Saturday, 20 April 2024
Y WORLD

สพฐ. ร่วมหารือกรมสุขภาพจิต สร้างความปลอดภัยในโรงเรียน ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เตรียมประเมินสุขภาพจิตของนักเรียน จัดกลุ่มดูแลเยียวยาอย่างตรงจุด

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ตนได้หารือร่วมกับกรมสุขภาพจิตเกี่ยวกับแนวทางการสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในโรงเรียน ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งในส่วนของการทดสอบด้านจิตใจ กรมสุขภาพจิตในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงได้เข้ามาช่วยเหลือ ทั้งด้านการถ่ายทอดความรู้ และทักษะที่ใช้สำหรับการประเมินสุขภาพจิตของนักเรียน ให้กับข้าราชการครูและบุคลากรของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทุกคน เพื่อที่จะทราบว่านักเรียนแต่ละคนมีสภาพจิตใจอยู่ในระดับใด และสามารถจัดกลุ่มนักเรียนให้ง่ายต่อการดูแลได้

ซึ่งจะมีทั้งกลุ่มเด็กสุขภาพจิตปกติ และไม่ปกติ เช่น ชอบทำร้ายตัวเอง ชอบทำร้ายผู้อื่น เป็นต้น เมื่อมีการประเมินนักเรียนแล้ว กรมสุขภาพจิตก็จะให้ความรู้กับครูว่าสามารถเยียวยา ดูแลรักษาพัฒนากับเด็กแต่ละกลุ่มนี้อย่างไร และหากเด็กกลุ่มไหนที่มีสุขภาพจิตอยู่ในระดับที่เกินความสามารถของครู ก็จะมีการประสานบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยการทำงานแบบบูรณาการกัน คือ สุขภาพทางกายโรงเรียนเป็นผู้ดูแล และสุขภาพจิตทางกรมสุขภาพจิตเป็นผู้ดูแล

“ขณะนี้ สพฐ. และกรมสุขภาพจิตได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ ร่วมกันหมดแล้ว เมื่อ สพฐ.ป้อนข้อมูลเด็กในการตอบคำถามต่าง ๆ จะสามารถประมวลผลออกมาได้ทันทีว่าสุขภาพจิตของเด็กอยู่ในระดับไหน ก็สามารถจะจัดกลุ่มดูแลเยียวยาเด็กได้อย่างตรงจุด โดยจะมีการนำร่องในกลุ่มโรงเรียนคุณภาพชุมชนและโรงเรียนมัธยมดีสี่มุม จังหวัดละ 1 แห่ง จะเริ่มในปีการศึกษา 2564 นี้

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่ทำให้ สพฐ.และหน่วยงานที่มีองค์ความรู้ทางด้านสุขภาพจิต ได้เข้ามาช่วยเหลือกัน รวมถึงจะมีการต่อยอดถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้ปกครองด้วย เนื่องจากเราต้องการที่จะให้ทุกคนร่วมกันดูแลการสังเกตเด็ก เพื่อให้เด็กได้มีทั้งกำลังกาย กำลังใจที่ดี มีความสุข พร้อมที่จะเรียนรู้ในแหล่งการเรียนรู้ที่ดี” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว


ที่มา: https://www.facebook.com/312592942736950/posts/717511342245106/?d=n

รมว.ศึกษาธิการ ดึง กูรู เร่งปรับหลักสูตรด้านประวัติศาสตร์ ทั้งการ “เรียน - สอน” ให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น ยกระดับประวัติศาสตร์ไทย หนุนภูมิปัญญาท้องถิ่น ดันเศรษฐกิจประเทศ

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นการกระชุมผู้ทรงคุณวุฒิรายวิชาประวัติศาสตร์ว่า เมื่อวันที่ 22 ก.พ. มีผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นคณะทำงานด้านหลักสูตรประวัติศาสตร์เข้าร่วมประชุมหลายท่าน โดยแต่ละท่านมีประสบการณ์ด้านประวัติศาสตร์หลากหลายแขนง ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ชาติไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมประเพณี เป็นต้น ซึ่งบางท่านเคยร่วมทำหลักสูตรกับทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มาก่อนด้วย

สำหรับผู้ทรงคุณวุฒิกลุ่มนี้ ได้นำเสนอแนวทางการเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของไทย ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบในการนำเสนอให้มีความน่าสนใจ และสามารถทำให้เกิดการซึมซับในความภาคภูมิใจของความเป็นไทย ซึ่งสอดคล้องและสามารถนำไปผสมผสานกับแผนงานที่กระทรวงศึกษาธิการที่กำลังเตรียมทำไว้ในแผนการบูรณาการการศึกษา ในการจะรวมโรงเรียนเครือข่ายในการสร้างโรงเรียนคุณภาพชุมชน

“ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้น ก็คือ การนำความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือนำประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเข้ามาให้ความรู้ แม้จะเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของการเชื่อมต่อในการที่จะบูรณาการการศึกษา แต่เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะว่าในอนาคต มีหลาย ๆ อย่างที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ หลายๆ อย่างที่เกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือความสามารถทักษะที่เราจะนำสินค้าท้องถิ่นมาโปรโมต เพื่อให้มีการต่อยอดทางด้านเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่เราจำเป็นต้องวางรากฐานให้มีความเข้มแข็งตั้งแต่วันนี้” นายณัฏฐพล กล่าว

นอกจากนี้ นายณัฏฐพล ยังย้ำด้วยว่า การปรับหลักสูตรนั้น เป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานด้านหลักสูตร ที่จะต้องนำเอาไปพิจารณาว่า วิธีการจะเป็นอย่างไร และทำให้เกิดการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ได้จริงอย่างไร หรือวิชาประวัติศาสตร์นั้น จะนำมาปรับในหลักสูตรพื้นฐาน ซึ่งเรื่องนี้ผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าว ก็จะต้องนำหลักสูตรไปผสมผสานกับฝ่ายวิชาการของ สพฐ. และฝ่ายคณาจารย์จากมหาวิทยาลัย ที่ตั้งคณะทำงานขึ้นมาแล้ว โดยจะนำไปผสมผสานกันในศาสตร์เหล่านี้ได้อย่างไร

สำหรับหลักสูตรด้านประวัติศาสตร์ส่วนนี้ ที่ต้องนำมาผสมผสานกันนั้น นายณัฏฐพล กล่าวว่า สิ่งที่ตนเองต้องการเห็น ก็คือ อยากให้เด็กๆ ได้ซึมซับสิ่งเหล่านี้ เพราะประวัติศาสตร์ไทยมีเสน่ห์หลายอย่าง มีความหลากหลาย ซึ่งไม่ใช่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องการสู้รบอย่างเดียว และเป็นสิ่งที่เราต้องทำการประชาสัมพันธ์ หรือโปรโมตอย่างเต็มที่ เพราะเราต้องการที่จะพัฒนาด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย

“ดังนั้นอะไรที่จะมีเสน่ห์เท่าประวัติศาสตร์ อย่างเวลาที่เราเดินทางไปประเทศต่างๆ เพราะว่าเราการไปเห็นประวัติศาสตร์ของประเทศเขา หากเราสามารถยกระดับความสวยงามในท้องถิ่นทั่วทั้งประเทศได้ โดยผ่านกระบวนการการศึกษา ผ่านคนที่มีความรู้ ผ่านนักเรียน และผู้ปกครองที่มีความรู้มากขึ้น ในอนาคตก็จะสามารถต่อยอดให้ประเทศได้เป็นอย่างดี และจะยิ่งดึงดูดให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มมากขึ้นอีก” รมว.ศธ. กล่าว...

ขณะเดียวกันในส่วนของครู แม้มีความตั้งใจอยู่แล้ว แต่ความมั่นใจ หรือความรอบรู้ในด้านประวัติศาสตร์ในแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกัน จึงต้องเข้าใจว่าครูในทั่วประเทศกระจายทั่วไปหมด ไม่ใช่ว่าครูอยู่ที่จังหวัดระยองเป็นคนระยอง ดังนั้นความกล้า และความเข้าใจ ในการที่จะนำเสนอด้านประวัติศาสตร์ในจังหวัดนั้น ๆ ก็จะมีความเข้มข้นไม่มาก ซึ่งเรื่องนี้จึงต้องมีการบูรณาการกันทั้งระบบ

“ดังนั้นเรื่องนี้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร หากมีการจัดระบบองค์ความรู้ในแต่ละจังหวัด ส่วนในวิธีการนำเสนอผมมั่นใจว่า ครูสามารถปรับเปลี่ยนได้อยู่แล้ว” นายณัฏฐพล กล่าว

นายณัฏฐพล กล่าวเพิ่มด้วยว่า สำหรับวันนี้ครูเอกสังคม มีองค์ความรู้การผสมผสานในหลายๆ ด้าน แต่ในเบื้องต้นต้องขอให้คณะทำงานด้านหลักสูตรนำเสนอมาก่อน เนื่องจากประวัติศาสตร์ ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจ ภูมิศาสตร์ และพุทธศาสนา ซึ่งต้องมาดูว่าจะทำการเชื่อมต่อได้อย่างไร

“เด็กที่สนใจ เลข วิทย์ อาจจะไปเป็นวิศวะ แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ เพื่อสามารถนำรูปแบบต่างๆ ไปออกแบบ เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ ซึ่งจะมีส่วนเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกันหมด ดังนั้นจึงต้องรอให้ทีมงานนำเสนอหลักสูตรมาก่อนโดยคำนึงถึงความเหมาะสม” นายณัฏฐพล กล่าว


ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/politic/2037768

“Thai MOOC” แพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ เปิดโอกาสด้านการศึกษาให้กับคนไทยทุกเพศทุกวัยได้เรียนฟรีแบบไม่มีเงื่อนไข เผยยอดผู้เรียนทะลุกว่า 800,000 คน พร้อมดันแพลตฟอร์มสู่ระดับสากล

เพราะการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด Thai MOOC Platform (Thailand Massive Open Online Course Platform) ภายใต้กำกับของโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับคนไทยทุกคน ก้าวสู่ปีที่ 5 มุ่งพัฒนาหลักสูตรที่พร้อมพัฒนาคนในทุกช่วงวัย ปั้นรายวิชาทั้งไทยและต่างประเทศ กว่า 500 รายวิชา จากผู้เชี่ยวชาญกว่า 120 สถาบัน ซึ่งมียอดผู้เรียนทะลุกว่า 800,000 คน พร้อมดันแพลตฟอร์ม Thai MOOC สู่ระดับสากล

เมื่อการศึกษาและการเรียนรู้ในปัจจุบันไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน Thai MOOC Platform หรือแพลตฟอร์มการจัดการเรียนรู้ออนไลน์แบบเปิดจึงเกิดขึ้น เพื่อเปิดโอกาสด้านการศึกษาให้กับคนไทยทุกเพศทุกวัยได้เรียนฟรีแบบไม่มีเงื่อนไข กับคอร์สเรียนออนไลน์คุณภาพที่ได้มาตรฐานจากอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพต่าง ๆ ด้วยระบบการเรียนที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เลือกเรียนได้ในเวลาที่สะดวก พร้อมกันนี้ Thai MOOC มุ่งหวังให้ผู้เรียนสามารถเก็บประวัติการเรียนและสะสมผลการเรียนรู้ เพื่อเทียบโอนวุฒิการศึกษาได้ด้วยในอนาคต Thai MOOC จึงกลายเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถตอบโจทย์ทั้งการเรียนในระบบและการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้

รศ.ดร.ฐาปนีย์ ธรรมเมธา ผู้อำนวยการโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย กล่าวว่า “ในปีนี้เราก้าวสู่ปีที่ 5 มีสมาชิกกว่า 800,000 คน ที่ครอบคลุมทั้งเยาวชนระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษา กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่พึ่งสำเร็จการศึกษา และกลุ่มผู้สูงวัย สะท้อนให้เห็นความตระหนักถึงคุณค่าการเรียนรู้ตลอดช่วงวัยที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย เราอยากผลักดันให้ Thai MOOC เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับคนไทยและเชิญชวนให้คนไทยทุกช่วงวัยเข้ามาหาข้อมูลการเรียนรู้จากที่นี่ได้อย่างต่อเนื่อง”

ผศ.ภก.ดร.อนุชัย ธีระเรืองไชยศรี รองผู้อำนวยการโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย กล่าวว่า “Thai MOOC เป็นเสมือนศูนย์กลางแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ที่อำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้เรียน เรารวบรวมเอาข้อมูลรายวิชาออนไลน์จากผู้ให้บริการทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามารวมไว้ด้วยกัน เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหา และมีระบบ IDP (Identity Provider) ที่ให้ผู้เรียนสามารถเข้าใช้งานระบบต่าง ๆ ที่ร่วมมือกับ Thai MOOC ได้โดยไม่ต้องสมัครสมาชิก ถือได้ว่าเป็น One Stop Service สำหรับผู้เรียนออนไลน์เลยทีเดียว”

ศ.ดร.จินตวีร์ คล้ายสังข์ รองผู้อำนวยการโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย กล่าวว่า “การศึกษาเป็นเรื่องของทุกภาคส่วน เราอยากให้คนไทยเข้าถึงการศึกษาได้อย่างทั่วถึง ที่ผ่านมาเราได้มีการประชุมระดับชาติ ระดับนานาชาติ ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการประชุมในระดับอาเซียนที่เราร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการร่วมกับประเทศเกาหลีใต้ (ASEM: MOOC's Stakeholder Forum 2020) เพื่อหารือเกี่ยวกับหลักสูตรและแพลตฟอร์มที่ได้มาตรฐาน เริ่มมีการเจรจาการแลกเปลี่ยนรายวิชา ทั้งกับ MOOC ในเอเชีย เช่น J-MOOC(ประเทศญี่ปุ่น) หรือ K-MOOC (ประเทศเกาหลีใต้) หรือแม้แต่ทางฝั่งยุโรปอย่างประเทศอิตาลี ในอนาคตเราได้มีการเพิ่มซับไตเติ้ล (Subtitle) เป็นภาษาไทย คาดว่าในปีหน้าเราจะมีรายวิชาที่เป็นหลักสูตรต่างชาติ 20 รายวิชาแน่นอนค่ะ”

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเรียน และเลือกค้นหารายวิชาที่สนใจในประเด็นต่าง ๆ จากคำสำคัญได้ เช่น สุขภาพภาษา ดิจิทัล การถ่ายภาพ จิตวิทยา ฯลฯ ผ่านช่องทาง thaimooc.org หรือติดตามข่าวสารทาง Facebook Fan page “THAI-MOOC”


ขอบคุณที่มาและรูปภาพ: https://siamrath.co.th/n/221733

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก TCAS64 รอบที่ 1 แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio)

ตรวจสอบรายชื่อ http://www.atc.chula.ac.th/TCAS/TCAS1q.php

ผู้ที่ได้รับการประกาศรายชื่อเป็นผู้ผ่านการคัดเลือก จะต้องเข้าไปทำการยืนยันสิทธิ์การเข้าศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในระบบ TCAS64 รอบที่ 1 ระหว่างวันที่ 22 - 23 กุมภาพันธ์ 2564 ตามที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กำหนด

หากไม่เข้าไปทำการยืนยันสิทธิ์ตามที่ ทปอ.กำหนด จะถือว่าสละสิทธิ์และไม่ประสงค์จะเข้าศึกษาในโครงการนั้น ๆ

(ดูรายละเอียดของการยืนยันสิทธิ์ในระบบ TCAS64 ได้ที่ https://student.mytcas.com)

เปิดเส้นทางการศึกษาของประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา มัธยมศึกษา เตรียมอุดมศึกษา ถึงระดับอุดมศึกษา

ระบบการศึกษาของมาเลเซีย

1.) ระดับก่อนประถมศึกษา

การศึกษาภาคบังคับของมาเลเซียเริ่มเมื่อนักเรียน อายุประมาณ 7 ปี มาเลเซียจึงไม่มีข้อบังคับเกี่ยวกับการเรียนระดับก่อนประถมศึกษา

โรงเรียนอนุบาลในมาเลเซียเป็นโรงเรียนเอกชน ส่วนมากมีที่ตั้งอยู่ในชุมชนเมือง สําหรับกลุ่มผู้ปกครองที่มีฐานะทางการเงินที่ดีและต้องการส่งเสริมพัฒนาการของบุตรก่อนเข้าโรงเรียนประถม

2.) ระดับประถมศึกษา

มีระยะเวลา 6 ปี ตั้งแต่ระดับ Year 1 (Tahun 1) ถึง Year 6 (Tahun 6) แม้จะมีการสอบภายในทุกภาคเรียน แต่นักเรียนสามารถเลื่อนระดับไปเรียนในปีถัดไปได้เลย แม้จะสอบได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ (แต่ละปีมี 2 ภาคเรียน ภาคที่ 1 เดือน ม.ค.- พ.ค. 20 สัปดาห์ และภาคที่ 2 เดือน มิ.ย.- พ.ย. 22 สัปดาห์ มีหยุด 4 ครั้ง ระหว่างภาคและกลางภาค รวม 10 สัปดาห์)

การศึกษาของรัฐแบ่ง ร.ร. ออกเป็น 2 ประเภทได้แก่

(1) National schools (Sekolah Kebangsaan: “SK”) ใช้ภาษามาเลเซียเป็นสื่อหลักในการเรียนการสอน

(2) National-type schools หรือ Vernacular schools (Sekolah Jenis Kebangsaan: “SJK”) ใช้ ภาษาอื่นเป็นสื่อหลักในการเรียนการสอน ปัจจุบันคงเหลือเพียงโรงเรียนที่ใช้ภาษาจีนกลางในระบบการเขียนแบบ simplified “SJK (C)” และที่ใช้ภาษาทมิฬ “SJK (T)” ในอดีตเคยมีโรงเรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษและภาษาปัญจาบเป็นสื่อการเรียนการสอนด้วย แต่ปัจจุบันไม่มี

3.) ระดับมัธยมศึกษา

มีระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ระดับ Form I (Tingkatan 1) จนถึง Form V (Tingkatan 5) แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่มัธยมศึกษาตอนต้น (Forms I-III) และตอนปลาย (Forms IV-V) โดยทั่วไป นักเรียนสามารถเลื่อนระดับได้ทุกปี แม้ว่าจะสอบได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์

รัฐบาลมาเลเซียกําหนดให้การเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาทั้งหมด (ไม่รวมวิชาภาษา) ใช้ภาษามาเลเซียเป็นภาษาหลัก

4.) ระดับเตรียมอุดมศึกษา

นักเรียนมาเลเซียที่ประสงค์จะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐสามารถเลือกศึกษาในระดับเตรียมอุดมศึกษาได้ 2 แนวทางได้แก่

(1) ศึกษาต่อในระดับ Form VI เป็นเวลา 1.5 ปี เพื่อสอบประกาศนียบัตร Sijil Tinggi Persekolahan Malaysia (“STPM” - เดิม เรียกว่า Higher School Certificate) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับระบบการสอบ Advanced GCEs ของอังกฤษ นักเรียนสามารถลงเรียนและสอบได้ไม่เกิน 5 วิชา ซึ่งมหาวิทยาลัยของรัฐส่วนใหญ่มักกําหนดให้วิชา General Studies เป็นหนึ่งในวิชาบังคับสําหรับการเข้าศึกษาต่อ ทั้งนี้ นักเรียนสามารถเลือกสอบวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษได้ด้วย

(2) ศึกษาในหลักสูตร Matriculation Programme ของสถาบัน ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาเป็นพิเศษโดยมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในลักษณะคล้าย Foundation Programme ซึ่งผลการสอบจะสามารถใช้ได้เฉพาะกับมหาวิทยาลัยนั้น ๆ เท่านั้น

5.) ระดับอุดมศึกษา

หลักสูตรปริญญาตรีโดยทั่วไปมีระยะเวลา 3 หรือ 4 ปี ส่วนมากใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอน หรือผสมผสานระหว่างภาษาอังกฤษกับภาษามาเลเซีย ยกเว้นมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (Universiti Kebangsaan Malaysia: “UKM”) ซึ่งใช้ภาษามาเลเซียในการเรียนการสอนทั้งหมดในวิชาที่ไม่ใช่วิชาภาษาต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนชั้นนํามักกําหนดใช้ผลการสอบ STPM (หรือ UEC ในมหาวิทยาลัยเอกชน) และคะแนนสอบ Malaysian University English Test (MUET) เป็นเกณฑ์ในการสมัครเข้าศึกษาต่อ และรับพิจารณาวุฒิการศึกษาจากต่างประเทศสําหรับนักศึกษาต่างชาติ โดยสำหรับประเทศไทยนั้น กําหนดให้นักเรียนต้องจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยมีคะแนนดีเพียงพอสําหรับการเข้ามหาวิทยาลัยไทยในระดับเดียวกัน (นักเรียนที่มีคะแนน O-NET/GAT/PAT ที่ดี หรือมีมหาวิทยาลัยไทยรองรับแล้ว อาจได้รับการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ) และมีคะแนนสอบภาษาอังกฤษ (IELTS หรือ TOEFL) ประกอบ

โดยภายหลังจากที่มหาวิทยาลัยตอบรับแล้ว นักศึกษาต่างชาติทั้งหมด จะต้องจัดส่งเอกสารทางการศึกษาทั้งหมดให้หน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซีย คือ Education Malaysian Global Services Bhd. (“EMGS”) เป็นผู้ตรวจสอบหลักฐานก่อนจึงจะสามารถขอตรวจลงตรา (“วีซ่า”) ได้ หลักสูตรปริญญาโททั่วไปมีระยะเวลา 2 ปี และปริญญาเอก ประมาณ 4 - 5 ปี โดยทั่วไปใช้ปริญญาตรีและปริญญาโทเป็นวุฒิหลักในการสมัครตามลําดับ แต่มีรายละเอียดแตกต่างกันไป


ขอบคุณข้อมูลจาก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์

ขอบคุณที่มา: https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=3494320973985936&id=541186885966041

ใกล้วันสอบที่สำคัญอย่าง GAT/PAT หลายคนอาจตื่นเต้น! อยากรู้ว่าตัวเองจะนั่งอยู่ส่วนไหนของห้องสอบ ปกติแล้วผังที่นั่งสอบสนามสอบ GAT/PAT มีการจัดแถว/ตอนที่นั่งยังไงบ้าง ไปลองดูกัน

โซนหน้าห้อง คือ ตอน 1 ตั้งแต่แถว 1-5

โซนหลังห้อง คือ ตอน 6 ตั้งแต่แถว 1-5

โซนริมหน้าต่าง คือ แถว 5 ตั้งแต่ตอน 1-6

*จากภาพประกอบนี้เป็นการจัดผังที่นั่งแบบ Basic ของสนามสอบหลาย ๆ แห่ง บางสนามสอบที่ใช้ห้องเรียนพิเศษที่มีขนาดใหญ่อาจจะมีแถว 6 เพิ่มมา

*การจัดแถว/ตอน ในบางสนามสอบอาจจะสลับกัน ขึ้นอยู่กับความสะดวกและขนาดของพื้นที่ห้องสอบ

สาวนักกฎหมาย ดีกรีนักเรียนทุน ก.พ ประเทศอังกฤษ 'พรรษสลิล รีพรหม' | Click on Clever EP.3

สาวนักกฎหมาย ดีกรีนักเรียนทุน ก.พ ประเทศอังกฤษ กับการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพราะทุกความสำเร็จต้องตั้งใจและใช้เวลา

.

 

 

แชร์เก็บไว้เลย! ตารางสอบของเด็ก'64 ที่ The Study Times รวบรวมมาให้แล้ว เตรียมตัวให้พร้อม แล้วไปลุยกันเลย!

GAT/PAT

วันสอบ 20 - 23 มี.ค. 64

ประกาศผล 23 เม.ย. 64

 

O-NET

วันสอบ 27 - 28 มี.ค. 64

ประกาศผล 27 เม.ย. 64

 

9 วิชาสามัญ

วันสอบ 3 - 4 เม.ย. 64

ประกาศผล 29 เม.ย. 64

 

วิชาเฉพาะของแต่ละสถาบัน

วันสอบ 6 - 10 เม.ย. 64

ประกาศผล สถาบันกำหนด

แอพพลิเคชั่นยอดฮิต และคนไทยที่ใช้ Smart phone ระบบ IOS กำลังเห่อเลยก็หนีไม่พ้น Clubhouse เป็นอีกหนึ่งการยกระดับแอพพลิเคชั่น ที่ทำในสิ่งที่ Social media อื่นทำไม่ได้ คือการสร้างกลุ่มหรือสังคม Community ในรูปแบบของห้องสนทนาแบบสัมมนา แล้วพูดคุยกันสด ๆ

???? แอพพลิเคชั่นยอดฮิต และคนไทยที่ใช้ Smart phone ระบบ IOS กำลังเห่อสุดๆเลยก็หนีไม่พ้น Clubhouse เป็นอีกหนึ่งการยกระดับแอพพลิเคชั่น ที่ทำในสิ่งที่ Social media อื่นทำไม่ได้ คือการสร้างกลุ่มหรือสังคม Community ในรูปแบบของห้องสนทนาแบบสัมมนา แล้วพูดคุยกันสดๆ ในกระทู้ที่ผู้จัดการสัมมนาตั้งขึ้น และสามารถมีคนที่ถูกเชิญเข้ามาฟังได้ จำนวนมากถึงหลักพัน แบบเข้าไปฟังได้ฟรี!  

Clubhouse เป็นที่พูดถึงอย่างมาก มีการวิเคราะห์กันในแวดวงสื่อ รวมไปถึงวงการเทคโนโลยี ว่าตัวแอพพลิเคชั่นนี้ จะมา Disrupt การเล่าเรื่องผ่านเสียงอย่าง Podcast หรือเปล่า หรือแม้กระทั่งผู้ประกอบการ สถาบันฝึกอบรมสัมมนาในยุคก่อน Covid-19 ที่มีการเก็บเงิน เรียกได้ว่าเป็นอาชีพหลักกันหลายคน จะถูก Disrupt ไปด้วยไหม

น่าคิด! และมีสิทธิ์เป็นไปได้ ! ตอนแรกตอนที่ผู้เขียนได้รับการเชื้อเชิญจากรุ่นพี่ให้เข้าไปใน Clubhouse ก็ตื่นตาตื่นใจอย่างมาก แล้วก็พบว่า ใน Clubhouse ทำให้รู้สึกอัศจรรย์ใจ เราได้เจอคนที่ทั้งเป็นเพื่อนเรา ทั้งเก่าและใหม่  คนที่ไม่ใช่เพื่อนเราแต่สนใจสิ่งใกล้ ๆ กัน หรือเหล่าคนดังที่เราไม่คิดว่าจะได้ใกล้คิดเขา แต่ Clubhouse ทำให้เกิดสิ่งเหล่านั้นได้ (โอ้โห! เทคโนโลยี มันทำได้แบบนี้แล้วจริง ๆ)

ในห้องสัมมนา (ขอเรียกแบบนั้น) ใครก็ได้ตั้งกระทู้ขึ้นมา (Moderator) แล้วชวนคนขึ้นไปคุย หรือเปิดโอกาสให้คนที่เป็นผู้ฟังได้พูด มีตั้งแต่เรื่องทางวิชาการ สาระความรู้ การพัฒนาตัวเองไปจนถึงเรื่องขำขัน ตลก หรือแม้กระทั่งเรื่องเพศศึกษา ด้วยความเป็นแอพพลิเคชั่น Social media แน่นอนว่า เราสามารถเข้าไปฟังห้องพูดคุย สัมมนา ในกลุ่มต่าง ๆ ได้ทั่วโลก เรียกได้ว่า เป็นคลังความรู้ฟรี ๆ ในรูปแบบนึงเลยทีเดียว

สังเกตมาสัปดาห์หนึ่ง ในมุมมองแบบคนทำสื่อ ก็จะเห็นการวางรันดาวน์โดยธรรมชาติแบบไม่ต้องมีบรรณาธิการ ตอนเช้าจะเป็นเรื่องเบา ๆ สร้างสรรค์ ต้อนรับวันใหม่ กลางวันก็เริ่มมีกลุ่มมาแชร์ชีวิตในที่ทำงาน ช่วงค่ำเนื้อหาวิชาการจัด พอหลังเที่ยงคืนเท่านั้นแหละ เรื่องเพศศึกษา สัพเพเหระก็จะมา บันเทิงทีเดียว

ส่วนตัวแล้วชอบเข้าไปฟังเรื่องตลก เรื่องบันเทิง เรื่องนินทา เพราะรู้สึกว่า Clubhouse มีธรรมชาติของการ “แอบฟังคนคุยกัน”  อาจจะเพราะว่าทำงานอย่างหนักมาทั้งวัน ให้ฟังเรื่องวิชาการเคร่งเครียดอีก ก็คงไม่ไหว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้จัดการสัมมนา (Moderator) ด้วยว่า ต้องการให้ห้องนั้น เป็นลักษณะ คุยเล่น หรือ แบ่งปันความรู้ที่เป็นทางการ  แต่ทั้งนี้สำหรับผู้เขียนหากต้องการฟังเรื่องที่พัฒนาตัวเองหรือเป็นความรู้จะชอบ Podcast มากกว่า เพราะฟังได้ยาว ๆ ไม่ถูกขัดจังหวะจากการพูดคุยกัน แต่ก็ต้องบอกว่านี่คือความชอบส่วนตัว

พอเห็นปรากฏการณ์ของนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในยุคนี้แล้ว หันกลับมามองในส่วนของภาคการศึกษาไทยแล้วก็รู้สึกหวั่นใจ ว่ายุคสมัยที่ชุดข้อมูลสามารถเสพได้จากเครื่องมืออื่นมากมายหลายรูปแบบ กับระบบและหลักสูตรการศึกษาไทย จะปรับตัวไปได้ทันยุคสมัยหรือไม่ ต้องจับตา และแม้ Clubhouse จะใช้ได้ในประเทศที่อนุญาตให้แอพนี้ Active และยังจำกัดผู้ใช้เฉพาะระบบ IOS  แต่ก็คิดว่าในอนาคตตัวระบบก็คงพัฒนาให้คนใช้ระบบ Android ได้ใช้เช่นกัน

ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีพัฒนาไปไวจริง ๆ ในฐานะที่เป็นทั้งคนทำและคนเสพสื่อ ได้เฝ้ามองปรากฎการณ์ของการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผ่านนวัตกรรมใหม่ ๆ และอยู่ในยุคโรคระบาดไปพร้อม ๆ กัน ก็พบว่าหากจะอยู่อย่างเข้าใจ จำเป็นต้อง “ปรับตัว” ให้ทัน ไม่เช่นนั้น อาชีพที่เคยทำก็จะถูกกลืนกิน รายได้ที่เคยได้รับอาจเป็นศูนย์ได้พริบตา ความเจ็บปวดเหล่านี้ เชื่อว่าหลายท่านคงประสบพบเจอ แต่ขอให้รู้ไว้ว่า “เราจะเป็นกำลังใจให้กันเสมอ” ในเมื่อเรายังมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ โลกหมุนไป เราก็จะต้องหมุนตามไปเช่นกัน หรือหากใครมีศักยภาพเป็นผู้ทำหมุนโลกไปเอง ก็สุดแสนจะจินตนาการ แต่ก็นั่นแหละ ความเปลี่ยนแปลงคือเรื่องจริงแท้แน่นอน และเป็นเช่นนั้นเสมอมา


เขียนโดย ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา Head of Content Editor THE STUDY TIMES

สวัสดีเพื่อนซี้ 你好 (หนี่ห่าว) | เพื่อนซี้หนี่ห่าว 你好 EP.1

สดใสไปกับ 4 สาวเพื่อนซี้ แบ่งปันชีวิตการเรียนมัธยมปลายที่ประเทศจีน และ Lifestyle สุด Chic แบบชาว Gen Z

.

ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ เด็ก TCAS.64 มีอะไรต้องทำบ้าง วันนี้ The Study Times มาย้ำเตือนชัด ๆ อีกรอบ!

22 ก.พ. ทปอ.ประกาศผล TCAS รอบ Portfolio

22 - 23 ก.พ. ยืนยันสิทธิ์ รอบ Portfolio ในระบบ myTCAS

24 - 25 ก.พ. สละสิทธิ์รอบ Portfolio ในระบบ myTCAS

ฝ่ายวิชาการวิทยาลัยจี๋เหม่ย ประเทศจีน ชื่นชมเด็กไทยนักเรียนทุนเฉินเจียเกิง หลังใช้วันหยุดช่วงปิดเทอมทำหน้าที่ผู้ประกาศข่าวและพิธีกรร่วมกับ The Study Times สำนักข่าวเพื่อการศึกษาออนไลน์ของไทย แบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับการศึกษาในประเทศจีน ระบุข้อความว่า…

การเล่าเรื่องราวด้วยภาษาจีนที่ดีและทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวอันเป็นมิตร

เบื้องหลังการถ่ายทำ

ในช่วงปิดเทอมแรก (ฤดูหนาว) ปี 2021 นักเรียนชาวต่างชาติ(ไทย) ทุนรุ่น19 (น.ส.พิชามญชุ์ เกื้อมา李莲雾)、(น.ส.ลภัสนันท์ นันทกุล 陈丽)、(น.ส.ภัควดี นิธิสหกุล陈悦榕) และ(น.ส.บุญา เถกิงสุขวัฒนา 罗亮亮) ได้เข้าร่วมในการฝึกงาน ด้านการออกอากาศข่าวการศึกษา ของสื่อท้องถิ่นของประเทศไทย “The Study Times”

ในระหว่างการฝึกงาน นักเรียนทั้ง 4 คนได้อวยพรวันปีใหม่จีน ให้กับผู้ชมทางบัญชี Tik Tok ของ The Study Times และแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับการศึกษาในประเทศจีน ด้วยภาษาจีนที่คล่องแคล่ว และ ด้วยมารยาทที่เอื้อเฟื้อ นักเรียนทั้งสี่คนได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์อันมีเสน่ห์ของนักเรียน ทุนเฉินเจียเกิง(ผู้ให้ทุน) อย่างเต็มที่และภาคภูมิใจ

ห้องนักเรียนต่างชาติรุ่น 2019 เป็นห้องเรียนรุ่นที่3 ของโรงเรียนซึ่งประกอบด้วยนักเรียนต่างชาติ จากประเทศไทย เวียดนาม ลาว และอินโดนีเซีย นับเป็นการพัฒนาครั้งประวัติศาสตร์ในการก้าวสู่ความเป็นสากลของโรงเรียน เราเฝ้ารอคอยการประสบความสำเร็จของนักเรียนชาวต่างชาติ ได้เล่าเรื่องราวของจีนในประเทศของตนในอนาคต และทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวสารที่ดีและเป็นมิตร

ผู้แปล น.ส.พิชามญชุ์ เกื้อมา 李莲雾


ที่มา https://mp.weixin.qq.com/s/lPLm4m7LSDrQ-vRy_qvyag

เราสามารถจิตนาการถึงรูปแบบความสัมพันธ์ที่มีความสุขได้ เพียงเลือกอยู่กับใครสักคนที่เป็นความสบายใจ รักที่สอนให้เราเห็นคุณค่าในตัวเอง แต่บางคนกลับเลือกที่จะทนกับรักที่ปวดร้าว ตกอยู่ใน ‘Toxic Relationship’ หรือความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ…

Toxic Relationship หรือแปลตรงตัวคือ ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ อาจจะคุ้นหูคุ้นตากันมาบ้าง มันคือนิยามของรูปแบบความสัมพันธ์ที่ทำให้เราเป็นทุกข์มากกว่าสุข ความสัมพันธ์เชิงลบที่บั่นทอนกันและกันไปเรื่อย ๆ ความสัมพันธ์ในที่นี้อาจไม่ได้เฉพาะเจาะจงแค่ในแบบคู่รัก แต่ยังรวมไปถึงความสัมพันธ์ของเพื่อน หรือแม้กระทั่งคนในครอบครัวเองก็ตาม

Dr. Lillian Glass ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและจิตวิทยา จากแคลิฟอร์เนีย ผู้บัญญัติศัพท์ในหนังสือ Toxic People ในปี 1995 ให้คำจำกัดความของความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ หรือ Toxic Relationship ว่า “ความสัมพันธ์ใด ๆ [ระหว่างคนสองคน] ที่ไม่สนับสนุนซึ่งกันและกัน มีความขัดแย้ง คนหนึ่งพยายามบ่อนทำลายอีกฝ่าย มีการแข่งขัน ไม่ให้เกียรติ และไม่มีแรงยึดเหนี่ยวทางจิตใจ"

ครั้งนี้เราขอพูดในเชิงความสัมพันธ์ของคู่รักที่ต้องเผชิญกับ Toxic Relationship กันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการถูกทำร้ายทั้งทางร่างกาย จิตใจ การต้องแบกรับกับคำพูดแย่ ๆ การถูกควบคุม จนลดคุณค่าตัวเอง การพยายามอยู่ฝ่ายเดียว การแบกรับความรู้สึกเจ็บปวดและไม่ปลอดภัย รวม ๆ ก็คือไม่มีความสุขกับความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่ ทั้งหมดล้วนเป็น Toxic Relationship ทั้งสิ้น

Toxic Relationship สำหรับเราเป็นสิ่งที่บั่นทอนจิตใจอย่างมาก เพราะนอกจากลดทอนความสุขในชีวิตแล้ว ยังทำให้จิตใจย่ำแย่ สูญเสียตัวตน เสียใจ บางครั้งโหดร้ายยิ่งกว่าการเลือกใช้ชีวิตคนเดียวซะอีก อีกทั้งสิ่งที่แย่ที่สุดของความสัมพันธ์ลักษณะนี้ คือ มันจะทำให้คนที่ทนอยู่ในความสัมพันธ์ลดทอนคุณค่าในตัวเองลงไปด้วย เพราะการยอมทน ไม่กล้าเดินออกมาจากความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ ทำให้เราไม่กล้าตัดสินใจ ไม่มั่นใจ สิ่งนี้ถูกบ่มเพาะมาตลอดระยะเวลาที่เราทนอยู่ในความสัมพันธ์ดังกล่าว

อีกทั้งความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ ยังทำให้วิธีการมองตัวเองและวิธีการมองโลกของเราเปลี่ยนไป เพราะต้องคอยแบกรับพิษร้าย ชิ้นส่วนที่แตกสลายของกันและกัน สุดท้ายเกิดเป็นรอยร้าวในความสัมพันธ์ไปเรื่อย ๆ ปลายทางก็คือเราหรือเขาที่แตกสลาย รักษาไม่ได้ทั้งตัวตนและความสัมพันธ์ โดยพฤติกรรมหรือการกระทำในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ อาจมีต้นเหตุเกิดจากใครคนใดคนหนึ่ง หรือทั้งสองคนก็ได้

การเดินออกมาจากความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ จึงเป็นสิ่งที่ควรทำให้เร็วที่สุดเมื่อรู้ตัว พูดเหมือนง่าย แต่ทำได้ยาก เพราะเมื่อความรักก็ยังอยู่ แต่ความเสียใจที่ต้องกักเก็บกลับมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ใครจะกล้ายอมรับว่าคนที่เรารักและเลือกในวันนั้นจะกลับกลายเป็นพิษกับตัวเราเอง บางคนไม่กล้าทิ้ง เพราะต้องรับผิดชอบแบกรับความสัมพันธ์ บางคนก็เสียดายเวลาที่ผ่านมา แต่แปลก กลับไม่เสียดายเวลาต่อจากนี้ที่จะไม่มีความสุข

เราเองคิดว่าความสัมพันธ์รูปแบบนี้ยิ่งฝืนประคองต่อไปก็เหมือนการสร้างบาดแผลให้กันไปเรื่อย ๆ อยู่ไปแทบจะหาความสุขไม่ได้ เดินออกมา บอกตัวเองว่า ฉันสมควรได้รับสิ่งที่ดี ฉันคู่ควรกับความสุข และฉันไม่จำเป็นต้องทน ฉันออกแบบชีวิตและรูปแบบความสัมพันธ์ที่ดีกว่านี้ได้...เดินออกมาก่อนที่ความรักจะทำลายจนไม่เหลือรักไว้อีกเลย


เขียนโดย เพลิน ภารวี สุภามาลา Content Editor THE STUDY TIMES

อ้างอิงข้อมูล https://time.com/5274206/toxic-relationship-signs-help/

สทศ. พร้อมจัดสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูรุ่นแรก วันที่ 20 - 21 ก.พ.นี้ วอนผู้เข้าสอบปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

นางศิริดา บุรชาติ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ สทศ. จะดำเนินการจัดการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพตามมาตรฐานวิชาชีพครู ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2564 ให้แก่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ในระหว่างวันที่ 20 - 21 กุมภาพันธ์ 2564 และจะประกาศผลสอบวันที่ 31 มีนาคม 2564 ทางเว็บไซต์ สทศ. และคุรุสภานั้น

การทดสอบครั้งนี้ มีจำนวนผู้มีสิทธิ์สอบทั้งหมด 7,263 คน เป็นคนไทย 7,224 คน และชาวต่างประเทศ 39 คน จำแนกผู้มีสิทธิสอบตามศูนย์สอบ 4 ศูนย์ 5 สนามสอบดังนี้ 1.) ศูนย์สอบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนามสอบ โรงเรียนทวีธาภิเศก และโรงเรียนสันติราษฎร์ 2.) ศูนย์สอบมหาวิทยาลัยขอนแก่น สนามสอบ โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย 3.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สนามสอบ โรงเรียนสุรนารีวิทยาลัย 4.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สนามสอบ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ 5.) ศูนย์สอบมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สนามสอบ โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย

นางศิริดา กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ การที่ สทศ.เปลี่ยนสนามสอบจากเดิม โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เป็น โรงเรียนทวีธาภิเศกนั้น เพื่อให้การดำเนินการทดสอบดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรื โควิด-19 เนื่องจากสนามสอบโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา อยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่ที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่ง สทศ. ได้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้เข้าสอบในสนามสอบดังกล่าวรับทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยส่งอีเมลและ SMS ตามเบอร์โทรศัพท์ที่ผู้สมัครสอบได้ลงทะเบียนไว้ และประชาสัมพันธ์ผ่านทางเว็บไซต์ รวมถึงสื่อต่าง ๆ

สำหรับผู้มีสิทธิสอบที่เป็นชาวต่างประเทศ สทศ. ได้โทรศัพท์ประสานงานและให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และขอให้ผู้ที่มีสิทธิสอบจากเดิมสนามสอบ "โรงเรียนเตรียมอุดมศึษา" เป็น "โรงเรียนทวีธาภิเศก" เข้ามาตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการทดสอบ เลขที่นั่งสอบ และสนามสอบใหม่อีกครั้ง รวมทั้งพิมพ์บัตรประจำตัวผู้มีสิทธิสอบใหม่ได้ทางเว็บไซต์ สทศ. www.niets.or.th

"ผู้เข้าสอบต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติและมาตรการป้องกันเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และมาตรการป้องกันของแต่ละจังหวัด รวมทั้งปฏิบัติตามระเบียบการเข้าห้องสอบ และเตรียมหลักฐานแสดงตนเพื่อเข้าห้องสอบ ได้แก่ บัตรประจำตัวผู้มีสิทธิเข้ารับการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู และ บัตรประจำตัวประชาชน หรือ ใบอนุญาตขับขี่ หรือ หนังสือเดินทาง (Passport) ที่มีรูปถ่าย ผู้เข้าสอบต้องมีหลักฐานตามที่กำหนด มิฉะนั้นจะไม่มีสิทธิ์สอบ

สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำข้อสอบ ได้แก่ ดินสอดำ 2B ปากกา ยางลบ และกบเหลาดินสอ สำหรับการสอบวิชา 104 วิชาชีพครู อนุญาตให้นำน้ำยาลบคำผิดและยางลบหมึกเข้าห้องสอบได้" ผอ.สทศ.กล่าวและว่า สำหรับผู้มีสิทธิสอบที่มีภูมิลำเนาจังหวัดสมุทรสาคร มีจำนวน 35 คน สทศ.ได้มีการตรวจสอบข้อมูลแล้ว พบว่า ร่างกายปกติ ไม่มีภาวะเสี่ยงหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง Covid-19 อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าสอบทุกคนจะต้องผ่านการกลั่นกรองตามมาตรการป้องกันของ ศบค. และมาตรการของแต่ละจังหวัดอย่างเคร่งครัด


ที่มา: https://www.dailynews.co.th/education/826190

‘วอนเดอร์’ สตาร์ทอัพสายการการศึกษาของไทย นำบทเรียนที่ยากและน่าเบื่อ มาพัฒนาเป็นเกมตอบคำถาม นักเรียนสวมบทบาทเป็นตัวละคร ตอบคำถามโจมตีคู่ต่อสู้ เสียงตอบรับดีเยี่ยม เผยมีครู-นักเรียนเข้ามาใช้บริการเพียบ!

ที่บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (สำนักงานใหญ่) อาคารสิงห์ คอมเพล็กซ์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ นายชิน วังแก้วหิรัญ กรรมการผู้บริหาร บริษัทวอนเดอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ให้สัมภาษณ์ในหัวข้อ "Edtech Ecosystem and Development in Thailand" แนวคิดและมุมมองในการพัฒนาแพลตฟอร์ม ความสำคัญในการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมของ "เอ็ดเทคสตาร์ทอัพ" ในประเทศไทย ว่า

วอนเดอร์ (Vonder) คือ สตาร์ทอัพสายการศึกษาในประเทศไทยและเป็นสมาชิกของ AWS EdStart โดยทางวอนเดอร์ได้พัฒนาเนื้อหาที่ยาก และน่าเบื่อของบทเรียนในระบบการศึกษาของไทยให้เป็นบทเรียนสั้นๆ ในรูปแบบของการเล่นเกม โดยจะเป็นเกมตอบคำถามแบบโต้ตอบ ซึ่งจะใช้เวลาไม่กี่นาทีในการตอบคำถาม และทดสอบความสามารถในการตอบสนองของผู้เรียน โดยครูสามารถเป็นผู้สร้างเกม ใส่คำถาม จากนั้นให้นักเรียนมาร่วมตอบคำถามผ่านเกมที่สร้างขึ้น

ซึ่งนักเรียนเมื่อลงทะเบียนเข้ามาแล้วจะได้สวมบทบาทเป็นตัวละครในเกม หากตอบคำถามถูกก็จะสามารถโจมตีศัตรูในเกมได้ แต่เมื่อตอบคำถามผิดก็จะโดนศัตรูโจมตี ทั้งนี้ ในแต่ละด่านจะมีหัวหน้า ซึ่งจะใช้สำหรับคำถามที่ยากที่สุดด้วย และเมื่อเล่นจบเกมจะมีการสรุปสถิติคะแนนของแต่ละคนให้ด้วย

โดยหลังจากที่เปิดให้ทดลองใช้พบว่ามีผู้สนใจเข้ามาใช้เป็นจำนวนมาก จากสถิติที่ทาง วอนเดอร์ตรวจสอบมาล่าสุดพบว่า มีนักเรียนเข้ามาตอบคำถามผ่านเกมที่มีครูเข้ามาสร้างขึ้นแล้วกว่า 150,000 คน โดยต่อไปทางวอนเดอร์กำลังพัฒนาการให้การบ้านเป็นเกมด้วย คาดว่าจะเสร็จประมาณเดือนเมษายนนี้ สำหรับครูหรือสถานศึกษาที่สนใจสามารถเข้าไปดูได้ที่ www.vonder.co.th หรือ เฟซบุ๊ก @vonderofficial

สำหรับ AWS EdStart เป็นโครงการส่งเสริมสตาร์ทอัพทางเทคโนโลยีการศึกษาของ Amazon Web Services (AWS) โดยออกแบบมาเพื่อให้ลูกค้าสตาร์ทอัพด้านการศึกษามีทรัพยากรที่จำเป็นในการเริ่มต้นการใช้งานบน AWS อย่างรวดเร็วและง่ายดาย โปรแกรมนี้จะช่วยผู้ประกอบการสามารถสร้างการเรียนรู้ออนไลน์ การวิเคราะห์ และโซลูชั่นการจัดการสถานศึกษาในอนาคตบน AWS Cloud โดย AWS EdStart ม่งเน้นไปที่เทคโนโลยีการเรียนการสอนที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ที่สร้างผลลัพธ์ของผู้เรียนในเชิงบวก โปรแกรมนี้จะช่วยให้เทคโนโลยีการศึกษาในช่วงเริ่มต้น สามารถเข้าถึงทรัพยากรและความสัมพันธ์ที่ต้องการเพื่อให้ประสบความสำเร็จ แล้วยังเป็นชุมชนของผู้คนและบริษัทจากทั่วโลกที่มีจุดประสงค์เดียวกันในการแก้ปัญหาทางการศึกษาที่ซับซ้อน

ทั้งนี้สตาร์ทอัพด้านการศึกษาสามารถสมัครเข้าร่วม AWS EdStart ได้ หากองค์กรมีการก่อตั้งน้อยกว่า 5 ปี อยู่ในตลาดที่ AWS Region อนุมัติ และสร้างรายได้ต่อปีน้อยกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยใบสมัครจะต้องระบุแผนงานสำหรับโซลูชั่นที่เป็นนวัตกรรมสำหรับผู้เรียน ผู้สอน หรือผู้ดูแลระบบ ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาในปัจจุบัน โดย AWS EdStart มีให้บริการในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชีย สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ The AWS EdStart program page (https://aws.amazon.com/th/education/edstart/)


ที่มา: https://www.dailynews.co.th/education/826203


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top