แอพพลิเคชั่นยอดฮิต และคนไทยที่ใช้ Smart phone ระบบ IOS กำลังเห่อเลยก็หนีไม่พ้น Clubhouse เป็นอีกหนึ่งการยกระดับแอพพลิเคชั่น ที่ทำในสิ่งที่ Social media อื่นทำไม่ได้ คือการสร้างกลุ่มหรือสังคม Community ในรูปแบบของห้องสนทนาแบบสัมมนา แล้วพูดคุยกันสด ๆ
???? แอพพลิเคชั่นยอดฮิต และคนไทยที่ใช้ Smart phone ระบบ IOS กำลังเห่อสุดๆเลยก็หนีไม่พ้น Clubhouse เป็นอีกหนึ่งการยกระดับแอพพลิเคชั่น ที่ทำในสิ่งที่ Social media อื่นทำไม่ได้ คือการสร้างกลุ่มหรือสังคม Community ในรูปแบบของห้องสนทนาแบบสัมมนา แล้วพูดคุยกันสดๆ ในกระทู้ที่ผู้จัดการสัมมนาตั้งขึ้น และสามารถมีคนที่ถูกเชิญเข้ามาฟังได้ จำนวนมากถึงหลักพัน แบบเข้าไปฟังได้ฟรี!
Clubhouse เป็นที่พูดถึงอย่างมาก มีการวิเคราะห์กันในแวดวงสื่อ รวมไปถึงวงการเทคโนโลยี ว่าตัวแอพพลิเคชั่นนี้ จะมา Disrupt การเล่าเรื่องผ่านเสียงอย่าง Podcast หรือเปล่า หรือแม้กระทั่งผู้ประกอบการ สถาบันฝึกอบรมสัมมนาในยุคก่อน Covid-19 ที่มีการเก็บเงิน เรียกได้ว่าเป็นอาชีพหลักกันหลายคน จะถูก Disrupt ไปด้วยไหม
น่าคิด! และมีสิทธิ์เป็นไปได้ ! ตอนแรกตอนที่ผู้เขียนได้รับการเชื้อเชิญจากรุ่นพี่ให้เข้าไปใน Clubhouse ก็ตื่นตาตื่นใจอย่างมาก แล้วก็พบว่า ใน Clubhouse ทำให้รู้สึกอัศจรรย์ใจ เราได้เจอคนที่ทั้งเป็นเพื่อนเรา ทั้งเก่าและใหม่ คนที่ไม่ใช่เพื่อนเราแต่สนใจสิ่งใกล้ ๆ กัน หรือเหล่าคนดังที่เราไม่คิดว่าจะได้ใกล้คิดเขา แต่ Clubhouse ทำให้เกิดสิ่งเหล่านั้นได้ (โอ้โห! เทคโนโลยี มันทำได้แบบนี้แล้วจริง ๆ)
ในห้องสัมมนา (ขอเรียกแบบนั้น) ใครก็ได้ตั้งกระทู้ขึ้นมา (Moderator) แล้วชวนคนขึ้นไปคุย หรือเปิดโอกาสให้คนที่เป็นผู้ฟังได้พูด มีตั้งแต่เรื่องทางวิชาการ สาระความรู้ การพัฒนาตัวเองไปจนถึงเรื่องขำขัน ตลก หรือแม้กระทั่งเรื่องเพศศึกษา ด้วยความเป็นแอพพลิเคชั่น Social media แน่นอนว่า เราสามารถเข้าไปฟังห้องพูดคุย สัมมนา ในกลุ่มต่าง ๆ ได้ทั่วโลก เรียกได้ว่า เป็นคลังความรู้ฟรี ๆ ในรูปแบบนึงเลยทีเดียว
สังเกตมาสัปดาห์หนึ่ง ในมุมมองแบบคนทำสื่อ ก็จะเห็นการวางรันดาวน์โดยธรรมชาติแบบไม่ต้องมีบรรณาธิการ ตอนเช้าจะเป็นเรื่องเบา ๆ สร้างสรรค์ ต้อนรับวันใหม่ กลางวันก็เริ่มมีกลุ่มมาแชร์ชีวิตในที่ทำงาน ช่วงค่ำเนื้อหาวิชาการจัด พอหลังเที่ยงคืนเท่านั้นแหละ เรื่องเพศศึกษา สัพเพเหระก็จะมา บันเทิงทีเดียว
ส่วนตัวแล้วชอบเข้าไปฟังเรื่องตลก เรื่องบันเทิง เรื่องนินทา เพราะรู้สึกว่า Clubhouse มีธรรมชาติของการ “แอบฟังคนคุยกัน” อาจจะเพราะว่าทำงานอย่างหนักมาทั้งวัน ให้ฟังเรื่องวิชาการเคร่งเครียดอีก ก็คงไม่ไหว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้จัดการสัมมนา (Moderator) ด้วยว่า ต้องการให้ห้องนั้น เป็นลักษณะ คุยเล่น หรือ แบ่งปันความรู้ที่เป็นทางการ แต่ทั้งนี้สำหรับผู้เขียนหากต้องการฟังเรื่องที่พัฒนาตัวเองหรือเป็นความรู้จะชอบ Podcast มากกว่า เพราะฟังได้ยาว ๆ ไม่ถูกขัดจังหวะจากการพูดคุยกัน แต่ก็ต้องบอกว่านี่คือความชอบส่วนตัว
พอเห็นปรากฏการณ์ของนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในยุคนี้แล้ว หันกลับมามองในส่วนของภาคการศึกษาไทยแล้วก็รู้สึกหวั่นใจ ว่ายุคสมัยที่ชุดข้อมูลสามารถเสพได้จากเครื่องมืออื่นมากมายหลายรูปแบบ กับระบบและหลักสูตรการศึกษาไทย จะปรับตัวไปได้ทันยุคสมัยหรือไม่ ต้องจับตา และแม้ Clubhouse จะใช้ได้ในประเทศที่อนุญาตให้แอพนี้ Active และยังจำกัดผู้ใช้เฉพาะระบบ IOS แต่ก็คิดว่าในอนาคตตัวระบบก็คงพัฒนาให้คนใช้ระบบ Android ได้ใช้เช่นกัน
ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีพัฒนาไปไวจริง ๆ ในฐานะที่เป็นทั้งคนทำและคนเสพสื่อ ได้เฝ้ามองปรากฎการณ์ของการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผ่านนวัตกรรมใหม่ ๆ และอยู่ในยุคโรคระบาดไปพร้อม ๆ กัน ก็พบว่าหากจะอยู่อย่างเข้าใจ จำเป็นต้อง “ปรับตัว” ให้ทัน ไม่เช่นนั้น อาชีพที่เคยทำก็จะถูกกลืนกิน รายได้ที่เคยได้รับอาจเป็นศูนย์ได้พริบตา ความเจ็บปวดเหล่านี้ เชื่อว่าหลายท่านคงประสบพบเจอ แต่ขอให้รู้ไว้ว่า “เราจะเป็นกำลังใจให้กันเสมอ” ในเมื่อเรายังมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ โลกหมุนไป เราก็จะต้องหมุนตามไปเช่นกัน หรือหากใครมีศักยภาพเป็นผู้ทำหมุนโลกไปเอง ก็สุดแสนจะจินตนาการ แต่ก็นั่นแหละ ความเปลี่ยนแปลงคือเรื่องจริงแท้แน่นอน และเป็นเช่นนั้นเสมอมา
เขียนโดย ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา Head of Content Editor THE STUDY TIMES