มอนเตสเซอรี่ ไม่ใช่เพียงแค่ของเล่นเด็กหรือชื่อโรงเรียน แต่มอนเตสเซอรี่ คือ ปรัชญาการสอนและการเรียนรู้ เรามาทำความรู้จักการเลี้ยงดูลูกแบบมอนเตสเซอรี่ให้มากขึ้นกัน

ที่มาของการเรียนรู้แบบมอนเตสเซอรี่ (Montessori) นั้น เริ่มต้นตั้งแต่ร้อยกว่าปีมาแล้ว โดย มารี มอนเตสเซอรี่ เป็นผู้ให้กำเนิดปรัชญาการเรียนรู้นี้ มอนเตสเซอรี่มีแนวคิดที่ว่า ธรรมชาติของเด็กนั้นต้องการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เราเพียงจัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ คอยสังเกตเด็กเมื่อเค้ากำลังเล่น และเราจะเข้าไปช่วยได้ก็ต่อเมื่อจำเป็นเท่านั้น ปล่อยให้เด็กได้จำลองกระบวนการเรียนรู้ของเค้าจนครบจบขั้นตอนด้วยตัวของเด็กเอง

หากจะพูดให้กระชับขึ้น มอนเตสเซอรี่ก็คือ การเรียนรู้โดยมีเด็กเป็นจุดศูนย์กลางนั่นเอง เด็กคือผู้เลือกว่าเค้าจะเรียนรู้อะไรซึ่งตามธรรมชาติ เด็กจะเลือกสิ่งที่เค้ากำลังชอบหรือสนใจอยู่ เมื่อเค้าสนใจ เค้าจะทำการทดลองเล่นด้วยตนเอง ซึ่งนั่นคือการเรียนรู้ และหากผู้ใหญ่ยื่นมือไปช่วยในระหว่างที่เด็กกำลังทดลองอยู่ อาจจะทำให้การเรียนรู้นั้นไม่สมบูรณ์ได้ และจะมีผลต่อตัวเด็กในระยะยาว

อยากเลี้ยงลูกแบบมอนเตสเซอรี่ ต้องทำอย่างไร เริ่มได้เมื่อไหร่

วิธีการเรียนรู้แบบมอนเตสเตอรี่นั้นเหมือนจะง่ายแต่ก็ไม่ง่าย เพราะการเลี้ยงดูแบบนี้ คุณพ่อคุณแม่จะได้ฝึกการสังเกตพฤติกรรมการเล่นของลูกจนช่ำชอง มอนเตสเซอรี่ที่ได้รับความนิยมคือการเรียนแบบ Practical Life หรือการให้ลูกได้ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านง่าย ๆ เช่น จัดของ เก็บของ หยิบผ้าในตะกร้าใส่เครื่องซักผ้า หยิบผ้าในเครื่องซักผ้าใส่เครื่องอบ ปลอกผลไม้ ทำอาหาร

เชื่อหรือไม่ว่าเด็กยังไม่ถึงขวบก็สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ โดยการให้เค้าได้เห็นเราตอนที่เรากำลังทำงานบ้าน เมื่อเค้าสนใจอยากมีส่วนร่วม เราก็เปิดโอกาสให้เค้าทำ หรือทำอาหาร ให้ลูกได้มีส่วนร่วมทำ ลูกจะได้ทดลองวิชาเคมี และได้เรียนรู้เรื่องประสาทสัมผัสรับรสและกลิ่น

มอนเตสเซอรี่ยังรวมถึงการพาลูกไปเล่นข้างนอกบ่อย ๆ เพื่อให้เค้าไปเจอสิ่งใหม่ ๆ แล้วเราก็สังเกตว่าเค้าเล่นอะไร เล่นยังไง ชอบแบบไหน หลังจากนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงจะสามารถเลือกซื้อของเล่นให้เหมาะและส่งเสริมการเรียนรู้ของลูกเพิ่มขึ้นต่อไปอีกได้ จะเห็นว่า ของเล่นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนย่อยของการเลี้ยงลูกแบบมอนเตสเซอรี่เท่านั้น

หากคุณพ่อคุณแม่สนใจการจัดรูปแบบการเรียนรู้ให้ลูกแบบมอนเตสเซอรี่ คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มได้ทันทีตั้งแต่แรกเกิด คือตั้งแต่ 0 ขวบได้เลย เพราะเด็กเกิดมาพร้อมกับความต้องการจะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว

ปล่อยให้ลูกได้ทดลองด้วยตัวเอง

มอนเตสเซอรี่เชื่อว่า การเรียนรู้เกิดขึ้นเป็นกระบวนการสืบเนื่องไปเรื่อย ๆ หากเรารีบยื่นมือเข้าไปช่วยลูกเร็วเกินไปจะเป็นการแทรกแซงกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก เช่น หากเราเห็นลูกกำลังหัดพลิกตัวแล้วเราไปจับพลิกตัวให้ เด็กจะไม่ได้เรียนรู้ครบกระบวนการ ฉะนั้น ปล่อยให้น้องลองพลิกตัวด้วยตัวเอง อย่าเพิ่งรีบไปจับพลิกตัวเค้า หรือหากลูกล้ม พยายามปล่อยให้เค้าลุกขึ้นด้วยตัวเองก่อน

ประโยชน์ของการเลี้ยงลูกแบบมอนเตสเซอรี่

ประโยชน์ที่ได้นั้นมีหลายอย่างมาก แต่ประโยชน์หลักที่ได้จากเลี้ยงลูกแบบมอนเตสเซอรี่ คือ

1.) ลูกจะช่วยเหลือตัวเองได้ตั้งแต่เล็ก สามารถช่วยแบ่งเบางานของคุณแม่ได้

2.) ลูกจะรู้ว่าเค้าชอบอะไรตั้งแต่เด็ก เมื่อเค้ารู้แล้วว่าเค้าชอบอะไร เค้าจะเริ่มได้เร็วกว่าและสามารถต่อยอดไปเรื่อย ๆ ในอนาคตเมื่อโตขึ้นได้

3.) ลูกจะมีความยืดหยุ่น กล่าวคือเด็กที่ถูกเลี้ยงแบบมอนเตสเซอรี่จะรู้จักพลิกแพลง รู้จักเปลี่ยนแปลงวิธีการและปรับตัวได้ดี

สาเหตุที่เด็กชอบรื้อของ

การรื้อของออกมาเยอะแยะของเด็กนั้น เป็นการสื่อสารของเด็กอย่างหนึ่ง ลูกรื้อของนั้นมีสาเหตุหลัก ๆ อยู่ไม่มาก อาจจะเป็นเพราะว่าของเล่นเยอะเกินไป ทำให้เค้าหาของเล่นที่เค้าชอบไม่เจอ หรือของเล่นที่เค้าชอบอยู่ในที่ที่ต้องค้นหา เช่น เก็บไว้อยู่ลึกเกินไป หรืออยู่สูงเกินไป หรืออยู่ในที่ที่ไม่สาเหตุมองเห็นได้ เด็กจึงพยายามค้นหา คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตลูกที่ชอบรื้อของดูว่า เค้ากำลังตามหาของเล่นที่เค้าชอบอยู่หรือเปล่า

ทำไมลูกไม่เล่นของเล่นที่เราซื้อ

หากลูกไม่เล่นของเล่นที่เราซื้อ อาจเป็นเพราะเราไม่ได้ซื้อของเล่นที่ลูกชอบก็ได้ และที่เราไม่ได้ซื้อของเล่นที่ลูกชอบ อาจเป็นเพราะเราไม่ได้สังเกตพฤติกรรมลูก หรือเราไม่ได้อยู่กับลูกมากพอจนรู้ว่าลูกเราชอบอะไรก็เป็นได้ หากคุณพ่อคุณแม่อยากรู้ว่าลูกชอบของเล่นอะไร ลองอยู่กับลูกเยอะ ๆ สังเกตลูก และปล่อยให้เค้าเดินมาช่วยเราทำงานบ้านด้วยตัวเค้าเอง สำหรับผู้ใหญ่ งานบ้านคืองาน สำหรับเด็ก งานบ้านคือการเล่น และของเล่นที่ดีที่สุดสำหรับเค้า คือพ่อแม่

เป็นกำลังใจให้คุณพ่อและคุณแม่ทุกคนค่ะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ เลี้ยงลูกแบบมอนเตสเซอรี่

Link https://www.facebook.com/watch/live/?v=242995180735373&ref=search

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์