Saturday, 27 April 2024
เจาะพื้นที่เลือกตั้ง

‘นักวิชาการ’ มองการเมืองปากน้ำ หลัง ‘บ้านใหญ่’ สิ้นหัวเรือ เปลี่ยนขั้วย้ายค่าย หลังผล ‘เลือกตั้ง 66’ ชัด!! อาจบังเกิด

ดูเหมือน 1 ในจังหวัด ที่น่าสนใจและถูกหยิบมาวิเคราะห์ในฐานะพื้นที่น่าจับตามองในการเลือกตั้งครั้งนี้ หลัง กกต. ปิดรับสมัคร ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขต และ แบบบัญชีไปแล้วเรียบร้อย ดูจะไม่พ้น 'เมืองปากน้ำ' จังหวัดสมุทรปราการ ที่มี ส.ส. 8 คน จาก 8 เขต ซึ่งการเลือกตั้งปี 2562 ที่ผ่านมา พรรคพลังประชารัฐ สามารถกวาด ส.ส.ยกแผง 6 จาก 7 ที่นั่ง

โดยในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมนี้ ‘ตระกูลอัศวเหม’ ส่งตัวแทนลงสมัคร ส.ส.ด้วยกันถึง 5 คน จาก 2 พรรค ทั้งแบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขต นำโดย...

อัครวัฒน์ อัศวเหม ลงชิงเขต 1 พรรคพลังปราชารัฐ, วรพร อัศวเหม เขต 4 พรรคพลังประชารัฐ, ต่อศักดิ์ อัศวเหม ชิงเก้าอี้เขต 7 สมุทรปราการ ขณะที่ พิม อัศวเหม มีชื่อในปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 8 ของพรรคพลังประชารัฐ และ ชนม์ทิดา อัศวเหม ที่ติดอันดับ 5 ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคภูมิใจไทย

ทว่า การจากไปอย่างกะทันหันของ ‘เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม’ หัวเรือบ้านใหญ่ปากน้ำ ก็ดูจะสั่นสะเทือนการเมืองสมุทรปราการไม่น้อย ด้วยขาดผู้นำทัพที่พาให้สมุทรปราการก้าวหน้า กวาดที่นั่งทั้งผู้แทนระดับประเทศ และ ระดับท้องถิ่นไปได้ทั้งหมด

ทำให้การเมืองปากน้ำ น่าจับตาถึงก้าวต่อไป ไม่เฉพาะเพียงแต่จะสามารถกวาด ส.ส.ยกจังหวัดได้อีกครั้งเหมือนปี 2562 หรือไม่ แต่ยังต้องมองต่อไปถึงหลังเลือกตั้งกันทีเดียว

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ชาลินี สนพลาย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้สนใจการเมืองท้องถิ่น และ ตระกูลการเมือง ได้มองภาพการเมืองปากน้ำ ที่มากไปกว่าการเลือกตั้งรอบนี้ เมื่อสิ้นหัวขบวนบ้านใหญ่ปากน้ำ ไว้อย่างน่าสนใจ โดยก่อนจะวิเคราะห์ถึงเส้นทางไปสู่การเลือกตั้งใหญ่ อาจารย์ชาลินี เปิดประเด็นชวนมองถึง ‘บ้านใหญ่ สมุทรปราการ’ ที่แตกต่างกับจังหวัดที่มีบ้านใหญ่อื่น ๆ ไว้ว่า สมุทรปราการนั้น แต่เดิมไม่ได้เป็นพื้นที่อันหนึ่งอันเดียวอยู่แล้ว ตระกูลอัศวเหมไม่ได้สามารถควบคุมพื้นที่เบ็ดเสร็จ เด็ดขาด ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ เหมือนในบางพื้นที่

“การทำงานของบ้านใหญ่โดยทั่วไปแล้ววางอยู่บนการทำงานลักษณะเครือข่าย มีกลุ่มก้อนหลายระดับมารวมกัน ซึ่งบ้านใหญ่ คือคนที่ประสานกลุ่มก้อนการเมืองมาไว้ในเครือข่ายและร่วมมือกันได้ และความที่ธรรมชาติของเครือข่ายมันมีความเปราะบาง การรักษาเครือข่ายก็ต้องใช้ความสามารถระดมทรัพยากรมาดูแล รวมไปถึงความสามารถในการจัดสรรทรัพยากรให้กับกลุ่มย่อย ๆ ในเครือข่ายใหญ่ เพื่อให้ไปดูแลพื้นที่ ไปดูแลฐานเสียงได้”

“อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องการมาก ๆ ก็คือ Charismatic Leadership ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการนำ โดยปกติแล้วทรัพยากรทางเศรษฐกิจและทรัพยากรทางการเมืองหลายอย่างอาจส่งต่อให้ลูกหลานได้ อาจมีระบบวางไว้พอสมควร แต่ คาริสมาติก และภาวะการนำ มันไม่ได้ส่งต่อให้ลูกหลานกันได้ง่าย ๆ”

การเปลี่ยนผ่าน จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ท้าทายคนที่จะมาดูแลต่อ ว่าจะมีความสามารถขนาดไหน ซึ่ง อ.ชาลินี ระบุว่า ความท้าทายในระยะเปลี่ยนผ่านนี้เคยเกิดขึ้นกับในชลบุรี และ สุพรรณบุรี เช่นกัน บ้านใหญ่ชลบุรีเอง ต้องใช้เวลานานกว่าจะกลับมา และยังเจอความท้าทายอยู่ ขณะที่ในสุพรรณบุรี ก็มีความท้าทายอยู่เช่นกัน

ขณะที่ ‘สมุทรปราการ’ ก็นับเป็นพื้นที่ ที่ยากเป็นพิเศษ ในทัศนะของอ.ชาลินี ด้วยเพราะเป็นเมืองที่มีพลวัตสูง มากกว่า ชลบุรีและสุพรรณบุรี มีความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมสูง ด้วยความที่อยู่ในจุดยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้อยู่ในสถานะที่ยากในการรักษาความมั่นคงของเครือข่ายทางการเมือง กล่าวคือ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง ยิ่งส่งผลต่อความสามารถในการสะสมและผูกขาดทรัพยากรของชนชั้นนำ มีโอกาสที่เกิดชนชั้นนำใหม่ๆ มาแย่งชิง และก็ส่งผลต่อความสามารถในการดูแลเครือข่าย

ในด้านสังคม อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มองว่า องค์ประกอบของประชากรที่เปลี่ยนแปลงเร็ว เพราะเศรษฐกิจเติบโตเร็ว มีคนเข้า-ออกมาก ขณะที่คนในพื้นที่เดิมก็เปลี่ยนแปลงเร็ว ทำให้ยากที่จะ Hold ประชาชนไว้ คนย้ายเข้ามาใหม่นั้น ยากมากที่จะเกิดความผูกพันทางสังคมกับพื้นที่ หรือจะผนวกตัวเองเข้ากับเครือข่ายเดิม ยิ่งการเป็นชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น ยิ่งคาดเดาได้ยาก

เพราะกลุ่มนี้เป็นคนที่เปลี่ยนใจทางการเมืองได้ตลอดเวลา และมีแนวโน้มที่จะผูกโยงตนเองเข้ากับชนชั้นกลางนอกพื้นที่ มากกว่าผูกตัวเองในพื้นที่ คือ เขาไม่ได้รู้สึกว่าเป็นคนสมุทรปราการ แต่มีวิถีชีวิต ผูกกับคนชนชั้นกลางพื้นที่อื่นมากกว่า ซึ่งเกิดขึ้นกับ นนทบุรี เช่นกัน คือ มีแนวโน้มจะให้ความสำคัญกับนโยบายมหภาค มากกว่าการเมืองเชิงพื้นที่ คือไม่ต้องเอาตัวไปผนวกกับเครือข่ายไหน ก็เข้าถึงนโยบายรัฐได้

“ไม่รวมถึงว่า จะสูญเสียนายชนม์สวัสดิ์ไหม แต่มันลุ่ม ๆ ดอน ๆ มาตั้งแต่ก่อน วัฒนาจะไม่อยู่ และยังมีอีกระลอก จึงเป็นความยากในยากในยาก”

ชาลินี กล่าวต่อว่า ตอนที่นายวัฒนาไม่อยู่ นายชนม์สวัสดิ์ ได้ถูกเตรียมพร้อมมากพอสมควร แต่วันนี้ที่ชนม์สวัสดิ์ไม่อยู่ อัศวเหมรุ่นที่ 3 ยังไม่ถูกเตรียมความพร้อม ในระดับเดียวกับที่ชนม์สวัสดิ์ถูกเตรียม ยิ่งกับสภาพพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงสูงขนาดนี้ ‘ยิ่งท้าทายมาก’

“เป็นโอกาสอันดี ที่คนที่เคยอยู่ในเครือข่ายเดียวกัน ที่เกาะกันแบบหลวมๆ นั้น จะมีคนที่อยากช่วงชิงการนำในพื้นที่ ไม่ว่าจะเครือข่ายเดิม หรือ พวกนอกเครือข่าย ที่มาแย่งชิงกลุ่มก้อนการเมืองที่อยู่กับอัศวเหม ไปผนึกขั้วกับเขาได้ หรือเป็นไปได้แม้กระทั่งว่า อาจเป็นโอกาสที่พรรคการเมืองอย่างก้าวไกล ที่ชูความเป็นตัวแทนของชนชั้นกลางรุ่นใหม่ และทำการเมืองแบบใหม่ อาจจะเข้าไปเกาะเกี่ยวผู้คนที่หลุดออกจากเครือข่ายการเมืองเดิมได้” ชาลินี กล่าว

ในระยะสั้น แน่นอนว่าคำถามมักไปตกอยู่กับกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า ขั้วพลังประชารัฐ ที่หลายคนมองว่า จะสามารถกวาดเสียงสมุทปราการได้แบบครั้งที่แล้วหรือไม่? ซึ่งเรื่องนี้ ชาลินี มองว่า การเมืองมีความสะส่ำระส่ายสูง ฐานเสียงของผู้สมัครแต่ละคนถูกช่วงชิงไป วิธีการการเมืองเป็นแบบนี้ การมีหรือไม่มีชนม์สวัสดิ์ ส่งผลต่อความสามารถในการดึงดูดกลุ่มการเมืองท้องถิ่น พอไม่มีอยู่ ก็เป็นไปได้ที่จะถูกแย่งชิง อีกทั้งบางส่วนยังเป็นพื้นที่เสื้อแดง จึงเรียกว่าายากขึ้น ที่จะกวาด ส.ส.ยกจังหวัดเหมือนเดิม

แต่ นักรัฐศาสตร์ ชวนมองมากไปกว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะได้เห็น ในช่วงการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมนี้ นั่นเพราะ รอยรั่ว อันเกิดจากการสูญเสียหัวเรือใหญ่ที่ผ่านมา เปิดโอกาสให้คนมีศักยภาพ เข้าไปแทนที่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับ เพื่อไทย / ก้าวไกล และ ภูมิใจไทย

“ทายาทสายตรงทางการเมืองของ คุณชนม์สวัสดิ์ ก็คือ ‘น้องเพลง’ ซึ่งยังใหม่มาก จำเป็นต้องมีทีมซัพพอร์ตเยอะมาก ถ้าจะสืบทอดการเมืองต่อ แต่เราไม่รู้ว่าในตระกูลอัศวเหมมีความเป็นเอกภาพขนาดไหน ไม่เหมือนอย่าง ตระกูลคุณปลื้ม ที่ชัดเจนว่ามีความเป็นเอกภาพมาก แม้ว่าของอัศวเหมเรายังเห็นคนเป็นหลาน ที่ลงมาเล่นการเมืองอยู่ แต่มีบารมีมากพอไหม และเคยได้มีโอกาสช่วยดูแลเครือข่ายทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน เพราะไม่มีใครคิดว่าจะสูญเสียผู้นำหลักเร็วเช่นนี้”

‘บิ๊กป้อม’ ยัน!! ไม่จับมือ ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ ชี้!! จุดยืนนโยบาย ม.112 ไม่ตรงกัน

(11 เม.ย.66) ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ภายหลังประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค พปชร. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. ตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีทำไมคนไทยถึงต้องเลือกพรรค พปชร. ว่า ต้องขึ้นอยู่กับประชาชนว่าจะเลือกใคร ขอให้เลือกคนดีมาทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ และให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ซึ่งเป็นนโยบายหลักของพรรค พปชร. ส่วนจะเลือกหรือไม่ และถ้าเห็นว่ามีคนอื่นดีกว่าก็เชิญนะครับ ทั้งนี้ พรรค พปชร. ขออาสารับใช้ประชาชน 

ผู้สื่อข่าวถามว่า อะไรคือความโดดเด่นของพรรค พปชร. ที่ประชาชนต้องเลือกพล.อ.ประวิตรเป็นนายกฯ พล.อ.ประวิตร ย้อนถามว่า คุณคิดว่าอะไร พร้อมกับกล่าวว่า เราก้าวข้ามความขัดแย้ง ก้าวข้ามความยากจน ที่พรรค พปชร. จะทำให้ชัดเจน 

‘สกลนคร’ ส่อเดือด หลังแบ่งเขตใหม่เป็น 7 ที่นั่ง ‘เพื่อไทย’ ไม่น่าพลาด!! จ่อกวาดยกจังหวัดตามเคย

สนามเลือกตั้ง จ.สกลนคร ที่มีเก้าอี้ ส.ส.เพิ่มจาก 6 เป็น 7 ที่นั่ง ทำให้บรรยากาศการเลือกตั้งส่อเค้าดุเดือด แต่ละพรรคการเมืองต้องปรับแผนการลงพื้นที่กันใหม่หลายจุด โดยเฉพาะแชมป์เก่าอย่างพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่กวาด ส.ส.ยกจังหวัด

เขตที่ 1 อ.เมือง (ยกเว้น ต.หนองลาด ต.โคกก่อง ต.ม่วงลาย ต.ดงชน และ ต.โนนหอม) อภิชาติ ตีรสวัสดิชัย แชมป์เก่าหลายสมัยจากพรรค พท. ที่คอยผลักดันงบประมาณลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ลงป้องกันพื้นที่ตนเอง เจอคู่ต่อสู้อย่าง ตวงสิทธิ์ พงษ์พิศ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) นักธุรกิจหนุ่ม ชูนโยบายพรรค เน้นนิวโหวตเตอร์จากสถานศึกษา ขณะที่ บ่าวนิก สิรภพ สมผล พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) คนรุ่นใหม่ไฟแรง ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น สานต่อการเมืองจากพ่อแม่เป็น ส.อบจ. รอบนี้ขอสู้สนามใหญ่ และ ‘ณปภัช เสโนฤทธิ์’ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คนรุ่นใหม่พกความรู้มาแน่นเอี้ยดลุยขอคะแนนเสียงแอบลุ้นไกล ๆ

เขตที่ 2 อ.กุสุมาลย์ อ.โพนนาแก้ว อ.โคกศรีสุพรรณ อ.เต่างอย และ อ.เมือง (เฉพาะ ต.โคกก่อง ต.ม่วงลาย ต.ดงชน และ ต.โนนหอม) ‘มหานิยม’ นิยม เวชกามา แชมป์เก่าหลายสมัยอีกคนพรรค พท. มีผลงานอภิปรายในสภาแก้ปัญหาช่วยชาวบ้าน ส่งเสริมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาขวัญใจชาวบ้าน จะลงป้องกันตำแหน่ง เจอคู่แข่งอย่าง ‘ชาญชัย งอยผาลา’ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อดีตนักการเมืองท้องถิ่น รอบที่แล้วลงสังกัดพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พ่ายแพ้ราว 1 หมื่นเสียง คราวนี้หวังล้างตาอีกครั้ง

ขณะที่ 'กัญญาภัค ศิลปะรายะ' พรรคภูมิใจไทย (ภท.) นักการเมืองท้องถิ่น อดีตนายก อบต.โพธิไพศาล สาวมาดมั่นขอท้าชิงแชมป์เก่า ส่วน 'กฤษณะ พุฒซ้อน' พรรค พปชร. นักธุรกิจในพื้นที่ อ.เต่างอย ยังมี 'ชาตรี หล้าพรหม' พรรค ปชป. นักการเมืองท้องถิ่น และ 'ภูเบศวร์ เห็นหลอด' พรรค ก.ก.นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยที่หวังลุ้นแต้มด้วย

เขต 3 อ.อากาศอำนวย อ.พรรณานิคม อ.เมืองสกลนคร (เฉพาะ ต.หนองลาด) อ.วานรนิวาส (เฉพาะ ต.นาซอ) 'จิรัชยา สัพโส' พรรค พท. ลูกสาว 'พัฒนา สัพโส' ส.ส.เขต 3 ที่ส่งลูกสาวลงป้องกันตำแหน่งแทนพ่อ ต้องเจอคู่ต่อสู้คือ 'สาคร พรหมภักดี' จากพรรค ปชป. ที่คร่ำหวอดการเมืองมานาน อดีต ส.ส.หลายสมัย แม่ทัพนำทีมพรรค ปชป.สู้ศึกเลือกตั้ง จ.สกลนคร ที่หวังขอพลิกคว้าเก้าอี้ และ 'ภิญโญ ขันติยู' พรรค ก.ก.

เขตที่ 4 อ.กุดบาก อ.วาริชภูมิ อ.ภูพาน อ.นิคมน้ำอูน อ.ส่องดาว (ยกเว้น ต.ท่าศิลา) 'พัฒนา สัพโส' ที่ย้ายจากเขต 3 มาลงเขต 4 มั่นใจไม่น่าพลาด ต้องเจอคู่แข่งอย่าง 'พงษ์ศักดิ์ สุทธิคีรี' สวมเสื้อพรรค ปชป. นักการเมืองท้องถิ่นและนักกฎหมาย และ 'ขจรศักดิ์ เบ็ญชัย' พรรค ก.ก. นักกฎหมาย อดีตนักการเมืองท้องถิ่น

เปิดเบื้องลึก 'ส.ส.เป้า สิงห์โตทอง' จับมือ 'รทสช.' สู้กลุ่ม 'สนธยา' เพราะคำพูดแมนๆ จากผู้ชายแมนๆ ที่ชื่อ 'สุชาติ ชมกลิ่น'

ดุเดือดแน่นอนกับสนามเลือกตั้งเมืองชลหนนี้ เมื่อ 'ส.ส.เป้า' นายจิรวุฒิ สิงห์โตทอง อดีตส.ส.ชลบุรี ได้แต่งองค์ทรงเครื่องมาเป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรครวมไทยสร้างชาติ เขตพื้นที่ อ.บ้านบึง อ.บ่อทอง อ.หนองใหญ่ ตามคำชวนของนายสุชาติ ชมกลิ่น

การร่วมกับ รทสช. ของ ส.ส.เป้า นั้นมีความน่าสนใจ โดยเจ้าตัวได้เปิดใจถึงเบื้องลึกในการย้ายออกจากพรรคเพื่อไทย, พรรคก้าวไกล ไปทำงานการเมืองร่วมกับ 'กลุ่มบ้านใหม่' ของ 'รมต.เฮ้ง' นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ลงสู้ศึกเลือกตั้งสนามส.ส.ชลบุรี ว่า...

เจ๊แดง บอกว่าถ้าจะลงเล่นการเมืองในนามพรรคเพื่อไทย จ.ชลบุรี เป้า ต้องไปขอกับท่านสนธยา ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เพราะเรา (กลุ่มก้าวหน้า) เพิ่งแข่งกับเขาในสนาม อบจ.ชลบุรี และสนามเมืองพัทยา และคนอย่างผมต้องไปขอสนธยา เพื่อจะมาลง ส.ส.ชลบุรี เขต 3 ผมคิดว่าแล้วว่ามันเสียศักดิ์ศรี ก็กลับมานั่งคุยกันอยู่ที่สมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเกษตรชลบุรี บอกกับคนในสมาคมฟังว่าตระกูล 'สิงห์โตทอง' คงจะไม่มีการได้ลงเลือกตั้งแล้ว เราอยู่สายประชาธิปไตยมานาน สายก้าวไกล ก็ปฏิเสธ สายเพื่อไทยก็ปฏิเสธ

ก็เลยมาคุยกันว่าการเลือกตั้งชลบุรีคงไม่มีตระกูล 'สิงห์โตทอง' ลงแข่งขัน แต่พอดีคนในกลุ่มที่คุยกัน เขาเป็นเพื่อนนักเรียนรุ่นเดียวกับ รมต.เฮ้ง นายสุชาติ ชมกลิ่น สมัยเรียนชลชาย เขาก็เลยโทรศัพท์ไปหา รมต.เฮ้ง บอกว่างวดนี้พี่เป้าเขาไม่ลงเลือกตั้ง พรรคก้าวไกล ก็ไม่เอา พรรคเพื่อไทยก็ไม่เอา แต่ที่ไม่เอา เพราะเขาต้องให้ผมไปขอ ผมก็ไม่ขอ เพราะผมถือว่าต้องลดตระกูล ลดตัวเองไปขอ ผมก็ไม่เอา หลังจากนั้น รมต.เฮ้ง เขาก็ส่งญาติผม ซึ่งเป็นอดีตนายพลตำรวจในชลบุรี ก็ได้คุยกันหลังจากนั้นเขาก็ให้ผมคุยกับ รมต.เฮ้ง ก็คุยกัน รมต.เฮ้งบอกว่า “พี่เป้า ลุงซุ้ย (ดร.ดรงค์ สิงห์โตทอง พ่อผม) เป็น ส.ส.ชลบุรี มา 4 สมัย ทำการเมืองให้กับชลบุรี ในเรื่องสายเกษตร ทุกครั้งที่มีการอภิปรายในสภาฯ คำพูดเรื่องแรกก็จะพูดเรื่องอ้อยเรื่องมันอย่างเดียว ลุงซุ้ย ก็ทำเรื่องนี้มาตลอด ไม่อยากจะให้เสียเรื่องตรงนี้ไปเพราะมันกระทบต่ออาชีพเกษตรกรที่ปลูกอ้อย ปลูกมัน ปลูกปาล์ม

‘ก้าวไกล’ ปักธง 4 เขตครบ จ.สระบุรี ชู!! ล้วงกระเป๋าตังค์ไปไม่ว่างเปล่า

‘ก้าวไกล’ ลุยสระบุรี แนะนำว่าที่ผู้สมัครครบ 4 เขต ‘แป๊ะ บางสนาน’ เอาด้วย ด้าน ‘เพชร กรุณพล’ เผย ประชาชนถูกใจนโยบายรัฐสวัสดิการ หวังได้เห็นก้าวไกลเป็นพรรครัฐบาลนำการเปลี่ยนแปลงใหญ่  

(1 ก.พ. 66) กรุณพล เทียนสุวรรณ รองโฆษกพรรคก้าวไกล ร่วมกิจกรรมแนะนำตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล ทั้ง 4 เขตของจังหวัดสระบุรี และประชาสัมพันธ์นโยบายของพรรคก้าวไกล ที่ตลาดเช้าหนองแค, ตลาดนัดสามแยกหนองแค, ตลาดล้ง, บขส. และตลาดเสาไห้ 

กรุณพล ระบุว่าจากการพูดคุยกับประชาชน นโยบายที่ได้รับความสนใจมากที่สุด คือนโยบายด้านรัฐสวัสดิการ โดยเฉพาะนโยบายการปรับเบี้ยผู้สูงอายุจาก 600 เป็น 3,000 บาท และเงินเด็กเล็ก 0-6 ขวบ เดือนละ 1,200 บาท

กรุณพล มองว่า นี่ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะประชาชนเคยมีชีวิตที่ดีกว่านี้ มีหนี้ที่น้อยกว่านี้ การลงพื้นที่ทำให้ตนได้เห็นผู้สูงอายุหลายคนที่ยังต้องดิ้นรนหาเงินเลี้ยงชีพ ทั้งที่ควรได้พักผ่อนจากการทำงานมาทั้งชีวิต เพราะรายได้ที่ผ่านมาจากการทำงานไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพ และแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีเงินเก็บไว้ใช้ในชีวิตบั้นปลาย นี่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่คนไทยต้องเผชิญร่วมกัน และมีแต่จะรุนแรงขึ้นในอนาคต จากการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาแล้วหลายปี

8 ปีที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาลทหารจำแลง วันนี้หลายคนล้วงกระเป๋าเจอแต่ความว่างเปล่า ลูกค้าหายไป กำลังซื้อลดลง เยาวชนจบใหม่ไม่มีงานทำ ค้าขายลำบาก ค่าครองชีพแพงขึ้น ประชาชนตระหนักว่าการเมืองเป็นเรื่องของคนทุกคน ประเทศชาติจะดีหรือร้ายล้วนเป็นเรื่องของการเมืองทั้งสิ้น

คนเสื้อแดงนครพนม จวก 'หมอชลน่าน' ปมวางตัวผู้สมัคร ส.ส. ไม่ถามชาวบ้าน

บรรยากาศความเคลื่อนไหวทางการเมืองในพื้นที่จังหวัดนครพนม เริ่มมีแนวโน้มการแข่งขันมากขึ้น ทั้งที่ยังไม่มีการยุบสภาหรือครบวาระ 4 ปี โดยพรรคการเมืองใหญ่ต่างทยอยพากันเปิดตัวว่าที่สมัคร ส.ส. ทั้ง 4 เขต ส่วนใหญ่เป็นการแข่งขันระหว่าง 3 พรรคใหญ่ คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย และพรรคเพื่อไทย

โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ถือเป็นพรรคที่มีฐานที่มั่น เคยเป็นแชมป์ชนะการเลือกตั้งทั้ง 4 เขตมาหลายครั้ง แต่การเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2562 ที่ผ่านมา ได้เสียที่นั่ง ส.ส.ในเขตเลือกตั้งที่ 1 โดยนายศุภชัย โพธิ์สุ หรือครูแก้ว ที่พรรคภูมิใจไทยส่งเข้าประกวด ชนะเลือกตั้งสามารถล้ม นายยุทธจักร เรืองวรบูรณ์ อดีต ส.ส.นครพนม เขต 1 พรรคเพื่อไทย ทำให้พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.เพียง 3 เขตเท่านั้น

แม้เขตเลือกตั้งที่ 4 ครอบคลุมพื้นที่ อ.นาแก อ.วังยาง อ.ปลาปาก และ ต.บ้านผึ้ง,ต.กุรุคุ อ.เมืองนครพนม จะถูกพลังดูดจากพรรคพลังประชารัฐ ทำให้ นายชูกัน กุลวงษา อดีต ส.ส.นครพนม เขต 4 พรรคเพื่อไทย เปลี่ยนใจไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ แต่พ่ายแพ้ให้กับนายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ที่หันมาลงสมัคร ส.ส.เขตฯ ชนะการเลือกตั้ง คะแนนนำโด่งเกินคาดหมาย แสดงถึงกระแสความนิยมพรรคเพื่อไทย สูงกว่าคะแนนนิยมตัวบุคคล

ทั้งนี้ การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 นี้ เป็นที่น่าจับตามองตั้งแต่ปี 2565 ทั้งที่เจ้าของพื้นที่นายชวลิต วิชยสุทธิ์ มีข่าวลือว่าจะย้ายไปซบพรรคไทยสร้างไทย มีคุณหญิงหน่อย-สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ เป็นหัวหน้าพรรค เพื่อตอบแทนบุญคุณทางการเมือง ส่วนทางด้านพรรคภูมิใจไทยนายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม เขต 1 ได้ย้ายลงสมัครเขตเลือกตั้งที่ 2 ชนกับ ดร.มนพร เจริญศรี ส.ส.ฯ พรรคเพื่อไทย โดยพรรคภูมิใจไทยหวังให้ครูแก้วโค่นแชมป์เก่า และล้มแลนด์สไลด์พรรคเพื่อไทย พร้อมเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.นครพนม เขต 1 หน้าใหม่คือนางพูนสุข โพธิ์สุ ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหนเป็นภรรยาของครูแก้วนั่นเอง 

จนกระทั่งช่วงต้นสัปดาห์ พรรคเพื่อไทยในพื้นที่จังหวัดนครพนม กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองขึ้นมาทันที เมื่อนายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมาแถลงการณ์เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.นครพนม ทั้ง 4 เขต ประกอบด้วย เขตเลือกตั้งที่ 1 คือ ดร.ภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ มีดีกรีเป็นอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย, เขตเลือกตั้งที่ 2 แชมป์เก่า ดร.มนพร เจริญศรี, เขตเลือกตั้งที่ 3 ได้แก่แชมป์ตลอดกาล 12 สมัยคือ ดร.ไพจิต ศรีวรขาน ส่วนเขตเลือกตั้งที่ 4 ถือเป็นการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร เกินความคาดหมาย หลังพรรคประกาศรายชื่อนายณพจน์ศกร ทรัพยสิทธิ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย, พรรคเพื่อคนไทย และ อดีตผู้สมัครนายก อบจ.นครพนม ที่ล่าสุดหันมาซบพรรคเพื่อไทย และมีชื่อเป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตเลือกตั้งที่ 4 นครพนม ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีชื่อ ดร.สมชอบ นิติพจน์ อดีตนายก อบจ.นครพนม รวมถึง นายชาญชัย คำจำปา นายกเทศมนตรีตำบลพระซอง อ.นาแก จ.นครพนม ที่มีฐานสร้างครอบครัวเพื่อไทยได้มากเป็นอันดับต้น ๆ ของภาคอีสาน

'ประชาธิปัตย์' เล็งกวาด 3 ที่นั่งในพื้นที่สกลนคร หลังอดีต 'ส.ส.สาคร' มั่น!! นโยบายพรรคโดนใจปชช.

อดีต ส.ส.สกลนคร 'สาคร พรหมภักดี' มั่นใจ ผู้สมัคร ส.ส.ประชาธิปัตย์ จะปักธงได้ถึง 3 คน หลังพรรคประกาศ 8 นโยบายโดนใจประชาชน

เมื่อวานนี้ (17 ม.ค. 66) นายสาคร พรหมภักดี ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เขต 3 จังหวัดสกลนคร กล่าวเปิดใจถึงการสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และประสงค์ลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคฯ ว่า จากการที่ได้ลงพื้นที่ พบปะ พูดคุยกับประชาชน ได้เห็นถึงการตื่นตัว และพึงพอใจในนโยบายประกันรายได้ของพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคไทยสร้างไทย เพื่อมาลงสมัครสมาชิกผู้แทนราษฎรในนามพรรคประชาธิปัตย์

“ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมา กับการเดินสายพบปะประชาชนพื้นที่จังหวัดสกลนคร ในฐานะว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อพรรคประกาศนโยบาย 8 ด้านออกมานั้น โดยเฉพาะนโยบายชาวนารับ 30,000 บาทต่อครัวเรือน การออกโฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลง ภายใน 4 ปี และการออกกรรมสิทธิ์ทำกิน ให้ผู้ทำกินในที่ดินของรัฐ รวมทั้งธนาคารหมู่บ้าน - ชุมชน แห่งละ 2 ล้านบาท ที่มีความชัดเจนขึ้นนั้น เป็นที่พึงพอใจของประชาชนอย่างมาก และเชื่อว่าผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 3 คน จะสามารถปักธงในพื้นที่จังหวัดสกลนครได้อย่างแน่นอน หลังพรรคประกาศนโยบายที่โดนใจประชาชน” นายสาครฯ กล่าว

'ภูมิใจไทย' เปิดฉาก!! ขอ ส.ส.เมืองหลวงไว้เป็นฐานเสียง เปลี่ยนภาพลักษณ์พรรค ไม่ถูกมองว่าเป็นพรรคภูธร

ขณะที่ระหว่างกำลังรอการโปรดเกล้าฯ ร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.ฯ และร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ในส่วนของการเตรียมการเลือกตั้ง พบว่าสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่รับผิดชอบภารกิจควบคุมดูแลการเลือกตั้ง ได้มีการเตรียมพร้อมเพื่อเตรียมรับกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นตลอดเวลา

อย่างเรื่องของ การแบ่งเขตเลือกตั้ง พบว่า หลังสำนักงาน กกต.ได้รับข้อมูลฐานจำนวนประชากรประเทศไทย ที่เป็นข้อมูลล่าสุดสิ้นสุดเมื่อ 31 ธ.ค. 2565 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา จากกระทรวงมหาดไทย ทำให้ขณะนี้ฝ่าย กกต.เริ่มขยับเตรียมพร้อมสำหรับการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.ทั้ง 400 เขต ที่จะต้องมีเขตเลือกตั้งเพิ่มขึ้นจากตอนเลือกตั้งปี 2562 ขึ้นมา 50 เขต โดย กกต.ได้นำฐานข้อมูลดังกล่าวมาเตรียมแบ่งเขตเลือกตั้งและประกาศการแบ่งเขตอย่างเป็นทางการออกมา ซึ่งกระบวนการดังกล่าว กกต.จะทำได้ต้องรอให้มีการประกาศใช้กฎหมายทั้งสองฉบับข้างต้นเสียก่อน

อย่างไรก็ตาม สำหรับ กรุงเทพมหานคร ที่จะมี ส.ส.เขตเพิ่มขึ้นจากตอนเลือกตั้งปี 2562 เพิ่มมา 3 เก้าอี้ รวมเป็น 33 เก้าอี้ จากเดิม 30 ที่นั่ง ก็เป็นเรื่องน่าสนใจว่าจะทำให้การแบ่งเขตของ กกต.จะออกมาอย่างไร จะส่งผลต่อการได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในสนามเลือกตั้งเมืองหลวงนี้หรือไม่?

หลังพบว่า หลายพรรคการเมืองต่างก็หมายมั่นปั้นมือจะคว้าชัยชนะในสนามเลือกตั้ง กทม.ให้ได้ ทั้งพรรคปีกฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน และพรรคตั้งใหม่

อย่างหนึ่งในพรรคที่ก็ต้องการมี ส.ส.เขต กทม.ในการเลือกตั้งครั้งนี้ให้ได้ นั่นก็คือ พรรคภูมิใจไทย ที่ชูสโลแกนการหาเสียงในพื้นที่ กทม.ไว้ว่า ภูมิใจกรุงเทพฯ 24/7

ที่หมายถึงการสื่อกับคน กทม.ว่า ภูมิใจไทยขออาสาทำงานเพื่อคน กทม. 24 ชั่วโมง 7 วัน สำหรับคน กทม.ทุกกลุ่ม

ส่วนว่าแคมเปญดังกล่าวจะซื้อใจคน กทม.จนทำให้ภูมิใจไทยสามารถปักธง มี ส.ส.เขต กทม.ที่มาจากการเลือกตั้งได้หรือไม่ ต้องดูกระแสตอบรับจากคน กทม.ว่าคิดอย่างไรกับนโยบายที่ภูมิใจไทยนำมาเสนอ รวมถึงต้องดูตัวผู้สมัคร ส.ส.เขต กทม.ของภูมิใจไทยทั้ง 33 เขตว่า สู้กับพรรคการเมืองอื่นมีลุ้นหรือไม่ อีกทั้งต้องดูกระแสพรรคใน กทม.เมื่อเข้าสู่การหาเสียงเลือกตั้งเต็มตัวว่า กระแสภูมิใจไทยใน กทม.เป็นอย่างไร ทั้งหมดคือองค์ประกอบสำคัญที่จะมีผลอย่างมากแน่นอน สำหรับภูมิใจไทย ในการหวังปักธง ส.ส.เขต กทม.ให้ได้

หลังก่อนหน้านี้ ภูมิใจไทย ในตอนเลือกตั้งเมื่อปี 2554 และตอน 2562 กระแสพรรค-ตัวผู้สมัคร ส.ส.เขต เป็นรอง หลายพรรคการเมืองที่ขับเคี่ยวสู้กันดุเดือดใน กทม.อยู่หลายขุม จนทำให้พรรคภูมิใจไทยไม่มีลุ้นในการเลือกตั้งสองครั้งข้างต้นตั้งแต่ลงสนามเลยด้วยซ้ำ แต่เลือกตั้งที่จะมีขึ้น แกนนำภูมิใจไทย ทั้งอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ครูใหญ่ เนวิน ชิดชอบ หมายมั่นปั้นมืออย่างมากว่ารอบนี้พรรคต้องปักธงใน กทม.ให้ได้

หลังได้ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีต รมว.ดีอีเอส อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. และอดีตรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่รับผิดชอบพื้นที่กทม. ให้พลังประชารัฐรอบที่แล้ว มาเป็นกัปตันทีม พาภูมิใจไทยเข้าสู่สนามเลือกตั้ง กทม. ที่รู้กันดีว่าเป็น สนามปราบเซียน คาดเดาได้ยากว่าผลเลือกตั้งจะออกมาแบบไหน อีกทั้งเป็นสนามเลือกตั้ง ที่ กระแส ทั้งกระแสพรรค กระแสผู้สมัคร มีส่วนสำคัญอย่างมาก ต่อการชี้ขาดผล แพ้-ชนะ  

กระนั้น แม้จะเป็นงานยาก แต่ทั้งอนุทินและเนวินรู้ดีว่า ในเป้าหมายการเมืองของภูมิใจไทยที่ต้องการดีดตัวขึ้นไปจากพรรคขนาดกลาง พรรคร่วมรัฐบาล ขึ้นมาเป็นพรรคขนาดใหญ่ พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ หลังภูมิใจไทยเติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ มันจำเป็นมาก ที่ ภูมิใจไทยต้องมี ส.ส.เมืองหลวง ของพรรคที่มาจากการเลือกตั้งให้ได้

เพราะแม้ตอนนี้ ภูมิใจไทย จะมี ส.ส.เขต กทม.อยู่สองคนคือ โชติพิพัฒน์ เตชะโสภณมณี กับมณฑล โพธิ์คาย แต่ทั้งสองคนเป็นส.ส.เขต กทม.อนาคตใหม่ ที่เข้ามาภูมิใจไทยหลังอนาคตใหม่โดนยุบพรรค ทำให้ยังไม่ถือว่า ภูมิใจไทยมี ส.ส.เขต กทม.ของตัวเองแต่อย่างใด

มันจึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่ภูมิใจไทยต้องการให้พรรคมี ส.ส.กรุงเทพมหานคร ยิ่ง กทม.มี ส.ส.มากถึง 33 คน ถือเป็นเค้กก้อนใหญ่ทางการเมือง ที่หากพรรคไหนมี ส.ส.กทม. ก็จะเป็นผลดีในระยะยาว ถ้ามี ส.ส.เมืองหลวงไว้เป็นฐานเสียง และทำให้ภาพลักษณ์พรรคไม่ถูกมองว่าเป็นพรรคภูธร

ทั้งหมดจึงทำให้ภูมิใจไทยพร้อมสู้เต็มที่ เพื่อทำให้พรรคมี ส.ส.กทม.รอบนี้

ยิ่งเมื่อภูมิใจไทยได้อดีต ส.ส.กทม. จากทั้งพลังประชารัฐและเพื่อไทยหลายคนเข้ามา เสริมทีม อาทิ จากพลังประชารัฐ จักรพันธ์ พรนิมิตร - กษิดิ์เดช ชุติมันต์ - พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ - ภาดา วรกานนท์ - กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา และจากเพื่อไทยคือ ประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ซึ่งทางการเมือง อดีต ส.ส.รอบล่าสุด ย่อมถือว่าเป็นระดับเกรดเอ มันก็ยิ่งทำให้พรรคมั่นใจมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายนี้ของภูมิใจไทยก็ไม่ง่าย เพราะ 33 เก้าอี้ในสนาม กทม. มันทำให้หลายพรรคใส่กันเต็มที่ ทำให้การแข่งขันจึงมีสูง สู้กันดุเดือดเลือดพล่าน

‘พิธา’ นำทีมผู้สมัคร ส.ส.ก้าวไกลฝั่งธนฯ ประกาศความพร้อมสะบัดธงส้มทั้งธนบุรี มั่นใจประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลง ส่ง ส.ส.เข้าสภากวาดที่นั่งครบทุกเขต

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมนำทีมว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล ในฝั่งธนบุรีของกรุงเทพมหานคร ร่วมเดินสายพบปะพี่น้องประชาชนเพื่อประชาสัมพันธ์ตัวผู้สมัคร ทั้ง 9 คนใน 10 เขต และแสดงความพร้อมในการสู้ศึกเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ พร้อมมั่นใจว่าชาวฝั่งธนบุรีมีความต้องการเปลี่ยนแปลง และพร้อมสนับสนุนว่าที่ผู้สมัครทั้ง 9 คนของพรรคก้าวไกลให้เข้าไปเป็นผู้แทนของทุกคน

พิธา ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนก่อนการเดินสายพบปะประชาชน โดยระบุว่าพรรคก้าวไกลมีความมั่นใจต่อผลการเลือกตั้งในฝั่งธนบุรีเป็นพิเศษทโดยเฉพาะเมื่อดูจากผลการเลือกตั้งสองครั้งที่ผ่านมา คือในปี 2562 เมื่อครั้งเป็นพรรคอนาคตใหม่ ที่พรรคก้าวไกลได้ ส.ส. 6 จาก 9 เขต ส่วนในการเลือกตั้ง สก. พรรคก้าวไกลก็ได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่งไม่ก็อันดับสองอยู่หลายเขต ซึ่งทำให้เห็นว่าธนบุรีเป็นพื้นที่ที่ประชาชนมีความต้องการเปลี่ยนแปลงสูง

โดยที่บัดนี้ พรรคก้าวไกลได้ตัวว่าที่ ส.ส. ครบทั้ง 10 เขตแล้ว และเป็นส่วนผสมที่กลมกล่อม โดยมีทั้งอดีต ส.ส. ที่ทำงานได้ดีทั้งในพื้นที่และในประเด็นระดับชาติและยังมีผู้สมัครหน้าใหม่จากทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ภาคสังคม การเมืองภาคประชาชน อดีตผู้บริหาร ผู้ประกอบธุรกิจส่งออก ผู้จัดการธนาคาร อดีตพนักงานสายการบิน และอดีตบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งพรรคก้าวไกลมีความมั่นใจว่าจะผู้สมัครทั้ง 10 คนนี้ จะเป็นผู้แทนที่มีคุณภาพและสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ฝั่งธนบุรีในอนาคตได้

พิธา ยังกล่าวต่อไป ว่าจุดเด่นของฝั่งธนบุรี ซึ่งมีพื้นที่กว่า 450 ตารางกิโลเมตร มีประชากรกว่า 4.7 ล้านคน และอยู่ไม่ไกลจากฝั่งพระนครมากนัก คือศักยภาพทั้งในเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการใช้ประโยชน์พื้นที่ริมน้ำ ขณะเดียวกันธนบุรีก็มีสิ่งที่เป็นความท้าทายหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการคมนาคม สิ่งแวดล้อม ความแออัด และการปะทะขัดแย้งกันระหว่างวิถีชุมชนเก่าริมน้ำกับวิถีชุมชนใหม่ที่มีทั้งหมู่บ้านจัดสรรและคอนโดมีเนียม ซึ่งควรจะต้องจัดสรรการพัฒนาให้มีควรมสอดคล้องและสมดุลกันได้

โดยเฉพาะในเรื่องของการคมนาคม ซึ่งผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคก้าวไกลในฝั่งธนบุรีหลายคน ได้เล็งเห็นถึงประเด็นดังกล่าวและมีแนวคิดร่วมกัน ว่าควรมีการพัฒนาระบบการคมนาคมทางน้ำขึ้นมาเสริมและชดเชย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เข้าไม่ถึงระบบขนส่งสาธารณะเส้นเลือดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าหรือถนนสายหลักต่างๆ

เปิดม่านเมืองกาญจน์ สังเวียนวัดพลัง ‘พท-ภท.’ ชิงชัย 5 เขต 'อุ๊งอิ๊ง' เตรียมพาเหรดเรียกเรตติ้ง

แม้สัญญาณลั่นระฆังเลือกตั้งจะยังคงแผ่วเบา แต่คาดว่าอีกไม่นานก็คงดังกังวาล หลังวาระ 4 ปีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเวียนบรรจบมาในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ซึ่งเราจะได้เห็นท่าทีของ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาก่อนครบวาระ 4 ปีหรือไม่ ก็คงต้องตามดูกัน

ทว่าในกรณีที่มีการประกาศยุบสภาก่อนวาระจริง ก็คงจะต้องมีการจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นภายใน 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน หลังจากวันที่พระราชกฤษฎีกายุบสภามีผลบังคับใช้นั้น และนั่นก็ทำให้บรรดาพรรคการเมืองเปิดยุทธศาสตร์ชิงพื้นที่กันอย่างไวว่อง

อย่างไรก็ตาม แม้สัญญาณจะยังไม่ชัด แต่หลายพรรคการเมืองก็เริ่มออกมาอัดนโยบายและเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.ในหลาย ๆ พื้นที่จังหวัดกันบ้างแล้ว 

หนึ่งในสนามที่ตอนนี้เริ่มมีความชัดเจนในการปูตัวผู้สมัคร ส.ส.ที่น่าจับตาไม่น้อยนั้น ก็คือ จังหวัด กาญจนบุรี โดยการเมืองในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีทั้ง 5 เขตนั้น เริ่มมีการเคลื่อนพลสมาชิกและว่าที่ผู้สมัครฯ ออกมาแล้วหลายพรรค แต่ก็มีอีกหลายพรรคการเมืองยังคงเงียบเหงา เพราะยังไม่มีการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครเลยแม้แต่เขตเดียว เช่น พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) พรรคก้าวไกล (กก.) พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.)หรือแม้กระทั่งพรรค ประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นต้น

สำหรับพรรคการเมืองที่มีการเปิดตัวสมาชิกและว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กาญจนบุรี ที่ชัดเจน แต่ยังไม่ครบทั้ง 5 เขต ที่ฮือฮาที่สุดคือ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) เนื่องจากว่าที่ผู้สมัครส่วนใหญ่ล้วน เป็น ส.ส.ที่ย้ายออกจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่สำคัญเป็นนักการเมืองรุ่นเก๋าที่มีประสบการทางด้านการเมืองที่สุดที่ชาวกาญจนบุรีต่างก็รู้จัก เช่น พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ อดีต ส.ส.กาญจนบุรี พรรคพลังประชารัฐ เขต 1 ครั้งนี้ลงในนามพรรคภูมิใจไทย แต่พื้นที่เขต 1 (อ.เมือง อ.ศรีสวัสดิ์) ยังมีว่าที่ผู้สมัครที่พรรคภูมิใจไทยเปิดตัวไปก่อนหน้านี้ คือ ดร.วรสุดา สุขารมณ์ หรือ ดร.จุ๊บ ลูกสาวสุดที่รักของ นาวาโท นพ.เดชา สุขารมณ์ หรือหมอเดชา อดีต ส.ส.กาญจนบุรี หลายสมัยที่เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งเขตนี้ขึ้นอยู่กับผลโพลว่าใครจะได้รับความนิยมมากกว่า พรรคภูมิใจไทย ก็จะส่งคนนั้นลงสมัคร

ด้านเขต 2 (อ.ท่าม่วง อ.ด่านมะขามเตี้ย) ขณะนี้ยังไม่ปรากฏชื่อผู้สมัคร แต่คาดว่าพรรคภูมิใจไทยน่าจะอยู่ระหว่างการพิจารณาตัวว่าที่ผู้สมัครที่เหมาะสม 

ส่วนเขต 3 (อ.ท่ามะกา อ.พนมทวน) นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน หรือ ส.ส.กุ๊ก แชมป์เก่า ที่เป็นดาวเด่นในสภา ได้ลงสมัครพื้นที่เดิม 100% 

เขต 4 (อ.ห้วยกระเจา อ.เลาขวัญ อ.หนองปรือ และ อ.บ่อพลอย) นายธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ หรือผู้ใหญ่แหลม อดีต ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ไม่พลาดที่จะได้เป็นว่าที่ผู้สมัครในนามพรรคภูมิใจไทยอย่างแน่นอน 

ขณะที่ เขต 5 (อ.ไทรโยค อ.ทองผาภูมิ อ.สังขละบุรี) นายอัฏฐพล โพธิพิพิธ หรือพี่เมศ อดีต ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ จะได้ลงสมัครในนามพรรคภูมิใจไทย 100% เช่นกัน

ถัดจากพรรคภูมิใจไทย ก็มีอีก 1 พรรคสำคัญที่จะต้องเอ่ยถึง คือ พรรคเพื่อไทย (พท.) โดยครั้งนี้พรรคเพื่อไทย ประกาศส่งชื่อว่าที่ผู้สมัครครบแล้วทั้ง 5 เขต ซึ่งที่น่าสนใจที่สุดคือ ว่าที่ผู้สมัครทั้ง 5 เขต ล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถทั้งสิ้น ไล่มาตั้งแต่เขต 1 (อ.เมือง อ.ศรีสวัสดิ์) นายอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ หรือ กอล์ฟ นักธุรกิจอาหารเสริมที่ประสบความสำเร็จ และอยากกลับมาพัฒนาบ้านเกิด โดยได้รับการชักชวนให้เข้าสู่วงการการเมืองจาก มดดำ คชาภา ตันเจริญ พิธีกรชื่อดังของเมืองไทย

เขต 2 (อ.ท่าม่วง อ.ด่านมะขามเตี้ย) นายชูเกียรติ จีนาภักดิ์ อดีต สมาชิกสภา อบจ.กาญจนบุรี คนนี้ถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรงเช่นกัน

แต่ว่าที่ผู้สมัครที่พรรคเพื่อไทยเปิดตัวแล้วสร้างความฮือฮาให้กับคอการเมืองในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีมากที่สุดคือ ว่าที่ผู้สมัคร เขต 3 (อ.ท่ามะกา อ.พนมทวน) น.ส.พลอย ธนิกุล หรือน้องพลอย ทายาท แคล้ว ธนิกุล อดีตเจ้าพ่อนครบาล และ เขมพร ต่างใจเย็น หรือเจ๊เขม เจ้าแม่ธุรกิจก่อสร้าง โดยที่ผ่านมา น.ส.พลอย หรือ น้องพลอย ลงพื้นที่พบปะประชาชนในพื้นที่ในนามพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ของบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มาโดยตลอด แต่ในที่สุดกลับกลายเป็นพรรคเพื่อไทยที่คว้าตัวไปครอง หลังจากเปิดตัว น.ส.พลอย ได้โพสต์ข้อความและรูปภาพลงเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งได้รับเสียงตอบรับจากชาว อ.พนมทวน อ.ท่ามะกา กันอย่างล้นหลาม มีผู้เข้าไปแสดงความยินดีและต้อนรับกันเป็นจำนวนมากเลยทีเดียว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top