Tuesday, 17 September 2024
INTERVIEW

เปิดมุมต่างของ ‘กรณ์ จาติกวณิช’ ที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน!! (ไม่ใช่เรื่องการเมือง) Part 2

เวลาพูดถึงชื่อของ ‘คุณกรณ์ จาติกวณิช’ เชื่อว่าหลายคนจะให้นิยามของนักเศรษฐศาสตร์ การนักการเงิน และขุนคลังมือฉมังที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก จากการถูกยกย่องให้เป็นรัฐมนตรีคลังโลก โดยนิตยสารเครือ The Banker คนแรกของประเทศไทย

คุณกรณ์ ถือเป็นคนการเมืองร่วมสมัย แต่เต็มไปด้วยมุมคิดที่ทันโลก ทันกระแส ล้อไปกับบุคลิกที่เคร่งขรึม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภายใต้หน้าฉากเหล่านั้น เขากลับมีมุมต่างที่ไม่ค่อยมีคนคุ้นเคยอยู่หลายมิติ ซึ่งวันนี้ THE STATES TIMES จะพาทุกคนไปเปิดมุมต่างจากชีวิตคนดังของ ‘คุณกรณ์ จาติกวณิช’ ที่เชื่อว่าทุกคนน่าจะอมยิ้มในหลากมุมเหล่านั้นไม่น้อยเลยทีเดียว

Q : ชีวิตก่อนเข้าเล่นการเมืองเป็นอย่างไรบ้าง?
คุณกรณ์ : แม้ว่าผมจะเรียนอยู่ในคณะที่มีประวัติในการผลิตนักการเมืองจำนวนมาก แต่ผมไม่เคยสนใจ ไม่เคยคิดเลยว่า อนาคตจะมาทำงานการเมือง เพราะฉะนั้น พอผมเรียนจบ ผมก็เข้าสู่เส้นทางที่ผมสนใจเลยก็คือไปทำงานสายการเงินการลงทุน ที่ลอนดอนเป็นศูนย์กลางการเงินของโลกอยู่แล้ว ผมก็เลยตัดสินใจว่า ผมจะไปเก็บประสบการณ์ด้วยการทำงานในสถาบันการเงินที่ลอนดอน

ความจริงก่อนที่ผมจะเข้าออกซฟอร์ด ผมสอบชิงทุนของแบงก์ชาติ แล้วก็ผมได้รับทุน แต่เขามีเงื่อนไขว่า เรียนจบแล้วต้องกลับมาทำงานใช้ทุนทันที แต่ว่าผมอยากจะทำงานในสถาบันการเงินที่อังกฤษก่อน ประสบการณ์นี้มันน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานให้กับแบงก์ชาตินะ ผมขอเวลา จบแล้วทำงานเก็บประสบการณ์สักสองปีก่อนแล้วค่อยกลับไปเริ่มใช้ทุน แต่เขาไม่ยอม เขาบอกว่ากติกาเป็นแบบนี้ 

ผมก็เลยปรึกษากับคุณพ่อคุณแม่ว่า ถ้างั้นผมไม่รับทุนได้ไหม เพราะผมมีความรู้สึกลึกๆ ว่านี่คือสิ่งที่อยากทำ นี่คือโอกาสที่ไม่อยากทิ้ง ด้วยความที่คุณพ่อรับราชการมา ผมไม่เคยคิดเลยว่าผมจะทำอย่างอื่นนอกจากเข้าทำงานราชการหรือองค์กรแบบแบงก์ชาติที่เป็นองค์กรกึ่งราชการ แต่พอเขาปิดประตูกับโอกาสนี้ ผมก็เลยเลือกที่จะไม่รับทุน แล้วก็บอกพ่อแม่ว่าถ้างั้นขอเงินพ่อแม่อีกสองปีได้ไหม ท่านก็บอกโอเคไม่เป็นไร ซึ่งมันก็ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปเลย มันก็ทำให้ผมมีโอกาสได้เข้าไปทำงานในสถาบันการเงินอันดับหนึ่งเลย ก็ต้องแข่งขันกันเข้าไป เพื่อนที่เรียนจบแต่ละคนช่วงนั้นคือต้องสมัครไปเป็นสิบๆ บริษัท เข้าสู่กระบวนการสัมภาษณ์เป็นเดือน กว่าที่จะได้รับการตอบรับ กระบวนการทั้งหมดก็ประมาณ 1-2 เดือน 

มีอยู่ครั้งหนึ่งผมต้องบินไปสัมภาษณ์ที่นิวยอร์ก ตอนนั้นเราเป็นเด็กนักเรียน เราก็มีความรู้สึกว่าโคตรเท่เลยนะ ส่งตั๋วเครื่องบินมาให้เราบินไปสัมภาษณ์ พอบินไปถึงที่เคนเนดี้แอร์พอร์ท ก็มาสัมภาษณ์ผมที่สนามบิน พอเสร็จบอกโอเคขึ้นบินกลับได้แล้ว ผมก็บินกลับมา อีกสักสัปดาห์หนึ่ง เขาบอกว่าผ่านรอบนั้นแล้ว บินมาสัมภาษณ์อีกรอบได้ไหม แต่ตอนนั้นคนอื่นเสนองานให้แล้ว ก็เลยขอบาย มันจะมีอะไรแบบนี้ สุดท้ายผมก็เลยเข้าไปทำงานที่สถาบันการเงินแห่งหนึ่งชื่อโวเบิร์ก เขาก็ให้ผมไปอยู่แผนกบริหารกองทุน ซึ่งก็ถือว่าเป็นโชคเพราะได้เรียนรู้อะไรเยอะมากในช่วงนั้น แล้วมันเป็นช่วงที่เศรษฐกิจบ้านเรา ตลาดทุนในละแวกแถวบ้านเราคือมาเลเซีย สิงคโปร์ รวมถึงไทยด้วย กำลังเริ่มที่จะแจ้งเกิด 

อย่างประเทศไทยในปีที่ผมเริ่มทำงาน มันเป็นปีแรกที่รายได้ของประเทศจากภาคอุตสาหกรรมมันแซงรายได้จากภาคการเกษตรเป็นครั้งแรก คือก่อนหน้านั้นภาคเกษตรใหญ่ที่สุด ความหมายคืออะไร คืออุตสาหกรรมต้องใช้ทุนเยอะ ดังนั้นถ้าอุตสาหกรรมกำลังจะโต ตลาดทุนมันต้องโตแน่นอน คนที่โน่นเขาเห็นก็เริ่มสนใจ ผมเลยได้เห็นโอกาสของประเทศเราจากมุมมองของนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งเป็นมุมมองที่ต่างจากคนที่ทำงานอยู่ในไทย 

พออยู่ที่นั่นได้สองปี ผมก็เลยตัดสินใจว่า ผมจะกลับบ้านเพราะมองว่าตลาดทุนบ้านเราจะต้องโต แล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือผมรู้เลยว่านักลงทุนต่างประเทศเริ่มสนใจที่จะเข้ามาลงทุน ซึ่งตอนนั้นเพื่อนหลายคนก็ทักว่ากลับมาปุ๊บ ก็มาเปิดบริษัทของตัวเองเลย ทำไมไม่เข้าไปทำงานหาประสบการณ์ก่อนสักพัก เพราะว่าตั้งแต่เด็กผมไปเรียนเมืองนอกไม่เคยทำงานเมืองไทย แต่ผมก็แบบคนหนุ่มใจร้อน แล้วเราก็มีความรู้สึกว่า ที่เขาเรียกว่าเรดโอเชี่ยนก็จริง คือบริษัทหลักทรัพย์ตอนนั้นก็มีอยู่เป็นร้อยแล้ว แล้วผมจะมาเปิดอีกบริษัทนึง ผมมีอะไรไปแข่งกับเขา 

แต่สิ่งที่ผมเห็นก็คือ บริษัทหลักทรัพย์ไทยทุกบริษัทในเวลานั้นเขาให้บริการลูกค้าคนไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายย่อย เพราะสมัยก่อนกองทุนยังไม่มี แต่ผมตั้งใจว่าจะเปิดบริษัทหลักทรัพย์เพื่อที่จะดึงนักลงทุนจากต่างประเทศที่เป็นนักลงทุนประเภทสถาบันเข้ามาลงทุนในไทย แล้วผมเป็นคนเดียวที่รู้ว่านักลงทุนต่างประเทศพวกนี้เป็นใครบ้าง ผมเป็นคนเดียวที่รู้ว่าเขาต้องการอะไร เพราะฉะนั้นผมก็มีความรู้สึกว่า เราก็หวง เราทำของเราเองแล้วก็เน้นเน้นตลาดนี้เลย ซึ่งสำหรับผมคือบลูโอเชียน คนมองว่าเรดโอเชียนเพราะมองไม่เห็นตลาดนี้ 

นั่นคือที่มาของการตัดสินใจตอนนั้น แต่ก็เป็นการตัดสินใจของคนหนุ่มที่ไม่รู้ว่ามันมีอะไร มันยากแค่ไหนท้าทายแค่ไหน แต่พอกระโดดลงไปแล้ว ไปเจอความท้าทายเราก็ต้องแก้ไขไป คือเริ่มแล้วมันก็หยุดไม่ได้ เหมือนตอนออกมาตั้งพรรคการเมือง พอเริ่มแล้วมันก็ต้องเดินต่อไปข้างหน้าเจอปัญหาก็ต้องแก้ เจอสถานการณ์ที่ไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาดหมาย ก็ต้องปรับ 

สมัยโน้นก็เหมือนกัน ตอนนั้นผมอายุ 24 ปี ก็โชคดีที่กลับมาแล้วก็เปิดบริษัทหลักทรัพย์ของตัวเอง คือเจเอฟ ธนาคม ทุกอย่างที่คาดว่าจะเกิด มันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็เลยทำให้มันง่าย เวลาที่ผมไปเล่าประสบการณ์ไปให้คำแนะนำกับนักเรียนนักศึกษา ผมก็จะบอกเขาอยู่ทุกครั้งว่า ต้องจับกระแสให้ถูกว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงยังไง วันนี้กระแสหลักในแง่ความเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยของสังคมไทยของเศรษฐกิจไทยมันกำลังเปลี่ยนยังไง 

เช่นเรื่องของเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยน มันเปลี่ยนไปอย่างไร เช่น สังคมสูงอายุ ตอนนี้โครงสร้างสังคมไทยกำลังเปลี่ยนอย่างมาก มันจะมีผลยังไงต่อธุรกิจประเภทต่าง ๆ หรือแม้แต่เรื่องของการเมืองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่กำลังมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เรื่องอุตสาหกรรมพลังงานที่จะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างมาก มันจะมีผลยังไงต่ออาชีพหรือว่าประเภทธุรกิจที่เลือกทำ ถ้าจับกระแสถูก โอกาสที่จะประสบความสำเร็จมันมากกว่าเราเดินสวนกระแส ไม่ได้หมายความว่าเดินสวนกระแสทำไม่ได้นะ แต่มันยาก ตอนนั้นกระแสหลักที่ผมจับได้คือตลาดทุนไทยต้องโตเพราะว่าภาคอุตสาหกรรมของเรากำลังจะบูม ถ้าอุตสาหกรรมบูมยังไงก็ต้องพึ่งตลาดทุน ตลาดมันโตแน่เพราะนักลงทุนต่างประเทศจะต้องมา พอจับกระแสนั้นถูก เรื่องอื่นเราสามารถผิดพลาดได้เยอะแต่ว่าจะยังไงมันก็ไม่เจ๊งเพราะว่ากระแสน้ำมันพาไป

Q : ในเรื่องของฟินเทค (เทคโนโลยีทางการเงิน) มีแนวทางอะไรที่จะมาช่วยได้บ้าง 
คุณกรณ์ : ประมาณ 6 ปีที่แล้ว ผมได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องของการก่อตั้งธุรกิจของคนรุ่นใหม่ ผมก็ไปสัมภาษณ์ผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่เกือบร้อยคน แล้วก็คัดเรื่องที่น่าสนใจ ตอนที่เริ่มทำผมไม่ได้รู้เกี่ยวกับสตาร์ตอัปของไทย ไม่รู้ว่ามันมีด้วย แต่ 12 ผู้ประกอบการที่ผมคัดมาลงเล่มนี้ คือหนังสือกล้าลุยไม่กลัวล้ม กลายเป็นเกือบครึ่งเป็นสตาร์ตอัป เพราะว่าผมเห็นแล้วผมก็รู้สึกทึ่งว่า เขาสร้างโอกาสจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ในการหาตลาดใหม่หรือแม้แต่สินค้าแบบใหม่ที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จได้ ด้วยความที่ผมสนใจเรื่องการเงินการลงทุนมาโดยตลอด ก็เลยทำให้ผมสนใจกับสตาร์ตอัป ที่ทำเรื่องฟินเทคที่ให้บริการทางด้านการเงินการลงทุน แล้วก็นำไปสู่การรวมตัวพวกน้องๆ ที่ทำสตาร์ตอัปทางด้านฟินเทคมาจัดตั้งสมาคมด้วยกัน เพื่อที่เขาจะได้มีปากมีเสียง ในการเสนอแนวความคิดต่อผู้กำหนดนโยบายระดับรัฐในการประสานพูดคุยกับฝ่ายกำกับอย่างเช่น แบงก์ชาติหรือ ก.ล.ต. เป็นต้น ก็เลยมีส่วนร่วมกับเขามาตั้งแต่วันนั้น 

ซึ่งแน่นอนที่สุดส่วนหนึ่งของของฟินเทคมันก็คือเรื่องคริปโตฯ ผมก็คอยติดตามเรื่องนี้ ส่วนตัวผมมองว่า คริปโตฯ เป็นเรื่องน่าสนใจมาก ตั้งแต่แรก ทุกครั้งที่ผมพูด ผมจะบอกว่าผมไม่เคยเรียกคริปโตฯ ว่าคริปโตเคอเรนซี เพราะเคอเรนซีแปลว่าเงิน ผมเรียกมันว่า คริปโตแอสเซท คือมันเป็นทรัพย์สินประเภทหนึ่งแต่มันยังไม่ใช่เงิน และสาเหตุที่มันไม่ใช่เงิน เพราะคุณสมบัติของเงินมันต้องใช้ง่ายใช้คล่อง ไปที่ไหนทุกคนรับ แต่คริปโตฯ มันยังไม่ใช่ มันใช้ยาก แล้วก็ต้นทุนในการใช้คริปโตฯ ก็สูงอีก เสียค่าแก๊ส (GAS) ซึ่งเวลาเราใช้เงินบาท เงินดอลล่าร์มันไม่มีต้นทุน ไม่มีค่าใช้จ่าย แล้วมันทำได้ทันที 

แม้แต่เรื่องการจัดเก็บ เราสามารถเก็บเงินในธนาคารได้โดยสะดวก สมมติธนาคารถูกปล้น ธนาคารก็ต้องรับผิดชอบกับเรา ถ้าธนาคารไม่รับผิดชอบเราก็มีกฎหมายที่คอยปกป้องสิทธิของเรา แต่คริปโตไม่มีเลย ไม่มีกฎหมายไม่มีอะไรรับรองเลย เพราะงั้นผมมองว่ามันยังเป็นเงินไม่ได้ แต่มันเป็นนวัตกรรมที่มีความน่าสนใจและผมเชื่อว่ามันมีอนาคต แต่จะมีอนาคตแบบไหน เวลาเป็นตัวพิสูจน์

Q : คนที่จะมาลงทุนในคริปโตฯ ควรมีมุมมองอย่างไร?
คุณกรณ์ : ผมยกภรรยาผมเป็นตัวอย่างก็แล้วกัน เพราะภรรยาผมเขาสนุกกับการเล่นคริปโตฯ ก่อนหน้านั้น เขาเห็นอาชีพผมคือการลงทุนในหุ้น เขาก็ลองเล่นหุ้นแต่เขาไม่ชอบแล้วก็ไม่ประสบความสำเร็จ แต่พอมาเป็นคริปโตฯ เขาชอบ ผมก็คุยกับเขาอยู่เสมอว่ามันมีอะไรที่เขาชอบในส่วนของคริปโตฯ เมื่อเปรียบเทียบกับหุ้น แล้วก็พยายามที่จะอธิบายให้เขาเข้าใจความต่าง ซึ่งความต่างหลักๆ ก็คือเวลาเราซื้อหุ้น เรากำลังเป็นเป็นเจ้าของในฐานะผู้ถือหุ้นในตัวกิจการ 

สมมุตเราไปซื้อหุ้น ปตท. ซึ่ง ปตท. มีปั๊มน้ำมัน มีโรงกลั่น เราก็จะมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของถึงแม้ว่าจะเสี้ยวเดียวก็ตาม มันก็จะมีกำไร มีปันผล มีสิ่งที่จับต้องได้ในฐานะผู้ถือหุ้น แต่เวลาซื้อคริปโตฯ มันไม่มีอะไรเลยนะ เพราะคริปโตฯ ไม่ใช่ธุรกิจ มันไม่มีรายได้ ไม่มีปันผล ไม่มีอะไรที่จับต้องได้ คุณจะซื้อคริปโตฯ ก็ต่อเมื่อคุณเชื่อว่า คนอื่นก็จะให้ราคากับคริปโตฯ นี้เท่านั้น มันเป็นเรื่องของศรัทธา แล้วผมจะเปรียบเทียบเวลาซื้อคริปโตฯ กับการซื้อทองมากกว่าซื้อหุ้น เพราะว่าทองคำจริงๆ มันก็เอาไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ แต่คนเชื่อว่ามันสามารถรักษาราคาของมันได้ มันก็คือความเชื่อ ไม่มีเหตุผลอะไร 

ความต่างระหว่างทองกับคริปโตฯ ก็คือทองมันพิสูจน์ตัวเองมาเป็นระยะเวลาหลายพันปีแล้วว่า มนุษย์ในทุกสังคมต่างให้คุณค่ากับทอง 

คริปโตฯ มันเป็นเรื่องใหม่ แม้แต่บิทคอยน์ซึ่งเป็นคริปโตฯ ที่เก่าแก่ที่สุด ก็อายุประมาณสิบกว่าปีเอง ซึ่งมันยังไม่มีเวลาที่จะพิสูจน์ตัวเองว่ามันสามารถรักษามูลค่า รักษาศรัทธาที่คนมีต่อมันได้หรือไม่ อีกอย่างหนึ่งคือทองมันก็มีอย่างเดียว มันไม่มีอะไรเหมือนกับทอง แต่ว่าคริปโตฯ มันเกิดใหม่อยู่เรื่อยๆ มีประมาณหมื่นประเภทในท้องตลาด ใครจะรู้ว่าคริปโตฯ ตัวไหนจะเป็นทรัพย์สินที่มีราคาในอนาคต เราก็ต้องมาเดาอีกว่า มันคือตัวไหน ตอนนี้ก็ยากหน่อย ใครที่รู้เรื่องเทคโนโลยีก็อาจจะได้เปรียบ นอกนั้นต้องถือว่าเป็นการเก็งกำไรล้วนๆ 

แล้วที่ผ่านมาอย่างกรณีของเทอร่า มันก็แสดงให้เห็นว่า มันก็ยังไม่ผ่านเวลาการพิสูจน์ตัวเอง เพราะว่าเทอร่าเดิมเขาอ้างว่า เป็นสิ่งที่เรียกว่า stable coin คือมีราคาขึ้นลงเหมือนกับสกุลเงิน US Dollar แต่เขาไม่ได้มีตัว US Dollar เป็นหลักประกัน เขาใช้อัลกอริทึมที่สลับซับซ้อน แต่ผลสุดท้ายก็ได้พิสูจน์ว่า อัลกอริทึมที่เขาอ้างว่าจะเป็นตัวยืนยันว่าเขาจะสามารถรักษาราคาเทอร่าให้เทียบเท่า US Dollar ได้ มันได้พิสูจน์แล้วว่า มันไม่เป็นจริง นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ส่วนอนาคตมันจะเป็นยังไง ผมคิดว่าก็ต้องรอดู 

ส่วนบล็อกเชนที่เป็นเทคโนโลยีเบื้องหลังคริปโตฯ อยู่กับเราแน่ เมื่อสองปีที่แล้วทุกคนก็คิดว่า บล็อกเชนจะสามารถแก้ปัญหาให้กับมนุษยชาติได้ แต่วันนี้คนก็เริ่มเห็นว่า มันก็อาจจะไม่ถึงขนาดนั้น แต่มันจะมีบทบาทที่สำคัญในหลายๆ เรื่องแต่ไม่ใช่ทุกเรื่อง เทคโนโลยีมันเปลี่ยนเร็วมาก ใครคิดจะลงทุนก็ได้ครับแต่ว่าอย่าทุ่มสุดตัว ระยะหลังมันมีอารมณ์เหมือนจะเป็นลัทธิมากเกินไป ซึ่งน่ากลัว แต่วันนี้ผมไม่ใช่แล้ว ผมคิดว่าทุกคนก็ปรับโหมดแล้วก็มีความเข้าใจกับประเด็นความเสี่ยงมากขึ้น ผมว่าเป็นเรื่องที่ดีเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้  

เปิดมุมต่างของ ‘กรณ์ จาติกวณิช’ ที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน!! (ไม่ใช่เรื่องการเมือง) Part 1

เวลาพูดถึงชื่อของ ‘คุณกรณ์ จาติกวณิช’ เชื่อว่าหลายคนจะให้นิยามของนักเศรษฐศาสตร์ การนักการเงิน และขุนคลังมือฉมังที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก จากการถูกยกย่องให้เป็นรัฐมนตรีคลังโลก โดยนิตยสารเครือ The Banker คนแรกของประเทศไทย

คุณกรณ์ ถือเป็นคนการเมืองร่วมสมัย แต่เต็มไปด้วยมุมคิดที่ทันโลก ทันกระแส ล้อไปกับบุคลิกที่เคร่งขรึม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภายใต้หน้าฉากเหล่านั้น เขากลับมีมุมต่างที่ไม่ค่อยมีคนคุ้นเคยอยู่หลายมิติ ซึ่งวันนี้ THE STATES TIMES จะพาทุกคนไปเปิดมุมต่างจากชีวิตคนดังของ ‘คุณกรณ์ จาติกวณิช’ ที่เชื่อว่าทุกคนน่าจะอมยิ้มในหลากมุมเหล่านั้นไม่น้อยเลยทีเดียว

Q : ตอนคุณกรณ์เป็นเด็ก ได้รับการปลูกฝังในเรื่องอะไรบ้าง
คุณกรณ์ : คุณพ่อคุณแม่ของผมก็ถือว่า เป็นคนทันสมัยในยุคของท่าน ท่านก็ค่อนข้างปล่อยเราให้คิดเอง มีความเป็นเสรีในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ พอสมควร ผมเป็นลูกคนกลาง มีพี่ชายกับน้องชาย แล้วพ่อผมบ้ากีฬา เลยถูกปลูกฝังมากที่สุดก็คือทางด้านกีฬา แล้วจนถึงทุกวันนี้ เราสนิทสนมกันมากเพราะว่าเรายังเล่นกีฬาอยู่ด้วยกันในระหว่างสามพี่น้อง กีฬาเป็นเหมือนตัวสื่อสัมพันธ์ให้กับพี่น้องกับคุณพ่อด้วยนะครับ 

ส่วนในเรื่องทั่วไป ที่จำได้มากที่สุด ก็คือจะย้ำในเรื่องของการไม่เอารัดเอาเปรียบใคร ไม่เคยพูดเรื่องอื่น ไม่เคยพูดในเรื่องของเป้าหมายชีวิตอะไรพวกนี้เลย แค่บอกว่าทำให้ดีที่สุด เพราะว่าทั้งสองท่านมีอาชีพเป็นข้าราชการ คุณแม่เป็นอาจารย์ คุณพ่อเป็นข้าราชการประจำกระทรวงการคลัง เพราะฉะนั้นท่านจะพูดถึงเรื่องของภาระหน้าที่ว่าคนเราเกิดมาไม่ใช่เรื่องของการมีความสุขหรือใฝ่หาความสุขอย่างเดียว นี่ถือเป็นชุดความคิดของคนในยุคนั้นเลย แต่ว่าคนเราเกิดมามันมีหน้าที่ ซึ่งแต่ละคนหน้าที่ต่อสังคมก็ต่างกันไป แล้วผมก็จำประเด็นตรงนี้ไว้ คุณพ่อจะพูดกับผมว่า มันไม่ใช่เรื่องของการหาความสุขอย่างเดียวนะแต่ว่ามีหน้าที่ต้องทำด้วย ส่วนสำคัญก็มีแค่นี้ครับ คือหนึ่งอย่าเอารัดเอาเปรียบใคร และก็อย่าไปเสียเปรียบใครด้วย แต่ว่าถ้าต้องเลือกก็เสียเปรียบนิดๆ ก็จะดีกว่า อย่าพยายามสร้างความได้เปรียบและอย่าเอาเปรียบเขา 

Q : ความทรงจำเกี่ยวกับคุณพ่อระหว่างที่ยังเป็นเด็กมีอะไรบ้าง?
คุณกรณ์ : คุณพ่อเคยเล่าให้ผมฟังว่า สมัยคุณพ่อยังเล็ก คุณปู่ผมท่านเป็นพระยา ผมไม่รู้ว่าท่านพูดเกินจริงหรือเปล่านะ แต่ท่านบอกว่าท่านเคยร่วมโต๊ะกินข้าวกับปู่ผมแค่ 1-2 ครั้งเองในชีวิต นอกนั้นก็คือกินในครัว ส่วนผู้ใหญ่ก็กินบนโต๊ะ เพราะฉะนั้นพอมาถึงตอนที่คุณพ่อเลี้ยงผม ท่านก็มีพัฒนาการมาเยอะ เราจะกินอาหารด้วยกันทุกวันตรงเวลา เป็นเหมือนกับเป็นกิจวัตรประจำวันของเราทุกคนนะครับ ทุกเย็น ไม่ว่ายังไงก็แล้วแต่คือต้องกินข้าวร่วมกัน แล้วจะมีกติกาบนโต๊ะกินข้าวของเราด้วย อย่างเช่นตอนผมเด็กๆ จะไม่เคยมีน้ำดื่มวางบนโต๊ะ หลายๆ คนที่โตมาในในสมัยเดียวกับผมจะคุ้นเคยกับเรื่องนี้ ก็คืออย่ากินข้าวคำน้ำคำ ถ้าอยากจะคล่องคอหน่อยก็ซดน้ำแกงหรือแกงจืด ส่วนน้ำจะวางไว้ข้างหลัง กินข้าวเสร็จแล้วค่อยดื่มน้ำ

แต่คุณพ่อผมถึงแม้ว่าท่านจะเลี้ยงผมต่างจากที่คุณปู่ผมเลี้ยงคุณพ่อก็ตาม แต่ก็ยังมีความต่างกับบทบาทหน้าที่ของพ่อในยุคสมัยปัจจุบัน หรือแม้แต่ที่ผมเลี้ยงลูกของผม คือเราจะมีความรู้สึกว่าการกอดกับพ่อเป็นเรื่องที่ต่างคนต่างเกร็งกันอยู่ ไม่ใช่เรื่องปกติ ในยุคสมัยนั้นเป็นแบบนั้น ถ้าจะกอดก็ต้องกอดคุณแม่ ส่วนพ่อจะมีแบบอารมณ์ขึงขังดูเป็นนักเลงโบราณ ฉะนั้นการแสดงออกในแง่ของความรักก็จะมีความต่างกัน 

ผมจำได้ว่าคุณพ่อจะมาเล่านิทานให้ฟังบ้างนานๆ ทีก่อนนอน และทุกครั้งจะเป็นการเล่านิทานเกี่ยวกับประสบการณ์สมัยสงคราม คือสงครามโลกในสมัยของท่าน ซึ่งพอโตขึ้นผมก็มานั่งค่อยๆ แกะเอาว่า คุณพ่อน่าจะเสริมเติมอยู่พอสมควรนะ คุณพ่อเล่าว่าสมัยนั้นบ้านอยู่สาทร และญี่ปุ่นอยู่ในเมือง บางครั้งที่บ้านก็จะโดนลูกหลง โดนระเบิดจากเครื่องบินเครื่องบินอังกฤษบ้าง เราก็จะสนุก เราก็จะชอบฟัง

และที่สำคัญกิจกรรมที่ทำกับคุณพ่อคือการเล่นกีฬา ทั้งเล่นเทนนิส ว่ายน้ำ พอเราโตขึ้นหน่อยคุณพ่อก็ฝึกให้เราตีกอล์ฟด้วย เพราะคุณพ่อผมเป็นนักเล่นกอล์ฟทีมชาติ ซึ่งก็เป็นความรัก เป็นกิจวัตรที่ยังติดตัวผมอยู่จนถึงทุกวันนี้เลย

Q : กีฬาที่คุณกรณ์ชื่นชอบคืออะไร
คุณกรณ์ : ต้องบอกก่อนว่าผมคือคนตัวใหญ่ น้ำหนักประมาณ 91-92 กิโลกรัม หมายความคือผมวิ่งช้า และกระโดดไม่ค่อยขึ้น ฉะนั้นนักกีฬาที่ผมถนัดก็เป็นกีฬาทางน้ำ ผมว่ายน้ำตั้งแต่เด็ก พอเข้ามหาวิทยาลัย ผมก็พายเรือ โดยเฉพาะเมื่อผมไปเรียนที่ออกซฟอร์ด การพายเรือคือกีฬาหลักของเขา ผมก็เลยตัดสินใจว่าจะเล่นกีฬานั้น ลองดูว่าเราไปถึงแค่ไหน และผมก็เล่นโปโลน้ำด้วย ทุกวันนี้ผมก็ยังออกกำลังด้วยการว่ายน้ำอยู่ 

Q : คุณพ่อได้พูดว่ามีสามสิ่งที่จะให้ลูกได้ อยากจะทราบว่าในสามสิ่งนั้นมีเรื่องอะไรบ้าง
คุณกรณ์ : สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องการศึกษา เพราะว่ารุ่นคุณพ่อผมก็ต้องถือว่าเป็นรุ่นแรกๆ ที่ได้มีโอกาสได้ไปเรียนต่อต่างประเทศ แล้วพี่น้องทุกคนของคุณพ่อ ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายได้ไปเรียนต่างประเทศหมด ซึ่งก็ถือว่าไม่ได้เป็นเรื่องธรรมดานะครับในยุคสมัยนั้น 

พอมาถึงเรา คุณพ่อคุณแม่ก็จะพูดอยู่เสมอว่า ไม่มีอะไรทิ้งเป็นมรดกให้มากนัก แต่ว่าจะมีการศึกษาที่ดีที่สุดที่เราเข้าถึงและติดตัวเราได้ ซึ่งท่านก็เน้นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ส่วนเรื่องที่สอง เป็นเรื่องที่ผมเน้นเสมอทุกครั้งเลยว่ามีความสำคัญกับครอบครัวก็คือเรื่องของความรักกีฬา และเรื่องที่สามคือเรื่องค่านิยม ผมคิดว่าค่านิยมสำคัญ เรื่องค่านิยมต่ออผู้อื่น ความหมายคือเราควรประพฤติตนต่อผู้อื่นยังไง ค่านิยมในแง่ของความรับผิดชอบที่เรามีต่อสังคม ค่านิยมในเรื่องของความผิดความถูก เหล่านี้ผมถูกปลูกฝังมา ไม่ใช่การออกคำสั่งหรือนั่งเทศน์ให้ฟัง แต่จะสัมผัสและซึมซับได้จากพ่อแม่ตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา 

Q : ตอนเด็กๆ มีเพื่อนสนิทหรือไม่?
คุณกรณ์ : ผมเป็นคนที่มีเพื่อนที่สนิทมากมาโดยตลอดนะครับ ผมเกิดที่อังกฤษ แต่ว่าประมาณสองขวบก็กลับมาไทย เพราะฉะนั้นช่วงแรกๆ ไม่มีความทรงจำอะไร พอกลับมาผมเข้าเรียนอนุบาลแล้วก็เรียนประถมที่โรงเรียนสมถวิลราชดำริ (ตอนนี้ไม่มีแล้ว) ก็มีเพื่อนที่รักมากที่นั่นอยู่หลายคน หลังจากนั้นผมไปเรียนสาธิตปทุมวัน เรียนอยู่ได้ไม่ถึงสองปี ยังไม่จบป.6 เลยผมก็ไปต่างประเทศแล้ว ผมก็เลยมีเพื่อนอีกชุดหนึ่งที่เป็นเพื่อนชาวอังกฤษจนถึงทุกวันนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ก็เพิ่งมีเพื่อนจากสมัยเรียนที่สมถวิลแวะมาคุยกัน

Q : เพื่อนลักษณะนิสัยยังไงที่จะเข้ากับเราได้ดี?
คุณกรณ์ : ก็ไม่เรื่องมาก โดยส่วนใหญ่เพื่อนจากสมัยนั้นก็จะเรียกชื่อเล่นผมก็คือดอน สมัยนั้นก็มีคนถามอยู่เสมอ ผมจำได้ครูถามผมทุกปีว่า ชื่อกรณ์แล้วทำไมต้องมีชื่อเล่นชื่อดอนอีก คือมันสั้นพออยู่แล้ว แต่เราจะไปรู้ได้ยังไงก็พ่อแม่ตั้งให้ (หัวเราะ) ก็เนี่ยครับสบาย ๆ กันเอง ความจริงวัฒนธรรมของโรงเรียนสาธิตปทุมวัน ผมมองว่าพวกเราที่อยู่สาธิตปทุมวัน มันมีความต่างนะ แต่ละสาธิตมีความต่างกันไป จุฬาเป็นแบบหนึ่ง ประสานมิตรเป็นอีกแบบหนึ่ง เกษตรก็เป็นอีกแบบหนึ่ง 

ปทุมวันเราก็มีความภาคภูมิใจในความหลากหลายของเด็ก จนถึงทุกวันนี้มันก็สะท้อนให้เห็นต่างคนต่างไปทำอะไรที่มีความแตกต่างหลากหลายกันมาก เรื่อยๆ สบายๆ แต่ก็ยังคบกันอยู่ ตอนนี้ก็ถึงวัยที่เราก็จะไปงานแต่งของลูกเพื่อนบ้างครับ บางทีก็ไปงานศพของผู้ใหญ่ของเพื่อนบ้าง ก็ยังเจอกันอยู่เรื่อยๆ

แล้วสมัยที่ผมไปเมืองนอกแรกๆ เด็กต่างชาติก็ไม่เยอะ เด็กไทยไม่ต้องพูดถึง จะไม่ได้เจอเลย ถึงไปเรียนพร้อมกันก็จะแยกย้ายกันอยู่คนละโรงเรียน อย่างเก่งก็คือตอนปิดเทอมสมัยนั้นกลับมาเยี่ยมบ้านปีละหน ก็มาเจอกันที่นี่ แต่ว่าก็คบกับเด็กฝรั่งนะ ซึ่งผมมองว่ามันเป็นหนึ่งในประสบการณ์ มันไม่ใช่แค่ไปเรียนเพื่อเอาความรู้ มันไปเรียนเพื่อสะสมประสบการณ์ เรียนรู้ถึงขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของเขา ซึ่งหลายๆ เรื่องเราก็นำมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตของเรา มาช่วยพัฒนาบ้านเมืองในบทบาทนักการเมืองที่ตามมา ผมก็จะมีเพื่อนฝรั่งอยู่ ยังคบกันอยู่เหมือนเดิม แต่แน่นอนคือไม่ค่อยได้เจอกันบ่อย

Q : เพื่อนคนไทยกับเพื่อนชาวต่างชาติมีความแตกต่างกันอย่างไร?
คุณกรณ์ : มีแน่นอน สมัยที่ผมไปเมืองนอกใหม่ๆ  ผมจะสัมผัสได้ถึงความแตกต่าง แต่ที่ชัดเจนมากที่สุดคือเรื่องของคำว่า ‘ใจ’ คือมันจะเห็นชัดเลยนะครับว่า ภาษาอังกฤษเขาไม่มีคำว่า ‘ใจ’ นะ ส่วนภาษาไทยมีแต่คำว่าใจ เสียใจ เห็นใจ เข้าใจ ผิดใจ คือเหมือนกับว่า ของเราทุกอย่างจะกำหนดด้วยเรื่องของใจ ซึ่งของฝรั่งเขาอาจจะอ้างถึงเหตุผลมากกว่า เขาจึงไม่มีคำว่าใจ ซึ่งตรงนี้ในทางปฏิบัติเราก็จะเห็น อย่างเช่นผมเอาขนมจากบ้านกลับไป สำหรับเรามันเป็นเรื่องปกติมากที่เราเอาขนมจากบ้านเราไปแบ่งกันไป แต่เขาของจะไม่ ตรงกันข้ามกับเราเลย ของใครของมัน ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไรนะครับ เพียงแต่เป็นวัฒนธรรมที่ต่างกัน ที่สำคัญคือต้องเคารพในเส้นแบ่งระหว่างกัน 

ผมจำได้ว่าตอนเข้าเรียนมหาลัย ไปเช่าบ้านอยู่ด้วยกันกับเพื่อนฝรั่ง 4-5 คน ในบ้านเช่าก็มีตู้เย็นอยู่ตู้เดียว ถ้าจำไม่ผิดเพื่อนของผมตีเส้นแบ่งในตู้เย็นเลยว่า มุมขวาด้านนี้คือพื้นที่ของผม อีกมุมก็เป็นของอีกคน แล้วก็แต่ละคนก็จะต้องมีขนม นม เนย ขนมปังของตัวเองวางอยู่ในพื้นที่ ผมก็คุยกับเพื่อนว่ามันจะอะไรกันนักหนาวะ คือดูสิพวกเราต่างคนต่างซื้อนมคนละขวด เนยคนละก้อน ทำให้ตู้เย็นเต็มไปด้วยเนยกับนม ซึ่งจริงๆ แล้วมันน่าจะมีอะไรมากกว่านี้ ผมก็เลยว่า เอาอย่างนี้ไหม เราลงขันกันก็ได้ มีเงินอยู่ก้อนหนึ่งแล้วเราก็ไปซื้อนู่นซื้อนี่ให้มันมีความหลากหลายมากขึ้น ชีวิตมีสีสันมากกว่า แล้วก็แชร์กันไป บางทีอาจจะเสียเปรียบบ้างวันนี้ เดี๋ยวก็ได้เปรียบวันหน้า คืออย่าไปคิดอะไรมาก พอสักพักเขาก็มีความคิดว่า ‘วัฒนธรรมนี้ดี’ 

แล้วความจริงระยะหลังๆ ที่ประเทศเขาเปิดมากขึ้น คนต่างชาติเข้าไปมากขึ้น เดี๋ยวนี้เราจะเห็นวัฒนธรรมตามร้านอาหาร ที่เขาเริ่มทำเหมือนพวกเราทำก็คือสั่งมาแล้วแบ่งกันกิน แต่ก่อนนี้คือจานใครจานมัน แต่เดี๋ยวนี้คือเอาไว้ตรงกลาง มีจานแบ่งไป ซึ่งผมคิดว่ามันหลากหลายมากขึ้น แล้วก็สนุกมากขึ้น ซึ่งเราถนัดอยู่แล้ว เราก็สนุกในวัฒนธรรมไทยของเรา เขาก็เรียนรู้จากเราได้ ในขณะเดียวกันเราก็เรียนรู้ถึงเหตุผลที่มาของวัฒนธรรมแบบของเขา ความสำคัญในแง่ของการเคารพสิทธิ์ของแต่ละคน ไม่ก้าวล่วงไปละเมิดสิทธิของเขา หลักนิติรัฐมันเป็นหลักของฝรั่ง ซึ่งเราก็เข้าใจว่าทำไมเขาถึงให้ความสำคัญกับกฎเกณฑ์ กติกา หรือกฎหมาย ในขณะที่ทางเอเชียมันจะเป็นคล้ายๆ แบบว่าไม่เป็นไร 

Q : ในช่วงมัธยมจนถึงมหาวิทยาลัยที่ไปเรียนต่างประเทศ มีอะไรที่หายไปบ้างไหม?
คุณกรณ์ : ตอนนั้นเราอาจจะยังไม่ค่อยรู้สึกเท่าไหร่ แต่ว่าแน่นอนที่สุดแล้วมันมีได้มีเสีย แล้วก็พอถึงเรื่องการตัดสินใจอนาคตของลูกเราเอง เราก็เอาประสบการณ์ สิ่งที่เราได้มาชั่งใจ เพื่อช่วยกันตัดสินใจว่าอะไรดีที่สุด สมัยนั้น พวกเราต้องไปเร็วกว่าที่ควร ผมไปตั้งแต่อายุ 11 ปี ประมาณป.6 ซึ่งเพื่อนผมหลายคนที่ไปเรียนต่างประเทศก็ไปในวัยนั้น ถ้าถามว่าทำไมเราต้องไปเร็ว เพราะว่าเราไม่มีทักษะภาษา ถ้าเราคิดจะเข้าโรงเรียนดีๆ เข้ามหาวิทยาลัยดีๆ เราต้องไปตั้งแต่เด็ก เพื่อที่จะได้เรียนรู้ภาษา เรียนรู้วิถีชีวิตของเขา 

แต่เดี๋ยวนี้สำหรับคนที่มีสตางค์ เขาสามารถที่จะเรียนโรงเรียนอินเตอร์ก็ได้ หลายคนก็เลยไม่จำเป็นที่ต้องไปเร็วขึ้นหรือแม้แต่หลายคนที่ไม่ได้เรียนอินเตอร์ แต่เรียนปกติธรรมดา เขาก็เข้าถึงภาษาอังกฤษได้มากกว่าคนสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ต รายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ แต่ก่อนมันไม่ค่อยมี มันเข้าถึงยาก เดี๋ยวนี้จบมัธยมไปเรียนต่อมหาลัยก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ยาก สมัยก่อนถือว่ายากมาก พอไปแล้วต้องเริ่มจากศูนย์เลย ตอนที่ผมไปคือพูดภาษาอังกฤษเกือบไม่ได้ พอได้งูๆ ปลาๆ แบบเรียนป.4 ป.5 ประเทศไทย ไปที่ไหนก็ต้องพกดิกชันนารีไปด้วย

Q : ใช้เวลาปรับตัวนานแค่ไหน?
คุณกรณ์ : พอมองย้อนกลับไป กว่าผมจะมีทักษะภาษาในระดับที่มีความรู้สึกว่าไม่เสียเปรียบเขา ก็ใช้เวลาประมาณ 3 ปี แต่เราไม่รู้สึกอย่างนั้นนะ คือความยืดหยุ่นความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ของเด็กมันเป็นเรื่องมหัศจรรย์ ผมไปถึงผมก็อยู่ได้เลย แล้วก็ค่อยเรียนรู้ไป ทางโรงเรียนเขาก็ให้โอกาส ช่วงเที่ยงที่เด็กคนอื่นได้พักเล่น เขาก็จัดให้ผมไปเรียนพิเศษภาษาอังกฤษขั้นต้น ผมก็ต้องออกแรงมากกว่าเพื่อนฝรั่ง และทางโรงเรียนที่นั่น เขาก็มีความยืดหยุ่นพอสมควร อย่างเช่น 1-2 ปีแรก ผมสอบไม่ได้คะแนนเพียงพอที่จะเรียนต่อได้ แต่เขาก็อะลุ่มอล่วยให้ เขาบอกไม่เป็นไร ถ้าเปรียบเทียบกับทักษะภาษาถือว่าโอเค ผมก็เร่งวิ่งตามให้ทัน เขาให้โอกาสผม จนกระทั่งเราอยู่ในฐานะที่ช่วยตัวเองได้ 

Q : ในมุมเพื่อนกับคุณอภิสิทธิ์เป็นอย่างไรบ้าง?
คุณกรณ์ : คุณอภิสิทธิ์ก็ไปอังกฤษรุ่นเดียวกัน เรื่องที่แปลกก็คือคุณอภิสิทธิ์เกิดที่อังกฤษเหมือนกัน เพราะคุณพ่อของคุณอภิสิทธิ์เรียนหมออยู่ที่เมืองนิวคาสเซิล คุณอภิสิทธิ์ก็ไปเกิดที่นั่น ส่วนพ่อผมเป็นข้าราชการประจำอยู่ที่สถานทูตไทยที่กรุงลอนดอน ผมก็เลยเกิดที่เชลซี แต่ว่าเราไม่ได้เจอกันในช่วงนั้น ไม่ได้รู้จักกันด้วย จนกระทั่งคุณอภิสิทธิ์ไปเรียนต่ออังกฤษตอนอายุ 11 ปีเหมือนกัน ก็ไม่ได้เจอกันอีก กว่าที่มาเจอกันก็อายุประมาณ15-16 ปีแล้ว คือเล่นกีฬาแล้วเจอกัน ก็เลยเริ่มที่จะรู้จักกันตั้งแต่ตอนนั้น แต่มาสนิทกันจริงๆ ก็ตอนช่วงที่เรียนมัธยม แล้วบังเอิญมาเรียนคณะเดียวกันที่ออกซฟอร์ด หลังจากนั้นคุณอภิสิทธิ์กลับมา แกมีความตั้งใจที่จะเข้าสู่วงการการเมืองตั้งแต่แรกแล้ว ส่วนผมไม่เคยสนใจ ก็แยกเส้นทางเดินกัน ผมก็ไปสู่ภาคธุรกิจและบริษัทหลักทรัพย์ จนกระทั่งอายุ 30 กว่า ก็โคจรกลับมาเจอกันอีกที

Q : ทีมฟุตบอลที่ชื่นชอบ
คุณกรณ์ : อย่างที่ว่า มันเป็นเรื่องแปลกของคนเราว่าเลือกเชียร์ทีมอะไร อย่างคุณอภิสิทธิ์เกิดนิวคาสเซิลก็เชียร์นิวคาสเซิล อันนี้สมเหตุสมผล ผมเกิดเชลซีแต่ผมเชียร์ลีดซึ่งมันเป็นทีมที่แปลกสำหรับหลายๆ คน วันนี้อาจจะไม่รู้สึกแปลกเท่าไรเพราะลีดส์กลับมาอยู่ในพรีเมียร์ลีก แต่ว่าเมื่อก่อนลีดส์มันอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ แต่ผมเชียร์ลีดส์ตั้งแต่ผมอายุ 9 ขวบ ก็เกือบจะ 50 ปีแล้ว 

สาเหตุที่เชียร์คือผมจำได้เลย วันนั้นผมเปิดทีวีแล้วมีการแข่งขันถ้วยใหญ่ก็คือเอฟเอคัพ สมัยนั้นไม่ได้เรียกพรีเมียร์ลีกนะ เขาเรียกดิวิชั่น 1 ลีดส์เตะกับทีมซันเดอร์แลนด์ ตอนอยู่ทีมดิวิชั่นสอง แล้วลีดส์แพ้ 1-0 ซึ่งถ้าย้อนกลับไปดู ซันเดอร์แลนด์วันนั้นก็ถือเป็นสุดยอดในประวัติศาสตร์สโมสร แล้วด้วยความรู้สึกเห็นใจทีมผู้แพ้ มันก็เลยทำให้มีความผูกพันแล้วก็เริ่มเชียร์ลีดส์ตั้งแต่วันนั้น ติดตามอยู่ตลอดลีดส์หายไปจากดิวิชั่น 1 ที่เปลี่ยนมาเป็นพรีเมียร์ลีก 20 ปี จนกระทั่งกลับมาได้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แล้วก็เกือบตกชั้นไปอีกเมื่อปีที่แล้ว ลุ้นกันถึงนัดสุดท้ายเกือบนาทีสุดท้าย 

คือชีวิตจะง่ายขึ้นเยอะเลย ถ้าสมมุติผมเลือกตั้งแต่เด็กว่าผมควรจะเชียร์ลิเวอร์พูล เชียร์แมนยู หรือเชียร์แมนซิตี้ แต่ว่าบางเรื่องมันเลือกไม่ได้จริงๆ พอเริ่มเชียร์แล้วก็เปลี่ยนไม่ได้จริงๆ ไม่ได้มีเหตุผลว่าทำไมถึงเชียร์เขา แต่พอมาถึงยุคนี้ ผมก็ภาคภูมิใจที่เชียร์ลีดส์ ผมมีความรู้สึกว่าลีดส์เล่นสนุก พอดีได้ผู้จัดการทีมที่ถือว่าเป็นผู้จัดการในตำนานอย่าง ‘บิเอลซ่า’ ที่มาจากอาร์เจนตินา แล้วก็ช่วยทำให้เขาขยับเลื่อนชั้นขึ้นมาด้วยสไตล์การเล่นที่ดี ซึ่งตอนนี้เปลี่ยนผู้จัดการทีมแล้วแต่ว่าก็ยังคล้ายๆ กันอยู่ อย่างเมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่แล้ว ลีดส์เล่นกับเชลซีไม่มีใครคิดว่าลีดส์ชนะเชลซีได้ ปรากฏลีดส์ชนะ 3-0 แล้วตัวสถิติก็บ่งบอกว่าทีมลีดส์วิ่งมากกว่านักเล่นของเชลซี ประมาณคนละ 11 กิโลเมตร หรืออะไรสักอย่าง คือมันเยอะมาก วิ่งพล่าน แบบที่เราดูแล้วเหนื่อย

Q : มีนักเตะในดวงใจของลีดส์มั้ย
คุณกรณ์ : ที่ชอบที่สุดเขาเพิ่งออกไปคือราฟินญ่า ไปบาร์เซโลนา  หรือแม้แต่เควิน ฟิลลิปก็ย้ายไปอยู่แมนซิตี้แต่ก็ยังไม่ได้เล่นสักที ซึ่งตรงนี้ก็น่าเสียดาย แต่ที่ยังอยู่ในลีดส์ หรือที่เอาเข้ามาหลายคน ผมว่าน่าสนใจมากนะ ไอเรนเซนที่ตามผู้จัดการคนใหม่เข้ามา ผมถือว่าดูสนุกนะ แฮร์ริสัน แม้แต่แบมฟอร์ด ผมว่าน่าเชียร์ครับ

Q : มีความทรงจำอะไรเกี่ยวกับสงครามกุหลาบระหว่างลีดส์และแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดบ้างไหม?
คุณกรณ์ : ไม่เท่าไรสำหรับผม ถ้าย้อนกลับไปลีดส์เคยมีคล้าย ๆ แบบคู่อริในตำนานอยู่อีกหลายทีม สมัยที่ผมเริ่มเชียร์จะเป็นทีมที่ตอนนี้รู้สึกพึ่งล้มละลายไป คือดาร์บี้เคาน์ตี้ ก็จะมีตำนาน เรื่องของการแข่งขันที่ค่อนข้างเข้มข้นระหว่างกัน ระยะหลังมาเป็นแมนยู แต่ถ้าไปถามแมนยู เขาไม่ได้มีเราอยู่ในสายตา เพราะว่าเราตกชั้นไปนานแล้ว ช่วงอเล็กซ์ เฟอร์กูสันนี่คือไม่มีลีดส์อยู่ในสายตาเลย เว้นแต่ประมาณปี 1991 ซึ่งครั้งนั้นลีดส์ชนะดิวิชั่น 1 ครั้งสุดท้ายก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นพรีเมียร์ลีกแล้วแมนยูได้ที่ 2 แล้วอีริค คันโตนา เคยอยู่ลีดส์ หลังจากที่ลีดส์ชนะก็เปลี่ยนไปอยู่แมนยู แล้วปีนั้นแมนยูก็ชนะ ซึ่งก็ทำให้ชาวลีดส์รู้สึกอยู่พอสมควร แต่ก็โอเคมันเป็นเรื่องปกติในวงการฟุตบอล มาถึงวันนี้ ความจริงมันก็มีทีมอื่นที่ลีดส์ช่วงชิงก่อนที่จะเลื่อนชั้นขึ้นมา อย่างแบร๊ดฟอร์ด ผมว่ามันก็มีพัฒนาการว่า คู่ปรับเราคือใคร เปลี่ยนไปตามยุคสมัย 

Q : คุณกรณ์ชอบดูซีรีส์?
คุณกรณ์ : จริงๆ ผมดูของหลายประเทศมากนะครับและนี่คือข้อดีของสตรีมมิ่ง โดยส่วนใหญ่ผมก็ดูผ่าน Netflix ซึ่งมันมีทั้งเกาหลี อังกฤษ อเมริกัน สแกนดิเนเวีย สเปน ญี่ปุ่น จีน ผมดูหมด แต่หลักๆ ที่ยอมรับว่าตอนนี้ชอบแล้วก็มีความรู้สึกว่ามาตรฐานมันดีขึ้นเรื่อยๆ คือของเกาหลี ผมมีความรู้สึกว่าบทเขียนดี ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าความเป็นคนเอเชียด้วยกันมันทำให้เราเข้าใจในหลายๆ เรื่องที่เขาพยายามที่จะสื่อออกมา และระดับการพัฒนาสังคมและความคิดของเขา เขาสะท้อนประเด็นปัญหาสังคม ซึ่งก็ตรงกับประเด็นปัญหาทางสังคมของเราในหลายๆ เรื่อง มันก็เลยน่าสนใจว่าเกาหลีก็เริ่มคิดอย่างนี้ หรือเขาก็พยายามที่จะชี้นำคนรุ่นใหม่หรือประชาชนของเขาผ่านซีรีส์ ให้คิดแบบนี้ในเรื่องนี้ 

อย่างเช่น ถ้าย้อนกลับไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกาหลีจะไม่มีการพูดถึงประเด็น LGBTQ+ เลย แต่ตอนนี้เริ่มแทรกเข้ามาเหมือนกับมีเจตนาที่จะทำให้คนเกาหลียอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น อย่างเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน เรื่องการเมืองของเกาหลีก็สุดยอดไม่ได้ต่างจากเราเท่าไหร่ในแง่ของอิทธิพล การเอารัดเอาเปรียบ อิทธิพลของทุนใหญ่ที่มีต่อสังคม หลายๆ เรื่องมันก็เลยทำให้สนุกขึ้น ซึ่งผมดูทั้งเรื่องปัจจุบัน แล้วก็เรื่องย้อนยุคที่อิงประวัติศาสตร์เขา แล้วก็ทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าในไทยมีอุตสาหกรรมนี้ ในระดับมาตรฐานแบบนี้ มีเงินทุนเข้ามาสนับสนุนมากเท่านี้ เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของเราที่สามารถดัดแปลงเป็นเรื่องเล่าแบบเกาหลีมีเยอะเลย แล้วผมคิดว่ามันเป็นเหมือนกับสมบัติ ที่เรียกว่า Soft Power ที่รอวันให้มีการจุดพลุให้เป็นสมบัติของโลกได้ 

จริงๆ โดยรวมก็คือดูเพื่อความบันเทิง แต่ก็มีความรู้สึกว่า มันกระตุ้นให้เราได้คิด ประเทืองปัญญาของเราด้วย อย่างช่วงนี้ผมดูเรื่องย้อนยุคอยู่ 51 ตอน ตอนละ 1 ชั่วโมง ตาแฉะเลย 

ความจริงเรื่องนี้ไม่ใช่ซีรีส์ใหม่ ซีรีส์ชื่อ Empress Ki (กีซึงนัง จอมนางสองแผ่นดิน) เป็นเรื่องย้อนยุคกลับไปสมัยโครยอ ในยุคราชวงศ์หยวนซึ่งเคยมีจักรพรรดินีองค์หนึ่ง ซึ่งจริงๆ เป็นคนเกาหลี แต่ขึ้นมาเป็นจักรพรรดินีของราชวงศ์หยวนช่วงท้ายได้ ซึ่งเขาก็เอาข้อเท็จจริงส่วนนี้มาขยายเป็นเรื่อง แล้วก็สะท้อนให้เห็นถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนที่เป็นประเทศที่มีอำนาจ มีประชากรที่มากกว่าทางเกาหลีอยู่แล้ว กับตัวเกาหลีที่มีลักษณะเหมือนกับเป็นเมืองขึ้นของจีน แล้วมีผลอย่างไรต่อเกาหลี 

Q : แล้วอย่างซีรีส์ฝรั่ง เช่น Game of Thrones ชอบไหม? 
คุณกรณ์ : ผมชอบอยู่แล้ว Game of Thrones ไม่มีใครไม่ชอบ แต่อย่างที่ว่าครับ ซีรีส์ย้อนยุคประวัติศาสตร์เกาหลีคือเขาทำออกมาในแนว epic เดี๋ยวคนนี้ก็มารบกับคนนั้น เดี๋ยวพอเงื่อนไขเปลี่ยนไปก็มาสลับข้างกัน คือมันจะมีความสลับซับซ้อนสะท้อนถึงความเป็นมนุษย์ แล้วก็เรื่องของผลประโยชน์หลายๆ เรื่อง ผมว่าน่าสนใจมาก ส่วนของฝรั่งเขาก็ทำได้ดี ผมก็ชอบอยู่เหมือนกัน แต่ว่าเรื่องที่ทันสมัยของเกาหลี เขาก็ทำได้สุดยอดนะ แบบเรื่อง Start-Up เมื่อสองปีที่แล้ว ผมชอบเรื่องนี้มาก แล้วล่าสุดก็คือเรื่อง Extraordinary Attorney Woo อูยองอู ทนายอัจฉริยะ ที่เป็นเรื่องของทนายความที่เป็นออทิสติก เรื่องนี้ก็คือต้องดู ซึ่งผมว่าท้ายปีนี้ต้องกวาดรางวัลหมด คือทั้งในแง่ของตัวเรื่อง ประเด็นที่เขาพยายามสื่อสารแล้วก็ความสนุกสนาน แล้วก็ทักษะของนักแสดงสุดยอดจริง 

Q : เศรษฐศาสตร์มีความน่าสนใจอย่างไรสำหรับคุณกรณ์?
คุณกรณ์ : หลักๆ ผมว่ามันคืออิทธิพลจากพ่อผม พ่อของผมเป็นข้าราชการกระทรวงการคลัง ท่านเข้ามาด้วยคำเชิญของ ดร.ป๋วย (อึ๊งภากรณ์) สมัยเริ่มก่อตั้งสำนักงานเศรษฐกิจและการคลังในกระทรวงการคลัง ซึ่งถือว่าเป็นคลังสมอง เป็นผู้ออกนโยบายทางเศรษฐกิจให้กับกระทรวงการคลัง ผมก็เลยค่อยๆ ซึมซับมา พ่อของผมไม่ได้เอาเรื่องงานมาเล่าให้ฟังมากมาย แต่ว่าเราก็มีความรู้สึกว่าอยากเดินตามรอยคุณพ่อ มันเป็นการปลูกฝังความสนใจในหลักวิชาเศรษฐศาสตร์ในตัวเรา

เศรษฐศาสตร์มันเป็นวิชาที่เกี่ยวกับสังคม มันเกี่ยวกับวิธีคิดของมนุษย์ ในตัวของมนุษย์ทุกคนมันจะมีทั้งความกลัวและความโลภคอยสู้กันอยู่ในตัวของเราเอง ซึ่งมันมีผลต่อพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย การบริโภค การกู้ยืมเงินทุกอย่าง ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ก็เลยเป็นเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ตั้งแต่อายุประมาณ 15-16 ปี สุดท้ายก็ตัดสินใจที่จะเรียนวิชานี้ในระดับมหาวิทยาลัย แต่ว่าผมก็ต้องเลือกอีกว่าผมจะไปเรียนวิชานี้ที่ไหนเพราะเศรษฐศาสตร์มีหลายแบบ อย่างที่ประเทศไทยเรามีจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ที่อังกฤษเขามีออกซฟอร์ดกับเคมบริดจ์ ถ้าผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ที่เคมบริดจ์มันจะออกมาในแนวทฤษฎีมากหน่อย เน้นในเรื่องของคณิตศาสตร์ สูตรคำนวณ การวิเคราะห์ดาต้า ถ้าไปทางออกซฟอร์ดมันจะออกมาในแนวสังคมมากขึ้น แล้วก็ผสมผสานการเรียนเศรษฐศาสตร์กับอีกสองวิชาหลักด้วยก็คือรัฐศาสตร์กับปรัชญา เป็นปริญญาควบ 3 วิชา คือใครเรียนเศรษฐศาสตร์ก็ต้องเรียนสองอันนี้ด้วย ซึ่งมันน่าสนใจว่าทำไมคนเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์แล้วต้องเรียนปรัชญา ต้องมีรัฐศาสตร์ผสมอยู่ด้วย หรือถ้าจะเรียนรัฐศาสตร์ต้องมีเศรษฐศาสตร์อยู่ด้วยและปรัชญา เรียนรัฐศาสตร์อย่างเดียวไม่ได้ 

มันกลายเป็นแหล่งกำเนิดของนักการเมือง นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนแล้วคนเล่าก็คือจบจากคณะนี้ที่มหาลัยนี้คุณอภิสิทธิ์ก็เรียนคณะนี้ คุณไอติม (พริษฐ์ วัชรสินธุ) ก็เรียนคณะนี้ ผมก็เช่นกัน มันเหมือนกับเป็นแหล่งผลิต นักการเมือง แต่ผมก็ไม่รู้สึกอย่างนั้นตอนที่เข้าไปเรียนเพราะผมไม่เคยคิดจะเป็นนักการเมือง แต่ว่าสุดท้ายแล้วมันอาจจะไปจุดประกายบางอย่างทำให้เราสนใจ ซึ่งถึงเวลาที่เหมาะสมผมก็พลัดเข้ามาอยู่ในวงการ สำหรับผมจนถึงทุกวันนี้ยังก็สนใจเรียนรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ตลอดเวลา 

คือผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า การเรียนมันไม่ได้จบแค่ในห้องเรียน ในการที่จะศึกษาเรียนรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์มันมีวิวัฒนาการและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา อย่างเช่นเมื่อสิบปีที่แล้วตอนที่ผมยังเป็นรัฐมนตรี มันมีวิกฤตเศรษฐกิจที่เราเรียกว่า ‘วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์’ ทางธนาคารกลางทั่วโลกเขาก็แก้ปัญหาแบบฉีกตำราทิ้ง คือสมัยเราต้มยำกุ้งสิบปีก่อนนั้น ฝรั่งเขาแนะนำบอกว่าเราต้องรัดเข็มขัด แต่กลายเป็นว่าเราเจ๊งไปกันใหญ่เลย เขาก็เลยเรียนรู้ว่ามันไม่ใช่ คือตามสูตรทฤษฎีที่เรียนมา ถ้าสมมุติว่าประเทศขาดงบประมาณขาดทุนสำรองสิ่งที่ต้องทำก็คือประหยัด มันเป็นไปตามตรรกะทั่วไป แต่เขาพบว่ามันไม่ใช่ มันกลับกลายเป็นตรงข้ามว่าช่วงนั้นต้องอัดฉีด ต้องปล่อยให้เงินมันล้น เข้าถึงเงินได้ง่ายเศรษฐกิจมันก็จะได้ฟื้น เขาก็เลยใช้วิธีแบบใหม่ในการแก้ปัญหาแล้วก็สำเร็จ 

หลักเศรษฐศาสตร์บอกว่า ถ้าเงินมันเยอะ สิ่งที่เกิดขึ้นคือค่าเงินลดก็คือเงินเฟ้อ แต่ปรากฏสิบกว่าปีเพิ่งมาเริ่มปรากฏเงินเฟ้อตอนนี้ ช่วงที่เขาพิมพ์เงินแจกกลับกลายเป็นเงินฝืดด้วยซ้ำไป อัตราดอกเบี้ยบางประเทศติดลบ นี่คือฉีกตำราเศรษฐศาสตร์ทั้งหมดเลย ผมถึงบอกว่า ตัวหลักวิชามันไม่นิ่ง ผมจึงบอกว่ามันไม่ใช่ศาสตร์ ถ้าเป็นศาสตร์มันต้องตายตัว

แต่อันนี้คือมันเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ผมเลยบอกว่าเป็นวิชาที่น่าสนใจมาก บางทีผมคุยกับลูก คุยในเรื่องเศรษฐศาสตร์ แต่เขาจะไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่ผมกำลังคุยอยู่คือเรื่องเศรษฐศาสตร์ อย่างเช่น จำได้เลยคือไปแถวเยาวราช ลูกผมถามว่าทำไมร้านทองถึงต้องเปิดติดๆ กัน ทำไมไม่แยกกันไปเปิด มันเป็นคำถามที่น่าสนใจ ว่าทำไมมันถึงมีแหล่งร้านค้าเหล่านี้ เหมือนเมื่อก่อนนี้ จะซ่อมคอมพิวเตอร์ทำไมต้องไปพันธุ์ทิพย์หรือจะไปเช่าพระก็ก็ต้องไปที่พันธุ์ทิพย์ หรือแม้แต่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ มันก็จะรวมสินค้าประเภทเดียวกันอยู่ที่เดียวกัน ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ถ้าตอบแบบชาวบ้านทั่วไปก็คือมันเป็นแหล่งที่เราไปที่เดียว เราได้ของครบแล้วเลือกได้ การแข่งขันทำให้เรามั่นใจว่าได้ราคาที่เป็นธรรมที่สุดแล้วเพราะว่าใครขายแพงกว่าก็จะขายไม่ได้เพราะมีร้านติดกันที่ขายสินค้าเหมือนกันแต่ราคาถูกกว่า เราก็เลยมีความมั่นใจแทนที่จะต้องไปร้านใดร้านหนึ่ง เราก็ไปที่แหล่งนี้ก็จะได้ของที่เราต้องการในราคาที่เป็นธรรม มันก็เป็นอะไรที่ย้อนแย้งว่า ถ้าไม่แข่งกันแล้วก็ต่างคนต่างแยกกันอยู่น่าจะดีกว่า ผมว่าเรื่องแบบนี้ฝรั่งเขาสนใจ 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top