Tuesday, 14 January 2025
LITE

30 กันยายน พ.ศ. 2395 วันก่อตั้ง ‘กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย’ โรงเรียนประจำแห่งแรกของสยาม

วันนี้เมื่อ 172 ปีก่อน ถือเป็นวันก่อตั้ง ‘กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย’ โรงเรียนมิชชันนารีชาย ที่เป็นแบบเรียนประจำแห่งแรกของสยาม

ย้อนกลับไป เมื่อปี พ.ศ. 2380 คริสตจักรเพรสไบทีเรียนในอเมริกา ได้จัดตั้งคณะกรรมการแผนกต่างประเทศขึ้น คณะกรรมการใหม่นี้ได้จัดส่งมิชชันนารีมายังประเทศสยามตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2383 มิชชันนารีเพรสไบทีเรียนคนสำคัญ ได้แก่ ศาสนาจารย์สตีเฟน แมตตูน, ศาสนาจารย์ ดร.ซามูเอล อาร์. เฮาส์, ศาสนาจารย์ ดร.แดเนียล แมคกิลวารี, ศาสนาจารย์ เอส. จี. แมคฟาร์แลนด์ เป็นต้น ท่านเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งคริสตจักรเพรสไบทีเรียนแห่งแรกในสยามและสภาคริสตจักรในประเทศไทยในเวลาต่อมา

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2394 สถานการณ์ของมิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนในแดนสยามก็ดีขึ้นมาก พระองค์ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เช่าที่ดินระยะยาวที่กุฎีจีน ใกล้ ๆ บริเวณวัดอรุณราชวราราม โดยเริ่มแรกในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2395 นางแมรี่ แอล แมตตูน ได้เริ่มต้นสอนหนังสือแก่ เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง ในละแวกนั้น จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2395 มิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน โดยศาสนาจารย์ ดร.ซามูเอล เรโนลด์ เฮ้าส์ และศาสนาจารย์สตีเฟน แมตตูน ได้ก่อตั้งโรงเรียนที่ทำการสอนตามแบบสากล เพื่อให้เด็กสยามและเด็กเชื้อสายจีนมีโอกาสได้รับการศึกษาที่ทันสมัยตามแบบตะวันตก โดยตั้งชื่อโรงเรียนว่า ‘โรงเรียนคริสเตียนบอยส์สกูลที่กุฎีจีน’ (กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย) และมีซินแสกีเอ็ง ก๋วยเซียน เป็นครูใหญ่

คริสเตียนบอยส์สกูลที่กุฎีจีน (กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย) ถือเป็นโรงเรียนประจำแห่งแรกในสยามและยังเป็นโรงเรียนแรกที่มีการนำระบบการศึกษาสากลมาใช้อีกด้วย

‘คริสเตียนบอยส์สกูลที่กุฎีจีน’ ถือเป็นสถาบันการศึกษาแบบสากลแห่งแรกในสยาม มีอาคารและห้องเรียนเป็นหลักแหล่ง มีหลักสูตรการเรียนการสอนที่ชัดเจน ซึ่งนอกจากจะเรียนหัดอ่านหัดเขียนแล้ว ยังมีวิชาคณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ และการสอนทางศาสนา นอกจากนี้มิชชันนารียังได้ริเริ่มให้มีการตรวจสุขภาพเด็ก ๆ ก่อนเข้าเรียน นับว่าเป็นมาตรการทางสาธารณสุขที่ก้าวหน้ามากในสมัยนั้น

ปี พ.ศ. 2400 คณะมิชชันนารีเริ่มตั้งหลักปักฐานที่สำเหร่ ได้มีการสร้างพระวิหาร โรงเรียน โรงพิมพ์ บ้านพักมิชชันนารี โกดังเก็บของ ต่อมาได้ย้ายโรงเรียนจากกุฎีจีนมายังสำเหร่ใช้ชื่อว่า ‘สำเหร่บอยส์สกูล’ ที่โรงเรียนแห่งนี้มีขุนนางผู้ใหญ่จนถึงพระเจ้าแผ่นดินให้ความร่วมมือสนับสนุน ส่งเด็ก ๆ มาเล่าเรียนหนังสือ ซึ่งมีทั้งเจ้านาย 2 พระองค์ ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของรัชกาลที่ 4 และพระราชนัดดาของรัชกาลที่ 3 บุตรชายของอัครมหาเสนาบดี บุตรชายของพวกมหาดเล็กมาเรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียนที่สำเหร่ 

นอกจากนี้ชาวบ้านก็ส่งลูกหลานมาเรียน โดยพวกที่อยู่ไกลก็ได้เป็นนักเรียนประจำ กินนอนอยู่ที่โรงเรียน ส่วนใหญ่เด็กเหล่านี้จะตอบแทนโรงเรียนด้วยในการช่วยทำงานต่าง ๆ มากกว่าจะจ่ายเงินเป็นค่าเล่าเรียน ในปี พ.ศ. 2402 นายชื่นได้รับเชื่อเป็นคริสเตียนในคณะเพรสไบทีเรียนคนแรกและเป็นครูสอนภาษาไทยคนแรกของโรงเรียนที่สำเหร่ในเวลาต่อมา

ในขณะที่กิจการของโรงเรียนกำลังดำเนินไปดี โรงเรียนกลับต้องประสบกับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนครู อันเนื่องมาจากปัญหาความไม่คุ้นเคยกับสภาพอากาศเขตร้อนและมลพิษจากโรงสีในบริเวณนั้น ครูหลายคนล้มป่วยจนต้องเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอน คณะมิชชันนารีได้ขอความช่วยเหลือไปยังอาจารย์จอห์น แอนเดอร์สัน เอกิ้น ซึ่งเปิดโรงเรียน ‘บางกอกคริสเตียนไฮสกูล’ อยู่ที่กุฎีจีน (โรงเรียนแห่งนี้ตั้งขึ้นหลังจากโรงเรียน ‘คริสเตียนบอยส์สกูล’ ของศาสนาจารย์แมตตูนที่กุฎีจีน 36 ปี (ปี พ.ศ. 2431)) อาจารย์เอกิ้นจึงตัดสินใจย้ายโรงเรียนของตัวเองมารวมกันเมื่อปี พ.ศ. 2433 โดยมาสร้างตึกเรียนใหม่ให้ใหญ่โตกว้างขวางขึ้น เป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างเป็นปูน ชั้นบนเป็นไม้หลังคามุงกระเบื้องตั้งชื่อว่า ‘สำเหร่บอยส์คริสเตียนไฮสกูล’

แม้จะรวมโรงเรียนส่วนตัวที่กุฎีจีน ‘บางกอกคริสเตียนไฮสกูล’ และโรงเรียนของมิชชันที่สำเหร่ ‘สำเหร่บอยส์สกูล’ จนมีขนาดใหญ่โตโดยใช้ชื่อว่า ‘สำเหร่บอยส์คริสเตียนไฮสกูล’ ผู้บริหารวิสัยทัศน์ไกลเช่นอาจารย์จอห์น เอ. เอกิ้น ยังได้ตระหนักว่าโรงเรียนควรจะมีที่ตั้งบริเวณฝั่งพระนครเพื่อความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น ท่านจึงหารือกับอาจารย์เจ. บี. ดันแลป ในการหาซื้อที่ดินใหม่ 

ต่อมาคณะมิชชันนารีได้ตกลงซื้อที่ดินของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีที่ถนนประมวญ ย่านสีลม โดยใช้เงินที่ได้รับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา ในปี พ.ศ.2445 โรงเรียนชายในระบบสากลโรงเรียนแรกในสยามก็ถือกำเนิดขึ้น โดยเปลี่ยนชื่อเป็น ‘กรุงเทพคริสเตียนไฮสกูล’ นอกจากโรงเรียนแห่งใหม่บนถนนประมวญจะดำเนินการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างจริงจังแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการอบรมเชิงจริยธรรมและความมีระเบียบวินัย มาตรฐานการศึกษาที่สูงทำให้โรงเรียนได้รับการยกระดับขึ้นเป็นวิทยาลัยในปีพ.ศ. 2456 และเปลี่ยนชื่อเป็น ‘โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย’

'ลิซ่า' เข้าชิงรางวัล ‘ผู้ทรงอิทธิพลแห่งปี 2024’ คะแนนสูสีตัวแม่ 'เทย์เลอร์ สวิฟต์' ปิดโหวต 30 ก.ย.นี้

(29 ก.ย. 67) เรียกเสียงฮือฮาทั่วโลก หลัง 'Influencer Magazine UK' นิตยสารสัญชาติอังกฤษ เปิดเผยผู้เข้าชิงรางวัล IMA 2024 สาขา 'ผู้ทรงอิทธิพลแห่งปี 2024' (Influencer of the Year) ซึ่งรวบรวมผู้ทรงอิทธิพลทั่วทุกมุมโลก ที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดในรอบปี

ทั้งนี้พบว่า 'ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล' หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลสาวสายเลือดไทย ผู้ที่เคยได้รับตำแหน่ง Beauty Mogul of the Year หรือ ผู้ที่งดงามทรงอิทธิพลที่สุดแห่งปี 2023 มีรายชื่อติดอันดับผู้ทรงอิทธิพลในปีนี้ด้วย...

ตามมาด้วยติด ๆ ด้วยเหล่าตัวแม่ ตัวพ่อ อย่าง เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift), จิมมี โดนัลด์สัน (MrBeast), ไคลีย์ เจนเนอร์ (Kylie Jenner), เซลีนา โกเมซ (Selena Gomez) และ บิลลี่ ไอลิช (Billie Eilish Among)

อย่างไรก็ดี การคัดเลือกในครั้งนี้ มีการเปิดให้โหวต ทั้งจากประชาชนทั่วไป หรือผู้เชี่ยวชาญในวงการ

โดยมีการเปิดโหวตให้แฟน ๆ ร่วมตัดสินผ่านเว็บไซต์ ได้ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 เวลา 23.59 น. นี้

สำหรับกติกา วิธีการโหวตดังนี้
1. กรอกชื่อ-สกุล
2. กรอกอีเมล โดย 1 อีเมล โหวตได้ 1 ครั้งต่อวัน
3.ประเทศที่อยู่ ผ่านเว็บไซต์ https://influencermagazine.uk/influencer-of-the-year-ima-2024/
4.กดโหวต ด้วยการคลิกภาพศิลปินที่ชื่นชอบ

29 กันยายน พ.ศ. 2566 ‘กองทัพเรือไทย’ ต้อนรับ ‘ทัพเรือแคนาดา’ เยือนประเทศไทย เสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 66 ฐานทัพเรือสัตหีบ ให้การต้อนรับ เรือ HMCS OTTAWA เนื่องในโอกาสเดินทางมาเข้าจอดตามกิจวัตรปกติ ระหว่างวันที่ 29 กันยายน 2566 - 6 ตุลาคม 2566 ณ ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี 

สำหรับ เรือหลวงของประเทศแคนาดา ที่ชื่อว่า ‘ออตตาวา’ (Ottawa) เป็นหนึ่งในเรือฟริเกต ชั้นฮาลิแฟ็กซ์ ของกองทัพเรือแคนาดา ซึ่งมีทั้งหมด 12 ลำ จะจอดเทียบท่าที่ประเทศไทย อันเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่มีอย่างต่อเนื่อง 

โดยเรือหลวงออตตาวา มาพร้อมกับเฮลิคอปเตอร์ ประจำการบนเรือ รุ่นไซโคลน ซีเอช-148 (CH-148 Cyclone) ที่พร้อมปฏิบัติการ อีกทั้งยังมีทหารเรือ ทหารบก และนักบิน ซึ่งล้วนได้รับการฝึกฝนขั้นสูงและมีความเป็นมืออาชีพ ประจำเรือ รวม 250 นาย พร้อมทั้งมีการติดตั้งระบบอาวุธและเซนเซอร์สำหรับการปราบเรือดำน้ำ การรบผิวน้ำด้วย

'แพท-ณปภา ตันตระกูล' ประกาศกลางรายการ 'แชร์ข่าว สาวสตรอง' เมื่อวันที่ 27 ก.ย.67

กลายเป็นไวรัลในโซเชียลประจำสัปดาห์นี้ กับประโยคที่ว่า… “ถ้าทำผิด ให้จับส่งตำรวจ อย่าพาไปหา หนุ่ม กรรชัย ไม่ไปออกรายการโหนกระแส”

ล่าสุด สาวสุดสตรองอย่าง 'แพท ณปภา ตันตระกูล' ก็เอาด้วย ประกาศกลางรายการแชร์ข่าวสาวสตรอง… "ถ้าวันนึงแพททำอะไรผิดนะ ถ้าวันนึงแพทมีเรื่องอะไร หรือทำอะไรผิดแจ้งตำรวจจับ จับกูไปเลย อย่าเอาไปหาพี่หนุ่ม อย่าเอาไปโหนกระแส อย่าเอาไปหาพี่หนุ่ม ถ้าแพททำผิดเรียกตำรวจเอากุญแจมือใส่เลย พาไปเข้าคุกแต่อย่าเอาไปหาพี่หนุ่ม อย่าเอายัยแพทไปออกโหนกระแส พาไปหาตำรวจ ล็อกกุญแจ พาไปลงบันทึกประจำวันเลย"

ทำเอา 'ปิงปอง ธงชัย ทองกันธม' อีกหนึ่งพิธีกรรายการเสริมว่า… “ถ้ารู้ว่าผิดไปหาตำรวจ ถ้าไปพี่หนุ่มนะ โดนขุดหมดรูปก่อนทำศัลยกรรม เคยไปทำอะไร เละ”

ด้านพี่ใหญ่อย่าง 'แอฟ ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ' ก็เสริมว่า… “จะโดนพิพากษาหนักกว่าเดิม” ทำเอา ปิงปอง โอดครวญว่า ”ถึงจะหายจากการทำความผิดมาแล้ว ที่โดนขุดไม่คุ้มกันเลย“ แพท ก็อธิบายต่อว่า "พี่หนุ่มอยากทำให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจ" ก่อนจะเข้าข่าวเรื่องทอง ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนของสังคม ณ ตอนนี้

28 กันยายน พ.ศ. 2460 ครบรอบ 107 ปี ในหลวง ร.6 ทรงพระราชทานธงไตรรงค์เป็น ‘ธงชาติไทย’ สะท้อนถึงความเป็นเอกราช ไม่ตกเป็นเมืองขึ้น อาณานิคมของชาติใด

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงพระราชทานธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2460 โดยให้ตราพระราชบัญญัติธงขึ้นใหม่ เนื่องจากในสมัยนั้นไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 กับประเทศสัมพันธมิตร ซึ่งส่วนใหญ่ธงจะมีสามสี ธงชาติไทยในสมัยนั้นจึงเป็นรูปสี่เหลี่ยมรี ขนาดกว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน มีแถบสีน้ำเงินแก่กว้าง 1 ส่วน ซึ่งแบ่ง 3 ของขนาดกว้างแห่งธงอยู่กลาง มีแถบขาวกว้าง 1 ส่วน ซึ่งแบ่ง 6 ของขนาดความกว้างแห่งธงข้างละแถบ แล้วมีแถบสีแดงกว้างเท่าแถบขาวประกอบชั้นนอกอีกข้างละแถบ และเรียกธงนี้ว่า ‘ธงไตรรงค์’ 

ทั้งนี้ ทรงกำหนดความหมายของสีธงชาติไว้ว่า สีแดง หมายถึง ชาติ คือประชาชน สีขาว หมายถึง ศาสนา และสีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์ ซึ่งธงไตรรงค์ หรือธงชาติไทย ถือเป็นสัญลักษณ์อันสูงสุดของชาติเป็นสิ่งเตือนใจให้อนุชนได้รำลึกถึงการเสียสละเลือดเนื้อของบรรพบุรุษเพื่อรักษาไว้ซึ่งแผ่นดิน และร้อยดวงใจคนทั้งชาติให้เป็นหนึ่ง หล่อหลอมความรักสามัคคี สร้างเสริมความภูมิใจในความเป็นชาติ ก่อเกิดเป็นพลังยิ่งใหญ่ในการพัฒนาชาติไทยให้วัฒนาสถาพร

จากนั้นคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2557 ได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 28 กันยายน ของทุกปีเป็นวันพระราชทานธงชาติไทย (Thai National Flag Day) และเริ่มในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นวันแรก โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ รวมทั้งกำหนดให้มีการชักและประดับธงชาติไทยในวันดังกล่าว เพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจของคนในชาติและเป็นการน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานธงไตรรงค์ เป็น ‘ธงชาติไทย’ และถือเป็นประเทศที่ 54 ของโลก ที่มีวันธงชาติอีกด้วย

27 กันยายน พ.ศ. 2448 ‘อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์’ นักวิทยาศาสตร์เอกของโลก เสนอสมการก้องโลก ‘E=mc2’ เป็นครั้งแรก

27 กันยายน ค.ศ. 1905 (พ.ศ. 2448) อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) นักวิทยาศาสตร์เอกของโลก เผยแพร่บทความเรื่อง ‘Does the Inertia of a Body Depend Upon Its Energy Content ?’ (จริงหรือไม่ที่ความเฉื่อยขึ้นอยู่กับพลังงานภายในของวัตถุ) เป็นครั้งแรก ซึ่งได้นำเสนอสมการก้องโลก E=mc2 สมการนี้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างมวลและพลังงาน อธิบายได้ว่า เมื่อให้พลังงานกับมวลเพื่อให้มีความเร็วเพิ่มขึ้น มวลนั้นก็จะมีค่าเพิ่มขึ้นด้วย จากทฤษฎีนี้ทำให้นำสู่ผลที่ว่าไม่มีอะไรเคลื่อนที่ได้เร็วกว่าแสง หลักการนี้จึงเป็นหลักการเบื้องต้นของ ‘ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป’ (theory of relativity) 

แม้ว่าไอน์สไตน์จะใช้เวลาเพียงแค่ 4 เดือน ในการสร้างผลงานปฏิวัติโลกด้วยผลงานเด่น ๆ 3 ผลงานในปีนี้ คือ ‘ปรากฏการณ์โฟโตอิเลกตริก’ (Photoelectric Effect) / ‘การเคลื่อนที่แบบบราวเนียน’ (Brownian Motion) และ ‘ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ’ (special relativity) แต่โลกต้องใช้เวลาอีกหลายทศวรรษเพื่อทำความเข้าใจและเห็นคุณค่าในผลงานเหล่านี้ 

ต่อมาได้มีการประกาศให้ปี 2448 เป็นปีมหัศจรรย์ของไอน์สไตน์และในปี 2548 วงการวิทยาศาสตร์โลกได้ประกาศให้เป็น ‘ปีฟิสิกส์โลก’ (World Year of Physics 2005) และมีการจัดงานฉลองครบรอบ 1 ศตวรรษปีมหัศจรรย์ไอน์สไตน์

'ผู้จัดแอน' แจง!! 'โลกหมุนรอบเธอ' โดนถล่มบทป่วย เพราะตั้งใจให้ตัวละครเป็นสีเทา หวัง!! สะท้อนการเติบโต-เรียนรู้ของคนในแต่ละช่วงวัย ที่มักเปลี่ยนไปตามเวลา

(26 ก.ย. 67) หลังจากที่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก สำหรับละครช่องดัง 'โลกหมุนรอบเธอ' ของผู้จัดคนดัง 'แอน ทองประสม' ซึ่งเป็นละครแนว Coming of age การเรียนรู้ชีวิตและก้าวผ่านวัย บนเส้นทางความรัก มิตรภาพ และการเติบโต โดยฉากที่ดรามาหนักใน EP.18 เป็นฉากที่นางเอก 'ตะวัน' รับบทโดย 'โบว์ เมลดา' ที่มีสามีแล้ว เป็นชู้กับพระเอก 'มานะ' รับบทโดย 'เจมส์ จิรายุ' ซึ่งชาวโซเชียลระบุถึงความไม่สมเหตุสมผล อีกทั้งตัวพระ-นางยังทำผิดศีลธรรมรวมไปถึงวิจารณ์ถึงความไม่สมเหตุสมผลของบทละครหลาย ๆ จุด

ซึ่งทางด้านผู้จัดละครอย่าง 'แอน ทองประสม' ได้ออกมาเปิดเผยครั้งแรกในงานแถลงข่าวละครเรื่องใหม่ 'หนึ่งในร้อย' ว่าในฐานะผู้จัดก็มีภาวะเสี่ยงต่าง ๆ จัดการยังไง ก็อย่างที่บอกว่าบางทีเราคาดการณ์ก่อนด้วยว่า เราตั้งใจอยากไปเวย์นี้ ถ้าไปอย่างนี้คนดูน่าจะรับได้ น่าจะเข้าใจ เราก็ต้องคิดในเวย์นี้ก่อน แต่พอทำออกมามันจะมีก้อนบางก้อนที่รับได้มาก ๆ บางจุดรับไม่ได้ มันก็เป็นการเรียนรู้ ถ้าคุยกันด้วยเหตุผลก็จับความคิดเขามาและได้เรียนรู้ว่าต่อไปทำชิ้นงานอะไรจะได้ปรับ แต่ถ้าอันไหนดีอยู่แล้ว แสดงว่าการตัดสินใจของเราเฉียบคมแล้ว แอนก็เอามาประเมินตัวเองไปเรื่อย ๆ เพราะแอนไม่ได้ทำละครให้ตัวเองดูคนเดียว เราก็ต้องฟังความคิดเห็นที่มีเหตุผล แอนก็เอามาใช้ปรับตัวเองไปค่ะ

>>แสดงว่าเราก็ยอมรับทุกคอมเมนต์ที่แนะนำ?

คือจะมีคอมเมนต์ที่เขาให้มุมมองที่ชอบเพราะอะไร อันนี้ก็เป็นคอมเมนต์บวก เราก็เก็บไว้ เราถือว่าอันนี้เราได้แล้ว แต่ถ้าคอมเมนต์ไม่ชอบเลยเพราะเหตุนี้ ๆ เราเข้าใจว่าเขาสงสัยอะไร แต่ถ้าคอมเมนต์ลักษณะโจมตี เกลียดชัง อันนี้แอนจะถือว่าเราไม่สามารถไปควบคุมตรงนั้นได้ ก็ต้องละไว้ ถามว่ามีมั้ยที่รู้สึกว่าทำไม ก็ต้องมีบ้าง คนเรามี on off อยู่แล้ว บางทีเราเหมือนว่าเราโดนผลักออกไปแล้วมีเซ แล้วเราก็ต้องกลับมายืนให้ได้ ชีวิตต้องไปต่อ

>>พอเป็นแอน ทองประสม คนก็คาดหวังมาก?

แอนว่าเขาคาดหวังกับทุกคนนะคะ แต่ของแอนอาจจะโดนเล่นข่าวเยอะหน่อย ก็ไม่แปลก เพราะแอนเป็นนักแสดงด้วย แอนเข้าใจบริบทตรงนี้มาก ๆ

>>ที่ผ่านมาโดนวิพากษ์วิจารณ์เยอะเรื่องบทละคร ‘โลกหมุนรอบเธอ’?

อ๋อ ใช่ จริง ๆ โลกหมุนรอบเธอคือด้วยความตั้งใจโจทย์แรกของทางทีมเราคือเราต้องการนำเสนอตัวละครที่เป็นสีเทา ตัวละครที่มีการเติบโต เรียนรู้ในแต่ละช่วงวัย เช่น เราเป็นเด็ก เราคิดได้เท่านี้ พออีกช่วงวัยหนึ่งเราเติบโต เราเรียนรู้ไปอีกแบบนึง การคิดในแบบวันนั้นมันไม่ใช่แล้ว มันส่งผลลัพธ์อะไรในตอนที่เราโตขึ้น ตัวละครมีความหมุนเวียนเป็นมนุษย์ปกติ แต่พอออกมาบางทีบางการตัดสินใจของตัวละครคนก็จะคิดว่าไม่อยากให้ตัดสินใจแบบนี้ ก็จะไม่ถูกใจเขา เราก็เข้าใจตรงนี้ได้ ถ้าเขาถามและเปิดโอกาสให้เราอธิบาย เราก็จะอธิบายไปว่าเพราะอะไรเขาถึงทำแบบนี้

>>เราคาดการณ์ไหมว่ากระแสสังคมจะตีกลับมาแบบนี้?

แอนคิดว่าเขาคงมีถาม แต่เราไม่ได้คิดถึงความรุนแรงว่าเป็นเบอร์ไหน เราไม่ได้คิดว่าความรุนแรงเบอร์ 10 เรารู้แล้วว่าอาจจะต้องมีสงสัย มีคำถามแน่นอน (พี่แอนบอกแต่วันแรกแล้วว่าตัวละครเป็นสีเทา?) ใช่ค่ะ แต่อย่างที่บอกว่าบางคนอาจจะบอกว่าไม่อยากเห็นคนนี้ตัดสินใจแบบนี้ เข้าใจสุดๆ เลย เพราะว่าเราก็รู้ว่าเขารักของเขา

>>หลายคนบอกว่าอยากให้พระเอกนางเอกเป็นสีขาว ทำถูกต้อง?

ก็ถ้าเราจะทำละครเรื่องต่อไป แอนก็ต้องหาละครที่เป็นเฉดนี้ที่เป็นไปในทางนั้นเลย ก็จะชัดเจนไปเลย ไม่ต้องนำเสนอแบบเทาแค่นั้นเองค่ะ เพราะว่าอันนี้ทำแล้ว มันไปแบบของมันแล้ว ให้มันไปจนจบตรงนั้นไป

>>อยากบอกอะไรกับคนดู ?

อย่างที่บอกว่าแอนเข้าใจและเคารพทุกความคิดเห็นที่เขามีเจตนาที่ดีในการจะฟีดแบ็ก แอนก็จะได้เรียนรู้และจดจำว่าทิศทางแบบนี้เขาอาจจะไม่ค่อยปลื้ม เราในฐานะคนทำก็ต้องการคนดูอยู่แล้ว เราก็ก็จะเอาไว้ปรับตัวเองว่าต่อไปเรานำเสนอก็เลือกเวย์นี้ อาจจะเซฟกว่า วันนึงเราอยากจะทำละครที่เป็นมุมที่ไม่เซฟอีก เราก็ทำการบ้านอีกรูปแบบหนึ่ง ณ เวลานั้นเดี๋ยวมันจะบอกเราเองว่าเราต้องเตรียมตัวยังไง แต่ว่าเราต้องให้เกียรติ ให้พื้นที่กับคนที่เขาชอบด้วย อันนี้เราก็ต้องขอบคุณที่หลายคนยังเข้าใจทิศทาง แต่สำหรับคนที่มีคำถาม แอนก็ได้แต่ค่อย ๆ ย่อยสิ่งที่เขาฟีดแบ็กมาแล้วจดจำไว้ อันไหนปรับได้เราปรับ อันไหนที่เรารู้สึกว่าเป็นกำลังใจแล้วไปต่อแอนก็ไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทีมงานทุกคนตั้งใจทำงานกันร้อยเปอร์เซ็นต์ นักแสดงทุกคนใช้หัวใจเล่นอย่างเต็มที่

26 กันยายน พ.ศ. 2430 ‘ไทย-ญี่ปุ่น’ ลงนามปฏิญญาทางพระราชไมตรี จุดเริ่มความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ

ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับไทย มีประวัติยาวนานหลายร้อยปี แต่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการโดยการลงนามในปฏิญญาทางไมตรี และการพาณิชย์ เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2430

จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์อันดีในครั้งนั้น ได้ทำให้ไทยและญี่ปุ่น มีระดับความใกล้ชิดที่ราบรื่น จนเกิดความร่วมมือของทั้งสองประเทศครอบคลุมทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศ และไทยเองก็ได้มุ่งกระชับความสัมพันธ์ และความร่วมมือกับญี่ปุ่นให้พัฒนาไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ (strategic and economic partnership)

โดยมีการเยือนสำคัญในระดับพระราชวงศ์ ที่สำคัญ คือในช่วงต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ เพื่อทรงเจริญสัมพันธไมตรี พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และหนึ่งในประเทศที่พระองค์เลือกเสด็จพระราชดำเนินเยือน คือ ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2506

ในครั้งนั้น พระองค์ทรงเสด็จเยือนกรุงโตเกียว เมืองนาโงยา จังหวัดเกียวโต และนารา และฝ่ายญี่ปุ่นได้ถวายการต้อนรับ ด้วยการนำเสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงงานผลิตกล้องถ่ายรูป และวิทยุ เพื่อทอดพระเนตรเทคโนโลยีการผลิตของญี่ปุ่น ซึ่งชี้ให้เห็นว่าฝ่ายญี่ปุ่นทราบถึงความสนพระราชหฤทัยของพระองค์เป็นอย่างดี

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนญี่ปุ่นในครั้งนั้น เป็นจุดเริ่มต้นแห่งพระราชไมตรีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ซึ่งในขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมารอะกิฮิโตะ

โดยการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยของสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ เพื่อทรงตอบแทนพระราชไมตรี มกุฎราชกุมารอะกิฮิโตะ พร้อมด้วยเจ้าหญิงมิชิโกะ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2507 ซึ่งในครั้งนั้นมีเหตุการณ์อันเป็นที่ระลึกแห่งพระราชไมตรี และพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และนับเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

ขณะที่ความสัมพันธ์ระดับประชาชนของทั้งสองประเทศก็มีความใกล้ชิดแนบแน่น โดยปัจจุบัน มีชาวไทยที่พำนักอยู่ในญี่ปุ่นในปี 2019 ประมาณ 86,666 คน ในขณะที่มีชาวญี่ปุ่นที่พำนักอยู่ในประเทศไทยในปี 2021 จำนวน 82,574 คน 

25 กันยายน พ.ศ. 2541 วันสถาปนา ‘มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง’ รำลึกถึง ‘สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี’

‘มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง’ เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐบาลตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงราย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2541 ภายหลังการเรียกร้องของชาวจังหวัดเชียงรายที่ต้องการมีมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น และเพื่อเป็นการระลึกถึงสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงใช้พระราชสมัญญา ‘แม่ฟ้าหลวง’ เป็นชื่อมหาวิทยาลัย

หลังจากที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสู่สวรรคาลัย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ประชาชนชาวเชียงรายร่วมกับหน่วยราชการในจังหวัดเชียงรายเห็นพ้องต้องกันว่า โดยที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ไพศาลต่ออาณาประชาราษฎร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนชาวเชียงรายที่ได้ทรงเลือกจังหวัดเชียงรายเป็นสถานที่สร้างพระตำหนัก หรือบ้านหลังแรกของพระองค์ และทรงริเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุง ซึ่งได้นำความเจริญรุ่งเรือง มายังจังหวัดและประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง

ฉะนั้น เพื่อแสดงความจงรักภักดีตลอดจนเพื่อสนองพระราชปณิธานของพระองค์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาคน จึงได้เสนอให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในจังหวัดเชียงรายต่อรัฐบาลที่มีนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรีการดำเนินการเพื่อการจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่จังหวัดเชียงราย ได้มีความคืบหน้าเป็นลำดับ รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ได้มีมติเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2539 ให้จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาที่จังหวัดเชียงราย โดยอาจยกฐานะสถาบันราชภัฏเชียงรายขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยก็ได้

ต่อมารัฐบาลพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ได้มีมติใหม่ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 ให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ในจังหวัดเชียงราย และได้มีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขึ้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2541 ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับงบประมาณในการดำเนินการเพื่อการเตรียมการจัดตั้ง ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2541 และงบประมาณในการดำเนินการก่อสร้างมหาวิทยาลัยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2542 เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 2,325 ล้านบาท การก่อสร้างตามโครงการระยะแรกเสร็จสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 ใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 5 ปี บนพื้นที่ 4,997 ไร่ ณ บริเวณดอยแง่ม อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

‘ลิซ่า’ ประกาศจัดเอเชียทัวร์แฟนมีตติ้งครั้งแรก ปักหมุด ‘ประเทศไทย’ บ้านเกิด 13 พ.ย.นี้

(24 ก.ย. 67) ฮือฮาสนั่นโซเชียล ที่แทบจะบอกได้เลยว่าเซอร์ไพรส์สุด ๆ สำหรับการประกาศตารางทัวร์ แฟนมีตติ้งทั่วเอเชียครั้งแรกของศิลปินสาวระดับโลกสายเลือดไทยอย่าง ‘ลิซ่า ลลิษา มโนบาล’ หรือ ‘ลิซ่า BLACKPINK’ ซีอีโอสาวมากความสามารถของ LLOUD

สำหรับงานแฟนมีตติ้ง ‘LISA Fan Meetup in Asia 2024’ ถือว่าเป็นการจัดแฟนมีตติ้งเดี่ยวครั้งแรก ในการเป็นศิลปินเดี่ยวจากค่าย LLOUD ของเธอ โดยในโซเชียลมีเดียของ ‘LLOUD Co.’ ได้โพสต์ภาพ รวมถึงกำหนดการที่จัดงานมีตติ้งครั้งนี้ ที่จะเกิดขึ้น ใน 5 ประเทศด้วยกัน และปักหมุดที่ประเทศไทยบ้านเกิด ในวันที่ 13 พ.ย. 2567

เอเชียทัวร์ของเธอเริ่มที่สิงคโปร์ ในวันที่ 11 พ.ย. 2567 ต่อด้วยที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย 13 พ.ย. 2567 จากนั้นเป็นกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย วันที่ 15 พ.ย. 2567 ต่อที่เมืองเกาสง ไต้หวัน วันที่ 17 พ.ย. 2567 และปิดท้ายที่ฮ่องกงในวันที่ 19 พ.ย. 2567 นั่นเอง

24 กันยายน วันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันไทย

‘วันมหิดล’ ตรงกับวันที่ 24 กันยายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระผู้ได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยจากแพทย์และประชาชนทั่วไปว่า ‘พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย’ คณะแพทยศาสตร์สิริราชพยาบาล ได้ขนานนามวันอันเป็นที่ระลึกสำคัญนี้ว่า ‘วันมหิดล’ เพื่อเป็นการถวายสักการะ

‘สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก’ ทรงพระราชสมภพวันที่ 1 มกราคม (ตามปฏิทินเก่าคือ ปี พ.ศ. 2434 แต่ตามปฏิทินใหม่คือ ปี พ.ศ. 2435) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพระเชษฐา และพระเชษฐภคินีที่ประสูติร่วมพระราชมารดา 7 พระองค์

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8) และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) และเป็นพระอัยกาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (รัชกาลที่ 10)

พระองค์มีคุณูปการแก่กิจการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของประเทศไทย ประชาชนโดยทั่วไปคุ้นเคยกับพระนามว่า ‘กรมหลวงสงขลานครินทร์’ หรือ ‘พระราชบิดา’ และบางครั้งก็ปรากฏพระนามว่า ‘เจ้าฟ้าทหารเรือ’ และ ‘พระประทีปแห่งการอนุรักษ์สัตว์น้ำของไทย’ ส่วนชาวต่างประเทศเรียกพระนามว่า ‘เจ้าฟ้ามหิดล’

หลังพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระองค์ทรงพระประชวร ต้องประทับในพระตำหนักวังสระปทุม และสวรรคตเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 เวลา 16.45 น. เมื่อพระชนมายุ 37 พรรษา 8 เดือน 23 วัน

ด้วยความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ผู้ที่เคยได้รับพระกรุณาในด้านต่าง ๆ จากพระองค์ จึงได้รวบรวมเงินจัดสร้างพระรูปประดิษฐานไว้ ณ โรงพยาบาลศิริราช โดยมอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการสร้าง มี ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ควบคุม

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงกระทำพิธีเปิด เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2493 และ ในวันที่ 24 กันยายนปีเดียวกัน นักศึกษาแพทย์ได้ริเริ่มจัดงานขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ โดยมีพิธีวางพวงมาลา ถวายบังคมพระรูป อ่านคำสดุดีพระเกียรติ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์

ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประกาศให้วัน ที่ 24 กันยายน ของทุกปีเป็น ‘วันมหิดล’ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 เป็นต้นมา เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในฐานะพระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย

‘พิมพ์มาดา’ ร่วมไว้อาลัย ‘อ๋อม อรรคพันธ์’ หลังจากไปด้วยโรคมะเร็ง พร้อมแชร์ความน่ากลัวของมะเร็ง แนะทุกคนใส่ใจ-ตรวจสุขภาพ

(23 ก.ย. 67) หลังจากที่โรคมะเร็งร้ายได้คร่าชีวิตพระเอกชื่อดัง 'อ๋อม อรรคพันธ์ นะมาตร์' จากไปอย่างไม่มีวันกลับในวัยเพียง 39 ปี สร้างความตกใจให้กับเพื่อน ๆ ในวงการบันเทิง รวมไปถึงเหล่าแฟนละครของพระเอกชื่อดัง 

ด้าน 'พิมพ์' พิมพ์มาดา บริรักษ์ศุภกร หรือ พิมพ์  ZAZA นักร้อง-นักแสดงชื่อดังที่เคยป่วยโรคมะเร็ง ได้ออกมาโพสต์อินสตาแกรมส่วนตัว @pimmada พร้อมระบุข้อความว่า… 

"ไม่มีโอกาสได้รู้จักคุณอ๋อมส่วนตัว แต่พิมพ์ก็เป็นคนนึงที่เคยสัมผัสกับโรคนี้ มันน่ากลัวค่ะ มันพรากคนที่เรารักไปนักต่อนัก พิมพ์ยังคงเป็นผู้โชคดี แต่ก็ไม่มีอะไรการันตีว่ามันจะไม่เกิดขึ้นอีก ยังคงขอเป็นกระบอกเสียงให้ทุกคนใส่ใจสุขภาพ อย่าละเลยนะคะ ไปตรวจสุขภาพกันค่ะ ขอส่งคุณอ๋อมไปพักผ่อนในที่ที่สบายที่สุด เสียใจกับครอบครัวด้วยนะคะ"

เปิดเลนส์ 'Alex and Coni' ยูทูบเบอร์สายท่องเที่ยวต่างชาติ 'ประเทศไทย' ดินแดนแห่งความฝันที่ทำให้พวกเขาหลงเสน่ห์

(23 ก.ย. 67) ไม่นานมานี้ จากช่องยูทูบ 'Alex and Coni' (Alex ชาวเยอรมนี และ Coni ชาวอาร์เจนตินา) คู่รักผู้ชื่นชอบและหลงเสน่ห์ความเป็นไทย ได้นำเสนอคลิปสารคดีเกี่ยวกับเมืองไทย ที่ถ่ายทอดออกมาในแบบที่คนไทยเองได้เห็นแล้วยังต้องทึ่งกับมุมมองของไทยที่แสนงดงาม ทั้งสถานที่ วัฒนธรรม ผู้คน

ทั้งนี้ หากสังเกตให้ดี นับวันประเทศไทย และการท่องเที่ยวไทย จะยิ่งครองใจชาวต่างชาติที่มีโอกาสได้พลัดหลงเข้ามาต้องมนต์เสน่ห์แห่งดินแดนสยาม ดูได้จากชาวต่างชาติจำนวนมาก เริ่มทำคลิปท่องเที่ยวไทย ซึ่งเปรียบเสมือนการโปรโมตไทยจากใจคนที่ได้สัมผัสจริง ๆ มากขึ้น เช่นเดียวกันกับ ช่องยูทูบ Alex and Coni (Alex ชาวเยอรมนี และ Coni ชาวอาร์เจนตินา) 

สำหรับ Alex and Coni ทั้งสองมองว่า เมืองไทยเปรียบเสมือนดินแดนแห่งความฝันที่ต้องจดจำ ที่อยากค้นหา หลังจากได้มีโอกาสสัมผัสเมืองไทยในมิติที่ลึกขึ้น

ทั้งนี้ โดยพื้นฐาน Alex and Coni นั้นเป็นผู้ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวในเชิงของคุณค่า ที่แฝงไปด้วยเรื่องราวทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย และถ่ายทอดออกมาผ่านคลิป ด้วยมุมมองต่าง ๆ ดังนี้...

พวกเขามักจะออกสำรวจเมืองผ่านที่มีชีวิตชีวา: หาดทรายที่เงียบสงบ และสิ่งมหัศจรรย์โบราณด้วยภาพโดรนในโรงภาพยนตร์และการตัดต่ออย่างมืออาชีพ 

พวกเขามักถ่ายทอดความรู้เชิงวัฒนธรรม: เจาะลึกประวัติศาสตร์, ประเพณี, และประสบการณ์ในท้อง ถิ่นซึ่งทำให้จุดหมายปลายทางแต่ละแห่งไม่ซ้ำกัน

พวกเขามักถ่ายทอดจากประสบการณ์จริง: โดยติดต่อกับคนท้องถิ่น และเปิดฉากการผจญภัยที่น่าตื่นตาตื่นใจด้วยตัวเองเสมอ

และพวกเขามักถ่ายทอดเนื้อหาเกี่ยวกับการศึกษาและแรงบันดาลใจ: เรียนรู้เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวและได้รับแรงบันดาลใจในการสำรวจโลกผ่านเรื่องราวที่ให้ความรู้และน่าสนใจออกมาเป็นเนื้อหาภาพสวยงาม

นี่คือความน่าสนใจหลังจากคลิปที่ทั้งคู่ได้เริ่มปรากฏสู่สายตาคนไทย เพราะนี่ไม่ใช่แค่การรีวิวไทยแบบผ่านๆ แต่เป็นการนำเสนอประเทศไทยแบบตั้งใจในมิติต่าง ๆ แบบที่คนไทยจำนวนมากยังไม่เคยไปสัมผัสเลยด้วยซ้ำ ตั้งแต่ที่เริ่มอัปเดตคลิปลง YouTube / TikTok และ Instagram ตั้งแต่ 20 มี.ค.2023

ล่าสุดคลิปวิดีโอในชื่อ 'ประเทศไทย | ดินแดนแห่งความฝันที่ถูกลืม' (https://youtu.be/Upn-O-M5Mic?si=u_ZG4yf84UIgYdDm) ซึ่งนำเสนอออกมาเหมือนงานสารคดีชั้นยอดนั้น ก็เหมือนกระจกสะท้อนเมืองไทยในทุกมิติไปสู่สายตาชาวโลก

ตั้งแต่เหนือที่เต็มไปด้วยความวิจิตรแห่งวัดดังภายใต้สถาปัตยกรรมที่อ่อนช้อย งดงาม พร้อมเรื่องราวแห่งที่มาที่ไปอันน่าจดจำ พาดผ่านไปยังภาคใต้ของไทย ที่อุดมไปด้วย ทะเล หาดทราย แสงอาทิตย์ ที่สร้างคลื่นขนาดใหญ่กลืนหัวใจทุกนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีโอกาสได้ทอดกายลงทุกแนบทุกหยดทะเลไทยในแดนใต้

นอกจากนี้ ‘รอยยิ้มแห่งสยาม’ ยังเป็นความงดงามที่ Alex and Coni ได้สัมผัสผ่านน้ำใจคนไทย ที่แทบจะกล้าพูดว่า ชาติใดในโลกก็ยังยากจะเทียบได้ในส่วนนี้

แน่นอนว่า วัฒนธรรมไทย อาหารไทย ความทันสมัยแบบร่วมสมัยของแต่ละจังหวัด และความปลอดภัยในสยามประเทศ ก็เป็นอีกจุดเด่นสำคัญที่ทำให้พวกเขาทั้งสอง ยังคงท่องเที่ยวอยู่ในบ้านเราอย่างต่อเนื่อง

เห็นต่างชาติชื่นชมบ้านเราขนาดนี้ คนไทยก็ขอขอบคุณและเป็นกำลังใจให้ผลงานดี ๆ นี้ มีผู้ติดตามมากขึ้น ๆ

อย่าพลาดวิดีโอใหม่ ๆ ของพวกเขา 'Alex and Coni' ได้ที่ Instagram และ TikTok @alexandconi / YouTube www.youtube.com/@alexandconi

23 กันยายน ของทุกปี ‘วันภาษามือโลก’ (International Day of Sign Languages) ตระหนักถึงความสำคัญของภาษามือ-สิทธิผู้พิการทางการได้ยิน

23 กันยายน ของทุกปี กำหนดให้เป็น ‘วันภาษามือโลก’ โดยองค์การสหประชาชาติ เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ภาษามือ รวมไปถึงเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงสิทธิมนุษยชนของคนหูหนวก

นอกจากนี้วันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1951 ก็เป็นวันก่อตั้งสมาคมคนหูหนวกโลก หรือ WFD ด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงเลือกวันที่ 23 กันยายน เป็นวันภาษามือโลก (International Day of Sign Languages) โดยปรากฏขึ้นอย่างเป็นทางการในงานสัปดาห์คนหูหนวกแห่งชาติ ซึ่งจัดในปี ค.ศ. 2018

จุดประสงค์ในการก่อตั้งวันภาษามือโลก เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ภาษามือ รวมไปถึงเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงสิทธิมนุษยชนของคนหูหนวกด้วย โดยข้อมูลจากสมาคมคนหูหนวกโลก (WDF) เผยว่า ปัจจุบันมีผู้พิการทางการได้ยินมากกว่า 70 ล้านคนทั่วโลก และกว่า 80% อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา นั่นหมายความว่า มีภาษามือกว่า 300 ภาษาที่ใช้อยู่ตอนนี้ ซึ่งถือว่ามีความหลากหลายอย่างมาก และเราก็ไม่ควรมองข้ามภาษามือเหล่านี้

ภาษามือของแต่ละประเทศมีวิวัฒนาการที่เป็นอิสระจากกัน คนที่อยากเรียนภาษามือก็จะเข้าเรียนในโรงเรียนโสตศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนผู้พิการทางการได้ยิน ดังนั้นภาษามือของแต่ละประเทศก็จะแตกต่างจากกัน แม้แต่ประเทศที่มีภาษาพูดใกล้เคียงกันอย่างเช่น สหราชอาณาจักรกับสหรัฐอเมริกา ก็มีภาษามือที่แตกต่างกันลิบลับ จนใช้สื่อสารระหว่างกันไม่ได้ 

ในปีค.ศ. 1973 สมาคมคนหูหนวกโลก (World Federation of the Deaf) ริเริ่มเผยแพร่ชุดคำศัพท์ภาษามือมาตรฐานที่เรียกกันว่า ‘ภาษามือสากล’ เพื่อที่จะให้เป็นภาษากลางของภาษามือ เช่นเดียวกับภาษาเอสเปอรันโตที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นภาษากลางในโลกของภาษาพูด ทุกวันนี้ในการประชุมระดับนานาชาติ บางครั้งก็ใช้ภาษามือสากลเป็นภาษาหลัก

และเพื่อให้คนหูหนวกสามารถรับรู้ข่าวสารและสามารถเสพสื่อได้อย่างเข้าใจ ทำให้ในปัจจุบันรายการต่าง ๆ ทั้งรายการข่าวและสื่อบันเทิงมักมีล่ามภาษามือคอยบรรยายอยู่มุมล่างขวามือของจอเสมอ

22 กันยายน ‘วันสงขลานครินทร์’ รำลึก ‘ในหลวง ร.9’ พระราชทานชื่อ ‘มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์’ ตามพระนามฐานันดรศักดิ์ ‘สมเด็จพระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์’

วันที่ 22 กันยายน ของทุกปี เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งคือ ‘วันสงขลานครินทร์’ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อมหาวิทยาลัยภาคใต้ เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2510 ว่า ‘สงขลานครินทร์’ ตามพระนามฐานันดรศักดิ์ของสมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช ที่ได้ทรงดำรงพระอิสริยยศฐานันดรศักดิ์เป็น ‘กรมหลวงสงขลานครินทร์’

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2505 รัฐบาลมีนโยบายจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่ภาคใต้ โดยเริ่มต้นจากการจัดตั้ง ‘วิทยาลัยศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์’ เพื่อรอการพัฒนาขึ้นเป็นระดับมหาวิทยาลัย 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 คณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติหลักการในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในภาคใต้ขึ้นที่ ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี โดยจะใช้เป็นที่ตั้งของคณะวิศวกรรมศาสตร์ และใช้ชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า ‘มหาวิทยาลัยภาคใต้’ ซึ่งมีสำนักงานชั่วคราวของมหาวิทยาลัยอยู่ที่อาคารคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (อาคารคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน)

หลังจากนั้น คณะกรรมการพัฒนาภาคใต้ โดย พันเอก (พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขอพระราชทานชื่อให้แก่มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานนามมหาวิทยาลัยว่า ‘มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์’ เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2510 ตามพระนามทรงกรมของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก คือ ‘กรมหลวงสงขลานครินทร์’ และใช้อักษรย่อ ‘ม.อ.’ คืออักษรย่อมาจากพระนาม ‘มหิดลอดุลเดช’ อันเป็นพระนามเดิมของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์ และทรงพระราชทานตราประจำพระองค์ เป็นตราประจำมหาวิทยาลัย

ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงถือว่าวันที่ 22 กันยายนของทุกปีเป็น ‘วันสงขลานครินทร์’

ต่อมาวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2511 ได้มีพระบรมราชโองการประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ขึ้น มหาวิทยาลัยจึงกำหนดให้วันที่ 13 มีนาคมของทุกปีเป็น ‘วันสถาปนามหาวิทยาลัย’

มหาวิทยาลัยมีคติพจน์ว่า ‘ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศจะตกแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์’ ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย คือ ดอกศรีตรัง สีประจำมหาวิทยาลัย คือ สีน้ำเงิน

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อักษรย่อ ม.อ. ไม่ใช่ มอ. ชื่อภาษาอังกฤษ Prince of Songkla University อักษรย่อ PSU (ภาษาอังกฤษใช้ Songkla ซึ่งเขียนเหมือนพระนามประจำพระองค์ แตกต่างจากจังหวัดสงขลาที่ปัจจุบันใช้ภาษาอังกฤษ Songkhla)


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top