Monday, 20 January 2025
LITE

'แสตมป์' รับเคยนอกใจภรรยา มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับคู่กรณี พร้อมยืนยันโดนข่มขู่ด้วย ม.112 จริง แถมคู่กรณียอมจ่าย 1 ล้านเพื่อจบเรื่อง

(20 ม.ค. 68) จากกรณีนักร้องหนุ่ม แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข ออกมาฟ้องสังคมว่า ตนและภรรยาถูกคุกคามโดยกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งและมีการโดนข่มขู่ใช้อิทธิพล กระทั่งทำให้ศิลปินหลายท่านถูกดึงเข้าไปในดราม่าของเรื่องนี้ ล่าสุดเจ้าตัวโพสต์ขอโทษที่ไม่ได้พูดความจริงทั้งหมดที่เป็นต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้น ยอมรับว่าเคยนอกใจภรรยาไปมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับคู่กรณี และภรรยาได้ฟ้องร้องในหลายคดี โดยระบุข้อความว่า

ผมขอโทษทุกคนด้วยความเสียใจอย่างที่สุด ที่ผมพูดบนเวทีในวันที่ 15 มกราคม ไม่ครบทุกประเด็น ทำให้เกิดความเสียหายออกไปในวงกว้าง ทั้งกับตัวบุคคลและวงดนตรีต่างๆ มากมาย 

เป็นความผิดพลาดที่สุดของผม ที่ผมเลือกเว้นประเด็นที่เป็นสาเหตุตั้งต้นที่แท้จริงของปัญหาทั้งหมดที่หลายคนกำลังเดือดร้อนอยู่นี้ นั่นคือ การนอกใจภรรยาของผมเอง 

ผมมีเจตนาที่จะใช้เวทีนั้นเป็นสื่อกลางส่งสารไปยังคนจำนวนหนึ่ง เพื่อแจ้งให้เขาทราบว่า ภรรยาของผมเดือดร้อนและมีความกังวลจากเรื่องอะไรบ้าง และแจ้งให้คนจำนวนนึงทราบเกี่ยวกับผลของศาลที่แท้จริงที่เราเข้าใจว่าถูกบิดเบือนในสังคมอยู่ในขณะนั้น จึงใช้วิธีการเล่าแบบไม่ได้ระบุชื่อตัวบุคคล หลีกเลี่ยงประเด็นที่เป็นสาเหตุแท้จริง แต่สิ่งที่ผมคิดน้อยมากเกินไปและผิดพลาดที่สุดก็คือ ผมไม่ได้คิดไปถึงเลยว่าจะมีคนขุดคุ้ยมาเปิดเผยในที่สาธารณะ ว่าตัวละครที่ผมเล่าไปจะเป็นใครบ้างในชีวิตจริง จนมีคนเดือดร้อนกันเป็นวงกว้างได้ขนาดที่เป็นอยู่นี้

ผมขอโทษน้องๆวง Tilly birds เติร์ด บิลลี่ ไมโล และทีมงาน ที่ทำให้พวกเขาเดือดร้อนมาอย่างยาวนาน จากปัญหาที่ผมสร้างขึ้นมาเองในครอบครัว และทำให้พวกเขาถูกเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวงผมขอโทษน้องๆจริงๆครับ สิ่งที่เราสู้รบกันจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าผมซื่อสัตย์ต่อภรรยาผมตั้งแต่ต้น ผมขอโทษ คุณโอม Cocktail ที่มีการพาดพิงถึงในเรื่องเล่าของผม จนพลาดวันสำคัญในชีวิตไป ผมขอโทษนักร้องนักดนตรีทุกคน หรือใครก็ตาม ทีมงาน โบกี้ไลอ้อน วิว โทนี่ วง moving and cut วงมีน พี่จี๊บ LOVEiS คุณ จ๋าย ไททศสมิธ และทุกๆคนที่ติดร่างแหไปจากการเล่าเรื่องของผม

ผมขอโทษคู่กรณีของผมและภรรยา และครอบครัวของพวกเขา ผมยอมรับว่าเคยมีความสัมพันธ์กับแจมในอดีตจริง และได้จบไปแล้ว และได้ละเว้นประเด็นนี้ไว้ในเรื่องเล่า จนคนเข้าใจผิด เอาใจช่วยผมไปในเรื่องที่ผมบิดเบือนว่าแจมเป็นเพียงแฟนคลับที่มาติดตาม 

เรื่องของการคุกคามและข่มขู่ด้วยคดีทางการเมือง ผมยังยืนยันว่าเคยเกิดขึ้นจริง หากแต่ปัจจุบันได้หยุดลงไปแล้ว และผมได้เล่าเรื่องเหล่านี้เพื่อให้หน่วยงานต่างๆมาคุ้มครองดูแล

เรื่องของคดีความ ผมฟ้องแกปกับแจมในคดีร่วมกันหมิ่นประมาท แยกเป็นแพ่งและอาญา รวม 3 คดี
ผมถอนฟ้องให้ทั้งหมดเนื่องจากถูกข่มขู่ด้วย ม.112 ซึ่งมีพยานวัตถุเป็นแชท ส่วนภรรยาผมฟ้องคดีมือที่สาม และจบลงด้วยการได้รับค่าชดใช้หนึ่งล้านบาทจากแจม

ผมขอโทษแฟนเพลงและทุกคนในสังคม ที่ผมได้มีการทำตัวในสิ่งที่ไม่เหมาะสมลงไป ผมขอสัญญาว่าต่อจากนี้จะใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาทและครองสติอย่างดีที่สุด ที่สำคัญที่สุด ผมขอโทษนิว ภรรยาของผมและครอบครัว และขอบคุณที่ยังให้โอกาสผมในการเริ่มต้นใหม่ 

ผมขอโทษทุกคนจริงๆครับ ผมขอน้อมรับทุกความผิดที่เกิดขึ้นครับ ขอโทษที่ทำให้ทุกคนเดือดร้อนครับ

20 มกราคม 2539 พระพันปีหลวง เสด็จฯ องค์ประธานในพิธีปล่อย เรือหลวงจักรีนฤเบศรลงน้ำ ณ อู่เรือบาซาน ประเทศสเปน

เรือหลวงจักรีนฤเบศรเริ่มต้นการก่อสร้างในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2536 โดยได้มีการวางกระดูกงูในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2537 และทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำในวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2539 โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในครั้งที่ทรงเสด็จไปทำพิธี ได้มีการทดลองแล่นเรือตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2539 ถึงมกราคม พ.ศ. 2540 ร่วมกับกองทัพเรือสเปนที่เมืองโรต้า (Rota) ประเทศสเปน ก่อนที่เรือจะได้รับมอบและขึ้นประจำการในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2540 โดยมี พลเรือเอก วิจิตร ชำนาญการณ์ เป็นผู้รับมอบ

เรือหลวงจักรีนฤเบศรได้รับหมายเลข 911 และเดินทางมาถึงประเทศไทยในต้นเดือนสิงหาคม ปีเดียวกัน โดยได้เข้าประจำการอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2540 และในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2540 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเสด็จมาทรงเจิมเรือเพื่อความเป็นสิริมงคล

เรือหลวงจักรีนฤเบศรมีระวางขับน้ำเต็มที่ 11,485.5 ตัน ยาว 182.50 เมตร กว้างสุด 30.50 เมตร และกินน้ำลึก 6.25 เมตร ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 2 เครื่อง กำลัง 11,780 แรงม้า พร้อมเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ 2 เครื่อง กำลัง 44,250 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 26 นอต โดยมีทหารประจำเรือจำนวน 601 นาย และทหารประจำหน่วยบินจำนวน 758 นาย เรือสามารถบรรทุกเครื่องบินขึ้นลงทางดิ่ง (SEA HARRIER) ได้ 9 เครื่อง และเฮลิคอปเตอร์ (SEA HAWK) ได้ 6 เครื่อง ใช้งบประมาณในการสร้างทั้งหมด 7 พันล้านบาท

กองทัพเรือได้รับพระราชทานชื่อเรือจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า "เรือหลวงจักรีนฤเบศร" ซึ่งหมายถึง "ผู้เป็นใหญ่แห่งราชวงศ์จักรี" พร้อมคำขวัญว่า "ครองเวหา ครองนที จักรีนฤเบศร" เพื่อเป็นสิริมงคลแก่กองทัพเรือและขวัญกำลังใจแก่กำลังพลประจำเรือ

19 มกราคม 2545 รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ทรงวางศิลาฤกษ์ อาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2545 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ หลังจากพระราชทานชื่อ 'สุวรรณภูมิ' ซึ่งหมายถึง 'แผ่นดินทอง' เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2543 เพื่อใช้แทนชื่อเดิมว่า 'หนองงูเห่า'

อาคารผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิเป็นอาคารเดี่ยวที่มีความกว้างใหญ่ ไม่มีเสากลางอาคาร มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 563,000 ตารางเมตร และประกอบด้วย 9 ชั้น รวมทั้งชั้นใต้ดิน 2 ชั้น โดยมีสถานีรถไฟฟ้า สถานีรถโดยสาร ห้องโถงผู้โดยสารขาเข้าและขาออก รวมถึงสำนักงานของสายการบินต่างๆ

สนามบินสุวรรณภูมิเริ่มเปิดให้บริการทดลองใช้เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2549 และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 กันยายน 2549 โดยมีงบประมาณในการก่อสร้างทั้งโครงการประมาณ 155,000 ล้านบาท

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2543 เพื่อใช้แทนชื่อเดิม 'หนองงูเห่า' ท่าอากาศยานแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ถนนเทพรัตนและทางพิเศษบูรพาวิถี ในเขตตำบลหนองปรือและตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 25 กิโลเมตร

อาคารผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิออกแบบโดยสถาปนิกชาวอเมริกัน-เยอรมัน 'เฮลมุต ยาห์น' โดยใช้เหล็กและแก้วเป็นโครงสร้างหลัก ซึ่งยาห์นกล่าวว่าเป็น "สถาปัตยกรรมแห่งศตวรรษที่ 21" ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในวันที่ 28 กันยายน 2549 และเป็นสนามบินหลักของประเทศไทยแทนท่าอากาศยานดอนเมือง โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางการบินในทวีปเอเชีย

นอกจากนี้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังมีหอควบคุมที่สูงที่สุดในโลก (132.2 เมตร) และอาคารผู้โดยสารเดี่ยวที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก (563,000 ตารางเมตร) โดยสามารถรองรับเที่ยวบินได้ถึง 76 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และมีความสามารถในการรองรับผู้โดยสารถึง 45 ล้านคนต่อปี พร้อมทั้งเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศที่สามารถรองรับสินค้าได้มากกว่า 3 ล้านตันต่อปี

18 มกราคม ของทุกปี 'วันกองทัพไทย' สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีชัยชนะยุทธหัตถี และวันรำลึกถึงวีรกรรมของทหารไทย

วันที่ 18 มกราคมของทุกปีเป็นวันรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทย นั่นคือ การทรงกระทำยุทธหัตถีและชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดี ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงแสดงพระสติปัญญาและความกล้าหาญอย่างยอดเยี่ยม

ในปี พ.ศ. 2135 พระเจ้านันทบุเรงทรงให้พระมหาอุปราชานำทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทราบข่าว จึงทรงยกทัพหลวงไปตั้งรับที่หนองสาหร่ายและไล่ต้อนศัตรูจนออกนอกเขตแดน

ระหว่างการรบ ช้างพระที่นั่งของพระองค์และพระเอกาทศรถได้ไล่ล่าศัตรูไปจนตกไปอยู่ในวงล้อมของศัตรูโดยไม่รู้ตัว แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่เสียเปรียบ แต่พระองค์ทรงใช้พระสติและตัดสินใจอย่างรวดเร็ว โดยเสนอให้พระมหาอุปราชามาทำยุทธหัตถี จนสามารถเอาชนะได้ในที่สุด

การทำยุทธหัตถีครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย และเป็นการรบบนบกที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

วันกองทัพไทยที่เป็นวันที่ระลึกถึงเหตุการณ์นี้เดิมกำหนดเป็นวันที่ 8 เมษายนของทุกปี แต่ในปี พ.ศ. 2523 ได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นวันที่ 25 มกราคม ต่อมานักประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์ว่า วันที่จริงที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีคือวันที่ 18 มกราคม

ในวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2549 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอให้กำหนด 'วันกองทัพไทย' เป็นวันที่ 18 มกราคมของทุกปี เพื่อน้อมรำลึกถึงวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของพระองค์และทหารไทย

17 มกราคม 2376 วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช รัชกาลที่ 4 ทรงพบศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงหลักที่ 1

เจ้าฟ้ามงกุฎ (ซึ่งภายหลังได้รับพระราชทานพระราชานุญาตเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ขณะอยู่ในสมณเพศได้ทรงค้นพบจารึกในปีมะเส็ง เบญจศก จุลศักราช 1195 ซึ่งตรงกับวันศุกร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2376 ณ เนินปราสาทเมืองเก่าสุโขทัย อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย โดยจารึกนี้มีลักษณะเป็นก้อนหินสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดสูง 111 เซนติเมตร และหนา 35 เซนติเมตร ทำจากหินทรายแป้งเนื้อละเอียด มีจารึกอยู่ทั้งสี่ด้าน และปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร

เนื้อหาของจารึกแบ่งออกเป็นสามตอน ตอนแรก ตั้งแต่บรรทัดที่ 1 ถึง 18 กล่าวถึงพระราชประวัติของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ตั้งแต่การประสูติจนถึงการเสวยราชย์ โดยใช้คำว่า "กู" เป็นหลัก ตอนที่สอง ใช้คำว่า "พ่อขุนรามคำแหง" และบรรยายเหตุการณ์และธรรมเนียมต่างๆ ในกรุงสุโขทัย ขณะที่ตอนที่สาม ตั้งแต่บรรทัดที่ 12 ของด้านที่ 4 จนถึงบรรทัดสุดท้าย มีลักษณะตัวหนังสือที่แตกต่างจากตอนแรกและตอนที่สอง ซึ่งอาจจะเป็นการจารึกภายหลัง เพื่อสรรเสริญและยกย่องพ่อขุนรามคำแหง พร้อมทั้งกล่าวถึงอาณาเขตราชอาณาจักรสุโขทัย

จารึกนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกโดยยูเนสโกในปี พ.ศ. 2546 ซึ่งยูเนสโกได้กล่าวถึงจารึกนี้ว่าเป็นมรดกเอกสารที่มีความสำคัญระดับโลก เนื่องจากมันให้ข้อมูลอันล้ำค่าหลายประการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของโลก นอกจากนี้ยังบันทึกการประดิษฐ์อักษรไทย ซึ่งเป็นรากฐานของอักษรที่ใช้ในประเทศไทยที่ถูกใช้โดยผู้คนกว่า 60 ล้านคนในปัจจุบัน เป็นหลักฐานสำคัญว่า ชนชาวไทยได้มีศิลปวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามมาแต่โบราณกาล

16 มกราคม ของทุกปี วันครูแห่งชาติ กับคำขวัญประจำปี 68 'ครูจุดประกายความฝัน ผลักดันให้กล้าคิด สร้างโอกาสในชีวิตให้เด็กไทย'

วันครูมีความสำคัญเพื่อให้นักเรียนได้ระลึกถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ที่เป็นแม่พิมพ์พ่อพิมพ์ของชาติ ซึ่งได้อบรมสั่งสอนเรามาตั้งแต่เยาว์วัย ทำให้เราเติบโตขึ้นเป็นคนดีและมีความรู้ ดังนั้น ครูจึงเป็นบุคคลสำคัญในวงการการศึกษาทั้งด้านวิชาการและประสบการณ์ และถือเป็นอาชีพที่เต็มไปด้วยความเสียสละเพื่อส่วนรวม

การกำหนดวันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็นวันครูมีที่มาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในปี พ.ศ. 2488 ซึ่งได้ถูกตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา ทำให้มีการกำหนดให้วันที่ 16 มกราคมเป็นวันครูตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ในวันนี้จะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อระลึกถึงพระคุณของครูอาจารย์

สำหรับคำขวัญวันครูในประจำปี 2568 นายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้มอบคำขวัญไว้ว่า “ครูจุดประกายความฝัน ผลักดันให้กล้าคิด สร้างโอกาสในชีวิตให้เด็กไทย”

'ลิซ่า ลลิษา' เตรียมโยนเหรียญเลือกแดนคู่บิ๊กแมตช์ ศึกพรีเมียร์ลีกลอนดอนดาร์บี้ อาร์เซนอล ปะทะ สเปอร์ส

'ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล' เตรียมโยนเหรียญเลือกแดน ศึกฟุตบอลพรีเมียร์ลีกนอร์ธลอนดอนดาร์บี้ ระหว่าง อาร์เซนอล กับ สเปอร์ส

(15 ม.ค. 68) สร้างปรากฏการณ์ครั้งใหม่ สำหรับ 'ลิซ่า' ลลิษา มโนบาล ศิลปินชาวไทยชื่อดังระดับโลก ที่ในช่วงค่ำคืนวันที่ 16 มกราคม เวลา 03.00 น. (ตามเวลาประเทศไทย) 'ลิซ่า' เตรียมปรากฏตัวในเกมฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ศึกนอร์ธ ลอนดอน ดาร์บี้ คู่ระหว่างอาร์เซนอล และ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ณ สนามเอมิเรตต์ สเตเดียม

โดยทาง Guinness แบรนด์เครื่องดื่มชื่อดัง ได้ออกมาเปิดเผยผ่านอินสตาแกรมออฟฟิเชียลของประเทศเกาหลีใต้ ว่า 'ลิซ่า' เตรียมรับหน้าที่สำคัญ คือ การโยนเหรียญเลือกแดนก่อนเปิดเกมพรีเมียร์ลีก

15 มกราคม พ.ศ. 2530 สมเด็จย่า เสด็จฯ เยือนดอยตุงเป็นครั้งแรก พร้อมทรงริเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุงฯ

วันนี้เมื่อ 38 ปีก่อน สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) เสด็จฯ เยือนดอยตุงเป็นครั้งแรก และทรงริเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุงฯ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่ด้วยพระราชปณิธานที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งพื้นที่และชีวิตชาวไทยภูเขา 

ย้อนกลับไปกว่าสามสิบปีก่อน พื้นที่บนดอยสูงในเขตอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย หากมองจากมุมมองของนก คงเป็นเพียงผืนดินสีน้ำตาลแดงของภูเขาหัวโล้นทอดยาวสุดลูกหูลูกตา แซมด้วยจุดสีเขียวเล็กจ้อยกระจายตัวอยู่เพียงประปราย

ดอยตุงในอดีตคือดินแดนที่ผู้คนในพื้นที่แห่งนั้นเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานและขาดความรู้ด้านการเกษตร มีชีวิตที่แร้นแค้นและตกอยู่ในวังวนของปัญหา นำมาซึ่งการประกอบอาชีพผิดกฎหมาย ปลูกและค้าสิ่งเสพติดขายให้กองกำลังชนกลุ่มน้อย มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของวงจรการขายและเสพยาเสพติด รวมถึงการค้าประเวณีเพื่อหวังจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จนนำมาสู่การสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาถึงในพื้นที่เมื่อสมเด็จย่าเสด็จฯ มาเยือนดอยตุงเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2530 และทรงตระหนักว่ารากเหง้าของปัญหา คือ ความยากจนและขาดโอกาสในการดำเนินชีวิต จึงทรงริเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุงฯ เมื่อพระชนมายุ 87 พรรษา ซึ่งเป็นวัยที่หลายคนลงความเห็นว่าควรพักผ่อน แต่พระองค์ทรงเลือกที่จะทรงงานต่อเนื่องดังที่เป็นมา

โครงการพัฒนาดอยตุงฯ เริ่ม ‘ปลูกคน’ ด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่ให้ดีขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน บนความเชื่อสำคัญที่ว่า หากสร้างหนทางให้ชาวบ้านหลุดพ้นจากวงจร ‘ความเจ็บป่วย ความยากจน และความไม่รู้’ ได้ ปัญหาสังคมและการทำลายธรรมชาติเพื่อความอยู่รอดก็จะหมดไปในที่สุด สมเด็จย่าจึงมีพระราชปณิธานที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งพื้นที่และชีวิตชาวไทยภูเขา ดังพระราชดำรัสที่ว่า

โดยพระราชดำรัส “ตกลงฉันจะมาปลูกบ้านที่นี่ แต่ถ้าไม่มีโครงการดอยตุง ฉันก็จะไม่มาปลูกบ้านที่นี่ ฉันอยากปลูกป่ามาสิบกว่าปีแล้ว แต่ไม่มีใครรับปากฉัน”

14 มกราคม พ.ศ. 2430 รัชกาลที่ 5 สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามบรมราชกุมาร

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 7 แรม 12 ค่ำ ปีขาล สัมฤทธิศก จ.ศ. 1240 ตรงกับวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2421

พระองค์ทรงมีพระอนุชาและพระขนิษฐาร่วมพระมารดา ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์, สมเด็จเจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา, สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์, สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร, สมเด็จเจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ (ต่อมาคือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกในรัชกาลที่ 9)

ภายหลังการเสด็จทิวงคตของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เมื่อพ.ศ. 2428 ไม่มีการสถาปนาผู้ใดขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลอีก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลไม่เหมาะสมกับกาลสมัย และอาจทำให้ชาวต่างประเทศเข้าใจสับสน

และมีพระราชดำริว่า พระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ซึ่งเรียกว่า “สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า” ที่ตั้งขึ้นไว้ตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 เป็นตำแหน่งสอดคล้องตามแบบอย่างการสืบสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ในนานาอารยประเทศที่มีราชประเพณี แต่งตั้งพระราชโอรสองค์ใหญ่เป็นมกุฎราชกุมารดำรงตำแหน่งรัชทายาท

ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีมหาพิไชยมงคลลงสรงสนานเฉลิมพระปรมาภิไธยสถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2429 ( นับตามปีปฏิทินปัจจุบัน พ.ศ. 2430)

มีพระนามตามจารึกสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ อดิศวรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรสมมติเทพยวรางกูร บรมมกุฎนเรนทรสูริย์ขัตติยสันตติวงศ์ อุกฤษฐพงศ์วโรภโตสุชาต ธัญญลักษณวิลาสวิบุลยสวัสดิ์สิริวัฒนราชกุมาร

นับเป็นครั้งแรกสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมาร เป็นตำแหน่งรัชทายาท แทนตำแหน่งพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ประชวรด้วยพระโรคไข้รากสาดน้อย เสด็จสวรรคตเมื่อวันศุกร์ เดือน 2 ขึ้น 9 ค่ำ ปีมะเมียฉศก จ.ศ. 1256 ตรงกับวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2437

ขณะมีพระชนมายุ 15 พรรษา 6 เดือน กับ 7 วัน

13 มกราคม พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทอดพระเนตรกิจการแผนกการบินเป็นครั้งแรก

รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับกองทัพอากาศ คือ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ส่งทหาร 3 นาย ประกอบด้วย พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ นาวาอากาศเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ และนาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาตไปศึกษาวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2454 โดยได้สำเร็จการศึกษากลับมาเป็นมนุษย์อากาศชุดแรกของไทย 

ต่อมาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งแผนกการบินขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพบกเมื่อ พ.ศ. 2456 (จุดกำเนิดของกองทัพอากาศไทย) โดยมีการทดลองบินครั้งแรกเกิดขึ้นในวันที่ 29 ธันวาคม 2456 และรัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรกิจการแผนกการบินครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2457

เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงริเริ่มและมีสายพระเนตรก้าวไกลต่อการบินของประเทศไทย จึงกำหนดให้วันที่ 13 มกราคม ของทุกปีเป็น 'วันการบินแห่งชาติ'

‘ช่างบิ๊ก บ้านโป่ง’ หลงไหลตัวอักษรไทย ยึดอาชีพหาดูยาก เขียนป้ายรถสิบล้อ!! สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทย

(12 ม.ค. 68) ด้วยสีสันที่โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ มองไกลๆ ก็ยังเห็น ว่านี่คือ ‘ศิลปะป้ายรถสิบล้อ’ มีตัวอักษรและภาพวาดวิวบ้านทุ่ง เป็นฝีมือการบรรจงลงสีลายพู่กันของ ‘ช่างบิ๊ก บ้านโป่ง’ หรือ นายนรพนธ์ รสใจ อายุ 23 ปี ชาว อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ซึ่งถือได้ว่าเป็นอาชีพที่เหลือคนทำอยู่ไม่มากนักในปัจจุบัน

ช่างบิ๊ก เปิดเผยว่า ตนทำอาชีพเขียนป้ายหน้ารถสิบล้อมาแล้วกว่า 5 ปี โดยแรงบันดาลใจที่ทำให้ตนกลายมาเป็นช่างเขียนป้าย เริ่มมาจากความหลงใหลในการเขียนตัวอักษรไทยในแบบต่าง ๆ กระทั่งได้มาพบกับงานเขียนป้ายรถสิบล้อ

ซึ่งจะนิยมเขียนตัวอักษรเป็นชื่ออู่รถ หรือ ชื่อสถานประกอบการ ด้วยสีฉูดฉาด และสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์แบบไทย ๆ ไม่เหมือนงานศิลป์ชนิดอื่น ปัจจุบันกำลังเป็นอาชีพที่นับวันจะเลือนหาย จึงทำให้ตนมีแนวคิดพัฒนาต่อยอดจากความชอบให้เป็นอาชีพในชีวิตจริง

ในช่วงแรกตนอาศัยเวลาว่างลองฝึกฝนหัดด้วยตนเอง ก่อนจะไปขอเรียนวิชากับ อ.ศิริศิลป์ เกาะโพธิ์ จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นช่างเขียนป้ายบังฝุ่นผ้าใบ และป้ายไม้ยุคเก่า และอาจารย์อีกท่านหนึ่ง คือ อ.ชำนาญศิลป์ จ.ชลบุรี ช่างเขียนโปสเตอร์ และป้ายคัทเอาท์โปรโมทภาพยนตร์ โดยใช้เวลาศึกษาและลองผิดลองถูกนานกว่า 2 ปี

สำหรับวิธีการทำป้ายหน้ารถสิบล้อ จะเริ่มจากการวัดและตัดแผ่นไม้กระดานให้ได้ตามขนาดที่ต้องการ แล้วจึงขัดให้เนื้อไม้เรียบเนียน จากนั้นทาทับด้วยสีน้ำมันสีขาว เพื่อรองพื้น ก่อนจะลงสีฉากหลัง โดยส่วนใหญ่จะนิยมทาสีเหลือง-ส้ม ก่อนจะวาดลวดลาย และเขียนตัวอักษรเป็นชื่อต่างๆ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด

โดยหลักๆ หากเป็นรูปภาพลายเส้นของตน จะเน้นวาดรูปกระท่อม กองฟาง ต้นไม้ ภูเขา และลำธาร ในช่วงเวลาพระอาทิตย์ตก สะท้อนย้อนวัยไปแสดงถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านสมัยเก่าก่อน ส่วนข้อความจะต้องเขียนด้วยรูปแบบตัวอักษรที่อ่านง่าย มีการลงเส้นสี และลงแสงเงาที่ชัดเจน ไม่ลายตา

ในส่วนของราคาเขียนป้าย จะขึ้นอยู่กับขนาด แบ่งเป็น 80, 90, 100 และ 120 เซนติเมตร โดยราคาเริ่มตั้งแต่ 1,700 – 2,300 บาท นอกจากนี้ยังมีพวงกุญแจป้ายสิบล้อ และงานเพ้นท์ลายสเก็ตบอร์ด ทั้งนี้เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ป้ายรถสิบล้อถือว่าเป็นอุปกรณ์เสริม ของแต่งรถ สำหรับลูกค้าที่ชื่นชอบ บ่งชี้ถึงฐานะของเจ้าของรถหรือเจ้าของกิจการ ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการอู่รถสิบล้อ รวมไปถึงนำไปตกแต่งตามอาคารบ้านเรือน ร้านอาหาร คาเฟ่ โรงแรม รีสอร์ท และสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ

ท่านใดที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่เฟสบุ๊ก ‘นรพนธ์ รสใจ (ช่างบิ๊ก บ้านโป่ง)’ หรือที่เบอร์โทรศัพท์ 082-2513645

‘เกาหลีเหนือ’ เปิดตัว!! ภาพยนตร์เรื่องล่าสุด เขียนบท กำกับการแสดงโดย ‘คิมจองอึน’

(12 ม.ค. 68) ทางการเกาหลีเหนือได้เปิดตัว ภาพยนตร์เรื่องใหม่ของเกาหลีเหนือ ‘72 ชั่วโมง’ มีความยาวประมาณ 4 ชั่วโมง เนื้อหาเกี่ยวกับการรบในช่วงสงครามเกาหลี โดยใช้มุมมองของเกาหลีเหนือเป็นจุดเริ่มต้น ตั้งกองทัพสหรัฐและเกาหลีใต้เป็นฝ่ายที่ก่อสงคราม ส่วน คิมอิลซุง ผู้นำเกาหลีเหนือในขณะนั้นยังคงถูกยกย่องเป็น ‘วีรบุรุษ’ และท้ายที่สุด กองทัพเกาหลีเหนือก็สามารถยึดกรุงโซลได้สำเร็จ ทั้งนี้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ได้เน้นเรื่องสงครามเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการสอดแทรกเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง และที่แตกต่างจากภาพยนตร์เกาหลีเหนือในอดีตมากที่สุด คือการใส่ฉากบนเตียงและสาวสวยเปลือยกายอาบน้ำลงไปในภาพยนตร์

นอกจากนี้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ จะเพิ่ม การไตร่ตรองของผู้บังบัญชาการ ซึ่งเป็นมุมมองใหม่ในวงการภาพยนตร์เกาหลีเหนือ ซึ่งในอดีตจะมุ่งเน้นเรื่องการสรรเสริญ

ทั้งนี้ 8 ม.ค.เป็นวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 41 ปี ของคิมจองอึน โดยคาดกันว่า ผู้นำเกาหลีเหนือ พยายามใช้การสร้างภาพยนตร์และสื่อ เพื่อดำเนินการปรับเปลี่ยนและรวบรวมอำนาจภายในประเทศ

สำหรับเนื้อหาของภาพยนตร์ เรื่องนี้มีการอ้างว่า บทและการกำกับการแสดง ออกแบบโดย ผู้นำสูงสุด ‘คิมจองอึน’

12 มกราคม พ.ศ. 2476 ในหลวง ร. 7 และพระบรมราชินี เสด็จประพาสยุโรป นับเป็นการอำลา ‘แผ่นดินสยาม’ ครั้งสุดท้าย

วันนี้เมื่อ 92 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จประพาสยุโรป และประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ท่ามกลางสถานการณ์ผันผวนทางการเมือง สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจในโลก หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ทั้งนี้ในห้วงระยะ เวลา 10 ปีที่ พระองค์ทรงครองราชย์ เรื่องที่ดูหนักหนาสาหัสที่สุด คือ การปฏิวัติที่เกิดขึ้นโดยคณะราษฎร์ ในปี 2475 ซึ่งขณะนั้นทั้งสอง พระองค์ ทรงประทับอยู่ที่ พระราชวังไกลกังวลได้ มีคณะตัวแทนคณะราษฎร์ กราบบังคับทูลเชิญทั้งสองพระองค์เสด็จ กลับพระนคร 

และพระองค์ได้เสด็จกลับมาเป็นพระเจ้าอยู่หัว ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ จากนั้นในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2476 พระองค์ได้เสด็จเยือนยุโรป และนั่นถือเป็นการอำลาแผ่นดินสยามครั้งสุดท้ายของพระองค์และในหลวงรัชกาลที่ 7 เนื่องจากขณะที่ พระองค์ทรงรักษาพระเนตรจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในประเทศอังกฤษ ได้ทรงขัดแย้งกับคณะรัฐบาล จึงตัดสิน พระราชหฤทัยสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 ณ พระตำหนักโนล ในขณะ ที่สองพระองค์มิได้เป็นคิงส์แห่งสยาม นับเป็นช่วง เวลาที่สงบสุข ณ พระตำหนักเวนคอร์ต ประเทศอังกฤษ

‘มนต์แคน แก่นคูน’ คว้าอันดับ 1 ศิลปินยอดนิยมบน YouTube ประเทศไทย ยอดสตรีมสูงสุดในไทยปีที่ผ่านมา ด้วยการรับชมกว่า 554 ล้านวิว

(11 ม.ค. 68) YouTube Charts เผยอันดับยอดสตรีมประจำปี จัดอันดับศิลปินยอดนิยมและเพลงยอดนิยมปี 2024 ย้อนหลัง 365 วัน ระหว่างวันที่ 3 มกราคม 2024 – 3 มกราคม 2025

จากสถิติในประเทศไทย ‘มนต์แคน แก่นคูน’ ครองอันดับ 1 ศิลปินยอดสตรีมสูงสุดในไทยปี 2024 ด้วยการรับชมกว่า 554 ล้านวิว

รองลงมาคือ ‘SARAN’ ที่รวมยอดสตรีมได้กว่า 416 ล้านวิว ตามมาด้วย ‘บุ๊ค ศุภกาญจน์’ 402 ล้านวิว ‘ILLSLICK’ 400 ยอดวิว ‘Silly Fools’ 369 ล้านวิว และ ‘Jeff Satur’ อยู่ที่ 383 ล้านวิว ตามลำดับ

ส่วนเพลงยอดสตรีมสูงสุดในไทยตกเป็นของ ‘สวยขยี้ใจ’ โดย บุ๊ค ศุภกาญจน์, ทิดแอม & Mos Kammakbin อยู่ที่ 157 ล้านวิว รองลงมาคือ ‘บุษบา’ โดย เมนทอล ที่ 155 ล้านวิว ตามมาด้วย ‘ลองฟังแล’ โดย โต๋เหน่อ ที่ 144 ล้านวิว ‘ความรู้สึกของตัวฉัน’ โดย มนัสวีร์ ที่ 141 ล้านวิว ‘Ghost’ โดย Jeff Satur ที่ 135 ล้านวิว และ ‘Galaxy Express’ โดย D Gerrard ที่ 116 ล้านวิว ตามลำดับ

นอกจากนี้ ‘มนต์แคน แก่นคูน’ ยังคว้าอันดับ 1 รางวัลนักร้องชาย แห่งปี 2567 จาก อีสานโพล (E-Saan Poll) อีกด้วย ซึ่งเจ้าตัวก็ได้โพสต์ “ ขอบคุณทุกแรงใจครับ”

11 มกราคม พ.ศ. 2568 วันเด็กแห่งชาติ ตระหนักถึงความสำคัญเด็กและเยาวชน

วันเด็กแห่งชาติ ตรงกับวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมของทุกปี สำหรับวันเด็กปี 2568 นี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2568 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม พ.ศ. 2498

มีต้นกำเนิดมาจากการที่องค์กรสหประชาชาติ (United Nations: UN) กำหนดให้มีวันเด็กสากล (World Children's Day) ขึ้น โดยใช้ชื่อว่า Universal Children's Day เพื่อกระตุ้นให้สังคมโลกร่วมกันส่งเสริม สร้างความตระหนัก และร่วมพัฒนาศักยภาพและความเป็นอยู่ของเด็ก ๆ ทั่วโลก รวมทั้งยังเป็นการฉลองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) อีกด้วย

ในประเทศไทยนั้น "วันเด็กแห่งชาติ" จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2498 สอดคล้องกับมติขององค์การสหประชาชาติ โดยได้กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมเป็นวันเด็กแห่งชาติ

กระทั่งในปี พ.ศ. 2506 คณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติมีความเห็นว่าช่วงเดือนตุลาคมนั้นตรงกับช่วงฤดูฝนในประเทศไทย ทำให้ไม่สะดวกต่อการจัดงานวันเด็ก รวมทั้งยังเป็นวันจันทร์ซึ่งเป็นวันทำงานทำให้ผู้ปกครองไม่สามารถพาบุตรหลานมาร่วมงานได้

คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบ ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 ให้เปลี่ยนแปลงกำหนดงานวันเด็กแห่งชาติมาเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมตามข้อเสนอของคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติซึ่งมีความเหมาะสมและสะดวกมากกว่า เนื่องจากเลยช่วงฤดูฝน

รวมทั้งยังเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2507 ไม่มีงานวันเด็กแห่งชาติ เพราะการประกาศเปลี่ยนได้เลยวันมาแล้ว โดยเริ่มเปลี่ยนมาจัดงานวันเด็กแห่งชาติในวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมในปี พ.ศ. 2508 และปฏิบัติต่อมาจนถึงปัจจุบัน

การจัดงานวันเด็กแห่งชาติมีจุดประสงค์ที่สำคัญดังต่อไปนี้

-เป็นการให้ความสำคัญแก่เด็กและเยาวชน ซึ่งจะเติบโตขึ้นเป็นกำลังหลักในการพัฒนาชุมชน ประเทศชาติ และสังคมโลกในอนาคต

-เพื่อให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปตระหนักถึงความสำคัญของเด็กและเยาวชน เนื่องจาก "เด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า"

-สร้างความตระหนักด้านสิทธิของเด็กและเยาวชน เช่น สิทธิด้านการศึกษา สุขภาพ และความเป็นอยู่ที่เหมาะสม

-ปลูกฝังให้เด็ก ๆ เข้าใจบทบาทและรู้จักหน้าที่ในการมีส่วนร่วมกับสังคมในฐานะพลเมืองโลก

-เป็นโอกาสดีให้เด็ก ๆ และสมาชิกในครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน

ทุก ๆ ปีนายกรัฐมนตรีหรือบุคคลสำคัญจะมอบคำขวัญวันเด็กเพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของเด็กและวันเด็กแห่งชาติ โดยธรรมเนียมคำขวัญวันเด็กนี้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2499 ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีการให้คำขวัญวันเด็กประจำปีว่า "จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม"

ล่าสุดคำขวัญวันเด็กประจำปี พ.ศ. 2568 โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คือ

"ทุกโอกาส คือ การเรียนรู้ พร้อมปรับตัวสู่อนาคตที่เลือกเอง"


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top