วันที่ 15 กันยายน ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น ‘วันศิลป์ พีระศรี’ เพื่อรำลึกถึง ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย และผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ครูผู้อุทิศตนทั้งชีวิต เพื่อนักเรียนและศิลปะ
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มีชื่อเดิมว่า CORRADO FEROCI เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2435 ในเขตซานโจวันนี (San Giovanni) เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี บิดาชื่อ นาย Artudo Feroci และมารดาชื่อ นาง Santina Feroci เมื่ออายุ 23 ปี สามารถสอบผ่านเป็นศาสตราจารย์ จากราชวิทยาลัยศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์ (The Royal Academy of Art of Florence)
สำหรับเรื่องการศึกษานั้น ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เข้าศึกษาในระดับชั้นประถม เมื่อปี 2441 พอจบหลักสูตร 5 ปี ก็ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยมอีก 5 ปี หลังจากนั้นก็ได้เข้าศึกษาทางด้านศิลปะในโรงเรียนราชวิทยาลัยศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์ จนจบหลักสูตรวิชาช่าง 7 ปี และได้รับประกาศนียบัตรช่างปั้นช่างเขียน ในขณะที่มีอายุ 23 ปี หลังจากนั้นไม่นานก็รับปริญญาบัตรเป็นศาสตราจารย์ ที่มีความรอบรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ วิจารณ์ศิลป์และปรัชญา นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ยังมีความสามารถทางด้านศิลปะแขนงประติมากรรมและจิตรกรรมอีกด้วย
เมื่อปี 2466 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้ชนะการประกวดการออกแบบเหรียญเงินตราสยามที่จัดขึ้นในยุโรป ซึ่งผลการประกวดครั้งนี้เองที่ทำให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้เดินทางมารับราชการเป็นช่างปั้นประจำกรมศิลปากร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และในวันที่ 14 มกราคม 2466 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนวิชาช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภา
จนกระทั่งในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงปี 2484 ประเทศอิตาลียอมพ่ายแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ส่งผลให้ชาวอิตาเลียนที่อาศัยอยู่ภายในประเทศไทยตกเป็นเชลยของประเทศเยอรมนีกับญี่ปุ่น แต่รัฐบาลไทยได้ขอควบคุมตัวศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ไว้เอง ก่อนที่จะให้หลวงวิจิตรวาทการ ดำเนินการเดินเรื่องขอโอนสัญชาติจากอิตาเลียนมาเป็นสัญชาติไทย พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘นายศิลป์ พีระศรี’ เพื่อป้องกันมิให้ต้องถูกเกณฑ์เป็นเชลยศึกไปสร้างทางรถไฟสายมรณะ และสะพานข้ามแม่น้ำแคว เมืองกาญจนบุรี
สำหรับการวางรากฐานการศึกษา ในช่วงแรก ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้จัดตั้ง ‘โรงเรียนประณีตศิลปกรรม’ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง’ เมื่อปี 2480 ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้ได้มีการเปิดสอนหลักสูตรวิชาจิตรกรรมและประติมากรรม และในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้สั่งให้แยกกรมศิลปากรออกจากกระทรวงศึกษาธิการ และให้มาขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรีแทน เนื่องจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตระหนักถึงความสำคัญของศิลปะว่าเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งสาขาหนึ่งของชาติ จึงได้มีคำสั่งให้ พระยาอนุมานราชธน อธิบดีกรมศิลปากร ในขณะนั้น ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรและตราพระราชบัญญัติ เพื่อยกฐานะ ‘โรงเรียนศิลปากร’ ขึ้นเป็น ‘มหาวิทยาลัยศิลปากร’ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2486
โดยมหาวิทยาลัยศิลปากรในขณะนั้น มีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้อำนวยการสอนและดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรก และคณะวิชาเดียวที่มีการเปิดสอน คือ คณะจิตรกรรมประติมากรรม (สาขาจิตรกรรมและสาขาประติมากรรม)
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทยให้ออกแบบปั้นและควบคุมการหล่อพระราชานุสาวรีย์ และอนุสาวรีย์สำคัญของประเทศไทย อาทิ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ปี 2475), อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ปี 2477), พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า (ปี 2484) และพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช (ปี 2493-2494) เป็นต้น
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ยังมีประโยคที่มักใช้สอนนักเรียนอยู่เสมอว่า "ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น" เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักว่า ชีวิตของมนุษย์ช่างแสนสั้นนัก เมื่อเปรียบเทียบกับการยืนยงคงอยู่ของศิลปกรรมที่จะยืนยงคงอยู่ยาวนานนับร้อยนับพันปี หรือประโยคที่ว่า "นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร" เพื่อเตือนใจลูกศิษย์ให้หมั่นศึกษาหาความรู้ โดยเฉพาะความรู้ใหม่ ๆ
และเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลศิริราช สิริอายุได้ 69 ปี 7 เดือน 29 วัน