7.) อันดับ 27 ของทั้งโลก The Hong Kong University of Science and Technology

8.) อันดับ 34 ของทั้งโลก Fudan University

9.) อันดับ 37 ของทั้งโลก Seoul National University

10.) อันดับ 38 ของทั้งโลก Kyoto University


ขอบคุณที่มา : 

https://www.topuniversities.com/university-rankings/world-university-rankings/2021

https://www.sanook.com/campus/1402911/

ทำความรู้จักกับ ‘Music Medication’ เพราะเรียนดนตรีไม่ใช่แค่เรื่องของเด็ก บทสัมภาษณ์จากประสบการณ์ตรงของครูสอนเปียโนและนักอรรถบำบัด ที่สอนได้ตั้งแต่เด็กเล็ก เด็กพิเศษ วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ไม่เว้นแม้วัยสูงอายุ (ตอนที่ 1)

ณ สตูดิโอเปียโนแห่งหนึ่ง ย่าน ม.เกษตร บางเขน ที่ที่ครูส้ม ครูสอนเปียโนและนักอรรถบำบัดหรือนักแก้ไขการพูดใช้เป็นสถานที่สอนดนตรีและสอนอรรถบำบัด สตูดิโอนี้ดูเหมือนกับห้องนั่งเล่นของเพื่อนมากกว่าห้องเรียนดนตรี ครูส้มนั้นเป็นครูที่มีเทคนิคสอนดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ เนื่องจากครูเรียนจบด้านความผิดปกติของการสื่อความหมายจากคณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี พร้อมประสบการณ์นักอรรถบำบัดมาหลายปี และผันตัวเองมาเป็นนักดนตรีเพราะใจรักอย่างเต็มตัว 

ทักษะ ประสบการณ์ และความรู้เฉพาะทางของครูส้มบูรณาการกัน ออกมาเป็นสูตรการสอนที่มีความเฉพาะ ไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิม เน้นผลลัพธ์และสามารถปรับใช้กับทุกเพศทุกวัยได้อย่างหาตัวจับยากในเมืองไทยเลยก็ว่าได้ และคงจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย หากได้พูดคุยกับครู

ตอนนี้ครูส้มทำอะไรบ้างคะ?

ตอนนี้ส้มเป็นครูสอนเปียโน สอนดนตรีเด็กเล็ก สอนอรรถบำบัด แล้วก็สะสมเครื่องเล่นดนตรีสไตล์วินเทจจนตอนนี้กลายเป็นอีกงานนึงไปด้วย

เครื่องเล่นดนตรีสไตล์วินเทจหรอคะ? 

ใช่ค่ะ เครื่องดนตรีวินเทจ มันมีเสน่ห์ ทั้งเสียงและดีไซน์ไม่เหมือนใคร เล่นง่าย เล่นสนุก ทำให้นึกถึงความทรงจำตอนเด็ก ๆ แล้วก็หาซื้อไม่ได้แล้ว

ครูสอนเปียโนระดับไหน สอนวัยอะไรบ้าง?

ส้มสอนได้ทุกระดับทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็ก วัยผู้ใหญ่ไปจนอายุ 80 ปีก็มี

ทำไมตอนนั้นถึงเลือกเรียนเกี่ยวกับความผิดปกติทางการสื่อสาร?

เอาจริง ๆ คือตอนนั้นอยากเรียนภาษามือ แล้วก็คิดเอาเองว่าเรียนคณะนี้แล้วจะได้เรียนภาษามือ พอได้เข้ามาเรียนแล้ว เราก็แบบ อ้าว ภาษามือมันต้องไปเรียนอีกคณะนึงนี่หน่า (ครูหัวเราะ) แต่เราก็ยังเลือกที่จะเรียน และได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ มากมาย

พอได้หลงเข้าไปเรียนแล้วเป็นไงบ้าง?

สนุกดี จบมาก็ได้ทำงานตรงสาย เป็นนักอรรถบำบัดมากว่า 10 ปีแล้ว แล้วส้มได้เรียนเกี่ยวกับจิตวิทยาด้วย ซึ่งส้มเอาหลักจิตวิทยามาใช้ในการสอนดนตรี เวลาเจอเด็กพิเศษ เราก็สามารถช่วยเค้าได้มากกว่าครูสอนดนตรีทั่วไป จริง ๆ จิตวิทยาไม่ใช่วิชาหลักของคณะที่เรียนแต่มันเป็นส่วนสำคัญในการบำบัดที่ส้มนำมาปรับใช้ได้ดีจนถึงทุกวันนี้ 



ครูส้มคิดว่าการให้ลูกเรียนดนตรีมันดียังไง?

การเรียนดนตรีเป็นผลดีทั้งนั้น ทั้งนี้ ส้มอยากให้กลับไปดูที่วัตถุประสงค์ก่อน ว่ามาเรียนเพราะอะไร อย่างที่มาเรียนกันบางคนมาเรียนตามเทรนด์ บางคนอยากให้ลูกมีโปรไฟล์ความสามารถพิเศษ หรือพ่อแม่ที่ไม่มีโอกาสได้เรียน ก็อยากให้ลูกไปเรียน เหตุผลสุดท้ายคือ เด็กอยากมาเรียนเอง ซึ่งเคสนี้เจอน้อยสุด สามเคสแรกจะเจอบ่อย แต่เหตุผลสามอันแรกที่ไม่ได้เกิดจากตัวเด็กเองส้มว่าไม่จำเป็น 

เพราะประโยชน์จากดนตรีมันไม่ใช่ว่าจะหาจากที่อื่นไม่ได้ สามารถหาจากกิจกรรมอื่นก็ได้ อย่างเช่น ปั้นดินก็ได้ เรียนศิลปะก็ได้ กวนทรายก็ได้ หรืออย่างของส้มเป็นเปียโน หลาย ๆ ครั้ง ส้มก็จะใช้กิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับเปียโนมาเสริม ในฐานะครู ส้มรู้ว่าได้ประโยชน์เหมือนกัน ส่วนตัวส้มว่าอิงจากความชอบดีกว่า ถ้าเค้าชอบเค้าจะทำได้ดี และเค้าจะได้ประโยชน์ในเรื่องพัฒนาสมองได้เต็มที่กว่าด้วย

แปลว่าถ้าเค้าชอบและอยากมาเรียนเอง เค้าก็จะเรียนได้ดีด้วยมั้ย?

ใช่ อันนี้ตอบได้เต็มปาก ตัวชี้วัดที่ส้มให้ว่าใครจะเรียนได้ดีหรือไม่ดีมีสองตัวชี้วัด คือ ความชอบกับวินัย ส้มให้ความชอบกับวินัยอย่างละครึ่ง ๆ เลย ถึงจะชอบแต่ไม่มีวินัยเรียนให้ตายก็เล่นไม่ได้ ได้เล่นเพื่อผ่อนคลายเฉย ๆ หรือถ้าเด็กถูกฝึกให้มีวินัยแต่ไม่ชอบ ส่วนใหญ่จะเล่นได้แต่ไม่มีความสุข พอถึงจุดหนึ่งเมื่อเค้าเจอสิ่งที่เค้าชอบเค้าจะหยุด เค้าจะไปเอาดีอย่างอื่น ไม่เอาอันนี้ ที่ฝึกมาก็สูญเปล่า สูญเสียเวลาที่จะไปใช้ฝึกฝนกับสิ่งที่ตัวเองสนใจจริง ๆ ด้วย

อย่างเด็กที่ส้มสอน เด็กบางคนมาเพราะความชอบเลย เค้าก็ทำได้ดีไปเลย หรือกับบางคนเค้าดูเหมือนชอบตอนแรก เพราะเราจะสร้าง trust กับเค้าก่อน แต่พอถึงตอนที่ต้องใช้ความพยายามเด็กก็ไม่อยากทำ 

เด็กไปบอกพ่อแม่ว่า ไม่ทำแล้วมันยาก ซึ่งถ้าถึงตรงนี้พ่อแม่ให้กำลังใจเพื่อให้เค้าไปต่อจนเค้าผ่านคอขวดตรงนี้ได้ เค้าจะรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง รู้สึกได้ทำสิ่งที่ยากสำหรับเค้าได้ด้วยตัวเอง แล้วเค้าจะเริ่มสร้าง self-confidence หรือความเชื่อมั่นในตนเอง หลังจากนั้นจะสบายละ เค้าจะไปต่อได้ของเค้าเอง แต่ถ้าพ่อแม่คิดว่าลูกไม่ชอบ คิดว่าดนตรีคงไม่ใช่ทางของเค้าและหยุดก่อนที่จะหลุดคอขวดนี้ไปได้ พอเค้าไปเรียนวิชาอื่นหรือเรียนสิ่งอื่น เค้าก็จะไม่หลุดคอขวดของความยากไปได้เหมือนกัน เค้าจะหยุดแค่นั้น

สุดท้ายไม่ก่อเกิดการสร้าง self-confidence แล้วทีนี้เราต้องมาใช้ reinforcement หรือแรงผลักจากภายนอก เช่น การให้รางวัล หนูทำอันนี้สิจะได้รางวัล ส่วนตัวส้มมองว่ามันเป็นผลลัพธ์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ เปรียบเทียบเหมือนกับสินค้าจีนแดงกับสินค้าญี่ปุ่น สินค้าที่พอใช้ได้แต่คุณภาพอาจไม่ดี การเล่นดนตรีหรือกิจกรรมอื่น ๆ ก็เช่นกัน ถ้าใช้แรงภายนอกมากระตุ้น ก็พอให้ทำได้แต่คุณภาพอาจจะไม่ดี

(การสร้าง trust หรือสร้างความไว้ใจที่ครูส้มกล่าวถึง เป็นเทคนิคทางจิตวิทยาที่ใช้เพื่อทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยและสบายใจที่จะเรียนกับเรา) 

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กเค้าจะชอบหรือไม่ชอบ?

อันนี้ถ้าในเด็กที่ยังเล็กอยู่ ต้องอาศัยความแม่นยำของพ่อแม่ พ่อแม่ต้องมองให้ขาด ถ้าพ่อแม่มองไม่ขาด พ่อแม่จะเห็นเหมือนกับว่าลูกไม่ชอบอะไรเลยซักอย่าง อย่างเช่นเด็กกลุ่มที่ชอบเล่นแบบ Free Play หรือการเล่นแบบอิสระ เค้าจะไม่ชอบทำอะไรซ้ำ ๆ เค้าจะเหมาะกับการเล่น playground ในสนามเด็กเล่นที่ได้สร้างจินตนาการเปิดโลกมากกว่า ซึ่งแบบนี้จะไม่ค่อยได้ทำอะไรซ้ำ ๆ  ส่วนดนตรีเป็นกลุ่มการเรียนที่ต้องการการทำซ้ำ ต้องฝึกฝนถึงจะทำได้ ได้ฝึกความอดทน ถ้าพ่อแม่มองไม่ขาด คิดว่าลูกไม่ชอบ แล้วให้ลูกเรียนเป็นสิบ ๆ อย่าง แต่ผลสัมฤทธิ์ไม่ดีซักอย่างเลย เพราะไม่ได้ทำอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างจริงจัง ของพวกนี้มันต้องใช้เวลา

อายุมีผลต่อการเรียนดนตรีมั้ย? 

มีผล เด็กมากยังไม่ได้ฝึกวินัย การเลี้ยงดูก็มีส่วน ถ้าเด็กถูกเลี้ยงโดยพี่เลี้ยงเด็ก เค้าถูกตามใจบ่อยและอาจจะไม่มีวินัยได้ ฉะนั้น ส้มจะถามพ่อแม่ที่นำลูกมาเรียนก่อนว่าที่บ้านเด็กช่วยทำงานบ้านมั้ย กินข้าวเองมั้ย ใส่เสื้อเองติดกระดุมเองรึเปล่า ดูตามวิวัฒนาการ ประมาณ 4 ขวบ ควรเริ่มมีวินัยละ เล่นของเล่นเสร็จเก็บของเอง ช่วยเก็บจานที่พอถือไหวได้

เห็นมีสอนเด็กพิเศษด้วย เด็กพิเศษกับเด็กธรรมดาแตกต่างกันยังไงคะ?

ความแตกต่างจะสังเกตอย่างง่าย ๆ ได้ตอนเด็กอายุ 4 ขวบขึ้นไป วัย 4 ขวบเค้าจะเริ่มตอบคำถามเชิงเหตุผลได้ ถ้าเด็กตอบไม่ตรงวัย เช่น ถ้าเราถามว่า ทำไมหนูไม่ชอบอันนี้ แล้วเด็กตอบเป็นเหตุเป็นผลไม่ได้ บอกได้แค่ว่าชอบหรือไม่ชอบเท่านั้น ซึ่งวัย 4 ขวบควรจะเริ่มตอบได้แล้ว หรือสังเกตจากกล้ามเนื้อเด็ก ที่ควรพัฒนาตามวัยด้วย ส้มก็จะใช้วิธีสอนที่ต่างกันให้เหมาะสมกับเด็ก

พ่อแม่ที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษควรส่งลูกไปเรียนดนตรีมั้ย?

ไม่จำเป็น แต่เรียนก็ดี ขึ้นอยู่ที่ครูด้วยว่าครูผู้สอนเข้าใจการสอนเด็กพิเศษมั้ย ถ้าเป็นครูที่ไม่รู้การสอนเด็กพิเศษเรียนไปก็ไม่ได้อะไรเพราะมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของเด็กพิเศษ

ถ้าอยากจะแก้ปัญหาจริง ๆ อับดับแรกต้องไปหาหมอก่อนแล้วค่อยไปหานักบำบัด จะเลือกใช้ดนตรีบำบัดก็ต้องเป็นนักดนตรีบำบัดที่มีใบรับรอง ซึ่งหมอก็อาจจะเลือกกิจกรรมอื่นในการบำบัด การเรียนดนตรีเฉย ๆ ไม่ใช่การบำบัด เด็กบางคนอาจไม่ตอบสนองกับดนตรี ดนตรีเป็นเหมือนอาหารเสริม ไม่ใช่อาหารหลัก การเรียนดนตรีเฉย ๆ ยังไม่ใช่ดนตรีบำบัด

ก่อนที่เราจะคุยกับครูส้ม เราได้เข้าไปดูคลิปการสอนในเพจของครูก่อน ในคลาสดนตรีของครูส้มนั้น ครูไม่ได้เพียงสอนเปียโนอย่างเดียว แต่มีกิจกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากการเรียนเปียโนให้เด็กได้เล่นเพื่อเปิดจินตนาการและฝึกกล้ามเนื้อ ที่สำคัญ เด็กสนุกและมีรอยยิ้มตลอดการเรียนในคลาส 

นอกจากเด็ก ๆ แล้ว ยังมีคลาสสำหรับผู้ใหญ่วัยทำงานหรือแม้แต่คุณยาย ซึ่งบรรยากาศการเรียนจะแตกต่างกันไปตามที่ครูส้มจะออกแบบให้เหมาะกับผู้เรียนนั้น ๆ

ส่วนคลาสเรียนดนตรีสำหรับผู้ใหญ่นั้น จะมีวิธีการเรียนอย่างไร และทำไมผู้ใหญ่หรือคุณพ่อคุณแม่ควรมาเรียนเรียนดนตรีสไตล์อรรถบำบัด ติดตามในตอนที่  2 ค่ะ 


เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์

Credit: เพจ The Study Times
 

Before Valentine’s Day รักตัวเองก่อน แล้วความรักจะจัดสรรเอง

“Love yourself first and everything else falls into line. You really have to love yourself to get anything done in this world.” - Lucille Ball

“รักตัวเองก่อน และทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทางเอง คุณจำเป็นต้องรักตัวเองให้ได้จริง ๆ แล้วคุณทำสิ่งใดก็จะสำเร็จ” ประโยคกล่าวถึงความรักอันเลื่องลือของ ลูซิลล์ บอล นักแสดงตลกผู้เป็นไอคอนคนดังผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งของวงการ Hollywood เคยกล่าวไว้ ซึ่งผู้เขียนพยายามค้นหาว่าเธอพูดที่ไหน ในงานอะไร หรือในภาพยนตร์ ละครเรื่องใดก็หารู้ไม่ แต่หากค้นหาประโยคและชื่อของเธอ ก็จะเห็นภาพตัดต่อคำกล่าวนี้และภาพนิ่งของเธออยู่นับร้อยภาพเลยทีเดียว

ประโยคนี้อาจไม่ได้กล่าวถึงความรักในแง่มุมของความสัมพันธ์ แต่ครอบคลุมและลึกซึ้งกว่านั้นมากทีเดียว ผู้เขียนได้อ่านแล้วจึงไม่แปลกใจว่าเหตุใดเธอจึงเป็นไอคอนและคำพูดของเธอถึงทรงอิทธิพล เพราะทุกคำนั้นช่างประทับจิตโดนใจ ไม่ล้าสมัย และนำไปใช้ได้ตลอดกาล

สำหรับคนที่ผ่านชีวิตมาในระดับหนึ่งอย่างผู้เขียน แม้จะไม่ได้มากนักแต่ก็ผ่านเรื่องราวของความรักมาหลากหลายรูปแบบพอสมควร สมหวังบ้าง ผิดหวังบ้าง แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็คือประสบการณ์ชีวิตให้เราได้เรียนรู้ทั้งสิ้น และสิ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้นั้นก็ต้องกล่าวว่า ไม่ต่างจากประโยคอันเลื่องลือประโยคนี้เลย ผู้เขียนจะของแยกประโยคออกเป็น 2 ท่อน ดังนี้

Love yourself first and everything else falls into line. รักตัวเองก่อนและทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทางเอง

ประโยคที่ฟังดูง่าย เพราะเวลาอกหัก หรือผิดหวังกับเรื่องอะไรแล้วรู้สึกเศร้าง คิดลบ มองโลกในแง่ร้าย หรือมีเรื่องราวรุมเร้า คนที่หวังดีก็จะปลอบโยนกันว่า “รักตัวเองก่อน” แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอารมณ์และความคิด ณ ตอนนี้มันก็มักจะดำดิ่ง จนไม่รู้ว่าจะรักตัวเองไหวยังไง ผู้เขียนเองก็เคยมีห้วงเวลาแบบนั้น แบ่งปันแบบนี้ว่า ในห้วงเวลาอารมณ์ดำดิ่ง บางทีก็ปล่อยให้ดิ่งลงไปสักพัก แล้วคอยเฝ้าดูอย่างใช้เหตุผลว่า อารมณ์เศร้าเคล้าน้ำตานั้น ทำให้ชีวิตและจิตใจของเรานั้นดีขึ้นหรือไม่

ชีวิตและจิตใจดีนั้นสังเกตไม่ยาก จิตดี ๆ ที่สบาย ๆ ชีวิตสดใสร่าเริง นอนหลับสนิท ก็บ่งบอกชัดว่าดีแน่นอน เพราะฉะนั้นลองเฝ้าดูจิตใจอย่างมีเหตุผล ตั้งเวลาให้ตัวเอง แล้วกล้าตัดสินใจ ออกไปมีความสุขกับชีวิตดีกว่า แล้วเชื่อเถอะว่า เมื่อสภาพจิตใจและทำเรื่องดี ๆ ให้กับชีวิต ความรักดี ๆ คนที่ใช่ หรือสิ่งดี ๆ จะเกิดขึ้นรอบตัวเรา เพราะตัวเราเรียนรู้ที่จะรักตัวเองแล้ว ความรักแผ่ซ่านรอบตัวเรา แล้วเราจะไม่ดึงดูดความรักดี ๆ เข้ามาหาเราได้อย่างไร

You really have to love yourself to get anything done in this world. คุณจำเป็นต้องรักตัวเองให้ได้จริงๆ แล้วคุณทำสิ่งใดก็จะสำเร็จ

ประโยคนี้อ่านแล้วแรก ๆ แล้วก็ดูทะนงตัว หรือหากตีความผิดไปก็อาจจะเหมือนกับเห็นแก่ตัว แต่ผู้เขียนคิดว่านัยยะไม่ได้เป็นเช่นนั้น แต่หมายถึงการที่เรารักตัวเอง ในแบบเข้าใจข้อดี ข้อเสีย รู้จักตัวเองต่างหาก หากเราเข้าอกเข้าใจตัวเองแล้ว เราก็จะรู้ว่าจะรักตัวเองอย่างไร จุดไหนที่ยังบกพร่องที่ต้องได้รับการพัฒนา เราทำผิดอะไรไปบ้าง และเราทำอะไรได้ดี หากตัวเราสามารถรู้จักตัวเองได้ขนาดนี้ เราก็จะรู้ว่าเราจะรักตัวเองให้ดีที่สุดในแบบไหน และสามารถต่อยอดไปได้ว่า เราทำงานอะไรที่มีความสุขและประสบความสำเร็จ

บทความนี้ผู้เขียนตั้งใจจะมอบให้กับผู้อ่านทุกท่านในห้วงเวลาวันแห่งความรัก กับมุมมองในการรักตัวเอง ที่ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะหลายครั้งเรามักจะรักใครต่อใครมากมาย แต่สุดท้ายลืมรักตัวเอง จนกลายเป็นคนดีที่มีแต่ความทุกข์

ขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีความสุขในวันแห่งความรักและรักตัวเองอย่างที่ควรจะเป็นนะคะ


โดย กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา Head of content editor THE STUDY TIMES

โอกาสสำหรับคนอยากเรียนต่อจีน!! ขอเชิญร่วมงาน OPEN DAY Online แนะนำทุนการศึกษาจีนและยื่นขอทุนผ่านชมรมศิษย์เก่าโรงเรียนจี๋เหม่ยแห่งประเทศไทย

งาน OPEN DAY วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2021

????รอบเช้า 08.30 - 11.00 น.

????รอบบ่าย 13.00 - 15.30 น.

(2 รอบ เหมือนกัน เลือกเข้าเวลาใดเวลาหนึ่งได้)

????ช่องทาง ออนไลน์ ผ่านแอพ VooV Meeting 藤讯会议 https://bit.ly/3hDxH6w ????

ลงทะเบียนร่วมกิจกรรม OPEN DAY ฟรี

https://forms.gle/wMYPwa7Nu8zgwTPo9

ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง **19 กุมภาพันธ์ 2021**

แนะนำทุนการศึกษาจีน ตั้งแต่ ระดับ ม.ปลาย/ปวช./ปวส./ป.ตรี/ป.โท/ป.เอก จากหลากหลายสถานศึกษา โดยมีทุนการศึกษาเฉินเจียเกิง เป็นทุนหลัก ตามด้วย ทุนมณฑล / ทุนมหาวิทยาลัย /ทุนรัฐบาลจีน / ทุนสถาบันขงจี๊อ / ฯลฯ

มีทุนให้สำหรับทั้ง ผู้ที่มีผลสอบ HSK และ ผู้ไม่มีพื้นฐานภาษาจีน (ไม่มีผลสอบ HSK)

ติดตามข่าวสารและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โอเพนแชท "ศูนย์แนะแนวทุนจีน ชมรมศิษย์เก่าฯจี๋เหม่ย 教育辅导中心" โปรดแตะลิงก์ด้านล่างเพื่อเข้าร่วมโอเพนแชทนี้

https://line.me/ti/g2/rPxjj9Q2hZwO5Gh-cyO3cA?utm_source=invitation&utm_medium=link_copy&utm_campaign=default


ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจในโครงการต่างๆ ที่จัดโดยชมรมศิษย์เก่าโรงเรียนจี๋เหม่ยแห่งประเทศไทย

'จุฑาทิพย์ แซ่โอว' นักบินสาวสวย ที่ผันตัวมาเป็นนักวางแผนการเงินและประกัน | Click on Clever EP.1

Click on Clever เปิดสมอง เปิดมุมมอง เปิดตา ไปเปิดใจ ไปกับนักบินสาวสวย ที่ผันตัวมาเป็นนักวางแผนการเงินและประกัน จากวิกฤติโควิด 19 ที่ถูก hold ไว้จนไม่ได้บินสักที

โดย จุฑาทิพย์ แซ่โอว นักบิน , วิศวะกร , นักวางแผนทางการเงิน

วิธีคิดคนรุ่นใหม่ ผ่านวิกฤติเหล่านี้และเพิ่มภูมิต้านทานนี้ได้อย่างไร

.

 

แชร์ประสบการณ์ ‘โลกการศึกษา’ ที่ประเทศฟินแลนด์ โดยครูคนไทยที่มีโอกาสไปสัมผัสการเรียน การสอน และมองเห็นถึงการปลูกฝังเด็กๆ ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ (ตอน 2)

หลังจากคุณเร คุณครูผู้ช่วยที่ฟินแลนด์พาเดินชมอ่างล้างมือประจำห้องเรียน รวมไปถึงบรรยากาศรอบ ๆ ในห้องเรียนของเด็กชั้น ป.2 เราได้ไปเห็นโต๊ะที่เด็ก ๆ ทิ้งหนังสือไว้เต็มลิ้นชัก เพราะพวกเขาควรได้กลับบ้านไปทำกิจกรรมอื่นมากกว่าทำการบ้าน เมื่อเดินดูโดยรอบเสร็จสรรพ คุณเรก็พากลับมาที่โต๊ะแล้วเล่าต่อ

ครั้งที่แล้วคุณเรได้พูดถึงกลุ่มอาการ LD ADHD และออทิสติกของเด็กที่มีเปอร์เซ็นไม่น้อยเลยในห้องเรียน แต่กลับถูกมองว่าเป็นเด็กเรียนอ่อน

เกร็ดความรู้ LD ADHD และออทิสติกคืออะไร

LD อาการของเด็กที่มีความผิดปกติในระบบประสาท ส่งผลต่อการเรียนรู้

ADHD อาการของเด็กที่มีสมาธิสั้น

Autism หรือ ออทิสติก อาการของเด็กที่มีระบบประสาททำงานซับซ้อน ส่งผลต่อการปฏิสัมพันธ์กับสังคมและสิ่งแวดล้อม

คุณเรบอกว่า เด็กเหล่านี้จะมีความสามารถพิเศษที่โดดเด่นเกินค่าเฉลี่ย ซึ่งเป็นพรสวรรค์แฝงมาทดแทนส่วนที่บกพร่อง ซึ่งถ้าเราหาเจอ จะเปลี่ยนจากเด็กที่ถูกมองว่าเรียนอ่อน ให้กลายเป็นเด็กอัฉริยะแทน

กลับมาที่ห้องเรียนในฟินแลนด์

ข้อสอบ การประเมินวัดผลกันอย่างไร เมื่อไม่มีให้ท่องจำ?

“เป็นวิเคราะห์ค่ะ ตอนให้คะแนนครูจะคว่ำกระดาษคะแนนของใครของมันไว้บนโต๊ะไม่ให้เด็กคนอื่นเห็น เด็กคนไหนได้คะแนนดีเขาจะอยากโชว์เองเป็นธรรมชาติของเขา ที่นี่ไม่ได้สนใจส่งเด็กเข้าแข่งขันวิชาการอะไร ถึงเด็กบางคนจะทำคะแนนได้น้อยในบางวิชาอย่างคณิตศาสตร์ ก็เป็นเรื่องปกติ ฟินแลนด์เน้นความสามารถในการใช้ชีวิต ให้เด็กฝึกวิเคราะห์เพื่อนำไปใช้ในชีวิตได้มากกว่า”

คุณเรแชร์เรื่องราวหนึ่งให้ฟังต่อ “ครั้งหนึ่งมีการประกวดที่โรงเรียน มีเด็กคนหนึ่ง เป็นคนที่เรียนเก่งที่สุดในห้อง แล้วยังเรียบร้อย หน้าตาน่ารัก วันนั้นเขาแต่งตัวมาสวยมาก เราคิดว่าเขาต้องได้รางวัลแน่ กระทั่งมีเพื่อนครูประจำชั้นมากระซิบกับเราว่า จริงๆ อยากจะให้รางวัลกับเด็กทุกคนเลย แต่ต้องเลือกเด็กที่มีพัฒนาการที่ดีขึ้นเพียงคนเดียว ผลปรากฎว่า เด็กคนนั้นไม่ได้รางวัล” 

คุณเรหยุดเล่าไปนิดหนึ่ง ก่อนจะขยายความถึงประเด็นเรื่องนี้ให้ฟังว่า เพราะรางวัลมีแค่รางวัลเดียว ขึ้นอยู่ที่ว่าครูใช้เกณฑ์ใดมาประเมินผลของรางวัล เรื่องทำนองนี้สะท้อนถึงมุมมองและวิธีคิดของคุณครู เพราะในแต่ละโรงเรียนทั่วโลก มุมมองเหล่านี้ย่อมไม่เหมือนกัน

“ค่านิยมของคนเอเชียเราชอบเด็กดี เรียบร้อย นอบน้อม ส่วนที่ฟินแลนด์ ไม่ต้องการให้เด็ก obey (ต้องเชื่อฟัง) แต่สอนให้ใช้ชีวิตเป็น ที่สำคัญคือ ต้องเคารพกฎ เคารพสังคม”

คุณเรยกตัวอย่างให้ฟังต่อ “ที่นี่มีเด็กอ้วน เดินกางเกงหลุด ไม่มีใครล้อ เพราะเขาเคารพกันในสังคม ส่วนเด็กไทยจริง ๆ คือ dream student เป็นเด็กในอุดมคติของครูเลย เพราะเชื่อฟัง แต่แน่ใจหรือว่า เด็กที่อยู่ในโอวาทจะเป็นเด็กที่เก่งและดีในอนาคต”

 

เราสอบถามคุณเรต่อมา เรื่องโรงเรียนที่ฟินแลนด์ เรียนครึ่งวันจริงหรือเปล่า แล้วตอนบ่ายเด็กทำอะไร?

“เด็กเรียนแค่ครึ่งวันจริง ๆ ค่ะ ส่วนตอนบ่ายเขาจะไปทำ hobbies งานอดิเรก ส่วนใหญ่เป็นกีฬา ตีเทนนิส ว่ายน้ำ”

เด็กเลิกเรียนเร็วแบบนี้ แล้วพ่อแม่ทำอย่างไร?

“จริงๆ งานดูแลเด็ก คืองานที่รับผิดชอบร่วมกันทั้งครู โรงเรียน และพ่อแม่”

เด็กชอบทำกิจกรรมอะไรกัน?

“เด็กที่นี่จะปาร์ตี้บ่อย นักเรียนฟินแลนด์ใช้ปาร์ตี้เป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันสนุก ๆ แต่ไม่มียาเสพติด ปาร์ตี้ไม่จำเป็นต้องไม่ดีเสมอไป”

ที่ฟินแลนด์มีการทำโทษไหม?

“ไม่มีการทำโทษค่ะ”

แล้วมี Home school ไหม?

“มีค่ะ ส่วนตัวอยากทำ home school เหมือนกัน เพราะเราชอบกิจกรรมล่องเรือใบ และเราอยากให้ลูกไปด้วย ในความเห็นส่วนตัว ถ้าเรียนแบบ home school เราสามารถอยู่กับลูก ปกป้องลูกได้ แต่เรียนที่โรงเรียน เด็กก็จะได้ทักษะสังคมไปด้วย”

สุดท้าย มีอะไรอยากจะแนะนำ?

“อยากแนะนำว่า ให้ฟังเขา เด็กคิดได้ แค่พูดไม่ได้ เด็กไทยน่ารัก แต่ขาดโอกาสจากผู้ใหญ่ ส่วนคุณพ่อคุณแม่ อย่าคิดแทนลูก ให้ respect เด็ก อย่าใช้ความเป็นผู้ใหญ่ตัดสินเขา”


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ เรื่องเล่าจากห้องเรียนฟินแลนด์

Link https://www.facebook.com/299800753872915/videos/3233619450057200 

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

 

เรื่องเล่าจากคุณครูไทยในประเทศฟินแลนด์ ดินแดนที่ได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีรูปแบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก (ตอน 1)

เรื่องเล่าของคุณเร ผู้ช่วยโรงเรียนหรือครูผู้ช่วย (School Assistant) ประจำโรงเรียนแห่งหนึ่งในฟินแลนด์ ประเทศที่ขึ้นชื่อว่าการศึกษาดีที่สุดในโลก ครูเรเล่าจากประสบการณ์ตรงที่ตัวเองก็เคยเป็นนักเรียนไทยคนหนึ่ง เรียนหนังสือจนจบปริญญาในประเทศไทย ก่อนจะได้ไปใช้อีกค่อนชีวิตที่ประเทศฟินแลนด์ในฐานะคุณครู 

คุณเรเริ่มต้นด้วยประโยคสั้น ๆ “ที่นี่คือสวรรค์ของเด็กและผู้ปกครอง” 

แววตาน้ำเสียงบ่งบอกว่าอยากให้ทุกคนที่ฟังได้สัมผัสความหมายของคำนี้จริง ๆ  

“นักเรียนที่นี่ ทำสีผมมาโรงเรียน ส่วนคุณครูบางคนก็สักลาย” 

คุณเรเล่าต่อว่า โรงเรียนที่ฟินแลนด์ให้อิสระและความสำคัญกับเด็กมาก โดยยกตัวอย่างให้ฟังว่า เคยมีเด็กนักเรียนรวมตัวกันไปฟ้องผู้อำนวยการโรงเรียน เพื่อกดดันให้คุณครูลาออก เรื่องทำนองนี้โรงเรียนที่ฟินแลนด์ก็มีมาแล้ว

“เด็กฟินแลนด์ไม่พูดเล่น พูดตรง ๆ พูดจริง ๆ และมีความตรงไปตรงมา” ครูเรเล่า “อย่างที่โรงเรียนจะห้ามเด็กเล่นโทรศัพท์มือถือ เคยมีเด็กที่ทำงานของตัวเองเสร็จแล้ว เดินมาขอครูเล่นมือถือ เราบอกเล่นไม่ได้ เด็กมีวินัย ไม่เล่นคือไม่เล่น เราเลยให้เด็กไปใช้คอมพิวเตอร์แทน เด็กก็ทำตาม”

การสอนที่ฟินแลนด์เป็นแบบไหน?

“ที่นี่เรียนไม่ยากค่ะ การบ้านน้อย แต่เน้นอ่านหนังสือนอกเวลา เด็กจะอ่านหนังสือนอกเวลาที่เป็นหนังสือเด็กประมาณ 20-50 เล่มต่อเทอม แล้วแต่ว่าเป็นโรงเรียนเน้นด้านภาษาหรือโรงเรียนพื้นฐาน เด็กจะฝึกงานกันตั้งแต่ ม.2 เพื่อจะได้เลือกว่าจะไปต่อทางสายอาชีพหรือจะเข้า ม.ปลาย”

เน้นวิชาภาษาอังกฤษไหม?

“ภาษาอังกฤษสำคัญมากค่ะ เรียนตั้งแต่เด็ก ๆ  ซึ่งเด็กสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ตั้งแต่เด็ก ๆ”

วิชาคณิตศาสตร์ต้องเน้นมากแค่ไหน?

“คณิตศาสตร์ไม่ยากค่ะ เราไม่เน้นสอนให้เด็กท่องจำ เช่น ท่องสูตรคูณ แล้วก็ไม่ต้องท่องประวัติศาสตร์ เช่น ใครเป็นนายกฯ ชื่ออะไร คนที่เท่าไร เพราะความรู้เหล่านี้ หาได้ในกูเกิ้ลหมดแล้ว ครั้งหนึ่งเราเคยพูดกับเพื่อนชาวฟินแลนด์ว่า ตอนเด็กๆ ฉันโง่คณิตศาสตร์มากเลย เพื่อนรีบพูดกลับมาเลยว่า เธออย่าคิดแบบนี้อีกนะ ไม่มีใครโง่หรอก”

แล้วครูที่ฟินแลนด์เป็นอย่างไร?

 “ครูจะฟังเด็ก ถ้าเด็กไม่อยากทำกิจกรรม ก็คือไม่ทำ เด็กทำได้มากกว่าที่ผู้ใหญ่คิด ถ้าเขาได้โอกาสแสดงออก ผู้ใหญ่อาจจะต้องทึ่งไปเลย ยกตัวอย่างมีคลาสศิลปะของเพื่อนครูคนหนึ่ง ชื่อคลาสว่า Only One You (แบบคุณมีได้แค่คนเดียวเท่านั้น) เด็กจะสร้างงานศิลปะที่ตัวเองสามารถเลือกใช้สี รวมทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างไม่มีข้อกำหนดใด ๆ การมีคลาสแบบนี้ เพื่อให้เขาได้ใช้จินตนาการ และแสดงความสามารถในตัวออกมา”

คุณเรเล่าถึงวิธีการดึงเอาศักยภาพของเด็กในโรงเรียนที่ฟินแลนด์ให้ฟัง แต่ไม่ใช่แค่เด็กนักเรียนปกติธรรมดา ที่นี่ยังให้ความสำคัญกับเด็กที่มีความแตกต่างจากเด็กทั่ว ๆ ไป 

“มีเด็กนักเรียนคนหนึ่ง เขามีสมาธิเรียนได้แค่ 20 นาที ครูที่สอนอยู่เห็นแล้วปล่อยให้เด็กคนนั้นเล่นเลย เพราะรู้ว่าเขาเป็นเด็กพิเศษ”

คุณเรขยายเรื่องราวนั้นให้ฟังต่อว่า “ครูหลายคนยังไม่รู้จักอาการเด็ก LD ADHD หรือ อาการออทิสติกอ่อน ๆ ส่วนตัวเราศึกษาเรื่องนี้มาโดยตรง เราดูออกว่าเด็กคนไหนในห้องเรียนเป็นหรือไม่เป็น ซึ่งเปอร์เซ็นต์ของเด็กที่มีอาการ LD ADHD หรือออทิสติกอ่อน ๆ จะมีพรสวรรค์แฝง เหมือนโลกสร้างความพิเศษขึ้นมาทดแทน เด็กเหล่านี้จะทำอะไรบางอย่างได้ดีกว่าค่าเฉลี่ย ในตำราเขียนไว้เลยว่า เด็ก LD คือเด็กที่มี intelligent hidden แต่กลับถูกตัดสินว่าเป็นเด็กเรียนอ่อน”


กำลังฟังคุณเรเล่าเพลินๆ เดี๋ยวมาฟังคุณเรเล่าต่อในตอนต่อไปค่ะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ เรื่องเล่าจากห้องเรียนฟินแลนด์

Link https://www.facebook.com/299800753872915/videos/3233619450057200 

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

 

การพัฒนาความสามารถทางดนตรีไปพร้อมกับช่วงวัยพัฒนาการของเด็กๆ ให้อะไรมากกว่าที่คาดคิด ประโยชน์จากการเรียนดนตรีตั้งแต่เด็กมีอะไรบ้าง ไปค้นหาคำตอบนี้ร่วมกัน

ดังพระราชนิพนธ์แปลในรัชกาลที่ 6 จากต้นฉบับ วิลเลี่ยม เช็คสเปียร์ ว่า ‘ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก’ พอเราได้ฟังคำบอกเล่าจาก ‘ครูฟ้าใส’ คุณครูสอนดนตรีสำหรับเด็ก ก็ถึงบางอ้อดังเช่นที่เหล่านักปราชญ์กล่าว การพัฒนาความสามารถทางดนตรีไปพร้อมกับช่วงวัยพัฒนาการนั้น ให้อะไรมากกว่าที่คุณคาดคิด ประโยชน์ล้นทะลักจากการเรียนดนตรีตั้งแต่เด็กมีอะไรบ้าง The States Times ขอแชร์ประสบการณ์ตรงจาก ‘คุณครูฟ้าใส’ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนดนตรีในเด็ก มาบอกเล่าสู่กันฟังตรงนี้ค่ะ...

ประโยชน์ของการเรียนดนตรีในวัยเด็กมีอะไรบ้าง

นอกจากเด็กจะเล่นดนตรีเป็นแล้ว ในกระบวนการเรียนและฝึกฝนด้านดนตรีนั้น เด็กต้องใช้ทักษะหลายด้านมากเพื่อนำไปสู่บทเพลงเพลงหนึ่ง อันดับแรกคือ ไม่ว่าจะเล่นเครื่องดนตรีชนิดไหนหรือแม้แต่การร้องเพลง จะได้ฝึกสมาธิทั้งนั้น แม้แต่การเล่นเพลงง่าย ๆ เพียงหนึ่งเพลง เด็กยังต้องใช้สมาธิ ต่อมาเด็กต้องมีความรับผิดชอบและอดทนต่อการฝึกซ้อม ฝึกความจำในการจำเนื้อร้อง จำโน้ตเพลง ได้ฝึกประสาทหูที่ดีส่งผลให้สำเนียงเสียงภาษาดีไปด้วย 

ประโยชน์เหล่านี้คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะพอทราบกันมาบ้างแล้ว และนอกจากนี้ ถ้าเด็กได้ฝึกร้องเพลงจะได้เรื่องสุขภาพอีกด้วย เพราะต้องฝึกลมหายใจ ทำให้ได้ร่างกายได้รับออกซิเจนที่เพียงพอ เท่านั้นยังไม่พอ ประโยชน์ที่คาดไม่ถึงคือ การฝึกดนตรีนั้นทำให้เป็นคนมีเหตุมีผล เพราะดนตรีนั้นมีกฎมีเกณฑ์ที่เป็นเหตุเป็นผล เด็กต้องทำความเข้าใจจึงจะพัฒนาความสามารถทางดนตรีต่อไปได้

การเล่นเครื่องดนตรีที่ดูรุนแรงอย่างเช่น ตีกลอง ส่งผลต่ออารมณ์ที่รุนแรงไหม

การเล่นดนตรีแนวร็อค เมทัล ฮาร์ดคอร์ หรือเล่นเครื่องดนตรีอย่างเช่น กลอง แท้จริงส่งผลให้เด็กได้ปลดปล่อยอารมณ์และผ่อนคลายได้ดีกว่าการเล่นดนตรีที่เบากว่าด้วยซ้ำ โดยเฉพาะการตีกลองยิ่งจะช่วยให้เด็กได้ฝึกควบคุมอารมณ์ เพราะมือกลองคือคนควบคุมจังหวะของวง ควบคุมความหนัก เบา ช้า เร็วของเพลง ซึ่งคืออารมณ์ของดนตรี ประโยชน์อีกอย่างของการอยู่กับดนตรีที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ ได้ความผ่อนคลาย อารมณ์สดใส ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้เล่น ผู้ร้อง ผู้เต้น หรือผู้ฟัง ย่อมได้รับความผ่อนคลายจิตใจด้วยกันทั้งนั้น

หากคุณพ่อคุณแม่ไม่มีสตางค์ส่งลูกเรียนดนตรี 

ปัจจุบันนี้มีคอร์สเรียนเบื้องต้นสอนในยูทูบฟรีเต็มไปหมดเลยค่ะ หรือถ้าไม่มีเครื่องดนตรีให้เล่น ก็ไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้อเครื่องดนตรี เพียงการร้องเพลงเด็กก็ได้รับประโยชน์จากดนตรีแล้ว

อายุเท่าไหร่ที่เริ่มเรียนดนตรีได้

เริ่มได้ตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไป ในวัยนี้จะยังเล่นดนตรีไม่ได้เหมือนเด็กวัย 8 ขวบ แต่เด็กจะได้ฝึกระบบประสาทการฟัง ซึ่งถ้าได้ฝึกตั้งแต่เล็กจะได้ผลดีมากกว่าคนที่มาฝึกทีหลัง ส่วนชนิดของเครื่องดนตรีสามารถเลือกให้เหมาะสมกับทางกายภาพและกล้ามเนื้อของเด็กได้

ปัจจัยของการเล่นดนตรีให้เก่งมี 2 องค์ประกอบ คือ พรสวรรค์และการฝึกซ้อม หากมีพรสวรรค์แต่ไม่ฝึกซ้อม ไม่สามารถเล่นดนตรีให้ดีได้ แต่หากไม่มีพรสวรรค์แต่หมั่นฝึกซ้อมก็สามารถเป็นนักดนตรีที่เก่งได้ 

หากคุณพ่อคุณแม่เชื่อว่าดนตรีนั้นดีต่อลูก อยากหาเครื่องดนตรีให้ลูกฝึกสักชิ้น แนะนำว่าให้เด็กได้ลองเลือกเครื่องดนตรีเอง ให้เด็กมีแรงขับที่อยากจะฝึกหรือมีความรักดนตรีจากภายใน เด็กจะหาเครื่องดนตรีที่เหมาะสมกับตัวเองได้ ยิ่งครอบครัวที่รักในเสียงเพลงอยู่แล้ว เด็กจะรักดนตรีไปเอง เมื่อเด็กเลือกเครื่องดนตรีที่เขาชอบและเหมาะสมกับเขาเอง ได้เรียนกับครูที่ส่งเสริมและกระตุ้นเด็ก เด็กซ้อมอย่างสม่ำเสมอ มีเป้าหมายว่าทำไมต้องฝึก มีโอกาสได้โชว์ความสามารถ พ่อแม่ชื่นชมให้กำลังใจ ได้เข้าร่วมการแข่งขันทางดนตรี อย่างนี้มีแววไปไกลแน่นอน

หากเด็กขาดความกล้า กลัวคำวิจารณ์ คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลูกปรับความเข้าใจของคำวิจารณ์ได้ คำวิจารณ์มี 2 ฝั่ง ฝั่งที่เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ นำมาปรับปรุงให้เราดีขึ้นได้ ส่วนคำวิจารณ์ที่ไม่เกิดประโยชน์ก็ปล่อยไป หรือทำให้เป็นประโยชน์ได้โดยแปลงคำวิจารณ์เป็นพลังใช้ในการฝึกฝนพัฒนาตัวเราต่อไป

ปัจจุบันอุตสาหกรรมดนตรีนั้นเปลี่ยนไปจากเดิมมาก มีอาชีพทางดนตรีที่หลากหลายและรายได้ดี ความสามารถทางดนตรีเป็นทักษะสากล ขอเพียงมีวิชาชีพติดตัว ก็สามารถเติบโตทั้งในประเทศและยังต่างประเทศได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ทุกคนสามารถพัฒนาความสามารถทางดนตรีได้ เพราะเราทุกคนมีดนตรีในหัวใจอยู่แล้ว เพียงแค่ยังไม่ถูกดึงออกมา 

ยังมีเนื้อหาดี ๆ เพื่อคนที่เรารักและคนที่รักเราให้ติดตามกันนะคะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ ไขข้อข้องใจ ดนตรีกับการเลี้ยงลูก โดยครูฟ้าใส

https://www.facebook.com/299800753872915/videos/568577534091375

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

 

กระแสธุรกิจ Startup คือแนวทางของโลกยุคใหม่ การสร้าง Mindset หรือวิธีคิดให้ลูกเติบโตเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ ต้องเริ่มต้นและเข้าใจอะไรกันบ้าง ไปติดตามบทสัมภาษณ์จากผู้เชี่ยวชาญกัน (ตอนที่ 3)

ความเดิมในตอนแรก คุณม๋ำ เมธวิน ปิติพรวิวัฒน์ (จาก BASE Playhouse) กล่าวว่า mindset สร้างได้ด้วยประสบการณ์ และหัวใจสำคัญของผู้ประกอบการ สำหรับคุณกันต์ พสิษฐ์ ศรียาภัย (จาก Sharktank incube) คือความกล้า มาเตรียมพร้อมความแข็งแรงของหัวใจลูก สู่สนามโลกแห่งการแข่งขันในศตวรรษที่ 21 ตอนนี้เป็นตอนสุดท้ายแล้วค่ะ

ให้ลูกเรียนอะไรดีถึงจะเป็นผู้ประกอบการได้

คุณม๋ำ : การเรียนรู้ตอนนี้ไม่ได้อยู่แค่ในมหาวิทยาลัยแล้ว น้องแค่เข้าไปเซิร์ชในกูเกิ้ลก็มีความรู้ฟรี ๆ ขึ้นมาเต็มไปหมด หลัก ๆ คือการ take action น้องได้ลงมือทำหรือเปล่า ต่อให้น้องเรียนขนาดไหน เคยเอาเงินของตัวเองออกมาลงทุนบ้างหรือเปล่า ถ้าได้ลงทุนด้วยตัวเอง mindset ก็จะเกิดความรู้สึกของการเป็นเจ้าของการลงทุนนั้น แล้วชีวิตเราขึ้นอยู่กับมัน ทุกการตัดสินใจของเรา จะมีเงินใช้หรือไม่มีก็อยู่ที่เรา

‘ถ้าเด็กได้ควักเงินตัวเองออกมา ในระหว่างทาง เขาจะหาวิธีเอาเองว่าทำยังไงให้ไม่เจ๊ง เด็กจะเซิร์ชวิธีแล้วลงมือทำเอง บทเรียนนี้จะ form skill set ขึ้นมา เด็กคนไหนเรียนรู้เร็วในวันที่ล้มได้ ก็จะเป็นการเตรียมพร้อมก่อนออกสนามจริง’

เด็กไทยมีศักยภาพพอไหม

คุณม๋ำ : เด็กไทยมีศักยภาพ เด็กไทยเรามีจุดแข็งเป็นฐานคิด ผมว่าเด็กไทยเก่งมาก แต่เขาเอามันออกมาจากหัวไม่ได้ เราเลยมองไม่เห็น ความไม่แฟร์ของโลกธุรกิจคือ ถ้าเราเอาสิ่งที่อยู่ในหัวออกมาไม่เป็น มันไม่มีคุณค่าเลย ฉะนั้นทักษะที่ต้องฝึกคือ การสื่อสาร (communication) การนำเสนอ (pitching) หรือการขาย เช่น การพูดกับคนเยอะ ๆ กับการพูดกับคนรอบข้างให้เข้าใจ ในโลกธุรกิจ การพูดแค่นี้ก็ต้องฝึกฝนมหาศาล

เห็นในหลายประเทศเน้นให้นักเรียนทำงานเป็นกลุ่ม แต่เด็กไทยจะเก่งทำงานเดี่ยว เราจะทำได้ไหม

คุณม๋ำ : เป็นทักษะที่เรียกว่า collaboration หรือความร่วมมือกัน เด็กไทยมีทั้ง 2 กลุ่ม มีทั้งกลุ่มที่ทำได้แบบสบายเลย กับที่ยังต้องฝึกฝน เด็กเหล่านี้อาจจะมีจุดแข็งที่มีความคิดที่ลึกกว่า อันนี้ต้องกลับไปที่ทักษะ communication ที่ยังเป็นความท้าทายเด็กไทยอยู่ ยังไงก็ต้องฝึก มันไม่มี shortcut การทำไม่ได้คือการฝึก ต้องให้ได้ทำ การได้ทำนั่นแหละคือการฝึก 

‘ให้พ่อแม่เข้าใจว่าเป็นความถนัดที่ไม่เหมือนกัน ไม่ใช่จุดด้อยอะไร จริง ๆ สิ่งที่พ่อแม่ต้องทำคือ การทำความเข้าใจว่าลูกอาจไม่ถนัดด้านการสื่อสาร เพราะ personality type ของเด็กมีความหลากหลาย ให้มองว่าเด็กมีจุดแข็งไม่เหมือนกัน’

คุณกันต์ : อันนี้ผมเห็นด้วย ที่กันต์จะเสริมคือตอนนี้โรงเรียนก็มีงานกลุ่มเยอะแล้วเหมือนกัน แต่ยังขาดการเสริมทักษะด้านบริหาร อาจารย์ยังสุ่มกลุ่ม และกำหนดวันส่งงานให้ ซึ่งแต่ละคนถนัดทำสิ่งที่ไม่เหมือนกัน อย่างด้าน people management การบริหารงานกลุ่ม เด็กบางคนทำได้เก่งมาก มีคนแบบนี้อยู่ในมหาวิทยาลัย

สุดท้ายนี้มีอะไรอยากจะฝากถึงพ่อแม่ทุกคน

คุณกันต์ : อยากให้พ่อแม่ลองเปิดใจฟังไอเดียเด็ก ๆ ดู เขาอาจจะมีความคิดที่ดีอยู่แล้วที่เป็น deep thought และฝากดูแลตัวเองในช่วงโควิดด้วยนะครับ

คุณม๋ำ : อยากให้พ่อแม่ให้โอกาสเด็ก โลกยุคนี้โหดร้ายจริง ๆ แต่ขอให้เชื่อว่าเด็กแกร่งพอ พ่อแม่เราพร้อมอยู่เคียงข้างลูกอยู่แล้วถ้าเขาล้ม ให้เขาได้ทดสอบ ทดลองด้วยตัวเอง

ยังมีสาระดี ๆ เพื่อครอบครัวที่อบอุ่นและสมบูรณ์ ให้ติดตามใน The States Times Family 


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ Mindset ผู้ประกอบการสร้างได้

https://www.facebook.com/watch/live/?v=390112005622287&ref=search  

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

 

กระแสธุรกิจ Startup คือแนวทางของโลกยุคใหม่ การสร้าง Mindset หรือวิธีคิดให้ลูกเติบโตเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ ต้องเริ่มต้นและเข้าใจอะไรกันบ้าง ไปติดตามบทสัมภาษณ์จากผู้เชี่ยวชาญกัน (ตอนที่ 2)

ตอนที่แล้ว คุณม๋ำ เมธวิน ปิติพรวิวัฒน์ CEO และ Co-founder BASE Playhouse และ คุณกันต์ พสิษฐ์ ศรียาภัย Sharktank incube  แนะนำสิ่งที่ช่วยให้ลูกสร้าง mindset ของผู้ประกอบการในอนาคต ตอนนี้เรามาฟังทั้งสองคนกันต่อค่ะ

ครอบครัวที่พ่อแม่เป็นเถ้าแก่ ลูกจะเป็นเถ้าแก่ในอนาคตไปเลยไหม

คุณม๋ำ : ไม่เกี่ยวซะทีเดียว แต่ก็มีชุดความคิดหรือ mindset ที่ถูกถ่ายทอดมาเองจากสิ่งแวดล้อมในครอบครัวที่เด็กโตมา ถ้าพ่อแม่เปิดโอกาสให้ลูกได้เห็นกระบวนการหรือสิ่งที่พ่อแม่ทำ หรือได้ยินสิ่งที่พูดคุยกันเกี่ยวกับธุรกิจบนโต๊ะกินข้าวเป็นประจำ องค์ความรู้ถูกถ่ายทอดส่งต่อลูกก็เพิ่มโอกาสให้เด็กเข้าใจคอนเซ็ปต์ของผู้ประกอบการได้เช่นกัน

แล้วทำไมเด็กบางคนไม่อยากรับช่วงต่อธุรกิจที่บ้าน

คุณม๋ำ : น่าจะเป็นที่มุมการศึกษา สร้าง norm หรือค่านิยม เหมือนไม้บรรทัดที่สังคมวัดให้ อย่างยุคผมนี่จบวิศวะต้องต่อบริหาร แต่มหาวิทยาลัยสมัยนี้เค้าดิสรัปท์แล้ว รูปแบบ mindset ของมหาวิทยาลัยก็เปลี่ยนไป ความเป็นเทรนด์ก็ค่อย ๆ ลดลง

คุณกันต์ : เราโตมากับการสอบเพื่อเข้าคณะเรียนที่ดี ที่สูงขึ้น พ่อแม่ยุคนี้ก็ยังภูมิใจถ้าลูกเป็นหมอ เป็นวิศวะ ตอนนี้มีอาชีพใหม่เกิดขึ้น เด็กยุคนี้เข้าใจอาชีพเหล่านี้ อย่าง Tech Startup หรืออาชีพนักท่องเที่ยว

คุณม๋ำ : เทคโนโลยีดิจิทัล มาทำให้ตลาดแรงงานเปลี่ยนไป เกิดอาชีพใหม่ และมาล้มล้าง fact เดิม ๆ ที่ว่าแค่หมอหรือวิศวะ มีคนที่ทำงาน Smart Farming มีอาชีพของคนที่ขับโดรนได้ เทคโนโลยีทำให้เกิดอาชีพใหม่ และมากระตุ้นการสร้างผู้ประกอบการ

Startup คืออะไรกันแน่

คุณม๋ำ : สตาร์ทอัพก็คือการสร้างธุรกิจที่เกิดใหม่ แต่ความแตกต่างคือ มีธุรกิจที่เป็น Tech Startup ที่ถูกผูกกับเทคโนโลยีเพื่อมาช่วยปลดล็อคการสเกลธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น ถามว่าสตาร์ทอัพมีความเสี่ยงสูงมั้ย ความเสี่ยงสูง แต่พอสำเร็จ ก็สำเร็จจริงเหมือนกัน และไม่ใช่ทุกคนที่จะมีคาแรกเตอร์ที่เหมาะจะมาเป็น entrepreneur คนที่เหมาะต้องมีคาแรกเตอร์ที่มีความสุขได้บนความเสี่ยงนั้น คนที่ชอบความสบายใจที่มีเงินเติมมาในบัญชีทุกเดือน อาจจะไม่เหมาะ

คุณกันต์ : สตาร์ทอัพคือธุรกิจที่พัฒนาได้อย่างก้าวกระโดด ถ้าให้กันต์ตอบคือมันไม่ง่าย ต้องเรียนรู้รอบด้าน ทำสตาร์ทอัพเหมือนไต่บันไดงู ขึ้นไปหน่อยเดี๋ยวก็ลงมา ลงแล้วก็ขึ้น แล้วเดี๋ยวก็ลงอีก

ถ้า mindset ได้แล้ว มีทักษะอะไรที่ต้องมีบ้าง

คุณม๋ำ : ทักษะของการลุกเป็น ล้มแล้วลุกเร็ว หรืออาจจะเรียกว่า resilience skill เป็นทักษะโดยทั่วไปพื้นฐานในการทำธุรกิจ อย่างทักษะด้านการเงิน ทักษะด้านธุรกิจ ต้องรู้จักการลงทุน เข้าใจว่าคุ้มไม่คุ้มคืออะไร แม้ว่าจะขายน้ำส้มยันธุรกิจยูนิคอร์น ต้องตอบให้ได้ว่ามีของแล้วทำกำไรได้ยังไง อันนี้เป็นทักษะพื้นฐาน แล้วจะมีแตกทักษะตามสายงานอีก อย่างเช่น CEO คือคนที่มองภาพรวม สายการตลาด อยู่มุมธุรกิจ หรือสายเทค เป็น developer เขียนโค้ดไปเลย อยู่มุมกลยุทธ์ออกแบบโซลูชั่น หรือมุมดีไซน์ เราก็เพิ่มทักษะเฉพาะทางแล้วแต่ว่าจะอยู่ในมิติไหนก็วิ่งไปตามแทร็คนั้น

คุณกันต์ : ผมเสริมเรื่องการปรับตัว (Adaptability) เช่น กับลูกค้า เราเอาฟีดแบ็คของลูกค้ามาปรับใช้มั้ย รวมถึงประสบการณ์ที่ได้จากการลงมือทำมาปรับใช้ด้วยมั้ย ผมว่าทักษะธุรกิจกับการตลาดในยุคนี้มันหาเพิ่มเติมได้

ติดตามความรู้การเตรียมพร้อม mindset ผู้ประกอบการให้แก่ลูกในตอนหน้า เป็นตอนสุดท้ายค่ะ 


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ Mindset ผู้ประกอบการสร้างได้

https://www.facebook.com/watch/live/?v=390112005622287&ref=search  

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

 

กระแสธุรกิจ Startup คือแนวทางของโลกยุคใหม่ การสร้าง Mindset หรือวิธีคิดให้ลูกเติบโตเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ ต้องเริ่มต้นอย่างไร ไปติดตามบทสัมภาษณ์จากผู้เชี่ยวชาญกัน (ตอนที่ 1)

กระแสซี่รี่ส์เกาหลี Start up กระตุ้นหัวใจคนมีฝันหลายคนอยากจะลุกขึ้นมาสร้างธุรกิจเป็นของตัวเอง นอกจากซี่รี่ส์เรื่องนี้จะปลุกไฟในตัวแล้ว ยังทำให้เราเข้าใจการเป็นผู้ประกอบการรูปแบบใหม่ในยุคดิสรัปชั่นมากขึ้นอีกด้วย

ในฝั่งประเทศไทย ธุรกิจแนว startup ก็เป็นที่จับตามองไม่น้อย เห็นอย่างนี้แล้วคุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะเริ่มสนใจอยากให้ลูกมีคุณสมบัติผู้ประกอบการในศตวรรษที่ 21 กันบ้าง วันนี้เรามีบทสัมภาษณ์จากคุณม๋ำ เมธวิน ปิติพรวิวัฒน์ CEO และ Co-founder BASE Playhouse และ คุณกันต์ พสิษฐ์ ศรียาภัย Sharktank incube มาแบ่งปันประสบการณ์ความรู้ให้ฟังกันค่ะ

ถามก่อนเลย ถ้าพ่อแม่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการมาก่อน อยากให้ลูกมีคุณสมบัติผู้ประกอบการ ควรส่งเสริมอะไร

คุณม๋ำ  : ความเป็น Entrepreneurship หรือคุณสมบัติของผู้ประกอบการ แบ่งองค์ประกอบออกเป็น 3 องค์ประกอบหลัก ๆ คือ ความรู้ ความคิด mindset ความรู้คือสิ่งที่หาได้ ความคิดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนทักษะด้าน mindset ถูกสร้างได้ด้วยประสบการณ์ ถ้าจะเปลี่ยน mindset ต้องสร้างประสบการณ์ขึ้นมาใหม่หรือการลงมือทำ สร้างสิ่งแวดล้อมของผู้ประกอบการ ซึ่งสิ่งแวดล้อมผู้ประกอบการก็สามารถสร้างขึ้นในโรงเรียนได้

คุณกันต์ : ผมคิดว่าความกล้าสำคัญ หลายคนคิดแต่ยังไม่ได้ลงมือทำ ความเป็นผู้ประกอบการก็ไม่เกิด

การเลี้ยงดูยังไงที่จะบ่มเพาะจุดเริ่มต้นในการเป็นผู้ประกอบการ

คุณม่ำ : การเลี้ยงดูมีผลมาก เพราะ mindset มาจากประสบการณ์ ประสบการณ์ในวัยเด็กที่ได้เรียนรู้จากพ่อแม่ ย่อมส่งผลต่อชุดความคิดด้วย เช่น ถ้าลูกอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัยมาก ถูกห้ามว่า ‘อย่า’ หรือ ‘ไม่’ เพื่อความปลอดภัย เด็กจะหยุดอยู่ในกรอบ สูญเสียศักยภาพนอกกรอบ เกิดเป็นชุดความคิดที่หลีกเลี่ยงความท้าทาย ถ้าท้าทายเด็กจะไม่ทำ แต่เด็กที่ได้ลองทำอะไรด้วยตัวเองตั้งแต่เด็ก จะได้เรียนรู้โดยไม่ต้องกลัวล้มเหลวเหมือนมี sandbox ที่พ่อแม่สร้างให้

คุณกันต์ : ผมเสริมอีกมุมหนึ่งแล้วกัน มีเด็กส่วนหนึ่ง ประมาณ 10-30 เปอร์เซ็นต์ ไม่รู้จักการอดทน ไม่รู้จักคำว่ายังไม่ได้ ก็จะแก้ปัญหาด้วยเงิน เงินเป็นเหมือน cheat code ในโลกของเรา เช่น เด็กทำของหายก็ไม่หา ซื้อใหม่เลย ทั้ง ๆ ที่ถ้าหาอาจจะเจอก็ได้ ควรให้เด็กรู้ว่าการหาเงินนั้นมันไม่ง่าย โตมาเราต้องหาเงินนะ การที่เด็กไม่รู้ที่มาของเงินเป็นลูปที่ออกยากและกว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ตอนที่ทำงานแล้ว ควรสอนให้ลูกรู้ว่า พ่อแม่เอาเงินมาจากไหน สอนให้ลูกจัดการเงินเองได้ เข้าใจการลงทุนและการได้มาของเงินตั้งแต่เด็ก 

มีวิธีที่พ่อแม่ช่วยเรื่อง mindset และทักษะได้ยังไงบ้าง

คุณม่ำ บนพื้นฐานของคุณสมบัติผู้ประกอบการ มองเป็น 3 ข้อ

1.) ความเชื่อมั่น รับรู้ ศักยภาพขอตนเอง เรียกว่า self-efficacy คือรู้ว่าตัวเองถนัดอะไร เก่งอะไร self-efficacy เป็นส่วนหนึ่งใน mindset ของ entrepreneurship อีกอย่างหนึ่งคือ growth mindset ที่จะเปลี่ยนจากสิ่งที่เก่งที่ถนัดเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ จะขาดสิ่งนี้ไม่ได้

2.) Take Risk หรือการกล้าเสี่ยง สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างการทำงานแบบ full-time และ entrepreneur คือการเล่นกับสภาวะความมั่นคงทางการเงิน การสร้างสิ่งใหม่ที่หาเงินได้นั้นมีความเสี่ยง take risk ก็เป็น mindset อย่างหนึ่งเหมือนกัน

3.) Opportunity Finding หรือ มุมมองของการเห็นโอกาส สังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบตัว มองเห็นเป็นโอกาสแล้วหยิบสิ่งรอบตัวมาหาเงินได้ อันนี้เป็นกึ่ง ๆ ทักษะ 

อันที่จริงมีมากกว่านี้แต่ 3 สิ่งนี้คือหลัก ๆ 

คุณกันต์ : ของทาง incubator ถ้าไม่รู้อายุ ก็มี 4 สิ่งที่ต้องมี

1.) Creativity ความคิดสร้างสรรค์ เป็นผู้ริเริ่ม ไม่รอให้ใครมาสร้างให้ สร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาเอง

2.) Try การลอง อาจจะเป็นการลองทำในสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น ลองไปเรื่อย ๆ ถ้ามันไม่เวิร์คก็หา solution หรือวิธีใหม่ การคิดอย่างเดียวไม่สามารถต่อยอดได้ ต้องลอง

3.) Impact เราอยากให้เกิดประโยชน์ขนาดไหน เกิดประโยชน์กับคนในซอยหมู่บ้าน หรืออยากทำให้ทำเงินได้จริง หรือสามารถพัฒนาชีวิตประจำวันของคนอื่นได้

4.) เติมความเป็น Entrepreneur การเป็นผู้ประกอบการเขาต้องรู้อะไรบ้าง มันมีเงินมาเกี่ยวข้อง แต่ก็อย่าให้เงินมาจำกัดความคิดสร้างสรรค์ของเราได้

ติดตามความรู้การเตรียมพร้อม mindset ผู้ประกอบการให้แก่ลูกกันต่อได้ ในตอนหน้าค่ะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ Mindset ผู้ประกอบการสร้างได้

https://www.facebook.com/watch/live/?v=390112005622287&ref=search  

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

 

เมื่อการเล่น ‘เกมโกะ’ สามารถฝึกให้เด็กรู้จักเลือกวิธีในการแก้ปัญหา ฝึกความกล้า และไม่เลือกที่จะหนีปัญหาได้ดี ย้อนไปดูประโยชน์ของเกมนี้ ที่ผู้บริหารระดับสูงยังต้องเล่นเพื่อฝึกสมอง

ว่ากันว่าต้นกำเนิดเกิดการละเล่น ‘โกะ’ แต่เดิมเลยนั้น มีขึ้นเพราะจักรพรรดิต้องการเปลี่ยนนิสัยลูกชายจอมเหลวไหลให้มีความขยัน รับผิดชอบขึ้นมาบ้าง และหลังจากนั้น โกะ ได้ถูกพัฒนาเรื่อยมาจนกลายเป็นเกมอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ย้อนกลับไปเมื่อ 3 - 4 พันปีก่อน ก่อนสมัยพระเจ้าเหี้ยนเต้ไม่มากนัก หากนึกภาพตามไม่ออก ก็ให้นึกถึงฉากในนิยายสามก๊ก ในยามบ้านเมืองสงบพักจากการพุ่งรบ กลุ่มชนชั้นสูง ชั้นผู้บริหาร ว่างเว้นจากภารกิจคิดอยากหาเกมเล่นแก้เบื่อ จึงได้สั่งให้ทีมพัฒนาแอปพลิเคชั่นในยุคราชวงศ์ฮั่น ออกแบบเกมที่ทำด้วยไม้กระดานขีดเส้นเป็นตาราง เหลาเม็ดเล็ก ๆ สีขาวและสีดำ ใช้เป็นหมากเดินเกมบนกระดาน ปรากฏว่าเป็นที่ถูกใจกัน แพร่หลายในชนชั้นผู้ปกครอง กติกานั้นก็แสนง่าย หัดเล่นเพียง 10 นาทีก็เล่นได้ แต่จะหัดให้เก่งได้นั้นต้องใช้เวลาทั้งชีวิต เรียกเกมนี้ว่า เหวยฉี รู้จักกันทั่วโลกในนาม โกะ หรือในภาษาไทยเรียกว่า หมากล้อม

ถ้าจะให้สาธยายประโยชน์ของการเล่นโกะนั้นแบ่งเป็น 10 ตอนก็เขียนไม่หมด หลักๆ คือ เพื่อลับวิธีคิด การวางกลยุทธการบริหาร ซึ่งผู้บริหารประเทศจีนทุกคนยังต้องเล่นเกมนี้ นักธุรกิจระดับต้นของบ้านเราก็นิยมเล่นโกะเช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่ไอน์สไตน์ก็เล่นเกมนี้กับเขาด้วย 

แนวคิดของการเล่นโกะ คือการอ่านหมากล่วงหน้า คือการมองไปให้ไกล ไม่ได้ต้องการรบราฆ่าฟันคู่ต่อสู้แต่อย่างใด การจะชนะนั้นแม้ชนะเพียงครึ่งแต้มก็นับว่าชนะแล้ว ฝึกให้เราเป็นคนไม่โลภ รอคอยได้ 

ความสนุกของเกมโกะมันอยู่ตรงนี้ค่ะ เมื่อฝ่ายเราขยายตัวใหญ่ขึ้น คู่ต่อสู้จะพยายามเข้ามาบุกลดทอนให้เราเล็กลง เกิดการต่อสู้แย่งชิงพื้นที่บนกระดานด้วยการเดินหมาก ที่คนเปรียบเปรยว่า เป็นการสนทนาด้วยมือ เราจะได้อ่านใจอ่านแผนคู่ต่อสู้ว่าจะมาโจมตี หรือป้องกันจากการเดินหมากของคู่ต่อสู้ ขณะเดียวกันฝ่ายคู่ต่อสู้ก็อ่านใจเราอยู่เหมือนกัน โดยไม่ต้องอ่านปากถามกันเลยซักคำ

หากได้ลูกฝึกเล่นโกะตั้งแต่เด็ก นอกจากจะได้ลับความคิดแล้ว ยังได้ฝึกเรื่องของจิตใจและอารมณ์ด้วย ในระหว่างเล่นนั้น ต้องระวังอารมณ์อย่างมาก อารมณ์ส่งผลต่อการตัดสินใจให้เดินผิดพลาดได้ และเกมมีแพ้มีชนะอยู่ตลอด เด็กจะได้ฝึกการให้เกียรติกัน ต่างรู้ว่าเราและเขาพลาดกันตรงไหน เรียนรู้มารยาทของผู้แพ้และผู้ชนะ ผู้ชนะจะแนะนำวิธีเล่นแก่ผู้แพ้ ผู้แพ้ก็ได้เรียนรู้วิธีคิดของคู่ต่อสู้ที่เก่งกาจกว่า เห็นจุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง เพื่อพัฒนาต่อไปให้เก่งขึ้นได้ โกะไม่ได้วัดว่าใครเก่งกว่าใคร แต่วัดว่าใครผิดพลาดน้อยกว่ากัน

นายแพทย์ประเวศ วะสี แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิของไทย เคยกล่าวไว้ว่า การเล่นโกะช่วยเพิ่มไซแนปหรือกึ่งก้านสาขาในสมอง ทำให้สมองทำงานได้ดีและยังช่วยลดโอกาสการเป็นอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุได้อีกด้วย

สิ่งที่เด็กจะได้ฝึกอย่างมากจากการเล่นโกะ คือความสามารถในการเอาตัวรอด ซึ่งเป็นทักษะที่คนพูดถึงมากที่สุดทักษะหนึ่งในยุคนี้เลยก็กว่าได้ ในการเลือกตัดสินใจบนกระดานโกะเมื่อเจอปัญหานั้น มีอยู่ 3 ทางเลือก 1. ปีนข้ามไป 2. เดินอ้อมไป และ 3. เดินหนีไป 

ในการเล่นโกะ เด็กจะได้เจอจุดที่ต้องตัดสินใจตลอด ซึ่งเปรียบได้กับชีวิตจริงของคนเรา หากเด็กเลือกเดินหนีไปตลอด เขาก็จะเลือกเดินหนีไปในชีวิตจริงเช่นกัน ดังนั้นการเล่นโกะเป็นการฝึกให้เด็กรู้จักเลือกวิธีในการแก้ปัญหา ฝึกความกล้า และไม่เลือกที่จะหนีปัญหาได้ดีทีเดียว

หากคุณพ่อคุณแม่สนใจให้ลูกหัดเล่นโกะ มีตารางขนาด 9x9 ให้ฝึกก่อนเล่นตารางมาตรฐานได้ และถ้าคุณพ่อคุณแม่ได้เล่นโกะกับลูกด้วยจะดีมากเลยค่ะ แต่ขอเตือนว่าฝึกซ้อมให้ดีนะคะ เกมนี้ดูถูกฝีมือเด็กไม่ได้เลยนะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ รู้จักโกะ GO MASTER

https://www.facebook.com/299800753872915/videos/3310010885793282 

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

 

ตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้เด็กสมาธิสั้นและได้รับความนิยมในตอนนี้ คือ การปล่อยลูกไว้กับหน้าจอ มาตรวจดูกันว่า ลูกของคุณเข้าข่ายสมาธิสั้นแล้วหรือยัง รวมทั้งวิธีป้องกันนั้นต้องทำอย่างไร

ในทศวรรษแห่ง Productivity ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ คนเป็นพ่อเป็นแม่ไหนจะต้องรักษาสุขภาพจิตสุขภาพกายแบ่งเวลาไปพัก และต้องเลี้ยงดูลูก ได้เจ้าแท็บเลตหรือสมาร์ทโฟนมาเป็นพี่เลี้ยงให้ซักพัก พอได้หายใจหายคอกันบ้าง ต้องอุทานเลยว่า แหม ดีจริง

เข้าใจครอบครัวที่ต้องเลี้ยงลูกในยุคปัจจุบัน เมื่อหน้าจอมือถือหรือแท็บเลตมาแบ่งเบาเวลาดูแลลูกได้ดีขนาดนี้ ยื่นหน้าจอให้ปุ๊บ ลูกเรานั่งนิ่งเป็นตุ๊กตาปั๊บ พอเมื่อไรเราต้องการสมาธิหรือเวลา พี่เลี้ยงไอแพดก็จัดให้ได้ กลายเป็นตัวเลือกหลักให้คุณพ่อคุณแม่ได้มีเวลาเพิ่มมากขึ้น

คุณผู้อ่านที่รักรู้หรือไม่ การที่เด็กสามารถนั่งดูจอได้นานนั้น ไม่ได้แปลว่าเด็กมีสมาธิ การปล่อยลูกนั่งหน้าจอเป็นเวลานานอาจนำไปสู่ภาวะสมาธิสั้นได้ และสมาธิสั้นในเด็กคือสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลต่อพัฒนาการและความสามารถในห้องเรียนของลูกด้วย

เอาแล้วสิ ลูกเราก็ชอบเล่นแท็บเลตซะด้วย หรือลูกเล่นไม่บ่อยแต่เราก็ให้ลูกเล่นบ้างเหมือนกัน จะรู้ได้ยังไงว่าลูกเรามีภาวะสมาธิสั้นหรือเปล่า คุณพ่อคุณแม่สามารถประเมินอาการเบื้องต้นของเด็กได้ค่ะ โดยในตอนนี้เรานำข้อสังเกตอาการสมาธิสั้นเบื้องต้นมาฝากกันค่ะ

อาการสมาธิสั้นแบ่งเป็น 2 กลุ่มค่ะ คือ กลุ่มซนอยู่ไม่นิ่ง (ADHD) และกลุ่มซนแต่นิ่ง (ADD)

มาดูกลุ่มซนอยู่ไม่นิ่ง หรือกลุ่ม ADHD กันก่อน ผู้ปกครองลองสังเกตอาการของเด็กดูได้ตามนี้ค่ะ

1.) เด็กทำอะไรได้ไม่นาน เช่น ทำการบ้าน หรือเล่นอย่างหนึ่งอย่างใดได้ไม่นาน จดจ่อได้ไม่นาน

2.) หุนหันพลันแล่น ไม่รอคอย อยากได้อะไรหยิบทันที แย่งทันที

3.) ฟังคำพูดไม่จบ พูดแทรก ทำตามคำสั่งไม่ครบ

4.) ทำของหายเป็นประจำ ถ้าเด็กทำยางลบ ทำดินสอสีหายบ้าง บางครั้งถือเป็นธรรมดาปกติของเด็กค่ะ แต่ถ้าหายบ่อยขนาดที่หายแทบจะทุกครั้ง อาจมาจากอาการสมาธิสั้นได้

5.) เด็กพยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้สมาธิจดจ่อ ถึงแม้เมื่อเด็กลงมือทำแล้ว เด็กจะสามารถสะกดตัวเองได้ แต่จะพยายามเลี่ยงที่จะไม่ทำ ทั้งนี้ไม่นับการจดจ่อที่หน้าจอทีวี มือถือ หรือแท็บเลตนะคะ

อาการทั้ง 5 ข้อนี้ จะต้องสังเกตเห็นได้ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนนะคะ หากเกิดขึ้นเพียงที่ใดที่หนึ่ง อาจเป็นปัจจัยอื่น ไม่ได้มาจากภาวะสมาธิสั้นของตัวเด็กค่ะ

ส่วนสมาธิสั้นกลุ่มที่ซนแต่นิ่ง หรือกลุ่ม ADD จะสังเกตอาการได้ยากกว่ากลุ่มแรก หรือแทบดูไม่ออกเลย ต้องขอความร่วมมือจากคุณครูช่วยสังเกตให้ด้วย ดังนี้ค่ะ

1.) เด็กดูตั้งใจเรียนในห้องแต่ผลคะแนนกลับได้น้อย

2.) ชอบมองออกไปนอกหน้าต่าง ในขณะเรียนในห้อง

3.) ชอบนอนเลื้อย นอนฟุบโต๊ะบ่อย อาการสมาธิสั้นมักพบกล้ามเนื้อหลังนิ่มร่วมด้วย เด็กจึงนั่งได้ไม่นาน

ระยะเวลามีสมาธิของเด็กที่ถือว่าปกติในแต่ละช่วงอายุ

วัยประถมต้น ปกติจะมีสมาธิประมาณ 15-30 นาที วัยอนุบาลประมาณ 5-15 นาที วัย 2 ขวบหรือก่อนอนุบาล 3-5 นาที ส่วนเด็กเล็กกว่า 2 ขวบ มีสมาธิได้ 2 นาที ถือว่าใช้ได้แล้วค่ะ

เมื่อสังเกตและประเมินแล้ว สงสัยว่าลูกเราอาจจะมีภาวะสมาธิสั้น พ่อแม่ควรทำอย่างไรต่อ

อันดับแรกค่ะ อยากให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจและยอมรับลูกก่อน ภาวะสมาธิสั้นเกิดจากสารในสมองทำงานผิดปกติหรือถูกกระตุ้นจากภายนอก ลูกไม่ได้ตั้งใจมีสมาธิสั้น ถ้าคุณพ่อคุณแม่เข้าใจตรงนี้ได้ ต่อไปก็ง่ายแล้วค่ะ ลำดับต่อไปเมื่อเราสังเกตและสังสัยว่าลูกอาจจะสมาธิสั้น ให้ไปพบคุณหมอเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยให้ละเอียดอีกครั้ง จึงจะฟันธงว่าเป็นสมาธิสั้นจริง

ในกระบวนการรักษานั้น ในช่วงแรกคุณหมอจะให้คำปรึกษาและแนะนำวิธีปรับพฤติกรรมของครอบครัวให้ช่วยพัฒนาสมาธิให้แก่ลูก ส่วนในการรักษาที่ต้องใช้ยาร่วมด้วยนั้น คือหลังจากที่ปรับพฤติกรรมแล้วยังไม่หาย ฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องตกใจเมื่อพบว่าลูกมีอาการสมาธิสั้น การปรับพฤติกรรมก็สามารถทำให้เด็กหายขาดจากอาการสมาธิสั้นได้ค่ะ หากคุณพ่อคุณแม่ยังมีข้อสงสัย ลองเข้าไปทำแบบทดสอบเช็คความเสี่ยงสมาธิสั้นเบื้องต้นได้ โดยแอดไลน์ @MorOnline ค่ะ 

ยิ่งเราทราบเร็วและปรับแก้ได้เร็วเท่าไร ยิ่งดีต่อลูกและคุณพ่อคุณแม่ หากเลยวัย 8 ขวบไปแล้ว การรักษาจะกินเวลายาวนานกว่าการรักษาในเด็กเล็กค่ะ

ส่วนวิธีป้องกันลูกรักจากภาวะสมาธิสั้นนั้น คือการให้เด็กได้เล่นซนตามธรรมชาติ ให้ลูกได้มีพื้นที่คลาน ปีนป่าย ได้วิ่ง เล่นน้ำ เตะบอล ให้ลูกได้สนุก หัวเราะเยอะ ๆ และที่สำคัญที่สุดและดีที่สุด คือให้ลูกได้มีเวลาเล่นสนุกไปกับคุณพ่อคุณแม่ค่ะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ ดีต่อลูกชวนคุย#16 ลูกเราสมาธิสั้นหรือเปล่านะ

https://www.facebook.com/299800753872915/videos/3278387462275390 

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

 

นิสัยแห่งความมุ่งมั่น พยายามไม่ล้มเลิก จนนำไปสู่ความสำเร็จ เป็นทักษะที่สำคัญและสร้างได้ในเด็ก คุณพ่อคุณแม่ควรเรียนรู้ความหมายของ GRIT ศาสตร์ที่จะทำให้ลูกกลายเป็นคนที่มุ่งมั่นนำทางไปสู่ความสำเร็จ

“ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” ใครเห็นด้วยกับสุภาษิตนี้บ้างคะ

เชื่อว่า แต่ละคนอาจมีคำตอบที่แตกต่างกัน แล้วแต่ความหลากหลายของประสบการณ์ส่วนตัวผสมกับความเชื่อส่วนบุคคล และไม่ว่าคุณผู้อ่านจะเห็นด้วยกับสุภาษิตนี้หรือไม่ ก็เป็นคำตอบที่ถูกต้องทั้งหมด เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ความพยายามคือตัวแปรสำคัญของสมการความสำเร็จอย่างแน่นอน 

และแล้ว GRIT ผลลัพธ์จากการศึกษาพฤติกรรมสู่ความสำเร็จ ก็ได้มาไขคำตอบให้เรารู้ว่า สุภาษิตนี้ เกือบถูก รวมถึงยังเผยตัวแปรอีกตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นกุญแจที่หล่นหายมาไขสมการความสำเร็จให้เราด้วย

GRIT คืออะไร

หากใครที่เป็นสายพัฒนาตนเอง (personal development) ต้องเคยผ่านตาหรือได้อ่านเกี่ยวกับ GRIT มาบ้าง และหลายคนก็อาจเข้าใจความหมายของ GRIT ว่า คือนิสัยแห่งความมุ่งมั่นพยายามไม่ล้มเลิกจนไปสู่ความสำเร็จ แต่แท้จริงแล้ว ความหมายคำว่า GRIT ของคุณ Angela Duckworth เจ้าของหนังสือ GRIT: The Power of Passion and Perseverance นั้น คือ ความมุ่งมั่นพยายามจนไปสู่ความสำเร็จกับสิ่งที่เราแคร์

“GRIT คือ ความมุ่งมั่นพยายามจนไปสู่ความสำเร็จกับสิ่งที่เราแคร์”

หากคุณพ่อคุณแม่เพียงต้องการให้ลูกมีความพยายามกับสิ่งที่เขาเองไม่ได้สนใจ เราเรียกสิ่งนั้นว่า ความถึก ลูกต้องใช้กำลังมาก ลูกจะเหนื่อยและท้อได้ง่าย แต่หากลูกสนใจสิ่งนั้น อยากทำได้ด้วยตัวเอง ลูกจะมีกำลังภายในที่อยากพิชิตเป้าหมายให้ได้ ส่วนคุณพ่อคุณแม่ก็เพียงส่งเสริม GRIT ของลูก และคอยตอบรับลูกในจังหวะที่เหมาะสมเท่านั้น 

เมื่อคุณพ่อคุณแม่เข้าใจความหมายของ GRIT แล้ว เราก็สามารถส่งเสริม GRIT ในลูกได้ง่าย ๆ ดังนี้ค่ะ

1.) ความสำเร็จของลูก ให้ลูกได้เลือกเอง

กระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ลูกสนใจและเลือกที่จะเริ่มทำมัน หากลูกขอเงินคุณพ่อคุณแม่ไปทำกิจกรรมใด ๆ แสดงว่าลูกมีความปรารถนาและเป้าหมายของเขาที่อยากจะทำสิ่งที่มุ่งหวังให้สำเร็จ ถึงแม้จะเป็นเพียงทำตามเทรนด์ แต่การได้ลองทำ ถือเป็นการทำความรู้จักกับความพยายามที่ดี ถึงแม้จะเป็นการเรียนเต้นคัฟเวอร์เกาหลีก็ตาม

2.) ย่อยเป้าหมายใหญ่ให้เล็กลง

ย่อยเป้าหมายใหญ่ให้เล็กลง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การสร้างวินัย นั่นเอง โดยการตั้งกรอบเวลาของเป้าหมายย่อยนั้น และทำสะสมจนครบเป็นเป้าหมายใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ชวนลูกย่อยเป้าหมายเป็นรายวัน วันนี้จะทำอะไรให้สำเร็จ เดือนนี้ในวันที่เท่านี้จะทำอะไรให้ได้ จะเรียนคอร์สอะไรให้จบก่อนจึงค่อยเริ่มคอร์สต่อไป เป็นต้น

3.) เป้าหมายต้องชัดและท้าทาย

เป้าหมายที่ดีคือเป้าหมายที่ชัดเจนและท้าทาย ไม่ง่ายจนสบายเกินไป ไม่ยากเกินจนไม่เห็นหนทาง มีจุดชี้วัดความสำเร็จที่เข้าใจได้ทันทีว่า ถึงหรือยังไม่ถึงเป้าหมาย การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนช่วยให้เราไม่ล้มเลิกง่าย ๆ และเสริมด้วยการย่อยเป้าหมายตาม ข้อ 2 ช่วยให้เห็นความคืบหน้าด้วย

4.) เมื่อไรถึงจะฟีดแบ็คลูกได้ 

กระบวนการเรียนรู้ของเด็ก ๆ แต่ละคนนั้นแตกต่างกัน เด็กบางคนพัฒนาเร็วตั้งแต่ต้น เด็กบางคนอาจเป็นม้าตีนปลาย ช่วงเวลาที่จะฟีดแบคหรือประเมินผลกับลูกที่ดี คือเมื่อจบครบรอบของเป้าหมายนั้น เช่น จบคอร์สเรียน ครบเดือนที่กำหนด ครบวันที่ลูกเราตั้งเป้าหมายไว้ การฟีดแบ็คที่มีประสิทธิภาพคือการฟีดแบ็คที่ส่งเสริมให้ลูกไปต่อได้ และยิ่งเจาะจงเท่าไรยิ่งดี

5.) หากลูกล้มเลิกกลางคัน

หากลูกอยากล้มเลิกกลางคัน อับดับแรก เช็คก่อนเลยว่า สิ่งที่ลูกล้มเลิก ลูกเลือกทำเองและล้มเลิกเอง หรือคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกทำ การเลือกเองนั้นส่งผลต่อความพยายามของลูก ถ้าลูกเลือกเองและล้มเลิก สาเหตุมักมาจากการเปรียบเทียบตนเองกับเพื่อน แล้วรู้สึกว่ายากไป ไม่สนุกแล้ว อยากชวนให้คุณพ่อคุณแม่ยื้อลูกไปอีกซักนิดให้จบครบรอบของเป้าหมาย และจะได้ฟีดแบ็คกัน ถ้าลูกไปต่อไม่ไหวจริง ๆ นั่นคือบทเรียนที่ดีของลูก ลูกได้เรียนรู้อะไรจากการล้มเลิกนี้ แล้วต่อไปลูกจะทำอย่างไร ชวนลูกสรุปบทเรียนไปเลยค่ะ

talent x effort = skill

skill x effort = achievement

สูตรความสำเร็จของคุณ Angela Duckworth นั้นประกอบด้วย สูตรแรก สิ่งที่ใจเราใฝ่กับความพยายามทุ่มเท สองสิ่งนี้รวมกันจะได้ ทักษะ และสูตรที่สอง ทักษะกับความพยายามทุ่มเทรวมกันจะได้ ความสำเร็จ จะเห็นว่าต้องใส่ความพยายามถึงสองครั้งจึงจะเกิดความสำเร็จ 

ทุกอย่างที่ลูกเรียนรู้ไป ล้มบ้าง เลิกบ้าง สำเร็จบ้างนั้น ไม่เสียเปล่า วันหนึ่งเมื่อลูกโตขึ้น ลูกจะ Connect the Dots ได้ เกิดเป็นทักษะที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร และ passion นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกที่ลูกเริ่มสนใจ แต่เกิดขึ้นเมื่อลูกมองหันกลับไปยังสิ่งที่ลูกได้ทำ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ พ่อแม่และครูส่งเสริม grit ในเด็กได้อย่างไร 

Link https://www.facebook.com/299800753872915/videos/1671798873025624 

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

 

แม้วิกฤติโรคระบาดจะยังไม่หายไป แต่นี่คือช่วงเวลาทองของคุณพ่อคุณแม่ ในการเสริมสร้าง พัฒนาการและสายใยความสัมพันธ์กับลูกน้อย ลองมาจัดระเบียบการใช้บ้านเป็นที่ทำงานและ โรงเรียนออนไลน์ของลูกกันดีกว่า

คุณพ่อคุณแม่ต้องสูดยาดมลึกสุดถึงขั้วปอดอีกรอบ เมื่อโควิด-19 ระลอกสอง กลับมาทำให้หายใจไม่ทั่วท้องอีกครั้ง และยังทำให้ที่บ้านกลายเป็นที่ทำงานและโรงเรียนไปพร้อม ๆ กัน

หนักสุดคงหนีไม่พ้นบ้านที่ต้อง work from home และมีลูกวัยเล็กอย่างปฐมวัย แค่คิดว่าจะจับลูกใส่กระด้งเรียนออนไลน์ เส้นเลือดที่ขมับก็กระตุกแล้ว

เคราะห์ซ้ำกรรมซัดของพ่อแม่ที่มีลูกช่วงปฐมวัย เมื่อคุณแอมป์ เจ้าของเพจ ‘Leeway การเรียนรู้ผ่านการเล่น’ แนะนำตรง ๆ ว่า “การเรียนออนไลน์ของเด็กปฐมวัยน่ะไม่เวิร์ค” 

คุณแอมป์บอกว่า การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัยคือการสร้าง EF ซึ่งเกิดจากการได้เล่น ได้จับ ได้ลงมือทำ ฉะนั้นการนั่งเรียนออนไลน์ผ่านหน้าจอไม่ได้ทำให้เด็กวัยนี้เกิดพัฒนาการ หรือพูดอีกอย่างก็คือ การเรียนออนไลน์สำหรับเด็กปฐมวัยนั้นไร้ประโยชน์

อยากให้คุณพ่อแม่ที่มีลูกปฐมวัย สูดยาดมลึก ๆ อีกรอบ เปลี่ยนมุมมองใหม่ แล้วเล็งเห็นโอกาสในวิกฤต นี่คือช่วงเวลาทองของการเสริมสร้างพัฒนาการและสายใยความสัมพันธ์กับลูกน้อยให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตใจเข้มแข็ง เป็นบุคคลคุณภาพที่รักคุณมาก และยังเป็นช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ได้มีโอกาสสื่อสารกับคุณครูหรือโรงเรียนมากขึ้น เพื่อที่เราจะได้รับทราบว่าลูกเราเรียนอะไร หลักสูตรเป็นยังไง ครูสอนอะไรจากที่โรงเรียน เพียงแค่เรารู้วิธีการจัดการกับสถานการณ์นี้ ก็จะเกิดประโยชน์กับทั้งตัวคุณพ่อคุณแม่และลูก ซึ่งคุณแอมป์ได้แนะแนวทางปฏิบัติที่สามารถประยุกต์ใช้กับบ้านที่มีลูกปฐมวัยเรียนออนไลน์และผู้ใหญ่ต้อง work from home ดังนี้

1.) การจัดตารางเวลาให้เหมือนที่เด็กคุ้นเคย

จัดตารางชีวิตประจำวันของเด็กที่ต้องเรียนออนไลน์ให้ตรงกับตารางเวลาปกติเหมือนยังไปโรงเรียน  เพื่อลดภาวะต้องปรับตัวของเด็ก ช่วยให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายและง่ายที่จะเข้าใจต่อผู้ปกครองด้วย

2.) แบ่งโซนทำงานกับโซนเล่นของลูก 

เข้าใจว่าเป็นเรื่องยากที่จะแบ่งโซนทำงานและโซนเล่นของลูก แต่อย่างน้อยให้ลูกได้รับรู้โซนของตัวเอง และที่สำคัญ ลูกต้องเล่นอยู่ในระยะสายตาของผู้ปกครองด้วย

3.) สร้างสิ่งแวดล้อมให้ลูกได้เล่น

ในเมื่อการเรียนออนไลน์นั้นไม่เหมาะกับปฐมวัย เราสามารถสร้างรูปแบบการเล่นเพื่อการเรียนรู้ให้ลูกได้ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ

  • การเล่นอิสระ คือเด็กสามารถเล่นได้ด้วยตนเอง เป็นการเล่นที่ง่ายสุดและเสริมสร้างลูกน้อยได้ดี เช่น การเล่นทราย เล่นดินน้ำมัน ตัวต่อเลโก้ โดยไม่ต้องบอกให้ลูกสร้างหรือปั้นเป็นตัวอะไรเพื่อให้ลูกได้เล่นใช้จินตนาการเสริมสร้าง EF อย่างเต็มที่ และลูกยังได้เสริมสร้างกล้ามเนื้อมัดเล็กไปด้วย
  • การเล่นที่พ่อแม่จัดหาให้ คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจไปหาวิธีเล่นกับลูกจากแหล่งต่าง ๆ ในอินเทอร์เน็ต อย่างนี้ก็ใช้ได้เช่นกัน ซึ่งวิธีนี้ทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้สร้างความสัมพันธ์กับลูกไปด้วย

หากคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่พร้อมจะเล่นกับลูกจริง ๆ คุณแอมป์เข้าใจตรงจุดนี้และได้แนะนำวิธีจัดการที่ง่ายที่สุด คือ Plan Do Review คือการวางแผน ทำ และสะท้อน โดยกำหนดสิ่งที่ลูกจะเล่น ระยะเวลา และมาสะท้อนว่าลูกเล่นแล้วได้อะไร แล้วเริ่มเล่นสิ่งต่อไปเป็นรอบ โดยใช้การวางแผน ทำ และสะท้อนเหมือนเดิม เช่น กำหนดให้ลูกเล่นปั้นดินน้ำมัน 1 ชั่วโมง เมื่อปล่อยให้ลูกเล่นครบกำหนดแล้ว เราก็ไปถามลูกว่าเล่นแล้วเป็นยังไง สนุกไหม ได้ทำอะไรบ้าง หลังจากนั้นกำหนดเวลาอีก 1 ชั่วโมงให้ลูกเล่นระบายสี ครบ 1 ชั่วโมงเราก็เข้าไปถามเพื่อสะท้อนอีกครั้ง โดยทั้งหมดนี้ลูกอยู่ในสายตาเราตลอด

หากคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นห่วงว่าลูกจะอ่านเขียนไม่ทันเพื่อน อยากให้ใจเย็น ๆ เด็กจะอ่านเขียนได้เมื่อเข้าประถมหรือตามพัฒนาการ เขียนได้ช้าไม่ใช่เขียนไม่ได้ ปูพื้นกล้ามเนื้อมัดเล็กให้ลูกจับดินสอแน่น ๆ ด้วยการเล่นดีกว่า เมื่อลูกพร้อม อ่านเขียนสำหรับลูกนั้นไม่ยากเลย

คุณแอมป์แนะนำอีกว่า เด็กวัย 6 - 10 ปีควรอยู่ที่หน้าจอได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน วัย 2-5 ปีไม่เกิน 1 ชั่วโมง และเด็กอายุน้อยกว่า 1 ขวบครึ่งหรือ 18 เดือน ไม่ควรอยู่หน้าจอเลย

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง หากผู้ใหญ่มีความเครียดเกิดขึ้น การปลดปล่อยความเครียดนั้นไม่ผิด แต่ควรพยายามไม่แสดงอาการรุนแรงให้ลูกเห็นต่อหน้า ความรุนแรงส่งผลต่อภาวะที่ไม่ดีต่อร่างกายลูก ลูกคือคนที่เรารักและเราอยากเห็นเขาพัฒนาอารมณ์ให้ดีที่สุด ผู้ใหญ่ควรหาที่ปลดปล่อยอารมณ์ให้ไกลสายตาเด็ก 


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก 

หัวข้อ ลูกปฐมวัย เล่น เรียนรู้ อย่างไรดี ในยุค COVID

https://www.facebook.com/watch/live/?v=210791220708868&ref=search

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top