Tuesday, 17 September 2024
LITE

ผู้ติดตามอินสตาแกรม ‘กามิน’ ลดฮวบ เหลือ 3.7 แสนคน จากเดิม 4.5 แสนคน

(9 ก.ย. 67) จากกรณีดรามาระหว่างสาวเกาหลีใต้ ‘จี กามิน’ กับอดีตคู่จิ้นอย่าง ‘แน็ก ชาลี ไตรรัตน์’ จนทำให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างหนักหน่วงในโลกออนไลน์ หลังฝ่ายชายออกมาไลฟ์แฉพฤติกรรมสารพัด

ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยอดผู้ติดตามอินสตาแกรมของฝ่ายหญิง @mmini.j ที่เคยมีคนติดตามประมาณ 4.5 แสนผู้ติดตามนั้น ในขณะนี้ปรากฏว่ายอดผู้ติดตามได้ลดลงมาเหลือเพียงประมาณ 3.7 แสนผู้ติดตาม เรียกว่าลดฮวบไปกว่า 8 หมื่นผู้ติดตามแล้ว

9 กันยายน พ.ศ. 2528 ‘กบฏ 9 กันยา’ พยายามยึดอำนาจ ‘พล.อ.เปรม’ ใต้ฝีมือ ‘กลุ่มทหารนอกราชการ’ ที่อ้างศก.แย่

วันนี้ในอดีต 9 กันยายน พ.ศ. 2528 เกิด ‘กบฏ 9 กันยา’ ขึ้นในช่วงที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) และ พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ผบ.ทบ. (ในขณะนั้น) เดินทางไปราชการต่างประเทศ

เหตุการณ์เริ่มขึ้นช่วงเช้ามืดของวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 เวลาราว 03.00 น. กลุ่ม ‘ทหารนอกราชการ’ ได้นำกำลังทหารราว 500 นาย ก่อการยึดอำนาจ โดยการรัฐประหารเริ่มที่กำลังทหารจากกรมอากาศโยธินได้เข้าจับกุมตัวพลอากาศเอกประพันธ์ ธูปเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศที่บ้านพักเพื่อใช้เป็นตัวประกัน และกำลังทหารอีกส่วนหนึ่งพร้อมรถถังของกรมทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ได้เข้ายึดกองบัญชาการทหารสูงสุด สนามเสือป่า เพื่อใช้เป็นกองบัญชาการคณะรัฐประหาร

พร้อมกับได้เข้ายึด ทำเนียบรัฐบาล, ลานพระบรมรูปทรงม้า, สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย, กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) โดยมี พันเอกมนูญ รูปขจร (ปัจจุบัน พลตรีมนูญกฤต รูปขจร) นายทหารที่เคยถูกให้ออกจากราชการเนื่องจากก่อกบฏเมษาฮาวายเมื่อ 4 ปีก่อนหน้าเป็นผู้นำ พร้อมด้วยนาวาอากาศโทมนัส รูปขจร น้องชาย โดยกำลังทหารที่ใช้รัฐประหารมาจากหน่วยทหารม้าที่พันเอกมนูญเคยเป็นผู้บังคับบัญชา และทหารอากาศของน้องชาย (ขาดหน่วยทหารราบซึ่งเคยเป็นกำลังสำคัญของการรัฐประหารแทบทุกครั้ง?)

นอกจากพันเอกมนูญแล้ว ยังมีนายทหารนอกราชการชั้นผู้ใหญ่อย่าง พลเอกเสริม ณ นคร, พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์, พลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา รวมถึงพลเรือนที่เป็นผู้นำแรงงาน เช่น นายสวัสดิ์ ลูกโดด, นายประทิน ธำรงจ้อย และนายเอกยุทธ อัญชันบุตร เจ้าของแชร์ชาร์เตอร์ ผู้เสียประโยชน์จากการปราบปรามเงินนอกระบบและทรัสต์เถื่อนของรัฐบาลในขณะนั้นเป็นผู้ร่วมก่อการ

ทั้งนี้ คณะผู้ก่อการฉวยโอกาสยึดอำนาจในช่วงที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) อยู่ระหว่างเดินทางเยือนประเทศอินโดนีเซีย และพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุดอยู่ที่สวีเดน

ส่วนสาเหตุที่ผู้ก่อการใช้เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจคือ รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ ปัญหาการว่างงาน ปัญหาอาชญากรรม รวมทั้งยังล้มเหลวในการรักษาความเป็นเอกภาพและบูรณภาพของประเทศ (รายงานของ The New York Times)

เหตุการณ์ครั้งนั้น ได้มีการปะทะกันระหว่างฝ่ายกบฏและฝ่ายรัฐบาลเกิดขึ้นบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า โดยฝ่ายกบฏได้ระดมยิงเสาอากาศวิทยุและอาคารของสถานีวิทยุกระจายเสียงกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และบริเวณวังปารุสกวัน ที่ตั้งของกรมประมวลข่าวกลาง (สำนักข่าวกรองแห่งชาติในปัจจุบัน) ทำให้ นีล เดวิส (Neil Davis) และวิลเลียม แลตช์ (William Latch) สองนักข่าวชาวต่างชาติเสียชีวิต

ทว่า เมื่อถึงเวลาราว 15.00 น. กองกำลังฝ่ายกบฏก็ยอมจำนน 

ความสูญเสียถึงชีวิตในวันนั้น นอกจากที่เกิดขึ้นกับสองนักข่าวต่างประเทศแล้ว ยังมีทหารอีก 2 ราย และประชาชนอีก 1 ราย ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บประมาณ 60 ราย

ในช่วงต้นของเหตุการณ์ ฝ่ายกบฏได้ประกาศชื่อของ พลเอกเสริม ณ นคร ว่าเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร แต่เมื่อการยึดอำนาจล้มเหลว พลเอกเสริม กลับอ้างว่าตนรวมถึง พลเอกเกรียงศักดิ์ และพลเอกยศ ล้วนถูกบีบบังคับให้เข้าร่วม

แม้การกบฏจะมีโทษร้ายแรงถึงชีวิต แต่หลังการเจรจารัฐบาลก็ยอมให้พันเอกมนูญเดินทางไปยังสิงคโปร์ ส่วนนาวาอากาศโทมนัส สามารถหลบหนีไปได้ และในปี พ.ศ. 2531 รัฐบาลก็ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้ต้องคดีกบฏในครั้งนี้

นอกจากนี้ การที่คณะกบฏไม่มีหน่วยทหารราบมาเข้าร่วมยึดอำนาจเช่นครั้งก่อน ๆ ยังทำให้เกิดการสันนิษฐานว่าอาจมีผู้ร่วมก่อการบางราย ‘ไม่มาตามนัด’ โดยเป้าจะอยู่ที่นายทหารคุมกำลังสำคัญอย่างพลโทพิจิตร กุลละวณิชย์ แม่ทัพภาคที่ 1 ที่มาฐานบัญชาการต้านรัฐประหารที่กรมทหารราบที่ 11 ล่าช้า และพลโทพิจิตรเองก็ได้เป็นผู้เจรจากับฝ่ายรัฐประหารและเปิดโอกาสให้พันเอกมนูญออกนอกประเทศ

ภายหลังเหตุการณ์กบฏ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 ได้เกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจภายในกองทัพ โดยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ หนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านการยึดอำนาจ ได้ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการกองทัพบกแทนที่ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งพลเอกเปรมประกาศในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2529 ว่าจะไม่มีการต่ออายุราชการให้พลเอกอาทิตย์อีกเป็นครั้งที่ 2 และสั่งปลดพลเอกอาทิตย์จากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 คงไว้แต่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด

8 กันยายน พ.ศ. 2565 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเสด็จสวรรคตอย่างสงบ

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งราชวงศ์อังกฤษ เสด็จสวรรคตอย่างสงบที่ปราสาทบัลมอรัลในสก๊อตแลนด์ เมื่อตอนบ่ายของวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2565 พระชนมพรรษา 96 ปี ทรงครองราชย์สมบัตินานที่สุดของราชวงศ์อังกฤษ

บีบีซีได้ประกาศข่าวการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ตามเวลาในประเทศไทยเมื่อ หนึ่งนาฬิกา 18 นาที ในคำแถลงของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ที่ตรัสว่า…

"การสวรรคตของสมเด็จพระมารดาอันเป็นที่รักยิ่งของข้าพเจ้าเป็นเวลาที่เศร้าโศกที่สุดสำหรับข้าพเจ้าและพระราชวงศ์ทุกพระองค์ เราไว้อาลัยกับการจากไปของพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เทิดทูนและพระมารดาอันเป็นที่รักยิ่ง ข้าพเจ้ารู้ดีว่าการสวรรคตของพระองค์คงเป็นความรู้สึกของคนทั้งประเทศ ตลอดจนประเทศในเครือจักรภพและคนทั่วโลก"

ในคำแถลงของสำนักพระราชวังบัคกิ้งแฮมกล่าวว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และพระราชินีจะประทับที่ปราสาทบัลมอรัลในตอนเย็นวันที่ 8 กันยายนและจะเสด็จกลับกรุงลอนดอนในวันรุ่งขึ้น

ก่อนที่จะมีการแถลงข่าวการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 นั้น ได้มีรายงานข่าวของบีบีซีภาคภาษาอังกฤษออกมาตามเวลาในอังกฤษประมาณบ่าย ห้าโมงเย็นของวันที่ 8 กันยายน โดยคำแถลงของสำนักพระราชวังบัคกิ่งแฮมได้อ้างถึงความกังวลของคณะแพทย์ในพระพลานามัยของสมเด็จพระราชินีหลังจากการประเมินผลการตรวจในตอนเช้า จึงขอพระราชทานให้อยู่ภายใต้การดูแลของคณะแพทย์

อย่างไรก็ดีในคำแถลงของสำนักพระราชวังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า The Queen is ‘confortable’. หรือสมเด็จพระราชินีทรงสบายดี

แม้ว่าในคำแถลงเพิ่มเติมอาจจะทำให้เห็นว่าสมเด็จพระราชินีไม่ได้ประชวรหนัก แต่ปรากฏการณ์ที่พระโอรสและพระราชธิดาทุกพระองค์เสด็จไปเฝ้าที่ปราสาทบัลมอรัลในสก๊อตแลนด์เมื่อเย็นวานนี้ก็ทำให้เกิดความห่วงใยในพระพลานามัยของประมุขของประเทศอังกฤษเช่นกัน

เจ้าชายชาร์ลส์และพระชายาและเจ้าหญิงแอนน์ได้ประทับอยู่ที่บัลมอรัลอยู่แล้ว แต่การเสด็จของเจ้าชายแอนดรูและเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดพระราชโอรสอีกสองพระองค์รวมทั้งพระนัดดาอีกสองพระองค์คือเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮรี่ ทำให้เห็นว่าการที่คณะแพทย์ขอให้สมเด็จพระราชินีอยู่ภายใต้การถวายการรักษานั้นอาจหมายถึงการเฝ้าระวังพระพลานามัยอย่างใกล้ชิด

รายงานข่าวของบีบีซีได้ตั้งข้อสังเกตในคำแถลงของสำนักพระราชวังบัคกิ้งแฮมครั้งนี้ว่า ค่อนข้างจะผิดแผกแตกต่างกับที่ผ่านมาเพราะมักจะเลี่ยงการพูดถึงพระสุขภาพของสมเด็จพระราชินีด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นเรื่องส่วนพระองค์

อย่างไรก็ดีก็มีความเคลื่อนไหวในสภาผู้แทนโดยประธานสภาได้แจ้งต่อที่ประชุมเกี่ยวกับรายงานของสำนักพระราชวังในเรื่องที่คณะแพทย์ขอให้สมเด็จพระราชินีอยู่ภายใต้การรักษา

ในที่สุดในตอนเย็นเวลาหนึ่งทุ่มบีบีซี ก็มีประกาศข่าวสวรรคตอย่างสงบของพระองค์ เป็นการสิ้นสุดการครองราชสมบัติที่ยาวนานเป็นเวลา 70 ปีของพระองค์

ตลอดเวลาที่ทรงเป็นองค์ประมุข ทรงพบกับนายกรัฐมนตรีอังกฤษถึง 15 คน เริ่มจากเซอร์วินสตัน เชอร์ชิล และคนสุดท้าย คือ เอลิซาเบธ ทรัสส์ ซึ่งเพิ่งจะเข้าเฝ้าเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาหลังชนะการเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรคทอรี่คนใหม่และเป็นนายกรัฐมนตรี (นายกรัฐมนตรีอังกฤษจะเข้าเฝ้าถวายรายงานเกี่ยวกับราชการแผ่นดินกับพระองค์ทุกสัปดาห์)

สำหรับการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ครั้งนี้เป็นการสูญเสียพระเจ้าแผ่นดินที่ครองราชสมบัตินานที่สุดอีกพระองค์หนึ่งของโลก

7 กันยายน พ.ศ. 2445 ‘ไทย’ ออกพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม ร.ศ.121 ประกาศใช้ ‘ธนบัตร’ แบบแรกอย่างเป็นทางการ

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2445 ‘ประเทศไทย’ ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม ร.ศ.121 ว่าด้วยการออกใช้ธนบัตรขึ้นอย่างเป็นทางการ หลังจากที่มีการนำเงินกระดาษมาใช้ ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

ต่อมา ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติขณะนั้น คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยันต์มงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ได้ติดต่อไปยังบริษัทในประเทศอังกฤษ เพื่อให้ออกแบบและจัดพิมพ์ธนบัตร เมื่อ พ.ศ. 2444 และใช้ต่อเนื่องมา จนได้มีการออกพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม ร.ศ. 121 อย่างเป็นทางการขึ้นในวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2445 โดยธนบัตรแบบหนึ่งนี้มีทั้งหมด 5 ชนิดราคา ได้แก่ 5 บาท 10 บาท 20 บาท 100 บาท และ 1000 บาท

‘โอปป้าเกาหลี’ สะท้อนมุมมองดรามา 'ชาลี-กามิน' สงสาร 'ชาลี' สงสารความมีน้ำใจของคนไทย

เมื่อวานนี้ (5 ก.ย. 67) บัญชีติ๊กต๊อก (TikTok) ที่ใช้ชื่อว่า ‘ruengnok18053’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘พี่เรือง-น้องนก’ ซึ่งเป็นบัญชีของสาวไทยที่ได้แต่งงานกับหนุ่มเกาหลีอาศัยอยู่ในไทย โดยได้ลงคลิปคอนเทนต์รีแอคชันของ ‘พี่เรือง’ ผู้เป็นสามีชาวเกาหลีที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีดาราหนุ่ม ‘แน็ก ชาลี ปอทเจส’ ที่ประกาศแยกย้ายกับ ‘กามิน’ แฟนสาวชาวเกาหลี 

สำหรับเนื้อหาของคลิปเริ่มต้นที่ ‘พี่เรือง’ ดูคลิปเต้นของกามิน ก่อนจะปิดไปด้วยสีหน้าเบื่อหน่าย จากนั้น ‘น้องนก’ ซึ่งเป็นภรรยาก็ได้ถามว่า “ถ้าอยากจะคอมเมนต์กามิน อยากจะคอมเมนต์ว่าอะไร?”

โดยสามีชาวเกาหลี ได้มีความเห็นว่า ตนรู้สึกโกรธมาก และคิดว่าทำไมกามินถึงทำแบบนี้? ทำไมไม่มีความรู้สึกผิดต่อคนไทยที่เคยรักและชื่นชมเธอเลย กลับลงคลิปเต้นเหมือนต้องการเยาะเย้ยคนไทย ซึ่งตนมองว่า ดูเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมเป็นอย่างมากที่เธอเลือกทำร้ายความรู้สึกของคนไทยแบบนี้

"ผมรู้สึกโกรธมากนะ ดูเหมือนกามินอาจจะเข้าใจผิด เหมือนเธอจะคิดว่าตัวเองจะอยู่เกาหลีตลอดไป" 

พี่เรือง บอกอีกว่า "กามินโชคดีมาก ไม่ใช่แค่เรื่องเงินนะ เนื่องจากคนไทยหลายคนชอบกามิน ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย ทำไมกามินถึงไม่รู้ตัวเองว่า เธอมาถึงจุดนี้ (จุดที่มีชื่อเสียง) ได้ยังไง? ทำไมคนไทยชอบกามิน? ทำไมคนไทยถึงคอยให้กำลังใจกามิน? คนไทยให้ทุกอย่าง ทั้งความรู้สึก แม้กระทั่งเงินทองแบบที่ไม่ได้หวังผลตอบแทน แถมยังให้กำลังใจนับตั้งแต่ตอนที่เธอไลฟ์คนเดียว ซึ่งไม่มีคนดูเลย”

นอกจากนี้ พี่เรือง ยังให้มุมมองอีกว่า กามินอาจต้องการแค่ชื่อเสียงและฐานแฟนคลับตัวเองเพิ่มเท่านั้น แต่เมื่อได้ทุกอย่างแล้ว กลับลืมตัวและยอมทิ้งสิ่งที่คนไทยให้ไปจนหมด กามินควรจะต้องขอโทษคนไทย และชี้แจงความจำเป็นที่ตัวเองจะต้องอยู่เกาหลีอย่างจริงใจ ซึ่งตนเชื่อว่าคนไทยย่อมต้องเข้าใจและยังคงสนับสนุนเธอต่อไปแน่ 

“ทำไมเธอไม่ขอโทษคนไทย ก็แค่พูดว่า ‘ขอโทษนะคะ โปรดเข้าใจฉันได้ไหม? ฉันเป็นคนเกาหลี ฉันอยากอยู่เกาหลี จะต้องอยู่เกาหลี ขอโทษนะคะ’ พูดแค่นี้ก็ได้ คนไทยก็เข้าใจใช่ไหม? คนไทยก็โอเค”

ทั้งนี้ เมื่อทุกครั้งที่พวกเขา (พี่เรือง-น้องนก) นั่งดูคลิปกามินด้วยกัน ก็นึกตั้งข้อสังเกตว่า หากกามินต้องการจะอยู่และใช้ชีวิตในประเทศไทยจริงๆ เธอก็น่าจะต้องพยายามทำตัวเองให้สนุกสนานและมีความสุขเวลาใช้ชีวิตอยู่ในไทย แต่ดูเหมือนเธอจะตั้งหน้าตั้งตาหาเงินตลอดเวลา

ท้ายสุด พี่เรือง ได้ทิ้งท้ายด้วยว่า เขาสงสารแน็กชาลี และเป็นกำลังใจให้ดาราหนุ่มก้าวผ่านเรื่องนี้ไปได้ ก่อนจะจบคลิปว่า "แน็กชาลี สู้ๆ นะครับ"

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดวันนี้ (6 ก.ย. 67) ทางกามินได้มีการออกมาไลฟ์ชี้แจงประเด็นดังกล่าวว่า ที่เธอกลับเกาหลีกะทันหัน เพราะเป็นการตัดสินใจของชาลี และได้ตัดสินใจเลิกกันตั้งแต่วันที่ 18 ส.ค.67 แล้ว ที่เลือกมาทำงานในไทยเป็นเพราะความรักล้วนๆ พร้อมกับมั่นใจว่าไม่เคยดูถูกคนไทยว่าหลอกง่าย ไม่ได้หอบเงินหนี หากทำจริงเธอยอมเดินเข้าคุก อีกทั้งไม่ได้เป็นคนทำบ้านของชาลีไฟไหม้ และที่ให้แน็กจ่ายค่าปรับเพราะผิดสัญญางานจ้างก็ไม่เป็นความจริง ยืนยันว่าทุกอย่างระหว่างเธอกับแน็กชาลีจบลงด้วยดี

สุดท้ายไม่ว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร ก็ขอให้คนไทยติดตามกันด้วยวิจารณญาณ จะดีที่สุด...

ภรรยา 'ติ๊ก ชิโร่' เปิดภาพเก่าเก็บ บอกกาลเวลาพิสูจน์ทุกอย่างแล้ว

เมื่อวานนี้ (5 ก.ย. 67) ทำเอาหลาย ๆ คนสงสัย เมื่อ ‘อ้อ พรรทิรา นันทเสน’ ภรรยาของ ‘ติ๊ก ชิโร่’ หรือ ‘นัสวิน นันทเสน’ ได้ออกมาโพสต์ภาพของ ติ๊ก ชิโร่ พร้อมกับ ‘โน้ส อุดม แต้พานิช’ นักพูดชื่อดังในอดีต โดยระบุว่า... 

“วันนี้เคลียร์บ้าน เจอรูปนี้ มันนานมากแล้วนะ น่าจะ 26 หรือ 27 ปีที่แล้ว ช่วงนั้นพี่มาหาพี่ติ๊กบ่อยมาก เชิญเราไปทุกเดี่ยวที่พี่จัด แต่วันเวลาผ่านไปคนเราก็เปลี่ยน อ้อเคยคิดว่าพี่รักเคารพพี่ติ๊ก แต่อ้อคงเข้าใจผิด เพราะตั้งแต่พี่เริ่มไปคบคนใหม่ ๆ (พวกที่มีกระแส หิวแสง) พี่ก็ลืมพวกเราอย่างสนิท พี่ไปร่วมงานวิ่งกับใครต่อใคร แต่เวลางานพี่ติ๊กพี่ไม่เคยมาเลย… อ้อเคยรู้สึกดี แอบเผลอพิมพ์หาพี่เล่าทุกข์สุขให้ฟัง เพราะในวงการอ้อก็ไม่มีใคร…ไม่เป็นไรกาลเวลาได้พิสูจน์ทุกอย่างแล้ว… สวัสดี”

ทั้งยังว่า “จะเพื่อนใหม่เพื่อนเก่าไม่สำคัญ มันอยู่ที่ความต่อเนื่อง ไม่ทิ้งกันยามทุกข์หรือสุขจำไว้!!!” และว่า “พวกกะโหลกกะลา!!!”

หลังจากภาพและข้อความดังกล่าวถูกแชร์ไปเป็นจำนวนมาก ล่าสุด คุณอ้อ พรรทิรา ก็ได้โพสต์คอมเมนต์ ว่า...

"อ้อขอโทษพี่โน้ส และทุกคนด้วยนะคะ ยังไงอ้อรักพี่เสมอ อ้อแค่น้อยใจ"

แฟนคลับเศร้า!! สิ้น 'ป๋าโก๋ คาราบาว' มือกลองประจำวง เสียชีวิต ในวัย 50 ปี

เมื่อวานนี้ (5 ก.ย. 67) เพจเฟซบุ๊ก Carabao Official โพสต์ข้อความ แจ้งข่าวการเสียชีวิตของ ‘โก๋ คาราบาว’ มือกลองประจำวง โดยระบุว่า "ขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของคุณ ชวลิต ฉลองพงษ์ หรือ โก๋ คาราบาว ขอให้พี่โก๋เดินทางสู่ภพภูมิที่ดีครับ ด้วยรักและอาลัย" 

ขณะที่มีคนมาคอมเมนต์แสดงความไว้อาลัยจำนวนมาก

สำหรับ ‘โก๋ คาราบาว’ ชื่อจริง ‘ชวลิต ฉลอมพงษ์’ อายุ 50 ปี เป็นชาว จ.อุบลราชธานี โดย ‘โก๋ คาราบาว’ ได้เข้าร่วมวงคาราบาว ในอัลบั้มชุดที่ 11 วิชาแพะ เมื่อปี 2534 จนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ‘วงคาราบาว’ เป็นวงดนตรีเพลงเพื่อชีวิตที่มีชื่อเสียงมากที่สุดวงหนึ่งของของประเทศไทย มีผลงานตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 จนถึงปัจจุบัน โดยมี ‘แอ๊ด ยืนยง โอภากุล’ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้อง-นักประพันธ์เพลงไทยสากล) พ.ศ.2556 เป็นหัวหน้าวง

6 กันยายน ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ’ กระตุ้นจิตสำนึกคนไทย ไม่นิ่งเฉยต่อการคดโกง

6 กันยายน ของทุกปี กำหนดให้เป็น ‘วันต่อต้านการคอร์รัปชันแห่งชาติ’ โดยวันต่อต้านการคอร์รัปชันแห่งชาติเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจากการริเริ่มของ ‘ดุสิต นนทะนาคร’ อดีตประธานหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยที่ได้ทุ่มเทขับเคลื่อนสร้างความตื่นตัวของคนไทยเรื่องนี้ จนกลายเป็นวาระแห่งชาติ

ในปีพ.ศ. 2554 ประเทศไทยมีอันดับการคอร์รัปชันแย่ลงจาก 78 เป็น 80 จาก 183 ประเทศทั่วโลกทั้งยังมีคะแนนดัชนีความเชื่อมั่นเพียง 3.4 จาก 10 คะแนนเท่านั้น

โดยในปีแรกงานจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2554 ณ ลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 สวนลุมพินี ภายใต้หัวข้อ ‘จุดเปลี่ยนประเทศไทย’ และได้กำหนดให้วันที่ 6 กันยายนของทุกปีเป็น ‘วันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ’ เนื่องจาก ‘นายดุสิต นนทะนาคร’ ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554 โดยในช่วงสุดท้ายของชีวิต งานที่ท่านให้ความสำคัญมากที่สุดก็คือ ความมุ่งมั่นที่จะทำให้สังคมลุกขึ้นมาร่วมกันต่อต้านการคอร์รัปชัน ดังนั้น จึงมีการเสนอให้ถือเอาวันแห่งการจากไปของท่าน เป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ

ที่มา : องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (แห่งประเทศไทย) ได้กำหนดให้วันที่ 6 กันยายน ของทุกปีเป็น ‘วันต่อต้านคอร์รัปชัน’ เพื่อปลุกจิตสำนึกคนไทยไม่ทนต่อการทุจริต

ในปีพ.ศ. 2554 ประเทศไทยมีอันดับการคอร์รัปชันแย่ลงจาก 78 เป็น 80 จาก 183 ประเทศทั่วโลก ทั้งยังมีคะแนนดัชนีความเชื่อมั่นเพียง 3.4 จาก 10 คะแนนเท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทยนับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 ‘ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน’ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมต่อต้านคอร์รัปชันเพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนของสังคมเกิดความตื่นตัว และลุกขึ้นมาร่วมใจกันต่อต้านคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรม 

โดยในปีแรกงานจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2554 ณ ลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 สวนลุมพินี ภายใต้หัวข้อ ‘จุดเปลี่ยนประเทศไทย’ และได้กำหนดให้วันที่ 6 กันยายนของทุกปีเป็น ‘วันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ’ เพื่อเป็นการรำลึกถึง ‘ดุสิต นนทะนาคร’ พลังสำคัญผู้ก่อตั้งภาคีฯ ผู้นำการต่อต้านการคอร์รัปชันเข้าสู่แผนปฏิรูปประเทศไทยภายใต้แผนปรองดองของหอการค้าไทย ที่ได้เสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

5 กันยายน พ.ศ. 2336 ‘ยุคแห่งความเหี้ยมโหด’ เริ่มต้นขึ้นใน ‘ฝรั่งเศส’ เมื่อ ‘สภาแห่งชาติ’ หนุนก่อการร้ายเพื่อผลักดันการปฏิวัติฝรั่งเศส

วันนี้ในอดีต 5 กันยายน พ.ศ. 2336 (ค.ศ. 1793) การปฏิวัติฝรั่งเศส: สภาแห่งชาติเริ่มต้นสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว เมื่อสภาลงมติสนับสนุนการก่อการร้ายซึ่งได้ปราบปรามและสังหารศัตรูทางการเมืองครั้งใหญ่เป็นเวลาสิบเดือน

เหตุการณ์นี้เรียกว่า ‘สมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว’ หรือ ‘The Terror’ (la Terreur) เป็นสมัยแห่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสเริ่มต้น โดยถูกกระตุ้นจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มแยกทางการเมืองที่เป็นคู่แข่งกัน คือ ฌีรงแด็ง (Girondins) และฌากอแบ็ง (Jacobins) 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 'สมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว'

-มีการประหารชีวิต 'ศัตรูแห่งการปฏิวัติ' จำนวนมาก ยอดผู้เสียชีวิตอยู่ในหลักหมื่น โดยมีผู้ถูกประหารชีวิตด้วยกิโยติน 16,594 คน และอีก 25,000 คน ถูกประหารชีวิตอย่างรวบรัดทั่วฝรั่งเศส

-'กิโยติน' กลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งอุดมการณ์การปฏิวัติ ซึ่งมีการประหารชีวิตบุคคลสำคัญจำนวนมาก เช่น มารี อ็องตัวแน็ต และพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทั้งผู้สนับสนุนการปฏิวัติ ฟิลิปป์ เอกาลีเต (หลุยส์ ฟิลิปป์ที่ 2 ดยุคแห่งออร์เลอองส์) มาดามโรลองด์และกลุ่มฌีรงแด็ง มีอีกหลายคน อาทิ อ็องตวน ลาวัวซีเย นักเคมีบุกเบิก ที่ต้องมาสังเวยชีวิตด้วยเช่นกัน 

-ระหว่าง ค.ศ. 1794 ฝรั่งเศสสมัยปฏิวัติถูกรุมเร้าด้วยการคบคิด โดยศัตรูทั้งในและนอกประเทศ 

-ภายในประเทศ การปฏิวัติดังกล่าว ถูกชนชั้นสูงฝรั่งเศสคัดค้าน หลังจากสูญเสียเอกสิทธิ์ที่ได้รับสืบทอดมา 

-นิกายโรมันคาทอลิกโดยทั่วไป ที่คัดค้านการปฏิวัติ ถูกเปลี่ยนนักบวชเป็นลูกจ้างของรัฐและบังคับให้ต้องปฏิญาณความจงรักภักดีต่อชาติ 

-สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 1 ต้องสู้รบในสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านที่เจตนาทำลายการปฏิวัตินี้เสียเพื่อป้องกันมิให้ลุกลาม

-การขยายของสงครามกลางเมือง และการรุกคืบของกองทัพต่างด้าวต่อดินแดนของชาติ ได้ก่อวิกฤตการณ์การเมืองและเพิ่มการแข่งขันระหว่าง ฌีรงแด็ง กับ ฌากอแบ็ง ซึ่งหัวรุนแรงกว่า โดยฝ่ายหลังนี้ ต่อมาได้รวมกลุ่มในกลุ่มแยกรัฐสภา เรียกว่า Mountain และพวกเขาได้การสนับสนุนจากประชากรกรุงปารีส 

-สภาฝรั่งเศสตั้งคณะกรรมาธิการความปลอดภัยส่วนรวม ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1793 เพื่อปราบปรามกิจกรรมต่อต้านการปฏิวัติภายในประเทศและเพิ่มกำลังทหารฝรั่งเศสเพิ่มเติม ผ่านศาลปฏิวัติ 

-ผู้นำสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัวใช้อำนาจเผด็จการอย่างกว้างขวาง และใช้ประหารชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมากและการกวาดล้างทางการเมือง โดยมีการปราบปรามเพิ่มขึ้นในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม ค.ศ. 1794 ซึ่งเป็นสมัยที่เรียกว่า 'la Grande Terreur' (the Great Terror) 

นสุดลงด้วยรัฐประหารวันที่ 27 กรกฎาคม 1794 ซึ่งนำไปสู่ปฏิกิริยาเดือนแตร์มีดอร์ (Thermidorian Reaction) ซึ่งผู้สนับสนุนสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัวหลายคนถูกประหารชีวิต รวมทั้ง มักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์...

จากภาพ: การประหารชีวิตรอแบ็สปีแยร์

4 กันยายน พ.ศ. 2351 วันพระราชสมภพ ‘พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว’ พระมหากษัตริย์แห่งสยาม ผู้มีพระอัจฉริยภาพรอบด้าน

วันนี้เมื่อ 216 ปีก่อน เป็นวันพระราชสมภพของ ‘สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว’ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 ในรัชกาลที่ 4

เจ้าฟ้าจุฑามณี พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเป็นพระอนุชาร่วมอุทรกับ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อรัชกาลที่ 4 เสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงสถาปนาเจ้าฟ้าจุฑามณีขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่า สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 ในรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงมีความรู้ในด้านภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี ทรงโปรดวิทยากรสมัยใหม่แบบตะวันตกหลายด้าน ทรงพระปรีชาหลายด้าน ทรงสร้างปืนใหญ่ไว้เป็นจำนวนมากเพื่อใช้ป้องกันบ้านเมือง ทรงสร้างเรือกลไฟเป็นลำแรก เป็นผู้บังคับบัญชากรมทหารปืนใหญ่ และผู้บังคับบัญชาทหารเรือไทยเป็นพระองค์แรก

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี และเป็นพระอนุชาร่วมพระชนกชนนีกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระนามเดิมว่า 'เจ้าฟ้าจุฑามณี' หรือ 'เจ้าฟ้าน้อย' เสด็จพระราชสมภพ ณ พระราชวังเดิม เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2351 หลังจากที่สมเด็จพระราชบิดาได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเจ้าฟ้าน้อย จึงได้ตามเสด็จพระบรมชนกนาถและพระราชชนนี มาประทับในพระบรมมหาราชวัง และได้รับการเฉลิมพระนามเป็น 'สมเด็จ พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฑามณี' หรือ 'เจ้าฟ้าอสุนีบาต'

เมื่อเจ้าฟ้าน้อย ซึ่งในขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เจริญพระชนมายุได้ 16 พรรษา ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 2367 ได้เสด็จมาประทับ ณ พระราชวังเดิม และประทับที่นี่จนถึงปี พ.ศ. 2394

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระอัจฉริยภาพในด้านต่าง ๆ อาทิ การทหาร การช่าง วิทยาศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม การกีฬา การละคร การดนตรี และด้านวรรณกรรมอีกทั้งทรงรอบรู้ทางด้านการต่างประเทศอีกด้วย ทรงศึกษาภาษาอังกฤษจากมิชชันนารีอเมริกันจนแตกฉาน และทรงมีพระสหาย เป็นชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมากด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงสามารถช่วยราชการด้านการต่างประเทศได้เป็นอย่างดีโดยทรงเป็นที่ปรึกษาในการทำสนธิสัญญาต่าง ๆ

หลังจากที่ได้รับพระราชทานบวรราชาภิเษกเป็น 'พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว' เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 ทรงมีศักดิ์สูงเสมอพระมหากษัตริย์เป็น 'พระเจ้าประเทศสยามองค์ที่ 2' ได้ทรงย้ายมาประทับ ณ พระบวรราชวัง (ปัจจุบันคือบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ) จนสิ้นพระชนม์ลงในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408 ขณะที่ทรงมีพระชนมายุได้ 58 พรรษา

3 กันยายน ของทุกปี ถือเป็น ‘วันตึกระฟ้า’ รำลึกถึง ‘หลุยส์ ซัลลิแวน’ บิดาแห่งตึกระฟ้า สถาปนิกชาวอเมริกันผู้วางรากฐานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่

วันที่ 3 กันยายนของทุกปี ถือเป็น ‘วันตึกสูงระฟ้า’ หรือ Skyscraper Day เพื่อเป็นการระลึกถึง ‘หลุยส์ ซัลลิแวน’ ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 1856 โดยหลุยส์ ซัลลิแวน เป็นนักทฤษฎี นักคิด และเป็นสถาปนิกที่มีชื่อเสียงของสัญชาติอเมริกัน

ทั้งนี้ หลุยส์ ซัลลิแวน เป็นหุ้นส่วนกับ ดังก์มาร์ แอดเลอร์ (Dankmar Adler) วิศวกรชื่อดังแห่งยุค คริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดย หลุยส์ ซัลลิแวน เป็นคนวางรากฐานของสิ่งที่เรียกว่าสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในปัจจุบัน จนทำให้ หลุยส์ ซัลลิแวน ได้รับการขนานนามว่าเป็น บิดาแห่งตึกระฟ้า หรือ บิดาแห่งสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (โมเดอร์นิสม์)

นอกจากนี้ หลุยส์ ซัลลิแวน ยังเป็นศาสตราจารย์ผู้มีอิทธิพล และเขายังสอน แฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ (Frank Lloyd Wright) ปรมาจารย์สถาปนิก ที่มีชื่อเสียงมาก ๆ ของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

ปัจจุบันแม้ หลุยส์ ซัลลิแวน จะจากโลกนี้ไปตั้งแต่ปี 1924 แต่เวลาในช่วงเกือบ 100 ปีที่ผ่านมา จนถึงปี 2021 นวัตกรรมต่าง ๆ ก็เจริญรุดหน้าไปมาก ความสร้างสรรค์ความครีเอตของสถาปนิกก้าวไปไกลมาก จนกระทั่งวันนี้โลกเรามีตึกที่สูงจากพื้นดินเกิน 800 เมตรไปแล้ว

2 กันยายน พ.ศ. 2385 'พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว' เสด็จวางศิลาฤกษ์ ก่อสร้าง ‘พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร’

‘พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร’ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ‘พระปรางค์วัดอรุณฯ’ เป็นพระปรางค์สถาปัตยกรรมไทยขนาดใหญ่ ประกอบด้วยปรางค์ประธานและปรางค์รองอีก 4 ปรางค์ ตัวพระปรางค์ปัจจุบันนี้มิใช่พระปรางค์เดิม ที่สร้างขึ้นราวสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มีความสูงเพียง 16 เมตร โดยปรางค์ปัจจุบันนี้ถูกสร้างขึ้นแทน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในปี พ.ศ. 2363 แต่ก็ได้แค่รื้อพระปรางค์องค์เดิม และขุดดินวางราก ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการสร้างต่อ โดยพระองค์เสด็จมาวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2385 จนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2394 ใช้เวลารวมกว่า 9 ปี 

พระปรางค์วัดอรุณฯ ได้รับการบูรณะเสมอมา จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทำการบูรณะพระปรางค์ครั้งใหญ่ องค์พระปรางก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยชิ้นเปลือกหอย กระเบื้องเคลือบ จานชามเบญจรงค์สีต่าง ๆ เป็นลายดอกไม้ ใบไม้ และลายอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศจีนเป็นจำนวนมหาศาล นอกจากนี้ ยังมีการประดับตกแต่งด้วย กินนร กินรี ยักษ์ เทวดา และพญาครุฑ ส่วนยอดบนสุดของพระปรางค์ติดตั้งยอดนภศูล พระปรางค์วัดอรุณฯ มีความสูงจากฐานถึงยอด 81.85 เมตร ทำให้กลายเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในกรุงเทพฯ มาอย่างช้านาน รวมถึงเป็นพระปรางค์ที่สูงที่สุดในประเทศไทยและของโลกอีกด้วย 

นอกจากนี้ พระปรางค์วัดอรุณยังเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทย ทั้งการเป็นภาพตราสัญลักษณ์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในสิบสถานที่ทางพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงที่สุด ที่ตั้ง วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-18.00 น. ค่าเข้าชม คนไทยไม่เสียค่าเข้าชม ชาวต่างชาติ 100 บาท

1 กันยายน ของทุกปี รำลึกถึง ‘สืบ นาคะเสถียร’ อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ผู้เสียสละเพื่อกระตุ้นจิตสำนึกต่อปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ

หากกล่าวถึงเรื่องการอนุรักษ์ผืนป่า สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม หนึ่งในบุคคลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้อุทิศตนด้วยชีวิตและจิตวิญญาณ นั่นคือ ‘สืบ นาคะเสถียร’ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่ได้ตัดสินใจกระทำอัตวินิบาตกรรม เพื่อเรียกร้องให้สังคมและราชการหันมาสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจังในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 โดยเขาได้เขียนข้อความในจดหมายไว้ว่า ‘ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวเอง โดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น’

หลังจากนั้นวันที่ 1 กันยายนของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันสืบ นาคะเสถียร เพื่อระลึกถึงความเสียสละ และที่สำคัญเพื่อให้ทุกคนหวงแหนธรรมชาติ และสานต่อเจตนารมณ์สืบต่อมาอย่างยาวนานจวบจนปัจจุบันครบรอบ 34 ปี ที่ ‘สืบ นาคะเสถียร’ ได้จากโลกนี้ไป

สำหรับประวัติของ สืบ นาคะเสถียร มีชื่อเดิมว่า ‘สืบยศ’ เกิดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2492 ที่จังหวัดปราจีนบุรี เป็นบุตรของนายสลับ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และนางบุญเยี่ยม โดยสืบ นาคะเสถียร มีพี่น้องทั้งหมด 3 คน ซึ่งสืบเป็นบุตรชายคนโต สำหรับชีวิตส่วนตัว สืบได้สมรสกับนางนิสา นาคะเสถียร มีทายาท 1 คน คือ น.ส.ชินรัตน์ นาคะเสถียร

ด้านการศึกษาเมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 สืบได้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา จนกระทั่งเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จึงเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนจะเข้าศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาวิชาวนวัฒนวิทยา ที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2518

เมื่อเรียนจบสืบสามารถสอบเข้าทำงานที่กรมป่าไม้ได้ แต่เขาเลือกทำงานที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่าโดยไปประจำการที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาเขียว-เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี

ต่อมาในปีพ.ศ. 2522 สืบได้รับทุนการศึกษาระดับปริญญาโทอีกครั้ง ในสาขาอนุรักษวิทยา ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ จาก British Council โดยสืบสำเร็จการศึกษาในปีพ.ศ.  2524

31 สิงหาคม พ.ศ. 2540 ‘เจ้าหญิงไดอานา’ ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ สิ้นพระชนม์ ในวัย 36 ปี สร้างความเศร้าโศกแก่ประชาชนชาวอังกฤษ และชาวโลกต่อเหตุการณ์นี้

‘เจ้าหญิงไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์’ มีพระนามเดิมว่า ‘ไดอานา ฟรานเซส’ สกุลเดิม ‘สเปนเซอร์’ เป็นพระชายาองค์แรกของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร เมื่อครั้นดำรงพระราชอิสริยยศเป็น เจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์

โดย ไดอานา ถือกำเนิดในตระกูลขุนนางที่สืบทอดเชื้อสายจากราชวงศ์อังกฤษในสมัยกลางและทรงเป็นญาติห่าง ๆ กับ แอนน์ บุลิน เป็นบุตรีคนที่ 3 ของพระชนกจอห์น สเปนเซอร์ ไวเคานต์อัลธอร์พ และพระชนนีฟรานเซส โรช ในวัยเด็กไดอานาพักอาศัยที่คฤหาสน์พาร์กเฮาส์ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพระราชฐาน ตำหนักซานดริงแฮม ไดอานาเข้าศึกษาขั้นพื้นฐานในโรงเรียนที่ประเทศอังกฤษ และต่อมาได้เข้าศึกษาต่อช่วงเวลาสั้น ๆ ที่โรงเรียนการเรือน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ขณะอายุได้ 14 ปี ไดอานาได้รับบรรดาศักดิ์ ‘เลดี’ เมื่อบิดาสืบทอดฐานันดรศักดิ์ เอิร์ลแห่งสเปนเซอร์ เธอเริ่มเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกเมื่อเป็นเข้าพิธีหมั้นหมายกับเจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ใน พ.ศ. 2524

พระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างไดอานา สเปนเซอร์ และเจ้าชายแห่งเวลส์ จัดขึ้น ณ อาสนวิหารนักบุญเปาโล เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 โดยมีการถ่ายทอดสดพระราชพิธีและมีผู้รับชมทางโทรทัศน์มากกว่า 750 ล้านคนทั่วโลก ไดอานาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ดัชเชสแห่งคอร์นวอล ดัชเชสแห่งรอธเซย์ และเคาน์เตสแห่งเชสเตอร์ หลังจากพระราชพิธีอภิเษกสมรสได้ไม่นานก็มีพระประสูติการเจ้าชายวิลเลียม พระโอรสพระองค์แรก และเจ้าชายแฮร์รี พระโอรสพระองค์ที่สองในอีก 2 ปีถัดมา ทั้งสองพระองค์อยู่ในตำแหน่งรัชทายาทลำดับที่สองและสามแห่งราชบัลลังก์อังกฤษ ในระหว่างที่ทรงดำรงพระอิสริยศเจ้าหญิงแห่งเวลส์ พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินออกปฏิบัติพระกรณียกิจมากมายแทนสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 รวมทั้งเสด็จเยือนต่างประเทศอยู่สม่ำเสมอ พระกรณียกิจที่สำคัญในบั้นปลายพระชนม์ชีพ คือ การรณรงค์ต่อต้านการใช้ทุ่นระเบิด นอกจากนี้ พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งประธานโรงพยาบาลเด็กเกรทออร์มันด์สตรีท และทรงเป็นองค์อุปถัมภ์โครงการและมูลนิธิอื่น ๆ มากกว่าหลายร้อยแห่งจนถึง พ.ศ. 2539 

ตลอดพระชนม์ชีพของไดอานา ทั้งก่อนอภิเษกสมรสและภายหลังหย่าร้าง สื่อมวลชนทั่วโลกต่างเกาะติดชีวิตของไดอานาและนำเสนอข่าวคราวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับพระองค์อยู่ตลอดเวลา และพระองค์ทรงหย่าขาดจากพระสวามีในวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2539 

จนกระทั่งวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2540 ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ สิ้นพระชนม์ภายหลังประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ภายในอุโมงค์ทางลอดสะพานปองต์เดอลัลมา กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดดี ฟาเยด เพื่อนชายคนสนิท และอ็องรี ปอล คนขับรถ เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ มีผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียวคือ เทรเวอร์ รีส์-โจนส์ ผู้ทำหน้าที่องครักษ์ 

ขบวนช่างภาพปาปารัสซีที่ติดตามไดอานาตกเป็นจำเลยสังคมทันที เนื่องจากมีการนำเสนอข่าวว่าช่างภาพปาปารัสซีเป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ แต่การสืบสวนของหน่วยงานยุติธรรมของฝรั่งเศสซึ่งใช้เวลานานกว่า 18 เดือน สรุปผลว่า นายอ็องรี ปอล อยู่ในอาการมึนเมาขณะขับรถยนต์และไม่สามารถควบคุมรถซึ่งขับมาด้วยความเร็วสูงได้ จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นในคืนนั้น อ็องรี ปอล นั้นเป็นรองหัวหน้าแผนกรักษาความปลอดภัยโรงแรมริตซ์ และก่อนเกิดอุบัติเหตุเขาได้ท้าทายกลุ่มช่างภาพปาปารัสซีที่คอยอยู่หน้าโรงแรม เจ้าหน้าที่นิติเวชยังตรวจพบยาต้านอาการทางจิต และยาต้านโรคซึมเศร้าในตัวอย่างเลือดของอ็องรี ปอล และอีกหนึ่งข้อสรุปก็คือ กลุ่มช่างภาพปาปารัสซีไม่ได้อยู่ใกล้รถเบนซ์ในช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุ

เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 โมฮัมเหม็ด ฟาเยด บิดาของโดดี และเจ้าของโรงแรมริทซ์ กล่าวอ้างว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในคืนนั้นเป็นแผนลอบสังหาร ซึ่งปฏิบัติการโดยหน่วยสืบราชการลับ MI6 ตามคำพระบัญชาของพระราชวงศ์ แต่คำกล่าวอ้างของโมฮัมเหม็ดขัดแย้งกับผลการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศส และปฏิบัติการแพเจต ของตำรวจนครบาลอังกฤษ พ.ศ. 2549

2 ตุลาคม พ.ศ. 2550 มีการเบิกความคดีการสิ้นพระชนม์อีกครั้งหนึ่งโดยผู้พิพากษา สกอต เบเกอร์ ณ ศาลอุทธรณ์ กรุงลอนดอน ซึ่งเป็นการพิจารณาคดีต่อเนื่องมาจากครั้งแรกใน พ.ศ. 2547

7 เมษายน พ.ศ. 2551 คณะลูกขุนแถลงคำตัดสินปิดคดีว่า การสิ้นพระชนม์ของไดอานาและการเสียชีวิตของโดดีเกิดจากอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นผลจากความประมาทอย่างร้ายแรงของอ็องรี ปอล และความประมาทอย่างร้ายแรงกลุ่มช่างภาพปาปารัสซีที่ไล่ติดตาม นอกจากนี้คณะลูกขุนยังระบุถึงปัจจัยอื่นเพิ่มเติมที่มีส่วนให้เกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ 1) คนขับรถบกพร่องในการตัดสินใจเนื่องจากตกอยู่ภายใต้ฤทธิ์แอลกอฮอล์ 2) ข้อเท็จจริงที่ผู้โดยสารไม่คาดเข็มขัดนิรภัยอาจเป็นเหตุหรือมีส่วนทำให้ถึงแก่ความตาย 3) ข้อเท็จจริงที่รถเบนซ์พุ่งชนตอม่อภายในถนนลอดอุโมงค์สะพานปองต์เดอลัลมา และไม่ได้พุ่งชนวัตถุหรือสิ่งอื่นใด

30 สิงหาคม ของทุกปี องค์การสหประชาชาติกำหนดเป็น ‘วันผู้สูญหายสากล’ รำลึกถึงเหตุการณ์ ‘บังคับสูญหาย-อุ้มหาย’ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

วันที่ 30 สิงหาคม ของทุกปี องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็นวันรำลึกถึงบุคคลสูญหายสากล หรือวันผู้สูญหายสากล ด้วยเล็งเห็นถึงปัญหาการละเมิดสิทธิของความเป็นมนุษย์และตระหนักถึงสถานการณ์การบังคับสูญหายหรือการอุ้มหายที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ทั้งนี้ การบังคับให้สูญหาย หรือที่เรารู้จักทั่วไปว่า ‘การอุ้มหาย’ ถูกพิจารณาเป็น ‘การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง’ และถือเป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยที่อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance - CPED) ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองบุคคลจากการถูกบังคับให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ได้กำหนดนิยามของ ‘การอุ้มหาย’ ไว้ว่า หมายถึง การจับกุม คุมขัง ลักพาตัว หรือการลิดรอนเสรีภาพในรูปแบบอื่น โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งกระทำการโดยได้รับการอนุญาต การสนับสนุนหรือการยอมรับโดยปริยายของรัฐ ตามมาด้วยการปฏิเสธที่จะยอมรับว่าได้มีการลิดรอนเสรีภาพ หรือด้วยการปกปิดชะตากรรมหรือสถานที่ปรากฏตัวบุคคลที่หายสาบสูญ ซึ่งส่งผลให้บุคคลดังกล่าวตกอยู่ภายนอกการคุ้มครองของกฎหมาย

การบังคับให้สูญหายมักถูกใช้เป็นกลยุทธ์สร้างความหวาดกลัว ความรู้สึกไม่ปลอดภัยในสังคม ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคลผู้ถูกบังคับให้สูญหาย ได้แก่ สิทธิในการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย สิทธิในเสรีภาพและความมั่นคงของบุคคล สิทธิที่จะไม่ถูกทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่น ๆ ที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี สิทธิในการมีชีวิต สิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม

นอกจากนี้ ยังเป็นการละเมิดสิทธิต่อครอบครัวของผู้ที่ถูกบังคับสูญหาย เช่น สิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอ อันเกิดจากการที่ขาดบุคคลที่เป็นกำลังสำคัญในการประกอบอาชีพ หรือหารายได้ สิทธิในการมีสุขภาพดี เนื่องจากความวิตกกังวล เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CPED) เมื่อปี 2555 แต่การลงนามดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้กับประเทศไทย

แต่อย่างไรก็ตาม หลายภาคส่วนของประเทศไทย ได้ผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และมีผลบังคับใช้ไปเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 เพื่อเป็นเครื่องมือปกป้องคุ้มครองทุกคนมิให้ตกเป็นเหยื่อของการบังคับให้สูญหายอีกต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top