Friday, 29 March 2024
LITE

29 มีนาคม พ.ศ. 2561 ‘กรมพระศรีสวางควัฒนฯ’ เสด็จฯ เปิดนิทรรศการจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ สะท้อนอีกมุมพระปรีชาด้านงานศิลปะที่รัก ควบคู่ภารกิจนานัปการ

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2561 นับเป็นผลงานภาพวาดฝีพระหัตถ์ใน สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่รวบรวมมาจัดแสดงครั้งแรก ภายใต้ชื่อนิทรรศการศิลปกรรม ‘หลากลาย หลายชีวิต’ ขณะเดียวกันก็เป็นการนำเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ ในการทรงศึกษาระดับปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.)

โดยการนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิดและทอดพระเนตรนิทรรศการ ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ โดยพระองค์ทรงพระนิพนธ์ในวิทยานิพนธ์ถึงแรงดลใจที่ทำให้สนพระทัยในการวาดรูปว่า

“สมเด็จแม่เคยรับสั่งว่าทรงมีลูกเพียง 4 คน โปรดที่จะให้ศึกษาในแขนงต่าง ๆ กัน เพื่อที่จะได้มาทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้หลายด้าน ดังนั้นเมื่อสมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงศึกษาทางด้านอักษรศาสตร์ก่อนแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้ตัดสินใจมาเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ แม้จะชอบศิลปะก็ตาม”

“แต่เมื่อข้าพเจ้ากลับมาดำเนินชีวิตที่ผ่านมา ทำให้ข้าพเจ้าค้นพบตัวเองว่ายังมีสิ่งที่ข้าพเจ้ารัก และมีความสุขเมื่อได้คิดถึงและมีโอกาสทำได้ สิ่งนั้นคือ การทำงานศิลปะ ทุกครั้งที่ข้าพเจ้ามีเวลาเหลือจากการปฏิบัติพระราชภาระ ข้าพเจ้ามีความสุขมากเมื่อได้ทำงานที่อยู่กับตัวเองและรู้สึกถึงโลกของตัวเอง มีอิสรภาพ ไม่คิดฝัน จินตนาการได้ตามใจไม่มีขีดจำกัด ความรู้สึกขณะนั้นทำให้เข้าใจและตระหนักรู้ได้ว่า สิ่งนี้อาจเป็นวิถีทางหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ได้พบกับความสุขที่แท้จริง ข้าพเจ้าจึงเลือกใช้การทำงานศิลปะเพื่อเป็นการบำบัดทุกข์ให้กับตัวเอง”

ส่วนแรงบันดาลพระทัยที่ทำให้ทรงวาดรูป ‘เสือ’ ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า

“เสือและสิงโตเป็นสัตว์สี่เท้าที่ข้าพเจ้ารักและสนใจมาตั้งแต่เยาว์วัย ทำให้ข้าพเจ้าสนใจเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้เสือและสิงโตเป็นรูปธรรมในการแสดงออกในผลงานศิลปะของข้าพเจ้า”

และเหนือสิ่งอื่นใด ‘พระราชบิดา’ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นแรงบันดาลพระทัยในผลงานศิลปะครั้งนี้ด้วย

“เสือที่ปรากฏในผลงานชุดวิทยานิพนธ์ คือรูปสัญลักษณ์แทนความหมายของเจ้าป่าหรือพระราชา เป็นราชาผู้ปกครองดินแดนด้วยพระเมตตา ซึ่งหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9”

“แรงบันดาลใจจากความใกล้ชิดผูกพัน เคารพรัก เทิดทูน และตระหนักซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ผสมผสานกับภาพลักษณ์ของเสือ สิ่งมีชีวิตที่สงบสง่าเป็นเจ้าป่า เป็นราชาแห่งพงไพร นำมาซึ่งการสร้างสรรค์ทางศิลปะเชิงจินตนาการ โดยหยิบยืมลักษณะของเสือที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตามาถ่ายทอดผ่านทักษะกระบวนการวาดเส้นและงานจิตรกรรม เพื่อบอกเล่าเรื่องราวในจิตใจภายใต้แนวคิด ราชาแห่งความรักและความเมตตา”

ส่วนรูปแบบและแนวความคิดของผลงานสร้างสรรค์ศิลปะ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเสนอในรูปแบบของงานศิลปะกึ่งแฟนตาซี กึ่งเหนือจริงผสมผสานกับคุณลักษณะของงานศิลปะที่ซื่อตรง บริสุทธิ์ใจ โดยไม่ยึดถือแนวทางตามหลักวิชาการ โดยทรงใช้เทคนิคการทรงงานด้วยสีวิทยาศาสตร์สำเร็จรูป ซึ่งเป็นแบบเดียวกับที่ทรงงานด้านการออกแบบอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นสีเมจิกหลายสีชนิดหัวแหลม เป็นสีน้ำที่ไม่มีสารเคมีที่เป็นพิษ ไม่มีกลิ่นและทำลายสภาพแวดล้อม

ทั้งนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงพระนิพนธ์ในวิทยานิพนธ์ตอนหนึ่งว่า

“การสร้างสรรค์ผลงานชุดวิทยานิพนธ์ จะให้ความสำคัญกับการสื่อสารแสดงแนวคิดเกี่ยวกับเสือเจ้าป่า ผู้เปรียบเสมือนราชา เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน โดยการสร้างสรรค์ของเสือท่ามกลางบริบทแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไปตามเรื่องราวของเนื้อหาในแต่ละภาพ เป็นเสือที่ใจดี มีเมตตา เพียรสอนสั่งและกระทำแต่สิ่งที่ดีงามเพื่อผู้อื่น เป็นเสือที่มีความรักและความปรารถนาดีต่อทุกคน เป็นเสือที่มีแต่ความรู้สึกด้านบวก มีพลังแห่งความดีงามอยู่ภายในจิตใจเสมอ”

ทั้งนี้ นิทรรศการศิลปกรรม ‘หลากลาย หลายชีวิต’ จัดแสดงภาพวาดฝีพระหัตถ์ชุดเสือและผีเสื้อในอิริยาบถต่างๆ รวม 239 ภาพ แบ่งเป็นนิทรรศการชั้น 1 จัดแสดงผลงานประติมากรรมเสือ, ชั้น 2 ภาพฝีพระหัตถ์ชุดเสือกับสิ่งแวดล้อมและการจัดวาง เสือกับสัญลักษณ์ทางวิทยาศาสตร์ และเสือกับจินตนาการสร้างสรรค์, ชั้น 3 เสือกับลายเส้น ขาว-ดำ อัตลักษณ์ของเสือ และเสือกับธรรมชาติ และชั้น 4 ภาพฝีพระหัตถ์ชุดผีเสื้อ ลวดแขวนชุดผีเสื้อ และผลงานอินเตอร์แอคทีฟ (Interactive) ชุดผีเสื้อ

ด้าน ศ.พิษณุ ศุภนิมิตร ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต มศก. กล่าวว่า การที่พระองค์เสด็จเข้าศึกษาในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาทัศนศิลป์ ได้สร้างความแปลกใจแก่ตนอย่างมาก เนื่องจากพระองค์ทรงเชี่ยวชาญในด้านวิทยาศาสตร์มาก่อน จนกระทั่งมีผู้ขอพระราชทานถวายพระสมัญญาว่า ‘เจ้าฟ้านักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี’ แต่เมื่อเสด็จฯ มาทรงศึกษาในสาขาศิลปกรรม กลับทรงสร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปกรรมในระดับเท่าเทียมกับศิลปินอาชีพ

“ในระหว่างทรงศึกษาในสาขาวิชาทัศนศิลป์ ทรงปฏิบัติพระองค์ดังเช่นนักศึกษาทั่วไป ทรงปฏิบัติตามเงื่อนไขของหลักสูตรและการสอน ทรงเสนอผลงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์เพื่อให้คณาจารย์กราบทูลสอนและแนะนำ จนมีจำนวนผลงานที่มากกว่านักศึกษาที่ศึกษากันตามปกติ แสดงให้เห็นถึงพระวิริยะอุตสาหะกับผลงานมากกว่า 300 ชิ้น และเมื่อคณาจารย์กราบทูลสอนแต่ละครั้ง ทรงมีผลงานมากกว่า 10 ชิ้น มาพระราชทานคณาจารย์กราบทูลแนะนำทุกครั้ง ทำให้คณาจารย์ตั้งข้อสงสัยว่า การที่ต้องทรงปฏิบัติภารกิจอื่นๆ เป็นอันมาก แต่ยังทรงมีเวลาเพื่อทำงานศิลปะได้มากมายเช่นนั้นได้อย่างไร” ศ.พิษณุ กล่าว

ด้าน อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ จิตรกรรมปี 2557 หนึ่งในคณาจารย์ผู้ถวายการสอน กล่าวว่า พระองค์เคยมีรับสั่งถึงแรงบันดาลพระทัยด้านศิลปะ มาจากการได้ทรงออกแบบจิวเวลรีให้บริษัทแห่งหนึ่งจากประเทศอังกฤษ ที่ว่าจ้างเพื่อนำไปผลิตและจำหน่าย ขณะที่ทรงนำรายได้จากการออกแบบไปช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กระทั่งทรงออกแบบต่อเนื่องเป็นหลายร้อยชิ้น จึงสนพระทัยงานศิลปะโดยตรงอย่างจริงจัง

“ตอนสอนก็สังเกตว่า พระองค์หากสนพระทัยด้านใด ก็จะไปศึกษาค้นคว้า แต่กับงานด้านศิลปะ ทราบว่าพระองค์ไม่เคยเรียนที่ไหนมาก่อน แต่ทรงศึกษาเองโดยธรรมชาติ จึงเป็นจุดเด่นของศิลปะของพระองค์คือ การใช้จินตนาการและความคิดที่มองข้ามการใช้ทักษะ อย่างวาดเสือ ผีเสื้อ ดอกไม้ จากจินตนาการกว่าความเป็นจริงทางธรรมชาติ และทรงต้องการจะสื่อความหมายออกมา”

“อย่างช่วงงานพระบรมศพในหลวง ร.9 ทรงวาดภาพฝีพระหัตถ์ผีเสื้อกับดอกบัวที่สวยมาก ไปถวายที่เบื้องหน้าพระบรมโกศ ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แต่ไม่ได้นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ แต่ผลงานภาพวาดฝีพระหัตถ์ที่นำมาจัดแสดงอื่น ๆ ก็สื่อไปด้วยความหมายต่อความรักความผูกพันที่มีต่อในหลวง ร.9 เช่น เสือที่นอนแนบกับแผ่นดิน เสือลุยไฟ ที่ต้องการสื่อถึงความยากลำบาก อุปสรรคของในหลวง ร.9 เสือที่มองเหลียวกลับมายังแผ่นดิน แฝงความหมายว่าในหลวง ร.9 มองมาที่แผ่นดินและราษฎร เหล่านี้ทรงสื่อความหมายเสือคือผู้ปกครองเหนือราชอาณาจักร อันสื่อถึงในหลวง ร.9 พระราชาผู้ปกครองแผ่นดินด้วยพระเมตตา”

ซึ่ง อ.ปัญญา จึงขอยกย่อง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ว่าทรงเป็นศิลปินที่หายากในโลก ด้วยทรงใช้เหตุผลและจินตนาการสร้างสรรค์ออกมาเป็นงานศิลปะ ดั่งศิลปินระดับโลก เช่น เลโอนาร์โด ดาวินชี และเหมือนอัครศิลปินคือ ในหลวง ร.9 และมีความเพียรในการวาดภาพฝีพระหัตถ์ โดยจะทรงพกกระดานวาดภาพไปทุกครั้ง อย่างบนเฮลิคอปเตอร์ก็ยังทรงงานด้านศิลปะ ทรงวาดภาพเป็นประจำทุกวัน กระทั่งภายใน 3 ปี มีภาพวาดฝีพระหัตถ์กว่า 300 ภาพดังกล่าว

ทั้งนี้ ภายในงานได้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสื้อลายเสือ จากภาพวาดฝีพระหัตถ์ บริเวณบูธ Art Shop ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำขึ้นเพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสสนับสนุนผลิตภัณฑ์ โดยเสื้อลายเสือจากภาพวาดฝีพระหัตถ์นี้ จะเป็นภาพเสือในอิริยาบถต่าง ๆ และด้านล่างจะมีลายเซ็นพระนาม ‘ChulabhornMahidol’ ทุกตัว ราคาจำหน่าย ‘เสื้อยืด’ 350 บาท และ ‘เสื้อโปโล’ 450 บาท โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจะทูลเกล้าถวายสมทบทุนมูลนิธิจุฬาภรณ์ เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ป่วยยากไร้ในพระอนุเคราะห์ สนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนและนักศึกษาที่เรียนดี ประพฤติดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ บรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยพิบัติ ตลอดจนพัฒนาชุมชน สร้างอาชีพ และเสริมรายได้ให้ประชาชน

28 มีนาคม พ.ศ. 2451 วันคล้ายวันประสูติ ‘พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์’ ผู้ทรงสร้าง ‘ตึกจักรพงษ์’ สถานที่พบปะเรียนรู้-ทำกิจกรรม ในรั้วจุฬาฯ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เป็นพระโอรสพระองค์เดียวในสมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ กับหม่อมคัทริน ณ พิศณุโลก (สกุลเดิม เดสนิตสกายา) พระชายาชาวรัสเซีย ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2451 เมื่อเวลา 23.58 น. ที่ห้องแดง ภายในวังปารุสกวัน ถือเป็นบุคคลเดียวที่ถือกำเนิดบนตำหนักวังปารุสกวัน

พระองค์ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จนพระชันษาครบ 13 ปี ได้เสด็จไปทรงศึกษาที่ โรงเรียนแฮร์โรว์ ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2466 - 2470 จากนั้นทรงศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่วิทยาลัยตรินิตี้ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ด้านประวัติศาสตร์ ทรงได้รับปริญญาตรี (ศศ.บ. เกียรตินิยม) เมื่อปี พ.ศ. 2473 และปริญญาโท (ศศ.ม. เกียรตินิยม) นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงสนพระทัยในงานประพันธ์และประวัติศาสตร์ ทรงพระนิพนธ์หนังสือไว้ 13 เล่ม โดยเล่มที่สำคัญคือ เกิดวังปารุสก์, เจ้าชีวิต, ดาราทอง, ไทยชนะ

ทั้งนี้ ในปีพุทธศักราช 2475 สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เสด็จพระราชดำเนินไปยัง สหราชอาณาจักร เพื่อทรงสำรวจว่า จะทรงศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยใด โดยครั้งนั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งตามเสด็จ ได้กราบทูลว่า ต้องการช่วยเหลืออาจารย์และนิสิตจุฬาฯ ให้มีสถานที่พบปะและทำกิจกรรมร่วมกัน 

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก จึงพระราชทานคำแนะนำว่า ควรสร้างสโมสรสถาน ให้อาจารย์และนิสิตใช้เป็นที่พบปะสังสรรค์ และเล่นกีฬาในร่ม เพราะช่วงเวลานั้นนิสิตไม่มีอาคารเพื่อทำกิจกรรมดังกล่าว พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ จึงประทานเงินจำนวน 20,000 บาท ให้สร้างขึ้นในปี 2475 และเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึง สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระบิดาของพระองค์ ไปในคราวเดียวกัน 

นับแต่นั้นเป็นต้นมา ตึกจักรพงษ์ได้กลายเป็นสถานที่ให้นิสิตได้รวมตัวใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ มีการจัดตั้งสโมสรต่าง ๆ ให้นิสิตได้เรียนรู้ในสิ่งที่ชอบ เรียนรู้การใช้ชีวิตและทำงานร่วมกับคนอื่น รวมถึงเป็นสถานที่เชื่อมการสมาคมในหมู่อาจารย์ นิสิตเก่า นิสิตใหม่ เข้าหากัน หรือแม้แต่เป็นสถานที่พักอาศัยของเหล่าเด็กกิจกรรม ที่ทำงานกันจนดึกดื่น ไม่ยอมกลับหอพัก 

ดังนั้น ตึกจักรพงษ์เป็นแหล่งรวมความทรงจำดี ๆ มากมาย และตึกจักรพงษ์ไม่เคยเงียบเหงา กลายเป็นสถานที่บ่มเพาะเหล่านักคิด นักทำอย่างแท้จริง และล้วนมีผู้คนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาอยู่เสมอ 

จวบจนเมื่อ พ.ศ. 2528 เมื่อสโมสรย้ายออกไปยังสถานที่แห่งใหม่ ตึกจักรพงษ์จึงได้เปลี่ยนหน้าที่มาเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงสิ่งของทรงคุณค่า และน่าสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของจุฬาฯ ภายใต้ชื่อ หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

27 มีนาคม พ.ศ. 2454 ‘ในหลวง ร.6’ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา ‘กรมศิลปากร’ เป็นครั้งแรก ‘ดูแลคุ้มครอง-อนุรักษ์-เผยแพร่องค์ความรู้’ ด้านมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ

ในทุกวันที่ 27 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันที่สำคัญยิ่งสำหรับบุคลากรที่ทำงานในหน่วยงานที่สังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เพราะเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกการช่างจากกระทรวงโยธาธิการและกรมพิพิธภัณฑ์จากกระทรวงธรรมการ ที่ตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มารวมไว้ด้วยกันเป็นกรมใหม่ และพระราชทานนามว่า ‘กรมศิลปากร’ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2454 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ทรงเป็นผู้บัญชาการกรมศิลปากรคนแรก

ต่อมา ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบกรมศิลปากร โดยรวมเข้ากับราชบัณฑิตยสภาและเรียกกรมศิลปากรว่า ‘ศิลปากรสถาน’ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2469 แต่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ได้มีประกาศพระราชบัญญัติตั้งกระทรวงและกรม เมื่อ พ.ศ.2476 จัดตั้งกรมศิลปากรขึ้นมาใหม่ โดยให้สังกัดกระทรวงธรรมการ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 ด้วยเหตุนี้ กรมศิลปากรจึงได้กำหนดเอาวันที่ประกาศจัดตั้งกรมศิลปากรขึ้นมาใหม่ เป็นวันคล้ายวันสถาปนากรมศิลปากร ในเอกสารจดหมายเหตุ ชุด กระทรวงศึกษาธิการ ศธ.0701.9.6/4 เรื่อง วันสถาปนากรมศิลปากร พ.ศ. 2496 ได้กล่าวถึงการจัดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมศิลปากร ในวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2496 ภายในเอกสาร มีการกล่าวอวยพรข้าราชการในกรมศิลปากร โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น มีการจัดงานทำบุญ และเชิญพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ช่วงท้ายของงานมีการจัดรายการนิยายอิงประวัติศาสตร์ประกอบดนตรีไทยออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียง เรื่อง ราเมศวร ซึ่งเอกสารชุดนี้สะท้อนให้เห็นถึงการจัดงานระลึกวันคล้ายวันสถาปนากรมศิลปากรในช่วงเวลานั้น

ใน พ.ศ. 2522 นายเดโช สวนานนท์ อธิบดีกรมศิลปากรในสมัยนั้น ได้มอบหมายให้กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับประวัติกรมศิลปากรใหม่ และในที่ประชุมกรมศิลปากร เมื่อวันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 จึงมีมติให้กำหนดวันคล้ายวันสถาปนากรมศิลปากร โดยยึดตามวันที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนากรมศิลปากรขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งก็คือ วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2454 นับตั้งแต่นั้น วันที่ 27 มีนาคม ของทุกปี จึงกลายเป็นวันคล้ายวันสถาปนากรมศิลปากร

เนื่องในโอกาสครบรอบ 113 ปี วันคล้ายวันสถาปนากรมศิลปากรใน พ.ศ. 2567 กรมศิลปากรในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแล คุ้มครอง อนุรักษ์ ฟื้นฟู และเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติมาอย่างยาวนาน ด้วยคุณูปการที่หน่วยงานแห่งนี้สร้างเอาไว้ ทำให้ในวันที่ 27 มีนาคม ของทุกปี จึงเป็นวันที่ชาวกรมศิลปากรจะระลึกถึงการก่อตั้งกรมศิลปากร หน่วยงานที่เป็นเสาหลักในการธำรงไว้ซึ่งมรดกวัฒนธรรมของชาติ ให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญทางศิลปวัฒนธรรมของชาติสืบไป

26 มีนาคม พ.ศ. 2459 ‘ในหลวง ร.6’ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา ‘จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ มหาวิทยาลัยไทยแห่งแรกที่มีการศึกษาแบบตะวันตก ตามพระราชดำริ ‘ในหลวง ร.5’

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับเป็นการก่อกำเนิดมหาวิทยาลัยครั้งแรกในเมืองไทยที่มีการศึกษาตามแบบตะวันตก ถือกำเนิดจากโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้น ณ ตึกยาวข้างประตูพิมานชัยศรีในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. 2442 และได้รับพระบรมราชานุญาตให้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนมหาดเล็ก เมื่อ 1 เมษายน พ.ศ. 2445

ทั้งนี้เพื่อผลิตบุคลากรให้รับราชการ ซึ่งมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงพระบรมราโชบายในสมเด็จพระบรมชนกาธิราชที่จะ “ให้มีมหาวิทยาลัยขึ้นสำหรับเป็นสถาบันอุดมศึกษาของชาวสยาม” พอที่จะช่วยให้กิจการปกครองท้องที่ของกระทรวงมหาดไทยดำเนินไปได้

เมื่อสมควรขยายการจัดการศึกษาเพื่อสนองความต้องการของ กระทรวง ทบวง กรมอื่น ๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กเป็นสถาบันอุดมศึกษา พระราชทานนามว่า ‘โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ เมื่อ 1 มกราคม พ.ศ. 2453

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์แน่ชัดในการตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นในอนาคต เห็นได้จากพระราชดำรัสที่พระราชทานในวันก่อศิลาพระฤกษ์โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ 3 มกราคม พ.ศ. 2458 ทรงดำรัสไว้ว่า

“วันนี้เรายินดีที่ได้รับเชิญให้มาวางศิลาฤกษ์สำหรับมหาวิทยาลัยนี้ เพราะเป็นกิจอันหนึ่งซึ่งเราปรารถนาอยู่นานแล้ว ที่จะยังให้เป็นผลสำเร็จตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงพระราชปรารถนามานานแล้วในเรื่องที่จะให้มีมหาวิทยาลัยขึ้น สำหรับเป็นสถานอุดมศึกษาของชาวสยาม…ตัวเราเป็นรัชทายาท จึ่งรู้สึกเป็นหน้าที่อันหนึ่งที่จะต้องทำการนั้นให้สำเร็จตามพระราชประสงค์…เรามีความยินดีที่ได้เห็นการดำเนินล่วงมาได้มากแล้ว ในบัดนี้เราได้วางศิลาฤกษ์ด้วยความหวังที่ได้เห็นแลความดีงามในอนาคตกาลแห่งมหาวิทยาลัยนี้”

ในปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 พร้อมกับโอนมหาวิทยาลัยแห่งนี้ไปขึ้นกับกระทรวงธรรมการในวันเดียวกัน

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2460 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมมหาวิทยาลัยขึ้นอีกกรมหนึ่ง ขึ้นตรงต่อกระทรวงธรรมการ มีตำแหน่งหัวหน้าเป็นชั้นอธิบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นกับกรมนี้ โดยมี พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัยเป็นพระองค์แรก และมีพระยาอนุกิจวิทูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคนแรก (ต่อมาตำแหน่งนี้เปลี่ยนไปเรียกเป็นอธิการบดี ตั้งแต่ พ.ศ. 2478 เป็นต้นมา)

‘หนุ่ม คงกะพัน’ สุดยอดเพื่อนแท้ ‘เมฆ วินัย ไกรบุตร’ ‘ช่วยเหลือ-เคียงข้าง’ จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต

เมื่อไม่นานมานี้ วงการบันเทิงไทยได้สูญเสีย ‘เมฆ วินัย ไกรบุตร’ นักแสดงมากฝีมือไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ สร้างความโศกเศร้า เสียใจแก้ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน และเหล่าแฟนคลับเป็นอย่างมาก

เมื่อวานนี้ (24 มี.ค. 67) เพจเฟซบุ๊ก ‘เก้ากระบี่เดียวดาย’ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับมิตรภาพดี ๆ ระหว่าง 2 เพื่อนซี้ ‘เมฆ วินัย ไกรบุตร’ และ ‘หนุ่ม คงกะพัน แสงสุริยะ’ โดยระบุว่า…

“เพื่อนมีไว้ทำไม?

เพื่อนมีไว้ทำไม? เป็นชื่อคอนเสิร์ต วันอังคารที่ ๒๖ มีนาคมนี้ เวลา ๑๘.๐๐  ๐๑.๐๐ น. (หกโมงเย็นถึงตีหนึ่ง) ณ โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง สาขาเลียบทางด่วนรามอินทรา ความจริงแล้วคอนเสิร์ตนี้มีกำหนดการวางไว้แต่แรก เพื่อเป็นการระดมทุนในการรักษาคุณวินัย ไกรบุตร และหาทุนทรัพย์มาช่วยดูแลครอบครัว เพราะว่าเดิมนั้นคุณวินัย เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการดูแลครอบครัว จนกระทั่งคุณวินัยป่วยเป็นโรคตุ่มน้ำพองเมื่อห้าปีก่อน 

เมฆ วินัย ไกรบุตร เกิดวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๓ ที่ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ในครอบครัวที่มีฐานะยากจน ทำให้ชีวิตวัยเด็กของเขาต้องทำอาชีพหลายอย่างหลังจากเรียนจบจากเทคนิคเขาก็กลายเป็นชาวประมง และทำงานโรงแรม

จนกระทั่งอายุย่างเข้า ๒๒ ปี มีเพื่อนที่อยู่กรุงเทพฯ ไปเยี่ยมเขาและชวนเขาเข้ามาเที่ยวกรุงเทพฯ ทำให้เมฆ วินัย ติดตามเพื่อนเข้ามาเพื่อลองหางานทำ ในตอนนั้นเขาต้องแชร์ห้องพักกับเพื่อน ๆ แถวมหาวิทยาลัยรามคำแหงสอง โดยการนอนสลับกันรอบเช้ากับรอบค่ำเพราะว่าหอพักไม่ให้นอนเกินสี่คน 

วันหนึ่งเมฆ วินัย ไปลองหางานแถวสยาม มาบุญครองก็พบกับโมเดลลิ่ง ขอถ่ายภาพเขาเพื่อส่งแคสติ้งโฆษณา ซึ่งความจริงแล้วก่อนหน้านั้นเขาเคยถูกทาบทามหลายครั้งแต่เนื่องจากเขากลัวจะโดนหลอก เขาจึงไม่กล้า แต่ในวันนั้นโมเดลลิ่งที่มาชักชวนเป็นผู้หญิงอายุไล่ ๆ กัน ทำให้เขาคลายกังวล และสุดท้าย เขาก็ได้งานโฆษณาตัวแรกจากทาง สยามสตูดิโอ 

โฆษณาธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ปี ๒๕๓๕ นับว่าเป็นผลงานแรกในวงการบันเทิงของ วินัย ไกรบุตร หลังจากนั้นเขาก็กลายเป็นนายแบบสุดฮอตของยุคนั้น ด้วยความสูง ๑๘๐ เซนติเมตร ใบหน้าคมคายแบบชายไทย ร่างกายเต็มไปด้วยมัดกล้าม นับว่ามีรูปลักษณ์ค่อนข้างเฉพาะตัว นอกจากผลงานโฆษณาแล้ว เขายังได้แสดงมิวสิควิดีโอหลายตัวของแกรมมี่ อาทิ โสภาสถาพร บิลลี่ โอแกน ต่างคนต่างไป - อรพรรณ พานทอง เสียมั้ย หนุ่ย อำพล (๒๕๓๕) และ ลักไก่ อัสนี-วสันต์ (๒๕๓๖)

แต่มาโด่งดังสุด ๆ กับ มิวสิควิดีโอเพลง ยอม ของวงหินเหล็กไฟ จากค่ายอาร์เอส ในปี ๒๕๓๖ ทำให้หลังจากนั้น ปีถัดมาเขาก็เข้าสู่วงการภาพยนตร์ในปี ๒๕๓๗ จากผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกหอบรักมาห่มป่า ก่อนที่จะกลายเป็นพระเอกเต็มตัวกับ ภาพยนตร์เรื่อง ผู้ชายหัวใจไม่พายเรือ (๒๕๓๘) ประกบกับ ธัญญาเรศ รามณรงค์ 

ในช่วงที่เมฆ วินัย ยังเป็นนายแบบอยู่นั้น เขาอาศัยเช่าห้องพักอยู่กับเพื่อนหลายคน หนึ่งในนั้นคือเพื่อนที่เขาสนิทที่สุด ก็คือ ‘หนุ่ม คงกะพัน แสงสุริยะ’ ที่หลังจากที่เมฆ วินัยเริ่มเล่นหนัง ไม่นาน หนุ่ม คงกระพันเพื่อนสนิทของเขาก็มีผลงานเพลงชุดแรกกับทาง บริษัทสโตน เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ในชื่อชุด หนุ่ม คงกระพัน และมีเพลงโปรโมต คือเพลง บาทเดียว อย่างเลวร้าย และ จากนี้และตลอดไป ในปี ๒๕๓๘ หลังจากนั้นเขาก็เริ่มแสดงละครในปี ๒๕๓๙ 

แม้ว่าจะเข้าวงการกันแล้ว แต่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็ยังแนบแน่น และพักอยู่คอนโดเดียวกันอีกสิบกว่าปี จนในตอนนั้นมีข่าวว่าทั้งสองมีความสัมพันธ์แบบชายรักชาย 

ในช่วงยุค ๙๐ ทั้งเมฆ วินัย และ หนุ่ม คงกะพัน ต่างแสดงละครเป็นหลักจนกระทั่ง เมฆ วินัยมีโอกาสได้แสดงภาพยนตร์เรื่องนางนาก (๒๕๔๒) ที่กำกับโดย นนทรีย์ นิมิบุตร ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้อย่างมาก จนทำให้เมฆ วินัย ต้องเดินสายโชว์ตัวตามงานเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศ โดยมีหนุ่ม คงกะพันขอติดตามเพื่อนสนิทไปด้วย 

เมื่อเพื่อนประสบความสำเร็จ เพื่อนอีกคนก็ยิ่งจะมีความสุข หนุ่ม คงกะพันรู้สึกดีใจแทนเพื่อนรักของเขา จากเด็กบ้านนอกที่เข้ามากรุงเทพและต้องแชร์ห้องพักกันนอน สู่การเป็นดาราชื่อดังระดับนานาชาติ 

เมื่อ วินัยประสบความสำเร็จทางด้านภาพยนตร์ หนุ่ม คงกะพันกลับพบเส้นทางที่ชัดเจนของตัวเอง คือการเป็นพิธีกร รายการสารคดีแนวสืบสวนสอบสวนหาความจริง อย่าง บางอ้อ และเรื่องจริงผ่านจอ 

เส้นทางของเพื่อนอาจจะไม่ได้เดินเคียงคู่กันไปได้ตลอด เมื่อต่างคนต่างเติบโตและมีครอบครัวเป็นของตัวเอง ทั้งสองก็มีช่วงเวลาห่างกันไปบ้าง จนกระทั่งเมฆ วินัยป่วยด้วยโรคตุ่มน้ำพอง 

และอย่างที่ทราบกันดีว่าตลอดอาการป่วยของเมฆ วินัยนั้นจะมีหนุ่ม คงกะพัน ที่คอยอยู่ดูแลเสมอ ไม่เคยทอดทิ้งกัน แม้กระทั่งการขอขมาเจ้ากรรมนายเวร จนเป็นกระแสทางโซเซียลที่คนทั้งประเทศติดตามอย่างเอาใจช่วย 

จะเห็นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งของคนทั้งคู่ จนการขอขมากรรมเสร็จสิ้น จากการป่วยยาวนานถึงห้าปีของเมฆ วินัย การที่ต้องดูแลลูก ๆ สามคน ทำให้ทางหนุ่ม อยากจะจัดคอนเสิร์ตเพื่อช่วยเหลือเพื่อนอีกครั้ง ในชื่อ คอนเสิร์ตว่า เพื่อนมีไว้ทำไม?

ซึ่งในตอนแรกก็จะให้คุณวินัยมาร่วมในคอนเสิร์ตนี้ด้วย แต่วันที่ ๒๐ มีนาคม เมฆ วินัยก็ได้เสียชีวิต จากภาวะความดันตก ติดเชื้อในกระแสเลือด กระทั่งหัวใจหยุดเต้น เสียก่อน 

หลายคนเคยพูดคำว่า “เป็นเพื่อนกันไปจนวันตาย” แต่สำหรับบางคนแม้เพื่อนจะตายไปแล้วแต่ความเป็นเพื่อนนั้นก็ไม่ได้จบลงไปด้วย 

หลายคนบอกว่าตายไปแล้วจะเอาอะไรติดตัวไปด้วยก็ไม่ได้ แต่สำหรับข้าพเจ้ามองว่า แน่นอนขอรับเราอาจจะเอาวัตถุใดติดตัวไปกับเราไม่ได้เลย แต่ความรักเป็นสิ่งที่ไม่เคยจางหรือลดลงเลย แม้ว่าเราจะไม่อยู่บนโลกใบนี้อีกแล้ว หากเรามีเพื่อนที่ดีอย่าง คุณหนุ่ม คงกะพัน 

คอนเสิร์ต เพื่อนมีไว้ทำไม นั้นมีเพื่อนศิลปินมากมายมาแสดง ทั้งทางโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงก็ไม่คิดค่าสถานที่ ศิลปินที่มากว่าสามสิบชีวิตไม่คิดค่าตัว เป็นคอนเสิร์ตที่อบอวลไปด้วยมิตรภาพที่ส่งให้กับ คุณเมฆ วินัย ไกรบุตร 

หลายคนมักจะพูดถึง วินัย ไกรบุตร ในฐานะพระเอกร้อยล้านคนแรกของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย แต่สำหรับข้าพเจ้านั้น ความสำเร็จที่แท้จริงของคุณวินัย ไกรบุตร คือการมีเพื่อนที่ดี ภรรยาที่ดี ที่พร้อมจะเคียงข้างเขาทั้งวันที่สุข วันที่ทุกข์ และแม้แต่วันที่เขาไม่อยู่บนโลกใบนี้แล้วก็ตาม 

มีบางอย่างที่แม้แต่ความตายก็ไม่สามารถพรากไปจากผู้คนได้ ‘มิตรภาพ’ คือสิ่งหนึ่งที่ว่านั้นขอรับ 

The thought that you could die tomorrow frees you to appreciate your life now.
ความตายก็มีด้านดี ความคิดที่ว่าคุณอาจจะตายในวันพรุ่งนี้ จะทำให้คุณตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตในปัจจุบัน 

สำหรับคนที่ยังอยู่โปรดถนอมมิตรภาพที่มีไว้ด้วยหัวใจของท่าน เพราะไม่มีความสำเร็จใดมีความหมายเทียบเท่ากับ มิตรภาพอีกแล้ว 

ขอบคุณ คุณหนุ่มคงกะพัน และเพื่อน ขออำลาคุณเมฆ วินัย อีกครั้งขอรับ 

ปล. คอนเสิร์ต เพื่อนมีไว้ทำไม? ทุกท่านสามารถมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือได้โดยการซื้อบัตร แบบเหมาโต๊ะ มี 2 ราคาคือ 1. เหมาโต๊ะละ 20,000 จำนวน 10 โต๊ะ 2. เหมาโต๊ะละ 15,000 บาท จำนวน 23 โต๊ะ (1 โต๊ะ 8 ที่นั่ง พร้อมอาหาร 10 อย่าง เบียร์ 1 ทาวเวอร์ มิกเซอร์ฟรีตลอดทั้งงาน ) 

ท่านที่สนใจสามารถติดต่อ จองโต๊ะได้ที่ นวธันย์ ธวัชวงศ์เดชากุล (เบญ) เบอร์โทร 089-055-3654 

นอกจากนี้ท่านที่สนใจแบบไม่เหมาโต๊ะ สามารถซื้อบัตรเข้างาน ได้ที่ โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง สาขาเลียบทางด่วนรามอินทรา ได้ในราคา 300 บาท ต่อ 1 ท่าน สามารถติดต่อสำรองบัตรได้ที่ โทร.(02) 944-5131- 2 หรือ Line @ tawandang2 และที่ FB : โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง รามอินทรา พบกันวันอังคารที่ 26 มีนาคม 2567 เวลา 18.00-01.00 น.

25 มีนาคม พ.ศ. 2434 ‘ในหลวง ร.5’ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้ง ‘กระทรวงยุติธรรม’ ปรับโฉมระบบยุติธรรมไทยให้ทันสมัย - แก้ปัญหาพิจารณาคดีล่าช้า

ประเทศสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 บ้านเมืองเกิดปัญหาต่าง ๆ มากมายในกระบวนการพิจารณาคดีความ ทำให้การอำนวยความยุติธรรมเป็นไปอย่างยากลำบาก จนนำไปสู่วิกฤตทางการศาลขึ้น โดยสาเหตุหลักมาจาก 

1. ความไม่เหมาะสมของระบบการศาลเดิมที่ขึ้นตามกระทรวงต่าง ๆ ทำให้เกิดความล่าช้าสับสน

2. ความไม่เหมาะสมของวิธีพิจารณาความแบบเดิม ที่มีวิธีการพิจารณาและพิพากษาคดี รวมถึงขอบเขตการลงโทษที่ไม่เหมาะสม

3. ความบีบคั้นจากต่างประเทศในด้านการศาล สืบเนื่องมาจากการมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของชาวต่างชาติ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความมั่นคงในเอกราชของไทย

ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้ระบบยุติธรรมในสยามมีประสิทธิภาพ มีความเหมาะสม และสามารถบังคับใช้ได้แก่ประชาชนทั่วไปในสยาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศจัดตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้น เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2434 โดยมีการรวบรวมศาลต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายเข้ามาในระบบภายใต้การควบคุมของกระทรวงยุติธรรม และกำหนดรูปแบบวิธีพิจารณาและพิพากษาคดีขึ้นใหม่อีกด้วย

24 มีนาคม พ.ศ. 2565 ‘กรมพระศรีสวางควัฒนฯ’ พระราชทานพระโอวาทแก่บัณฑิต ม.เกษตรศาสตร์ “ผู้มีความกตัญญูรู้คุณ ย่อมปรารถนาที่จะตอบแทนคุณในทางที่ดีที่ชอบ”

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2565 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปยังคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขตบางเขน ทรงเปิดอาคารศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ 60 พรรษา ซึ่งสร้างขึ้นเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ทรงได้รับการยกย่องเป็นเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา รวมถึงในโอกาสการสถาปนา คณะวิทยาศาสตร์ครบรอบ 50 ปี โดยได้รับพระราชทานนาม จากสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พร้อมกับพระราชทานพระอนุญาต ให้เชิญอักษรพระนาม จภ. ประดับที่อาคาร โดยเป็นอาคารคู่ สูง 6 ชั้น และ 12 ชั้น ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2561

ภายในมีการออกแบบ ให้เป็นอาคารต้นแบบประหยัดพลังงาน ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสถานที่จัดการเรียนการสอน รองรับงานปฏิบัติการค้นคว้าวิจัย และการจัดประชุมสัมมนา ตลอดจนการดำเนินงานอื่นๆ ของคณะวิทยาศาสตร์ ในการส่งเสริมการผลิตบัณฑิต ที่มีศักยภาพสูง มีความพร้อมในการทำงาน และสร้างสรรค์คุณค่าให้เกิดประโยชน์ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ และการจัดการเทคโนโลยี ที่รวบรวมผลงาน ด้านวิทยาศาสตร์ที่โดดเด่น ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ แก่บุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ ทั้งภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมชุมชนและสังคม ให้นำความรู้ไปเป็นแบบอย่างในการสร้างสรรค์นวัตกรรม ทางการเกษตร อาหาร พลังงาน สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนต่อไป

จากนั้น เวลา 13.37 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เสด็จแทนพระองค์ ไปยังอาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2563 เป็นวันที่ 4 โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีผลงานดีเด่น เข้ารับพระราชทานปริญญา ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 1 คน มีผู้สำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาเอก ปริญญาโท และปริญญาตรี จากคณะศึกษาศาสตร์, คณะเศรษฐศาสตร์ ศรีราชา, คณะวิศวกรรมศาสตร์ ศรีราชา, คณะพาณิชยนาวี-นานาชาติ, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์, คณะวิทยาการจัดการ และคณะวิทยาศาสตร์ ศรีราชา เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร รวม 1,714 คน

โอกาสนี้ พระราชทานพระโอวาท ความสำคัญตอนหนึ่งว่า "ในวันนี้ ใคร่จะกล่าวเพิ่มเติม ถึงคุณธรรมที่สำคัญยิ่ง อีกประการหนึ่ง คือความกตัญญู ความกตัญญูนั้น หมายถึง ความตระหนักรู้ถึงคุณความดี ของบุคคลต่าง ๆ และสิ่งต่าง ๆ เป็นต้น ว่าบิดามารดาและผู้ปกครอง ซึ่งให้ชีวิตและเลี้ยงดูมา ครูบาอาจารย์ ซึ่งถ่ายทอดสรรพวิชา และอบรม บ่มนิสัย สังคมและชาติบ้านเมือง ซึ่งเป็นที่อยู่ที่อาศัย และประกอบอาชีพการงาน ผู้มีความกตัญญูรู้คุณ ย่อมปรารถนาที่จะตอบแทนคุณ ด้วยการประพฤติตน ปฏิบัติงานแต่ในทางที่ดีที่ชอบ ก่อให้เกิดผลดี ที่พึงประสงค์ คือความเจริญมั่นคง ทั้งในชีวิตและกิจการงาน พร้อมทุกส่วน จึงขอให้บัณฑิตทุกคน พิจารณาคุณค่าของความกตัญญู ให้ทราบชัด แล้วตั้งใจปลูกฝัง สร้างเสริมคุณธรรมข้อนี้ให้งอกงาม"

23 มีนาคม พ.ศ. 2277 วันคล้ายวันพระราชสมภพ ‘สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช’ ผู้นำทัพปราบข้าศึกพม่าและสถาปนา ‘อาณาจักรธนบุรี’

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 หรือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีพระนามเดิมว่า สิน เป็นคนไทยเชื้อสายจีน เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ก่อตั้งอาณาจักรธนบุรี และเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวของราชอาณาจักรธนบุรี พระองค์ทรงพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2277 ตรงกับปีขาล ขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 จุลศักราช 1096 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา

เดิมพระองค์เป็นนายทหารในรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ต่อมา พ.ศ. 2310 เกิดการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พระองค์ได้เป็นผู้นำขับไล่ทหารพม่าที่ยึดครองกรุงศรีอยุธยาอยู่ในเวลานั้น และได้ปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาอีก 7 เดือนถัดมา โดยพระองค์ย้ายเมืองหลวงไปยังกรุงธนบุรี และรวบรวมแผ่นดินซึ่งมีขุนศึกก๊กต่าง ๆ ปกครองให้กลับเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง เช่นเดียวกับการขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง 

นอกจากนี้ ยังทรงฟื้นฟูราชอาณาจักรในด้านต่าง ๆ ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติหลังสงคราม ทั้งส่งเสริมกิจการด้านเศรษฐกิจ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรม และการศึกษา ภายหลังรัฐบาลไทยประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปีเป็น ‘วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน’ และยังทรงได้รับสมัญญานามมหาราช

พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เมื่อพระชนมพรรษา 48 พรรษา หลังถูกสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกซึ่งเป็นพระสหายสำเร็จโทษ และสืบราชสมบัติต่อเป็นต้นราชวงศ์จักรีในปัจจุบัน รวมเวลาครองราชย์ 15 ปี พระองค์มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมทั้งสิ้น 30 พระองค์ พระองค์ทรงเป็นวีรกษัตริย์ของชาติไทยที่ประชาชนรู้จักดีและเป็นที่เคารพสักการะมากที่สุดพระองค์หนึ่ง นอกจากนี้ยังมีพระบรมราชานุสรณ์ของพระองค์มีประดิษฐานมากที่สุด

‘นันยาง’ เกาะกระแส เปิดตัว ‘กางเกงช้างดาว’ สะท้อนเรื่องราวรองเท้าแตะ หวังพารองเท้ายางพาราสัญชาติไทย ให้ต่างชาติรู้จัก-สัมผัสวิถีการสวมใส่

(22 มี.ค. 67) เฟซบุ๊ก​นันยาง Nanyang โพสต์ประกาศเปิดตัว ‘กางเกงช้างดาว’ พร้อมรายละเอียดต่าง ๆ ทั้งแนวคิดการออกแบบ ความหมายของลวดลาย และราคา รวมถึงช่องทางการสั่งซื้อ โดยระบุว่า…

ครั้งแรกของ ‘ช้างดาว’ ตั้งแต่ พ.ศ. 2496 ที่ผลิต ‘กางเกงช้างดาว’ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของ ‘รองเท้าแตะช้างดาว’ ตลอดระยะเวลากว่า 7 ทศวรรษหลายร้อยล้านคู่ได้ผ่านร้อนหนาวร่วมกับคนไทยและชาวต่างชาติทั่วโลก ด้วยเอกลักษณ์ความสบาย ง่ายง่าย ทนทาน ลุยไปทุกที่ ใส่ได้หมดไม่ว่ารวยหรือจน ทุกเพศทุกวัย และได้รับความนิยมจากรุ่นสู่รุ่น ช้างดาวจึงเป็นมากกว่ารองเท้า เป็นมากกว่าแฟชัน แต่เป็น ‘สไตล์’ ที่อยู่เหนือกาลเวลา

ขอเชิญชวนท่านร่วมเป็นเจ้าของ ‘กางเกงช้างดาว’ ใส่คู่กับ ‘รองเท้าแตะช้างดาว’ เพื่อเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้รองเท้าแตะยางพาราสัญชาติไทย ให้ชาวต่างชาติได้รู้จักและสัมผัสวิถีการสวมรองเท้าธรรมดาในวันสบาย ๆ สไตล์ไทยแลนด์ เช่นเดียวกับพวกเราทุกคน

ทั้งนี้เมื่อดูผิวเผินจะเห็นลวดลายอัตลักษณ์ของรองเท้าช้างดาวแล้วนั้น หากพิจารณาให้ลึกเข้าไปข้างในจะเห็นการเล่าเรื่องผ่านรองเท้าที่เป็นสื่อเชิงสัญญะของสัจธรรมแห่งการดำเนินชีวิตอีกด้วย

“เหมือนกันเกินก็เดินลำบาก ต่างกันมากก็ยากจะเดินไหว ต่างคนต่างดีก็ต่างคนต่างไป คู่ที่ตรงใจคือคู่ที่ไปกันทน”

22 มีนาคม พ.ศ. 2455 ‘ในหลวง ร.6’ ทรงโปรดเกล้าฯ ‘พระราชบัญญัติขนานนามสกุล’ ขึ้นครั้งแรก กำหนดให้คนไทยมีชื่อตัว-ชื่อสกุล ง่ายต่อการทำทะเบียนเกิด-สมรส-ตาย

ก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะนั้นประเทศสยามยังไม่มีการใช้ ‘นามสกุล’ ดังนั้นจึงมีเพียงชื่อที่บิดามารดา หรือผู้เป็นที่เคารพนับถือตั้งให้ การจะรู้ว่าใครเป็นใครจึงต้องจำแนกจากรูปลักษณ์ หรือต้องถามว่าเป็นลูกเต้าเหล่าใครและตั้งบ้านเรือนที่ใด ดังเรียกกันว่า ‘ฉายา’

ซึ่งการไม่มีชื่อสกุลประจำตระกูลนี้ เป็นเหตุให้เกิดความขัดข้องยุ่งยากต่าง ๆ นานัปการ ไม่ว่าทางราชการหรือทางส่วนตัว หรือในการปกครองบ้านเมืองก็ดี ในระหว่างสังคมมนุษย์ย่อมสับสนอลเวงเป็นอันมาก ถ้าญาติผู้น้อยไม่รู้จักญาติผู้ใหญ่ ใครอาวุโสทางศักดิ์ญาติก็แทบนับกันไม่ถูก หรือไม่รู้จักลำดับสูงต่ำในสกุลกำเนิดของตนเอง ที่ควรใกล้ชิดกลมเกลียวกันก็เป็นเหินห่าง ไม่อาจรวมกันติด ไม่มีการติดต่อรวบรวมกันเป็นหมู่เหล่า ต่างครอบครัวต่างตั้งตนเป็นเอกเทศหมด ไม่มีใครรักใคร่นับถือเชิดชูใคร ใครก็ไม่ช่วยเหลือใคร นาน ๆ เข้าก็อาจถึงกลับกลายเป็นอื่นกันไปทั้งสิ้น หรือกลับไปรวมอยู่แต่กับสิ่งใกล้ชิดที่ไม่มีสายสัมพันธ์กัน โดยไม่เคยคำนึงถึงการสืบสกุลรุนชาติ นานหนักเข้าก็อาจทำให้ชาติไทยแตกแยกกันทีละน้อยๆ จนถึงสลายตัวไปในที่สุด นอกจากนั้นในทางปกครองหรือทางศาล ซึ่งเกี่ยวกับจะต้องให้ความคุ้มครอง ความยุติธรรมตลอดจนการลงโทษหรือในกรณีอื่น ๆ ก็เช่นกัน

ด้วยเหตุดังกล่าวมาแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน “พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พระพุทธศักราช 2456” เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2455 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2456 เพื่อให้คนไทยทุกคนต้องมีชื่อตัวและชื่อสกุลให้แพร่หลายทั่วถึงพลเมือง ตลอดทั่วพระราชอาณาจักร เพื่อที่จะได้ทราบรูปพรรณสัณฐานบุคคล และเทือกเถาเหล่ากอสืบมาแต่บิดามารดาใด เพื่อที่จะได้จัดทำทะเบียนคนเกิด คนตาย และการจดทะเบียนสมรสไว้เป็นหลักสืบไป

‘เมฆ วินัย’ เสียชีวิตอย่างสงบ ในวัย 54 ปี หลังเกิดภาวะความดันตก-ติดเชื้อในกระแสเลือด

(21 มี.ค.67) เป็นข่าวเศร้าของวงการบันเทิงอีกครั้ง เมื่อ ‘เอ๋ อรชัญญาช์’ ภรรยาของอดีตพระเอกร้อยล้าน ‘เมฆ วินัย ไกรบุตร’ ได้ออกมาแจ้งข่าวว่า ‘เมฆ วินัย’ ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบเมื่อเวลา 23.49 น. เมื่อวานนี้ (20 มี.ค.) ด้วยภาวะความดันตก ติดเชื้อในกระแสเลือด และสิ้นใจในเวลาต่อมา

ซึ่ง ‘เมฆ วินัย’ ทุกข์ทรมานจากการป่วยเป็นโรคตุ่มน้ำพองมากว่า 5 ปี อาการขึ้นๆ ลงๆ มาโดยตลอด แต่ก็ได้ ‘เอ๋ อรชัญญาช์’ ภรรยาคู่ชีวิตและครอบครัวที่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด พร้อมกับขายผลิตภัณฑ์ calcy collagen เพื่อนำรายได้มาเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาตัว จากนั้นเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาดูเหมือนทุกคนจะเริ่มมีความหวังมากขึ้น เมื่อ ‘หนุ่ม คงกระพัน’ ในฐานะเพื่อนสนิท ได้เริ่มพา ‘เมฆ วินัย’ ไปพบ ‘อ.ไพศาล แสนไชย’ ที่นิมิตรเห็นถึงกรรมเก่าและได้แนะนำให้ ‘เมฆ วินัย’ ไปทำการขออโหสิกรรมจากคนที่เชื้อว่าเคยก่อกรรมมาเมื่ออดีตชาติ เมื่อได้ไปขออโหสิกรรมจนครบทุกคน อาการก็ดูเหมือนจะดีขึ้นมาตามลำดับ แผลเริ่มแห้งขึ้นมาก

แต่แล้วเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ‘เมฆ วินัย’ ต้องเข้าแอดมิทที่โรงพยาบาลด่วน ด้วยอาการเป็นลมในห้องน้ำ 3 วันติด ทางครอบครัวจึงตัดสินใจพาส่งโรงพยาบาลทันที ผลคือร่างกายขาดธาตุเหล็ก ขาดวิตามินแร่ธาตุ และสารอาหารหลายตัว ทำให้ร่างกายรับไม่ไหว บวกกับโรคตุ่มน้ำพองที่มีอยู่เดิมด้วย จนในที่สุดเมื่อเวลา 23.49 น. ของวันที่ 20 มีนาคม ‘เมฆ วินัย’ ก็เสียชีวิตลงอย่างสงบ ด้วยภาวะความดันตก และติดเชื้อในกระแสเลือด สิริอายุ 54 ปี

21 มีนาคม พ.ศ. 2497 วันเกิด ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทย ‘ผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน-สร้างความเจริญ’ ให้กับประเทศไทยตลอด 9 ปี

‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ หรือที่คนไทยทั้งประเทศรู้จักในนาม ‘ลุงตู่’ นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทย และเป็นหนึ่งในนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด ได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นองคมนตรี เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

ทั้งนี้ ‘ลุงตู่’ เกิดที่ จ.นครราชสีมา เป็นบุตรชายของพันเอก (พิเศษ) ประพัฒน์ จันทร์โอชา และเข็มเพชร จันทร์โอชา มารดาซึ่งรับราชการครู เป็นบุตรชายคนโตจากพี่น้องทั้งหมด 4 คน โดยคนหนึ่งคือ พลเอก ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหมและอดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก

สำหรับประวัติการศึกษาของ ‘ลุงตู่’ ได้สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 จากโรงเรียนสหะกิจวิทยา อำเภอเมือง จ.ลพบุรี (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยเทคโนโลยีลพบุรี) ต่อมาได้เข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย อำเภอเมือง จ.ลพบุรี แต่เรียนได้เพียงปีเดียวก็ลาออก เนื่องด้วยบิดาเป็นนายทหารจำต้องโยกย้ายไปในหลายจังหวัด และได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ในสมัยที่ศึกษาอยู่ที่นี่ ‘ลุงตู่’ เคยถูกนำเสนอประวัติผ่านนิตยสารชัยพฤกษ์ ในฐานะเด็กเรียนดีอีกด้วย จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และในปี พ.ศ. 2514 ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมทหาร จนสำเร็จเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 (ตท.12) และในปี พ.ศ. 2519 เป็นนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 23 และหลักสูตรชั้นนายร้อย รุ่นที่ 51 ในปีเดียวกัน และในปี พ.ศ. 2524 หลักสูตรชั้นนายพัน รุ่นที่ 34 และในปี พ.ศ. 2528 หลักสูตรหลักประจำโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 63 และเป็นศิษย์เก่า และในปี พ.ศ. 2550 เข้าเรียนหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน รุ่นที่ 2

สำหรับเส้นทางทางการเมือง ‘ลุงตู่’ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ภายหลังจากได้ตัดสินใจเข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลรักษาการ (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เมื่อ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. กระทั่งมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562

และเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ภายหลังการประชุมร่วมรัฐสภา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการสนับสนุนจากเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกรัฐสภา ให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง (สมัยที่ 2)

แม้จุดเริ่มต้นของการนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 จะมาจากการทำรัฐประหาร แต่ ‘ลุงตู่’ ก็พิสูจน์ให้พี่น้องคนไทยทั้งประเทศเห็นแล้วว่าตั้งใจเข้ามาทำงานเพื่อประเทศชาติ โดยได้มุ่งมั่นทำงานแรงกาย สร้างความเจริญ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลายอย่างให้แก่ประเทศไทย ตลอด 9 ปีที่ทำหน้าที่ ‘ผู้นำประเทศ’

และนี่คือ 9 เรื่องดี ๆ ที่ ‘ลุงตู่’ ได้ฝากไว้ให้คนไทยทั้งประเทศ

1. กำหนด ‘ยุทธศาสตร์ชาติ’ ระยะยาว 20 ปี เพื่อเป็นเข็มทิศนำทางและกรอบแนวคิดในการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ให้เกิดความต่อเนื่อง เป็นเป้าหมายให้ทุกภาคส่วนได้ทำงานร่วมกัน ขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกระดับ 

2. ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมครั้งยิ่งใหญ่ ในทุกระบบ ทั้งทางถนน ทางราง ทางทะเล และทางอากาศ รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต ยกบทบาทของประเทศจากความโดดเด่นทางภูมิรัฐศาสตร์ ให้เป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ ด้านการบิน ด้านการขนส่งสินค้า ด้านการท่องเที่ยว ฯลฯ

3. สร้างความพร้อมเรื่อง ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ และ ‘เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม’ โดยมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล และ 5G ที่โดดเด่นในภูมิภาค เป็นที่ดึงดูดการลงทุนบริษัทชั้นนำของโลกหลายราย ซึ่งจะส่งเสริมบทบาทให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้าน 5G - Data center - Cloud services ที่สำคัญในภูมิภาค มีการใช้ประโยชน์ของประชาชนในชีวิตประจำวัน การศึกษาหาความรู้ การประกอบอาชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตนและสร้างรายได้ที่สูงขึ้นของคนทุกกลุ่ม ทุกสาขาอาชีพ  

4. กำหนด 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมทั้งมีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตส่งเสริมเศรษฐกิจเพื่อกิจการพิเศษ ทั้งด้านการแพทย์ ด้านนวัตกรรม ด้านดิจิทัล เป็นต้น ที่เป็นแหล่งบ่มเพาะแรงงานทักษะสูง-แรงงานแห่งอนาคต รวมถึงเกษตรอัจฉริยะ เพื่อตอบสนองตลาดแรงงานในอนาคต และการพัฒนาประเทศในศตวรรษที่ 21

5. สร้างกลไกในการบริการจัดการทรัพยากรที่สำคัญของชาติ ได้แก่ 

-‘น้ำ’ ออกกฎหมายน้ำฉบับแรกของประเทศ มีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) บูรณาการหน่วยงานน้ำในทุกระดับ 

-‘ดิน’ ตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และจัดทำแผนที่ One Map เพื่อแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อนมาหลายสิบปี รวมทั้งจัดสรรที่ดินทำกินให้กับผู้ยากไร้-เกษตรกร 
-
‘ป่า’ ออกกฎหมายป่าชุมชน ไม้มีค่า และตลาดคาร์บอนเครดิต เพื่อส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ

6. พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เช่น ส่งเสริมสวัสดิการกลุ่มเปราะบางทั้งเด็ก-ผู้สูงอายุ-ผู้พิการ ส่งเสริมบทบาทกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กองทุนยุติธรรม และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และการยกระดับศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้วยการศึกษา รองรับความท้าทายใหม่ ๆ ของโลกในอนาคต

7. ปฏิรูปกฎหมายไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน อำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ และดึงดูดการลงทุนเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ รวมทั้งแก้ไขและบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล สามารถแก้ไขวิกฤตชาติได้ในหลายเรื่อง เช่น ปลดธงแดง ICAO และแก้ปัญหาการประมงผิดกฎหมาย IUU สร้างความเชื่อมั่นประเทศไทยในเวทีโลก 

8. ประยุกต์เทคโนโลยีที่ทันสมัยในระบบราชการไทย เพื่อยกระดับการให้บริการแก่ประชาชนและเอกชน ที่เข้าถึงง่าย - สะดวก - โปร่งใส เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ช่วยให้การจ่ายเงินช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางตรงเป้าหมาย เต็มเม็ดเต็มหน่วย ตรวจสอบได้ และ UCEP สายด่วน 1669 บริการการแพทย์ฉุกเฉิน ฟรีทุกสิทธิ์ ทุกโรงพยาบาล เป็นต้น

9. สร้างความสัมพันธ์ทั่วโลก ทั้งในรูปแบบทวิภาคี-พหุภาคี และเขตการค้าเสรี (FTA) รวมทั้งรื้อฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย เพื่อขยายความร่วมมือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และตลาดการค้าระหว่างกัน

ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นได้ภายใต้การบริหารประเทศของ ‘ลุงตู่’ และแม้การเดินทางของประเทศไทยในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา จะไม่ได้ราบรื่น หรือง่ายดาย ซ้ำยังคงมีวิกฤตโควิด วิกฤตความขัดแย้งในโลก ที่ส่งผลกระทบด้านราคาพลังงาน ค่าครองชีพ และเงินเฟ้อจนถึงในปัจจุบัน แต่ด้วยความร่วมมือร่วมใจ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนไทย ช่วยให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ และฟื้นตัวมาได้ ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ยังคงผันผวนแปรปรวน

ก็ต้องบอกว่า ‘ประเทศไทย’ นับจากวันนี้เป็นต้นไป จะไม่ได้เริ่มนับที่ 1 อีกต่อไป หากทุกอย่างที่ ‘ลุงตู่’ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สร้างมานั้นได้รับการ ‘ต่อยอด’ ก็จะทำให้ประเทศไทยเดินทางเข้าสู่ ‘เส้นชัย’ ได้เร็ววันยิ่งขึ้น

21 มีนาคม พ.ศ. 2557 ‘ในหลวง ร.9’ เสด็จฯ ติดตามการดำเนินงาน ‘โครงการชั่งหัวมัน’ พลิกฟื้นผืนดินแห้งแล้ง สู่โครงการต้นแบบด้าน ‘การเกษตร’ เพื่อคนไทย

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2557 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง ไปยังโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ อำเภอท่ายาง (เป็นการส่วนพระองค์) ในการทอดพระเนตรโรงเลี้ยงโคนม ทรงป้อนนมโคและทรงป้อนหญ้า พันธุ์แทงโกล่า แก่ลูกโค เพศเมียอายุ 3 เดือน จำนวน 2 ตัว ซึ่งดำเนินงานสนองพระราชดำริ ส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคนมให้เกษตรกรที่สนใจ และทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ

ทั้งนี้ ก่อนจะมาเป็น ‘โครงการชั่งหัวมัน’ ในอดีตนั้นเป็นพื้นที่ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เคยเป็นดินลูกรัง แห้งแล้ง และเป็นพื้นที่ปลูกไม้ยูคาลิปตัสไว้ตัดขาย มีแปลงปลูกมะนาวเดิมอยู่ประมาณ 35 และ ไร่อ้อยประมาณ 30 ไร่

ปลายปี พ.ศ. 2551 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงซื้อที่ดินจากราษฎร พื้นที่ประมาณ 120 ไร่ ณ บริเวณอ่างเก็บน้ำหนองเสือ บ้านหนองคอไก่ หมู่ที่ 5 ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ต่อมาปี พ.ศ. 2552 ทรงซื้อแปลงติดกันเพิ่มอีก 130 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งหมด 250 ไร่ และทรงมีดำริให้ทำเป็นโครงการตัวอย่างด้านการเกษตร รวบรวมพันธุ์พืชเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและพื้นที่ใกล้เคียงมาปลูกไว้ที่นี่ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา

โดยกองงานส่วนพระองค์ ขอความร่วมมือหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้เข้ามาช่วยกันปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ เช่น การทำถนนเข้าโครงการ ขุดสระเก็บน้ำ ทำรั้วรอบโครงการ ก่อสร้างอาคาร และสาธารณูปโภค ติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล ทำระบบชลประทาน ทำให้พื้นที่โครงการ และหมู่บ้านใกล้เคียงมีความเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว

สำหรับชื่อโครงการ ‘ชั่งหัวมัน’ ความหมายนั้นมาจาก ‘การชั่งน้ำหนักมันเทศ’ ตามปฐมเหตุที่รองเลขาธิการพระราชวัง ‘ดิสธร วัชโรทัย’ เล่าไว้ ก่อนจะสาธยายต่อไปถึงแก่นแท้หัวใจอันเป็นที่มาแห่งโครงการพระราชดำริอีกหนึ่งโครงการนี้ที่คนไทยทุกคนต่างทราบกันเป็นอย่างดี

“เหตุผลจริงๆ คือ ขนาดว่าหัวมันที่วางอยู่บนตาชั่งซึ่งเป็น ‘เหล็ก’ ยังสามารถงอกขึ้นมาได้ บนผืนดินที่แห้งแล้ง มันก็ต้องขึ้นได้ ดังนั้น นี่ก็จึงเป็นเหตุผลประการสำคัญที่ทำให้พระองค์ท่านมาซื้อที่ดินที่นี่ ที่หมู่บ้านหนองคอกไก่ ซึ่งแห้งแล้งมากๆ พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ครั้งแรก ผืนดินที่นี่ยังมีแต่ต้นยูคาลิปตัส จะปลูกอะไรก็ลำบาก ติดปัญหาเรื่องน้ำ แต่ก็อย่างที่เราทุกคนคงทราบนั่นล่ะว่าอะไรที่ยากลำบาก พระองค์ท่านทรงโปรด พระองค์ท่านจะทำให้ดูเพื่อพิสูจน์ว่าทำได้ เพื่อจะได้เป็นแม่บท และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านเกษตรกรรมของชาวบ้านที่นี่”

“เมื่อก่อนนั้น ที่ดินแถวนี้ดินไม่ดี พระองค์ท่านทรงเลือกซื้อที่ดินที่ไม่ดี ที่ดินดีทรงไม่โปรด เพราะพระองค์ท่านทรงอยากแก้เรื่องที่ดิน จึงเจาะจงซื้อที่ดินที่มีต้นยูคาลิปตัส เพราะจะได้แก้ปัญหาเรื่องดิน”

แต่ปัจจุบันผ่านมาหลายปีแล้ว ผืนดินที่เคยแห้งแล้งแห่งนี้ ได้แปรสภาพกลายเป็นหนึ่งในโครงการต้นแบบด้านการเกษตร มีการจัดสรรทําการเกษตรทั้งแปลงพืชเศรษฐกิจที่ปลูกหลายชนิด อาทิ สับปะรด มะนาว มะพร้าว ข้าว ฟักทอง มันเทศ พืชผักสวนครัว ยางพารา ฯลฯ 

นอกจากนี้ยังมีฟาร์มโคนม ฟาร์มไก่ และแปลงเกษตรที่จัดเป็นสวนสวยให้ผู้มาเยือนแวะมาเยี่ยมชมเพื่อการท่องเที่ยวศึกษาเรียนรู้ ตลอดจนสร้างกังหันลมผลิตไฟฟ้าขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

‘ศาลอาญา’ ยกฟ้อง ‘ใบเตย-ดีเจแมน’ คดี Forex-3D ฟาก ‘ใบเตย’ ขอบคุณที่ความยุติธรรมปรากฏในวันนี้

(20 มี.ค. 67) กรณีศาลอาญานัดพิจารณาคดีที่ผู้เสียหายจากคดี Forex - 3D ฟ้องตรงต่อ ‘ใบเตย อาร์สยาม’ สุธีวัน กุญชร และ ‘ดีเจแมน’ พัฒพล มินทะขิน เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (20 มี.ค.) เบื้องต้นศาลพิจารณาและตัดสินยกฟ้องสองสามีภรรยาในคดีอาญา แต่ส่วนคดีแพ่ง ต้องจ่ายค่าเสียหายล้านกว่าบาท โดยคดีดังกล่าวเป็นคนละคดีกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ยื่นฟ้องดีเจแมนและใบเตย มีมูลค่าความเสียหายนับพันล้านบาท ตอนนี้อยู่ระหว่างการสืบพยานของศาล

โดยภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการ ใบเตย พร้อมทนาย และ แม่ป๋อง พิมพ์แข กุญชร ณ อยุธยา แม่ของดีเจแมน ได้เปิดใจต่อสื่อมวลชน ขอบคุณศาลที่ให้ความเป็นธรรม หลังจากนี้จะทำมาหากินเพื่อลูก ขณะที่แม่ป๋องเผยว่าที่ผ่านมาบอบช้ำกับการที่ชื่อเสียงนามสกุลต้องเสื่อมเสีย แต่หลังจากนี้จะอโหสิกรรมให้ทุกคน

“ขอบคุณศาลที่ตัดสินและให้ความเป็นธรรมกับใบเตย วันนี้ก็เป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว ขอบคุณศาลที่ยังมีตาชั่งแห่งความยุติธรรม ดีใจมากค่ะ เรื่องนี้เป็นบทพิสูจน์ชีวิตจริง ๆ ขอบคุณทนายที่สู้ด้วยกันมา เราสู้กันด้วยความสุจริต ทั้งพยาน หลักฐานจริง ๆ เรามั่นใจในเอกสารหลักฐานของเรา

“อยากขอบคุณทุกคนมาก ๆ ที่ให้กำลังใจ ครอบครัว แฟนคลับ ผู้ใหญ่ทุกคน ขอบคุณโอกาสในการทำงานทุกอย่างที่มอบให้ใบเตย ขอบคุณที่ให้โอกาสใบเตยกลับไปดูแลครอบครัว ดูแลลูก ได้กลับไปร้องเพลงรับใช้แฟนเพลง แฟนละคร ดีใจที่สุด ใบเตยอดทนกับทุก ๆ อย่างมาเกือบปี

“ที่ผ่านมาพยายามรักษาเนื้อรักษาตัว รักษาชีวิตเพื่อวันนี้ มันคุ้มค่ากับการอดทน สิ่งใดเกิดขึ้นแล้วสิ่งนั้นดีเสมอคะ ที่เคยสูญเสียอิสรภาพไป ก็ถือว่าสิ่งใดเกิดขึ้นแล้วสิ่งนั้นดีเสมอ ณ วันนี้ใบเตยพอใจกับตรงนี้ค่ะ

“จากนี้เดินหน้าทำมาหากินเต็มที่เพื่อเลี้ยงลูก จะทำทุกอย่างเพื่อเวทมนต์ และเล่นละคร ร้องเพลงรับใช้แฟน ๆ ต่อไป”

ด้านคดีของ ดีเจแมน ใช้หลักฐานเดียวกันในการต่อสู้คดี ทางด้านแม่ป๋อง พิมพ์แข แม่ของดีเจแมนเผยว่า

“แม่ต้องมีหวัง เราสู้มาตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา เราบอบช้ำมาหลายปีจากการโดนใส่ความ ชื่อเสียงนามสกุล (กุญชร ณ อยุธยา) แม่ มันเรียกร้องกลับมาไม่ได้ ก็อโหสิกรรมกับคนที่ทำให้เราบอบช้ำ เสียชื่อเสียง

“ที่ผ่านมาไม่เคยออกมาแก้ตัวเลย เราเลือกนิ่งจะดีกว่าเรื่องจะได้ไม่บานปลาย แต่กลายเป็นว่าเราเสียหายหนัก แม่สู้เพื่อลูกมาตลอดตั้งแต่วันแรก แม่ไปเยี่ยมแมนทุกวันถ้าไม่มีถ่ายละคร

“ดีเจแมนเข้มแข็งและอดทน สักวันความจริงจะปรากฏ เขาคิดถึงลูกและครอบครัวมาก โดยเฉพาะกับลูกสาว น้องเวทมนต์ ไม่ได้เจอกัน 10 เดือนแล้ว สงสารลูกแม่มาก เวทมนต์ถามทุกวันว่าพ่อไปไหน ทำอะไรอยู่ ก็ต้องโกหกไป เรารู้ว่าเขาทรมาน ก็ได้แต่รอความยุติธรรมและความจริงปรากฏ”

20 มีนาคม พ.ศ. 2280 วันคล้ายวันพระราชสมภพ ‘พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช’ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี บูรพมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งสยามประเทศ

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระนามเดิม ด้วง หรือ ทองด้วง เป็นบุตรพระอักษรสุนทร (ทองดี) ข้าราชการกรมอาลักษณ์ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เสนาบดีกรมพระคลังในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กับท่านหยก ธิดาเศรษฐีจีน มีพระบรมราชสมภพเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2280 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ 

ต่อมาได้ทรงรับราชการเป็นมหาดเล็กในเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต จนพระชนมพรรษาครบ 21 พรรษา ได้ทรงผนวช ณ วัดมหาทลายพรรษาหนึ่ง หลังจากทรงลาผนวชแล้วทรงกลับเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงอีกครั้ง ครั้นพระชนมพรรษาได้ 25 พรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสุริยาศน์อมรินทร์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นหลวงยกกระบัตร ออกไปรับราชการที่เมืองราชบุรี

ต่อมาในปี พ.ศ. 2311 หลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จเข้ามารับราชการในกรุงธนบุรี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระราชวรินทร์ ในกรมพระตำรวจหลวง ได้โดยเสด็จสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไปปราบก๊กต่าง ๆ จนได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ จางวางกรมพระตำรวจ ต่อจากนั้นทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นแม่ทัพไปปราบหัวเมืองต่าง ๆ หลายครั้ง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบำเหน็จความชอบให้เป็นพระยายมราช และทรงทำหน้าที่สมุหนายกด้วย 

ในปีต่อมาทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าพระยาจักรี ที่สมุหนายก และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก รับพระราชทานเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม ครั้น พ.ศ. 2324 ได้เกิดเหตุจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกต้องยกทัพกลับจากเขมรเพื่อปราบจลาจล และได้ขึ้นปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ขณะที่มีพระชนมายุได้ 46 พรรษา 

ทั้งนี้ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีราชธานีเดิมที่อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยามายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา พระองค์โปรดให้สร้างพระราชวังหลวงและโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรมาประดิษฐานยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉลองสมโภชพระนครเป็นเวลา 3 วัน ครั้งเสร็จการฉลองพระนครแล้ว พระองค์พระราชทานนามพระนครแห่งใหม่ให้ต้องกับนามพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรว่า ‘กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์’ หรือเรียกอย่างสังเขปว่า ‘กรุงเทพมหานคร’

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว พระองค์ทรงมีพระราชกรณีกิจที่สำคัญยิ่ง คือ การป้องกันราชอาณาจักรให้ปลอดภัยและทรงฟื้นฟูวัฒนธรรมไทยอันเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและอยุธยา การที่ไทยสามารถปกป้องการรุกรานของข้าศึกจนประสบชัยชนะทุกครั้ง แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของพระองค์ในการบัญชาการรบอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามกับพม่าใน พ.ศ. 2328 ที่เรียกว่า ’สงครามเก้าทัพ‘ นอกจากนี้พระองค์ยังพบว่ากฎหมายบางฉบับที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยาไม่มีความยุติธรรม จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการตรวจสอบกฎหมายที่มีอยู่ทั้งหมด เสร็จแล้วให้เขียนเป็นฉบับหลวง 3 ฉบับ ประทับตราราชสีห์ คชสีห์ และบัวแก้วไว้ทุกฉบับ เรียกว่า ’กฎหมายตราสามดวง‘ สำหรับใช้เป็นหลักในการปกครองบ้านเมือง

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงรับการยกย่องเป็น 1 ใน 8 สมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในประเทศไทย พระองค์ทรงได้รับพระราชสมัญญานามว่าเป็น มหาราช เพราะทรงได้รับชัยชนะจากสงครามเก้าทัพนั่นเอง

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 กันยายน  พ.ศ. 2352 พระชนมพรรษาได้ 73 พรรษา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top