สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผ่านเสียงของผู้ร่วมฟังเสวนาใน Clubhouse หัวข้อ เรียนจบมหาวิทยาลัย ยังจำเป็นอยู่ไหม? ในยุคนี้ ที่ทำให้เห็นว่าการศึกษาไทยยังต้องได้รับการแก้ไข

เมื่อวันพุธที่ผ่านมาเวลาสองทุ่มโดยประมาณ ผู้เขียนตัดสินใจเปิดห้องเสวนาใน Clubhouse ในหัวข้อ เรียนในมหาวิทยาลัย จำเป็นอยู่ไหม ? ในยุคนี้ โดยที่ผู้เขียนทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการเสวนา  Moderator และได้เชิญชวนเพื่อนพี่น้องที่สนิทชิดเชื้อ และทำงานที่เกี่ยวข้องในแวดวงการศึกษาไทยมาร่วมเป็นผู้ร่วมเสวนา ( Speaker) มีทั้งอาจารย์ในระบบมหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการ Start up ด้านการศึกษา รวมถึงผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านการศึกษา

การเสวนาในช่วงเนื้อหาใช้เวลาร่วมชั่วโมง Speaker แต่ละท่านได้แลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องเทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอนแบบเลี่ยงไม่ได้อย่างน่าสนใจ แต่โดยสรุปแล้ว Speaker ทุกท่านยังเห็นว่า การเรียนในมหาวิทยาลัยยังคงมีความจำเป็น แต่รูปแบบและบทบาทของมหาวิทยาลัยในยุคใหม่นี้ คงต้องปรับตัวอย่างหนักเช่นกัน

ไม่ว่าจะเป็นการปรับหลักสูตรการเรียนการสอน ทักษะการสอนของอาจารย์ และบทบาทของมหาวิทยาลัยว่าจริงๆแล้ว “คุณค่าของมหาวิทยาลัย” คืออะไรกันแน่ อาจจะเปลี่ยนเป็นฐานการเรียนรู้ แทนการเรียนแบบ Lecture หรือเป็น Mentor ให้กับนักศึกษาในการเรียนที่สามารถนำไปปฏิบัติและสร้างรายได้ได้จริง ซึ่งการเสวนาใน Clubhouse ครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกของผู้เขียนด้วย มีผู้ร่วมฟังเท่าที่พอจะนับได้เห็นจะเป็น 120 คนโดยประมาณ

นอกจากเนื้อหาที่น่าสนใจในประเด็นการศึกษาในระบบแล้ว ในช่วงท้าย ได้เปิดโอกาสให้กับผู้ที่เข้าฟังถามคำถามประมาณ 30 นาที ผู้เขียนในฐานะ Moderator นอกจากต้องควบคุมการพูดคุยให้อยู่ในประเด็นแล้ว สิ่งที่ท้าท้ายมากกว่านั้นก็คือการควบคุมเวลาและประเด็นคำถามของผู้ร่วมเสวนา ไม่ให้ไปไกลกว่าประเด็นที่เสวนากัน แต่กระนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะควบคุมได้ทั้งหมด เพราะธรรมชาติของ Clubhouse เราจะได้ยินแค่เสียง และไม่สามารถกรองได้ว่าคำถามที่ผู้ถาม ที่ทางผู้เขียนที่ทำหน้าที่ Moderator กดอนุญาตให้ถามจะถามเรื่องอะไร แล้วไปในทิศทางไหน ผู้เขียนยอมรับตรงๆ ว่าจังหวะนั้นก็ตื่นเต้นปนหวั่นใจว่าจะมีคำถามอะไรที่ทำให้การเสวนาหลุดประเด็นและไม่ราบรื่นหรือไม่

แต่พอเปิดโอกาสให้ถามจริงก็พบว่าผู้ร่วมเสวนามีมารยาทในการขึ้นมาแสดงความเห็นมากทีเดียว แม้จะมีเรื่องที่นอกประเด็นไปบ้าง แต่การเสวนาก็ราบรื่น  Speaker ทุกท่านก็พร้อมที่จะตอบคำถามอย่างดี

เกริ่นมายืดยาว ประเด็นของเรื่องอยู่ที่คำถามของผู้ฟังนั่นเอง ผู้ฟังหลายคนที่ยกมือถาม อายุน่าจะยังไม่ถึง 20 ปี แต่ที่แน่คืออยู่ในระบบการศึกษา บางคนเรียนสายอาชีพ ครอบครัวฐานะไม่ได้ดี ต้องเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย กำลังชั่งใจว่าจะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยดีไหม ใจหนึ่งก็อยากเรียนเพราะเป็นคนใฝ่รู้และคิดว่าถ้าจบแค่สายอาชีพ โอกาสในการทำงานที่ดีกว่านี้จะน้อยกว่าคนที่เรียนจบมีใบปริญญา แต่ก็กังวลเพราะเมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยแบบเต็มรูปแบบ นอกจากค่าเล่าเรียนแล้ว เวลาในการทำงานไปด้วย

หรือบางคนเข้ามาแชร์เรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวกับหัวข้อที่ตั้งไว้ แต่กล่าวถึงความเจ็บปวดต่อระบบการศึกษาไทย ที่เห็นว่าคนใกล้ชิดที่ฐานะไม่ดี แต่เรียนดี แต่ไม่ได้รับโอกาสในการเข้าถึงระบบการศึกษาที่ดี รวมไปถึงบางคนได้มาแชร์เรื่องอุปสรรคจากกฎเกณฑ์ที่ยุ่งยาก เงินเดือนที่ไม่พอกิน ของการเป็นอาจารย์ในระบบ ทุกวันนี้ก็ต้องออกจากระบบการศึกษาไป แล้วไปสานต่ออุดมการณ์นอกระบบแทน และทั้งพูดกล่าวด้วยน้ำเสียงที่จริงจังปนเจ็บปวด ผู้เขียนฟังแล้วรู้สึกแบบนั้นจริงๆ 

ผู้เขียนปิดห้องเสวนานี้เวลาเกือบสี่ทุ่ม หลังจากปิดห้องผู้เขียนก็ส่งข้อความไปขอบคุณผู้ร่วมเสวนา (Speaker) แต่ละท่านที่สละเวลามาร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะในประเด็นที่ตั้งขึ้น แต่กว่าผู้เขียนจะหลับลงก็เกือบตีสอง ผู้เขียนครุ่นคิด ผสมปนเปไปกับความรู้สึกที่ได้ฟังน้ำเสียงของผู้ร่วมฟังเสวนาและถามคำถามต่างๆขึ้นมาว่า นี่เราได้สัมผัสความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่าน Technology ก็ในวันนี้ สัมผัสผ่านเสียง เสียงที่ไม่ได้ปั้นแต่ง ความรู้สึกที่อัดอั้นผ่านน้ำเสียงที่ออกมา มันกระแทกใจผู้เขียนอย่างมาก

ผู้เขียนไม่รู้ว่าก่อนหน้านี้เหล่าผู้มีอำนาจทำการสำรวจความคิดเห็นหรือเสียงของประชาชน หรือเยาวชนผ่านช่องทางไหนบ้าง แต่ Clubhouse เปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้ส่งเสียง ที่เป็นเสียงของเขาจริงๆ เป็นความรู้สึกผ่านเสียง ที่วันนี้ท่านๆ ทั้งหลายสามารถเข้ามาฟังได้ และผู้เขียนคิดว่าท่านทั้งหลายก็ควรฟัง ฟังว่าประชาชนของท่านรู้สึกอย่างไรกับนโยบายและการแก้ปัญหาของท่าน ฟังอย่างเข้าใจ

ทั้งหมดนี้ก็ทำให้ผู้เขียนเองมีแรงฮึดในการทำงานผลิตสื่อต่อไป โดยเฉพาะสื่อด้านการศึกษาที่ผู้เขียนมีความปรารถนาที่จะเป็นฟันเฟืองในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผ่านการผลิตสื่อต่อไป อย่างตั้งใจฟังเสียงของผู้คน


เขียนโดย ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา Head of  content editor THE STUDY TIMES