เปิดมุมต่างของ ‘กรณ์ จาติกวณิช’ ที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน!! (ไม่ใช่เรื่องการเมือง) Part 2

เวลาพูดถึงชื่อของ ‘คุณกรณ์ จาติกวณิช’ เชื่อว่าหลายคนจะให้นิยามของนักเศรษฐศาสตร์ การนักการเงิน และขุนคลังมือฉมังที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก จากการถูกยกย่องให้เป็นรัฐมนตรีคลังโลก โดยนิตยสารเครือ The Banker คนแรกของประเทศไทย

คุณกรณ์ ถือเป็นคนการเมืองร่วมสมัย แต่เต็มไปด้วยมุมคิดที่ทันโลก ทันกระแส ล้อไปกับบุคลิกที่เคร่งขรึม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภายใต้หน้าฉากเหล่านั้น เขากลับมีมุมต่างที่ไม่ค่อยมีคนคุ้นเคยอยู่หลายมิติ ซึ่งวันนี้ THE STATES TIMES จะพาทุกคนไปเปิดมุมต่างจากชีวิตคนดังของ ‘คุณกรณ์ จาติกวณิช’ ที่เชื่อว่าทุกคนน่าจะอมยิ้มในหลากมุมเหล่านั้นไม่น้อยเลยทีเดียว

Q : ชีวิตก่อนเข้าเล่นการเมืองเป็นอย่างไรบ้าง?
คุณกรณ์ : แม้ว่าผมจะเรียนอยู่ในคณะที่มีประวัติในการผลิตนักการเมืองจำนวนมาก แต่ผมไม่เคยสนใจ ไม่เคยคิดเลยว่า อนาคตจะมาทำงานการเมือง เพราะฉะนั้น พอผมเรียนจบ ผมก็เข้าสู่เส้นทางที่ผมสนใจเลยก็คือไปทำงานสายการเงินการลงทุน ที่ลอนดอนเป็นศูนย์กลางการเงินของโลกอยู่แล้ว ผมก็เลยตัดสินใจว่า ผมจะไปเก็บประสบการณ์ด้วยการทำงานในสถาบันการเงินที่ลอนดอน

ความจริงก่อนที่ผมจะเข้าออกซฟอร์ด ผมสอบชิงทุนของแบงก์ชาติ แล้วก็ผมได้รับทุน แต่เขามีเงื่อนไขว่า เรียนจบแล้วต้องกลับมาทำงานใช้ทุนทันที แต่ว่าผมอยากจะทำงานในสถาบันการเงินที่อังกฤษก่อน ประสบการณ์นี้มันน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานให้กับแบงก์ชาตินะ ผมขอเวลา จบแล้วทำงานเก็บประสบการณ์สักสองปีก่อนแล้วค่อยกลับไปเริ่มใช้ทุน แต่เขาไม่ยอม เขาบอกว่ากติกาเป็นแบบนี้ 

ผมก็เลยปรึกษากับคุณพ่อคุณแม่ว่า ถ้างั้นผมไม่รับทุนได้ไหม เพราะผมมีความรู้สึกลึกๆ ว่านี่คือสิ่งที่อยากทำ นี่คือโอกาสที่ไม่อยากทิ้ง ด้วยความที่คุณพ่อรับราชการมา ผมไม่เคยคิดเลยว่าผมจะทำอย่างอื่นนอกจากเข้าทำงานราชการหรือองค์กรแบบแบงก์ชาติที่เป็นองค์กรกึ่งราชการ แต่พอเขาปิดประตูกับโอกาสนี้ ผมก็เลยเลือกที่จะไม่รับทุน แล้วก็บอกพ่อแม่ว่าถ้างั้นขอเงินพ่อแม่อีกสองปีได้ไหม ท่านก็บอกโอเคไม่เป็นไร ซึ่งมันก็ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปเลย มันก็ทำให้ผมมีโอกาสได้เข้าไปทำงานในสถาบันการเงินอันดับหนึ่งเลย ก็ต้องแข่งขันกันเข้าไป เพื่อนที่เรียนจบแต่ละคนช่วงนั้นคือต้องสมัครไปเป็นสิบๆ บริษัท เข้าสู่กระบวนการสัมภาษณ์เป็นเดือน กว่าที่จะได้รับการตอบรับ กระบวนการทั้งหมดก็ประมาณ 1-2 เดือน 

มีอยู่ครั้งหนึ่งผมต้องบินไปสัมภาษณ์ที่นิวยอร์ก ตอนนั้นเราเป็นเด็กนักเรียน เราก็มีความรู้สึกว่าโคตรเท่เลยนะ ส่งตั๋วเครื่องบินมาให้เราบินไปสัมภาษณ์ พอบินไปถึงที่เคนเนดี้แอร์พอร์ท ก็มาสัมภาษณ์ผมที่สนามบิน พอเสร็จบอกโอเคขึ้นบินกลับได้แล้ว ผมก็บินกลับมา อีกสักสัปดาห์หนึ่ง เขาบอกว่าผ่านรอบนั้นแล้ว บินมาสัมภาษณ์อีกรอบได้ไหม แต่ตอนนั้นคนอื่นเสนองานให้แล้ว ก็เลยขอบาย มันจะมีอะไรแบบนี้ สุดท้ายผมก็เลยเข้าไปทำงานที่สถาบันการเงินแห่งหนึ่งชื่อโวเบิร์ก เขาก็ให้ผมไปอยู่แผนกบริหารกองทุน ซึ่งก็ถือว่าเป็นโชคเพราะได้เรียนรู้อะไรเยอะมากในช่วงนั้น แล้วมันเป็นช่วงที่เศรษฐกิจบ้านเรา ตลาดทุนในละแวกแถวบ้านเราคือมาเลเซีย สิงคโปร์ รวมถึงไทยด้วย กำลังเริ่มที่จะแจ้งเกิด 

อย่างประเทศไทยในปีที่ผมเริ่มทำงาน มันเป็นปีแรกที่รายได้ของประเทศจากภาคอุตสาหกรรมมันแซงรายได้จากภาคการเกษตรเป็นครั้งแรก คือก่อนหน้านั้นภาคเกษตรใหญ่ที่สุด ความหมายคืออะไร คืออุตสาหกรรมต้องใช้ทุนเยอะ ดังนั้นถ้าอุตสาหกรรมกำลังจะโต ตลาดทุนมันต้องโตแน่นอน คนที่โน่นเขาเห็นก็เริ่มสนใจ ผมเลยได้เห็นโอกาสของประเทศเราจากมุมมองของนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งเป็นมุมมองที่ต่างจากคนที่ทำงานอยู่ในไทย 

พออยู่ที่นั่นได้สองปี ผมก็เลยตัดสินใจว่า ผมจะกลับบ้านเพราะมองว่าตลาดทุนบ้านเราจะต้องโต แล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือผมรู้เลยว่านักลงทุนต่างประเทศเริ่มสนใจที่จะเข้ามาลงทุน ซึ่งตอนนั้นเพื่อนหลายคนก็ทักว่ากลับมาปุ๊บ ก็มาเปิดบริษัทของตัวเองเลย ทำไมไม่เข้าไปทำงานหาประสบการณ์ก่อนสักพัก เพราะว่าตั้งแต่เด็กผมไปเรียนเมืองนอกไม่เคยทำงานเมืองไทย แต่ผมก็แบบคนหนุ่มใจร้อน แล้วเราก็มีความรู้สึกว่า ที่เขาเรียกว่าเรดโอเชี่ยนก็จริง คือบริษัทหลักทรัพย์ตอนนั้นก็มีอยู่เป็นร้อยแล้ว แล้วผมจะมาเปิดอีกบริษัทนึง ผมมีอะไรไปแข่งกับเขา 

แต่สิ่งที่ผมเห็นก็คือ บริษัทหลักทรัพย์ไทยทุกบริษัทในเวลานั้นเขาให้บริการลูกค้าคนไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายย่อย เพราะสมัยก่อนกองทุนยังไม่มี แต่ผมตั้งใจว่าจะเปิดบริษัทหลักทรัพย์เพื่อที่จะดึงนักลงทุนจากต่างประเทศที่เป็นนักลงทุนประเภทสถาบันเข้ามาลงทุนในไทย แล้วผมเป็นคนเดียวที่รู้ว่านักลงทุนต่างประเทศพวกนี้เป็นใครบ้าง ผมเป็นคนเดียวที่รู้ว่าเขาต้องการอะไร เพราะฉะนั้นผมก็มีความรู้สึกว่า เราก็หวง เราทำของเราเองแล้วก็เน้นเน้นตลาดนี้เลย ซึ่งสำหรับผมคือบลูโอเชียน คนมองว่าเรดโอเชียนเพราะมองไม่เห็นตลาดนี้ 

นั่นคือที่มาของการตัดสินใจตอนนั้น แต่ก็เป็นการตัดสินใจของคนหนุ่มที่ไม่รู้ว่ามันมีอะไร มันยากแค่ไหนท้าทายแค่ไหน แต่พอกระโดดลงไปแล้ว ไปเจอความท้าทายเราก็ต้องแก้ไขไป คือเริ่มแล้วมันก็หยุดไม่ได้ เหมือนตอนออกมาตั้งพรรคการเมือง พอเริ่มแล้วมันก็ต้องเดินต่อไปข้างหน้าเจอปัญหาก็ต้องแก้ เจอสถานการณ์ที่ไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาดหมาย ก็ต้องปรับ 

สมัยโน้นก็เหมือนกัน ตอนนั้นผมอายุ 24 ปี ก็โชคดีที่กลับมาแล้วก็เปิดบริษัทหลักทรัพย์ของตัวเอง คือเจเอฟ ธนาคม ทุกอย่างที่คาดว่าจะเกิด มันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็เลยทำให้มันง่าย เวลาที่ผมไปเล่าประสบการณ์ไปให้คำแนะนำกับนักเรียนนักศึกษา ผมก็จะบอกเขาอยู่ทุกครั้งว่า ต้องจับกระแสให้ถูกว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงยังไง วันนี้กระแสหลักในแง่ความเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยของสังคมไทยของเศรษฐกิจไทยมันกำลังเปลี่ยนยังไง 

เช่นเรื่องของเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยน มันเปลี่ยนไปอย่างไร เช่น สังคมสูงอายุ ตอนนี้โครงสร้างสังคมไทยกำลังเปลี่ยนอย่างมาก มันจะมีผลยังไงต่อธุรกิจประเภทต่าง ๆ หรือแม้แต่เรื่องของการเมืองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่กำลังมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เรื่องอุตสาหกรรมพลังงานที่จะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างมาก มันจะมีผลยังไงต่ออาชีพหรือว่าประเภทธุรกิจที่เลือกทำ ถ้าจับกระแสถูก โอกาสที่จะประสบความสำเร็จมันมากกว่าเราเดินสวนกระแส ไม่ได้หมายความว่าเดินสวนกระแสทำไม่ได้นะ แต่มันยาก ตอนนั้นกระแสหลักที่ผมจับได้คือตลาดทุนไทยต้องโตเพราะว่าภาคอุตสาหกรรมของเรากำลังจะบูม ถ้าอุตสาหกรรมบูมยังไงก็ต้องพึ่งตลาดทุน ตลาดมันโตแน่เพราะนักลงทุนต่างประเทศจะต้องมา พอจับกระแสนั้นถูก เรื่องอื่นเราสามารถผิดพลาดได้เยอะแต่ว่าจะยังไงมันก็ไม่เจ๊งเพราะว่ากระแสน้ำมันพาไป

Q : ในเรื่องของฟินเทค (เทคโนโลยีทางการเงิน) มีแนวทางอะไรที่จะมาช่วยได้บ้าง 
คุณกรณ์ : ประมาณ 6 ปีที่แล้ว ผมได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องของการก่อตั้งธุรกิจของคนรุ่นใหม่ ผมก็ไปสัมภาษณ์ผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่เกือบร้อยคน แล้วก็คัดเรื่องที่น่าสนใจ ตอนที่เริ่มทำผมไม่ได้รู้เกี่ยวกับสตาร์ตอัปของไทย ไม่รู้ว่ามันมีด้วย แต่ 12 ผู้ประกอบการที่ผมคัดมาลงเล่มนี้ คือหนังสือกล้าลุยไม่กลัวล้ม กลายเป็นเกือบครึ่งเป็นสตาร์ตอัป เพราะว่าผมเห็นแล้วผมก็รู้สึกทึ่งว่า เขาสร้างโอกาสจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ในการหาตลาดใหม่หรือแม้แต่สินค้าแบบใหม่ที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จได้ ด้วยความที่ผมสนใจเรื่องการเงินการลงทุนมาโดยตลอด ก็เลยทำให้ผมสนใจกับสตาร์ตอัป ที่ทำเรื่องฟินเทคที่ให้บริการทางด้านการเงินการลงทุน แล้วก็นำไปสู่การรวมตัวพวกน้องๆ ที่ทำสตาร์ตอัปทางด้านฟินเทคมาจัดตั้งสมาคมด้วยกัน เพื่อที่เขาจะได้มีปากมีเสียง ในการเสนอแนวความคิดต่อผู้กำหนดนโยบายระดับรัฐในการประสานพูดคุยกับฝ่ายกำกับอย่างเช่น แบงก์ชาติหรือ ก.ล.ต. เป็นต้น ก็เลยมีส่วนร่วมกับเขามาตั้งแต่วันนั้น 

ซึ่งแน่นอนที่สุดส่วนหนึ่งของของฟินเทคมันก็คือเรื่องคริปโตฯ ผมก็คอยติดตามเรื่องนี้ ส่วนตัวผมมองว่า คริปโตฯ เป็นเรื่องน่าสนใจมาก ตั้งแต่แรก ทุกครั้งที่ผมพูด ผมจะบอกว่าผมไม่เคยเรียกคริปโตฯ ว่าคริปโตเคอเรนซี เพราะเคอเรนซีแปลว่าเงิน ผมเรียกมันว่า คริปโตแอสเซท คือมันเป็นทรัพย์สินประเภทหนึ่งแต่มันยังไม่ใช่เงิน และสาเหตุที่มันไม่ใช่เงิน เพราะคุณสมบัติของเงินมันต้องใช้ง่ายใช้คล่อง ไปที่ไหนทุกคนรับ แต่คริปโตฯ มันยังไม่ใช่ มันใช้ยาก แล้วก็ต้นทุนในการใช้คริปโตฯ ก็สูงอีก เสียค่าแก๊ส (GAS) ซึ่งเวลาเราใช้เงินบาท เงินดอลล่าร์มันไม่มีต้นทุน ไม่มีค่าใช้จ่าย แล้วมันทำได้ทันที 

แม้แต่เรื่องการจัดเก็บ เราสามารถเก็บเงินในธนาคารได้โดยสะดวก สมมติธนาคารถูกปล้น ธนาคารก็ต้องรับผิดชอบกับเรา ถ้าธนาคารไม่รับผิดชอบเราก็มีกฎหมายที่คอยปกป้องสิทธิของเรา แต่คริปโตไม่มีเลย ไม่มีกฎหมายไม่มีอะไรรับรองเลย เพราะงั้นผมมองว่ามันยังเป็นเงินไม่ได้ แต่มันเป็นนวัตกรรมที่มีความน่าสนใจและผมเชื่อว่ามันมีอนาคต แต่จะมีอนาคตแบบไหน เวลาเป็นตัวพิสูจน์

Q : คนที่จะมาลงทุนในคริปโตฯ ควรมีมุมมองอย่างไร?
คุณกรณ์ : ผมยกภรรยาผมเป็นตัวอย่างก็แล้วกัน เพราะภรรยาผมเขาสนุกกับการเล่นคริปโตฯ ก่อนหน้านั้น เขาเห็นอาชีพผมคือการลงทุนในหุ้น เขาก็ลองเล่นหุ้นแต่เขาไม่ชอบแล้วก็ไม่ประสบความสำเร็จ แต่พอมาเป็นคริปโตฯ เขาชอบ ผมก็คุยกับเขาอยู่เสมอว่ามันมีอะไรที่เขาชอบในส่วนของคริปโตฯ เมื่อเปรียบเทียบกับหุ้น แล้วก็พยายามที่จะอธิบายให้เขาเข้าใจความต่าง ซึ่งความต่างหลักๆ ก็คือเวลาเราซื้อหุ้น เรากำลังเป็นเป็นเจ้าของในฐานะผู้ถือหุ้นในตัวกิจการ 

สมมุตเราไปซื้อหุ้น ปตท. ซึ่ง ปตท. มีปั๊มน้ำมัน มีโรงกลั่น เราก็จะมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของถึงแม้ว่าจะเสี้ยวเดียวก็ตาม มันก็จะมีกำไร มีปันผล มีสิ่งที่จับต้องได้ในฐานะผู้ถือหุ้น แต่เวลาซื้อคริปโตฯ มันไม่มีอะไรเลยนะ เพราะคริปโตฯ ไม่ใช่ธุรกิจ มันไม่มีรายได้ ไม่มีปันผล ไม่มีอะไรที่จับต้องได้ คุณจะซื้อคริปโตฯ ก็ต่อเมื่อคุณเชื่อว่า คนอื่นก็จะให้ราคากับคริปโตฯ นี้เท่านั้น มันเป็นเรื่องของศรัทธา แล้วผมจะเปรียบเทียบเวลาซื้อคริปโตฯ กับการซื้อทองมากกว่าซื้อหุ้น เพราะว่าทองคำจริงๆ มันก็เอาไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ แต่คนเชื่อว่ามันสามารถรักษาราคาของมันได้ มันก็คือความเชื่อ ไม่มีเหตุผลอะไร 

ความต่างระหว่างทองกับคริปโตฯ ก็คือทองมันพิสูจน์ตัวเองมาเป็นระยะเวลาหลายพันปีแล้วว่า มนุษย์ในทุกสังคมต่างให้คุณค่ากับทอง 

คริปโตฯ มันเป็นเรื่องใหม่ แม้แต่บิทคอยน์ซึ่งเป็นคริปโตฯ ที่เก่าแก่ที่สุด ก็อายุประมาณสิบกว่าปีเอง ซึ่งมันยังไม่มีเวลาที่จะพิสูจน์ตัวเองว่ามันสามารถรักษามูลค่า รักษาศรัทธาที่คนมีต่อมันได้หรือไม่ อีกอย่างหนึ่งคือทองมันก็มีอย่างเดียว มันไม่มีอะไรเหมือนกับทอง แต่ว่าคริปโตฯ มันเกิดใหม่อยู่เรื่อยๆ มีประมาณหมื่นประเภทในท้องตลาด ใครจะรู้ว่าคริปโตฯ ตัวไหนจะเป็นทรัพย์สินที่มีราคาในอนาคต เราก็ต้องมาเดาอีกว่า มันคือตัวไหน ตอนนี้ก็ยากหน่อย ใครที่รู้เรื่องเทคโนโลยีก็อาจจะได้เปรียบ นอกนั้นต้องถือว่าเป็นการเก็งกำไรล้วนๆ 

แล้วที่ผ่านมาอย่างกรณีของเทอร่า มันก็แสดงให้เห็นว่า มันก็ยังไม่ผ่านเวลาการพิสูจน์ตัวเอง เพราะว่าเทอร่าเดิมเขาอ้างว่า เป็นสิ่งที่เรียกว่า stable coin คือมีราคาขึ้นลงเหมือนกับสกุลเงิน US Dollar แต่เขาไม่ได้มีตัว US Dollar เป็นหลักประกัน เขาใช้อัลกอริทึมที่สลับซับซ้อน แต่ผลสุดท้ายก็ได้พิสูจน์ว่า อัลกอริทึมที่เขาอ้างว่าจะเป็นตัวยืนยันว่าเขาจะสามารถรักษาราคาเทอร่าให้เทียบเท่า US Dollar ได้ มันได้พิสูจน์แล้วว่า มันไม่เป็นจริง นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ส่วนอนาคตมันจะเป็นยังไง ผมคิดว่าก็ต้องรอดู 

ส่วนบล็อกเชนที่เป็นเทคโนโลยีเบื้องหลังคริปโตฯ อยู่กับเราแน่ เมื่อสองปีที่แล้วทุกคนก็คิดว่า บล็อกเชนจะสามารถแก้ปัญหาให้กับมนุษยชาติได้ แต่วันนี้คนก็เริ่มเห็นว่า มันก็อาจจะไม่ถึงขนาดนั้น แต่มันจะมีบทบาทที่สำคัญในหลายๆ เรื่องแต่ไม่ใช่ทุกเรื่อง เทคโนโลยีมันเปลี่ยนเร็วมาก ใครคิดจะลงทุนก็ได้ครับแต่ว่าอย่าทุ่มสุดตัว ระยะหลังมันมีอารมณ์เหมือนจะเป็นลัทธิมากเกินไป ซึ่งน่ากลัว แต่วันนี้ผมไม่ใช่แล้ว ผมคิดว่าทุกคนก็ปรับโหมดแล้วก็มีความเข้าใจกับประเด็นความเสี่ยงมากขึ้น ผมว่าเป็นเรื่องที่ดีเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้  

Q : มีเคล็ดลับอะไรในชีวิตคู่?
คุณกรณ์ : ผมว่าต้องให้เกียรติกันนะสำคัญที่สุด คู่จึงจะอยู่ด้วยกันได้ ผมกลับมาที่ที่คำสำคัญที่ได้คุยเมื่อตอนต้น ว่าประเด็นที่คุณพ่อแม่ของผมปลูกฝังมาที่สำคัญที่สุดคือเรื่องค่านิยม ผมว่าคู่ที่อยู่ด้วยกันได้ ค่านิยมต้องตรงกัน ผมกับคุณเจ (ภรรยา) คือบางเรื่องไม่ต้องไม่ต้องพูดกันก็รู้ครับว่าเขาคิดยังไง 

สมมติเราเจอใครคนหนึ่ง ผมรู้แล้วเขากำลังคิดอะไรอยู่ แล้วเขาก็รู้ว่าผมคิดอะไร เราเจอเรื่องหนึ่ง มันผิดมันถูกเราชอบหรือไม่ชอบ มันมักจะตรงกันเกือบทุกกรณี นั่นคือค่านิยม มันไม่ได้หมายความว่าเราถูกนะ เพียงแต่ค่านิยมเราตรงกัน เราจึงอยู่ด้วยกันได้

แม้แต่ในทางการเมือง ถ้าสมมติอยู่ในบ้านเริ่มทะเลาะกันเรื่องการเมือง ผมว่าก็เหนื่อยนะครับ เราก็มีขัดแย้งกันบ้างแต่ว่าเราคุยกันได้ คือค่านิยมโดยหลักๆ คือสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องผิดเรื่องถูก ตรงนี้ถ้าต่างกันมาก ผมว่าอยู่กันยาก นอกเหนือจากนั้นก็คือตามคำแนะนำปกติผู้ใหญ่ให้กันในวันแต่งงาน ต้องพร้อมให้อภัย ต้องทำความเข้าใจ ต้องอดทน 

แล้วผมคิดว่า เขาเป็นคนที่มีความรู้สึกว่าทำให้เราเป็นคนที่ดีขึ้น ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าเขาดีไปหมด แต่ว่ามันมีหลายอย่างที่ผมมีความรู้สึกว่า การอยู่กับเขาทำให้ผมดีขึ้น ทำให้ผมเป็นคนใจกว้างมากขึ้น เขาเป็นคนที่ไม่ว่าอยู่ประเทศไหน ถ้าเดินไปเจอคนยากจน เดินไปเจอขอทาน เขาจะหยุด มีเท่าไหร่ก็หยิบออกมาให้ แล้วเขาก็จะบอกผมบอกลูกอยู่เสมอว่า 100 บาทกับเขามีค่ามากกว่าเราเยอะ ให้ได้ก็ให้ไปเถอะ เขาชอบทำบุญ คือมีหลายอย่างที่ทำให้ผมมีความรู้สึกว่า อยู่กับเขาแล้วได้รับการเตือนสติทำให้ผมเป็นคนที่ดีขึ้น ในทางกลับกันก็มีอะไรบางอย่างในตัวผมที่ทำให้เขามีความรู้สึกว่าเขาก็ดีขึ้นด้วย 

มีหลายครั้ง เขาจะบอกผมว่า ถ้าฉันไม่พูด ก็ไม่มีใครพูดกับเธอกแบบนี้หรอก ฉะนั้น ถ้าเธอจะโกรธฉัน เธอก็ฟังฉันไปก่อน ผมก็โกรธแต่ว่าฟังทุกครั้งแล้วก็กลับไปคิด แล้วก็วันรุ่งขึ้นก็เอาไปปรับใช้ เราจะมีความสัมพันธ์แบบนี้ คือผมแทบจะไม่เคยได้คำชมจากเขา เขาก็จะบอกว่า มีคนอื่นชมเธออยู่แล้ว แต่ว่าเขาจะมาสายโหดมากกว่า คือมาชี้ข้อบกพร่อง ชี้ในประเด็นที่เขามั่นใจว่า นอกจากเขาแล้วไม่มีใครที่จะพูดกับผม หรือไม่มีใครที่มีความรู้สึกว่าทำไมต้องมาเสียเวลาพูดให้ผมรู้ 

Q : ในเรื่องของ Soft Power กับการพัฒนาประเทศ มันจะเป็นอย่างไรในอนาคต?
คุณกรณ์ : เรื่องนี้ผมว่าสำคัญมาก ตอนที่ออกมาตั้งพรรคเมื่อสองปีก่อน นี่เป็นหนึ่งในเรื่องแรกๆ เลยที่พรรคมองว่าเป็นโอกาสของประเทศแล้วก็เป็นโอกาสของคนรุ่นใหม่ ผมคิดว่า คนไทยแต่ละรุ่น จะมีโอกาสที่ต่างกัน รุ่นผมโอกาสคืออะไร ตอนนั้นก็อย่างที่ว่า มันเป็นช่วงเฟื่องฟูของภาคอุตสาหกรรม อะไรที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรม อะไรที่เกี่ยวกับตลาดทุนหุ้นนี่คือแบบรุ่งเรืองมาก นั่นคือโอกาสของคนรุ่นนั้น 

ถามว่าในรุ่นนี้โอกาสแบบเดียวกันหรือไม่ ไม่ใช่นะ แล้วอะไรเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยในอนาคต สำหรับคนรุ่นใหม่ ผมเชื่อเลยว่ามันคือเรื่องของเทคโนโลยีกับเรื่องของ Soft Power ซึ่งมันเป็นสองเรื่องที่เราไม่ด้อยกว่าใคร ความจริงพูดถึง Soft Power ผมคิดว่าเราติดอันดับอยู่ Top 10 ในโลกเลย ที่มีทุนเดิมในเรื่องของวัฒนธรรม ในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ที่สูงมากที่สุดในโลก เพียงแต่ทำยังไงให้เราปรับ หรือประดิษฐ์ สิ่งที่เรามีอยู่ให้มันเป็นโอกาสในอาชีพ โอกาสในการใช้ชีวิตสร้างเนื้อสร้างตัวได้เท่านั้นเอง ซึ่งเราก็สามารถเรียนรู้จากหลายๆ ประเทศได้ว่าเขาทำยังไง แต่ประเด็นสำคัญก็คือ Soft Power ของไทยมันมีเอกลักษณ์ มันมีความแตกต่าง 

เพราะฉะนั้น มันไม่ใช่ว่าเราต้องเป็นแบบเกาหลี หรือแบบอังกฤษ เราต้องเป็นแบบของเรา แต่ว่ามันก็มีสูตรสำเร็จของมัน จะผลักดันมันยังไงเพราะมีหลายด้านมาก แม้แต่เรื่องอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเรา ถามว่าทำไมมันถึงประสบความสำเร็จอย่างมาก มีเพื่อนฟิลิปปินส์มาหาผมหลายครั้ง คือฟิลิปปินส์มาดูงานท่องเที่ยวของเราเยอะ เขามีความรู้สึกว่าเกาะเขาก็มี หาดทรายเขาก็สวย ทำไมเขาถึงสู้เราไม่ได้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเราไป 40 ล้าน แต่ของเขาอยู่ที่ 10 ล้าน มันเป็นเรื่อง Soft Power มันเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกว่า ประเทศไทยน่าเที่ยว คนไทยน่าคบ ทั้งไทยสมายล์หรืออาหารไทยอร่อย ทั้งหมดที่พูดถึงนี้คือ Soft Power ทั้งหมด เพราะนั้นตรงนี้มันมีความสำคัญ เราก็ต้องมองให้ถูก 

อย่างทางการเมืองเรากำลังจะเป็นประธานประชุมเอเปกช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ซึ่งมันเป็นงานใหญ่ เป็นเกียรติของประเทศที่เวียนมามีโอกาสได้เป็นเจ้าภาพ ก็ต้องถามว่าแล้วบทบาทที่สำคัญของเราคืออะไรก็คือเราเป็นเจ้าภาพที่ดี ผมมั่นใจนะครับว่าจะยังไงก็แล้วแต่เราเป็นเจ้าภาพที่สร้างความประทับใจให้กับทุกคนที่มาเยี่ยมเราได้แน่นอน เราถนัดเรื่องแบบนั้น เราไปจัดงาน หรือเราไปงาน Expo ที่ประเทศไหนก็ตาม อย่างล่าสุดเราไปร่วมงาน Expo ที่ดูไบ ก็พบว่าจากคนที่ไปเที่ยวหลายสิบล้านคน จำนวนคนเข้าซุ้มของไทยเป็นอันดับที่ 3 หรือที่ 4 ทั้งที่เราลงทุนไม่เยอะ เพราะว่าเขาสนใจเรา ของที่เราเอามาโชว์มันมีเสน่ห์ มีความน่าสนใจ ที่สำคัญก็คือเราจะส่งเสริมให้มันเป็นโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ในอนาคตได้ยังไง 

วันนี้คนไทยที่ไปสร้างชื่อเสียงอิงอยู่กับ Soft Power ของต่างประเทศด้วย อย่างลิซ่าก็อิงอยู่กับทางเกาหลี แบมแบมเช่นเดียวกัน มิลลิก็ไปดังที่เวทีคอนเสิร์ตที่อเมริกา ซึ่งไม่เป็นไร เวทีเหมือนแพลตฟอร์ม ส่วนศิลปินของเราเป็นคอนเทนต์ เราไม่ต้องมีแพลตฟอร์มของเราเองก็ได้ อนาคตถ้าคอนเทนต์เราเจ๋งจริงๆ มันอาจจะเกิดแพลตฟอร์มของเราขึ้นมาก็ได้ เพราะเกาหลีเองเขาก็ไม่ได้มีแพลตฟอร์มของตัวเอง 

ซีรีส์เกาหลีที่เราคุยกันเมื่อสักครู่มันก็ดังบนแพลตฟอร์มของต่างประเทศ ตอนนี้ Netflix อยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีเกาหลี เกาหลีวันนี้ก็ไปไม่ได้ถ้าไม่มี Netflix แต่เขาก็เริ่มคิดละ อย่างตอน Squid Game ดัง Squid Game ก็ทำเงินให้กับผู้ผลิต คือตัว Squid Game ไม่เท่าไร แต่เขาประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับ Netflix ที่เกือบพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทางเกาหลีก็เลยว่า ทำไมเราได้แค่นี้ทั้งๆ ที่มันเป็นน้ำพักน้ำแรงของเราทั้งหมด เป็นความคิดสร้างสรรค์ของเราทั้งสิ้น แต่เจ้าของแพลตฟอร์มได้มากกว่าเป็นร้อยเท่า 

เขาก็เริ่มคิดแล้วว่า เออ เทคโนโลยีปัจจุบันอาจจะแข่งกับ Netflix อาจจะแข่งกับ Amazon Prime Video อาจจะแข่งกับ Disney+ Hotstar ไม่ได้ แต่เทคโนโลยีข้างหน้า เช่น Metaverse เขาลงขันกันระหว่างรัฐกับเอกชนในการที่จะลงทุนสร้างพื้นที่ใน Metaverse เผื่อว่าถ้ามันเป็นแพลตฟอร์มในอนาคต อันนี้ก็มีส่วนเอี่ยว เขาก็มีความเป็นเจ้าของ แล้วก็คอนเทนต์ที่ดีก็จะทำให้รายได้ทั้งหมดอยู่กับเขาด้วย คือเราไปทีละขั้น โอเคบางเรื่องเราอาจจะคิดว่าถ้าเราแน่จริง เราอาจจะกระโดดข้ามไปเลยก็ได้ แต่ว่า ถ้าตอนเป็นของใครก็แล้วแต่ ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าคอนเทนต์มันจะมีความสำคัญอย่างมาก แล้วผมมั่นใจว่าเราสามารถสร้างคอนเทนต์ที่ดีที่สุดได้ ไม่ว่าจะในอุตสาหกรรมเพลง อุตสาหกรรมซีรีส์ ภาพยนตร์ บันเทิง อาหารทั้งหมด มันคือเรื่องของคอนเทนต์ 

สามารถอ่านพาร์ท 1 ได้ที่ >> https://thestatestimes.com/post/2022092409

เรียกได้ว่าเป็นอีกหลายๆ มุมของ ‘คุณกรณ์ จาติกวณิช’ ที่แทบไม่เคยได้เห็นมาก่อน ซึ่งถือว่าแตกต่างจากบทบาทนักการเมืองและนักการเงินเป็นอย่างมาก สำหรับใครที่อยากรับฟังเรื่องราวหลากหลายมุมจากปากของ ‘คุณกรณ์’ ด้วยตัวเอง สามารถรับชมได้ที่ https://youtu.be/45MFRj3G6jU และอย่าลืม กดไลก์ กดแชร์กันด้วยนะ