จากช่องติ๊กต็อก @dhamma_tv ได้เผยแพร่คำสอนเรื่อง ‘ธรรมะสำหรับพนักงานบริษัท’ จากรายการ ‘ธรรมะทำไม’ โดย ‘พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท)’ รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดด่านใน
🎙: พนักงานออฟฟิศ พนักงานบริษัท ผู้บริหาร ควรจะใช้ธรรมะข้อไหนดี?
💛พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): ข้อที่ 1 คือขยัน คงไม่มีนายจ้างที่ไหนอยากได้คนขี้เกียจ ข้อที่ 2 คือซื่อสัตย์ ข้อที่ 3 ประหยัด ข้อที่ 4 สามัคคี และข้อที่ 5 มีวินัย
ความขยัน ตรงข้ามกับความขี้เกียจ ความขยันคือการเอาใจใส่ มีความเพียร มีวิริยะ อยู่ในแผนกใดก็ขยันขันแข็งกระตือรือร้น ไม่นิ่งดูดาย ไม่ใช่คนที่เช้าชาม เย็นชาม ความขยันก็คือเสน่ห์นะ เพราะคนชอบคนขยัน
🎙: หากเป็นพนักงานบริษัทระดับล่าง แล้วคิดว่า ขยันไปก็เท่านั้น เจ้าของบริษัทไม่เห็นหรอก าคิดแบบนี้ได้ไหม?
💛พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): คิดแบบนี้ไม่ได้ เพราะในความเป็นจริงผู้บริหารเห็นทั้งหมด และสามารถตรวจสอบได้ และรู้ด้วยว่าใครเป็นตัวถ่วง คำโบราณคือ ม้าเทียมรถ ถ้าม้าตัวไหนพาพวกวิ่งเป๋ ก็จะรู้่ หรือม้าตัวไหนพาพวกวิ่งไปข้างหน้า ก็รู้ บ่งบอกถึงคุณภาพ
ดังนั้นต้องคิดใหม่ว่า เราจะต้องสร้างแผนกให้ชนะแผนกอื่น เช่น แผนกผลิตจะต้องผลิตให้เซลล์ขายไม่ทัน หรือฝ่ายขายก็ขายจนเกลี้ยง ต้องรักบริษัทเหมือนรักบ้าน ให้รักงานเหมือนรักครอบครัว ต้องทำแผนกให้ประสบความสำเร็จ ถ้าทำได้เงินเดือนจะขึ้นทั้งแผนกนะ แต่ในขณะเดียวกันถ้ามีใครเป็นตัวถ่วงก็จะโดนทั้งแผงเหมือนกัน ดังนั้น ‘ความขยัน’ คือธรรมะที่ทุกบริษัทต้องการ
ต่อมา ‘ซื่อสัตย์’ คือซื่อตรง จริงใจ เพราะเวลาพิจารณาขั้นเงินเดือน พวกที่ไม่ซื่อสัตย์ ซื่อตรง ก็จะไม่ได้รับ ความซื่อสัตย์ ซื่อตรง ตรงต่อเวลา เป็นคุณธรรมที่สำคัญ
ถัดมาคือ ‘ประหยัด’ คือการใช้ทรัพยากรของบริษัทด้วยความระมัดระวัง หลวงพ่อเคยไปบรรยายที่บริษัทแห่งหนึ่งมีพนักงาน 800 คน ลองคิดดูว่า ถ้า 800 คนนี้ล้างมือ ขณะถูสบู่ก็เปิดน้ำทิ้งกันทุกคน จะต้องใช้น้ำกี่ลิตร เช่นเดียวกับการปิดไฟ ปิดแอร์ ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้แล้ว ไม่ต้องรอให้หัวหน้ามาสั่งหรอก ทำเองได้เลย ฝึกให้เป็นนิสัย อย่าไปคิดว่าทำไปก็เท่านั้น
เรื่องกระดาษทิชชูก็เหมือนกัน ถ้าทุกคนดึงทิชชูเหมือนดึงเชือกว่าว กระดาษจะต้องหมดวันละกี่ม้วน? แล้วกระดาษนี้เป็นทรัพยากร มาจากต้นไม้ มาจากต้นไผ่ เราต้องผลิต เราต้องทำลายสิ่งแวดล้อมมากมาย ฉะนั้นเราก็ช่วยประหยัด ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้ใช้ แต่ให้ฝึกความประหยัดเป็นนิสัย ซึ่งประหยัดต่างจากตระหนี่นะ ตระหนี่คือมีแล้วไม่ใช้ แต่ประหยัดคือใช้เป็น ใช้พอดี
อีกข้อคือ ‘สามัคคี’ ก็คือการอยู่ด้วยกัน ไม่ทะเลาะกัน ต้องกลมเกลียวกัน
ข้อสุดท้าย คือ ‘มีวินัย’ อันนี้สำคัญที่สุดเลย การมีวินัยจะทำให้องค์กรทุกองค์กร หากสังเกตองค์กรต่างชาติหรือบริษัทข้ามชาติที่เขาประสบความสำเร็จระดับโลก เพราะความมีวินัย มีมากเป็นอันดับหนึ่ง เราก็มักจะชมว่าทำไมคนยุโรป คนอเมริกา จึงมีระเบียบวินัย ก็เพราะเขาฝึกมา เขาไม่ได้คิดว่าทำให้ใคร เพื่อใคร แต่เขาฝึกทำให้ตัวเองเป็นคนมีคุณภาพ
ดังนั้นธรรมะสำหรับพนักงานบริษัททุกระดับ อย่าไปคิดว่าทำไปก็เท่านั้นแหละ บริษัทเขารวย
หลวงพ่อเคยพูดว่า ทำไมคุณไม่คิดใหม่ ถ้าเจ้าของบริษัทปิดบริษัท (เจ้าของ) เขาอยู่ได้ร้อยปี ไม่เดือดร้อน แต่ถ้าบริษัทปิด เราในฐานะลูกจ้าง จะเอาเงินจากไหนมาผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ถ้าหางานใหม่ ก็อาจจะต้องย้ายโรงเรียนลูกอีก หรือเสียค่าเดินทาง ค่าน้ำมันเพิ่มอีก
ดังนั้นต้องทำบริษัทนี้ให้อยู่ยั่งยืน ไม่ย้ายไปไหน เราจะได้วางแผนซื้อบ้านใกล้บริษัท หาโรงเรียนลูกใกล้บริษัท เมื่ออยู่ใกล้บริษัทเดินมาก็ได้ ปั่นจักรยานมาก็ได้ ไม่ต้องใช้วินมอเตอร์ไซค์ปากซอย เห็นไหม? มันเป็นเรื่องดี ก็ต้องทำให้บริษัทรวยที่สุดเท่าที่จะรวยได้
ส่วนเรื่องเงินเดือน หลวงพ่อมั่นใจว่าไม่ต้องไปบอกให้เขาขึ้น หลวงพ่อเห็นข่าวนะบริษัทข้ามชาติมาอยู่ในไทย ขนาดตอนโควิดยังมีโบนัส 7 เดือน นั่นก็แสดงว่าพนักงานเขากลมเกลียว มีคุณภาพ ฝ่ายขายก็ขายอย่างมีคุณภาพ ฝ่ายผลิตก็ผลิตอย่างมีคุณภาพ แต่หากคิดว่า อย่าไปทำเลย ทำไปก็เท่านั้น ฝ่ายขายก็ขายแบบเนือยๆ ฝ่ายผลิตก็เนือยๆ ทุกแผนกเนือยกันหมด หากเป็นอย่างนี้ก็เตรียมจดบริษัทใหม่เลย ชื่อบริษัทเจ๊งจำกัด ไปไม่รอดแน่
ดังนั้นของฝากไว้ ‘ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด สามัคคี มีวินัย’ ทำได้แล้วเจริญแน่นอน