Tuesday, 30 May 2023
Y WORLD

แนะนำเคล็ด (ไม่) ลับ การเล่นของลูกเพื่อเสริมสร้างสติปัญญา

นัก neuroscience หรือผู้ที่ศึกษาระบบการทำงานของสมองชวนคุณพ่อคุณแม่ทำความเข้าใจกับการเล่นซุกซนของเด็ก ๆ ใหม่ การเล่นของเด็ก ๆ นั้น สัมพันธ์กับพัฒนาการทางสติปัญญา เขายังบอกอีกว่า ในระบบประสาทมีสิ่งที่เรียกว่า neuropathway ที่เชื่อมเซลล์ประสาทของเซลล์สมองเข้าด้วยกัน

ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการสร้างให้เด็กไปสู่ศักยภาพสูงสุด และวิธีที่เด็ก ๆ เชื่อมเจ้า neuropathway นั้นก็คือ การเล่น นั่นเอง

เรามีเคล็ด (ไม่) ลับแนะนำการเล่นของลูกจากนักบำบัดมาบอก เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการให้เหมาะสมตามช่วงวัยกันค่ะ

ช่วงวัยของการเล่น

ช่วงแรกเกิดถึง 6 เดือน เป็นช่วงที่ลูกเรียนรู้ประสาทสัมผัสทางร่างกาย ดังนั้น ควรยิ้ม มองหน้า ร้องเพลง คุย หัวเราะ กับลูกเยอะ ๆ จะช่วยให้ลูกเรียนรู้ร่างกายเบื้องต้นได้

ช่วง 7-12 เดือน เป็นช่วงสำรวจ สงสัย ควรมีของเล่นขนาดใหญ่ ๆ ปลอดภัยจากการเอาเข้าปาก มาให้ลูกเล่นเพื่อกระตุ้นการเล่นใหม่ ๆ มองตาลูกอยู่เสมอ เพื่อพัฒนาความรู้สึกปลอดภัย

ช่วง 1-3 ขวบ เป็นช่วง toddler หรือเด็กวัยเตาะแตะ ลูกจะเริ่มใช้ร่างกายมากขึ้น เริ่มเคลื่อนย้ายตัวเอง ควรให้ลูกได้คลาน เดิน เล่นน้ำ 

ช่วง 4-6 ขวบ ช่วงนี้พร้อมที่จะเล่นของเล่นขนาดเล็ก ๆ ได้ เรียนรู้สัญลักษณ์ เริ่มเล่นบทบาทสมมติ เล่นกับเพื่อน ๆ เรียนรู้ปฏิสัมพันธ์โดยมีผู้ใหญ่สังเกตอยู่ข้างๆ 

ช่วงประถมต้น เริ่มให้ลูกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เช่น ตกลงเวลาเล่นกับเด็ก ๆ ให้เด็กฝึกการตัดสินใจและสร้างวินัยในตนเอง

ช่วงประถมปลาย เหมาะกับการเล่นที่มีกติกา มีความซับซ้อน โดยปล่อยให้เด็ก ๆ เล่นเองอย่างเต็มที่

ช่วงวัยรุ่น รุ่นนี้เป็นช่วงที่ซุนซนสนุกสนาน หรือช่วง playfulness ไม่มีรูปแบบการเล่นที่ตายตัว วัยรุ่นจะหาสิ่งสนใจ

ด้วยตัวเอง เราเพียงเข้าไปมีส่วนร่วมได้บ้าง หาวิธีเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเล่นเพื่อพอสังเกตการณ์ได้

บางครอบครัวสงสัยว่าทำไมลูกไม่ค่อยเล่นเลย

เด็กที่ไม่ค่อยเล่น ไม่อยากเล่น เล่นไม่เป็น หรือนั่งอยู่เฉยๆ เหตุผลหลักคือ ขาดความรู้สึกปลอดภัย ซึ่งการเล่นน้อยเกินไป ย่อมส่งผลต่อการพัฒนาสติปัญญาได้ นักบำบัดด้วยการเล่นแนะนำว่า ให้เวลาเขา ไม่ต้องไปเร่งรัด เด็กจะค่อย ๆ สร้างพลังเยียวยาด้วยตัวเอง พอเด็กเริ่มรู้สึกปลอดภัยขึ้น เขาจะเริ่มมาสังเกตของเล่น เริ่มหยิบมาดู และจะเล่นได้เอง เราเพียงให้เวลาเขาแบบค่อยเป็นค่อยไป

เล่นกับลูกช่วงการระบาดของโควิด 19 

ในช่วงโควิด ลูกที่อยู่ในวัยเรียนต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของตารางเรียน การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนกระทันหัน อาจทำให้ลูกเกิดอาการกังวลรู้สึกไม่ปลอดภัยได้ คุณพ่อคุณแม่สามารถลดความกังวลของลูกได้โดยเริ่มจากผ่อนคลายความเครียดก่อนไปเจอลูก อยู่กับลูก พูดคุยกับลูกด้วยการพูดสะท้อนกลับ หรือพูดซ้ำในสิ่งที่ลูกพูด  วิธีนี้ช่วยสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้กับลูกได้

Quality time = เวลาร่วมกันของครอบครัว

Special time = เวลาของคุณและลูกโดยเฉพาะ

นักบำบัดด้วยการเล่นฝากบอกกับเราอีกว่า ช่วงเวลาคุณภาพกับช่วงเวลาพิเศษนั้นไม่เหมือนกัน เวลาพร้อมหน้าพร้อมตากันกับครอบครัวนั้นสำคัญ และยังมีช่วงเวลาสำคัญสำหรับลูกอีกช่วงหนึ่ง คือการที่คุณได้อยู่กับลูกเพียงสองคน คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะคิดว่าการอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัวนั้นเพียงพอแล้ว แต่สำหรับเด็กนั้น ความสัมพันธ์กับคุณเป็นเรื่องที่พิเศษ ควรมีเวลาพิเศษที่คุณกับลูกมีโอกาสเสริมสร้างความสัมพันธ์ดีๆ ที่แข็งแรงค่ะ

เป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่และลูกทุกคนค่ะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก  

หัวข้อ: ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลูกด้วยการเล่น

Link https://www.facebook.com/299800753872915/videos/955352284963952

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

 

เรื่องจริงที่เด็ก ๆ ขอจากลุงซานต้าคลอส

“You better watch out, You better not cry

(หนูดูดีๆนะ หนูต้องไม่ร้องไห้นะ)

You better not pout, I’m telling you why

(หนูต้องไม่ทำหน้ามุ่ยนะ ชั้นจะบอกอะไรให้)

Santa Claus is coming to town”

(ลุงซานต้าคลอสกำลังมา)

คริสต์มาสและปีใหม่เพิ่งผ่านไปหมาด ๆ ช่วงนี้ไม่ว่าจะไปร้านกาแฟ ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่ที่ที่คุณนั่งอยู่ เริ่มตกแต่งสถานที่ด้วยต้นสน กล่องของขวัญ ประดับไฟกระพริบและสายรุ้ง เปิดเพลงสร้างบรรยากาศเฉลิมฉลอง พอพูดถึงคริสต์มาส สำหรับเด็ก ๆ แล้ว นี่เป็นสัญญาณที่บอกถึงการเตรียมหยิบถุงเท้ามาแขวนรอ ‘ลุงซานต้าใจดี’ นั่งรถรากกวางเรนเดียร์เหาะลงมาจากท้องฟ้าในคืนวันคริสต์มาสอีฟ เพื่อมาแจกของขวัญให้กับเด็ก ๆ ที่ประพฤติตัวเป็นเด็กดี

แต่ก็มีเรื่องจริงหนึ่งที่น่าสนใจ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จดหมายหลายแสนฉบับต่อปีที่เด็ก ๆ เขียนไปขอของขวัญจากลุงซานต้าคลอส จนศาสตราจารย์ Carole Slotterback นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ทนเห็นกองภูเขาจดหมายที่เก็บอยู่ที่ทำการไปรษณีย์ไม่ไหว หยิบจดหมายมา 1200 ฉบับ เปิดอ่านดูและพบกับสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับเด็ก ๆ เหล่านั้น

ศาสตราจารย์ Slotterback บอกว่า จดหมายของเด็ก ๆ ถูกเขียนด้วยลายมือของเด็กเองเสมอ ตกแต่งด้วยการวาดรูประบายสี ติดสติ๊กเกอร์ เด็ก ๆ หลายคน ไม่ลืมที่จะเขียนที่อยู่ของตัวเอง และเบอร์โทรศัพท์ของผู้ปกครองให้ลุงซานต้าติดต่อได้เผื่อไว้ในกรณีที่ลุงซานต้าหาบ้านไม่เจอ เด็กส่วนใหญ่ขอของเล่น แถมกำชับกับลุงซานต้าด้วยว่า ปีนี้ไม่เอาเสื้อผ้านะ

ภาษาที่เด็ก ๆ ใช้ในจดหมายถึงลุงซานต้านั้น ช่างต่อรองเจรจา พูดเพราะหว่านล้อมให้ลุงซานต้าใจอ่อนอย่างไม่ธรรมดา หรือเด็กบางคนถึงกับใช้ภาษาที่รุนแรงข่มขู่ลุงซานต้ากันเลยก็มีเหมือนกัน

ในบรรดาจดหมายกองใหญ่นั้น มีเด็กจำนวนเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้ขอของเล่น เขาขอสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น เด็ก ๆ เขียนไปหาลุงซานต้าว่า ขอให้คุณพ่อคุณแม่เลิกทะเลาะกัน ขอให้คุณยายหายป่วย และมีจดหมายสีชมพูสดฉบับหนึ่งที่ทำให้ศาสตราจารย์ Slotterback ต้องตื้นตัน เป็นจดหมายที่เขียนด้วยลายมือตัวบรรจงว่า หนูขอคุณแม่ เพราะคุณพ่อต้องทำงานเหนื่อยเลี้ยงดูครอบครัวอยู่คนเดียว อยากมีคุณแม่มาช่วยแบ่งเบาภาระบ้าง 

ศาสตราจารย์บอกอีกว่ามีจดหมายประเภทขอความช่วยเหลืออยู่ประมาณ 3-6% และปริมาณของจดหมายถึงลุงซานตาคลอสจะยิ่งเยอะขึ้นในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี น่าเสียดายที่ไม่มีจดหมายฉบับไหนเลยไปถึงมือซานต้าคลอส

“He knows if you have been bad or good so be good for a goodness sake…”

(ลุงซานต้ารู้ว่าใครเป็นเด็กดีหรือเป็นเด็กไม่ดี ฉะนั้นจงทำดีเพื่อประโยชน์ที่ดีงาม)

ตำนานปรัมปราทางศาสนากลายมาเป็นทริคให้เด็กประพฤติตัวดีน่ารักนั้นได้ผลดีทีเดียว อย่างไรก็ตาม นักจิตวิทยาคลินิกชาวออสเตรเลีย Kathy McKay อ้างว่า มีโอกาสที่เด็กจะได้รับผลกระทบจากการโกหกเรื่องซานต้าคลอสได้เช่นกัน

ศาสตราจารย์ Slotterback แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครอง ลองให้ลูก ๆ เขียนจดหมายหรือทำลิสต์ของขวัญถึงลุงซานต้า เพื่อจะได้รู้ว่า เด็ก ๆ ต้องการอะไร ชอบอะไร ไม่อยากได้อะไร ให้เด็กได้หัดเขียนอย่างมีเป้าหมายและกำชับให้เขียนอย่างสุภาพ 

หากลูกถามเราว่าซานต้าคลอสมีอยู่จริงมั้ย คำตอบที่ปลอดภัยที่สุดต่อความรู้สึกผิดหวังกับเด็กนั้น ให้คุณพ่อคุณแม่ตอบไปตามความเป็นจริงที่เหมาะสมกับวัยของลูกค่ะ 

อย่าเพิ่งตัดสินว่าลูกอยากได้อะไรเป็นของขวัญวันคริสต์มาส ลูกอาจจะขออีกอย่างที่ไม่ได้ขอกับคุณพ่อคุณแม่จากลุงซานต้าก็ได้ แล้วถ้าลูกเป็นเด็กดีเพราะขอของขวัญลุงซานต้าไว้ ลุงซานต้าคลอสตัวจริงอย่าลืมทำตามที่ลูกขอด้วยนะคะ


ข้อมูลอ้างอิง : https://www.voathai.com/a/a-47-2009-12-25-voa1-90651069/922866.html

https://www.melbournechildpsychology.com.au/blog/believing-in-santa-claus-harmless-or-hurtful/ 

สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก Link https://www.facebook.com/foryourchildz

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

การรับฟังลูกในทุกช่วงวัย คือจุดเริ่มต้นของครอบครัวที่อบอุ่น

ฟังเสียงแต่ไม่ได้ยิน...

ประโยคสั้น ๆ โดนใจใครหลายคน ไม่เว้นเพศ วัย หรือความสัมพันธ์ใด ๆ เจ้าความรู้สึก ‘ไม่ได้ยิน’ นี้ เกิดได้แม้กระทั่งเด็กเล็กที่ยังพูดไม่ได้ เสียงกรี้ด ร้องไห้โวยวายของเด็กวัย 2-3 ขวบ คือความพยายามจะสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่ถึงความต้องการของหนู หากพ่อหรือแม่ยังไม่ตอบสนอง หนูก็ตะเบ็งเสียงต่อเหมือนคอจวนแตก พ่อแม่อาจตีตราว่าลูกเอาแต่ใจตั้งแต่เล็ก และกลายเป็นต้นตอของความเงียบในความสัมพันธ์ในเวลาต่อมา

นักจิตวิทยาวัยรุ่นและเด็กแบ่งปันให้เราฟังว่า การฟังนั้นมี 2 ประเภทด้วยกัน

  1. ฟังเนื้อหา เป็นการฟังจับข้อมูลว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร 
  2. ฟังด้วยความรู้สึก หากเราฟังด้วยความรู้สึก เราจะได้ยินคำว่า เศร้า เหงา โกรธ ไม่ชอบ เบื่อ 

เราจะคุ้นเคยการฟังเพื่อเนื้อหามากกว่าการฟังด้วยความรู้สึก เพราะเราใช้ในการเรียนและทำงาน แต่สำหรับความสัมพันธ์ เนื้อหาเป็นเพียงบทนำเพื่อไปสู่ความต้องการที่แท้จริงของผู้พูด 

วิวัฒนาการของความรู้สึก ‘ไม่ได้ยิน’

ความรู้สึกไม่ได้ยินมันทำงานแปลกมากค่ะ ดูเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ถ้าได้หยอดกระปุก ‘การไม่ได้ยิน’ สะสมวันละนิด จะกลายเป็นความรู้สึกที่แข็งแรง ยิ่งลูกโตขึ้น รู้เรื่องมากขึ้น กลับยิ่งรู้สึกไม่ได้ยิน เริ่มกันตั้งแต่เด็กเล็กเลยที่ยังสื่อสารด้วยภาษาไม่ได้ พอวัยประถมเด็กจะเริ่มซุกซนจนบางครั้งทำให้คุณพ่อคุณแม่หัวเสีย หรือลูกเรียนรู้สังคมที่โรงเรียนและนำมาเล่าให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง แต่คุณพ่อคุณแม่เครียดจากการทำงาน อาจไม่ทันได้ใส่ใจสิ่งที่ลูกเล่าเท่าไร เมื่อเติบโตขึ้น ลูกที่ไม่เคยถูกได้ยินจะเริ่มเงียบกับพ่อแม่ และจะแสดงออกชัดเจนในช่วงวัยรุ่น แม้แต่นักจิตวิทยายังบอกว่ายากมากที่จะปลดความรู้สึกนั้นออกไปได้ 

บางครั้งหรือบ่อยครั้ง เวลาที่ลูก ๆ มาเล่าอะไรให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง ลูกอาจไม่ได้ต้องการทางออกจากเราแต่อยากระบายอะไรบางอย่าง การฟังเฉย ๆ ไม่ออกความเห็นนั้น ง่ายกว่าการช่วยลูกหาทางออกซะอีก เราไม่ต้องคิดอะไรแทนลูกเลย เหมือนยิงหนังสติ๊กทีเดียว ได้นกถึง 3 ตัว นกตัวแรก คือ self esteem ของลูก การฟังลูกเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตนเองของลูกได้ดีมาก นกตัวที่ 2 คือ EQ ซึ่งการฟังจะได้ฝึก EQ หรือความฉลาดทางอารมณ์ไปทั้งลูกและพ่อแม่ นกตัวที่ 3 คือสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ความสัมพันธ์ที่ส่งผลระยะยาวระหว่างพ่อแม่และลูก

เห็นอย่างนี้แล้ว เรามาลองฝึกฝนการฟังลูกกันค่ะ 

.

วิธีเตรียมฟังเสียงลูกแล้วได้ยิน

อย่างแรกสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่อยากได้ยินเสียงของลูกคือ สะสมคำศัพท์ทางความรู้สึกค่ะ คุ้นเคยกับคำที่แสดงถึงความรู้สึก อย่างเช่น โกรธ เสียใจ เบื่อ เจ็บ หิว ร้อน หนาว กลัว โดยเริ่มคุยกับลูกตั้งแต่วัยเด็กเล็กหรือทารกได้เลย เพราะเด็กเล็กเป็นช่วงที่สื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่เยอะมากผ่านการร้องนั่นเอง ให้ลูกได้คุ้นเคยกับคำศัพท์เหล่านี้ และเป็นการแสดงออกว่าคุณพ่อคุณแม่ได้รับรู้อารมณ์หนูแล้วนะ

ในช่วงวัยอนุบาลและประถม คุณพ่อคุณแม่อาจจะแสดงออกกับลูกว่าเราฟังลูกอยู่นะ เช่นตอบรับลูกว่า “อ๋อ” “เหรอลูก” “แล้วยังไงต่อล่ะ” “อยากทำอะไรต่อ” สะท้อนคำพูดลูกหรือพูดซ้ำคำของลูกเพื่อให้ลูกรับรู้ว่าเราฟังอยู่ ถึงแม้เราอาจจะคิดเรื่องอื่นอยู่ก็ตาม

หากลูกอยู่ในช่วงเริ่มเป็นวัยรุ่นแล้ว การเริ่มฟังลูกแบบใส่ใจ ช่วงแรกจะอาจรู้สึกแปลก ๆ ทำให้ลูกสงสัย คิดว่าเราต้องการอะไรจากเขาหรือเปล่า รุ่นนี้ต้องใช้เวลาค่ะ ทำไปอย่างต่อเนื่อง ใจเย็น ๆ 

หากลูกเป็นวัยรุ่นที่โตแล้ว การเปลี่ยนมาฟังลูกแบบใส่ใจ ลูกจะจับได้ทันที วิธีที่ดีคือ พูดเปิดอกไปเลยว่าก่อนหน้านี้ไม่ค่อยได้ฟังลูก ต่อไปจะฟังลูกมากขึ้น และจะดีที่สุด ถ้าลูกได้ยินคำว่า ขอโทษ จากปากคุณพ่อคุณแม่ ลูกจะเอากลับไปคิดเองไม่มากก็น้อยค่ะ

.

เรื่องจริงมีอยู่ว่า ไม่มีคุณพ่อคุณแม่คนไหนบนโลกที่สมบูรณ์แบบ เราอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่า ลูกไปโกรธเราตั้งแต่เมื่อไร เด็กยังอยู่ในช่วงพัฒนาการรับรู้อยู่ เรื่องเล็ก ๆ ของเรา ลูกอาจตีความผิดเพี้ยนได้ การขอโทษนั้น เยียวยาได้ ยกโทษและอภัยให้ตัวเราเองกับลูก อาจปลดล็อกสิ่งที่ซ่อนลึกอยู่ในใจลูกได้เพียงเราเอ่ยคำว่า พ่อ(แม่)ขอโทษนะ

แล้วเราจะสอนลูกได้ตอนไหน

คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องห่วง สอนลูกได้แน่นอนค่ะ เพียงเลือกสอนในเวลาที่เหมาะสม คือช่วงที่อารมณ์ของลูกเป็นปกติหรืออารมณ์ดีอยู่ เก็บเรื่องที่เราอยากจะพูดทันทีไว้ก่อน ทำตัวเป็นผู้ฟัง เป็นผู้ที่อยู่ข้างเดียวกันกับลูกตอนที่ลูกอยากระบาย เมื่อลูกพร้อม เราค่อยใส่คำสอนลงไปค่ะ
 


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก  

หัวข้อ: การฟังคือการใส่ใจ 

Link https://www.facebook.com/299800753872915/videos/763229607561738

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

 

5 เทคนิค ทำใจสบาย ไม่กดดันตัวเอง สำหรับคุณแม่

Sandwich Generation คำนิยามใหม่ของคุณแม่ยุค COVID19 ขยายความกันสักนิด เรียกว่า ‘เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว’ ทั้งคุณแม่ใจดีของคุณลูก ภรรยาสายสตรองของคุณสามี เป็นเพื่อนที่ดีของก๊วน งานก็ต้องปั่น ไหนจะต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอีก โอ้ยยย คุณแม่ขอยาดมแพร้บ! 

ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วเช่นนี้ อะไรๆ ก็เร่งรีบไปหมด เป็นใครก็ต้องเครียด อย่าว่าแต่คุณแม่เลย จริงไหมคะ ยิ่งคนที่เป็นคุณแม่ต้องมารับศึกหลายด้านแบบนี้ ย่อมส่งผลต่อสุขภาพจิตได้ ไหนคุณแม่ลองมาเช็กอาการกันหน่อยสิคะ ว่าตอนนี้ตัวเองมีอาการแบบนี้อยู่หรือเปล่า

ช่วงนี้วีนเหวี่ยง: ถ้าคุณแม่วีนเหวี่ยงอย่าเพิ่งโทษตัวเอง การวีนเหวี่ยงหรือบ่น คือสัญญาณเตือนค่ะ เป็นสัญญาณว่าเราเครียด การบ่นเป็นกลไกในการระบายความเครียดของผู้หญิงตามธรรมชาติค่ะ เมื่อได้พูดความในใจออกไปให้ใครซักคนฟังแล้ว จะรู้สึกสบายตัวขึ้น สามารถดำเนินกิจกรรมหรือหน้าที่ของตัวเองต่อไปได้ แต่ว่าคุณสามีหรือคุณลูก หรือคนอื่นๆ ในครอบครัว จะพานเครียดกับเราไปด้วยรึเปล่า หากว่าเราระบายความเครียดเยอะไป อันนี้ก็ต้องระวัง 

ช่วงนี้นอนไม่หลับ รู้สึกเครียด ท้องผูก สิวขึ้น: ถ้าคุณแม่มีอาการนอนไม่ค่อยหลับ กระสับกระส่าย ท้องผูก หรือมีสิวขึ้น อย่างนี้ก็เป็นสัญญาณความเครียดเช่นกันค่ะ อาการแบบนี้น่าเป็นห่วงกว่าคุณแม่ที่เลือกระบายออกทางการวีนเหวี่ยงหรือบ่นเสียอีก เพราะคุณแม่เก็บและกดความเครียดนั้นเอาไว้ หรือทางจิตวิทยาเรียกว่า suppression ซึ่งสามารถนำไปสู่อาการซึมเศร้าได้เลยค่ะ

ความเครียดที่เกิดเหล่านี้ อย่าคิดว่าไม่ส่งผลต่อคุณลูกนะคะ มีคุณพ่อคุณแม่หลายคนคิดว่าความเครียดที่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่นั้น เด็กไม่ได้รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น หรือคงไม่ส่งผลต่อเด็กหรอก แท้จริงแล้ว ลูกๆ สามารถรับรู้และเลียนแบบอารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่ได้ด้วย จากการศึกษาพบว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการการเลี้ยงดูยาวนานว่าสิ่งมีชีวิตอื่น และมีเส้นประสาทพิเศษชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า mirror neuron คือเส้นประสาทที่ทำให้เราเลียนแบบอย่างอัตโนมัติ แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะบอกลูกว่า ปัญหาของผู้ใหญ่ ลูกไม่ต้องเอาไปเครียดด้วย หรือสอนลูกให้มีความฉลาดทางอารมณ์ แต่ลูกจะเรียนรู้และเลียนแบบพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ที่กระทำให้เห็นอยู่จริง ไม่ได้เรียนรู้จากการสอนค่ะ

“Happy child comes from happy parents”

“เด็กที่มีความสุขมาจากพ่อแม่ที่มีความสุข”

เมื่อคุณแม่ตกอยู่ในภาวะความเครียด จะสร้างความสุขในครอบครัวได้อย่างไร

วิธีการสร้างความสุขภายในครอบครัวนั้น คือการที่เรามีความสุขกับตัวเองก่อน เพราะ “ธรรมชาติของมนุษย์ มีทุกข์จะแบ่งปันทุกข์ มีสุขจะแบ่งปันสุข” ดังนั้น วันนี้เรามีวิธีในการปรับสมดุลอารมณ์ของคุณแม่ด้วยเทคนิคที่ชื่อว่า SMART มาฝากกันค่ะ

S - STOP เพื่อตั้งสติ 

หยุดเพื่อตั้งสติ หากคุณแม่สังเกตเห็นว่าช่วงนี้เรานอนไม่หลับ เครียด วีนเหวี่ยง ปี๊ดแตก ลองให้เวลาตัวเองซัก 5 นาที สำรวจตัวเองเพื่อตระหนักว่า เรากำลังเครียดอยู่หรือเปล่า แล้วถ้าเครียด เครียดเรื่องอะไร

M - Meta เมตตา

เมตตาในเทคนิคนี้ไม่ใช่เมตตาต่อผู้อื่นนะคะ แต่เป็นการเมตตาต่อตัวเองค่ะ ในแต่ละวันนั้นคนที่พูดกับเรามากที่สุดไม่ใช่ใคร แต่คือตัวเราเอง หรือที่เรียกว่า self talk คุณแม่ที่อยู่ในภาวะเครียด ส่วนใหญ่เกิดจากการกดดันตัวเองค่ะ คุณแม่มักจะโทษตัวเอง โกรธตัวเองว่ายังทำได้ไม่ดีพอ ใช้คำพูดกับตัวเอง หรือมี self talk ในเชิงตำหนิติเตียน ดุร้ายเฆี่ยนดีตัวเองด้วยคำพูด ฉะนั้น อยากให้คุณแม่เมตตาต่อตัวเองก่อนโดยการพูดกับตัวเองดีๆ เราเป็นมนุษย์ธรรมดา มีเหนื่อย มีเครียด มีอารมณ์ มีผิดพลาดได้ ลองหันมาให้กำลังใจตัวเอง ให้อภัยตัวเอง ยอมรับความเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ความเมตตาเหล่านี้จะแผ่ออกไปยังผู้อื่นได้ทันทีเลยค่ะ เพียงแค่คุณแม่เมตตาตนเองได้ คุณแม่จะเมตตาผู้อื่นไปโดยปริยาย

A- Adding (success of the day)

คุณแม่สามารถสร้างความรู้สึกมั่นใจกับตัวเองโดยการมองเห็นความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวัน ลองหยิบสมุดขึ้นมาจดหรือจะโน้ตในโทรศัพท์แล้วแต่คุณแม่จะสะดวกเลยค่ะ เขียนความสำเร็จในแต่ละวันอย่างน้อยวันละ 3 ข้อ โดยเป็นเรื่องง่ายๆ ที่วันนี้เราทำสำเร็จ เช่น วันนี้เราตื่นเช้า วันนี้ดื่มน้ำครบ 8 แก้ว ได้อ่านหนังสือก่อนนอน หรืออะไรก็ได้ ให้โน้ตความสำเร็จลงไป บางทีเรามาเปิดอ่าน จะเห็นว่าเราได้สะสมความสำเร็จในแต่ละวันเยอะแยะเลย ช่วยเสริมสร้างกำลังใจให้ตัวคุณแม่ได้เป็นอย่างดี

R- Revive ฟื้นฟูให้เกิดชีวิตชีวา

เราทุกคนมีฮอร์โมนที่รักษาความเครียดตามธรรมชาติ อย่าง Endorphin และ Dopamine สารเหล่านี้จะหลั่งเมื่อเราได้ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เช่น การนวด อ่านหนังสือการ์ตูน ไปเที่ยว ทำสปา หาเวลาเล็กๆ ทำกิจกรรมช่วยฟื้นฟูความสุข ผ่อนคลายความเครียดให้ร่างกายรีแลกซ์ เป็นวิธีที่ทำให้คุณแม่มีชีวิตชีวาได้ดีเช่นกันค่ะ

T- Thank you การขอบคุณ

การขอบคุณนั้นฟังดูง่ายแต่ทรงพลังมากค่ะ ขอบคุณที่นี้หรืออีกคำที่เรียกว่า gratitude คือการระลึกถึงและขอบคุณสิ่งต่างๆ ที่เรามีอยู่ตอนนี้ เวลาที่เครียดเรามักจะพยายามแสวงหานู่นนี่นั่นที่เราไม่มี เพราะเชื่อว่าจะทำให้มีความสุขขึ้น แล้วถ้ายังไม่ได้ก็เหมือนไปเพิ่มความทุกข์อีก การขอบคุณสิ่งที่มีนั้น เป็นการเติมเต็มและเตือนใจเราว่ามีชีวิตที่ดีแค่ไหน ถ้าคุณแม่นึกไม่ออกว่าจะขอบคุณเรื่องอะไร เรามีตัวอย่างเช่น ขอบคุณที่วันนี้เรายังมีลมหายใจ ขอบคุณที่วันนี้อาหารอร่อย ขอบคุณที่คุณพ่อคุณแม่ยังแข็งแรง ขอบคุณที่มีสามีอยู่ข้างๆ ขอบคุณที่ลูกเป็นเด็กดี ขอบคุณที่วันนี้ร้อนแต่ยังมีลม ขอบคุณที่มีคนเล่าเรื่องตลกให้เราได้หัวเราะ อะไรง่ายๆ เหล่านี้เป็นต้น

เทคนิคเหล่านี้ ไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะกับคุณแม่ทั้งหลาย แต่ผู้คนในสถานภาพอื่นๆ ก็สามารถนำไปใช้เป็นเทคนิคทำใจให้สบายนี้ได้เช่นกันค่ะ สังคมที่มีความสุขย่อมเกิดจากครอบครัวที่มีความสุข เป็นกำลังใจให้คุณแม่และลูกๆ ทุกคนนะคะ

สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก Link https://www.facebook.com/299800753872915/videos/1019527608469219


เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top