Friday, 29 March 2024
Y WORLD

สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผ่านเสียงของผู้ร่วมฟังเสวนาใน Clubhouse หัวข้อ เรียนจบมหาวิทยาลัย ยังจำเป็นอยู่ไหม? ในยุคนี้ ที่ทำให้เห็นว่าการศึกษาไทยยังต้องได้รับการแก้ไข

เมื่อวันพุธที่ผ่านมาเวลาสองทุ่มโดยประมาณ ผู้เขียนตัดสินใจเปิดห้องเสวนาใน Clubhouse ในหัวข้อ เรียนในมหาวิทยาลัย จำเป็นอยู่ไหม ? ในยุคนี้ โดยที่ผู้เขียนทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการเสวนา  Moderator และได้เชิญชวนเพื่อนพี่น้องที่สนิทชิดเชื้อ และทำงานที่เกี่ยวข้องในแวดวงการศึกษาไทยมาร่วมเป็นผู้ร่วมเสวนา ( Speaker) มีทั้งอาจารย์ในระบบมหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการ Start up ด้านการศึกษา รวมถึงผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านการศึกษา

การเสวนาในช่วงเนื้อหาใช้เวลาร่วมชั่วโมง Speaker แต่ละท่านได้แลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องเทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอนแบบเลี่ยงไม่ได้อย่างน่าสนใจ แต่โดยสรุปแล้ว Speaker ทุกท่านยังเห็นว่า การเรียนในมหาวิทยาลัยยังคงมีความจำเป็น แต่รูปแบบและบทบาทของมหาวิทยาลัยในยุคใหม่นี้ คงต้องปรับตัวอย่างหนักเช่นกัน

ไม่ว่าจะเป็นการปรับหลักสูตรการเรียนการสอน ทักษะการสอนของอาจารย์ และบทบาทของมหาวิทยาลัยว่าจริงๆแล้ว “คุณค่าของมหาวิทยาลัย” คืออะไรกันแน่ อาจจะเปลี่ยนเป็นฐานการเรียนรู้ แทนการเรียนแบบ Lecture หรือเป็น Mentor ให้กับนักศึกษาในการเรียนที่สามารถนำไปปฏิบัติและสร้างรายได้ได้จริง ซึ่งการเสวนาใน Clubhouse ครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกของผู้เขียนด้วย มีผู้ร่วมฟังเท่าที่พอจะนับได้เห็นจะเป็น 120 คนโดยประมาณ

นอกจากเนื้อหาที่น่าสนใจในประเด็นการศึกษาในระบบแล้ว ในช่วงท้าย ได้เปิดโอกาสให้กับผู้ที่เข้าฟังถามคำถามประมาณ 30 นาที ผู้เขียนในฐานะ Moderator นอกจากต้องควบคุมการพูดคุยให้อยู่ในประเด็นแล้ว สิ่งที่ท้าท้ายมากกว่านั้นก็คือการควบคุมเวลาและประเด็นคำถามของผู้ร่วมเสวนา ไม่ให้ไปไกลกว่าประเด็นที่เสวนากัน แต่กระนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะควบคุมได้ทั้งหมด เพราะธรรมชาติของ Clubhouse เราจะได้ยินแค่เสียง และไม่สามารถกรองได้ว่าคำถามที่ผู้ถาม ที่ทางผู้เขียนที่ทำหน้าที่ Moderator กดอนุญาตให้ถามจะถามเรื่องอะไร แล้วไปในทิศทางไหน ผู้เขียนยอมรับตรงๆ ว่าจังหวะนั้นก็ตื่นเต้นปนหวั่นใจว่าจะมีคำถามอะไรที่ทำให้การเสวนาหลุดประเด็นและไม่ราบรื่นหรือไม่

แต่พอเปิดโอกาสให้ถามจริงก็พบว่าผู้ร่วมเสวนามีมารยาทในการขึ้นมาแสดงความเห็นมากทีเดียว แม้จะมีเรื่องที่นอกประเด็นไปบ้าง แต่การเสวนาก็ราบรื่น  Speaker ทุกท่านก็พร้อมที่จะตอบคำถามอย่างดี

เกริ่นมายืดยาว ประเด็นของเรื่องอยู่ที่คำถามของผู้ฟังนั่นเอง ผู้ฟังหลายคนที่ยกมือถาม อายุน่าจะยังไม่ถึง 20 ปี แต่ที่แน่คืออยู่ในระบบการศึกษา บางคนเรียนสายอาชีพ ครอบครัวฐานะไม่ได้ดี ต้องเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย กำลังชั่งใจว่าจะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยดีไหม ใจหนึ่งก็อยากเรียนเพราะเป็นคนใฝ่รู้และคิดว่าถ้าจบแค่สายอาชีพ โอกาสในการทำงานที่ดีกว่านี้จะน้อยกว่าคนที่เรียนจบมีใบปริญญา แต่ก็กังวลเพราะเมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยแบบเต็มรูปแบบ นอกจากค่าเล่าเรียนแล้ว เวลาในการทำงานไปด้วย

หรือบางคนเข้ามาแชร์เรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวกับหัวข้อที่ตั้งไว้ แต่กล่าวถึงความเจ็บปวดต่อระบบการศึกษาไทย ที่เห็นว่าคนใกล้ชิดที่ฐานะไม่ดี แต่เรียนดี แต่ไม่ได้รับโอกาสในการเข้าถึงระบบการศึกษาที่ดี รวมไปถึงบางคนได้มาแชร์เรื่องอุปสรรคจากกฎเกณฑ์ที่ยุ่งยาก เงินเดือนที่ไม่พอกิน ของการเป็นอาจารย์ในระบบ ทุกวันนี้ก็ต้องออกจากระบบการศึกษาไป แล้วไปสานต่ออุดมการณ์นอกระบบแทน และทั้งพูดกล่าวด้วยน้ำเสียงที่จริงจังปนเจ็บปวด ผู้เขียนฟังแล้วรู้สึกแบบนั้นจริงๆ 

ผู้เขียนปิดห้องเสวนานี้เวลาเกือบสี่ทุ่ม หลังจากปิดห้องผู้เขียนก็ส่งข้อความไปขอบคุณผู้ร่วมเสวนา (Speaker) แต่ละท่านที่สละเวลามาร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะในประเด็นที่ตั้งขึ้น แต่กว่าผู้เขียนจะหลับลงก็เกือบตีสอง ผู้เขียนครุ่นคิด ผสมปนเปไปกับความรู้สึกที่ได้ฟังน้ำเสียงของผู้ร่วมฟังเสวนาและถามคำถามต่างๆขึ้นมาว่า นี่เราได้สัมผัสความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่าน Technology ก็ในวันนี้ สัมผัสผ่านเสียง เสียงที่ไม่ได้ปั้นแต่ง ความรู้สึกที่อัดอั้นผ่านน้ำเสียงที่ออกมา มันกระแทกใจผู้เขียนอย่างมาก

ผู้เขียนไม่รู้ว่าก่อนหน้านี้เหล่าผู้มีอำนาจทำการสำรวจความคิดเห็นหรือเสียงของประชาชน หรือเยาวชนผ่านช่องทางไหนบ้าง แต่ Clubhouse เปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้ส่งเสียง ที่เป็นเสียงของเขาจริงๆ เป็นความรู้สึกผ่านเสียง ที่วันนี้ท่านๆ ทั้งหลายสามารถเข้ามาฟังได้ และผู้เขียนคิดว่าท่านทั้งหลายก็ควรฟัง ฟังว่าประชาชนของท่านรู้สึกอย่างไรกับนโยบายและการแก้ปัญหาของท่าน ฟังอย่างเข้าใจ

ทั้งหมดนี้ก็ทำให้ผู้เขียนเองมีแรงฮึดในการทำงานผลิตสื่อต่อไป โดยเฉพาะสื่อด้านการศึกษาที่ผู้เขียนมีความปรารถนาที่จะเป็นฟันเฟืองในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผ่านการผลิตสื่อต่อไป อย่างตั้งใจฟังเสียงของผู้คน


เขียนโดย ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา Head of  content editor THE STUDY TIMES

ใบ้คำศัพท์ "ภาษาจีน" กับ 4 สาวเพื่อนซี้ ! | เพื่อนซี้หนี่ห่าว 你好 EP.2

เล่นเกมใบ้คำ เรียนรู้ศัพท์ภาษาจีน 4 สาวเพื่อนสนิท บอกเลยว่า EP. นี้ ทำให้รู้ว่าภาษาจีนไม่ได้ยากอย่างที่คิด

รายการ ' เพื่อนซี้หนี่ห่าว 你好 ' ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 17.00 น. ทางช่อง ' THE STUDY TIMES '

.

.

 

มหาวิทยาลัยเฮียวโก๊ะ ประเทศญี่ปุ่น มอบทุนการศึกษาหลักสูตรนานาชาติ ระดับปริญญาตรี ประจำปี 2564 ทั้งทุน 50% ระยะเวลา 4 ปี และเพิ่มทุนเต็มจำนวน 100% พร้อมตั๋วเครื่องบิน อีกจำนวน 8 ทุน

คุณสมบัติ 

1. เป็นนักเรียนโรงเรียนรัฐบาลสังกัด สพฐ. กำลังศึกษาชั้นม.6 ปีการศึกษา 2563 GPA ไม่ต่ำกว่า 3.00

2. มีความตั้งใจที่จะศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ภาค Business of Administration จนจบการศึกษา

3. มีความรู้ภาษาอังกฤษดี เกรดเฉลี่ยภาษาอังกฤษ 3.5 ขึ้นไป (แสดงผลคะแนน TOEFL,TOEIC , IELTS ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด) หากไม่มี ทาง สพฐ. หรือ ครูผู้สอนภาษาอังกฤษของโรงเรียน สามารถกรอกแบบฟอร์ม “Recommendation of English Proficiency” แนบเป็นหลักฐานได้

4. สามารถดูแลค่าใช้จ่าย อีก 50% ที่มหาวิทยาลัยไม่ครอบคลุม

การรับสมัคร

1. ขอรับใบสมัครด้วยตนเอง ที่ [email protected] (ขั้นตอนการสมัคร ตามเอกสารที่แนบ) ภายในวันที่ 19 มีนาคม 2564

2. ส่งเอกสารต้นฉบับของใบสมัครตัวจริงพร้อมเอกสารประกอบ ทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ EMS ให้ถึง สพฐ. ภายในวันที่ 19 มีนาคม 2564

"กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน

อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 8 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

กระทรวงศึกษาธิการ ถ.ราชดำเนินนอก เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300

รายละเอียดเพิ่มเติม

https://www.obec.go.th/wp-content/uploads/2021/02/รายละเอียดทุนการศึกษาหลักสูตรนานาชาติ-มหาวิทยาลัยเฮียวโก๊ะ-ประเทศญี่ปุ่น.pdf


ที่มา: https://www.obec.go.th/archives/391014

สิ่งสำคัญในความสัมพันธ์ คือการเว้นพื้นที่ว่างตรงกลางให้แก่กัน เคารพในพื้นที่ส่วนตัว และไม่รุกล้ำความเป็นส่วนตัวของกันและกัน ความรักจะมั่นคงได้ เพราะมีที่ว่างอย่างเหมาะสม

จงเติมถ้วยของกันและกัน แต่อย่าดื่มจากถ้วยเดียวกัน

จงให้ขนมปังแก่กัน แต่อย่ากัดกินจากก้อนเดียวกัน

จงร้องและเริงรำด้วยกัน และจงมีความบันเทิง

แต่ขอให้แต่ละคนได้มีโอกาสอยู่โดดเดี่ยว

ดังเช่นสายพิณนั้นต่างอยู่โดดเดี่ยว

แต่ว่าสั่นสะเทือนด้วยทำนองดนตรีเดียวกัน

-- คาลิล ยิบราน (Kahlil Gibran) --

บทกวีข้างต้นมาจากหนังสือ ปรัชญาชีวิต (The Prophet) ของคาลิล ยิบราน เขาเป็นทั้งกวี นักเขียน และศิลปิน บทประพันธ์ของเขาทุกชิ้น ล้วนงดงาม สะเทือนอารมณ์ ลึกซึ้ง ไพเราะ แต่เข้าใจง่าย

ไม่แปลกใจเลยที่บทกวีข้างต้นถูกจัดอยู่ในบทว่าด้วยการแต่งงาน เพราะนับเป็นสิ่งสำคัญที่ชีวิตคู่ควรจะมี หรืออีกนัยคือจำเป็นต้องมีเพื่อชีวิตรักที่ยืนยาว แต่ในบริบทนี้อาจไม่ต้องมองไปถึงขั้นแต่งงานก็ได้ ความรักในแต่ละวัยย่อมแตกต่างไปในแต่ละช่วงอายุ เมื่อก่อนในช่วงวัยรุ่น เราเริ่มตกหลุมรัก หลงใหล ได้ใช้เวลาศึกษาดูใจ กินข้าว ดูหนัง เดินเล่น โทรคุยกันก่อนนอน แบ่งปันเรื่องราว รายงานชีวิตประจำวัน ไปไหนทำอะไร เท่านั้นก็คงเพียงพอ แต่เมื่อก้าวขึ้นมาอีกวัยหนึ่งที่โตขึ้น นอกจากความรักและเวลา พื้นที่ส่วนตัวก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญของความสัมพันธ์

บทกวีดังกล่าวหากมองให้ลึกลงไป ความหมายนั้นก็ชัดเจนและสมบูรณ์ในตัวเองอยู่แล้ว ความรักเกิดขึ้นโดยคนสองคนที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เกี่ยวข้องเชื่อมโยงเรื่องราวและเส้นทางชีวิตเข้าด้วยกัน การหลงใหล ตกหลุมรักในช่วงแรกอาจเป็นความลุ่มหลัง คะนึงหาเพียงชั่วครู่ แต่สิ่งที่บทกวีนนี้กำลังจะบอกคือ การประคับประคองความรักนั้น ต้องรู้จักความเกื้อกูล การมีพื้นที่ว่างตรงกลางให้แก่กัน เคารพพื้นที่ส่วนตัว และอย่ารุกล้ำความเป็นส่วนตัวของกันและกัน

เมื่อความรักเป็นสิ่งที่สร้างความสุขในความสัมพันธ์ แต่บางครั้งในชีวิตของคนเราย่อมต้องการพื้นที่ที่จะมีแค่ตัวเรา มีพื้นที่ในการคิดทบทวน ทำในสิ่งที่ชอบ ได้ใช้เวลาเพื่อตัวเอง เราอาจต้องการเวลาที่จะได้อ่านหนังสือที่ชอบ ดูซีรีย์เรื่องโปรด นอนฟังเพลง นั่งทำงาน เดินห้างช้อปปิ้งคนเดียว เพราะฉะนั้น ในความสัมพันธ์คนสองคนอาจไม่จำเป็นต้องอยู่ด้วยกันตลอดเวลา หรือรับรู้เรื่องราวในชีวิตกันและกันทุกเรื่อง ไม่ต้องพยายามมีบทบาทและตัวตนในชีวิตของอีกฝ่าย ไม่ต้องดิ้นรนครอบครอง

การเปรียบเทียบของ คาลิล ยิบราน ที่กล่าวว่า สายพิณนั้นต่างอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่สั่นสะเทือนด้วยทำนองดนตรีเดียวกัน หมายความได้ว่า สายพิณไม่ได้แตะกัน หรือต้องยึดโยงเกี่ยวพันกัน เพียงเรียงเส้นทีละสายอย่างมั่นคง แต่เมื่อมีผู้เริ่มบรรเลง ทุกสายต่างบรรเลงตัวโน้ตของตัวเอง สอดประสานออกมาเป็นบทเพลงที่แสนไพเราะ เปรียบได้กับความรัก คู่รักอาจไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงชีวิตหรือเหนี่ยวรั้งกันไว้ใกล้ตัวตลอดเวลา อาจมีบางเวลาที่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวด้วยตัวเอง แต่ชีวิตที่ดำเนินไปจะรับรู้ได้ว่ามีความรักนั้นประคับประคองไปในทิศทางเดียวกันเสมอ สิ่งที่ต้องระลึกไว้เสมอคือ ไม่มีใครเป็นเจ้าของชีวิตใคร ความรักจะมั่นคงได้ เพราะมีพื้นที่ว่างอย่างเหมาะสม

‘จงรักกัน แต่อย่าสร้างพันธะแห่งรัก’


เขียนโดย เพลิน ภารวี สุภามาลา Content Editor THE STUDY TIMES

มหาวิทยาลัยเอกชน ศรีปทุม ธุรกิจบัณฑิตย์ พายัพ หอการค้าฯ รังสิต ชูจุดแข็ง งัดกลยุทธ์สู้ศึก TCAS64 ถล่มโปรโมชั่นให้ทุน ลดค่าเทอมชิงนักศึกษา

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ แจกทุนพร้อมไอแพด

นายอธิภัทร เกตุทัต ผู้ช่วยอธิการบดีสายงานกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดเผยว่า ระหว่างรอเก็บตกผลสอบ TCAS64 รอบสุดท้ายสิ้นเดือน พ.ค. 2564 มหาวิทยาลัยหลายแห่งต้องปรับตัว เพราะตลาดการศึกษาแข่งขันกันสูงมาก โดยเฉพาะมหา’ลัยเอกชนต้องงัดกลยุทธ์ใหม่ ๆ พร้อมชูจุดแข็งเพื่อสร้างโอกาส และความเชื่อมั่นแก่นักศึกษา ด้วยการปรับหลักสูตรใหม่ทุกคณะให้ตอบโจทย์ตลาดงานมากขึ้น

เน้นการปูพื้นฐานด้านธุรกิจ ปลูกฝังดีเอ็นเอผู้ประกอบการแก่นักศึกษาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 เน้นสร้างความรู้ให้นักศึกษานำไปต่อยอดในอนาคต โดยผ่านการเรียนวิชาด้านผู้ประกอบการ, ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมธุรกิจ ให้นักศึกษาเข้าถึงความรู้สึกของลูกค้า, การคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม ผู้สอนมีทั้งอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัย และเชิญวิทยากรแต่ละแขนงเข้ามาปลุกไอเดียธุรกิจ จำลองการสร้างธุรกิจด้วยตนเอง

สำหรับการให้ส่วนลด และมอบทุน มธบ.มีมากกว่า 10 ทุน และไม่จำกัดจำนวน อาทิ ทุนเด็ก 64 ให้กับทุกคณะ เริ่มที่ 15,000 บาท ที่สำคัญ พร้อมแจกไอแพด หรือแล็ปทอปเป็นปีแรก ตอบโจทย์การเรียนออนไลน์ มูลค่ารวม 35,000 บาท ทุน Dek64 portfolio สำหรับผู้เรียนดีกิจกรรมเด่น มีความสามารถด้านไหนก็ขอทุนได้ โดยยื่นแฟ้มสะสมผลงาน จะได้รับทุน 20,000 บาท พร้อมไอแพด และ apple pencil แต่ต้องสมัครก่อน 28 ก.พ.นี้ ทุนเรียนดี ทุนคั้นกะทิ ไม่จำกัดเกรด เรียนฟรี 100% ตลอดหลักสูตร ทุนความสามารถพิเศษ สำหรับคนที่มีความสามารถเฉพาะทาง ทุน startup มอบให้นักเรียนที่มีทักษะด้านธุรกิจ

ทุน eSport สำหรับผู้มีความสามารถด้านกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ เคยเข้าร่วมการแข่งขัน eSport ที่ได้รับการยอมรับ ให้ทุนการศึกษา 100% ตลอดหลักสูตร ทุนศิลปิน มอบให้กับนักศึกษาที่มีผลงานด้านวงการบันเทิง เป็นดารา หรือศิลปิน หรือฟลูเอนเซอร์ ทุนพี่แนะนำน้อง โดยน้องได้รับทุน 15,000 บาท พร้อมไอแพด และ apple pencil หรือแล็ปทอป ส่วนพี่ได้ทุน 5,000 บาท ทุนเจ้าของทายาทธุรกิจ สำหรับนักศึกษาที่ครอบครัวประกอบธุรกิจ เป็นต้น

ศรีปทุมแจกทุน 1 หมื่น-1.5 แสน

นางสาวชวณี ชื่นเกิดลาภ ผู้อำนวยการประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเปิดสอนทั้งหมด 10 คณะ และมีวิทยาลัยต่าง ๆ อีก 5 วิทยาลัย ที่เปิดสอนหลักสูตรภาษาไทย และหลักสูตรนานาชาติ ที่ถือเป็นจุดขายใหม่คือ คณะสหวิทยาการและนวัตกรรม เปิดเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ตอนนี้นักศึกษาสนใจจำนวนมาก เพราะตอบโจทย์การมีงานทำในอนาคต เนื่องจากมีการเรียนการสอนหลากหลาย เน้นการเรียนเชิงธุรกิจ, การสร้างผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นผู้ประกอบการโดยตรง

ส่วนทุนการศึกษามีทั้งหมด 19 ทุน แต่ทุนใหม่เพื่อต้องการแบ่งเค้กจากมหาวิทยาลัยรัฐ มี 4 ทุน 1) ทุน SPU โควตา #Dek 64 แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ สำหรับผู้จบการศึกษาชั้น ม.6, ปวช., กศน. ลงทะเบียนตั้งแต่วันนี้-28 ก.พ. ได้ทุนสนับสนุน 15,000 บาท 3 เทอมการศึกษา และทุนสำหรับผู้จบการศึกษาระดับ ปวส. ได้รับทุนสนับสนุน 10,000 บาท 2) SPU ตัวจริง “SITI” ต้องสมัครทางเว็บไซต์มหาวิทยาลัย พร้อมยื่นแฟ้มสะสมผลงาน และส่งเรียงความหัวข้อ “ความฝันในการเป็นเจ้าของธุรกิจ” ถึง 28 ก.พ. จะได้รับทุน 150,000 บาท ตลอดหลักสูตร 4 ปี 3) ทุน IScholarship วิทยาลัยนานาชาติศรีปทุม ได้รับทุน 50% สำหรับส่วนลดค่าหน่วยกิตตลอดหลักสูตร 4) ทุน SPU ตัวจริง วิทยาลัยนานาชาติศรีปทุม ต้องสมัครทางออนไลน์ถึง 15 มี.ค.นี้ โดยยื่นแฟ้มสะสมผลงาน และเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “3 extraordinary things about yourself” จะได้รับทุนค่าหน่วยกิตตลอดหลักสูตร 100%

ม.พายัพงัดกลยุทธ์ทุนพร้อมเสิร์ฟ

นายอภิชา อินสุวรรณ รักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า มหา’ลัยกำลังประชาสัมพันธ์โครงการทุนพร้อมเสิร์ฟทั้งหมด 5 ประเภท เช่นเดียวกัน ได้แก่

1) ทุนเรียนดีเยี่ยม มี GPA (เกรดเฉลี่ย) ตั้งแต่ 3.50-4.00 รับสาขาวิชาละ 10 ทุน จะยกเว้นค่าเล่าเรียนทั้งหมด ไม่รวมค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมอื่น ๆ

2) ทุนส่งเสริมการศึกษามหาวิทยาลัยพายัพ 2 หลักสูตร คือ ภาษาไทย (รับสมัครถึง 28 ก.พ.) และนานาชาติ (รับสมัครถึง 30 พ.ค. 2564) ได้รับส่วนลดค่าเล่าเรียน 30,000 บาท

3) ทุนเรียนดี GPA ตั้งแต่ 3.00-3.49 รับสาขาวิชาละ 10 ทุน จะยกเว้นค่าเล่าเรียนให้ครึ่งหนึ่ง ไม่รวมค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมอื่น ๆ

4) ทุนความสามารถพิเศษ ไม่จำกัด GPA ต้องส่งแฟ้มสะสมผลงาน (portfolio) 10 ทุน จะยกเว้นค่าเล่าเรียนทั้งหมด หรือครึ่งหนึ่ง 5) ทุนนักกีฬา 10 ทุน ไม่จำกัด GPA แต่ต้องส่งแฟ้มสะสมผลงาน จะยกเว้นค่าเล่าเรียนทั้งหมด หรือครึ่งหนึ่ง เป็นต้น

“มหาวิทยาลัยพายัพเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนเก่าแก่ทางภาคเหนือ เปิดสอนมา 47-48 ปี มีจุดแข็งหลายคณะ ทุกคณะตอบโจทย์ตลาดแรงงาน โดยเฉพาะทางภาคเหนือ สำหรับทุนพร้อมเสิร์ฟเพิ่งนำมาทดลองใช้ปีนี้ ตอนนี้ยังสรุปตัวเลขไม่ได้ว่ามีผู้สนใจมากน้อยแค่ไหน แต่ข้อมูลปีที่แล้วที่ใช้กลยุทธ์ดึงดูดนักเรียนเข้าศึกษาต่อ โดยแจกอุปกรณ์การเรียน อาทิ ไอแพด และให้ส่วนลดค่าเทอม มีนักเรียนสนใจสมัครจำนวนมาก”

หอการค้าฯ-รังสิตพร้อมสู้ TCAS

จากการตรวจสอบเว็บไซต์ต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยเอกชน ยังมีอีกหลายมหา’ลัยที่ใช้กลยุทธ์ให้ทุนนักศึกษาใหม่ประจำปี 2564 ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ชูกลยุทธ์ startup ให้ทุนส่วนลดมากที่สุด 15,000 บาท ตั้งแต่วันนี้-28 ก.พ. ทั้งยังมีแคมเปญพิเศษให้นักศึกษาชวนเพื่อน, รุ่นพี่, รุ่นน้อง มาเรียนจะได้รับทุน 5,000 บาทต่อคน

ขณะที่มหาวิทยาลัยรังสิต ชูคอนเซ็ปต์ RSU Early Bird มอบทุนการศึกษา 15,000 บาท ยกเว้นคณะแพทยศาสตร์, คณะทันตแพทย์ และนักศึกษาที่ได้รับทุนอื่น ๆ โดยเปิดให้สมัครและลงทะเบียนภายในวันที่ 25 ก.พ. 2564


ขอบคุณที่มา: https://www.prachachat.net/education/news-615008

‘วันมาฆบูชา’ ในปีนี้ ตรงกับวันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 ถือเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง

วันมาฆบูชา หมายถึง การบูชา ในวันเพ็ญเดือน 3 เนื่องในโอกาสคล้าย วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ อันเป็นหลักคำสอนสำคัญที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาแก่พระภิกษุ จำนวน 1,250 รูป

วันมาฆบูชา เป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 มีเหตุการณ์อัศจรรย์ คือ

1. พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าจำนวน 1,250 รูป มาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยมิได้นัดหมายกัน

2. พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" คือเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น

3. พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ คือผู้ได้อภิญญา 6 ข้อ

4. วันที่พระสงฆ์ทั้งหมดมาชุมนุมกันนี้ตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3)

ด้วยเหตุการณ์ประจวบกับ 4 อย่าง จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า จาตุรงคสันนิบาต (มาจากศัพท์บาลี จตุ+องฺค+สนฺนิปาต แปลว่า การประชุมอันประกอบด้วยองค์ประกอบทั้งสี่ประการ)

มอนเตสเซอรี่ ไม่ใช่เพียงแค่ของเล่นเด็กหรือชื่อโรงเรียน แต่มอนเตสเซอรี่ คือ ปรัชญาการสอนและการเรียนรู้ เรามาทำความรู้จักการเลี้ยงดูลูกแบบมอนเตสเซอรี่ให้มากขึ้นกัน

ที่มาของการเรียนรู้แบบมอนเตสเซอรี่ (Montessori) นั้น เริ่มต้นตั้งแต่ร้อยกว่าปีมาแล้ว โดย มารี มอนเตสเซอรี่ เป็นผู้ให้กำเนิดปรัชญาการเรียนรู้นี้ มอนเตสเซอรี่มีแนวคิดที่ว่า ธรรมชาติของเด็กนั้นต้องการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เราเพียงจัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ คอยสังเกตเด็กเมื่อเค้ากำลังเล่น และเราจะเข้าไปช่วยได้ก็ต่อเมื่อจำเป็นเท่านั้น ปล่อยให้เด็กได้จำลองกระบวนการเรียนรู้ของเค้าจนครบจบขั้นตอนด้วยตัวของเด็กเอง

หากจะพูดให้กระชับขึ้น มอนเตสเซอรี่ก็คือ การเรียนรู้โดยมีเด็กเป็นจุดศูนย์กลางนั่นเอง เด็กคือผู้เลือกว่าเค้าจะเรียนรู้อะไรซึ่งตามธรรมชาติ เด็กจะเลือกสิ่งที่เค้ากำลังชอบหรือสนใจอยู่ เมื่อเค้าสนใจ เค้าจะทำการทดลองเล่นด้วยตนเอง ซึ่งนั่นคือการเรียนรู้ และหากผู้ใหญ่ยื่นมือไปช่วยในระหว่างที่เด็กกำลังทดลองอยู่ อาจจะทำให้การเรียนรู้นั้นไม่สมบูรณ์ได้ และจะมีผลต่อตัวเด็กในระยะยาว

อยากเลี้ยงลูกแบบมอนเตสเซอรี่ ต้องทำอย่างไร เริ่มได้เมื่อไหร่

วิธีการเรียนรู้แบบมอนเตสเตอรี่นั้นเหมือนจะง่ายแต่ก็ไม่ง่าย เพราะการเลี้ยงดูแบบนี้ คุณพ่อคุณแม่จะได้ฝึกการสังเกตพฤติกรรมการเล่นของลูกจนช่ำชอง มอนเตสเซอรี่ที่ได้รับความนิยมคือการเรียนแบบ Practical Life หรือการให้ลูกได้ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านง่าย ๆ เช่น จัดของ เก็บของ หยิบผ้าในตะกร้าใส่เครื่องซักผ้า หยิบผ้าในเครื่องซักผ้าใส่เครื่องอบ ปลอกผลไม้ ทำอาหาร

เชื่อหรือไม่ว่าเด็กยังไม่ถึงขวบก็สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ โดยการให้เค้าได้เห็นเราตอนที่เรากำลังทำงานบ้าน เมื่อเค้าสนใจอยากมีส่วนร่วม เราก็เปิดโอกาสให้เค้าทำ หรือทำอาหาร ให้ลูกได้มีส่วนร่วมทำ ลูกจะได้ทดลองวิชาเคมี และได้เรียนรู้เรื่องประสาทสัมผัสรับรสและกลิ่น

มอนเตสเซอรี่ยังรวมถึงการพาลูกไปเล่นข้างนอกบ่อย ๆ เพื่อให้เค้าไปเจอสิ่งใหม่ ๆ แล้วเราก็สังเกตว่าเค้าเล่นอะไร เล่นยังไง ชอบแบบไหน หลังจากนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงจะสามารถเลือกซื้อของเล่นให้เหมาะและส่งเสริมการเรียนรู้ของลูกเพิ่มขึ้นต่อไปอีกได้ จะเห็นว่า ของเล่นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนย่อยของการเลี้ยงลูกแบบมอนเตสเซอรี่เท่านั้น

หากคุณพ่อคุณแม่สนใจการจัดรูปแบบการเรียนรู้ให้ลูกแบบมอนเตสเซอรี่ คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มได้ทันทีตั้งแต่แรกเกิด คือตั้งแต่ 0 ขวบได้เลย เพราะเด็กเกิดมาพร้อมกับความต้องการจะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว

ปล่อยให้ลูกได้ทดลองด้วยตัวเอง

มอนเตสเซอรี่เชื่อว่า การเรียนรู้เกิดขึ้นเป็นกระบวนการสืบเนื่องไปเรื่อย ๆ หากเรารีบยื่นมือเข้าไปช่วยลูกเร็วเกินไปจะเป็นการแทรกแซงกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก เช่น หากเราเห็นลูกกำลังหัดพลิกตัวแล้วเราไปจับพลิกตัวให้ เด็กจะไม่ได้เรียนรู้ครบกระบวนการ ฉะนั้น ปล่อยให้น้องลองพลิกตัวด้วยตัวเอง อย่าเพิ่งรีบไปจับพลิกตัวเค้า หรือหากลูกล้ม พยายามปล่อยให้เค้าลุกขึ้นด้วยตัวเองก่อน

ประโยชน์ของการเลี้ยงลูกแบบมอนเตสเซอรี่

ประโยชน์ที่ได้นั้นมีหลายอย่างมาก แต่ประโยชน์หลักที่ได้จากเลี้ยงลูกแบบมอนเตสเซอรี่ คือ

1.) ลูกจะช่วยเหลือตัวเองได้ตั้งแต่เล็ก สามารถช่วยแบ่งเบางานของคุณแม่ได้

2.) ลูกจะรู้ว่าเค้าชอบอะไรตั้งแต่เด็ก เมื่อเค้ารู้แล้วว่าเค้าชอบอะไร เค้าจะเริ่มได้เร็วกว่าและสามารถต่อยอดไปเรื่อย ๆ ในอนาคตเมื่อโตขึ้นได้

3.) ลูกจะมีความยืดหยุ่น กล่าวคือเด็กที่ถูกเลี้ยงแบบมอนเตสเซอรี่จะรู้จักพลิกแพลง รู้จักเปลี่ยนแปลงวิธีการและปรับตัวได้ดี

สาเหตุที่เด็กชอบรื้อของ

การรื้อของออกมาเยอะแยะของเด็กนั้น เป็นการสื่อสารของเด็กอย่างหนึ่ง ลูกรื้อของนั้นมีสาเหตุหลัก ๆ อยู่ไม่มาก อาจจะเป็นเพราะว่าของเล่นเยอะเกินไป ทำให้เค้าหาของเล่นที่เค้าชอบไม่เจอ หรือของเล่นที่เค้าชอบอยู่ในที่ที่ต้องค้นหา เช่น เก็บไว้อยู่ลึกเกินไป หรืออยู่สูงเกินไป หรืออยู่ในที่ที่ไม่สาเหตุมองเห็นได้ เด็กจึงพยายามค้นหา คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตลูกที่ชอบรื้อของดูว่า เค้ากำลังตามหาของเล่นที่เค้าชอบอยู่หรือเปล่า

ทำไมลูกไม่เล่นของเล่นที่เราซื้อ

หากลูกไม่เล่นของเล่นที่เราซื้อ อาจเป็นเพราะเราไม่ได้ซื้อของเล่นที่ลูกชอบก็ได้ และที่เราไม่ได้ซื้อของเล่นที่ลูกชอบ อาจเป็นเพราะเราไม่ได้สังเกตพฤติกรรมลูก หรือเราไม่ได้อยู่กับลูกมากพอจนรู้ว่าลูกเราชอบอะไรก็เป็นได้ หากคุณพ่อคุณแม่อยากรู้ว่าลูกชอบของเล่นอะไร ลองอยู่กับลูกเยอะ ๆ สังเกตลูก และปล่อยให้เค้าเดินมาช่วยเราทำงานบ้านด้วยตัวเค้าเอง สำหรับผู้ใหญ่ งานบ้านคืองาน สำหรับเด็ก งานบ้านคือการเล่น และของเล่นที่ดีที่สุดสำหรับเค้า คือพ่อแม่

เป็นกำลังใจให้คุณพ่อและคุณแม่ทุกคนค่ะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ เลี้ยงลูกแบบมอนเตสเซอรี่

Link https://www.facebook.com/watch/live/?v=242995180735373&ref=search

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

เปิดบทสัมภาษณ์ 'เบสท์ พงศ์ปณต' เจ้าของ ThaiTube แพลตฟอร์มดูคลิปวิดีโอแห่งใหม่ของคนไทย ที่ THE STUDY TIMES

เยาวชนไทยอายุ 18 ปี สุดเจ๋ง สร้างแพลตฟอร์มดูคลิปวิดีโอ www.thaitube.in.th เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้ท่องโลกออนไลน์ ไม่ได้รับการแทรกแซงจากโฆษณา และรักษาความเป็นส่วนตัว ไม่เก็บข้อมูลผู้ใช้งาน ไม่หวังผลกำไร และที่สำคัญใช้งานได้ฟรี! งานนี้พี่ STUDY ไม่รีรอ ขอไปพูดคุยกับเขาหน่อย

พี่ STUDY : แนะนำตัวหน่อยค่ะ

น้องเบสท์ : สวัสดีครับ ผม เบสท์ พงศ์ปณต ไพรัชเวชภัณฑ์ จากจังหวัดอ่างทอง เรียนที่ ม.กรุงเทพ คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ตอนนี้อายุ 18 ปีครับ

พี่ STUDY : ต้องบอกว่าน้องเก่งมากๆ เลย จุดเริ่มต้นของ Thaitube.in.th น้องเบสท์ได้แรงบันดาลใจมากจากไหนคะ ?

น้องเบสท์ : ไทยทูบเริ่มจากที่ผมพยายามหาเว็บไซต์เผยแพร่วิดีโอเว็บอื่น แต่ไม่เจอตัวเลือกที่ดีกว่ามากนัก เมื่อเจอก็มักจะช้าเพราะส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ และผมต้องการสนับสนุนให้คนไทยรู้จักซอฟต์แวร์เสรีที่ทุกคนสามารถใช้ ดูโค้ดว่ามันทำงานอย่างไร และร่วมพัฒนาได้ จึงเกิดเป็นแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมาครับ

พี่ STUDY : WOW ! สุดยอดเลย ทำไมไม่ไปเผยแพร่เว็บที่เขามีอยู่แล้วล่ะคะ ทำไมต้องทำเอง ?

น้องเบสท์ : ผมอยากให้ thaitube.in.th เป็นทางเลือกใหม่ของการเข้าใช้งานของผู้ใช้งาน ที่ไม่มีการแทรกแซงจากโฆษณาและรักษาความเป็นส่วนตัวด้วยครับ เพราะจะไม่เก็บข้อมูลผู้ใช้งานเลย ใช้งานได้อย่างสบายใจ

พี่ STUDY : ทำได้ขนาดนี้ แถมมีเพจชื่อว่า เว็บไทยทูบ ThaiTube.in.th ด้วย  มีทีมงานกี่คนคะเนี่

น้องเบสท์ : ทำคนเดียวเลยครับพี่

พี่ STUDY :  ทำ ThaiTube ไปด้วย เรียนไปด้วย แบ่งเวลายังไงคะ ?

น้องเบสท์ : ผมจะทำ Thaitube เมื่อเวลาว่างจากการเรียนครับ

พี่ STUDY : ปัญหาและอุปสรรคในการทำ Thaitube มีเยอะไหมคะ?

น้องเบสท์ : งบประมาณในการจ่ายค่าใช้จ่ายมีจำกัด และมีผู้อัปโหลดเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมเข้ามาเป็นครั้งคราว แม้จะมีกฎที่ค่อนข้างชัดเจนแล้ว ที่สำคัญต้องดูแลระบบของแพลตฟอร์มให้ทำงานได้ดี และดูแลเนื้อหาของแพลตฟอร์มอยู่ตลอดเวลาครับ

พี่ STUDY : ตอนนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดีบ้างหรือยังคะ ?

น้องเบสท์  : การสนับสนุน ตอนนี้ยังไม่เปิดรับการสนับสนุน แต่คาดว่าในอนาคตผมจะตั้งองค์กร ชมรม สมาคม หรือมูลนิธิขึ้นมา เพื่อบริหารจัดการแพลตฟอร์มและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแพลตฟอร์มด้วยเงินบริจาคครับ และไม่แสวงหากำไรครับ

พี่ STUDY : โอ้วโหววว ใจดีและมีความรับผิดชอบต่อสังคมสุดๆไปเลย เป้าหมายของ ThaiTube มองภาพไปไกลขนาดไหนคะ ?

น้องเบสท์ : เป้าหมายของไทยทูบไม่ได้หวังว่าจะเป็นแพลตฟอร์มเผยแพร่วิดีโอที่มีคนใช้และลงคลิปเยอะ ๆ แต่มีแผนจะปรับเปลี่ยนกฎและนโยบายต่าง ๆ ในอนาคตอันใกล้ เพื่อให้ไทยทูบมีเนื้อหาที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับผู้ชมทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัยครับ

พี่ STUDY : ขอถามเรื่องความฝันหน่อย น้องเบสท์มีความฝันเรื่องอาชีพบ้างไหมคะ ?

น้องเบสท์ : หลัก ๆ เลย คือนักพากย์สปอตโฆษณาต่าง ๆ ครับ แต่นอกจากนั้นคืออยากมีส่วนร่วมทำให้ประเทศดีขึ้น แม้ในเรื่องที่เล็ก ๆ น้อย ๆ ครับ

พี่ STUDY : น้องเบสท์มาทำ ThaiTube แบบนี้ ครอบครัวว่ายังไงบ้างคะ ?

น้องเบสท์ : ครอบครัวสนับสนุน ไม่ค่อยห้ามผมเท่าไหร่ครับ แต่ครอบครัวบอกว่าต้องหารายได้มาครอบคลุมค่าใช้จ่ายให้ได้ เพราะลำพังครอบครัวคงรับภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาวไม่ได้ครับ

ส่วนแผนการหารายได้ในอนาคตน้องเบสท์ยังไม่ได้คิดไปไกลนัก เจ้าตัวอยากทำแพลตฟอร์มสัญชาติไทยที่ไม่หวังผลกำไร ไม่มีโฆษณาจริงๆ จึงพร้อมที่จะรับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดี พี่ STUDY เห็นน้องเบสท์ทั้งเก่งและมีความตั้งใจดีขนาดนี้ก็ขอยกนิ้วให้เลยค่า

ชวนผู้ที่สนใจสมัครทุน Fulbright Thai Graduate Scholarship (TGS) ทุนให้เปล่าไม่ต้องใช้ทุน ไปเรียนต่อระดับปริญญาโท/เอก ที่สหรัฐอเมริกา มาฟัง Clubhouse พูดคุยถามตอบแบบสด ๆ กับศิษย์เก่าและนักเรียนทุนปัจจุบัน

จัดถึง 2 sessions พร้อมกับศิษย์เก่าและผู้รับทุนปัจจุบัน ทั้งสายวิทย์และสายศิลป์ พูดคุยถามตอบแบบสบาย ๆ อย่างใกล้ชิด... ทุน Fulbright TGS สมัครอย่างไร ต้องเก่งขนาดไหน เขียน essays อย่างไรให้โดนใจกรรมการ เค้าสัมภาษณ์กันอย่างไร พบกับรุ่นพี่จากสาขาต่าง ๆ ได้ตามเวลานี้เลย

???? วันพฤหัสบดีที่ 25 ก.พ. เวลา 21.30 - 23.30 น. (ศิษย์เก่าระดับ ป.โท)

⭐️ คุณมนัสนันท์ ลีลาหงส์จุฑา MBA, MIT Sloan School of Management

⭐️ คุณพิณไพเราะ ธีรเนตร Law, Harvard University

⭐️ ดร.สวรส ธนาพรสังสุทธิ์ Education Technology, Columbia University

⭐️ คุณพัทธ์ธีรา ฉลาดมานะกุล International Development, Johns Hopkins SAIS

⭐️ คุณศุภวารี ภัทราวณิชย์ Program Officer ผู้ดูแลทุน Fulbright Thai Graduate Scholarhsip Program

https://www.joinclubhouse.com/event/xoLJNV6M

???? วันเสาร์ที่ 27 ก.พ. เวลา 22.00 - 23.30 น. (ศิษย์เก่าและผู้รับทุนปัจจุบันในอเมริกา ระดับ ป.โท และ ป.เอก)

⭐️ คุณเกวลิน รัตนโสภิณสวัสดิ์ MBA, Stanford Graduate School of Business

⭐️ คุณนันทินี ชุโนทัยสวัสดิ์ MBA, Tepper School of Business, Carnegie Mellon University

⭐️ พญ. ขวัญกมล เดชาติวงศ์ ณ อยุธญา Human Development and Psychology, Harvard Graduate School of Education

⭐️ คุณนวินดา อุปนันท์ Special Education, University of Washington (ป.เอก)

⭐️ คุณรณกฤต โรจน์ยินดีเลิศ Museum Studies, University of the Arts

⭐️ คุณธนัช จตุภัทรฉัตร Computer Science, University of Southern California

⭐️ คุณธนาวุฒิ อนันท์พิริยากุล Computer Science, University of San Francisco

⭐️ น.สพ. วีรพงษ์ เหล่าเวชประสิทธ์ Comparative Biomedical Science (Marine Veterinary), University of Georgia (ป.เอก)

⭐️ คุณศุภวารี ภัทราวณิชย์ Program Officer ผู้ดูแลทุน Fulbright Thai Graduate Scholarhsip Program

(ป.ล. กำลังรอคอนเฟิร์ม guest speakers ป.เอก สายวิทย์ อีก 2-3 คน)

https://www.joinclubhouse.com/event/xkLdR


ที่มา: https://www.facebook.com/353795897307/posts/10158031776747308/

เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สรุปจากที่ประชุม โรงเรียนเอกชนทั่วไทย 524 แห่ง ยอมคืนค่าธรรมเนียมอื่นรวมเป็นเงินกว่า 561 ล้านบาท ใช้คืนเป็นเงินสด หรือส่วนลดปีถัดไป

นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เปิดเผยในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ว่า ได้มีการรายงานเรื่องการคืนค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นของโรงเรียนเอกชนให้ผู้ปกครอง โดยมีโรงเรียนที่คืนค่าธรรมเนียมอื่นจำนวน 524 แห่ง รวมเป็นเงินกว่า 561 ล้านบาท เช่น ค่าอาหาร ค่าอาหารเสริม ค่าอาหารว่าง ค่ารถรับส่ง ค่าเรียนเสริมวิชาการ ค่าเรียนสอนเสริมภาษาต่างประเทศ เป็นต้น

โดยวิธีการคืนค่าธรรมเนียมจะมี 2 ลักษณะ คือ คืนเป็นเงินสด หรือ คืนในรูปแบบเงินเครดิต เพื่อใช้เป็นส่วนลดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในปีการศึกษาต่อไป ส่วนโรงเรียนเอกชนบางแห่งที่ไม่มีการคืนค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่น นั้น เนื่องจากโรงเรียนมีการจัดการเรียนการสอนชดเชยให้นักเรียนตามจำนวนเวลาเรียนที่ขาดไปจนครบหลักสูตร

ส่วนกรณีที่มีโรงเรียนเอกชนบางแห่งที่ไม่คืนค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่น และมีการจัดสอนเสริมให้แก่เด็กเรียนจำนวนมากกว่าปกติ จนเกิดความกังวล ว่า เป็นการเพิ่มภาระและความเครียดให้กับบุตรหลานมากเกินไปหรือไม่ นายอรรถพล มองว่าต้องพิจารณาเป็นโรงเรียนไป เพราะ โรงเรียนเอกชนส่วนใหญ่มีการปฏิบัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนได้ออกมาตราการไปเป็นที่เรียบร้อย เลขาฯ กช.กล่าว

สำนักงานศาลยุติธรรมประกาศวันสอบข้อเขียนเพื่อรับทุนของสำนักงานศาลยุติธรรมไปศึกษาระดับปริญญาโท ณ ต่างประเทศ ประจำปี 2564 (ทุนสำหรับบุคคลทั่วไป)

วันและเวลาสอบข้อเขียน

วันอังคารที่ 30 มีนาคม 2564 เวลา 13.00 – 15.00 น.

โดยให้ผู้เข้าสอบมาพร้อมกัน ณ สถานที่สอบ เวลา 12.30 กรณีผู้เข้าสอบมาถึงห้องสอบหลังจากเวลา 13.00 น. จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าห้องสอบ

รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก

http://oia.coj.go.th/th/content/category/detail/id/10/cid/21/iid/233562

แชร์มุมมอง “What Makes a Great Teacher?” ทรรศนะจาก Derek Hopper อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ (Applied Linguistics จาก University of Oxford) และ ครูหญิง เจ้าของเพจ KruYing English (Master of Education จาก Teachers College at Columbia University)

สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา Edsy (สตาร์ทอัพด้านการศึกษาที่ต้องการให้นักเรียนไทยส่วนใหญ่ในประเทศสามารถเข้าถึงการเรียนภาษาอังกฤษที่มีคุณภาพ) ได้จัด Virtual Orientation & Training เป็นครั้งแรกสำหรับติวเตอร์กว่า 80 คนของเรา ซึ่งมาจากหลากหลายแห่ง ทั้งโรงเรียนนานาชาติ โปรแกรมอินเตอร์ของจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ รวมถึงจากสถาบันชั้นนำในต่างประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยคอร์แนล มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ อิมพีเรียล คอลเลจ

โดยในวันที่สองของงาน เราได้จัด Panel เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาของ Edsy ได้แก่อาจารย์ Derek Hopper จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Applied Linguistics from Oxford University) และครูหญิง (KruYing English, Master of Education from Teachers College at Columbia University) ได้แชร์มุมมองและประสบการณ์ในหัวข้อ “What Makes A Great Teacher?” (คุณครูที่ดีมีลักษณะเป็นอย่างไร)

ในคำถามเปิด เราถามทั้งสองท่านว่า ใครคืออาจารย์ที่ทั้งสองท่านประทับใจที่สุดเท่าที่เคยเจอมา (“Who is the best teacher you have ever encountered?”) อาจารย์ Derek ได้เล่าถึงมิสเตอร์ลอร่า ครูสอนวิชาภาษาฝรั่งเศสเมื่อสมัยที่เขาเรียนอยู่ที่โรงเรียนในประเทศไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นครูที่น่าประทับใจและมีอิทธิพลเป็นอย่างสูงแก่นักเรียนทุกคน ด้วยการแสดงออกด้วยความรัก ความหลงใหลอย่างแท้จริงในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับประเทศฝรั่งเศส

“He was truly passionate in what he taught. He drives French cars. He smokes French cigarettes. He eats, breathes, sleeps – everything about French!”

ซึ่งไม่เพียงทำให้นักเรียนทุกคนเชื่อในสิ่งที่เขาถ่ายทอด แต่ยังช่วยกระตุ้นให้นักเรียนมีความกระตือรื้อร้นที่จะทำโครงการชิ้นงานต่าง ๆ ที่เขามอบหมายให้ รวมไปถึงการสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนรักชอบภาษาฝรั่งเศสยิ่งขึ้น จากการที่เขาตั้งใจชี้ให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องกับประเทศฝรั่งเศสในทุกสิ่งของและชีวิตประจำวันของนักเรียน

อาจารย์ที่ครูหญิงประทับใจที่สุดคืออาจารย์บิ๋มที่คณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ที่ให้ความทุ่มเทกับนักเรียนแต่ละคน ทุกคน อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะมีพื้นฐานอ่อน แข็งขนาดไหน หรือต้องการความช่วยเหลือประการใด

“She truly cares about her students. She sees them as individual persons. Everyone comes to her class with different background, beliefs, and [English] proficiency level, but she sees everyone as a blank canvas that can grow at his or her own pace, and she tries her best to ensure that everyone gets the most out of her classes!”

อาจารย์บิ๋มไม่เพียงตั้งใจและให้ความทุ่มเทในการถ่ายทอดความรู้ แต่อาจารย์บิ๋มยังมองว่าการสอนเป็นการช่วยพัฒนานักเรียนแต่ละคน ทั้งในด้านแนวคิด การดำรงชีวิต การพัฒนาตนเอง และอื่นๆ นี่จึงเป็นสิ่งที่ทำให้คน ๆ นั้นเป็น “ครูที่ดี” อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ อาจารย์ Derek และครูหญิงยังได้แชร์มุมมองในการพิจารณาแยกแยะ “ครูที่ดี” และ “ครูที่ดีที่สุด” (“How to separate ‘Great’ from ‘Good/Decent’ teachers?”) รวมไปถึงเทคนิคในการพัฒนาปรับปรุงการสอนให้ดีขึ้นอย่างได้ผลทันที (“If there’s one thing anyone can do to dramatically improve his / her teaching, what would that be?) ซึ่งผมจะแชร์เพิ่มเติมในบทความถัดไปในวันพุธหน้าครับ

ฟังคลิปวิดีโอเต็ม “What Makes a Great Teacher” โดยอาจารย์ Derek Hopper และครูหญิง KruYing English ได้ที่ Facebook @edsythailand


เขียนโดย พริษฐ์ เที่ยงธรรม ผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพด้านการศึกษา Edsy

Line ID: @edsy.th

กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมมือ สถานทูตแคนาดา และสภาหอการค้าประเทศแคนาดา จัดหาครูต่างชาติสอนในโรงเรียนประจำตำบล 300 แห่ง เพื่อพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของเด็กไทย เริ่มเดือนพฤษภาคมนี้

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ชี้แจงหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ได้ทำข้อตกลงร่วมกับสถานทูตแคนาดา และสภาหอการค้าประเทศแคนาดา ในการจัดหาครูต่างชาติมาสอนในโรงเรียนดีประจำตำบล 300 แห่ง โดยเป็นระยะเวลาการดำเนินงาน 1 ปี คาดว่าจะเริ่มต้นในเดือน พ.ค.2564 นี้

เพื่อเป็นการเพิ่มทักษะภาษาอังกฤษของนักเรียน เชื่อว่าภายใน 3 - 5 ปี เด็กที่เรียนภาษากับเจ้าของภาษาโดยตรง จะสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างแน่นอน ในอนาคตจะมีครูต่างชาติมาสอนในโรงเรียนมากกว่า 300 แห่ง หรืออาจเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 แห่งอีกด้วย

รมว.ศึกษาธิการ ชี้แจงต่อว่า สำหรับนโยบายของตนนั้นต้องการให้เกิดการเรียนรู้วิชาภาษาอังกฤษตั้งแต่เด็กปฐมวัย ด้วยภาษาคำศัพท์ง่ายๆ เพราะคิดว่าช่วงปฐมวัยเป็นวัยที่จะเรียนรู้เรื่องภาษาได้ดี โดยมีการผสมผสานกับแผนบูรณาการการศึกษากับโรงเรียนที่มีคุณภาพของชุมชน และโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง ที่จะทำให้เด็กมีทักษะความพร้อมด้านภาษา เนื่องจากเด็กจะได้เรียนภาษากับครูต่างชาติโดยตรง

นอกจากนี้มีการหาแนวทางยกระดับภาษาอังกฤษให้กับครู เพราะไม่ว่าจะเป็นครูหรือผู้บริหารสถานศึกษา จะต้องมีทักษะภาษาอังกฤษที่เหมาะสม มีความรู้ความสามารถเพียงพอในการค้นหาข้อมูลเพื่อนำมาสอนเด็กได้ ซึ่งจะทำให้ความกว้างขวางในการค้นหาความรู้ของครูมากขึ้น


ที่มา: https://www.dailynews.co.th/education/827107

ส่องปรากฏการณ์ "Clubhouse" แพลตฟอร์มแชทด้วยเสียงที่กำลังเป็นกระแสความนิยมในขณะนี้ กับความท้าทายสถาบันการศึกษาของไทย ที่กำลังเผชิญกับอีกคลื่นหนึ่งของการดิสรัปชั่นที่ทำให้ตกไปจากเส้นความสนใจ และต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อสนองตอบต่อคนรุ่นใหม่

ช่วงสองสัปดาห์นี้หน้านิวส์ฟีดของทุกคนคงเต็มไปด้วยเรื่องของ Clubhouse โซเชียลมีเดียที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากในสังคมไทยขณะนี้ ทุกวงการต่างกล่าวถึงการเข้าไปแลกเปลี่ยนพูดคุยกันบนแพลตฟอร์มนี้ ตั้งแต่เรื่องธุรกิจ สังคม การเมือง ไปจนกระทั่งเรื่องจิปาถะในห้องที่เปิดให้พูดคุย ฟัง แสดงความเห็นอย่างหลากหลาย

ความโด่งดังยิ่งเพิ่มขึ้นจากการต้องถูกเชิญจากผู้ที่เข้าไปเป็นสมาชิกก่อนหน้า ความยากและการจำกัดจำนวนที่ไม่ใช่ใครก็ได้ เลยทำให้ยิ่งเพิ่มความกระหายของผู้คน จน Clubhouse ดังเปรี้ยงในชั่วข้ามคืน ไม่นับรวมการเข้าร่วมของคนที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักกันในสังคม จนคนที่กลัวตกขบวนต้องขวนขวายเข้าไปใน Clubhouse ด้วย

ความหลากหลายในประเด็นที่พูดคุย ผู้ตั้งประเด็น ผู้ร่วมคุยร่วมฟังและให้ความเห็นจะเป็นตัวทำให้ Clubhouse ร้อนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีกจากความง่าย ความสด ความเร็ว และการมีส่วนร่วมในประเด็นต่างๆ ในไม่ช้าจะได้เห็นแพลตฟอร์มเช่นนี้ออกมาอีกหลายราย ซึ่งก็จะเป็นเรื่องดีที่เราจะมีช่องทางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างหลากหลายจากผู้รู้จริง ทำจริงที่จะทำให้ความรู้แตกฉานไปได้อีกมากมายในสังคม

ความท้าทายอย่างยิ่งภายใต้ปรากฏการณ์ Clubhouse คือสถาบันการศึกษาของไทยกำลังจะเผชิญกับอีกคลื่นหนึ่งของการดิสรัปชั่นที่จะกวาดให้สถาบันการศึกษาตกไปจากเส้นความสนใจ หรือไม่ก็ต้องปรับตัวอย่างรุนแรงมากเพื่อสนองตอบต่อคนรุ่นใหม่ นักศึกษาจำนวนไม่น้อยบอกว่าการเข้าไปคุยกันใน Clubhouse ให้อรรถรสยิ่งกว่าการนั่งหน้าจอเรียนออนไลน์ที่ออกจะน่าเบื่อทั้งคนเรียนและคนสอนในเวลาที่มหาวิทยาลัยยังไม่เปิดอย่างตอนนี้

ที่กระทบหนักๆ แน่ๆ ในเบื้องต้นคือ ตลาดการฝึกอบรมที่น่าจะซบเซาหรือถูกกวาดล้างไปแทบจะสิ้นเชิง หลังจากที่เผชิญปัญหาหนักอยู่แล้วจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้การรวมตัวในการอบรมและสัมมนาใหญ่ๆ ทำไม่ได้อีกต่อไป การฝึกอบรมที่เคยทำรายได้ให้กับสถาบันการศึกษาและธุรกิจฝึกอบรมต่างๆ จะมี Clubhouse เป็นคู่แข่งโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Clubhouse สามารถทำได้ไม่แตกต่างกับการอบรมในห้องเรียน แถมได้วิทยากรหรือกูรูชื่อดังมาพูดให้ฟังโดยไม่ต้องเชื้อเชิญ สามารถรองรับคนได้ครั้งละหลายพัน ที่สำคัญคือฟรี ในที่สุด Clubhouse ยังจะกลายไปทำหน้าที่แทนบริษัทที่ ปรึกษาอีกด้วย ลองนึกภาพห้องสนทนาที่รวมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านต่างๆ มารวมกันเพื่อชี้แนวทางในการแก้ปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ปัญหาการทำมาหากิน ปัญหาครอบครัว ปัญหาสุขภาพ ฯลฯ การฝึกอบรมที่จะยืนหยัดอยู่ได้จึงต้องเป็นการอบรมแบบเข้มข้นสามารถหวังผลสัมฤทธิ์ได้ทันทีคนจึงจะยอมเสีบเงินมาอบรม ถ้าจะให้มานั่งฟังวิทยากรพูดเฉยๆ ทุกคนก็สามารถหาได้จาก Clubhouse

การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยต้องปรับตัวอย่างแรง ที่จริงถึงไม่มี Clubhouse ก็ต้องปรับกันหนักอยู่แล้ว การสอนเลคเชอร์แบบเดิมๆ ของอาจารย์จะไม่เป็นที่ศรัทธาของนักศึกษาอีกต่อไป หรือจะเชิญวิทยากรมาร่วมสอนในชั้นก็ไม่อาจเทียบความเข้มข้นได้กับหมู่กูรูชื่อก้องใน Clubhouse ที่เขาสามารถสร้างตัวตนหรือแฟนคลับได้ง่ายและกว้างขวางโดยไม่ต้องพึ่งมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยโดยเฉพาะด้านสังคมศาสตร์จะต้องปรับปรุงหลักสูตรให้สามารถลงมือทำจริงได้มากขึ้น วิชาประเภทท่องตำรามาสอบต้องเลิกเสียทีแล้วหันมาโฟกัสกับการลงมือทำ หลายๆ วิชาสามารถยุบรวมกันได้ จำนวนหน่วยกิตที่เรียนต้องลดลงแล้วหาเวทีจริงให้นักศึกษามากขึ้น ที่สำคัญการเรียนแบบวิชาเอกหรือที่เรียกกันว่าไซโลเป็นเรื่องล้าสมัยแล้ว นักศึกษากระหายที่จะเรียนรู้ในเรื่องที่ไม่มีให้เขาเรียนที่อื่น กระหายที่จะข้ามศาสตร์ไปหาสิ่งที่เขาอยากค้นหา โดยไม่ติดกับคณะหรือวิชาเอก

ธรรมศาสตร์คิดเรื่องนี้มาตลอด ปริญญาที่เรียกว่า “ธรรมศาสตรบัณฑิต” จะทำให้นักศึกษารอบรู้ ทำได้จริง ทำเป็น โดยไม่ต้องติดว่าเมเจอร์อะไร นักศึกษาควรได้ความคล่องตัวในการออกแบบหลักสูตรที่เขาเชื่อว่าตรงกับความถนัดและโอกาสที่จะออกไปเลี้ยงชีพเขาในอนาคต ไม่ใช่ถูกกำหนดมาจากระเบียบข้อบังคับในการเรียนของมหาวิทยาลัย

ไม่น่าเชื่อว่า Clubhouse จะพลิกโฉมมหาวิทยาลัยไทยได้รวดเร็วพอๆ กับโควิด-19 เลยทีเดียว


ขอบคุณที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/923949

Flexible Classroom หรือห้องเรียนดิ้นได้ เป็นห้องเรียนอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็ก โดยที่เด็กจะไม่ได้เพียงแค่ความรู้ แต่ได้ฝึกทักษะที่จำเป็นต่าง ๆ จากการทดลองทำจริง

เมื่อพูดถึง ‘ห้องเรียน’ คุณผู้อ่านนึกถึงห้องแบบไหนคะ ?

คุณนึกถึงห้องสี่เหลี่ยม มีกระดานดำใหญ่ ๆ ติดอยู่บนผนังหน้าห้อง มีชุดโต๊ะนักเรียนและเก้าอี้เรียงกันเป็นแถวเป็นแนวยาวไปจนถึงท้ายห้องหรือเปล่า

นั่นคือรูปแบบห้องเรียนที่พวกเราคุ้นเคยกันดีมาช้านาน แต่ถ้าหากห้องเรียนไม่จำเป็นต้องเป็นห้องที่มีเพียงโต๊ะ เก้าอี้ และกระดาน คุณอยากให้ห้องเรียนเป็นแบบไหน

พวกเราส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 20 ปีนั่งเรียนในโรงเรียน บางคนอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่านี้ นับว่ากินเวลาของชีวิตคนเราไปไม่น้อยเลยทีเดียว จึงอยากชวนคุณผู้อ่านคิดต่ออีกค่ะว่า เมื่อเราต้องลงทุนลงเวลาไปกับการเรียนหนังสือในห้องเรียนขนาดนี้แล้ว วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการเรียนคืออะไร? ทำไมเราต้องเรียน?

แน่นอนว่า คุณพ่อคุณแม่ทุกคนอยากให้ลูกเรามีชีวิตที่ดี มีความสุขและประสบความสำเร็จ และเชื่อว่าการมีผลการเรียนที่ดีจะนำพาลูกเราไปสู่เป้าหมายนั้นได้ และแล้วโลกก็เริ่มเปลี่ยนแปลงรวดเร็วกว่าเดิมมากขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มมีอาชีพบางอาชีพหายไป มีอาชีพแปลกใหม่เกิดขึ้นมา แบบแผนการเรียนที่เคยดีนั้นอาจจะปรับเปลี่ยนตามไม่ทัน แต่ใช่ว่าโรงเรียนจะไม่จำเป็น ถึงอย่างไรเด็กก็ต้องไปโรงเรียน เป็นเหตุให้มีห้องเรียนรูปแบบใหม่เกิดขึ้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในอนาคต

ปัจจุบันผู้ปกครองหลายคนเริ่มสนใจทำ Home School ให้ลูกกันมากขึ้น ซึ่ง Home School ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของรูปแบบการเรียนที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะผู้ปกครองสามารถออกแบบห้องเรียนได้อย่างเฉพาะเจาะจงกับตัวลูกและยังยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้ง่ายด้วย นอกจากนั้น ยังมีห้องเรียนแบบ Flexible Classroom หรือห้องเรียนดิ้นได้เกิดขึ้น เป็นห้องเรียนอีกรูปแบบหนึ่งที่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็ก โดยที่เด็กจะไม่ได้เพียงแค่ความรู้ แต่ได้ฝึกทักษะที่จำเป็นต่าง ๆ จากการทดลองทำจริง

Flexible Classroom บรรลุวัตถุประสงค์ด้วยห้องเรียนดิ้นได้

หัวใจของห้องเรียนดิ้นได้ คือ ยึดบรรลุวัตถุประสงค์ของการเรียนเป็นหลัก เน้นปฏิบัติ ทำงานเป็นทีม ต่อยอดและเติบโตจากผลลัพธ์ มากกว่าการจัดอับดับหรือให้เกรดเฉลี่ย เด็กที่เรียนในห้องเรียนดิ้นได้ จะเริ่มต้นจากผลลัพธ์ก่อนว่าเราจะเรียนสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร การทำเช่นนี้ทำให้เด็ก ๆ เข้าใจว่าเค้าจะเรียนไปเพื่ออะไร เด็กจะอยากลงมือทำและผลลัพธ์นั้นจะต้องเป็นสิ่งที่เด็กต้องการ นักเรียนจะได้เรียนจากกระบวนการนำไปสู่ผลลัพธ์ โดยที่นักเรียนหาวิธีด้วยตัวของเค้าเอง

เช่น หากน้องอยากเรียนเรื่องการเป็นผู้ประกอบการ ห้องเรียนดิ้นได้จะทำการสร้างสถานการณ์ผู้ประกอบการจริงให้กับนักเรียน และน้อง ๆ จะได้กำไรจริงขาดทุนจริง ถ้าน้องขาดทุน น้องจะได้เรียนรู้ต่อไปอีกว่าขาดทุนตรงไหน ต้องแก้อย่างไร โดยมีครูที่เป็น Innovative Educator เป็นผู้ดูแลตลอดกระบวนการ

ทั้งนี้ ห้องเรียนแบบดิ้นได้จะสามารถให้ประโยชน์แก่ลูกได้ดีที่สุด ก็ต่อเมื่อคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองต้องเชื่อมั่นว่าลูกเราทำได้ พ่อแม่ต้องหลุดออกจากความคิดว่าเค้ายังเด็กและปล่อยให้เด็กได้ลงมือทำด้วยตนเอง

เป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่และลูกทุกคนค่ะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ Flexible Classroom for 21st Century ห้องเรียนดิ้นได้ในศตวรรษที่ 21

Link : https://www.facebook.com/299800753872915/videos/202930958185615

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top